นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 140 เสียงจากผู้บริโภค

ช่วยบอกหน่อยว่าเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน “เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ก่อนจัดจำหน่ายไปยังลูกค้า ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์” ใครที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ถ้าเพ่งพินิจหน้าซอง มักจะเห็นข้อความโฆษณาเลิศหรูแบบนี้ แต่มันไม่จะไม่มีข้อความส่วนไหนที่บอกให้คุณรู้เลยว่า มันเป็นหมัน คุณดาลิน เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมี และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 ที่ผ่านมานี่เอง เธอไปออกบูทงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุด มีเกษตรกรรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทด้านเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ว่า เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ซื้อมา เพาะปลูกไปแล้วไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกอีกครั้งได้  เช่น พริกก็เป็นหมัน  เอามาทำพันธุ์เพาะปลูกต่อไม่ได้   แม้กระทั่งตัวคุณดาลินเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่มีใจรักด้านการเกษตร ลงทุนร่วมกับพี่ชายไปซื้อที่ทำนาในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากบริษัทข้ามชาติมาปลูก เมื่อปลูกและได้ผลผลิตข้าวแล้ว จะเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก  ปรากฏว่าเสียรู้  เพาะปลูกไม่ขึ้นในฤดูกาลถัดไป หรือปลูกได้ก็ได้ผลผลิตแย่มากไม่เหมือนปลูกครั้งแรก   คุณดาลินเธอบอกว่า เคยติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานด้านเกษตรหลายหน่วยงานอย่าง กรมวิชาการเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงกรมวิชาการพันธุ์พืชได้คำตอบจากข้าราชการไทยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกษตรกร รู้อยู่แล้ว ทำไมไม่ไปร้องเรียน ....ที่อื่น” คุณดาลินเห็นว่า หากเกิดความเสียหายด้วยความไม่รู้ของเกษตรกรแล้วมาร้องทุกข์ ก็จะโดนภาษาจากข้าราชการ อย่างนี้เช่นเดียวกัน และ อาจโดนคำพูดปลอบใจว่า เค้ารู้กันทั่วบ้านเมือง ... ดิฉันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เคมี ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าคำว่า OP ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน คำว่า S1 ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน หรือคำว่า เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน “ข้อความแบบนี้เป็นภาษาที่ไม่สื่อ ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ชัดเจน กำกวม และทำให้ เกษตรกรเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุให้เกิดการหลงเชื่อไปในทางเข้าใจผิดได้ อยากจะขอให้มีการเพิ่มข้อความ ระบุบนซองเมล็ดพันธุ์  ที่ขึ้นชื่อว่า OP, S1, เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือเมื่อมีแนวโน้มเอียงไปในทางไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  ให้มีถ้อยคำเพิ่มเติม  ดังนี้ 1.ให้ระบุฉลากให้มีคำว่า  เมล็ดพันธุ์ “ หมัน “ บนหน้าซอง 2.ให้ระบุฉลาก ให้มีข้อควรระวังว่า “ ไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป“ บริเวณด้านหลังซอง เพื่อป้องกัน  ความเข้าใจผิด  หรือลดการหลงผิดแก่เกษตรกรรายใหม่  และช่วยทำให้เกษตรกรที่มีการศึกษาน้อย วุฒิการศึกษาขั้นประถมศึกษา สามารถอ่านภาษาไทย  แม้เขียนภาษาไทยไม่ได้ ได้รู้ถึงความหมาย เมื่อแรกที่หยิบซองเมล็ดพันธ์ขึ้นมาอ่าน  และเข้าใจได้ทันที  ด้วยภาษาที่ง่าย หรือเป็นภาษาที่ใช้งานกันบ่อยในชีวิตประจำวัน   และแปลความหมายเข้าใจได้ง่ายกว่า  คำว่า  พันธ์ลูกผสม  (ซึ่งข้าพเจ้า วุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาเคมี ยังไม่รู้เลยว่า  ผลคือ หมัน ) แล้วจะคาดหวังเกษตร หลงเข้าใจได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา นายอำพล เสนาณรงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงพันธุ์พืชที่เรียกว่าพันธุ์ลูกผสมไว้ว่า พันธุ์ลูกผสม  หมายถึง  ลูกผสมชั่วที่  ๑  (F1) ของพันธุ์สองพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่ของพันธุ์ลูกผสมอาจจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ประชากร หรือพันธุ์บริสุทธิ์  ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะลูกผสมมักมีผลิตผลสูงและคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เรียกว่า "ความดีเด่นของลูกผสม" (Hybrid vigor  หรือ Heterosis)   และเกษตรกรผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูปลูก  เนื่องจากลูกชั่วต่อไปของลูกผสมจะมีผลิตผลลดลง  และคุณสมบัติอื่น ๆ ปรวนแปร และไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ เพราะบริษัทผู้ผลิตจะหวงพันธุ์และเก็บไว้เป็นความลับ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพด ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดาลิน ที่อยากจะเห็นข้อความที่ให้สารสาระบ่งชี้ชัดเจนเข้าใจโดยไม่คลาดเคลื่อนว่า เมล็ดพันธ์ลูกผสมใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมล็ดที่ได้จากการปลูกครั้งแรกไม่สามารถนำมาเพาะปลูกได้อีก หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้เกษตรกรได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับปรุงการแสดงฉลากบนซองเมล็ดพันธุ์ให้มีความชัดเจนนี้ต่อไป   ซื้อจักรยานราคาแพง ได้ยางแตกลายงา “จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท...” ยอดรัก สลักใจ สมัยยังหนุ่มเคยร้องเพลง “จักรยานคนจน” บอกราคาไว้ในเนื้อเพลงเสร็จสรรพ  แสดงว่าจักรยานสมัยก่อนราคาไม่แพงมาก แต่ตอนนี้ราคาจักรยานเปลี่ยนไปมากแล้ว จักรยานที่คุณสุรัตน์ไปซื้อที่ร้านแห่งหนึ่ง แถวสบตุ๋ย จ.ลำปาง  เป็นจักรยานของ LA  รุ่น ELILE ราคา 7,000 บาท ซึ่งคุณสุรัตน์ไม่ได้ติดใจในเรื่องราคามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ หลังซื้อมาได้เพียง 6 เดือน สังเกตเห็นว่าขอบยางล้อจักรยานมีรอยแตกลายงาโดยรอบทั้งสองเส้น ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบปัญหาป้ายทะเบียนรถยนต์แตกลายงาด้วยหรือเปล่า คุณสุรัตน์บอกว่า จักรยานถูกใช้งานน้อยมากส่วนใหญ่จอดอยู่ในโรงรถ วันต่อมาจึงนำรถจักรยานไปให้เจ้าของร้านที่ขายจักรยานดูเพื่อขอเปลี่ยนยางใหม่ คิดว่ายางไม่น่าจะหมดอายุไวขนาดนี้ ร้านน่าจะช่วยรับผิดชอบได้ แต่เจ้าของร้านกลับพูดว่า รับผิดชอบให้ไม่ได้เพราะเป็นจักรยานรุ่นที่บริษัทโละมาขาย “ตอนที่เราซื้อมา ร้านไม่ได้พูดแบบนี้ และยังท้าให้เราไปฟ้อง สคบ. ใช้กิริยาที่ไม่สมควรหลายอย่าง เช่น บอกว่าจะต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับตัวแทน แต่พอต่อได้ กลับคุยกันเรื่องอื่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องเป้าของบริษัท เรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่สนใจว่าเรารอคำตอบอยู่” สุดท้ายในการเจรจาวันนั้น ร้านตัวแทนจำหน่ายให้ข้อเสนอว่า จะรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่ายาง 2 เส้นใหม่ให้ในราคารวมสองร้อยบาท พอคุณสุรัตน์ได้เห็นยางใหม่ที่เจ้าของร้านเอามานำเสนอ ก็ต้องส่ายหน้าเพราะเป็นยางคุณภาพต่ำ คุณสุรัตน์ยืนยันขอเปลี่ยนเป็นยางยี่ห้อเกรดเดียวกับที่ขายมากับรถ แต่ทางร้านบอกจัดให้ไม่ได้ แถมแนะนำให้ไปฟ้อง สคบ. เสียอีก เรื่องนี้คุณสุรัตน์ไม่ได้ไปที่ สคบ. แต่ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแทน   แนวทางแก้ไขปัญหา ปัญหาความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้า กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้ซื้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดได้ภายในหนึ่งปี พ้นจากนี้ไปจะเรียกร้องบังคับกันไม่ได้ นี้คือหลักพื้นฐานของกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเรียกร้องต่อผู้ขายให้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้า เราได้แนะนำให้คุณสุรัตน์มีหนังสือไปถึงบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนยางเส้นใหม่รุ่นเดิมให้ หลังคุณสุรัตน์ส่งหนังสือไปไม่นานเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ติดตามเรื่องให้อีกทางกับฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งได้ขอให้คุณสุรัตน์ช่วยส่งภาพถ่ายรถ และยางที่เกิดปัญหาให้กับบริษัทได้ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดบริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่คุณสุรัตน์ร้องขอ ด้วยการส่งยางจักรยานเกรดเดียวกับที่คุณสุรัตน์ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถามว่าเรื่องนี้ทำไมผู้บริโภคถึงสามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ผล พอกลับมาดูเนื้อจดหมายที่คุณสุรัตน์เขียนถึงบริษัทก็เลยถึงบางอ้อ คุณสุรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า “ขอให้ทางบริษัทอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วไม่เอาใจใส่ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงของบริษัท หากไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้บริษัทพิจารณาคุณภาพการบริการของตัวแทนจำหน่ายด้วย” อย่างนี้ต้องเรียกว่ามีลูกอ้อนลูกประณามลูกฟ้องครบครัน      หากบริษัทไม่รับผิดชอบก็ไม่ไหวแล้ว     สารพันปัญหามือถือต้อนรับ 3G การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคงไม่พ้นผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรู แน่นอนว่าการประมูลครั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ใช้ระบบมือถือทันสมัยแบบใหม่เสียทีหลังจากที่แคล้วคลาดกันมานาน แต่คำถามสำคัญที่ผู้บริโภคควรตระหนักไปพร้อมกัน คือเรื่องคุณภาพบริการที่ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขจาก กสทช. ยังไม่ค่อยคืบหน้านัก เพื่อไม่หลงปลื้มกับโทรศัพท์ระบบใหม่จนลืมความจริงในปัญหาการดูแลผู้บริโภค เลยขอนำเรื่อง “เจ็บแล้วต้องจำ” เอามาให้อ่านเตือนสติต้อนรับระบบ 3G กัน   เรื่องเจ็บแล้วต้องจำของบริการมือถือ 1.ซิมแจกฟรี ระวังโดนดีถูกเก็บรายเดือน มีร้องเรียนเข้ามากันเยอะ อย่างรายนี้บอกว่า ช่วยหน่อยนะคะ พอดีไปเดินอนุสาวรีย์ชัย เจอซุ้มแจกซิมทรูมูฟ มีพนักงาน 4-5 คน เดินเข้ามาหาและบอกว่าถ้าบัตรประชาชนมีเลข 0 มารับซิมฟรีได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ขอดูบัตรประชาชนด้วย แล้วเค้าก็เอาบัตรประชาชนไป แล้วเอาซิมมาให้โดยให้เซ็นชื่อรับซิมบอกว่าแค่เซ็นรับซิมเฉยๆ ไม่มีอะไร และถ้าไม่เปิดใช้ซิมก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร พอได้ซิมมาก็ไม่ได้เปิดใช้ เพราะซิมเป็นรายเดือนและเป็นไมโครซิม ต่อมามีใบแจ้งหนี้มาที่ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องชำระก่อนวันสิ้นเดือน เลยโทรติดต่อที่ศูนย์บริษัทมือถือเจ้าของซิม พนักงานบอกว่าเป็นซิมรายเดือนถึงไม่เปิดก็มีค่าใช้จ่ายให้ชำระยอดนี้ก่อนถึงจะปิดเบอร์ให้ได้ ถ้าไม่ชำระก็จะมีการเรียกเก็บต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน ถ้ายังค้างชำระอยู่จะตัดเบอร์แต่จะต้องติด Black list  ต่อไปจะทำธุรกรรมอะไรไม่ได้     2. เอสเอ็มเอสขยะ ขยะที่กำจัดยากที่สุดในโลก ขอบอก...! เป็นลูกค้า DTAC ค่ะ ในช่วงบิลสองเดือนที่ผ่านมา มีค่าบริการที่ไม่เคยสมัครรับบริการ ในใบแจ้งหนี้ ตรวจดูแล้วเป็น “ค่าบริการข้อมูลข่าวสารบันเทิง ผ่าน SMS” โทรไปคอลเซ็นเตอร์ว่ามีค่าใช้จ่ายนี้มาได้อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่า เป็นลักษณะของการ ส่ง sms เข้าโทรศัพท์ แล้ว DTAC ก็คิดเงินกับลูกค้าเลย เราร้องทุกข์ไปว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร ป้องกัน ลบ SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด แต่คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากผู้ให้บริการมีค่อนข้างเยอะและมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย” วิธีป้องกันที่ผู้ให้บริการให้คำแนะนำคือ หากได้รับข้อความลักษณะดังกล่าวอีก สามารถแจ้ง ลักษณะข้อความ กลับไปที่ DTAC ได้ เฮ้อ...จะหาหนทางอย่างไรดีคะ ที่ไม่ต้อง โทรไปรบกับ call center ทุกๆ ครั้งที่ได้รับใบแจ้งหนี้ เพราะทางลูกค้าเองก็ยืนยันว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร บล็อค SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด ทำไมบริษัทมือถือถึงช่วยลูกค้าไม่ได้   3.สั่งซื้อสินค้าทางเน็ต เจ้าของเว็บไม่รับผิดชอบ ผมสั่งซื้อกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีจากเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่ง  จำนวนเงิน 4,000 บาท ใช้งานได้ไม่ถึง 24 ชม.สินค้ามีปัญหา ชี้แจงอาการไป ผู้ขายแจ้งให้ส่งกลับเพื่อเคลมของใหม่ แล้วผู้ขายก็ทวงถามเรื่องค่าส่ง EMS ผมปฏิเสธเพราะผู้ขายควรจะรับผิดชอบ และผมก็เสียค่าส่ง EMS กลับไปให้ 97 บาท จึงเห็นว่าต่างคนต่างรับผิดชอบค่าส่ง แต่ผู้ขายพยายามผลักภาระค่าส่งมาให้ผม พยายามบอกว่าเป็นภาระของผู้ซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขการเคลมสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ ผมเห็นว่าคุยกันไม่รู้เรื่องและไม่ประทับใจในการให้บริการ จึงขอยกเลิกและขอเงินคืน แต่กลับมาบอกว่าไม่มีนโยบายคืนเงิน เงื่อนไขนี้ในหน้าเว็บไซต์ก็ไม่มีระบุ เหตุการณ์เกิดขึ้นและผ่านมากว่า 45 วันแล้ว ผมเขียนไปทวงถามเรื่องเงินคืนหลายครั้ง ก็เงียบ ล่าสุดผมเขียนไปบอกว่ายินดีรับสินค้าคืน แต่ขอเปลี่ยนรุ่น ก็ยังคงเงียบอีกเห็นว่าถูกโกงแน่แล้ว จึงต้องมาขอคำแนะนำครับ ควรทำอย่างไรครับ   แนวทางแก้ไขปัญหา ปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่ยกมายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสทช. ก็ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่คืบหน้ามากนัก ผู้บริโภคจึงต้องรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ ก่อน ปัญหาในเรื่องที่ 1 และ 2 สามารถจัดการได้โดยผู้บริโภคควรมีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการมือถือ กรณีที่เป็นเรื่องหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ไม่เคยเปิดใช้บริการ หรือถูกหลอกให้เปิดใช้บริการมือถือโดยที่ไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เมื่อได้รับใบเรียกเก็บหนี้ค่ามือถือรายเดือน ไม่ต้องไปตกใจ หรือต้องไปที่ศูนย์บริการ เพราะเจรจามักไม่ได้หมายความตามตัวอย่างเรื่องที่ยกมาให้เห็น วิธีที่ดีที่สุดและจบเรื่องได้ไว คือ ให้มีหนังสือปฏิเสธตอบกลับไป ว่าเราไม่เคยเปิด ไม่เคยใช้ และไม่มีความต้องการที่จะใช้มาแต่แรกแล้ว ดังนั้นอย่าส่งจดหมายทวงหนี้ค่าโทรศัพท์มารังควานอีก ไม่เช่นนั้นจะขอเรียกค่าเสียหายฐานก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญ กรณีเรื่องเรียกเก็บค่าเอสเอ็มเอสขยะ หรือเอสเอ็มเอสที่เผลอสมัครเข้ารับบริการโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้ใช้วิธีการเดียวกัน ส่วนคนที่ต้องการโทรศัพท์มือถือของตัวเองสะอาดมากๆ ไม่มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาเลย ตามจริงมีเทคโนโลยีสามารถทำได้แต่ผู้ให้บริการเมืองไทยเรายังไม่ริเริ่มทำ วิธีแก้ก็ให้เขียนจดหมายเสนอไปที่บริษัทมือถือว่า หากจะปล่อยให้มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาที่มือถือเราอีก ขอคิดค่าเสียหายครั้งละ 100 บาท 1,000 บาท หรือจะสูงต่ำไปกว่านี้ก็พิจารณากันดู ขึ้นอยู่กับเส้นความรำคาญใจของแต่ละคน ยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทมือถือให้พิจารณาดู ใครใช้วิธีนี้ได้ผลช่วยกลับมาเล่าให้ฟังกันด้วย   กรณีที่ 3 มีข้อแนะนำอย่างเดียว อย่าไปซื้อมัน ตราบใดที่เราไม่รู้ตัวตนว่ามันเป็นใคร บ้านช่องห้องหออยู่ที่ไหน คำโบราณสอนไว้ คนไม่มีหัวนอนปลายตีนไม่น่าคบ เอามาใช้กรณีพวกขายของทางเน็ตได้ จะซื้อสินค้าผ่านเน็ตรอแป๊บครับ ทราบข่าวว่าภาครัฐตอนนี้กำลังมีการวางมาตรการออกประกาศให้ผู้ขายสินค้าผ่านเน็ตต้องมาลงทะเบียนเสียก่อน แต่เหตุผลสำคัญคือรัฐบาลอยากจะเก็บภาษีคนพวกนี้ ไม่ได้หวังคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทราบแล้วเปลี่ยน

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 139 กรณีทีวี “จอดำ” ( ตอนที่ 1 “ปฏิบัติการ สิบล้อชนตึก”)

เจอกันอีกครั้ง กับเรื่อง “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ กสทช.ออกมาประกาศว่าไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ดูทีวีผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณด้วยจานดาวเทียมได้  เพราะแกรมมี่เป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการจากกสทช. และที่สำคัญคือ  การที่แกรมมี่ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอล ยูโร กับ ยูฟ่า    ซึ่งแกรมมี่ เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอในสัญญาไปว่า “ฟรีทีวี” ในประเทศไทย ให้มีแต่  ผู้ที่รับสัญญาณทางภาคพื้น ที่ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ โดย หนวดกุ้ง,ก้างปลา เท่านั้น  ที่น่าตกใจคือ  กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน (คนมีจาน)เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ประมาณราวๆ 75% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ (อุแม่เจ้า..ทำไปได้....)   และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ที่กสทช.  ออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในกรณีนี้ได้เพราะ “กสทช.ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องนี้” จึงต้องปล่อยไปก่อน  เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ลิขสิทธิ์ “ เอา.....ละซิ   เจอลูกนี้เข้าไป  ผู้บริโภคอย่างเราถึงกับมึน.....   ในเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล อย่างกสทช.ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยเหตุผล “ยังไม่ได้ออกระเบียบ หรือยังออกระเบียบไม่ทัน” เราจะทำอะไรกันดี    ในขณะเดียวกันที่ กสทช.บอกว่าช่วยอะไรผู้บริโภคไม่ได้  ตรงกันข้ามกับการที่มีนำเข้ากล่องรับสัญญาณต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น  กล่อง GMM-Z ทีมีการนำเข้าโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน(เป็นผู้ประกอบการเถื่อน)  แต่กสทช. กลับบอกว่าเมื่อ กสทช.ยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยต้องปล่อยให้เขานำเข้ามาก่อน จนกว่าจะมีระเบียบ   เป็นไงจ๊ะ....  อ่านถึงตรงนี้แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกตื้นตันใจมากไหม! กับการใช้ดุลพินิจของ กสทช.ในครั้งนี้     ซึ่งเห็นชัดว่า ในส่วนของผู้บริโภค ถูกตีความว่าช่วยอะไรไม่ได้  ต้องปล่อยให้ถูกละเมิดไปก่อน   และในส่วนของผู้ประกอบการ กับใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างชัดเจน..... ดูซิ! การใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ช่าง เป็นธรรมเสียเหลือ..เกิ้นนนนนน....   ซึ่งชี้ชัดแล้วว่า  ผู้บริโภคอย่างเราๆ  พึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้จริง  ..  ช่องทางที่เหลือคือ “ต้องช่วยเหลือตัวเอง” วงคุยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น(หลายรอบ)   ในที่สุดที่พึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น การนำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาล  เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน ในกรณี จอดำ เพื่อมิให้เกิดปรากฏการ จอดำในอีกหลายกรณี  ทั้ง โอลิมปิก และรายการสำคัญๆที่มาผ่าน ฟรีทีวี  คนไทยทุกคนต้องได้ดู    เมื่อตัดสินใจฟ้อง...  ก็ต้องมาดู  ว่า จะฟ้องศาลไหน!  และจะฟ้องใครบ้าง!    เมื่อมาดูว่าศาลไหน  ที่ง่ายและตรงประเด็นที่สุดคงหนีไม่พ้น  ศาลผู้บริโภค (ศาลแพ่ง)ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ที่เป็นกฎหมายที่ตรงประเด็นที่สุด    เมื่อหันมามองคู่กรณีที่เราจะฟ้อง  ก็หนีไม่พ้น  ฟรีทีวี  ช่อง 3,5,9  และ บ.แกรมมี่ เช่นกัน เขียนเท่านี้ เหมือนไม่มีอะไรมากมาย  แต่พอแตกออกมา การฟ้องช่อง 5 หมายถึง การที่ผู้บริโภคตัวเล็กๆอย่างเรา  ต้องฟ้อง กองทัพบก ฟ้องช่อง 3 ช่อง 9 คือการฟ้อง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แกรมมี่ก็เป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมืองไทย       เอาละซิ...งานใหญ่แล้วละทีนี้    แต่เมื่อคิดจะสู้ ใหญ่ยังไงก็ต้องสู้  เสมือนว่า เล็กก็ล้มใหญ่ได้ถ้าใจมันถึง   สิ่งที่ต้องหาต่อไปคือใครจะเป็นหน่วยกล้าตายที่จะอาสามาเป็นผู้ฟ้อง (ปฏิบัติการสิบล้อชนตึก) ใครบ้าง?จะฟ้องมุมไหน?  ในกระบวนการฟ้องต้องเจอกับอะไรบ้าง ? โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 139 เสียงผู้บริโภค

ถูกยกเลิกเที่ยวบิน แถมคืนเงินไม่ครบ คุณอาทรร้องเรียนสั้นๆ มาว่า.... ผมได้จองตั๋วเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลอมโบ ศรีลังกา เพื่อไปท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2555 ปรากฎว่าทางสายการบินแจ้งยกเลิกครับ และแจ้งว่าจะคืนเงินให้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่จะไม่คืนเงินในส่วนที่ซื้อเพิ่มเติมคือ ค่าโหลดกระเป๋าและค่าอาหารบนเครื่อง และยังไม่สามารถแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชีได้อีกครับ จะโอนเงินผ่านช่องทางที่ซื้อเข้ามาเท่านั้น คือผ่านทางบัตรเครดิตให้ซึ่งเงินก็จะไปอยู่ในบัตรไม่สามารถเบิกมาได้เป็นเงินสด แถมยังคืนไม่ครบอีก จึงอยากจะขอปรึกษาว่าผมจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งๆ ที่เป็นความผิดของตนเองแท้ๆ ที่ยกเลิกไฟท์การบิน ทำให้เกิดความเสียหายแถมยังรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ อีกครับ   แนวทางแก้ไขปัญหา ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายในเรื่อง “รับขนคนโดยสาร” ที่มีข้อกำหนดหลักๆ สรุปเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการรับส่งผู้โดยสารจะต้องรับผิดต่อผู้โดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้โดยสาร หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆ ที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องชักช้าในการขนส่งผู้โดยสาร เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้โดยสารเอง   ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกประกาศเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 แม้จะบังคับใช้เฉพาะสายการบินของไทย และบินในเส้นทางภายในประเทศ แต่ก็พอนำมาเทียบเคียงเรียกร้องสิทธิให้กับผู้โดยสารท่านนี้ได้ ประกาศฉบับนี้ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง ว่าสายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร โดยมีทางเลือกให้ผู้โดยสาร 2 ทาง ทางเลือกแรกคือ รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป หากสายการบินจะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น ทางเลือกที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารด้วย สำหรับวิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสารนั้น สายการบินจะต้องคืนเงินให้ผู้โดยด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาการคืนเงินด้วย คือ (ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน  (ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน ระเบียบนี้แม้จะไม่ใช่ระเบียบที่ใช้กับการบินระหว่างประเทศ แต่ก็ใช้เป็นหลักในการเรียกร้องสิทธิของเราได้ เบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาการถูกแจ้งยกเลิกเที่ยวบินและต้องการเรียกร้องเงินคืนให้ผู้โดยสารทำหนังสือจะเป็นจดหมายหรืออีเมล์ก็ได้ไปถึงสายการบินเพื่อแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการคืนเงินให้ชัดเจนด้วย เท่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสิทธิของผู้บริโภคที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบแล้วครับ ผลที่ได้รับก็ไม่นานเกินรอ และดีกว่าโทรคุยอย่างเดียวแน่นอน     เสียความรู้สึกเอทีเอ็มเออเรอร์ ไร้รับผิดชอบ เดือนนี้ 2 รอบแล้วค่ะ คุณพิมพ์พรผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยเธอว่างั้น รอบแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 เป็นบัตรประเภทรายปี 200 บาท แล้วได้เข้าไปทำใหม่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 เปลี่ยนเป็นประเภท 500 บาท ฟรีรายปี 3 ปี กดได้ทุกธนาคาร ทุกสาขา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการกด แล้วล่าสุด โดนยึดเมื่อ 27 มีนาคม 2555 (วันที่ส่งเรื่องร้องเรียน) ตอนประมาณ 12.00 น. ที่ตู้ธนาคารกรุงเทพ สาขาบิ๊กซี จ.ตาก เธอบอกว่า กดเอทีเอ็มใส่รหัสถูกต้อง แต่พอจะไปกดไปที่เมนูบัญชีออมทรัพย์ ทันใดนั้นหน้าจอได้ขึ้นข้อความ งดใช้บริการชั่วคราวและไม่ยอมคายบัตรออกมา พอเข้าไปติดต่อที่ธนาคารกรุงเทพเจ้าของตู้ แจ้งว่าเป็นบัตรเอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย ได้รับคำตอบว่า รอไปก่อน ไม่รู้ว่าจะไปเปิดตู้เมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ว่าเงินจะหมดเมื่อไหร่ คุณพิมพ์พรบอกว่า ตอนนี้ตู้ขึ้นข้อความว่า งดใช้บริการชั่วคราวแล้ว ได้รับคำตอบกลับมาว่า “อืมม ม นั่นแหละ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไปแก้ไข ให้รอไปก่อน ไม่ก้อไปติดต่อทำบัตรใหม่” ได้รับคำตอบแบบนี้เลยถึงอึ้งกิมกี่ ไม่รู้จะเซ้าซี้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารเจ้าของตู้ยังไงต่อไป คุณพิมพ์พรจึงรีบมาแจ้งทางธนาคารทหารไทย ได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำบัตรใหม่ อายัดบัตรเดิม เพราะตู้อื่นยึด เราเอาคืนไม่ได้ “แบบนี้แล้วจะให้เราทำบัตรประเภทกดได้ทุกตู้ทำไมล่ะคะ คุณพี่ แล้วยังจะให้เราทำบัตรใหม่เสียค่าบัตร อีก 500 บาท ทั้งๆ ที่เราเพิ่งทำใหม่ไปเมื่อไม่ถึง 2 อาทิตย์ เราถามว่า ไม่มีทางออกทางไหน อีกเหรอคะ เค้าตอบว่าไม่มี ต้องทำใหม่อย่างเดียวและเสีย 500 บาท ถ้าแบบนี้ เดือนหนึ่ง เราไปกดเงินแล้วโดนยึดบัตรทุกครั้งที่กด เราก้อต้องเสียเงินทำบัตรใหม่ทุกครั้งเหรอคะ ถ้ากด 10 ครั้ง เสีย 10 รอบ รอบละเท่าไหร่คะ เสียดายเงินค่ะ รบกวน ขอคำปรึกษา และคำแนะนำหน่อยค่ะ”   แนวทางแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ทำนองนี้ต้องเรียกว่า “ผีซ้ำด้ำพลอย” คือโดนกระทำจากผีนอกบ้านแล้วยังโดนผีเรือนในบ้านเหยียบซ้ำอีก (ด้ำ ภาษาอีสานแปลว่า ผีบ้าน ผีเรือน ) เท่าที่ติดตามการร้องเรียนในเรื่องนี้ มีปัญหากันเยอะเหมือนกัน บางรายกดเงิน เงินไหลออกมา แต่ตัวบัตรไม่ยอมคืนออกมา บางรายกำลังทำรายการอยู่ อยู่ๆหน้าจอตู้ดับเครื่องรีเซ็ทใหม่ เงินไม่ได้บัตรไม่ออก เดือดร้อนกันเป็นแถวๆ เพราะไม่มีบัตรกดเบิกเงิน พอไปติดต่อกับธนาคารเจ้าของตู้ก็บอกว่าต้องรออีก 10-15 วันถึงจะมาเปิดตู้ให้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่เพราะต้องเป็นความลับเดี๋ยวโจรมันรู้ สุดท้ายทนรอไม่ไหวก็ต้องเสียเวลาเสียเงินทำบัตรใหม่กัน ข้อแนะนำ 1.ใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารไหนก็ควรกดของธนาคารนั้นดีที่สุด จำเป็นหรือหาตู้ไม่ได้จริงค่อยไปกดตู้ของธนาคารอื่น เวลาเกิดเรื่องยุ่งยากจะได้ติดต่อแค่ธนาคารเดียว 2.ตู้ที่จะกดเงิน ส่ายสายตาหาดูก่อนว่า มีกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่มีสิ่งกีดขวาง อาทิเช่น รังนกมาบังมุมกล้อง เมื่อเกิดปัญหาให้แสดงอาการฟ้องต่อหน้ากล้องทันที เช่น ได้เงินไม่ครบก็ให้นับเงินหน้ากล้องแล้วชูบอกให้เห็นว่าเงินไม่ครบ เพื่อให้ภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐาน 3.ถ้าเป็นไปได้เลือกกดตู้ที่ตั้งอยู่หน้าธนาคารนั่นแหละดีที่สุด มีทั้งกล้อง มีทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยคอยให้ความช่วยเหลือ 4.หากบัตรเอทีเอ็มถูกยึดไม่ว่าจะเกิดที่ตู้ของธนาคารเจ้าของบัตรเองหรือธนาคารอื่น คนที่จะเอาออกมาได้ก็คือธนาคารที่เป็นเจ้าของตู้ ให้เข้าไปแจ้งพร้อมกรอกเอกสารร้องเรียนทันที ระบุตำแหน่งที่ตั้งและหมายเลขของตู้ พร้อมขอชื่อพนักงานและผู้จัดการสาขา พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเรื่องการติดตามรับบัตร หากพนักงานบริการไม่เอาอ่าวเอาทะเล ให้รีบติดต่อร้องเรียนกับผู้จัดการสาขาโดยตรงทันที โดยขอให้เร่งรัดติดตามเอาบัตรกลับคืนโดยเร็วและให้นัดหมายวันเวลารับบัตรให้ชัดเจน 5.ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริโภค ไม่ควรใจด่วนทำบัตรใหม่ หากธนาคารไม่มีนโยบายยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับปัญหาเออร์เรอร์ลักษณะนี้ ควรเบิกถอนเงินด้วยสมุดบัญชีก่อน ดังนั้นไม่ควรหลงเชื่อธนาคารง่ายๆ ที่แนะนำให้ทำบัตรเอทีเอ็มโดยไม่มีสมุดบัญชี กันไว้ดีกว่าแก้ครับ         ปัญหาหนึ่งของบัตรสมาร์ทเพิร์ส บัตรไม่ชำรุดแต่ถูกบอกว่าชำรุด แนะให้ทำบัตรใหม่จ่ายเงินเพิ่ม คุณยิ่งยศร้องเรียนเข้ามาว่า... ผมได้ซื้อบัตรสมาร์ทเพิร์ส Smart Purse ที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ออกร่วมกับ SF cinema city ก็ใช้ได้ตามปกติตลอด จนมาวันหนึ่งนำบัตรไปแตะกับเครื่องอ่าน แต่เครื่องไม่อ่านแจ้งไปทางบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เขาให้ไปติดต่อกับเอสเอฟ แต่เอสเอฟไม่รับคืนเพราะเลิกใช้บัตรนี้แล้ว ทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้ไปคืนที่ 7-11 ก่อนส่งบัตรไป ผมให้ทางผู้จัดการร้าน 7-11 ตรวจดูบัตรว่าแตกหักหรือไม่ แต่ก็ไม่มีร่องรอยแตกหัก พอส่งบัตรไป ทาง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด แจ้งว่าบัตรแตก ให้ซื้อบัตรใหม่ในราคา 160 บาท และบัตรโอนได้แต่เงินคงเหลือในบัตร แต้มไม่สามารถโอนได้ ผมไม่ยอม ตอนหลัง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด จึงให้โอนแต้มได้ แต่ต้องซื้อบัตรใหม่อยู่ดี พร้อมส่งหนังสือและบัตรกลับมาให้ จึงเรียนสอบถามว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้างกับกรณีนี้ครับ เพราะก่อนส่งไป ผู้จัดการร้าน 7-11 ก็ตรวจสอบแล้วว่าบัตรไม่แตกแต่พอไปถึง บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด กลับแจ้งว่าบัตรแตก   แนวทางแก้ไขปัญหา เราได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่ http://www.thaismartcard.co.th ได้รับคำอธิบายขยายความว่า บัตรสมาร์ทเพิร์ส คือ การเก็บเงินสดไว้ในบัตรในรูปของเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่อง ณ ร้านค้าที่รับบัตรสมาร์ทเพิร์ส เหมาะสำหรับการใช้จ่ายที่มีมูลค่าไม่มากนักแทนการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ โดยมูลค่าในบัตรจะลดลงตามปริมาณการใช้ และสามารถเติมเงินลงในบัตรได้ด้วยเงินสด ที่จุดรับบริการเติมเงิน ได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทรูช้อป ยามาฮ่า โชคดีติ่มซำ และSF Cinema ซึ่งการทำบัตรหายเท่ากับการทำเงินหายจึงควรดูแลเหมือนเงินสดและเก็บในที่ปลอดภัย สำหรับข้อดีที่บริษัทใช้ชักชวนผู้บริโภคมีหลายข้อ เช่น - บัตรสมาร์เพิร์สสามารถลดภาระ และความเสี่ยงจากการถือเงินสดช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการพกพาบัตรเพียงใบเดียวแต่ใช้งานได้หลากหลาย - ผู้ถือบัตรจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว แก้ปัญหาการซื้อของแล้วไม่มีเงินทอน - ผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรสมาร์ทเพิร์สไปใช้ยังบริการอื่นๆ ที่รับบัตร นับเป็นช่องทางใหม่ในการจับจ่ายใช้สอย เช่น โทรศัพท์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ ร้านหนังสือ-บันเทิง ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น - บัตรสมาร์ทเพิร์สช่วยบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ - ผู้ถือบัตรสามารถใช้บริการของธุรกิจหลากหลายประเภทที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจนภายในบัตรใบเดียวกัน พร้อมระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด - ผู้ถือบัตรมีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับผู้ถือบัตรจากร้านค้าและเครือข่าย บัตรที่บริษัท ออกร่วมกับองค์กรภาคเอกชน (Co-Branded Card) เมื่อได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการที่บัตรใช้งานไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากการใช้งานหรือความบกพร่องของผู้บริโภค เราจึงได้โทรติดต่อไปที่บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องแจ้งกลับมาว่าจะปรึกษากับผู้ใหญ่และติดต่อมาอีกครั้ง หลังจากประสานงานกับทางบริษัทไทยสมาร์ทการ์ดแล้ว ได้มีการชี้แจงว่าได้ดำเนินการเปลี่ยนบัตรใหม่ให้กับทางผู้ร้องเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นการเข้าใจผิดระหว่างลูกค้ากับทางส่วนหน้าร้านในการเปลี่ยนบัตร บริษัทฯ ต้องขออภัยทางลูกค้าด้วย จบข่าว สมาร์ทเพิร์ส

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 138 กรณีทีวี “จอดำ”( ตอนที่ 1 สัญญาณทีวีของฉัน.. หาย...ไปไหน)

หลายท่านคงได้ทราบข้อมูลของขบวนการต่อสู้  เรื่อง “จอดำ”กันมาบ้างพอสมควร  หลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคอออกมาเรียกร้องสิทธิเรื่องนี้กันกระหึ่มเมือง   การที่เครือข่ายฯ ต้องออกมาสื่อสารเรื่องนี้กับสังคม   เพราะเห็นว่าปัญหา “จอดำ” เป็นการดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน    เริ่มจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนว่า  ทีวีที่รับสัญญาณฟรีทีวีด้วยจานดาวเทียม ดูฟุตบอล “ยูโร”ไม่ได้เพราะจอมีเพียงสีฟ้า และตัวหนังสือขออภัยไว้ยืดยาว  สรุปคือ ดูไม่ได้หรือไม่ได้ดู นั่นเอง เรื่องขยายไปสู่ข้อร้องเรียนของปัญหาที่ผู้เขียนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องมาหารือกันว่าจะทำอะไรได้บ้างในเรื่องนี้   และสิ่งที่พวกเราเห็นว่า “แปลก”คือเราเคยดูฟรีทีวีได้อย่างปกติไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ไหน.. รับจากจานฯ รับจากก้างปลา รับจากหนวดกุ้ง และอื่นๆ วันดีคืนดี สัญญาณที่เคยรับฟรีทีวีได้ก็หาย...ไป ผู้บริโภคที่รับสัญญาณจากดาวเทียมเป็นกลุ่มที่ถูกกำหนดโทษโดยภาคธุรกิจ  ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิดูฟรีทีวี ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล ยูโร ในครั้งนี้  “ถูกต้องไหม” ซึ่งในความเห็นของพวกเราที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค  เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน  ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้มากกว่า 11 ล้านครอบครัว  หากคูณ ครอบครัวละ 3 คน คนที่ถูกละเมิดก็ปาเข้าไป  33 ล้านคน   เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่อาจนิ่งเฉยได้    และการกระทำครั้งนี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2550 มาตรา 47  วรรค 1  ที่กำหนดไว้ว่า  “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นข้อความที่ชัดเจนว่าประชาชนทุกคน เป็นเจ้าของและมีสิทธิเข้าถึงคลื่นความถี่ดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียม      ก็ยิ่งชัดเจนว่า หากปล่อยไปไม่ทำอะไรเลย..ประเด็นเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย     และอาจนำไปสู่การแข่งขันของภาคธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงสิทธิมากขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด   เมื่อหันไปดูที่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้   ก็หนีไม่พ้น  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งยังนิ่งเฉยไม่หือไม่อือ  ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างชัดเจน (ยังทำหน้ามึนๆ เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น) เมื่อมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนปฏิบัติการทวงสิทธิก็อุบัติขึ้น   เริ่มจากเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกันออกแถลงการณ์  เพื่อเรียกร้องสิทธิทันที   จนส่งผลให้ กสทช. สั่งปรับ ทรู วันละ 20,000 บาท  ฐานที่โฆษณาเกิน  “บอกว่าจะดูฟรีทีวีได้  แต่กรณี ยูโร  ลูกค้าที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนของทรู ที่ดูไม่ได้      ส่วนผู้บริโภคที่ใช้จานแบบอื่น กสทช. ออกมาบอกว่า  ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เขียนระเบียบเรื่องนี้      กสทช.จัดการได้เพียงบริษัททรู   เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต  ส่วนแกรมมี  เป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต   กสทช.ยังไม่สามารถจัดการได้  เอาละ......เรื่องราวกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  โปรดติดตามตอนต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 138 เสียงผู้บริโภค

เอาโน้ตบุ๊คไปซ่อมที่อมรเซียร์แล้วถูกน้ำท่วม... เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จบไปหลายเดือนแล้ว แต่ผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องหรือปัญหาลูกตามน้ำยังมีให้เห็นกันเรื่อยๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ธัญชนกได้นำโน้ตบุ๊คที่มีปัญหาจอภาพ ไปซ่อมที่อมรเซียร์รังสิต หลังจากซ่อมเสร็จจ่ายค่าซ่อมไป 2,700 บาท รับเครื่องกลับมาใช้ได้เพียง 1 วัน อีกวันถัดมาก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก จึงรีบเอาเครื่องกลับไปเคลมอีกครั้ง โดยไม่ได้เซฟข้อมูลอะไรไว้ เพราะไม่คิดว่าหลังจากวันนั้นน้ำจะเข้าท่วมปทุมธานี ถ้าใครเคยไปเซียร์คงจะนึกภาพออกว่าร้านอมรที่เปิดรับซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ นั้น ตั้งอยู่ในส่วนชั้นใต้ดินของเซียร์รังสิต ธัญชนกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า เธอโทรไปถามว่าจะได้เครื่องเมื่อไร ก็ได้รับคำตอบว่า ช่างไม่มาทำงานเพราะน้ำท่วมบ้าน แต่กว่าน้ำจะเข้าในเซียร์ก็กินเวลา 2-3 วัน และทางห้างก็ป้องกันโดยเอากระสอบทรายมากั้น มารู้อีกทีเดือนธันวาคมโดยโทรถามกับช่างเองเพราะเบอร์อมรติดต่อไม่ได้เลย คำตอบที่ได้รับคือเครื่องจมน้ำทั้งหมด ให้มาติดต่อเคลมเครื่องเดือนมีนาคม 2555 โดยจะตีราคา ณ ปัจจุบัน   “เราไม่ได้เอาเครื่องมาขายนะที่จะตีราคาขายให้ ให้แค่ 4,500-5,000 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าห้างประสบอุทกภัย แล้วเราล่ะ เราก็โดนเหมือนกันต้องออกจากพื้นที่ไปเช่าห้องอยู่ และถามว่าแล้วข้อมูลของเราล่ะ ใครรับผิดชอบ ตีราคาให้เท่านี้แล้วเราก็ต้องมานั่งซื้อเครื่องใหม่เพิ่มเงินตั้งเยอะ เราไม่ได้ต้องการให้คุณซื้อเครื่องใหม่ให้หรอก เพราะรู้ว่าคุณไม่ทำแบบนั้นแน่ แค่ช่วยตีราคาให้มันยุติธรรมหน่อย” “อยากรู้ว่ามัวทำอะไรกันอยู่ทำไมไม่ขนย้ายเครื่องขึ้นชั้นบนก่อนที่น้ำจะเข้าชั้นใต้ดิน ซึ่งมีเวลาหลายวัน และโน้ตบุ๊คเล็กๆ ไม่หนักอะไร” เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาธัญชนกโทรไปถามเรื่องการชดใช้ ได้รับคำตอบว่า ให้รอประกันแจ้งมาว่าเครื่องเราจะเคลมได้เท่าไร เธอรู้สึกว่า ต้องรออย่างเดียว ต้องรอประกันอีกทั้งที่รอมารวมๆ ก็ 6 เดือนแล้ว บอกให้รอไปอีกว่าภายในปีนี้ ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไร และผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ “ปัจจุบันก็ยังไม่มีการติดต่อมาเลย ซึ่งปกติก็ไม่เคยมีติดต่อมา เว้นแต่เราจะโทรตามเรื่องเอง และมีเพื่อนชาวออนไลน์ก็ได้เจอปัญหานี้เหมือนกัน แบบนี้เราจะดำเนินการกับทางอมรได้อย่างไร ช่วยทีค่ะ”   แนวทางแก้ไขปัญหา การที่มีลูกค้านำโน้ตบุ๊คมาให้ซ่อม ดังนั้นโน้ตบุ๊คจึงอยู่ในความครอบครองของร้านซ่อม ร้านซ่อมจะต้องเก็บรักษาโน้ตบุ๊คของลูกค้าไว้ในที่ปลอดภัย และต้องมีความระมัดระวังตามสมควรที่จะไม่ให้ข้าวของของลูกค้าสูญหายหรือเสียหาย การที่ร้านซ่อมทราบล่วงหน้าถึงสองวันว่าน้ำกำลังจะเข้าท่วมห้าง และการที่ร้านซ่อมตั้งอยู่ในชั้นใต้ดินของห้างย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่ร้านจะถูกน้ำท่วมได้ แต่กลับไม่มีการโยกย้ายข้าวของของลูกค้าที่นำมาซ่อมไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยตามประกาศคำเตือนของรัฐบาลที่ออกมาเป็นระยะๆ ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของร้านซ่อมที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของลูกค้าเสียหาย ดังนั้นร้านซ่อมจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกค้า หลังจากที่ได้ติดตามเรื่องมาได้ระยะหนึ่ง คุณธัญชนกได้แจ้งว่าทางร้านซ่อมยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้เป็นเงิน 11,900 บาท ซึ่งเป็นยอดที่ตนพึงพอใจจึงรับไว้ ส่วนข้อมูลที่สูญหายไปพร้อมกับเครื่อง ก็ต้องทำใจเพราะเป็นความบกพร่องของตนเองเช่นกันที่ไม่ได้ทำการบันทึกข้อมูลเก็บไว้ก่อนส่งซ่อม สำหรับลูกค้ารายอื่นที่พบปัญหาเดียวกันให้ใช้เหตุผลตามที่ว่ามาประกอบการเจรจาเรียกค่าเสียหาย เชื่อว่าจะเกิดผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ทนายความหรือขึ้นโรงศาลขึ้นศาลให้เมื่อย   ค่าจอดรถแสนแพงที่ตลาด อ.ต.ก.? การจอดรถนานไปหน่อย...ถ้าจอดแถวที่บ้านคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามาจอดในสถานที่ที่มีการเรียกเก็บค่าจอด ควรตรวจสอบราคาค่าจอดให้แน่ใจเสียก่อน เผลอจอดนานไปมีสิทธิเจอค่าจอดประเภทที่ใช้จัดการคนชอบจอดรถนาน เจ็บกระเป๋าแน่ คุณสุเทพ ร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ตนเข้าไปจอดรถที่ตลาด อ.ต.ก.ตรงข้ามสวนจตุจักร ตอนเข้าไปพนักงานให้บัตรจอดรถ  ตอกเวลา 11.23 น. คุณสุเทพบอกว่าไปรับประทานอาหาร ทำธุระจนถึงเวลา 17.58 น. จึงได้ขับรถออกแล้วยื่นบัตรจอดรถให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตร “พนักงานเก็บบัตรบอกผมว่า ค่าจอดรถ 500 บาท ผมตกใจมาก อะไรจะแพงขนาดนั้น ขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ จอดทั้งวันยังไม่ถึง 300 บาทเลย” “เขาบอกเป็นระเบียบที่นี่ ผมเหลือบไปเห็นที่ป้ายข้างป้อมของเจ้าหน้าที่เก็บบัตรก็ตกใจอีก จอด 15 นาที ฟรี , 15 นาที -  ชม. 100 บ. ,1-2 ชม. 200 บ. 2-3 ชม. 300 บ. 3-4 ชม.400 บ. 4-5 ชม. 500 บ. นี้ประเทศไทยหรือเปล่า และที่แห่งนี้ก็เป็นตลาดเพื่อเกษตรกร มาขูดรีดกับประชาชนในการเก็บค่าจอดรถ แต่ยังไงผมก็จ่าย 500 บ.ให้พนักงานเพื่อตัดปัญหา” “ผมลองโทรไปถาม ทาง ผอ.ตลาด อ.ต.ก. ว่าเก็บค่าจอดแพงเกินไป ผมจะร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขาบอกเชิญเลย ดังนั้นผมขอร้องเรียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ นำข้อมูลที่ผมแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเช่นผม”   แนวทางแก้ไขปัญหา จากรายละเอียดที่ได้แจ้งมาพบว่า คุณสุเทพใช้เวลาจอดรถนานถึง 6 ชั่วโมง 35 นาที การจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เราได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ในวันธรรมดา-วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งใช้เรียกเก็บกับบุคคลทั่วไปตามนี้ (1)   30 นาทีแรก ไม่คิดค่าจอด (2)   เกิน 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง          คิดค่าจอดคันละ 10 บาท (3)   เกิน 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 20 บาท (4)   เกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 40 บาท (5)   เกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 100 บาท (6)   เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 200 บาท (7)   เกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 400 บาท (8)   เกินกว่า 6 ชั่วโมง                              คิดค่าจอดคันละ 500 บาท กรณีบัตรหาย คิดค่าปรับใบละ 300 บาท (ไม่รวมค่าจอดรถยนต์) ประกาศดังกล่าว เป็นประกาศที่มีการแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ซึ่งป้ายราคาค่าจอดรถยังคงปรากฏอยู่  ณ ที่ช่องทางเก็บค่าจอดรถของตลาด อ.ต.ก.นั้นยังเป็นอัตราราคาเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาจอดรถที่ผู้จอดรถได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ หากจอดรถนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปจะถูกเก็บค่าจอดคันละ 500 บาท เรามีหนังสือไปที่ อ.ต.ก. เพื่อสอบถามถึงโครงสร้างราคาค่าจอดรถ ได้รับคำชี้แจงจาก อ.ต.ก.ว่า ประการที่หนึ่ง ตามประกาศดังกล่าว จะเห็นว่าค่าจอดรถยนต์ของตลาด อ.ต.ก.คิดราคาไม่สูงเกินกว่า 10-40 บาท หากจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95 จอดภายในเวลานี้ ประการที่สอง อ.ต.ก.จำเป็นจะต้องกำหนดราคาจอดรถยนต์ให้สูงมากหลังจากช่วงเวลานี้ เนื่องจาก อ.ต.ก.มีที่จอดรถยนต์จำกัดเพียง 580 คัน แต่มีผู้มาใช้บริการวันละ 1,500 – 2,500 คัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มาใช้ลานจอดรถยนต์เพื่อเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่การใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และทำให้ที่จอดรถยนต์ไม่มีเพียงพอ สำหรับผู้มาใช้บริการตลาดคนอื่นๆ ประการที่สาม กรณีนี้ผู้ใช้บริการจอดรถยนต์นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาจจะไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าจอดสูงหากจอดเกินกว่าหกชั่วโมง ซึ่งหากมาใช้บริการตลาด อ.ต.ก.เป็นเวลานานมากเช่นนี้ อาจติดต่อขอให้ อ.ต.ก.พิจารณาลดหย่อนเป็นกรณีๆ ต่อไป ใครที่จะจอดรถนานๆ นานแบบปาเข้าไปครึ่งค่อนวันกับตลาด อ.ต.ก. ทราบแล้วเปลี่ยน...เปลี่ยนที่จอดด่วน   ถูกอมเงินค่าอบรมทำขนมปัง   ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 “เรียนทำขนมปังเพื่อสุขภาพด้วยแป้งสาลีโฮสวีต ฝึกเทคนิคการนวดแป้งขนมปังด้วยมือและนวดด้วยเครื่อง เช่น ขนมปังโฮลสวีท ขนมปังแครอท ขนมปังดินเนอร์โรล ขนมปังปูอัดน้ำพริกเผา รวมทั้งวิธีดัดแปลงเป็นขนมปังได้อีกสารพัดชนิด” เอกวิทย์ ผู้มีความสนใจที่จะเปิดร้านขนมปังสังขยาและนมสด ได้เห็นโฆษณาคอร์สอบรมทำขนมปังข้างต้น จากหนังสือ Learning For Better Living ที่จัดส่งมาให้ที่บ้าน และยิ่งมีความสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นชื่อของ Amarin Training ร่วมกับ สถาบันบ้านและสวน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปเป็นผู้จัดโปรแกรมการอบรม คอร์สอบรม ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 จะเริ่มเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 เอกวิทย์จึงรีบสมัครเข้ารับการอบรมทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีสองราคา ราคาปกติ 2,900 บาท และสมาชิก 2,600 บาท พี่สาวของเอกวิทย์เป็นสมาชิกอยู่เอกวิทย์จึงได้สมัครในราคาสมาชิก 2,600 บาท และได้โอนเงินค่าอบรมเข้าบัญชีของผู้จัดในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 หลังจากที่มีโทรศัพท์จากสถาบันเร่งให้เอกวิทย์โอนเงินค่าอบรม ปรากฏว่าพอถึงวันรุ่งขึ้นสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง เอกวิทย์ได้รับโทรศัพท์จากสถาบันโทรมาแจ้งว่า ขอยกเลิกการจัดอบรมเพราะมีคนมาสมัครน้อย สถาบันไม่สามารถเปิดสอนได้และบอกว่าจะขอโอนเงินค่าอบรม 2,600 บาทคืนให้ภายในอาทิตย์ถัดไป เอกวิทย์รอจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เงินก็ยังไม่ถูกโอนเข้าบัญชี จึงโทรเข้าไปที่สถาบันขอทราบถึงเรื่องการคืนเงินว่าจะกำหนดคืนให้ได้เมื่อไหร่ ได้รับคำตอบว่าอาจจะถึง 2 อาทิตย์ถึงจะได้รับเงินคืน เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต่อมาก็ได้มีการโทรติดตามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เอกวิทย์เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกวิทย์ให้ความเห็นว่า สถาบันเหล่านี้อาจจะมีรายได้จากค่าสมัครในการอบรมเป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีการนำเงินของผู้สมัครอบรมไปหมุนเวียนในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีการกู้ยืมหรือลงทุนแม้แต่บาทเดียว พอเสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกการอบรม กว่าจะคืนเงินก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง   แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เมื่อสัญญาว่าจะจัดการอบรมและมีการเรียกเก็บค่าอบรมแล้วไม่จัดการอบรมให้ก็ต้องคืนเงินให้กับลูกค้าสถานเดียว ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ไปที่สถาบันการฝึกอบรมดังกล่าว ได้คำตอบว่าจะคืนเงินให้ผู้บริโภคในอาทิตย์ถัดไป สอบถามคุณเอกวิทย์ว่าจะยอมให้เขาผัดผ่อนอีกครั้งหรือไม่ คุณเอกวิทย์บอกว่าให้โอกาสเขาอีกครั้งถ้ายังประวิงเวลาอยู่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที อาทิตย์ถัดมาเราทราบว่าเอกวิทย์ได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อย และต้องเริ่มต้นหาที่เรียนทำขนมปังใหม่อีกครั้ง    

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 137 ทำไม?? ค่าโอนหน่วยกิตถึงแพงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนปกติ

และแล้วเราก็ผ่านพ้นช่วงเวลาเปิดภาคเรียนที่แสนจะสับสน    วุ่นวายที่สุดคือเรื่องการหาที่เรียน ของลูกหลาน   และเรื่องที่วุ่นวายไม่แพ้กันคือเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าเทอม และอุปกรณ์การเรียนของลูกหลาน   แต่ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่แค่ไหนสุดท้ายเราก็สามารถก้าวผ่านมันไปได้    เหมือนที่เคยผ่านมาทุกปี ถึงแม้ผู้บริหารการศึกษาหลายแห่งอาจจะยังถูกตรวจสอบอยู่ก็ตาม(หวังว่าปัญหาการเรียกเก็บค่าค่าแปะเจี๊ยะที่กำลังโด่งดังคงไม่จบแบบมวยล้มต้มคนดูนะ) พูดถึงการศึกษาผู้เขียนก็มีข้อสงสัยอยู่พอประมาณ   เรื่องมีอยู่ว่าผู้เขียนเนี่ย...เป็นคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค   จึงมีทั้งผู้มาร้องเรียนหรือมาหารือเกี่ยวกับกฎหมายอยู่บ่อยๆ(บ่อยมาก)    พอพูดถึงกฎหมายก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีความรู้เรื่องนี้อยู่ไม่มากเท่าที่ควร   พอมีคนมาหารือเราก็ต้องยกหูหานักกฎหมายอยู่เป็นเนืองนิจ.....ปรึกษาบ่อยๆ ก็เริ่มเกรงอกเกรงใจ  ก็เลยตัดสินใจไปลงเรียนกฎหมายเองเสียเลย..  อายุปาเข้าไปปูนนี้(และกำลังเงินมีจำกัด) ที่เรียนคงที่มหาวิทยาลัยเปิด ที่ราคาพอเรียนไหว  ก็คงหนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยรามคำแหง(คณะนิติศาสตร์) เพื่อจะได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมาย    เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นให้กับคนที่มาพึ่งพาได้บ้าง     การลงทะเบียนเรียนที่ม.รามฯ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก  ค่าหน่วยกิตก็ถือว่าถูกมากแค่หน่วยกิตละ 15  บาท รวมค่าเทอมและอื่นก็ไม่น่าจะเกิน 2 ,000 บาท (พอเรียนไหว)   ผู้เขียนมีพื้นฐานการเรียนที่จบทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทแล้ว   นั่นก็หมายความว่าวิชาพื้นฐาน  ได้เรียนมาหมดแล้ว   ซึ่งสามารถเทียบโอนวิชาเหล่านี้ได้   ทางมหาวิยาลัยคิดค่าโอนหน่วยกิตละ 100 บาท(แพงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนเกิน 5 เท่า) โดนค่าโอนไปประมาณ 3,000 กว่าบาท     ผู้เขียนติดใจเรื่องนี้มาก(ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มาก)   ที่ติดใจเป็นเพราะ การเทียบโอนทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เสียอะไรเลย  ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ  ค่าห้องเรียน และอาจารย์ผู้สอน  แต่กลับเรียกเก็บค่าเทียบโอนสูงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนปกติ   เขาเก็บแพงกว่าเพราะอะไร?    เมื่อสงสัยก็ต้องถาม จริงไหม?.....ผู้เขียนจึงได้ถามอาจารย์หลายคนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ซึ่งแต่ละท่านน่าจะระดับ ด็อกเตอร์แล้ว น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน  หากท่านคิดอย่างนั้นเหมือนผู้เขียน....ขอบอกว่า....ท่านน.... “คิดผิด”  เพราะคำตอบที่ได้คือ “ไม่รู้”  ทางมหาวิทยาลัยเขาเขียนระเบียบมาอย่างนี้  ก็ต้องเก็บตามนั้น  อยากรู้ต้องไปถามอธิการบดีเอาเอง  คนอื่นเขาก็จ่ายกัน ไม่เห็นใครเขาจะถามเลย..อื้อหือ....คำตอบมีประโยชน์ต่อผู้ถามจังเล้ยยย... นอกจากไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วยังแถมด้วย สีหน้ารำคาญนิดหน่อย  ประมาณว่าจะเรียนไหม?..อะไรทำนองนี้       และที่ติดใจมากที่สุดคือคำที่บอกว่า  “มหาวิทยาลัยอื่นเขาก็เก็บอย่างนี้ทั้งนั้น”  อาจเป็นด้วยผู้เขียนเป็นคนทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และกำลังจะเรียนกฎหมายด้วย   เมื่อเห็นอะไรแปลกๆ อดสงสัยไม่ได้เป็นธรรมดา   เรื่องนี้คงต้องติดตามตอนต่อไปว่ามหาวิทยาลัย  ออกระเบียบเช่นนี้ผิดกฎหมายหรือไม่(ยังไม่ทันจะเรียนวิญญาณนักกฎหมายเข้าสิงเสียแล้ว)      แล้วท่านผู้อ่านล่ะ..สงสัยเรื่องนี้บ้างหรือไม่หากสงสัย  ...มาช่วยกันหาคำตอบนะจะได้เรียนรู้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 137 เสียงผู้บริโภค

นิสสัน อัลเมลา (บางคัน) กว้างแถมเปียก เชื่อว่าเวลาเราซื้อรถยนต์ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ได้รถดีเหมือนที่โฆษณา และเราก็เชื่อว่ารถดีมีเป็นร้อยที่ถอยออกจากโรงงานในแต่ละวัน แต่รถคุณภาพต่ำต้อยก็มีสิทธิหลุดออกมาได้เหมือนกัน ถ้าคุณภาพบริการหลังการขายไม่ดี ความชอกช้ำชีวีมีถึงผู้บริโภคแน่นอน นี้คือคำโฆษณา... “นิสสัน อัลเมลา อีโคคาร์ 4 ประตูคันแรกของเมืองไทย” “ความสุขที่กว้างขึ้น ความภาคภูมิที่สัมผัสได้ตั้งแต่แรกเห็น” “ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบอย่างภูมิฐานเหนือระดับ พร้อมสปอย์เลอร์หลังเพิ่มประสิทธิภาพทางการขับขี่ ตัวถังเน้นความโอ่อ่า เพื่อให้ห้องโดยสารภายในกว้างขวางผ่อนคลาย พร้อมขยายพื้นที่ช่วงขาให้ยาวขึ้น นอกเหนือความงามคือความใส่ใจเพื่อผู้โดยสารนั่งสบายทุกอิริยาบถ”     และนี้คือความจริง....... “ซื้อนิสสัน อัลเมลา ป้ายแดง ใช้งานมาได้ 4 เดือนค่ะ ตอนนี้พบปัญหา น้ำเข้าขณะล้างรถและตอนจอดตากฝน” คุณรฐาผู้บริโภคของเราบอก “น้ำเข้ารถ 2 จุด คือที่ประตูหลังด้านขวาและเข้าทางกระโปรงหลัง ได้เข้าปรึกษากับทางศูนย์ที่ออกรถมาว่าจะรับผิดชอบให้เราอย่างไร เราไม่ได้คำตอบ โทรไปเซลล์ไม่รับสาย” คุณรฐาพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการไปสอบถามกับศูนย์บริการอีกแห่ง ได้รับการยืนยันว่าเกิดจากกระบวนการผลิตต้องส่งเคลมโรงงาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการต่อไปหลังจากนั้น “ไม่มีคำตอบว่าจะมีความรับผิดชอบเมื่อไรและอย่างไร เราได้รับบริการที่แย่มากมาตั้งแต่ต้น เราควรปฏิบัติอย่างไรในกรณีนี้คะ” คุณรฐาถาม   แนวทางแก้ไขปัญหา จะเห็นว่าคำโฆษณานั้นดูดีเสมอ โดยเฉพาะกับการขายรถยนต์ราคาเป็นแสนๆ แต่การเกิดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เด็กบางคนเรียกว่า “เรื่องกะโหลกกะลาแค่เนี้ย” เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขปัญหากะโหลกกะลามันก็จะบานปลายจนส่งผลต่อชื่อเสียงของสินค้าได้ไม่ยาก และหวังว่าคุณรฐาจะไม่ใช้รถคันนี้ตอนช่วงน้ำท่วม นึกเห็นภาพแล้ว...ความเสียหายคงบาน...   วิธีแก้ปัญหานี้ คือ การเจรจาให้ผู้ขายรถยนต์ต้องรับรถไปตรวจและส่งซ่อมโดยเร็ว และผู้ขายสินค้าก็ไม่ควรอิดเอื้อนบ่ายเบี่ยงทำตัวเหมือนคนท้องผูก ปิดประตูห้องน้ำนั่งขยี้กระดาษชำระเล่น หรือไม่ยอมรับสาย ไม่ยอมพบปะพูดจากับลูกค้า เพราะคิดว่าเป็นเรื่องหมูในอวย ขายรถได้แล้วเป็นอันจบ ศูนย์รถแห่งไหนเลี้ยงพนักงานขายแบบนี้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งเจ๊งไว สาธุ... ทำไมถึงแช่งกันอย่างนั้น เพราะยิ่งพนักงานขายแชเชือนแช่บ๊วยปล่อยปัญหาให้ช้าเนิ่นนานไป ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์ขุ่นมัวสะสมพอกพูนแปรสภาพเป็นการเรียกค่าเสียหายผ่านการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ สำหรับผู้บริโภคก็อย่าเพิ่งลัดขั้นตอนใจร้อนเอาเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเปลี่ยนรถใหม่หรือให้ซื้อรถคืนเลย เพราะฟ้องไปหากศาลท่านเห็นว่าน่าจะซ่อมได้ท่านก็คงสั่งให้ไปซ่อมก่อน ซ่อมได้ก็จบกันไป หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไปแล้วเอากลับมาใช้อีก มองแล้วอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้บริโภคท่านถึงจะพิจารณาให้เรียกคืนรถและชดใช้เงินค่าซื้อรถกันได้ สรุปว่าทุกอย่างมีขั้นตอน ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำเมื่อเกิดปัญหาแนวๆ นี้ คือ นำสินค้าที่เสียหายหรือชำรุดบกพร่องโดยที่ไม่ได้เกิดจากการความบกพร่องจากการใช้งานของผู้บริโภคส่งให้ผู้ขายสินค้าตรวจเช็คและร้องขอเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนเองเพื่อขอให้ผู้ขายสินค้าซ่อมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องโดยทันที และเริ่มนับเวลาค่าเสียหายที่ขาดโอกาสในการใช้รถนับแต่วันที่ส่งซ่อมทันที ไม่ได้หวังว่าจะเอามาคิดเป็นเงินจริงจังก็ได้ แต่คิดเป็นตัวเลขเพื่อใช้กดดันเป็นปฏิกิริยาเร่งให้มีการซ่อมสินค้าโดยเร็ว ซ่อมได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมไม่เยิ่นเย้อยาวนานเกินไปก็สมควรจบปัญหากัน แต่หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไม่หายจึงค่อยเรียกร้องให้เปลี่ยนสินค้าใหม่หรือคืนเงินกัน หากผู้ขายสินค้าไม่ยินยอมจึงค่อยไปฟ้องร้องต่อศาลในคดีผู้บริโภคได้ ว่ากันเป็นกระบวนยุทธ์อย่างนี้ ปัญหายุติเร็วแน่นอน ที่สำคัญยุติ แบบยุติธรรมด้วย แต่อย่าลืมเรื่องอายุความของคดีที่มีระยะเวลาแค่ 1 ปี นับแต่วันที่รับรู้ถึงความเสียหาย ต้องฟ้องร้องภายในกรอบระยะเวลานี้ หากพ้นระยะเวลานี้ไปก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องความรับผิดกันได้ หลังจากได้รับคำแนะนำไปคุณรฐาเธอจึงเริ่มดำเนินการเจรจาตามกระบวนยุทธพิทักษ์ผู้บริโภค ไม่นานศูนย์นิสสันลาดพร้าวก็ได้ทำการตรวจสอบสภาพความชำรุดบกพร่องของรถ จนทราบสาเหตุที่น้ำรั่วไหลเข้ารถว่าเป็นเพราะขอบยางจากกระโปรงท้ายรถติดตั้งไม่เรียบร้อย และไม่มีการปิดฝาท่อระหว่างท้ายรถกับห้องโดยสารทำให้น้ำรั่วไหลเข้าไปได้ทั้งในเวลาล้างรถหรือตอนฝนตก จึงได้ทำการซ่อมแซมแก้ไขให้ “เมื่อรับรถออกมาเราได้ทดสอบเบื้องต้นโดยการเอาน้ำฉีด น้ำไม่เข้าแล้ว...ขอขอบคุณทางมูลนิธิฯมากๆ ค่ะ ที่ให้คำปรึกษาดีมากๆ ขอบคุณค่ะ...” ส่งโนเกียซ่อม 6 เดือนยังไม่ได้ ร้องมาที่มูลนิธิฯ สัปดาห์เดียวได้คืน “วันที่ 12 ธันวาคม 2554 ผมได้ส่งโทรศัพท์โนเกีย รุ่นเอ็น 8 ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียแคร์ สาขาเอสพานาด ด้วยอาการที่มือถือเมื่อใช้ USB แล้วมองไม่เห็นคอมพิวเตอร์” คุณไกรภพเริ่มเรื่อง ศูนย์ได้รับเครื่องมือถือของคุณไกรภพเพื่อตรวจซ่อม และแจ้งกลับมาว่าเครื่องมีปัญหาที่เมนบอร์ด ต้องทำการเปลี่ยนด้วยราคา 12,000 บาท “ผมตัดสินใจไม่ซ่อมและขอรับเครื่องกลับ” นอกจากนั้นคุณไกรภพ ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ปรากฏว่าวันที่ไปรับเครื่อง เมื่อตรวจเช็คพบว่า เครื่องไม่สามารถเปิดได้ ซึ่งในใบรับซ่อมแจ้งว่าเครื่องเปิด-ปิดได้ โทรเข้า-โทรออกได้ปกติ จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าสาเหตุที่เครื่องเสียเปิดใช้งานไม่ได้ มีสาเหตุมาจากการซ่อมของทางศูนย์ “ผมจึงได้โวยวายให้ศูนย์รับผิดชอบ ทางศูนย์จึงได้ส่งเครื่องกลับไปซ่อมใหม่” ต่อมาศูนย์แจ้งว่า จะทำการเปลี่ยนเมนบอร์ดให้และ ให้รอการแจ้งกลับ ช่วงแรกๆ ผมก็รอ แต่ปรากฏว่ามีความจำเป็นต้องติดต่องานตลลอดเวลา ทำให้ต้องซื้อเครื่องใหม่ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินเลย แต่เป็นเพราะทางศูนย์ทำเครื่องพังหนักกว่าเดิม ไม่ทราบว่าผมจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างครับ ตอนนี้ตามทั้งทางโทรศัพท์ ตามทั้งทางศูนย์เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แต่ก็ไม่ได้ความคืบหน้าอะไรเกี่ยวกับการซ่อมเลยครับ “ผ่านจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ระยะเวลาในการซ่อม 6 เดือน หรือครึ่งปีแล้วผมควรทำอย่างไรดีครับ”   แนวทางแก้ไขปัญหา คุณไกรภพครวญมาด้วยความทุกขเวทนาน่าสงสารจับจิต... ตอนที่น่าสงสารสุดๆ น่าจะตอนที่ศูนย์ซ่อมบอกว่าค่าเมนบอร์ดใหม่คิดราคา 12,000 บาท พอไปเปิดเว็บไซต์ขายมือถือรุ่นนี้ พบราคาเปิดตัวเมื่อกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 16,500 บาท ราคาล่าสุดอยู่แถวๆ 10,890 เท่านั้น นี่ศูนย์จะเล่นผู้บริโภคถึง 12,000 บาทเชียวหรือ ก็น่าจะบอกให้เขาไปซื้อใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย คุณไกรภพซื้อมือถือมาไม่ได้ใช้แถมศูนย์ซ่อมยังทำให้เจ๊งอีก ต้องซื้อมือถือใหม่มาใช้งาน อย่างนี้ต้องเรียกว่า เป็นความเสียหายซ้ำซ้อน คล้ายกั บผู้พิการซ้ำซ้อน หูหนวกไม่พอต้องตาบอดอีก อะไรทำนองนี้ หลังได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงโทรไปหาคุณไกรภพและแนะนำให้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทโนเกีย ประเทศไทย เรื่องการบริการหลังการขายที่มีปัญหาของศูนย์บริการโนเกีย โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เป็นผู้ช่วยร่างและเรียงลำดับปัญหาให้กับคุณไกรภพ คุณไกรภพได้ส่งคำร้องเรียนไปที่เฟสบุ๊กของโนเกีย หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ศูนย์โนเกียได้ติดต่อกลับมาที่คุณไกรภพแจ้งให้เข้าไปรับเครื่องที่ซ่อมเสร็จแล้วคืน ซึ่งศูนย์โนเกียได้เปลี่ยนเมนบอร์ดให้ใหม่และแก้ไขระบบเปิด-ปิดเครื่องให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ “แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว” คุณไกรภพบอก “ผมพยายามติดตามเครื่องมาเกือบ 7 เดือน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอบพระคุณมากครับ”   บ้านถูกน้ำท่วม ไม่ใช้เน็ตแต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ เป็นที่ทราบ กันดีว่าที่อยู่อาศัยแถบอำเภอบางบัวทองต้องถูกน้ำท่วมอย่างหนัก แทบไม่มีใครอยู่อาศัยได้ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ล่ม จึงมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ความดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตของทรูไลฟ์พลัส เพราะมีการร้องเรียนว่ายังเรียกเก็บค่าบริการต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณชูชัยเป็นผู้บริโภครายหนึ่งที่ร้องเรียนมาว่า ตนและครอบครัวอยู่อาศัยในหมู่บ้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านถนนบางกรวยไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อน้ำท่วมใหญ่เข้าอำเภอบางบัวทองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554  ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ จึงได้โทรแจ้งไปยังบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัดว่า บ้านถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้จึงไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทได้ ขอให้บริษัทระงับการเรียกเก็บค่าบริการไว้ก่อน เสียงร้องขอของผู้บริโภคคงไร้คว ามหมาย เจตนารมณ์ของทรูไลฟ์พลัส คงไม่เปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นรักษาสโลแกนของตนไว้เหมือนเดิม “ชีวิตมีแต่บวก” ก็เลยมีการส่งใบแจ้งหนี้บวกเพิ่มให้คุณชูชัยเข้ามาทุกเดือน กลายเป็นหนี้สะสมทบติดต่อกันมาถึง  5 เดือนนับจากวันที่น้ำท่วมเข้าบางบัวทอง จนถึงวันที่ร้องเรียน คุณชูชัยก็ยังไม่สามารถเข้าอาศัยในบ้าน ของตัวเองได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมแซมต้องไปหาพักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งแทน จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ   แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ได้มีการร้องเรียนไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.)ของ กสทช.อีกทางหนึ่งด้วย เราจึงได้สอบถามความคืบหน้าไปที่ สบท. ทราบว่าหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัสฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ ทรู ได้ปรับลดค่าบริการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงรอบเรียกเก็บในเดือนมีนาคม 2555 เป็นเงิน 3,700 กว่าบาทให้ และได้มีการเริ่มต้นคิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคอีกครั้ง สอบถามคุณชูชัยได้ความว่าตอนนี้ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดยังไม่ได้กลับเข้าบ้านเพราะบ้านยังซ่อมไม่เสร็จ จึงอยากจะทำเรื่องยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและขอเงินประกันกล่อง Router คืนไปเลย แต่กล่อง Router หายไปตอนน้ำท่วม หลังทราบความต้องการของผู้บริโภค ทรูจึงทำการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งว่าค่าประกันกล่อง Router อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่สักพัก เพราะจริงๆแล้ว กล่อง Router นั้นไม่มีการทำประกัน แต่เป็นลักษณะของการซื้อขายอุปกรณ์เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตครบ 1 ปี กล่อง Router จะตกเป็นของผู้บริโภค ส่วนเงินที่ติดตามทวงถามคืนนั้นเป็นค่าประกันหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ จึงได้มีการติดตามทวงถามคืนจากทีโอทีรวมจำนวน 2 เลขหมาย และท้ายที่สุดได้คืนเป็นจำนวนเงินเลขหมายละ 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติ สวัสดี

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้ 1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต. 2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต. 3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.   อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบัน ดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55 นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชน สุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่่ 136 เสียงผู้บริโภค

ขนประหลาดในเค้ก ด้วยชีวิตรีบเร่ง ทำให้เดี๋ยวนี้คนไทยกินข้าวที่บ้านกันน้อยลง หันไปพึ่งอาหารสำเร็จรูปเยอะขึ้น เข้าร้านสะดวกซื้อหยิบปุ๊บ จ่ายเงินปั๊บ แกะห่อเป๊ะ หยิบใส่ปากป๊าบ เอ๋...นี่มันเส้นอะไร อึ๋ยยยย! นี่มันขน.@#@?? “คน” นี่นา เช้าวันที่ 15 มีนาคม 2555 น่าจะเป็นเช้าวันทำงานที่สดใสอีกวันหนึ่งสำหรับคุณบูรณ์มี หากว่าไม่เจอขนเส้นนั้น ก่อนออกไปทำงาน เธอเปิดตู้เย็นเพื่อหาของรองท้อง หมายตาไปที่ขนมเค้กโรลบลูเบอรี่ฟาร์มเฮ้าส์ ที่ซื้อจากร้านเซเว่น อีเฟเว่นใกล้บ้านตั้งแต่เมื่อคืนวันวาน เธอแกะมารับประทานได้คำสองคำ ก็เจอเส้นขนประหลาดแทรกอยู่ในเนื้อขนมเค้ก ทีแรกเธอคิดว่าเป็นเศษด้ายสีดำ แต่เมื่อเอานิ้วไปเขี่ยๆ แตะๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ หยิบขึ้นมาดูชัดๆ มันดูเหมือนขนเพชรของคนมากเลย “ทิ้งเลยค่ะไม่กินต่อเลย”   พอเจอขนประหลาดในเนื้อขนม สิ่งแรกที่เธอทำคือ การกดเบอร์โทรลูกค้าสัมพันธ์ฟาร์มเฮ้าส์ที่แสดงอยู่บนซองขนมเพื่อจะร้องเรียน ปรากฏว่าไม่มีใครรับสายเพราะตอนนั้นเป็นเวลา 7 โมงเช้ากว่าๆ พอถึงที่ทำงานเวลา 9 โมงกว่าโทรเข้าไปใหม่สายก็ไม่ว่าง ประมาณเกือบ 11 โมงจึงโทรติด “พอมีเจ้าหน้าที่มารับสายก็เลยบอกว่าเราได้เจอขนเพชรในขนม เจ้าหน้าที่ถามกลับมาว่าวันผลิต วันหมดอายุเมื่อไหร่ เลยบอกไปว่าผลิต 13 มี.ค. หมดอายุ 18 มี.ค.55 ซื้อจากที่ไหน ก็บอกว่าร้านสะดวกซื้อ(เซเว่น) อยู่แถวฝั่งตรงข้ามสำนักงาน ปปส. ดินแดง” จากนั้นก็ได้มีเจ้าหน้าที่ของฟาร์มเฮ้าส์โทรติดต่อกลับมาอีกครั้ง “ถามว่าจะมาพบได้ที่ไหน ตอนนี้ขนมอยู่ที่มือหรือเปล่า บอกว่าอยู่ เขาบอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาพบตอนบ่าย แต่ตอนหลังโทรกลับมาบอกว่ารถไม่ว่างจะมาวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 16 มี.ค. บอกว่าจะมาประมาณ 11 โมงเช้า วันที่ 16 มี.ค. 55 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ที่ทำงานของคุณบูรณ์มี  มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฟาร์มเฮ้าส์มาขอพบเธอ 2 คน “ก็นำขนมชิ้นนั้นไปให้ดู เขาก็ขอโทษและชี้แจงว่า ช่วงนี้มีพนักงานเข้าออกกันบ่อย บอกขอบคุณที่ช่วยแจ้งข้อมูล และให้ขนมปลอบใจ 1 กระปุกแล้วแยกย้ายกันไป” “ก็มึนๆ ล่ะค่ะ ที่เขาเอาขนมอีกกระปุกมาให้เป็นการขอโทษ จบแค่นี้เองเหรอคะ” คุณบูรณ์มีทิ้งท้าย ก่อนส่งข้อมูลและภาพถ่ายของขนมและเส้นขนในขนม พร้อมสำเนาบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการร้องเรียนมาให้มูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบปัญหานี้ต่อไป   แนวทางแก้ไขปัญหา การที่มีเส้นขนหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคปะปนมาในอาหาร โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้บริโภค ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการผลิต บรรจุ หรือ เก็บรักษาอาหารโดยไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “อาหารไม่บริสุทธิ์” ซึ่งพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าจะเปรียบเทียบความรุนแรงของโทษ การจำคุกไม่เกิน 2 ปีก็มีความรุนแรงเท่ากับโทษการทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งทำให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่น เช่น  ตบหน้าจนบวมช้ำ ต้องรักษาบาดแผล ส่วนโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็เป็นการปรับระดับโทษเดียวกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เช่น รักษาผู้ป่วย  ไม่รอบคอบ ประมาทเลินเล่อทำให้เขาตาย ขับรถประมาทชนคนตาย   มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่โทษจำนั้นหนักกว่าคือมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี  ดังนั้น การแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจเพียงแค่กล่าวคำขอโทษแล้วให้ขนมมาปลอบใจดูจะอ่อนไปหน่อย มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปถึงบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตขนมฟาร์มเฮ้าส์ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะผู้จำหน่ายขนม ให้ร่วมกันตรวจสอบปัญหาและพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควร ไม่นานบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกลับมาที่มูลนิธิฯ โดยใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า โอกาสที่สิ่งแปลกปลอมจะปนเปื้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต อาจเกิดจากวัตถุดิบบางประเภท อาทิเช่น ไข่ไก่ตอก เนื่องจากไข่ไก่ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น เป็นไข่ไก่สด ซึ่งถูกบรรจุในถุงแช่เย็นจากทางผู้ผลิตไข่ไก่โดยตรงใส่ในถาดตะแกรง เมื่อเข้าสู่โรงงานจะผ่านขั้นตอนการตรวจรับที่อยู่ภายนอกอาคาร เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจะทำการสุ่มตรวจสิ่งแปลกปลอม กรณีสุ่มไม่พบ ไข่ไก่จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป “จากกรณีดังกล่าวทางบริษัทฯ จึงเล็งเห็นแนวทางพัฒนาการป้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพ โดยเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้ตลอดจนกระบวนการผลิตยังอยู่ในมาตรฐาน” “เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ทางบริษัทฯ จึงได้ทำการติดต่อลูกค้าอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจและยืนยันในคุณภาพกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานหลักปฏิบัติการผลิตที่ดี และดำเนินการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการขอบพระคุณลูกค้าที่กรุณาให้ข้อมูลกรณีพบสิ่งแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์แก่ทางบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อันนำไปสู่การพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพของฝ่ายผลิตของทางบริษัทฯ ภายหลังการดำเนินการทางลูกค้าได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างมาก” เป็นคำตอบจาก บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯในท้ายที่สุด   รองเท้าแตะคู่ 3 พัน ใช้ไม่กี่วันเจ๊ง “ดิฉันได้ไปซื้อรองเท้า FITFLOP ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554” คุณเสาวรินทร์เริ่มเรื่อง เธอบอกว่ารองเท้าคู่นี้ ราคา 3,290 บาท เป็นรองเท้าแตะ... “บ๊ะ!” เจ้าหน้าที่รับเรื่องของมูลนิธิฯ ร้อง รองเท้าแตะอะไรจะแพงขนาดนั้น เปิดดูภาพรองเท้าที่คุณเสาวรินทร์ส่งมาให้ ก็เห็นเป็นรองเท้าแตะหูหนีบ พื้นหนาหน่อย สไตล์โฉบเฉี่ยวเพรียวเท้าถูกใจสาวรุ่น คิดในใจก็ว่าราคายังไม่น่าถึงสามพัน ดูที่สายรองเท้าเห็นลวดลายมองได้เป็นทั้งหนังงูหรือไม่ก็หนังตัวเงินตัวทอง ดูใกล้เคียงกัน ไม่แน่ใจ “คงจะสายรองเท้ามั๊ง ที่ทำให้สมราคาสามพัน” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนคิดในใจ คุณเสาวรินทร์เล่าปัญหาของเธอต่อไปว่า รู้ว่าเป็นรองเท้าราคาแพง พอซื้อมาก็สวมใส่ใช้งานอย่างทะนุถนอม ถามว่าทะนุถนอมยังไงเธอบอกว่า ใช้ใส่เดินในห้างเดินในตึกอย่างเดียว ไม่เคยเอามาใส่เดินบนถนน บนฟุตบาทให้แปดเปื้อนศักดิ์ศรีรองเท้าจากพารากอนเลยสักครั้ง เพราะเดี๋ยวเกิดไปสะดุดปุ่ม สะดุดตออะไรเข้าจะเกิดรอยฉีกรอยขาดเสียหายได้  เวลาเก็บก็เช็ดวางเข้าชั้นวางรองเท้าอย่างดี เรียกว่าแทบจะอัญเชิญเข้าหิ้งก็ไม่ปาน อุตส่าห์ทะนุถนอมถึงขนาดนั้น ปรากฏว่าใส่ขึ้นห้างได้แค่ 6 วัน สายหนีบรองเท้าข้างหนึ่งก็ฉีกขาดเสียแล้ว จะปลอบใจตัวเองว่ายังเหลืออีกข้างราคาพันห้าทนใส่ข้างเดียวมันก็ยังไงๆ อยู่ จึงเอาใบเสร็จขึ้นมาดู ปรากฏข้อความเด่นหราว่า “รับประกันสินค้าภายใน 14 วัน” อ่านแล้วเหมือนได้รับข้อความจากสวรรค์ รีบโทรติดต่อไปที่บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงินว่าเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายและนำเข้ารองเท้า ได้รับคำตอบว่า รองเท้ายังอยู่ในเงื่อนไขระยะเวลารับประกันขอให้ส่งใบเสร็จและนำรองเท้าส่งไปที่ร้าน คุณเสาวรินทร์จึงได้ส่งรองเท้าและใบเสร็จไปและรอการติดต่อกลับมาเป็นเวลา 20 วัน แต่ต้องผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับเป็นอย่างมาก “ดิฉันได้รับคำตอบว่า การฉีกขาดของหูรองเท้าไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของตัวสินค้า แต่เกิดจากการสวมใส่ จึงไม่สามารถรับผิดชอบ หรือซ่อม หรือเปลี่ยนรองเท้าให้ได้แต่อย่างใด” “ด้วยการสวมใส่ของดิฉันไม่ได้สะดุด หรือมีการกัดของสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด ดิฉันมั่นใจว่า รองเท้าของดิฉันมีปัญหาจากโรงงานเนื่องจากการผลิต อยากทราบว่า ถ้าทางบริษัทฯ รับประกันสินค้า และสินค้าเกิดความชำรุดภายในระยะเวลากำหนด และทางบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันสามารถดำเนินการใดๆ ได้บ้างคะ” คุณเสาวรินทร์ร้องถามความเป็นธรรมให้เท้าของตนเอง   แนวทางแก้ไขปัญหา ขอว่าด้วยเรื่องหลักกฎหมายเป็นความรู้กันก่อน ในความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ในมาตรา 472 ว่า กรณีสินค้าที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่จะใช้ได้เป็นปกติก็ดี หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิด ไม่ว่าในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ กรณีที่ผู้ขายสินค้าไม่ต้องรับผิดก็มีเช่นกัน กล่าวในมาตรา 473 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ(1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อน(3) ถ้าทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาด ทั้งนี้ ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พพ. มาตรา 474) สำหรับกรณีจึงสรุปได้ว่า เมื่อผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการใช้ของผู้บริโภค ก็คงต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้น แม้จะมีเงื่อนไขว่ารับคืนหรือเปลี่ยนสินค้าภายใน 14 วัน แต่ในหลักกฎหมายก็ยังให้สิทธิในการฟ้องร้องในอายุความ 1ปี แต่นี่คือหลักกฎหมายเพราะในชีวิตมีเพียงน้อยรายที่จะยอมเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อแลกกับค่าเสียหายระดับหลักพันบาทเช่นนี้ ดังนั้น การเจรจาไกล่เกลี่ยจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนสินค้าชำรุดบกพร่องถึงบริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และยังส่งหนังสือร้องเรียนอีกฉบับไปที่บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของพื้นที่ขายสินค้า เพื่อให้ช่วยกดดันลูกค้าของตนเองให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการของห้าง ผลปรากฏว่า บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) ยอมเยียวยาความเสียหายให้กับคุณเสาวรินทร์เป็น Gift Voucher มูลค่า 3,500 บาท มากกว่ามูลค่าราคารองเท้าที่เสียหายเล็กน้อย (รองเท้าซื้อราคา 3,290 บาท) คุณเสาวรินทร์บอกแค่นี้ก็พอใจมากแล้ว เพราะไม่คาดว่าจะเรียกร้องกับบริษัทได้ หลังจากนั้นจึงนำ Gift Voucher ไปแลกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ทันที   แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือน คุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็ม สองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ “ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้” ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงิน พอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา “ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้ “ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว” “พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน” ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ “หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว” แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ 1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน 2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้ 3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง   แนวทางการแก้ไขปัญหา ปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไป สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง... ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป... ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไป สำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว” “บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก” ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่่ 135 เสียงผู้บริโภค

เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ “ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน” “พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”   การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้ คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554 ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้ว ผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาท ปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป     เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้ คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี “คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทัก ตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ” เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจ ด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ “รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก “ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกัน ระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ “พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ” “คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย” “ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ” “เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู “นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผล คุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดู เซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต “โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน” “ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืน เซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้ “หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!” “คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน “ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป “โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่” “ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม “อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร” คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก “ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ “เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ “เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ” “เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ “งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์   เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม “พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง “พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้” “เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ   แนวทางแก้ไขปัญหา สัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาท การแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเรา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกัน หลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด “ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ” “ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต” เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกัน     ลูกค้าโนเกียโวย ศูนย์ซ่อมไม่เก็บข้อมูลในเครื่องให้ คุณเบญญภา สาวใหญ่เมืองลำพูนเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ไปที่ศูนย์โนเกียแคร์ ซื้อโทรศัพท์มือถือโนเกีย C3 ในราคา 3,900 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ใช้ได้ประมาณ 4 อาทิตย์ อาการออกอ่าว โทรหาเพื่อนหาลูกค้า โทรติดแต่คนที่รับสาย เอาแต่พูดว่า “มีหยัง...บ่ได้ยิน” “อู้หยังบ่ฮู้เรื่องเลย”  “ฮู้...โทรมายะหยัง โทรแล้วบ่ยอมอู้” “ว่างก๊ะ ถึงโทรมาเล่นกัน” คุณเบญญภา พยายามตะโกนใส่โทรศัพท์เท่าไร คู่สายฝั่งตรงข้ามก็ยังไม่ได้ยิน สุดท้ายเหมือนคนที่ถูกสังคมหยามเหยียดโทรหาใครก็ถูกวางสายหมด เสียค่าโทรฟรีๆ ไปหลายบาท จึงตัดสินใจนำโทรศัพท์มือถือออกใหม่ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ เชียงใหม่ ตามสัญญารับประกัน “ดิฉันได้แจ้งอาการเสียของมือถือที่โทรออกแต่คู่สายไม่ได้ยินให้กับพนักงานศูนย์ฯ ทราบ ก่อนส่งซ่อมพนักงานได้สอบถามว่า ในเครื่องมีข้อมูลสำคัญหรือไม่ ดิฉันได้ระบุชัดเจนว่า เป็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าประมาณ 400 เลขหมาย เพราะดิฉันเพิ่งเปลี่ยนเครื่องยังไม่ได้เก็บข้อมูลสำรองไว้ พนักงานจึงระบุในใบส่งซ่อมว่าไม่อนุญาตให้ข้อมูลหาย พนักงานแจ้งว่า โทรศัพท์มือถือมีอาการไมโครโฟนเสียจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 วัน และส่งสำเนาใบส่งซ่อมให้ดิฉันเก็บไว้แสดงในวันที่มารับสินค้าคืน” หลังจากส่งมือถือไปซ่อมที่ศูนย์ฯ ได้ 3 วัน กะว่าศูนย์ฯ น่าจะมือถือเสร็จแล้ว คุณเบญญภา จึงเดินทางไปรับเครื่องคืนที่ศูนย์โนเกีย ถนนมหิดล จ.เชียงใหม่ ได้พบกับพนักงานคนเดิมที่เป็นคนรับเครื่องไปส่งซ่อม “เอ้อ เครื่องยังไม่ได้ซ่อมเลยค่ะ รออะไหล่อยู่ คาดว่าน่าจะซักสามวันอะไหล่ถึงจะมา” พนักงานให้คำตอบที่น่าผิดหวัง “อ้าว แล้วทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกล่ะ เบอร์ที่ติดต่อก็ให้ไว้แล้ว น่าจะโทรไปบอกกันนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเสียค่ารถมา” คุณเบญญภากล่าวด้วยความฉุนเฉียว “คือที่ไม่ได้โทรไปแจ้งให้ทราบ เนื่องจากว่ายังไม่มีอะไหล่เนื่องจากโรงงานน้ำท่วมค่ะ” พนักงานศูนย์ฯ พยายามชี้แจง คุณเบญญภาฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ ที่น้ำท่วมเป็นทางออกของทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรมาก พอได้รับคำยืนยันว่าอีกสามวันน่าจะได้อะไหล่มาแล้วจะโทรไปแจ้งบอกแน่ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว คุณเบญญภาจึงเดินทางกลับ หลังจากนั้นอีกสามวัน หรือเป็นวันที่เจ็ดหลังจากส่งเครื่องซ่อม พนักงานของศูนย์ฯ คนเดิมได้โทรแจ้งคุณเบญญภาว่าซ่อมไมโครโฟนของเครื่องมือถือเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มารับเครื่องได้ แต่ข่าวร้ายที่ได้รับคือ ข้อมูลในเครื่องทั้งหมดหายไป “เหมือนกับว่าที่ดิฉันกำชับเรื่องนี้ไปเป็นเรื่องตลก และให้ดิฉันจำยอมไปรับของที่ไม่เหมือนเดิมคืนมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้” “ดิฉันผิดหวังในการบริการมาก และพยายามเจรจากับทางพนักงานฝ่ายซ่อมของศูนย์ฯ ว่า ข้อมูลนั้นสำคัญมากพยายามกู้คืนมาให้ได้ และควรที่จะคืนเครื่องให้ดิฉันในสภาพที่สมบูรณ์” คุณเบญญภาเรียกร้อง   แนวทางแก้ไขปัญหา คุณเบญญภา ได้ประเมินค่าความเสียหายของตนเองที่ต้องสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการติดต่อไปมาหลังการซ่อมมือถือเป็นเงิน 8,000 บาท และได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่ ส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ จ.เชียงใหม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 4 มกราคม 2555 อีกสองวันต่อมาเราจึงโทรติดต่อไปที่ศูนย์โนเกียร์แคร์เชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงจากผู้จัดการศูนย์ฯ ว่า ได้ชี้แจงกับลูกค้าแล้วว่า การพยายามกู้ข้อมูลคืนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ คุณเบญญภา จึงเสนอกับศูนย์ฯ ว่า หากกู้ข้อมูลไม่ได้ก็ให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนตัวเครื่องให้ใหม่ เป็นเครื่องรุ่นเดิม และต้องการภายในวันนั้น ซึ่งศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ต้องรอประมาณ 12 วัน อยากให้มูลนิธิฯช่วยเป็นคนกลางเจรจากับผู้ร้องเรียนด้วย หลังได้รับคำชี้แจงเราจึงโทรกลับไปหาคุณเบญญภาในวันเดียวกัน เพื่อขอคำยืนยันว่าต้องการให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ใช่หรือไม่ คุณเบญญภาแจ้งยืนยันว่าเป็นไปตามที่ศูนย์ฯ ได้ชี้แจงมา คือให้เปลี่ยนเครื่องใหม่แต่รุ่นเดิม และต้องเป็นสีดำ สีอื่นไม่เอา เมื่อได้รับคำยืนยันเราจึงติดต่อกลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีรับชดใช้ให้ตามคำขอของผู้ร้อง แต่ขอเวลาในการตั้งเรื่องเบิกงบจัดซื้อเครื่องใหม่ให้กับผู้ร้องประมาณสองอาทิตย์ “เมื่อวานนี้ ได้รับ C3 เครื่องใหม่มาแล้วเป็นสีดำ ตอนแรกโทรศัพท์ใหม่นี้โทรออกไม่ได้ และโทรเข้าไม่ได้ เนื่องจากไม่มีสัญญาณ แต่ทางโนเกียได้แก้ไขให้อยู่ค่ะ โดยปรับปรุงซอฟแวร์ให้ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ใช้ได้ตามปกติเป็นเครื่องใหม่จริง ชดเชยให้ที่ซ่อมเครื่องเก่าสีชมพูที่ได้รับความเสียหาย ขอบพระคุณที่ทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีภายในเวลา 20 วัน” เป็นเมล์จากคุณเบญญภาที่เราได้รับด้วยความชื่นใจ และขอขอบคุณบริษัทโนเกียร์แคร์ สาขาเชียงใหม่ ที่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี     รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะ ทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้ เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป “วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้” “ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด” สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอก สถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว “หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ” “เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติก สามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง” คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลัง คุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!” “ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ”   แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้ง หลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วย ทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการ ในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาท คุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไป สาธุ...สาธุ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point