ฉบับที่ 169 สารเคมีในผลิตภัณฑ์สำหรับทารก

ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปดูสถานการณ์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สำหรับทารกกันบ้าง งานนี้เป็นความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคใน 8 ประเทศได้แก่ UFC Que Choisir (ฝรั่งเศส) Forbrugerradet Taenk (เดนมาร์ก) Altroconsumo (อิตาลี) DECO (สเปน) OCU (โปรตุเกส) Test‐Achats (เบลเยี่ยม) Consumentenbond (เนเธอร์แลนด์) และ D‐Test (สาธารณรัฐเช็ค) ที่ส่งผลิตภัณฑ์ยอดนิยมสำหรับเด็กในวัย 0 – 3 ปี เข้ามารับการตรวจวัดปริมาณสารเคมีที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่เด็กนำเข้าปากหรือมีการสัมผัสกับผิวหนังเด็กเป็นเวลานาน ได้แก่ จุกนมหลอก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ชุดเด็ก แผ่นรองนั่ง/นอน (แบบผืนและแบบจิ๊กซอว์) รวม 61 ผลิตภัณฑ์ สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจะแตกต่างกันไป สารเคมีในกลุ่มพทาเลต (DEHP, DIDP, DIBP) ในเสื้อผ้าเด็ก แผ่นรองนั่งจิ๊กซอว์ แผ่นปูรองนอน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ในผ้าอ้อมสำเร็จรูป สาร Bisphenol A (หรือ BPA) ในจุกนมหลอก และอื่นๆ เช่น สีย้อม Azo  ฟอร์มัลดีไฮด์ รวมถึงโลหะหนัก เช่น นิเกิล แคดเมียม และดีบุก อันตรายของสารเคมีเหล่านี้มีตั้งแต่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง รบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมนและเป็นสารก่อมะเร็ง ยุโรปมีกฎค่อนข้างเคร่งครัดอยู่แล้วเรื่องปริมาณสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ แต่องค์กรผู้บริโภคในยุโรปยังมองว่าผู้บริโภคควรได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้นในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ได้รณรงค์เรื่องการงดใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง และเคยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ห้ามใช้สารพทาเลทในของเล่นเด็ก การทดสอบครั้งนี้ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท จากการลงขัน ขององค์กรที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการรณรงค์และการสร้างความรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคทั้งในยุโรปและที่อื่นๆ ทั่วโลก  ขอบอกเลยว่าสินค้าเหล่านี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง มีส่วนน้อยมากที่ยังมีสารเคมีปนเปื้อนแต่ก็ไม่เกินกำหนด รายละเอียดติดตามได้ในหน้าถัดไป                              

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 169 “ไอศกรีม” เช็คปริมาณ “สี” และ “สารกันบูด"

ฉลาดซื้อขอต้อนรับหน้าร้อน ด้วยผลทดสอบที่จะทำให้ทุกคนเย็นชุ่มฉ่ำชื่นใจ กับผลทดสอบ “ไอศกรีม” เมนูโปรดของหลายๆ คน ฉลาดซื้อจะมาพิสูจน์ดูว่าไอศกรีมที่วางขายมากมายหลากหลายยี่ห้อในบ้านเรามีการใช้ “สี” และ “สารกันบูด” มากน้อยแค่ไหน เราเลือกสุ่มสำรวจไอศกรีมจำนวน 14 ยี่ห้อ โดยเลือก 1 ในไอศกรีมรสชาติยอดฮิตตลอดกาลอย่างรส “ช็อกโกแลต” ไปดูกันสิว่าไอศกรีมรสช็อกโกแลตยี่ห้อดังๆ มีการใช้สีและสารกันบูดหรือเปล่า                         สรุปผลการทดสอบ   -ไอศกรีมรสช็อกโกแลตทั้ง 14 ตัวอย่าง ไม่พบสารกันบูด -มีไอศกรีมรสช็อกโกแลต 3 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ คือ 1.Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต, 2.Melt Me Hokkaido Chocolate & Healthy Gelato และ 3. F & N Magnolia Double Choc ซึ่งปริมาณสีสังเคราะห์ที่พบอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐาน สีผสมอาหารที่ใช้ก็เป็นสีที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข แฟนฉลาดที่รักการกินไอศกรีม ก็ยังคงกินกันได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย ไร้ปัญหา -          ข้อสังเกต สีสังเคระห์ที่พบในการทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ สีในกลุ่มสีแดง คือ เออริโธรซีน (Erythrosine E127) และ คาร์โมอีซีนหรือเอโซรูบีน (Carmoisine or Azorubine E122) สีในกลุ่มสีเหลือง คือ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110) และ ตาร์ตราซีน (Tartazine E102) สุดท้ายคือสีในกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนต์บลู เอฟซีเอฟ (Brillian blue FCF E133) ซึ่งตัวอย่างไอศกรีมที่พบปริมาณสีมากที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต พบว่ามีใช้สี 3 ชนิดจากสีถึง 3 กลุ่ม ขณะที่อีก 2 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ พบว่าใช่แค่ตัวอย่างละ 1 ชนิดสีเท่านั้น         “ไอศกรีม” ที่ดีต้องเป็นแบบไหน? หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่า “ไอศกรีม” ถือเป็นอาหารที่มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งไอศกรีมที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ -ไอศกรีมนม ต้องมีมันเนยเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก และมีธาตุน้ำนม ไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ของน้ำหนัก - ไอศกรีมดัดแปลง ต้องมีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก -ไม่มีกลิ่นหืน -ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือใช้ร่วมกับน้ำตาล โดยวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ อย. รับรอง -ใส่วัตถุแต่งกลิ่น รส และสีได้ -ไม่มีวัตถุกันเสีย -มีแบคทีเรีย (Bacteria) ได้ไม่เกิน 600,000 ต่ออาหาร 1 กรัม -ต้องตรวจไม่พบมีแบคทีเรีย ชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) -ไม่มีสารเป็นพิษจากจุลินทรีย์ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2556 เรื่อง ไอศกรีม   --------------------------------------------------------------- เมื่อปี 2550 ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกข้อบังคับกับผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเด็ก ขนมหวาน เครื่องดื่ม  ให้ยกเลิกการใช้สีสังเคราะห์ 6 ชนิด ได้แก่ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110), ตาร์ตราซีน (Tartazine E1022), ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), ควิโนลีนเยลโลว์ (Quinoline Yellow E104), คาร์โมอีซีน (Carmoisine E122) และ อัลลูราเรด Allura red (E129) เนื่องจากมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารจากสีสังเคราะห์เหล่านี้ส่งผลให้เด็กป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้สีสั้งเคระห์เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต่อการนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะไม่ได้เพิ่มคุณค่าทางอาหาร มีแต่จะสร้างผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น ซึ่งการออกมาเรียกร้องครั้งนี้แม้ทางภาครัฐจะยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการแต่ก็สามารถทำให้เกิดการตื่นตัวของทั้งผู้บริโภค พ่อ-แม่ผู้ปกครอง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารทั้งในอังกฤษเอง ประเทศในยุโรปประเทศอื่นๆ และอเมริกา ก็เริ่มปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีการใช้สังเคราะห์อาหารลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 สีสังเคราะห์ ใน “ไข่กุ้ง”

แฟนๆ “ฉลาดซื้อ” คงยังจำกันได้ว่าเราเพิ่งนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในไข่กุ้ง” ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการทดสอบก็ทำให้คนที่ชอบกินไข่กุ้งชอบกินซูชิพอจะมีความสุขได้ เพราะไข่กุ้งที่เรานำมาทดสอบปลอดภัยไร้สารกันบูด แต่ผลทดสอบสารกันบูดที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ของจริงคือผลทดสอบที่ฉลาดซื้อตั้งใจจะนำเสนอต่อจากนี้ กับเรื่องที่ใครๆ ก็สงสัย ว่าไข่กุ้ง (หรือแท้ที่จริงก็คือไข่ปลานั่นแหละ) ที่สีสันสดใสสะดุดตา เห็นแล้วห้ามใจไม่ให้กินไม่ไหว มีเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง ใส่สีลงไปมากน้อยแค่ไหน กินเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเปล่า ไปติดตามกันว่า ผลวิเคราะห์ที่ได้จะเป็น “ข่าวร้าย” หรือ “ข่าวดี” ของคนชอบกินไข่กุ้ง   สีผสมอาหารที่พบจากการตรวจวิเคราะห์ สำหรับสีผสมอาหารชนิดสีสังเคราะห์ที่ฉลาดซื้อพบจากการตรวจวิเคราะตัวอย่างไข่กุ้งในครั้งนี้ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่ามีการใช้สีผสมอาหารทั้งหมด 6 ชนิด ประกอบด้วย สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีเหลือง 1. Sunset yellow FCF E110 2. Tartazine E102 สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง 3. Ponceau 4 R E124 4. Azorubine (Carmoisine) 5. Erythrosine E127 และ 6. Allura Red E129   สีทั้ง 6 ชนิดที่ตรวจพบมีอยู่ 3 ชนิดที่ “โคเด็กซ์” มีการกำหนดค่ามาตรฐานเอาไว้ ในกลุ่มของ “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” (Salmon substitutes, caviar, and other fish roe products) คือ Allura Red E129 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Ponceau 4 R E124 พบได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Sunset yellow FCF E110 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Erythrosine E127 ไม่พบเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่ม “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” ในเกณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งชิ้นหรือตัดแต่งที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Azorubine (Carmoisine) และ Tartazine E102 โคเด็กซ์ไม่ได้มีการระบุเกณฑ์มาตรฐานไว้ แต่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) มีการระบุเกณฑ์การใช้สีผสมอาหารชนิด Azorubine (Carmoisine) ไว้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Tartazine E102 พบได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ----------------------------------------------------------------------------------   ผลการวิเคราะห์ปริมาณสีสังเคราะห์ในไข่กุ้ง                     สรุปผลทดสอบ ทั้ง 9 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบ มีการใส่สีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง มีตัวอย่างไข่กุ้งจำนวน 3 ตัวอย่างที่การใส่สีสังเคราะห์เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ไข่กุ้งยี่ห้อ “โชกุน ไข่ปลาแคปลินปรุงรส” เป็นตัวอย่างที่พบปริมาณสีสังเคราะห์มากที่สุดคือ พบปริมาณสีสังเคราะห์รวมถึง 555.77 มิลลิกรับต่อกิโลกรัม (มก./กก.) จากปริมาณสีสังเคราะห์ 3 ชนิดรวมกัน คือ Tartazine E102 ปริมาณ 159.21 มก, Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 339.21 มก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 57.35 มก./กก. ซึ่งปริมาณของสีชนิด Sunset yellow FCF E110 มีปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานของโคเด็กซ์ที่ให้พบได้ไม่เกิน 300 มก./กก. ที่สำคัญคือเมื่อนำปริมาณปริมาณสีทั้งหมดมารวมกันแล้ว สูงกว่าเกณฑ์ที่ให้พบได้สูงสุดถึงเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว 2. “ไข่กุ้งปรุงรส ยี่ห้อไคเซนมารุ” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิด คือ Sunset yellow FCF E110 แต่ปริมาณที่พบสูงถึง 434.91 มก./กก. ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 300 มก./กก. 3.ไข่กุ้งยี่ห้อ “กรูเมท์ มาร์เก็ต ไข่กุ้งส้ม” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิดเช่นกัน คือ Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 426.79 มก./กก. ไข่กุ้งอีก 6 ตัวอย่างที่เหลือ คือ TSR ไข่กุ้งส้ม (จากวิลล่ามาร์เก็ต), ฟูจิ, ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม, ไข่กุ้ง Kinda ,ไข่กุ้ง โทคุเซน และพรานทะเล พบว่ามีการใส่สีเฉลี่ยอยู่ประมาณ 100 – 237 มก./กก. โดยตัวอย่างที่พบการใส่สีน้อยที่สุดคือ ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม พบสีที่ใช้คือ Tartazine E102 ปริมาณ 84.72  มก./กก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 10.99 มก./กก. รวมแล้วมีปริมาณเท่ากับ 95.71 มก./กก.   อันตรายของสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์ที่เรารับประทานเข้าไปหากได้รับในปริมาณไม่มาก ร่างกายของเราสามารถกำจัดออกได้เองโดยการขับถ่าย แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่สูงก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร เพราะสีสังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปสู่กระเพาะอาหารก็จะไปเกาะตัวอยู่ตามผนังกระเพาะ ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบดูดซึมอาหาร ทำลายระบบน้ำย่อยในกระเพาะ นอกจากนี้บางชนิดหากสะสมมากเป็นระยะเวลานานก็อาจเป็นเหตุของโรคมะเร็ง ทำร้ายตับ ไต บางชนิดก็แสดงผลแบบเฉียบพลันออกมาทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน หรือไม่ก็ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ปริมาณสีสังเคราะห์ที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่ร่างกายของเราสามารถรับได้คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน สีสังเคราะห์ที่ผสมลงในอาหารนั้นมีหน้าที่เพียงทำให้อาหารมีสีสันที่สดใสเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจนำโทษมาสู่ร่างกายของเราได้หากได้รับมากเกินไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผสมสีสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากไข่กุ้งแล้ว ยังมีอาหารประเภทอื่นๆ ที่พบว่ามีการใช้สีสังเคราะห์ในปริมาณค่อนข้างสูง เช่น  ขนมหวานต่างๆ เยลลี่ ลูกอม รวมถึงน้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุขวดพร้อมดื่ม ชาโบราณ และอาหารอื่นๆ ที่มีสีสันฉูดฉาด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เช็ค “แคลอรี” ในขนมหวานยอดฮิต

“ฮันนี่ โทสต์”, “เครปเค้ก”, “แพนเค้ก”, “เอแคลร์”, “ชูครีม” “มาการอง” ฯลฯ เหล่านี้คือ เมนูเบเกอรี่สูตรอินเตอร์ที่กำลังฮิตติดเทรนด์สุดๆ ในหมู่บรรดาผู้นิยมขนมหวาน ผู้ซึ่งไม่หวั่นต่อปริมาณน้ำตาลและไขมัน เรียกว่าฮิตขนาดที่ร้านดังๆ มีคนเฝ้ารอต่อแถวซื้อยาวเหยียด บางคนต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ชิม แบบเดียวกับปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อขนมยอดฮิตในอดีตอย่าง “โรตีบอย” และ โดนัท “คริสปี้ครีม” ซึ่งขนมที่เคยฮิตทั้ง 2 ประเภท (ปัจจุบันนี้โรตีบอยไม่มีขายในไทยแล้ว ส่วนโดนัทคริสปี้ครีมหลังขยายสาขาปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว) “ฉลาดซื้อ” ของเราก็เคยนำมาทดสอบดูปริมาณน้ำตาลและไขมันมาแล้ว เมื่อมีของกินมาใหม่และกำลังได้รับความนิยม แบบนี้ “ฉลาดซื้อ” ของเราไม่พลาดที่จะนำมาวิเคราะห์กันดูสิว่า แต่ละร้านแต่ละเมนูให้ พลังงาน น้ำตาล และไขมัน แค่ไหนกันบ้าง   ผลทดสอบค่าพลังงานในตัวอย่างขนมหวานยอดนิยม จากผลวิเคราะห์ที่ได้ จะเห็นว่าบรรดาขนมหวานยอดนิยมทั้งหลาย ล้วนแล้วให้ค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง อย่าง Round & Brown ของร้าน แพนเค้ก คาเฟ่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานถึง 617.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน หรือจะเป็นเมนูยอดนิยมที่สุดในตอนนี้อย่าง ชิบูญ่า ฮันนี่ โทสต์ ของร้าน อาฟเตอร์ยู ที่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานสูงถึง 802.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปกินขนมหวานเหล่านี้ ไม่ได้กินคนเดียวหมด 1 เสิร์ฟ เพราะ 1 จากที่ทางร้านเสิร์ฟมา ก็มักจะช่วยๆ กันกิน ที่เห็นส่วนมาก จาน 1 ก็กินกันที 2 – 3 คน ถ้าเป็นแบบนี้ค่าพลังงานที่ได้ก็จะลดลง ไม่ถึงกับน่ากลัว ถ้าบริหารดีๆ ค่าพลังงานที่ได้จากการกินอาหารใน 1 วัน ก็น่าจะยังไม่เกินกับที่ร่างกายของเราต้องการ(ไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี) แต่เห็นค่าพลังงานแบบนี้แล้ว บางคนที่คิดว่าไหนๆ พลังงานก็สูงแล้วกินมันแทนข้าวไปเลยแล้วกัน ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ดีแน่ๆ เพราะแม้จะให้พลังงานสูงเทียบเท่าอาหารมื้อหลัก แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ขนมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำจากแป้ง น้ำตาล ครีม ยังขาดสารอาหารสำคัญๆ อีกมากที่ร่างกายต้องการ อย่าง โปรตีน วิตามิน ใยอาหาร กินแต่ขนมก็ได้แต่ แป้ง ไขมัน น้ำตาล ถ้าอ้วนขึ้นมาจะหาว่าฉลาดซื้อไม่เตือนไม่ได้นะ ส่วนพวกที่เป็นขนมทานเล่นเป็นชิ้นๆ อย่าง ปารีส เอแคลร์ รส ไอเฟล ที่ 1 ชิ้นให้พลังงาน 306 กิโลแคลอรี ถ้ากิน 2 ชิ้น 612 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง หรืออย่าง ขนมปังหน้าสังขยา จากร้าน มนต์นมสด ที่ปริมาณแคลอรีต่อ 1 แผ่นอยู่ที่ 268.6 กิโลแคลอรี 2 ชิ้นก็จะกลายเป็น 537.2 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าค่อนข้างสูง ประมาณ 1 ใน 4 ของ พลังงานที่ร่างกายเราควรได้รับใน 1 วัน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่กินขนมชิ้น 2 ชิ้น คงไม่อ้วน ถ้าหากมื้อหลักอื่นๆ เรายังกินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน โดยเฉพาะพวกของทอด แล้วยิ่งถ้ากินพวกน้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น ด้วยพลังงานที่เราได้รับมีสิทธิพุ่งทะยาน กินแบบนี้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ไขมันจะมาเพิ่มที่รอบเอว แต่สุขภาพก็จะมีปัญหาตามมาด้วย เทคนิคกินขนมหวานให้มีความสุข สุขใจไม่ทำร้ายสุขภาพ กินขนมให้เป็นขนม อย่ากินโดยคิดว่าจะกินแทนข้าว กินแค่พออร่อย อย่ากินเอาอิ่ม ขนมชิ้นใหญ่ จานใหญ่ อย่ากินคนเดียว แชร์กันกินกับเพื่อนหลายๆ คน ไม่ทำร้ายสุขภาพ แถมประหยัดเงินด้วย เพราะช่วยๆ กันจ่าย กินขนมหวาน อย่ากินคู่กับน้ำหวาน เดี๋ยว น้ำตาล กับ ไขมัน จะทวีคูณ กินของคาวแล้วไม่จำเป็นต้องกินขนมหวานเสมอไป ถ้าอิ่มแล้ว ก็ขอให้พอ เอาไว้กิน มื้อหน้า วันหน้า ก็ได้ กินขนมหวานแล้วอย่าลืมออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะ ลุกไปออกกำลังกายบ้าง เผาผลาญแคลอรี   กินถูกหลัก “พลังงานไม่เกิน” คนที่กลัวอ้วนหรือกำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหลายคนกังวลเรื่องปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอย่างมาก ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดเรื่องการคุมพลังงานจากการกินอาหาร ความจริงแล้วพลังงานถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการทำงานของสมอง ระบบการเต้นของหัวใจ ระบบการหายใจ ล้วนแล้วต้องอาศัยพลังงานที่เราได้จากการกินอาหารและพลังงานบางส่วนที่ร่างกายเราสะสมเอาไว้ ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งหากเราต้องกินอาหาร 3 มื้อต่อ 1 วัน ใน 1 มื้อ ปริมาณแคลอรีที่เราได้จะอยู่ประมาณ 350 – 500 กิโลแคลอรี ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วถือว่าเหมาะสมพอดีกับที่ร่างกายของเราต้องการ แถมยังเหลือพอให้เรากินพวกผลไม้ต่างๆ เป็นว่างของหวานหลังการกินอาหารมื้อหลักได้อีก แต่สาเหตุที่หลายคนน้ำหนักเพิ่มหรือมีรูปร่างอ้วนจากการกิน ส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่เพิ่มมาจาก 3 มื้อหลัก พวกขนมหวาน น้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น พวกนี้แหละคือตัวร้ายที่ทำให้หลายคนอ้วนขึ้น เพราะบรรดาขนมหวาน กับเครื่องดื่มรสหวานทั้งหลายให้พลังงานสูง สูงพอๆ กับอาหารจานหลัก อย่างเมนูเบเกอรี่ยอดฮิตทั้งหลายที่ฉลาดซื้อนำมาทดสอบล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบหลักคือ แป้ง น้ำตาล นม เนย ครีม บางสูตรก็เติมน้ำเชื่อม แยม ช็อกโกแลต เพิ่มความอร่อย เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้ากินขนมพวกนี้บ่อยๆ แล้วพุงน้อยๆ จะเริ่มย้อยออกมา เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ก็กินข้าวแค่ 3 มื้อปกติ แต่ลืมคิดว่าระหว่างมื้อหลักก็กินขนมหวานของว่างจุบจิบอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แบบนี้จะไม่ให้แคลอรีเกินได้ยังไง   ค่าพลังงานในอาหารแต่ละประเภท   ที่มา : การดูแลสุขภาพทางโภชนาการด้วยตนเอง, ดร. บุญศรี   กิตติโชติพาณิชย์ ภาควิชาการพยาบาลสูติ-นารีเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   ปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน   -พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี -โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม) -ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม -กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม -โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม -คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม -ใยอาหาร 25 กรัม -โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม -น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา) ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))   ออกกำลังกายช่วยเผาผลาญแคลอรี ใน 1 ชั่วโมง เราเผาพลังงานด้านได้แค่ไหน วิ่งเร็ว                                       560 กิโลแคลอรี วิ่งช้า (จ๊อกกิ้ง)                           490 กิโลแคลอรี เดิน                                         245 กิโลแคลอรี ปั่นจักรยาน                                420 กิโลแคลอรี ที่มา : http://manycalorie.com/calories-burned-running/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ตะหลิวไนลอน

ตะหลิว เป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้กับงานผัด งานทอด ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำตะหลิว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าไร้สนิม อะลูมิเนียม ซึ่งทนความร้อน แต่ตะหลิวพวกนี้มีความคม เนื่องจากการขึ้นรูปที่ต้องการความบาง แบน  เหตุนี้ตะหลิวเหล็กจึงไม่เหมาะกับกระทะสมัยใหม่ ที่เรียกว่า กระทะเทฟลอน หรือกระทะเคลือบเทฟลอน เพราะหากความคมของตะหลิวไปขูดเอาตัวเคลือบออก อันตรายจากการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษก็ตามมา กระทะเคลือบเทฟลอนจึงระบุห้ามใช้กับตะหลิวที่มีความคม ทำให้เกิดตะหลิวที่ทำจากพลาสติกทนความร้อน บางทีก็เรียกตะหลิวไฟเบอร์ ตะหลิวไนลอน หรือตะหลิวที่ทำจากไม้ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้กระทะเคลือบเทฟลอน ปัญหาก็ตามมาอีกว่า ตะหลิวพวกนี้ ใช้งานได้จริงหรือไม่ ไม่เป็นอันตรายจริงหรือในเมื่อทำมาจากพลาสติก ซึ่งรู้กันอยู่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูงๆ  ความจริงก็คือ ตะหลิวพวกนี้ใช้งานได้จริง แต่ต้องเลือกวัสดุที่ถูกต้องและใช้ให้เหมาะสม เพราะถึงเป็นพลาสติกทนความร้อน(ไนลอน) แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่เผลอติดนิสัยเดิมๆ วางตะหลิวไว้ในกระทะร้อนๆ ซึ่งห้ามเด็ดขาดหากเลือกใช้ตะหลิวไนลอน อีกอย่างหนึ่งควรพิจารณาเรื่องสำคัญคือ ตะหลิวนั้นทำมาจากไนลอน จริงหรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อของแพงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตะหลิวราคาถูกๆ อาจไม่ใช่พลาสติกชนิดทนความร้อนจริง ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องพิสูจน์ การพิสูจน์ครั้งนี้ ฉลาดซื้อได้เลือกซื้อตะหลิวพลาสติกที่วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ทั้งหมด 11 ยี่ห้อ แล้วนำส่งให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคทำการทดสอบ ใน 4 ประเด็นคือ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบเป็นพลาสติก ประเภทไนลอน หรือไม่ และเป็น ไนลอนประเภทใด 2. ความแข็งของวัสดุที่ใช้ทำตะหลิวมีค่าเป็นอย่างไร 3. จุดหลอมเหลวของตะหลิวแต่ละยี่ห้อเป็นเท่าใด และ 4. ชิ้นงานทนความร้อนที่อุณหภูมิ 200 °C ในเตาอบ และในน้ำมันได้หรือไม่ ข้อแนะนำ 1.ผู้บริโภคควรตรวจสอบตะหลิวว่าใช้วัสดุพลาสติกประเภทใดในการผลิต โดยดูจากฉลากสินค้า 2.ห้ามทิ้งหรือวางตะหลิวแช่ไว้บนภาชนะที่มีความร้อนสูงๆ เช่น ในน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร เป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ในการทำอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง 3.ไม่ควรนำตะหลิวแช่หรือสัมผัสกรดหรือเกลือหรือด่างเข้มข้น เช่น น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู 4.ห้ามใช้กับเตาไมโครเวฟ 5.หลังการใช้งานควรทำความสะอาดทันที  ไม่ควรใช้ฝอยเหล็กขัดทำความสะอาด ควรใช้ฟองน้ำและผึ่งให้แห้งทุกครั้ง ข้อแตกต่างระหว่างไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6 ไนลอนจัดเป็นพลาสติกในกลุ่ม semi crystalline เริ่มมีการสังเคราะห์ตั้งแต่ปี 1930 ไนลอนเป็นชื่อทางการค้า ชื่อดั้งเดิมทางวิทยาศาสตร์ คือ โพลีอาไมด์ (Polyamide: PA) ไนลอนมีหลายประเภท แต่ที่นิยมในการสังเคราะห์วัสดุ คือ ไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6  ไนลอน 6,6 มีลักษณะความเป็นผลึกมากกว่า ส่งผลให้จุดหลอมเหลวสูงกว่า และมีความแข็ง และความต้านทานการสึกหรอดีกว่า ไนลอน 6 ผลการทดสอบ 1. การทดสอบเพื่อตรวจดูว่าเป็นพลาสติก ประเภทไนลอนประเภทไหน ในการทดสอบจะใช้เทคนิค FTIR และ DSC โดยการทดสอบได้รับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อบอกประเภทวัสดุพลาสติก เชิงคุณภาพว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ขั้นตอนการทดสอบ การทดสอบหาโครงสร้างทางเคมีด้วยวิธีการ FTIR การทดสอบหาอุณหภูมิหลอมเหลวด้วย DSC การทดสอบการละลาย กราฟของ FTIR ของทุกตัวอย่างจะมีลักษณะดังภาพที่ 1  ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทางเคมีของ Nylon แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็น Nylon ชนิดใด ภาพที่ 1 FTIR spectrum ของตัวอย่าง เมื่อนำวัสดุของตะหลิวแต่ละยี่ห้อ มาหาช่วงอุณหภูมิหลอมเหลว (melting temperature) จะได้ผลดังตารางที่ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงจากตารางที่ 2 จะพบว่า ตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไนลอน 6 ในการผลิต ตะหลิวยี่ห้ออื่น ใช้วัสดุพลาสติก ประเภท Nylon 6,6 แม้ว่าลักษณะทางกายภาพจะดูคล้ายกันแต่ถ้าผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก Nylon 6 ก็จะทำให้ใช้งานได้ในช่วงความร้อนที่ต่ำกว่าและเสียรูปได้ง่ายกว่า ตารางสรุปผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและวัสดุที่ใช้ทำตะหลิว   2 ผลทดสอบการวัดความแข็ง โดยทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D2240 ใช้หัวกดชนิดกรวยมุมแหลม และใช้แรงกดขนาด 5 kgf การทดสอบค่าความแข็งได้นับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยวัดค่าความแข็งของ พลาสติกจำนวน 3 จุดแล้วหาค่าความแข็งเฉลี่ย โดยผลทดสอบของตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) มีความแข็งต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการทดสอบที่ 1 เนื่องจากสมบัติความแข็งของไนลอนประเภท 6 จะมีค่าความแข็งโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ไนลอน ประเภท 6,6 3 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ที่อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ นำตะหลิว ไปวางในเตาอบอุณหภูมิ 200 °C ผลการทดสอบ พบว่า ชิ้นงานทุกชิ้นมีการเสียรูป และเริ่มมีการหลอมละลายของพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในเตาอบ อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 นาที   4 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ ตะหลิวทุกยี่ห้อ มีการเสียรูป และหลอมละลายในน้ำมัน เมื่อเวลา ผ่านไป 5 ชั่วโมง ดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 ชั่วโมง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 166 ปูเทียม(Imitation crab)

ไม่รู้ใครคิดชื่อ ปูอัด น่าจะเรียก ปูเทียมหรือเนื้อปูเทียม เสียตั้งแต่แรก เพราะว่าทำมาจากปลาทั้งนั้น ไม่มีปูสักนิด ทำเอาบางคนยังเข้าใจผิดอยู่ แล้วทายสิใครเป็นผู้คิดค้นการทำปูอัดขึ้นเป็นครั้งแรก ... ใช่แล้วมนุษย์ญี่ปุ่นนั่นเอง ที่มาของปูอัดนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า บ่อยครั้งที่ชาวประมงจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ขนาดยังนำไปขายไม่ได้ราคา แต่ไหนๆ ก็จับปลามาได้แล้ว จึงคิดเอาปลามาแล่เอาเนื้อเข้าเครื่องบดละเอียด แล้วนำเข้าเครื่องปั้น แต่งกลิ่นปู ตกแต่งสีเป็นสีแดงคล้ายประดองปู และปั้นให้มีลักษณะเหมือนเนื้อปู (เนื้อจากก้ามปู หรือบางบริษัทก็ปั้นเป็นรูปปูตัวเล็ก ๆ) เนื่องจากมีรสชาติดีเลยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภค โดยรูปแบบที่นิยมมากทุกวันนี้ คือลักษณะปูอัดแบบแท่ง(สติ๊ก) ปัจจุบันนี้ปูอัดก็มีให้เลือกกินเลือกซื้อหลายเกรด ตั้งแต่ปูอัดที่ทำมาจากเนื้อปลาอัดแน่นเป็นพิเศษ วัตถุดิบที่นำมาทำค่อนข้างดี ไปจนถึงปูอัดที่เทียมอีกขั้น ด้วยการนำเนื้อแป้งมาผสมเนื้อปลา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ขายในราคาที่ถูกได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า สารอาหาร และประโยชน์ที่ได้รับก็คงลดหลั่นกันมาตามลำดับ รวมทั้งอาจมีการใช้สีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาผสมอาหารและสารกันเสีย ซึ่งฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปูอัดมาเพื่อทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว   ผลการทดสอบ นับว่าโชคดีมาก อาหารนี้ปลอดภัย เราตรวจไม่พบปัญหาจากการปนเปื้อนของทั้งสีอันตรายและวัตถุกันเสีย(มีพบตกค้างบ้างเล็กน้อยในบางผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่อันตราย) ปูอัดถือว่าเป็นอาหารแคลอรีต่ำอย่างหนึ่ง เพราะทำมาจากเนื้อปลาบดปรุงรส(เลือกชนิดที่มีเนื้อปลาผสมมากหน่อย) และนึ่งสุกแล้ว จึงสามารถกินปูอัดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกใด ๆ แต่การเก็บต้องรักษาอุณหภูมิตามฉลากระบุเพื่อป้องกันการบูดเสีย   ปูอัดหรือปูเทียม ทำมาจากเนื้อปลาซูริมิบดผสมแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และแต่งกลิ่นให้คล้ายปู ให้พลังงานน้อย แต่คุณค่าทางอาหารอาจจะไม่เท่ากับการกินเนื้อปลาแท้ๆ ซูริมิ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อปลาบดไปล้างด้วยน้ำเกลือและน้ำ แล้วบดผสมกับสารป้องกันการสูญเสียสภาพธรรมชาติของโปรตีน     ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบหลักของปูอัดคือ ซูริมิ (Surimi) ซึ่งทำมาจากปลาเนื้อสีขาวที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ ปลาตาหวาน ปลาข้างเหลือง ปลาดาบ ปลากะพง ส่วนปลาที่ใช้กันมากที่สุดคือ ปลาทรายแดง (ปลาอิโตโยริ) ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบปลีกย่อยอื่นๆ ได้แก่ น้ำ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ไข่ขาว น้ำมันถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล ซอร์บิทอล (สารให้ความหวานและเมื่อละลายจะให้ความรู้สึกเย็น) โปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากปู กลิ่นปู รสปู ส่วนผสมอาจแตกต่างไปบ้างตามสูตรของแต่ละบริษัท กรรมวิธีการผลิตปูอัดนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากหลากหลายขั้นตอน ได้แก่ การบดผสม การขึ้นรูป การหั่นและม้วน การใส่สี การตัดแต่ง บรรจุลงถุง ปิดผนึกแบบสุญญากาศ การฆ่าเชื้อ นำไปแช่แบบเยือกแข็ง และสุดท้ายคือการส่งจำหน่าย      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 165 ธุรกิจกาแฟระดับโลกกับการดูแลสังคม

คุณรู้หรือไม่ ชาวโลกบริโภคกาแฟถึง 2,250 ล้านถ้วยในแต่ละวัน การบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนือที่ดินฟ้าอากาศไม่เอื้อต่อการปลูกกาแฟ กว่าร้อยละ 90 ของเมล็ดกาแฟมาจากประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ ซึ่งมีผู้คนประมาณ 26 ล้านคนจาก 52 ประเทศอยู่ในสายการผลิตนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของค่ายกาแฟที่ทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในรูปแบบของกาแฟสำเร็จรูปและธุรกิจร้านกาแฟ ไม่ต่ำกว่า 30 แบรนด์ โดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ร่วมกับ DanWatch องค์กรเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ทำการสำรวจครั้งนี้ซึ่งมีทั้งการหาข้อมูลจากเอกสาร การตอบแบบสอบถามและการลงพื้นที่สำรวจ โดยเน้นที่ประเทศบราซิลเป็นหลัก เพราะ 1 ใน 3 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟมาจากที่นี่ และประชากรบราซิลกว่า 5 ล้านคน (จาก 200 ล้านคน) ก็หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวกาแฟนั่นเอง ในการสำรวจครั้งนี้ ได้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้ -          นโยบายสังคมของบริษัท รวมถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานของผู้จัดส่งสินค้า -          นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทและผู้จัดส่งสินค้ารายย่อย -          การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงการดูแลสนับสนุนชุมชน -          ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจรวมถึงการรายงานต่อสังคมและการให้ความร่วมมือในการสำรวจ กาแฟยี่ห้อที่คุณชื่นชม แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดนใจคณะกรรมการของเรามากน้อยเพียงใด ติดตามได้ในหน้าถัดไป           ข้อมูลบางส่วนจากรายงานสภาพการทำงานของคนงานในไร่กาแฟในบราซิลจาก DanWatch โรงพยาบาลโรคมะเร็งในรัฐ Minas Gerais ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกกาแฟของบราซิล มีจำนวนคนไข้โรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรรายย่อย สหภาพแรงงาน CRESOL บอกว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟคือโรคมะเร็ง โรคมะเร็ง 3 ประเภทที่พบอาจมีสาเหตุจากยาฆ่าแมลง หรือจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งผู้คนในบริเวณนี้ก็มีแนวโน้มจะดื่มและสูบมากกว่าผู้คนในเขตอื่น อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็เพิ่มขึ้นในหมู่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ถึง 3 เท่า เป็นที่รู้กันว่าเจ้าของไรกาแฟที่นั่น ถ้าไม่ใช่นักการเมือง ก็เป็นตำรวจ หรือไม่ก็ผู้พิพากษา และอุตสาหกรรมนี้ก็ไม่ถูกตรวจสอบเข้มข้นเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ การจ้างงานเป็นการทำ “ข้อตกลงหุ้นส่วน” ซึ่งเกษตรกรผู้เป็นฝ่ายลงแรงจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 50 ซึ่งแจ้งกับกระทรวงแรงงานไปแต่ความจริงแล้วก็ยังเป็นการจ้างรายวันนั่นเอง คนงานซึ่งยากจนและต้องการงานทำจะไม่ถามคำถามหรือตั้งเงื่อนไขมากมาย ... แต่งานในไร่กาแฟก็ยังเป็นงานที่รายได้ดีที่สุดและทำเป็นฤดูกาลเท่านั้น ถ้าทำงานเต็มที่ก็จะหาเงินได้เดือนละเกือบ 40,000 บาท ในขณะที่ถ้าไปทำงานอื่นจะได้แค่ 9,500 บาทเท่านั้น บราซิลใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืช แต่ในขณะเดียวกันการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากาก ถุงมือ หรือรองเท้าบู๊ต กลับมีน้อยมาก ธุรกิจสารเคมีการเกษตรทำตลาดโดยมุ่งเป้าไปที่เกษตรกรรายเล็กที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ และขายสารเคมีราคาถูก (แน่นอนว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียน) ให้กับคนกลุ่มนี้ และปลูกฝังความเชื่อว่าถ้าไม่ใช้แล้วจะปลูกไม่ขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 5 อันดับประเทศที่นำเข้ากาแฟมากที่สุดในโลก อเมริกา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเมล็ดกาแฟมาที่สุด 5 อันดับแรก บุรุนดี (ร้อยละ 59 ของรายได้จากการส่งออก มาจากกาแฟ) เอธิโอเปีย (ร้อยละ 33) รวันดา (ร้อยละ 27) ฮอนดูรัส (ร้อยละ 20) อูกานดา (ร้อยละ 18) -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ร้านกาแฟสายพันธุ์ไทย แม้การบริโภคกาแฟของคนไทยจะยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 20 เมื่อเทียบกับคนทั้งโลก แต่เราโชคดีที่สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้เอง (ไม่อยากจะคุยว่าผลิตได้ทั้งพันธุ์อราบิกาและโรบัสต้าด้วยนะ) และการบริโภคกาแฟของคนไทยก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากกาแฟแบรนด์นอกเรามาดูเครือร้านกาแฟที่ก่อตั้งในเมืองไทยและใช้เมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศกันบ้าง ฉลาดซื้อขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนจากการพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มกาแฟสดมากที่สุด 2 อันดับต้นของเมืองไทยดังนี้ ซีพี รีเทลลิงค์ ผู้ประกอบการร้าน CP Retailink Coffee และ All Café ในร้านสะดวกซื้อ 7/11 และผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดกาแฟแบรนด์ “ซีพี รีเทลลิงค์” คุณนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของกาแฟแบรนด์นี้ว่าต้องการทำกาแฟสดในราคาต่ำกว่าอาหาร 1 จาน ออกมาสนองความต้องการของผู้บริโภค บริษัทจึงลดต้นทุนโดยการทำระบบห่วงโซ่คุณค่าโดยไม่กดราคารับซื้อ บริษัทให้ราคาสูงกว่าราคากลางสำหรับเมล็ดกาแฟที่คัดเกรดแล้ว ซีพี รีเทลลิงค์ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากกลุ่มเกษตรกรดอยช้างและจากไร่กาแฟในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดน่าน คุณนริสบอกว่าเนื่องจากปลูกในที่สูง กาแฟเหล่านี้จึงมีสารตกค้างค่อนข้างน้อย  แต่ละเดือนบริษัทจะรับซื้อกาแฟประมาณ 10 ตัน เพื่อนำมา “บ่ม” ไว้ 6 เดือนก่อนที่จะนำมาคั่วในโรงคั่วของบริษัทซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ถามถึงการดูแลพนักงานในร้าน CP Retailink Coffee ซึ่งจะมี 100 สาขาในปี 2558 และ “ร้าน” กาแฟ ออลล์ คาเฟ่ (All Cafe) ซึ่งเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในปีหน้าเช่นกัน คุณนริศบอกว่าบริษัทดูแลพนักงานตามมาตรฐานการจ้างงานและเน้นการจ้างงานคนในพื้นที่ นอกจากค่าจ้างแล้วพนักงานจะได้ส่วนแบ่ง 1 บาทต่อทุกๆแก้วที่ขายได้ (โดยอีก 1 บาทจากทุกแก้วจะเป็นการนำไปสมทบทุนกิจกรรมการกุศล) กิจกรรมเพื่อการดูแลสังคมที่บริษัทภูมิใจเสนอคือ การอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ที่จัดให้กับผู้สนใจ เดือนละครั้งในพื้นที่ของบริษัทในซอยวิภาวดี 62  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อผูกมัดใดๆให้ซื้อสินค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟหรือเครื่องชงกาแฟ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 5,000 คน และมีถึงร้อยละ 30 ที่ออกไปเปิดร้าน ผู้บริหารเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เมื่อ 7 ปีก่อนบริษัทได้สำรวจติดตามผลการทำธุรกิจของร้านกาแฟรายย่อยที่ซื้อเครื่องทำกาแฟจากบริษัทไป และพบว่าร้อยละ 70 มีผลประกอบการไม่ค่อยดี บางรายขาดทุน เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือความรู้ในการประกอบธุรกิจนั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- วันนี้คุณจ่ายค่ากาแฟ แก้วละเท่าไร? ผู้บริหารของ ซีพี รีเทลลิงค์ เปิดเผยว่า ต้นทุนกาแฟร้อนของเขาอยู่ที่แก้วละ 6.50 บาท เมื่อรวมค่าบรรจุภัณฑ์แล้ว   คาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 12 ปี ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา สุชาติ ระมาศ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน เล่าถึงธุรกิจกาแฟของบริษัทว่า ร้อยละ 90 ของร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นแฟรนไชส์ที่ดำเนินการโดยศูนย์บริการน้ำมัน ภายใต้การดูแลและควบคุมคุณภาพโดยบริษัท ปตท. ส่วนที่เหลือ (ในห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ฯลฯ) เป็นร้านที่บริษัทดำเนินงานเอง คุณสุชาติบอกว่าบริษัทเน้นการจ้างบุคลากรในท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการดูแลบาริสต้า เพราะเชื่อว่าเมื่อคนทำกาแฟมีความสุขก็จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังให้โอกาสก้าวหน้ากับพนักงานด้วยการจัดสอบเลื่อนระดับ การแข่งขันชิงรางวัล การมอบรางวัลเมื่อทำความดี (เช่น เก็บของคืนลูกค้า) การจัดอบรมเพิ่มเติมทั้งหลักสูตรบาริสต้าและหลักสูตรการบริหารจัดการร้าน เป็นต้น ส่วนลูกค้าก็มีช่องทางการสะท้อนความเห็น/แจ้งปัญหา ผ่านสายด่วน 1365 ถ้าไม่พอใจในบริการที่ได้รับ (อย่าลืมดูหมายเลขสาขา ที่เขาติดไว้ให้เห็นได้ชัดๆ ด้านหน้าร้านด้วย) บริษัทรับซื้อเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงฯ เป็นหลัก และจากการประมูลเมล็ดกาแฟจากชุมชน ในราคาที่สมเหตุสมผล บริษัทมีแผนจะเปิดโรงคั่วกาแฟของตัวเองกลางปี 2558  ปัจจุบันได้ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงฯ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือไร่กาแฟที่หมดสภาพบนดอยอินทนนท์ ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกกาแฟแซม นอกจากนี้ยังมีโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ร่วมกับเครือข่ายกรีนเน็ท ขณะนี้ทดลองขายกาแฟออกานิกในสาขาของบริษัทเอง (นอกสถานีบริการน้ำมัน) การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ การนำวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ (แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ใน 180 วัน) เดี๋ยวนี้ร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งมักจะอยู่ท่ามกลางสวนร่มรื่น (ซึ่งคุณสุชาติเล่าว่าเดี๋ยวนี้หลายปั๊มจัดสวนแข่งกัน บางแห่งลงทุนกับสวนมากกว่าตัวร้านด้วยซ้ำ) ได้กลายเป็นแหล่งพบปะของคนในชุมชนไปด้วย นี่เป็นผลพลอยได้นอกเหนือจากความตั้งใจแรกของแบรนด์ที่เน้นการเข้าถึงกาแฟสดในราคาที่เหมาะสม และคนเดินทางได้ใช้เป็นที่พักผ่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เช็ค “ไขมัน” “น้ำตาล” ในโยเกิร์ต

  “โยเกิร์ต” ถือเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยถูกปากถูกใจ แถมมีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโยเกิร์ตยี่ห้อใหม่ๆ รสชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะสูตรธรรมชาติ ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล สูตรผสมผลไม้ เติมใยอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ เรียกว่ามีให้เลือกสารพัด เอาใจคนชอบกินโยเกิร์ตสุดๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยรับอาสาสุ่มเก็บตัวอย่างโยเกิร์ตที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อมีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน เท่าไหร่กันบ้าง เพื่อให้คนที่ชอบกินโยเกิร์ตได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกกินโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด   ประโยชน์ของโยเกิร์ต -โยเกิร์ตมีโปรตีนจากนม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย มีกรดอะมิโนสูง -มีแคลเซียมสูง -มีกรดแลคติกช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค -มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส ที่เป็นประโยชน์ต่อสำไส้ ทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ แลคโตบาซิลัส ยังสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ด้วย -สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนนมได้ สำหรับคนที่แพ้นม หรือดื่มนมไม่ได้   วิธีเลือกซื้อโยเกิร์ต -อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อดูว่าปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการกินโยเกิร์ตถ้วยนั้นมีอะไรบ้าง(เปิดฉลาดซื้อเล่มนี้ได้เลยเช่นกัน) -เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ รสธรรมชาติ หรือ รสจืด จะได้ประโยชน์มากกว่าสูตรธรรมดาหรือสูตรที่ผสมผลไม้ ที่น้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง -เลือกซื้อโยเกิร์ตที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ(โยเกิร์ตที่ผลิตใหม่ๆ)  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณมาก เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา -การกินโยเกิร์ตไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่การกินโยเกิร์ตช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลเป็นปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครที่กินโยเกิร์ตเพื่อลดความอ้วนจึงเป็นความคิดที่ผิด   เปรียบเทียบปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวทำได้จริงหรือ

ยาสีฟันที่โฆษณาว่าทำให้ฟันขาวได้นั้นจะต้องใส่สารบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นไปจากยาสีฟันปกติ การที่จะตอบได้ว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าสารเคมีที่ใส่ในยาสีฟันนั้นคืออะไรและมีผลอย่างไรกับสีของฟัน สารสำคัญที่พบคือ   สารขัดฟัน ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งทุกยี่ห้อจะใส่สารขัดฟันที่มีความหยาบแตกต่างกัน สารขัดฟันนี้จะช่วยขจัดคราบสีต่างๆบนตัวฟันทำให้ฟันขาวขึ้นได้จริง แต่จะขาวเท่ากับสีฟันเดิมของเรา ถ้าฟันเดิมเหลืองก็จะเหลืองเหมือนเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการนี้เป็นการขัดเอาคราบที่ติดอยู่ภายนอกผิวฟันออกไป ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนสีภายในของเนื้อฟัน ถ้าฟันเดิมของเราสีออกเหลือง ถ้ามีคราบสีจากอาหาร น้ำชา กาแฟ บุหรี่ ฯลฯมาเกาะสีฟันก็จะเข้มขึ้น เมื่อใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันเหล่านี้คราบก็จะออกจนหมดกลับมาเป็นฟันเหลืองตามปกติที่ควรจะเป็น ขอย้ำนะครับว่าสารขัดฟันไม่ได้ทำให้ฟันขาวขึ้นจากสีธรรมชาติเดิมของฟัน สารขัดฟันที่มีใช้ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่นิยมใช้ได้แก่สารกลุ่มซิลิกา (Hydrate Silica, Silica dioxide, Perlite ที่มี 70-75% silica dioxide) สารกลุ่มอลูมิน่า (Alumina oxide) สารกลุ่ม แคลเซียม ( Calcium pyrophosphate,Calcium Carbonate, Dicalcium phosphate dihydrate)  และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น เบกิ้งโซดา (Sodium Bicarbonate) และ Mica เป็นต้น ปัญหาที่พบของสารขัดฟัน ก็คือ ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันมาก (หรือพูดง่ายๆว่า สารขัดฟันหยาบมาก) ก็จะกำจัดคราบสีต่างๆได้ดีและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เคลือบฟันถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้เคลือบฟันบางลง เมื่อใช้ต่อเนื่องไปนานๆ เคลือบฟันจะบางลงจนเห็นเนื้อฟันที่มีสีเหลืองกว่าอยู่ข้างใต้ การใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งต่อเนื่องนานๆอาจทำให้ฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิม และจะมีอาการเสียวฟันตามมาอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันน้อย การกำจัดคราบสีก็จะทำได้ช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่จะไม่ทำอันตรายเคลือบฟันเท่าใดนัก ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สารขัดฟันที่ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อนั้นมีความสามารถในการขัดฟันเท่าใด ในยาสีฟันปกติ จะใส่สารขัดฟันที่มีค่าความสามารถในการขัดฟัน (RDA, Realtive Dentine Abrasivitiy) อยู่ที่ 40-80 หน่วย ซึ่งเป็นค่าที่ปลอดภัยไม่ทำอันตราบเคลือบฟัน  ส่วนในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะมีค่า RDA มากกว่า 100 หน่วย เพื่อให้ขัดคราบฟันได้ดี ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเพดานค่า RDA ไว้ไม่เกิน 200 หน่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สารเคมีช่วยขจัดคราบฟัน ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารเคมีบางตัวเช่น  enzymes, Sodium Citrate, Sodium Pyrophosphate, Sodium tripolyphosphate หรือ hexametaphosphate ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยขจัดคราบบนตัวฟันออกและช่วยป้องกันให้คราบสีมาเกาะติดกับฟันยากขึ้น สารเคมีเหล่านี้มักจะคุณสมบัติในการย่อยโปรตีนได้ดี ซึ่งคราบที่ติดฟันนั้นก็มีองค์ประกอบของโปรตีนอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปเรามักจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดบริเวณคอฟันและซอกฟัน ดังนั้นผู้ผลิตยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้อจึงคาดหวังให้สารเคมีเหล่านี้ไปช่วยกำจัดคราบบริเวณคอฟันและซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่สารขัดฟันไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด แต่จากรายงานการวิจัยพบว่า สารเคมีเหล่านี้มีส่วนช่วยได้เล็กน้อยมาก การกำจัดคราบสีต่างๆยังต้องพึ่งสารขัดฟันเป็นหลัก   สารสีฟ้า ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากสารขัดฟันแล้วยังใช้ สีสะท้อน Optical agents เช่น การใช้สีฟ้า ( Blue Covarine หรือ CI74160 Pigment Blue) ผสมลงในยาสีฟัน เมื่อแปรงฟันสารสีฟ้าเหล่านี้จะไปเกาะที่ฟัน เวลามองสะท้อนแสงก็จะเห็นฟันขาวขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้เพียงครั้งเดียวก็จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นทันที เปรียบเทียบง่ายๆกับถ้าเราต้องการให้ผ้ามีสีขาว เราก็ไปย้อมให้เป็นสีคราม เมื่อเป็นการย้อมสี ดังนั้นข้างหลอดยาสีฟันจะมีคำเตือนว่า “ยาสีฟันอาจทำให้เสื้อผ้าเลอะได้” การใช้สารสีฟ้าเคลือบฟันไว้จะได้ชั่วคราวเท่านั้น สารสีฟ้าจะติดฟันได้ไม่นานนัก เมื่อมีการรับประทานอาหาร สีเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออก ทำให้กลับไปเป็นสีฟันเดิมของเรา   ข้อแนะนำ ยาสีฟันไวท์เทนนิง สามารถใช้ได้เพื่อกำจัดคราบฟันที่ติดอยู่ที่ผิวฟันออกได้ จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นกว่าเดิม แต่จะขาวได้เท่ากับสีของฟันเดิมของเราเท่านั้น จะขาวขึ้นกว่าเดิมไม่ได้ ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่มีสารสีฟ้า เป็นการใช้เทคนิคการสะท้อนสีฟ้าเพื่อทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่สีฟ้าจะหลุดออกเมื่อรับประทานอาหาร ฟันจะกลับมาเป็นสีเดิม ไม่ควรใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งติดต่อกันต่อเนื่อง ทั้งนี้สารขัดฟันของยาสีฟันไวท์เทนนิ่งจะมีความหยาบมากกว่า ซึ่งจะทำให้เคลือบฟันบางลงเมื่อใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใช้กับแปรงสีฟันขนแปรงแข็ง แปรงฟันแรงเกิน ก็จะทำให้เคลือบฟันบางลงได้เร็ว แนะนำให้ซื้อใช้เพียงหลอดเดียวเท่านั้น เมื่อรู้สึกว่าฟันเริ่มมีคราบมาติดใหม่ ก็กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นระยะๆ ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันโดยใช้แรงพอประมาณ สังเกตุได้จากหากใช้แปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่มแล้วแปรงควรจะปานใน 3 เดือน หากแปรงบานเร็วก่อนกำหนดแสดงว่าเราแปรงฟันแรงเกินไป   หมายเหตุ ยาสีฟันไวเทนนิ่งเป็นกลุ่มยาสีฟันที่ขจัดคราบภายนอกฟันเท่านั้น มียาสีฟันอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ยาสีฟันฟอกสีฟัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะไปฟอกสีฟันภายในเนื้อฟัน โดยใช้สารเคมีที่จะซึมผ่านเคลือบฟันและเนื้อฟันเข้าไปสลายโมเลกุลของสีในเนื้อฟันเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น โดยปกติแล้วสารเคมีที่ใช้จะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1% หรือ แคลเซียมเปอร์ออกไซด์ 0.5-0.7% ซึ่งความเข้มข้นที่ใช้ถือว่าน้อยมาก จากงานวิจัยพบว่า ในความเข้มข้นที่น้อยและเวลาที่สัมผัสฟันตอนแปรงฟันสั้นๆ ไม่กี่นาทีนั้น ไม่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้แต่อย่างใด การไปพบทันตแพทย์เพื่อฟอกสีฟันจะใช้สารเคมีตัวเดียวกันซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่ามาก และใช้เวลาสัมผัสฟันนานเป็นชั่วโมง สีของฟันจึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งมีข้อเสียตามมามากมายหลายอย่าง ผมอยากชวนให้คิดว่า ฟันสีเหลืองธรรมชาติของคนไทยเรามีเสน่ห์และเหมาะกับสีผิวและใบหน้าของคนไทย การที่มีฟันขาวจนเกินพอดีนั้น น่าจะดูแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาตินะครับ   ส่วนประกอบอื่น ของยาสีฟัน Titanium Dioxide หรือ CI 77891 เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีสีขาว หรือทำให้มีความขุ่น Cocamidopropyl Betaine เป็นสารลดแรงตึงผิว ทำให้สารต่างในยาสีฟันแทรกซึมสัมผัสกับฟันได้ง่ายขึ้น Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารทำให้เกิดฟอง Sodium Saccharin ขัณฑสกร​ เป็นสารให้ความหวาน Sorbitol, Xylitol เป็นน้ำตาลโพลิออล ให้ความหวานและยังทำให้ชุ่มชื้นอีกด้วย Glycerin ทำให้ชุ่มชื้น Sodium Hydroxide โซดาไฟ ใช้ดูดความชื้น ทำให้คงตัวและปรับความเป็นกรดด่าง Carrageenan สารเพิ่มความหนืดที่เป็นเจลใส Xanthan Gum, Cellulose Gum, PEG-12 (Polyethylene Glycol) เป็นสารที่ให้ความหนึดแบบทึบ Methylparaben, Butylparaben  สารกันเสีย (สารกันบูด) Spearmint, peppermint, Eucalyptus, Mentol  เป็นสารแต่งกลิ่นและรส ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ยาสีฟัน ยาสีฟันในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ และราคาก็แตกต่างกันมากมาย  ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผลบางอย่างเข้าไปมากมาย จนบางทีก็ดูเกินกว่าหน้าที่ของยาสีฟันแต่เดิม ที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น กลุ่มของยาสีฟันแยกตามวัตถุประสงค์ 1.กลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นยาสีฟันที่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย ในทางวิชาการเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สามารถป้องกันฟันผุ ได้ และองค์การอนามัยโลกก็ให้คำแนะนำประชาชนใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นหลัก ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ จะมีอยู่ 1,000 ส่วนในล้านส่วน หรือ 1,000 พีพีเอ็ม. และ 500   พีพีเอ็ม. สำหรับเด็ก เหตุผลที่ยาสีฟันเด็กมีปริมาณความเข้มข้นเพียงครึ่งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะกลืนยาสีฟันทำให้ได้รับฟลูออไรด์เกิน 2.กลุ่มยาสีฟันที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสารสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน ไทมอล น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ  สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ในคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบใช้แล้วจะรู้สึกว่า เหงือกกระชับแน่นขึ้น ไม่อักเสบบวมแดงอย่างที่เคยเป็น 3.กลุ่มยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท เพื่อไปปิดรูเล็ก ๆ ที่เนื้อฟัน ทำให้ลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว แต่ควรต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียวฟันร่วมด้วย จึงจะแก้ที่ต้นเหตุได้จริง 4.กลุ่มยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว มีการใช้ผงขัดที่หยาบเพื่อให้ขจัดเอาคราบสีต่าง ๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก รวมทั้งอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ซึ่งการใช้ผงขัดที่หยาบผสมลงในยาสีฟันอาจทำให้มีการขัดเอาผิวฟันออกมากเกินไป ทำให้เคลือบฟันสึกและบางลง รวมทั้งสารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ อาจมีอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ จึงควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง 5.กลุ่มที่มีการโฆษณาว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก หรือใช้กลางคืนเพื่อลดกลิ่นปากตอนเช้า จากรายงานทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารเคมีหรือสารสมุนไพรต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >