ฉลาดซื้อพบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ

        วันนี้ (25 กันยายน 2563 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอตจำนวน 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33  หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมด ใน 6 จังหวัด  โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม         ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่        1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม          ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้สนับสนุน ให้ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 รายการ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ยกเลิกไปจำนวน 2 รายการ คือ พาราควอต และคลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ ไกลโฟเสต          องค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันรณรงค์และประสานงานองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคเดินหน้าการยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้ง 3 รายการ และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรในอาหารโดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)         นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์เราพบสารพาราควอตแม้ว่าจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้น  เป็นปูนาที่มีการปนเปื้อนสารเคมีประเภทพาราควอต จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะมีการห้ามการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลของ “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา ตามที่เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา และใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (28 กันยายน) ทั้งที่ข้อเท็จจริงการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็มที่ใช้ในการทำส้มตำในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังไม่เคยทำการทดสอบน้ำปูหรือน้ำปู๋อาหารของคนไทยภาคเหนือตามที่อ้าง         วันนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยืนยันว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ของ 5 จังหวัด  จาก 6 จังหวัด มีการตกค้างพาราควอตถึง 1 ใน 3 จาก 24 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่ได้ทำการทดสอบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสารพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน มีอันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งเป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าประเทศ รวมทั้งยังใช้การกดดัน การจ้างมืออาชีพล็อบบี้ เจรจา ให้กระทรวงเกษตร ฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง         องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอคัดค้านให้มีการทบทวนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส โดยขอให้คงมติการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดและเร่งดำเนินการเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค         นางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำปูหรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น วิธีการทำน้ำปูนั้นชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำ กรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียว เป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น สำหรับผู้บริโภคหากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบพาราควอต พบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีอื่นๆ ข้อมูลเพิ่มเติม : นิตยสารฉลาดซื้อ 02 248 3737 ต่อ 127-129

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ตรวจ ‘น้ำพริกหนุ่ม’ รอบ 2 พบ สารกันบูดเกินมาตรฐานน้อยลง

ฉลาดซื้อ จับมือ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ตรวจ ‘น้ำพริกหนุ่ม’ รอบ 2 พบ สารกันบูดเกินมาตรฐานน้อยลง        ฉลาดซื้อ และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ตรวจซ้ำ ‘สารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม’ รอบ 2 พบ น้ำพริกหนุ่ม 7 ตัวอย่างตรวจไม่พบวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด และมีน้ำพริกหนุ่ม 8 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน ส่วนอีก 8 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน ขณะที่มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ยี่ห้อที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลยทั้ง 2 รอบ คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) และ น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มตรวจน้ำพริกหนุ่มครั้งที่ 2 โดยแบ่งกลุ่มสินค้าตัวอย่างเป็นยี่ห้อเดิมที่เคยตรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม) จำนวน 11 ตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างใหม่จำนวน 12 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง      สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ผลการทดสอบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกหรือกรดซอร์บิกเลย กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน และ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน           กลุ่มที่ 1 ตรวจไม่พบวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดเลย จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 2) น้ำพริกหนุ่ม วนัสนันท์ สูตรดั้งเดิม จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 3) น้ำพริกหนุ่ม จ่าเหลาหมูทอด จากตลาดโต้รุ่งข้างลานเจ้าแม่ลำพูน 4) น้ำพริกหนุ่มแม่ลัด จาก จ.ลำพูน 5) น้ำพริกหนุ่ม ครัวไส้อั่วแม่บุญนาค จาก จ.ลำพูน 6) น้ำพริกหนุ่มเปมิกา จากร้านเปมิกา ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา และ 7) น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา สูตรโบราณ จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย         กลุ่มที่ 2 ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) มารศรี น้ำพริกหนุ่ม สูตรดั้งเดิมจากร้านแม่ทองปอน ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 115.25 มก./กก. 2) นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 133.16 มก./กก. 3) แม่อุ่นเรือน จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 187.17 มก./กก. 4) นันทวัน น้ำพริกหนุ่มเจียงฮาย สูตรดั้งเดิม จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 282.66 มก./กก. 5) น้ำพริกหนุ่มอำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 302.10 มก./กก. 6) น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จากร้านดำรงค์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 382.19 มก./กก. 7) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากกาดขัวมุง จ.ลำพูน พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 430.18 มก./กก. และ 8) น้ำพริกหนุ่ม ตรา ศุภลักษณ์ (รสเผ็ดมาก) จากร้านแม่ทองปอน ตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 524.59 มก./กก.        ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มในกลุ่มที่ 3 ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน พบจำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) เจ๊หงษ์ จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 515.13 มก./กก. 2) ร้านแคบหมู รัตติกรณ์ จากตลาดพะเยาอาเขต จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 577.71 มก./กก. 3) น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1152.12 มก./กก. 4) น้ำพริกหนุ่มดวงกมล สูตรดั้งเดิม จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1262.21 มก./กก. 5) ประชันฟาร์ม จากร้านแม่สมใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 1346.65 มก./กก. 6) บัวลักษณ์ จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3007.29 มก./กก. 7) คุณถนอม จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3370.82 มก./กก. และ 8) น้ำพริกหนุ่ม แม่ประกาย จากร้านยาใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 4647.98 มก./กก. ในส่วนของผลการเปรียบเทียบการตรวจวิเคราะห์น้ำพริกหนุ่มจากการตรวจครั้งที่ 2 และ 3 สรุปได้ ดังนี้        • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลยทั้งสองครั้ง คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) และ น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา        • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่เคยตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่เกินมาตรฐาน คือ นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) และ น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค          • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง  (แต่ครั้งล่าสุด ตรวจพบปริมาณสารกันบูดน้อยลง แต่ก็ยังคงเกินมาตรฐาน) คือ เจ๊หงษ์ และ น้ำพริกหนุ่มอุมา         ทั้งนี้ หากลองเปรียบเทียบสัดส่วนผลตรวจปริมาณสารกันบูดที่เกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง จะพบว่า ในครั้งที่แล้ว (เดือนมิถุนายน 2562) ผลตรวจน้ำพริกหนุ่มทั้งหมด 17 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 41.17 และในครั้งนี้ จากทั้งหมด 23 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 34.78 ซึ่งน้อยลงกว่าครั้งก่อน     ด้าน พวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังที่ออกมาครั้งนี้จะพบว่ามีผู้ประกอบการส่วนมากได้มีการปรับคปรุงคุณภาพของสินค้าได้ดีขึ้น ส่วนนี้ต้องขอบคุณในความใส่ใจเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค และในบางผลิตภัณฑ์ที่ยังพบอยู่นั้น คงต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาสูตรและการผลิตต่อไป ส่วนเครือข่ายผู้บริโภคจะทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าต่างๆ ต่อไปเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญและผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคอ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่ ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

‘ฉลาดซื้อ’ เตือน บริโภค ‘โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ ช่วงกักตัวระวังปริมาณโซเดียมเกิน

        ‘นิตยสารฉลาดซื้อ’ เผย ปริมาณโซเดียมใน ‘ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ พบ ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมน้อยสุดเป็น 0 มากสุดมีถึง 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค แต่ไม่เกินปริมาณการบริโภคโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ทั้งยังพบ 1 ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการ พร้อมแนะควรบริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคควรเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง และนำมาเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม พบว่า ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ โจ๊กข้าวกล้อง หอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสผักเจ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 0 มิลลิกรัม และ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสปลา ตราเกษตร มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม และ ราคาของโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมเท่ากับ 605.23 มิลลิกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17.04 บาทต่อถ้วยหรือซอง         ขณะที่มีผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ‘ไม่มีฉลากโภชนาการ’ ได้แก่ โจ๊กข้าวต้มหอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสดั้งเดิม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมได้ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 31 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2563องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน         อนึ่ง แม้ว่าโซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา         ทั้งนี้ หากลองคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มากกว่าครึ่ง มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า 666 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือ บริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป แนะนำว่าสามารถเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ ควรสังเกตฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ด้วย อ่านรายละเอียด ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3351

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิ และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างยั่งยืน

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจ สารกันบูดในกะทิปลอดภัย เตือนผู้บริโภคต้องตกอยู่ในความเสี่ยงหากบริโภคอาหารสะดวกซื้อ พร้อมแนะรัฐฯ ออกมาตรฐานกะทิเพราะเป็นอาหารคู่ครัวไทย และแก้ปัญหามะพร้าวราคาถูกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ากะทิสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดนั้นไม่ใช่กะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป 3 แบบ คือ กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และ กะทิคั้นสด จากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมัน วัตถุกันเสีย (ซอร์บิก, เบนโซอิก) และสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิแท้ 100% ชาวเกาะ, 2) กะทิสูตรหัวกะทิ ชาวเกาะ, 3) กะทิแท้ พร้าวหอม, 4) กะทิ 100% อัมพวา, 5) กะทิแท้ 100% รอยไทย, 6) กะทิ 100% เรียลไทย, 7) กะทิ เอโร่, 8) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี, 9) ร้านกะทิสด จากตลาดคลองเตย, 10) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) และ 11) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย        ผลการวิเคราะห์แบ่งเป็น กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ และกะทิสด         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ข้อสังเกตจากผลวิเคราะห์น้ำกะทิ  11 ตัวอย่าง พบว่า          ปริมาณสารกันเสีย (กรดเบนโซอิก : ปริมาณที่อนุญาตให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชั่น 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีการตรวจพบใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) กะทิพาสเจอร์ไรส์ ชาวเกาะ (บรรจุถุง) 776.62 มก./กก., 2) กะทิสำเร็จรูป (บรรจุถุง) สมุย 804.24 มก./กก. 3) กะทิสดจากร้านในตลาดคลองเตย ในปริมาณ325.09 มก./กก. และ 4) กะทิ 100% หัวกะทิ อร่อย-ดี (AROY-D) ที่ระบุในฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่พบปริมาณสารกันเสีย 2.19 มก./กก.        ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากะทิสดที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดคลองเตยนั้น ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกปริมาณ 325.09 มก./กก.         กรดไขมัน : จากผลการวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันพบว่า ปริมาณกรดไขมันที่พบในน้ำกะทิ จากตลาดคลองเตย มีปริมาณสูงที่สุดในทุกชนิดกรดไขมันที่ตรวจพบ (กราฟเส้นสีน้ำเงินในรูป) โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุดคือ Lauric acid ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำกะทิตามธรรมชาติ        ดร.แก้ว กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า อาหารสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปนั้น ผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะความสะดวกนั้นมากับพร้อมความเสี่ยงและการได้รับความอร่อยที่ลดลง อีกทั้งทุกวันนี้กระบวนการผลิตอาหารมักใช้วัตถุเจือปนอาหาร และใช้กระบวนการผ่านความร้อนที่ทำให้ความหอมและรสอร่อยของอาหารลดลง เช่น กะทิ เมื่อนำมาผ่านความร้อนบรรจุลงกล่องหรือขวด จะมีคุณภาพลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บอาหารนั้น จะสังเกตว่าเมื่อเราจะนำกะทิสำเร็จรูปมาปรุงอาหาร ในส่วนคุณภาพของกะทิ เช่น ความหอมและรสชาติจะถูกลดทอนไปมากแล้ว          “ผมคิดว่ากะทิเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในส่วนผสมของอาหารไทยเกือบทุกเมนู ฉะนั้นจึงเสนอให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เห็นถึงความสำคัญของอาหารประเภทกะทิ เร่งออกมาตรฐานคุณภาพของกะทิในบ้านเรา เพื่อทำให้กะทิของไทยมีคุณภาพดี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวภายในประเทศในการผลิตอีกด้วย” ดร.แก้วกล่าว         ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องกินข้าวจากดินในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคไทยก็เช่นเดียวกัน เวลาเราใช้น้ำกะทิหรือกินแกงกะทิ เราต้องการข้อมูลที่จะบอกเราว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์กล่องนี้ทำมาจากมะพร้าวที่มาจากไหน ในประเทศ หรือต่างประเทศใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดการขนส่ง ลดการนำเข้า ลดการใช้พลังงานในการบริโภค โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้บริโภคที่ดี บริโภคอย่างยั่งยืน          “ในส่วนของฉลากบรรจุภัณฑ์ของกะทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรให้ผู้ผลิตระบุด้วยว่าใช้มะพร้าวจากในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อระบุแหล่งที่มาของอาหารและเพื่อให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงสร้างทางเลือกสำหรับผู้บริโภคด้วย” นางสาวสารีกล่าว         ในส่วนของราคามะพร้าวที่ผู้ประกอบการรับซื้อจากชาวสวนนั้น หากยอมรับในคุณภาพของมะพร้าวในประเทศ ทุกฝ่ายต่างต้องการราคาที่เป็นธรรม การรับซื้อตรงจากเกษตรกร น่าจะทำให้เกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้น หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภค เกษตรกรทำงานหนัก สินค้าเกษตรมีราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การกำหนดราคาสินค้าจึงต้องมีราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เกษตรกรขายสินค้าในราคาถูก ซึ่งเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนถึงวันนี้ รัฐควรมีการแก้ปัญหา ควรมีข้อมูลปริมาณผลผลิตในประเทศที่ชัดเจน ทันสมัย เปิดเผย การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง หรือรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรให้ชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือมุ่งไปสู่การเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปด้วย          ส่วน นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากการพูดคุยของตัวแทนเครือข่ายมะพร้าวกับผู้ประกอบการทำให้ได้รับทราบว่ากะทิกล่อง 100 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยมีการผสมน้ำมันแบะแซผสมลงไปด้วย ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายที่อ้างว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อทำการทดสอบ         “ผมคิดว่าบ้านเรามีมะพร้าวจำนวนมากและมีมะพร้าวคุณภาพดี แต่ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้บริโภคมะพร้าวที่มีคุณภาพดี แต่กลับต้องไปบริโภคมะพร้าวนำเข้า ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ได้ นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการทำกะทิจากมะพร้าวที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับกะทิที่มีคุณภาพ มีน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่า แล้วราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยจำกัดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ

              องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety 2561 เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก ระบุว่าประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 62 คนบนถนนทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน คิดเป็นมลูค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี        นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนอีกกว่า 125,706 คนที่ส่วนใหญ่ยังขาดการยอมรับ ขาดโอกาส ขาดการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม รวมถึงการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน          ทั้งนี้ในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี ได้มีการกำหนดให้มีวัน"ราลึกผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจากถนน” หรือ World Day of Remembrance for Road Traffic Victims เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกันจัดงานเดิน-วิ่ง ภายใต้คอนเซปต์ “Run For Road Traffic Victims “หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ” ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 นี้      วัตถุประสงค์การจัดงาน Run For Road Traffic Victims        ทั้งนี้ในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี ได้มีการกำหนดให้มีวัน"ราลึกผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจากถนน” หรือ World Day of Remembrance for Road Traffic Victims เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกันจัดงานเดิน-วิ่ง ภายใต้คอนเซปต์ “Run For Road Traffic Victims “หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ” ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 นี้วัตถุประสงค์การจัดงาน Run For Road Traffic Victims1. เพื่อรำลึกถึง ผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน2. เพื่อการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ3. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการขนส่งมวลชนสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนสมัครคลิกที่นี่ >> https://rtv.regist.co

อ่านเพิ่มเติม >

คะแนนด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังต่ำ เน้นทำ CSR มากกว่าปรับนโยบาย

ภาคประชาสังคมเปิดคะแนนนโยบายด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย พบว่าในภาพรวมคะแนนยังต่ำอยู่ เผยเน้นทำกิจกรรม CSR แต่ไม่สนบรรจุเป็นนโยบายบริษัท แนะใช้วิธีการซื้อตรงจากเกษตรกรอย่างรับผิดชอบแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เปิดผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่าในภาพรวม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตถึง 4 รายที่ไม่ได้คะแนนเลยในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ Big C, Foodland, Gourmet Market และ Villa Market โดยการประเมินครอบคลุมตัวชี้วัดย่อยใน 4 มิติด้วยกัน คือ ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรีสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนจากการประเมินประจำปีนี้ ได้แก่ CP Freshmart (มิติความโปร่งใส 2 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 6 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 3 คะแนน) Makro (มิติความโปร่งใส 3 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 3 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 4 คะแนน) Tesco (มิติความโปร่งใส 10 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 14 คะแนน มิติเกษตรกรรายย่อย 5 คะแนน และมิติสิทธิสตรี 6 คะแนน) และ Tops (หมวดสิทธิสตรี 1 คะแนน)นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่า “เราประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรอบนี้เป็นปีที่สอง เจ้าที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco เจ้าที่ได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops ส่วนเจ้าที่คะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนนในปีนี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะ Big C เพิ่งจะเปลี่ยนเจ้าของและออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อก่อน ส่วนอีก 3 เจ้ายังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปีที่แล้วครับ”“ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือคะแนนของ Tesco ที่เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนช่องทางของ Tesco Lotus ในไทยอย่างเดียวจะคะแนนได้น้อยมาก คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ ครับ” นายธีรวิทย์กล่าวเสริมด้านนางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดมทุนเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืน การศึกษาวิจัยว่ารายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนที่ทำงานบนเส้นทางอาหารควรเป็นเท่าใด เป็นต้น ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยกลับยังไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้มากนัก เห็นได้จากคะแนนประเมินนโยบายด้านสังคมล่าสุดที่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังทำประเด็นความยั่งยืนกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในนโยบายของบริษัทเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักแต่อย่างใด“จะเห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือที่เรียกกันว่า CSR เยอะมากนะคะ เช่น โครงการรับซื้อหรือสนับสนุนให้เกษตรกรเอาผักหรือผลไม้มาขายโดยตรงซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแค่เป็นครั้งคราวไป และอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน อาจจะดี แต่จะเลิกทำเมื่อไรก็ได้ การที่เราประเมินตัวนโยบายและเรียกร้องให้เขาบรรจุเรื่องทางสังคมเป็นนโยบายก็เพื่อให้บริษัทมีพันธสัญญาในระยะยาวที่จะต้องทำให้เส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหารของตัวเองดีขึ้น ถ้านโยบายดีแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปอีกกี่คน นโยบายมันก็ยังอยู่ให้คนต่อๆ ไปมาสานต่อได้ค่ะ” นางสาวทัศนีย์กล่าวทั้งนี้ แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าการซื้อตรงจากเกษตรกรหรือ Direct Sourcing เป็นไปอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยได้ยกตัวอย่างกรณีสหกรณ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง ส่งขายให้กับซุเปอร์มาร์เก็ตอย่างเป็นระบบ สามารถระบุที่มาของผลผลิต ตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน โดยกลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายที่พอใจได้เองด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการซื้อตรงอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบสามารถทำได้จริงในประเทศไทยด้าน นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ระบุว่า “แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเจ้าในประเทศไทยตอนนี้จะบอกว่ามีการซื้อตรงจากเกษตรกรแล้ว ซึ่งเราก็ยินดีนะคะ แต่แค่การซื้อตรงอย่างเดียวยังไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ผลิต คุณต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่าทำอย่างไร ทำไปเท่าไร กับที่ไหนบ้าง และผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างไร เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีอิทธิพลสูงมากในกระบวนการผลิตและจำหน่ายอาหารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง แรงงาน พนักงาน มาจนถึงผู้บริโภคเองด้วย ผู้บริโภคที่แคร์ความยั่งยืนอย่างเรา เราก็อยากจะมั่นใจได้ว่าทุกการกระทำและคำโฆษณาของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นความจริง โปร่งใส และตรวจสอบได้ค่ะ”แคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากโครงการ SWITCH-Asia II ของสหภาพยุโรป และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผ่านการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่ ‘ดีตั้งแต่ต้นทาง’ คือ เป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอ่าน ผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >