ฉบับที่ 248 เครื่องทำกาแฟดริปอัตโนมัติ

        ฉลาดซื้อขอเอาใจคอกาแฟอีกครั้ง ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบเครื่องทำกาแฟดริปแบบอัตโนมัติ ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศในเนเธอร์แลนด์ (Consumentenbond) และเบลเยียม (Test-Achats) เป็นผู้เก็บตัวอย่างส่งเข้าทดสอบไว้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอคัดมาแค่ 21 รุ่นที่ได้คะแนนระหว่าง 61 – 81 จากคะแนนเต็ม 100 สนนราคาที่จำหน่ายในเว็บไซต์มีตั้งแต่ 550 ถึง 9,400 บาท*          จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทีมทดสอบได้สัดส่วนออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้           35 คะแนน      ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง (ทดสอบตามมาตรฐาน EN 60661: 2001) เช่น ประสิทธิภาพและเวลาที่ใช้ในการสกัดกาแฟเมื่อใช้น้ำในปริมาณมาก/น้อยที่สุด อุณหภูมิของกาแฟหลังทำเสร็จทันทีและเมื่อเวลาผ่านไป 15 และ 30 นาที (กรณีที่เหยือกเป็นแบบเก็บอุณหภูมิ จะวัดอุณหภูมิเมื่อเวลาผ่านไป 1, 2, หรือ 4 ชั่วโมงด้วย)         30 คะแนน      รสชาติของกาแฟ เป็นการให้คะแนน (จาก 1 – 10) โดยนักชิมมืออาชีพ 10 คน กาแฟจากเครื่องแต่ละรุ่นจะต้องมีผู้ทดสอบรสชาติอย่างน้อย 8 คน น้ำที่ใช้เป็นน้ำประปาที่อุณหภูมิห้อง (20 องศาเซลเซียส) กระดาษกรอง Melitta Original และเมล็ดกาแฟ Norvid Arqvist โดยใช้กาแฟในสัดส่วน 50 กรัม/น้ำ 1 ลิตร และเลือกระดับ Medium ในฟังก์ชัน Aroma         30 คะแนน      ความสะดวกในการใช้งาน เป็นผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คนที่ทดลองใช้เครื่อง เช่น เติมน้ำ เลือก/ปรับโปรแกรมการใช้งาน  ใส่/ถอดอุปกรณ์  เทกาแฟใส่แก้ว ทำความสะอาด และจัดเก็บเครื่อง เป็นต้น           5 คะแนน        การประหยัดพลังงาน วัดจากพลังงานที่ใช้ขณะทำกาแฟขณะอุ่นร้อน 30 นาที ขณะอยู่ในโหมดสแตนด์บายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง รวมถึงระยะเวลาก่อนปิดตัวเองอัตโนมัติเมื่อไม่มีการใช้งาน          ข่าวดีคือเราสามารถมีเครื่องทำกาแฟแบบดริปไว้ใช้ที่บ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายแพง ใครชอบรูปลักษณ์ของเครื่องแบบไหน ชอบเหยือกกาแฟแบบแก้วหรือสแตนเลส หรือมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จัดวางอย่างไร เชิญพลิกดูรายละเอียดประกอบการตัดสินใจในหน้าต่อไปได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 244 ผลการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV

การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV      น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภคต้องเลือกน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย เครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือน         ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป        ต่อไปนี้คือ ผลการทดสอบ เครื่องกรองน้ำระบบ UF และ ระบบ UV  (วิธีการทดสอบเดียวกับการทดสอบเครื่องกรองน้ำระบบ RO ดูบทความก่อนหน้า)        ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ UF         การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UF มีผลทดสอบ ดังนี้               เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Stiebel Eltron รุ่น Rain Plus และ Pure รุ่น DM 01         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Unipure รุ่น BLUE 20”(UF)         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Astina รุ่น AP401UF และ Aquatek รุ่น Silver UF         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น BUF-401N Filtex รุ่น FT-220 และ Mazuma  รุ่น AQ 50 UF          ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ UV        การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UV มีรายละเอียด ดังนี้         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น AQ-5F-UVS และ Amway รุ่น eSpring         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Pure รุ่น DM 01 UV และ Filtex รุ่น FT-229         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น 5PUVPRC Carina รุ่น CA-5UV และ Absolute รุ่น Ultraviolet & Ceramic

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (1) ระบบ RO

        น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภคต้องเลือกน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย เครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือน         ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป         การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องกรองน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมา ทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการให้ข้อมูลกับบริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โดยทำการสุ่มซื้อเครื่องกรองน้ำจากท้องตลาด และการสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยเลือกเครื่องกรองน้ำจาก 3 ระบบ ได้แก่          1.เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) จำนวน  11 ตัวอย่าง        2.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultrafiltration (UF) จำนวน 8 ตัวอย่าง        3.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultraviolet (UV) จำนวน 7 ตัวอย่าง         ผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรียของครื่องกรองน้ำ สำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาคุณสมบัติและ ประสิทธิภาพอื่นๆ ของเครื่องกรองน้ำประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกรองโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนได้        ข้อแนะนำ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัย อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ         ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ RO        การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ RO มีรายละเอียด ดังนี้         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Toshiba รุ่น TWP-N1890UK Stiebel Eltron รุ่น Glacier Filtex รุ่น FT 241 RO Aquatek รุ่น RO 150 GPD และ Mi รุ่น water purifier 1A         เครื่องกรองน้ำที่มีประสทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น RO PURE LI และ Pure รุ่น KT RO         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Treatton รุ่น RO 300 GPD และ Turbora รุ่น 5ROC-PRC         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบบทีเรียได้ ได้แก่ Carina รุ่น  CA-5RO และ Pentair รุ่น GRO-50 System

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เครื่องปั่นอเนกประสงค์

        ฉลาดซื้อฉบับนี้มีภาคต่อของผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาฝากคุณอีกแล้ว คาวนี้มีให้เลือก 15 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 1800 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้แก่ Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ และ OCU-Ediciones จากสเปน ได้ร่วมกันทำไว้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา               เกณฑ์การให้คะแนนยังเป็นเช่นเดิมคือ คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วยคะแนนประสิทธิภาพในการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน)         ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนรวมถึง 70 คะแนน เครื่องปั่น KitchenAid ( ราคา 799-12,900 บาท ) ที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่ม ก็ได้ไปเพียง 68 คะแนน เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายรุ่นที่ “สอบตก” เพราะได้ต่ำกว่า 50 คะแนน         พลิกไปดูกันเลยว่าควรซื้อหารุ่นไหนมาไว้ใช้งานในวันที่อยู่บ้านฝึกฝนการเป็นเชฟมือใหม่กันได้เลย          ทั้งนี้ทีมได้ทดสอบเปรียบเทียบการประหยัดพลังงาน แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลในการให้คะแนนรวม ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นทุกได้คะแนนในระดับ 5 ดาว จึงไม่ได้นำมาประมวลผลเช่นกัน         หมายเหตุ        -          การทดสอบดังกล่าวมีค่าใช้จ่าย 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         -          ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่พบออนไลน์ และอาจเป็นการแปลงจากหน่วยเงินต่างประเทศ โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ         -          สามารถติดตามผลการทดสอบเครื่องปั่นครั้งก่อนหน้าได้ที่ ฉลาดซื้อ ฉบับ 227

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 240 ผลการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5

        สังคมเมืองในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัดมักจะเกิดปัญหาคุณภาพอากาศ โดยหนึ่งในปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละออง (PM) ซึ่งเกิดขึ้นจากการจราจร การเผาไหม้ในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม จากการวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมักเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μm (PM2.5) ทำให้ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้เครื่องฟอกอากาศ (Air cleaner/ Air Purifier) มาช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในอาคาร/บ้านเรือนของตนเอง จึงมีผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตเครื่องฟอกอากาศ เน้นประชาสัมพันธ์ว่าสามารถช่วยลดฝุ่นละออง (PM2.5) พร้อมช่วยขจัดมลพิษและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ          การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง  เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน จากการสุ่มซื้อตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศในท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563)         ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ         ผลการทดสอบเป็นผลลัพธ์จากการคำนวณค่าอัตราการส่งอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) และพื้นที่ห้องที่ใช้ได้ (Applicable floor area) ของทั้ง 9 รุ่น          สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบ พบว่า ประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้         อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้        วิธีการทดสอบ        การทดสอบครั้งนี้ ทำการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 รุ่น โดยอ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน เช่น บ้านเรือน สำนักงาน ร้านค้า เป็นต้น โดยทำการทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3          3.1 เงื่อนไขการทดสอบ        สำหรับฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบนี้ ทางผู้ทดสอบจะใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 (ดังรูปที่ 1‑1) เพื่อสร้างฝุ่นจำลอง โดยปกติเครื่องนี้จะสร้างฝุ่นจำลองที่มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm ซึ่งฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm โดยแผนภูมิการกระจายตัวของขนาดฝุ่นแสดงดังรูปที่ 1‑2              3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ            เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533 แสดงดังรูปที่ 1‑3 ซึ่งเครื่องวัดดังกล่าวสามารถวัดความเข้มข้นของ PM2.5 แบบ Real-time ได้             3.3 ลักษณะของห้องที่ใช้ในการทดสอบ             ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m] โดยคุณสมบัติของห้องดังกล่าวสามารถรักษาระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องได้ ซึ่งฝุ่นละอองต้องลดลงน้อยกว่า 20% ของความเข้มข้นเริ่มต้นในระยะเวลา 30 นาที        นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบริเวณริมห้องโดยให้เว้นระยะจากผนังห้องเป็นระยะ 30 cm ตามที่ผู้ผลิตได้ระบุไว้ รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่นละอองและเครื่องมืออื่นๆ บริเวณกึ่งกลางห้อง โดยมีความสูงจากพื้น 1.2 m แผนผังห้องและการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบทั้งหมด แสดงดังรูปที่ 1-4 และรูปที่ 1-5        3.2 วิธีการทดสอบ        สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพนี้จะทำการทดสอบโดยตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่เปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา เพื่อคำนวณหาค่าประสิทธิภาพของการกำจัดฝุ่นละออง และเพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศอย่างถูกต้อง ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องทดสอบอัตราการระบายอากาศ (Air exchange rate) การลดลงตามธรรมชาติของฝุ่นละอองภายในห้องขณะยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Natural decay) และทดสอบการลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Decay of dust concentration)        การลดลงของฝุ่นละอองตามธรรมชาติ (Natural decay)         ดำเนินการโดยการสร้างฝุ่นละอองเพื่อให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ภายในห้องมีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 5.0 mg/m3 จากนั้นจะทำการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องเป็นเวลา 30 นาที เพื่อหาค่าที่การ Natural decay โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองหลังจากเวลาผ่านไป 30 นาที ควรมีค่าความเข้มข้นมากกว่า 80 % ของความเข้มข้นเริ่มต้น         การลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration)         ในการทดสอบนี้จะดำเนินการเหมือนกับการทดสอบ Natural Decay แต่หลังจากสร้างฝุ่นละอองจนได้ความเข้มข้นของ PM 2.5  ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3 จะทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า 0.020 mg/m3 หรือ 20 µm/m3        การคำนวณหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ                 สำหรับการคำนวณนี้จะทำการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศhttps://consumerthai.org/consumers-news/product-and-other/4554-641203_airpurifier.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 หุ่นยนต์ตัดหญ้า

        หากการตัดหญ้าหน้าบ้านด้วยกรรไกรมันใช้เวลานานเกินไป หรือทำให้คุณปวดหลังไปอีกหลายวัน ลองดูผลทดสอบเครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติที่เรานำมาฝาก การทดสอบครั้งนี้ทำขึ้นทั้งในห้องปฏิบัติการและสนามหญ้าจริง ในช่วงปลายปี 2019 โดยองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ         สัดส่วนคะแนนในการทดสอบเปรียบเทียบ แบ่งออกเป็น ประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 60  (การตัดหญ้าได้สม่ำเสมอสวยงามทั้งหญ้าเปียก/หญ้าแห้ง หญ้ายาว/หญ้าสั้น การตอบสนองของเครื่องเมื่อเจออุปสรรค เช่น รั้ว แปลงดอกไม้ ต้นไม้ หรือชานบ้าน เป็นต้น)  ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20 (การตั้งค่า การใช้ร่วมกับแอปฯ การเคลื่อนย้าย การทำความสะอาด การเปลี่ยนใบมีด เป็นต้น) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงรบกวน ร้อยละ 10 ตามด้วยคุณภาพการประกอบ ร้อยละ 5 และคู่มือการใช้งาน ร้อยละ 5         ในภาพรวมถือว่าเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ทำงานได้เข้าตากรรมการ แต่ราคาของมันก็ไม่ถูกนัก เครื่องตัดหญ้าที่เราเลือกมา 20 รุ่นจากการทดสอบครั้งนี้มีราคาระหว่าง 6,750 – 40,500 บาท และราคาก็มีผลต่อประสิทธิภาพพอสมควร รุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุดคือรุ่นที่แพงที่สุด (Stihl RMI 632)  แต่อย่าเพิ่งถอดใจกลับไปใช้กรรไกร ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนมากกว่า 80 ในราคาไม่เกิน 10,000 บาทให้คุณได้เลือก         สิ่งหนึ่งที่วางใจได้คือทุกรุ่นได้คะแนนความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว และทำงานได้ทั้งระบบออโตและแมนนวล ยกเว้น Riwall PRO RRM 1000 ที่เป็นระบบออโตเพียงอย่างเดียว         มีข้อสังเกตว่า สำหรับเครื่องตัดหญ้าส่วนใหญ่ ขนาดพื้นที่สนามสูงสุดเป็นไปตามที่ผู้ผลิตเคลมไว้ในสเปค ยกเว้น Wolfgarten Loopo M 1500 และ Wolfgarten Loopo M 1000 ที่ทดสอบแล้วทำได้สูงสุดเพียง 800 และ 500 ตารางเมตร ตามลำดับ และ Cub Cadet XR2 1000 ที่รองรับได้สูงสุดเพียง 500 ตารางเมตรเท่านั้น         · หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาแปลงจากหน่วยเงินยูโร ตามที่องค์กรสมาชิกจ่ายจริง โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบันอีกครั้งก่อนตัดสินใจ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบเครื่องทำกาแฟ

        ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องทำกาแฟมาฝากคุณอีกครั้ง มีทั้งแบบแมนนวล แบบอัตโนมัติ และแบบแคปซูล รอบนี้เราคัดมา 20 รุ่นจากที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทดสอบไว้ในปีนี้ สนนราคาตั้งแต่ 1,530 ถึง 43,900 บาท เครื่องทำกาแฟที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกในการทดสอบรอบนี้ (84 -82 คะแนน) เป็นเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล (Jolie ของ Lavazza / Nespresso ของ Krups / Creatista ของ Sage) และที่เข้ามาเป็นอันดับแรกของเครื่องแบบอัตโนมัติคือ Jura E6 Piano (80 คะแนน) ในขณะที่รุ่นแมนนวลที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ ECF01 ของ Smeg (76 คะแนน)           คะแนนเต็ม 100 ประกอบด้วย        คุณภาพ/รสชาติของกาแฟ ร้อยละ 50        ประสิทธิภาพการทำงาน             ร้อยละ 25        ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20        และการประหยัดพลังงาน   ร้อยละ 5          ใครเล็งเครื่องแบบไหนไว้ ไปดูกันเลย นี่เป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่ฉลาดซื้อนำเสนอผลทดสอบเครื่องทำกาแฟหรือบางคนเรียกว่าเครื่องทำเอสเปรสโซ สมาชิกสามารถค้นหาผลการทดสอบรุ่นที่เราเคยทำไว้ก่อนหน้านี้ได้ในฉบับที่ 114/141/195/206/207 และ 221         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาจากอินเทอร์เน็ต โปรดตรวจสอบราคาและโปรโมชันอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 โมโครเวฟพร้อมกริล

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเตาไมโครเวฟพร้อมฟังก์ชั่นปิ้งย่าง องค์กรผู้บริโภคในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบในนามขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) เอาไว้มากกว่า 80 รุ่น แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดและเราจึงขอเลือกรุ่นความจุระหว่าง 20 – 40 ลิตร มาให้สมาชิกได้พิจารณากัน 15 รุ่น         คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย         ร้อยละ 55       ประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น ละลายน้ำแข็ง ปิ้งย่าง และอุ่นร้อน         ร้อยละ 40       ความสะดวกในการใช้งาน เช่น เลือกโปรแกรม ตั้งเวลา หยิบภาชนะ การมองเห็นอาหารขณะใช้งาน เสียงรบกวน การทำความสะอาด ฯลฯ)           ร้อยละ   5       การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ          สนนราคาของเตาไมโครเวฟเดี๋ยวนี้ลดลงมาก เราสามารถหารุ่นที่ใช้งานได้ดีด้วยงบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท  ใครชอบใช้งานด้านไหนเป็นพิเศษพลิกดูคะแนนการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ ในหน้าถัดไปได้เลย (ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร) หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายในการทดสอบเตาไมโครเวฟแต่ละรุ่นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 550 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 230 หม้อทอดไร้น้ำมัน

        หลายคนเริ่มค้นพบศักยภาพความเป็นเชฟในตัวเองในช่วงที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน อุปกรณ์เครื่องครัวทั้งหลายกลายเป็นสินค้าเนื้อหอมขึ้นมาทันที หากคุณกำลังคิดอยากได้หม้อทอดไร้น้ำมันเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำมันพืชราคาแพงหรือขาดแคลน (แต่ก็ต้องเตรียมจ่ายค่าไฟ) ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปทำไว้ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงกุมภาพันธ์ 2563 มาฝาก  การทดสอบจะทำตามที่ระบุในคู่มือของแต่ละรุ่น ทีมทดสอบจะวัดความร้อน บันทึกเวลาที่ใช้ อุนหภูมิเฉลี่ยขณะทอด พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ อาหารที่ใช้ทดสอบได้แก่ มันฝรั่งทอด (ทดสอบทั้งแบบใส่ลงไปใน 2 ใน 3 ของความจุหม้อ และแบบใส่จนเต็ม) น่องไก่ (นำออกจากตู้เย็นหลังแช่ไว้ 24 ชั่วโมง ใส่ลงไปพร้อมกัน 4 น่อง ขนาดน่องละประมาณ 100 กรัม) ปอเปี๊ยะ (นำออกจากตู้เย็นหลังแช่ไว้ 24 ชั่วโมง ใส่ลงไป10 ชิ้นๆ ละ 25 กรัม)          การให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 ด้าน          ประสิทธิภาพ                               ร้อยละ 55         ความสะดวกในการใช้งาน            ร้อยละ 20         การประหยัดพลังงาน                   ร้อยละ 15         ความปลอดภัย                           ร้อยละ 5          คุณภาพการประกอบ                   ร้อยละ 5  เทียบกับการทดสอบคราวก่อน (ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 203) ผลิตภัณฑ์นี้มีการพัฒนาดีขึ้นพอสมควร แม้รุ่นที่ดีที่สุดจะได้คะแนนรวมแค่ 74 จาก 100 แต่รุ่นที่ได้คะแนนต่ำก็ยังได้เกือบ 50 คราวนี้เรามีให้คุณเลือกถึง 23 รุ่น ถูกใจรุ่นไหนอย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้ง (ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่ตรวจสอบจากอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนเมษายน) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 227 เครื่องปั่นผสมอาหาร/เครื่องดื่ม

        สายสุขภาพเชิญทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาให้คุณได้เลือกกันถึง 20 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 2000 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทำไว้ด้วยต้นทุนทดสอบ 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         คะแนนรวม 100 คะแนน คิดจากประสิทธิภาพ (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน) ส่วนการทดสอบด้านการประหยัดพลังงานนั้น ทีมทดสอบให้คะแนนไว้แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลด้วย          เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ความปลอดภัยของทุกรุ่นจะอยู่ในระดับ 5 ดาว แต่ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งานซึ่งวัดจากการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 70 ทั้งนี้รุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่มคือ Princess ไฮสปีด เดอลุกซ์เบลนเดอร์ (ราคา 2,760 บาท) และเช่นเคย รุ่นที่แพงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุด เราพบว่าหลายรุ่นที่ราคาแพงมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารุ่นที่ราคาปานกลางหรือราคาถูก อยากรู้ว่าเราหมายถึงยี่ห้อไหน พลิกหน้าถัดไปได้เลย·        หมายเหตุ ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ซื้อจากร้านค้าในประเทศตนเอง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point