ฉบับที่ 192 หนึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์

ในทางคณิตศาสตร์ หนึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์เป็นอนันต์ เป็นหลักคิดให้กำลังใจคนเล็กคนน้อยให้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน เรียกร้องในฐานะปัจเจกชนลุกขึ้นมาปฏิบัติการทางสังคมให้มากขึ้น หลายกรณีเล็กๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เมื่อถูกเรียกเก็บเงินจากเอสเอมเอส ต้องยืนยันว่า ไม่ได้สมัคร ไม่ยอมให้หักเงิน ถึงแม้บริษัทจะโยกโย้หาเหตุผลว่า เป็นบริการของหน่วยงานอื่นที่มาร่วมกับบริษัท บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายได้ส่วนแบ่งงามๆ นี้ และเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทอื่นจะมีสิทธิในการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเหล่านี้เด็ดขาดหากไม่ได้รับอนุญาตหรือเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ไม่ว่าจะในน้ำผลไม้ อาหารแบรนด์หรูทั้งหลาย ขอให้ถือว่าได้รับโชค มีตัวอย่างผู้บริโภคได้รับการชดเชยในระดับหมื่นบาท เพราะฐานความผิด “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากร้องเรียนหน่วยงานมักจบลงด้วยการตรวจโรงงานอุตสาหกรรมและท้ายที่สุดก็แจ้งผู้บริโภคว่า ผลการตรวจสอบโรงงานไม่พบสิ่งผิดปกติ ทุกขั้นตอนมีมาตรฐาน แต่ผู้บริโภคได้ความเจ็บใจหัวหอกเหล่านี้ ทั้งอดทน ต่อสู้ หลายเรื่องกว่าจะเป็นข่าวในโทรทัศน์ ในสังคมออนไลน์ ได้ผ่านขั้นตอนการต่อรอง การเรียกร้องจากผู้ประกอบการมาอย่างยากลำบาก หลายกรณีเลิกร้องเรียนบริษัท หรือหน่วยงานรัฐ หันมาต่อสู้ในพื้นที่ของตนเอง ใช้การโพสต์ข้อมูลเปิดเผยในเพจหรือเฟซบุกส์ของตนเองหรือบริษัท แต่ก็ไม่น้อยเจอการถูกแจ้งความดำเนินคดี เช่น ประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตโพสต์เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อรักษาไตวายเรื้อรังได้กรณีคุณแก้มหอม การโพสต์เรื่องอาหารเจอสิ่งแปลกปลอมที่เป็นข่าวเนืองๆการเริ่มต้นดำเนินการ และกระทำอย่างต่อเนื่องในเรื่องที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง ย่อมเห็นผลในท้ายที่สุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้า ที่กลายเป็นวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูล ส่งผลต่อแบบแผนการผลิตสินค้า ช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริการ ขณะนี้ได้รับการยอมรับและได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่คุณประสิทธิชัย หนูนวล คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และคณะอีกมากมาย ริเริ่ม ช่วยกันทำให้สังคมเกิดความเข้าใจได้มากกว่านายกรัฐมนตรี ที่ให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ แต่หากไปดูข้อมูลจากกฟผ. จะพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 มีถึง 41,556.25 เมกกะวัตต์ ขณะที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือน พ.ค. 2559 สูงสุด เพียง 29,618.80 เมกกะวัตต์ และเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน 26,145.30เมกกะวัตต์ ทำให้มีไฟฟ้าสำรองในระบบมากถึง 37% ซึ่งกระทบต่อค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคทุกคน รวมทั้งอันตรายของถ่านหินต่อสุขภาพของคนในชุมชน ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนชัดเจน ทุกคนเห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกทำอย่างไรจะให้มีกลไกสนับสนุนให้ผู้บริโภค พลเมือง ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติการมากขึ้น หยุดคิดว่า เราคนเดียวเล็กๆ ทำอะไรคงทำไม่ได้ การลงมือของเราไม่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง เช่น การมองเรื่องรถติดในกรุงเทพมหานคร ที่มักจะมองกันว่า ถึงเราไม่ขับรถคนอื่นก็ขับ เราเลิกขับรถคนเดียวคงไม่ส่งผลอะไร ทำให้ทุกคนคิดแบบนี้ จนรถเต็มท้องถนนในกรุงเทพฯ ความคิดนี้หากนำมาปฏิบัติการและมีขบวนการสนับสนุนอย่างจริงจัง สามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้มากทีเดียว แทนที่จะรอ คสช.และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 บุญยืน ทำชีวิตให้เหมือนเดิม

เข้าพรรษาที่ผ่านมามีโอกาสไปไหว้พระทำบุญ ทั้งวัดไทย ศาลเจ้าจีนในหลายจังหวัดภาคเหนือ แต่ก็หมดสนุกเพราะเป็นห่วงเพื่อนร่วมขบวนมีอาการปากเบี้ยว จนต้องนำส่งโรงพยาบาลอำเภอ ตอนไปส่งยังอยู่ในช่วงโอกาสทองที่จะสามารถฉีดยาสลายลิ่มเลือดได้ เพราะไปโรงพยาบาลหลังจากมีอาการก่อนสองชั่วโมง ซึ่งสามารถฉีดได้ภายในสี่ชั่วโมงครึ่งเนื่องจากเมื่อไปถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่และแพทย์ไม่สามารถเห็นอาการปากเบี้ยวได้ชัดเจน มีเพียงความดันสูง 160/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งไม่นับว่าสูงมาก ทำให้คิดว่า หากมีเส้นเลือดตีบน่าจะหลุดออกไปแล้ว หรือเป็นกลุ่ม TIA (transient Ischemic Attack) เมื่อคิดถึงสิ่งนี้ทำให้ไม่โต้แย้ง และตั้งคำถามกับโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่าเพื่อเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์และให้นำคนไข้กลับมารอที่โรงพยาบาลเดิม เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร และยืนยันมากขึ้นเมื่อแพทย์ดูฟิล์มเอกเรย์แล้วบอกว่า ไม่มีเส้นเลือดตีบให้นอนรอสังเกตอาการ โล่งใจ จนนั่งรถไปสั่งอาหารเย็นให้ทั้งคนป่วยและคนดูแลสั่งข้าวผัดยังไม่ทันได้ข้าวผัดก็ได้รับโทรศัพท์ว่า มีเส้นเลือดในสมองตีบจากการอ่านของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ต้องไปฉีดยาที่โรงพยาบาลที่ไปเอกซ์เรย์ แต่เมื่อไปถึงแพทย์ก็บอกว่าฉีดไม่ได้เพราะเลยสี่ชั่วโมงครึ่ง ถึงแม้อาการที่เป็นจะไม่รุนแรงไม่มีแขนขาอ่อนแรง มีเพียงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันในช่วงแรก แต่ก็ทำให้ชีวิตเพื่อนรู้สึกไม่กระตือรือร้น ความสุขความสนุกหายไป เฉื่อยชา ขี้เกียจ ซึ่งตรงกันข้ามกับชีวิตของเพื่อนคนนี้ ทำให้คิดว่า ระบบการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบต้องให้ความสำคัญกับระยะเวลามาก โรงพยาบาลไม่ควรนำคนไข้กลับมารอในโรงพยาบาลที่ไม่มีศักยภาพในการฉีดยา ควรให้คนไข้นอนรอผลที่โรงพยาบาลที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันที ส่วนโรงพยาบาลหรือแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ควรจัดการส่งต่อและจัดทำขั้นตอนให้รวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เลยเวลาโอกาสทองในการได้รับยาเป็นการพัฒนาคุณภาพบริการที่โรงพยาบาลของรัฐสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องเสียอะไรเพิ่ม ส่วนเราผู้บริโภค หากปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงอย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร ต้องจัดการให้ไปถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และหวังว่าโรงพยาบาลจะไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อคนไข้ที่สามารถจัดการได้ไม่ยาก เช่น การถูกเรียกเก็บเงินค่าเอกซ์เรย์ แต่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ไม่ทราบสิทธิฉุกเฉินเรื่องนี้ บทเรียนเหล่านี้ราคาแพงไม่สมควรเกิดขึ้นกับใคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 กล่องโฟม

ผู้บริโภคอย่างเราควรยึดหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)  หลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ถึงแม้จะมีความสับสนวุ่นวาย ความไม่กล้าหาญของหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ที่รู้ทุกเรื่อง ออกมาให้ข้อมูลว่า ไม่ได้มีอันตราย ทำให้ปัญหาเรื่องโฟมน่าจะบานปลาย ไม่ถูกตัดสินใจ กลับไปอยู่สภาพเดิมงานวิจัยเรื่องอันตรายของโฟม โดยรศ.ดร.กรรนิการ์ ฉัตรสันติประภา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารจากกล่องโฟมเอาไว้ และได้ให้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้งในเดือนนี้ ว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารมีผลต่อการก่อโรคมะเร็งจริง“กล่องโฟม เป็นสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งตัวสไตรีนโมโนเมอร์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีโดยเปลี่ยนจากสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสไตรีนออกไซด์ ซึ่งสไตรีนออกไซด์ตรงนี้สามารถ ก่อมะเร็งได้”รศ.ดร.กรรนิการ์ บอกว่า การประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งจะไม่ระบุว่าความเข้มข้นเท่าไหร่ หรือปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเป็นมะเร็ง แต่อยู่ในรูปของโอกาสในการเป็นมะเร็ง หากต่ำกว่า 1 ในล้าน จะถือว่าน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญ ก็จะยอมรับได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เกินกว่า 1 ในล้าน จะถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้“สำหรับกล่องโฟม เท่าที่ได้มีการวิจัยมีการคำนวณโดยอิงค่าหน่วยบริโภคอาหารของคนไทย พบว่า แม้บริโภค 1 กล่องต่อวันก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเกินกว่า 1 ในล้าน เป็นค่าที่ยอมรับไม่ได้” และอาหารที่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน จะทำให้ปริมาณการเคลื่อนย้ายของสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหาร มากกว่าอาหารที่ไม่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน และอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนมีแนวโน้มที่จะทำให้โพลิสไตรีนเคลื่อนย้ายจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารมากกว่าที่อุณหภูมิห้องผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ นอกจากต้องยึดหลักป้องกันไว้ก่อนแล้ว คงต้องออกมาช่วยกันทำให้กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ ว่า กล่องโฟมบรรจุอาหาร เป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพ ไม่ใช่มีปัญหาเฉพาะสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ทั่วกันว่า กินอาหารจากกล่องโฟมแค่วันละกล่อง คุณมีสิทธิ์รับความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 6.4 เท่า ซึ่งจากงานวิจัยกรณีที่รุนแรงสุดมีโอกาสการเป็นมะเร็งเมื่อกินอาหารจากกล่องโฟมคือ 6.4 ในล้าน ขณะที่ค่ามาตรฐานคือต้องไม่เกิน 1 ในล้าน การพิจารณาโอกาสเกิดมะเร็งของโฟม เพียงแค่ดูจากสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสไตรีนออกไซด์ ยังไม่ได้รวมถึงสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกันเรื่องโฟม ไม่ต่างจากเรื่องจีเอ็มโอและอีกหลายๆเรื่อง ที่นักวิชาการต่างถกเถียงกัน ข้อมูลทุกวันนี้มีมากมาย จนสร้างความสับสน ข้อมูลใหม่ ข้อมูลเก่า ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบริษัท  นักวิทยาศาสตร์อิสระ รับจ้าง ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แต่ถ้าเรายึดหลักป้องกันไว้ก่อน สร้างทางเลือกให้กับตัวเองน่าจะปลอดภัยในสังคมบริโภคปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ชีวิตหลังรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล และยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังวันลงประชามติ รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ผ่านจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน จะมีส่วนร่วมกันอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เกือบ 19 ปี ที่รัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองฉบับติดต่อกัน ทั้ง พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และได้เพิ่มบทบาทในการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญปี 2550  ร่างที่กำลังรอลงประชามติกลับไม่เขียนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน เขียนไว้เพียงให้องค์กรของผู้บริโภค มีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ กลับเขียนเพิ่มให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งมีกลไกและมาตรการอยู่แล้ว นับตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แน่นอนปัญหาการตีความ ความไม่ชัดเจนที่เขียนไว้ย่อมทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในอนาคต จะต้องถกเถียงและบิดพลิ้วในการทำให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ กระทำเพียงหน่วยงานรัฐอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะปัญหาปัจจุบันสะท้อนความอ่อนแอของระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐได้เป็นอย่างดีการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะเป็นตัวช่วยผู้บริโภค เพราะซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อข้าวของต่างๆ เวลามีปัญหา เหนื่อยสายใจแทบขาดใจเพราะต้องต่อสู้ตัวคนเดียว ถ้ามีองค์การอิสระที่สามารถเป็นเพื่อน ช่วยสนับสนุนในการใช้สิทธิ คงจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะประเทศไทยต้องการตัวแทนผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิประชาชน เกิดอะไรขึ้นกับประเทศ เราไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจและหลายเรื่องยากเกินไป แต่ถ้าเรามีตัวแทนของผู้บริโภคที่ชัดเจน ช่วยให้ความเห็นแทนประชาชน  ก็จะพอสบายใจได้ว่าการเอาเปรียบน่าจะลดลง สุดท้ายแน่นอนต้องเป็นหูเป็นตาให้ภาครัฐ เป็นตาสับปะรด ให้กับหน่วยงานรัฐ ในการปกป้องสิทธิ และคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้ง ธุรกิจที่ดี ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากผู้บริโภค เกิดสมดุลมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เช็คแอนด์แชร์

โซเชียลมีเดียมีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็จริง อิทธิพลที่อยู่กับปลายนิ้ว เป็นทั้งคุณและปัญหากับผู้บริโภคไม่น้อยในปัจจุบัน ข่าวลือ ข่าวกุ ข่าวมั่ว ข่าวเก่า ข่าวจริง ทัศนะ เสียดสี เลือกข้าง มีมากมายมาถึงตัวผู้บริโภคตลอดยี่สิบสี่ชัวโมง นอกจากจะก่อให้เกิดความวิตกกังวล แต่หากบางครั้งช่วยให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคตื่นตัว กรณีล่าสุดของผลการทดสอบไส้กรอก ของนิตยสารฉลาดซื้อหลังแถลงข่าว มีคนไปอ่านมากกว่า 2 ล้าน 3 แสนคน และหากนับรวมของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกือบ 3 ล้านคน หากสนับสนุนยี่ห้อที่ตรวจไม่พบไนเตรดไนไตรท์ ก็เห็นพลังของผู้บริโภคที่ชัดเจนในเรื่องนี้ กรณีบัตรเอทีเอ็มจากการเริ่มสื่อสารว่าตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บัตรเอทีเอ็มทุกธนาคารต้องมีชิปการ์ด ให้รีบไปเปลี่ยนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไม่เช่นนั้นต้องเสียเงิน 100 บาท ตอนนี้ทุกธนาคาร ไม่ต้องบอกเพราะต้องการค่าธรรมเนียม แชร์กันว่อนจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์ ว่า ตั้งแต่ 16 พ.ค. 59 เป็นต้นไป บัตรที่ออกใหม่จะเป็น Chip Card ซึ่งปลอดภัยกว่าเดิม ส่วนบัตรแถบแม่เหล็กเดิม ยังใช้ได้ตามปกติถึง 31 ธ.ค. 62 ซึ่ง ธนาคารพาณิชย์จะทยอยเปลี่ยนเป็น Chip Card ให้เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ หากต้องการเปลี่ยนบัตรเดิมเป็น Chip Card ให้ติดต่อได้ที่ ธพ. ผู้ออกบัตร แต่อาจมีค่าใช้จ่ายตามที่ ธพ. กำหนด ซึ่งบางแห่งอาจยกเว้นค่าใช้จ่ายเปลี่ยนบัตรให้เป็นการชั่วคราว ซึ่งพบว่า ธนาคารกรุงเทพ ทำบัตรระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 และราคาบัตรส่วนใหญ่ของธนาคารเกือบทั้งหมดบัตรใหม่ราคา 100 บาทเหมือน เอทีเอ็มทั่วไป และรายปีอีก 200 บาท มีเพียงธนาคารกรุงไทยที่รายปี 180 บาทและธนาคารไทยพาณิชย์รายปี 300 บาท ข่าวสารที่ถูกนำจากโซเชียลมีเดีย ไปออกอากาศต่อในสื่อเดิมที่เคยเป็นสื่อกระแสหลัก กำลังกลับหัวกลับหาง หากมีข่าวข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคก็คงไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่รู้วิธีจัดการกับข่าวลือ ยิ่งข่าวลือที่เราเห็นด้วย ยิ่งเชื่อสุดใจ และช่วยเพิ่มการไลค์การแชร์ การถกเถียงกันในข่าวที่เราไม่เห็นด้วยทำกันน้อยลง เราเลือกสื่อสารกับคนที่เห็นด้วย หากเถียงมากเราไม่ชอบก็บล็อคความเป็นเพื่อนไปเลย สิ่งที่ทำได้และอยู่ในมือเราจริงต้องเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ หรือตรวจสอบก่อนเผยแพร่น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญ ก่อนเป็นเครื่องมือเกมทางการเมือง และตลาดในยุคสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 คอลเซ็นเตอร์

ผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากจะมีความทุกข์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า และใช้บริการแล้ว ก็พบว่า ทุกข์ที่สำคัญอีกเรื่องเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิร้องเรียน หรือการเข้าถึงการร้องเรียนของบริษัทผ่านคอลเซ็นเตอร์ การร้องเรียนของผู้บริโภค ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที ทำให้ผู้ร้องเรียนต้องเสียค่าบริการมากกว่า 30 บาทต่อครั้ง เนื่องจากบริษัทฯ คิดค่าบริการนาทีละ 1 บาท ในการติดต่อกับคอลเซนเตอร์ กิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการเดียวในปัจจุบันที่มีการกำหนดมาตรฐานในการรับเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ได้กำหนดว่าระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ต้องไม่นานเกินกว่า 60 วินาที และกำหนดให้มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีในการรับเรื่องร้องเรียน แต่ก็พบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมด ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค และกสท. รอสายนานเกิน 60 วินาที ยกเว้นทีโอทีที่รอสายไม่เกิน 60 วินาที แต่กสทช. ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนใช้บริการทั่วไปรอสายนานมากกว่า 30 นาทีด้วยซ้ำ แถมเจอเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทที่มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีคนละเบอร์กับเบอร์ที่ให้บริการลูกค้า หมายเลขร้องเรียนที่จำยากเป็นเลข 7 ตัวแทนที่จะเป็น 4 ตัวเดิมของบริษัท กิจการอื่นๆ ไม่ว่าจะ เป็นธนาคารพานิชย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัยทุกประเภท หรือแม้แต่ล่าสุดการขายกิจการของแกรมมี่ให้ CTH และปัญหา PSI กับ CTH ทุกบริษัท ต่างมีบริการหมายเลขพิเศษในการร้องเรียน แต่แทบทุกบริษัทก็เข้าถึงยาก รอสายนาน ทำให้เป็นปัญหาและต้นทุนของผู้บริโภคในการร้องเรียนทั้งสิ้น ทุกครั้งที่โทรศัพท์ร้องเรียน ต้องภาวนาให้มีคนรับสาย บางบริษัทมีระบบนับจำนวนคนรอสายให้ด้วยซึ่งจากการทดลองพบว่า มีมากกว่า 19 คน ที่รอสาย ผู้บริโภคต้องใช้ความพยายามมาก ถึงจะมีคนรับสาย สามถึงสี่ครั้งถึงจัดการได้สำเร็จ ได้ยินแต่เพลงรอสายที่โฆษณาบริษัท “ที่นี่... เราพร้อมให้บริการคุณ.. ที่นี่เราเป็นเพื่อนคุณ” การเข้าถึงที่ยากในการร้องเรียนทำให้คนจำนวนมากที่ต้องการร้องเรียนเลิกพยายามโทรศัพท์ และเลิกร้องเรียน แน่นอนว่า หากผู้บริโภคเลิกร้องเรียนก็ย่อมเป็นประโยชน์กับบริษัท บริษัทที่ไม่มองเรื่องนี้ระยะยาว ย่อมไม่ต้องการปรับปรุงระบบรับเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากนัก แต่บริษัทที่ต้องการฟังเสียงจากผู้บริโภคย่อมพยายามที่จะทำให้มีระบบเพื่อรับฟังความพึงพอใจของผู้บริโภค บางบริษัทก็แอพลิเคชั่น หรือวิธีการใหม่ๆ ในการดูแลเรื่องร้องเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ กติกาในการใช้บริการรับเรื่องร้องเรียนหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนของบริษัท ควรเป็นหนึ่งในมาตรฐานและคุณภาพของบริษัทในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานการให้บริการร้องเรียนของบริษัทที่ต้องเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการ ทางออกสำหรับผู้บริโภค ก็อาจจะต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือใช้วิธีป่าวประกาศให้โลกรู้ ผ่านออนไลน์ ถือเป็นไม้เด็ดของผู้บริโภคที่ยังใช้งานได้ดีในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ผู้บริโภคทั่วโลกกดดันบริษัทฟาสต์ฟู้ด ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ

ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันกดดัน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ดของโลก ทั้งแม็คโดนัลส์ เคเอฟซี และซับเวย์ ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกได้มาก ในวันที่ 15 มีนาคมซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล50% ของยาปฏิชีวนะทั่วโลก ถูกใช้ในทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยซึ่งเคยรักษาได้ในอดีต นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข เผยปัจจุบันปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้น ทั้งการใช้อย่างไม่จำเป็นและเกินความจำเป็น โดยมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทยมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และมีการติดเชื้อชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 100,000 คน มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย แซงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ทำให้ยาปฏิชีวนะตัวเก่าที่เคยใช้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ผู้ป่วยบางรายต้องเปลี่ยนใช้ยาตัวใหม่ซึ่งมีราคาแพงมาก เชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียารักษาที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้นและโอกาสเสียชีวิตสูง ผลเสียต่อไปหากเชื้อชนิดนี้แพร่ไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นและเกิดการระบาดในชุมชน จะมีผลทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาดมากขึ้น นอกจากนี้ เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่น ทำให้ปัญหาการดื้อยาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นิตยสารฉลาดซื้อ เชิญชวนผู้บริโภคร่วมปฏิบัติการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ สอบถามความจำเป็นทุกครั้งจากแพทย์ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ และร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ทั้งสามบริษัทฟาสต์ฟู้ด ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการเลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมมือรณรงค์กันง่าย ๆ ด้วยการด้วยการโพสต์รูปตัวเองขณะถือป้าย “ยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของเรา #‎AntibioticsOfftheMenu‬ ลงในเฟสบุ้ค และติดแฮชแท็ก #AntibioticsOfftheMenu

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ถอยหลังหรือก้าวหน้า..ข้อเสนอสภาวิชาชีพสุขภาพ

ความร่วมมือของ 7 สภาวิชาชีพในการประกาศจุดยืนไม่ล้มบัตรทอง ให้คนยากไร้คนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ได้รับการดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องการให้คนรวยร่วมจ่ายเงินเพื่อความยั่งยืน และต้องไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย ลงนามกันโดยนายกของสภาวิชาชีพอย่างถ้วนหน้า มีบางวิชาชีพแจ้งว่าการลงชื่อดังกล่าวไม่มีการปรึกษาหารือในสภาวิชาชีพแต่ประการใด ไม่แน่ใจว่าเป็นทั้งหมดไหมช่วยกันตรวจสอบด่วน!!! เป็นคำแถลงที่ดูเหมือนดีและอาจจะมีหลายคนหลงเห็นด้วย เพราะถ้ามีเงินก็ควรจ่ายบ้างและคนจนก็ไม่ควรต้องจ่าย เพื่อความเป็นธรรม แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะพบว่าข้อเสนอนี้ เป็นระบบบริการสุขภาพที่มีในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นเรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 โดยคนจนในประเทศไทยมีระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ส่วนคนรวยก็จ่ายเงินเต็มจำนวนค่ารักษาพยาบาล แต่โดยข้อเท็จจริงคนจน ผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาสจำนวนมากไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงิน ถึงแม้หลายครั้งอาจจะขอสงเคราะห์ได้ พิจารณาได้จากข้อมูลผู้ป่วยที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จากปี 2544 กับปัจจุบัน เพราะมั่นใจว่ามีสิทธิในการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหลายคนคงยังจำภาพข่าวคนจนที่ถูกควักเลนส์ตาคืนหลังจากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเล็นส์ตาราคา 4,500 บาทได้ครบจำนวน หรือความครอบคลุมสิทธิการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมากในปัจจุบัน การเขียนเรื่องนี้ไม่ได้เกิดอารมณ์หมั่นไส้ โกรธแค้น โกรธเคืองสภาวิชาชีพ แต่คิดว่าข้อเสนอดังกล่าวย้อนยุคเกินไปจนไม่อาจจะรับได้ พูดว่าไม่ล้มระบบหลักประกัน แต่ข้อเสนอทำให้ระบบหลักประกันกลายเป็นระบบคนจน ไม่ใช่สิทธิของทุกคนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จุดที่สภาวิชาชีพและภาคประชาชนควรจะต้องช่วยกันคิดคือทำอย่างไรให้ระบบยั่งยืนโดยประชาชนไม่ต้องร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ เพราะการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการให้บริการ หลายมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ใครมีสตางค์ก็สามารถจ่ายเงินเพื่อการรักษาและใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้น แต่การใช้อุปกรณ์และการรักษาที่ดีขึ้นต้องไม่ลืมว่าเป็นความต้องการของทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย เราต่างต้องการบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานมีคุณภาพกันถ้วนหน้า เราไม่ต้องการโรงพยาบาลที่มีห้องยาเฉพาะบัตรทองประกันสังคมและห้องยาข้าราชการ รวมทั้งยากและใช้เงินมาก ในการวัดความจนของคนในประเทศนี้ว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร ทั้งที่ทุกคนควรได้สิทธินี้เท่ากัน ถึงแม้ใครจะจ่ายเงินมากขึ้นก็ควรได้การรักษาที่เท่ากัน งานนี้ต้องขอแรงผู้ประกอบวิชาชีพนอกสภาวิชาชีพที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมในบริการสุขภาพ  ช่วยกันคิดทำข้อเสนอการเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประโยชน์ของทุกคนที่เท่ากันไม่ใช่ยึดติดกับความเชื่อเรื่องคนทุกคนไม่เท่ากัน บริการสุขภาพไม่ใช่การเลือกซื้อรถ ใครมีเงินก็เลือกซื้อรถได้ตามชอบใจ ใครมีเงินมากก็ได้รับการรักษามาก หรือคิดเพียงแค่หากตัดงบประมาณบัตรทองจะช่วยชาวสวนยาง ชาวนา เพราะทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องทำ และรัฐมีหน้าที่เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ลดสิทธิพิเศษของทุน เก็บภาษีตลาดหลักทรัพย์จากการขายที่มีกำไร ลดกำไรของโรงพยาบาลเอกชน เลิกซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ สร้างถนนให้มีคุณภาพ เลิกใช้เงินซ่อมถนนทุกปี ลดเปอร์เซ็นต์คอรัปชั่น จะทำให้สามารถรับประกันรายได้ของชาวนาและชาวสวนยางและมีงบประมาณให้ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มากทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 เลิกสนับสนุนอาหารจีเอ็มโอ

การรณรงค์คัดค้าน(หยุด)การปล่อยผีจีเอ็มโอภายใต้กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศชัดแจ้งว่า ท่านไม่ได้ต้องการให้ปลูกจีเอ็มโอในประเทศ และได้มีมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ ให้ส่งกฎหมายฉบับนี้คืนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องบอกว่า ใครมีโอกาสอ่านกฎหมายฉบับนี้คงเห็นได้ชัดว่า กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้พืชจีเอ็มโอมีโอกาสปลูกทดลองในระดับไร่นาและปลูกเพื่อการค้า ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันอนุญาตให้ทดลองในแปลงที่ปิด เพราะไม่ต้องการให้ปนเปื้อนในพืชดังเดิมและไม่ให้ปลูกเพื่อการค้า จุดเปลี่ยนจีเอ็มโอ มีความสำคัญต่อการผลิตและความมั่นคงอาหารของประเทศ หลายคนบอกว่า ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนนะ เพราะยังมีทางเลือกจะเลือกกินหรือไม่กินจีเอ็มโอก็ได้ หากคิดสั้นๆ ก็คงจะถูกต้อง เพราะในช่วงแรกที่พืชท้องถิ่นยังไม่ถูกทำลายหรือปนเปื้อน กลายพันธุ์ ก็ยังมีทางเลือกเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีเพียงข้าวโพดจีเอ็มโอ คงจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปนเปื้อน ข้ามสายพันธุ์ ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดข้าวก่ำ ข้าวโพดแปดแถวโพธาราม ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดตักหงาย ก็จะหายไป หรือแม้แต่ข้าวโพดจีเอ็มโอที่ทุ่มตลาดแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี ตอนนั้นผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่มีทางเลือกในการบริโภคกันแล้ว เหมือนที่ส้มแสนอร่อยของเมืองไทยหายไป ต้องรอปลูกอีกหลายปีกว่าจะได้ทานกันอีกรอบ แต่จีเอ็มโอมาแล้ว น่าจะกลับตัวยากกว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยจีนแน่นอน ทำให้เห็นการลงแขกจากกลุ่มคนที่หลากหลายออกมาช่วยกัน บางคนหิ้วตระกร้าผัก อุ้มห่าน นำอาหารอินทรีย์มาประชัน และเสนอให้เห็นทางออกของเมืองไทยท่ามกลางสายตาคับแคบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ต้องพูดถึงความไม่ปลอดภัยอาหารจีเอ็มโอที่ไม่มีใครกล้ารับประกัน นักวิทยาศาสตร์ยังเถียงกันไม่จบจนทุกวันนี้ หลักป้องกันไว้ก่อนย่อมปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค มาตรการเบื้องต้นที่ต้องทำทันที คงเป็นการปรับปรุงมาตรการฉลากที่ไม่ทันปัญหาอาหารจีเอ็มโอ ที่อยู่ในเมืองไทย โดยต้องกำหนดให้ฉลากอาหารครอบคลุมอาหารทุกชนิด นอกเหนือถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ควรรวมอาหารและผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมันฝรั่ง มะละกอ แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาลี มะเขือเทศ แซลมอน และต้องให้มีฉลากหากตรวจพบโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรม ปัญหาตัวเล็กของฉลากจีเอ็มโอ ควรให้มีรูปสัญญลักษณ์จีเอ็มโอที่เห็นได้ง่ายชัดเจนในฉลากเช่นเดียวกับฉลากในประเทศบราซิลที่มีสัญญลักษณ์ตัวอักษรที(T)ในรูปสามเหลี่ยมสีเหลือง ส่วนอาหารของบริษัทใดในกลุ่มนี้ ที่ไม่มีจีเอ็มโอก็ควรอนุญาตให้สามารถแจ้งบนฉลากเพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกได้เช่นกัน และสนับสนุนกันให้ชัดเจนเพื่อรักษาความหลากหลายและความมั่นคงของอาหาร พลังของผู้บริโภคสำคัญ ช่วยกันแสดงให้ผู้ประกอบการเห็นว่าพลังในการไม่ซื้อของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ฉลาดซื้อจะอาสาเป็นแกนกลางในการเปิดเผยสินค้าที่ใช้วัตถุดิบและปนเปื้อนจีเอ็มโอในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >