ฉบับที่ 205 โลกร้อน เรื่องของเขาหรือของเรา

ไม่มีใครรู้ว่าโลกร้อนมากเพียงใดที่จะ "ปลอดภัย" แต่ที่เรารู้ก็คือ ภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทุกคนเห็นและจับต้องได้ก็คือ สภาพร้อนหนาว ฝนตก น้ำท่วม แห้งแล้ง ความแปรปรวนของอุณหภูมิ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง เกิดผลกระทบกับประเทศไทยและทุกภูมิภาคทั่วโลกแน่นอนการลดภาวะโลกร้อนในประเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ(PDP) ฉบับล่าสุด (2558-2579) ที่มีข้อเสนอให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียงร้อยละ 20 ในปี 2579 ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนพลังงานฟอสซิลที่สูงถึงร้อยละ 25 ในปีเดียวกันต้องยอมรับว่า พลังงานสะอาด บ้านเราไม่ไปไหน แม้แต่ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้นปี 2559 ได้เสนอให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านโดยเสรี แต่ยังทำไม่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะการไฟฟ้าไม่ยอมให้หักลบไฟฟ้าที่ผลิตได้ กลายเป็นผลิตให้การไฟฟ้าฟรี ยกเว้นสำนักงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด หรือบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หลายคนบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจมาก แต่ถึงตอนนั้นห้ามนำเงินภาษีไปอุดหนุนนะ เพราะธุรกิจพลังงานฟอสซิลขาลงเหมือนทีวีดิจิทัล ที่รอเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง(ทำลายล้าง) การที่เทคโนโลยีพัฒนาไม่หยุดยั้ง เช่น ล่าสุดความเก่งกาจของผู้ผลิตไทยเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า MINE Mobility วิ่งได้นานถึง 200 กิโลเมตร และการชาร์จแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นหรือกรณีบริษัทเทสล่า เลือกใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำให้ TESLA ได้เปรียบบริษัทรถยนต์อยู่หลายเรื่อง  ไม่ว่าสมรรถภาพที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่า ต้นทุนการบำรุงรักษาถูกกว่า แถมมลภาวะเป็น 0 จนตลาดหุ้นยอมให้มูลค่าบริษัท TESLA มากกว่าบริษัทจีเอ็ม ทั้งที่ TESLA ยังขายรถได้น้อยกว่ามาก เพราะตลาดมองว่าผู้บริโภคพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถใช้ไฟฟ้า เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ประดิษฐ์กระจกที่สามารถจ่ายไฟฟ้า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"เซลล์แสงอาทิตย์ฟิล์มบางแคดเมี่ยมเทลลูไรด์" ใช้เวลาเพียง 55 วินาที ก็จะได้กระจกจ่ายไฟฟ้า 1.92 ตารางเมตร หนัก 30 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 260 ถึง 270 กิโลวัตต์ชั่วโมง ข้อมูลที่เผยแพร่บอกว่า ถ้าต่อพ่วงกันสัก 3,000-4,000‬ แผง ก็จะได้พลังงานรวมทั้งปีในราว 800,000 - 1,040,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง มากพอๆ กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากบ่อน้ำมันย่อมๆ 1 บ่อ อย่าปล่อยให้อิทธิพลของพลังงานฟอสซิลและตลาดทุนกำหนดนโยบายที่ไม่พึงปรารถนา ¬¬¬¬¬¬¬¬จนเราไม่สามารถเท่าทันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้ หรืออีกทางหนึ่งอย่าปล่อยให้การเมืองเรื่องพลังงานมากำหนดอนาคตโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ภาพยนตร์ผู้บริโภค

กรณี น.ส.รัตนฉัตร ใช้ขวานทุบรถยนต์ที่จอดขวางประตูหน้าบ้าน บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลลา เขตประเวศ จนได้รับฉายาในโลกโซเชียลว่า "ป้าทุบรถ" นำมาสู่การบอกเล่าความทุกข์ตลอด 10 ปี ท่ามกลางตลาดที่รายล้อมรอบบ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทำให้นึกย้อนถึงหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายกรณี คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา และครอบครัวที่ปรากฏตัวตนต่อสู้ต่อสาธารณะหลายครั้งหลายหน จนคุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ ให้ฉายาว่า เป็นตัวแสบ หรือนางปีศาจร้ายที่ “เล่นไม่เลิก” แต่ในอีกด้านหนึ่ง คุณปรียนันท์กลายเป็นตำนานของการต่อสู้ที่ยืนหยัดจนถึงปัจจุบัน ให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์เรื่องราวของ “รัตนา สัจจเทพ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รัตนา บ้านสีดำ” ยังคงอยู่ในใจใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ บทบาทนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องจากการเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการขี้ฉ้อ เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง มากกว่าการทำหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้องเป็นธรรม ได้ก่อให้เกิดกรณี  “บ้านสีดำ” สู่สายตาสาธารณชนในที่สุด กรณีที่ น.ส.เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ เจ้าของร้าน "ศิลาเกษ" ซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้าย่านพาหุรัด ซื้อรถยนต์ป้ายแดง แต่ปรากฏว่า รถมีปัญหาตั้งแต่ซื้อมาใหม่ๆ เข้าศูนย์ซ่อมมาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ไม่หาย ร้องเรียนขอความเป็นธรรมแล้วไม่ได้ผล จนทุบรถเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีเหล่านี้ สะท้อนภาพการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รัฐสม่ำเสมอกับการคุ้มครองผลกำไรของธุรกิจเอกชน จนละเลยสิทธิของคนเล็กคนน้อย ผู้บริโภค และหลายครั้งรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิ หรือร่วมมือในการกระทำเหล่านั้นเสียเอง ความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการชดเชยเยียวยา ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ในทุกหน่วยงานที่ต่างมีกำแพงความยุติธรรม สะท้อนความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และการป้องกันปัญหาภายในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี ทุกคนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมในปัญหาของแต่ละคน ต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องจนสามารถสร้างภาพยนตร์จากเรื่องราวเหล่านั้นได้ทุกคน สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ คงไม่พ้นความรับผิดชอบ ความเที่ยงตรงของหน่วยงานรัฐ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเสมอหน้า เกิดขึ้นซ้ำซาก ๆ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรัฐ และการเรียนรู้จากสังคมไทย เพราะขาดความเด็ดขาดของกระบวนการยุติธรรมร่วมด้วยที่พอจะเกี่ยวข้อง คงเป็นปัญหาบริโภคนิยมที่มากับข่าวสารที่มากมาย รวดเร็ว มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในขณะเดียวกัน เหมือนอย่างที่ล้อเลียนกัน ว่า ขอบคุณเสือดาวที่ทำให้ปัญหานาฬิกาหายไป หรือขอบคุณป้าที่มาช่วยชีวิตคนฆ่าเสือดาว ทำให้ความรับผิดชอบที่ไม่มากพอของหน่วยงานรัฐทั้งระบบ เงียบหายไป หรือคนที่ลงมือทำเหนื่อยเกินไปจนท้อ และเกิดเรื่องราวใหม่อีกรอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เรียนรู้ประวัติศาสตร์

มีผู้รู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยว่า ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำ ซาก เกิดแล้วเกิดอีกลองมาย้อนดูประวัติศาสตร์ผู้บริโภคกันบ้าง สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียน จำกัด(มหาชน) CAWOW ซึ่งฉ้อโกงสมาชิกออกกำลังกาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) พบพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีการโอนเงินไปต่างประเทศจำนวนมากต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่ปี 2545- 2556 มากกว่า 1,600 ล้านบาท เจ้าของบริษัทหรือผู้ร่วมลงทุนหนีหาย คดีได้มีคำพิพากษาถึงกรรมการผู้มีอำนาจที่เป็นอดีตเทรนเนอร์ เมื่อกลางปี 2560 ผ่านมา พบมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 9 หมื่นบาท ลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 60,000บาท รอลงอาญา 2 ปีต่อมาบริษัท ทรูฟิตเนส ปิดบริการ ลอยแพลูกค้าหลายร้อยคน สูญเงินหลักหมื่นยันหลักแสน เมื่อกลางปีที่แล้ว บริษัทเปิดให้บริการ 3 สาขาในประเทศไทย เมื่อ เดือน มิ.ย. 2549 ที่อาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ สุขุมวิท มีพื้นที่ให้บริการโดยรวมขนาด 3,700 ตารางเมตร ต่อมาเปิดสาขาห้างสรรพสินค้าเซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2550 และสาขาเอสพลานาด แคราย เมื่อปี 2552หรือแม้แต่กรณีรถยนต์ที่เคยเกิดปัญหาทุบรถยนต์ฮอนด้า หรือปัญหาจากการใช้งานรถยนต์บางรุ่นของเชฟโรเล็ต ฟอร์ด และมาสด้า แต่จนถึงปัจจุบันสำหรับผู้บริโภคก็ยังมีความยากเย็นแสนเข็ญในการต่อสู้ และหาทางเยียวยาความเสียหายของตนเอง แถมล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง บริษัทรถยนต์มาสด้า ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความเบเคอร์แอนด์แม็คแคนซี่ ฟ้องผู้ใช้รถยนต์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเอง แถมผู้ถูกฟ้องคดีได้รับคำฟ้องจากบริษัททนายแทนที่จะได้คำฟ้องจากศาลยุติธรรมที่น่าสนใจคงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่รถยนต์ดีเซลมาสด้า 3 และ SUV crossover รุ่น CX-3 ถูกเรียกคืน 2.3 ล้านคันทั่วโลก เกี่ยวกับปัญหาเครื่องยนต์ดีเซล หลังจากมีข้อร้องเรียนของผู้บริโภคจำนวน 846 รายในประเทศญี่ปุ่น บริษัทต้องตอบคำถามว่า เป็นกรณีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือไม่กับรถยนต์ มาสด้า 2 ที่ถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคในประไทยประวัติศาสตร์เหล่านี้มีไว้เรียนรู้ และปรับปรุงแก้ไขร่วมกันทุกฝ่าย ไม่งั้น ปัญหายืมนาฬิกาเพื่อน พรรคการเมืองทหาร จนถึงปัญหาผู้บริโภค มาตรฐานการดูแลคุ้มครองที่เท่าเทียมกันทั่วโลก คงมีให้เห็นเป็นระยะ เมื่อผู้คนลืมเลือนสิ่งเหล่านั้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 นับถือคนทำขนมเปี๊ยะ

ขนมเปี๊ยะเจ้าอร่อย สามร้าน ขอใบเซอร์จากร้านวัตถุดิบเพื่อไม่ให้ขนมของตนเองมีวัตถุกันเสีย ฉลาดซื้อเชียร์ ผู้บริโภคสนับสนุนเจ้าของร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ขนมเปี๊ยะร้านครูสมทรง ขนมเปี๊ยะร้านหมู ซึ่งเป็นเจ้าของขนมเปี๊ยะชื่อดังยอมรับว่า โกรธนิตยสารฉลาดซื้อมาก เพราะมีลูกค้าโทรศัพท์มาสอบถามว่า “สรุปแล้วยังไง ขนมเปี๊ยะมีสารกันบูดหรือไม่” และแปลกใจที่ร้านของตนเองไม่เคยใช้สารกันบูด แล้วฉลาดซื้อตรวจพบได้อย่างไร เลยสั่งให้มีการนำวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในการทำขนมไปตรวจสอบหาสารกันบูด สุดท้ายพบว่า มาจากวัตถุดิบคือ แป้งที่ใช้ทำขนมมีสารกันบูดปนอยู่ และเมื่อได้มีโอกาสพบปะกันในการเสวนาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตอนนี้ผู้ประกอบการทั้งสามกล่าวขอบคุณฉลาดซื้อ ที่ทำให้ทางร้านได้โอกาสปรับปรุงคุณภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อยืนยันว่า ไม่มีการเติมหรือใส่สารกันบูดอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ทางร้านได้ประสานกับร้านวัตถุดิบว่า ต้องส่งใบรับประกันสินค้า(certified) ว่า “วัตถุดิบรุ่นที่ซื้อมาผลิตขนมแต่ละครั้ง ไม่มีวัตถุกันเสีย” เยี่ยมไปเลย ทีมงานฉลาดซื้อทุกคนก็เป็นปลื้มกันมากว่า ร้านขนมเล็กๆ ที่ทำขนมอร่อย มีความตั้งใจ มีความพยายามในการปรับปรุงสินค้าของตนเองสูงมาก ร้านเล็กร้านน้อยทำได้ ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนเคยกล่าวหา ว่าร้านเล็กๆ มักมีปัญหา ไม่สนใจคุณภาพ  ไม่มีทุนทำไม่ได้ บริษัทใหญ่มักได้มาตรฐาน งานนี้ไม่จริงเลยหากผู้ขายตั้งใจจะพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีคุณภาพจริงๆ  งานนี้ทำให้ความเชื่อของฉลาดซื้อที่ว่า การทดสอบเปรียบเทียบสินค้า มีประโยชน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ และเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงคนขายหรือคนผลิตสินค้า เช่นเดียวกัน หากเราต้องการกินขนมเปี๊ยะที่ไม่มีสารกันบูด เราต้องบอกว่ายี่ห้อไหนบ้างไม่มีสารกันบูด จะเป็นพลังให้ผู้ผลิตรู้ว่าผู้บริโภคชอบขนมเปี๊ยะที่ไม่มีสารกันบูด ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตปรับปรุงสินค้าของตนเองตามความต้องการหรือความชอบของผู้บริโภค งานนี้ต้องช่วยกันใช้ข้อมูลทดสอบให้มากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ผลจากการทดสอบ ส่งผลให้เกิดการพูดคุยของนิตยสารฉลาดซื้อ กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ฉลาดซื้อทดสอบสินค้าในรอบปี รวมทั้ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็น ช่วยกันหาแนวทางยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหาร วิธีจัดทำฉลากอาหารให้ถูกต้องในอาหารที่ตนเองผลิต โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่มีการใส่สารกันบูด หรือใส่สารเจือปนอาหารที่จะต้องมีการระบุในฉลากให้ชัดเจน หนึ่งปีที่ผ่านมา กับความพยายามในการให้ข้อมูลเตือนภัยสารกันบูดในอาหาร ช่วยสร้างความตื่นตัวให้สมาชิกและสังคมไทยใม่น้อย ฉลากอาหารที่มีบ้างไม่มีบ้างว่า มีการใส่สารกันบูดหรือไม่ จำเป็นต้องติดตามต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องบังคับใช้มาตรการฉลากภาษาไทยกับอาหารที่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุเจือปนอาหารอื่นๆ อย่างเข้มข้น เพราะอาการเจ็บป่วยที่สำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทย แม้จะยังไม่สามารถระบุถึงตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างชัดเจนแบบฟันธง แต่ก็มีข้อมูลว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้เลือกได้อย่างเหมาะสมปีใหม่นี้ ขอให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีชีวิตที่งดงาม มีพลัง ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วยกัน สวัสดีปีใหม่มายังทุกท่านนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ฟ้องคดีแบบกลุ่ม

ข่าวการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มมีให้เห็นเป็นระยะ นับตั้งแต่คดีแรกเรื่องความเสียหายของประชาชนจากเหมืองทอง กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด กลุ่มผู้ใช้กระทะโคเรียคิงส์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทุกคดีที่ฟ้องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการการไต่สวนอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่ การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องได้รับอนุญาตจากศาล โดยสามารถดำเนินคดีละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า โดยผู้เสียหายมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่บรรดาผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวกัน มีประโยชน์มากเพราะช่วยให้เข้าถึงความเป็นธรรมในการฟ้องคดีอย่างทั่วถึง คุ้มครองผู้เสียหายทุกคนถึงแม้จะไม่ได้ร่วมฟ้องคดี ลดภาระของผู้บริโภค การสนับสนุนกันของผู้บริโภคในการดำเนินคดี ลดโอกาสในการมีคำพิพากษาต่างกัน เกิดมาตรฐานในการพิจารณาคดี จากเดิมการฟ้องคดีเป็นกลไกตั้งรับที่สำคัญในการได้รับการชดเชยเยียวยา การฟ้องคดีก็ถูกคาดหวังว่าจะช่วยป้องปรามการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการเข็ดหลาบ ไม่กล้าดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอีกต่อไป การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงมีความหมายมากในการป้องกันปัญหาสำหรับผู้บริโภค เพราะหากได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดี จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่วนอื่นๆ พึงต้องระวัง สร้างความตื่นตัวผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงการผลิตสินค้าและบริการที่จะต้องมีมาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญการดำเนินคดีที่ผ่านมาทั้งคดีปกครองที่มีข้อจำกัดเรื่องการบังคับคดี มาตรฐานการพิจารณาคดีผู้บริโภคที่แตกต่างกันในการพิจารณาคดีที่มีความเสียหายแบบเดียวกันของผู้บริโภค ความจำกัดของคำพิพากษาเชิงลงโทษ ความร่วมรับผิดของนิติบุคคล ระยะเวลาในการดำเนินคดี ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดี รวมถึงภาระในการพิสูจน์ความเสียหาย ทำให้ความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต้องไม่หนีห่างจากการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ในส่วนการดำเนินคดีผู้บริโภค ปฏิบัติการให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้นอกจากนี้ บทเรียนการฟ้องคดีของมูลนิธิมามากกว่า 10 ปี ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีความคาดหวังและจินตนาการต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น มาตรฐานการอนุญาตฎีกา การเลื่อนคดีต้องแจ้งให้คู่ความได้รับทราบและคู่ความไม่จำเป็นต้องไปศาล ขั้นตอนต่างๆ มีพองามไม่เนิ่นนาน ทัศนคติต่อผู้บริโภคหรือประชาชนที่ฟ้องคดี ต้องไม่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างภาระให้ศาลยุติธรรม ยึดหลักการและทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ประชาชนที่ฟ้องคดี ที่สำคัญหากสามารถทำได้ การให้กำลังใจต่อผู้ฟ้องคดี มีคำถามบางคำถามที่ไม่ควรใช้ เช่น คุณใช้สินค้าไปแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะได้เงินคืนเต็มจำนวน ฟ้องแล้วไม่ใช่จะชนะนะ ใช้เงินเยอะนะรู้มั้ย และผู้บริโภคไม่ได้อะไร คำถามเหล่านี้จะให้ทนายความพูดตอบโต้ ก็ยาก เพราะทุกคนก็ทราบความจริงว่าเรื่องนี้เหมือนกับการไปพบแพทย์ การโต้แย้งแพทย์ไม่ต่างจากการโต้แย้งศาล เพราะกลัวการรักษาไม่ดีหรือแพ้คดี หากลดข้อจำกัดเหล่านี้ต่อประชาชน ผู้บริโภคได้จริง จะทำให้ประเทศนี้ยึดศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในสังคม เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการใช้การฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 บทบรรณาธิการ

มติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ที่มี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ ให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต(paraquat)  สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะพิษเฉียบพลันสูงและเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) สารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวรและหลายประเทศทั่วโลกห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร รวมทั้งให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เป็นต้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แถลงอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ว่ากระทรวงเกษตรขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัย แต่จะส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งที่กระทรวงเกษตรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯต้องยอมรับว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยเช่นเดียวกัน ทำให้การเพิกถอนสารเคมีที่มีอันตราย ถูกทำให้เนิ่นช้าออกไปโดยไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภค เหมือนกรณีแร่ใยหิน(Asbestos) ที่มีมติคณะรัฐมนตรี ให้มีระยะเวลายกเลิกการนำเข้ายกเลิกการใช้ที่ชัดเจน แต่กลับถูกเริ่มต้นศึกษาใหม่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมปัจจุบันพาราควอต มี 48 ประเทศ ยกเลิกการใช้ ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ในทวีปยุโรป ส่วนประเทศในทวีปเอเซีย ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอต ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่มีประเทศที่ประกาศจำกัดการใช้จำนวน 7 ประเทศ โดยที่มี มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าว หรือแม้แต่ประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตสารชนิดนี้ คือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ยังประกาศห้ามใช้ ทำให้พาราควอตยิ่งเข้าเงื่อนไขการพิจารณาเพิกถอนทะเบียนของกรมวิชาการที่ว่า หากประเทศผู้ผลิตต้นทางมีการยกเลิกหรือประกาศห้ามใช้ คณะกรรมการสมควรพิจารณายกเลิกการใช้หรือห้ามใช้เช่นเดียวกัน (Certificate of Free Sale) หรือในอนาคตของอาเซียน หากสมาชิกกลุ่มอาเซียนยกเลิกประเทศไทยก็ควรยกเลิกเช่นเดียวกัน (One Ban All Ban Policy) นิตยสารฉลาดซื้อในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ขอเรียกร้องกรมวิชาการเกษตรให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับปรับปรุงแก้ไข 2551) ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เช่นเดียวกับที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการในกรณีไม่ให้ใบอนุญาตสารเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รถรับส่งนักเรียน..ใครเป็นเจ้าภาพ

ผลสำรวจคุณภาพบริการรถรับส่งนักเรียน กับเด็กนักเรียนจำนวน 3,392 คน ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียนใน 32 จังหวัด ทั่วประเทศของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น เด็กมากกว่า 57% เดินทางทุกวันระยะไกลทางมากกว่า  16 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน ผู้ปกครอง 11% ใช้จ่ายมากกว่า 900-1,200 บาท และ ร้อยละ 8.9 ใช้จ่ายมากกว่า 1,200 บาท สำหรับค่ารถรับส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งมากกว่า 10% ของรายได้ขั้นต่ำที่ประเทศมาเลเซียได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ประเด็นสำคัญสุดเรื่องความปลอดภัยความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย พบว่า รถรับส่งนักเรียน เป็นรถผิดกฎหมายสูงถึง 66.5 % เรียกว่าเป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทรถตู้ รถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งหรือขนส่งจังหวัด  มีนักเรียนยืนบนรถรับส่งนักเรียนประมาณ 15% อุปกรณ์ความปลอดภัยมีไม่เพียงพอ การปล่อยเด็กลงรถเองเพื่อข้ามถนนไปโรงเรียนจากผลการศึกษา สะท้อนต้นตอปัญหาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กต้องไปเรียนไกลบ้านเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดของประเทศ หรือสะท้อนปัญหาบริการสาธาณะของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การสนับสนุนให้มีบริการรถโรงเรียนเป็นความฝันของสังคมไทย สมาชิกฉลาดซื้อจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่ายังไม่กล้ารับประกันการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนยุ่งยาก ไม่มีประสิทธิภาพ คนขับรถหรือเจ้าของรถที่เป็นเจ้าของรถคันเดียวหรือบุคคลธรรมดาหมดตัวเมื่อเจออุบัติเหตุ มีการเยียวยาขั้นต้น หากต้องการเยียวยาต้องอาศัยการฟ้องร้องดำเนินคดีกรมการขนส่ง เป็นหน่วยงานหลัก แต่ทำเรื่องนี้ได้ลำบากเพราะรถรับส่งนักเรียนไม่ได้จอดที่ขนส่งให้ลงเวลา ตรวจสภาพ โรงเรียนเข้ามามีบทบาท มีตัวอย่างหลายโรงเรียน แต่เมื่อไม่ใช่ภารกิจหลักก็ทำบ้างไม่ทำบ้างขึ้นกับครูที่รับผิดชอบกิจการนักเรียน ผู้อำนวยการจะเห็นความสำคัญแค่ไหนที่จะให้รถรับส่งนักเรียนต้องขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน พร้อมต้องขึ้นทะเบียนกับขนส่ง ท้องถิ่นจะมามีส่วนร่วมได้อย่างไร การสนับสนุนรถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ในหลายประเทศเป็นภารกิจของท้องถิ่น แต่เมืองไทยสตง. จะยอมให้ทำได้หรือไม่การให้ข้อมูลผู้ปกครอง ประธานคณะกรรมการโรงเรียน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหากผู้ปกครอง พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูลความไม่ปลอดภัย รถรับส่งที่ไม่มีมาตรฐาน ย่อมเห็นความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรื่องนี้ น่าจะเป็นข่าวดีที่สุดที่จะทำให้เป็นจริงท้ายสุดหวังว่า จะไม่มีข่าวลืมเด็กไว้ในรถรับส่งนักเรียน เพราะการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียน มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ติดสติกเกอร์เตือนที่ประตูรถ ตูมตามเมื่อมีเหตุการณ์ การตรวจรถจากบุคคลที่สามก่อนรถออกจากโรงเรียน หรือการจัดการพื้นฐานเรื่องการนับจำนวนเด็ก การใช้เทคโนโลยีร่วมตรวจสอบ หรือเครื่องมืออีกมากมายในการมีส่วนร่วมของพ่อแม่และโรงเรียนจะถูกร่วมมือและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 คนไทยไม่เชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน

จุดเริ่มต้นของการคัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาจากความไม่เป็นธรรมในสัดส่วนของตัวแทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการ 2 คนจากองค์ประกอบทั้งหมด 26 คน และเมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของการแก้ไขกฎหมาย สะท้อนให้เห็นการย้ายอำนาจการบริหารจัดการหลายอย่างกลับไปยังกระทรวงสาธารณสุข เช่น การจัดสรรเงินเดือนผ่านข้อเสนอการแยกเงินเดือน การเพิ่มจำนวนกรรมการในสัดส่วนหน่วยบริการ ทำให้เกิดคำถามว่า เพื่อรองรับการเรียกเก็บเงินร่วมจ่ายประชาชนจำนวน 34  ล้านคนที่นอกเหนือจาก 14 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนคนจนไว้หรือไม่ เพราะปัจจุบันบัตรทองครอบคลุมประชากรประมาณ 48 ล้านคนจึงเป็นสาเหตุของการคัดค้านอย่างต่อเนื่องในทุกเวทีรับฟังความคิดเห็น จนรัฐบาลต้องแถลงข่าวว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกโครงการ 30 บาท เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บเงินประชาชนเพิ่มในการรักษาพยาบาล(ร่วมจ่าย) และบอกว่าคนที่คัดค้านเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เพราะเดิมเคยได้รับเงินจากการจัดซื้อยาของ สปสช. หากใครเห็นข้อมูลที่ถูกเปิดเผย จะพบว่าเงินขององค์การเภสัชกรรม(เงินกิจกรรมภาครัฐ) แทบทั้งหมดจำนวน 157 ล้านบาท เกือบ 100% ถูกใช้โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีจ่ายให้กับเอ็นจีโอเพียง 6 แสนบาท หรือเพียง 0.38 % หากพิจารณาจากเรื่องร้องเรียนรายล่าสุดของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในด้านบริการสาธารณสุขน่าสนใจมากว่าสอดคล้องกับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ขออนุญาตเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ผู้ป่วยบัตรทองรายหนึ่งได้ถูกส่งตัวไปผ่าตัดหลังที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งโรงพยาบาลอ้างว่า จำเป็นต้องเก็บเงิน 12,000 บาท สำหรับอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งเบิกไม่ได้ และดีกว่า แต่ในวันที่ไปผ่าตัดตอนเช้าวันนั้น โรงพยาบาลกลับบอกว่าบอกข้อมูลผิด เพราะต้องการใช้เงิน 35,000 บาท ไม่ใช่ 12,000 บาท เจ้าหน้าที่คนก่อนแจ้งผิด คงผ่าตัดตอนตอนเช้านี้ให้ไม่ได้ เพราะต้องไปให้ผู้ป่วยนำเงินมาให้โรงพยาบาลก่อน ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คงเป็นเรื่องปกติ หากเราดูแลเฉพาะคนจน 14 ล้านคน คนชั้นกลางหรือประชาชนทั่วไปเดือดร้อนไม่น้อย เพราะมาตรการที่ทุกโรงพยาบาล มักจะอ้างว่าใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีกว่าของระบบหลักประกัน เป็นเครื่องมือชั้นดีให้ทุกคนต้องควักเงินออกมาจากกระเป๋า เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ย่อมต้องการมาตรฐานสูงสุดสำหรับตัวเอง หากการแก้ไขโครงสร้างการบริหารระบบบัตรทองสำเร็จ สามารถเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ หรือจากโรงพยาบาลมากขึ้น การตัดสินเรื่องการร่วมจ่ายเงินเมื่อไปใช้บริการ หรือการร่วมจ่ายในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยในการร่วมจ่ายของผู้ป่วยเมื่อไปใช้บริการ เสียงทัดทานการร่วมจ่ายจะแพ้มติ หรือเป็นเสียงข้างน้อย ตอนนั้นทุกคนจะทำอย่างไร นี่คือคำเตือนจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันในปัจจุบันที่สำคัญสุดท้าย ทำอย่างไรให้คนไทย ยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้สิ่งที่ควรจะมีการดำเนินการผลักดันให้เกิด คือระบบบริการสาธารณสุขมาตรฐานเดียวไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพ เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง

         มีโอกาสไปร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง(High-level Principles on consumer protection) กับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน(ACCP, ASEAN Committee on Consumer Protection) ณ เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังของภาคธุรกิจ ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมาย ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ความท้าทายที่จะต้องมีระบบคุ้มครองผู้บริโภค ทิศทางการเมืองในประเทศ ทรัพยากร การบริหารความเสี่ยง ศักยภาพและความเป็นผู้นำ ปัญหาสำคัญของผู้บริโภค การจัดการปัญหาให้ตรงจุดและจัดการความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภค ทำให้ต้องทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและร่วมกันกำหนดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนี้หลักการสำคัญประการที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม คงเส้นคงวา มีประสิทธิภาพ และได้สัดส่วนกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคประการที่ 2 ผู้บริโภคจะต้องมีทักษะ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความพร้อม และความมั่นใจในการใช้สิทธิของตนเอง ประการที่ 3 ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากสินค้าและบริการที่จะส่งผลต่ออันตรายต่อสุขภาพและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประการที่ 4 สิทธิของผู้บริโภคจะต้องได้สัดส่วน สมดุลกับความรับผิดชอบที่ชัดเจน ง่ายเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ประการที่ 5 ผู้บริโภคมีความสามารถเข้าใจถึงผลกระทบจากตัดสินใจบริโภคของตนเองทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการที่ 6 มีตัวแทนผู้บริโภคที่เข้มแข็งในการรักษาผลประโยชน์และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการจัดทำนโยบาย และการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านหรือกรณีต่างๆ ประการที่ 7 วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค จะต้องเกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทั้งในระดับประเทศและระหว่างภูมิภาค ประการที่ 8 การเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานของผู้บริโภค จะต้องได้รับการพิจารณาและคุ้มครองโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยากจนและเปราะบาง  หากทำได้ปัญหาผู้บริโภคคงลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 วิธีลดรถบนถนนวันละ 20 เปอร์เซ็น เป็นธรรมกับทุกคน

คนจำนวนมากทั้งขับรถและไม่ขับรถยนต์รู้สึกเหมือนกันว่า รถติดมาก ทั้งทางปกติ และบนทางด่วนกว่าจะชำระค่าทางด่วนได้บางวันใช้เวลาเกือบชั่วโมงทั้งที่ระยะทางเพียง 500 เมตร หากเป็นประเทศอาเจนตินา เราทุกคนคงขึ้นทางด่วนฟรีทุกวัน หลายหน่วยงาน ทั้งรัฐบาลกลาง กรุงเทพมหานคร ตำรวจทางด่วน  หน่วยงานจราจร หรือการทำงานหนักของตำรวจจราจร ระบบไฟอัตโนมัติ ก็ไม่ช่วยให้ภาวะรถติดคลี่คลายลงไปได้เลยหลายคนต้องหลีกเลี่ยงการเดินทาง ออกจากที่พักเช้ามากกว่าเดิม และกลับก่อนเวลา หรือกลับหลังจากที่ทุกคนกลับไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ส่วนใหญ่รู้สึกว่ารถเบาบางลง ทุกวันๆ  คนส่วนใหญ่ยังมีความทุกข์จากรถที่ติดเพิ่มมากขึ้น ยังไม่นับรวมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่เสียหายไปในแต่ละวัน ทางออกเดียวที่จะทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครดีขึ้น ยืนยันว่าต้องเป็นการลงมือปฏิบัติการของผู้บริโภคที่ขับรถเท่านั้น หากใช้วันคู่วันคี่ หลายคนบอกว่า คนรวยไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีรถทั้งคู่และคี่(จริง) บริษัทรถยนต์ได้ประโยชน์เพราะคนจะซื้อรถมากขึ้น ทว่าหากเรามัวแต่คิดเหตุผลเล็กๆ แล้วไปเบียดบังข้อเท็จจริงว่า ปัญหารถติดในกทม. เราต้องเป็นคนลงมือทำ เพราะหากทำจริงจำนวนรถในท้องถนนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหายไปเกือบ 50% ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่ากทม. นายกรัฐมนตรี คสช. ก็เอาไม่อยู่ เพราะจำนวนรถมีมากกว่าถนน แทนที่เราจะมีความทุกข์ทุกวันจากปัญหารถติด  หากเราทุกคนจะทดลองเสียสละร่วมกัน หยุดขับรถกันคนละวันต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้รถหายไป 20% บนถนนทุกวัน โดยไม่ต้องมีมาตรการจำกัดเขตเพราะระบบขนส่งที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้จำกัดการขับรถเข้าชั้นในได้ลำบาก เช่นโดยหากมีเลขทะเบียน 1 และ 2 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันจันทร์ หากมีเลขทะเบียน 3 และ 4 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันอังคารหากมีเลขทะเบียน 5 และ 6 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันพุธหากมีเลขทะเบียน 7 และ 8 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันพฤหัสหากมีเลขทะเบียน9 และ 0 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันศุกร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็พักผ่อนตามสบายใครใคร่ขับรถก็ขับจำนวนรถก็ลดลงไป 20%  แถมเป็นมาตรการที่เป็นธรรมกับทุกคนที่มีรถยนต์ด้วย เราน่าจะตัดสินใจลองพยายามกันดู ในส่วนของบริการขนส่งสาธารณะ เช่น ขสมก. ต้องรีบปรับปรุงบริการมากขึ้น  รวมไปถึงบรรดารถตู้ รถเมล์ร่วม สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องทำเร่งด่วนพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >