ฉบับที่ 232 คัดค้านแพทย์สภาเรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย

        ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีตาข้างนึงมีปัญหาความดันตาสูง และต้องได้รับการฉีดก๊าซเพื่อทำการรักษา         วันที่ไปรับการรักษา ช่วงเช้าได้รับการตรวจตาตามนัด เนื่องจากติดพักกลางวัน แพทย์เลยให้ไปพักกลางวันทานอาหารก่อน แล้วค่อยมาฉีดก๊าซในตอนบ่าย         ตอนบ่ายกลับมาฉีดก๊าซตามที่แพทย์แจ้ง ก็พบว่า ตอนจะฉีดก๊าซผู้ป่วยถูกปิดตาอีกข้างที่ไม่มีปัญหา ก็ได้ถามคนไข้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไรทำไมไม่แจ้งแพทย์และพยาบาลว่าปิดผิดข้าง ซึ่งคนทั่วไปจะคิดว่า นั่นซิแล้วทำไมคนไข้ไม่บอก คำตอบที่ได้รับจากคนไข้หลังจากถาม คนไข้บอกว่า ที่ไม่บอกเพราะคิดว่าการฉีดก๊าซจะต้องทำจากอีกข้างไปสู่อีกข้าง เป็นวิธีการของแพทย์ในการรักษาต้องใช้เทคนิคแบบนั้น และยังคิดว่าแพทย์ยังจำได้ว่าตนมีปัญหาตาข้างไหนเพราะเพิ่งตรวจไปกับแพทย์ตอนเช้า         สุดท้ายผู้ป่วยตาบอดทั้งสองข้างเพราะฉีดก๊าซผิดข้าง ผู้ป่วยรายนี้มีอาชีพขับรถรับจ้างทั่วไป และทุกวันต้องขับรถพาภรรยาไปขายขนมที่ตลาด เมื่อตาบอดทำให้ไม่สามารถขับรถได้ ไม่ได้ทำงาน ภรรยาก็ไปขายของไม่ได้ เดือดร้อนมาก ลูกสาวมีครอบครัวอยู่คนละจังหวัด ลูกสาวไปบ้านเพื่อนซึ่งกำลังคุยกับนักกฎหมาย เลยมีโอกาสพบกับนักกฎหมาย นักกฎหมายแนะนำให้คุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นสาเหตุให้มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยเพื่อเยียวยาความเสียหาย         ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ในข้อ 2 ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ “ที่เป็นจริงและอยู่ในความรับรู้” ของผู้ป่วยแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะได้รับทราบข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้การรักษาพยาบาลและป้องกันมิให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง         เฉพาะข้อนี้อย่างเดียว หากมีการฟ้องร้องกันก็ทำให้ผู้ป่วยยากที่จะต่อสู้แล้ว ว่าทำไมไม่แจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีปัญหาตาอีกข้าง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และการพยาบาลก่อนการฉีดก๊าซจะต้องตรวจสอบชื่อนามสกุล ว่าถูกคนมั้ย ตรวจสอบต่อไปว่าถูกข้างมั้ย เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการให้บริการทางการแพทย์         แน่นอนหากเรามองกรณีโควิด19 ที่ผู้ป่วยไม่ยอมแจ้งข้อมูลว่า เกี่ยวข้องกับคนที่ติดเชื้อโควิด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและต้องกักตัวนานถึง 14 วัน เป็นปัญหาต่อบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ต่อระบบสาธารณสุข แต่เรื่องนี้หากมองให้รอบคอบเราสามารถใช้กฎหมายควบคุมโรคระบาด หรือแม้แต่ พรบ.ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้กับผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผย โดยไม่จำเป็นต้องออกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อกรณีอื่นๆอีกหลายกรณี         ยังไม่รวมถึง หน้าที่ของผู้ป่วยในการเอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเห็นว่า ไม่อาจทำตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ทราบโดยทันที เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ซึ่งการรักษาแต่ละครั้งไม่ต้องอ้างว่าจะถาม แค่เวลาในการซักถามเรื่องการรักษายังทำได้ยาก แถมยังถูกหมั่นไส้เอาอีกด้วย         เพียงสองข้อ ที่ยกตัวอย่างสะท้อน การขาดความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้แต่การใช้สารเคมีทางการเกษตร อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของแพทย์และคนไข้ คนไข้อายุ 60 ปี ต้องยกมือไหว้แพทย์ อายุ 30 ปีก่อนทุกครั้งนั่นเป็นคำตอบอย่างดีว่าทำไมผู้ป่วยและผู้บริโภคต้องคัดค้านและต้องหาทางยกเลิกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย หรือถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องออกประกาศหน้าที่ของแพทย์อันพึงปฏิบัติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วยกันหยุดการทำมาหากินกับการป่วยออนไลน์

        ประชาชนจำนวนมาก หากเทียบเคียงในอดีต คงไม่แตกต่างจากขบวนการขอทานที่ตัดแขนตัดขาเด็กเพื่อขอทานตามสถานที่สาธารณะ จะแตกต่างกันเพียงการใช้ระบบดิจิทัลเท่านั้น รับรู้ประเด็นข่าวได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วมากกว่าระบบแบบเดิม             ภาพเด็กป่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคมไทยได้เป็นอย่างมากในการขอรับบริจาค ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความไม่เชื่อมั่นบางอย่างในระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศ การใช้เงินในการรักษาพยาบาลช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่ทุกคนที่ป่วยควรเข้าถึงการรักษาได้ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละคน ไม่ว่าระบบราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทอง         ความไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลที่รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลในระบบอื่นๆ โดยทุกคนจะได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาตามทะเบียนบ้านกับหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีระบบที่ชัดเจน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การขอย้ายสิทธิ โดยที่สิทธิประโยชน์รองรับการรักษาโรคทุกโรคตามมาตรฐาน ทั้งนี้ในแต่ละปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการรับฟังความเห็นเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันฯ ให้ครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนตรวจสอบสิทธิการรักษาของตัวเองด้วยการโทรสอบถามที่สายด่วน สปสช. โทร 1330         ถึงเวลาที่ภาครัฐควรทบทวนการสร้างระบบการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะเชื่อว่าเวลาที่เราป่วย เราต่างต้องการบริการ การตรวจหรือยาที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี หากได้รับบริการสุขภาพมาตรฐานเดียวกันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการไปรับบริการ         การระบาดของโควิด19 ในปัจจุบัน บริการสาธารณสุขที่ทุกคนได้รับเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งประเทศเหมือนการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน แต่การรักษาโรคเรื้อรังและการเจ็บป่วยอื่นๆ ยังมีหลายมาตรฐานนี่คือสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาในฐานะที่เป็นมนุษย์         กรณีข้างต้นนี้ทำให้เราเรียนรู้ร่วมกันว่า สังคมปัจจุบันทำให้เรารู้จักเพื่อนออนไลน์มากกว่าเพื่อนข้างบ้าน คนเก็บขยะ คนกวาดถนนที่เราเห็นทุกวัน การช่วยเหลือปันน้ำใจทำได้ทุกที่ทุกแห่ง และโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ชุมชนหรือสังคมใกล้ตัว ไม่จำเพาะออนไลน์ที่เราตรวจสอบได้ยากยิ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องมั่นใจว่าการบริจาคนั้นผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เราเชื่อถือซึ่งมีอยู่มากมาย ที่สำคัญการบริจาคควรจะเป็นเรื่องการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของคนที่ป่วยหรือคนดูแลมากกว่า ที่เขาอาจจะไม่ได้ทำงานหรือรักษาตัวจนตกงาน หรือเราต้องช่วยผลักดันให้รัฐมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเรื่องบำนาญแห่งชาติ ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า การบริจาคเหมือนการให้ทานให้ไปแล้วถือว่าจบ แต่ต้องไม่ส่งเสริมให้เกิดการฆ่าชีวิตเพื่อรับบริจาค หรืออย่างน้อยเราไม่เป็นฟันเฟืองสนับสนุนให้ทำแบบนี้ได้อีกต่อไปกรณีเหตุการณ์หญิงสาวรายหนึ่งขอรับบริจาค โดยอ้างว่าลูกป่วยด้วยโรคที่หายาก จนได้รับเงินบริจาคจาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ชีวิตหลัง โควิด 19

        วิกฤติ โคโรน่าไวรัส โรคระบาดที่ล็อคดาวน์ ชีวิตผู้คน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคนถ้วนหน้า คนกลุ่มหนึ่งตกงานทันทีในวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นลูกจ้างรายวัน หรือบริษัทปิดตัวลงเพราะไม่สามารถให้บริการได้ หรือบางกิจการไม่อนุญาตให้เปิดบริการเพราะมีปัญหาการควบคุมโรค หรือบางกิจการได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว มีการคาดการณ์ว่า มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา        การใช้ชีวิตผู้คนผูกติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการสั่งของ สั่งอาหาร หรือการทำงานจากบ้าน WFH ที่ต้องพึ่งพิงระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งที่ในอดีตมักปฏิเสธและอาจจะทำไม่ได้ง่ายนัก        หลายชุมชนหรือกลุ่ม ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนกันและกัน มีบทเรียนของการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนแออัด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สวนผักคนเมือง มูลนิธิสุขภาพไทย สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เกิดความมั่นคงด้านอาหารหากเกิดวิกฤติในครั้งต่อไป        หรือกลุ่มชาวเล หาดราไวย์ ภูเก็ต ส่งปลาแลกข้าวกับชาวนา จังหวัดยโสธรร “ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว สนับสนุนโดยมูลนิธิชุมชนไทยและสมาคมชาวยโสธร        หลายคนที่อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คงเห็นตรงกันว่า ชีวิตที่เรียบง่ายเมื่อ WFH  เราใช้เสื้อผ้าอยู่ 2 ชุด ชุดนอน กับชุดอยู่บ้านสบายๆ  ตามสไตล์ของแต่ละคน หรือใส่เสื้อผ้าอยู่ไม่กี่ตัว ตัวที่ชอบก็ไม่ได้มีมากมาย        แล้วเราจะอยู่อย่างไร หลังโควิด 19 ที่ดูจะอยู่กับเรานาน และไม่ได้ไปง่าย ๆ เป็นคำถามสำคัญที่เราเหล่าผู้บริโภคต้องช่วยกันหาคำตอบ        ถึงแม้การคาดการณ์โรคยังคงต้องอาศัยวิชาการ แต่การควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเป็นสำคัญ การอยู่ร่วมกันต้องไม่รังเกียจกลัวซึ่งกันและกัน จนเกิดความรุนแรง เราต่างต้องคิดว่า เราอาจจะติดเชื้อ ถ้ายังไม่เคยตรวจ หรือแม้แต่ตรวจแล้วผลเป็นลบ อาจจะไม่ได้ลบจริง อยู่ในช่วงฟักตัว  ต้องป้องกัน ไม่ให้ระบาดมากขึ้น เราจะอยู่อย่างไรที่เป็นมิตรกับคนติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าว ลูกไม่ยอมส่งพ่อแม่ไปโรงพยาบาล พี่น้อง คนในชุมชน คนในคอนโดมิเนียมเดียวกัน ฟ้องคดีกัน เพราะกลัวคนที่ติดเชื้อ        สิ่งดีที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่ผ่านมา คือการกระจายอำนาจในการจัดการป้องกันโรค ทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมมือกันในการควบคุมโรค สนับสนุนกันและกันในทุกจังหวัด ซึ่งน่าเป็นโอกาสให้จังหวัดได้ตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจหรือกิจกรรมพึ่งตนเองของชุมชน จังหวัด รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มต่างๆ เพราะการค้าขายต่างๆ ไม่น่าจะเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป        ความสำคัญในชีวิต คงไม่พ้นความจำเป็นพื้นฐาน อาหาร แต่ละชุมชน จังหวัดจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารอย่างไรในจังหวัดของตนเอง ชุมชนของตนเอง        ปัญหาความยากจน ระบบสวัสดิการทางสังคม จะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างไร เพื่อแก้จุดอ่อนของระบบตรวจสอบความยากจน ตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบอาชีพ แต่เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ทันการเยียวยาในช่วงที่ทุกข์ยากได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกินกำลังความสามารถของผู้บริโภคเช่นเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ความล้มเหลวของการกระจายหน้ากากอนามัย

        คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมต. พาณิชย์เป็นประธาน ประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น โดย มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ประกาศจริงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563        ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 ระบุไว้ว่า ประกาศ กกร. มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามว่า ล่าช้าหรือขัดข้องจากเหตุใด หรือเป็นความบกพร่อง ความอ่อนหัดในการบริหารราชการ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่        โฆษกกรมศุลกากร ให้ข่าวว่าเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีการส่งออกมากถึง 330 ตัน และมีการนำเข้า 145 ตัน หลังแถลงข่าวมีการแก้ข่าวทันทีในวันนั้นว่า อ้างว่า เป็นหน้ากากอนามัยหลายประเภท พร้อมทั้งวันรุ่งขึ้นอดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ไปดำเนินการฟ้องคดีกับโฆษกกรมศุลกากร         จนบัดนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยเท่าใด เพราะตัวเลขที่แต่ละท่านให้ข้อมูลไม่ตรงกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึงตัวเลข 100 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 30 มกราคม 2563 อดีตอธิบดีกรมการค้าภายในจำนวน 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน  ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 70 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 9 มีนาคม และ 30 มีนาคม ตามลำดับ         การกระจายจำนวน 1.2 ล้านชิ้น จัดสรรให้องค์การเภสัชกรรม ส่งต่อให้โรงพยาบาล 7 แสนชิ้นต่อวัน และจัดการโดยร้านธงฟ้า 5 แสนชิ้นต่อวัน เพื่อแจกจ่ายผ่านร้านค้า ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงยกเลิกการดำเนินการโดยธงฟ้า วันที่ 20 มีนาคม 2563 จนบัดนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่ากระจายหน้ากากอนามัยอย่างไร โรงพยาบาลจำนวนมากยังขอรับบริจาคหน้ากากอนามัย ทั้งที่ถูกสั่งห้ามให้ข่าว หน้ากากอนามัยออนไลน์ยังราคาแพง แถมบางครั้งยังมีโกงซื้อแล้วไม่ได้ของไม่คืนเงิน         สถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ ในภาพรวม มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 241 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 120 ราย และในต่างจังหวัด 121 ราย แต่จากการสำรวจของคนซื้อ ยังพบราคาแพง ทุกคนต่างกว้านซื้อเพื่อบริจาค ทำให้กระบวนการกักตุน ราคาแพงไม่หมดไป ทั้งที่บทลงโทษมีไม่น้อยเลย หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ที่สำคัญหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ กลายเป็นสินค้าขาดแคลน จำหน่ายราคาแพงโดยไม่สามารถป้องกันหรือแก้ปัญหาได้จริงหรือ??         สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบข้อมูลได้ ประเทศมีกำลังการผลิตเท่าใด กระจายให้หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลเป็นลำดับแรก เหลือแจกจ่ายประชาชน โดยสามารถนำบัตรประชาชนรับได้จากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญที่รัฐมีหน้าที่ในการป้องกันโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยุติการจำหน่ายในออนไลน์และทุกช่องทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนใหญ่ทุนเล็กทำมาหากินกับสินค้าเหล่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ประชาชนจะพึ่งใคร คณะกรรมการการทางพิเศษ คณะรัฐมนตรีต่างยอมรับตัวเลขมโนแพ้คดีเกินจริง กรณีทางด่วนขั้นที่ 2

        ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน,BEM) โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อยุติการฟ้องคดี         วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งเพิกถอนมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผลปรากฎว่า ศาลปกครองกลางยกคำร้อง บอกว่า ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน ส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ศาลจะพิจารณาในภายหลัง         โดยก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิ ฯ ได้ยื่นร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมจำนวน 2 คดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด กรณีการฟ้องร้องของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BEM) ต่อการทางพิเศษ เกี่ยวกับการปรับราคาค่าทางด่วน        เหตุผลในการฟ้องคดีมีหลายประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขหนี้เป็นตัวเลขมโน คิดไปเองว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด เนื่องจากการพิจารณาแก้ไขสัญญาเพื่อยุติข้อพิพาทตามมติคณะรัฐมนตรีไม่สามารถแยกได้ว่าหนี้ที่แท้จริงของแต่ละสัญญามีมูลค่าเท่าใด แต่กลับต่อระยะเวลาของสัญญาทั้ง 3 ออกไป โดยไม่มีที่มาที่ไป        เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 26,415 ล้านบาท โดยการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล แทนเอกชน โดยใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไม่โปร่งใส ใช้ฐานข้อมูลรายได้ของรัฐที่ต่ำเกินความเป็นจริง         มติครม. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการต่อประชาชน        มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เอกชนมีสิทธิเหนืออำนาจปกครอง และเป็นการเปิดช่องให้ใช้วิธีการสมยอมโดยทุจริตได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ         ผู้บริโภค ควรได้ใช้ทางด่วนที่หมดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ถูกลง ยิ่งนาน ค่าผ่านทางควรถูกลง หากคิดรายได้การทางพิเศษ ร้อยละ 60% ค่าผ่านทางสามารถลดลงได้มากถึง 40% ที่เป็นส่วนแบ่งให้บริษัท นั่นคือเราจะใช้ทางด่วนในราคา 36 บาทเท่านั้น จากปัจจุบันราคา 60 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 สภาผู้บริโภคเกิดช้า...ใครได้ประโยชน์? สปน. จับองค์กรผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

        ย้อนกลับไปวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันแรกของการยื่นจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคคึกคักมากวันรุ่งขึ้น วันที่ 23 กรกฎาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคจากทุกภูมิภาคยื่นขอจดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคทันที เพราะถือว่า ทุกองค์กรต่างทำงานมามากกว่า 2 ปี การจดแจ้งเป็นการแจ้งให้สปน.(สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ทราบว่าเรามีตัวตน แต่ถูกตีกลับเพราะอ้างว่า ยังไม่มีการพิจารณาองค์กร         ยกที่หนึ่ง เมื่อถูกตีกลับว่าไม่สามารถจดแจ้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ ทุกจังหวัดไม่ท้อแท้ มีตัวแทนองค์กรไปยื่นจดแจ้งเพิ่มเติม เพราะคาดการณ์กันว่า ภายใน 30 วัน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ผู้ว่า ฯ มอบหมาย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือคนที่ปลัดมอบหมาย รับจดแจ้งองค์กรคงใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน เพราะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ เลขาธิการ อย. รับลูกรัฐมนตรีขึ้นทะเบียนเสร็จภายใน 1 วัน  ไฉนเลยการแจ้งความเป็นองค์กรผู้บริโภคน่าจะรวดเร็วกว่าแน่นอน        ยกที่สอง นายทะเบียนกลางออกประกาศฉบับที่ 2  โดยให้อำนาจสปน. ในการเรียกองค์กรผู้บริโภคไปพบ หรือรายงานตัว ทั้งที่มาตรา 6 ระบุชัดเจนว่าการยื่นจดแจ้ง ต้องไม่มีลักษณะการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและให้รับฟังความคิดเห็นองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งขยายเวลาเป็น 120 วัน จากประกาศฉบับที่ 1 กำหนด 60 วัน สามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน         เป็นคำถามต่อจังหวัดที่เหลือและโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีใดองค์กรผ่านการจดแจ้ง ปัจจุบันมีเพียง 16 จังหวัดเท่านั้น คิดเป็น 20.78% จำนวน 129 องค์กร ได้แก่ เชียงใหม่ 19 องค์กร เชียงราย 9 องค์กร ลำปาง 18 องค์กร นครปฐม 3 องค์กร ฉะเชิงเทรา  17 องค์กร พะเยา 12 องค์กร ลำพูน 11 องค์กร ปัตตานี 2 องค์กร นราธิวาส 3 องค์กร ร้อยเอ็ด 8 องค์กร สตูล 8 องค์กร สุราษฎร์ธานี 8 องค์กร นครราชสีมา 2 องค์กร สระบุรี 1 องค์กร สระแก้ว  3 องค์กร สมุทรสงคราม 5 องค์กร         เนื่องจากการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องการองค์กรริเริ่มไม่น้อยกว่า 150 องค์กร จึงยังไม่สามารถจัดตั้งได้ในปัจจุบัน        ยกที่สาม วัดความอดทนขององค์กรผู้บริโภคหรือถูกสปน.วางยา? องค์กรผู้บริโภคถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้ตัดสินใจลำบากในการฟ้องคดีปกครองทั้งๆ ที่น่าจะเข้าข่ายการปฏิบัติงานล่าช้าเกินควรจนเกิดความเสียหายต่อองค์กรผู้บริโภค เพราะเลยระยะเวลา 120 วันที่กำหนด        การเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ของสภาองค์กรผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากการมีตัวแทนของตนเองในการให้ความเห็นทางนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่สามารถสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้จัดตั้งสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด การแจ้งเตือนภัยสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ยังไม่สามารถทำได้        ที่สำคัญ ที่หน่วยงานรัฐไม่ต้องการให้เกิดอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค หรือแม้แต่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคทั้งที่มีเรื่องสำคัญเกิดขึ้นมากมายนับแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเสียหาย 400,000 ล้านบาท ที่เงียบเชียบ

        มูลค่าความเสียหายสูงถึง 400,000 ล้านบาท  ที่รัฐควรจะได้รับประโยชน์จะหายไป หากมีการต่ออายุสัญญาสัมปทานรอบที่ 2  ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยอ้างแลกกับการยุติการฟ้องคดีทั้งที่มีมูลค่าคดีเพียง 4,300 ล้านบาท และการลงทุนทางด่วนชั้นที่ 2 (double deck) ส่วนผู้บริโภคเสียประโยชน์มากมายจากงานนี้ ต้องจ่ายเงินค่าทางด่วนแพงขึ้นทุก 5 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2600          สมาชิกฉลาดซื้อจะช่วยกันหาทางยุติการต่อสัญญาสัมปทานที่อ้างเหตุผล เพื่อให้บริษัทยกเลิกการฟ้องคดี 17 คดี ทั้งที่ทุกคนทราบดีว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักประกันว่า จะสามารถยุติคดีได้จริง ดังกรณีตัวอย่างของกรมทางหลวงกับบริษัทดอนเมืองโทลเวย์ ที่บริษัทยุติคดีแล้ว แต่บริษัทวอลเตอร์ บาว ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดอนเมืองโทลเวย์ได้ฟ้องคดีกรมทางหลวง และคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีคำสั่งให้ประเทศไทยจ่ายเงินจำนวน 29.2 ล้านยูโรเป็นค่าชดเชย พร้อมทั้งค่าละเมิดสัญญาเป็นเงิน 1.98 ล้านยูโร ในปี 2552         นอกจากนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การทางพิเศษฯ ได้ชนะคดี 1 คดี ส่วนคดีที่เหลือมีโอกาสชนะคดี มีคดีที่สู้ได้และควรสู้ หรือหากแพ้คดี ควรหาคนที่กระทำผิดมาลงโทษ          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ปี 2563 ทางด่วนมหานครทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพจำกัด(มหาชน) หมดสัญญาสัมปทานลง ทรัพย์สินทั้งหลายต้องส่งคืนให้กับการทางพิเศษ ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ จะมีเพียงค่าบำรุงรักษาทางและค่าบริหารจัดการเก็บค่าผ่านทางเท่านั้น การต่อสัญญาสัมปทานใหม่ ควรมีเป้าหมายทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงหรือทำให้รัฐได้รับเงินมากขึ้นจากการดำเนินการ          อีกเหตุผลในการขยายเวลาเพื่อลดการลงทุนของรัฐในการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 โดยความเห็นของกรรมาธิการวิสามัญ ชุดพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน ที่กรรมาธิการให้ขยายระยะเวลาส่วนละ 15 ปี เป็น 30 ปี ทั้งที่การต่อสัญญาสัมปทานควรต่อด้วยวาระปกติ ไม่ควรผูกกับการฟ้องคดี หรือผนวกรวมกับการลงทุนโครงการทางด่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะทำให้รัฐเสียหาย มีอำนาจต่อรองน้อยลงหรือรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้จำกัด         ทางออกเรื่องนี้ นอกจากจะต้องยุติการต่อสัญญาสัมปทานทันที การก่อสร้างทางพิเศษ หรือรถไฟฟ้าในอนาคต ควรจะต้องกำหนดให้รัฐเป็นผู้ได้ประโยชน์จากค่าผ่านทางเองทั้งหมด แล้วใช้เงินชำระหนี้ภาคเอกชนในการลงทุนคืน เพื่อป้องกันปัญหาพิพาทหรือฟ้องคดีเรื่องการขึ้นค่าผ่านทางเช่นในอดีตจนถึงปัจจุบัน          กระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน รวดเร็วในการพิจารณาคดี เพื่อลดความเสียหายของทุกฝ่าย เช่น มูลค่าความเสียหายในการฟ้องคดีเมื่อเริ่มต้นมีเพียง 730 ล้านบาท แต่เมื่อคดีถึงที่สุดทำให้มูลค่าความเสียหายรวมดอกเบี้ยสูงถึง 4,300 ล้านบาท        เมื่อไม่มีคนรักษาผลประโยชน์ให้ผู้บริโภค ขณะที่เรามีกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภค ควรเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้บริโภค เข้าไปมีส่วนร่วม ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นในการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อลดความเสียหายต่อผู้บริโภค รวมทั้งรัฐต้องสามารถตอบคำถาม โปร่งใส เอกชนต้องโปร่งใส เปิดเผยสัญญาให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น        ที่สำคัญหากใช้วิธีการแบบนี้ในการขยายสัญญาสัมปทาน อาจมีปัญหาความชอบด้านกฎหมาย และสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการทำสัญญามั่วๆ เพื่อขยายเวลา นับเป็นแนวทางเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนในอนาคตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >