ฉบับที่ 242 25 บาททำได้จริง ไม่ใช่ฝัน

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นแล้ว เปิดตัวงานแรกคัดค้านประกาศกรุงเทพมหานครที่ให้จ่ายค่ารถไฟฟ้า 104 บาทต่อเที่ยวร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค การคัดค้านนี้เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอ 104 บาท และสภาฯ ยังยืนยันว่า 25 บาททำได้จริงเพราะรถไฟฟ้าเป็นระบบบริการขนส่งมวลชน (Public Goods)  ราคาค่าบริการจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เช่นเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เกิน 10% ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวที่สร้างปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ         ทำไม 25 บาทถึงทำได้จริง จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอราคาของระบบสายสีเขียวนี้ อยู่ที่ 49.83 บาท ต่อเที่ยว ซึ่งจะทำให้สายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาทเมื่อหมดสัมปทานในปี 2602 สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ลดค่าโดยสารลง 50% คือ 25 บาท ก็ยังทำให้ กทม. มีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท         หากถามว่า ทำไมไม่พิจารณาค่าโดยสารในปัจจุบัน เพราะบริษัท BTS มีสิทธิใช้ราคา 44 บาท ต้องให้ความคุ้มครองในส่วนนี้ จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนหนี้สินกับ BTS ประมาณ 30,000 ล้านกทม. และรัฐบาลต้องชำระในส่วนนี้ แต่เมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว รัฐมีหน้าที่จัดบริการขนส่งมวลชน ต้องพิจารณาให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้จริง        ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า หาก กทม. ใช้ราคา 65 บาท จะทำให้กรุงเทพมหานครมีรายได้ 240,000 ล้านบาท คำถามไปยังกทม. ว่า ทำไมต้องกำไรมากขายขนาดนั้น ไม่ว่าจะ 240,000 ล้านบาท หรือ 380,200 ล้านบาทก็ตาม         ที่สำคัญไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแม้แต่กรรมาธิการการคมนาคมหรือกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร จนมีมติให้นายกชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน หากพิจารณารายได้ที่ในการคำนวณเพื่อต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ข้อเท็จจริงรายได้ของบริษัทจากรายงานประจำปี 2562 พบว่า บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 39,937 ล้านบาท จากการขนส่ง 32,076 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 5,735 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 8,817 ล้านบาท         ขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้ราคา 25 บาท คือ ต้องหยุดการพิจารณาของครม.ในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า เพราะหาก ครม.มีการพิจารณาประเด็นนี้ ประชาชนต้องปฏิบัติตามราคาค่าโดยสารที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทนั้นแพงเกินกว่าความสามารถของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยจะไม่สามารถใช้เพื่อการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกรุงได้ ทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดความแออัดของจราจรบนท้องถนนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ         สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ กำหนดให้ราคาสูงสุดที่มวลชนจะสามารถจ่ายได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เร่งดำเนินการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนกับทุกระบบเมื่อมีการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า และให้มีการจัดระบบตั๋วร่วมหรือระบบบัตรใบเดียวเพื่อใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทั้งระบบซึ่งรวมทั้งรถเมล์ เรือเมล์เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 หยุดเร็ว หยุดตาย หยุดประกาศ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

        ทำไมเสียงคัดค้าน ความเร็วรถยนต์ 120 กิโมตรต่อชั่วโมง ของรัฐมนตรีคมนาคมถึงเงียบเชียบมาก คงไม่ต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร แน่นอนว่าถ้าประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราไม่ควรยอมให้เพิ่มความเร็วในการขับขี่รถยนต์         ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดความเร็วในการขับรถในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน รวมทั้งการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ สำหรับการขับรถในช่องเดินรถช่องทางขวาสุดในทางหลวง โดยรถยนต์สามารถให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันได้กำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ซึ่งแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการขนส่งและจราจรของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น         ต้นเดือนมีนาคมผ่านมา ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศเพิ่มเติมให้ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 32 บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง         ความเร็ว เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุรุนแรงที่สำคัญ นอกเหนือจากปัญหาคนขับรถหลับใน ถนนที่ไม่ปลอดภัย และรถยนต์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหลาย         ข้อมูลรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้ข้อมูลว่า หากคนขับรถมอเตอร์ไซด์ที่ขับเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่ากับการตกจากตึกสูง 8 ชั้น         อันตรายและกระทบจากการขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง ที่สำคัญ คือ แรงปะทะ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เมื่อใช้ความเร็วสูง แรงปะทะย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ปัญหาต่อการหยุดรถ การขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง แล้วไปพบเจอเหตุที่ไม่คาดฝันจะทำให้ระยะการเบรก หรือหยุดรถสั้นลง อาจทำให้ตนเอง และเพื่อนร่วมทางได้รับอันตราย ปัญหาการตัดสินใจ ทำให้ระยะเวลาในการตัดสินใจสั้นลงจากความเร็ว ทั้งหมดย่อมเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ         หลายเรื่อง องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนคุณศักดิ์สยาม เช่น ราคารถไฟฟ้าที่ถูกลง หรือการมีแนวทางให้ประชาชนสามารถใช้ขนส่งมวลชนแต่ละวันไม่เกิน 30 บาท แต่การเพิ่มความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอค้านหัวชนฝา เพราะการเพิ่มความเร็วย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับทุกคนบนท้องถนน ทั้งคนขับ คนโดยสาร บุคคลที่ 3 ความเสี่ยงอีกมากมาย จะอ้างว่า คนชับ 120 กิโลเมตรอยู่แล้ว เพียงทำให้ถูกต้องคงฟังไม่ขึ้น เหมือนกับบอกว่า คนไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ ต้องแก้กฎหมาย แทนที่จะช่วยกันทำให้คนรู้กฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น คนขับรถเร็วลดลง เพิ่มความปลอดภัยในท้องถนนมากขึ้น หรือถ้าไปถึงรากของปัญหา ทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ควันหลงการอภิปรายสายสีเขียว ต้องหยุดราคา 65 บาทในการต่อสัมปทาน

        การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวล่วงหน้า 38 ปี  และการประมูลสายสีส้ม เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคมากที่สุด         คนอภิปรายไม่ไว้วางใจทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งภาพรวม ช่องว่าง ช่องโหว่ของการทำงานเรื่องนี้ ส่วนคนตอบก็ตอบแบบนิ่มๆ ตรงคำถามหรือไม่ย้อนกลับไปดูกัน ดูจะเป็นเทคนิคการตอบคำถามในการอภิปรายเที่ยวนี้        หากย้อนไปติดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กรุงเทพมหานครยอมรับการโอนหนี้การก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว จำนวน 51,785,370 ล้านบาท จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กระทรวงคมนาคมคิดตัวเลขหนี้จนถึงวันหมดสัญญาสัมปทาน 76,000 ล้านบาท และได้คำนวณค่าโดยสารที่อัตราต่างกัน เช่น 65 บาท 42 บาท และ 49.83 บาท พบว่า อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRR) ตั้งแต่ 15.02% , 4.47% 9.65% ตามลำดับ โดยใช้จำนวนผู้โดยสารจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)         พบว่า หากคิดราคาค่าโดยสาร 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภค ได้ทดลองคำนวณเก็บค่าโดยสารที่ราคา 25 บาท โดยยังคงค่าใช้จ่ายเท่าเดิมในการดำเนินการ พบว่า รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้จำนวน 23,200 ล้านบาท         การคำนวณราคาของกรุงเทพมหานคร เกิดจากการการใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน โดยใช้ตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 64) ทั้งที่กทม.เป็นหนี้เพียง 34,837 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602 ล้านบาท         มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคตจนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้ง ปี 2562-2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม.เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี         ข้อเสนอสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ต้องทำให้ราคาบริการรถไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เขาทำได้         ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากกรุงเทพมหานครต้องยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานทันที และรอผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง ตัดสินใจเรื่องนี้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น         ราคา 65 บาทตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 39.27% ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปีพ.ศ. 2602 ทั้งที่เราสามารถทำได้ในราคา 25 บาท         การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าครั้งนี้ นอกจากสร้างภาระให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คาดหวังและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 มูลนิธิ ฯ เปิด 8 เหตุผลคัดค้านและเสนอทางออก ก่อนขึ้นราคา 104 บาท

        จากการที่พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุมัติให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ ทำให้ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าโดยสารสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยวในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้มีการคัดค้านจากประชาชน จากหน่วยงานกระทรวงคมนาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการจาก TDRI พรรคการเมืองต่างๆ และรวมถึงกรรมาธิการคมนาคมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงใคร่ขอเสนอ 8 เหตุผลคัดค้านและเสนอทางออกก่อนการขึ้นราคาในครั้งนี้        1.ทุกคนมีความทุกข์จากการเดินทางในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนให้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 43% ใช้รถมอเตอร์ไซต์ 26% และใช้บริการรถขนส่งสาธารณะเพียง 24% จากรถโดยสาร 15.96% รถแทกซี่ 4.2% ระบบราง 2.68% รถตู้ 1.28% เรือ 0.28%         2.ผู้บริโภคสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้น้อยลง บริการรถไฟฟ้ากลายเป็นบริการทางเลือกแทนที่จะเป็นบริการขนส่งมวลชนดังเช่นที่ทุกประเทศดำเนินการให้ทุกคนต้องขึ้นได้ เพราะต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย BTS ตลอดสายสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 31.5% ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานครทีมีรายได้ขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน หรือสูงถึง 63% ต่อค่าจ้างรายวัน หากใช้การเดินทางไปกลับ        3. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยแพงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้สูงถึง 26-28% ของรายได้ขั้นต่ำขณะที่ กรุงปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียง 3-9% เท่านั้น        4.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ ขนส่งมวลชนที่ราคาถูกในหลายประเทศ เพราะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณรถไฟฟ้า หรือรายได้จากการโฆษณามาสนับสนุนราคาค่าโดยสาร ขณะที่กรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานที่ให้สัมปทานไม่มีการเปิดเผยผลประโยชน์ในส่วนนี้ ว่ามีการแบ่งหรือจัดสรรอย่างไร หรือแม้แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือท้องถิ่น        5. ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กทม. ต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และพิจารณาเรื่องค่าแรกเข้ารถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขัดต่อกฎหมายของกรุงเทพมหานคร ที่การอนุมัติให้ขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร        6.ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียว หรือสัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก หรือการขึ้นราคาในส่วนต่อขยาย ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานรายได้ โครงสร้างหนี้ หรือรายละเอียดกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงการเตรียมการให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ต้องยอมรับราคา 65 บาทต่อเที่ยว ซึ่งยังมีราคาแพงและไม่มีเหตุผลในการกำหนดราคานี้และยาวนานถึง 38 ปี        7.พิจารณาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีบริการรถไฟฟ้าให้บริการ 6 สายในปัจจุบัน และมีโครงการ 14 สายในอนาคต ซึ่งเชื่อมโยงกันหลายสาย แต่มีปัญหาการสัมปทานที่แตกต่างๆ กันไป จากหลายหน่วยงาน ทำให้ผู้บริโภค ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแรกเข้าหรือการใช้บริการครั้งแรกให้กับทุกสัมปทาน ให้กับทุกบริษัทหรือทุกสายที่ใช้บริการ (ค่าแรกเข้าทุกครั้งที่ใช้บริการแต่ละสาย) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบและกำหนดให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับของทุกคน        8.กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวัน เช่นประเทศมาเลเซียที่กำหนด 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือมีเพดานราคาสูงสุดของประชาชนในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวัน เช่น ออสเตรเลีย หรือแม้แต่การกำกับให้สามารถใช้บัตรรถไฟฟ้าใบเดียว หรือบัตรประชาชน หรือโทรศัพท์มือถือ เหมือนที่รัฐบาลไทยเคยมีแผนงานเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการจนปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ต้องชะลอการขึ้นราคา 104 บาททันทีเพื่อดำเนินการให้บริการขนส่งมวลชนซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน ไม่ใช่เป้าหมายการแสวงหาผลประโยชน์จากการให้สัมปทานของหน่วยงานต่างๆ กับการมีบริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ต่างส่วนต่างทำ ไม่มีการกำกับดูแลเช่นในปัจจุบัน #หยุด104บาท #หยุดกทม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 แอปกู้เงิน !! อันตรายกว่าหนี้นอกระบบ

        วิกฤตโควิดทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัวต้องทำทุกทางทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงและเสียเปรียบ เรื่องร้องเรียนล่าสุดจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันมีมากมายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย        ผู้บริโภครายนี้ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าจะกู้เงินและไม่มีการตรวจสอบอะไรมากก็ให้ทดลองใช้แอ๊ปนี้ดู กู้ง่าย แต่ต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน ก่อนหน้านี้เคยทดลองของธนาคารต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้เลยทดลองดู         คนที่ไม่เคยกู้คงไม่รู้ว่าดอกเบี้ยโหดมาก ดอกเบี้ยมากกว่าหนี้นอกระบบหนี้อาบังรายวันเป็นร้อยเท่า ซึ่งคนกู้ในวิกฤตแบบนี้ก็ไม่เกี่ยงขอให้ได้เงินสดไปจัดการปัญหาใกล้ตั         เริ่มจากอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,000 บาท ได้รับเงินโอนกลับมาเพียง 1,200 บาท ดอกเบี้ย 800 บาท และต้องจ่ายคืน 2,000 บาทภายใน 7 วัน หนี้นอกระบบอาบังทั้งหลายที่ว่าโหดหักทันทีเพียงร้อยละ 20         กู้ออนไลน์ผ่านแอ๊ปนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 40 ภายใน 7 วัน แต่ในระบบไม่ได้เขียนว่าเป็นดอกเบี้ยแต่จะถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นค่าออกแบบระบบในการกู้เงิน ค่าบริการและหากผิดนัดชำระหนี้ภายใน 7 วัน คิดดอกเบี้ยรายวันแบบทบต้นไปเรื่อยๆ         หากคิดดอกเบี้ยภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยก็จะสูงมากถึง 2,085% ทั้งที่ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล กันยายน 2653 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n6463.aspx)         นอกเหนือจากดอกเบี้ยโหด ผู้กู้ยืมจะต้องอนุญาตให้ระบบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเพื่อน ญาติ หรือโทรศัพท์ทุกคนที่เรามีรูปภาพต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะกู้เงินไม่ได้ก็จะทำให้เกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายทวงหนี้กับสามีและญาติตอนตี 3 พรบ.ทวงหนี้ที่อนุญาตให้ทวงหนี้ไม่เกิน 6 โมงเย็น ไม่มีความหมาย         ระบบที่ออกแบบมาให้ง่ายกลับเล่นงานทุกอย่างที่ใกล้ตัว ถามใครที่มีทางออกไม่ตีบตัน คงไม่ต้องทำแบบนี้แน่นอน         สิ่งที่จะช่วยป้องกันผู้บริโภคคงต้องเริ่มตั้งแต่ระบบสวัสดิการทางสังคมแบบถ้วนหน้า เพื่อรับมือกับเหตุการณ์แบบวิกฤตโควิดในครั้งนี้  บำนาญประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นความมั่นคงของทุกครอบครัวการเรียนรู้การบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบของครอบครัวในทุกช่วงวัย         ทำให้อย่างไรให้ตรวจสอบแอ๊บได้ง่ายว่า ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือไม่ หรือถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายหรือธปท.มีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่า แอ๊ปไหนไม่ปลอดภัยหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินออนไลน์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากในปัจจุบัน         ส่วนตำรวจไซเบอร์ต้องทำงานเชิงรุกกวาดจับลงโทษจริงจังให้เข็ดอย่าคิดเพียงว่า จับแล้วเกิดได้อีกแต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน         สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำ คือช่วยกันแจ้งความแอ๊ปเหล่านี้แต่น่าสนใจคนร้องเรียนมีพี่ชายเป็นตำรวจ แต่กลับแนะนำน้องว่าอย่าไปแจ้งความเลยไม่น่าจะได้อะไรถึงเวลาผู้บริโภคต้องพึ่งตนเอง หวังว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นที่พึ่งเรื่องนี้อีกแรง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 กินถังเช่าสกัดต่อเนื่อง เสี่ยงไตวาย ต้องระบุคำเตือนในฉลาก

        รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยพบมีผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 รายแย่ลง วัยกลางคนและสูงอายุใช้สารสกัดถั่งเช่า รับประทาน 1 เม็ดต่อวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง) เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้นกลายเป็นไตวายระยะสุดท้ายในปี พ.ศ. 2562         ปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นผู้ป่วยสูงอายุมีโรคหัวใจรับประทานสารสกัดถั่งเช่าสีทอง วันละ 1 เม็ดประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลงเมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น อีก 6 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน 1 ราย, 2 รายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 บางรายเมื่อหยุดใช้แล้วไตดีขึ้น บางรายต้องฟอกเลือด พบอีก 1 รายใช้กาแฟถั่งเช่าร่วมกับยาแก้ปวดและสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ทําให้ค่าการทํางานของไตแย่ลง         ทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องร้องเรียนในอดีตของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่หลังจากทานขี้เหล็กสกัดทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ทั้งที่ใบขี้เหล็กช่วยอาการนอนไม่หลับ บำรุงตับ แกงขี้เหล็กที่รู้จักมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ช่วยไม่ให้ท้องผูก นอนหลับสบายเมื่อมีความพยายามที่จะทำใบขี้เหล็กให้เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่ใช้ง่ายเป็นชนิดเม็ด โดยใช้ใบขี้เหล็กตากแห้งบดเป็นผงแล้วบรรจุเม็ดวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อขี้เหล็กแคปซูลเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภค เริ่มมีข้อสังเกตจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารหลายท่านว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบมีเรื่องร้องเรียนว่าทานแล้วตัวเหลืองจนต้องยุติการขึ้นทะเบียนและการจำหน่ายยาสมุนไพรชนิดนี้ในท้ายที่สุด         นอกจากปัญหารายงานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการทำงานของไต หลายคนเบื่อการโฆษณาการขายถั่งเช่ามาก โฆษณาจำนวนมากจนน่ารำคาญ ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงขายถั่งเช่าสกัดกันทั้งบ้านทั้งเมือง คนกินเยอะขนาดนี้เลยหรือ ? ถ้ามาดูโฆษณามีทั้งรักษาโรคเรื้อรังสารพัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังทางเพศ ไทด์อินในรายการต่างๆ ป้ายโฆษณาด้านหลังแนะนำสินค้าขายตรงมีให้เห็นได้ยิน ทุก 15-30 นาที จากทั้งดาราน้อยใหญ่ แทบจะทุกช่องทีวีโซเชียลมีเดียหรือแทบทุกช่องทางทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคเรื้อรังอดใจไว้ไม่อยู่อยากทดลองว่าจะช่วยได้จริงมั้ย แต่ผลลัพธ์กลับส่งผลต่อความรุนแรงของโรคหรือเกิดโรคบางประเภท เช่น ไตวายเรื้อรัง           ถึงแม้ทีวีดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดิน แต่กสทช. ก็ต้องกำกับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เข้มข้นเรื่องการโฆษณาผิดกฎหมาย เกินจริง โอ้อวด รักษาโรคของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเมื่อมีรายงานว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาไตวายเรื้อรัง อย. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับผลิตภัณฑ์นี้โดยตรงก็ต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายทั้งหลายเร่งปรับปรุงฉลาก ให้มีคำเตือนที่ชัดเจนในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ติดตามผลข้างเคียงอย่างเป็นระบบและผู้ประกอบการต้องรีบดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย         สุขภาพของเราไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หยุดคิดว่าถ้าไม่ดี อย. ก็ไม่ควรให้จำหน่ายเพราะการรู้ว่าไม่ดีมักจะมาทีหลัง หวังว่าถั่งเช่าจะไม่ซ้ำรอยขี้เหล็กที่เป็นอาหารมีคุณ แต่สกัดแล้วเป็นโทษ เพราะหากย้อนไปในประเทศจีนก็ทานถั่งเช่าเป็นอาหารใส่ในต้มจืดเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น  หรือหากในธิเบตก็นิยมทานเป็นชาหรือใส่ในอาหารเฉพาะบางฤดูเช่นเดียวกัน สุขภาพของเราคงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่มาจากความสุข การบริโภคอาหารที่ดี การใช้ชีวิต การพักผ่อนและการออกกำลังกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 มีอำนาจเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด

        คำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก ทำให้นึกย้อนไปถึงมติปปช.เรื่องนาฬิกาเพื่อนเป็นการยืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง         กรรมการเสียงข้างมาก 4 เสียง มีมติ อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมครั้งนี้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง         ขณะที่กรรมการแข่งขันการค้าเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ไม่สนับสนุนการควบรวมในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ        เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง         ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็กระทบกับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ขวากหนามสุดท้าย สภาองค์กรผู้บริโภค

        วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ซึ่งพรบ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้ออกแบบให้ปลัด สปน.ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัดในการรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค           องค์กรผู้บริโภคเกิดจากการรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10 คน ทำงานอย่างเป็นอิสระไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้งทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี องค์กรผ่านการประกาศจากนายทะเบียนกลาง จำนวน 150 องค์กร สามารถขอริเริ่มเป็นผู้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ หากมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผ่านการจดแจ้งซึ่งขณะนั้นมีองค์กรผู้บริโภค จำนวน 156 องค์กร  ให้สปน.พิจารณาการจดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน         คุณศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ไปยื่นคัดค้านว่าองค์กรผู้บริโภคว่า มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี หรือไม่ จะเป็นเหตุให้ต้องชะลอการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคหรือไม่ ตามกฎหมายมาตรา 8 เขียนไว้ว่า เมื่อผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ มีลักษณะไม่ถูกต้อง ให้มีสิทธิยื่นคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลาง และให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว ให้เพิกถอนการรับแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด         ดังนั้นการร้องคัดค้านของคุณศรีสุวรรณ เป็นการร้องคุณสมบัติขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้ง ซึ่งไม่ส่งผลต่อการขอริเริ่มการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่หากองค์กรผู้บริโภคไหนขาดคุณสมบัติ ขณะที่ยังไม่มีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่า จำนวนองค์กรที่ขอริเริ่มครบถ้วน 150 องค์กรหรือไม่ แต่หากการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย สำเร็จภายใน 30 วัน ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที        คุณศรีสุวรรณอ้างว่า หากมีองค์กรผู้บริโภคจำนวนมากขนาดนี้ปัญหาผู้บริโภค น่าจะไม่มี แต่คุณศรีสุวรรณ คงลืมไปแล้วว่า คุณศรีสุวรรณทำเรื่องคอรัปชั่นมานาน? และมีองค์กรหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้มากมาย แต่ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยก็ยังเต็มบ้านเต็มเมืองให้พบเห็นได้ ปัญหาของสังคมไทย ชี้ไปที่ไหนก็เห็นหรือพบปัญหา ยิ่งปัญหาผู้บริโภคด้วยแล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนรวดเร็วเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การระบาดของโรคโควิด19         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค หวังว่า ขวากหนามสุดท้ายจะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และสามารถเดินหน้า “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” ตัวแทนของผู้บริโภคในการรักษาผลประโยชน์ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทำไมต้องคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติก

        คนไทยทุกภาคส่วนทำงานหนักเพื่อลดการใช้พลาสติก และรณรงค์ให้ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด ไม่รับถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย หรือแม้แต่การใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก         การจัดการหรือการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ยาก ทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว ทำการแยกขยะพลาสติกอย่างละเอียดลออ เพราะการกำจัดขยะพลาสติกมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพของกลุ่มซาเล้ง ประมาณ 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่าทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยอีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นร้านค้า        ปัจจุบันประเทศไทยยังอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติก โดยที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ภาพคอนเทนเนอร์ใส่ขยะจำนวนมาก ที่ไม่สามารถกดดันให้คืนกลับสู่ประเทศต้นทาง ทำให้ต้องแบกรับภาระในการจัดการขยะพลาสติกเหล่านั้น เนื่องจากการนำเข้าขยะพลาสติกรัฐยังผ่อนผันให้สามารถนำเข้าได้ 2 ปี โดยกำหนดปริมาณให้นำเข้าในปริมาณที่ลดลง เช่น ในปี 2562 กำหนดเป้าหมายไม่เกินจำนวน 7 หมื่นล้านตัน แต่พบว่า มีการนำเข้าจริงสูงถึง 3 แสนล้านตัน หรือแม้แต่ในปี 2563 ได้รับการผ่อนผันเพียง 4 หมื่นล้านตัน แต่กลับพบว่านำเข้าในระดับแสนล้านเช่นเดียวกันความล้มเหลวในการควบคุมการกำกับดูแลปริมาณการนำเข้าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งจัดการขยะพลาสติกอันตราย ต้นเดือนกันยายนหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำเข้าขยะพลาสติกทันที ไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเหมือนกับที่กระทรวงพานิชย์ มีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเลคโทรนิกส์ไปเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา และต้องกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563ให้ได้ไม่ใช่ผ่อนผันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด         ขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากไหนขยะเหล่านี้มาจากการยุติการห้ามนำเข้าขยะของประเทศจีน ส่งผลให้ขยะพลาสติกทะลักมาสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากจีนประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าเข้าสารอันตรายที่ปะปนมากับขยะพลาสติกและขยะอื่นหลายชนิดที่นำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อรีไซเคิลและผลิตสิ่งของในประเทศ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจึงออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งสิ้น 32 รายการมาตรการนี้ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลไหลทะลักสู่ประเทศอื่นในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย เช่น พบว่า ในปี พ.ศ.2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง552,912 ตัน เทียบกับปีพ.ศ. 2559ก่อนประเทศจีนประกาศห้าม มีการนำเข้ามาเพียง 69,500 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า         นโยบายที่ขัดแย้งกันเองของรัฐบาล จะทำอย่างไรที่จะช่วยกันแก้ปัญหาต้นน้ำ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการห้ามนำเข้าขยะพลาสติก เพราะนอกจากเป็นปัญหากับซาเล้ง ส่งผลต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ยังเกิดปัญหาการแย่งน้ำของชุมชุนในการทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากขยะพลาสติก ตลอดจนความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างราคาพลังงาน ที่โรงงานพลาสติกขายไฟฟ้าได้ 5.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์มีรับซื้อเพียง 1.68 บาทเท่านั้น เร่งจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศเราเถิด ไม่ควรมีตำแหน่งรับกำจัดขยะพลาสติกทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง

        ปัญหาบอส กระทิงแดง ทำให้ย้อนกลับมาคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นอกเหนือจากตำรวจและอัยการ ที่ต้องการปฏิรูป ลดขั้นตอน สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การฟ้องศาลยังเป็นเรื่องยุ่งยากต้องใช้เงินเยอะ  แถมใช้เวลานาน  คดีผู้บริโภคมีผู้ประกอบการฟ้องคดีมากกว่าผู้บริโภคดำเนินการฟ้องเอง จนถูกข้อครหาว่าช่วยทวงหนี้แทนสถาบันการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังเป็นความจริง ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากฎหมายได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น  นั่นคือ“พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551” ที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคเรียกว่า“กฎหมายช่วยฟ้อง”          หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองกล่าวคือเมื่อถูกละเมิดสิทธิสามารถเอาหลักฐานความเสียหายที่มีไปศาลฟ้องด้วยวาจาได้ ไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งจะมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ทำบันทึกรายละเอียดของคำฟ้องจากนั้นให้ผู้บริโภคในฐานะโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองซึ่งโจทก์จะมีการยื่นหลักฐานพยานแนบมาพร้อมคำฟ้องด้วย         กฎหมายช่วยฟ้องยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้ประกอบการโดยกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบการ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ         ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองโดยอาจสั่งให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานของคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิตตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค         สามารถมีคำพิพากษาเกินคำขอได้ สามารถให้ผู้ถือหุ้นมาร่วมรับผิดชอบ มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำผิดกฎหมายซ้ำหรือยุติการเอาเปรียบผู้บริโภค เท่ากับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ การฟ้องคดีไม่ใช่การตั้งรับเยียวยาความเสียหายเพียงอย่างเดียว โดยสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า หรือ 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท และมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าจริงจากบทเรียนกรณีการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้จันทบุรีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งเพื่อการลงโทษที่ชัดเจน https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/public-society/4256-611004van.html         ผู้บริโภคสามารถทำได้จริงเมื่อใช้สิทธิกับผู้ประกอบการแล้วไม่สำเร็จ เช่นตัวอย่างฟ้องร้านทองของผู้บริโภคที่รับซื้อทองราคาต่ำกว่าที่สมาคมค้าทองคำกำหนด บริการส่งอาหารไม่เป็นธรรม ซื้อที่นอนออนไลน์แล้วถูกฉ้อโกง สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา ใช้บริการรถโดยสารแล้วประสบอุบัติเหตุ จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  สถาบันการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใช้บริการโรงพยาบาลแล้วราคาแพง หรือได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ         หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงความเป็นธรรม ฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมมากขึ้นกับผู้บริโภค และที่สำคัญช่วยกันตรวจสอบว่าทำได้จริงมั้ย เพื่อช่วยป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นระบบตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยฟ้อง

อ่านเพิ่มเติม >