ฉบับที่ 103 เบื่อจานดาวเทียม

เมืองไทยเป็นเมืองแห่งมือใครยาวสาวได้สาวเอาจริงๆ รูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของธุรกิจจานดาวเทียม จากผู้ริเริ่มเล่นที่สำคัญคือ บริษัท ชินบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต(ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่มชินคอร์ป ที่เข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่ายจานดาวเทียมเหลืองภายใต้ชื่อ DTVผลปรากฏว่าภายใน 6 เดือนสามารถหน่ายได้ถึง100,000 ชุด ทำให้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานจากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการธุรกิจบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวี ต้องปรับตัวด้วยการขายพรีเพดจานดาวเทียม โดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนแข่งกับเจ้าเดิมบริษัท โพลี เทเลคอมจำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์จานดาวเทียมภายใต้ชื่อ PSI และบริษัท สามารถ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ของกลุ่มสามารถคอร์ป การปลดล็อกค่าบริการรายเดือน ผนึกกำลังทรูวิชั่นส์และบริษัท ทรูมูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ที่เป็นลูกค้าโทรศัพท์ระบบเติมเงินของ ทรูมูฟสามารถซื้อจานแดงทรูวิชั่นส์ราคาพิเศษและมีสิทธิดูทรูวิชั่นส์อีกจำนวน 7 ช่อง ไม่ว่าใครจะเก่งกาจกว่าใครในทางการตลาดแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เราทุกคนเสียร่วมกัน คือ ทัศนอุจาดตึกที่ไม่มีความงามอยู่แล้ว ยิ่งหมดความงาม มองไปสองข้างทาง หากเจอตึกไม่ว่าจะซ้ายจะขวาจะเดินหรือนั่งรถก็จะสบสายตากับจานดาวเทียม จานดาวเทียม ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เต็มบ้านเต็มเมืองในปัจจุบันเห็นแล้วก็พาลให้หงุดหงิดว่า ตึกต่าง ๆ ไม่ต้องรับผิดชอบจัดบริการไว้ให้กับลูกค้าเลยหรือทำให้ลูกค้าต้องซื้อบริการด้วยตนเอง หรือ บริการแบบนี้ไม่ต้องจ่ายสตางค์ ได้มาฟรีเหมือนกับที่ได้รับแจกซิมฟรี เลยไม่ต้องคิดกัน ว่า “ซิม” มาจากไหน พูดเรื่องแบบนี้ คงมีคนหมั่นไส้ว่า ทีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และมีปัญหาทับคนตาย ไม่เสนอให้ทำอะไรต้องบอกว่า หากเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะยกเลิกป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทันที แม้แต่เสาไฟ สายไฟ รกรุงรังก็ต้องบอกว่า ไม่ชอบเหมือนกัน และจะหาทางยกเลิกอยากเห็นการแก้ไขปัญหา แต่จะให้ทำเสาไฟเองตอนนี้ยังทำไม่ได้ จะบังคับให้เขาวางใต้ดินก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่สำหรับจานดาวเทียม (ที่น่าเบื่อ) สิ่งสำคัญบริษัทได้โฆษณาสินค้าของตนเองสบายโดยไม่ต้องลงทุนเห็นทีกรุงเทพมหานครหรือเทศบาลจังหวัดต่างๆ น่าจะเก็บภาษีโฆษณาที่เข้าข่ายภาษีป้ายซะให้เข็ด เพราะไม่อย่างนั้น แนวการจัดการให้เมืองมีความงาม การใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจานดาวเทียม เสาโทรศัพท์มือถือ คงไม่มีใครคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแม้แต่ปัญหาใหญ่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยการแบ่งกลุ่มประชาชนตามประเภทสีของจานดาวเทียม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ปีนี้หากไม่มีการล้มการประชุมที่พัทยาของผู้นำอาเซียน ประเทศไทยคงมีโอกาสจัดการประชุมเกี่ยวกับอาเซียนอีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และผลการประชุมทั้งจากระดับผู้นำสูงสุดที่หัวหิน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ภูเก็ต และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเป็นระยะ แม้แต่ล่าสุดก็บอกว่าเราจะได้ประโยชน์จากการที่จะเปิดโอกาสให้สายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้แข่งขันกันอย่างเสรี หรือนั่นคือการเปิดเสรีการบินนั่นเอง แต่แทบจะไม่รู้ผู้บริโภครู้เลยว่า สายการบินราคาถูกปัจจุบันมีนโยบายไม่รับผู้พิการที่ไม่สามารถเดินไปขึ้นได้ด้วยตนเอง หรือนอกจากนี้ยังจะมีพิมพ์เขียว หรือแผนการดำเนินงานที่ต้องการผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวมีอะไรอีกบ้าง หากย้อนไปเทียบเคียงกับสหภาพยุโรปก็ พบว่า สหภาพยุโรปได้มีสภาพตลาดเดียวด้านเศรษฐกิจของคน ๓๗๐ ล้านคน เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒) และใช้เงินสกุลเดียวหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปอีก ๓ ปี แต่ได้เตรียมการมาไม่น้อยกว่า ๕๗ ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community-ECSC) ซึ่งมีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันมีประชากรไม่น้อยกว่า ๕๗๖ ล้านคน ได้เริ่มเรื่องนี้มานานถึง ๔๒ ปี (๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐) โดยมีสมาชิก ๕ ประเทศร่วมลงนามในปฏิญญา ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย แต่สิ่งที่น่ายินดีและเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคอาเซียน คือ กลไกความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในนาม “สภาผู้บริโภคอาเซียน” (Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งมี ๗ ประเทศร่วมมือกันในการก่อตั้ง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียตนาม และประเทศไทย โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคจากการเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคนี้ถึง ๓ บริการที่สำคัญ ได้แก่ บริการสายการบิน การซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต และบริการสาธารณสุข ในปี ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI) จัดเวทีครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้บริโภคของกิจการโทรคมนาคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ความรับผิดชอบแบบนี้มีมั้ย

บทบรรณาธิการโดยสารี อ๋องสมหวังsaree@consumerthai.org ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ฉลาดซื้อคงจำได้ว่าเคยเล่าให้ฟังถึงสาเหตุการไม่ขายอาหารดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในประเทศอังกฤษ เนื่องมาจากผู้บริโภคที่ตั้งคำถามกับผู้จัดการของห้างมาร์ค แอนสเป็นเซอร์ว่า ทำไมห้างของคุณยังมีการจำหน่ายอาหารจีเอ็มโอทั้งๆ ที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย ผู้จัดการกล่าวขอบคุณผู้บริโภค หลังจากนั้นไม่นานห้างดังแห่งนี้ก็ประกาศนโยบายไม่ขายอาหารจีเอ็มโอในห้างสรรพสินค้าของตนเองเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังก็มักจะบอกว่า จริงหรือเปล่า กุเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับห้างของตนเองหรือไม่ คนเล่าก็ได้แต่บอกเพียงว่า ก็ฟังเพื่อนจากองค์กรผู้บริโภคเล่าให้ฟังอีกที แต่ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ได้มีโอกาสไป “เห็นมากับตา” และเกิดขึ้นกับตนเองไปถึงลอนดอนตอนเช้า ประมาณ 11 โมงหิวเล็กน้อยก็เกิดความคิดรวบมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเข้าด้วยกันด้วยความประหยัด เดินหาร้านอาหารผ่านไปหลายร้านก็ยังไม่เปิดขายจนกว่าจะถึงเที่ยงตรง เลยตัดสินใจหยุดกินน้ำที่ร้านกรีนแอนส์บีน(Green & Bean) ซึ่งเป็นร้านอาหารเล็กๆ แถวสถานีรถไฟยูสตัน แต่เมื่อเข้าไปนั่งในร้านก็พบว่า เขาขายอาหารมังสวิรัติด้วย ซึ่งเปิดมาได้ซักประมาณ 4 ปี แล้ว เป็นร้านที่ราคาอาหารปานกลางไม่แพงมากนัก บุฟเฟ่ต์อาหารกลางวันตกราคาประมาณ 6.50 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 350 บาท ระหว่างที่รอเวลาอาหารกลางวันด้วยการสั่งน้ำปั่นกินฆ่าเวลาก็ฉวยโอกาสสำรวจร้านอาหารพบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตระกูลถั่วขาย ที่น่าสนใจข้างกระป๋องของอาหารเสริมนี้ เขียนว่า “ GMO test Free” แต่เมื่ออ่านฉลากก็พบว่า อาหารเสริมชนิดนี้ทำจากถั่วจีเอ็มโอ เลยได้โอกาสบอกเจ้าของร้านว่า สินค้านี้ไม่ตรงไปตรงมา เพราะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีจีเอ็มโอ แต่จริงๆ วัตถุดิบมาจากจีเอ็มโอ แต่ตรวจจีเอ็มโอไม่เจอต่างหาก เจ้าของร้านขอบคุณและเก็บสินค้านั้นทันทีที่คุยกับเรา แถมโทรศัพท์ไปบอกคนจำหน่ายสินค้าว่าอาหารเสริมชนิดนี้ใช้ไม่ได้เพราะทำมาจากถั่วที่เป็นจีเอ็มโอ ความผิดพลาด ความบกพร่องเป็นเรื่องปกติ แต่ความรับผิดชอบแบบนี้ในร้านค้าบ้านเรามีมั้ย เจอของจริงเข้ากับตัวเองก็เป็นปลื้มไปนาน คุยทั้งที่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยคุยกับทุกคน ยังไม่พอต้องเขียนมาคุยให้กับผู้อ่านทุกคนได้รับรู้เรื่องนี้และผลักดันเรื่องนี้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 สมาคมผู้ประกันตน ใครสนใจยกมือขึ้น

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะทำให้ผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคนได้ประโยชน์อย่างน้อยก็สองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นมาตรการจ่ายเงิน 2,000 บาทให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท และที่เพิ่งจะมีผลเร็วๆ นี้ ก็ดูจะเป็นการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนซึ่งทำให้เป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ประกันตนไม่น้อย แต่สิ่งที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้หรือมั่นใจก็คือว่า เงินของตนเองที่สมทบหรือจ่ายเข้าไปในแต่เดือนสูงสุดประมาณ 750 บาทหรือปีละประมาณ 9,000 บาทถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ยกตัวอย่างที่เพิ่งจะถูกวิจารณ์และยังไม่เป็นข่าวให้ได้รับรู้กันมากก็คือ การเพิ่มเงินค่าหัว (Capitation) ให้กับโรงพยาบาลที่ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขให้โรงพยาบาลเหล่านั้นปรับปรุงเรื่องคุณภาพบริการ หรือมีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมูลนิธิ ฯ ได้รับข้อมูลคุณภาพของผู้ประกันตนที่ไปรับบริการโรงพยาบาลแล้วมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดือนที่แล้วก็ได้รับทราบสาเหตุการตายของคุณพ่อของน้องซึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฯ เนื่องจากใช้สิทธิประกันสังคมแล้วไม่ได้รับการดูแลในภาวะวิกฤตที่ดีพอ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด ครอบครัวผู้ตายมีความพยายามที่จะให้สำนักงานประกันสังคมเจรจาให้โรงพยาบาลรับผิดชอบ และหาทางปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาล แต่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคม บอกเพียงแต่ว่า โรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ถูกส่งต่อรับการรักษา วิเคราะห์ไปถึงกลไกในการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ผ่านคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยคำร้องเรียนของผู้บริโภค และเสนอให้มีการดำเนินการกับโรงพยาบาล และหากมองไปถึงกลไกในระดับนโยบายหรือคณะกรรมการประกันสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคีก็ไม่รู้จะมีความหวังได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเพียงแค่สิทธิประโยชน์คนไข้ไตวายเรื้อรังยังมีปัญหาลุ่ม ๆ ดอน ๆ กลุ่มคนแรงงานนอกระบบที่ทำงานตามบ้าน ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมคุ้มครองสิทธิประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากสุขภาพ มาหลายสิบปียังไม่มีความคืบหน้า เพราะเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่เคยคิดว่าที่เขาอยู่ดีมีสุข เงินเดือนได้ขึ้นทุกปีถึงแม้ประเทศจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเงินของคนเล็กคนน้อยที่ทำให้สำนักงานอยู่ได้มาอย่างต่อเนื่อง ทางออกของเรื่องนี้ คงไม่ได้มีทางเดียว แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกันตน ทวงสิทธิของตนเองมากขึ้น เพื่อให้ระบบมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างให้ตอบสนองต่อผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น ฉบับหน้าวารสารฉลาดซื้อขึ้นฉบับที่ 100 สมาชิกและผู้อ่านท่านใดมีคำแนะนำที่อยากให้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาก็อยากให้แนะนำกันเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของสมาชิกเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 โอกาสแห่งความสุขที่หาได้ยาก

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ถึงแม้ปีนี้เราอาจจะไม่ค่อยมีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองกันมากนักไม่ว่าจะทั้งสงกรานต์ที่ผ่านมา หรือวันคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยเหตุความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมือง รวมทั้งการจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายหัวเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  ปีนี้ต้องนับว่ามีความก้าวหน้าของเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประเด็น ไม่ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้ออำนวยกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยซึ่งเพิ่งจะมีผลใช้บังคับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และที่นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคก็คงจะเป็นการยื่นรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,208 รายชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีโอกาสจัดงานเปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภคบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่หลายคนเรียกว่า อนุสาวรีย์กลางสมรภูมิ และในงานเดียวกันนี้ก็ได้ประกาศรายชื่อสินค้าและโฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่ ใครได้รับการลงคะแนนจากผู้บริโภคในครั้งนี้บ้าง น่าจะได้ทราบข่าวกันไปแล้ว บรรยากาศในงาน มีท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติมาเป็นประธานในงาน อาจารย์ พี่ ๆ น้อง ๆ กัลยานมิตร เพื่อนสื่อมวลชน และเครือข่ายผู้บริโภคจากหลายจังหวัด แต่ประเด็นสุดท้ายในงาน ทุกคนต้องการคุยเรื่องเดียวกันว่า เราจะช่วยกันหาคำตอบจากการเมืองแบ่งสี เมื่อสังคมขาดความเชื่อถือต่อการเมืองในระบบ วิกฤตการเมืองครั้งนี้รอวันประทุจากทั้งความเชื่อที่แตกต่าง พื้นฐานความไม่เป็นธรรมทางสังคม การคอรัปชั่น นักการเมืองที่ฉ้อฉล ได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ทรัพย์สิน “หนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท” เป็นของใคร

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org จากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม ๕ คน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น ณ. วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดิน มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดินเวนคืน ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ ๓ โครงการอีก ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และได้แจ้งให้กับสำนักงานเลขาธิการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บริษัทปตท. ว่า ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก ๓๒,๖๑๓ ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท หากรวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มนับว่าไม่น้อยกว่า ๑๘๙,๑๗๕ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ต่างใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน การใช้ที่ดินราชการ การใช้ที่สาธารณะ ซึ่งบริษัทปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน นอกจากไม่มีใครสนใจทวงคืน นับตั้งแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดูเหมือนจะร่วมมือกันไม่ปฏิบัติหน้าที่กันถ้วนหน้า จะให้ปตท.แจ้งคืนก็ดูจะผิดธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาทวงแล้วก็ยังคืนไม่ครบถ้วน แต่ที่น่าเจ็บใจบริษัทปตท. ได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้ง ๆที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี กำลังจะนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางชั้นดีให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๙.๗๔ บาทต่อล้านบีทียู เป็น ๒๑.๗๖ บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น ๒.๐๒ บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ประชาชนตาดำผู้ใช้ไฟต้องรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ใครมีข้อเสนอดี ๆ ว่าเราจะสามารถนำทรัพย์สินของบริษัทปตท.คืนให้ครบ และคัดค้านการนำทรัพย์สินของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้น เพราะที่ผ่านมาไปยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน ท่านก็มีคำสั่งว่าประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจบังคับคดี แถลงข่าวว่าปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบก็ไม่ค่อยเป็นข่าว ไปยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานว่า ห้ามขึ้นค่าบริการใช้ท่อก๊าซกับ รัฐมนตรีปลัดกระทรวงพลัง และกกพ. ก็เงียบ “ ทำอย่างไรกันดีประเทศไทย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 - รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่

บทบรรณาธิการ / รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่โดย สารี อ๋องสมหวัง ความพยายามของหลายกลุ่มที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชัดเจนในสังคมที่ต้องการเห็นความคืบหน้าของการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เสนอให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก กลุ่มสมานฉันท์ที่ต้องการใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก กลุ่มผู้ไม่เอาสงครามกลางเมืองที่ได้สะท้อนมูลเหตุสำคัญทางการเมืองที่รอวันปะทุของสงครามกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าต่อสู้และไม่ยอมรับการตัดสินของศาลจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คุณภาพ จริยธรรม ภาวะตกต่ำของนักการเมืองที่กลุ่มคนดูหมดความอดทน การเคลื่อนตัวของกลุ่มคัดค้านทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย สื่อสารมวลชนของรัฐที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่ วิทยุชุมชน เอเอสทีวี ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการ ไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีการบริหารจัดการ  ได้แต่มีความหวังว่าเมื่อหนังสือฉลาดซื้อถึงมือผู้อ่าน คงไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้อีก ฉลาดซื้อได้ริเริ่มโครงการให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ร่วมตัดสินและโหวตให้คะแนนกับผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ หลักเกณฑ์ในการส่งรายชื่อก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ใครคิดว่าในรอบปีที่ผ่านมา (2551) ถูกบริษัทไหนละเมิดสิทธิมากที่สุด และบริษัทที่ดูดีที่สุดในสายตาของเราทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งโฆษณาชิ้นไหนที่ชื่นชอบและดูแย่ที่สุดในสายตาคุณ แต่มีเกณฑ์สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีวางขายทั่วประเทศ และโฆษณาเฉพาะโทรทัศน์เท่านั้น หวังว่าสมาชิกจะช่วยกันส่งชื่อกันเข้ามาให้มากนะคะ ถึงแม้ ช่วงนี้ข่าวสารอื่นๆ ที่สำคัญมักจะถูกให้ความสำคัญน้อย ไม่จะเป็นปัญหาด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ เพราะแม้แต่วิกฤตการเงินซึ่งเกิดขึ้นเกือบทั่วโลก ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเป็นปัญหามากนักในประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองยึดครองพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานาน หรือเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าหากทำอะไรช่วงนี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ ดังนั้นการใช้สิทธิโหวตครั้งนี้มีความหมาย เพราะการเป็นการลงคะแนนทางตรงให้กับผู้ประกอบการ เหมือนกับประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และต้องมีความหวังกับการเมืองทางตรงของภาคประชาชนที่ต้องทำให้มีเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางความอับจนของการเมืองตัวแทน แต่ต้องบอกว่าห้ามโหวตการเมืองยอดแย่กันเข้ามานะ(ฮา)

อ่านเพิ่มเติม >