ฉบับที่ 112-113 ควันหลงฟุตบอลโลก

ก่อนที่จะชวนคุยเรื่องฟุตบอลโลก สารีและทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทุกคน ขอขอบพระคุณทุกท่าน และหน่วยงานต่างๆ ที่ให้กำลังใจ การช่วยเหลืออุปกรณ์สำนักงานและการให้ใช้อาคารสำนักงานฟรี ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ ที่ได้รับผลกระทบถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ชุมนุมและการจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคารไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท  ปัจจุบันมูลนิธิ ฯ ได้รับบริจาคจำนวน 3 ล้านกว่าบาท อาคารหลังนี้ขนาด  1000 ตารางเมตร เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์   ให้มูลนิธิฯ เช่าใช้ประโยชน์ระยะยาว 30 ปี ในราคา 8,000 บาทต่อเดือน โดยการประสานงานของอดีตท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน และยังได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยระดมทุนในการปรับปรุงอาคารนี้เมื่อสองปีที่แล้วโดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาททั้งจากการระดมทุนและเงินสะสมของมูลนิธิ ฯไม่น้อยกว่า 17 ปี กำลังใจและการช่วยเหลือที่ได้รับ เป็นทั้งพลังและแรงผลักดันให้มูลนิธิฯ ต้องเดินหน้าอย่างเข้มแข็งและต่อสู้เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน หวังว่าในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน มาถึงเรื่องฟุตบอลโลก สิ่งทำให้ผิดหวังไม่ใช่การแข่งที่ไม่สนุก แต่การใช้สิทธิของเอกชนรุกรานบ้านเรือนที่ดูฟรีทีวีปกติ ทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวที่มีจานดาวเทียมสีดำ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ต้องมีเพราะดูทีวีปกติไม่ได้ ไม่ว่าบ้านอยู่ใกล้ตึกสูง อับสัญญาณ หรืออยู่อาศัยในอาคารชุดที่เขาจัดมีให้บริการ การละเมิดสิทธิผู้บริโภคครั้งนี้ มีเพียงคำอธิบายจากบริษัทอาร์เอส ว่า เป็นข้อตกลงกับฟีฟ่าไว้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นบริษัทจะถูกปรับ ผู้ถูกตัดสัญญาณไม่เคยเห็นสัญญา ไม่เคยรับทราบว่าจะถูกปรับเท่าใด การเสนอข่าวเรื่องนี้มีเพียงสองสามวัน แต่ไม่มีใครถามว่า บริษัทมีสิทธิอะไรในการไปทำสัญญาแล้วทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวเสียเวลา เสียหายต้องซื้อหนวดกุ้งเพื่อดูทีวีและแถมไม่ชัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจในการเก็บเงินจากร้านค้า ร้านอาหารที่มีการเปิดฟุตบอลโลกร้านละประมาณ 10,000 บาท ต่อหนึ่งเดือนที่มีฟุตบอลโลก ซึ่งมีเกือบ 2,000 ร้าน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็จำยอม จ่ายเงินให้ เพราะไม่ต้องการเกิดปัญหาเรื่องตามจับ ข่มขู่ ทั้งๆ ที่เป็นการเปิดทีวีปกติที่ไม่ใช่เทปซีดีเฉพาะหรือดนตรีเพลงของบริษัทใด แถมยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจากแต่ละช่อง ส่วนแบ่งโฆษณาจากฟรีทีวีในช่วงที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแต่ละนัดอีกมากมายมหาศาล นี่เป็นเพียงผลประโยชน์เบื้องต้นที่ได้เห็นและบริษัทคุยให้ฟังว่าประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้นเอง เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามน้อยมาก และเป็นเหตุให้ไม่ยอมเปิดเผยสัญญาที่ทำไว้กับฟีฟ่า แต่สามารถรุกรานสิทธิของคนเล็กคนน้อยได้เต็มบ้านเต็มเมือง กรณีนี้น่าจะมีการดำเนินการเพื่อเป็นบทเรียนให้กับผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า(ก็อาร์เอสอีกนั่นแหละ) มากๆ  ใครเป็นสมาชิกจานดำ ขอให้ช่วยกันคิดปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกรอบฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้วได้เปิดเผยผลการสำรวจการเข้าถึงความรู้กับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ประเทศไทยติดอันดับ 10 ประเทศรั้งท้าย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 หมอเทวดาภาคสอง

หมอเทวดาภาคสอง "หมอไม่อ่านหรือหมอไม่ฟังคนอื่น" คงจำได้ว่าเคยเขียนถึงหมอฮัวโต๋ ซึ่งเป็นหมอคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ รักษาคนไข้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์วางยาสลบให้กับคนไข้ และพอคนไข้สลบไป หมอฮัวโต๋ก็จะจัดการผ่าตัดทันที นับว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการแพทย์ในปัจจุบันก็ว่าได้ หากเปรียบเทียบหมอฮัวโต๋ กับหมอในเมืองไทย ก็คงเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่น่าแปลกใจ ที่หมอปัจจุบันถูกทำให้กลัวโดยยังไม่รู้ ความจริง ถูกหลอกให้เชื่อทั้งที่ไม่เป็นความจริง ใครจะคิดว่าเกิดขึ้นกับแพทย์ การคัดค้านเพื่อให้ถอนร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกจากการพิจารณาของรัฐสภา โดยแนวทางการคัดค้านเริ่มจากการทำให้กลัวว่าจะถูกฟ้อง แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การฟ้องร้องทางคดีอาญาจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิใช้ ด้วยเป็นสิทธิทางกฎหมายของทุกคน     แต่การค้านเรื่องนี้ก็ไม่สำเร็จ เพราะมาตรา45 กำหนดให้กรณีผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาท หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติพฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การทำสัญญาประนีประนอมตามกฎหมายฯ มาพิจารณาประกอบ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้พยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบแต่ด้วยหลักการแก้ปัญหาเชิงบวก ไม่เพ่งโทษที่บุคคลเน้นความร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่เป็นเหยื่อความผิดพลาดของระบบ กฎหมายการชดเชยฯ จะเป็นระบบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหายฯ ไม่ว่าผู้ป่วยหรือญาติ หันหน้าเข้าหากัน แทนการเผชิญหน้า เพราะโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั่วไปก็คือ การฟ้องร้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่  ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงได้ยาก "เพราะยุ่งยาก"  "เสียเวลานาน" และ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ "เน้นการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ไม่เพ่งโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง" และ "ใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นครู" เมื่อใช้การขู่ว่าจะถูกฟ้องไม่สำเร็จ ก็กลับมาใช้เหตุผลองค์ประกอบกรรมการที่ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพ  "ทั้งที่" มีอยู่ถึง5 คนในร่างกฎหมายมาตรา 7 และจำนวน 2 คนในคณะอนุกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในมาตรา 12จากจำนวน 5คนทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ดูรายละเอียดกฎหมายได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_hr/d051253-05.pdf) หลังจากนั้นก็บอกว่าควรขยายกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแล คนไข้บัตรทอง 47 ล้านคน (ผู้นำกลุ่มนี้เคยใส่ปลอกแขนดำคัดค้านมาตรา 41 เพราะบอกว่าจะฟ้องหมอมากขึ้น แต่ก็พบว่าไม่เป็นจริง) และที่สำคัญต้องเริ่มต้นแก้กฎหมายใหม่เข้าคณะรัฐมนตรี ไปกฤษฎีกาอีกประมาณ 11 เดือน ที่แพทยสภาแพทยสมาคม สมาคมคลินิกเอกชน มีส่วนร่วมมาโดยตลอดเห็นชอบโดยครม.อีกรอบ ก่อนเข้าสภา   "ที่เล่าอย่างนี้" อยากให้ "ช่วยกันคิด" ว่าสาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะหมอ  "ไม่ทำตามกาลามสูตร ไม่อ่านกฎหมาย" แต่เชื่อจากการ ที่กลุ่มหมอด้วยกัน "เล่าให้ฟัง".... ถูกแพทยสภาที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนหลอกเพราะไม่อยากร่วมจ่าย หรือเต็มใจให้หลอก ผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ที่ได้น้อยกว่าโรงพยาบาลชุมชน หรือไม่ฟังคนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ หรือมาจากสาเหตุทั้งหมดที่พูดมา...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 GMOs Turn Around ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างไร

ภาคธุรกิจการเกษตรจากหลายกลุ่ม ได้เข้าพบอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่ององค์การอิสระสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือขอให้พิจารณาถอดถอน โครงการที่ 18 “การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMO)” ออกจากบัญชีประเภทกิจการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงตาม ม.67 วรรค 2 แถมขู่ไว้ว่าหากยังไม่มีการถอดถอนหรือ เปลี่ยนแปลงใดๆทางกลุ่มจะดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เห็นจะเป็นว่า หากปล่อยให้ โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับ วัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GMO (genetically modified) ไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) ซึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่าย จะทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และโอกาสที่โครงการเหล่านี้ จะหลุดลอด ปนเปื้อนกับพืชทั่วไป ย่อมเป็นไปได้ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันมาแล้วกรณีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในหลายจังหวัด การอ้างว่า จีเอ็มโอ ปลอดภัย และไม่ต้องศึกษาผลกระทบดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะความปลอดภัยของ GMO หากจะเถียงกัน คงจะไม่จบ เพราะยืนคนละมุมชัดเจน ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล บริษัทก็ทำงานวิจัยของตนเอง ถึงแม้จะมีนักวิชาการ (รับจ้าง) รับประกันเรื่องความปลอดภัย ว่าใช้สารเคมีน้อยลง แต่นักวิชาการอีกกลุ่มยืนยันการใช้สารเคมีไม่ลดลง แถมผูกขาดการใช้สารเคมีของบริษัทตนเองอีกต่างหาก ฟังอย่างนี้แล้วผู้บริโภคคงไม่กล้ายอมรับว่าปลอดภัยจริง เพราะทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ถึงมีนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในยุโรป นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังไม่มีใครกล้าตอบเรื่องนี้ แม้แต่ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภค (Consumers Union) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กดดัน รัฐบาลโอบามาให้ยอมรับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ  (CODEX) และเรื่องนี้มีคนอเมริกาสนับสนุนมากถึง 110,000 คน http://www.consumersunion.org/pdf/Codex-comm-ltr-0410.pdf.  นอกจากโอกาสในการปนเปื้อนหากไม่ทำการศึกษาให้ดีแล้ว ย่อมส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น่าจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งละเมิดสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และสิทธิในการเลือกซื้อ ทำไมบริษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ จึงกลัวการทำ  HIA และ EIA ตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่เลือกใช้การล๊อบบี้ จ้างนักวิชาการ มาตรการข่มขู่ หากแน่จริงและคิดว่าทำตามมาตรฐานสากลแล้วจะกลัวอะไรกับการทำ HIA หรือ EIA หรือที่แท้ไม่แน่จริงอย่างราคาคุย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ก้าวให้พ้นความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางการเมือง

ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าใครจะพูดจะเสนออะไรก็จะถูกจับเข้าพวกทั้งฝ่ายตัวเองและอีกฝ่ายโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงที่กำลังคุยกัน หรือต่างอ้างข้อเท็จจริงที่เป็นของตนเอง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้มีโอกาสเรียกร้องร่วมกันให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดของตนเองเกือบพันแห่ง วันที่รณรงค์ร่วมกัน ได้มีผู้ร่วมกิจกรรมต่างดึงมือตบและตีนตบออกมาจากระเป๋าของตนเอง สะท้อนความร่วมมือของประชาชนที่พร้อมจะดำเนินการร่วมกันเมื่อเป็นปัญหาของประชาชน เราต่างเชื่อว่า ปัญหาของประชาชนที่แท้จริงไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีแบ่งฝ่าย แต่รอการแก้ไขปัญหา เพราะขณะที่กรุงเทพ ฯ กำลังเลือดตกยางออก จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ปรากฏข่าวชาวบ้านประท้วงการสร้างถนนผ่านที่ทำกิน ปัญหามาบตะพุดยังไม่มีทางออก องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระยังไม่เกิด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทางนโยบายที่เข้มข้นในอดีตของรัฐบาลทักษิณ ปัญหาคอรัปชั่นในปัจจุบัน ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและทำให้รัฐเสียหายมากมายและเป็นภาระผู้บริโภค โอกาสของคนจนในทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแทรกแซงสื่อ ปัญหาหลายมาตรฐานแม้แต่เรื่องพื้นฐานของประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล ต่างเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นต้น แต่เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และประชาชนที่เป็นเพียงหมากทางการเมืองอย่างเราต้องอดทนและร่วมมือกันแก้และหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ และอาจจะไม่ได้มาจากคำตอบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเพียงวาทะกรรมและการช่วงชิงผลประโยชน์การนำในทางการเมือง และเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นผู้บริโภคต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองที่จะร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการปฏิรูประบบและกลไกทางการเมือง ระบบภาษี ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบสวัสดิการทางสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ถึงเวลามีองค์การอิสระผู้บริโภค

มีโอกาสไปประชุมที่เชียงใหม่ เรื่ององค์การอิสระผู้บริโภค ก้าวใหม่ของประชาชนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีผู้บริโภค แจ้งเบาะแสความร้ายกาจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ และเอาใบปลิวประกาศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ มาให้เป็นของขวัญในโอกาสไปร่วมงาน ประกาศของการไฟฟ้าฯ ฉบับนี้ เป็นประกาศเกี่ยวกับกรณีการชำระเงินค่าไฟฟ้าเกินกำหนดระยะเวลาการไฟฟ้า ฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระเกินกำหนดตามขนาดมิเตอร์ดังนี้ มิเตอร์แรงต่ำ 1 เฟส จำนวนเงิน   107.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)มิเตอร์แรงต่ำ 3 เฟส จำนวนเงิน  160.50 บาทจึงแจ้งมาเพื่อทราบ ... การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ การประกาศเก็บค่าธรรมเนียม 107-160.50 บาทของการไฟฟ้าสามารถทำได้โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของใคร เพียงแต่ส่งใบปลิวที่เห็นกันบ้างไม่เห็นบ้าง แต่ถือว่าเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้ไฟได้รับทราบ ดูจะไม่แตกต่างต่างจากบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ที่สามารถขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาทเกือบ เป็นการขึ้นราคาเกือบ 50% ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(หรือหน่วยงานต่าง ๆ ) จะประกาศบังคับใช้อะไรก็ได้ โดยไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น และไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิเรื่องนี้ไว้ให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย กฎ และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนร่วมกันเคารพสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ขอถือโอกาสชักชวนให้สมาชิกและผู้อ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ช่วยกันโทรศัพท์สายตรง ส่งเสียงถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์  (0-2589-3439) หรือจดหมาย โทรสารคัดค้านการออกประกาศฉบับนี้ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เลขที่ 200 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 เบอร์โทรศัพท์ 02 589 0100-1 PEA callcenter 1129 /โทรสาร 02 589 4850-1) เพื่อแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าควรทำหน้าที่ของตนเองไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดต่างๆ ออกประกาศที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจาก สคบ. บังคับการไฟฟ้าให้แจ้งผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 7 วันหากจะตัดไฟฟ้า แต่เมื่อมีประกาศฉบับนี้หากเลยกำหนดจ่ายเงินก็จะได้เงินค่าปรับทันที โดยไม่ต้องแจ้งผู้บริโภคตามข้อบังคับของ สคบ. นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ควรปรับปรุงการสนับสนุนการจ่ายค่าบริการการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สนับสนุนค่าบริการเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายโดยหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต (แถมได้ลด 1.5 %) แต่ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ต้องรับภาระจ่ายค่าบริการ ณ จุดบริการชำระเงินและบางครั้งมากกว่าค่าไฟฟ้า หากรวมค่ารถโดยสาร ค่าเดินทางที่จะต้องมาจ่ายค่าไฟฟ้ากันในปัจจุบันจากเดิมที่มีบุคลากรจากการไฟฟ้าไปเก็บค่าไฟฟ้าถึงบ้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ถึงเวลาแพทยสภาต้องมีคนนอก

ฟังเหตุผลของแพทยสภาที่รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อย่างเป็นเอกฉันท์โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ แล้วชวนให้หงุดหงิด เพราะไม่ว่าใช้สมองด้านไหนคิดก็จะต้องยอมรับว่ากระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติแน่นอน เพราะอาจารย์หมอไม่ได้เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเท่าเดิม แต่มีคนเรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป นอกเหนือแน่ๆ คือคนที่เรียนต้องรวยเท่านั้น เพราะใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังเหตุผลของอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เขียนอีเมล์มาหาในเรื่องนี้ว่า “แม้แต่หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ก็ทำให้ลูกคนรวยได้เปรียบคนอื่นมากขึ้นไปอีก เพราะคนรวยเท่านั้นที่จะเรียน รร.อินเตอร์ได้ พอมาสอบเข้าเรียนแพทย์ก็ไม่ต้องแข่งกันมากเหมือนหลักสูตรตามปกติเหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ ที่เปิดไปแล้ว แม้จะระบุว่าต้องใช้ทุน เป็นคนไทย แต่ไม่ทราบหรือว่าตอนเรียนเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านต่อปี จะยอมใช้ทุนอีกสี่แสนนั้นเรื่องเล็กไม่ใช่หรือ หลังจากนั้นก็ไปทำงานรพ.เอกชนเพื่อโกยเงินต่อไป ทำเป็นไม่รู้หรือเปล่า แล้วภายหน้าไม่ทำให้แพทย์มีสองกลุ่ม คือแพทย์ลูกคนรวยและแพทย์ทั่วไป จะบอกว่าไม่ทำให้การผลิตแพทย์ปกติถูกกระทบก็ไม่น่าเชื่อ เพราะอาจารย์แพทย์มีจำกัด” แถมต่อท้ายมาว่า “ไม่อยากพูดเรื่องนี้อีกแล้ว” ต้องถามว่า แพทยสภาไม่รู้จริงหรือแกล้งไม่รู้แต่หากเป็นสำนวนของศาลก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่แพทยสภาต้องรู้หรือควรรู้ แต่หากพิจารณารูปตอนแถลงข่าวเรื่องนี้ก็จะไม่แปลกใจ เพราะในนั้นมีเพียงสองคนจากจำนวนเก้าคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผู้บริหารหรือมีหุ้นจำนวนมากในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สัดส่วนกรรมการแพทยสภาในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการมีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ไปเป็นกรรมการมากขึ้น เช่น ประเทศนิวซีแลนด์แคนาดา อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ มาลาวี และประเทศอังกฤษ มีบุคคลภายนอกมากถึง 50% เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เพราะการตัดสินใจของแพทยสภา เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมกระทบต่อสาธารณะ เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา เพราะการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพูดกันใช้ชัดๆก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน(Medical Hub) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ขออภัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่ท้วงติงมาด้วยมิตรภาพ ถึงบทความที่กระทบต่อสิทธิผู้ป่วยในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ คงจำกันได้ เมื่อแพทยสภาออกมาตรการให้แพทย์สามารถปฏิเสธไม่ดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ฉลาดซื้อได้มีส่วนร่วมในการคัดค้าน เพราะเราเห็นว่า สิทธิผู้ป่วย ที่เป็นผู้บริโภค เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรให้การเคารพ คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อและผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราขอแสดงความรับผิดชอบและขออภัยผู้อ่านทุกท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนได้ตัดสินใจยุติการเขีย­­­­­­นบทความในนิตยสารฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของนิตยสารด้วยกัน   บรรณาธิการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 โฆษณาส่งท้ายปีใหม่

ป้ายราคาครึ่งกิโลที่แทบจะมองไม่เห็น เป็นกลยุทธการขายสินค้าในอดีต ถึงแม้จะยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ดูจะกลายเป็นการส่งเสริมการขายที่ล้าหลังที่ผู้บริโภครับรู้และเท่าทันได้ไม่ยาก แต่กลยุทธที่ผู้บริโภคอาจจะยังตรวจสอบได้ยากก็คงจะเป็นสินค้าลดราคาต้อนรับเทศกาลต่างๆ ที่ดูเหมือนจะลดกันข้ามปีให้เห็นกันอยู่เสมอ  กลยุทธถัดมาก็คงเป็นเรื่องการโฆษณาชิงโชค การแจกของ เช่น ที่เห็นกันทุกวันคงจะเป็นการส่ง SMS ไปยังรายการข่าวต่างๆ ในโทรทัศน์ เพื่อแลกของมูลค่าเพียงเล็กน้อย แต่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรายการ และได้รับความนิยมไม่น้อยจากผู้ผลิตรายการ นิยมกันมากดูจะเป็นการแจกโทรศัพท์มือถือ แม้แต่น้ำขวดก็ส่งเสริมให้คนดื่มด้วยการชิงโชค ทั้งที่เราไม่ควรต้องซื้อน้ำดื่ม นำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือขายตรงถึงตัวผู้บริโภคเป็นปัญหาสำคัญในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการขายประกัน ส่งข่าว ดูดวง ชิงโชค โหลดเพลง เล่นเกมส์ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในการหลอกลวงฉ้อโกงต่างๆ แต่ที่ทำให้สับสนและแอบโฆษณากันมากจนเป็นที่รำคาญในยุคปัจจุบัน คือ โฆษณาแฝง การวางสินค้าในรายการ การหยิบ การใช้สินค้า ไม่ว่าจะในละครซิทคอม ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร รายการข่าว ที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน จนทำให้ขาดความงาม ศิลปะในรายการ และกระตุ้นการบริโภคที่เกินความจำเป็นของเด็ก เยาวชน  ถึงแม้มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน จะกำหนดไว้ว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทยก็ยังไม่สามารถออกกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ ทั้งที่ถูกกำหนดให้มีภายใน 1 ปี นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รับรู้ปัญหา ได้บทเรียนและเรื่องราวดีๆ ที่สำคัญมีข้อมูลในการเลือกซื้อโดยไม่ต้องใช้โฆษณาของผู้บริโภคมาตลอดทั้งปีจากนิตยสารฉลาดซื้อ ก็ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพราะชีวิตในปัจจุบันเลี้ยงลูกให้ดี เป็นคนดี ทำงานดี คงไม่เพียงพอหากต้องช่วยกันทำให้เพื่อนของลูกดี สังคมดีด้วยร่วมกัน นอกเหนือจากการซื้อรถที่ต้องดูหมอเพราะดูโฉลกสีรถ ก็คงต้องดูสัญญาผ่อนรถด้วยเช่นกัน (ฮา ๆๆ) สุดท้ายก่อนสิ้นปี ขออวยพรให้สมาชิก ผู้อ่านฉลาดซื้อและครอบครัวทุกคน มีความสุข ความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีงามในปี 2553 รวมถึงมีความหวังและเชื่อร่วมกัน ว่า “เงินของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเรา ระบบเศรษฐกิจ การผลิต สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กับดักความจริงกับงบโฆษณา

โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่สุดในตลาดสหรัฐจำนวน 3.8 ล้านคัน หลังพบปัญหาเกี่ยวกับพรมปูพื้น ที่อาจขัดคันเร่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ (29 ก.ย. 2009) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเรียกคืนรถยนต์ "วิตซ์ "(Vitz) ประมาณ 82,00 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับ ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้( 21 ตุลาคม 2009) บริษัทร่วมทุนระหว่างตงเฟง มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ของจีน และนิสสัน มอเตอร์ส ของญี่ปุ่น เตรียมเรียกคืนรถเกือบ 52,000 คันในจีน เนื่องจากความบกพร่องเรื่องความปลอดภัยของระบบพวงมาลัย ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน "ฟอร์ด มอเตอร์" ก็เรียกคืนรถยนต์ 4.5 ล้านคัน จากระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ บริษัท ฮอนด้า ประกาศเรียกคืนรถ 440,000 คัน ในสหรัฐ หลังจากพบข้อบกพร่อง ในถุงลมนิรภัย ที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุ(1 ก.ค.) ฮอนด้า เรียกคืนรถเพิ่มเป็น 1.14 ล้านคันจากสหรัฐ แคนาดาและญี่ปุ่น หวังแก้ไขระบบส่งกำลัง และถังน้ำมัน บริษัทวอลโว่เรียกคืนรถครั้งที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท แม้ที่ผ่านมาจะมีรายงานอุบัติเหตุไฟไหม้รถ รวม 7 กรณี แต่จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ การเรียกคืนรถของวอลโว่ครั้งนี้ เพื่อทำการติดตั้งระบบพัดลมระบายความร้อนให้กับลูกค้าใหม่โดยไม่คิดมูลค่า ด้านนางฉันทนา วัฒนารมย์ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอลโว่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับรถวอลโว่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรถที่นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศไทย ปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และพบตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศซึ่งมักจะปรากฏเป็นข่าวให้ได้รับรู้ในเมืองไทย แต่เราแทบจะไม่เห็นข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศดี ไม่มีปัญหา หรือไม่เคยพบความชำรุดบกพร่องเลยหรือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยในเรื่องนี้ กลับพบว่า หนังสือพิมพ์แทบทั้งหมด สถานีโทรทัศน์รายการข่าวต่างๆ ของแทบทุกช่องยกเว้น โทรทัศน์สาธารณะ (TPBS) ไม่สามารถเสนอข่าวได้เลย เพราะกลัวอิทธิพลของเอเจ็นซี่โฆษณาที่มีมากกว่าความเสียหายของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ เลือกที่จะซื้อใจบริษัทโฆษณา หรือสถานีโทรทัศน์ แทนความรับผิดชอบของตนเองในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ความรับผิดชอบมีแบบจำกัด และผู้บริโภคต้องใช้กำลังมากมายกว่าจะรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายกับผู้บริโภคที่สำคัญ ๆ หรือไม่อย่างนั้นผู้บริโภคต้องมีลูกบ้า ขับรถของตนเองติดป้ายประจานความเสียหาย ตระเวนไปทั่วบ้านทั่วเมือง หรือทุบรถให้เห็นเป็นขวัญตานักข่าว จึงจะเกิดความตื่นตัวของทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงาน บอกว่าเราต้องมีกฎหมายมะนาว(Lemon Law) เมื่อข่าวนั้นเงียบหายไป การแก้ปัญหาในทางระบบ การมีมาตรการ การมีกฎหมายก็เงียบเข้ากลีบเมฆไปเช่นกัน สังคมทุนนิยมแบบไทยๆ มีกับดักความจริงกับงบโฆษณา แถมความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของหน่วยงานต่อความเสียหายของคนเล็กคนน้อย และความเสียหายต่อรัฐ ผู้บริโภคอย่างเราต้องทำหน้าที่เป็นลูกแมกซ์ที่ติดไปในเครื่องถ่ายเอกสารแล้วทำให้เครื่องถ่ายเอกสารพัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ประมูล 3 G อย่างไรผู้บริโภคได้ประโยชน์

ตื่นเต้นไปตามๆ กันเมื่อทุกคนเริ่มเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสประมูลให้ใบอนุญาต 3 G ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกันนักว่าเจ้า 3G นี้แตกต่างจากระบบปัจจุบันที่เป็น 2 G อย่างไร  ฟังแนวทางจากคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าไม่อยากให้ประมูลราคาสูงมาก เพราะจะเป็นภาระแก่ผู้บริโภคประมูลสูงเป็นภาระผู้บริโภคจริงเหรอ ?? ลองดูรูปข้างล่างเรื่องนี้กันเล่นๆ แล้วให้ทายว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุที่มูลค่าการประมูลที่ราคาสูงไม่เกี่ยวข้องกับภาระกับผู้บริโภคในกรณีนี้เนื่องจาก หากราคาประมูล 3 G ได้ไม่เกิน 6,500 ล้านบาท หรือถึงแม้จะสูงแต่หากยังไม่เกินมูลค่าการจ่ายสัมปทานให้กับรัฐ (ระบบ 2 G) แสดงว่าค่าใช้จ่ายบริษัทลดลง เพราะเดิมค่าใช้จ่ายส่วนนี้คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานและหากประมูลใบอนุญาต 4 ใบจริง ผู้ให้บริการแทบจะไม่ต้องแข่งขันเพราะปัจจุบันมีเจ้าใหญ่ 3 ราย หากรวมทศท. และกสท. เป็น 5 ราย แต่หากทศท.ไม่ได้รับอนุญาตให้ประมูลก็จะเหลือเพียง 4 ราย ทุกบริษัทก็จะได้รับใบอนุญาตกันถ้วนหน้า เพราะกติกากำหนดไว้ว่าบริษัทหนึ่งจะได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 1 ใบ โอกาสฮั้วให้ประมูลไม่สูงเกินราคาที่ตั้งไว้ ย่อมน่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่  การประมูลในครั้งนี้หากจะให้รัฐได้ประโยชน์ก็ควรตั้งราคาที่จะทำให้รายได้รัฐไม่ลดไปจากเดิมมากนัก หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องรับประกันคุณภาพและราคาให้กับผู้บริโภคว่า ระบบ 3 G ราคาต้องไม่สูงกว่าระบบ 2 G ในปัจจุบัน หรือห้ามคิดเกินนาทีละบาท ทั้งเสียง ข้อความและภาพ ซึ่งก็มีกำไรมากกว่าระบบเดิมแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >