ฉบับที่ 134 Second opinion ช่วยป้องกันความผิดพลาด

เมื่อต้นเดือนเมษายน ก่อนปิดต้นฉบับไม่กี่วันได้รับโทรศัพท์จากพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช แจ้งว่าน้องสาวเป็นผู้ประกันตนไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน พบว่าผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งแพทย์ทำการผ่าตัดมดลูกโดยวิธีส่องกล้อง หลังผ่าตัดพบมีเลือดออกไม่หยุด ต้องทำการผ่าตัดอีกรอบแพทย์ให้คำแนะนำว่าเป็นมะเร็งตัดรังไข่ด้วยเลยมั้ย ผู้ป่วยเห็นด้วยให้ตัดรังไข่ และหลังจากนั้นแพทย์ได้ให้เคมีบำบัดรักษามะเร็งไปหนึ่งครั้ง พี่สาวได้นำผลการตรวจชิ้นเนื้อ และส่งชิ้นเนื้ออ่านอีกรอบโดยแพทย์โรงพยาบาลศิริราช พบว่าชิ้นเนื้อดังกล่าวไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ที่เจ็บใจคงไม่ใช่การผ่าตัดสองรอบ หรือการได้รับเคมีบำบัดโดยไม่จำเป็น แต่เป็นท่าทีของโรงพยาบาลที่แจ้งว่าโรงพยาบาลไม่ผิดและไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ แต่เป็นความผิดพลาดของห้องทดลองที่อ่านผลผิดพลาด น่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนไข้หรือไม่ที่จะต้องตรวจสอบว่าโรงพยาบาลใช้ห้องทดลองที่ได้มาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องใช้ห้องทดลองที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่คืนของที่หมดอายุ แต่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีหน้าที่ขายของที่ไม่หมดอายุ   การแก้ปัญหาข้างต้นจะช่วยได้มาก หากเมืองไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขกรณีนี้สามารถใช้กองทุนนี้ได้ทันทีในการเยียวยาความเสียหาย แต่เรื่องนี้ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคเรียนรู้ได้หลายขั้นตอน  โรคมะเร็งสำหรับทุกคนทุกครอบครัวเป็นโรคสำคัญ ความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว สารพัดที่จะเกิดกับครอบครัวเมื่อทราบว่ามีใครในครอบครัวเป็นโรคนี้ หากยอมรับเรื่องนี้ การสร้างกลไกให้มีการขอความเห็นที่สอง(Second opinion) ย่อมมีความสำคัญ เพราะช่วยป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แพทย์และโรงพยาบาลควรช่วยกันทำให้เกิดกลไกนี้ อย่าไปคิดว่าเป็นความไม่ไว้วางใจแพทย์ แต่การขอความเห็นที่สองช่วยป้องกันความผิดพลาดได้ดีทีเดียวหากมองจากกรณีนี้ แทนที่จะมีการขอความเห็นที่สองเพื่อการตรวจสอบเมื่อผิดพลาดไปแล้วท่าทีที่เป็นเพื่อน เป็นมนุษย์เท่ากัน มีศักดิ์ศรี ให้การช่วยเหลือเต็มความสามารถ ไม่ตั้งการ์ด แต่ย่อมไม่ใช่ท่าทีที่เขาน่าสงสาร เอาเงินฟาดหัวไปก็จบหรือไม่ดูดำดูดีเช่นกรณีนี้ แต่ก็ต้องบอกว่ากฎหมายฉบับนี้คงจะคลอดได้ยาก เพราะไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาล ตามที่นักคิดนักเขียนนามใบตองแห้งได้ให้ความเห็นไว้ในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล ว่า ในยามรัฐบาลเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบนี้ย่อมให้ความสำคัญกับนโยบายของตนเอง การสนใจเรื่องรอบข้างหรือเรื่องอื่นๆ ย่อมน้อยเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับกรณี(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... (มาตรา 61) ที่ขณะนี้อนาคตริบหรี่มากแต่ก็ต้องไม่หมดหวัง เพราะรัฐบาลอ้างว่าขยายเวลาปิดสภาเพราะต้องพิจารณากฎหมายรวมทั้งกฎหมายประชาชนอีกหลายฉบับ ปัจจุบันมีแพทย์ไม่กี่คนที่ยังคัดค้านกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฉบับนี้ แต่เป็นแพทย์ที่เข้าๆ ออกรัฐสภา ล็อบบี้เก่ง เสียงดัง แถมถูกหนุนหลังโดยบริษัทยาและโรงพยาบาลเอกชนทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ ช่วยกันคิดอีกที ว่ามีกองทุนรับผิดแทนแพทย์แทนโรงพยาบาล คนไข้ได้รับการเยียวยา (ถ้าไม่บ้า) ใครจะไปฟ้อง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวใครก็คงทำใจกันได้ยากทุกคนหรือหากไม่ฟ้องคงถูกกล่าวหาว่าบ้าแทน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 ค่าธรรมเนียมที่ไม่ธรรมดา

ทุกวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล ปีนี้ทั่วโลกมีการรณรงค์ร่วมกันเรื่องการเงินการธนาคารที่ควรจะเป็นธรรมกับผู้บริโภค เคารพสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกบริการของธนาคารและการแข่งขันในการให้บริการการเงินการธนาคาร ให้มีคุณภาพและคุ้มค่าเงินของผู้บริโภค ย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ในบ้านเรา ก็ต้องถามว่า ใครไม่เคยเจอปัญหาเหล่านี้บ้าง ไม่ว่า เป็น ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคาร ที่เป็นปัญหาของประเทศ หนี้สาธารณะ หากมองในภาพใหญ่ ก็ต้องเตรียมรอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากพระราชกำหนดการโอนหนี้ที่ผู้บริโภคต้องเป็นคนรับภาระ ผ่านค่าธรรมเนียมธนาคาร ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่มีช่องว่างห่างกันมากมายกว่าหลายประเทศ การทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ การเติมเงินค่าโทรศัพท์ผ่านตู้หรือออนไลน์ที่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ การบังคับให้ผู้บริโภคต้องค้ำประกันเงินกู้ของตนเอง การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยยังถูกผูกขาดกับบางธนาคาร การตามทวงหนี้ส่วนใหญ่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การคิดค่าธรรมเนียมการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ใบแจ้งหนี้ที่เป็นภาษาอังกฤษอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง หรือ การคิดค่าธรรมเนียมธนาคารที่สูง เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินฝากเงินต่างสาขา ต่างจังหวัดทั้งที่ระบบดิจิตอลในปัจจุบันไม่ได้มีต้นทุนที่แตกต่างกันแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังปล่อยให้ธนาคารทั้งหมดขูดรีดกับผู้บริโภค หรือล่าสุดปัญหาการฉ้อโกงโดยการตั้งตู้เอทีเอ็มของต่างจังหวัดในเขตกรุงเทพ ฯ หรือการคิดค่าธรรมเนียมทุกรายการทั้งจากการถอนเงิน การโอนเงิน ฝากเงิน การสอบถามยอดเงินของตู้เอทีเอ็มทั้งธนาคารเดียวกันและต่างธนาคารที่แพงเกินต้นทุน ทั้งที่ผู้บริโภคช่วยลดต้นทุนในการใช้บริการผ่านตู้ แทนที่จะใช้บริการที่สาขาของธนาคาร ซึ่งมีต้นทุนคงที่มากกว่าระบบตู้ ในประเทศอังกฤษมีคนร้องเรียนเรื่องธนาคารมากกว่า 700,000 เรื่อง ของบ้านเรา เรื่องนี้ก็เป็นอันดับต้นของการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่ยังอยู่ในระดับหมื่นหากนับรวมกับผู้ร้องเรียนในเว็บไซด์ ของมูลนิธิ ฯ ผ่านชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนอัตราการคิดค่าธรรมเนียม ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มีกิจการแข่งขันกับธนาคารเอกชน ทำหน้าที่กำกับดูแลเพียงอย่างเดียว ต้องจริงจัง ซึ่งจะแตกต่างจากรายการข่าวของทีวีไทยที่เสนอได้อย่างน่าสนใจว่า มีหน่วยงานหลายประเภทได้รางวัลห้องน้ำยอดเยี่ยมของกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อไปดูห้องน้ำของกทม. ก็ต้องร้องจ๊าก เพราะเรื่องพื้นฐานคือความสะอาดมีปัญหาแทบทุกแห่ง หวังว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องบริการการเงินการธนาคารนี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่ไม่ทำอะไรของตนเอง เพราะรอไปเป็นกรรมการของธนาคารเอกชนต่างๆ หลังเกษียณอายุราชการ อยากให้มองปัญหาพื้นฐานเรื่องนี้แบบเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 วายุภักษ์สองเปอร์เซ็นต์

การให้กระทรวงการคลังโดยกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นปตท. ได้เพิ่มขึ้นอีก 2% เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมีหนี้สาธารณะของประเทศในสัดส่วนที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ปตท.และการบินไทยกลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัวจะทำให้หนี้ของปตท.และการบินไทยไม่ต้องรวมเป็นหนี้ของภาครัฐอีกต่อไป ดูเผินๆ เหมือนน่าจะดีเพราะทำให้รัฐบาลไม่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป ไม่ขอพูดเรื่องการบินไทยเพราะกิจการของการบินไทยปัจจุบันถือได้ว่ามีคู่แข่งอีกมากและเราผู้บริโภคยังสามารถนั่งรถทัวร์ รถไฟกันได้อยู่บ้าง แต่ปตท.ซึ่งผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรและตอนนี้เริ่มมีสัดส่วนการเข้าไปดำเนินการในกิจการน้ำมันเพิ่มมากขึ้น การได้รับอภิสิทธิจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืนในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถึงแม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน โอนให้กับกระทรวงการคลังโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินที่จะคืนให้กับรัฐ โดยปตท.มีการคืนทรัพย์สินเพียง 16,176.22 ล้านบาทเท่านั้นและไม่ผ่านการตรวจสอบของ สตง. ซึ่ง สตง.ได้จัดทำรายงานและแจ้งว่าปตท.ต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมด 52,393,180.37 ล้านบาท แถมปตท. ยังได้ใช้ประโยชน์ท่อก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้เช่ารายนี้ยังได้นำ(ท่อก๊าซ) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐที่เช่ามาตีมูลค่าใหม่(Revalue) ทำให้ปตท. คิดราคาค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดย กฟผ. ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะไม่เดือดร้อนสามารถนำมาเพิ่มในค่า FT ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคโดยตรง และก็เช่นเดียวกันคณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติบังคับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องซื้อก๊าซจากปตท. เพียงเจ้าเดียวทั้งๆ ที่ กฟผ. มีศักยภาพในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงที่ราคาถูกได้ด้วยตนเอง ยังไม่รวมถึงการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่ใช้ต้นทุนที่แท้จริง เพราะต้นทุนเนื้อก๊าซ เป็นต้นทุนที่ขายให้การไฟฟ้า บวกกำไรค่าผ่านท่อและเนื้อก๊าซไปเบื้องต้น หรือแม้แต่มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานช่วยล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน มาสนับสนุนการขาดทุนกำไรให้กับปตท. สภาพหัวเป็นมงกุฎท้ายเป็นมังกรของปตท. เมื่อถึงคราวอยากได้อภิสิทธิก็บอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อรัฐต้องการเข้าไปควบคุมหรือกำกับ ก็จะบอกว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์รัฐเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ดังนั้นหากกองทุนวายุภักษ์จะซื้อหุ้นปตท.เพิ่มทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรัฐลดลงไปเหลือที่ประมาณ 49% ปตท.ก็กลายเป็นบริษัทมหาชน ที่มีอำนาจในการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการพลังงาน หากมองแบบเศรษฐกิจเสรีก็ต้องบอกว่า ให้ทำได้เลย อาจจะขายให้วายุภักษ์ได้มากกว่านี้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขให้บริษัทปตท. ต้องแบ่งแยกหรือคืนท่อก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการผูกขาดให้กับรัฐ ก่อนขายหุ้นให้วายุภักษ์ หรือคืนทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลองมาทายกันดูว่าปตท.จะเลือกเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนเต็มขั้นหากถูกเด็ดปีกการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 นิวเคลียร์ในประเทศเยอรมัน

เมื่อประมาณปี 2543 หรือ 12 ปีที่แล้วรัฐบาลเยอรมันได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายใน 20 ปี(2563) ซึ่งทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พากันยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ต้องผิดหวังกันไปตาม ๆ กันเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2552(2009) ที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันได้มีนโยบายในการเลือกตั้งว่า จะขยายเวลาในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้ตามเป้าหมายเดิม การเปลี่ยนนโยบาย(กลับคำพูด)ของพรรคอนุรักษ์นิยมในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางในประเทศ เฉพาะเมืองเบอร์ลินอย่างเดียวมีคนมาชุมนุมไม่น้อยกว่า 200,000 คนและในเมืองสำคัญอื่น ๆ อีกหลายแสนคน และส่งผลให้พรรครัฐบาลแพ้การเลือกตั้งในรัฐที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเยอรมันซึ่งถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ แต่เยอรมันก็โชคดีเมื่อเหตุการณ์นิวเคลียร์ระเบิดในเมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นใจทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นร่วมกันอีกครั้งในการยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ และปิดโรงงานนิวเคลียร์ทันทีจำนวน 8 โรงภายใน 3 เดือน และตั้งเป้าหมายในการปิด 9 โรงที่เหลือภายในปี 2563(2020) รวมทั้งตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล แต่ที่สำคัญมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและตั้งเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานที่ชัดเจน หากย้อนกลับมาพิจารณากรณีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการนำพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของของแผนพลังงานแห่งชาติโดยเฉพาะแผนพลังงาน ปี 2020 โดยทุกแนวทางในการกำหนดรูปธรรมแผนมีพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานโดยภาพรวม แต่ก็ถูกนโยบายยกเลิกไปชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ความพยายามจากภาคการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ยังกำหนดการให้ผลการตอบแทนตามการลงทุน(ROIC) และการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานถูกกำหนดไว้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้กฟผ.ได้นำทั้งกรรมการ พนักงาน สหภาพการไฟฟ้า และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องไปดูงานทั้งที่ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น หากมีระดับหน่อยก็เลือกประเทศฝรั่งเศส ถึงแม้ในทางนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ดูจะชะงักไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้หยุดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแม้ในปัจจุบันคณะกรรมการพลังงานเขตก็เตรียมการกันไว้ให้คณะกรรมการทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 140 คน ไปดูงานที่ประเทศจีนในกลางปีนี้ ถึงแม้หลายคนอาจจะภาคภูมิใจถึงความเข้มแข็ง ว่า โรงงานนิวเคลียร์ไม่สามารถจะสร้างได้ง่ายในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมศึกษาบทเรียนจากเยอรมันที่นโยบายสามารถย้อนกลับได้ หากไม่มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและหลักประกันเรื่องความมั่นคงของพลังงานควบคู่กันไป ความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานหรือด้านไหนก็ตาม ประเทศไทยหากตรวจสอบให้ดีจะเห็นว่าความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ด้านพลังงานมักจะทำได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากรูปธรรมของผลประโยชน์เรื่องกาซ NGV และ LPG ในปัจจุบัน แต่ขณะที่นโยบายที่ดีถูกพัฒนาหรือทำให้ก้าวหน้าอย่างจำกัด และมักถูกผลประโยชน์แทรกแซง มีรูปธรรมหลายอย่างให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายที่ดีจะยั่งยืนจะพัฒนาต่อเนื่องได้ เชื่อว่า คำตอบคงอยู่ที่ความตื่นตัวของคนหรือความเข้าใจที่มากพอของคนในสังคมในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ของขวัญปีใหม่

ข่าวการเตือนห้ามขายกระเช้าหมดอายุของตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ) ทำให้คิดว่าปัญหาเรื่องกระเช้าหมดอายุในปัจจุบันน่าจะคลี่คลายลงไปได้มาก เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมของทั้งหน่วยงานและผู้บริโภคที่ต้องออกมาเตือนและดูกันให้ดีทุกปีและรวมถึงการรณรงค์ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ ผู้บริโภคทุกวันนี้ต้องเข้มงวดกับความไม่ถูกต้องไม่ตรงไปตรงมาเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต่างทำหน้าที่ของตนเอง ทำตามกฎหมาย และตัวอย่างที่เราเห็นกันจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ไม่ว่าเรื่องเล็กแต่สำคัญ เช่น ปัญหาสินค้าไม่มีฉลากภาษาไทย ห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าหมดอายุ หรือเอาป้ายหมดอายุใหม่ทับสินค้าของเดิมที่หมดอายุ การไม่ขออนุญาตโฆษณายา อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ยอมให้ถูกปรับเพราะค่าปรับไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาทแถมเมื่อปรับแล้วยังอ้างได้ว่า บริษัทเก็บป้ายโฆษณาที่มีมากมายไม่ไหว แต่ตอนติดโฆษณาที่ผิดกฎหมายติดกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยอมเอื้อประโยชน์ให้กันไป จนชาวบ้านก็รู้สึกและรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา น่าเบื่อหน่าย แต่หากเราที่เป็นผู้บริโภควิเคราะห์ไปให้ดีก็จะพบว่า ที่บริษัทเหล่านี้ต้องโฆษณาเพราะยากที่เราอยากให้คนขายมีคุณธรรมในยุคการค้าเสรีปัจจุบัน แต่เขาต้องการให้เรารู้จักสินค้า เขาไม่มีวันบอกจุดอ่อนของสินค้า และหากเราไม่รู้กติกาว่าอะไรที่เขาสามารถโฆษณาได้บ้าง แบบไหนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โฆษณาเป็นเท็จและมักจะคิดว่ามีหน่วยงานช่วยดำเนินการ เช่น ในกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่อย่างน้อยต้องมีคำเตือนว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวดหรือห้ามชิงโชคแถมพก หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาเป็นยาอ้างสรรพคุณรักษาโรคสารพัดทางเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชนและกระแสหลัก ช่วยกับจับช่วยกันแฉ เราก็อาจจะมีปัญหาเหล่านี้น้อยลงแต่คงไม่สามารถคาดหวังว่าปัญหาจะหมดไป และหากเรารู้เท่าทันเขาจะหลอกเราได้น้อยลงหรือเอาเปรียบกันน้อยลง เหมือนอย่างเช่นที่เมื่อเรารู้ว่าบริษัทเก็บ 107 บาทไม่ได้หากขอใช้บริการโทรศัพท์เขาก็เก็บเราไม่ได้ ปีใหม่นี้ขอให้สมาชิกและผู้อ่านทุกคนมีความสุขและช่วยกันดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นของเราไม่ใช่ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยทำให้ปัญหาผู้บริโภคกลายเป็นวัฒนธรรมของเราที่ต้องช่วยกันปกป้องดำเนินการช่วยกันจับ ช่วยกันแฉทำให้การละเมิดสิทธิกันน้อยลง เป็นปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคและหวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 จะเกิดขึ้นเพื่อมาช่วยสนับสนุนให้เราได้ข้อมูลที่เป็นจริงและร่วมมือกับเราในการทำให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง(แฉ)แห่งชาติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ครัวของโลก กำลังขาดอาหาร

ชั้นวางของที่ว่างเปล่า สินค้าที่ต้องการและจำเป็นหายไปจากชั้นวางของของห้างขนาดใหญ่ ร้านค้าขายแบบโมเดิร์นเทรด และประเภท 24 ชั่วโมงแทบทุกแห่งในภาวะน้ำท่วม แต่ขณะที่ร้านขายน้ำ ร้านอาหาร ตามตรอก ซอกซอยต่างๆ แข่งขันกันเสนอขายสินค้า บางคนมักจะคิดว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหน้าเก่า หน้าใหม่เหล่านี้เอาเปรียบฉวยโอกาสขายของราคาแพง แต่ห้างขนาดใหญ่กลับได้รับความเห็นใจ ว่า เป็นเพราะผู้บริโภคถล่มซื้อกันจนหมด แต่หากเราฟังเรื่องราวของร้านเล็กๆ ที่พยายามในการเสาะหาสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีอาหารแล้วจะเห็นใจ ยอมรับพร้อมขอบคุณ บางคนขับรถไปซื้อไข่ ซื้อน้ำถึงจังหวัดเพชรบุรี เพื่อมาขายแถบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ในทางกลับกันไม่เห็นความพยายามของห้างขนาดใหญ่หรือร้านค้า24 ชั่วโมงที่มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เปลี่ยนที่ เสาะหาที่ใหม่ในการเก็บและกระจายสินค้าของตนเอง หลังจากที่เดิมน้ำท่วม โดยไม่ได้สนใจว่าผู้บริโภคจะมีอาหารหรือสิ่งของจำเป็นหรือไม่ เพราะภาระในการกระจายสินค้าในบ้านเราเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตสินค้า นอกจากเป็นข่าวในการเสนอให้รัฐบาลต้องสนับสนุนการขนส่งและขอให้นำเข้าน้ำดื่มเข้ามาจากต่างประเทศ และรัฐบาลก็ทำทันทีภายใน 3 วัน เทคนิคการขายของของโมเดิร์นเทรดที่มากับความสะดวกสบาย โดยการขายราคาต่ำกว่าทุน ราคาถูกแต่จำกัดปริมาณการขาย คนซื้อ ขายราคาถูก 3-5 วัน แต่หลังจากนั้นราคาปกติ การมีสินค้ายี่ห้อห้างของตนเอง การทำลายผู้ผลิตในประเทศโดยการนำเข้า การผูกขาดการค้าแบบใหม่ ข้ออ้างเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตและความมั่นคงด้านอาหารของผู้บริโภค ได้สะท้อนข้อจำกัดในการเก็บ การสำรองสินค้า ลดต้นทุนในการดำเนินการ ไม่ได้หยิบยื่นมือเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภค และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในภาวะวิกฤติได้ นอกจากนี้การขยายตัวของกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต ฟู๊ดสโตร์  คอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด แผงเนื้อสัตว์ และร้านขายของชำขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว โดยขาดการควบคุมทำให้ผลผลิตจากระบบเกษตรและอาหารของเกษตรกรรายย่อยถูกจำกัดลงเป็นลำดับ และกระทบโดยตรงกับผู้บริโภค ระบบเศรษฐกิจ การกระจายสินค้า การผูกขาดทางการค้า ผ่านระบบการค้าแบบโมเดิร์นเทรด เมืองไทยที่หลายคนต้องการให้เป็นครัวของโลก เมื่อเจอวิกฤติน้ำ เราขาดอาหารและน้ำดื่ม ทำให้การเลือกที่จะพึ่งการค้าแบบใหม่แบบเดียวต่อไปไม่ได้  บทเรียนของการกระจาย(หรือควบคุม)อาหารในภาวะวิกฤติคือจุดเริ่มต้นที่จะต้องกลับมากำหนดอนาคตของสังคมว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของบริษัทหรือจะสนับสนุนให้ร้านค้าเล็กๆ ร้านชำ ตลาดสด ฯลฯ เพื่อนแท้แม้ยามยากจะเติบโตร่วมกันไปได้อย่างไร หวังว่าคงไม่ต้องรอพิสูจน์กันอีกในภัยพิบัติครั้งหน้า...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 Occupy Wall street เจอน้ำท่วม

เดือนนี้ตั้งใจจะเขียนถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ครอบครองวอลสตรีทหรือเอาวอลสตรีทของเราคืนมา(Occupy Wall street) ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมาก ไม่มีผู้นำแต่มีดาราและผู้กำกับบางคนสนับสนุน เช่น ไมเคิล มัวร์ โดยมีมูลนิธิสื่อของแคนาดาที่เป็นผู้นำการรณรงค์หยุดซื้อ เป็นผู้เริ่มตั้งคำถาม แต่เจอเหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนทั่วประเทศแล้วต้องเปลี่ยนใจ เขียนเรื่องอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องน้ำท่วม เอาเป็นว่าติดหนี้เรื่องนี้ไว้ก่อน สองอาทิตย์ก่อนมีโอกาสไปเยี่ยมพี่ดำรงค์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดชัยนาท ซึ่งถูกน้ำท่วมนานนับเดือน พี่ดำรงค์ต้องอยู่ชั้นสองของบ้าน แต่ก็บอกพวกเราว่า พี่โชคดีที่น้ำยังไม่ท่วมถึงชั้นสองและเพิ่งจะทำห้องน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แถมกำลังใจยังเต็มเปี่ยมคอยช่วยเพื่อนบ้าน ทำหน้าที่ทำกับข้าว อาหารไปให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีชั้นสองหรือไม่รู้จะทำอาหารได้อย่างไร แต่ดูเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่น้ำยังไม่ท่วมจะเดือดร้อนมากกว่า เมื่อไปซื้อทรายแล้วทรายหมดหรือหากซื้อได้ก็ราคาแพงกว่าเดิมสองถึงสามเท่า ความโกรธเป็นทวีคูณเมื่อไปซื้อไข่ ข้าวสาร ของแห้งอาหารการกินทั้งหลายแล้วพบว่าของหมด ไม่มีเกลี้ยงชั้น เพราะคนก่อนหน้าเพิ่งจะเหมาไปหมด หรืออยากจะซื้อเรือไปบริจาคก็พบว่าหาไม่ได้ที่มีก็ราคาแพงมากหรือไม่มีใครขายให้เพราะถูกจองไว้หมดแล้วคงต้องแยกระหว่างการเตรียมความพร้อมกับการไม่คิดถึงคนอื่น ภาพการให้การช่วยเหลือที่ไม่ถึงคนท้ายซอยเพราะคนต้นซอยรับทุกรอบ แม้แต่ตัวคนเขียนเองยังถูกบังคับให้นำรถไปจอดที่อื่นเพราะทุกคนใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือเปล่าและจะไม่มีเงินซ่อมรถยนต์จากน้ำ(ฮา++++) ทำให้นึกถึงภาพการนำเสนอเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นที่ทุกคนต่างชื่นชมการเข้าแถวรอรับความช่วยเหลือไม่มีบ่น เมื่อไปซื้อของก็คิดว่าจะมีคนหลังเรามาซื้ออีก หลายคนบอกว่าคนไทยเมื่อไปอยู่ต่างประเทศก็หยุดรถตรงทางม้าลายเป็นทุกคน แต่เมื่อขับรถเมืองไทยบีบแตรใส่คนเดินถนนที่ข้ามทางม้าลาย หลวงพี่ไพศาลให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า การมองทุกอย่างแบบสัมพันธ์กันทำให้เราเดือดร้อนจากน้ำท่วมกันน้อยลง การคิดแบบเราเดือดร้อนน้อยกว่าคนอื่น ทำให้เราเห็นคนอื่นมากขึ้น ข่าวสารทั้งหลายอาจจะต้องหลบจากภาพคนรวยเสียสละน้ำตาไหล คนจนอนาถที่รอการช่วยเหลือ คนแย่งอาหารที่ดูแล้วหดหู่ หรือผู้ค้าที่ต่างเร่งขึ้นราคาของเพราะขายดีมีของน้อย ช่วยกันเปลี่ยนมาให้กำลังใจกัน ยอมให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมบ้างแทนที่จะให้คนหลายสิบจังหวัดเดือดร้อนเพื่อคนกรุงเทพฯ กลุ่มเดียวน่าจะทำให้น้ำท่วมคราวนี้ทุกข์น้อยกันทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 รถยนต์คันแรก

น่าเสียดายที่พรรคเพื่อไทยต้องดูแลพรรคร่วมรัฐบาลและกระโจนเข้าสู่วงจรการสนับสนุนนโยบายเรื่องอุดหนุนคนซื้อรถยนต์คันแรกคนละ100,000บาท ทั้งๆ ที่ต้องบอกว่าเป็นนโยบายที่ไม่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นที่ควรจะต้องมีการดำเนินการ เช่น ปริญญาตรีใบแรกเรียนฟรี   เพราะทุกพรรคต่างมีนโยบายให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่นักศึกษาเหล่านี้ต้องเสียดอกเบี้ยและกำลังถูกฟ้องดำเนินคดี หรืออย่างน้อยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาควรจะปลอดดอกเบี้ยเหมือนที่เราลดภาษีให้กับคนซื้อรถยนต์คันแรกและบ้าน เจตจำนงทางการเมืองจึงต้องควรถูกจัดลำดับว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ดังที่แอนเดอร์ วิดค์แมน (Anders Wijkman) อดีตสมาชิกของรัฐสภายุโรป และปัจจุบันเป็นรองประธานของมูลนิธิ Tällberg ของประเทศสวีเดน ตลอดจนประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ที่สำคัญสำหรับบริษัทรถยนต์ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ หรือมีโอกาสจากนโยบายของรัฐบาล จะมีระบบให้มีการจ่ายภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้นได้อย่างไร หรืออย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการจ่ายค่าจ้างรายวันไม่น้อยกว่า 300 บาทกับลูกจ้างในบริษัทของตนเอง รวมทั้งไม่ย้อมแมวขายรถ รถที่จำหน่ายมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นพิเศษ เพราะได้ประโยชน์จากนโยบายในครั้งนี้ หรือแม้แต่การให้ข้อมูลลูกค้าที่ครบถ้วนในการผ่อนชำระ การค้ำประกัน หรือการให้บริการที่เกี่ยวข้อง   และที่สำคัญสำหรับคนซื้อรถ หวังว่าคนซื้อจะไม่เพียงไปดูหมอ ดูวันออกรถ ดูสีให้ถูกโฉลก เจิมรถจากพระชื่อดังตามวัดต่างๆ หรือนอนลงไปดูตรวจสอบใต้ท้องรถของตนเองเหมือนกับวิศวกร ลูบคลำรถดูว่าสีเรียบหรือไม่ หรือแม้แต่ดู ของแจกของแถมต่างๆ เป็นต้น แต่เมื่อต้องมาทำสัญญาซื้อขายไม่เคยดูต้องให้คนขายชี้ให้เซ็นตรงนี้ บริการหลังการขายไม่เคยสนใจ การผ่อนค่างวดว่าหากผิดพลาดจะถูกปรับอย่างไร หรือคนค้ำประกันรถยนต์ต้องมีความรับผิดอย่างไรหากคนซื้อรถไม่รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับคนซื้อรถยนต์   หลายคนอาจจะตื่นเต้นและพออกพอใจกับนโยบายนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความสุขสบายเป็นของคู่กับมนุษย์ คนจำนวนมากก็พอใจกับรถติดภายในรถของตนเองแทนที่จะคิดว่าตนเองจะเป็นคนแรกที่จะเลิกใช้รถ เพราะเชื่อว่า หากเราไม่ขับรถคนอื่นก็ขับ ดังที่หลวงพี่ไพศาลบอกไว้ว่าเป็นเพราะเราทุกคนคิดแบบนี้เลยทำให้รถติดอยู่ทุกวันในกรุงเทพมหานคร แต่หากเราคิดว่าเราจะเลิกขับรถ เราก็เริ่มต้นเป็นหนึ่งซึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์เป็นอนันต์ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเป็นคนเริ่มต้น หรือหากเราทุกคนยอมลดความสบายขับรถกันวันคู่วันคี่ ก็จะสบายกันคนละวัน แต่ก็จะมีคนส่วนหนึ่งบอกว่าหลายบ้านก็จะซื้อรถทะเบียนต่างกันเพิ่มขึ้น   เป็นเพราะเราไม่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงที่เราจะเป็นคนทำหรือดำเนินการ ฉลาดซื้อขอชวนให้ช่วยกันเป็นหนึ่งเพราะจะเกิดสิบ เกิดร้อยเกิดแสน ดังที่ฉลาดซื้อก็มีความมุ่งมั่นที่จะมีสมาชิกนับแสนคนมาหลายสิบปีแต่ก็ยังไม่สำเร็จในปัจจุบัน แต่คนทำฉลาดซื้อก็ยังมีจินตนาการและต้องขอให้สมาชิกช่วยกันหาสมาชิกไม่ใช่เพื่อฉลาดซื้อ แต่เชื่อว่าเพื่อพลังของผู้บริโภคทุกคน   รวมทั้งฉบับนี้ฉลาดซื้อขออนุญาตขึ้นราคาสำหรับผู้อ่านอีก 10 บาทเพื่อความอยู่รอดของฉลาดซื้อที่ขณะนี้ต้นทุนตกประมาณ 102 บาทของแต่ละฉบับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 10 อย่างที่จำเป็นต้องมีองค์การอิสระผู้บริโภค

 มีคนกล่าวขานกันมากขึ้นว่า สังคมไทยทำงานยากขึ้นทุกวัน กลไกต่างๆ ที่ว่าดีก็ไม่สามารถทำงานได้ กลไกที่ถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในต่างประเทศก็ไม่ทำงาน เมื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย แต่สังคมต้องเดินไปข้างหน้า ต้องมีความฝัน มีจินตนาการถึงสังคมที่ดีงาม สำหรับทุกคนกลไกที่กำลังจะเกิดแต่ยังไม่เกิดและเป็นกลไกสำคัญสำหรับผู้บริโภคคงหนีไม่พ้นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ มีความหวังและช่วยกันผลักดันกลไกนี้ ใครมีแนวคิดดีๆช่วยกันเสนอเข้ามา อย่างน้อยหากมีองค์กรนี้ควรทำ 10 อย่างที่สำคัญ1.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง เห็นได้จากกรณีปัญหาของเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์แต่กลับใช้คำรังนกแท้ 100 % และอีกหลากหลายชนิดที่สร้างความสับสนทำให้ไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงของสินค้านั้นๆ2.เป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุกกรณีที่มีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน3.ให้ความเห็นเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่ประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลากแทนที่จะยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการดำเนินการ4.ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐให้คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักดูแลผู้ประกอบการเป็นรอง นับตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือเริ่มพัฒนาประเทศ ประเทศไทยยึดหลักการสนับสนุนภาคธุรกิจมาก   จนละเลยการคุ้มครองผู้คนในสังคมที่เป็นพลเมือง5.สนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการบริโภค หากใครฟังวิทยุชุมชน ดูเคเบิ้ลทีวีหรือใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าการโฆษณาที่เกินจริงเป็นเท็จเต็มบ้านเต็มเมือง กรณีป้าเช็ง น้ำผลไม้รักษาโรค ยาลดความอ้วน สินค้าความงาม อาหารเสริมอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ทางที่ดีที่สุดที่จะจัดการสิ่งเหล่านี้คือ ข้อมูลความรู้และความเท่าทัน6.เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหนโทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ หน่วยงานที่ทำเรื่องอาหารปลอดภัยมี 11 กระทรวง 13 หน่วยงาน7. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างน้อยทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน8. ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และผลักดันให้บังคับใช้นโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เช่น บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน(แต่ความเป็นจริงปัจจุบันไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด)9. องค์กรนี้แตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และไม่ใช่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือสมาคม หรือองค์กรผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ10.การฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภค เป็นสิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากหลายกรณีหากเราใช้การฟ้องเพื่อให้หยุดการการดำเนินการการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจะช่วยป้องกันปัญหาและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะได้อีกมาก เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ของการไฟฟ้าหากค้างชำระค่าไฟฟ้า บัตรเติมเงินโทรศัพท์ที่วันหมดแต่ยังมีเงิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 น้ำใจงามๆ

เดือนนี้ชีพจรอยู่ภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสจัดฝึกอบรมอาสาสมัครผู้บริโภคจังหวัดตราด อาสาสมัครที่มาได้เสนอปัญหาให้ฟังหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น การกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารแล้วต้องถูกหักดอกเบี้ยล่วงหน้า การซื้อเครื่องกรองน้ำราคาผ่อนแล้วผู้ขายหนีหายจ้อยไปทั้งที่มีเงื่อนไขเปลี่ยนไส้กรองระยะ 6 เดือนแต่เงินผ่อนหมดในเดือนที่ 5 ซื้อมอเตอร์ไซค์ผ่อนแล้วหายบริษัทยังให้ผ่อนกุญแจรถอยู่ในปัจจุบัน มีอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยทุกเดือนจะต้องจ่ายเงินเดือนละ 1,000 บาท แต่บริษัทอ้างว่าไม่ใช่เงินประกันสังคมเป็นเงินประกันตนที่จะได้คืนเมื่อลาออก เป็นต้น แต่ปัญหาที่ทุกคนทั้งห้องประชุมประสบเหมือนกัน คือ ราคาผลไม้ที่นับวันจะถูกลงไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะขนเอาไปทิ้งก็ไม่ได้ทำให้ราคาแพงขึ้นมา แถมเสียของ เงินที่ได้มาในจังหวัดตราด 32 ล้านในการประกันราคาก็ถูกนำไปซื้อตะกร้าใส่ผลไม้ซะเกือบ 28,000 ใบ ไม่มีใครรู้เลยว่าใช้เงินประกันราคาสินค้าเกษตรซื้อได้หรือไม่ แล้วประกันราคาสินค้าทำไมต้องซื้อตะกร้า ตะกร้าราคาแพงกว่าท้องตลาดหรือไม่ ผลประโยชน์ขัดแย้งมีหรือไม่ เงินที่จะใช้ประกันราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรขณะนี้ยังไม่มีใครได้ซักบาท เป็นบทเรียนในการฝึกความเชี่ยวชาญของอาสาสมัครผู้บริโภคที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาและติดตามเรื่องนี้ร่วมกันนอกเหนือจากปัญหาผู้บริโภคอื่นๆ ระหว่างทางกลับกรุงเทพ ฯ มีโอกาสซื้อผลไม้ตรงจากชาวสวนที่กำลังจะนำไปขาย ลองกองกิโลกรัมละ 20 บาท โดยไม่ต้องต่อรองเพราะคนซื้อก็รู้สึกว่าราคาถูกแล้ว คนขายก็รู้สึกว่าได้ราคาดี ขายเสร็จคุยให้ฟังว่า เป็นชาวสวนลำบากแถมทำงานหลังแทบหักกว่าจะได้เงิน พวกเราทั้งคณะได้รับการยืนยันรายได้จากชาวสวนอีกรอบ คุยไปคุยมาถูกคอแถมทั้งลองกองและสละมาให้เกือบเท่าจำนวนที่ซื้อ ทำให้คนซื้อรู้สึกผิดที่จ่ายเงินให้น้อยไป ฉลาดซื้อคงไม่บังอาจ ตอบคำถามเรื่องการประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตรอันไหนดีกว่ากัน ถ้าพิจารณาดูจากข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ที่เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า นโยบายที่ดี ควรเป็นนโยบายประกันรายได้เกษตรกร เช่น ประกันราคาผลผลิตการเกษตร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีพรรคไหนเสนอ อำนาจต่อรองเรื่องราคาสินค้าในเมืองไทยไม่ได้อยู่ทั้งในมือผู้บริโภคและเกษตรกรทั้งที่นักนักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะบอกว่าเมื่อมีการแข่งขันผู้บริโภคจะได้ประโยชน์(จริงหรือ)

อ่านเพิ่มเติม >