ฉบับที่ 156 ไข่เจียว

อาหารจานไข่ที่คนไทยนิยมรับประทานที่สุด เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่เข้ากันดีกับข้าวสวยและอาหารร่วมโต๊ะอื่นๆ และยังอาจถือเป็นบทเรียนแรกสำหรับคนที่เริ่มหัดทำกับข้าว ว่ากันว่าถ้าทำไข่เจียวได้อร่อยแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ยาก ไข่เจียวอย่างที่กินกันทุกวันนี้นิยมแบบเจียวไข่ให้พองฟู ดูนุ่มนวล  ซึ่งการเจียวแบบนี้ต้องใช้กระทะก้นลึกและน้ำมันมาก ต่างจากสมัยก่อนที่คนไทยเพิ่งเริ่มใช้น้ำมันทำอาหารไข่เจียวจะเป็นแบบแบนๆ ดูกระด้าง ในหน้าประวัติศาสตร์ไข่เจียวถูกบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี(น้องสาวรัชกาลที่ 1) ว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่จัดเป็นสำรับไว้ในพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกตและฉลองวันพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็นั่นแหละยังไม่เคยมีการสืบประวัติว่าไทยเราได้ไข่เจียวมาจากไหน ถ้าให้สันนิษฐานเดาว่าน่าจะเอาอย่างมาจากไข่เจียวของชาติตะวันตกที่เรียกว่า ออมเล็ต(omelet) เพราะวิธีการเจียวไม่ต่างคือตีไข่ให้แตกใส่นมนิดหน่อยแล้วลงเจียวในกระทะที่มีเนยสดร้อนๆ รออยู่ เมื่อใกล้สุกจะใส่ชีส แฮม และมะเขือเทศลงไปตรงกลางและพับไข่ออมเล็ตขึ้นเสิร์ฟ กล่าวคือข้างในจะมีลักษณะนุ่มๆ เยิ้มๆ ไม่แห้งทั่วแผ่นอย่างไข่เจียวของเรา ไข่เจียว 1 ใบ ให้พลังงานประมาณ 90 กิโลแคลอรี ปัจจุบันนิยมใช้ไข่ไก่ แต่ไข่เป็ดก็อร่อยไม่แพ้กันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ยาดอง

ยาดองเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ดองกับเหล้าเสมอไป การหมักหรือแช่สมุนไพรเพื่อให้ตัวยาซึมซาบออกมานั้น ในตำรับยาไทยแบ่งได้ถึง 6 แบบ ดองเกลือ ดองน้ำผึ้ง ดองเปรี้ยว ดองน้ำปัสสาวะ ดองแป้งข้าวหมากและดองเหล้า โดยสองตัวหลังอาศัยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เพื่อควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ส่วนของพืชสมุนไพรที่นิยมใช้ทำยาดองเหล้า คือ ราก ลำต้น เถา หรือ แก่น นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตามปริมาณที่ระบุไว้ในแต่ละตำรับ ห่อด้วยผ้าขาวบางใส่ในขวดโหล หลังจากนั้นใส่เหล้าลงไปให้ท่วมยาหรือตามสูตรของแต่ละตำรับ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของหมอยาผู้ผลิต เครื่องยาที่นำมาดองเหล้ามีสรรพคุณรักษาโรคหลากหลายชนิด แต่ที่ติดกันมากจะเป็นตำรับแก้ปวดเมื่อย ตำรับบำรุงกำลังท่านชาย ซึ่งชื่อก็ส่อไปทางนั้น ทั้งม้ากระทืบโรง สาวน้อยตกเตียง โด่ไม่รู้ล้ม กำลังเสือโคร่ง ส่วนตำรับของสตรีหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา ซึ่งนิยมกันในสมัยก่อน ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เลิกเพื่อสุขภาพของแม่และเด็ก เนื่องจากบรรดาคุณแม่อาจติดใจในฤทธิ์แอลกอฮอล์เหมือนคุณลำยองได้ ยาดอง เป็นยาพื้นบ้านไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนโดย อย. แต่ผู้ที่จะปรุงยาดองโดยเฉพาะเหล้าควรเป็นแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบโรคศิลปะ หรือเป็นหมอยาพื้นบ้านตัวจริง ส่วนที่เห็นขายตามซุ้มยาดองแบบขวดๆ นั้น มักเป็นสาวสวยหน้าใสและดัดแปลงสูตรใช้เหล้าขาวผสมสมุนไพรบดเหมือนชงกาแฟ อันนี้ไม่ได้รักษาโรคแต่มุ่งขายเหล้าเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการขายเหล้า ยาดองเหล้าต้องได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 หม้อหุงข้าว

หม้อเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานคู่ครัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน ยิ่งเพื่อการหุงข้าวด้วยแล้วคนเอเชียนี่แหละที่พัฒนาหม้อได้ล้ำยุคมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หม้อในยุคโบราณปั้นจากดินเหนียวแล้วเผาเพื่อเสริมความแข็งแรง ความก้าวหน้าของคนโบราณคือการต่อขาให้กับหม้อ แบบที่เรียกกันว่า หม้อสามขา ขาหม้อจะช่วยยกให้ตัวหม้อสูงขึ้นจากพื้นสามารถยัดฟืนไฟเข้าไปข้างใต้หม้อได้สะดวก พกพาไปไหนก็ไม่ลำบากเหมาะแก่การโยกย้ายถิ่นที่ จนเมื่อเริ่มตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนไม่อพยพแล้ว การมีเตาไฟประจำบ้านทำให้สะดวก ขาหม้อจึงไม่จำเป็นอีก หม้อใช้ทั้งหุงข้าว ต้มอาหาร แต่ชาติที่ว่ากันว่ามีหม้อเฉพาะสำหรับการหุงข้าวคือ ญี่ปุ่น เรียกว่า มูชิ-คามาโดะ และก็เป็นคนญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่สร้างหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอันแสนสะดวกสบายขึ้นมา ปลายทศวรรษ 1940 บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก ได้ผลิตหม้อหุงข้าวที่มีหม้อและขดลวดนำความร้อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุดกับหม้อหุงข้าวในปัจจุบัน จากหม้อของมิตซูบิชิที่ยังไม่เวิร์ก บริษัทที่สร้างความลงตัวให้กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามากที่สุดคือ บริษัทโตชิบา จาก 700 ใบเมื่อวันแรกโชว์สินค้า(10 ธันวาคม 1956) โตชิบาต้องผลิตหม้อหุงข้าวอีก 200,000 ใบ ในเวลาเพียง 1 เดือน เพื่อจำหน่ายตามคำสั่งซื้อ และ 4 ปีต่อมาหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้แพร่หลายไปเกือบครึ่งประเทศญี่ปุ่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้ายังได้รับการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา มีทั้งแบบมาตรฐาน แบบอุ่นในตัว แบบดิจิตอลและก้าวหน้าขนาดสั่งให้หุงได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่คิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เคย

  เคย เราหลายคนรู้จักเคยจากที่มันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิ เคยมีรูปร่างคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กกว่าและไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว หลายพื้นที่จึงเรียกว่า กุ้งเคยกะปิผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิด แต่ที่ยกย่องว่าเป็นเลิศต้องทำจากเคยแท้ๆ  ตามธรรมชาติเคยจะลอยตัวอยู่ใกล้ผิวทะเล และมีจำนวนมากพอที่ชาวประมงจะช้อนตักกันได้ทุกวัน จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เมื่อชาวบ้านได้เคยมา จะทำความสะอาดแล้วคลุกเคล้าเกลือเพื่อหมักเป็นกะปิ ระหว่างการหมักจะต้องตำและตากเคยเป็นระยะเพื่อให้เนื้อกะปิเคยแห้ง ตามหมู่บ้านติดทะเลเราจึงเห็นกะปิตากแดดพร้อมโชยกลิ่นอบอวลเฉพาะตัวอยู่ทั่วไปกะปิเคยจะสีสวยธรรมชาติเหมือนสีเคย ออกชมพูหน่อยๆ อย่างที่เรียกกันว่า สีกะปิ แต่กะปิก็มีหลายสูตรตามแต่พื้นถิ่นจะคิดค้น และชนิดของเคยที่หาได้ สีสันและรสชาติจึงแตกต่างกันไปบ้าง กะปิเนื้อเนียนกลิ่นหอมมักนิยมนำมาทำน้ำพริก ส่วนที่เนื้อหยาบก็นิยมนำมาปรุงเป็นน้ำแกง  อย่างไรก็ตามมักพบพวกพ่อค้าแม่ค้ามักง่าย แอบผสมแป้งเพิ่มบ้าง หรือไม่ก็เติมสีและสารกันบูดเพื่อให้สีสดและเก็บได้นานขึ้น เพราะรอเวลาให้กะปิเซ็ตตัวครบกระบวนการผลิตตามธรรมชาติไม่ไหว(มันนานไป ไม่ทันขาย) เราจึงต้องเลือกจากแหล่งผลิตและแหล่งขายที่ไว้ใจได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 แกงกะหรี่

ชื่อนี้ต้นทางมาจากอินเดีย หมายถึงแกงประเภทหนึ่งที่มีการใช้เครื่องเทศหลายชนิดปรุงรสชาติให้หอมฟุ้ง เพื่อกลบกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุง คนอินเดียกินแกงนี้กันมานานแล้ว พออังกฤษไปยึดเมืองอยู่ราว 200 ปี ก็พาเอาผงเครื่องเทศหรือผงกะหรี่(Curry Powder) กลับบ้านกลับเมืองไปด้วยพร้อมเผยแพร่ไปทั่ว จนกลายเป็นแกงกะหรี่ที่ฮิตกันทั่วโลก ไม่ว่าจะแกงกะหรี่ญี่ปุ่น จีน ยุโรป ส่วนแกงกะหรี่ไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากเราติดต่อค้าขายกับชนชาติอินเดียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 บรรดาเครื่องเทศต่างๆ ของอินเดียเลยเข้ามาผสมผสานอยู่ในอาหารไทยจนกลายเป็นแกงต่างๆ ไม่ว่าจะแกงเผ็ด แกงพะแนง แกงเขียวหวาน มาเนิ่นนานแล้ว เครื่องเทศในแกงกะหรี่หลักๆ มีขมิ้น ยี่หร่า ลูกผักชี อบเชย กระวาน พริกไทย ฯลฯ ที่เติมเข้าไปเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่แปลกแตกต่างตามสูตรของแต่ละท้องถิ่น อย่างแกงกะหรี่ไทยต้องมีพริก ขิง เพื่อเพิ่มรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อน ไม่เฉพาะแกงกะหรี่ที่ใช้ผงกะหรี่เข้าเครื่องแกง อาหารหลายอย่างก็ใช้ผงกะหรี่เพิ่มรสชาติด้วยเช่นกัน อย่างปูผัดผงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ หมูสะเต๊ะ เครื่องเทศทุกชนิดในผงกะหรี่นั้นมีสรรพคุณทางยาสูง ชาวอินเดียเชื่อว่า การใช้ผงกะหรี่ปรุงอาหาร ทำให้คงความเป็นหนุ่มสาว มีอายุยืนยาว เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยค้นพบว่า สารเคอร์คูมินในขมิ้นที่ประกอบอยู่ในผงกะหรี่ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ  โดยมีที่มาจากการค้นพบว่าอัตราการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในหมู่คน อินเดียมีต่ำมาก น่าจะเพราะคนอินเดียกินแกงกะหรี่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของผงกะหรี่เป็นอาหารหลัก เห็นไหมล่ะ...ผงกะหรี่เขาดีเช่นนี้เอง นะจ๊ะ นายจ๋า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ชาอูหลง

ชา เครื่องดื่มที่คนทั่วโลกนิยมเป็นอันดับหนึ่งนั้น มีรูปแบบการผลิต 3 อย่าง คือ ชาเขียว(Green Tea) ชาอูหลง(Oolong Tea) และชาดำ(Black Tea) ชาอูหลง       เด่นตรงมีกลิ่นหอมละมุนชุ่มติดคอ รสชาติเข้มกว่าชาเขียวแต่ฝาดน้อยกว่าชาดำ กระบวนการผลิตชาอูหลงที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมัก ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า Oolong Tea Polymerized-polyphenols หรือ OTPPs (ไม่มีในชาเขียวและชาดำ) สารกลุ่มนี้มีรายงานการวิจัยบางชิ้นระบุว่า มีผลต่อการลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย ทำให้ชาอูหลงกลายเป็นชาที่น่าสนใจขึ้นมาทันใดชาอูหลง เอาใบชาสายพันธุ์อะไรมาทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อัสสัม ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียหรือชาสายพันธุ์จีน แต่เพราะชาอูหลงไปชื่อพ้องกับ ชาสายพันธุ์อูหลง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชาจากจีนที่มาแรง ซึ่งภาคเหนือเรานิยมปลูกกันมากเพราะได้ราคาดี โดยเฉพาะชาสายพันธุ์อูหลงเบอร์ 17 หรืออูหลงก้านอ่อน อันนี้ถือเป็นตัวท็อปสร้างชื่อระดับประเทศ ความที่ชื่อพ้องกันจึงอาจทำให้ผู้ที่ห่างไกลแวดวงชาสับสนได้ว่า “อูหลง” เป็นชื่อสายพันธุ์หรือกรรมวิธีการผลิตกันแน่  บางคนจึงดื่มชาเขียวที่ทำจากใบชาสายพันธุ์อูหลง แล้วมะโนว่าตัวเองดื่มชาอูหลงอยู่  ความจริงคือ ชาสายพันธุ์อูหลงนำมาทำได้ทั้งชาเขียว ชาอูหลงและชาดำ ดังนั้นก็ควรเลือกให้ถูกว่าท่านต้องการดื่มชาชนิดใดกันแน่ เพราะชาแต่ละชนิดจะให้สีสัน รส และกลิ่น ที่แตกต่างกัน รวมทั้งคุณสมบัติพิเศษๆ ทั้งหลาย(ลดไขมัน ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ)  ล้วนขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและใบชาที่นำมาใช้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร รวมทั้งวิธีการชงดื่มด้วย การดื่มชา จึงนับเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 เห็ดหอม

ทุกชาติภาษามีวัฒนธรรมการกินเห็ด ทั้งกินเป็นอาหารและเป็นยา ทั่วโลกมีเห็ดเป็นหมื่นสายพันธุ์ แต่มีไม่กี่พันธุ์ที่มนุษย์สามารถเพาะเลี้ยงได้ ราว 30 ชนิด ท็อปสามที่บริโภคกันทั่วโลกได้แก่ เห็นกระดุม(button mushroom) เห็ดหอม(shitake) และเห็ดตระกูล นางรม(oyster mushroom) เห็ดหอมชาวเอเชียใช้เป็นทั้งอาหารและยามานานแล้ว ส่วนฝรั่งเพิ่งได้ตื่นเต้นกัน ชาวจีนยกให้เห็ดหอมเป็นอาหารตำรับ “อมตะ” เพราะคุณสมบัติความเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยลดความดันโลหิต และบรรเทาอาการไข้หวัด เมื่อเจาะลึกกันไปในระดับสารเคมี มีงานวิจัยในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ว่าค้นพบสารLentinan ในเห็ดหอมซึ่งมีสรรพคุณป้องกันโรคมะเร็ง และมีโปรตีนสูง เห็ดกินแบบสดดีที่สุด จะเว้นก็เห็ดหอมกินสดดีแล้ว กินแบบแห้งยิ่งได้คุณสมบัติพิเศษเพิ่มที่ยากจะเลียนแบบ เห็ดหอมตากแห้งเมื่อแช่น้ำจนนิ่ม นำไปปรุงให้สุก เห็ดจะโชยกลิ่นเฉพาะตัวจึงได้ชื่อว่า"เห็ดหอม" สมัยก่อนน้ำที่นำมาแช่เห็ดหอม เราจะไม่ทิ้งเพราะเก็บน้ำไว้ปรุงอาหาร ผัดหรือต้ม ตุ๋นได้ แต่สมัยนี้ไม่แนะนำ โดยเฉพาะถ้าท่านซื้อเห็ดหอมมาจากแหล่งที่ไม่น่าไว้ใจ ในงานวิจัยของ สกว. ระบุมีการใช้คาร์บอนไดซัลเฟอร์ชุบเห็ดหอม ซึ่งสารนี้เขาไว้ใช้ล้างสนิมในแวดวงอุตสาหกรรม ยังไม่รวม พวกสารเคมีการเกษตรที่ใช้ในการบำรุงเลี้ยงเจ้าเห็ดหอมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ข้าวซอย

อาหารจีน อาหารตะวันออกกลางและอาหารเอเชียอาคเนย์ข้าวซอย อาหารถิ่นภาคเหนือของไทย มีประวัติน่าสนใจเพราะเป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่างและกดรีดจนเป็นแผ่นแล้วก็จะใช้มีดตัดซอยเป็นเส้นๆ จึงเรียกว่า ข้าวซอยฮ่อหรือข้าวซอยอิสลามแทนเพราะการผลิตบะหมี่สมัยก่อนยังไม่มีเครื่องผลิตที่ทันสมัยต้องทำเส้นสด คือเมื่อนวดแป้งสาลีกับไข่ได้เริ่มกิจการค้าและทำอาหารชนิดนี้ขายเรียกกันว่า ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ แต่ที่คนเชียงใหม่พากันเรียกว่า ข้าวซอยและเข้ามาอาศัยในมณฑลพายัพสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง เมื่อตั้งหลักได้ชาวจีนกลุ่มนี้อาหารนี้มีที่มาจากชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า จีนฮ่อ ซึ่งอพยพลี้ภัยการเมืองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่แม้เรียกว่า ข้าวซอย แต่แท้จริงแล้วเป็นก๋วยเตี๋ยว เพราะสาระหลักคือ เส้นบะหมี่ขลุกขลิกในน้ำแกง ชาวเมืองเชียงใหม่อย่างมาก ขายดีกันจนตั้งแต่นั้นมาข้าวซอยต้องใช้กะทิสดตามตำรับของนายปันที่หากินง่ายอย่างหมูมาเป็นวัตถุดิบแทน ปรุงแต่งไปมาก็ลงตัวด้วยการใช้กะทิสดช่วยชูรส ปรากฏว่า ถูกปากถูกใจมาเป็นเจ้าของร้านเสียเองในช่วงสงคราม มหาเอเชียบูรพา ตอนนั้นข้าวยากหมากแพงเนื้อวัวหายาก จึงต้องนำเนื้อเนื่องจากเป็นอาหารอิสลาม แต่มาพลิกแพลงเป็นกะทิเมื่อลูกจ้างร้านข้าวซอยอิสลาม ชื่อนายปันต้องผันตัวเองเดิมข้าวซอยไม่ได้ใช้กะทิอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเส้นราดด้วยน้ำแกงใสที่ปรุงพร้อมเนื้อวัว หรือไก่ ข้อมูลจาก http://kaosoichiangmai.blogspot.com/2011/11/blog-post_6904.htmlแม้ข้าวซอยจะมีขายกันในท้องถิ่นอื่นมากขึ้น แต่ชาวเชียงใหม่ เขายังฟันธงว่าของแท้ต้องเชียงใหม่เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 โกจิเบอร์รี

อันที่จริงผลโกจิเบอร์รีนั้น ไม่ได้เป็นผลไม้มหัศจรรย์ที่ค้นพบใหม่แต่อย่างใดเลย บ้านเราก็กินกันมานานแล้ว จำเม็ดเล็กๆ แดงๆ ในถ้วยแกงจืดหรือพวกตุ๋นเนื้อ ตุ๋นไก่ที่เข้าเครื่องยาจีนได้ไหม... ใช่แล้ว โกจิเบอร์รี คือ เม็ดเก๋ากี้ นั่นเอง เก๋ากี้(จีนแต้จิ๋ว) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Chinese Wolfberry เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รีชนิดหนึ่ง (ผลไม้ตระกูลเบอร์รีในทางพฤกษศาสตร์หมายถึงผลไม้ที่เนื้อและเมล็ดเกิดขึ้นจากรังไข่เดียว แต่โดยทั่วไป คำว่าเบอร์รีมักจะถูกใช้เรียกผลไม้ลูกเล็กๆ กลมๆ หรือเหลี่ยมๆ สีสันสดใส มีรสเปรี้ยวอมหวาน เช่น สตรอเบอร์รี บลูเบอร์รี แรสเบอร์รี ฯลฯ เสียมากกว่า) ถิ่นกำเนิดอยู่จีน ทิเบต แถบเทือกเขาหิมาลัย จัดเป็นสุดยอดผลไม้อายุวัฒนะมาแต่โบราณ นิยมรับประทานทั้งผลสดและแห้ง กล่าวกันว่า เป็นพืชสมุนไพร ที่คนทั่วโลกนิยมกินกันมากที่สุด เก๋ากี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด หัวใจ ตับ และไต เมื่อกินเป็นประจำจะช่วย ให้สายตาดี ร่างกายกระฉับกระเฉง สดชื่น อารมณ์ดี สำหรับชื่อ โกจิเบอร์รี่ เป็นชื่อในเชิงการค้าเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาหารเสริมชั้นดี และแน่นอนราคาแพง   ถ้าท่านพอมีปัจจัยดื่มน้ำผลไม้โกจิเบอร์รีก็ได้ประโยชน์แต่ให้ระวังเรื่องความหวาน กรุณาอ่านฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย ส่วนเม็ดแห้งนำมาทำแกงจืดก็อร่อยดีเคี้ยวกินได้ทั้งเม็ด เพียงแต่ก่อนนำมาทำอาหารให้ล้างน้ำมากๆ หน่อย ลวกน้ำร้อนได้ยิ่งดี เพราะเม็ดเก๋ากี้แห้งนำเข้าจะพบปัญหาปนเปื้อนสารฟอกขาว (เพื่อป้องกันราแต่ไม่ป้องกันเรา) ในปริมาณสูง ซึ่งกินมากๆ อันตรายต่อร่างกายจ้ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ปลาแมกเคอเรล

ชื่อแมกเคอเรลนี้ น่าจะคุ้นหูคนไทยกันมากแล้ว เพราะเมื่อพลิกไปดูฉลากปลากระป๋อง อาหารที่นิยมแจกกันในยามยากหรือประสบภัยต่างๆ  ก็จะเห็นว่าเป็นปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศกันเสียส่วนใหญ่ สมัยก่อนเราจะคุ้นกับปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศมากกว่า แต่มันมามีเรื่องฮือฮาเอาเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาทะเลท่านหนึ่งสังเกตพบว่า ปลากระป๋องยี่ห้อดังที่ระบุว่า ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศนั้น น่าจะโกงผู้บริโภคเสียแล้ว ด้วยการใช้ปลาทูแมวมาผลิตแทนปลาซาร์ดีน สืบไปสืบมาความเลยแตกว่า ปลาซาร์ดีนนั้นมันหายากนักหนา ปลาทู นี่แหละ ถึงไม่ใช่ก็แทนกันได้(บางคนก็ว่าอร่อยกว่าด้วย) อ้าว...เขียนเรื่องปลาแมกเคอเรล แล้วไปเกี่ยวอะไรกับปลาทู คือเรื่องมันมีอยู่ว่า แมกเคอเรล นั้นเป็นชื่อเรียกปลาทะเลที่มีลักษณะคล้ายกันคือ ผิวเป็นเกล็ดละเอียดสีเงินมันวาว ตัวเรียวยาวกลมคล้ายทรงกระบอก หัวแหลมท้ายแหลม มีครีบกระโดงหนึ่งครีบ ครีบท้องหนึ่งครีบ ครีบข้างหนึ่งคู่ หางสองแฉก ซึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ ดังนั้นปลาทูที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะปลาทูแมว ปลาทูลัง หรือปลาทูแขก จึงจัดว่าเป็นปลาแมกเคอเรลเช่นกัน อ้อ ! ปลาซาบะ ก็เป็นปลาแมกเคอเรล ด้วยเหมือนกันนะ(คนญี่ปุ่นเรียกปลาพวกแมกเคอเรลทั้งหลายว่า ปลาซาบะ) ปลาแมกเคอเรลนั้นประชากรโลกนิยมกินกันมาช้านานแล้ว เมื่อนิยมกินกันมากๆ ก็เลยเกิดปัญหาใหญ่ตามมา คือว่า ปลาแมกเคอเรล กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ คาดว่าในอีกไม่กี่ปีนี้แหละ ปัญหานี้ใหญ่หลวงนักขนาดสมาคมการอนุรักษ์ทางทะเล หรือ MSC ของอังกฤษ ได้ประกาศลดระดับปลาแมกเคอเรล จากเดิมที่แนะนำว่าเป็นอาหารสุขภาพที่มีความยั่งยืน "ควรรับประทานเป็นประจำ" กลายเป็น "ควรรับประทานเป็นครั้งคราว"  แทน ปลาแมกเคอเรลพันธุ์ไทย อย่างปลาทู ก็แว่วๆ ว่าใกล้จะหมดอ่าวเหมือนกัน ทั้งจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจากชาวประมงที่ไม่แคร์สื่อ จับปลาไม่เลือกฤดูกาล ไม่เลือกวิธีการ ผู้บริโภคเองก็คงต้องเปลี่ยนหันมารับประทานปลาให้หลากหลายชนิดกันมากขึ้น เพราะปลานั้นมีประโยชน์ไม่ว่าจะปลาน้ำจืดหรือปลาน้ำทะเล ต่างล้วนแต่กินแล้วดีต่อสุขภาพด้วยกันทั้งนั้น  

อ่านเพิ่มเติม >