ฉบับที่ 166 หลักซา

อาหารเส้นยอดฮิตของภูมิภาคพื้นสมุทรมลายู ซึ่งประกอบด้วยประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หลักซา(Laksa) เกิดจากการผสมผสานระหว่างอาหารจีน คือ เส้นก๋วยเตี๋ยวกับน้ำแกงรสเข้มอย่างชาวมาเลย์ ซึ่งผู้ที่คิดค้นอาหารชนิดนี้คือชาวเปอรานากัน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกครึ่งจีน-มลายู หลักซาแบ่งได้สองประเภทตามลักษณะน้ำแกงคือ น้ำแกงแบบกะทิรสเผ็ดนิดๆ กับน้ำใสรสเปรี้ยวหน่อยๆ หลักซากะทิจะนิยมกันมากในสิงคโปร์ เนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบในหลักซา ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารทะเลทั้งลูกชิ้นปลา หอยแครง กุ้ง หรือจะเป็นเนื้อสัตว์อื่นก็ได้ตามแต่จะดัดแปลงกันไป ส่วนเส้นจะคล้ายๆ เส้นขนมจีนบ้านเราแต่อวบกว่า แต่ที่ขาดไม่ได้สำหรับลักซาแบบนี้คือ เต้าหู้ทอด ถั่วงอก และผักแพว ส่วนหลักซาน้ำใสเป็นน้ำซุปทำจากปลา เมื่อผสมเครื่องกับเส้นแล้ว หน้าตาจะเหมือนขนมจีนใส่แกงส้ม ผักที่ใส่มีทั้งแตงกวา หอมใหญ่ พริกชี้ฟ้า และใบสะระแหน่  เรื่องเส้นนี้ถ้าไปกินหลักซาแถวปีนังหรือมาเลเซีย เส้นอาจเปลี่ยนเป็นเส้นหมี่ตามรสนิยมของคนแถวนั้น ทั้งคนมาเลย์และคนสิงคโปร์นั้น นิยมกินอาหารแบบฟู้ดสตรีทเหมือนบ้านเราเช่นกัน หลักซาอร่อยๆ ก็หารับประทานได้ตามร้านรวงริมถนน หรือในตรอกซอย หรือเอาสะดวกหน่อยในฟู้ดคอร์ดก็หากินได้ไม่ยาก ถ้าได้มีโอกาสไปภูมิภาคแถบนี้อย่าลืมแวะชิมหลักซาหรือก๋วยเตี๋ยวแกงของเขากันนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ข้าวมันไก่

เมนูนี้เรียกว่า ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะแม้จะหากินได้ง่ายแต่ที่จะอร่อยถูกอกถูกใจนั้นกลับมีไม่มากเพราะต้องครบเครื่องทั้งข้าวหอมนุ่มไม่แฉะ เนื้อไก่ที่ไม่แห้ง น้ำจิ้มกลมกล่อมและน้ำซุปที่ชุ่มคอ ข้าวมันไก่มีต้นกำเนิดบนเกาะไหหลำ จีนกลางออกเสียงว่า “ไห่หนาน” เป็นเกาะทางตอนใต้ของประเทศจีนบนเกาะไหหลำนั้นมีไก่สายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีรสชาติดี เนื่องจากว่าบรรดาไก่ๆ ทั้งหลายได้กินพืชพรรณ ตามธรรมชาติอันวิเศษบนเกาะแห่งนี้ เนื้อของมันจึงมีรสชาติหวานไม่เลี่ยน ชาวไหหลำก็นิยมรับประทานไก่แบบง่ายๆ แค่เพียงไก่ต้มธรรมดากับข้าวที่หุงด้วยน้ำต้มไก่และชูรสด้วยน้ำจิ้มที่ออกเปรี้ยวนิดเผ็ดหน่อยจากพริกและขิง เท่านี้ถือว่าเป็นที่สุดของความอร่อยแล้ว เมื่อมีเหตุให้ต้องอพยพหนีตายจากสงครามช่วงปฏิวัติใหญ่ในจีน ชาวไหหลำเอาตำรับอาหารนี้ติดตัวมาด้วยข้าวมันไก่จึงกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อทั้งความอร่อยและหากินง่ายในทุกประเทศที่ชาวไหหลำได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยมีการปรับแต่งสูตรไปบ้างตามสิ่งแวดล้อมใหม่ ข้าวมันไก่ของแท้คงต้องไปกินที่เกาะไหหลำ คนจีนเรียก “ไห่หนานจีฟ่าน” ที่สิงคโปร์จัดให้ข้าวมันไก่เป็นอาหารประจำชาติเรียกว่า “Hainanese Chicken Rice” ซึ่งว่ากันว่าจะไปให้ถึงสิงคโปร์ได้ ต้องกินข้าวมันไก่ของที่นั่น ความต่างของข้าวมันไก่ไทยกับสิงคโปร์อยู่ตรงที่น้ำจิ้ม บ้านเราเป็นน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวผสมขิงและพริกสด แต่ที่สิงคโปร์จะเป็นน้ำจิ้มสามแบบ คือแบบเปรี้ยวหวาน(สีส้มๆ) เค็มและซีอิ๊วดำ ซึ่งจะมีขิงแยกให้เติมต่างหากเพิ่มความเผ็ดร้อน เวลาเสิร์ฟจะมาพร้อมผักที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าแตงกวาหั่นสองสามชิ้นอย่างบ้านเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เฝอ

ถ้าต้มยำกุ้งทำให้คนทั่วโลกคิดถึงประเทศไทย เฝอก็คืออาหารที่ทำให้คนทั่วโลกรู้เช่นเดียวกันว่า นี่คืออาหารประจำชาติของเวียดนาม เฝอ (pho) มองผ่านๆ หน้าตาเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กของไทย แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งมันมีความต่างทั้งเส้น น้ำซุปและเครื่องเคียง เส้นเฝอแท้ๆ จะไม่เหมือนเส้นเล็กบ้านเรา เพราะจะมีความนุ่มเหนียวมากกว่า ไม่ขาดง่าย ทิ้งไว้เส้นก็ยังไม่จับตัวเป็นก้อน น้ำซุปตามต้นฉบับแบบดั้งเดิมจะเคี่ยวจากกระดูกวัว หอมหัวใหญ่และเครื่องเทศหลายชนิด เนื้อที่ใช้ก็เป็นเนื้อวัวชิ้นนุ่มบาง สำคัญสุดเลยเฝอจะต้องกินพร้อมกับเครื่องเคียง อย่าง โหระพา ผักชีฝรั่ง ถั่วงอก มะนาว พริกผัด กะปิ และซอสพริกศรีราชา ไม่เพียงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เฝอยังมีที่มาคลุมเครือด้วย บางสำนักก็ว่าเฝอได้มาจากประเทศจีน เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบนี้มาจากจีนแน่ๆ แต่บางสำนักฟันธงว่า น่าจะเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสในช่วงที่เข้ามายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น เพราะคนเวียดนามจะไม่นิยมกินเนื้อวัว ด้วยเป็นแรงงานหลักในวิถีเกษตรกรรม แต่วัฒนธรรมฝรั่งเศสการต้มน้ำซุปด้วยกระดูกเนื้อพร้อมหอมใหญ่เป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าช่วยบำรุงร่างกาย ที่เวียดนามมีร้านขายเฝออยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านแผงลอยเล็กๆ ข้างทาง ไปจนถึงบนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และในโรงแรม คนเวียดนามกินเฝอเป็นอาหารได้ทุกมื้อ ซึ่งไม่เพียงแค่ชาวเวียดนามเท่านั้นที่นิยมรับประทานเฝอ คนไทยและคนทั่วโลกก็นิยมเช่นกัน เพราะไม่เพียงรสชาติที่อร่อย ยังมีผักเคียงหลากชนิดที่ทำให้ “เฝอ” กลายเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีอีกด้วย   **เวียดนาม เรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าว่า เฝอ ส่วนเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักเคลือบด้วยแป้งมันสำปะหลังเรียก จ๋าว คนไทยเรียกจ๋าวว่า ก๋วยจั๊บญวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 เยื่อไผ่

หลายท่านชอบกินต้มจืดเยื่อไผ่ แล้วรู้กันไหมว่า เจ้าสิ่งนี้แท้จริงแล้วเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง ดังนั้นถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกว่า “เห็ดเยื่อไผ่” หรือ “เห็ดร่างแห” เห็ดชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์แต่ที่กินได้มีแค่ 4 ในภาษาอังกฤษเขาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Dancing mushroom เพราะลักษณะของเห็ดเยื่อไผ่นี้ เวลาโตเต็มที่จะฟูฟ่องกรุยกราย คล้ายกระโปรงผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โดนลมพัด ในประเทศไทยพบได้ที่ภาคอีสาน ชนิดที่กินได้ คือ เห็ดกระโปรงยาวสีขาวและเห็ดกระโปรงสั้นสีขาว ชาวจีนนำเห็ดชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีแล้ว ใช้ผสมในยาและปรุงเป็นอาหาร เชื่อว่าสามารถลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และบำรุงร่างกายเมื่ออ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาระบุว่า นำมาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ด้วย เห็ดเยื่อไผ่มักนิยมรับประทานแบบชนิดตากแห้ง โดยนำมาเติมน้ำร้อนและปรุงอาหารได้ทันที สำหรับประเทศไทยนิยมนำมาทำ ซุปและแกงจืด สิ่งที่ต้องระวังคือ เห็ดเยื่อไผ่ชนิดแห้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ มักตรวจพบสารฟอกขาว ซึ่งทำให้เห็ดดูมีสีขาวน่ารับประทาน โปรดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระยาสารท

กระยา หมายถึง ของกิน สารท หมายถึง ฤดู ตามรากศัพท์เดิม หรือหมายถึง วันสารทของไทย ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จึงต้องเขียนว่า กระยาสารท ไม่ใช่ กระยาสาด กระยาสารทเป็นขนมโบราณ เดิมจะหากินได้เฉพาะช่วงงานวันสารท ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีของไทย ที่เลียนแบบมาจากเมืองแขกอีกที คำว่าสารทในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะและขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดีในฤดูกาลถัดไป ของไทยเราช่วงเวลาที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวง(ปลายฝนต้นหนาว) ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่เอามาคั่ว ตำ ให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ ที่เรียกว่า ข้าวเม่า แล้วนำมากวนผสมถั่ว งา น้ำตาล ให้จับตัวกันเป็นขนมสำหรับนำไปทำบุญถวายพระ และแบ่งปันกันในช่วงเทศกาลวันสารทพอดี ขนมกระยาสารทถือเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนว่ากันว่า ถ้าจะกินกระยาสารทให้อร่อยต้องกินกับกล้วยไข่ คงเพราะว่า กระยาสารทหวานมากกินพร้อมกล้วยไข่ ซึ่งจะสุกในหน้าสารทไทยพอดีนั้น จะช่วยให้ไม่ต้องกินขนมกระยาสารทมากเกินไป เรียกว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่เข้าท่ามากๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถด่วน

เป็นชื่อเรียกเฉพาะของหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่อาศัยในลำไม้ไผ่ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ของเหล่าผู้ชมชอบการบริโภคแมลง ในโลกเรานี้การกินแมลงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีแมลงถึง 500 ชนิดที่ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในหลายสังคมว่า ตัวไหนกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้ ในอัฟริกากินตั๊กแตนและหนอนผีเสื้อกลางคืน  ที่อเมริกาก็กินมดคั่ว ในเอเชียคนเกาหลีก็นิยมตั๊กแตนและดักแด้หนอนไหมเช่นกัน บ้านเราเดิมชนบทของอีสานและภาคเหนือ อาหารโปรตีนเนื้อสัตว์อย่างวัว หมู ไก่ หายาก ราคาแพง  แมลงและหนอนเป็นอาหารทางเลือกหนี่ง เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการที่ทดแทนกันได้    ชาวบ้านนำมามาปรุงเป็นอาหารรับประทานเป็นจานหลัก ทั้งทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกง ยำ และตำน้ำพริก  ซึ่งอาจเป็นของแปลกของคนเมือง แต่เมื่อชนบทกับเมืองปะทะสังสรรค์กันมากเข้า เมนูแมลงในที่สุดจึงกลายเป็นของกินเล่นของคนทั่วไป ชื่อรถด่วนมาอย่างไร ลองนึกดูหากเราชวนใครมากินแมลง ไม่ว่าจะตั๊กแตน จิ้งหรีดหรือแมงดานา มันยังดูไม่ขัดเขินเท่าไหร่ แต่หากเรียกมา “กินหนอน” หลายคนก็อาจตะขิดตะขวงใจ เจ้าหนอนไม้ไผ่ ตัวขาว เลยได้ชื่อเรียกใหม่ว่า รถด่วน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิธีการเคลื่อนขบวนของหนอนชนิดนี้ที่จะเคลื่อนตัวต่อกันอย่างเป็นระเบียบแถวยาวๆ คล้ายตู้ขบวนรถไฟ รถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ ได้ชื่อว่าเป็นหนอนที่สะอาดที่สุดเพราะตลอดช่วงเวลา 10 เดือนที่เป็นตัวหนอนอาศัยอยู่แต่ในกระบอกไม้ไผ่ จะออกมาชมธรรมชาติภายนอกก็เฉพาะเมื่อกลายเป็นผีเสื้อแล้ว รถด่วนมีโปรตีนสูงและไขมันพอตัว ที่นิยมกินจะเป็นชนิดทอดกรอบ จึงต้องระวังเรื่องน้ำมันทอดซ้ำและพลังงานจากไขมัน อีกอย่างแมลงทอดอาจสร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด พึงระมัดระวัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 มะเขือ

มะเขือ พูดไปอาจไม่เชื่อ เมืองไทยนี่แหละแหล่งรวมความหลากหลายของพันธุ์มะเขือยิ่งกว่าชาติใดในโลก มะเขือเป็นพืชเก่าแก่มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถิ่นกำเนิดน่าจะอยู่ในแถบเอเชียใต้หรืออินเดียปัจจุบัน มะเขือที่ไปทางยุโรปและยังนิยมรับประทานกันในครัวแถบเมดิเตอร์เรเนียนนั้น ถูกนำเข้าโดยแขกมัวร์(เปอร์เซีย) ในศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่ามะเขือที่นำเข้ายุโรปสมัยก่อนคงมีหลากหลายพันธุ์ เพราะว่ามีหลายชื่อเรียกขานตามลักษณะของทรงผล แต่ปัจจุบันจะเห็นก็แต่มะเขือม่วงลูกใหญ่ๆ เท่านั้น แถบเอเชีย จีน ญี่ปุ่น อินเดียและไทย มะเขือยังได้รับความนิยมอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่จะกินแบบปรุงสุกกันเสียส่วนใหญ่ จีนนิยมผัด แขกใส่แกง ญี่ปุ่นทำเทมปุระ มีเพียงครัวไทยที่นิยมกินทั้งแบบดิบและปรุงสุก   ที่เราทำได้เพราะเรามีพันธุ์มะเขือที่หลากหลายกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือจาน มะเขือขื่น มะเขือไข่ หรือพันธุ์พื้นบ้านอย่าง มะเขือพวง มะแว้ง มะอึก  มะเขือลูกเล็กๆ จะเด่นที่กรอบและรสชาติอร่อย เหมาะเป็นผักแนมจิ้มน้ำพริก พวกลูกใหญ่เนื้อมากอย่างมะเขือเปาะกินสดก็ดี ใส่แกงเผ็ดต่างๆ ก็อร่อย ส่วนมะเขือยาวทำกับข้าวได้หลากหลายทั้ง ยำมะเขือเผา ผัดใส่เต้าเจี้ยว หรือชุบไข่ทอดจิ้มน้ำพริกกะปิ มะเขือเป็นผักที่กินไม่ยาก รสชาติดี และอุดมด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี มีธาตุเหล็กและแคลเซียมบ้าง ส่วนเปลือกจะมีสารอาหารมากกว่าเนื้อ คนไทยกินมะเขือโดยไม่ปอกเปลือกออก นับว่าเท่กว่าหลายประเทศที่ไม่ยอมกินเปลือกมะเขือแบบไม่ตั้งใจ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันน่าทึ่งของการถนอมอาหารที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ ก่อนที่จะรู้ถึงสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ประวัติศาสตร์ของอาหารกระป๋องเริ่มต้นที่ขวดแก้ว โดยนาย นิโคลัส ฟรองชัวร์ อัปแปร์ต  ชาวฝรั่งเศส ได้สนองนโยบายด้านการสงครามของกษัตริย์นโปเลียน ที่ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารได้นานๆ สำหรับใช้เป็นเสบียงในกองทัพ งานนี้นายนิโคลัส รับเงินไป 12,000 ฟรังส์ กับวิธีการนำอาหารใส่ขวดแก้วแล้วผนึกฝาให้แน่นพร้อมกับต้มขวดบรรจุอาหารในน้ำเดือด วิธีนี้คือการสเตอริไลเซชั่น(Sterilization) หรือกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารบูดเสียมาจากจุลินทรีย์ และการใช้ความร้อนคือการทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ จากขวดแก้วได้พัฒนามาเป็นกระป๋องที่ผลิตจากโลหะ และต่อยอดไปสู่การบรรจุอาหารในถุง(pouch) ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ แต่กระป๋องโลหะยังคงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและการนำวัสดุมารีไซเคิลได้ใหม่ อาหารบรรจุกระป๋องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ดี สามารถเก็บรักษาได้นานราว 2 ปี เว้นพวกที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์หมักดอง ไม่ควรเก็บเกินกว่า 18 เดือน อาหารกระป๋องควรอยู่ในสภาพดีเมื่อเลือกซื้อ ไม่บุบ บวม และเนื่องจากอาหารกระป๋องอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ หากมีลมพุ่งออกมาจากกระป๋องในขณะเปิดควรทิ้งไปทันที ห้ามกิน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 บ๊วย

บ๊วย (Japanese apricot, Chinese plum) อยู่ในสกุลเดียวกับท้อและพลับ แต่ผลบ๊วยสดไม่ค่อยจะมีใครกินกันเพราะรสชาติสุดเปรี้ยวและขมเว่อร์ แต่นิยมนำไปทำบ๊วยดอง ซอสบ๊วยเจี่ย น้ำบ๊วยเข้มข้นและเหล้าบ๊วย ซึ่งให้มูลค่าที่สูงกว่าผลสดมาก บ๊วย เป็นผลไม้ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็น ผลไม้แห่งโชคลาภความเจริญงอกงาม และความทรหดอดทน เพราะต้นบ๊วยตามธรรมชาตินั้นทนแล้งได้ดีเหลือเกิน ยามเดินทางให้มีบ๊วยดองติดตัวไว้ ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ ได้ชะงัดมาก อมบ๊วยจนปากจู๋เยี่ยงซูเปอร์แมนในการ์ตูน หนูน้อยอาราเล่ จะช่วยปรับดุลสภาวะในกระเพาะให้มั่นคง แข็งแรง คนจีนรู้เรื่องนี้ดี ดังนั้นหากต้องเดินทางไกล พกบ๊วยดองไปด้วยจะดีมาก อากาศร้อนๆ แบบนี้น้ำบ๊วยสักแก้วยิ่งน่าสนใจ เพราะบ๊วยมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลียได้ บางตำรายังว่าช่วยดับกลิ่นปากได้ด้วย ถึงคำถามสำคัญหลายคนสงสัย ทำไมบ๊วยถูกนำมาใช้ในความหมายแฝงว่า ตำแหน่งสุดท้ายหรือปลายแถว อันนี้ฟังมาจากผู้รู้ท่านบอกว่า คำว่า บ๊วย ในภาษาจีน(แต้จิ๋ว) จะมีความหมายว่า หาง บ๊วยเลยถูกนำมาใช้เปรียบกับพวกที่ทำอันดับได้ไม่ดีหรือพวกหางแถวนั่นเอง สำหรับบ๊วยดองเค็ม ยังไงก็ไม่ควรกินเยอะไปโดยเฉพาะผู้มีปัญหาโรคความดันและหัวใจ เพราะโซเดียมสูง ส่วนซอสบ๊วยเจี่ยกับน้ำบ๊วยเข้มข้น ให้เลือกชนิดที่ไม่ใส่สารกันบูด และเหล้าบ๊วย มันคือแอลกอฮอล์ดีๆ นี่เอง โปรดดื่มกันแต่พอสมควร  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 เยลลี่

เยลลี่ (Jelly) ขนมเคี้ยวหนึบสีลูกกวาดนี้ เป็นขนมที่เด็กและวัยรุ่นนิยมกันมาก มีมานานเป็นร้อยปีแล้วในแถบยุโรป และฮิตจริงจังในบ้านเรามากว่า 30 ปี ขนมเยลลี่นั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือแบบเนื้อสัมผัสนุ่มชุ่มน้ำเป็นเนื้อวุ้นใสๆ กับแบบเนื้อสัมผัสหนึบหนืดคล้ายหนังยาง ซึ่งขึ้นรูปได้หลายแบบ ที่นิยมก็เช่น รูปหมี รูปดาว รูปเม็ดถั่ว ชนิดเหนียวหนึบอย่างหลังนี้จะเรียกเจาะจงลงไปว่า กัมมี่เยลลี่ (Gummy jelly) ข้อดีคือไม่แข็งอย่างลูกกวาด เคี้ยวหนึบ เพลินดี ถึงขนาดมีผลวิจัยออกมาว่าช่วยลดความแข็งกร้าวของผู้ที่ชื่นชอบการเคี้ยวกัมมี่เยลลี่หนึบๆ นี้ด้วย ในเยลลี่ประกอบด้วยน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ สารให้ความหวาน สี(สมัยก่อนนิยมสีสังเคราะห์เพราะสดใสสุดๆปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสีจากธรรมชาติมากขึ้น) และวัตถุที่ทำให้เกิดเนื้อสัมผัสแบบหยุ่นๆ (เนื้อเจล) เช่น เจลาติน คาราจีแนน และวุ้น (ฝรั่งเรียก Agar agar) สำหรับ เยลลี่เลิฟเวอร์ ทั้งหลาย หากเยลลี่ตัวไหนผสมเจลาติน ให้รู้ไว้ว่าไม่ได้เป็นอาหารเจ เพราะเจลาติน คือโปรตีนที่ได้มาจากการสกัดกระดูกหมูหรือกระดูกวัว เด็กและวัยรุ่น มุสลิม ก็ต้องเลือกเจลาตินที่มาจากกระดูกวัวเท่านั้นซึ่งควรระบุตรา "Halal gelatin" หรือ "Beef gelatin" ถ้าระบุ เจลาติน เฉยๆ อาจมีปัญหา และเนื่องจากเจลาตินมันสร้างปัญหา จึงมีคาราจีแนนมาเป็นตัวเลือก อันนี้ทำมาจากสาหร่ายทะเล เยลลี่ที่ผสมคาราจีแนน จึงจัดเป็นอาหารเจได้มุสลิมกินได้ เพียงแต่คาราจีแนนมันไม่เหนียวและยืดหยุ่นเท่าเจลาติน หลายบริษัทจึงยังภักดีเลือกใช้เจลาตินต่อไป   เดิมเยลลี่อาจดูเป็นขนมที่ไม่มีสาระอะไรแต่หลังๆ พัฒนาจนบางชนิดกินเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เสริมสารอาหารได้ แต่ปัญหาที่พบคือ หลายยี่ห้อสารกันบูดเยอะเกิน ต้องระวังให้ดี ส่วนเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่าสามขวบไม่ควรให้กินขนมเยลลี่เพราะติดคอตายกันมาหลายรายแล้ว โดยเฉพาะที่ใส่ถ้วยเล็กๆ พอคำ เวลากินจะเอามาอมแล้วดูดเข้าปาก นี่อันตรายที่สุด เนื่องจากมีแรงบีบอัดสูง พุ่งเข้าหลอดลมสำลักกันมานักต่อนัก ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กกินอย่างถูกวิธี คือกัดแล้วเคี้ยวก่อนกลืน อ้อ เยลลี่แบบอัดใส่ถ้วยเล็กๆ นั้นในยุโรปเขาห้ามขายกันแล้ว เพราะกลัวเด็กจะตายเพราะเยลลี่อุดหลอดลมนี่แหละ //

อ่านเพิ่มเติม >