ฉบับที่ 192 น้ำปลา

ผลิตภัณฑ์คู่ครัวไทยและอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าอร่อยทั่วภูมิภาคแต่ถ้าไปสืบค้นทางโบราณคดี การนำปลามาหมักเกลือนั้นเป็นการถนอมอาหารที่มีมานานแล้ว หลายชนชาติเขาก็ทำกันมา ในยุโรปกรีกเป็นชาติแรกที่ทำน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์หรูหราระดับเลี้ยงชนชั้นสูง พวกโรมันก็รับไม้ต่อไป แต่การหมักปลาเพื่อเป็นน้ำปลานั้น กว่าจะย่อยปลาจนเป็นน้ำใสๆ ได้ ต้องหมักกันเป็นปี คนในแถบยุโรปเลยชอบกินแบบปลาหมักเกลือระยะกลางอย่างปลาเค็มฝรั่ง หรือ แองโชวี มากกว่า ส่วนบ้านเราการทำปลาหมักเกลือก็เป็นวิถีพื้นบ้านอยู่แล้ว ทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ภาคใต้เองก็มีน้ำเคย ซึ่งใช้สร้างรสเค็มในอาหารแต่ดั้งเดิม น้ำปลาแบบปัจจุบันบางตำราจึงว่า อาจได้จากวิธีการของคนจีน แต่บางคนก็คิดว่า อาจจะเป็นการเผลอหมักปลาร้านานไปหน่อยก็ได้ จนปลาเปื่อยยุ่ยเป็นน้ำน้ำปลาอย่าไปคิดว่าพื้นที่ ที่ใกล้ทะเลจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะกล่าวกันว่าคนภาคกลางที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายนี่แหละเป็นตัวจริง เราคงเคยได้ยินว่าน้ำปลาจากปลาสร้อยอร่อยมาก แต่คงหากินไม่ง่ายแล้วเพราะปลาสร้อยแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ปลาทะเลเลยเข้ามาแทนที่ ปลาทะเลไทยที่นิยมกันว่าทำน้ำปลาได้อร่อยก็ต้องยกให้ปลากะตักและปลาไส้ตัน โรงงานที่ทำน้ำปลาใส่ขวดจำหน่ายรายแรกมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ก็เริ่มจากการหมักปลากะตักนั่นเองน้ำปลาดี ต้องดีตั้งแต่ปลา วิธีการหมัก ระยะเวลา ตลอดจนอุณหภูมิและภาชนะที่หมักบ่ม ของเวียดนามน้ำปลาที่อร่อยนั้นถึงกับต้องฝังภาชนะลงดิน ในน้ำปลาจะมีโปรตีนเป็นสารอาหารหลัก และมีวิตามิน บี 12 สูง แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไต ความดัน ก็เพลาน้ำปลาลงนิดนึงเพราะโซเดียมก็สูงเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 แมงกะพรุน

สัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่อยู่คู่โลกมามากกว่า 500 ล้านปี มีลำตัวใส นิ่ม ไร้สมองและหัวใจมาตั้งแต่แรกมีบนโลกแมงกะพรุนมีหลายชนิดนับได้เป็นหมื่น มีทั้งชนิดกินได้และชนิดที่มีพิษร้ายแรง แมงกะพรุนป้องกันตัวเองด้วยเข็มพิษที่หนวด ถ้าโดนทิ่มตำเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ตั้งแต่เบาะๆ อย่างทำให้คัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลเรื้อรังหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไปเจอพิษชนิดร้ายแรงเข้า โดยเฉพาะแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่ถูกจัดอันดับให้มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกแต่คนเรานั้นช่างสังเกตทำให้เจอะเจอแมงกะพรุนชนิดที่สามารถนำมาบริโภคได้ และจัดว่ามีคุณค่าทางอาหารพอสมควรเสียด้วย โดยเฉพาะเจลาตินที่เป็นส่วนของเนื้อตัวใสๆ นั้นจัดเป็นโปรตีนชั้นดี แคลอรีต่ำ กล่าวกันว่าคนจีนนั้นจับแมงกะพรุนมากินกว่า 1,000 ปีแล้ว เชื่อว่ากินแล้วบำรุงข้อ บรรเทาโรคเก๊าท์เมื่อชาวประมงเก็บแมงกะพรุนขึ้นมาจากทะเลจะนำมาล้าง ตากแห้งแล้วหมักด้วยเกลือ สารส้ม และโซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) หลายวันก่อนจะนำออกขาย เป็นแบบแมงกะพรุนแห้ง ซึ่งจากแมงกะพรุนสดหนักประมาณ 30-50 กิโลกรัม พอแห้งจะเหลือเพียงแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้น แมงกะพรุนแห้งมีหลายเกรด ราคาจะสูงต่ำไปตามคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เกรดเอจะถูกส่งขายตลาดต่างประเทศอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น เพราะคนที่นั่นเขานิยมรับประทานกันมากแมงกะพรุนแห้งนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำ ใส่ในเย็นตาโฟหรือลวกจิ้มในร้านสุกี้ และบางพื้นที่อย่างชลบุรี ก็มีการนำแมงกะพรุนสดไปดองกับเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นมะยม จะได้แมงกะพรุนดองที่มีสีออกแดงๆ รสชาติอร่อยแปลกไปอีก โดยแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้ ส่วนใหญ่ที่พบในทะเลบ้านเราคือ แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนจาน แมงกะพรุนหอม และแมงกะพรุนลอดช่อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 มะขามเปียก

คือ เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด แกะเอาเมล็ดออก นำไปตากแดดให้หมาด เก็บไว้กินได้นาน มะขามเปียกที่นำมาปรุงอาหารและยา ต้องเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวเท่านั้น ในเนื้อมะขามเปียกมีกรดอินทรีย์หลายชนิด มีฤทธิ์ช่วยระบาย หากท้องผูก ลองหยิบมะขามเปียกมาจิ้มเกลือรับประทานสักฝักสองฝักเป็นอันได้ผล  นอกจากนั้นยังมีกรดผลไม้ หรือ AHAs ที่ช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกที่หยาบกระด้างหลุดลอกและกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ทำให้ผิวหนังอ่อนวัยอยู่เสมอ จึงนิยมนำมาขัดผิวตั้งแต่สมัยโบราณ  มะขามเปียกยังเป็นสิ่งสำคัญประจำครัวไทย ช่วยสร้างรสเปรี้ยวให้กับอาหารที่ต่างจากรสมะนาวที่เปรี้ยวจี๊ด และบางทีก็ติดรสขมจากเปลือกเนื่องจากการบีบคั้น ส่วนรสเปรี้ยวจากมะขามเปียกจะนุ่มนวลกว่า มีรสหวานเล็กๆ ติดมาด้วย อาหารที่ปรุงด้วยมะขามเปียกจะมีเนื้อสัมผัสที่ข้นขึ้นเล็กน้อย แกงส้ม ต้มส้ม แกงเทโพ ต้องใช้มะขามเปียกจึงจะได้รสที่อร่อย หรือในบางฤดูที่มะนาวแพง การปรุงต้มยำก็ใช้น้ำมะขามเปียกแทนกันได้ มะขามเปียกแม้เก็บได้นาน แต่ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด หากเก็บไม่ดีอาจเกิดเชื้อราได้ง่าย มีคำแนะนำว่า หากได้มะขามเปียกมาอาจนำไปเข้าไมโครเวฟก่อน หรือควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และไม่ซื้อมากักตุนไว้เยอะเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 คาเวียร์

เป็นชื่อของไข่ปลาปรุงรส ทำมาจากปลาได้หลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากคือไข่ปลาสเตอร์เจียน ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว คาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนยังนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลกอีกด้วยสเตอร์เจียน เป็นปลาสองน้ำที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตามธรรมชาติจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น สถานะของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด จากความนิยมบริโภคไข่ของมันนั่นเองทำให้ต้องมีการออกกฎควบคุมการจับปลาในแหล่งธรรมชาติ เพราะขืนปล่อยไว้มีหวังปลาที่อายุเฉลี่ยมากกว่า 150 ปีและอยู่บนโลกมาร่วมร้อยล้านปีได้สูญพันธุ์แน่ ไข่จากปลาสเตอร์เจียนบางทีก็เรียกว่า คาเวียร์ดำ แบ่งเป็นหลายชนิด เช่น เบลูกา  เซฟรูกา ซึ่งเรียกจากปลาต่างอายุ ต่างสายพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ชนิด สี และรสชาติของคาเวียร์ดำจึงมีความหลากหลาย อะไรอร่อยสุด ดีสุด ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภค   อย่างไรก็ตามคนที่จะบริโภคคาเวียร์ได้ต้องมีเงินทองเหลือใช้เท่านั้น จึงนิยมบริโภคกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง จัดเป็นอาหารหรูหราแสดงถึงฐานะและรสนิยมมาตั้งแต่ยุคศักดินา ยิ่งเป็นคาเวียร์ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนพันธุ์ที่หายากราคายิ่งแพงมากๆ คาเวียร์ที่ได้จากสเตอร์เจียนในทะเลสาบแคสเปียนคนส่วนใหญ่เชื่อว่า มีคุณภาพดีที่สุด ราคาจึงแพงที่สุด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120,000 -  150,000 บาท แม้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงได้ ราคาของคาเวียร์จากปลาเลี้ยงก็ยังอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 40,000 - 50,000 บาท ปัจจุบันประเทศไทยก็สามารถเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและนำไข่มาวางขายได้แล้วเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 พะโล้

อาหารจีนที่อยู่ในวิถีชีวิตไทยมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นไข่พะโล้ เป็ดพะโล้ หรือข้าวขาหมู ที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพะโล้  พะโล้ คือการเคี่ยวน้ำกับน้ำตาลทรายแดง เกลือและซีอิ๊วให้งวดพร้อมกับผงปรุงพะโล้ แล้วใช้ปรุงเนื้อสัตว์อย่างห่าน เป็ดหรือขาหมู หมูสามชั้น และเคี่ยวต่อให้งวดจนน้ำปรุงซึมเข้าไปในเนื้อสัตว์  เครื่องปรุงสำคัญคือผงพะโล้นั้น มีกันหลากหลายสูตรมากตามแต่ท้องถิ่นนิยม แต่ที่คุ้นกันทั่วไปจะเป็นผงพะโล้ที่ประกอบด้วยเครื่องเทศห้าชนิด ได้แก่ โป๊ยกั๊ก(เครื่องเทศรูปดาวแปดแฉก) อบเชย กานพลู ยี่หร่าและพริกหอมหรือชวงเจีย(บางที่อาจแทนด้วยลูกผักชี) ฝรั่งจึงเรียกผงพะโล้ว่า  เครื่องเทศห้าอย่าง (Five-Spice Powder) และหากจะเพิ่มความหอมอย่างไทยก็ต้องมีสามเกลอ ได้แก่ กระเทียม รากผักชีและพริกไทยใส่ปรุงไปด้วย     พะโล้ทำครั้งหนึ่งเก็บได้หลายวัน การอุ่นหรือเคี่ยวบ่อยๆ จะยิ่งทำให้น้ำปรุงซึมซาบเข้าไปในเนื้อสัตว์จนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะไข่พะโล้ที่ผ่านการอุ่นหลายครั้งรสชาติจะดีมากเพราะไข่จะรัดตัวมีความเหนียวหนึบเป็นพิเศษ พะโล้นอกจากเราจะได้คุณค่าจากไข่และเนื้อสัตว์แล้ว เรายังได้สรรพคุณดีๆ จากเครื่องเทศที่ประกอบเป็นผงพะโล้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า เครื่องเทศส่วนใหญ่จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  อย่างไรก็ตามผงพะโล้สำเร็จรูป หากเก็บไว้นานๆ อาจเจอปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อราดังนั้นควรเลือกที่ผลิตใหม่ โรงงานได้มาตรฐานการผลิต และไม่ใช้ผงพะโล้เก่าเพราะอาจเสี่ยงต่อสารพิษจากเชื้อราได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ดินประสิว

เราอาจคุ้นเคยว่าดินประสิว ใช้ในการทำพลุ ดอกไม้ไฟ แต่ในอุตสาหกรรมอาหารดินประสิวก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน     ในการถนอมอาหารประเภทเนื้อแดดเดียว เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ไส้กรอก แหนม กุนเชียงลักษณะของเนื้อที่ดูสีแดง สด สวยงามนั้น เกิดมาจากการใช้ดินประสิวเป็นสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ ดินประสิวหรือชื่อทางเคมี โปแตสเซียมไนเตรท(Potassium nitrate) นอกจากมีคุณสมบัติช่วยให้เนื้อมีสีแดงทนนานแล้ว ยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียในอาหารด้วย จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ข้างต้น     ดินประสิวหรือโปแตสเซียมไนเตรท โดยตัวมันเองอาจมีความเป็นพิษต่ำ แต่มันสามารถเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของไนไตรท์ ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าได้ในร่างกายของเรา และยังอาจเปลี่ยนหรือกลายเป็นสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า ไนโตรซามีน ได้อีกด้วย ในหลายประเทศจึงห้ามไม่ให้ใช้ดินประสิวในการผสมในอาหารเพราะมีความเสี่ยงในการก่อมะเร็งหรือเร่งให้เกิดเป็นมะเร็งเร็วขึ้น     สำหรับในประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการใช้แต่ในปริมาณจำกัดมากๆ แต่ผู้ผลิตบางรายก็ไม่ค่อยรับผิดชอบ ใส่เกินมาตรฐานจนน่าห่วง แม้แต่หมูกรอบ หมูแผ่น หมูทุบ ซึ่งไม่ควรใส่ดินประสิว ก็ยังพบการตกค้างสูง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานอาหารประเภทนี้มากนักหรือบ่อยเกินไป ควรรับประทานอาหารสดให้มากขึ้น และเมื่อรับประทานอาหารประเภทนี้ ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินบี มากๆ ในมื้ออาหารเดียวกันด้วยจะช่วยให้ร่างกายลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้บ้าง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 สเต๊ก

คือเนื้อที่ถูกแล่ออกมาจากตัวสัตว์เป็นชิ้นใหญ่ๆ แล้วนำมาปรุงทั้งชิ้นจะโดยการย่างหรือทอดก็ได้ ในบางวัฒนธรรมสเต๊กถูกจัดลำดับให้เป็นอาหารที่แสดงถึงความร่ำรวย หรูหรา สเต๊ก(steak) เป็นอาหารจานเก่าแก่สุดอย่างหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า สเต๊กเกิดขึ้นพร้อมกับที่มนุษย์รู้จักใช้ไฟเพื่อทำให้เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้สุก หากสืบประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป ชนชาติที่ทำสเต๊กให้หน้าตาใกล้เคียงกับที่เรารับประทานในปัจจุบัน คือพวกนอร์ส หรือที่เราเรียกกันว่า ไวกิ้ง ชาวนอร์สเมื่อล่าสัตว์ได้จะไม่ได้เผาหรือย่างสัตว์ทั้งตัวหรือนำมาเสียบไม้ย่างไฟอย่างชนชาติอื่นที่ร่วมสมัยกัน แต่จะบรรจงแล่เนื้อสัตว์เป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาย่างบนตะแกรงเหล็ก ไม่ก็อบในหม้อเหล็ก ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เนื้อสุกทั่วกันทั้งชิ้นและได้รสชาติดีกว่า นับแต่นั้นสเต๊กก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป พร้อมๆ กับการขยายอำนาจอิทธิพลของชาวไวกิ้ง อีกทั้งยังได้รับการต่อยอดให้มีขั้นตอนการปรุงการกินที่พิถีพิถันจนกลายเป็นอาหารจานหรู สำหรับสเต๊ก เนื้อที่นิยมมากที่สุดคือ เนื้อวัว ซึ่งจะมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับเนื้อบริเวณต่างๆ ที่ถูกแล่ออกมา เช่น ริบ-สเต็กหรือเนื้อติดซี่โครง เซอร์ลอยน์ (Sirloin)หรือเนื้อสันนอก เทนเดอร์ลอยน์ (Tenderloin)หรือเนื้อสันใน และมีศัพท์เฉพาะสำหรับการปรุงให้สุกในแต่ละระดับ เช่น แรร์ (rare) ที่เนื้อด้านในจะยังเหมือนไม่สุกและมีสีแดง จนถึง เวลล์ดัน (well done) ที่เนื้อจะสุกทั่วกันทั้งชิ้น ระดับความสุกที่ใช้เรียกกันนี้จะใช้กับสเต๊กเนื้อวัวเพียงอย่างเดียว สำหรับเนื้อหมูหรือปลาควรทำให้สุกทั่วกันทั้งชิ้น เพราะอาจมีเชื้อก่อโรคหรือพยาธิปนเปื้อนอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ข้าวโพดฝักอ่อน

พืชตระกูลหญ้าที่นิยมบริโภคกันมาแต่โบราณ ต้องนับข้าวโพดให้เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งไม่เพียงกินได้เมื่อฝักแก่ ยามเป็นฝักอ่อนก็นำมากินได้ ว่ากันว่าชาวอินเดียนแดงเป็นผู้ริเริ่มปลูกข้าวโพดเพื่อใช้กินภายในครอบครัว ก่อนที่ข้าวโพดจะถูกแพร่พันธุ์มายังทวีปเอเชียและทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยก็เริ่มจากเพาะปลูกบริโภคกันในครัวเรือนก่อน จนต่อมามีการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชไร่เพื่อเลี้ยงสัตว์ เมื่อเกษตรกรไทยเริ่มมีการนำฝักอ่อนมาบริโภคเช่นเดียวกับผักทั่วไป และมีเก็บขายในตลาดท้องถิ่น จึงเริ่มมีการส่งเสริมเพื่อให้เก็บเกี่ยวเฉพาะฝักอ่อนเพื่อเป็นพืชการค้า จนกลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ข้าวโพดฝักอ่อนก็คือ ฝักหรือซังข้าวโพดขนาดเล็กในระยะก่อนที่จะมีการผสมเกสร โดยเมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากใบยอด เกษตรกรจะดึงช่อดอกตัวผู้ทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมเกสรกับฝักที่เป็นตัวเมีย ทิ้งเวลาไว้สักระยะเราจะได้ฝักอ่อนขนาดเท่านิ้วก้อยมารับประทาน ข้าวโพดฝักอ่อนจะใช้เป็นผักแนมกับน้ำพริก หรือผัด แกงได้หลายอย่าง รสชาติดี หวาน กรอบและมีคุณค่าทางอาหารสูง สำคัญคือ สารเคมีฆ่าแมลงจะไม่มาก เพราะว่าใช้เวลาผลิตสั้น แมลงจึงยังไม่รบกวนเท่าไร นับว่าเป็นผักอีกชนิดที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ฟู้ดทรัก (Food Truck)

ร้านขายอาหารเคลื่อนที่ ที่มีรากเหง้ามาจากสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทยกำลังกลายเป็นธุรกิจมาแรงสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีอาชีพอิสระ        ทุกวันนี้เราพบเห็นรถขายอาหารเคลื่อนที่แบบนี้ได้ทั่วไป อาจเรียกว่า เป็นการยกระดับจากรถเข็นหรือแผงลอยอาหารธรรมดาหน้าตาบ้านๆ  มา เป็นร้านอาหารในรถ ที่ตกแต่ง(รถ) ให้สวยงามน่าสนใจ โดยรถอาหารประเภทนี้จะไปเปิดขายในสถานที่ชุมชนต่างๆ อย่างตลาดนัดแนวๆ  หรือย่านสถาบันการศึกษา และงานจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการต่างๆ อาหารที่ให้บริการจะเป็นประเภท ปรุงง่าย กินสะดวก อย่าง ไอศกรีม แฮมเบอร์เกอร์ กาแฟ ซูชิ เครป พาสต้า หรือปิ้งย่างซีฟู้ด ฯลฯ ส่วนใหญ่จะออกแบบให้ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะสำหรับนั่งรับประทาน แต่บางร้านก็อาจปรับให้มีที่นั่งกินเล็กๆ หน้าร้านบ้างแล้วแต่สถานที่     ปัจจุบันธุรกิจชนิดนี้กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบดูแลให้ร้านอาหารประเภทนี้ สะอาดได้มาตรฐาน อาจเป็นเพราะร้านประเภทนี้ไม่จำกัดตัวเองในเรื่องสถานที่ขาย สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วไป โดยอาศัยสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง เลยยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ใครจะเข้ามาดูแลจัดการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 พาย

พาย เป็นขนมอบในกลุ่มที่เรียกว่า เพสตรี(Pastry) อันได้แก่ พาย ทาร์ต (tart) คิช(quiche) ครีมพัฟหรือที่เราเรียกกันว่า เอแคลร์(éclair) พายนั้นต่างจากขนมปัง แม้มีส่วนผสมหลักคือ แป้ง น้ำตาล นม เนยและไข่ เหมือนกัน แต่พายและขนมอบในกลุ่มเพสตรีจะมีไขมันมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ไขมันไปตัดกลูเตนที่อยู่ในแป้งสาลีให้สั้นลงเนื้อขนมพายจึงมีความร่วนกรอบเมื่ออบสุก ต่างจากเนื้อขนมปังที่จะเหนียวนุ่ม พายดั้งเดิมแล้วมีมาแต่ยุคกรีกโบราณและแพร่หลายต่อมาในยุโรปตอนเหนือและตอนกลาง นายอลัน เดวิดสัน ผู้แต่งหนังสือ The Penguin Companion to Food บอกเราว่า คำนี้อาจย่อมาจาก แม็กพาย(magpie) ซึ่งเป็นนกชนิดหนึ่งที่ชอบสะสมสิ่งของต่างๆ เช่นเดียวกับไส้ในของพายที่เดิมนั้นจะทำจากเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดผสมในน้ำซอส โดยมีแป้งเนื้อหนาหุ้มแทนหม้อเพื่ออบไส้ในให้สุก ว่ากันว่า เปลือกพายชนิดเดิมๆ นั้นหนาระดับกินกันแต่ไส้ข้างใน ส่วนเปลือกทิ้งไปเพราะกัดไม่เข้า ต่อมาภายหลังแป้งพายได้รับการพัฒนาสูตรจนทำให้บางกรอบกินอร่อย และเริ่มนิยมทำไส้ด้วยผลไม้รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งพายที่นิยมกันมากได้แก่ พายแอปเปิล อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอเมริกา(แต่สูตรดั้งเดิมมาจากอังกฤษนะจ๊ะ)    

อ่านเพิ่มเติม >