ฉบับที่ 207 ชั่วโมงต้องมนต์ : อย่าปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปดุจสายน้ำ

“เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ แต่ดูเหมือนว่า คนยุคใหม่แทบจะไม่สำเหนียกเลยว่า “เวลา” มีคุณค่าเพียงไร และปล่อยให้กาลเวลาไหลผ่านไปไม่แตกต่างอันใดจากสายน้ำ จนกว่าที่คนเราจะสูญสิ้น “เวลา” ไปจากชีวิตนั่นแหละ เราจึงจะรู้ว่า “เวลา” มีค่ากับตนเพียงใด ด้วยโจทย์ง่ายๆ เกี่ยวกับ “เวลา” เช่นนี้ เป็นที่มาของการวางพล็อตหรือโครงเรื่องของละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ผสานแฟนตาซี อย่างเรื่อง “ชั่วโมงต้องมนต์” เหตุแห่ง “ชั่วโมง” ที่ “ต้องมนต์” เกิดขึ้นเมื่อ “มาร์ค” หรือ “ณฤทธิ์” หนุ่มเกย์เซเล็บไฮโซเจ้าของบริษัทปั้นนางแบบนายแบบชื่อดัง “มาร์คเอ็นเตอร์เทนเมนท์” ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต และด้วยความเป็นคนที่เป็นคนบ้างาน อารมณ์เหวี่ยงวีนต่อผู้คนรอบข้างอยู่เนืองนิตย์ และไม่เคยสนใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของใครใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสิ้นลมหายใจลง มาร์คก็ได้กลายเป็นวิญญาณผีเร่ร่อน ที่ไม่อาจหลุดพ้นไปสู่สุคติได้ ในเวลาเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง “บุญสิตา” นางเอกสาวสุดเฉิ่ม แต่จิตใจดีงาม มองโลกสวยแสนซื่อ ก็เผชิญชะตากรรมชีวิตของชนชั้นที่ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ครอบครัวของเธอมีภาระหนี้สินมากมายเพราะแม่เลี้ยงติดการพนันอย่างหนัก แถมบุญสิตาก็มีเหตุให้ตกงานในคราวเดียวกันอีก ดังนั้น เมื่อผีเกย์หนุ่มไฮโซขี้วีนวนเวียนโคจรมาพบเจอกับหญิงสาวแสนเชย และบุญสิตาก็กลายเป็นมนุษย์เพียงผู้เดียวที่มีสัมผัสที่หก และติดต่อพูดคุยกับวิญญาณผีเร่ร่อนของมาร์คได้ จุดเริ่มต้นของการจัดการเปลาะปมต่างๆ ในชีวิตของผีเกย์หนุ่มกับนางเอกสาวคนสวยจึงออกตัวขึ้นนับแต่นั้น ด้วยความเป็นวิญญาณผีเร่ร่อน และด้วยทรัพยากร “เวลา” ในชีวิตมีอันต้องสิ้นสุดลง มาร์คจึงค่อยๆ ทบทวนและเล็งเห็นว่า มีหลายสิ่งในชีวิตที่ยังค้างคาและไม่ได้รับการสะสางในขณะที่ตนยังมีลมหายใจอยู่ และปรารถนาจะ “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ดังกล่าวอีกครั้ง ปมที่ผูกไว้และยังค้างคาอยู่ในจิตใจของมาร์ค มีตั้งแต่การมองไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่ตนมีกับ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา ซึ่งมาร์คคิดตลอดมาว่าพ่อไม่เคยรักหรือภูมิใจในตัวเขาเลย การมองข้ามความรู้สึกของคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน เพราะตนเองเอาแต่มุ่งมั่นทำงาน...งาน...และงานเพียงอย่างเดียว ไปจนถึงการได้ล่วงรู้ความจริงที่ว่า “กันต์” ชายคนที่เขารักเป็นหนักเป็นหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงคนหลอกลวงและวางแผนให้เขารถคว่ำจนเสียชีวิต แต่เนื่องจากภารกิจหรือ “mission” ที่มีแนวโน้มจะ “impossible” มากในครั้งนี้ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้หากว่ามาร์คไม่อาจ “ต่อเวลา” ในชีวิตของเขาออกไป ดังนั้น โครงเรื่องของละครจึงเปิดโอกาสให้วิญญาณของมาร์คถูกดูดเข้าไปในโลกเสมือนคล้ายกับนาฬิกาขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ห้องเวลาชีวิต” ซึ่งมีตัวละครสมมติเป็นหญิงสาวชื่อว่า “เวลา” คอยทำหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในชีวิตของผู้คน รวมทั้งเวลาในชีวิตของผีเกย์หนุ่มด้วย  และเพราะวิญญาณของมาร์คสามารถสิงร่างของบุญสิตาได้ เวลาจึงต่อชะตาอนุญาตให้เขาสามารถอยู่บนโลกได้อีกร้อยวัน เพื่อใช้ห้วงเวลาครั้งสุดท้ายไปจัดการสิ่งที่เขาคิดว่ามีค่าและค้างคาอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่า เขาสามารถสิงร่างของบุญสิตาได้วันละไม่เกิน 1 ครั้ง และครั้งละไม่เกิน 4 ชั่วโมง  จากที่เคยคิดว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มนุษย์เรามีอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด เมื่อต้องมาอยู่ในบริบทที่เวลากลายเป็นทรัพยากรมีจำกัด มีเงื่อนไขการใช้ และตนเองไม่อาจควบคุมเวลาได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ มาร์คก็ได้หวนทบทวนว่า การปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปเหมือนสายน้ำ หรือใช้ห้วงเวลาในชีวิตไปทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นภาพลวงตามากกว่าของจริงนั้น เป็นประหนึ่งการพร่าผลาญให้เวลาชีวิตหมดคุณค่าลงไป  ด้วยเหตุฉะนี้ มาร์คจึงใช้ห้วงเวลาที่มีอยู่จำกัดและน้อยนิดแบบนี้จัดการกับปัญหาต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ความพยายามต่อสายสัมพันธ์และปรับความเข้าใจกับบิดา ซึ่งท้ายสุดคุณสมบัติเองก็เรียนรู้เช่นกันว่า การเรียกร้องให้บุตรชายเป็นแบบที่เขาคาดหวัง ทั้งในแง่หน้าที่การงานและในแง่การดำเนินชีวิตไปตามเพศสภาพที่สังคมกำหนดนั้น หาได้มีคุณค่าอันใดไม่เมื่อเทียบกับลมหายใจในชีวิตของมาร์คบุตรชายตน จากนั้น มาร์คก็บริหารเวลาของเขาเพื่อให้บทเรียนกับคนรอบข้าง ทั้ง “ศรัณย์” “จัสติน” “เจนนี่” “ดนุดล” และบรรดาผองเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานของเขาว่า แม้มนุษย์เราจะรักการทำงาน หรือรักที่จะสร้างสรรค์งานการเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จริงๆ แล้ว มนุษย์เราก็ต้องจัดสรรห้วงเวลาบางช่วงเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนและคนรอบข้างควบคู่กับการทำงานรับใช้ระบบเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญ กับชีวิตของหนุ่มไฮโซผู้เติบโตมาบนกองเงินกองทอง มาร์คเองไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า บนโลกใบนี้ยังมีชีวิตของคนกลุ่มอื่นที่ฐานะต่ำต้อยกว่า อย่างกรณีของบุญสิตาซึ่งก็มีปัญหารุมล้อมในช่วงเวลาชีวิตหลายอย่าง ไม่แตกต่างจากคนที่ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” อย่างเขาเลย แม้บุญสิตาจะมีฐานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่ามาร์ค แต่คุณงามความดีในจิตใจของเธอก็ทำให้มาร์คพบว่า การตัดสินคุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ฐานะการเงินหรอก แต่เป็นเรื่องนิสัยใจคอต่างหาก ซึ่งในท้ายที่สุด มาร์คก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุญสิตากับ “พุฒิเมธ” น้องชายของตนลงเอยสมหวังในความรัก เพื่อตอบแทนคุณความดีที่เธอยอมให้เขาสิงร่างและทำให้ “mission” ของเขาเป็นไปได้นั่นเอง กล่าวกันว่า ในปัจจุบันระบอบทุนนิยมประสบความสำเร็จยิ่งที่พรากเวลาไปจากชีวิตของคนเรา หรืออีกนัยหนึ่ง สังคมทุนนิยมมีอำนาจดึงห้วงเวลาของเราให้ไปอยู่กับการทำงาน...งาน...และงาน เพียงเพื่อรับใช้และต่อลมหายใจให้กับสายพานของระบอบดังกล่าวออกไป คล้ายๆ กับบรรดาชีวิตของมนุษย์งานแบบมาร์คที่ทำงานโดยเพิกเฉยต่อสายสัมพันธ์และโลกรอบตัว จนกว่ามาร์คและรวมทั้งมนุษย์ในระบอบอย่างเราๆ จะสูญเสียเวลาชีวิตของตนไป หรือต้องเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขที่เวลาชีวิตมีจำกัด และเราไม่อาจจัดการต่อรองกับเงื่อนไขดังกล่าวได้เลย เมื่อนั้นตัวละครและผู้คนทั้งหลายจึงจะตระหนักว่า เวลามีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตเราอย่างไร  คงคล้ายๆ กับประโยคที่บิดาของมาร์คกล่าวเตือนสติกับ “ธีมา” เพื่อนที่บ้างานของเขาว่า “ชีวิตของคนเรามีช่วงเวลาอยู่สามช่วงคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่ปัญหาก็คือ เราจะได้ใช้เวลาในชีวิตทั้งสามช่วงนั้นหรือเปล่า” นั่นก็เป็นเพราะว่า “ชั่วโมงต้องมนต์” แบบที่ผีเกย์ไฮโซอย่างมาร์คได้รับนั้น อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ “ต้องมนต์” ให้ชีวิตคนเราทุกคนได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เรือนเบญจพิษ : จากการ “รวมศูนย์” สู่การ “กระจาย” ความรู้

ในสังคมปัจจุบันซึ่งถือเป็น “สังคมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน” หรือเป็น “knowledge-based society” นั้น กล่าวกันว่า ใครก็ตามที่มีความรู้ ก็มักจะใช้ความรู้เป็นอำนาจเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้ครอบครองความรู้ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน เฉพาะคนที่มีอำนาจเท่านั้น ที่จะใช้อำนาจกำหนดให้เรื่องใดบ้างกลายมาเป็นความรู้อันเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมเมื่อความรู้กับอำนาจเป็นสองสิ่งซึ่งแยกกันไม่ขาดเยี่ยงนี้ “การจัดการความรู้” หรือ “knowledge management” ที่เรียกย่อๆ ว่า “KM” จึงกลายเป็นศาสตร์ที่ผู้คนยุคนี้พยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งแปลงเรื่อง “KM” ให้กลายมาเป็นภาพการช่วงชิงผลประโยชน์ของภรรยาทั้งสี่คนในละครเรื่อง “เรือนเบญจพิษ”เพื่อสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้นั้น ละครได้เลือกย้อนความกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ในเรือนของ “คุณพระยศ” ผู้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาอยู่แล้วสองคนคือ เมียเอกที่มีศักดิ์ชั้นอย่าง “ปิ่น” และเมียบ่าวผู้เป็นรักแรกของคุณพระอย่าง “แหวน” แต่แล้วความขัดแย้งระลอกแรกก็เกิดขึ้น เมื่อคุณพระยศรับผู้หญิงอีกสองนางเข้ามาเป็นภรรยาอยู่ร่วมชายคาเรือนเพิ่มขึ้น คนแรกก็คือลูกสาวคหบดีจีนผู้มั่งคั่งอย่าง “ทับทิม” กับอีกคนหนึ่งคือพี่สาวบุญธรรมของทับทิมหรือ “หยก” ที่แอบบ่มเพาะความแค้นในใจอยู่ลึกๆ เนื่องจากชีวิตของหยกถูกทับทิมกดขี่เอาไว้ตั้งแต่เด็กเมื่อผู้หญิงสี่คนได้เข้ามาสู่วังวนในเรือนเดียวกันของคุณพระยศ แต่ละนางต่างก็มีความมุ่งมั่นและต่างก็พยายามใช้เขี้ยวเล็บเพื่อช่วงชิงอำนาจนำในความเป็นภรรยาหมายเลขหนึ่งของเรือนมาเป็นของตนยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับตัวแปรความขัดแย้งระลอกใหม่ เพราะสยามประเทศยุคนั้นเริ่มรณรงค์ค่านิยมแบบผัวเดียวเมียเดียว และทางการประกาศใช้กฎหมายการจดทะเบียนสมรสขึ้น ทะเบียนสมรสจึงกลายเป็น “สนามรบ” ผืนใหม่ ที่บรรดาคุณนายทั้งสี่ปรารถนาจะแก่งแย่งช่วงชิงชัยชนะมาไว้ในมือให้ได้เพียงหนึ่งเดียวแต่เพราะที่มาของอำนาจก็ต้องผนวกผสานกับการจัดการความรู้เป็นกลไกขับเคลื่อน ดังนั้นละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งขึ้นมาแทนอำนาจในท้องเรื่อง อันได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า “กู่” คล้ายคลึงกับหลักทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” กู่เป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นตามตำนานจีนโบราณ กรรมวิธีสร้างกู่จะใช้การจับสัตว์พิษทั้งห้าชนิดมากักขังและปิดผนึกไว้ในไห สัตว์พิษทั้งห้าได้แก่ งูพิษ แมงมุม ตะขาบ คางคก และแมงป่อง ที่เมื่อถูกขังเอาไว้รวมกัน ต่างตัวต่างก็จะเริ่มต่อสู้กัดกันจนเหลือ “อยู่รอด” ตัวสุดท้ายที่จะกลายเป็นกู่ โดยผู้สร้างก็จะใช้กู่อันเป็นอสรพิษที่ “แข็งแรงที่สุด” ไปฆ่าศัตรูของตนด้านหนึ่งละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยๆ ว่า แท้จริงแล้วภรรยาทั้งสี่คนที่อยู่ในขอบขัณฑ์แห่งเรือนคุณพระยศ ก็ไม่ต่างอะไรจากอสรพิษที่ต้องห้ำหั่นเข่นฆ่า เพื่อจะได้เป็นประหนึ่งกู่ตัวที่ “แข็งแรงที่สุด” แต่อีกด้านหนึ่ง กู่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชุดความรู้ที่ผู้ครอบครองอยู่นั้นใช้เพื่อสถาปนาอำนาจนำขึ้นมาได้ในท่ามกลางผู้หญิงทั้งสี่คนที่ใช้ชีวิตในสังคมซึ่งความรู้มักถูกผูกขาดและ “รวมศูนย์” อยู่ในมือของคนบางกลุ่มนั้น หยกคือภรรยาที่มีองค์ความรู้เรื่องกู่ ซึ่งสืบทอดต่อมาจากบ่าวคนสนิทอย่าง “ยายพ่าง” ด้วยเหตุนี้ เมื่อการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจความเป็นเมียใหญ่เมียเดียวเริ่มเปิดศึกขึ้น หยกจึงใช้กู่เป็นอาวุธที่ขับไสไล่ส่งและขจัดเมียคนอื่นๆ ของคุณพระยศออกจากเรือนไปทีละคนเริ่มจากการบริหารความรู้เพื่อจัดการอัปเปหิทับทิมให้ต้องไปตกระกำลำบากใช้ชีวิตอยู่กับคณะงิ้วเร่ร่อน จากนั้นก็ใช้พิษกู่ทำร้ายเมียเอกอย่างปิ่นจนต้องพิการเสียแขนไปข้างหนึ่ง จนต้องหลบเร้นหนีไปบวชอยู่สำนักนางชี ปิดท้ายด้วยการไล่ฆ่าแหวนจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน และวางกลอุบายพรากเอา “เพชร” หนึ่งในบุตรชายฝาแฝดของแหวนมาสวมรอยเป็นลูกของตน ก่อนที่หยกจะได้ถือครองทะเบียนสมรสและอำนาจของภรรยาหมายเลขหนึ่งในเรือนของคุณพระยศในท้ายที่สุดอย่างไรก็ดี หลังจากยี่สิบกว่าปีผ่านไป พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่การจัดการความรู้ซึ่งเคย “รวมศูนย์” ได้เปลี่ยนผ่านสู่การบริหารความรู้แบบ “กระจายตัว” ไม่ให้ผูกขาดอำนาจหรือกระจุกตัวอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป การกระจายศูนย์แห่งความรู้ก็ส่งผลต่อการครอบครองอำนาจนำในเรือนของภรรยาตามกฎหมายอย่างหยกเช่นกันการผันผ่านสู่ความเปลี่ยนแปลงระลอกล่าสุดนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของภรรยาทั้งสามคนของคุณพระยศที่หายสาบสูญไปกว่าสองทศวรรษ และในขณะเดียวกัน แม้หยกจะขึ้นครองอำนาจเป็นใหญ่ในเรือน แต่เธอก็ต้องเรียนรู้ว่า อำนาจแห่งความรู้ที่เคยรวมศูนย์อยู่ในมือนั้นก็ไม่ได้เสถียรอีกต่อไปแล้วประการแรก แม้จะมีองค์ความรู้เรื่องการสร้างกู่ที่ถือครองไว้ แต่ความรู้ดังกล่าวก็ต้องเผชิญหน้ากับชุดความรู้ดั้งเดิมแบบอื่นที่ถูกใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจในเรือน เฉกเช่นที่ทับทิมและ “ริทธิ์” บุตรชายอีกคนของแหวนได้ร่ำเรียนและฝึกฝนความรู้จีนโบราณเรื่องมีดบิน เพื่อใช้เป็นอาวุธห้ำหั่นกับกู่พิษของหยกและยายพ่างประการถัดมา เมื่อสังคมไทยได้เปิดรับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาจากโลกตะวันตก “อนงค์” ผู้เป็นคนรักของริทธิ์และประกอบอาชีพเป็นพยาบาล ก็อาศัยความรู้แผนใหม่เรื่องกรุ๊ปเลือด เป็นกลไกกุมความลับเรื่องลูกชายของหยก อนงค์จึงเป็นศัตรูหน้าใหม่ที่หยกอยากใช้กู่กำจัดออกไปเพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้และประการสำคัญ ในยุคที่การจัดการความรู้เน้นเรื่องการกระจายอำนาจออกไปนั้น ตัวละครภรรยาของคุณพระยศในยุคกว่ายี่สิบปีให้หลัง ต่างคนต่างก็สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องกู่ ไปจนถึงการที่แต่ละนางก็สามารถสร้างกู่ของตนขึ้นมา เพื่อเอาไว้ประหัตประหารและช่วงชิงผลประโยชน์แบบไม่มีใครเหนือใครอีกต่อไปในท้ายที่สุดของเรื่อง แก่นแกนเรื่องเล่าของละครคงตั้งใจนำผู้ชมไปให้เห็นด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ เหมือนกับคำพูดที่แหวนได้กล่าวกับคุณพระยศหลังจากที่ตัวละครฆ่ากันตายจนเกือบหมดเรือนว่า “ความอยากได้อยากมีคือพิษที่ร้ายกาจที่สุด เราคงจะต้องปล่อยวาง จึงจะแก้พิษนี้ได้...”แต่ในเวลาเดียวกัน ควบคู่ไปกับแก่นแกนของละครข้างต้นนี้ แม้การจัดการความรู้ยุคใหม่จะเน้นกระจายอำนาจให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ก็จริง แต่หากความรู้กับอำนาจนั้นมีมิจฉาทิฐิเข้าครอบงำเพื่อให้มนุษย์ห้ำหั่นกันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอันใดด้วยแล้ว ความรู้ในมือก็ทำให้คนเราไม่ต่างไปจากกู่ที่แข็งแกร่งน่ากลัว และปรารถนาจะอยู่เป็นอสรพิษตัวสุดท้ายในเกมแห่งอำนาจนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ชายไม่จริง หญิงแท้ : ได้เวลาประกาศเจตนารมณ์ของกะเทย

ในท่ามกลางเพศสภาพที่สังคมจัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นเพศหญิงกับเพศชายนั้น “กะเทย” เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกพินิจพิจารณาว่า เป็นเพศที่แปลก แตกต่าง หรือแม้แต่มีวัตรปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากเพศสภาพที่สังคมพึงยอมรับได้ จนถูกกดทับให้กลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสังคมไป แต่ข้อที่น่าคิดก็คือ แม้ในเชิงปริมาณแล้วชุมชนวัฒนธรรมย่อยของกะเทยอาจมิใช่กลุ่มสังคมเล็กๆ ที่ผู้คนรับรู้กันทั่วไป แต่ทว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่และยังมีอำนาจเข้ามากำกับความเป็นไปของระบบสังคมเศรษฐกิจของไทยเสียด้วยซ้ำ ไม่เว้นแม้แต่การเข้ามามีบทบาทและอำนาจในสถาบันสื่อสารมวลชน อย่างที่ปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ชายไม่จริง หญิงแท้”  เงื่อนปมของเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “หญิงแท้” สู้ชีวิตที่มีภูมิลำเนาจากต่างจังหวัดอย่าง “ริน” ต้องจับพลัดจับผลูมาเจอกับ “ชายไม่จริง” ผู้เป็นกะเทยร่างท้วมดีกรีนางโชว์ตัวแม่อย่าง “เคน” ที่พัฒนาการของเรื่องทำให้ความขัดแย้งของทั้งคู่ในตอนต้นกลายมาเป็นความเข้าใจและมิตรภาพในฉากจบเรื่อง  ในขณะที่เปิดฉากมา “หญิงแท้” อย่างรินเองต้องมีเหตุตกงาน เพราะบริษัทที่เธอรับผิดชอบทำงานอยู่เกิดล้มละลาย พร้อมกับทิ้งภาระหนี้สินมากมายที่มิเธออาจปลดได้หมด ส่วนตัวละคร “ชายไม่จริง” อย่างเคน ก็มีสถานะไม่แตกต่างกัน เมื่ออยู่ในสภาวะนางโชว์รุ่นเก่าและสังขารที่ร่วงโรย เคนก็มีอันต้องระเห็จต้องออกจากงานมาคลุกฝุ่นอยู่หน้าคลับนางโชว์ เมื่อความขัดสนทางเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นปัญหาร่วมกันของปุถุชนโดยไม่จำแนกเพศวิถีว่าคนๆ นั้นจะเป็น “ชายไม่จริง” หรือ “หญิงแท้” รินกับเคนก็เลยได้โคจรมาพบและกลายเป็นเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในชะตากรรมอันจนตรอกเหมือนกัน เพราะเคนมีสถานภาพเป็นนางโชว์ที่ตกกระป๋องไปจากวงการแล้ว เคนจึงสวมบทบาทใหม่เป็น “เจ๊เคน” เจ๊ดันที่ตัดแต่งแปลงโฉมให้รินปลอมตัวเป็น “ซิน ศรัณยา” นางโชว์กะเทยวัยสะพรั่ง เพื่อเข้าประกวดในเวทีแข่งขันของสาวประเภทสอง และจะได้เงินรางวัลมาจุนเจือปากท้องทางเศรษฐกิจของทั้งคู่ และต่อมา หลังจากรินในร่างกะเทยปลอมของซินได้คว้ารางวัลชนะเลิศในเวที Miss Queen Beauty ของชาวสีม่วงแล้ว รินก็ได้ก้าวขึ้นเป็นดารานางเอกกะเทย โดยมีเจ๊เคนเป็นผู้จัดการส่วนตัว และมี “ภาค” ผู้กำกับหนุ่มของบริษัทละคร “เสือทะยานฟ้า” มารับหน้าที่ผู้กำกับละครเรื่องแรกของรินที่ชื่อว่า “นางงิ้ว” ในมุมหนึ่ง เมื่อ “หญิงแท้” อย่างรินได้ก้าวเข้ามาอยู่ในชุมชน “ชายไม่จริง” นั้น ก็นำไปสู่ความอลหม่านมากมายที่ทั้งรินและเคนก็ต้องร่วมกันแสดงบทโกหกตัวละครรอบตัว ไล่เรียงตั้งแต่ผู้เป็นแม่และน้าอย่าง “สุมน” และ “หทัย” ผู้จัดและออร์แกไนเซอร์กะเทยชื่อดังอย่าง “พี่แทนนี่” ตัวละครทั้งหลายในกองถ่ายละคร ไปจนถึงแม้แต่กับบรรดาผู้ชมและแฟนคลับของซิน ศรัณยา ที่รินก็ต้องสร้างเรื่องตบตาอยู่เป็นระยะๆ  แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตในอีกแวดวงของเพศวิถีที่ต่างออกไป ก็เปิดโอกาสให้รินเองได้เรียนรู้ความเป็นจริงอีกด้านของเพื่อนๆ ผู้ต่างเพศวิถีที่รินไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต ในชุมชนของกะเทยนั้น แท้จริงแล้วก็ดูไม่แตกต่างไปนักจากชีวิตของชายหญิงรักต่างเพศทั่วไป ทั้งนี้ หากรักโลภโกรธหลงเป็นอคติที่หล่อเลี้ยงจิตใจปุถุชนทั้งหลาย กะเทยเองก็มีทั้งโลภะโทสะโมหะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ว่า ด้วยเป็นวิถีปฏิบัติแบบกลุ่มคนชายขอบทางเพศวิถี ชุมชนแห่งนี้จึงก่อรูปก่อร่างสร้างอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่างของตนขึ้นมา ในลำดับแรกสุด เมื่อ “หญิงแท้” ต้องเข้ามาสวมบทบาทเป็น “ชายไม่จริง” ซินก็ต้องปรับแต่งบุคลิกจริตจะก้านเสียใหม่ ตั้งแต่ดัดเสียงและขับเน้นวิธีพูดให้ต่างออกไปจากเดิม แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูจัดจ้านกว่าที่เคยเป็นมา หรือเติมแต่งจริตวาจาแบบจิกๆ กัดๆ ให้มากขึ้น เหล่านี้เป็นรูปแบบวัฒนธรรมย่อยที่สาวประเภทสองได้สร้างอัตลักษณ์เฉพาะของคนกลุ่มนี้ขึ้นมา ในลำดับถัดมา ความขัดแย้งกันบนผลประโยชน์เช่นที่ “นนท์” กะเทยเจ้าของไนท์คลับ ที่คอยตามราวีทั้งซินและเจ๊เคนทุกวิถีทาง ไปจนถึง “อิทธิ” ที่หลงเสน่ห์และหวังจะล่วงละเมิดทางเพศต่อซิน โดยไม่รู้ความลับว่าเธอเป็น “หญิงแท้” ปลอมตัวมา ก็สะท้อนชัดเจนถึงการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยมิจฉาทิฐิในชุมชนเพศที่สาม และเมื่อซินกับภาคได้แอบคบหาปลูกต้นรักกัน “หญิงแท้” อย่างรินก็พบว่า ความรักในหมู่เพศทางเลือกก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติทั่วไป หากแต่การไม่ยอมรับของสังคมทำให้ความรักกลายเป็นเรื่องซ่อนเร้น แบบเดียวกับผู้จัดการดารากะเทยอย่าง “อ๊อฟ” ที่ต้องมีรักแบบหลบๆ ซ่อนๆ กับนักแสดงหนุ่มอย่าง “ชาย” นั่นเอง แม้จะมีความรักขึ้นมา แต่เพราะรักของเพศเดียวกันถูกมองว่าผิดไปจากจารีตปฏิบัติอันดี สายตาของสังคมจึงใช้อำนาจเลือกปฏิบัติและกดทับความรักแบบนี้เอาไว้ ไม่ต่างจากประโยคที่ “แองจี้” ใช้วาจาเชือดเฉือนซินที่แย่งชายหนุ่มอย่างภาคไปว่า “…คุณเป็นกะเทย เวลาอดอยากคงแบ่งกันกินแบ่งกันใช้กันจนชิน แต่สำหรับผู้หญิง ไม่มีใครใจกว้างพอที่จะให้คนอื่นมายุ่งกับของของตัวเองหรอกนะ...”  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างหรือถูกเอารัดเอาเปรียบในสายตาของสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่รินก็พบว่า มิตรภาพที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในชุมชนของเพศทางเลือกนี้เอง ที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตกะเทยที่ว่ายวนในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ซินกับเจ๊เคนได้ถักทอช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ต่างคนต่างตกงานมาด้วยกันแต่ต้นเรื่อง ไปจนถึงบทบาทของพี่แทนนี่ที่คอยผลักดันสนับสนุนซินเข้าสู่แวดวงบันเทิงได้ทัดเทียมกับบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ก็บอกเป็นนัยว่า ถ้ากลุ่มวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สามจะสามารถมีอำนาจและศักดิ์ศรีในวงสังคมได้ ก็ต้องด้วยสูตรที่ว่า “รวมกันกะเทยอยู่” และต้อง “รวมกันอยู่ด้วยความจริงใจ” เท่านั้น  เฉกเช่นประโยคที่พี่แทนนี่พูดกับซินด้วยความผิดหวัง เมื่อความลับเรื่องการปลอมตัวถูกเปิดเผยออกมาว่า “มันจะมีสักกี่คนที่ได้ยินคำว่ากะเทยแล้วไม่สะดุดด้วยอคติ ถ้าซินเป็นนางเอกละครที่ประสบความสำเร็จ เขาก็จะมองถึงความสามารถของพวกเราเสียที...” กับการก่อตัวของชุมชนวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สาม และภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งความจริงใจ มิตรภาพ และการเกื้อกูลกันของตัวละครเพศทางเลือกทั้งหลาย ที่รินได้เรียนรู้และมาใช้ชีวิตร่วมในชุมชนแห่งนี้นั้น คงบอกกับเราๆ ถึงเจตนารมณ์ที่พวกเขาประกาศเอาไว้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนของ “ชายไม่จริง” จะดำรงอยู่ได้และดำเนินต่อไปอย่างมีอำนาจและศักดิ์ศรีไม่ต่างจากบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 รักกันพัลวัน : เพราะ 1+1 ก็อาจไม่เท่ากับ 2 เสมอไป

สังคมมนุษย์ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วหรือแบ่งความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนมานานแล้ว ถ้าไม่ขาวก็ต้องเชื่อว่าดำ ถ้าไม่ดีก็ต้องแปลว่าเลว หรือถ้าพูดว่า “ใช่” แล้ว ก็จะบอกว่า “ไม่ใช่” ไม่ได้ อันมีนัยว่า สรรพสิ่งล้วนแต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ แม้แต่ในระบบคิดของคณิตศาสตร์หรือสถิติศาสตร์ ก็ยังกล่าวกันว่า O ไม่ใช่ 1 หรือ A ย่อมไม่ใช่ non-A และหากเรานำ 1 มาบวกกับ 1 ต้องได้คำตอบเท่ากับ 2 เสมอ จะผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์คำตอบนี้ไปไม่ได้เลยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วของสังคมเฉกเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่แม้แต่ในระบบการควบคุมเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือเพศและเพศวิถีของมนุษย์เราแม้เรื่องเพศวิถีจะดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นรสนิยมและความรื่นรมย์เฉพาะตน แต่กับในระบบคิดของสังคมแล้ว ต่อให้เป็นเรื่องเพศที่ “ส่วนตั๊วส่วนตัว” นั้น สังคมก็ยังเข้าไปกำกับควบคุมความหมายให้เราคิดได้แค่เป็นสองแพร่งสองทางเช่นกันตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเพศชาย ก็ต้องแสดงลักษณะแบบชายที่แข็งแรง เป็นเพศแห่งการพิทักษ์ปกป้อง แต่หากเป็นเพศหญิง ก็ต้องอ่อนโยนและรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศ หรือหากเป็นรสนิยมรักต่างเพศแบบชายหญิง ก็จะมีลักษณะตรงข้ามอย่างชัดเจนจากกลุ่มรักเพศเดียวกันแบบชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือบรรดา LGBT ทั้งหลายแต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ระบบคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้ามกันดังกล่าวได้ถูกท้าทาย และตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แน่ใจแล้วหรือที่เส้นกั้นแบ่งขั้วต่างๆ จะไม่มีการข้ามเส้น หรือแม้แต่สลายเส้นแบ่งนั้นๆ ให้พร่าเลือนลงไปก็ได้ เหมือนกับที่ 1 บวก 1 ก็อาจเป็น 1 (แบบที่เราเอาทรายกองหนึ่งมารวมกับอีกกองหนึ่ง ก็ได้เป็นทรายกองเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องได้คำตอบเป็น 2 เสมอไปวิธีคิดเรื่องเส้นแบ่งที่ลางเลือนลงเช่นนี้ มีให้เห็นแม้แต่ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและรักๆ ใคร่ๆ แบบที่ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถก่อกลายเป็นความ “รักกัน” ที่ “พัลวัน” อยู่ในละครโทรทัศน์ จนยุ่งเหยิงแทบแยกไม่ออกว่าจะแบ่งขั้วแบ่งวิธีคิดกันต่อไปได้เยี่ยงไรเริ่มต้นเมื่อสาวหล่ออย่าง “ตุลญาณา” พนักงานดูแลสวนสัตว์ Blue Planet เกิดอาการอกหักรักคุดจากสาวๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่า หญิงห้าวอย่างตุลญาณาที่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดจากผู้หญิงด้วยกันได้ จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า นับจากนี้จะกลับมามองหาผู้ชายดีๆ สักคนเพื่อคบเป็นแฟนหนุ่มให้ได้อย่างไรก็ตาม แม้จะ “คิดใหม่ทำใหม่” กับการคบหามนุษย์เพศชาย แต่ความคิดของตุลญาณาก็ช่างย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลึกๆ เธอเองก็ต่อต้านบุรุษเพศ เพราะตั้งแต่เด็กก็เกลียดพ่อที่ขี้เมาไม่เป็นโล้เป็นพาย กอปรกับการก่อตัวของบุคลิกภาพที่ห้าวและแกร่งเกินหญิงทั่วไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็อยากลบภาพสาวหล่อ โดยเลือกเดินเกมรุกจีบหนุ่มอย่างเต็มตัวผู้ชายคนแรกที่ก้าวเข้ามาในชีวิตได้แก่ หนุ่มรุ่นพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอย่าง “ฐานัท” ที่ตุลญาณาหวังว่า เขาจะช่วยปลุกเร้าสัญชาตญาณความเป็นหญิงที่อยู่หลืบลึกในตัวเธอให้ปรากฏออกมา แต่ปัญหาก็คือ ฐานัทเองกลับจัดวางนางเอกของเราไว้เพียงสถานะเป็นแค่น้องสาวหญิงห้าวผู้แสนดีเท่านั้น ส่วนชายหนุ่มคนที่สองก็คือ “โตมร” เพื่อนร่วมงานผู้ดูแลสิงสาราสัตว์ใน Blue Planet ด้วยกัน แม้จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งและแอบรักตุลญาณามานานแสนนาน โดยไม่สนใจว่าเพศสภาพหรือเพศวิถีของเธอจะเป็นเช่นไร แต่ในทางกลับกัน ตุลญาณาก็เห็นว่าโตมรเป็นได้แค่เพื่อนที่แสนดีคนหนึ่งเท่านั้นและแน่นอน ชายหนุ่มคนสุดท้ายที่เข้ามาเป็นตัวเลือกของตุลญาณาก็คือ “เมธากวิน” พระเอกหนุ่มของเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Blue Planet แล้ว เจ้านายหนุ่มยังเป็นอดีต “ศัตรูหัวใจ” ที่เธอเคยมีคดีแย่งแฟนเก่ากับเขามาก่อน อันนำไปสู่สูตรพ่อแม่แม่งอนที่เขม่นกันตลอดแทบจะทั้งเรื่องยิ่งเมื่อเมธากวินเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลาว่า ตุลญาณาแอบมีจิตปฏิพัทธ์ต่อทั้ง “สโรชินี” แฟนสาวคนล่าสุดของเขา และ “พนิตพิชา” ลูกพี่ลูกน้องของตน ตุลญาณาจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนรักๆ ใคร่ๆ ของชายสามหญิงสองที่อลวน “พัลวัน” กันยิ่งกว่า “ลิงพันแห” เสียอีกยิ่งเมื่อผนวกกับตัวแปรเรื่องเพศวิถีของตุลญาณาที่ดูคลุมเครือยิ่งนักว่า นางเอกสาวหล่อจะเป็น “ทอม” หรือจะเป็น “เธอ” พร้อมกับคำทำนายของหมอดูที่บอกว่าคู่แท้ของเธอจะต้องเป็นคนที่มอบจุมพิตแรก มอบลมหายใจ และมอบชีวิตใหม่ให้กับตุลญาณา “รักกันที่พัลวัน” ก็ยิ่ง “พัลวันแสนพัลวัน” กันหนักเข้าไปอีกหากดูผิวเผินแล้ว โครงเรื่องของละครก็เหมือนจะสร้างขึ้นบนสูตรของการ “เปลี่ยนทอมให้เธอ” แต่เพราะเหตุที่ว่า 0 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 1 หรือ A ก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ non-A ดังนั้น ความซับซ้อนที่ “พัลวัน” ยวดยิ่งจึงมิใช่แค่การแบ่งขั้วกันระหว่าง “ทอม” กับ “เธอ” หรือมิใช่การแบ่งความคิดตรงข้ามกันเป็นแบบ “รักต่างเพศ” หรือเป็นแบบ “รักเพศเดียวกัน” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับที่ 1 บวก 1 ก็สามารถออกมาเป็นคำตอบตัวเลขใดๆ ที่อาจไม่ใช่ 2 เสมอไป เรื่องของเพศวิถีจึงขึ้นอยู่กับสองมือมนุษย์ที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นได้ในทุกๆ ทาง เหมือนกับที่ “หญิงรักหญิง” อย่างตุลญาณาก็อาจพึงใจที่คบหากับหญิงหรือชาย และผู้ชายอย่างเมธากวินเองก็อาจจะเลือกคบหากับหญิงที่ออกแบบเพศวิถีมาแบบใดก็เป็นได้ เพราะทั้งคู่เชื่อในตอนจบของเรื่องว่า “เคมีที่เข้ากันของคนสองคน” ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าเพศวิถีซึ่งถูกจัดกรอบไว้แล้วด้วยกฎกติกาของสังคมบทเรียนที่ทั้งตุลญาณาและเมธากวินเคยเผชิญเมื่อครั้งที่หมีควายหลุดออกไปจากกรงขัง และวิ่งไล่ล่าโตมรและใครต่อใครในสวนสัตว์ ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า สัญชาตญาณ (อันรวมถึงเรื่องเพศวิถีแห่งปุถุชน) นั้น ต่อให้จับขังกรงเพื่อกำกับวินัยควบคุมเอาไว้ แต่มันก็ไม่ต่างจากหมีควายที่ยากจะทำให้เชื่องหรือให้สั่งซ้ายหันขวาหันไปได้ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมจริงๆ หรอกไม่ว่าจะเรื่อง “รัก” หรือเรื่อง “ใคร่” คำตอบของมนุษย์เราทุกวันนี้ดูแสนจะ “พัลวัน” เสียยิ่งกว่าที่ 1+1 จักต้องได้ 2 เป็นคำตอบสุดท้ายเช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 รากนครา : เบ้าหลอมจิตสำนึกแห่งชาติบ้านเมือง

จิตสำนึกของบุคคลที่มีต่อสังคมนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่หรือจากสุญญากาศ หากแต่เกิดจากการหล่อหลอมขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลในแต่ละสังคม และถ้าเงื่อนไขมีที่มาต่างกันแล้ว การก่อตัวของจิตสำนึกทางสังคมที่คนแต่ละคนมีอยู่ก็คงแตกต่างกันตามไปด้วย และไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเงื่อนไขทางสังคมทำหน้าที่ไม่ต่างจากเบ้าหลอมที่ก่อรูปก่อร่างจิตสำนึกของบุคคลแล้ว หากเบ้าหลอมดังกล่าวเปลี่ยน จิตสำนึกของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน ตัวอย่างภาพแห่งการหลอมหล่อจิตสำนึกแบบนี้ ปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์ “รากนครา” กับภาพสะท้อนชีวิตและจิตสำนึกแห่งชาติบ้านเมืองของตัวละครอย่าง “แม้นเมือง” บุตรสาวที่ทั้งสวยและเฉลียวฉลาดของ “เจ้าหลวงแสนอินทะ” เจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงเงิน ในท่ามกลางบรรยากาศที่ลัทธิการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคามอาณาจักรบ้านพี่เมืองน้องทั้งหลายในดินแดนแถบล้านนาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชีวิตของแม้นเมืองก็มีเหตุต้องโคจรมาอยู่ในวังวนความสัมพันธ์กับตัวละครอีกสามคน ที่มีระบบคิดและจิตสำนึกแตกต่างกันไปคนละทิศคนละทาง เริ่มต้นจากตัวละครแรกคือพี่ชายของแม้นเมืองเอง หรือ “หน่อเมือง” ตัวอย่างของชายผู้สะท้อนให้เห็นจิตสำนึกที่ไม่เพียงแต่เป็นความรักในแผ่นดินบ้านเมือง หากแต่ยังเป็นความรักชาติแบบ “ชาตินิยมที่สุดขั้ว” จนสามารถนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้ในตอนท้ายเรื่อง เพราะถูกหล่อหลอมความคิดมาจากทั้งเจ้าหลวงแสนอินทะผู้เป็นบิดา และมี role model เป็น “เจ้าอุปราชสิงห์คำ” ผู้มีศักดิ์เป็นอา หน่อเมืองจึงบ่มเพาะจิตสำนึกรักชาติแบบสุดโต่ง จนบางนัยก็ดูไม่ต่างจากเป็นพวก “คลั่งชาติคลั่งบ้านเมือง” ซึ่งยึดมั่นในความคิดที่ว่า “จงอย่าถามเลยว่า ชาติบ้านเมืองจะมอบอะไรให้กับเรา แต่จงถามตัวเองว่า เราจะทำอะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองบ้าง” โดยไม่สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวแต่อย่างใด ตัวละครถัดมาก็คือ พระเอกของเรื่องหรือ “ศุขวงศ์” บุตรชายของ “เจ้าราชบุตรศุษิระ” แห่งนครเชียงพระคำ แม้ว่าศุขวงศ์จะมีสำนึกรักแผ่นดินบ้านเกิด แต่เขาก็คิดต่างออกไปจากหน่อเมืองว่า ท่ามกลางคลื่นพายุของลัทธิอาณานิคมที่ซัดกระหน่ำถาโถมอยู่นั้น ชาติบ้านเมืองมิอาจคงอยู่โดยไม่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย เนื่องจากเบ้าหลอมความคิดของศุขวงศ์มาจากการที่เขาได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์หลายปี และเคยรับราชการในราชสำนักสยาม ศุขวงศ์จึงเห็นโลกที่กว้างออกไปกว่าแค่กำแพงนครเชียงพระคำบ้านเกิด และทางเดียวที่เขาเชื่อว่าจะทำให้ดินแดนล้านนาอยู่รอดจากการเป็นเมืองขึ้นได้ ก็ต้องปรับตัวและอาศัยการพึ่งบารมีของสยามเพื่อคานอำนาจของชาติจักรวรรดินิยม ส่วนตัวละครสุดท้ายก็คือน้องสาวของแม้นเมือง หรือ “มิ่งหล้า” ที่มีวิธีคิดแตกต่างไปจากบรรดาพี่ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะเธอถูกอบรมสั่งสอนมาจาก “เจ้านางข่ายคำ” ผู้เป็นมารดา ที่ทั้งทะเยอทะยานและต้องการให้บุตรสาวเป็นอันดับหนึ่งเดียวของดินแดนล้านนา แม้จะมีสำนึกรักชาติและแผ่นดินแบบที่บิดาปลูกฝังมาให้ แต่มิ่งหล้าก็กลับมีโลกทัศน์ที่ต่างจากหน่อเมืองออกไปว่า “จงอย่าถามเพียงแค่ว่าเราจะทำอะไรให้กับชาติบ้านเมือง แต่จงถามด้วยว่าชาติบ้านเมืองพึงจะทำอะไรให้กับเราบ้าง”  ดังนั้น เมื่อมิ่งหล้าที่ต่อสู้เพื่อหัวใจอันมีจิตปฏิพัทธ์ต่อศุขวงศ์แต่กลับถูกบิดาส่งตัวไปถวายตัวเป็นนางสนมของ “กษัตริย์เมืองมัณฑ์” ด้านหนึ่งมิ่งหล้าก็จำใจทำเพื่อบ้านเมืองที่จะผูกสัมพันธ์ระหว่างเชียงเงินกับเมืองมัณฑ์ แต่อีกด้านหนึ่ง เธอก็ทะยานอยากที่จะขึ้นเป็นเจ้านางหลวงแข่งบารมีกับ “เจ้านางปัทมสุดา” ด้วยเหตุผลว่า ถ้าทำเพื่อชาติบ้านเมืองแล้ว เธอก็ควรจะได้อำนาจยศศักดิ์เป็นราคาตอบแทน โดยไม่สนใจว่านั่นจะทำให้เธอต้องทุกข์ทรมานจนเกือบปางตายในตอนจบก็ตาม ชะตากรรมของตัวละครทั้งสามที่ผูกโยงเอาไว้รอบตัวของแม้นเมืองนี้เอง เป็นประหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้แม้นเมืองได้ก่อรูปก่อร่างจิตสำนึกทางสังคมที่มีต่อชาติบ้านเมืองขึ้นมา เนื่องจากเติบโตมาในขอบขัณฑ์ของเชียงเงินที่บิดากล่อมเกลามาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้นเมืองจึงมีสำนึกรักชาติบ้านเมืองอย่างเข้มข้น พลันที่เธอได้พบเจอรู้จักกับ “มิสเตอร์จอห์น แบร็กกิ้น” ที่เป็นคนอังกฤษผิวขาวหรือเป็นพวก “กุลาขาว” แม้นเมืองก็แสดงออกถึงอาการกระอักกระอ่วนที่ต้องมาสังเสวนากับคนต่างเผ่าต่างถิ่นอย่างเห็นได้ชัด แต่เพราะเธอเองก็แตกต่างจากพี่ชาย ด้วยเป็นหญิงที่รักการอ่านหนังสือเป็นอาจิณ แม้นเมืองจึงมิได้คลั่งชาติคลั่งแผ่นดินหรือเชื่อว่าเชียงเงินเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และยิ่งเมื่อเธอได้แต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงพระคำ โลกที่กว้างขึ้นกว่าแค่ตัวหนังสือ ก็ยิ่งทำให้แม้นเมืองค่อยๆ เห็นว่า โลกที่กว้างใหญ่นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเราเองก็มิอาจหลีกเลี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงไปได้เลย เพราะเบ้าหลอมที่ก่อตัวขึ้นมาผสมผสานกับประสบการณ์ที่สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ของโลกรอบตัว เมื่อแม้นเมืองต้องมายืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของจิตสำนึกต่อบ้านเมืองที่ต่างกันของคนสามคน เธอจึงเหมือนอยู่ในภาวะที่ “คราวนี้ทำใจลำบาก” เพราะถูกชักเย่อระหว่างขั้วประจุความคิดที่ลากกันอยู่ไปมาบนทางสามแพร่ง ดังคำพูดในฉากท้ายเรื่องกับน้องสาวก่อนที่แม้นเมืองจะตัดสินใจยอมรับความตายแทนศุขวงศ์สามีผู้เป็นที่รักว่า “ถ้ามองด้วยเหตุผลส่วนตัว ข้างหนึ่งก็คือพ่อ พี่ บ้านเมือง ภาระหน้าที่ ความเชื่อ และความหวังทั้งหมดที่เคยมีเคยหล่อหลอมตัวตนความคิดของเรา...และอีกฝั่งหนึ่งก็คือผู้ชายคนเดียวในชีวิตที่รักเขา...แต่เป็นเพราะโลกของพี่กว้างขึ้น มีความจริงใหม่ๆ ให้พี่ได้เรียนรู้ และมีความเปลี่ยนแปลงมากมายให้พี่ได้พบ พี่ก็มีทางออกที่จะขออุทิศชีวิตเพื่อชดใช้ให้ทุกเรื่องและทุกคน” หาก “รากนครา” เป็นเสมือนภาพจำลองของสำนึกแห่งชาติบ้านเมืองที่อยู่ในท่ามกลางแรงกระหน่ำจากความเปลี่ยนแปลงภายนอก และหากเราต้องมายืนเป็นตัวละครแม้นเมืองที่อยู่ท่ามกลางขั้วความคิดที่แตกต่างและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คำถามก็คือ ปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ จะหลอม “ราก” ก่อตัวจิตสำนึกแห่งชาติและ “นครา” กันขึ้นมาเยี่ยงไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เพลิงบุญ : ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ

“เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” สัจธรรมความคิดนี้น่าจะถูกต้องอยู่ แต่ทว่า ความเมตตาที่มีต่อโลกนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขและขอบเขตในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน นิทานโบราณเรื่อง “ม้าอารี” เคยเล่าเตือนสติผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ม้าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในเพิงหลบแดดหลบฝน เพราะเจ้าของสร้างให้ด้วยความรักใคร่เอ็นดู ในขณะที่วัวอีกตัวหนึ่งกลับถูกทอดทิ้งไว้ตามยถากรรม จนวันหนึ่งฝนตกหนัก วัวก็ขอเข้ามาปันแบ่งชายคาเพิงพัก ม้าผู้อารีก็ใจดี ค่อยๆ เขยิบให้จมูกวัวพ้นจากฝน แต่เมื่อวัวหายใจคล่องขึ้น ก็เริ่มต่อรองให้ม้าเขยิบออกไปอีกทีละนิดๆ จนในที่สุด ม้าที่แสนใจดีก็ต้องกระเด็นออกไปยืนกลางแดดและตากฝนอยู่นอกเพิงพัก นิทานเรื่อง “ม้าอารี” สอนให้รู้ว่า ความเมตตาอารีแม้นจะมีได้ แต่ก็ใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน และยิ่งหากคนที่เมตตาไร้ซึ่งปัญญามากำกับด้วยแล้ว คนผู้นั้นก็อาจมีอันต้องระเห็จออกไปจากเพิงพักอันอบอุ่นในที่สุด และคนที่กำลังเล่นบทบาทแบบ “ม้าอารี” เยี่ยงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง “พิมาลา” แห่งเรื่อง “เพลิงบุญ” ที่เอื้ออารีต่อเพื่อนรักอย่าง “ใจเริง” แบบมากล้น จนในท้ายที่สุด เธอก็แทบจะถูกอัปเปหิออกไปจากเพิงพักที่สร้างไว้กับสามีอันเป็นที่รักอย่าง “ฤกษ์”  ปรมาจารย์เจ้าตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า ในห้วงแห่งจิตมนุษย์นั้นไซร้ จะมีการต่อสู้ชักเย่อกันไปมาระหว่างระบบระเบียบศีลธรรมของสังคมกับปรารถนาดิบๆ ที่หลบเร้นอยู่ในซอกลึกๆ ของจิตใจ หรือที่ฟรอยด์เรียกว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “superego” กับ “id” ในจิตมนุษย์นั่นเอง ภาพการชิงดำของสองส่วนในจิตแบบนี้ ก็สะท้อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นเพื่อนรักกันแต่ก็แตกต่างกันสุดขั้วอย่างพิมาลากับใจเริง ในด้านของพิมาลา ผู้เป็นตัวแทนของ “แม่พระ” หรือระเบียบศีลธรรมอันดีงามแห่งมวลมนุษยชาตินั้น ในขณะที่วัยเด็กของเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวของใจเริงที่ช่วยปลดหนี้ของครอบครัวซึ่งเกือบจะล้มละลาย “บุญคุณ” ครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นดั่ง “หนี้บุญคุณ” ที่พิมาลาต้องจ่ายคืนแบบไม่สิ้นไม่สุด ตรงกันข้ามกับใจเริง ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทะยานอยาก หรือเป็น “ปรารถนาดิบๆ” ที่อยู่ในหลืบเร้นในจิตของมนุษย์ เธอก็สามารถทำทุกอย่างโดยไม่ใส่ใจว่า นั่นจะละเมิดหลักศีลธรรมหรือไม่ อย่างไร เฉกเช่นประโยคที่เธอกล่าวว่า “เริงทำก็เพราะความอยู่รอด แล้วเริงก็รอดจริงๆ แสดงว่าเริงทำในสิ่งที่ถูกต้อง…” ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ผูกเกลียวเอาไว้ด้วย “บุญ” ที่กลายมาเป็น “เพลิง” เผาผลาญตัวละคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤกษ์เข้ามายืนอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแทนของคุณค่าศีลธรรมอย่างพิมาลา กับผู้หญิงที่เป็นภาพแทนของแรงขับดิบๆ ในจิตอย่างใจเริง แม้จุดเริ่มต้นใจเริงจะคบหากับฤกษ์ชายหนุ่มที่แย่งมาจากพิมาลา แต่เมื่อเธอได้มาพบกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่มผู้มั่งคั่งอย่าง “เทิดพันธ์” ใจเริงก็เปลี่ยนใจหันไปหาชายหนุ่มคนใหม่ และทิ้งฤกษ์ไปโดยไม่สนใจว่าเขาจะเจ็บปวดเพียงใด จนฤกษ์ได้เลือกตัดสินใจกลับมาลงเอยกับความรักอีกครั้งกับพิมาลา แต่ในเมื่อชีวิตคนล้วนไม่แน่นอน มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลงสลับกัน ในขณะที่พิมาลากับฤกษ์ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตคู่และชีวิตการทำงาน แต่ชีวิตของใจเริงกับเทิดพันธ์กลับดิ่งลงเหว พร้อมๆ กับธุรกิจของเทิดพันธ์ที่เกิดล้มละลาย ผู้หญิงที่จมไม่ลงแบบใจเริงก็พร้อมจะเทเขาทิ้งแบบไร้เยื่อขาดใยเช่นกัน  และด้วยความริษยาที่มีต่อกราฟชีวิตของเพื่อนซึ่งดีวันดีคืน ใจเริงก็ใช้ “หนี้บุญคุณ” ซึ่งผูกไว้แต่อดีต มาทวงขอความช่วยเหลือจากพิมาลา อันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นบทเรียนแบบ “ม้าอารี” ที่เพื่อนรักใช้มารยามา “หักเหลี่ยมโหด” เพื่อเขี่ยเจ้าของชายคากระเด็นออกไปจากเพิงพักในที่สุด เพราะเพื่อนรักเป็นประหนึ่ง “ม้าอารี” ใจเริงก็วางหมากกลค่อยๆ ยื่นจมูกเข้าไปในชายคาบ้านทีละนิดๆ ตั้งแต่เสแสร้งว่าเธอเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวไร้พิษสงใดๆ ขนานไปกับการหว่านเสน่ห์ใส่ฤกษ์ให้เขาตบะแตก หรือแม้แต่จัดฉากภาพบาดตาที่เธอกับฤกษ์กำลังนัวเนียกันอยู่บนเตียง ปฏิบัติการทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มุ่งเป้าที่จะผลักให้ “ม้าอารี” อย่างพิมาลาออกไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกชายคานั่นเอง สำหรับใจเริงแล้ว แม้ใครต่อใครจะมองว่าเธอผิด และทุกคนก็ฉลาดพอจะรู้ทันการใช้เล่ห์มารยามาทำร้ายเพื่อนรักอยู่โดยตลอด แต่ที่น่าชวนฉงนยิ่งก็คือ พิมาลาผู้เป็นคู่กรณีนั้นกลับแสนซื่อโลกสวยเสมือน “ขี่ม้าชมทุ่งลาเวนเดอร์” ในความฝันอันงดงามตลอดเวลา แม้ผู้หวังดีจะหมั่นเตือนสติ แต่เธอก็คอยแก้ต่างด้วยวลีที่ว่า “แต่พิมกับเริงคบกันมาตั้งแต่เด็ก เริงไม่น่าจะคิดร้ายกับพิมขนาดนั้นหรอก” จนผ่านไปเกินค่อนเรื่องแล้วนั่นแหละ ที่พิมาลาจึง “ถึงบางอ้อ” เปลี่ยนมา “คิดใหม่ทำใหม่” และเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า “พิมที่แสนดีก็ยังอยู่ แต่พิมที่โง่หลงเชื่อว่าเพื่อนที่เราดีด้วยจะดีตอบ...ตายไปแล้ว” แม้สำหรับผู้ชายอย่างฤกษ์ที่นอกใจภรรยาผู้โลกสวย หรือผู้หญิงตัวแทนแห่ง “ปรารถนาดิบๆ” แบบใจเริง จะถูกมองว่าผิดเต็มประตูก็จริง แต่ตัวละคร “ม้าอารี” ที่โลกสวยและศีลธรรมล้นเกินแบบพิมาลานั้น ก็มิต่างจากจำเลยอีกคนที่เป็นมูลเหตุให้ชีวิตคู่ของเธอเองต้องพังครืนลงมา คงเหมือนกับที่ “คุณฤทธิ์” พ่อของฤกษ์ที่กล่าวกับพิมาลาว่า “ทั้งสามคนมีจุดผิดพลาดร่วมกัน ไม่ต้องโยนให้คนอื่น และก็ไม่ต้องแบกรับเอาไว้คนเดียว” เพราะเผลอๆ แล้ว ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ ก็ถือเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตเสียยิ่งกว่าตัวแปรใดๆ  หากจะถามว่าข้อคิดของละครผู้หญิงสองคนแย่งชิงผู้ชายกันอย่างเรื่อง “เพลิงบุญ” ให้อะไรกับคนดูนั้น ก็คงเป็นอุทาหรณ์ที่คุณฤทธิ์เตือนสติพิมาลาและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “การทำความดีไม่ใช่สักแต่ว่าหลับหูหลับตาทำ แต่เราก็ต้องทำด้วยปัญญา...ให้ในสิ่งที่สมควร ในเวลาอันสมควร แก่ผู้ที่สมควร”  “บุญ” เป็นสิ่งที่เราพึงทำอยู่เสมอก็จริง แต่หาก “บุญ” เป็นดุจดั่ง “เพลิง” ที่เผาผลาญ เพราะคนทำบุญไม่ใช้ปัญญาขบคิดให้แตกฉานด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างจาก “ม้าอารี” ที่ชักศึกเข้าบ้าน จนเบียดขับให้ตนต้องไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกเพิงพักนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เล่ห์ลับสลับร่าง : เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

สังคมไทยได้ขีดวงกำหนดบทบาทของผู้หญิงกับผู้ชายเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า เพศใดพึงเป็นเช่นไร เพศใดควรทำกิจกรรมทางสังคมแบบใด และเพศใดควรวางตนอย่างไรที่จะบ่งชี้ว่าตนเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย หากเป็นผู้หญิง ก็ต้องเล่นบทบาทเป็นเพศที่นุ่มนวล อ่อนแอ รักสวยรักงาม เจ้าอารมณ์ และรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศอยู่เป็นนิจ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ชายแล้ว บทบาทที่เล่นจะสลับมาเป็นเพศที่แข็งแกร่ง แข็งแรง ไม่สนใจความสำอางของรูปร่างหน้าตาจนเกินงาม คอยพิทักษ์ปกป้องสตรีเพศที่อ่อนแอกว่า และเป็นตัวแทนของเพศที่ใช้เหตุผลเป็นตัวนำทางการกระทำต่างๆ  อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการกำหนดบทบาทและคุณค่าของความเป็นเพศหญิงชายที่ค่อนข้างชัดเจนและต่างกันเอาไว้ดั่งนี้ แต่ทว่าสังคมไทยตั้งแต่ยุคอดีตก็จัดวางที่ทางให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างของบทบาททางเพศระหว่างกัน สมัยเด็กๆ ผู้เขียนจำได้ว่า เคยเห็นเคยชมกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านหรือการโต้เพลงปฏิพากย์หลายชนิดของไทย ที่จะแบ่งฝ่ายให้หญิงชายได้มาแข่งขันกันบ้าง โต้ตอบปฏิภาณกันบ้าง แต่มิได้มุ่งหมายที่จะเอาชนะกันอย่างจริงจัง หากเป็นไปเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าอกเข้าใจกัน และนำไปสู่การเกื้อกูลกันระหว่างเพศในท้ายที่สุด แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน เมื่อเวทีการละเล่นพื้นบ้านหรือการขับลำเพลงปฏิพากย์ตอบโต้กันได้ห่างไกลออกไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น พื้นที่การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทการเข้าใจกันและการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศก็มิได้หายไปเสียทีเดียว หากแต่เป็นละครโทรทัศน์ที่ผ่องถ่ายการทำหน้าที่เป็นเวทีใหม่ของการสร้างสัมพันธ์กันระหว่างหญิงชายนั่นเอง  “เล่ห์ลับสลับร่าง” เป็นตัวอย่างของเนื้อหาละครที่ได้ทดลองให้ผู้หญิงกับผู้ชายได้สลับบทบาทและเรียนรู้บทบาททางเพศระหว่างกัน ผ่านการสลับร่างของตัวละครเอกคือ “เภตรา” กับ “รามิล”  ในส่วนของเภตรา เธอเป็นดาราสาวฝีมือมากความสามารถเจ้าของฉายา “ไข่มุกแห่งเอเชีย” และเพราะถีบทะยานจากลูกแม่ค้าจนๆ ขึ้นมาเป็นนางเอกชื่อดังแห่งยุค เภตราจึงหยิ่งทะนงในความสวย และเป็นคนเจ้าอารมณ์เหวี่ยงวีนฟาดงวงฟาดงาแบบไร้เหตุผลกับคนรอบข้างตลอดเวลา สำหรับรามิลนายตำรวจหนุ่มมือปราบแห่งหน่วยพยัคฆ์พิฆาต เจ้าของฉายา “ผู้กองมือเหล็ก” แม้จะเป็นผู้กองที่มีเหตุผลและมั่นใจในฝีมือที่ปฏิบัติภารกิจปราบปรามเหล่าร้ายจนสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่ง รามิลก็มีอหังการในหน้าตาที่หล่อเหลาและเจ้าชู้หว่านเสน่ห์ไปเรื่อย แม้เขาจะมี “นกยูง” คู่หมั้นสาวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว เปิดฉากมา ก็เหมือนจะเป็นตัวละครหญิงชายตามสูตร “พ่อแง่แม่งอน” ที่ต้องโคจรมาเจอกัน ต่างฝ่ายก็เริ่มสัมผัสฤทธิ์เดชของอีกฝ่าย โดยที่นางเอกก็ตั้งป้อมใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน ในขณะที่ฝ่ายพระเอกก็เลือกใช้เหตุผลโดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างเพศตรงข้ามมานับจากนั้น จนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเภตราถูกโจรปล้นเพชรจับเป็นตัวประกัน ผู้กองรามิลได้เข้าไปช่วยเหลือ จนทั้งคู่พลัดตกลงจากดาดฟ้าตึกไปอยู่บนหลังคาผ้าใบของรถคลาสสิกคันหนึ่ง ทำให้วิญญาณชายหนุ่มหญิงสาวหลุดออกไปจากร่างของตน หากทุกวันนี้ ความผิดพลาดในการโอนไฟล์กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมดิจิตัล 4.0 ดังนั้น แม้จะได้รับความช่วยเหลือจาก “หมอนักษัตร” หมอดูชื่อดังที่ช่วยกู้ไฟล์วิญญาณให้กลับเข้าร่าง แต่ “เล่ห์ลับ” แห่งสรวงสวรรค์ก็ทำให้ไฟล์วิญญาณของทั้งคู่เกิด “สลับร่าง” กันและกันขึ้นมา และเมื่อต้องสลับไฟล์มาอยู่ในร่างที่แตกต่างจากเพศทางกายภาพของตน การเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ที่มีคู่โครโมโซมต่างออกไปจากเพศที่ตัวมาแต่กำเนิดจึงได้อุบัติขึ้น เริ่มตั้งแต่สรีระทางกายภาพที่ฝ่ายหนึ่งได้มาสัมผัสกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไล่ไปจนถึงอวัยวะพึงสงวนของเพศตรงข้าม ก็ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้ว่า โครงสร้างร่างกายของแต่ละเพศก็มีทั้งข้อเด่นและข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป แบบที่ด้านหนึ่งเภตราก็เคยโวยวายกับพระเอกหนุ่มว่า “ขยะแขยงร่างของคุณน่ะสิ เหงื่อก็เยอะ ขนดก ตัวเหม็น แถมเวลาเดินยังโทงเทงอีกต่างหาก…” ในขณะที่รามิลก็พูดสวนกลับไปยังนางเอกสาวว่า “ผมเองก็สุดจะทนเหมือนกัน ต้องมาจำใจอยู่ในร่างป้อแป้ปวกเปียกของคุณ ทั้งผอมแห้ง แรงก็ไม่มี และที่สำคัญ เวลาผมวิดพื้น ของคุณมันก็โทงเทงเหมือนกันนั่นแหละ...”  นอกจากบทเรียนความแตกต่างทางเพศสรีระแล้ว แม้แต่ในแง่บทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ว่าเพศใดพึงมีบทบาทให้เล่นอย่างไร การสลับร่างก็ทำให้ตัวละครต้องเข้าใจบทบาทที่สังคมมอบหมายให้กับเพศที่แตกต่างเอาไว้แล้วด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเรือนร่างที่อ้อนแอ้นของสาวสวยอย่างเภตรากลับมีทักษะการกู้ระเบิด และสามารถยิงปืนต่อสู้กับกลุ่มโจรนักค้ายาเสพติดได้อย่างหาญกล้า หรือเมื่อร่างแบบชายชาตรีของผู้กองรามิลกลับมีอากัปกิริยาสะดีดสะดิ้งขี้กลัว และไม่แสดงลักษณะความเป็นผู้นำของหน่วยพยัคฆ์พิฆาตออกมา สายตาของสังคมและคนรอบข้างจึงสนเท่ห์ไปกับบทบาทอันเบี่ยงเบนจากจารีตปฏิบัติของเพศสภาพที่ไม่น่าจะเป็น แม้จะอยู่ในสายตาที่สังคมตั้งคำถามมากมาย แต่การได้สลับร่างเพื่อเรียนรู้บทบาททางเพศที่แตกต่างกันเยี่ยงนี้เอง ก็ค่อยๆ ทำให้ความรักระหว่างเภตรากับรามิลก่อตัวและงอกงามขึ้นมา  จนมาถึงในท้ายที่สุดของเรื่อง กับฉากที่รามิลในร่างเภตราต้องทำหน้าที่เป็นคนอุ้มท้อง โดยมีเภตราในร่างรามิลคอยห่วงใยดูแล การเรียนรู้ความลำบากและเจ็บปวดที่สุดของเพศแม่ในการให้กำเนิด ได้นำไปสู่ความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า “เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงก็แสนลำบากด้วยความคาดหวังของสังคมกันทั้งนั้น”  และก็คงไม่ต่างจากเพลงปฏิพากย์หรือการละเล่นพื้นบ้านสมัยก่อนที่เอื้อให้หญิงชายได้เรียนรู้บทบาททางเพศและดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล หากแต่การสลับร่างสร้างรักของตัวละครก็ได้สืบต่อพันธกิจสร้างการเรียนรู้ดังกล่าวเอาไว้ เหมือนกับข้อความที่ละครโทรทัศน์ได้ทิ้งไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า “ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นเพศไหน ขอแค่มีคนที่รักเรา เข้าใจเราแบบที่เราเป็น และพร้อมจะอยู่เคียงข้างเราเสมอ...ก็เพียงพอแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หัวใจฟรุ้งฟริ้ง : ก็เพราะแม่เป็นยิ่งกว่าแมวเก้าชีวิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามศัพท์เอาไว้ว่า “ผู้หญิง” หมายถึง “เพศที่ออกลูกได้” และเพราะภายใต้การกำหนดนิยามว่าเป็น “เพศที่ออกลูกได้” ดังกล่าว ก็ดูเหมือนว่า จะมีระบบวิธีคิดหลายประการที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ตั้งแต่ระบบคิดที่ว่า ถึงแม้ผู้หญิงจะ “ออกลูกได้” แต่ก็ต้องอาศัยผู้ชายในการ “ผลิตลูก” ออกมา หรือถ้าผู้หญิงเป็นเพศที่ “ออกลูกได้” แล้ว หน้าที่ทางสังคมของการเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาก็จะถูกมอบหมายเอาไว้ให้กับผู้หญิงเป็นลำดับแรก ไปจนถึงระบบคุณค่าที่อธิบายว่า ถ้าจะเป็นผู้หญิงที่ดีและเป็นที่พึงปรารถนาของสังคมแล้วไซร้ ต้องพยายามสรรค์สร้างครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” จนเกิดขึ้นเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบให้จงได้ และเพราะคุณค่าความเป็น “ครอบครัวสมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูก” ได้ถูกอุปโลกน์เอาไว้เช่นนี้เอง จึงกลายเป็นกรอบที่สังคมไทยใช้กำหนดผู้หญิงเอาไว้ไม่ให้คิดเป็นอื่น นั่นหมายความว่า หากผู้หญิงคนใดที่ริจะหย่าร้างหรือมิอาจประคับประคองชีวิตครอบครัวให้เป็นไปตามมาตรวัดดังกล่าวได้ เธอก็จะถูกตีตราว่าผิดพลาดใน “ความเป็นเพศหญิง” ตามที่สังคมได้ออกแบบไว้ จะมีตัวอย่างก็คือกรณีของ “มุลิลา” (หรือ “มู่ลี่”) ที่ดูจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมเสียใหม่ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นแม่” ก็ใช่ว่าสังคมจะเข้ามากำหนดได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ 100% เพราะด้วยสองมือของผู้หญิงที่สร้างโลกอยู่นั้น ก็สามารถออกแบบ “ความเป็นแม่” แบบที่เธอมีอำนาจเลือกเองได้เช่นกัน  มุลิลาคือตัวละครผู้หญิงวัย 30 ต้นๆ เป็นนักการตลาดในบริษัทธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนหน้าที่การงานน่าจะรุ่งเรืองก้าวหน้าไปได้อีกไกลเมื่อเทียบกับผู้หญิงคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาโรมรันพันตู กลับทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการงานของเธอต้องเป็นทั้ง “unlucky in love” และ “unlucky in game” ไปพร้อมๆ กัน  เปิดฉากเริ่มเรื่องของละครออกมา มุลิลาที่แต่งงานอยู่กินกับ “พงศ์พิศุทธิ์” และมีลูกชายวัย 5 ขวบคือ “น้องปลื้ม” ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาชีวิตถาโถม เพราะด้านหนึ่งชีวิตแต่งงานก็ไม่มีความสุขนัก ชีวิตครอบครัวที่เธอต้องดูแลงานทุกอยู่ในบ้านแบบ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ไปจนถึงชีวิตการงานที่เพราะเธอต้องดูแลลูกและครอบครัว จนไม่มีเวลาให้กับภาระงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ วันเดียวกับที่มุลิลาถูกให้ออกจากงานประจำ เพราะเงินเดือนสูงแต่เวลาทำงานถูกเจียดไปดูแลลูกชายคนเดียว เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอก็เข้ามาเห็นภาพของสามีกำลังฟีเจอริ่งอยู่กับผู้หญิงคนอื่นอยู่ มุลิลาจึงตัดสินใจหย่าร้างกับพงศ์พิศุทธิ์ และก้าวเข้าสู่สถานภาพใหม่ของ “ซิงเกิ้ลมัม” นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าสายตาสังคมจะตำหนิติฉินว่า เธอมีวัตรปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากมาตรวัดบรรทัดฐานที่ผู้หญิงดีๆ พึงกระทำกัน แต่ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” อย่างมุลิลา ก็เห็นว่าเธอยังคงมี “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” แม้จะยืนอยู่นอกขนบที่สังคมพยายามขีดเส้นยัดเยียดเอาไว้ให้ เหมือนกับภาพในฉากต้นเรื่องหลังจากเธอตัดสินใจจะมารับสถานภาพ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่มุลิลาพูดกับตัวเองและหันมาทางกล้องเพื่อพูดกับผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “ฉันชื่อมุลิลา...มุลิลาแปลว่าแมว” และหาก “แมวมีเก้าชีวิต” การหย่าร้างและลุกขึ้นมายืนหยัดเลี้ยงลูกน้อยด้วยตนเอง ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอถึงกับพังพาบสิ้นสุดลงแต่อย่างใด เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็น “ซิงเกิ้ลมัม” เพราะเป็นบทบาทที่เบี่ยงเบนไปจากจารีตปฏิบัติของสังคม มุลิลาจึงถูกบททดสอบมากมาย เพื่อจะให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทนทายาทอยู่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้นานเพียงใด เริ่มต้นจาก “บุปผา” มารดาของมุลิลาเอง ที่แม้จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อน แต่มิไยก็พยายามหน่วงรั้งพูดกรอกหูลูกสาวให้กลับไปคืนดีกับสามีตลอดเวลา หรือ “บริสุทธิ์” อดีตแม่สามีที่วางแผนทุกทางเพื่อช่วงชิงน้องปลื้มกลับมาอยู่ในความดูแลของพงศ์พิศุทธิ์ บททดสอบถัดมา เมื่อต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็บีบให้คุณแม่ต้องออกทำงาน และมาเผชิญกับความอิจฉาริษยาของเพื่อนร่วมงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ตรีดาว” “พราวฟ้า” “รักชนก” และ “แพตตี้” ที่ร่วมกันใช้เหตุผลความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อขจัดมุลิลาออกไปจากสนามแข่งขันในที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ดี บททดสอบสุดท้าทายของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คงหนีไม่พ้นการเข้ามาของผู้ชายหลายคนในชีวิตของมุลิลา นอกจากพงศ์พิศุทธิ์สามีเก่าที่ปรารถนาจะกลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีกครั้งแล้ว ยังมี “ชิษณุ” ซีอีโอหนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ กับ “อัศวิน” ชายหนุ่มรุ่นกะเตาะลูกชายเจ้าของร้านซาลาเปา ที่ดูจะเข้ากันได้ดีกับน้องปลื้มลูกชายของเธอ ชายคนแรกที่อายุเสมอกันคือคนที่เลิกร้างไป ชายคนที่สองอายุมากกว่าแต่ก็มีสถานะเป็นเจ้านายของเธอ และชายคนสุดท้ายที่อายุน้อยกว่าแต่ก็ริมาหลงรักคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรุ่นพี่ สามตัวเลือกของชายที่ต่างวัยกันได้กลายมาเป็นข้อสอบปรนัยให้มุลิลาเลือกตัดสินใจว่า จะกากบาทไปที่คำตอบข้อใดกัน เพราะเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะเป็นยิ่งกว่า “แมวเก้าชีวิต” เมื่อมุลิลาพบว่า ภาระงานและปัญหารุมเร้าจากตัวเลือกผู้ชายทั้งสามคน ได้บั่นทอนเวลาที่เธอจะมีให้ลูกน้อยมากเกินไป ในที่สุด มุลิลาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำกิจการเล็กๆ ส่วนตัว ควบคู่ไปกับการยืนหยัดในบทบาท “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” ต่อไป และที่สำคัญ ในท่ามกลางปัญหาที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญอยู่นั้น ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านของความหวังด้วยว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว “you will never walk alone” ด้วยเหตุนี้ มุลิลาจึงมีบรรดาเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนผู้หญิงอย่าง “ต้องตา” เพื่อนผู้ชายอย่าง “พี่ยักษ์” และเพื่อนเพศที่สามอย่าง “ดอลลี่” ที่คอยเป็นกำลังใจและเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา สำหรับบรรดา “ซิงเกิ้ลมัม” ทั้งหลายนั้น กฎเกณฑ์ของสังคมอาจมิใช่กฎของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไม่ได้ ตราบใดที่ผู้หญิงยังมีตัวเลือก ยังรู้จักคิดที่จะเลือก และตัดสินใจลงมือเลือกได้ตามที่ต้องการ ตราบนั้น แม้ผู้หญิงจะเลือกยืนอยู่นอกอาณัติของกฎสังคม แต่ก็เป็นการเลือกยืนอยู่ได้ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 อาคม : พุทธกับไสย (และวิทยาศาสตร์) ต่างก็ไปด้วยกัน

โลกตะวันตกมีคำอธิบายว่า ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้าไปมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลที่จะใช้ตอบคำถามต่อความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว คำอธิบายดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างออกไปว่า ยิ่งสังคมทันสมัยหรือลัทธิวัตถุนิยมจะซัดกระหน่ำสังคมมากเท่าไร มนุษย์ก็ยังคงมีคำถามบางอย่างที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลมิอาจขานไขคำตอบได้มากขึ้นเช่นกัน หากข้อหักล้างข้อหลังนี้เป็นคำตอบที่ “based on” ความเป็นจริงในสังคมไทยที่แท้จริงด้วยแล้ว คำตอบดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวนแบบแฟนตาซีอย่างเรื่อง “อาคม”  จับความตามท้องเรื่องมาที่ภาพของตัวละครที่สร้างเนื้อสร้างตัวมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ “ทรงพล” นักธุรกิจและประธานบริษัทใหญ่ ได้ถูกเพื่อนรักหักหลังและใส่ความว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด จนไปถึงวางแผนลอบสังหารทรงพลจนเสียชีวิต แต่แม้บิดาจะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องบินตกลงกลางป่า แต่ทว่า “ทรงกลด” พระเอกหนุ่มผู้เป็นบุตรชายของเขากลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก “ฮันเตอร์” ผู้มีวิชาอาคม ซึ่งภายหลังฮันเตอร์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไสยวิชาให้กับทรงกลด และเปลี่ยนชื่อเขาเสียใหม่ว่า “คิม” ชายหนุ่มภายใต้หน้ากากอาคม เพื่อกลับมาแก้แค้นกลุ่มคนที่ฆ่าบิดาและทำลายครอบครัวเขาจนภินท์พัง โดยธีมหลักของละคร ดูจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ในขณะที่ความยุติธรรมไม่อาจแสวงหาหรือได้รับมาจากสังคมที่ล้มเหลวเกินจะเยียวยา เพราะสถาบันหลักอย่างกฎหมายหรือตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้นั้น ปัจเจกบุคคลอย่างคิมก็ต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวเขาเสียเอง และก็เข้าตำราที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาอาคม” เพราะฉะนั้น ทั้งคิมและฮันเตอร์จึงค่อยๆ ลงมือแก้แค้นศัตรูของเขาด้วยอาคมวิชาไปทีละคนๆ เมื่อเป็นดังนี้ อาคมที่เคยถูกตีตราว่าเป็น “ความรู้” แบบนอกรีตและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยอายตนะทั้งห้าสัมผัสแห่งมนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็น “ความรู้” ที่มีพลังอำนาจที่ถูกพระเอกคิมนำมาใช้ประโยชน์ แม้แต่กับยุคที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลเป็นระบบความคิดหลักของคนในสังคม แม้ดูผิวเผินแล้ว เรื่องของคาถาอาคมอันเป็นระบบความรู้ความคิดที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ “คู่ตรงข้าม” กับวิทยาศาสตร์ อันเป็นปรัชญาที่เชื่อในการพิสูจน์สรรพสิ่งให้ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผลที่ยอมรับได้รองรับอยู่ แต่ทว่า ความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกันดังกล่าว อาจไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยจริงๆ ทั้งนี้ โลกทัศน์ของคนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ก็คู่ขนานหรือเป็นคู่ไขว้ที่ร้อยรัดพันเกลียวกันไว้อย่างแนบแน่นได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พุทธ” เป็น “ไสย” หรือเป็น “วิทยาศาสตร์” คนไทยก็ไม่เห็นว่าสามระบบความรู้นี้จะแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นความคิดความเชื่อแบบ “พุทธ” ก็ให้คำอธิบาย “กำเกวียนกงเกวียน” ที่ตัวละครได้รับผลกรรมของการทรยศหักหลังเพื่อนรักอย่างทรงกลดไล่เรียงลำดับไปทีละคน คาถาอาคมอันเป็นผลผลิตแห่ง “ไสย” ก็เป็นกลไกที่คิมใช้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิดาของเขา ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวละคร “แดน” ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ใช้ความรู้แบบ “วิทยาศาสตร์” ยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพระเอกให้บรรลุเป้าหมายในการแก้แค้นศัตรู  พุทธ ไสย และวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นความรู้ที่มิใช่จะมีเฉพาะด้านที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ก็อาจจะเป็นระบบความคิดแบบสามประสานที่คนไทยใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวนั่นเอง  ไม่เพียงเฉพาะตัวละครพระเอกคิมที่สะท้อนภาพการผนวกผสานระบบความรู้ที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ให้เป็นคู่ไขว้เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แม้แต่กับนางเอก “เอื้อกานต์” และน้องชายฝาแฝดอย่าง “ทีเกื้อ” ก็เป็นอีกสองตัวละครพี่น้องที่ฉายภาพการผสมผสานระบบความคิดที่ย้อนแย้งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพี่สาวฝาแฝดอย่างเอื้อกานต์นั้น ละครได้ออกแบบให้เธอเป็นแพทย์หญิงที่ยึดจรรยาบรรณการดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ และแม้โดยพื้นเพแล้ว ระบบความรู้แบบแพทยศาสตร์จะเชื่อมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่คุณหมอเอื้อกานต์กลับเป็นตัวละครที่มีพลังพิเศษของสัมผัสที่หก มีพลังจิตที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้ และสามารถใช้พลังจิตนั้นรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยภาพของตัวละครคุณหมอหญิงเช่นนี้ วิทยาศาสตร์หรือระบบเทคนิควิทยาด้านการแพทย์ จึงมิใช่ชุดความรู้เดียวที่อธิบายการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นความคิดความเชื่อที่ได้ปรับปรนผสมผสานกับระบบความรู้เหนือธรรมชาติเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของตัวละครต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝดอย่างทีเกื้อ ที่แม้โดยวิชาชีพจะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ บนความถูกต้องของระบบกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่เพราะอีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.ทีเกื้อ ก็มีพลังจิตพิเศษไม่ต่างจากพี่สาว เขาก็อาศัยพลังจากสัมผัสที่หกมาเป็นเครื่องมือสืบค้นเรื่องราวอาคมที่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่อาจหยั่งถึงได้นั่นเอง เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบ พระเอกคิมผู้สามารถทวงคืนความยุติธรรมที่บิดาถูกกล่าวหาใส่ความได้ ก็เลือกที่จะทิ้งหน้ากากอาคมให้ลอยล่วงกลายเป็นควันสีขาว และกลับมาเป็นตัวละครทรงกลดที่เลือกเดินทางชีวิตสายใหม่ท่ามกลางความสุขกับคุณหมอเอื้อกานต์ แต่ถึงกระนั้น ปริศนาธรรมที่ละครได้ทิ้งเอาไว้ให้เราคิดถามต่อก็คือ ตราบใดที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสุดท้ายของมนุษย์เราได้แล้ว ตราบนั้นความเร้นลับของหน้ากากอาคมก็อาจจะไม่สูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุไปได้จริงๆ หรอก

อ่านเพิ่มเติม >