ฉบับที่ 217 นางสาวไม่จำกัดนามสกุล : ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ

                ทุกวันนี้ คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่เล่นบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย แต่หากจะถามว่า แล้วคนชั้นกลางเป็นใครกัน หรือตัวตนหน้าตาแบบใดที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง         เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่ดำรงอยู่มานานแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มชนชั้นชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสังคมที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่มนี้ช่างคลุมเครือและย้อนแย้งยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากชีวิตของตัวละครอย่าง “เรียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “นางสาวที่ไม่จำกัดนามสกุล”        เรียมเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนในเนื้อเพลงว่า “ตื่นขึ้นมาทุกวันฉันยังเหมือนเดิมเริ่มชีวิตด้วยแสงสว่าง” และด้วยชีวิตที่ซ้ำซากเหมือนเดิมๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งของเรียม เธอจึงบอกตนเองว่า “แต่พอมองเข้าไปที่ใจฉันเอง กลับได้พบแค่ความเดียวดาย เก็บความเงียบเหงาไว้ในใจมานาน...”        พื้นเพภูมิหลังของเรียมก็คือ ผู้หญิงที่พลัดถิ่นฐานภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด แม้ที่บ้านของเธอจะเปิดร้านขายหมูยอจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดภาคอีสาน แต่เรียมก็ตระหนักว่า นั่นหาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ในชีวิตของเธอไม่ เรียมจึงเลือกเข้ามาเสาะแสวงหาโชคและทำงานเป็นเซลส์ขายอาหารสุนัขในเมืองหลวง ดุจเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยอีกหลายๆ คน ที่ก็มีพื้นฐานเป็นคนพลัดถิ่นเฉกเช่นนี้        และในสังคมเมืองใหญ่ที่แตกต่างไปจากพื้นถิ่นพื้นฐานบ้านเกิดนี่เอง ตัวตนของเรียมก็ดำเนินไปท่ามกลางสภาวะที่แปลกแยกกับโลกภายนอก คอนโดที่เธอพักอาศัยก็ไม่เพียงจะจับผู้คนมาแยกอยู่ในกล่องหรือห้องใครห้องมัน ความเปลี่ยวเหงาในสังคมเมืองกรุงก็ทำให้ชีวิตมนุษย์เวียนวนจนเป็นสายพาน และขาดสายสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างรอบตัว        จากอาการแปลกแยกกับสายสัมพันธ์ทางสังคม ในที่สุดก็ก่อกลายมาเป็นสภาวะที่ปัจเจกบุคคลอย่างเรียมก็เริ่มแปลกแยกกับตัวของเธอเอง เมื่อหมอตรวจพบว่าเรียมมี “ช็อกโกแลตซีสต์ในมดลูก” แม้ว่าซีสต์จะเป็นภาวะทางร่างกายที่ท็อปฮิตกันในหมู่คนยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก้อนซีสต์ก็บ่งนัยว่า มนุษย์เรานับวันจะแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น จนสามารถสร้างก้อนเนื้อใดๆ ขึ้นมาเป็นซีสต์ให้คับข้องใจกันได้ตลอดเวลา        เพื่อจัดการกับสภาวะแปลกแยกดังกล่าว หมอจึงแนะนำว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะหายขาดก็คือ ต้องหาผู้ชายสักคนมาแต่งงานและมีลูก ซีสต์หรือความแปลกแยกต่อร่างกายของเรียมก็จะค่อยๆ มลายหายไป ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการสลายชอกโกแล็ตซีสต์และปฏิบัติการค้นหาตัวตนของผู้หญิงคนชั้นกลางอย่างนางสาวเรียมจึงเริ่มต้นขึ้น เฉกเดียวกับท่วงทำนองที่ว่า “อยากมีใครสักคนที่เดินเข้ามาให้ความรักและความอบอุ่น...”        ชายหนุ่มคนแรกที่เข้ามาในปฏิบัติการสลายซีสต์ก็คือ “ปกรณ์” CEO หนุ่มรูปหล่อทายาทเจ้าของธุรกิจนับพันล้าน ในการคบหากับปกรณ์นั้น เรียมก็ต้องตัดแต่งตัวตนของเธอให้กลายเป็นสาวสังคมชั้นสูง ไปรับประทานดินเนอร์สุดหรู เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับชีวิตมหาเศรษฐี แม้ในความเป็นแล้ว เธอเองก็ยังคงเป็นแค่ลูกสาวเจ้าของร้านขายหมูยอ ฐานะอันแตกต่างกันนี้เองจึงเป็นชนวนเหตุให้รักของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง        เมื่อเลิกราไปจากปกรณ์ เรียมก็มาคบหาดูใจกับศิลปินนักร้องหนุ่มสไตล์โอปป้าแสนอบอุ่นอย่าง “พีท” ชีวิตรักที่ได้ผูกพันกับเซเลบริตี้ขวัญใจแฟนคลับมากมาย ทำให้ตัวตนของเรียมแปลกแตกต่างและตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แม้ในภายหลัง เธอเองก็พบว่า ความรักกับบุคคลสาธารณะแบบนี้หาใช่คำตอบเสมอไปสำหรับเรียมผู้ที่อีกด้านก็รักชีวิตสันโดษแบบเราสอง        จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ผู้ชายคนถัดมาที่เรียมเลือกไว้ก็คือ หนุ่มโสดหล่อล่ำกล้ามโตอย่าง “อาร์ม” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตเพื่อนเที่ยวของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แม้การคบหากับอาร์มจะทำให้เรียมได้ย้อนกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงพร้อมจะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่สนใจความทรงจำจากอดีต แต่ในที่สุด ไลฟ์สไตล์แบบใหม่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ความรักของทั้งคู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้        ถัดจากเทรนเนอร์ฟิตเนส เรียมก็เริ่มผูกจิตปฏิพัทธ์กับ “ทวีป” สัตวแพทย์หนุ่มนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ทวีปทำให้เรียมเข้าใจชีวิตว่า ตัวตนของคนชั้นกลางก็น่าจะทำประโยชน์หรือขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นอีกครั้งที่เธอพบว่า ทางสองแพร่งที่อยู่ระหว่างจิตสาธารณะและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรัก ก็ดูจะยากยิ่งที่ไหลมาบรรจบกันได้        กับ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียมที่ประกอบร่างสร้างตัวตนแบบนี้ สะท้อนนัยให้เห็นว่า อัตลักษณ์คนชั้นกลางไทยไม่เพียงแต่ “ยังสร้างไม่เสร็จ” และ “รื้อสร้างใหม่ไปได้เรื่อยๆ” หากแต่ยังมี “ความย้อนแย้ง” แทรกซึมอยู่ในตัวตนคนชั้นกลางยิ่งนัก        แม้การสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแห่งคนชั้นกลาง แต่ภูมิหลังการเป็นลูกแม่ค้าหมูยอก็ทำให้ฝันไม่อาจบรรลุถึงฝั่งได้ หรือแม้ต้องการจะใช้ชีวิตสาธารณะโลดแล่นมีชื่อเสียง แต่หากชีวิตสาธารณะเข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวเกินไป คนชั้นกลางก็พร้อมจะสละความปรารถนาดังกล่าวไปได้        หรือแม้คนชั้นกลางเลือกพร้อมที่จะลบลืมอดีตของปัจเจกและมองทุกอย่างไปที่อนาคต แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมจะให้อดีตมาคอยหลอกหลอนชีวิตปัจจุบันอยู่เช่นกัน และท้ายสุด แม้คนกลุ่มนี้จะพยายามก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะ แต่พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ถ้าประโยชน์สาธารณะจะบั่นทอนประโยชน์สุขส่วนบุคคล        เมื่อตัวตนคนชั้นกลางช่างย้อนแย้งเป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้เยี่ยงนี้ เรียมก็ค่อยๆ ย้อนคิดตริตรองใหม่จนได้คำตอบว่า การวิ่งตามหาใครสักคนมาอยู่ข้างๆ หรือผูกติดตัวตนของเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันก็อาจไม่ใช่อัตลักษณ์หรือเป็นความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางได้เลย        เพราะฉะนั้น ในตอนท้ายของเรื่อง หลังจากผ่านตัวเลือกชายหนุ่มมากมายในชีวิต เรียมก็ตระหนักว่า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลแต่อย่างใด เพราะเป็นพระเอกหนุ่มอย่าง “องศา” ที่อยู่ข้างห้องนี่เอง ที่เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งยึดโยงรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เป็นคนที่อยู่เคียงข้างในทุกปัญหาที่เธอเผชิญ และเป็นผู้ชายที่พูดกับเรียมด้วยประโยคว่า “ฉันชอบตัวเองเวลาอยู่กับแก”        ไม่ว่า “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียม หรือจะเป็นคนชั้นกลางอย่างเราๆ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลาง “ซีสต์แห่งความแปลกแยก” หรือ “ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่เรียมพูดกับองศาในฉากจบก็ช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “แค่คนที่พอดี มันก็ดีพอแล้ว...บางทีคนที่ใช่มันก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 สงครามนักปั้น : เมื่อภาพลักษณ์สำคัญกว่าของจริง

        การรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์เรามีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ความจริงที่เป็น “แก่นแท้” หรือเป็นของจริงที่แท้จริง กับความเป็นจริงที่ไม่สำคัญว่า “ของจริง” จะเป็นเช่นไร แต่ทว่ามนุษย์เราสามารถเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ภาพลักษณ์” ที่เผลอๆ แล้วดูดีและโดดเด่นยิ่งกว่า “แก่นแท้” หรือ “ของจริง” เสียอีก        ในยุคที่ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมแห่งภาพลักษณ์” ที่ “แก่นแท้” เริ่มหมดคุณค่าลงดังกล่าว หากใครก็ตามที่มีศักยภาพในการ “ปั้นความเป็นจริง” ให้กับโลกรอบตัวได้ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในสังคมอันอุดมภาพลักษณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาได้เช่นกัน        ก็เฉกเช่นชื่อละครโทรทัศน์ที่ว่า “สงครามนักปั้น” ซึ่งขานรับกับกระแสสังคมที่มนุษย์ให้คุณค่ากับ “ภาพลักษณ์” มากกว่า “แก่นแท้” กระแสสังคมแบบนี้เองส่งผลให้เกิดแวดวงวิชาชีพ “นักปั้นภาพลักษณ์” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสรรพชีวิตต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจและกำชัยชนะเหนือคู่แข่งในสมรภูมิดังกล่าว        ละคร “สงครามนักปั้น” เลือกผูกเรื่องราวเบื้องหลังของวงการธุรกิจโมเดลลิ่ง ที่เป็นประหนึ่งโรงงานผลิตนักร้องนักแสดงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ และที่แน่ๆ ธุรกิจโมเดลลิ่งเป็นกรณีรูปธรรมของแวดวงแห่งการปั้นภาพลักษณ์ เพราะศิลปินดาราก็คือบุคคลสาธารณะที่อาศัยภาพลักษณ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขายพ่วงมากับศักยภาพการแสดงของตน        ด้วยความเข้าใจตรรกะของการปั้นฝันหรือสรรค์สร้างความเป็นจริงให้กับบุคคลสาธารณะเฉกเช่นนี้ สาวใหญ่อย่าง “แอล” เจ้าของกิจการ “แอลโมเดลลิ่ง” จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ๊ดันที่จัดการปรุงแต่งภาพลักษณ์ให้บรรดาดาราในสังกัดของเธอโดดเด่นสุกสกาวที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง        ธุรกิจโมเดลลิ่งของแอลดูแลศิลปินดาราในสังกัดหลายคน โดยเฉพาะ “แทนคุณ” พระเอกหนุ่มคู่ขวัญกับ “มุก” นางเอกสาว ที่เบื้องหลังนั้นทั้งคู่ต่างก็คบหาเป็นคนรักกันจริงๆ แต่ทว่า ด้วยอุตสาหกรรมดารามีข้อบังคับที่ว่า ผู้ที่จะดำรงอยู่ในแวดวงนี้ได้อย่างยั่งยืนต้องให้ค่ากับความเป็น “คู่จิ้น” มิใช่จะกลายเป็น “คู่จริง” ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากเหล่าแฟนคลับ ดังนั้น ภารกิจของแอลจึงต้องคอยช่วยปกปิดและบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของแทนคุณและมุก อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาภาพลักษณ์ศิลปินชั้นต้นในสังกัด        ในเวลาเดียวกัน นอกจากยุคสังคมแห่งภาพลักษณ์จะให้คุณค่ากับการเสกสรรปั้นแต่งความเป็นจริงมากกว่าการค้นหาความจริงที่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้อีกเช่นกันที่ศิลปินดาราไม่ใช่แค่ดวงดาวโคจรลอยล่องอยู่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เหล่าดาราทั้งหลายก็ยังมีสถานะเป็นสินค้า แถมยังเป็นสินค้าที่มีปริมาณเกร่อล้นตลาดอีกต่างหาก        เพราะฉะนั้น เมื่อสินค้าดารามีอยู่ท่วมท้นตลาดธุรกิจบันเทิง ภาพลักษณ์ที่แอลบรรจงปั้นให้ศิลปินในสังกัด ก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายบุคลากรนักแสดงที่เป็นสินค้าในตลาดให้กับบรรดาเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า และสาธารณชนผู้มีกำลังซื้อหรือเสพดารานั่นเอง        แต่ขณะเดียวกัน เพราะตลาดธุรกิจบันเทิงมีสินค้าดาราที่ล้นเกินอุปสงค์ของผู้ซื้อ แอลจึงมิอาจผูกขาดให้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโมเดลลิ่งได้เพียงเจ้าเดียว และคู่แข่งคนสำคัญของเธอก็คือ “เพียว” เจ้าของกิจการ “พีแอดวานซ์โมเดลลิ่ง” ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกธุรกิจการขายภาพลักษณ์ศิลปินในทุกวิถีทาง        ภูมิหลังของเพียวนั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดแอลโมเดลลิ่งมาก่อน แต่สัจธรรมของโลกธุรกิจก็มักจะอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อดังแล้วก็ต้องแยกวง” แถมยังเป็นการ “แยกวง” ที่มีความขัดแย้งและทิฐิแต่ครั้งปางหลังที่เพียวคับแค้นใจจนอยากจะเอาชนะและโค่นล้มแอลให้หลุดกระเด็นไปจากวงการโมเดลลิ่งให้จงได้        ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ฉากของละคร เราจึงเห็นภาพการปะทะคารมหรือการวางหมากวางเกมที่จะประหัตประหารคู่แข่งของโมเดลลิ่งฝ่ายตรงข้าม โดยบ่อยครั้งตัวละครก็ไม่ได้คำนึงว่า การสัประยุทธ์กันเพื่อครองความเป็นเจ้าในแวดวงการปั้นภาพลักษณ์ดังกล่าว จะยืนอยู่บนหลักจารีตธรรมภิบาลใดๆ ไม่        แม้ละครจะให้คำอธิบายด้วยว่า เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างแอลกับเพียวมาจากปมปัญหาเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างนักปั้นภาพลักษณ์สองคนก็มีเบื้องลึกอันเนื่องมาแต่ความพยายามที่ “ฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ในวงการโมเดลลิ่งนั่นเอง        ยิ่งเมื่อสงครามขัดแย้งปะทุถึงขั้น “ตายไม่เผาผี” ด้วยแล้ว เพียวได้พยายามช่วงชิง “เรน” ดาราในสังกัดของแอลให้ฉีกสัญญา และมาเข้าสังกัดโมเดลลิ่งของเธอ พร้อมๆ กับที่ผลักดัน “ปีย์แสง” ลูกชายของแอล ให้ขึ้นเป็นพระเอกเบอร์หนึ่งแทนแทนคุณที่กราฟชีวิตอยู่ในช่วงขาลง สนามรบแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า การแข่งขันฟาดฟันกันในธุรกิจปั้นภาพลักษณ์ช่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ยิ่งหย่อนการต่อสู้ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย        นอกจากนี้ ละครก็ยังชวนให้เราขบคิดตลอดเรื่องอีกด้วยว่า เมื่อแวดวงโมเดลลิ่งจะบูชาภาพลักษณ์ยิ่งกว่าของจริงนี่เอง เบื้องหลังของตัวละครศิลปินดาราทั้งหลายก็อาจมีความจริงที่ต่างออกไปจากภาพที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าฉากขึ้นมาราวฟ้ากับหุบเหว        แทนคุณพระเอกยอดนิยมมีอีกด้านที่ติดสุราเรื้อรังจนเป็นโรคแอลกอฮอลิซึม นางเอกสาวอย่างมุกก็มีสถานะเป็นตุ๊กตาหน้ารถของหนุ่มไฮโซอย่าง “ทรงโปรด” ซึ่งควงเธอเพียงเพื่อจะเอาชนะคู่หมั้นของเขาเท่านั้น นางเอกปั้นอย่างเรนก็บ้าหนุ่มๆ และ “คันหูไม่รู้เป็นอะไร” อยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ อีกมากมายในท้องเรื่องที่หน้าม่านกับหลังม่านการแสดงผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วโลก        และที่สำคัญ แม้แต่กับสองสาวนักปั้นภาพลักษณ์นั้น พวกเธอเองก็มีหลังฉากที่ต้องหลบเร้นไม่ต่างจากศิลปินดาราในสังกัดเองเลย นักปั้นมือใหม่อย่างเพียวก็ช่างเป็นผู้หญิงที่เจ้าคิดเจ้าแค้นจนปล่อยให้อคติทำลายฝีมือในงานอาชีพของเธอ หรือนักปั้นรุ่นเก๋าอย่างแอลก็ต้องปกปิดและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าเธอเป็นมารดาแท้ๆ ของปีย์แสง จนแม่ลูกต้องมายืนอยู่ในสงครามนักปั้นคนละฝั่งฟากกัน        บนโลกที่ “คนเราเคารพคบกันที่ภาพลักษณ์” ซึ่งพ่วงมามาด้วยชื่อเสียงและเงินทอง บางครั้งหากเราได้ลองมานั่งพินิจพิศดูสงครามของตัวละครในโรงงานปั้นฝันกันดีๆ เราก็อาจจะได้คำตอบเหมือนกันว่า ระหว่างภาพมายาที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมากับแก่นแท้ที่คนเรายุคนี้มักมองข้าม ตัวเลือกข้อใดที่จะเป็นของจริงกว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เลือดข้นคนจาง : ทฤษฎีสมคบคิดภายในสถาบันครอบครัว

                        เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกและหลักที่สุดของสังคม ดังนั้นละครโทรทัศน์จึงมักหยิบเอาชีวิตครอบครัวมาผูกโยงเป็นเรื่องเล่าสู่สายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เปี่ยมด้วยความสุข หรือด้านที่ปะทุคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง ครอบครัวก็ยังเป็นสถาบันที่โลกสัญลักษณ์ของละครมักเลือกฉายภาพออกมาอยู่เสมอ        ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเนื้อหาสารชนิดอื่นๆ ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่า จะมีพื้นที่อื่นใดที่สามารถกะเทาะความเป็นจริงแห่งสถาบันครอบครัวได้เข้มข้น ถึงแก่น และชัดเจนที่สุด ได้ทัดเทียมภาพสมมติของครอบครัวที่อยู่ในละครโทรทัศน์อีกแล้ว         และด้วยตรรกะเช่นนี้ “เลือดข้นคนจาง” ก็เป็นละครโทรทัศน์อีกหนึ่งเรื่องที่เลือกย้อนรอยให้เห็นความเป็นจริงในพื้นที่ของครอบครัว ยิ่งหากทุกวันนี้ ภายใต้กระแสจีนาภิวัตน์ที่สังคมไทยหันหน้าไปจูบปากกับความเป็นจีนกันอย่างดื่มด่ำด้วยแล้ว ฉากหลังของครอบครัวแบบจีนก็ถูกวาดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับกระแสธารดังกล่าว โดยผ่านความสัมพันธ์ภายในตระกูล “จิระอนันต์” เจ้าของธุรกิจเครือโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง “จิรานันตา”         โดยพื้นฐานของธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีน นิยมพำนักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หรือสำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างจิระอนันต์ก็กินอยู่กันในลักษณะของระบบ “กงสี” โดยมีหลายๆ ครัวเรือนของลูกหลานที่อาศัยร่วมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันแบบสายตระกูลขนาดใหญ่นั่นเอง        และเพราะครอบครัวเป็นสถาบันซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่สุดของชีวิตมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นกฎที่ครอบครัวจิระอนันต์จะต้องกอปรขึ้นด้วยด้านที่เป็น “หน้าฉาก” ที่เปิดม่านออกคนนอกรับรู้มองเห็นได้ กับส่วนที่เป็น “หลังฉาก” อันเป็นปริมณฑลส่วนตัว ซึ่งจะมีก็แต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้         ในด้านความเป็น “หน้าฉาก” ผู้ชมเองก็สัมผัสได้ตั้งแต่ม่านละครเปิดออกมาพร้อมกับภาพความสุขในงานเลี้ยงรวมญาติเพื่ออวยพรวันเกิดของ “อากงสุกิจ” ผู้ก่อตั้งโรงแรมจิรานันตา ซึ่งมีลูกชายคนโตหรือ “ประเสริฐ” กับลูกสาวคนที่สาม “ภัสสร” ที่ช่วยกันบริหารกิจการ ส่วนลูกชายคนที่สองคือ “เมธ” และลูกชายคนสุดท้อง “กรกันต์” ก็เป็นผู้ร่วมกินอยู่ในกงสีของตระกูล แม้ว่าจะไม่ได้บริหารงานโรงแรมโดยตรงก็ตาม        ฉากเริ่มต้นเรื่องที่ตัวละครทั้งหมดในทุกเจนเนอเรชั่นของครอบครัวมาร่วมโต๊ะกินข้าว ถ่ายรูปร่วมกัน หรือชื่นชมภาพวาดฝีมืออากง ก็คือด้านหน้าฉากซึ่งฉายบรรยากาศความสุขของตระกูลจิระอนันต์ที่เปิดออกให้สาธารณชนคนนอกอย่างเราๆ ได้รับรู้กัน                แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของครอบครัวจิระอนันต์นั้น ตัวละครที่เราเห็นปรองดองกันอยู่เพียงไม่กี่ฉากในตอนต้นเรื่อง ก็ค่อยๆ ถูกวางโครงเรื่องให้ผู้ชมได้ขยับเข้าไปเห็นเบื้องหลังซึ่งมีทั้งการช่วงชิงผลประโยชน์ และการเก็บงำความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงข่ายของสายตระกูลดังกล่าว        แม้โดยแก่นหลักของละครจะพยายามยืนยันกับผู้ชมอยู่ตลอดเรื่องว่า “เพราะครอบครัวสำคัญที่สุด” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ภายในสถาบันครอบครัวที่ “สำคัญที่สุด” นี้เองที่ความขัดแย้งและการวางหมากวางเกมระหว่างกัน กลับเป็นคลื่นใต้มหาสมุทรที่มีผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแปรหลบเร้นอยู่เนื้อใน        ดังนั้น เมื่ออากงประมุขของตระกูลเสียชีวิตลง และทำพินัยกรรมไว้ตามธรรมเนียมนิยมแบบจีน โดยแบ่งมรดกกิจการโรงแรมเป็นสี่ส่วนให้ลูกชายสามคนกับ “พีท” หลานชายคนโตลูกชายของประเสริฐในฐานะของ “ตั่วซุง” ของบ้าน จึงนำไปสู่ความไม่พอใจของภัสสรในฐานะที่บุตรสาวที่ช่วยดูแลกิจการของครอบครัวมาโดยตลอด แต่เธอกลับแทบจะถูกมองไม่เห็นค่าในฐานะลูกผู้หญิงของตระกูล         และที่สำคัญ ภายหลังจากความขัดแย้งในการจัดสรรมรดกที่มีค่านิยมบางอย่างของสังคมกำกับไว้ ได้นำไปสู่ความรุนแรงที่พี่ชายคนโตอย่างประเสริฐถูกฆาตกรรม โดยมีน้องสาวคู่กรณีหลักอย่างภัสสรตกเป็นจำเลยต้องสงสัยลำดับแรกๆ         ด้วยการผูกเรื่องให้เป็นละครแนวดราม่าสืบสวนสอบสวน ด้านหนึ่งละครก็ค่อยๆ คลายปมให้เห็นว่า “ใครกันแน่ที่ฆ่าประเสริฐ” โดยที่ผู้ต้องสงสัยสามารถเป็นใครก็ได้ในครอบครัว แต่ในเวลาเดียวกัน โครงเรื่องที่ดำเนินไปก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นความขัดแย้งของผลประโยชน์ในธุรกิจกงสีของตระกูลจิระอนันต์ไปพร้อมๆ กัน        แม้ในตอนจบของเรื่อง ละครจะเฉลยคำตอบว่า ภัสสรที่ถูกต้องสงสัยตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นหาได้เป็นฆาตกรตัวจริงไม่ หากแต่เป็นเมธน้องชายคนรองที่ยิงประเสริฐเพราะลุแก่โทสะที่เขาปิดบังความลับเรื่องการตายของภรรยาตน แต่ทว่าแง่มุมที่ละครสะท้อนให้เราต้องย้อนคิดไปกว่านั้นก็คือ เบื้องหลังความรุนแรงในครอบครัวนี้ “คนที่ยิง” กับ “คนที่ฆ่า” อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป        เพราะแม้เมธจะเป็นผู้ที่เหนี่ยวไกปืนสังหารพี่ชายของตนด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลับเป็นทุกคนที่เหลืออยู่ในตระกูลนั่นต่างหากที่สมคบคิดหรือมีส่วนไม่มากก็น้อยในการ “ฆ่า” ด้วยการหยิบปืนมาใส่ไว้ในมือของเมธให้ “ยิง” พี่ชาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของธุรกิจกงสีในฐานะที่เป็นผลประโยชน์แห่งตน        ว่ากันตามหลักทฤษฎีแล้ว เรื่องของ “เหตุผล” และ “ผลประโยชน์” ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อมี “ผลประโยชน์” ที่ทุกคนต้องการร่วมสืบทอดและครอบครองมรดกอันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตัวละครต่างๆ จึงล้วนมีข้ออ้าง “เหตุผล” เพื่อสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงแม้แต่กับผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน        อากงและอาม่าก็เลือกจะรักลูกไม่เท่ากัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในการแบ่งมรดกของครอบครัวจีน พี่ใหญ่อย่างประเสริฐก็มีเหตุผลเรื่องความอยู่รอดของกิจการกงสีซึ่งต้องเป็นตนเท่านั้นที่ควรถือครองโดยชอบธรรม สะใภ้ใหญ่อย่าง “คริส” ที่ต้องการสร้างความมั่นคงในสถานภาพจนเลือกวางยาขับเลือดให้ภรรยาของเมธกินจนแท้งบุตร รวมไปถึงภัสสรที่แม้จะล่วงรู้ความลับของทุกคนในบ้าน แต่ก็เลือกจะปกปิดไว้เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของตระกูล        เหตุผลที่ต่างคนต่างอ้างความชอบธรรม โดยมีผลประโยชน์ของครอบครัวที่จะจัดสรรตกมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่อำนาจและความขัดแย้ง ที่ทุกคนนั่นเองสมคบคิดและมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดเป็นความรุนแรงแห่ง “ศึกสายเลือด” ของตระกูลจิระอนันต์         กล่าวกันว่า การเมืองที่คุกรุ่นที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ไกลโพ้นอย่างการช่วงชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรหรอก หากแต่เริ่มต้นกันตั้งแต่สนามรบในบ้านหรือครอบครัวนี่เอง เพราะฉะนั้น เมื่อผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวแปรแทรกกลางความสัมพันธ์ของมนุษย์ แม้แต่กับสมาชิกที่ “เลือดข้น” ในสถาบันครอบครัว มนุษย์เราก็พร้อมจะกลายพันธุ์เป็น “คนจาง” ซึ่งมีเหตุผลให้ห้ำหั่นกันและกันได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ลูกไม้ลายสนธยา : คงจะมีรักจริงรออยู่ ที่ดินแดนใดสักแห่ง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมมนุษย์เราปลอดซึ่งอคติทั้ง 4 อันได้แก่ รัก โลภ โกรธ และหลง ในขณะเดียวกัน สังคมที่ปราศจากอคติทั้ง 4 อันถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของกิเลส และเป็นวิถีปฏิบัติไปในทางที่ผิดเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสุขแห่งมนุษยชาติที่แท้จริงได้หรือไม่   ในวรรณกรรมคลาสสิกของ เซอร์โธมัส มอร์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ได้เคยเสนอภาพดินแดนอุดมคติซึ่งเรียกว่า “ยูโทเปีย” ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ดีกินดี มีระบบแห่งการแบ่งสันปันส่วนชนิดที่ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีร้านเหล้าหรือสิ่งอบายมุขใดๆ ผู้คนไม่ยึดติดกับวัตถุ ไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆ หรือถ้าสรุปแบบง่ายๆ ยูโทเปียก็เป็นประหนึ่งรัฐในฝันที่ผู้คนอยู่กันโดยไร้อคติ แต่อาศัยศีลธรรมคุณธรรมในการดำเนินชีวิต    อย่างไรก็ดี ตามทัศนะแบบตะวันตก สังคมอุดมความสุขเช่นนี้ถือเป็นเพียงจินตนาการที่หาได้มีอยู่จริง และถูกวาดขึ้นเป็นนัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมของยุคนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ยูโทเปียกับโลกจริงจึงเป็นสองดินแดนที่มีเส้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน   แต่ในทางกลับกัน หากเป็นในทัศนะแบบคนไทย เรามีมุมมองแตกต่างไปว่า โลกอุดมคติที่เหนือจริงหาใช่เป็นพรมแดนที่แยกขาดจากโลกที่มนุษย์เราใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกิเลสโดยสิ้นเชิง ดินแดนที่แตกต่างกันทั้งสองกลับดำเนินอยู่แบบคู่ขนาน และอาจมีบางจังหวะเงื่อนไขที่ทั้งสองโลกดังกล่าวเวียนวนมาบรรจบพบกันได้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกความเป็นจริงแบบไทยๆ ดูจะเป็นเส้นเรื่องหลักที่ถูกวางพล็อตเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกจินตนิมิตอย่าง “ลูกไม้ลายสนธยา” ที่จำลองภาพความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านการแก่งแย่งช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครอง “บ้านรัชดาพิพัฒน์” อันเป็นสถานที่ซ่อนของประตูสู่อีกมิติของดินแดนอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสุข   ในโครงเรื่องที่ผูกขึ้นของละครนั้น โลกจริงอันเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์เราวนว่ายอยู่ในกิเลส ถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดน “ชมพูทวีป” ในขณะที่ภาพสมมติแทนอุดมคติยูโทเปียก็ถูกวาดขึ้นมาในชื่อของ “อุตรกุรุทวีป” โดยมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ในอดีตกาลนั้น สองทวีปนี้เคยมีสะพานเชื่อมข้ามมิติไปมาหากันได้ แต่เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปเริ่มสั่งสมบาปกรรมและความโลภโมโทสันกันจนล้นเกิน ประตูแห่งกาลที่กั้นทางเข้าอุตรกุรุทวีปจึงปิดตัวลง เพื่อมิให้มนุษย์และกิเลสต่างๆ ได้ข้ามไปแปดเปื้อนดินแดนแห่งอุดมคติดังกล่าว   แม้ยูโทเปียกับโลกจริงจะเป็นสองอาณาบริเวณที่แยกขาดจากกันในตอนต้นเรื่อง แต่พลันที่ “เหมหิรัญญ์” พระเอกหนุ่มในดินแดนอุตรกุรุทวีปเกิดมีข้อสงสัยขึ้นว่า เหตุใดชมพูทวีปทุกวันนี้จึงได้กลายสภาพเป็นที่สั่งสมไว้ซึ่งกิเลสและอคติต่างๆ และที่สำคัญ ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่ถาโถมอยู่รอบทิศนั้นได้อย่างไร ปมปัญหาที่ละครผูกไว้กับยูโทเปียจึงได้เริ่มต้นขึ้นมา   เพราะบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นแกนกลางที่ตัวละครต่างๆ หวังจะเข้ามาครอบครอง จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “ประพิม” ผู้กำความลับเรื่องผ้าลูกไม้ลายสนธยา ในฐานะกุญแจไขไปสู่ดินแดนอุตรกุรุทวีป เหมหิรัญญ์จึงสวมวิญญาณเป็นนักวิจัยภาคสนามมาทั้งสืบเงื่อนปมการตาย และเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตตัวละครที่ต้องมนต์กิเลสในการถือครองคฤหาสน์หลังงามดังกล่าว   เมื่อได้ลงสนามในชมพูทวีป เหมหิรัญญ์ก็ค้นพบว่า รักโลภโกรธหลงเป็นสิ่งที่ “มี” และ “ผลิดอกออกผล” ได้ไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะผ่านกลุ่มตัวอย่างอย่าง “นายหัววรงค์” และ “แก้วเพชร” หรือ “ทองมาตย์” และ “รัตนพรรณ” ที่ความเป็นสามีภรรยาของทั้งสองคู่ชีวิตถูกสะบั้นลงได้เพียงเพราะต้องการครอบครองบ้านหลังเดียว หรือกรณีของ “หันตรา” “ดิถี” และ “วโรชา” ที่ความรักความหลงทำให้ “ตาบอด” ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึง “สารวัตรทัศน์เทพ” ที่ยอมทรยศอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน   แม้ตัวละครจำนวนมากจะเป็นภาพแสดงการก่อและขยายตัวของกิเลสแห่งมนุษย์ในชมพูทวีป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเหมหิรัญญ์ได้มาพบกับ “เดือนพัตรา” นางเอกผู้ได้รับบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นมรดกสืบต่อจากคุณยายประพิมที่เสียชีวิตไป เขากลับได้คำตอบเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางวังวนมหาสมุทรแห่งกิเลส ก็ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ทุกทางเพื่อรักษาคุณงามความดีอยู่ในมุมเล็กๆ ของความขัดแย้งแก่งแย่งกัน ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของอุตรกุรุทวีปที่อวลอบเอาไว้ด้วยคุณธรรมความดีแต่เพียงด้านเดียว   ในโลกยูโทเปียแบบอุตรกุรุทวีปนั้น แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงามและยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงแล้ว อะไรก็ตามที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติดีงามสุดขั้ว หรือโลภโมโทสันอย่างสุดโต่ง มันก็ช่างขัดแย้งกับวิถีคิดพื้นฐานแบบ “ทางสายกลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่เพียบพร้อมความสุขแบบเปี่ยมล้นเอง ก็มีอีกด้านที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสหรือขาดซึ่ง “ภูมิต้านทานความทุกข์” เพราะมัวแต่ “สำลักความสุข” กันเพียงอย่างเดียว   ด้วยเหตุนี้ แม้ชมพูทวีปจะเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว แต่การที่เดือนพัตรายังคงยืนหยัดยึดมั่นความดีเป็นสรณะท่ามกลางสิ่งเร้ารายรอบได้ เหมหิรัญญ์ก็พบว่า ความดีที่ฝ่าพายุคลื่นลมของกิเลสแบบนี้ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” จนทำให้เขาตกหลุมรักเดือนพัตรา และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับเธอที่ชมพูทวีป โดยยอมรับกติกาที่ว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าใด อายุขัยของเขาก็จะลดลงไปตามกฎแห่งโลกมนุษย์    ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ผู้กองมรุต” นายตำรวจที่ช่วยเหลือเดือนพัตราสืบเรื่องราวความตายของคุณยาย และถูกลอบทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภาพที่หญิงสาวคอยปรนนิบัติดูแลผู้กองหนุ่ม ก็ทำให้เหมหิรัญญ์เข้าใจความจริงแห่งความทุกข์ และพูดกับเธอว่า “โลกของผมไม่มีการเจ็บป่วย แต่ถ้าผมรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยแล้วมีคนมาดูแลเอาใจใส่แบบนี้ การเจ็บป่วยมันก็ดีเหมือนกัน”    ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” นี้เอง ในท้ายที่สุด หลังจากคลี่คลายปมว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าคุณยายประพิม และจัดการปัญหาของบ้านรัชดาพิพัฒน์ลงได้ เหมหิรัญญ์ก็ตัดสินใจละทิ้งดินแดนอุดมคติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบ “ทุกข์บ้างสุขบ้าง” เคียงคู่กับเดือนพัตราที่ชมพูทวีปนั่นเอง   “ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ” น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ตนไปอยู่ในดินแดนอุดมคติยูโทเปีย หรือไม่ต้องทนวนว่ายในกระแสธารกิเลสที่เปี่ยมล้นหรอก บางทีผ้าที่มีสีขาวหรือสีดำไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจสีสันชีวิตแบบ “ทางสายกลาง” ได้เหมือนกับผ้าที่มี “ลูกไม้ลายสนธยา” ซึ่งมีเลื่อมลายทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!

เกมเสน่หา : ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม!!!                                                                                                                             แรกเริ่มที่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “เกมเสน่หา” นั้น ผู้เขียนก็รู้สึกสนใจใคร่รู้ว่า ทุกวันนี้เรื่องของความรักและความ “เสน่หา” ได้ถูกเสกสรรปั้นแต่งให้กลายเป็น “เกม” ที่มนุษย์เราใช้วางหมากวางกลระหว่างกันและกันแล้วหรือ?     และยิ่งเมื่อได้ยินประโยคที่ “เหมือนชนก” นางเอกของเราเชือดเฉือนคารมกับ “ลัคนัย” พระเอกหนุ่มรูปหล่อในเรื่องว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชวนให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วในทุกวันนี้สังคมได้เปลี่ยนนิยามของความเป็น “เกม” ให้แตกต่างไปจากที่เคยรับรู้กันมาเยี่ยงไร?      ย้อนไปในยุคอดีต เกมถือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมา เพื่อขีดวงให้เป็นพื้นที่ที่แยกตัวออกไปจากชีวิตประจำวันปกติ เช่น เกมเป็นกิจกรรมที่เล่นในช่วงเวลาว่างที่แยกไปจากชีวิตการทำงานประจำของเรา     และที่สำคัญ เมื่อคนเราเข้าสู่สนามแห่งเกม เราก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า ในเกมนั้นมีกฎกติกาซึ่งผู้เล่นแต่ละคนต่างก็ต้องเคารพและพึงปฏิบัติตาม เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมที่กำหนดขึ้นเอาไว้ก่อนหน้าที่เราจะลงไปในสนามเสียด้วยซ้ำ แต่ทว่า ภายใต้กฎแห่งเกมนั้น ปัจเจกบุคคลที่เดินหมากอยู่ก็สามารถสร้างสรรค์ทำการอันใดได้ แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของกรอบกติกาที่สังคมได้ร่วมกันกำหนดตกลงเอาไว้     ครั้นเมื่อสังคมสมัยใหม่ได้ก่อร่างก่อตัวขึ้นมา ระบอบทุนนิยมกลับเปลี่ยนแปลงความหมายของเกมเสียใหม่ จากเดิมที่เกมเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เพื่อทำความเข้าใจที่อยู่ร่วมกันโดยเคารพซึ่งกฎกติกา กลายมาเป็นสนามแห่งการแข่งขันช่วงชิงเพื่อกำชัยชนะระหว่างกัน ไม่ว่าจะในพื้นที่ส่วนรวมของสังคม เช่น การวางหมากเกมทางการเมือง หรือการเอาชนะเกมการแข่งขันทางธุรกิจ ลามไปจนถึงในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่ใน “เกมเสน่หา” เหมือนกับชื่อของละคร     กับนิยามความหมายใหม่ของเกมเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากกรณีความสัมพันธ์ของเหมือนชนกและลัคนัย ที่เคลื่อนไปท่ามกลางสงครามความขัดแย้งในชีวิตรัก ชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัวของเหมือนชนกเอง      เปิดฉากแรกมา นักเรียนนอกรูปสวยรวยทรัพย์อย่างเหมือนชนก ลูกสาวของ “ธวัช” และ “วิสาขา” ได้ถูกวางคาแรกเตอร์ไว้ให้เป็นคุณหนูผู้เอาแต่ใจตัวเอง และพยายามขีดกฎกติกาเพื่อเล่นเกมให้โลกทั้งโลกต้องมาโคจรรอบตัวเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือการสร้างวีรกรรมมากมายตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนต่างแดน    ครั้นเมื่อเหมือนชนกเดินทางกลับมาเมืองไทย เธอก็ต้องเซอร์ไพรส์กับข้อเท็จจริงที่ว่า ธวัชและวิสาขาเพิ่งจะจดทะเบียนหย่าอย่างเป็นทางการ ความจริงข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่คุณหนูขี้วีนมิอาจรับกับความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ และพยายามที่จะเดินเกมทุกอย่างให้พ่อกับแม่กลับมาเคียงคู่เป็นสามีกันอีกคำรบหนึ่ง    เนื่องจากเหมือนชนกเป็น “เธอผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในเกมใดๆ” เธอจึงวางหมากเดินเกมต่างๆ ที่จะหน่วงรั้งให้ครอบครัวที่บุพการีแยกทางกัน กลับมาเป็นครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” ที่เหมือนชนกสามารถจับทุกคนให้มาเป็นเบี้ยบนกระดานที่เธอจะเดินไปมาแบบใดก็ได้     ตั้งแต่การเดินเกมจัดการความสัมพันธ์ระหว่างธวัชกับว่าที่แม่เลี้ยงคนใหม่อย่าง “พิมลแข” หรือการอาศัยยืมมือทั้งวิสาขาและ “มาลินี” ผู้เป็นยาย ให้เข้ามาขัดขวางการแต่งงานครั้งใหม่ของบิดา รวมไปถึงการพยายามเอาชนะแม้แต่กับ “เพ็ญพรรณี” บุตรสาวของ “ไพพรรณ” แม่บ้านที่รักเหมือนชนกไม่ต่างจากลูกสาวของตน เพียงเพื่อจะบอกกับทุกคนว่า คุณหนูของบ้านก็ต้องมีชัยเหนือกว่าใครต่อใครในบ้านทุกคน    เพราะเหมือนชนกนิยามความหมายของเกมว่า เป็นเวทีแข่งขันที่มีเฉพาะผู้ชนะเท่านั้นจึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายฝันได้ ดังนั้น ผู้คาดหวังชัยชนะจึงไม่สนใจว่า เกมที่ตนเล่นจะยุติธรรมหรือไม่ หรือในการเดินเกมแต่ละครั้งของเธอจะยืนอยู่บน “กฎกติกา” หรือ “ข้อตกลงร่วม” ที่ผู้เล่นทุกคนยอมรับโดยชอบธรรมหรือไม่อย่างไร หากเพราะเกมจะดำเนินไปได้ก็ด้วย “กฎกติกา” ที่เหมือนชนกเป็นผู้เขียนขึ้นเพียงคนเดียว    และที่สำคัญ เมื่อเกมที่เหมือนชนกเขียนกติกาขึ้นด้วยตัวของเธอเองดำเนินไปถึงขีดสุด ลัคนัยพระเอกหนุ่มของเรื่องจึงถูกดึงเข้ามาเห็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดาน เมื่อเธอจำใจเลือกที่จะแต่งงานกับลัคนัย ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตคนรักของพิมลแข เพียงเพราะหวังว่าการแต่งงานครั้งนี้จะเป็นเกมที่เหมือนชนกบงการหลอกใช้ลัคนัยให้ช่วยริดรอนความสัมพันธ์ระหว่างธวัชและพิมลแขได้นั่นเอง     เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดพลิกผันของเรื่อง ในขณะที่เหมือนชนกคิดอยู่ตลอดว่า “ทุกอย่างมันเป็นแค่เกม” ที่เธอจะจับวางใครต่อใครมาเป็นหมากเป็นเบี้ยให้เดินได้ แต่อันที่จริงแล้ว หากเหมือนชนกสามารถขีดกติกาของเธอในการเดินเกมแบบใดก็ได้ ลัคนัยเองก็ต้องการให้บทเรียนกับเธอว่า บนหมากกระดานเดียวกันนั้น แม้แต่หมากเบี้ยอย่างลัคนัยก็มีสิทธิ์ที่จะเขียนกฎของการเล่นเกมขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน    ดังนั้น เมื่อทราบว่าเหมือนชนกตั้งครรภ์ และเธอก็ยังยืนกรานว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมที่จะเอาชนะตัวละครทุกคน ลัคนัยก็ได้สร้างข้อตกลงกับเธอว่า ถ้าลูกที่คลอดออกมาเป็นเพียงเกมที่ไม่ได้เกิดจากความรักของผู้เป็นแม่แล้ว เขาก็ขอสิทธิ์ในการดูแลลูกที่เกิดมาและจะหลบหน้าหายไปจากชีวิตของเหมือนชนกตลอดไป    เพราะฉะนั้น วันเดียวกับที่เหมือนชนกคลอดลูกชาย ลัคนัยก็เลือกที่จะพรากลูกและเดินออกไปจากชีวิตของเหมือนชนก ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการบอกแก่เธอว่า ในชีวิตคู่และสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนสองคนจะแข่งขันเป็นเกมการเมืองเพื่อเอาชนะกัน หรือถูกเบียดบังจนมืดมนไปด้วยทิฐิที่จะห้ำหั่นให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้จนราบคาบ    แม้ผู้ชมเองจะเดาได้ไม่ยากว่า “หมากเกมนี้ฉันก็รู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร” เพราะฉากจบเหมือนชนกก็ได้ทบทวนตนเอง และพยายามที่จะไขว่คว้าให้ชีวิตคู่ของเธอกลับคืนมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครก็ยังเรียนรู้ด้วยว่า เกมที่เดินไปในชีวิตจริงไม่ควรถูกนิยามว่าเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ โดยไปล่วงละเมิดความปรารถนาของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ชายคนรัก หรือคนอื่นๆ โดยไม่ยอมรับในข้อตกลงกฎกติการ่วมแต่อย่างใด     แม้ว่าทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมจะนิยามความหมายใหม่ให้กับเกมว่า เป็นเวทีที่ปุถุชนจะต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะเหนือผู้อื่น แต่ในท้ายที่สุด ข้อสรุปใน “เกมเสน่หา” ที่มนุษย์ต่างเดินหมากวางกลใส่กันนั้น ก็คงไม่ต่างจากประโยคที่คุณยายมาลินีของเหมือนชนกได้กล่าวไว้ว่า “…นี่แหละที่สอนให้ฉันรู้ว่า ทิฐิมันไม่เป็นผลดีกับใคร โดยเฉพาะกับคนที่รักกัน...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”

ลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”                                                                                                                        มนุษย์เรามีความต้องการปรารถนาเฉพาะตนกันอยู่แทบจะทุกคน แต่ทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดบ่อยครั้งความต้องการของปัจเจกบุคคลจึงมิอาจเป็นไปในแบบที่เราคิดอยากให้เป็นได้?             ด้วยแก่นหลักของเรื่องที่ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใจของ “เจ้าหญิงอลิซ” รัชทายาทแห่งประเทศสมมติที่ชื่อฮรีสอซ กับ “ผู้พันดวิน” พระเอกหนุ่มองครักษ์ผู้พิทักษ์เจ้าหญิงในละครโทรทัศน์เรื่อง “ลิขิตรัก” คงบอกกับเราได้ไม่ยากว่า ความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกไม่เคยเป็นอิสระจากกรอบบางอย่างที่สังคมขีดวงกำหนดเอาไว้ได้เลย            ปมของละครเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหญิงอลิซถูกวางตัวและแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาทสืบต่อจาก “คิงเฮนรี่” ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ เธอจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งกับบรรดาพระญาติคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าชายอังเดร” ผู้เป็นลุง “โมนา” ป้าสะใภ้ รวมไปถึง “เจ้าหญิงเคธ” และ “เจ้าชายอลัน” ลูกพี่ลูกน้อง ที่ทุกคนต่างไม่พอใจและไม่ยอมรับการขึ้นสวมมงกุฎของเจ้าหญิงรัชทายาท            ภายใต้ “บทบาท” และ “หน้าที่” ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่นี้ เจ้าหญิงอลิซยังต้องเผชิญกับภารกิจที่มากมาย และอันตรายรอบด้านที่มาจากศัตรูซึ่งมองไม่เห็น เธอจึงตัดสินใจหลบหนีมาพักผ่อนชั่วคราวที่ประเทศไทยแบบเงียบๆ             และเป็นเพราะการเมืองที่ไม่เข้าใครออกใคร แถมการเมืองก็ยังไม่เลือกเวลาและพื้นที่ว่าใครจะอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใด เมื่อเจ้าหญิงอลิซมาอยู่เมืองไทย เธอก็ยังถูกไล่ล่าหมายชีวิตจากคนร้ายและกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจจากฮรีสอซ ซึ่งก็แน่นอนว่า ที่เมืองไทยนี่เอง พระเอกหนุ่มผู้พันดวิน หัวหน้าหน่วย D-Team ก็ได้เข้ามาถวายการอารักขา และเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างตัวเลือกที่เป็น “หน้าที่” กับ “ความรัก” ของเจ้าหญิงและผู้พันหนุ่ม            หาก “ความรัก” เป็นตัวแทนของความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกบุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว คำถามก็คือ “หน้าที่” ได้เข้ามากำหนดความปรารถนาของมนุษย์เอาไว้อย่างไร            ตามหลักทฤษฎีสังคมศาสตร์มีคำอธิบายไว้ว่า เงื่อนไขหนึ่งในความเป็นมนุษย์ก็คือ การมีพันธกิจ “หน้าที่” ที่ต้องดำเนินไปตามข้อเรียกร้องบางอย่างของกลุ่มสังคมที่ตนสังกัด และข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ก็สัมพันธ์กับ “บทบาท” ที่ปัจเจกชนแต่ละคนสวมและเล่นอยู่            คำว่า “บทบาท” นั้น เป็นศัพท์ที่มักใช้กันอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง เพื่อสื่อความหมายเมื่อนักแสดงสวมบทบาทหนึ่งๆ เป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวร้าย หรือตัวละครใด เธอหรือเขาก็จะมีสคริปต์ให้เล่นไปตามบทบาทที่กำหนดไว้นั้น และเมื่อถอดบทบาทดังกล่าวออกมาสวมบทบาทใหม่ นักแสดงคนเดิมก็จะมีสคริปต์ชุดใหม่ให้ได้เล่นแทน            ฉันใดก็ฉันนั้น ในเงื่อนไขของแต่ละสังคม ปัจเจกบุคคลก็มักถูกกำหนดให้ต้องสวมและเล่น “บทบาท” ทางสังคมไม่ต่างจากนักแสดงละครบนเวทีเลย และด้วย “บทบาท” ที่สังคมขีดวงเอาไว้นี้เอง คนแต่ละคนก็จะรู้ว่าตนต้องมีสคริปต์แบบใดให้ได้เล่นได้แสดงแตกต่างกันไป            เพราะฉะนั้น เมื่อครั้งที่อลิซสวมบทบาทเป็นแค่หลานปู่ของคิงเฮนรี่ เธอก็อาจจะเล่นสคริปต์เป็นหลานสาวที่น่ารักใสซื่อโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ มากมายนัก แต่เมื่อถอดบทบาทเดิมออก และหันมา “สวมมงกุฎ” เป็นเจ้าหญิงรัชทายาท บทบาทที่เปลี่ยนไปซึ่งพ่วงมากับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ทำให้เจ้าหญิงอลิซต้องมีภาระรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และถูกเรียกร้องให้ต้องสละความสุขส่วนตัว กลายมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในอนาคตของฮรีสอซแทน            กับเรื่องบทบาทที่สวมเข้าออกได้เฉกเช่นนี้เอง เจ้าหญิงอลิซได้รู้ซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเธอต้องมาปลอมตัวเป็นภริยานายทหารเรืออย่างผู้พันดวิน ทั้งนี้ เพื่อหลบซ่อนตัวจากคนร้ายที่ตามล่าชีวิต เจ้าหญิงต้องยอมเข้าพิธีแต่งงานหลอกๆ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นางนารี สมุทรยากร”            เพราะบทบาทใหม่กับหน้าที่ทางสังคมที่ต่างออกไป แม่บ้านทหารเรืออย่างเจ้าหญิงอลิซจึงต้องย้ายออกจากพระราชวังมาพำนักอยู่บ้านพักทหารเรือหลังเล็กๆ ที่ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ หากแต่ต้องอยู่และทำหน้าที่แบบภริยาข้าราชการด้วยเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงของนายทหารเรือคนหนึ่งเท่านั้น             ประโยคที่เจ้าหญิงอลิซได้พูดกับผู้พันดวิน เมื่อต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวละครนารี สมุทรยากร ว่า “ถ้าเราถอดมงกุฎออก เราก็คือคนเหมือนกับนาย” คงบ่งบอกนัยชัดเจนว่า ด้วยบทบาทที่ต่างออกไป ไม่เพียงแต่จะมีสถานภาพและหน้าที่ต่างกันเท่านั้น หากแต่บทบาทก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่สังคมหนึ่งอุปโลกน์และขีดเขียนกติกาให้ปัจเจกบุคคลต้องเล่นไปด้วยนั่นเอง            และเมื่อมาถึงช่วงท้ายของเรื่อง ละครได้เริ่มเฉลยให้เห็นว่า ตัวละครที่ต้องเล่นบทบาทต่างกันนั้น ลึกๆ แล้ว ธาตุแท้ของ “จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ แบบที่เจ้าหญิงเคธผู้ไม่พอเพียงกับบทบาทหน้าที่แค่เจ้าหญิงที่ไม่มีใครสนใจ แต่เลือกจะชักใยความขัดแย้งต่างๆ ในเรื่อง เพื่อให้ตนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแทนน้องสาว ตรงกันข้ามกับเจ้าชายสายปาร์ตี้อย่างอลันก็ยอมละทิ้งความสุขส่วนตัวมาสวมบทบาทใหม่เป็นรัชทายาทแห่งฮรีสอซแทนเจ้าหญิงอลิซ            แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อโครงเรื่องถูกออกแบบให้เป็นละครแนวรักโรแมนติก ประเด็นเรื่องบทบาทและสถานภาพความแตกต่างของชั้นชนที่ค้ำคอทั้งเจ้าหญิงอลิซและผู้พันดวิน ก็ทำให้เธอและเขาเดินมาถึงทางสองแพร่ง ที่ต้องเลือกว่าจะประสานประโยชน์ของ “หน้าที่” กับ “ความรัก” กันได้อย่างไร            บนทางทั้งสองแพร่งที่ตัวละครกำลังเลือกที่จะขีดเขียน “ลิขิตรัก” ของตนอยู่นั้น ในฉากจบของเรื่อง อลิซเองก็ได้เลือกที่จะสละตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งฮรีสอซ เพื่อหวนกลับมาเล่นบทบาทเป็นภริยานายทหารเรือไทยอย่างผู้พันดวินอีกคำรบหนึ่ง             หาก “หน้าที่” เป็นกฎกติกาที่สังคมกำหนดเอาไว้ และหาก “ความรัก” เป็นปรารถนาและอารมณ์ของมนุษย์แล้ว สำนึกของปัจเจกบุคคลทุกวันนี้ก็น่าจะเชื่อมั่นว่า ทั้ง “หน้าที่” และ “ความรัก” ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปบนเส้นขนาน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากประโยคที่ผู้พันดวินได้กล่าวกับอลิซท่ามกลางภูเขา ท้องฟ้า และผืนน้ำที่เป็นฉากหลังว่า “มันก็ห้าสิบห้าสิบ…ชีวิตอาจจะถูกกำหนดมาส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือ เราก็ต้องเลือกด้วยตัวเราเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 สัมปทานหัวใจ : ในการถือครองกรรมสิทธิ์...ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

แค่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “สัมปทานหัวใจ” ผู้เขียนก็รู้สึกสนเท่ห์ใจยิ่งว่า เมื่อก่อนเวลากล่าวถึงคำว่า “สัมปทาน” เราก็มักจะนึกถึงการที่บุคคลหนึ่งได้สิทธิ์เข้าไปถือครองความเป็นเจ้าของสินทรัพย์สาธารณะบางอย่าง เช่น สัมปทานที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ ฯลฯ แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทุกวันนี้แม้แต่กรรมสิทธิ์ของ “หัวใจ” ก็ยังต้องมีการช่วงชิงเข้าไปยึดมาเป็น “สัมปทาน” ส่วนบุคคลกันด้วย?กับข้อสงสัยดังกล่าวนี้ คงต้องให้นางเอกคุณแม่ลูกหนึ่งอย่าง “รัตตวัลย์” มาขานไขคำตอบ ผ่านช่วงชีวิตที่ต้องยืนอยู่บน “ทางสองแพร่ง” ระหว่าง “ปารเมศ” ผู้เป็นสามีที่หวังสมบัติและสามารถวางแผนสั่งฆ่าภรรยาได้ กับ “นาบุญ” พระเอกหนุ่มใหญ่เจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะ ที่ได้ช่วยชีวิตของเธอเอาไว้จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากการที่รัตตวัลย์กับเด็กน้อย “มันปู” บุตรชาย ต้องหนีการตามฆ่าตามใบสั่งของสามี จนพลัดมาติดอยู่บนเกาะถ้ำ ซึ่งนาบุญหรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่า “นายหัว” เป็นผู้ถือครองสัมปทานการทำรังนกบนเกาะดังกล่าวแม้ในช่วงแรกของเรื่อง จะเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากที่ตัวละครนายหัวและรัตตวัลย์ต่างฝ่ายต่างก็มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่หลังจากง้อกันไป งอนกันมา รวมทั้งเชือดเฉือนวาจาคารมกันเป็นระยะๆ ความขัดแย้งไม่ลงรอยก็ค่อยๆ คลี่คลายเป็นความเข้าใจ และแน่นอนว่า ตามสูตรของละครก็ต้องให้พระเอกเจ้าของสัมปทานรังนกได้เข้าไปพิชิตถือครองเป็นเจ้าของ “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์ในท้ายที่สุด ภายใต้การต่อสู้เพื่อช่วงชิง “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์นี่เอง มีฉากหลังที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้และการปรับตัวของกลุ่มทุนในระบบสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ โดยมีคู่ชกหลักก็คือปารเมศและนาบุญ ที่ทั้งเฉือนคมทางธุรกิจและห้ำหั่นกันในเชิงความรักในส่วนของปารเมศนั้น แม้จะเล่นบทบาทเป็นสามีของรัตตวัลย์และเป็นบิดาของน้องมันปู แต่จริงๆ แล้ว เขาก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่ถูกสร้างให้เป็น “สีดำ” และยังแถม “ดำดีสีไม่ตก” ชนิดที่ว่าเป็นด้านมืดของการขูดเลือดขูดเนื้อเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนได้ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมความดีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ปารเมศก็ดูจะเข้าไปข้องเกี่ยวพัวพันกับธุรกิจใต้ดินเหล่านี้แทบทั้งสิ้น แม้จะมีรัตตวัลย์เป็นภรรยาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังมีหญิงอื่นอยู่ข้างกาย และที่สำคัญ เมื่อเป็นหนี้พนันก้อนโต ปารเมศก็พร้อมจะจัดส่ง “พิลาสลักษณ์” ผู้หญิงข้างกายของเขาเพื่อขายเข้าสู่ธุรกิจค้ากามของกลุ่มทุนข้ามชาติอย่าง “มิสเตอร์ลี” หรือแม้แต่ร่วมมือกับชู้รักอย่าง “ทักษิณา” จ้างวานคนมาสั่งฆ่ารัตตวัลย์ เพื่อหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติภรรยามาเป็นของตน ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกับปารเมศนี้ จึงเป็นตัวอย่างของระบอบทุน “สีดำ” ที่ขยายตัวออกไปไม่สิ้นไม่สุด โดยไม่คำนึงว่าการเติบโตดังกล่าวจะต้องแลกด้วยความสูญเสียของใคร หรือจะเอารัดเอาเปรียบผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ อย่างไร ตรงข้ามกับกรณีของนายหัวนาบุญพระเอกหนุ่มเจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะถ้ำ แม้จะมีเป้าหมายบนผลประโยชน์ที่เกิดจากการขูดรีดผู้อื่นเพื่อขยายทุนของตนไม่แตกต่างจากปารเมศ แต่ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกออกแบบไว้ให้มีหน้าตาเป็นประหนึ่งกลุ่มทุนรุ่นใหม่ ที่ดูดีมีอารยะกว่ากลุ่มทุน “สีดำ” ในแบบดั้งเดิมภายใต้ความหมายของคำว่า “สัมปทาน” นั้น อันที่จริงแล้วก็คือ การที่ระบอบทุนได้เข้าไป “ผูกขาด” และถือครองเอาผลประโยชน์ของสาธารณะให้กลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่การยึดครองดังกล่าวก็ได้รับการ “ฟอกขาว” มาเป็นอย่างดี จนดูชอบธรรมหรือแม้แต่อ้างอิงได้ตามระเบียบกฎหมายที่เขียนไว้ด้วยเหตุฉะนี้เอง ในด้านหนึ่ง การเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่กลุ่มทุนได้เข้าไปเบียดบังปัจจัยการผลิตของบรรดาชีวิตนกนางแอ่นตัวน้อยๆ ทั้งหลาย ที่กำลังก่อร่างสร้างรังอยู่ แล้วนายทุนก็พรากเอาผลผลิตรังนกดังกล่าวมาเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลแต่อีกด้านหนึ่ง เพราะเข้าใจตรรกะของการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบหยาดเหงื่อและชีวิตของสัตว์โลก (และรวมไปถึงชีวิตของชนชั้นแรงงานและคนในกลุ่มสังคมอื่นๆ) นาบุญผู้ที่แม้จะเป็นกลุ่มทุนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ผ่านการขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นกลุ่มทุนซึ่งยอมรับได้ หรือเป็นกลุ่มทุน “สีขาว” ซึ่งดูไม่มีพิษมีภัยแต่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไม่ว่าจะเป็นการรู้จักดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องหรือแรงงานในสังกัดแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือเป็นกลุ่มทุนที่ห่างไกลสุราและยาเสพติด แต่สามารถเป็นนายหัวผู้ดื่มนมเย็นได้อย่างไม่ขัดเขิน ไปจนถึงการเป็นตัวแทนของผู้แข็งแรงและถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คอยู่เนืองๆ แต่ลึกๆ นาบุญก็เป็นหนุ่มใหญ่ที่พร้อมจะเอื้ออาทรแก่ “เด็ก สตรี และคนชรา”และที่สำคัญ คู่ขนานไปกับภาพลักษณ์การเป็นหนุ่มใหญ่ผู้อ่อนโยน นาบุญยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนที่แม้จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็เป็นการเอาเปรียบที่ยึดโยงอยู่บนหลักการแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม”ป้ายประกาศกฎของเกาะถ้ำที่ปักข้อความว่า “ห้ามทำร้ายนก ห้ามเก็บไข่นก ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ห้ามตัดต้นไม้ทุกชนิด ห้ามจับแมลงทุกชนิด ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ห้ามฆ่าสัตว์บนเกาะยกเว้นสัตว์ร้าย ห้ามกินรังนก ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด ให้ใช้น้ำจืดและใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด...” และอีกสารพันข้อบังคับที่จารึกเอาไว้นั้น แม้จะอ่านดูแล้วน่าขำขัน แต่ก็สื่อสารเป็นนัยถึงจุดยืนของกลุ่มทุนรุ่นใหม่แบบนี้ได้เป็นอย่างดีกล่าวกันว่า นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบทุนนิยมได้เกิดการปรับตัวกันขนานใหญ่ โฉมหน้าใหม่ของนายทุนไม่ได้เน้นการขูดรีดจนชีวิตแรงงานสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เพื่อจะรักษาเส้นเลือดใหญ่ให้ระบอบดำรงอยู่ได้โดยชอบธรรม หลักการอ้างถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาคล้ายๆ กับสัมปทานรังนกของนายหัวนาบุญที่ผูกขาดการถือครองทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะถ้ำนั้น แม้จะมีเป้าหมายเพื่อธุรกิจเป็นตัวแปรต้น แต่ก็ต้องพ่วงไว้ด้วยแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การตลาดเพื่อสังคม การพัฒนาที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ไปจนถึงการประยุกต์หลักธรรมาภิบาลต่างๆ มาใช้ ความรู้สึกของผู้คนที่จะยินยอมพร้อมใจและอยู่ใต้อาณัติของระบอบทุนดังกล่าวก็จะมีแนวโน้มจีรังยั่งยืนยิ่งขึ้นและด้วยตัวเลือกแบบ “ทางสองแพร่ง” ระหว่างปารเมศกับนาบุญเช่นนี้เอง คำตอบสุดท้ายที่รัตตวัลย์เลือกมอบ “สัมปทานหัวใจ” ให้แก่นายหัวนาบุญ จึงเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนผ่านการครอบครองสิทธิ์ ซึ่งต้องถูกกำกับไว้ด้วยหลักแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่รังนกนางแอ่นบนเกาะเท่านั้น แม้แต่เรื่องของ “หัวใจ” ก็ต้องมอบ “สัมปทาน” เพื่อถือครองบนหลักการดังกล่าวไม่แตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 บุพเพสันนิวาส : ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร ? ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยามประวัติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องราวของจริงซึ่งมีอยู่ในอดีต และถูกบันทึกส่งต่อไว้ผ่านกาลเวลาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ก็มีนักคิดอีกกลุ่มหนึ่งโต้แย้งว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาของคนแต่ยุคที่มีต่ออดีตของตนเอง แต่ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเป็นการบันทึกเรื่องราว หรือเป็นการสนทนากับอดีตของมนุษย์ สิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยตระหนักเป็นคำถามกันก็คือ ใครกันที่มีอำนาจในการบันทึกหรือสนทนาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าให้เราๆ ต้องเรียนรู้หรือรับฟังกันผ่านรุ่นสู่รุ่น ลองย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นนักเรียน และถูกบังคับให้ท่องจำเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ผู้เรียนเองก็แทบจะไม่เคยถามเลยว่า ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยใคร บันทึกไว้ด้วยเหตุผลใด หรือเป็นอำนาจและผลประโยชน์ของผู้ใดที่กำหนดให้เราต้องทั้ง “ท่อง” และ “จำ” เรื่องเล่าเหล่านั้น เพราะหน้าที่ของนักเรียนและเราๆ ก็คือ ผู้จดจำและสืบต่อ หาใช่คนที่จะมีส่วนร่วมในการเขียนหรือสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้นหากบทบาทของคนรุ่นใหม่เริ่มย้ายปีกจาก “ผู้เสพ” มาเป็น “ผู้มีส่วนร่วมสร้าง” ประวัติศาสตร์ไทยกันบ้าง และที่สำคัญ หน้าตาของ “ประวัติศาสตร์ในวันนี้” ที่คนปัจจุบันร่วมขีดเขียน “จะแตกต่างจากวันนั้น” กันอย่างไร คำตอบเฉกเช่นนี้ดูจะปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรตติ้งแรงแซงทางโค้งของบรรดาออเจ้าทั้งหลายอย่าง “บุพเพสันนิวาส” เรื่องนี้นี่เอง หากจะทวนความกันสักเล็กน้อย เหตุแห่งรักข้ามภพข้ามชาติตามท้องเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นั้น เริ่มต้นเมื่อ “เกศสุรางค์” นักศึกษาโบราณคดีรุ่นใหม่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ดวงวิญญาณของเธอสิ้นไปในภพปัจจุบัน และย้อนกลับไปสวมสิงอยู่ในร่างของ “แม่หญิงการะเกด” จนท้ายที่สุดก็พานประสบพบรักกับ “พ่อเดช” หรือ “หมื่นสุนทรเทวา” คู่หมายของแม่หญิงเมื่อราวกว่าสามศตวรรษก่อนหน้านี้  ด้วยเรื่องราวที่มีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นฉากหลัง และด้วยการสร้างตัวละครที่เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่จริงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น “คอนสแตนติน ฟอลคอน” “ท้าวทองกีบม้า มารี กีมาร์” “ออกญาโหราธิบดี” และอีกหลากหลายชีวิตในยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ยืนยันธีมหลักของเรื่องว่า ความรักของชายหญิงแม้จะอยู่ต่างภพชาติ แต่ก็ว่ายวนจนมาพบกันได้ก็ด้วยเพราะอำนาจแห่ง “บุพเพสันนิวาส” แม้จะมีแก่นหลักเป็นรักโรมานซ์และอำนาจของบุพเพที่ขีดกำหนดความรักเอาไว้ แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักโรแมนติกนั้น ดูเหมือนละครได้สอดแทรกมุมมองของคนยุคใหม่ที่มีต่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรังสรรค์ให้มีทั้งด้านที่ “เหมือน” และ “ต่าง” ไปจากที่เราๆ ต่างคุ้นเคยหรือท่องจำกันเพื่อทำข้อสอบส่งคุณครู เพื่อจะฉายให้เห็นจุดยืนของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยว่าเป็นเช่นเฉกใด ละครจึงสร้างโลกเสมือนจำลองภาพกรุงศรีอยุธยากันขึ้นมาเสียใหม่ โดยมี “มนต์กฤษณะกาลี” กลายเป็นช่องทางที่ชักนำให้เกศสุรางค์ได้เดินทางข้ามภพชาติมาพานพบรักกับหมื่นสุนทรเทวา พร้อมๆ กับพบพานหน้าประวัติศาสตร์เสมือนที่ตนได้เข้าไปร่วมขีดเขียนเรื่องเล่าดังกล่าวเอาไว้ ลำดับแรก หากประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาที่คนแต่ละยุคมีต่ออดีตของตนเองแล้ว เกศสุรางค์ก็จัดการแปลงความทรงจำในอดีตให้กลายเป็นเรื่องราวที่หวือหวาแปลกตา ดังประโยคที่เธออุทานขึ้นพลันที่รู้ตัวว่าได้ย้อนยุคไปในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “สิ่งมหัศจรรย์อย่างนี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องฝันของคนเขียนนิยาย มันคือทวิภพหรือคะเนี่ย...มันโคตรจริงเลยโว้ย!!!” หลังจากนั้น อากัปกิริยาต่างๆ ที่เกศสุรางค์ได้แสดงออกมาให้ตัวละครโดยรอบได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการปั้นหน้าเป็นคุณกิ๊กสุวัจนีตำนานนางร้ายในโลกร่วมสมัย การสอนบ่าวอย่าง “ผิน” และ “แย้ม” ให้ทำมือเป็นท่า “โอเค” การเล่นโยคะเพื่อให้ร่างฟิตแอนด์เฟิร์มจนเล่นเอาหมื่นสุนทรเทวาถึงกับตกใจ  การไปเวจเพื่อทำธุระส่วนตัวหรือขี่ม้าในวันนั้นของเดือน การออกท่าเชียร์ลีดเดอร์ให้กับฝีพายเรือแข่ง การประดิษฐ์สารพันเมนูอาหารตั้งแต่กุ้งเผาจิ้มน้ำจิ้มรสเด็ด หมูกระทะ หรือมะม่วงน้ำปลาหวาน ไปจนถึงอาการตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ในอดีตที่ได้เห็นกับตาจริงๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่า คนรุ่นเราๆ มองอดีตด้วยมุมมองที่ตื่นเต้นตื่นตากันเพียงไร ลำดับถัดมา เพราะเกิดในยุคที่ธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างออกไป เกศสุรางค์จึงมีอีกด้านที่รู้สึกลึกๆ ว่า กับวิถีปฏิบัติของคนยุคก่อน “มันโบราณ มันออกจะโบราณ มันไม่เป็นรุ่นใหม่...” แบบเดียวกับที่เธอมักพูดจากระทบกระเทียบค่านิยมบางเรื่องของคนพระนครยุคนั้นว่า “เชย” บ้าง หรือเป็น “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” บ้าง ทั้งนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ในสังคมยุคประชาธิปไตยผู้ยึดมั่นในหลัก “สิทธิมนุษยชน” ด้วยแล้ว เกศสุรางค์จึงเห็นว่า “ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน...” ไม่ว่าจะเป็นภาพการลงโทษโบยตีทาสในเรือน ไปจนถึงกฎมณเฑียรบาลที่ลงทัณฑ์ผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ถูกนางเอกของเรานิยามไปแล้วว่า ช่างละเมิดต่อสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์และอยุติธรรมต่อสิทธิของสตรีชนเสียนี่กระไร และที่สำคัญ แม้ฉากหลังของเรื่องละครจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ในยุคที่สยามประเทศเผชิญกับพายุแห่งจักรวรรดินิยมตะวันตกระลอกแรกๆ แต่ในทัศนะของคนรุ่นใหม่ เกศสุรางค์ก็เล่นบทบาทเพียงแค่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองของยุคสมัยนั้น (แม้จริงๆ เธอจะรู้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตัวละครทั้งหลายในอนาคตก็ตาม)  เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ คนรุ่นใหม่ก็จัดการปรับมุมมองเสียใหม่และทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นตำนานบุพเพและรักโรมานซ์กันไปเสียเลย  ทั้งฉากพลอดรักของพระนางท่ามกลางแสงจันทร์ ฉากสบตาและเดินเที่ยวงานวัดเป็นคู่ๆ ของตัวละคร ฉากแอบมองกันและกันผ่านช่องหน้าต่างพร้อมเสียงดนตรีหวานๆ ที่เปิดคลอประหนึ่งมิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงฉากจุมพิตในที่สาธารณะที่เล่นเอาสะท้านกันไปทั้งพระนคร ประวัติศาสตร์การเมืองของอดีตจึงสามารถ “มุ้งมิ้ง” และ “ฟรุ้งฟริ้ง” ไปด้วยโลกทัศน์แบบรักโรแมนติกของคนยุคปัจจุบัน ในท้ายที่สุด แม้ “บุพเพสันนิวาส” จะทำให้เกศสุรางค์และหมื่นสุนทรเทวาได้ข้ามมาพบรักครองคู่กัน แต่ก็เป็นเพราะ “บุพเพสันนิวาส” อีกเช่นกัน ที่ทำให้ภาพแห่งอดีตของสังคมไทยได้ถูกรื้อถอนและรื้อสร้างให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ในโฉมหน้าใหม่แบบ “มุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง” หรือเป็นแบบที่คนยุคนี้ต้องการสนทนาเล่าสู่กันฟังว่า “ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น” เพื่อที่ “รักของเราจะทันสมัย”

อ่านเพิ่มเติม >