ฉบับที่ 236 เมียอาชีพ : อย่าลืมกรอกใบสมัครก่อนเข้างานด้วยนะ

                       เพียงเห็นแค่ชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ “เมียอาชีพ” ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจขึ้นโดยพลันว่า บทบาทความเป็น “เมีย” ในยุคสมัยนี้ ได้เขยิบจากพื้นที่ของครัวเรือน กลายมาเป็น “งานอาชีพ” อีกแขนงหนึ่งของบรรดาคุณผู้หญิงทั้งหลายไปเสียแล้วเหรอ ???        เมื่อพูดถึงคำว่า “งาน” แล้ว สังคมไทยค่อนข้างกำหนดนิยามความหมายของ “งาน” เอาไว้กลางๆ และกว้างๆ ตั้งแต่ความเป็นงานที่ดูจริงจังและเป็นความจำเป็นในชีวิต ดังเช่นบรรดาภาระงานหรือหน้าที่การงานต่างๆ ไปจนถึงความเป็นงานที่ดูไม่ขึงขังไม่จริงจัง หากแต่บันเทิงเริงรมย์กันอีกต่างหาก อย่างงานอดิเรก งานปาร์ตี้ หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลอง         แต่หากกล่าวจำเพาะมาที่ “งานอาชีพ” ด้วยแล้ว ก็น่าจะหมายถึงภาระงานที่ผู้คนประกอบขึ้นเป็นสัมมาอาชีวะ เช่น งานทำไร่ทำนา งานราชการ งานอาชีพค้าขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรายรับ รายได้ หรือเงินเดือน         ดังนั้น เมื่อตัวละครอย่าง “ชลลดา” หรือ “ดาว” ได้ก้าวย่างจากความเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มาสวมบทบาทเป็น “เมีย” และยังต้องเป็น “เมียแบบมืออาชีพ” ด้วยแล้ว บทบาทที่ทับซ้อนในความเป็น “เมียอาชีพ” ของดาว จึงก่อให้เกิดภาพความหมายที่ทั้งเหมือนและผิดแผกไปจากภาพของเมียในแบบที่ผู้คนคุ้นเคยหรือรับรู้กันมาก่อน        ชะตากรรมของดาวเริ่มต้นจากที่เธอเป็นพริตตี้รับงานอีเวนท์โน่นนี่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่เมื่อ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา เกิดป่วยหนัก และต้องใช้เงินเป็นแสนเพื่อรักษา ดาวจึงตัดสินใจไปกู้หนี้จาก “มิสเตอร์โรเบิร์ต” โดยมีเงื่อนไขว่า เธอต้องเซ็นสัญญากู้ยืมกับบริษัทเดอะแพลนของเขา        ทว่า เงื่อนไขดังกล่าวกลับทำให้ดาวต้องตกอยู่ในหนี้สัญญาทาสที่ผูกมัดเธอให้ทำในสิ่งที่ไม่ปรารถนา คือการกลายมาเป็นสินค้าในโครงการ “Perfect Wife” ของเดอะแพลน ที่จัดหาสินค้าภรรยาผู้สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้าระดับซูเปอร์วีไอพี ตามสโลแกน “perfect match, perfect wife”        จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกหนุ่มหล่อ “กษิดิศ” ไฮโซเศรษฐีทายาทผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ Way Ex ได้มาพบปะเจอะเจอกับดาวโดยบังเอิญ แล้วกลายเป็นตกหลุมรักเมื่อแรกเห็น เขาจึงเชื้อเชิญให้ดาวมาทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัว โดยในช่วงแรกกษิดิศหารู้ไม่ว่า เขาเองก็คือเป้าหมายหลักของเดอะแพลนที่ส่งดาวมาลวงล่อให้เขารับเธอเป็น “เมียอาชีพ” เพื่อผลประโยชน์ในเม็ดเงินมหาศาลของบริษัทเดอะแพลน         เพราะด้วยชีวิตที่ “ปากก็ต้องกัด ตีนก็ต้องถีบ” แม้ดาวจะไม่ได้ปลื้มปริ่มกับการที่ต้องมาหลอกลวงกษิดิศให้ตกหลุมพรางของมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ตามสูตรสำเร็จของเรื่องเล่าแนวนี้ ยิ่งรู้สึกผิดเธอก็ยิ่งตกหลุมรักเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งเมื่อต้องทำเพื่อเงิน แต่ความเป็น “เมียอาชีพ” ก็ทำให้ดาวต้องสวมบทบาทในวิชาชีพแห่งความเป็นเมียที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเช่นกัน         แม้ในภายหลัง กษิดิศที่ล่วงรู้ถึงความลับ และยินยอมจ่ายค่าตัวของดาวให้กับมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ด้วยความเป็น “เมียรับจ้าง” ที่เป็น “มืออาชีพ” ดาวก็ต้องบริหารจัดการควบคู่กันไปทั้ง “งานหลวงที่ต้องมิให้ตกขาด” และ “งานราษฎร์ที่ต้องมิให้บกพร่อง” เพราะนับจากวันที่เขาเสียเงินแลกซื้ออิสรภาพให้กับ “เมียอาชีพ” นั้น ดาวก็ต้องทำหน้าที่ภรรยาให้สมกับที่กษิดิศได้กล่าวว่า “ผมซื้อคุณแล้ว คุณก็เป็นของผม”        ในส่วนของ “งานหลวง” ที่เป็นภาระงานนอกบ้านนั้น ดาวก็ต้องเผชิญหน้ากับ “เมตตา” เลขานุการคนเก่าที่วันๆ ก็ต้องคอยเขม่นหาเรื่องดาวที่จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงาน หรือแม้แต่ต้องปะทะต่อกรกับ “จารุณี” อาสะใภ้ของกษิดิศ ที่เบื้องลึกก็หวังจะฮุบกิจการของ Way Ex มาไว้ในมือของเธอ         และเมื่อจารุณีสืบความจริงได้ว่า สถานะของดาวเป็นเพียง “เมียอาชีพรับจ้าง” ของกษิดิศ เธอก็คอยตามรังควานหยามเหยียดฐานะที่ต่ำกว่าของดาว แต่เพราะมนุษย์ก็มีสองมือไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งเมื่อถูกจารุณีตบหน้า และดูถูกว่าเธอเป็น “ผู้หญิงชั้นต่ำ” ดาวก็ตบหน้าอาสะใภ้ของสามีกลับ พร้อมกับพูดให้บทเรียนที่แสบสันว่า “จะสูงจะต่ำ ถูกตบมันก็เจ็บเหมือนกัน”        จนถึงตอนท้ายของเรื่อง ความเป็น “มืออาชีพ” ของดาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นเลขานุการมือใหม่ แต่ความสามารถที่เท่าทันเกมก็ทำให้เธอสืบจนพบว่า จารุณีวางแผนโกงบริษัท Way Ex ของกษิดิศ พร้อมๆ กับช่วยกอบกู้เครดิตภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของลงบริษัทให้กลับมาดูดีในสายตาของบอร์ดบริหารทุกคน        ส่วนพันธกิจ “งานราษฎร์” ของความเป็นภรรยานั้น “เมียอาชีพ” อย่างดาวก็สามารถดูแลภาระหน้าที่ตามบรรทัดฐานแห่งความเป็นเมียได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ        ถึงแม้จะเป็นเพียง “เมียรับจ้าง” แต่ในความเป็นเมียนั้น ดาวก็มี job description ที่ต้องปรนนิบัติพัดวีคุณสามี เธอเริ่มลงมือไปเข้าคอร์สเรียนทำอาหารทำขนมเพื่อเสริมเสน่ห์ปลายจวัก ทุกเช้าต้องดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนที่เขาจะไปทำงาน รวมไปถึงการดูแลเรื่องบนเตียงมิให้ขาดตกบกพร่อง แบบที่ละครเองก็เลือกฉายภาพฉากฟินๆ ของคู่พระนางให้ผู้ชมได้รื่นรมย์ชมชื่นอยู่เป็นระยะๆ        แม้ในชีวิตคู่จะมีบททดสอบจากทั้ง “แอนนา” ศัตรูหัวใจของดาวที่แอบหลงรักกษิดิศนานมาแล้ว หรือจะมีผู้ชายดีๆ อย่าง “มหานที” เจ้าของบริษัทคู่แข่งของกษิดิศ เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในชีวิตของดาว แต่บรรทัดฐานที่ “เมียอาชีพ” พึงยึดถือก็ต้องรักเดียวใจเดียว เคียงข้างและซื่อสัตย์กับสามีผู้แม้จะมีอีกสถานะที่เป็นนายจ้างของเธอก็ตาม         ถึงที่สุดแล้ว แม้ตัวละครอย่างดาวจะทำให้เราเห็นว่า บทบาทของความเป็นเมียได้เขยิบปริมณฑลจากพื้นที่ของครัว มาเป็นเมียที่กรอกใบสมัครเข้าทำงานเป็นอาชีพ แถมมีรายได้รายรับพ่วงติดมาด้วยเฉกเช่นแวดวงอาชีพอื่นๆ ก็ตาม แต่เพราะความเป็น “เมียอาชีพ” นั่นเอง เธอก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่า “เมียสมัครเล่น” ที่รับรู้กันโดยทั่วไป        เมื่อดูละครจบลง คำถามที่ชวนฉงนใจยิ่งก็อยู่ที่ว่า แม้จะก้าวเข้าสู่สถานะของ “เมียอาชีพ” กันแล้ว นอกจากผู้หญิงพึงต้องรู้จักบริหาร “ความเป็นเมีย” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามภาระงานที่ระบุไว้ แต่ในอีกฟากหนึ่ง การดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งภรรยาที่ซื่อสัตย์แสนดีโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ก็ยังเป็นคำตอบให้ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ก้าวข้ามจาก “เมียสมัครเล่น” เป็น “เมียอาชีพ” ก่อนจะกลายเป็น “เมียที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” ตามจารีตปฏิบัติที่สังคมยึดถือและต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 พยากรณ์ซ่อนรัก : มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน...

        “ความลับ” ก็คือ เรื่องบางเรื่องที่ไม่เล่าไม่บอกออกไปสู่สาธารณะ หรือเป็นความจริงที่มิอาจเปิดเผยได้ แต่จริงๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ความลับเองมักพ่วงพามาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของบุคคลผู้เป็นเจ้าของแห่งความลับนั้นๆ ด้วยเหตุฉะนี้ หากใครก็ตามสามารถเข้าไปสัมผัสล่วงรู้ความลับของบุคคลอื่น ก็อาจหมายถึงการเข้าไปละเมิดล่วงยังพรมแดนแห่งอำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลนั้นเช่นกัน         ละครโทรทัศน์เรื่อง “พยากรณ์ซ่อนรัก” เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการตั้งข้อถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งปัจเจกบุคคล         โครงเรื่องหลักของละครดำเนินไปบนตรรกะพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความลับ” อันสะท้อนนัยทางสังคมว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างคนเรานั้น มีลักษณะเหมือนเป็น “เหรียญสองด้าน” ที่พลิกไปมาระหว่างด้านแห่งความเป็น “หน้าฉาก” กับอีกด้านที่เป็น “หลังฉาก”          ในขณะที่ “หน้าฉาก” หรือเสี้ยวส่วนที่คนเรายินยอมเผยให้คนอื่นสัมผัสได้ เพราะเราเองก็มีอำนาจกำหนดเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ “หลังฉาก” ก็คือ ส่วนเสี้ยวที่ความลับถูกซุกซ่อนเก็บไว้ โดยที่เรามิปรารถนาจะให้ใครอื่นมากล้ำกรายสัมผัสถึง         และเพราะความลับเป็นสิ่งที่ปกปิดอำพรางไว้หลังฉากของชีวิตสามัญชนคนทั่วไป เมื่อ “โรสิตา” หรือ “โรส” นางเอกสาวผู้สืบทอดศาสตร์แห่งการพยากรณ์ มีความสามารถเข้าไปล่วงรู้ความลับของบุคคลที่สามอื่นๆ ทำให้เธอต้องเผชิญกับด้านมืดแห่งการเก็บงำความลับที่ใครต่อใครพากันซ่อนเร้นเอาไว้         เนื่องจากศาสตร์แห่งการพยากรณ์ถือเป็นองค์ความรู้ที่ให้คำตอบในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่อาจพิสูจน์ได้ และยังเป็นศาสตร์ที่แตกสายพันธุ์ออกไปได้มากมายหลายประเภท ละครก็เลยเลือกสร้างให้โรสเป็นเทพธิดาพยากรณ์แห่ง “กุพชกศาสตร์” หรือผู้มีความสามารถสื่อสารกับดอกกุหลาบ และใช้ดอกกุหลาบทำนายความลับแห่งโชคชะตาของมนุษย์ได้ ด้วยตรรกะที่โรสได้กล่าวเอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรในโลกที่กุหลาบไม่รู้ อยู่ที่ว่ากุหลาบจะบอกเราหรือเปล่า”         ละครเริ่มต้นเรื่องด้วยฉากงานวันเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของ “พัสสิตา” ที่เชิญโรสให้มาร่วมทำนายดวงชะตาให้กับผู้มีเกียรติในแวดวงชนชั้นนำหลายคนที่ร่วมอยู่ในงาน         ในขณะที่ปุถุชนคนทั่วไปต่างก็มี “ความลับที่ฉันซ่อนไว้ ไม่เคยบอกใคร จนอดใจไม่ไหว” อยู่นั้น ยิ่งหากเป็นกลุ่มคนชั้นนำของสังคมด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้ยิ่งจะ “มีความลับที่อยู่ในใจ เป็นความลับที่อยู่ข้างใน” และ “เป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้” ทับทวีคูณขึ้นไปอีก         ดังนั้น หลังจากที่โรสเข้าไปพยากรณ์การเลือกดอกกุหลาบ และเข้าไปล่วงรู้บางส่วนแห่งโชคชะตาทั้งในอดีตและในอนาคตของบรรดาเซเลบริตี้หลายคน ชีวิตของโรสก็เลยตกอยู่ในอันตราย เพราะความลับในชะตากรรมของคนชั้นนำเหล่านี้ต่างสัมพันธ์กับผลประโยชน์อันมากมายมหาศาลของพวกเธอและเขา         เริ่มต้นจาก “ไลลา” สาวนักเรียนนอกผู้กลายมาเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก ที่ต้องปกปิดความลับแห่งตัวตนและอัตลักษณ์ว่า อดีตของเธอก็คือ “อีกลอย” สาวอีสานบ้านนอกที่เคยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ และชุบตัวเองได้ดิบได้ดีจนมาเป็นเจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ดัง         คนที่สองคือ “นันทวดี” ภรรยาของ “นายพลวัฒนา” ที่อดีตเคยผลักพี่สาวตกน้ำจนเสียชีวิต เพื่อจะได้ครอบครองหัวใจของท่านนายพลไว้เพียงผู้เดียว ความลับที่อาจถูกเผยออกมาของเธอจึงเกี่ยวพันกับสถานะครอบครัวและชีวิตคู่ที่ช่างไม่มั่นคงแต่อย่างใด         คนถัดมาคือ “รินรดี” ดาราสาวที่หน้าฉากสวมบทบาทเป็นนางเอกที่แสนดี เก่งกล้า มีความสามารถรอบตัว แต่อีกฝั่งฟากหนึ่ง เธอก็มีหลังฉากเป็นอนุภรรยาเก็บของ “ธนพล” สามีนักธุรกิจของพัสสิตาซึ่งเป็นผู้จัดงานเปิดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ครั้งนี้ หน้าฉากและหลังฉากที่เสมือน “คนละโลก” ดังกล่าว แน่นอนย่อมมีผลต่อชื่อเสียงและความมั่นคงทางอาชีพในแวดวงบันเทิงของเธอ         อีกคนหนึ่งก็คือ “วุฒิกร” นักการเมืองระดับรัฐมนตรี ที่แม้ฉากหน้าจะดูเป็นคนที่ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แต่เบื้องหลังกลับกลายเป็นชายโฉดที่ใช้มูลนิธิบ้านสงเคราะห์เยาวชนเป็นแหล่งหาเด็กผู้หญิงมาปรนเปรอทางเพศ ความลับเรื่องการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กหญิงที่อาจถูกเผยออกมา ก็ย่อมทำให้อำนาจและตำแหน่งทางการเมืองของเขาสั่นคลอนได้         และคนสุดท้ายก็คือธนพล นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพื่อผลประโยชน์แล้ว เขาสามารถทำทุกอย่างได้ ตั้งแต่หลอกลวงภรรยา ไปจนถึงลอบฆ่า “ครูสมปอง” ผู้ที่ล่วงรู้ความลับว่า นายทุนใหญ่รายนี้คอยเป็นนายหน้าจัดส่งเด็กผู้หญิงป้อนบำเรอกามารมณ์ของรัฐมนตรีวุฒิกร เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนทางธุรกิจของตน         ตัวละครในกลุ่มคนชั้นนำมากมาย ต่างก็มีความลับที่สัมพันธ์กับอำนาจและผลประโยชน์ เพราะกว่าที่พวกเธอและเขาจะขึ้นมามีฐานะทางเศรษฐกิจและทุนสัญลักษณ์ชื่อเสียงหน้าตา หน้าตักของคนกลุ่มนี้ก็สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อโรสมีนิมิตหยั่งรู้ความลับที่ปกปิดไว้ ก็เท่ากับไปสร้างแรงกระเทือนต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ที่วางแผนไล่ล่าเพื่อปิดปากนางเอกของเราในทุกวิถีทาง        และที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่โรสเข้าไปสัมผัสรู้ชะตาชีวิตของผู้อื่น แต่อีกด้านหนึ่ง แม้แต่ตัวเธอเองก็มีความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อ “ธีรุตม์” พระเอกของเรื่องเลือกหยิบดอกกุหลาบมาให้โรสเสี่ยงทาย โรสก็ไม่เพียงแต่ได้เห็นชะตาชีวิตของเขา หากยังสัมผัสถึงความลับแห่งอนาคตที่ชายหนุ่มผู้นี้ได้ถูกลิขิตให้กลายมาเป็นคู่ชีวิตของเธอในฉากจบ         ในขณะที่แก่นแกนของละคร “พยากรณ์ซ่อนรัก” ดูจะยืนยันในประโยคที่ตัวละครทั้งหลายต่างพูดย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า “ไม่มีใครหนีโชคชะตาพ้น แม้แต่กับคนทำนายโชคชะตา” และบทบาทของผู้พยากรณ์ดวงชะตาก็ต้องยืนอยู่บนหลักการที่ว่า “คนเราเปลี่ยนแปลงโชคชะตาไม่ได้ แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้” แต่คู่ขนานกันไปกับความคิดดังกล่าว ละครก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความลับที่ไม่ลับช่างมีความหมายบางอย่างแฝงฝังอยู่มากมาย         อันที่จริง คนไทยสมัยก่อนเคยให้คำตอบเรื่องความลับเอาไว้ว่า “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด” หรือ “หากน้ำลดเดี๋ยวตอก็จะผุดขึ้นมาเอง” เพราะ “ความลับย่อมไม่มีในโลก” แต่ถึงที่สุดแล้ว ตราบใดที่ความลับของบุคคลมีผลประโยชน์กำกับเอาไว้เป็นเบื้องหลัง ตราบนั้นเจ้าของความลับที่ยิ่งเป็นคนชั้นนำที่อยู่ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความลับ อำนาจ และผลประโยชน์แห่งตนเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 อุ้มรักเกมลวง : มดลูกในความคาดหวังของสังคม

        ตามความเข้าใจของคนเรา มดลูกก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี และเป็นปัจจัยการผลิตที่ก่อกำเนิดทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ๆ มาทำหน้าที่สืบต่อระบบสังคมออกไป แต่แม้มดลูกจะเป็นอวัยวะที่ดูหลบเร้นในหลืบลึกของร่างกายผู้หญิง ก็ใช่ว่าพื้นที่อันลึกลับในร่างกายนี้ จะปลอดซึ่งอำนาจและความคาดหวังของสังคม        พลันที่มนุษย์เราถือกำเนิดชีวิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ สังคมก็เริ่มต้นกำหนดความคาดหวังเอาไว้เหนือปัจเจกบุคคลโดยทันที โดยเข้าไปกำกับไว้ซึ่งความคิด พฤติกรรม การกระทำ จนถึงจิตใจและองคาพยพทุกส่วนในร่างกายของคนเรา         ไม่ต่างจากการผูกปมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อุ้มรักเกมลวง” ที่พันผูกให้ชีวิตตัวละครได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลแห่งความคาดหวังของสังคมที่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยพล็อตเรื่องราวย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นของนางเอกสาว “กชมน” หรือ “เกี้ยว” ผู้กำกับละครเวทีนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นเรื่องได้บอกเลิก “สิบทิศ” แฟนหนุ่มที่คบหากันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และทั้งคู่ก็ห่างหายร้างราจากกันไป         จากนั้นสิบห้าปีให้หลัง กชมนได้กลายมาเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาและละครซีรีส์ และเป็นเจ้าของสมญา “ป้ามั่น” แม้เธอจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในอาชีพการงาน แต่ฝันร้ายของการบอกเลิกรากับสิบทิศก็ยังคอยตามหลอกหลอนกชมนอยู่ตลอดเวลา         ในขณะที่สิบทิศได้แต่งงานกับ “ปิ่นปัก” ผู้หญิงทำงานที่ตั้งใจลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยาอย่างเต็มตัว กชมนกลับยังครองตัวเป็นโสดในวัยที่ตัวเลขอายุเริ่มมากขึ้น โดยมีก็แต่ “เพียงพันแสง” เพื่อนเกย์หนุ่มคนสนิทที่คอยปรับทุกข์ระหว่างกัน ไม่ต่างจากเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ยืนอยู่เคียงข้างเธอ         บนเส้นทางที่เดินหน้าโลดแล่นไปของชีวิตตัวละครนั้น ละครก็ได้วางพล็อตให้บุคคลทั้งสี่คนมีเหตุให้ต้องโคจรมาร่วมชะตากรรมหลักเดียวกันของเรื่อง ที่ตัวละครต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้องบางอย่างของสังคม โดยเริ่มต้นจากสิบทิศและปิ่นปักที่แม้จะแต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว แต่สังคมก็ยังคงกำกับความคาดหวังต่อไปอีกว่า ชีวิตครอบครัวที่จะสมบูรณ์ได้ต้องกอปรด้วยความสัมพันธ์ที่ครบแบบ “พ่อแม่ลูก” เท่านั้น         ส่วนเกย์หนุ่มอย่างเพียงพันแสงก็เช่นกัน เขามีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของบิดาว่า การเป็นบุตรชายคนเดียวนั้น มีภาระหน้าที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงสักคนเพื่อมีทายาทไว้สืบสกุล ดังนั้น ไม่เพียงแต่เขาจะต้องปกปิดความลับเรื่องเพศวิถีต่อบุพการีแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาก็ได้วางแผนยื่นข้อเสนอต่อกชมนให้รับเป็น “แม่อุ้มบุญ” และเป็นภรรยากำมะลอ เพื่อสนองความคาดหวังที่มาจากคนรอบข้าง        และแน่นอน สำหรับกชมนที่ตัวเลขอายุเฉียดใกล้เลขสี่เข้าไปนั้น การตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นแม่อุ้มบุญให้เพื่อนเกย์ ก็เพียงเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว ก็ควรจะมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นก็ต้องก้าวเท้าเข้าไปใช้ชีวิตใน “คานทองนิเวศน์” อยู่อย่างเดียวดาย         แม้ในบทบาทของผู้กำกับละครหญิง กชมนอาจมีอำนาจเขียนบทและกำกับโชคชะตาของตัวละครที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาได้ แต่กับชีวิตจริงนั้น ความรักและชีวิตคู่หาใช่สิ่งที่มนุษย์เราจะมีอำนาจจับมาออกแบบวางเรียงได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์         จากความคาดหวังของสังคมที่เข้ามากำกับอยู่นั้น ตัวละครทั้งหมดได้ใช้การทำกิฟต์เป็นคำตอบ และด้วยการตัดสินใจใช้วิธีปฏิสนธิเทียมเช่นนี้เอง ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครทั้งสี่ได้ช่วยสืบต่อลมหายใจให้สังคมดำรงและดำเนินต่อไปได้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ตัวแทนของสถาบันสังคมอย่างการแพทย์สมัยใหม่ ได้เข้ามามีอำนาจกำกับควบคุมความคิด การกระทำ ไปจนถึงแม้แต่อวัยวะที่เรียกว่ามดลูกของผู้หญิง         หลังจากที่ตัวละครเลือกยินยอมให้อำนาจและความคาดหวังของสังคมเข้ามากำกับชีวิตของปัจเจก บททดสอบใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดย “เอมิกา” ซึ่งแค้นใจที่กชมนวางแผนล่มงานวิวาห์ของเธอกับ “ฌาน” จนพังไม่เป็นท่า จึงได้วางแผนสลับตัวอ่อนผสมเทียมกันในครรภ์ของกชมนกับปิ่นปัก         บททดสอบใหม่ดังกล่าวก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งตัวอ่อน การตั้งครรภ์ และปฏิบัติการทั้งหลายของการปฏิสนธิในมดลูกของผู้หญิง ไม่เคยที่จะปลอดซึ่งอำนาจที่สังคมจะเข้าไปกำกับบงการได้เลย         จะด้วยเหตุผลที่ต้องการแกล้งคนรักเก่าอย่างสิบทิศ หรือหมั่นไส้ปิ่นปักที่ร่ำร้องให้เธอช่วยดูแลตัวอ่อนของลูกที่สลับอยู่ในครรภ์เป็นอย่างดี แต่ที่แน่ๆ ในจิตใจลึกๆ แล้ว เพราะกชมนเองก็เชื่อว่า สิทธิในร่างกายและมดลูกของเธอ เธอเองก็น่าที่จะมีอำนาจเข้าไปกำหนด เราจึงเห็นภาพปฏิบัติการแห่ง “อนารยะขัดขืน” ที่กชมนลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมที่มีต่อร่างกายของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์         ไม่ว่าจะเป็นการสนุกสนานเฮฮากับการร้องเต้นในวงคาราโอเกะ สวมรองเท้าส้นสูงเดินไปมา ดื่มกาแฟถ้วยแล้วถ้วยเล่า ไปจนถึงกินปูดองและอาหารเสาะท้อง ที่ด้านหนึ่งก็ดูขบขัน แต่อีกด้านก็เพื่อจะยืนยันสิทธิเหนือร่างกายภายใต้ความคาดหวังที่สังคมถาโถมให้ผู้หญิงพึงต้องปฏิบัติตาม โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความคาดหวังนั้นขีดขึ้นเมื่อไร และเขียนขึ้นโดยใคร        ในขณะที่ทุกคนได้รางวัลจากการสมาทานตนต่อความคาดหวังของสังคม เหมือนที่สิบทิศและปิ่นปักก็ได้ทารกแสนน่ารักมาเป็น “โซ่ทองคล้องใจ” หรือเพียงพันแสงที่ได้ลูกชายไว้สืบสายสกุลให้กับบิดา จะมีก็แต่กชมนที่กลับพบว่า การเลือกขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้เธอเองกลายเป็น “คนที่ไม่มีใครเลย” เหมือนกับที่กชมนได้เคยตัดพ้อว่า “ทุกคนมารุมวุ่นวายกับฉัน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการไป ฉันไม่ได้อะไรเลยนะ…”         ตามบทสรุปของละครนั้น คำตอบของปัจเจกบุคคลอาจไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการสมยอมหรือปฏิเสธต่อความคาดหวังของสังคม หากแต่อยู่ที่ว่า ภายใต้อำนาจของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มา “รุมวุ่นวาย” เหนือร่างกายและจิตใจของเรานั้น เราจะรอมชอมหรือต่อรองกับความคาดหวังดังกล่าวได้อย่างไร         ดังนั้น พลันที่หมอหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เจษ” ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับสอนให้กชมนเริ่มรู้สึก “รักตัวเอง” และบอกกับเธอว่า “ขออยู่กินกาแฟด้วยทุกเช้านะ” ในความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ กชมนก็ค้นพบว่า หากความคาดหวังแห่งสังคมเข้ามาล่วงลึกได้ถึงมดลูกในฐานะปัจจัยแห่งการผลิตของสตรี การลงเอยกับสูตินารีแพทย์หนุ่มก็น่าจะย้อนศรให้เธอได้เข้าไปต่อรองกับชายผู้มีความรู้เหนืออวัยวะที่ลึกลับที่สุดในความเป็นเพศหญิง        ประหนึ่งเดียวกับเสียงก้องในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งกชมนพูดขึ้นหลังจากเข้าใจที่จะต่อรองกับพลังแห่งความคาดหวังของสังคมว่า “ก่อนที่ฉันจะเริ่มใหม่ ฉันก็ต้องเชื่อใจในความรักเสียก่อน ฉันต้องวางเรื่องเก่าๆ เอาไว้ ก่อนที่จะวางใจไปกับใครสักคน และฉันก็เพิ่งรู้ว่า เมื่อเราพร้อม เราถึงจะเจอคนที่ใช่...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 อกเกือบหักแอบรักคุณสามี : เพราะผู้หญิง...แซ่บจริงไม่มโน

        ว่ากันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษเพศมักมีเงาของผู้หญิงคอยผลักดันและต่อสู้อยู่ข้างหลังเสมอ และด้วยตรรกะดังกล่าวนี้ ละครโทรทัศน์อย่าง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องเล่ากุ๊กกิ๊กโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกลงไปกว่านั้น ละครได้ให้คำตอบที่น่าขบคิดว่า ผู้หญิงผู้ชายได้จัดวางความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันและกันไว้เช่นไร         โครงเรื่องของละครเริ่มต้นด้วยเสียงก้องในห้วงความคิดของ “เมย” หรือ “นทีริน” นางเอกของเรื่อง ที่สะท้อนทัศนะอันลุ่มลึกแห่งปรัชญาเหตุผลนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเสมอ”          เพราะฉะนั้น การที่เมยได้มาประสบพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “เธียร” หรือ “เธียรวัฒน์” เธอได้ตกหลุมรักเขาตั้งแต่เป็นน้องรหัสสมัยเรียนมัธยม ได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็น “น้องสาวนอกไส้” ในบ้านของพี่เธียร จนถึงมีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องลงเอยได้แต่งงานกันกันนั้น ก็หาใช่ด้วย “เหตุบังเอิญ” ในชีวิตไม่ แต่เป็นเพราะด้วย “เหตุผล” บางอย่างที่เข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวต่างหาก         หากคิดตามหลักพุทธศาสนา เหตุผลที่คนสองคนได้มาพบกันและตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ก็มักมาจากเงื่อนไขเรื่องกรรมที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน แต่ทว่าละครหาได้ยืนยันในเหตุแห่งกรรมไม่ หากแต่ใช้คำอธิบายเหตุผลจากการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศมาเป็นแกนหลักมากกว่า         ในสนามรบระหว่างเพศหญิงชายนั้น โดยปกติแล้ว ตัวละครหนุ่มหล่อเลือกได้ มีการศึกษาดี ฐานะร่ำรวย และเลิศเลอเพอร์เฟ็คแบบเธียรวัฒน์ ที่คอยถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คเพื่อ “คืนกำไร” ให้แก่ผู้ชมอยู่เนืองๆ นั้น มักถูกวาดให้เป็นตัวแทนของ “ชายในฝัน” ที่สตรีทั้งหลายมุ่งมาดหมายตาให้มาเป็น “สามีในจินตนาการ”        และเพราะเป็น “สามีในฝัน” เยี่ยงนี้เอง บุรุษเพศที่สมบูรณ์แบบก็มักจะมีอหังการบางอย่างซึ่งเชื่อว่า ตนคือผู้มีอำนาจคุมเกมความสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งมวลให้ “อกเกือบหักที่มาแอบรักเขา” ได้ ยิ่งเมื่อเธียรวัฒน์ดำเนินอาชีพเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว เขาจึงเชื่อมั่นว่า นทีรินก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถกำกับควบคุมชะตาชีวิตได้ เฉกเช่นการจับวางสรรพสิ่งที่อยู่ในงานสถาปนิกออกแบบของเขานั่นเอง         กระนั้นก็ดี ท่ามกลางม่านควันแห่งอคติที่บังตาบุรุษเพศอย่างเธียรวัฒน์อยู่นั้น ละครกลับเผยให้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งในเกมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงเองก็หาใช่จะจำนนสมยอมเสมอไป หากแต่มีสถานะเป็นผู้เดินเกมได้ ทั้งๆ ที่เล่นอยู่บนหมากกระดานเดียวกัน        สำหรับพระเอกหนุ่มแล้ว อย่างน้อยก็มีผู้หญิงสามคนที่เข้ามาร่วมเดินหมากบนกระดาน แถมเป็นกระดานเกมที่เธอๆ เหล่านี้ให้บทเรียนกับเธียรวัฒน์ได้อย่าง “ดุเด็ดเผ็ดแซ่บจริงไม่มโน” กันเลยทีเดียว         “ศจี” มารดาของเธียรวัฒน์ ก็คือ ผู้หญิงคนแรกที่สาธิตให้เห็นการวางกลเกมในการจัดการบุตรชายให้อยู่หมัด เมื่อเธียรวัฒน์พลั้งเผลอไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับ “ญาดา” ภรรยาของ “พลเดช” นักการเมืองผู้มีอิทธิพล จนเขาถูกขู่อาฆาตจะฆ่าให้ตาย คุณศจีจึงเลือกใช้อำนาจบังคับให้บุตรชายของตนแต่งงานเสียกับเมย         ด้วยสถานะของสตรีผู้ให้กำเนิด อำนาจของคุณศจีสามารถบังคับให้เธียรวัฒน์จดทะเบียนสมรสกับเมย ผู้หญิงที่เขาไม่เคยคิดจะผาดตามองในฐานะคนรักมาก่อน แม้พระเอกหนุ่มแอบซ้อนกลวางแผนที่จะหย่าขาดกับเมยในภายหลัง แต่ความชาญฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบุตรชาย คุณศจีก็จัดการกับเขาได้ทุกครั้ง         ผู้หญิงคนถัดมาก็คือ ญาดา ผู้ที่เธียรวัฒน์แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วย ที่ผ่านมาญาดาเองก็ถูกสามีอย่างพลเดชมองว่า เธอเป็นประหนึ่ง “วัตถุสิ่งของ” มากกว่าจะเป็น “มนุษย์” เพศหญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ฉากที่พลเดชกระทำทารุณเหนือทั้งร่างกายและจิตใจของญาดา ก็ส่อให้เห็นทัศนะของผู้ชายบางคนที่เชื่อว่า หลังวันแต่งงาน ผู้หญิงก็มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินภายใต้ปกครองของเขาเท่านั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ การที่ญาดาพยายามเอาชนะเกมพิชิตหัวใจของเธียรวัฒน์ ก็มีนัยแห่ง “สงครามตัวแทน” ที่ผู้หญิงอยากจะกำชัยเหนือบุรุษเพศ แบบเดียวกับที่เธอรำพึงกับตนเองเมื่อเข้าสู่สนามประลองระหว่างเพศว่า “พี่เลือกเล่นเกมนี้แล้ว ยังไงพี่ก็ต้องชนะ และพนันได้เลยว่า ยังไงเธียรก็ต้องแพ้พี่...”        และที่น่าสนใจ เมื่อถึงฉากท้ายของเรื่องที่พลเดชถูก “ปริวัตถ์” พี่ชายของเธียรวัฒน์ ซ้อนแผนตัดปีกตัดหางและสั่งสอนจนปางตาย ญาดาก็เลือกจะใช้สูตร “how to ทิ้ง” เขาไปแบบไร้เยื่อใยไมตรี พร้อมกับเสียงประกาศอิสรภาพของสตรีปรากฏในห้วงคำนึงที่ก้องขึ้นมาว่า “ในวันที่ฉันไม่เหลือใคร คนที่คอยกอดปลอบฉันก็คือตัวฉันเอง ตอนนี้สิ่งที่ฉันทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ กลับมารักตัวเองอีกครั้ง...”         ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร่วมปะทะต่อกรอำนาจกับเธียรวัฒน์ก็คือ นางเอกอย่างเมย แม้เธียรวัฒน์จะรู้จักเมยมานับสิบปี และเชื่อมั่นตลอดว่า เขาสามารถกำกับชีวิตเมยไว้ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เขาชอบสั่งให้เมยทำนั่นทำนี่ แต่ทว่า อีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอก เรากลับเห็นถึงกลยุทธ์ทางอำนาจของเมยที่จะพิชิตหัวใจชายหนุ่มที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเจอ          ในฉากแรกๆ เมยอาจจะดูเป็นเพียงผู้หญิงเปิ่นๆ ที่ไม่เข้าตากรรมการ แต่พลันที่เธอสวมบทบาทเป็นแฮคเกอร์เล่นล่อเอาเถิดหลอกเธียรวัฒน์จนเสียศูนย์บนโลกไซเบอร์สเปซ สถาปนิกหนุ่มที่เคยมองว่า ตนควบคุมบงการหญิงสาวได้ ก็ถึงกับเปรยขึ้นมาว่า “คนที่เราคิดว่ารู้จักมาทั้งชีวิต อาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักเค้าเลย...”         ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป และทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันที่ไซต์งานเมืองทวาย เมยก็ถือโอกาส “ประกาศเจตนารมณ์จีบพี่เธียร” ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำลองฉากโรแมนติกท่องเที่ยวทัวร์รอบพม่า แต่งกลอนเกี้ยวพาชมโฉมสามีหนุ่ม ไปจนถึงใช้สายตาลวนลามให้ชายหนุ่มได้กลายเป็น “วัตถุทางเพศแห่งการจ้องมอง”         ที่สำคัญ การเฉลยความจริงท้ายเรื่องว่า หากนิยายโรมานซ์ทั่วไป ต้องเป็นพระเอกที่ปกป้องชีวิตนางเอกผู้อ่อนแอ แต่ในชีวิตคู่ของเมย กลับเป็นนางเอกต่างหากที่ลุกขึ้นมาเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเอกหนุ่มครั้งแล้วครั้งเล่าได้ไม่แตกต่างกันเลย         อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าแบบโรมานซ์มักจะลงเอยฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า แต่กว่าที่เรื่องเล่าจะดำเนินมาถึงบทสรุปอันสุขสมอารมณ์หมายเช่นนี้ ยุทธการจัดการกับ “สามีในฝัน” อย่างเธียรวัฒน์ คงไม่ใช่เกิดขึ้นบน “เหตุบังเอิญ” แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก “เหตุผล” ที่ผู้หญิงขอมีส่วนร่วมจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งหาใช่การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นอำนาจของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เล่ห์บรรพกาล : ความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรจะหยั่งรู้

        นักคิดบางคนเคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “เวลา” เป็นประหนึ่ง “แอ่ง” หรือ “ภาชนะ” ที่บรรจุไว้ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ นั่นแปลว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ต้องมีเงื่อนไขของเวลาเป็น “ภาชนะ” รองรับกำหนดไว้เสมอ         หากคนไทยมีคำพูดเตือนใจว่า จะทำการอันใดก็ต้องรู้จัก “กาลเทศะ” แล้ว นอกเหนือจากบริบทของ “เทศะ” หรือพื้นที่ เราเองก็ต้องพึงสำเหนียกว่า เรื่องของ “กาละ” หรือเวลา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับความคิดและพฤติกรรมของคนเราด้วยเช่นกัน          ด้วยเหตุที่การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาเช่นนี้ จึงมีความพยายามของคนบางคนที่ต้องการมีอำนาจจะเอาชนะเวลา และความปรารถนาที่จะกำชัยเหนือกาลเวลาดังกล่าวนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในละครแนวดรามาสืบสวนสอบสวนแบบข้ามภพข้ามชาติเรื่อง “เล่ห์บรรพกาล”         ละครเปิดฉากปูเรื่องจากภาพยุคสมัยปัจจุบัน ที่ได้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกลางกรุง และปรากฏอักขระลึกลับโบราณอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนเท่ห์ใจให้กับพระเอกหนุ่ม “เพลิงฟ้า” นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 6 และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มารู้จักพบเจอกับนางเอก “สิตางศุ์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ตัวไหน” อาจารย์สาวนักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง         หลังจากครั้งนั้น ก็เริ่มมีเหตุการณ์ที่ตัวละครใกล้ชิดรอบข้างพระเอกของเราถูกฆ่าตายไปทีละคน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น ยิ่งเพลิงฟ้าสืบสาวคดีไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบว่า เรื่องราวจะต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “อดุล” ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ และ “ปักบุญ” ภรรยาสาวลึกลับที่มีสัมผัสพิเศษกับอดีต         เมื่อตัวละครทั้งสี่คนได้เวียนวนมาบรรจบพบเจอกัน นอกจากละครจะยืนยันให้เห็นวัฏสงสารแห่งกรรมที่ทุกคนเคยร่วมทำกันมาในแต่ละชาติภพ แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้วัฏจักรแห่งกรรมที่ร้อยรัดกันไว้นี้เอง เพลิงฟ้าและปักบุญจึงเป็นสองตัวละครที่สามารถหยั่งรู้มีพลังที่มองเห็นอดีตชาติของตนได้         ความผูกพันของตัวละครสี่คนพันผูกโยงไปราวๆ พันปีก่อน เมื่อเพลิงฟ้าที่ปางก่อนคือ “ท้าวราวิ” แห่งเมืองไวสาลี นักเวทย์หนุ่มผู้มีอาคมแก่กล้าได้มาพบรัก และเลือกเข้าพิธีเสกสมรสกับ “นางพญาศศิณา” แห่งเมืองอรุณา ซึ่งชาติปัจจุบันก็กลับมาเกิดเป็นสิตางศุ์         ความรักของราวิและศศิณาได้ก่อตัวเป็นความแค้นในหัวใจของสตรีอีกนางอย่าง “ทิณสรี” หรือปักบุญในชาติภพปัจจุบัน มิใช่เพราะเธอแอบรักราวิด้วยคิดว่าตนเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติก่อนเท่านั้น แต่เพราะเธอถูกเล่ห์กลลวงของ “ท้าววาร” ที่วางแผนให้ “ความรักอันบังตา” กลายมาเป็นความแค้นชนิดที่ “จะเจ็บจำไปถึงปรโลก” กันเลยทีเดียว        เบื้องหลังของท้าววาร หรือศาสตราจารย์อดุลในปัจจุบันนั้น เป็นผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และเพราะด้วยเป็นผู้ชำนาญในอาถรรพเวท ท้าววารจึงปรารถนาจะสร้างและปลุกเสกเทวรูป “กาลเทพ” ที่ใครก็ตามหากได้ครอบครอง คนผู้นั้นก็จะมีอำนาจรับรู้ทุกห้วงกาลเวลา ที่มิใช่แค่เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากยังควบคุมกาลเวลาของมนุษยชาติได้          เมื่อท้าววารเป็นจุดเริ่มต้นของปมชั่วร้ายแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” และราวิเองก็ตระหนักว่า ความลับแห่งเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจรู้ หรือมิบังควรที่จะล่วงรู้แต่อย่างใด เขาจึงวางแผนขัดขวางพิธีกรรมปลุกเสกองค์กาลเทพ จนสามารถสังหารท้าววาร พร้อมๆ กับสละชีพของตนให้ถูกเพลิงไหม้พร้อมไปกับการฝังความลับของเทวรูปเอาไว้นับเป็นพันปี         แต่เพราะโลภะโทสะโมหะเองก็สามารถข้ามผ่านกาลเวลาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติใหม่ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ราวิและศศิณาจึงได้กลับมาเกิดเป็น “ขุนอุทัยโยธิน” และ “แม่หญิงดวงแข” ผู้ที่ยังคงสืบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องเทวรูปกาลเทพจาก “หมอผีบุญ” และ “บุญเหลือ” ซึ่งก็คือท้าววารและทิณสรี ผู้พกพาความอาฆาตแค้นและปรารถนาอำนาจเหนือกาลเวลา จนได้รีเทิร์นกลับมาพบกันในอีกคำรบหนึ่ง          ดังนั้น เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน ตัวละครได้กลับมาสะสางปมปัญหาและผลประโยชน์ซึ่งขัดแย้งกัน โดยที่ฝั่งหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์ความลับแห่งเวลา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มุ่งมาดจะช่วงชิงการถือครองอำนาจแห่งเวลามาเป็นของตน เรื่องราวก็ค่อยๆ เฉลยออกมาว่า ตัวละครหลากหลายชีวิตที่เข่นฆ่าประหัตประหารกันนั้น ก็สืบเหตุเนื่องมาแต่กิเลสของท้าววารที่ฝักใฝ่ในอำนาจแต่ครั้งบุรพกาลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม หากเราพินิจพิจารณากันดีๆ ชื่อขององค์เทวรูป “กาลเทพ” อันหมายถึงองค์เทพผู้คุ้มครองดูแลกาลเวลานั้น ก็ดูจะพ้องเสียงกับคำว่า “กาฬเทพ” อันอนุมานได้ถึงพระกาฬหรือพญายม เทพเจ้าแห่งความตาย ดังนั้น วิถีแห่งกาลเวลาจึงเป็นประหนึ่งเหรียญสองด้าน ที่แม้จะสร้างสรรค์ แต่ก็พร้อมจะเป็นเพลิงเผาผลาญทำลายล้างจนนำมาซึ่งความตายได้เช่นกัน         และถึงแม้เวลาจะสามารถทำลายล้าง ดุจเดียวกับที่ตัวละครหลายชีวิตต้องพบจุดจบเพื่อเซ่นสังเวยการปลุกเสกพลังขององค์กาลเทพ แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะตระหนักรู้ความน่ากลัวของเวลา แต่กิเลสที่ล้นเกินในอำนาจ ก็ทำให้มนุษย์บางคนยอมสมาทานตนเองเข้าสู่ “ด้านมืด” เพื่อถือครองเอาชนะเวลาให้จงได้         เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งปักบุญผู้อยู่ในสภาพ “เวลาไม่ช่วยอะไรหากใจมันยังฝังจำ” เคยกล่าวถึงการช่วงชิงองค์เทวรูปกาลเทพว่า “ต่อให้เอาสมบัติทั้งโลกมากองรวมกัน มันก็ไม่มีค่าเท่ากับการควบคุมเวลาได้หรอก…”         จนเมื่อเรื่องราวของละครงวดเคี่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ความจริงแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” ก็ได้ถูกเผยออกมาว่า อดุลก็คือตัวการหลักของเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเรื่อง เพราะนอกจากเขาจะเชื่อว่า “คนเราเมื่อลุ่มหลงในอำนาจ ความรักอะไรก็ไม่มีความหมายทั้งสิ้น” แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอีกเช่นกัน ที่ทำให้เขากล้าจะละเมิดความลับแห่งเวลาที่มนุษย์เราไม่ควรจะล่วงรู้ได้         กับฉากท้ายเรื่องที่ร่างของอดุลถูกปักบุญฉุดลากไปทำลายจนมอดไหม้ด้วยฤทธานุภาพขององค์กาลเทพ ก่อนที่เขาจะย้อนเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งครา ก็คงบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า อำนาจที่มนุษย์ฝักใฝ่ลุ่มหลงนั้น ช่างเวียนวนเป็นวัฏฏะที่หาใช่จะสิ้นสุดได้โดยง่าย         และที่สำคัญ เมื่อใดที่ความปรารถนาในอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นคำรบใหม่ เมื่อนั้นสงครามช่วงชิงเพื่อครอบครองความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรรู้ ก็จะปะทุเชื้อไฟขึ้นมาครั้งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทุ่งเสน่หา : ฤๅจะสิ้นสุดยุคชนบทโรมานซ์กันแล้ว?

        ด้วยชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “ทุ่งเสน่หา” ก็ชวนให้ผู้เขียนเข้าใจไปได้ว่า เนื้อหาของละครน่าจะผูกโยงเรื่องราวดื่มด่ำรักโรแมนติกของพระเอกนางเอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องทุ่งบ้านนา         ไม่ต่างไปจากภาพที่เราเคยคุ้นชินกับตัวละคร “พี่คล้าว” และ “น้องทองกวาว” ที่วิ่งพลอดรักครวญเพลงกลางท้องนาว่า “…โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ” ซึ่งปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่สร้างใหม่กันมาแล้วหลายครั้งครา         แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพินิจพิเคราะห์ลงไปในเรื่องราวของ “ทุ่งเสน่หา” แล้ว ชื่อเรื่องอาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแบบรักโรมานซ์ของชนบทในอดีต ทว่าอันที่จริงนั้น แม้จะมีกลิ่นอายของรักโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ละครกลับซุกซ่อนความเป็นจริงบางอย่างที่ดำรงอยู่ในชุมชนชนบทไทยไว้อย่างน่าสนใจ         ย้อนกลับไปราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ด้านหนึ่งเส้นกราฟทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำเริญเติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ทันสมัยก็ต้องแลกมาด้วยการล่มสลายของท้องถิ่นชนบทไทยภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดอาการโหยหา “สวรรค์ที่ห่างหาย” ให้หวนกลับคืนมาสู่สำนึกการรับรู้ของตน แบบที่เห็นๆ กันในละครโทรทัศน์ชนบทโรแมนติกแนว “มนต์รักลูกทุ่ง” นั่นเอง         ก็คงไม่ต่างจากภาพบางส่วนของชุมชนบ้านทุ่งอย่าง “หนองน้ำผึ้ง” ที่เราสัมผัสเห็นจากการช่วงชิงความรักและพิชิตหัวใจหญิงงามของหมู่บ้านอย่าง “ยุพิณ” ระหว่างชายหนุ่มสองคนคือ “ไพฑูรย์” หนุ่มที่เป็นรักแรกปั๊ปปี้เลิฟกับฉากที่เขาว่ายน้ำในบึงกอบัวเพื่อมาพลอดรักกับนางเอกสาว และ “มิ่งขวัญ” อ้ายหนุ่มคนยากไร้ที่ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งครวญบอกความในใจให้กับเธอคนเดียวที่เขาแอบรักมาทั้งชีวิต         แต่กระนั้น ภาพรักโรแมนติกที่เราสัมผัสอยู่หน้าจอ ก็ดูจะเป็นเพียง “หน้าฉาก” หวานชื่น ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวให้เห็นเป็นระยะๆ แบบเดียวกับชื่อละคร “ทุ่งเสน่หา” ทว่า กับโครงเรื่องหลักจริงๆ ของละครกลับหาใช่จะเป็นเล่าเรื่องราวความรักโรมานซ์ของคนชนบทอย่างเดียวไม่         พลันที่ตัวละคร “สำเภา” ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะหญิงวัยกลางคนที่เป็นนายทุนท้องถิ่นรายใหม่ของหมู่บ้านหนองน้ำผึ้ง ละครก็ได้เผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของท้องทุ่งชนบทที่มิได้มีแต่เรื่องราวเสน่หาผูกพันรักใคร่แต่เพียงด้านเดียว        ปมปัญหาใหญ่ของเรื่องน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อผีพนันอย่าง “บุญยืน” พ่อของยุพิณ ได้ลอบไปขโมยควายจากบ้านของสำเภาในกลางดึกคืนหนึ่ง และเพราะควายมีสถานะเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชนบท การขโมยควายจึงไม่ต่างจากการตัดเส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของชาวนากันเลยทีเดียว ในแง่นี้ บุญยืนจึงมีฐานะไม่ต่างจากคนที่แม้จะ “รู้จักรักใคร่” แต่หาใช่จะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ไปพร้อมๆ กัน         แม้ในทางหนึ่ง “คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่” ก็ตาม แต่สำหรับสำเภาแล้ว ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน “บ้านใกล้เรือนเคียง” แบบบุญยืน กลับทำให้ตัวละครหญิงกลางคนคนนี้เริ่มระแวงสายสัมพันธ์กับคนคุ้นเคย จนถึงกับพูดเปรยด้วยความคับแค้นใจว่า “คนบ้านเดียวกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้”         จากนั้นปฏิบัติการแก้เผ็ดแก้แค้นก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในแดนดินถิ่นรักโรแมนติกของชนบทนั้น ก็คลุกเคล้าไว้ด้วย “ความขัดแย้ง” ไม่ต่างจากสังคมถิ่นอื่นทั่วไปนักหรอก         ท่ามกลาง “สวรรค์บ้านทุ่ง” อันดูสวยงามนั้น ปลาตัวใหญ่ก็ยังคอยเลาะเล็มเลือกกินเหยื่อตัวเล็กกว่าเป็นมังสาหารอยู่เป็นอาจิณ เฉกเช่นสำเภาในฐานะปลาใหญ่ก็อาศัยอำนาจบารมีและความมั่งคั่งทางฐานะเศรษฐกิจขูดรีดเอาเปรียบลูกบ้านที่อยู่ในขอบขัณฑ์ของหนองน้ำผึ้งได้ไม่ต่างกัน         เริ่มตั้งแต่การวางแผนเข้ามาจัดการชีวิตลูกชายสองคน โดยพรากยุพิณไปจากลูกชายคนรองเพื่อให้แต่งงานกับ “ไพรวัลย์” บุตรชายคนโตที่ขาพิการเป็นโปลิโอแทน นัยหนึ่งก็เพื่อแก้แค้นบุญยืนที่กล้าหยามศักดิ์ศรีคนบ้านเดียวกัน กับอีกนัยหนึ่งก็หวังจะให้ไพฑูรย์ได้ไปแต่งงานกับ “จันทร” ลูกสาวของ “จำเรียง” เจ้าของโรงสีข้าวที่มีฐานะทางการเงินทัดเทียมกับครอบครัวของสำเภามากกว่า         ในแง่นี้ สถานะทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นตัวแปรที่ใช้จำแนกชนชั้นของคนชนบทออกจากกัน และยังเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทับทวีคูณระหว่างตัวละครแห่งบ้านทุ่งบ้านนาอันแสนเปี่ยมสุข เหมือนกับฉากที่ยุพิณปะทะคารมกับเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรูหัวใจอย่างจันทร ซึ่งลึกๆ แล้วก็คาดหวังจะครอบครองฉกชิงไพฑูรย์ไปจากเธอ         “เจ็บตัวมันยังน้อยกว่าเจ็บใจ ความเจ็บใจที่มีเพื่อนรักทรยศคอยแทงข้างหลง มันคือที่สุดของความเจ็บใจ” และ “คนอย่างมึงไม่มีปัญญาหาผัว ต้องให้แม่เอาเงินมาซื้อ” ก็เป็นคำพูดของยุพิณที่บอกนัยได้ชัดเจนว่า มิตรภาพในหมู่คนชนบทเอง ในบางครั้งก็เป็นเพียงสายสัมพันธ์ที่วางอยู่บนบางเงื่อนไขเช่นกัน         ยิ่งไปกว่านั้น หากพี่คล้าวและน้องทองกวาวเคยใช้ “สวรรค์บ้านทุ่ง” เป็นตัวจักรยึดโยงสำนึกรักบ้านเกิดเอาไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ในฉากชนบทของบ้านหนองน้ำผึ้งนั้น แรงเกาะเกี่ยวดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เพราะตัวละครที่หลากหลายในเรื่องต่างก็มีแนวโน้มจะพร้อมใจละทิ้งท้องทุ่งรวงทอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตในสังคมเมืองที่ดูจะมั่งคั่งมั่นคงกว่า         ไม่ว่าจะเป็นไพฑูรย์ที่ภายหลังจันทรเสียชีวิตลง ก็เลือกจะมาแต่งงานออกเรือนกับ “จันทร” อดีตน้องสะใภ้ เพื่อดูแลกิจการโรงสีข้าวที่ตัวเมืองปากน้ำโพ หรือมิ่งขวัญที่ภายหลังออกจากเกณฑ์ทหารแล้ว ก็เลือกจะลงหลักปักฐานเซ้งตึกเพื่อเปิดร้านข้าวมันไก่สูตรเด็ด ก่อนจะได้มาลงเอยครองรักกับยุพิณ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของบิวตี้ซาลอนชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์         และที่น่าสนใจก็คือตัวละคร “แก้วใจ” เด็กสาวกะโปโลแห่งท้องทุ่งบ้านนา ที่สำเภาเองก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เธอก็พร้อมที่จะ “ไปเป็นนักร้องให้เขาล้วงมันเจ็บในทรวงไม่หาย” หรือแม้แต่เลือกไปแสวงโชคแต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งยังเมืองนอกเมืองนา         ในทางหนึ่งนั้น ละครเองก็พยายามจะยืนยันความเชื่อที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่มิ่งขวัญร้องเกี้ยวยุพิณตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่จะสร้างภาพว่า อ้ายหนุ่มบ้านนาต่างมีรักแท้ที่แสนมั่นคง เหมือนกับที่มิ่งขวัญเองก็พูดว่า “ต่อให้การรักเอ็งมันต้องเสียใจไปทุกวัน ข้าก็จะรักเอ็ง”          แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กลิ่นอายความรักของชนบทที่คละเคล้าไว้ด้วยความขัดแย้งที่ซับซ้อน การขูดรีดผลประโยชน์ การวางแผนหลอกลวง ไปจนถึงการล่มสลายแห่งการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็อาจจะตั้งคำถามกับเราๆ ได้ว่า หรือนี่อาจจะเป็นภาพแบบใหม่ของชุมชนชนบทที่หาใช่รักโรแมนติกแบบที่เราเคยรับรู้กันมา?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ผมอาถรรพ์ : ผม...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

        ผม” มีสถานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แม้ว่าตามนิยามในพจนานุกรมจะมองว่า เส้นผมเป็นเพียงแค่ “ขนที่ขึ้นอยู่บนศีรษะ” หากทว่าผมก็อาจมีความสำคัญเกินกว่าที่เราจะตระหนักรู้ได้ โดยเฉพาะกับบรรดาคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย         ในละครโทรทัศน์แนวภูตผีเรื่อง “ผมอาถรรพ์” ก็ดูเหมือนจะออกแบบเนื้อหาให้เวียนวนอยู่กับความสำคัญของเส้นผมที่ขึ้นอยู่บนหนังศีรษะของผู้หญิงและคนเรา แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง         เรื่องของเส้นผมที่ “ใครๆ อาจคิดว่าไม่สำคัญ” เริ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุ “เกศินี” นางแบบสาวสวยที่กำลังโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากคอนโดหรูของเธอ แม้หลักฐานของตำรวจจะยืนยันว่า เกศินีฆ่าตัวตายเอง แต่เพื่อนสนิทของเธอที่ชื่อ “มินตรา” กลับไม่ยอมรับ และเห็นว่า นั่นน่าจะเป็นฆาตกรรมอำพรางมากกว่า โดยมีพระเอกหนุ่มไฮโซอย่าง “กวิน” เป็นผู้ต้องสงสัยนับจากฉากเปิดเรื่อง         ด้วยเลือกจะฝืนอำนาจแห่งยมทูตไม่ให้นำพาดวงวิญญาณของเธอไปยังปรภพ เกศินีจึงกลายสภาพเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนและโดดเดี่ยว เมื่ออีกด้านหนึ่งเธอเองก็ไม่หลงเหลือไฟล์ความทรงจำว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่เธอร่วงหล่นมาจากตึกจนเสียชีวิต         คู่ขนานไปกับการดำรงอยู่เป็นวิญญาณเร่ร่อนเดียวดายนั้น อีกเงื่อนปมหนึ่งซึ่งละครได้ผูกเกลียวไว้ ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เจน” แฟนคลับโรคจิตที่เคยมีเรื่องโกรธแค้นเกศินีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ลอบมาเปิดโลงศพ และตัดผมอันยาวสลวยที่เกศินีทั้งรักทั้งหวงไปจากศพของเธอ เพื่อจะนำไปทำวิกผม         แต่เพราะเส้นผมเป็นสิ่งที่เกศินีรักยิ่งชีวิต วิญญาณของเธอจึงได้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในวิกผม และเปล่งอำนาจคืนชีพขึ้นมา เพื่อสืบค้นความจริงเรื่องการฆาตกรรม และแก้แค้นตัวละครทั้งหลายที่เคยทำร้ายจนเป็นต้นเหตุให้วิญญาณเธอถูกพรากออกไปจากร่างก่อนวัยอันควร         ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เกศินีถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการถูกกระทำทั้งกาย วาจา และจิตใจ เพราะเมื่อเธอต้องเล่นบทบาททางอาชีพเป็นดารานางแบบชื่อดัง ทั้งความงาม เรือนร่าง และเส้นผมสีดำสลวยของเธอ ก็ไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” อันนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง แต่ในเวลาเดียวกัน ความงามและเส้นผมก็กลายเป็นภัยคุกคามที่รายล้อมอยู่รอบตัวเธอตลอดเวลา         ตั้งแต่การต้องกลายเป็นศัตรูกับคนในแวดวงนางแบบอย่าง “เจ๊จิ๋ว” และ “แพรทอง” ผู้ทำให้เกศินีเรียนรู้ว่า ในสังคมเยี่ยงนี้ มนุษย์อาจไม่มีมิตรแท้ หากแต่เป็นศัตรูที่มาแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือการที่เกศินีถูกหักหลังจาก “หยก” พี่เลี้ยงนางแบบที่เธอไว้ใจ แต่อีกด้านก็เป็นประหนึ่ง “แม่เล้าไฮโซ” ที่คอยจัดหานางแบบสาวๆ มาป้อนบำเรอแก่ “เสี่ยมงคล”         และยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอแอบคบหากับ “ปกรณ์” ช่างภาพหนุ่ม ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ให้บทเรียนแก่เกศินีว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” เพราะเขาเองไม่เพียงแต่อยู่เบื้องหลังเป็นฆาตกรที่ผลักเธอตกตึกจนถึงแก่ชีวิต หากทว่ายังหลอกใช้เธอ ไม่ว่าจะตอนยังมีลมหายใจ หรือแม้จะตายกลายเป็นวิญญาณผีร้าย ก็ยังถูกชายคนรักหลอกเลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือก้าวขึ้นสู่อำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวย        เพราะที่ผ่านมา ชีวิตของเกศินีแทบจะหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ ได้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตายลง เธอก็ยังถูกพรากเส้นผมอันเป็นของรักของหวงออกไปจากเรือนร่างที่ไร้ชีวิตอีก จึงไม่แปลกที่ความแค้นอันสั่งสมเหล่านี้ ทำให้จิตสำนึกที่ฝังลึกในใจของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป         หากเราย้อนกลับไปดูวิธีคิดของสังคมยุคก่อน เส้นผมกับผู้หญิงถือเป็นตัวแปรที่ต่างกำหนดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บทชมโฉมนางในวรรณคดีก็ไม่พ้นต้องมีการชื่นชมเส้นเกศเกศาของอิสตรี หรือเครื่องประดับของทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านก็ต้องมีส่วนที่เกี่ยวพันกับเส้นผมของผู้หญิงอยู่เสมอ         ด้วยเหตุนี้ เส้นผมจึงเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของสตรีเพศ ขณะเดียวกับที่ผู้หญิงก็ดูจะมีความรื่นรมย์ในการบำรุงรักษาเส้นผมของเธอมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และที่สำคัญ ทุกครั้งที่สังคมจะมีการลงทัณฑ์ต่อสตรีผู้มีวิถีปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐาน การกล้อนผมเพื่อประจานต่อสาธารณะ ก็เป็นหนึ่งในกุศโลบายแห่งการใช้อำนาจที่สังคมกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิง        เนื่องจากเส้นผมกลายเป็น “ปัจจัยการผลิต” ของผู้หญิง ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สังคมยุคอดีต ดังนั้น การพรากเอาเส้นผมที่เกศินีรักยิ่งไปจากร่างที่ไร้ชีวิตของเธอ จึงไม่ต่างไปจากการลงโทษลงทัณฑ์ที่สังคมกระหน่ำทำร้ายตัวละครที่เป็นวิญญาณผีเร่ร่อนอยู่นั่นเอง        เหตุแห่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่วิญญาณของเกศินีต้องออกอาละวาดเข่นฆ่าทุกตัวละคร ซึ่งต่างเป็นต้นเหตุแห่งความอาฆาตแค้น ด้วยวิธีบีบบังคับให้ใครต่อใครสวมวิกผมอาถรรพ์ เพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตวิญญาณของจำเลยเหล่านั้น พร้อมกับประโยคที่เธอกำกับสั่งการว่า “สวมวิกเดี๋ยวนี้...!!!”         ภายใต้อำนาจอาถรรพ์แห่งวิกผมที่ตอบโต้ต่อกรกับอำนาจของสังคมที่กระทำต่อวิญญาณเกศินี เธอเองก็ได้คำตอบเมื่อเริ่มลิ้มรสของการเข่นฆ่าครั้งนี้ว่า “มันอาจจะยากตอนแรก แต่ตอนหลังมันก็เริ่มง่าย และมันทำให้ฉันมีความสุขมาก...ฉันจะส่งคนเลวๆ ที่รังแกฉันให้ตายไปลงนรกทุกคน”        การออกไล่ล่าและเข่นฆ่าตัวละครที่ตกเป็นจำเลยของเกศินีคนแล้วคนเล่า อาจสื่อความเป็นนัยได้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือหมดสิ้นลมปราณไป พวกเธอก็ยากจะหลุดพ้นจากบ่วงของกติกาอำนาจบางอย่างที่สังคมเข้ามากำกับเอาไว้ แต่เมื่อเธอได้ลิ้มรสชาติความรู้สึกแห่งการลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนั้น แม้อาจจะยากในช่วงแรก แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักที่ผู้หญิงจะเริ่มต้นและเรียนรู้แต่อย่างใด         มาถึงฉากจบของเรื่อง ในด้านหนึ่งละครก็ยังเลือกใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่พระเอกหนุ่มกวินกับนางเอกสาวมินตราได้ลงเอยครองคู่กันอย่างมีความสุข หรือฉายภาพไฟแค้นที่มอดไหม้ลงของเกศินี หลังจากที่เธอได้ฆ่าปกรณ์คนรักหนุ่มให้ตายตกไปตามกัน พร้อมๆ กับเสียงอโหสิกรรมที่เกศินีกล่าวโทษตนเองว่า เธอเป็นคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นไปรักเขา จนเป็นเหตุให้ “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” และ “เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง”         แต่ถึงกระนั้น อย่างน้อยละครก็เปิดมุมเล็กๆ ให้เกศินีได้ไตร่ตรองและทดลองเรียนรู้ว่า หาก “ชีวิตที่เป็นของผู้หญิง” “จิตวิญญาณที่เป็นของผู้หญิง” หรือ “เส้นผมที่เป็นของผู้หญิง” ถ้าผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาพิทักษ์ปกป้องสิทธิบนร่างกายและจิตวิญญาณของเธอเองแล้ว กลไกอำนาจบางอย่างก็พร้อมจะพรากสิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นไปจากร่างและวิญญาณของพวกเธอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เขาวานให้หนูเป็นสายลับ : อย่าเห็นหนูเป็นสนามอารมณ์

              คำภาษิตโบราณกล่าวกันว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” จริงๆ แล้ว ปมปัญหาในความเปรียบนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “ลูกสาว” ของบ้าน หรืออยู่ที่ “ส้วม” อันเป็นสถานที่ที่เราใช้ขับถ่ายของเสียแต่อย่างใด แต่ปัญหาลึกๆ น่าจะมาจากทัศนะที่สังคมให้คุณค่ากับ “ลูกสาว” และ “ส้วม” ไปในทิศทางลบกันมากกว่า        นั่นหมายความว่า หากสังคมเห็นว่า ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งชีวิตที่มีคุณค่าไม่ต่างจากบุรุษเพศ เราก็จะผาดตามามอง “ลูกสาว” กันเสียใหม่ว่า เธอก็ไม่ได้แตกต่างจาก “ลูกชาย” แต่อย่างใดเลย และก็เช่นเดียวกัน หากเราเลือกเปลี่ยนระบบคิดต่อ “ส้วม” เสียใหม่ว่า แม้จะเป็นสถานที่ที่มนุษย์ปลดปล่อยปฏิกูลของร่างกาย แต่ถ้าเราขาดซึ่งห้องน้ำที่เราเรียกกันว่า “ส้วม” เสียแล้ว ชีวิตของคนเราก็น่าจะบังเกิดความทุกข์ระทมกันเพียงใด         ทั้ง “ลูกสาว” และทั้ง “ส้วม” ต่างจึงมีคุณค่าในตัวมันเอง และมิอาจมองข้ามการดำรงอยู่ของทั้งสองสิ่งนี้ไปได้เลย ปัญหาจึงเป็นดังที่ได้กล่าวไว้ก็คือ น่าจะเป็นเพราะโลกทัศน์ที่มนุษย์เรากดทับคุณค่าของ “ส้วม” ให้ไร้ซึ่งความสำคัญ และผลักไสให้ “ลูกสาว” มีสถานะไม่ต่างจาก “ส้วม” ที่เราต่างนิยามเอาไว้ด้วยความรังเกียจรังงอนนั่นเอง         และจะเกิดอะไรขึ้นหากวันดีคืนดี นางเอกละครโทรทัศน์กลับถูกสร้างให้มีชื่อที่เรียกว่า “ส้วม” แถมยังเป็น “ส้วม” ที่ “เขาๆ” ผู้ชายทั้งหลายต้อง “วานให้เธอกลายมาเป็นสายลับ” กันอีก...???         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” เริ่มต้นเปิดเรื่องแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครนางเอก ที่แม้จะมีชื่อจริงตั้งว่า “ฐานะมาศ” แต่ชื่อเล่นของเธอก็คือ “ส้วม” ผู้มีนิสัยประจำตัวอันประหลาด เพราะไม่เพียงจะชอบเข้าห้องน้ำนานๆ แต่ในยามค่ำคืนที่นอนไม่หลับ เธอก็ยังชอบลุกขึ้นมาขัดส้วมเป็นประจำ         ด้วยความที่ส้วมเติบโตมาในสลัม และสลัมเองก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและมั่วสุมไปด้วยด้านมืดของสังคมไทย ผู้หญิงอย่างส้วมที่เติบโตมาบนกองขยะและสิ่งเน่าเหม็นของสลัม ก็เลยถูกประทับตราว่า เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีคุณค่าในสายตาหรือการรับรู้ของนานาอารยชนไปโดยปริยาย        แม้จะเป็นน้องนางกลางสลัมแลนด์ แต่ส้วมก็ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา เปิดฉากมาเราจึงเห็นส้วมขะมักเขม้นนั่งท่องตำราเรียนวิชากฎหมายอย่างตั้งใจ สลับกับภาพการทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบ่อนให้กับ “บุญยืน” ผู้เป็นมารดา พร้อมๆ กับคอยวิ่งหนีตำรวจกันเป็นที่ขำขันหรรษากันตั้งแต่ฉากแรกๆ ของเรื่อง         แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้เนื้อเรื่องที่ดู “เบาสมอง” แบบโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ ละครกลับเผยให้เห็นว่า ปัญหาของสลัมไม่ใช่จะเป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม หรือเพราะสลัมเป็นย่านที่อยู่ของผู้ยากไร้ไม่มีอันจะกิน แต่เป็นเพราะการที่คนอื่นๆ รอบนอกสลัมต่างหากที่คอยจ้องเอารัดเอาเปรียบสรรพชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์เพศหญิงที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแห่งนี้         การขูดรีดเอาเปรียบต่อชีวิตผู้หญิงถูกสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านการกระทำรุนแรง ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวจนถึงสังคมใหญ่แบบภาพรวม แบบเดียวกับที่ “สิงห์” จอมโจรที่สวมรอยเป็นพ่อเลี้ยงของส้วมมักกระทำรุนแรงทางกายอยู่เสมอๆ ทั้งต่อเธอ ต่อมารดา และต่อ “อ้อย” ผู้เป็นพี่สาวของส้วม ไปจนถึงการนำเสนอตัวละคร “เสี่ยฮะ” เจ้าของผับในคราบนักบุญ ที่เบื้องหลังก็ใช้สลัมเป็นแหล่งค้ายาเสพติดและค้ากาม โดยไม่เคยเห็นว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์เยี่ยงนี้เป็นมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อแต่อย่างใด         เพราะสัมผัสถึงการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์เพศหญิงอยู่ทุกวี่วัน ในขณะเดียวกัน เพราะส้วมเองก็มีสัมผัสพิเศษที่สามารถเห็นวิญญาณคนตาย และเธอเองก็ถูกร้องขอความช่วยเหลือจากวิญญาณของ “แป๋ว” หญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากเข้ามาในวังวนของการค้าประเวณี ส้วมจึงได้ข้อสรุปว่า ตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงวัตถุที่รองรับความรุนแรงต่างๆ ตราบนั้นผู้หญิงก็ยังไม่อาจหลุดพ้นการเป็น “สนามอารมณ์” ที่สังคมจะขูดรีดเอาเปรียบได้ไม่สิ้นไม่สุด         ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ทวนเทพ” หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับเรื่องคดีเสี่ยฮะ และปลอมตัวมาเป็นคนเก็บของเก่าในสลัม ได้ขอความช่วยเหลือส้วมให้มาร่วมกับหน่วยงานลับที่ชื่อ “สโนว์ไวท์” ส้วมจึงตอบตกลง และเริ่มต้นภารกิจ “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” ในครั้งนี้ที่ตั้งชื่ออย่างน่าเอ็นดูว่า “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย”          หลังจากก้าวมาเป็นสายลับอันเป็นเงื่อนปมที่ละครได้ผูกโยงเอาไว้ ส้วมก็ได้มาประสบพบรักกับพระเอก “ดนุรุจ” นายตำรวจหนุ่มอีกคนที่ตามสืบคดีเสี่ยฮะ และแม้เขากับเธอจะไม่ลงรอยกินเส้นกันในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังเมื่อดนุรุจกับส้วมต้องจัดพลัดจับผลูมาสวมรอยแต่งงานกันเพียงในนาม เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้หญิงอย่างส้วมเท่านั้นที่จะทำให้ “บ้านกลายเป็นบ้าน” และเติมเต็มชีวิตที่ต้องปกปิดปมเจ็บปวดที่กำพร้าบุพการีมาตั้งแต่เด็ก          ในอีกด้านหนึ่ง ยิ่งสืบคดีของเสี่ยฮะไปมากเท่าไร สายลับส้วมสาวก็ยิ่งค้นพบว่า ระบอบแห่งการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศนั้น ไม่เพียงแต่ซับซ้อน หากยังฝังลึกเข้าไปในหลืบเร้นแห่งสำนึกและความคิดของผู้คนในสังคม เพราะแม้แต่กับผู้หญิงก็สามารถกระทำต่อเพื่อนผู้หญิงด้วยกันได้ทั้งกายวาจาและจิตใจ         ไม่ว่าจะเป็น “ดาวิกา” ที่มองส้วมเป็นศัตรูหัวใจและกดข่มผู้หญิงด้วยทัศนะที่ว่า ขนาดชื่อของนางเอกส้วมยังฟังดูสกปรกเลย หรือ “สุชาวดี” ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของเสี่ยฮะ ที่เบื้องหลังก็อยู่ร่วมกับบิดาในขบวนการค้าประเวณี จนส้วมเคยเอ่ยปากถึงเธอว่า “น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี” หรือแม้แต่กับติ่งเกาหลี “หนึ่งธิดา” ที่ครั้งหนึ่งก็ถูกเป่าหูให้รังเกียจส้วม โดยเกือบลืมไปว่าทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก        ผู้คนรอบข้างที่ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายซึ่งต่างกดทับศักดิ์ศรีแห่งสตรีเพศเช่นนี้เอง ทำให้ครั้งหนึ่งส้วมได้เปรยกับดนุรุจถึงชะตากรรมของผู้หญิงสลัมอย่างเธอว่า “ฉันต้องตัดสินตัวเองตลอด เพราะทุกครั้งที่ฉันลืมตัว ก็จะมีคนอย่างพวกคุณคอยตัดสินตัวฉัน และเหยียบย่ำฉันอยู่ตลอดเวลา...”        ด้วยพล็อตเรื่องแนวโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ เราอาจจะเดาได้ไม่ยากว่า ภายหลังภารกิจ “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย” สิ้นสุดลงได้ เพราะความช่วยเหลือจากสายลับเช่นส้วม เสี่ยฮะแอนด์เดอะแก๊งก็ต้องถูก “ลงโทษเชิงสัญลักษณ์” ให้ตายหรือติดคุกกันไป ในขณะที่ตัวละครฝั่งคุณธรรมก็จะได้ “รางวัลตอบแทนความดี” แบบที่หนึ่งธิดาได้เข้าพิธีวิวาห์กับ “สารวัตรเผด็จ” และส้วมกับดนุรุจก็ปรับความเข้าใจจนแฮปปี้เอนดิ้งกันไปในที่สุด        แต่อีกด้านหนึ่ง ละครที่ดู “เบาสมอง” ก็ชวนให้เรา “หนักสมอง” ขบคิดและเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้วยว่า “สองมือที่ทำให้โลกหมุนไป” ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นศักยภาพด้านที่สร้างสรรค์ของสังคม หาใช่จะเป็นแหล่งระบายสิ่งปฏิกูล หรือใครจะอ้างสิทธิ์ผลักไสกระทำรุนแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจได้ เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งส้วมเคยระเบิดเสียงแห่งสตรีเพศออกมาว่า “ใช่...กูชื่อส้วม แต่ไม่ใช่ว่ากูจะเป็นส้วมให้ใครขับถ่ายใส่อยู่ทุกวี่วัน…”

อ่านเพิ่มเติม >