ฉบับที่ 257 พิษรักรอยอดีต : ความพยาบาทเป็นของหวาน…ของผู้หญิงอ้วน

               มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่มีความมหัศจรรย์บางอย่าง หากใครก็ตามที่มีเรือนร่างสรรพางค์กายผิดแผกไปจากมนุษย์ส่วนใหญ่ เธอหรือเขาผู้นั้นก็จะถูกสายตาของคนในสังคมกดทับกำกับความหมายว่ามี “ความเป็นอื่น” ที่ยากจะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคนธรรมดาสามัญ         เฉกเช่นกรณีร่างกายของ “คนอ้วน” ก็เป็นหนึ่งในทุกรกิริยาที่สังคมบรรจงหยิบยื่นผ่านการกำหนดคุณค่าและความหมายเชิงลบ ให้แก่มนุษย์ผู้สั่งสมชั้นไขมันใต้ผิวหนังมากเกินกว่าที่พบเห็นในคนทั่วไป         แม้ไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังจะเป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลพึงมีอำนาจอันชอบธรรม ทั้งที่จะเลือกและตัดสินใจนำมาบรรจุไว้ในร่างกายของตนเอง แต่เอาจริงแล้ว ไขมันในร่างคนอ้วนก็มักถูกเทียบค่าเป็น “ความแปลกประหลาด” ภายใต้การรับรู้ของมวลมหาสาธารณชน         ในสายตาของหลายๆ คน คนอ้วนก็อาจถูกนิยามว่า “ตลก” บ้าง “ตุ๊ต๊ะอุ้ยอ้าย” บ้าง หรือในทัศนะของบุคลากรการแพทย์ ร่างกายของคนอ้วนก็ถูกตีความว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “โรคอ้วน” รวมไปถึงมุมมองของคนบางกลุ่มอีกเช่นกันที่กำหนดความหมายของคนอ้วนว่า “โง่” บ้าง “ไม่ทันคน” บ้าง นัยเชิงลบเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการตอกลิ่มสลักรอยบาดแผลเอาไว้ในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ผู้มีรูปร่างอ้วนท้วนไปโดยปริยาย         และผู้หญิงอ้วนอย่าง “ผิง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษรักรอยอดีต” ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนของมนุษย์ที่ต้องตกอยู่ใต้ม่านหมอกแห่งอคติที่สังคมกำหนดให้ร่างกายของเธอกลายสภาพเป็นอื่นด้วยเช่นกัน         ละครเปิดเรื่องด้วยภาพของ “เมย์” สาวสวยที่ดูลึกลับและทรงเสน่ห์ ได้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศพร้อมกับ “อาฉง” ผู้เป็นอากง และ “กล้า” ชายหนุ่มที่ตาขวาพิการ พลันที่เหยียบผืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง เมย์ก็พูดขึ้นว่า “ต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ เราเกิดใหม่จากความตาย เพื่อที่จะได้มาทวงทุกอย่างคืน”         จากนั้นภาพก็ค่อยๆ ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน แท้จริงแล้ว เมย์ก็คือตัวละครผิงในอดีต ผิงเป็นสาวน้อยที่ออกจะเจ้าเนื้อ แต่ทว่าภายใต้ร่างกายที่อ้วนตุ๊ต๊ะนั้น ผิงเป็นหญิงอ้วนที่น้ำใจงาม และที่สำคัญ เธอก็แสนจะใสซื่อโลกสวย ประหนึ่งเจ้าหญิงที่ขี่ม้ากลางทุ่งลาเวนเดอร์ในจินตนิยาย         อาฉงผู้มีศักดิ์เป็นปู่หรืออากงของผิง เป็นเจ้าของร้านขายยาสมุนไพรจีน “กงผิง” ในย่านแพร่งภูธร และเพราะถูกพร่ำสอนจากอากงให้เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ผิงจึงชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ และใช้ความรู้สมุนไพรรักษาโรคให้กับคนเร่ร่อนและคนยากจน ที่แม้ว่าหลายๆ ครั้งคนเหล่านั้นก็จนยากเสียจนไม่มีเงินที่จะเจียดมาจ่ายเป็นค่ายารักษาได้เลย         จุดพลิกผันของเรื่องที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผิง เกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวของตัวละครอีกสองคน คนแรกคือหญิงสาวสวยชื่อ “นิสา” ที่มาทำงานเป็นลูกมือในร้านสมุนไพรกงผิง และทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนเป็นพี่สาวที่ผิงมอบความไว้เนื้อเชื่อใจเธอเป็นที่สุด กับอีกคนหนึ่งก็คือ “เฟย” ผู้ชายรูปหล่อหน้าตาดีที่ผิงหลงรัก และตกลงใจแต่งงานร่วมหอลงโรงเป็นภรรยาตามกฎหมายของเขา         แม้สำหรับผิงแล้ว “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” แต่ในทางกลับกัน สำหรับนิสาและเฟยนั้น กลับมองผู้หญิงร่างอ้วนเป็นเพียง “ผู้หญิงโง่ ไม่ทันคน และง่ายต่อการถูกหลอก” เพราะเบื้องหลังแล้ว ทั้งสองคนคือคู่รักตัวจริงที่เข้าหาผิงเพียงเพื่อลวงหลอกเอาสินทรัพย์สมุนไพรราคาแพงของร้านกงผิงมาเป็นสมบัติของพวกตน         เมื่อความโลภเข้าครอบงำจิตใจ และม่านมายาแห่งอคติต่อคนอ้วนเข้าบังตา ทั้งนิสาและเฟยก็ไม่เห็นว่าหญิงอ้วนที่น้ำใจงามอย่างผิงเป็น “มนุษย์” ที่มีชีวิตเลือดเนื้ออีกต่อไป และเพียงเพื่อผลประโยชน์เชิงวัตถุและเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยของการผนึกกำลังกันระหว่างคนทั้งสองกับตัวละครผู้ร้ายอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ “เฉิน” มารดาของเฟย “ฮั่น” ชายหนุ่มที่อาฉงเองก็รักเหมือนหลานคนสนิท “เฮียตง” เจ้าพ่อมาเฟียประจำถิ่น และ “ผู้กองสันติ” นายตำรวจกังฉินแต่ปากกลับบอกว่าตนรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม         ทฤษฎีสมคบคิดภายใต้โครงข่ายของกลุ่มมิจฉาชีพที่โยงใยกันอย่างแนบแน่นนี้เอง ได้นำไปสู่ฉากการฆาตกรรม “ป้าแวว” ญาติผู้ใหญ่ที่รักยิ่งของผิง ทำให้หนุ่มเร่ร่อนจรจัดอย่างกล้าที่พลัดหลงมาเห็นเหตุการณ์ถูกทำร้ายจนสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง และที่สำคัญ ทั้งหมดยังได้ร่วมมือกันพยายามฆ่าผิงและอาฉงโดยฝังให้ “ตายทั้งเป็น” อยู่กลางป่ารกร้างลับตาคน         แต่จะด้วยเพราะดวงที่ยังไม่ถึงฆาต หรือจะเพราะจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติในสังคมได้เริ่มก่อตัวขึ้นมา ผิงผู้ที่ถูกฝังกลบทั้งเป็นก็กลับฟื้นขึ้นมาจากหลุมดินกลางป่า ประหนึ่งเป็นการบ่งบอกนัยแห่งการ “ถือกำเนิดใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับตัวตนและจิตสำนึกเดิมที่ได้ตายจากไป         หลังจากที่ต้องพลัดถิ่นฐานหลบลี้หนีภัยไปอยู่แดนมังกร ผิงคนเดิมซึ่งบัดนี้เปลี่ยนรูปลักษณ์และจิตสำนึกเสียใหม่ ได้เดินทางกลับมาเมืองไทย พร้อมกับความแค้นที่เต็มเปี่ยม กอปรกับการไปร่ำเรียนศาสตร์วิชาการฝังเข็มจากหมอแผนจีนโบราณ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ผู้หญิงสาวสวยอย่างหมอเมย์ได้ก้าวสู่การแก้แค้นบรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดกันฝังเธอทั้งเป็นมาก่อน         หากความรู้เป็นดั่งศาสตราวุธ พ่วงกับความพยาบาทที่เป็นดั่งแรงผลักเสริม ดังนั้น เมื่อครั้งหนึ่งร่างกายของผู้หญิงอ้วนเป็นสนามที่สังคมได้เคยเลือกปฏิบัติต่อเธออย่างไร้ปรานี ผิงจึงใช้ความรู้สมุนไพรและการฝังเข็มเอาคืนต่อร่างกายศัตรูที่เคยฝังร่างของเธอในป่าร้างมาก่อน         เริ่มจากการฝังเข็มให้อดีตแม่สามีอย่างเจินเพื่อปลุกกระตุ้นความอยากอาหารให้กินแบบตายผ่อนส่ง เหมือนกับที่ผิงแอบเปรยขึ้นว่า “กินเยอะๆ นะคะอาม้า จะได้อ้วนแบบผิง” จากนั้นก็ฝังเข็มกระตุ้นต่อมกำหนัดของเฟย จนเขาเผลอไปมีสัมพันธ์กับเมียของเฮียตง และตามมาด้วยการใช้สมุนไพรปลุกแรงขับทางเพศจนนิสาและฮั่นมีสัมพันธ์อันเกินเลย เพื่อทำให้เฟยหึงหวงจนเหมือน “ตายทั้งเป็น” ทางอารมณ์และจิตใจ        แม้การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติทางสังคมมักจะต้องแลกมากับความสูญเสีย เหมือนกับที่ผิงเองก็ต้องสูญเสียอิสรภาพและติดคุก เพราะวิถีการล้างแค้นที่ทำให้ศัตรูตายไปทีละคนสองคนก็เป็นสิ่งที่ขัดกับตัวบทกฎหมายที่สังคมบัญญัติขึ้น แต่เมื่อฟ้าหลังฝนที่ได้อิสรภาพกลับคืนมา เธอก็ลงเอยมีความสุขกับพระเอกหนุ่มอย่าง “โช” ผู้ที่อาจไม่ร่ำรวย แต่เขาคือคนที่สารภาพกับเธอว่า “สำหรับผม อ้วนไม่อ้วน สวยไม่สวย ไม่เกี่ยวเลย แต่สิ่งที่ผมชอบผิงคือจิตใจที่อ่อนโยนกับทุกคน แม้แต่คนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างผม”        จะว่าไปแล้ว ละคร “พิษรักรอยอดีต” อาจจะจบลงโดยง่าย หากผิงถูกฝังกลบตายทั้งเป็นอยู่กลางป่าร้างตั้งแต่ครึ่งแรกของเรื่อง แต่เพราะจิตสำนึกของผู้หญิงอ้วนไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจสังคมที่กลบฝังร่างกายและจิตใจของเธอ ยิ่งผสานกับแรงพยาบาทซึ่งเป็นดั่งขนมหวานที่หากลิ้มรสการต่อสู้แล้วก็ติดใจได้ไม่ยาก เมื่อนั้นผู้หญิงอ้วนก็พร้อมจะกล้าลุกขึ้นมาใช้มันสมองและจิตวิญญาณเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คุณหมีปาฏิหาริย์ : วัตถุเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้

                ในสังคมตั้งแต่ครั้งบุรพกาลนานมา เชื่อกันว่า วัตถุมิใช่เพียงแค่สิ่งของที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ หากแต่ข้าวของต่างๆ รอบตัวเรานั้น เป็นวัตถุธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งความทรงจำและจิตวิญญาณอันเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา อันเป็นการผูกโยงไว้ซึ่งความสัมพันธ์สามเส้าอันแนบแน่นระหว่างมนุษย์ วัตถุในธรรมชาติ และความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ         ดังตัวอย่างของความคิดความเชื่อเรื่องการสู่ขวัญให้กับวัตถุต่างๆ ที่ดำรงอรรถประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การปลุกเสกให้วัตถุสามัญมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สถิตของพลังอำนาจบางอย่าง ไปจนถึงการที่คนสมัยก่อนเองก็มักใช้วัตถุเป็น “ของขวัญ” หรือตัวแทนเชื่อมโยงความรักความทรงจำ ที่คนคนหนึ่งผูกพันจิตใจให้ไว้กับคนอีกคนหนึ่ง         แต่ทว่า มุมมองต่อวัตถุข้าวของเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อระบอบทุนนิยมได้ตัดสะบั้นความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างมนุษย์-วัตถุ-สิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเสีย สิ่งของต่างๆ สามารถสรรหามาได้เพียงเพราะเราใช้เงินในกระเป๋าซื้อมา พร้อมๆ กับลัทธิวัตถุนิยมได้เข้ามาแทนที่ความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ จนท้ายที่สุดวัตถุก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ขาดความทรงจำทั้งของปัจเจกบุคคลและของสังคมไปโดยปริยาย         ด้วยเหตุฉะนั้น เมื่อละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกเอาใจบรรดา “สาววาย” อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้เปิดเรื่องขึ้นโดยให้ตุ๊กตาหมีสีขาวนวลตัวใหญ่ของพระเอกหนุ่ม “พีรณัฐ” บังเอิญถูกสุนัขชื่อ “ขึ้นช่าย” บุกเล่นงานจนตกลงมาจากห้องนอนชั้นสอง และกลายร่างเป็นชายหนุ่มร่างสูงผิวขาวที่มีเลือดเนื้อและจิตใจขึ้นมา ปาฏิหาริย์ที่บังเกิดต่อตุ๊กตาหมีก็ดูเหมือนจะพาเราหวนกลับไปสู่โลกทัศน์ที่ครั้นอดีตเราเคยเชื่อกันว่า วัตถุสิ่งของล้วนมีจิตวิญญาณและความทรงจำสลักฝังอยู่ในนั้น         เพราะสิ่งของก็มีจิตใจ เมื่อตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้ตื่นจากสภาพหลับใหลกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ตุ๊กตาในร่างชายหนุ่มที่ “มทนา” แม่ของพีรณัฐเชื่อว่า เขาเป็น “เจ้าชายน้อย” ตัวละครเอกในวรรณกรรมคลาสสิกที่เธอชื่นชอบ และเธอได้เรียกขานตั้งชื่อเขาว่า “เต้าหู้” สมาชิกใหม่ในบ้าน ผู้ที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยและซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่ห่างหายไปนานแล้วในครอบครัวของพีรณัฐ         ควบคู่ไปกับการกลายร่างเป็นมนุษย์ของตุ๊กตาหมี ผู้ชมเองก็ได้ถูกดึงหลุดเข้าไปท่องพิภพแฟนตาซีอยู่ในห้องนอนของพีรณัฐ ที่บรรดาวัตถุสิ่งของต่างลุกขึ้นมามีชีวิต ณ อีกโลกหนึ่งที่คู่ขนานไปกับโลกที่มนุษย์เราสัมผัสผ่านได้เพียงอายตนะทั้งห้าเท่านั้น         กับฉากอรุณสวัสดิ์เริ่มต้นเรื่อง ที่แนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครวัตถุข้าวของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมุดบันทึกสีน้ำตาลผู้คอยรองรับน้ำตาและความทรงจำของพีรณัฐยามที่เขาทุกข์โศก คุณหมอนข้างและคุณน้าผ้านวมที่แสนใจดีและอบอุ่น คุณโต๊ะผู้เป็นโค้ชใหญ่ของบ้าน คุณเก้าอี้สาวขี้อายประจำห้องนอน และอีกหลากหลายสรรพชีวิตของวัตถุสิ่งของที่พูดคุยเสวนาสารทุกข์สุขดิบกันทุกๆ เช้า รวมไปถึงตุ๊กตาหมีผู้ผูกพันและนั่งอยู่ในห้องนอนเคียงข้างตัวพีรณัฐมานานนับสิบปี         เพราะสิ่งของเครื่องใช้มีส่วนผสมทั้งด้านวัตถุรูปธรรมที่จับต้องได้ กับด้านแห่งจิตใจหรือจิตวิญญาณนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ วัตถุอย่างตุ๊กตาหมีจึงถูกมอบหมายให้เป็นสะพานเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อตุ๊กตาหมีกลายร่างเป็นคน ภารกิจการถักทอสายสัมพันธ์จึงทำให้เต้าหู้ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพีรณัฐ (หรือที่เต้าหู้เรียกว่า “พี่ณัฐ”) และผู้คนรอบตัวไปด้วยเช่นกัน         เมื่อเข้ามาอยู่ในวังวนของชีวิตมนุษย์ เต้าหู้ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ทุกวันนี้ระบอบอำนาจนิยมได้แผ่ซ่านซึมแทรกอยู่ในถ้วนทั่วทุกองคาพยพของสังคม โดยเริ่มจากในครอบครัวก่อนจะลามไปสู่สถาบันอื่นๆ แบบเดียวกับที่ “ตาธาร” ผู้เป็นรักครั้งแรกของพี่ณัฐเคยกล่าวว่า “แค่คนเราคิดต่างกัน คนเราก็ทำร้ายกันได้”         ไม่ว่าจะเป็น “สิบหมื่น” ผู้ใช้อำนาจของพ่อกดทับและทำร้ายจิตใจพี่ณัฐ ที่ไม่เลือกเพศวิถีตามที่ชายชาติทหารผู้พ่ออยากให้ลูกชายเป็น หรือ “แสน” พี่ชายฝาแฝดของสิบหมื่นและเป็นอดีตคนรักของมทนา ที่เพียงเพื่อปกป้องอดีตคนเคยรัก ก็ถึงกับเลือกวางยาฆาตกรรมน้องชายของตน หรือแม้แต่ “สัจจารีย์” ภรรยาที่ไม่เคยได้รับความรักจากแสน ก็ลุแก่อำนาจจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเรื่อง         เพราะระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์ห้ำหั่นกัน และสลัดทิ้งขว้างข้าวของให้กลายเป็นวัตถุซึ่งปราศจากชีวิตจิตใจ ภารกิจของเต้าหู้จึงเริ่มต้นประสานสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเติมเต็มความรักที่เหือดแห้งไปนานแล้วจากหัวใจของพี่ณัฐ ภาพความรักมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งเอาใจ “สาววาย” ของพีรณัฐกับเต้าหู้น่าจะแสดงนัยได้ว่า แม้เขาจะลืมรักแรกไม่ได้ แต่เต้าหู้ก็ไม่ต่างจาก “ของขวัญ” ที่มาชดเชยด้านที่หายไปในชีวิต เฉกเช่นที่พระเอกหนุ่มได้พูดว่า “ที่มึงเคยถามกูว่าวันเกิดปีนี้ทำไมกูไม่อยากได้อะไร เพราะว่าปีนี้กูมีมึงแล้วไง”         และควบคู่กันไปนั้น เต้าหู้และเพื่อนๆ ข้าวของเครื่องใช้เองก็ยังได้เข้ามาดูแลมทนาที่มีอาการอัลไซเมอร์ในระยะแรกๆ และได้ต่อเติมความรักความผูกพันที่หดหายไปเป็นสิบปีระหว่างพีรณัฐกับมารดา         ปิ่นโตอาหารที่ทั้งมทนาและเต้าหู้ปรุงสำรับให้พีรณัฐทุกเช้า เค้กวันเกิดสีรุ้งที่แม่บรรจงทำให้กับลูกชาย โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่พีรณัฐซื้อให้แทนความรักความห่วงใยต่อมารดา เครื่องสำอางและเสื้อผ้าชุดใหม่ที่พี่ณัฐเลือกให้แม่ได้แปลงโฉมต่างไปจากเดิม ไปจนถึงรองเท้าคู่ใหม่ที่พี่ณัฐนั่งสวมใส่เท้าของแม่ ล้วนแล้วแต่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกอิ่มใจ หลังจากที่สายสัมพันธ์แม่ลูกถูกเซาะกร่อนมาเป็นเวลานานแสนนาน         ก็คงเหมือนกับเสียงความในใจของเต้าหู้ที่ตั้งคำถามว่า “ข้าวของบางชิ้นถ้าคนไม่ต้องการ ก็จะเอาไปทิ้งได้ แต่คนเราจะทิ้งคนด้วยกันได้จริงหรือ” เพราะฉะนั้น อาจมีบางจังหวะที่มนุษย์หลงลืมความรักความผูกพัน หรือเริ่มต้นกันบนความไม่เข้าใจ แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่เราจะหวนกลับมาซ่อมแซมมันได้อีกครั้งครา         ด้วยเหตุที่วัตถุจะมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ ก็เพราะมนุษย์ใส่ความรักสลักความทรงจำลงไปในนั้น ดังนั้นในตอนจบของเรื่องจึงเฉลยคำตอบให้เรารู้ว่า เต้าหู้ก็คือของขวัญที่พี่ณัฐรับมอบเป็นตัวแทนความรักจากตาธารเมื่อสิบปีก่อน และความรักความทรงจำของทั้งสองคนก็คือ “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ตุ๊กตาหมีตื่นมามีชีวิตเป็นเต้าหู้ผู้มีเลือดเนื้อและหัวใจ และที่สำคัญ แม้จะดูทำร้ายจิตใจคอละคร “สาววาย” ก็ตาม แต่เต้าหู้ก็เลือกที่จะสละความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อให้ตาธารได้กลับมามีชีวิต และให้พี่ณัฐได้สมหวังกับความรักกันอีกครั้ง         กับภาพฉากจบที่เต้าหู้ได้เข้ามานั่งอยู่ระหว่างอ้อมกอดของพี่ณัฐและตาธาร ก็คงย้อนกลับไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในวัตถุสิ่งของทั้งหลายต่างก็มีชีวิตและความทรงจำของมนุษย์แอบอิงอยู่ในนั้น เสียงก้องในใจของตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ก็ชวนขบคิดว่า “ข้าวของเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้” และก็คงเป็นสิ่งของเครื่องใช้นั่นแหละที่ทำให้มนุษย์หันกลับมามีรอยยิ้มและความผูกพันกันได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สิเน่หาส่าหรี : การพบกันของผู้หญิงต่างเวลาต่างพื้นที่

        “ชาติ” กับ “ประเทศ” ต่างกันอย่างไร คำว่า “ประเทศ” มีแนวโน้มจะหมายถึงพื้นที่รูปธรรมซึ่งปัจเจกบุคคลยืนเหยียบและใช้ชีวิตอยู่ หากแต่ “ชาติ” จะมีนัยเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึกร่วมที่ปัจเจกบุคคลต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดเข้าหาอาณาบริเวณหนึ่งๆ จนมีคำถามสำคัญว่า ความเป็นชาตินั้นสามารถยึดโยงปัจเจกบุคคลข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ได้หรือไม่ และคงอยู่หรือผันแปรไปอย่างไรท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง         แค่ได้ยินชื่อเรื่องละครโทรทัศน์แนวดรามาแฟนตาซีว่า “สิเน่หาส่าหรี” ผู้เขียนก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ต่อโครงเรื่องและตัวละครที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฉากหลังของพล็อตเรื่องเป็นดินแดนในอนุทวีป         จะว่าไปแล้ว ก่อนที่สยามประเทศในอดีตจะเผชิญหน้ากับอารยธรรมใหม่ของมหาอำนาจชาติตะวันตก กระแสการเปิดรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่เรียกว่า “ภารตภิวัตน์” นั้น มีมาช้านานก่อนที่ชาวสยามจะรู้จักกับชนเผ่าแขกขาวอารยันจากยุโรปกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมภารตะกลายมาเป็นเรื่องเล่าในของละครโทรทัศน์ จึงดูน่าสนใจยิ่งว่า ในทัศนะมุมมองแบบไทยร่วมสมัย เราจะรับรู้ความเป็นภารตวิถีกันเช่นไร         ด้วยฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสภารตภิวัตน์ ละคร “สิเน่หาส่าหรี” ได้กำหนดเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ โดยสร้างจินตนาการประเทศสมมติขึ้นมาในนาม “มันตราปุระ” ซึ่งได้ชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรและอัญมณีมากมาย แต่ก็สามารถเล็ดรอดจากการเป็นอาณานิคมในห้วงยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษเรืองอำนาจ         แม้จะอยู่รอดจากลัทธิเมืองขึ้นจนผ่านกาลเวลามายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในดินแดนอนุทวีปในยุคเดียวกัน) แต่มันตราปุระก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการสืบทอดราชบัลลังก์ และการคัดเลือกพระชายาขององค์รัชทายาท ผู้จะกลายมาเป็นมหารานีเคียงคู่กับองค์กษัตริย์แห่งมันตราปุระในอนาคต         ด้วยเหตุดังกล่าว ปมแห่งเรื่องละครจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงไทยหรือสตรีต่างชาติอย่าง “นิลปัทม์” ตัดสินใจจะเสกสมรสกับ “เจ้าชายชัยทัศน์” องค์รัชทายาทแห่งมันตราปุระ อันเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยยึดถือกันมา และเป็นเหตุวิสัยให้ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างเวลาและต่างพื้นที่ได้เวียนว่ายข้ามแดนดินมาพบเจอกัน         สตรีนางแรกก็คือ นางเอก “นวลเนื้อแก้ว” ดีไซเนอร์หญิงไทยผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ ของนิลปัทม์ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูแลน้องสาวสุดที่รัก ไม่เพียงแต่นวลเนื้อแก้วต้องเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่ดูผิดแผกแตกต่างไปจากที่เธอคุ้นชินแล้ว เธอยังต้องสวมบทบาทเป็น “คนแดนไกลที่ใช่” ตามคำทำนายซึ่ง “เจ้าชายกีริช” พระเอกหนุ่มเฝ้าตามหา เพื่อช่วยปลดปล่อยปริศนาแห่งมันตราปุระที่ร่ำลือตกทอดมาจากอดีต         ผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ศศิประไพ” มหารานีองค์ปัจจุบันของ “กษัตริย์ชัยนเรนทร์” และเป็นผู้ควบคุมกฎการตั้งว่าที่พระชายาให้องค์รัชทายาท แม้ด้านหนึ่งเธอจะเริ่มต้นจากการตั้งแง่รังเกียจสาวไทยอย่างนิลปัทม์แบบออกนอกหน้า เนื่องจากแหวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมา แต่อีกด้านหนึ่ง มหารานีเองก็คือตัวแทนผู้หญิงที่ยึดมั่นในสำนึกความเป็นชาติต่อมันตราปุระอย่างเข้มข้น         และสตรีคนสุดท้ายก็คือ “ราชมาตาสริตา” วิญญาณย่าทวดของกีริชและชัยทัศน์ ผู้ซึ่งข้ามภพข้ามกาลเวลามาคอยพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์แห่งมันตราปุระ และเป็นผู้วางปริศนาเรื่อง “คนแดนไกลที่ใช่” ที่จะมากอบกู้บ้านเมืองจากตระกูล “พสุธา” ของตัวละคร “ขจิต” ผู้เป็นอริราชศัตรู         เนื่องจากชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงปัจเจกบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาระบุตัวตนในจินตกรรมดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น การที่ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างพื้นที่และต่างเวลาได้โคจรมาบรรจบพบเจอกันจึงมิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ หากแต่เป็นด้วยอานุภาพแห่งสำนึกความเป็นชาติที่ร้อยรัดให้ผู้หญิงทั้งสามได้มาปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและการดำรงอยู่แห่งมันตราปุระนั่นเอง         นอกเหนือจากที่ชาติจะได้ถักทอผู้หญิงซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้มายึดมั่นในภารกิจเดียวกันแล้ว เพื่อให้จิตสำนึกแห่งชาติที่มีต่อมันตราปุระปรากฏเป็นรูปธรรม สำนึกร่วมอันเป็นนามธรรมดังกล่าวจะเผยตัวออกมาอย่างเข้มข้นได้ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลยึดเหนี่ยวอยู่ในสัญลักษณ์ร่วมบางอย่าง เพื่อตอกย้ำความเป็น “เรา” ที่แตกต่างจากความเป็น “อื่น” (คงคล้ายๆ กับที่ความเป็นชาติแบบไทยๆ ก็ต้องสร้างประเทศเพื่อนบ้านให้กลายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูในจินตกรรมของเรา)         ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ร่วมเป็น “ตราแผ่นดิน” ที่หายสาบสูญไป และกำหนดรหัสข้อตกลงไว้ว่า หากผู้ใดค้นพบและครอบครองตราแผ่นดิน ผู้นั้นก็จะได้ปกครองมันตราปุระด้วยความชอบธรรม         เพราะตราแผ่นดินมิใช่แค่วัตถุหนึ่งๆ หากเป็นสัญลักษณ์ที่อุปโลกน์ขึ้นแทนสำนึกร่วมในความเป็นชาติ เราจึงเห็นภาพตัวละครสตรีที่แตกต่างหลากหลายมา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อค้นหาและส่งมอบการถือครองตราสัญลักษณ์อันเป็นสิ่งสมมติแทนตัวตนแห่งมันตราปุระ โดยมิพักว่าพวกเธอจักต้องถือกำเนิดในแว่นแคว้นแดนดินของประเทศนั้นๆ จริง หรือจะข้ามภพจากห้วงเวลาใดในทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม         ไม่ว่าจะเป็นนวลเนื้อแก้ว “คนแดนไกลที่ใช่” ซึ่งถูกมอบหมายให้ต้องบุกบั่นถักทอผืนผ้าส่าหรี เพื่อเผยให้เห็นลายแทงที่ซ่อนของตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน หรือมหารานีศศิประไพ “คนที่ถูกต้อง” ที่ถือกำเนิดในมันตราปุระ ผู้จะค้นหาสตรีที่เหมาะสมเป็นพระชายาแห่งองค์รัชทายาท ไปจนถึง “วิญญาณพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง” ของราชมาตาสริตา ผู้คอยช่วยเหลือให้ภารกิจครอบครองตราแผ่นดินลุล่วงไปได้ในท้ายที่สุด         เมื่อพลังสามประสานของ “วันเดอร์วูแมน” จากต่างพื้นที่และห้วงเวลารวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ตัวละครผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะค้นพบความจริงดังที่ราชมาตาสริตาได้กล่าวไว้ในนิมิตว่า ด้วยสำนึกร่วมในความเป็นชาติ “ไม่ว่าเธอจะทำอะไร เธอต้องรู้ตัวว่าเธอแกร่งกว่าที่เธอคิด”         จนมาถึงฉากจบเรื่องเมื่อพลังประสานของผู้หญิงที่ผนวกรวมกับจินตกรรมคำว่า “ชาติ” ผู้ชมจึงได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งตราแผ่นดินที่ทำลายอริราชศัตรูอย่างขจิตแบบน่าตื่นตะลึง ก่อนจะปิดท้ายกับภาพแบบภารตวิถีที่ชาวเมืองทั้งหมดในมันตราปุระออกมาเต้นเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานในชุดพื้นเมืองและส่าหรีหลากสีสัน         เพราะ “ชาติ” มิใช่ “ประเทศ” เพราะจินตนาการไม่ใช่วัตถุที่จับต้องเป็นของจริง และเพราะปัจเจกบุคคลถูกกำหนดบทบาทให้ปกป้องและสืบต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติ จึงไม่แปลกกระมังที่สตรีผู้ถือกำเนิดในมาตุภูมิ ผู้หญิงที่ข้ามแดนดินมาจากถิ่นอื่น และผู้หญิงที่ข้ามภพชาติห้วงเวลา จะสามารถประสานพ้องเสียงเพื่อธำรงจินตกรรมร่วมของชาติ ที่ปนเปผสมผสานระหว่างภารตภิวัตน์กับความเป็นไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 เพชฌฆาตจันทร์เจ้า : จะขอให้มีแค่ใครคนหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ช้ำ และไม่ทำให้เราเศร้าใจ

        “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง”         บทเพลงกล่อมเด็ก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ข้างต้นที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่างมีนัยความหมายของเนื้อเพลงที่สะท้อนวิธีคิดของคนสมัยก่อน ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุ รวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วย         ไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นแกง แหวนทองแดง ช้างม้า เก้าอี้เตียงตั่ง และอื่นๆ ที่ขับกล่อมอยู่ในเนื้อเพลง ต่างบ่งชี้ให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนผู้ “พี่” ที่ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้มาซึ่งวัตถุที่เชื่อว่ามีคุณค่าเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งยุคนั้น ก็เพื่อให้เด็กน้อยผู้เป็น “น้องข้า” ได้มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเยาว์         หาก “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานมาจากการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับโลกรอบตัว ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมเฉกเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในยุคสมัยใหม่สายสัมพันธ์ในความเป็นมนุษย์เริ่มเปราะบางและ “แปลกแยก” ไปท่ามกลางผลประโยชน์อื่นที่เข้ามาทดแทน         คำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอันแปลกแยกดังกล่าว สามารถส่องซูมและเรียนรู้ได้จากตัวละครนักฆ่าสาวสมัญญานามว่า “มูน” หรือ “บลัดดี้มูน” อันแปลว่า “พระจันทร์สีเลือด” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เพชฌฆาตจันทร์เจ้า”         มูนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อคนที่หญิงสาวเรียกว่า “นาย” หัวหน้ากลุ่มมาเฟียค้าอาวุธข้ามชาติ และด้วยถูกหล่อหลอมให้เป็นนักฆ่า มูนจึงถูกเลี้ยงมาให้มีหัวใจที่เย็นชาหยาบกระด้าง ภายใต้กฎบัญญัติแห่งมือสังหารที่ว่า นักฆ่าต้องลงมือเพียงลำพัง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในมือให้เป็นอาวุธ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องนายและความลับของนาย และที่สำคัญ ต้องหยิบยื่นความกลัวและความตายให้กับศัตรู         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายใต้กฎเหล็กที่บัญญัติเอาไว้นี้ นักฆ่าอย่างมูนจึงไม่ต่างอันใดจากสัญลักษณ์ตัวแทนของ “สภาวะแปลกแยก” ใน “ความเป็นมนุษย์” นั่นเอง         โดยทั่วไปแล้ว ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกบุคคลถูกตัดสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับคนอื่น และท้ายที่สุด ความเป็นมนุษย์ของเขาก็จะค่อยๆ ถูกทำลายไป         เพราะฉะนั้น เมื่อมูนถูกฝึกให้เป็นมือสังหาร เธอจึงกลายเป็นคนที่ไร้จิตใจ ไร้ความรัก ไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ที่จะยึดโยงผูกพันกับคนรอบข้าง และที่สำคัญ เธอจะแปลกแยกไม่เหลือความเป็นคน จนกลายเป็นเพชฌฆาตสมญาบลัดดี้มูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับที่นายได้เคยกล่าวถึงมูนกับ “ลุงแสง” ครูฝึกนักฆ่าว่า “เลี้ยงมันให้กลายเป็นนักฆ่า ทำลายความเป็นมนุษย์ของมันลง”         หลังจากกลายเป็นนักฆ่าสาวเลือดเย็นแล้ว ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่แต่ต้อง “หันซ้ายหันขวา” ไปตามอาณัติอำนาจของนาย ทำให้มูนลงมือสังหารศัตรูของนายลงคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งที่มูนทำงานพลาด เธอเองจึงถูก “ภพ” กับ “เข้ม” ลูกสมุนซ้ายขวาของนายไล่ฆ่า และพลาดท่าพลัดตกจากหน้าผาในคืนวันที่พระจันทร์ส่องแสงเป็นสีเลือด         ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกหนุ่ม “อติรุจ” หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติป่างาม มูนสามารถรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอกลับตกอยู่ในสภาพความจำเสื่อม และมีพฤตินิสัยที่แตกต่างไปจากนักฆ่าสาวเลือดเย็นโดยสิ้นเชิง         หลังจากไฟล์ตัวตนเดิมถูกดีลีทไปจากคลังความทรงจำ มูนได้มาสวมอัตลักษณ์เป็นแม่บ้านคนใหม่ของอติรุจ พร้อมกับชื่อที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า “จันทร์เจ้า” ก่อนที่ภายหลังก็ต้องมาสวมบทบาทเป็นภรรยาปลอมๆ ของพระเอกหนุ่ม เพื่อช่วยให้เขาหนีรอดจากการคลุมถุงชนของ “เฉิดโฉม” ผู้เป็นมารดา         กล่าวกันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะแปลกแยกเพียงใด ความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยในจิตวิญญาณของคนเรา ก็ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่รอวันดิ้นรนเพื่อฟื้นคืนชีพ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นประหนึ่งดินน้ำปุ๋ยและแสงแดดจะเอื้ออำนวย ดังนั้นจันทร์เจ้าสาวน้อยผู้ที่ถือกำเนิดใหม่จึงเริ่มเรียนรู้และซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่สึกหรอ ด้วยเพราะผู้เป็นนายเคยสะบั้นและพรากไปเสียจากห้วงชีวิตของเธอ         เริ่มจากสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่ “สาวใหญ่” ผู้เป็นเสมือนพี่สาวที่คอยช่วยเหลือและรับฟังทุกข์สุขของจันทร์เจ้า กลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานและชาวบ้านแห่งป่าเกาะงามที่ไม่ต่างจากเครือญาติกลุ่มใหม่ ภพและลุงแสงผู้แอบคอยช่วยดูแลจันทร์เจ้าอยู่ห่างๆ ไปจนถึงความรักที่ผลิบานกับพระเอกหนุ่มอติรุจผู้ที่กล่าวกับจันทร์เจ้าในช่วงที่เธอถูกทำร้ายจนสลบว่า “กลับมานะจันทร์เจ้า เธอยังมีฉันในวันที่อ้างว้าง โลกใบนี้ไม่ได้หม่นหมอง โลกใบนี้ยินดีต้อนรับเธอเสมอ”         ที่น่าสนใจ เมื่อนักฆ่าตัดสินใจปลดอาวุธมาเป็นแม่บ้าน ทักษะควงมีดใช้ดาบแบบเดิมก็กลายมาเป็นทักษะในงานครัว จันทร์เจ้าได้ปรับเปลี่ยนอาวุธที่รุนแรงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารใหม่ๆ เสน่ห์ปลายจวักกับคมมีดในห้องครัวทำให้เธอได้ลงแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของ “อาจารย์ป้าพาเพลิน” ผู้เป็นกูรูอาหาร และได้ใช้รสชาติอาหารเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งชายคนรักของเธอ         แต่ทว่า สิ่งที่จันทร์เจ้าต้องเรียนรู้ก็คือ ในขณะที่กำลังฟื้นฟูสภาวะความเป็นมนุษย์กลับมานั้น ระบอบแห่งอำนาจเองก็ไม่เคยเปิดให้ปัจเจกบุคคลเป็นอิสระหลุดพ้นไปจากวังวนของมันไปได้ ยิ่งเมื่อภายหลังละครได้เฉลยคำตอบว่า ตัวจริงของนายก็คือ “อธิปัตย์” ผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของอติรุจ จันทร์เจ้าผู้เลือกสลัดความเป็นบลัดดี้มูนทิ้งก็พบว่า อำนาจของนายยิ่งไม่มีวันปล่อยให้เธอได้เลือกทางเดินชีวิตหรือเป็นมนุษย์ไปได้จริงๆ เหมือนกับที่นายเองก็เคยสบถออกมาว่า “เป็นนักฆ่า สะเออะจะมีความรัก…”         เพราะจันทร์เจ้าเชื่อว่า “ทุกครั้งที่นายเรียกว่ามูน หนูจะรู้สึกเจ็บปวดตลอด” ฉะนั้นหนทางเดียวที่ปัจเจกจะหลุดรอดไปจากกรงแห่งอำนาจ อาจไม่ใช่การหนีไปให้พ้น หากแต่ต้องตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่แผ่ซ่านไปถ้วนทั่วทุกๆ อณูของสังคม และต้องเป็นการต่อสู้ในแบบที่เธอเป็น ไม่ใช่ในแบบบลัดดี้มูนอีกต่อไป         เมื่อมาถึงฉากอวสานของละคร แม้ด้านหนึ่งเราจะได้เห็นจุดจบของนายเป็นบทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ แต่ในอีกด้านจันทร์เจ้าก็ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตกันใหม่ โดยมีความรักดีๆ ของพระเอกหนุ่มและคนรอบข้างเป็นน้ำเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงอยู่         ในวันนี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขอพร “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้ข้าวได้แกงหรือได้แหวนทองแดงมาผูกมือ “น้องข้า” กันเหมือนเดิมต่อไปแล้ว หากคงต้องร้องเพลงขอพรให้ “น้องข้า” หลุดพ้นจากสภาพนักฆ่า และหวนคืนความเป็นมนุษย์ที่นับวันจะแปลกแยก ห่างเหิน และแร้นแค้นกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี : ไทยกับพม่ารักกันตรงไหน ให้เอาปากกามาวง

หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า “แม่น้ำอิรวดี”ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนานด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร                  โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว “นุชนาฏ” ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “ปกรณ์” หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก         และเหมือนกับชื่อเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย         แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม                  เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ “อูเทวฉ่วย” มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ “โมฮิงกา” ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้         เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์         ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา “เป็นอยู่คือ” หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร         แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง “ซินซิน” และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน         เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ “ปิ่น” หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ “โยเดีย” ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ “เจ้าฟ้ากุณฑล” และ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน          การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง         ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ “สะสะ” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า “หม่องสะ” ศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด         “อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น         เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก “อยุธยา” บ้านเกิดของเธอว่า “โยเดีย” อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม         จาก “เจ้าพระยา” สู่ “อิรวดี” ก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก “อิรวดี” ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ “เจ้าพระยา” แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 Help Me คุณผีช่วยด้วย : แล้วใครจะช่วยคุณผีบ้างครับ

              “ผี” เป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบุพกาล ก่อนที่พุทธศาสนาจะถูกนำเข้าจากอนุทวีปมาหยั่งรากแตกกอออกเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ         สำหรับคนไทยเราแล้ว ผีเป็น “อมนุษย์” หรือมี “ความเป็นอื่น” ซึ่งต่างไปจากมนุษย์ ผีมีทั้งที่ร้ายและที่ดี อันว่าผีร้ายก็น่าจะหมายรวมถึงภูตผีสัมภเวสีที่เฝ้าแต่จะหลอกหลอนทำร้ายผู้คน แต่ทว่าในส่วนของผีดีนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกุศโลบายความเชื่อที่คนโบราณสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดระเบียบจารีตปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้คนในสังคม         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผีจึงเป็นกลไกการควบคุมทางสังคม เพราะผีร้ายจะลงโทษทัณฑ์ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตนไปในทางไม่ดี ดังข้อห้ามในสังคมไทยไม่ให้ผู้ใดกระทำ “เสียผี” หรือ “ผิดผี” แต่ในเวลาเดียวกัน ผีดีก็จะคอยพิทักษ์ปกป้องผู้ที่ประพฤติดี เฉกเช่นวลีที่ว่า “คนดีภูตผีย่อมคุ้มครอง”         แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ หากผีเป็นกลไกกำกับควบคุมการขับเคลื่อนชีวิตผู้คนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร และเมื่อใดก็ตามที่คนดีตกอยู่ในภยันตราย ผีดีก็จะคอยช่วยเหลือคุ้มครองด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีที่คอยอภิบาลปกป้องคนดีกลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ จนหาทางออกไม่ได้เสียเอง คำตอบข้อนี้คงต้องเรียนรู้จากชะตากรรมของผีในละครโทรทัศน์กึ่งคอมเมดี้กึ่งดรามาอย่าง “Help Me คุณผีช่วยด้วย”         เรื่องราวความรักของ “มุทิตา” ยูทูบเบอร์สาวสวย นักรีวิสินค้าน้อยใหญ่ กับ “เขตขันธ์” ไฮโซนักธุรกิจหนุ่มคุณสมบัติสุดเพอร์เฟ็คต์ รูปหล่อพ่อรวยแม่หวง ที่กว่าจะลงเอยครองคู่กันได้ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากวิญญาณผีของ “อานนท์” เพื่อให้ “มิสชั่น” ของเธอและเขา “พอสสิเบิ้ล” ได้ในฉากแฮปปี้เอนดิ้ง         เพราะมุทิตามาจากครอบครัวของชนชั้นกลาง มีมารดาเป็นอดีตนางงามและเป็นแม่บ้านสายมูผู้บ้าโชคลางอย่าง “เฉิดฉาย” กับบิดาข้าราชการครูผู้คิดบวกอย่าง “วิหาร” จึงก่อกลายเป็นปมเงื่อนที่แม่ของเขตขันธ์ “คุณนายมัณฑนา” ตั้งแง่รังเกียจว่าที่ลูกสะใภ้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจสังคมหาใช่จะควรคู่กับบุตรชายมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปได้เลย         ปมความขัดแย้งที่สั่งสมมานี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวละคร เมื่อเขตขันธ์วางแผนจัดฉากเซอร์ไพรส์ขอมุทิตาแต่งงาน โดยจ้างอานนท์อดีตสตั๊นแมนอารมณ์ดีมาแกล้งปลอมเป็นโจร แต่แผนการนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมุทิตาเลือกปฏิเสธเขตขันธ์โดยอ้างว่า เธอเองยังไม่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่กับเขาในเวลานั้น         แต่แล้วการณ์ยิ่งกลับตาลปัตรมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากความรักของตัวละครเอกจะดูไม่เป็นไปตามคาดหวังแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ภาพตัดสลับมาที่อานนท์ซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านเพื่อไปหาลูกเมีย กลับถูกคนร้ายดักปล้นและทำร้ายจนเสียชีวิต อานนท์จึงกลายมาเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนซึ่งตายก่อนกำหนด เพียงเพราะ “หน่วยคัดกรองบุญบาป” ของยมโลกวินิจฉัยอายุขัยของเขาผิดพลาดคลาดเคลื่อน         หากผีเป็นอุบายที่ใช้เป็นกลไกควบคุมทางสังคม และให้ความคุ้มครองดูแลต่อผู้กระทำดี ดังนั้น แม้จะเป็นวิญญาณร่อนเร่ล่องลอย ยมทูตจึงได้มอบหมายพันธกิจให้อานนท์เล่นบทบาทคอยช่วยเหลือสรรพชีวิตทั้งหลายที่ทำคุณงามความดี แต่กลับต้องเผชิญห่วงกรรมต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นทุกข์ทั้งปวง         เมื่อต้องเล่นบทบาท “คุณผี” ที่คอยปกป้องดูแลสัตว์โลก และเพราะอานนท์กับมุทิตาเกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน ทำให้วิญญาณอานนท์สามารถปรากฏร่างให้มุทิตาเห็นได้ และคอยเฝ้าช่วยเหลือความรักของนางเอกสาวได้ลงเอยสมหวังกับเขตขันธ์ให้จงได้         แต่ทว่า ยิ่งเมื่อก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตส่วนตัวและสายสัมพันธ์ระหว่างยูทูบเบอร์สาวกับไฮโซเศรษฐีหนุ่ม คุณผีอานนท์ก็เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังปัญหาทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตคนเราล้วนมีสาเหตุมาจากการเห็นผิดจนติดยึดและไม่อาจปล่อยวางทุกข์ต่างๆ นั้นได้เลย         อาการยึดติดไม่ปล่อยวางนี้ ดูจะแผ่ซ่านประหนึ่งโรคระบาดฝังแน่นอยู่ในจิตใจของถ้วนทั่วทุกตัวละคร ตั้งแต่ตัวมุทิตาเองที่ยึดติดงานเป็นสรณะ จนลืมไปว่าการบ้างานเกือบทำให้เธอต้องสูญเสียชายคนรักไป แถมร่วมด้วย “สุธาพร” หมอหนุ่มอดีตคนรักของมุทิตาที่ไม่ยอมมูฟออน หากแต่เฝ้าวนเวียนในชีวิตนางเอก จนทำให้เขตขันธ์เองก็มักขาดสติเป็นเนืองๆ เพราะคิดว่าหญิงคนรักยังมีเยื่อใยต่อชายคนรักเก่าอยู่         อาการ “ผีซ้ำด้ำพลอย” ยังบังเกิดตามมาอีก ไม่ว่าจะมาจาก “ปวีณา” หญิงคนรักใหม่ของหมอสุธาพรที่เป็นยิ่งกว่าโรคลมเพชรหึงและไม่ยอมปล่อยวางเรื่องความรัก จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียในฉากจบเรื่อง หรือ “ละออองค์” หญิงสาวอีกคนผู้เป็นศัตรูหัวใจที่คอย “กดปุ่มสตีล” เพื่อฉกเขตขันธ์ไปจากนางเอกมุทิตา ไปจนถึงคุณนายมัณฑนาที่เฝ้ายึดติดอยู่กับการไร้ฐานานุรูปทางเศรษฐกิจสังคมของว่าที่ลูกสะใภ้ จนเพิกเฉยต่อความรู้สึกที่อยู่ในหัวใจของบุตรชายตนเอง         เมื่อความรักของมุทิตากับเขตขันธ์ต้องเปิดศึกรอบด้าน และกลายมาเป็นแหล่งหลอมรวมมนุษยชาติผู้เปี่ยมมิจฉาทิฐิมากหน้าหลายตาหลากเหตุปัจจัยและผลประโยชน์เยี่ยงนี้แล้ว อาการที่ตัวละครเอกต้องกู่ร้อง “help me” ขอให้คุณผีอานนท์เข้ามาช่วยเหลือ จึงเหมือนกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่ผู้ชมได้ยินซ้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง         แม้วิญญาณอานนท์จะถูกยมทูตวางตัวเล่นให้บทบาทคุณผีซูเปอร์ฮีโร่ช่วยภารกิจให้มนุษย์สัมฤทธิ์ผลสมหวังก็ตาม แต่ที่ชวนขบขันเสียดสีอยู่ในทีก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาผีๆ ทั้งหลายในปรโลกเอง ก็เหมือนจะติดกับอยู่ในวังวนการไม่ปล่อยวาง ไม่ต่างจากตัวละครผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์เราๆ กันเลย         ตั้งแต่วิญญาณ “อากง” ที่เป็นห่วงลูกหลานจนไม่ยอมปล่อยวาง วิญญาณ “ป้าศรี” แม่ค้าส้มตำผู้ตามอาฆาตสามีหนุ่มที่แอบมีเมียน้อย วิญญาณผีโฮสผัวน้อยที่รอคอยการหลุดพ้น และวิญญาณอีกน้อยใหญ่ รวมไปจนถึงตัวของคุณผีอานนท์เองที่ผูกห่วงไว้กับ “อนงค์” ผู้เป็นภรรยา และหึงหวง “พงศ์สนิท” ชายหนุ่มที่เสนอตนมาเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับอดีตภรรยาของเขา        จนมาถึงฉากจบของเรื่องที่วิญญาณอานนท์สามารถช่วยเหลือตัวละครเอกจนสมหวังเรื่องความรักได้แล้ว คุณผีของเราก็ได้เล็งเห็นว่า ความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตล้วนเกิดขึ้นจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยวาง อานนท์จึงเริ่มทำใจวางอุเบกขาเรื่องความรัก ก่อนจะตัดสินใจอำลามุทิตาเพื่อเดินทางไปสู่สัมปรายภพ        บทสรุปของละครจึงเหมือนจะย้อนกลับไปสู่เสียงความในใจของอานนท์ที่เปิดฉากให้เราได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “เพราะแต่ละคนมีวิบากแห่งกรรมของตน หากไม่รู้จักปล่อยวาง ตายไปแล้วก็จะไม่มีความสุข”         นี่ขนาดทั้งคนทั้งผียึดติดอยู่กับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ และเรื่องของครอบครัว คนกับผีก็เกิดอาการเสียศูนย์จนต้องร้อง “help me” กันจ้าละหวั่น ถ้าเป็นเรื่องการยึดติดกับเก้าอี้ ชื่อเสียง ลาภยศ เงินทอง ไปจนถึงอำนาจด้วยแล้ว ถึงจะตะโกน “help me” สักกี่พันครั้ง ก็ไม่รู้ว่าคนและผีจะยอมหลุดพ้นปล่อยวางกันได้จริงๆ ล่ะหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระเช้าสีดา : ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาไม่รักหรอก

              มีข้อสังเกตอยู่ว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำคุกรุ่นอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่ทว่าจิตสำนึกของคนไทยก็มักเลือกที่จะ “ซุกขี้ฝุ่นไว้ใต้พรม” หรือใช้วิธีหรี่ตาให้กับความขัดแย้งต่างๆ แต่ในขณะที่สังคมไทยพยายามปิดบังอำพรางเชื้อฟืนแห่งความขัดแย้งเอาไว้ กลับเป็นละครโทรทัศน์ที่เลือกจะ “เลิกพรมขึ้นมาดูขี้ฝุ่นที่อยู่ใต้พื้น” และนำความเหลื่อมล้ำขัดแย้งมาเผยให้ได้เห็นกันอยู่ทุกค่ำคืน         และหนึ่งในความขัดแย้งที่มักถูกมานำเสนอเป็นเรื่องเล่าของละครโทรทัศน์ ก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง ซึ่งต่างก็ช่วงชิงโอกาสและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจสังคม และยังเป็นเส้นเรื่องในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนในละครโทรทัศน์เรื่อง “กระเช้าสีดา”         เมื่อสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยอ่านนิทานตำนานของต้นไม้ที่ชื่อ “กระเช้าสีดา” ว่า แต่เดิมไม้เถาพันธุ์นี้เป็นกระเช้าของนางสีดาที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่นางถูกทศกัณฐ์อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม จากนั้นทวยเทพยดาเบื้องบนจึงบันดาลดลให้กระเช้ามีรากงอกออกมาเป็นไม้เถา เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของนางสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์         แม้ในทุกวันนี้ ต้นกระเช้าสีดาจะยังมีข้อถกเถียงว่า ใช่ต้นไม้กาฝากที่เฝ้าคอยดูดน้ำเลี้ยงจากไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้เถาที่เพียงอิงแอบอาศัยไม้อื่นเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยกันแน่ แต่สำหรับในละครโทรทัศน์แล้ว กระเช้าสีดาเป็นอุปมาอุปไมยถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่แอบอิงเอาแต่จะเกาะกินเซาะทำลายชนชั้นนำที่วางสถานะเศรษฐกิจสังคมไว้สูงส่งกว่า         หากกระเช้าสีดาเป็นไม้เลื้อยที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไม้อื่น ตัวละครอย่าง “รำนำ” ก็เหมือนจะถูกสร้างขึ้นให้เป็นภาพแทนของเถาไม้แห่งชนชั้นล่างดังกล่าว รำนำเติบโตเป็นเด็กรับใช้ และเป็นลูกของ “นุ่ม” สาวใช้ในบ้านของ “ลือ” เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ ลือจึงสงสารและเอ็นดูเด็กหญิง เพราะคิดเสมอว่า เด็กที่ขาดพ่อก็ขาดซึ่งความอบอุ่น เลยอนุญาตให้รำนำนับถือเรียกเขาว่า “คุณอา” ทั้งที่ลึกๆ ในใจนั้น รำนำกลับแอบผูกจิตปฏิพัทธ์ให้กับ “คุณอา” ผู้เป็นญาติสมมติมาตั้งแต่เติบโตเข้าสู่วัยสาว         ตรงข้ามกับผู้หญิงอีกคนอย่าง “น้ำพิงค์” ซึ่งละครเปิดฉากแรกก็แนะนำให้ผู้ชมรับรู้สถานภาพของเธอในฐานะประธานบริหารเจ้าของบริษัทรถยนต์นำเข้าจากยุโรป และด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เช่นนี้เอง เมื่อน้ำพิงค์แต่งงานมาใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับลือ จึงเท่ากับการทำลายความฝันและพรากความหวังที่รำนำจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจหนุ่มใหญ่ที่เธอแอบหลงรักมานานแล้ว         ความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจและหน้าตาทางสังคมของผู้หญิงสองคนที่โคจรให้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ลูกแม่บ้าน กับอีกคนหนึ่งเป็นหญิงที่เพียบพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงไม่ต่างจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้สมุทรที่ความขัดแย้งแห่งชนชั้นรอคอยวันปะทุขึ้นมา         เมื่อไม่มีต้นทุนชีวิต รำนำก็ได้แต่เชื่อว่า การอยู่เฉยๆ เป็น “ข้าวรอคอยฝน” คงไม่ใช่คำตอบในชีวิตของเธอ ผู้หญิงที่เกิดมาในสถานะแบบชนชั้นล่างจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสด้วยสองมือของตนเอง         ประโยคที่รำนำเน้นย้ำกับแม่ว่า “พวกเราเป็นคนต่ำต้อย ไม่มีใครเขาประเคนอะไรให้เราหรอก ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องแย่งเอง” อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้จะ “เกิดมาเป็น” ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีจิตสำนึกที่ศิโรราบต่อสถานะอันเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งปัจเจกบุคคลจึงเริ่มต้นขึ้น และแม้จะไม่มีต้นทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด หากทว่า “นารีก็ยังมีรูปที่เป็นทรัพย์” รำนำจึงวางแผนหว่านเสน่ห์ยั่วให้ลือลุ่มหลง และมีสัมพันธ์เกินเลยกับเธอ รวมไปถึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ “ความลับไม่เป็นความลับ” จนสามารถเขย่าขาเตียงของลือกับน้ำพิงค์ และนำไปสู่การหย่าร้างจากกันได้ในที่สุด         แต่ทว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รำนำก็ต้องเรียนรู้ในสนามต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ สำหรับชนชั้นนำอย่างน้ำพิงค์แล้ว เนื่องจากมีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมที่ล้นเกิน แถมยัง “สวยเลือกได้” อีก สโลแกนของคนกลุ่มนี้จึงครวญออกมาเป็นวลีที่ว่า “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เพราะแม้จะเลิกรากับลือไป เธอก็พร้อมจะมีหนุ่มโสดในฝันอย่าง “อำพน” มาจ่อคิวรอคอยดูแล ก่อนจะก้าวเป็น “สามีแห่งชาติ” ในลำดับถัดมา         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถลำเข้าสู่สมรภูมิเกมแห่งชนชั้นแล้ว รำนำก็ได้สำเหนียกว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมต่างถักสานโครงข่ายผลประโยชน์ระหว่างกันของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้งผลประโยชน์ด้านสว่างและด้านมืดที่โยงใยอย่างซับซ้อน โดยที่ลูกสาวคนใช้อย่างเธอยากนักจะเข้าไปเจียดแบ่งผลประโยชน์มาดอมดมได้บ้างเลย         เริ่มจากหนุ่มหล่อลูกชายของเจ้าของธุรกิจสื่อรายใหญ่อย่าง “เวไนย” ผู้เคยแอบหลงเสน่ห์ที่รำนำโปรยไว้ให้ แต่เมื่อรู้ภายหลังว่ารำนำเป็นลูกสาวใช้และเป็นอนุภรรยาของลือ เขาก็เลือกสลัดเธอทิ้งไป พร้อมๆ กับสนับสนุนมารดาให้ใช้อำนาจสั่งปลดรำนำจากพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ตามมาด้วย “ศศี” นักธุรกิจสาวที่คอยกีดกันความรักที่รำนำมีต่อลือ จนสร้างความขัดแย้งของผู้หญิงสองคนชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย         แถมด้วย “พาที” ผู้บริหารธุรกิจกลางคืน ก็หลอกใช้รำนำเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางสู่ผลประโยชน์ของเขา ไปจนถึง “ท่านจรินทร์” นักการเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นรำนำเป็นเพียงของเล่นชั่วครั้งคราว หรือหลอกใช้เธอให้เป็นบันไดเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แต่ยังสั่งฆ่าเธอได้เมื่อของเล่นชิ้นนี้หมดประโยชน์ลง         ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเช่นนี้ คนชั้นล่างผู้เสียเปรียบก็ยิ่งถูกทำให้เสียเปรียบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขูดรีดผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่เหนือกว่าอยู่วันยังค่ำ แถมซ้ำด้วยการถูกยัดเยียดฝากฝัง “ความรู้สึกผิด” เอาไว้ในความคิดของชนชั้นล่างโดยคนกลุ่มเดียวกันเอง เหมือนกับที่แม่นุ่มก็พูดย้ำเตือนสำนึกอันผิดพลาดของรำนำว่า “คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาแบบไหน หรือพ่อแม่มีอาชีพอะไร แต่มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำตัวไร้ค่า ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไร้ค่าอยู่ดี”         ด้วยต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกันในสนามรบนี้ แม้ในตอนจบเรื่อง รำนำอาจจะพิชิตหัวใจของลือและลงเอยใช้ชีวิตคู่กับเขาได้ก็ตาม แต่ “ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน” สำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นก็ช่างแพงแสนแพงเหลือเกิน ทั้งถูกทำร้ายจนเหลือเพียงร่างพิการ ทั้งเสียลูกที่อยู่ครรภ์ ไปจนถึงสูญเสียชีวิตแม่นุ่มผู้ได้ชื่อว่าหวังดีที่สุดในชีวิตของเธอ         ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง ทางออกของความขัดแย้งได้รอมชอมขึ้น เมื่อรำนำและน้ำพิงค์หันหน้ามาปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อผู้หญิงจากชนชั้นที่แตกต่างหันมาพูดคุยกันอีกคำรบหนึ่งเช่นนี้ บางทีละครก็ทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า ระหว่างผู้หญิงที่ “ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” กับผู้หญิงที่ “ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตนทางเศรษฐกิจสังคม” นั้น คนกลุ่มใดกันแน่ที่เป็นไม้เลื้อยหรือกาฝากที่เกาะเกี่ยวพันไม้อื่นเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่เบี้ย : จิตมนุษย์นี้ไซร้…อยู่ในเรือนไทยริมน้ำ

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้” คืออะไรกันแน่? แม้นว่าความข้อนี้ดูจะตอบได้อย่าง “ยากแท้หยั่งถึง” แต่มนุษย์เราก็ยังมุ่งหมายที่จะเข้าถึงปริศนาธรรมอันยากหยั่งจะควานหาคำตอบนี้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างของศาสตร์ความรู้ด้าน “จิตวิทยา” สมัยใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เป็นความพยายามของการแสวงหาคำตอบว่า จิตของมนุษย์คืออะไร ดำรงอยู่ที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไร         นักจิตวิทยาบางคนได้ใช้หลักการทดลองกับหนูตะเภาหรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ ในห้องแล็บ ก่อนจะให้ข้อสรุปว่า จิตของคนเราเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา ตามแต่ว่าจะมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่าง ในขณะเดียวกับที่นักจิตวิทยาบางรายกลับเห็นว่า จิตคือการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อโลกรอบตัว จนเกิดเป็นความเข้าใจที่สลักฝังไว้เป็น “กล่องดำ” ในคลังความคิดของคนเรา         อย่างไรก็ดี ถ้าเรานำคำถามเดียวกันนี้ไปขอคำตอบจากคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คุณปู่ฟรอยด์ก็จะอธิบายว่า จิตของมนุษย์นั้นเป็นด้านที่เราไม่สำเหนียกรู้ตัว เป็นส่วนที่ไร้สำนึก ทว่าหลบเร้นเป็นแรงขับที่อาจจะรอวันปะทุไม่ต่างจากภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ใต้มหาสมุทร         เพื่อจำลองให้เห็นว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา…” และจิตของคนเราก็ดำดิ่งฝังลึกอยู่ใต้ห้วงมหรรณพเฉกเช่นนี้ เราอาจต้องไปลองส่องดูความเป็นไปของตัวละครต่างๆ ณ เรือนไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรีในละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่เบี้ย” หรือที่ใครต่อใครตั้งสมญาให้ว่าเป็น “เรือนบาป”         เรือนไทยริมน้ำที่ฉากหน้าดูสวยงามแปลกตาหลังนี้ มีอีกด้านที่เป็นอดีตอันลี้ลับดำมืดหลบเร้นอยู่ ทายาทรุ่นปัจจุบันของเรือนดังกล่าวเป็นหญิงสาวสวยลึกลับผู้มีนามว่า “เมขลา” ซึ่งแม้จะมีชีวิตที่ดูรักสันโดษ แต่ความงามของนางก็ดึงดูดชายหนุ่มมากหน้าหลายตาให้แวะเวียนมาเยือนเรือนไม้โบราณของเธอ         แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาที่คอนโดฯ หรูหราใจกลางป่าคอนกรีตของกรุงเทพมหานคร เมขลากลับดำเนินชีวิตผกผันแตกต่างไปจากที่เคย “เป็นอยู่คือ” ในเรือนไทยริมน้ำชนบท เธอเป็นเซเลบเจ้าของบริษัททัวร์ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม และมักจะพานักท่องเที่ยวมาเยือนเรือนไทยโบราณซึ่งเธอถือมรดกครอบครองอยู่         หากเรือนไทยริมน้ำเป็นประดุจแบบจำลองแห่งจิตของมนุษย์ เรือนโบราณที่ตั้งเด่นตระหง่านนี้เองก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของงูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ อสรพิษตัวยักษ์ทำหน้าที่ปกป้องและพร้อมจะคร่าชีวิตใครก็ตามที่ไม่หวังดีต่อเมขลาและทุกคนที่อาศัยอยู่ในเรือนริมน้ำ จนชาวบ้านต่างโจษจันกันว่า งูใหญ่ที่มักแผ่แม่เบี้ยพังพานตัวนี้เป็น “งูผี” บ้าง หรือเป็น “งูเจ้า” บ้าง “งูเจ้าที่” บ้าง         จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “ชนะชล” หนุ่มใหญ่คุณพ่อลูกสอง ได้ขอให้ “ภาคภูมิ” เลขานุการส่วนตัวของเขาช่วยหาเรือนไทยโบราณริมน้ำสักหลัง เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่พักผ่อนเงียบๆ เมื่อว่างจากภาระงาน ภาคภูมิจึงได้ติดต่อให้ชนะชลเข้าร่วมคณะทัวร์ของเมขลา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พระเอกหนุ่มได้จมดิ่งสู่ห้วงแห่งจิตที่อยู่ในหลืบลึกของบ้านเรือนไทย และเผชิญหน้ากับความลับของงูเห่าตัวใหญ่ตัวนั้น         ตามทัศนะของคุณปู่ฟรอยด์ เพราะจิตเป็นสนามสัประยุทธ์กำลังกันระหว่างด้านดิบๆ ของสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนเรา กับอีกด้านที่เป็นกฎระเบียบศีลธรรมของสังคมที่เข้ามากำกับปิดกั้นมิให้ความปรารถนาดิบๆ เหล่านั้นได้เผยอตัวออกมา การช่วงชิงชัยระหว่างสองด้านที่อยู่ในจิตของมนุษย์นี้เองถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตตาหรือตัวตนของปัจเจกบุคคล         ดังนั้น เมื่อชนะชลได้เดินทางมาถึงเรือนโบราณหลังนี้ ความทรงจำบางอย่างที่หลบเร้นอยู่ในจิตของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ก็เริ่มเผยตัวตนออกมา นอกจากเรือนไม้หลังเดียวกันนี้จะปรากฏเป็นฉากหลังในความฝันหรือห้วงจิตไร้สำนึกของเขาอยู่เป็นเนืองๆ แล้ว ในจิตนิวรณ์แห่งฝันอีกเช่นกัน ที่เขาเห็นภาพตัวเองกำลังจมดิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำ อันเป็นบาดแผลเจ็บปวดที่ชนะชลเคยเกือบเสียชีวิตกลางสายน้ำมาตั้งแต่วัยเด็ก         ขณะเดียวกัน พลันที่ชนะชลได้มาพบกับเมขลาเป็นครั้งแรก อารมณ์และจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงสาวก็ปะทุขึ้น แม้ชนะชลจะแต่งงานอยู่กินกับ “ไหมแก้ว” ผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในแวดวงสังคมชั้นสูง และมีลูกด้วยกันสองคน ไม่ต่างจากภาพอุดมคติครอบครัวที่สังคมได้กำหนดคาดหวังเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่งศีลธรรมครอบครัวก็คอยย้ำเตือนให้เขาต้องกักกั้นเก็บกดความปรารถนาทางเพศรสที่มีต่อนางเอกสาว ไม่ให้สำแดงตนออกมา         ทุกครั้งที่ได้มาเยือนเรือนไทยด้วยจิตผูกพันถวิลหาในตัวเมขลา ชนะชลก็สัมผัสได้ว่า มีสายตาของงูเห่าตัวใหญ่คอยจับจ้องมองการกระทำของเขาอยู่ ยิ่งเมื่อเส้นศีลธรรมระหว่างหนุ่มใหญ่กับหญิงสาวจะถูกล่วงละเมิดขึ้นคราใด งูเจ้าที่ก็ไม่เพียงปรากฏตัวออกมา หากแต่มุ่งมาดจะเข้ามาฉกทำร้ายชนะชลทุกครั้งครา         งูเห่าที่คอยแผ่แม่เบี้ยหลอกหลอนตัวนี้ จึงไม่ต่างจากกรอบศีลธรรมทางสังคมที่คอยกระตุกเตือน “ความรู้สึกผิด” ของตัวละคร เหมือนกับคำสรรพนามแบบเคารพที่เมขลาเรียกงูใหญ่ว่า “คุณ” อันมีนัยประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ด้านดิบได้เข้าครอบงำตัวตนของปัจเจกบุคคล         แต่ก็เหมือนที่คุณปู่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้ แม้จะปิดกั้นเก็บกดไว้ด้วยความรู้สึกผิดเพียงไร แต่ทว่า ในห้วงลึกของจิตนั้น ด้านดิบหรือ “ดำฤษณา” แห่งตัวละครก็ดูจะเกินหักห้ามข่มจิตใจเอาไว้ได้ ดังนั้น เมื่อกลับจากเรือนไทยริมน้ำ ชนะชลก็ได้แต่ฝันซ้ำๆ ถึงเรือนไม้โบราณ และในฉากฝันนั้น เมขลาในชุดไทยก็จะคอยกระทุ้งแรงปรารถนาและกามารมณ์ของเขา ไม่ต่างจากเมขลาเองก็ร้อนรุ่มและพยายามขัดขืนผลักไส หรือแม้แต่แสดงอาการเกรี้ยวกราดต่อ “คุณ” หรืองูเห่าเจ้าที่ให้ออกไปจากชีวิตของทั้งเขาและเธอ         จนเมื่อมาถึงขีดสุด มนุษย์เราก็พร้อมจะสลัดม่านประเพณีปฏิบัติที่เกาะกุมจิตแห่งตน แม้งูเห่าตัวใหญ่จะออกมาเตือนเป็นระยะๆ แต่ความปรารถนาดิบของพระเอกหนุ่มก็ทำให้เขา “รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง” ท้าทายกับอสรพิษร้ายผู้ลึกลับและน่ากลัว         ดังภาพอีโรติกต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่องละคร ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ชายหนุ่มหญิงสาวชวนกั้นคั้นกะทิสด (ซึ่งดูหวือหวาต่างออกไปจากภาพจำของฉากขูดมะพร้าวในตำนาน) ฉากร่วมรักหลับนอนบนเตียงไม้ และล้ำเส้นศีลธรรมที่สังคมเรียกว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ไปจนถึงฉากที่ชนะชลยอมก้มกราบไหมแก้วผู้เป็นภรรยา เพราะศิโรราบต่อแรงขับแห่งอารมณ์ดิบๆ ซึ่งเขาเองกลับทึกทักไปว่า นั่นเป็นเพราะ “พรหมลิขิต”         จนมาถึงฉากจบ หลังจากได้เห็นสรรพชีวิตที่สูญเสียท่ามกลางวังวนแห่ง “เรือนบาป” และเรียนรู้วัตรวิถีแห่งจิตมนุษย์กันแล้ว ชนะชลผู้มีชื่อแปลว่าชัยชนะเหนือสายน้ำ ก็เลือกจะหันกลับมาเผชิญหน้ากับ “คุณ” และยอมพ่ายแพ้ดิ่งดำสู่ใต้ท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมขลาที่เลือกจะกำจัด “คุณ” ให้หายไปจากชีวิต และเดินดำดิ่งสายน้ำสู่ห้วงแห่งดำฤษณาไปกับชนะชล ก่อนจะทิ้งปริศนาของงูเห่าตัวใหญ่และเรือนไทยริมน้ำไว้อีกครา เพื่อรอคอยมนุษย์รายถัดไปให้มาเรียนรู้และเข้าใจการดำรงอยู่แห่งจิตที่ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >