ฉบับที่ 147 บ่วงบาป ก็เพราะนารี ไม่ได้มีแค่รูปที่เป็นทรัพย์”

คำโบราณของไทยกล่าวเอาไว้ว่า “นารีนั้นมีรูปที่เป็นทรัพย์” อันหมายความว่า เมื่อเทียบกับทุนทั้งหมดที่สตรีไทยในอดีตได้สั่งสมมา เรือนร่างและหน้าตาคือต้นทุนที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง ที่จะใช้ผลิดอกออกผลและพิชิตชัยเหนือบุรุษเพศทั้งปวงได้   อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้นหากว่านารีที่มีรูปเป็นทรัพย์นั้น มีจำนวนที่มากกว่าหนึ่งคน สถานการณ์เยี่ยงนี้คงไม่แตกต่างไปจากฉากการเผชิญหน้ากันระหว่าง “รำพึง” บุตรสาวเจ้ายศเจ้าอย่างของพระยาเทวราช เธอผู้ซึ่งอยากได้อะไรก็ต้องได้และไม่เคยรู้จักกับคำว่าแพ้ กับ “ชุ่ม” นางทาสผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความดีและมีหัวใจรักที่มอบให้เพียง “ขุนพิทักษ์” นั่นเอง และเพราะในละครเรื่อง “บ่วงบาป” นี้ เลือกสร้างให้ตัวละครผู้หญิงที่ต่างศักดิ์ชั้นวรรณะต้องมาเผชิญหน้ากัน ควบคู่ท่ามกลางไปกับความขัดแย้งของบุรุษเพศที่มีชั้นศักดิ์ซึ่งแตกต่างกันไปด้วย อย่าง “ขุนพิทักษ์” บุตรชายพระยาสุรเดชไมตรีผู้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง กับ “ขุนไว” ผู้ที่มีพื้นเพด้อยกว่าเพราะเป็นเพียงเด็กวัดที่ได้ดีเติบโตมาในวงราชการ อันที่จริงแล้ว ละครอย่าง “บ่วงบาป” คือเรื่องที่พูดถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมูลนายกับทาสในอดีต ซึ่งมีตั้งแต่รูปแบบความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างขุนพิทักษ์กับขุนไว หรือระหว่างรำพึงกับชุ่ม   มาถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปรองดองกันอย่างความรักระหว่างชนชั้นของขุนพิทักษ์กับชุ่ม รูปแบบความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ค้ำชูพึ่งพิงกันและกันแบบรำพึงกับนางทาสผู้ซื่อสัตย์อย่าง “จวง” เจ้าของวลีเด็ดที่ว่า “ทูนหัวของบ่าว...” ไปจนถึงรูปแบบที่ขัดแย้งแต่ก็ยังประสานจับมือกันอยู่ในเนื้อในอย่างตัวละครแบบรำพึงเอง ที่แม้จะเป็นบุตรีของพระยาเทวราช แต่ก็มีมารดาเป็นเพียงทาสที่ต่ำศักดิ์เช่นกัน การปะทะประสานและย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับทาสแบบนี้ ไม่เพียงแต่มีความซับซ้อนเป็นพื้นฐาน แต่ทว่า ทั้งหมดก็ยังถูกร้อยรัดไว้ด้วย “บ่วงบาป” ของพระพุทธศาสนา ที่เมื่อปลดบ่วงและให้อภัยกันได้ ตัวละครทั้งหมดก็จะได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง เหมือนกับตอนจบของเรื่องที่ขุนพิทักษ์เลือกเส้นทางการบวชเพื่อดับบาปในบ่วงทั้งหมดนั่นเอง   อย่างไรก็ตาม หากเราซูมภาพเข้ามาเฉพาะที่ความสัมพันธ์ระหว่างนารีที่มีรูปเป็นทรัพย์ทั้งสองคนอย่างรำพึงกับชุ่มนั้น แม้ด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะส่อให้เห็นความแตกต่างขัดแย้งระหว่างชนชั้นกันอยู่เบื้องหลัง แต่อีกด้านหนึ่ง เส้นทางที่ตัวละครทั้งสองคนเลือกใช้ ก็สะท้อนให้เห็นการปะทะกันในระบบความคิดของสังคมไทยอย่างน้อยสองชุดด้วยกัน   ในขณะที่ชุ่มเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ยืนหยัดอยู่ข้างระบบคิดที่เชื่อว่า ศีลธรรมความดีเท่านั้นที่จะเอาชนะทุกอย่าง แต่รำพึงกลับเป็นอีกภาพของผู้หญิงที่เชื่อว่าความดีนั้นไม่สำคัญ แต่ความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุความปรารถนาต่างหาก คือเส้นทางที่เธอเลือกเดิน   และเพราะรำพึงมีความมุ่งมั่นปรารถนาสูงสุดในตัวและหัวใจของขุนพิทักษ์ และเพราะความสวยของเธอเองก็สูสีตีคู่มากับนางทาสอย่างชุ่ม รำพึงจึงต้องพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการข่าวสารและความรู้ ที่ภาษาเท่ ๆ แห่งยุคสมัยปัจจุบันอาจเรียกว่า “information management” หรือ “knowledge management”   เริ่มต้นตั้งแต่คุณรำพึงได้ลงมือทำการวิเคราะห์ “SWOT analysis” ว่า ใครเป็นใคร จุดอ่อนจุดแข็งของใครแต่ละคนเป็นอย่างไร และสถานการณ์แบบใดบ้างที่จะเป็นปัจจัยเอื้อหรืออุปสรรคทำให้ความปรารถนาของเธอจะได้บรรลุหรือไม่เพียงไร กับขุนไว ผู้ที่มี “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน” นั้น รำพึงก็บริหารจัดการเป่าหูใส่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อยืมมือของขุนไวไปกำจัดใครต่อใครที่เป็นอุปสรรคความรักของเธอ กับตัวละครอื่น ๆ รำพึงก็ใช้การวิเคราะห์สถานการณ์หรือ “situation analysis” ว่า พอถึงจังหวะไหน เธอจะเข้าไปเดินหมากจัดการกับใครอย่างไร เช่น กับ “คุณหญิงมณี” ผู้เป็นมารดาของขุนพิทักษ์ หากยังมีประโยชน์อยู่ รำพึงก็ใช้วาจาคารมออกแบบการสื่อสารเพื่อไปผูกไมตรี แต่เมื่อหมดคุณค่าและอาจเป็นอุปสรรคปัญหาในภายหลัง รำพึงก็จัดการได้อย่างไม่ปรานี   และที่น่าสนใจ รำพึงยังเลือกใช้การระดมพลังมวลชนสาธารณะ แบบที่รู้จักกันทุกวันนี้ว่า “mass mobilization” ด้วยการส่งนางทาสอย่างจวงไปปล่อยข่าวลือต่าง ๆ นานาในตลาดสดอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้บรรดาแม่ค้าทั้งหลายร่วมเป็นปากเสียงลือข่าวกันออกไป อันเป็นเทคนิคหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนี้   แต่สำหรับขุนพิทักษ์นั้น เมื่อความงามของเธอไม่สามารถมัดหัวใจชายหนุ่มเอาไว้ได้ รำพึงก็เลือกใช้วิธีการบริหารจัดการความรู้มาเป็นหลักแทน เพราะฉะนั้น ผู้ชมจึงมีโอกาสได้เห็นชุดความรู้ไสยดำในการทำเสน่ห์ที่รำพึงเลือกมาใช้มากมาย นับแต่การใช้ผงม้าเสพนาง น้ำมันจันทน์มหาเสน่ห์ รูปรอยหุ่นนารีกำหนัด ไปจนถึงมนต์คาถารักแท้ ที่ท่องกันจนติดปากว่า “ใจเป็นของกู ตัวเป็นของกู เสพสมกายกู เสน่หาเพียงกู...”   สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษเพศอย่างขุนพิทักษ์กับขุนไวนั้น บทลงเอยอาจเป็นการใช้กำลังตัดสินด้วยเชิงดาบและเชิงมวย แต่สำหรับสตรีเพศอย่างรำพึงแล้วไซร้ ต้องอาศัยการบริหารข่าวสารและความรู้เท่านั้น เธอจึงมีโอกาสที่จะถึงฝั่งฝันในชีวิตได้   และเมื่อมาถึงบทสรุปแห่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงทั้งสองศักดิ์ชั้นอย่างรำพึงและชุ่มแล้ว ละครก็ได้ย้อนกลับไปสู่คำอธิบายตามหลักพระพุทธศาสนาอีกครั้งว่า ความรู้อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาก็จริง แต่ความรู้นั้นก็ต้องมีศีลธรรมคุณธรรมเป็นกลไกกำกับเพื่อไม่ให้เป็นไปในทางมิจฉาทิฐิ   บนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้หญิงที่ผ่านยุคสังคมทาสมาแล้ว อาจไม่ใช่ความซับซ้อนระหว่างศักดิ์ชั้นเท่านั้น แต่น่าจะเป็นการปรับประสานกันของความรู้กับคุณธรรมว่าพวกเธอหรือแม้แต่พวกเราทุกคน จะนำมาขับเคลื่อนสังคมต่อไปอย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 146 พรพรหมอลเวง : หัดรู้จักเอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่กันบ้าง

  หากจะถามใครต่อใครว่า ในอนาคตพวกเราฝันอยากจะเป็นอะไรกันบ้าง คำตอบที่ได้คงหลากหลายยิ่งนัก โดยเฉพาะกับคำตอบและความฝันที่หลายคนคงอยากจะประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตกัน   แต่คำตอบแน่ๆ ข้อหนึ่งที่บรรดาผู้ใหญ่บางคนคงไม่อยากจะฝันให้ตนเองเป็นก็คือ การย้อนกลับไปใช้ชีวิตสิงสถิตอยู่ในร่างแบบเด็กๆ กันอีกครั้ง   เรื่องที่น่าแปลกก็คือ แม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องเคยผ่านมาก่อน แต่เมื่อห้วงเวลานั้นได้ผันผ่านไปแล้ว มนุษย์ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งก็อาจจะรู้สึกว่า ผ่านช่วงวัยเด็กกันมาแล้วเราก็จงผ่านเลยไป และอย่ากลับไปเป็นเช่นนั้นอีกเลย   ก็คงแบบเดียวกับ “ตันหยง” สาวนักเรียนนอกวัยเบญจเพส ที่คู่หมั้นของเธอหรือ “พิราม” เกิดเผลอไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเลขานุการคนสนิท จนเป็นต้นเหตุให้ตันหยงต้องประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน และฟื้นขึ้นมาสลับวิญญาณอยู่ในร่างของ “น้องเมย์” หนูน้อยวัยห้าขวบ   และก็อย่างที่ผมกล่าวไปตั้งแต่แรก เมื่อต้องย้อนกลับไปเป็นเด็กห้าขวบอีกครั้ง ตันหยงก็พบว่า นี่คือสิ่งที่เธอไม่นึกไม่ฝันและไม่อยากจะกลับไปเป็นที่สุดในชีวิต และด้วยเหตุที่วิญญาณของเธอมาอยู่ในร่างของน้องเมย์ ทำให้เธอยังได้เข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาในครอบครัวใหญ่ของหนูน้อย จนเกิดความรู้สึกพิเศษกับ “น้าวี” หรือ “ปฐวี” คุณหมอหนุ่มซึ่งเป็นน้าแท้ๆ ของน้องเมย์   ในขณะที่ชื่อเรื่องของละคร “พรพรหมอลเวง” อาจจะสื่อนัยว่า เหตุแต่การสลับร่างระหว่างสาวเบญจเพสกับเด็กหญิงวัยห้าขวบนี้ เป็นเพราะพระพรหมท่านเกิดโอนไฟล์ใช้โปรแกรม “cut-and-paste” ผิดพลาด แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นเจตจำนงของพระพรหมท่านที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้เรียนรู้ที่จะ “เอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่” กันดูบ้าง   เริ่มตั้งแต่ที่ตันหยงต้องเผชิญกับความจริงข้อแรกว่า เด็กนั้นเป็นมนุษย์ที่ตัวเล็ก แบบเดียวกับที่น้องเมย์ต้องใช้เก้าอี้ต่อตัวเพื่อจะหยิบของในที่สูง และในขณะเดียวกัน เด็กก็ต้องมีวิธีการพูดแบบเด็กๆ ที่ต้องใช้วลีประโยคแบบที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่เขาพูดกัน   ต่อมา ละครก็ได้ให้คำอธิบายว่า เรื่องปัญหารักๆ ใคร่ๆ หรือรักนอกใจ ซึ่งแสนจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ในชีวิตของตันหยงนั้น กลับดูเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย และเทียบเท่าไม่ได้เลยกับปัญหาของเด็กอย่างน้องเมย์ที่เกิดมาในครอบครัวใหญ่ก็จริง แต่สายสัมพันธ์ในครอบครัวกลับดูเปราะบางยิ่ง   จากนั้น เมื่อตันหยงในร่างน้องเมย์ ต้องเริ่มทำกิจกรรมแบบที่เด็กวัยห้าขวบเขาต้องทำกัน เช่น ต้องตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ ต้องอ่านหนังสือและทำข้อสอบวิชาต่างๆ ไปจนถึงการต้องมีกิจกรรมการเล่นการรวมกลุ่มสนุกสนานแบบเด็กๆ เธอก็เริ่มพบว่า ชีวิตแบบเด็กเช่นนี้ ช่างเป็นอีกโลกที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันแบบผู้ใหญ่อย่างที่เธอเคยเป็นเสียนี่กระไร   และเพราะเป็นกิจกรรมแบบเด็ก ตันหยงจึงพบว่า สิ่งที่เด็กอนุบาลเห็นว่ายากเย็นแสนเข็ญ อย่างการคิดเลขในวิชาคณิตศาสตร์ หรือการฝึกฝนพูดภาษาอังกฤษ กลับเป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับหญิงสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ จนทำให้น้องเมย์ได้คะแนนสอบสูงสุดในชั้นเรียนเป็นครั้งแรก   แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นพื้นฐานแบบเด็ก ๆ อย่างนันทนาการการเล่นหรือการรวมกลุ่มสนุกสนานนั้น แม้ตันหยงจะเคยผ่านชีวิตแบบนี้มาแล้วเกือบยี่สิบปี แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เธอหลงลืม และช่างยากยิ่งที่เธอจะปรับตัวให้กลับไปทำเยี่ยงนั้นอีกครั้งหนึ่ง   ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายมักทำกับเด็กจนกลายเป็นความเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการจูงมือ การกอด หรือการหอมแก้มเด็กเล็กๆ แบบที่น้าวีทำกับน้องเมย์อยู่เนืองๆ นั้น ก็อาจจะเป็นการกระทำที่มองมาจากจุดยืนแบบผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว โดยที่เมื่อเธอต้องกลับเป็นเด็กและถูกน้าวีทำแบบนี้บ้าง ก็ต้องรู้สึกเป็นกระอักกระอ่วนใจอยู่ทุกครั้ง   ซ้ำร้ายที่สุด ตันหยงได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า สิ่งที่ทำร้ายจิตใจของเด็กทุกวันนี้มากที่สุดไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นคนก่อร่างสร้างเรื่องเอาไว้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ความไม่เข้าใจกันระหว่าง “เมธี” และ “ประภัสสร” พ่อกับแม่ของน้องเมย์ ก็คือปมปัญหาด่านแรกที่ทำร้ายน้องเมย์เสียยิ่งกว่าอาการป่วยเรื้อรังของหนูน้อยเสียอีก   หรือแม้แต่การบ่มเพาะความเกลียดชังของผู้ใหญ่อย่างคุณป้า “ปรางค์ทิพย์” ที่มีต่อพ่อและแม่ของน้องเมย์ ไม่เพียงแต่จะทำร้ายตัวน้องเมย์ด้วยกิริยาวาจาเท่านั้น แต่ป้าปรางค์ยังได้ใส่ความแค้นและความคาดหวังแบบผู้ใหญ่ลงไปในชีวิตของลูกสาวทั้งสองของเธอ จนพรากความเป็นเด็กออกไปจากหนูน้อยสองคน ให้มีชีวิตที่เอาแต่เรียนกับเรียน เพื่อเติมเต็มความอยากเอาชนะและเป็นสงครามตัวแทนของมารดา   ความไม่เข้าใจหัวอกของคนเป็นเด็กและการพรากเอาความเป็นเด็กออกไปจากชีวิตของหนูน้อยทั้งหลาย น่าจะเป็นสิ่งที่พระพรหมท่านเล็งเห็น และกำลังตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ จนทำให้เกิดเรื่องราวสลับร่าง กลายเป็นความอลเวงกันไป   และในที่สุด แม้เมื่อวิญญาณของตันหยงจะได้กลับคืนสู่ร่างเดิมของเธอ และแม้วิญญาณของน้องเมย์จะต้องดับไปตามอายุขัยที่พระพรหมท่านได้ลิขิตเอาไว้ แต่ตันหยงและตัวละครเกือบทุกคนในเรื่องก็ได้เรียนรู้ว่า เด็กอาจจะมีวัฒนธรรมความคิดที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่ก็เพียงความต่างของคนอีกกลุ่มชีวิตที่ไม่ได้แปลกแยกแปลกประหลาดแต่อย่างใด   ในสังคมของผู้ใหญ่ เรามักจะเรียกร้องให้เด็กนั้นต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ใหญ่ได้หลงลืมไปก็คือ พวกเธอและเขาก็ควรต้องหัดเคารพในสิทธิความเป็นเด็กด้วยบ้างในทางกลับกัน   อย่างน้อยบทเรียนเรื่องการสลับร่างของตันหยงและน้องเมย์ ก็คงบอกเป็นนัยให้ผู้ใหญ่กลับไปเห็นคุณค่าของวัยเด็กที่ตนเคยผ่านมา และหัด “เอาใจเด็กมาใส่ใจของบรรดาผู้ใหญ่” กันบ้าง เพราะหาไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เกิดพระพรหมท่านให้พรที่สลับร่างกันขึ้นมาจริง ๆ แล้ว มันก็อาจจะอลเวงได้อีกเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 มณีสวาท ในพจนานุกรมของผู้หญิงมีคำว่า “ ต่อรอง”

  มีคำถามอยู่ว่า เมื่อเอ่ยถึง “ผู้หญิง” แล้ว สังคมไทยจะรับรู้ความหมายของเพศหญิงว่าอย่างไร? คำตอบแรกๆ ก็อาจจะเป็นว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เป็นเพศที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น เป็นเพศที่ไม่กล้าหาญ หรือเป็นเพศที่มักยอมจำนนต่อปัญหาต่างๆ โดยง่าย   คำตอบแบบนี้อาจจะถูกสำหรับผู้หญิงบางคน (หรือก็อาจจะถูกต้องสำหรับผู้ชายบางคนด้วยเช่นกัน) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คำนิยามของผู้หญิงดังกล่าวคงใช้ไม่ได้กับ “อุรคาเทวี” นางพญานาคีผู้กลับมาทวงสัญญาความรักความแค้นในวังวนรักสามเส้าระหว่างเธอกับพญานาคา(หรือพญาภุชเคนทร์) กับพญาครุฑ (หรือพญาสุบรรณ) ตั้งแต่ชาติปางก่อน   ปมปัญหาความรักความแค้นนี้ ก็เริ่มต้นมาจากตำนานครุฑยุดนาค อันเป็นความเชื่อแต่ครั้งโบราณที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างนาคกับครุฑ ซึ่งละครเรื่อง “มณีสวาท” ได้นำมาตีความเพิ่มเติมว่าเป็นความแค้นที่เกิดมาแต่การแก่งแย่งความรักของนาคกับครุฑที่มีต่ออุรคาเทวี และท้ายที่สุด พญาสุบรรณก็ยุดยื้อฆ่าพญาภุชเคนทร์ให้ต้องตายอย่างทรมาน   แต่ก่อนสิ้นใจ พญาภุชเคนทร์ได้เอ่ยสัตย์สาบานขึ้นว่า หากเกิดในชาติภพใหม่ จะไม่ขอกลับชาติมาเกิดเป็นพญานาคให้ต้องทรมานเช่นนี้อีก   ด้วยเหตุดังกล่าวหลายร้อยหลายพันปีให้หลัง เมื่อพญาภุชเคนทร์ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในร่างของคุณชายภุชคินทร์ทายาทแห่งวังนาคินทร์ ความทรงจำอันเจ็บปวดแต่ปางบรรพ์ของเขาก็ได้ถูก delete ลบไฟล์ข้อมูลทิ้งไปทั้งหมดตามสัตย์สาบานที่พญานาคาเคยเอ่ยเอาไว้   ในขณะที่ชายคนรักเลือกที่จะลืมความเจ็บปวด แต่ในทางกลับกัน สำหรับผู้หญิงอย่างอุรคาเทวีกลับเลือกที่จะจดจำ และเป็นนางพญานาคีผู้รอคอยคนรักของเธอมาแต่อดีตชาติ จนพญาภุชเคนทร์ได้กลับมาเกิดใหม่ในภพปัจจุบัน   ในชาติภพนี้ อุรคาเทวีจึงเพียรทำทุกวิถีทางที่จะกู้ไฟล์ความทรงจำของคุณชายภุชคินทร์ รวมถึงพยายามใช้โปรแกรมฆ่าไวรัสทุกๆ เวอร์ชั่น เพื่อให้ภุชคินทร์ถอนคำสัตย์สาบาน และจะได้กลับมาครองคู่กับนางในท้ายที่สุด   อย่างไรก็ดี เนื่องจากความรักของอุรคาเทวีเป็นสิเน่หาที่ข้ามภพชาติมายาวนาน เพราะฉะนั้น การจะรื้อฟื้นกู้ไฟล์ความทรงจำของคุณชายภุชคินทร์ในภพนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยง่ายเลย เพราะไม่เพียงแต่ความทรงจำดังกล่าวจะเป็น “file not found” เท่านั้น แต่ครั้งนี้อุรคาเทวียังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวละครอีกมากมายในท้องเรื่องที่จะเข้ามาขัดขวางความรักความปรารถนาของเธอ   เริ่มตั้งแต่พญาครุฑที่กลับมาเกิดใหม่ในชาตินี้เป็นรัฐมนตรีสุบรรณ และเบื้องลึกในใจของท่านสุบรรณก็ยังมีจิตปฏิพัทธ์ที่จะเอาชนะใจของเจ้าอุรคา โดยอยู่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกันแม้แต่ในภพปัจจุบันนี้   นอกจากนั้น อุรคาเทวียังต้องเผชิญกับเฟื่องวลีหรือฟีบี้ผู้เข้ามาเป็นมารหัวใจของเธอ เผชิญหน้ากับสุรินทร์ผู้เป็นนินจาเจ้าวิทยายุทธ์แบบญี่ปุ่นที่หาญกล้ามาประมือต่อกรกับเธอ และที่สำคัญยังมี ยมนา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยมทูตผู้คุมกฎสวรรค์ ที่แม้จะเป็นเพื่อนของอุรคาเทวี แต่ก็ขัดขวางเจ้าอุรคาทุกครั้งที่เธอริจะฝืนลิขิตสวรรค์   แต่เพราะอุรคาเทวีเป็นสตรีที่มีความมุ่งมั่น และการรอคอยก็เป็นวิถีปฏิบัติของผู้หญิงอย่างเธออยู่แล้ว ประกอบกับในพจนานุกรมฉบับของอุรคาเทวีนั้น มีคำว่า “ต่อรอง” บัญญัติเอาไว้อยู่ เธอจึงเลือกเดินตามเส้นทางแบบเดียวกับที่นางสาวิตรีเคยใช้วิธี “ต่อรอง” กับพระยมเพื่อนำตัวสวามีของนางกลับคืนมาจากความตาย   ดังนั้น หากเราเชื่อว่า สรรพชีวิตถูกลิขิตมาแล้วด้วยกฎแห่งสวรรค์ และกฎสวรรค์ข้อหนึ่งก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนภพชาติ เบื้องบนก็จะทำการลบไฟล์ความทรงจำในอดีตทิ้ง แบบที่มิอาจมีผู้ใดหลีกเลี่ยงได้ แต่อุรคาเทวีกลับเชื่อว่า ที่ใดที่มีกฎกำหนดไว้ ที่นั่นผู้หญิงอย่างเธอก็สามารถ “ต่อรอง” กับกฎต่างๆ ได้ แม้แต่การต่อรองกับกฎแห่งสวรรค์   เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งอุรคาเทวีได้กล่าวกับยมนาว่า “ข้านี่แหละจะเป็นผู้ล้างกฎสวรรค์ด้วยความรักของข้าเอง ท่านภุชเคนทร์จะต้องจำได้...” ด้วยเหตุฉะนี้ คำว่า “ต่อรอง” จึงไม่ใช่แค่คำที่ปรากฏอยู่ลอย ๆ ในพจนานุกรมเท่านั้น หากแต่อุรคาเทวีได้ทำให้คำว่า “ต่อรอง” นี้ สามารถสะกดได้จริงและสามารถกระทำได้จริงๆ เพียงแต่ต้องด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นของอิสตรีอย่างนางพญานาคีนั่นเอง   และเพราะเป็นเธอผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในการ “ต่อรอง” อุรคาเทวีจึงใช้กลเม็ดเด็ดพรายทุกวิถีทางที่จะฟื้นความทรงจำของชายคนรักให้ได้   ตั้งแต่ปรากฏตัวให้คุณชายภุชคินทร์ได้เห็นรอยเท้าพญานาคเห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่องเลย จากนั้นก็ส่งข้ารับใช้ของเธอไปตามรอยค้นหาคุณชายถึงในวังนาคินทร์ ไม่เพียงเท่านั้น อุรคาเทวียังได้ส่งพลอยครุฑธิการไปให้คุณชายภุชคินทร์ เพราะพลอยสีเขียวดังกล่าวเป็นอัญมณีที่กำเนิดมาจากการสำรอกออกมาก่อนที่พญานาคาจะสิ้นใจ   และที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งก็คือ เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยแห่งโลกไซเบอร์ เจ้าอุรคาจึงได้จัดอีเว้นท์อลังการงานสร้าง จำลองฉากโลกเสมือนของขบวนแห่ร่ายรำของฝูงนาคา เพื่อให้มนตราแห่งโลกเสมือนได้กระตุ้นเตือนให้ความทรงจำของพญาภุชเคนทร์หวนกลับคืนมา   ความรักอาจถูกมองว่าเป็นพันธนาการที่กักขังผู้หญิงเอาไว้แบบข้ามภพข้ามชาติก็จริง แต่ความรักก็มีอีกด้านหนึ่งที่สอนอุรคาเทวีว่า หากผู้หญิงอย่างเธอต้องการบรรลุเป้าหมายใดๆ ในชีวิตแล้วล่ะก็ เส้นทางที่เธอต้องเลือกเดินก็ต้องรู้จักกับคำว่า “ต่อรอง” และก็ต้อง “ต่อรอง” กับโลกรอบตัวให้เป็นด้วยเช่นกัน   ในท้ายที่สุด เมื่อตัวละครทุกตัวได้ถอยกลับคืนสู่ความทรงจำที่ถูกลบทิ้งไป และเป็นความทรงจำที่เป็นจุดกำเนิดของปมปัญหาต่างๆ ทั้งปวง แบบเดียวกับที่ตัวละครถอยกลับไปเริ่มต้นที่ฉากครุฑยุดนาคอีกครั้ง เมื่อนั้นประวัติศาสตร์ที่เปิดหน้าขึ้นใหม่ ก็คงเป็นกฎแห่งสวรรค์ที่ผู้หญิงอย่างอุรคาเทวีได้มีสิทธิมีเสียงร่วมขีดเขียนกฎดังกล่าวขึ้นบ้าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 เสือสมิง : ย้อนรอยสาบสาง บนเส้นทางสู่อาเซียน

  เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่สัมผัสได้ผ่านละครโทรทัศน์นั้น ผู้ชมหลายๆ คนก็คงจะนึกถึงละครอิงประวัติศาสตร์สุดคลาสสิกอย่าง “ขุนศึก” หรือ “สายโลหิต” ที่ผู้สร้างมักฉายภาพความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แค้นของไทยกับพม่าที่สืบเนื่องมาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน   แต่กระนั้นก็ตาม คำถามที่ชวนสงสัยตามมาก็คือ ทำไมความสัมพันธ์แบบคู่แค้นไทย-พม่าเยี่ยงนี้จึงถูกผลิตและนำเสนอเอาไว้ในจอโทรทัศน์กันอย่างต่อเนื่อง???   คำตอบหนึ่งที่นักวิชาการสายประวัติศาสตร์ของไทยได้ให้คำตอบไว้ก็คือ ความสัมพันธ์เชิงคู่แค้นเป็นผลผลิตหรือ “จินตกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ลัทธิชาตินิยมแบบไทยๆ อันก่อตัวมาไม่นานนัก พร้อมกับการเกิดขึ้นของเส้นแบ่งพรมแดนและรัฐชาติในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 6   นั่นก็หมายความว่า ถ้ารัฐไทยต้องการปลูกฝังให้คนไทยรับรู้ถึงตัวตนหรือเกิดสำนึกความเป็นไทยอย่างเข้มข้นแล้ว เทคนิคหนึ่งที่มักถูกนำมาใช้ก็คือ การใช้สื่อสร้างภาพของพม่าให้เป็น “ศัตรูร่วมกัน” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ร่วมกันของคนในชาติ แบบที่บรรดาละครอิงประวัติศาสตร์เขาทำกันมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง   อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงยุคที่สังคมไทยกำลังจะผันมารวมตัวเข้าสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคแบบอาเซียนนั้น ความสัมพันธ์แบบคู่แค้นเช่นนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก และโจทย์แบบนี้ก็ถูกถามขึ้นมาในโลกของละครโทรทัศน์อย่าง “เสือสมิง” เช่นกัน   ละคร “เสือสมิง” ฉายภาพของสังคมชนบทไทยในยุคที่เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่งได้ไม่นานนัก โดยผ่านความรักระหว่างตัวละครพระเอก “ภราดร” นายแพทย์หนุ่มที่ย้ายมาประจำสถานีอนามัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กับนางเอก “กินรี” หญิงสาวผู้เข้าทรงผีฟ้าหน้ากากทอง และเป็นผู้สืบทอดองค์ความรู้การรักษาโรคแผนเดิมตามความเชื่อของบรรพบุรุษ   ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างชุมโจรของ “เสือใจ” หรือเจ้าพ่อยาเสพติดอย่าง “เสี่ยรงค์” อันเป็นตัวแทนของอำนาจท้องถิ่นแบบดั้งเดิม กับการรุกคืบเข้ามาของอำนาจรัฐชาติที่สะท้อนผ่านตัวละครตำรวจอย่าง “หมวดสมรักษ์” และ “จ่าชิต” ตัวละครอีกมากหน้าหลายตาในท้องเรื่องก็ยังต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติอย่าง “เสือสมิง” ที่ออกอาละวาดฆ่าทำร้ายผู้คนในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งละครก็คงต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อครั้งที่สังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสัมผัสวัฒนธรรมสมัยใหม่ หรือกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากสังคมประเพณีดั้งเดิมไปสู่วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยในยุคแรกๆ นั้น ผู้คนยุคนั้นคงจะได้เห็นการปะทะต่อรองกันระหว่างขั้วความคิดที่แตกต่างกันหลายๆ ชุด   เริ่มต้นตั้งแต่การเผชิญหน้ากันระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกกับความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ระหว่างวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ ระหว่างองค์ความรู้แผนใหม่กับองค์ความรู้ตามประเพณีท้องถิ่น ระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับอำนาจของชนบทท้องถิ่น และระหว่างความขัดแย้งชุดอื่น ๆ อีกมากมาย   อย่างไรก็ดี นั่นอาจจะเป็นการฉายภาพการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยเมื่อช่วงราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ครั้นพอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ที่สังคมไทยกำลังตื่นเต้นกับการจะเปลี่ยนผ่านอีกระลอกไปสู่กระแสความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนนั้น ละครเรื่อง “เสือสมิง” ก็ได้ให้ภาพการเล่าเรื่องถอยย้อนกลับไปไกลกว่านั้นถึงกว่า 800 ปี   ด้วยเหตุฉะนี้ ภายใต้ความรักความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างคุณหมอหนุ่มภราดรกับแม่หมอผีกินรีในท้องเรื่อง ละครก็ได้บอกว่า การที่ทั้งคู่มาพานพบกันในหมู่บ้านอันห่างไกลได้นั้น คงมิใช่เรื่องเหตุบังเอิญแต่อันใด หากแต่เป็นเพราะทั้งสองเป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอาณาจักรพุกามเคยรุ่งเรืองมาโน่นเลย   ในอดีตชาติปางบรรพ์ คุณหมอหนุ่มภราดรเคยเป็นกษัตริย์ “บาเยงโบ” แห่งอาณาจักรพุกาม (ซึ่งปัจจุบันนี้ก็น่าจะอยู่ในประเทศพม่านั่นแหละ) โดยมีกินรีหรือในชาติก่อนก็คือพระมเหสี “ชะเวมะรัต” เป็นสตรีเคียงคู่กาย   แต่ในครั้งนั้น เนื่องจาก “งะดินเด” ผู้เป็นบิดาจอมขมังเวทย์ของชะเวมะรัต เกิดคิดคดทรยศและมักใหญ่จะลอบสังหารกษัตริย์บาเยงโบ งะดินเดจึงได้สร้างเสือสมิง 11 ตัวขึ้นมาเป็นไพร่พลในกองทหารของตน อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมของบาเยงโบและชะเวมะรัต จนอาณาจักรพุกามได้ถึงแก่กาลล่มสลายไปในที่สุด   และพอก้าวกลับมาสู่ยุคที่แบบแผนการพัฒนาประเทศเริ่มก้าวไปสู่ความทันสมัยนั้น ความเชื่อและจิตวิญญาณแห่งเสือสมิง ผีฟ้าหน้ากากทอง ไล่รวมไปถึงการตามล่าหาดาบศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์บาเยงโบ ก็ได้กลายมาเป็นความทรงจำที่คอยหลอกหลอนภราดรและกินรีให้ต้องเผชิญกับอดีตชาติของตนเองอยู่อย่างเนืองๆ ในครั้งหนึ่ง “ชาติ” อาจจะเป็น “จินตกรรม” ที่ใช้แบ่งแยกความเป็น “เรา” กับความเป็น “อื่น” หรือทำให้คนไทยสร้างภาพพม่าเป็น “ศัตรูคู่แค้นร่วมกัน” แต่พอมาในยุคแห่งการขยายความเป็น “ชาติ” ของไทยไปสู่ความเป็น “ภูมิภาค” แบบอาเซียน ละครโทรทัศน์จึงต้องขยาย “จินตกรรมใหม่” ออกไป   ด้วยเหตุดังกล่าว แม้จะดูอิหลักอิเหลื่อไปบ้าง หรือแม้จะดูหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้หรือไม่เพียงใด แต่ละครก็ทำการตีความประวัติศาสตร์เสียใหม่ว่า หากสืบสาวไปก่อนยุคของ “ขุนศึก” หรือ “สายโลหิต” ไทยกับพม่าก็ดูจะไม่มีความเป็นอื่นของกันและกันเสียทีเดียว   ตรงกันข้าม ไทยกับพม่ากลับมี “จินตกรรมร่วม” ของกองทัพเสือสมิง หมอผีฟ้าหน้ากากทอง และดาบศักดิ์สิทธิ์แห่งกษัตริย์บาเยงโบ อันเป็นความเชื่อที่เราเคยลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันมาในประวัติศาสตร์ภูมิภาคเกินกว่า 800 ปี (หรือก่อนยุคที่จะมีการประดิษฐ์ลายสือไทยเสียอีก)   ดูละคร “เสือสมิง” แล้ว เราก็อาจจะได้คำตอบสำคัญข้อหนึ่งว่า ความเป็นชาติที่เคยมีมานั้น ไม่ว่าจะแบ่งแยกหรือจะผนวกรวม นั่นก็คืออยู่กับผลประโยชน์ของชาติในแต่ละยุคว่ามุ่งไปในทิศทางใด   เมื่อวานนี้เราอาจจะเห็นไทยเคยเป็น “คู่แค้น” กับพม่ามาก่อน หรือในวันนี้เราอาจจะเห็นไทยกับพม่าพยายามหลอมรวมเป็น “คู่รัก” ในภูมิภาคอุษาคเนย์เดียวกัน แต่ที่แน่ ๆ ในวันพรุ่งนี้ความเป็นชาติของเราก็คงมีแนวโน้มจะถูกสร้างและสร้างใหม่ ๆ ออกไปแบบไม่สิ้นไม่สุดได้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 รากบุญ : ว่าด้วย “ราก” ที่แท้จริงของ “บุญ”

  ทุกวันนี้คนจำนวนมาก “ทำบุญ” กันเพื่ออะไร? หลายคนอาจจะบอกว่า ทำบุญก็ต้องหวังผล หรือสร้างเนื้อนาบุญในชาตินี้ ก็ต้องเพื่อผล(ประโยชน์) อะไรบางอย่างทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แบบที่บางคนทำบุญเสร็จแล้ว ก็ต้องเที่ยวขอพรให้ลูกช้างได้โน่นได้นี่เป็นการตอบแทน   แต่นั่นก็คงไม่ใช่คำตอบของการทำบุญในนิยามและความยึดมั่นของหญิงสาววัยรุ่นสู้ชีวิตอย่าง “เจติยา” ตัวละครนางเอกในละครโทรทัศน์เรื่อง “รากบุญ” เป็นแน่   สำหรับเจติยาแล้ว “บุญ” คือการให้โดยไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทนใด ๆ และเธอก็พิสูจน์ให้เห็นตั้งแต่เมื่อได้ถือครองเป็นเจ้าของกล่องรากบุญสืบต่อจากบิดาของพระเอก “ลาภิณ” เจ้าของบริษัทรับจัดแต่งศพแห่งหนึ่งที่เจติยาสมัครทำงานอยู่   เริ่มต้นตั้งแต่การที่เจติยามารับจ้างทำหน้าที่เป็นช่างแต่งศพของบริษัท ก็เป็นอาชีพที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เพราะ “เกิดแก่เจ็บตาย” เป็นสัจธรรมของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องพานพบ เธอจึงมิได้รังเกียจหรือขยะแขยงต่อ “ความตาย” ที่มาในรูปของศพที่ไร้วิญญาณแต่อย่างใด   ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เจติยาจึงถูกเลือกให้มาเป็นผู้รับช่วงสถานะความเป็นเจ้าของกล่องรากบุญ ก็เพื่อจะยืนยันให้เห็นว่า ในท่ามกลางผู้คนที่ล้วนแล้วแต่เชื่อกันว่า “โลกนี้ย่อมไม่มีอะไรฟรี” หรือ “no free lunch” นั้น ก็อาจจะมีมนุษย์แบบเจติยาอย่างน้อยสักหนึ่งคนที่กล้ายืนหยัดว่า ในโลกแห่งการทำบุญ ก็ไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน หรือการจะ “ให้” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนมาด้วยการ “รับ” เสมอไป   แม้กล่องรากบุญจะมีลักษณะไม่แตกต่างจากกล่องไม้แกะสลักทั่วไป ที่เพียงแต่มีรูปเป็นยักษ์อ้าปาก แต่กล่องใบนี้ก็เป็นสิ่งที่พญามัจจุราชได้สร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบกิเลสของมนุษย์บนเงื่อนไขว่า ทุกครั้งหลังจากที่เจ้าของกล่องได้บรรลุภารกิจช่วยเหลือแสวงหา “ความยุติธรรม” ต่อวิญญาณคนตายครบสามดวง (ตามเสียงเรียกร้องของเหล่าวิญญาณที่ร้องขอว่า “บอกความจริง!!!”) เจ้าของกล่องก็จักต้องขอพรอะไรก็ได้หนึ่งข้อเป็นการแลกเปลี่ยนเสมอ   ในขณะที่ชีวิตของเจติยาเองก็เวียนวนอยู่ท่ามกลางความทุกข์และปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ปัญหาของมารดาที่สุขภาพไม่ดีและเกือบเอาชีวิตไม่รอด และปัญหาของน้องชายอย่างนที วัยรุ่นผู้กำลังเติบโตอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต แต่หลังจากช่วยค้นหาความยุติธรรมให้กับวิญญาณต่างๆ นั้น เจติยาก็พบว่า สิ่งที่เรียกว่า “ทุกข์” นั้น ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ใด และเป็นห่วงที่ผูกพันแม้ว่าคนๆ นั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม   ผีเด็กหญิงอย่างน้องออยก็อาจจะมีปัญหาค้างคาว่า ใครเป็นฆาตกรที่ขับรถชนเธอ ผีวัยรุ่นเด็กเนิร์ดคงแก่เรียนอย่างเคมี ก็อาจจะอยากสัมผัสกับรักโรแมนซ์และควงแขนหญิงคนรักไปเที่ยวสวนสนุกเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือผีโจรผู้ร้ายอย่างปองและย้ง ก็อาจจะมีความปรารถนาที่ให้ระบบยุติธรรมลงโทษต่อคนผิดที่เป็นผู้บงการตัวจริง   เพราะฉะนั้น เมื่อทุกข์เป็นสัจธรรมของทั้งคนและผี และมรรควิธีในการดับทุกข์ก็เป็นปรารถนาอันสูงสุดของผู้เวียนว่ายตายเกิดทั้งปวง เจติยาจึงได้ข้อสรุปว่า การช่วยเหลือดับทุกข์ให้วิญญาณต่างๆ ได้พ้นทุกขเวทนา จึงถือเป็นการทำบุญสูงสุด แบบที่ “ให้” ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอ “รับ” สิ่งใดเป็นการตอบแทนกลับคืนเลย   และด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเจติยาเยี่ยงนี้ กล่องรากบุญจึงต้องสร้างตัวละครอย่าง “ปราณ” ขึ้นมา เพื่อเป็นบททดสอบสุดท้ายเรื่อง “การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” กับเธอ ทั้งนี้เพราะการดำรงอยู่ของกล่องรากบุญนั้น ขึ้นอยู่กับกิเลสของมนุษย์ที่ต้อง “ขอ” อะไรสักอย่าง เมื่อไม่มีการ “ขอ” อำนาจของกิเลสและอำนาจของกล่องรากบุญจึงไม่มีความชอบธรรมไปโดยปริยาย   ด้วยเหตุฉะนี้ ปราณผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องรากบุญ จึงพยายามทุกวิถีทางและใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่จะบีบให้เจติยาต้อง “ขอ” พรจากกล่อง เพื่อให้อำนาจของกล่องรากบุญดำรงอยู่ต่อไปได้   ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ร้ายๆ ต่อมารดาและน้องชายของเจติยา การทำร้ายลาภิณชายหนุ่มคนที่เธอรัก หรือการยืมมือของตัวร้ายอย่างพิสัยซึ่งเป็นน้าชายแท้ๆ ของลาภิณ แต่กลับเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความละโมบ ให้มาจัดการทำร้ายคนรอบข้างเจติยา   ความต้องการของปราณมีเพียงประการเดียวคือ การบีบให้เจติยายินยอมคืนสิทธิความเป็นเจ้าของกล่องรากบุญออกไปเสีย และยกกล่องให้ไปอยู่ในความครอบครองของคนที่เปี่ยมไปด้วยกิเลสและโลภจริตอย่างพิสัยแทน และเมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ภายใต้การเผชิญหน้าระหว่างเจติยากับปราณ(หรืออำนาจแห่งกิเลส) นั้น เจติยาก็ได้เลือกใช้วิธีเดียวกับการทำลายแหวนแห่งอำนาจในภาพยนตร์ The Lord of the Rings ด้วยการ “ขอ” ครั้งสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและสูญสลายหายไปจากโลกมนุษย์ เพื่อให้ “บุญ” ได้กลับคืนสู่ความหมายของการ “ให้” แบบที่เคยเป็น   ทุกวันนี้ ภายใต้โลกใบนี้ที่มนุษย์ศรัทธาใน “มูลค่าแลกเปลี่ยน” ที่ว่า เมื่อมีการ “ให้” ก็ต้องมีการ “ขอ”คืนกลับ หรือเมื่อมี “give” ก็ต้องมี “take” เป็นคำตอบในนั้นด้วย ความคิดความศรัทธาเช่นนี้ก็ได้ไหลเข้ามาอยู่แม้แต่ในวิถีการทำบุญของผู้คน   ฉะนั้น หากเราจะลองย้อนกลับไปค้นหา “ราก” ที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” ด้วยแล้ว ก็คงต้องเริ่มต้น “คิดใหม่ทำใหม่” แบบตัวละครอย่างเจติยาที่ว่า “รากจริงๆ ของบุญ” ต้องมาด้วยจิตใจที่ปรารถนาจะ “ให้” คุณค่าดี ๆ ต่อมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกของเรา โดยมิจำเป็นต้องมุ่งหวังผลตอบแทนอันใดกลับคืน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 แรงเงา : ความยุติธรรมกับการ “say no”

“มนุษย์” ต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้อย่างไร? เมื่อหลายวันก่อน คุณป้าข้างบ้านได้กล่าวกับผู้เขียนว่า ถ้ารักที่จะเป็น “มนุษย์” แล้วล่ะก็ ต้องหัดทำตัวให้ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยการ “say no” ให้เป็นบ้าง ไม่ใช่มีแต่ “say yes” อยู่เพียงสถานเดียว ก็ดูบทเรียนจากตัวละครพี่น้องฝาแฝดอย่างมุตตากับมุนินทร์ดูก็ได้ แม้ว่าด้านหนึ่งทั้งคู่จะเป็นฝาแฝดที่ใบหน้าเหมือนกันอย่างยากจะแยกออกว่าใครเป็นใครแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งสองกลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แบบที่มุตตาเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นแต่ “say yes” ในขณะที่มุนินทร์ผู้พี่กลับเป็นผู้หญิงที่รู้จักกับการ “say no”   ปมชีวิตของตัวละครผู้ “say yes” แบบมุตตานั้น ก็เริ่มต้นจากการเติบโตมาในครอบครัวที่รักลูกไม่เท่ากัน (แม้ใบหน้าจะเคาะออกมาจากพิมพ์ฝาแฝดเดียวกันก็ตาม) และยังเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ให้คุณค่ากับลูกที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น   ด้วยเหตุนี้ มุตตาจึงปรารถนาที่จะพิสูจน์ตนว่า เธอเองก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทัดเทียมพี่สาว และน้องนางบ้านไร่อย่างเธอจึงเลือกตัดสินใจเดินทางเข้ามาเผชิญชะตาชีวิตในเมืองกรุง แต่ด้วยเพราะความไม่เจนต่อโลกและรู้จักแต่การ “say yes” เท่านั้น มุตตาจึงมีสถานะเป็นเพียงแค่ “เหยื่อ” ในสังคมเมืองกรุงที่มนุษย์เอาแต่แยกเขี้ยวคำรามขบกัดกันและกัน   เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาเจอกับสุดยอดแห่งความเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง ผอ.เจนภพ ผู้เจนจัดและชำนาญการบริหารเสน่ห์หลอกล่อสตรีเพศด้วยคารมอ่อนหวาน มุตตาผู้ที่หัวอ่อนเชื่อง่ายก็เริ่มสร้างโลกแฟนตาซีที่ไม่แตกต่างไปจากนางเอกในนิยายโรแมนซ์ที่เธออ่านอยู่เป็นประจำว่า หญิงสาวแรกรุ่นอย่างเธอกำลังได้มาประสบพบรักกับชายสูงวัย และฝันจะลงเอยกับเขาในชุดเจ้าสาวสีขาว ถึงแม้ว่าในภายหลังเธอจะรู้ความจริงว่า ผอ.เจนภพ นั้นมีภรรยาแบบเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ตาม   ซ้ำร้ายภรรยาหลวงอย่างนพนภานั้น ก็เป็นผู้หญิงที่มีอำนาจเงิน ซึ่งใช้บัญชาใครต่อใครให้มาดักทำร้ายมุตตา หรือแม้แต่ฉากที่นพนภาตบน้องสาวฝาแฝดต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหน้าสถานที่ทำงาน ก็สะท้อนอำนาจของเธอว่าไม่มีใครสักคนที่กล้าจะอาสาเข้าไปช่วยเธอได้เลย   และแม้เมื่อมุตตาจะหันหน้าไปพึ่งพาปรึกษาใครสักคนในกองงานพัสดุภัณฑ์อันเป็นสถานที่ทำงานของเธอ เพื่อนที่ “ร่วมงาน” แต่ไม่ได้ “ร่วมทุกข์สุข” ก็กลับกลายมาเป็นโจทก์ที่รุมกระหน่ำทำร้ายเธอได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก   ไล่เรียงตั้งแต่ปริมที่เห็นมุตตาเป็นศัตรูหัวใจที่เข้ามาช่วงชิงวีกิจพระเอกของเรื่อง กลุ่มแก๊งเพื่อนกะเทยที่คอยแอบถ่ายคลิปลับของมุตตาเอาไว้ประจานผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงรัชนกหรือหนูนกที่หน้าตาวาจาใสซื่อ แต่เบื้องหลังแล้วกลับแฝงไว้ด้วยร้อยแปดเล่ห์กลมารยา   ในสถานการณ์ที่สถาบันครอบครัวก็ล้มเหลว เพื่อนฝูงก็คือคนที่พึ่งพาไม่ได้ หรือเป็นห้วงที่ชีวิตตกอยู่ในภาวะแปลกแยกถึงขีดสุดกับโลกรอบตัวเช่นนี้ มุตตาผู้รู้จักแต่ “say yes” จึงมีสภาพแบบ “หลังพิงฝา” และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเธอนั้น ก็สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้ากับสภาวะแปลกแยกของสังคมไม่ได้ จนต้องยอมจำนนรับชะตากรรมว่า ทุกอย่างเป็นความผิดเนื่องแต่ตนเองเท่านั้น   ตรงกันข้ามกับพี่สาวฝาแฝดอย่างมุนินทร์ ที่มีความเชื่อว่า หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบที่แสนโหดร้าย และผู้คนต่างเป็นเสมือนหมาป่าของกันและกันแล้ว การรู้จัก “say no” ให้กับระบบสังคมที่ล้มเหลวเท่านั้น น่าจะเป็นคำตอบให้กับความอยู่รอดของชีวิตในสังคมเยี่ยงนี้   แม้ในเบื้องต้น มุนินทร์เองก็เชื่อว่าความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวคือจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของตัวละคร แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า มีการสมรู้ร่วมคิดจากผู้คนอื่นๆ ในสังคมแห่งนี้อีกหรือไม่ ที่เลือกกระทำโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีของตัวละครผู้ไร้ทางออกในชีวิตอย่างมุตตาเสียเลย   เพราะฉะนั้น หลังจากที่แฝดผู้น้องเสียชีวิตลง มุนินทร์ผู้ไม่ได้เชื่อหรือหลงใหลไปกับโลกแฟนตาซีลวงตา แต่เชื่อในการสืบค้นความเป็นจริงจากหลักฐาน จึงเริ่มลงมือเก็บข้อมูลของตัวละครแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของน้องสาว เพื่อวินิจวิจัยว่าใครบ้างที่เป็นตัวแปรผู้บีบคั้นให้มุตตาเจ็บช้ำจนต้องกระทำอัตวินิบาตกรรม   ในขณะเดียวกัน เมื่อรู้จักที่จะ “say no” และพินิจพิจารณาคนจาก “ธาตุแท้” และความเป็นจริงอย่างจริงๆ ของสังคม มุนินทร์จึงใช้ทั้ง “หนึ่งสมอง” และ “สองมือ” จัดการกับทุกตัวละครที่เป็นต้นเหตุทำลายชีวิตน้องสาวของเธอ ซึ่งแน่นอนว่า ตัวละครแรกที่เธอหมายหัวเอาไว้ก็คือครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภานั่นเอง   หากมุตตามองว่าสร้อยไข่มุกที่ ผอ.เจนภพ มอบให้ เป็นตัวแทนของความรักความผูกพันที่ชายผู้นี้มีให้กับเธอ มุนินทร์กลับ “say no” และนิยามสร้อยไข่มุกเส้นเดียวกันนี้ต่างออกไปว่า อีกด้านหนึ่งของความรักก็ไม่น่าจะต่างอะไรไปจากพันธนาการที่ทั้งตัวละครและสังคมผูกให้กับผู้หญิงที่อ่อนหัดและอ่อนแอต่อโลกเท่านั้น เหมือนกับที่มุนินทร์ได้พูดกับเจนภพไว้อย่างแสบสันต์ว่า “ศักดิ์ศรีของผู้หญิงมันหมดไปเมื่อถูกผู้ชายลวงเข้าม่านรูดไปแล้ว...”   หลังจากนั้น ละครก็เลือกที่จะฉายภาพให้ผู้ชมลุ้นไปกับด้านที่มุนินทร์ออกแบบกลวิธีต่างๆ เพื่อแก้แค้นครอบครัวของเจนภพและนพนภา รวมไปถึงบรรดาผองเพื่อนร่วมงานตัวร้ายผู้สมคบคิด   แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครก็คงต้องการบอกผู้ชมและให้บทเรียนกับตัวละครเหล่านี้ว่า หากคุณต้องมาอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่มุตตาเคยเผชิญมาบ้าง หรือต้องถูกบีบให้มายืน “หลังพิงฝา” แบบไม่มีทางออกบ้างแล้ว พวกคุณจะรู้สึกเช่นไร   ดังนั้น ฉากการเผชิญหน้าระหว่างมุนินทร์กับนพนภา และเธอได้โยนไดร์เป่าผมที่ถอดปลั๊กแล้วลงไปในอ่างจากุชซี่ที่นพนภานอนแช่อยู่ ก็คือการสร้างสถานการณ์ให้นพนภาผู้มีอำนาจเงินในมือ ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ไร้ทางออกบ้างนั่นเอง   หากโลกทุกวันนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากครอบครัวที่ล้มเหลวของฝาแฝดพี่น้อง หรือเป็นเหมือนกองงานพัสดุภัณฑ์ ที่ผู้คนมีแต่ใส่หน้ากากและกระทำร้ายทั้งชีวิตและจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การที่ผู้หญิงสักคนต้องใช้ชีวิตในโลกแบบนี้ อาจต้องอยู่บนตัวเลือกแล้วว่า เธอจะ “say yes” แบบแฝดน้องมุตตา หรือเลือกจะ “say no” ให้เป็นบ้างแบบแฝดพี่มุนินทร์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 หงส์สะบัดลาย : เพราะการเมืองไม่เข้าเพศใดออกเพศใด

สิ่งที่เรียกกันว่า “การเมือง” นั้น มักถูกเชื่อกันมานานแสนนานแล้วว่า “การเมือง” เป็นเรื่องที่อยู่นอกบ้าน เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและไกลตัว และเป็นเรื่องที่เราจะเห็นแต่ภาพของบุรุษเพศที่มาต่อสู้ฟาดฟันอำนาจกันบนเวทีของสภาผู้ทรงเกียรติ แต่มิใช่พื้นที่ที่สตรีเพศจะสามารถแทรกตัวเข้าไปยุ่งได้เลย แต่อันที่จริงนั้น ความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นเพียง “ความเข้าใจผิด” มากกว่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว แม้จะซ้ำซากน่าเบื่อ แต่ “การเมือง” ก็อาจมิใช่เรื่องที่ไกลตัว หรืออยู่แต่นอกปริมณฑลของบ้านและครอบครัวเพียงอย่างเดียว ยิ่งหากเป็นตัวแปรเรื่องเพศสภาพของความเป็นหญิงและชายด้วยแล้ว “การเมือง” อาจจะไม่เลือกจำแนกว่า เป็นของเพศใดเพศหนึ่งเสียด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “เนติมา” ที่ชีวิตต้องมาผกผัน เพียงเพราะเหตุผลทาง “การเมือง” ที่นักการเมืองกังฉินสุดขั้วอย่างนายพงศ์เลิศได้ฆ่าปิดปากบิดาและมารดา จนตัวเธอต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปอยู่ฝรั่งเศสอันเป็นประเทศซึ่งกล่าวกันว่าคือจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยโลก และเธอก็ต้องพลัดพรากจากยศวีร์ผู้เป็นน้องชาย ตั้งแต่ที่ทั้งคู่ยังเยาว์วัยอยู่   แต่แม้จะหนีไปแดนไกลอีกฟากฝั่งของโลกแล้วก็ตาม การเมืองก็ยังตามไปหลอกหลอนรังควานเธอ เพราะนายพงศ์เลิศก็ยังไล่ล่าส่งมือปืนไปหมายสังหารเธอถึงที่โน่น และทำให้เธอต้องว่าจ้าง “ระบิล” พระเอกของเรื่องมาเป็นบอดี้การ์ดประจำตัว จนกลายเป็นปัญหารักสามเส้าในกาลถัดมา เมื่อจนตรอกจนไม่สามารถหนีต่อไปได้อีกแล้ว ในที่สุดนาง “หงส์” อย่างเนติมาจึงคิดที่จะ “สะบัดลาย” ออกมาบ้าง และเพราะเธอต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อเนติมา (หรือชื่อที่ผู้เขียนบทจงใจให้มีนัยยะว่าความถูกต้องทางกฎหมาย) ตัดสินใจกลับเมืองไทยอีกครั้ง ก็เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับการเมืองซึ่งเธอพบแล้วว่า ไม่มีวันที่จะวิ่งหนีไปพ้นได้ ก็เหมือนกับที่เนติมาได้พูดกับนายพงศ์เลิศเมื่อต้องมาพบหน้ากันเป็นครั้งแรกว่า “สิบปีที่ผ่านมา ฉันมีลมหายใจอยู่ก็เพื่อวันนี้ วันที่ฉันจะกลับมาทวงคืนความชอบธรรมให้กับชีวิตคุณพ่อคุณแม่ของฉัน บางคนอาจจะคิดว่าเวรกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ฉันว่ามันเป็นเรื่องจริงที่คนก่อไม่มีสิทธิปฏิเสธ...” เพราะฉะนั้น จาก “สองมือที่ดูนุ่มนวลอ่อนโยน” และ “สองมือที่ดูช่างบอบบางอย่างนั้น” เนติมาก็เลยหันมาฝึกซ้อมยิงปืนแบบบุรุษเพศ มุ่งมั่นหาหลักฐานในคดีเก่าๆ ของบิดามารดา และสวมบทบาทนักต่อสู้ที่ยืนหยัดเพื่อทวงความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ครอบครัวของเธอให้ได้ และในครั้งนี้เอง เนติมาก็ต้องมีบทเรียนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งว่า การเมืองที่เธอเข้าไปต่อสู้อยู่นั้น ยังทรงอำนาจเข้ามากำหนดเรื่องชีวิตส่วนตัวได้ ขนาดที่สามารถสะบั้นความรักระหว่างเธอกับศิวัชที่คบหากันมาตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศส ในขณะที่ผู้ชมเห็นภาพชีวิตของเนติมาที่ดำเนินไปในพื้นที่ทางการเมืองอยู่นั้น ละครก็ได้ฉายภาพอีกมุมหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงแค่เนติมาเท่านั้นที่ต้องเข้ามาสู่วังวนของอำนาจและการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้แต่ตัวละครผู้หญิงคนอื่น ๆ ในท้องเรื่อง ก็ต้องโคจรเข้าสู่วัฏจักรแห่งอำนาจการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าเส้นที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะเลือก ก็มักเป็นการยอมจำนนต่ออำนาจแห่งการเมืองที่แม้จะไม่ชอบธรรมก็ตาม เริ่มต้นจากเพื่อนรักของเนติมาอย่างขวัญชนกและคุณเจือจันทร์ผู้เป็นมารดานั้น เพราะรั้วบ้านที่อยู่ติดกัน ทำให้ได้รู้เห็นเบื้องหลังการตายของพ่อแม่เนติมาโดยบังเอิญ เธอทั้งสองจึงถูกอำนาจของนายพงศ์เลิศและลูกชายจับขังพันธนาการไว้ในบ้าน และต้องคอยรับใช้พวกเขาจนแทบจะไม่เห็นเดือนเห็นตะวันที่อยู่ภายนอกบ้านของตนเองได้เลย หรืออนงค์ผู้เป็นคนรักของยศวีร์ ก็ถูกหลอกให้ต้องเข้ามาพัวพันกับวงจรการเมือง และเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมที่พงศ์เลิศใช้ล่อหลอกเนติมาและน้องชายติดกับ จนในที่สุดอนงค์ก็ต้องสูญเสียบิดาไปในตอนท้าย หรือชลกรผู้เป็นภรรยาเก็บของนายพงศ์เลิศ ที่เพราะอยากมีอยากได้ในลาภยศ จึงยอมตกเป็นเครื่องมือของพงศ์เลิศที่ใช้เดินเกมทำลายคู่แข่งทางการเมือง กว่าที่ตอนท้ายจะเรียนรู้ว่า ในเกมดังกล่าวนี้พงศ์เลิศต่างหากที่เป็นหมากที่น่ากลัวและอำมหิตกว่าหมากตัวอื่นๆ ในกระดาน ตัวละครหญิงหลายๆ คนเหล่านี้ ในท้ายที่สุด ก็ได้เรียนรู้สัจธรรมความจริงที่ไม่ต่างจากเนติมาว่า แม้จะอยู่เฉยๆ ที่บ้าน การเมืองก็ยังเข้ามาเกี่ยวพันวนเวียนกับชีวิตของพวกเธอ หากพวกเธอไม่เข้าไปจัดการอะไรเสียบ้าง การเมืองก็จะย้อนกลับมาจัดการกับชีวิตของตนอยู่ดี เพราะฉะนั้น ในขณะที่เนติมาได้ลุกขึ้นมาเป็นแถวหน้าในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางการเมืองแล้ว ตัวละครหญิงที่เหลืออย่างขวัญชนก เจือจันทร์ และอนงค์ จึงต้องเข้ามาเล่นบทบาทเป็นกำลังสมทบในเวทีต่อสู้ทางการเมืองด้วยเช่นกัน รวมไปถึงตัวละครอย่างชลกรเอง ที่ท้ายสุดก็เลือกปลิดชีวิตของนายพงศ์เลิศเพื่อปลดพันธนาการของตนจากอำนาจอันชั่วร้ายของเขา และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ เมื่อด้านหนึ่งตัวละครหญิงในเรื่องถูกผลักให้เข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะทางการเมืองกันมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ฉายภาพให้เห็นในมุมกลับกันว่า บรรดาบุรุษเพศที่เคยเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองมาก่อนนั้น ก็จำต้องมาเรียนรู้บทบาทในพื้นที่ส่วนตัวอย่างกิจกรรมในบ้านและครัวเรือนกันบ้าง ก็เหมือนกับหลายๆ ฉากในท้องเรื่อง ที่เราจะเห็นบอดี้การ์ดมือหนึ่งอย่างระบิลวางอาวุธปืน แล้วหันหน้าเข้าครัวทำเค้กนานาชนิดและทำอาหารคาวหวานสารพัน หรือรู้จักที่จะช่วยนางเอกเลือกเสื้อผ้าชุดต่าง ๆ หรือแม้แต่ลงมือปลูกดอกไม้แต่งสวน อันเป็นการทดลองสลับบทบาทกันเล่นระหว่างหญิงชายและการมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะและส่วนตัวของบ้าน ทุกวันนี้ ในโลกความจริง เราก็เห็นภาพของผู้หญิงเข้ามาโลดแล่นในพื้นที่การเมืองเรื่องสาธารณะกันมากขึ้น หรือแม้แต่การขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของคณะผู้บริหารประเทศไปแล้ว คำถามที่น่าคิดต่อจากนี้ไปคงไม่ใช่ว่า การเมืองจะเป็นเขตปลอดจากผู้หญิง หรือผู้หญิงจะปลอดจากเรื่องการเมือง แต่อาจต้องตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แล้ว “หงส์” ที่กำลัง “สะบัดลาย” อยู่นั้น จะสร้างสรรค์พื้นที่ของสถาบันการเมืองต่อไปอย่างไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 รักเกิดในตลาดสด : พหุวัฒนธรรมของบรรดา

“รับไหมครับ ความรักดีดี ที่ไม่มีขายอยู่ทั่วไป รับไหมครับ ตัวผมจริงใจ อยากให้คุณไปฟรีฟรี...” เมื่อเพลง “รักดีดีไม่มีขาย” ของพี่โจ๊กโซคูลดังขึ้น คอแฟนละครโทรทัศน์ก็คงจะรู้ในทันทีว่า ละครเรื่อง “รักเกิดในตลาดสด” ได้เริ่มเปิดแผงออกอากาศแล้ว โดยมีพ่อค้าขายผักจอมยียวนอย่างต๋อง และแม่ค้าขายปลาหน้าหมวยอย่างกิมลั้ง เป็นตัวละครเอกที่ต้องฝ่าด่านเจ๊กิมฮวยผู้ปากร้ายใจดี กว่าที่ “รัก” ของตัวละครทั้งคู่จะ “เกิด” และลงเอย “ในตลาดสด” กันด้วยดี แล้วเหตุไฉน ความรักดีดีจึงไม่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้ถูกจำลองภาพเอาไว้ให้มาเกิดกันอยู่ใน “ตลาดสด” เช่นนี้ด้วย ? หากอธิบายตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น “ตลาด” เป็นพื้นที่ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยิ่งกับสังคมไทยด้วยแล้ว ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากชีวิตของคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา   แม้เราจะเชื่อกันว่า กระบวนการทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของ “การผลิต” และ “การบริโภค” สินค้าหรือวัตถุต่างๆ เป็นหลัก แต่ถ้ากระบวนการทางเศรษฐกิจขาดซึ่งช่องทางของ “การแพร่กระจาย” ไปเสียแล้ว สินค้าหรือวัตถุต่างๆ ที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเสียดิบดี ก็ไม่มีวันจะเข้าถึงมือของผู้บริโภคไปได้ บนพื้นฐานของวิถีการผลิตเยี่ยงนี้นี่เอง “ตลาด” ก็คือกลไกสำคัญที่เป็นข้อต่อซึ่งเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักหรือชาวประมงที่หาปลามาได้ในแต่ละวัน ก็ล้วนต้องอาศัยทั้งต๋อง กิมลั้ง กิมฮวย และพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย มาเป็นสะพานเชื่อมต่อผลผลิตของเขาเหล่านั้นไปสู่ห้องครัวของผู้บริโภค และเมื่อตลาดได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ “ความรัก” เท่านั้นที่จะบังเกิดขึ้นในตลาด หากแต่ถ้าเรามองภาพในระดับที่กว้างขึ้น ก็จะพบว่า สังคมไทยของเรานั้นก็น่าจะก่อรูปก่อร่างสร้างวัฒนธรรมและระบบความสัมพันธ์อันแตกต่างหลากหลายขึ้นมาจากพื้นที่ของตลาดสดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากชื่อของ “ตลาดร่วมใจเกื้อ” ที่เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องนั่นเอง ในตลาดสดร่วมใจเกื้อนั้น ก็เป็นภาพจำลองของสังคมไทยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย หรือที่เรียกกันแบบกิ๊บเก๋ได้ว่าเป็น “สังคมแบบพหุวัฒนธรรม” ที่ตัวละครจะมีทั้งรักกันบ้าง แง่งอนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็เกื้อกูลกันอยู่เป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น ตลาดสดจึงมีตั้งแต่ตัวละครวัยรุ่นแบบต๋อง กิมลั้ง กิมแช จาตุรงค์ และกลุ่มก๊วนของต๋อง ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบวัยรุ่นขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอีเว้นท์คอนเสิร์ตของต๋องกันกลางตลาด การจัดส่งน้องกิมแชไปแข่งขันประกวดนักร้องล่าฝัน หรือแม้แต่แง่มุมเล็กๆ อย่างการโพสท่ายกนิ้วถ่ายรูปแบบวัยรุ่นผ่านมือถือไอโฟนที่เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ในขณะเดียวกัน ตลาดร่วมใจเกื้อก็ยังมีการดำเนินไปของอีกหลากหลายชีวิต เริ่มตั้งแต่บรรดาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ ทั้งแบบไทย แบบจีน แบบแขก ไปจนถึงกระแสท้องถิ่นนิยมแบบตัวละครสาวเหนืออย่างเครือฟ้าที่อู้กำเมืองอยู่ตลอดเวลาที่มาตลาด หรืออ้ายคำมูลพ่อค้าส้มตำอีสานที่ก็เว้าลาวโลดอยู่เป็นเนืองๆ ชุมชนตลาดสดยังมีวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ แบบที่เราเองก็เห็นได้จากตัวละครอย่างคนทรงเจ้าที่ “ทำเพื่อลูก” อย่างน้าจะเด็ด ที่แม้ตอนต้นจะทรงเจ้าเข้าผีหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้านอยู่ทุกวี่วัน แต่ตอนหลังก็กลับใจมาใช้ศาสตร์แห่งพิธีกรรมเป็นภูมิปัญญาให้คนในตลาดยึดมั่นทำแต่ความดี และในส่วนแง่มุมเล็กๆ อื่นๆ ของละคร ตลาดสดแห่งนี้ก็ยังฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีการโคจรมาพบกันระหว่างวิถีชีวิตของชนชั้นที่แตกต่าง หรือระหว่างเจ้าของตลาดสดอย่างคุณสดศรีและณดา กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผง กลุ่มวัฒนธรรมของเพศที่สามอย่างคิตตี้กะเทยสาวที่ต้องแอบเก็บงำความลับเรื่องรสนิยมทางเพศของเธอไว้ไม่ให้บิดารับรู้ กลุ่มวัฒนธรรมของผู้พิการทางร่างกายอย่างน้อยหน่าช่างเสริมสวยที่ต่อสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง และอีกหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมที่ “ร่วมใจเกื้อ” และต่างก็มีเหตุผลในการสร้างและดำเนินชีวิตของพวกเขาในแบบที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าในด้านหนึ่ง ละครจะได้ชี้ให้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า ตลาดสดทุกวันนี้ไม่ได้เป็นชุมชนที่ผูกขาดการเป็นข้อต่อของโลกแห่งการผลิตและโลกแห่งการบริโภคเอาไว้อยู่เพียงเจ้าเดียว เพราะชุมชนตลาดสดต้องอยู่ในภาวะการต่อสู้ดิ้นรนกับการเกิดขึ้นของพื้นที่ค้าขายใหม่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ที่พยายามใช้เล่ห์กลทุกอย่างที่จะฮุบตลาดสดออกไปจากเส้นทางเศรษฐกิจของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นริ้วรอยแห่งการเปลี่ยนผ่านลบล้างคราบไคลของตลาดสดในแบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มาสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่กระแสธารแห่งความทันสมัย นับตั้งแต่การจัดรูปลักษณ์ของแผงค้าขายให้ดูดึงดูดและทันสมัยมากขึ้น การสร้างตลาดสดให้สะอาดสะอ้านไม่เป็นแหล่งเพาะหนูและเชื้อโรค การรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายสวมหมวกคลุมผมให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย และการผลิตวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกมากมายเพื่อป้อนออกสู่ชุมชนตลาดสดร่วมใจเกื้อแห่งนี้ ภาพของตลาดร่วมใจเกื้อแบบนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากภาพรวมของสังคมไทยเท่าใดนัก เพราะเราเองก็กำลังก้าวผ่านจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สู่สังคมที่เจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สังคมไทยแบบ “ร่วมใจเกื้อ” พึงรำลึกเสมอก็คือ บนเส้นทางสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจนั้น สังคมเราอาจไม่ได้มีหน้าตาเป็นแบบมวลรวม หากแต่ฉากหลังก็ยังคงหล่อหลอมความแตกต่างหลากหลายแบบ “พหุวัฒนธรรม” เอาไว้ด้วยเช่นกัน และหากพ่อค้าแม่ขายพลพรรคของต๋องและกิมลั้งร่วมใจเกื้อกูลและสร้าง “รักให้บังเกิดในตลาดสด” ขึ้นมาได้ฉันใด กลุ่มวัฒนธรรมอันหลากหลายก็น่าที่จะสร้าง “ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก” ให้กับสังคมไทยได้เช่นกันฉันนั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 ธรณีนี่นี้ใครครอง : ความรู้ อำนาจ และศักดิ์ศรี

หากจะถามว่า ธรณีนี่นี้ใครเป็นผู้ครอง? คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณมาคงตอบได้ในทันทีว่า ก็ต้องเป็นแม่พระธรณีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนผืนพิภพแห่งนี้ แต่หากจะถามต่อว่า แล้วในละครโทรทัศน์นั้น ธรณีนี่นี้ใครจะเป็นผู้ครอบครอง? มิตรรักแฟนคลับของญาญ่า-ณเดชน์ ก็ต้องตอบได้ในทันทีเช่นกันว่า เป็นคุณย่าแดง นายอาทิจ และน้องดรุณี จากละครเรื่อง “ธรณีนี่นี้ใครครอง” เท่านั้น เพราะตัวละครทั้งสามคือผู้รู้คุณแม่พระธรณี และช่วยกันพลิกฟื้น “สวนคุณย่า” ให้กลายเป็นสินทรัพย์แห่งชีวิตคนไทย และหากจะถามกันต่อไปอีกว่า แล้วอะไรกันที่ทำให้ตัวละครย่าหลานทั้งสามคนสามารถครอบครองผืนธรณีสวนคุณย่านี้ได้ ถ้าเป็นคนไทยในยุคดั้งเดิม ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะจิตสำนึกของตัวละครที่รักแผ่นดินบ้านเกิด และหวงแหนผืนดินที่บรรพชนสืบต่อเป็นมรดกให้มา แต่อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยในยุค “สังคมแห่งความรู้” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกไว้อย่างกิ๊บเก๋ว่า “knowledge-based society” นั้น กลับให้คำตอบที่เพิ่มขึ้นด้วยว่า แค่จิตสำนึกรักผืนดินถิ่นเกิดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว ต้องมี “ความรู้” เป็นพื้นฐานในการใช้รักษาผืนธรณีแห่งบรรพชนเอาไว้ด้วย เหตุแห่งเรื่องก็เริ่มมาจากการที่นายอาทิจซึ่งเป็นตัวละครเอกได้เรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตรศาสตร์ แต่เพราะสำนึกรู้คุณแห่งแผ่นดิน บวกกับความต้องการที่จะไถ่โทษให้บิดาที่เคยทำความผิดกับคุณย่าแดงเอาไว้ อาทิจก็เลยตัดสินใจอาสามาช่วยงานในไร่ของคุณย่า   และเพราะในสังคมแห่งความรู้นั้น ผู้ใดที่มี “ความรู้” ผู้นั้นก็คือผู้ที่มี “อำนาจ” เพราะฉะนั้น แม้นายอาทิจจะไม่ได้เติบโตมาในสังคมบ้านไร่บ้านนาโดยตรง แต่เกษตรศาสตรบัณฑิตผู้นี้กลับเลือกที่จะใช้ความรู้จากเมืองกรุงมาเป็น “อำนาจ” เพื่อปลดปล่อยและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับบรรดาเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่ตัวละครคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเวทางค์ วิยะดา หรือคุณตุ่น เลือกที่จะใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากสถาบันการศึกษาส่วนกลาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และหวนกลับไปสู่การใช้ชีวิตมั่งคั่งในเมืองกรุง แต่นายอาทิจกลับเริ่มเปิดฉากชีวิตด้วยการพกพาความรู้ส่วนกลางกลับมอบคืนให้กับคนในท้องถิ่น แม้ด้านหนึ่ง ละครจะชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรท้องถิ่นต่างก็มีองค์ความรู้ที่เป็นทุนเดิมของตนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาทิจเลือกมาเติมเต็มให้กับชาวบ้านก็คือ องค์ความรู้แผนใหม่แบบการวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นชุดความรู้ที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ผลิตออกมา เฉกเช่นเดียวกับที่ภายหลังจากคุณย่าแดงมอบที่ดินจำนวนหนึ่งให้กับอาทิจ ก่อนที่เขาจะลงมือปลูกพืชกล้าอันใด เขากลับเลือกเริ่มต้นใช้องค์ความรู้แผนใหม่เรื่องการทดสอบสภาพดินมาจัดการสำรวจที่ดินแปลงนั้นเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจคุณลักษณะของดินว่าเค็มเปรี้ยวร่วนซุยเพียงใด หน้าดินหนาลึกมีชั้นดินเป็นเช่นไร แหล่งน้ำรอบที่ดินนั้นมีมากน้อยเพียงพอแค่ไหน และพืชชนิดใดบ้างที่จะเหมาะกับหน้าดินและปริมาณหรือคุณภาพของน้ำที่หล่อเลี้ยงผืนดินดังกล่าวอยู่ เหล่านี้คือองค์ความรู้สมัยใหม่ ที่อาทิจใช้ย้อนกลับไปปลดปล่อยและยกระดับพัฒนาวิถีชีวิตเกษตรกรในท้องถิ่น รวมไปถึงบางฉากบางแง่มุมที่ละครก็ได้สะท้อนให้เห็นด้วยว่า แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการซ่อมแซมรถแทรกเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องจักรที่ขัดข้อง ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบนี้เข้าไปจัดการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้เชิดชูให้เห็นแต่ด้านดีหรือข้อเด่นของวิทยาการความรู้สมัยใหม่ของนายอาทิจแต่เพียงด้านเดียว ตรงกันข้าม ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นขีดจำกัดของความรู้ที่ผลิตออกมาจากส่วนกลางนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากความรู้ที่ผ่านสถาบันการศึกษาของนายอาทิจเป็นความรู้แบบ “รวมศูนย์” หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นองค์ความรู้ที่ถูกเชื่อว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกที่ทุกภูมิภาค เพราะไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในท้องถิ่นใด ความรู้เรื่องการทดสอบสภาพดิน ตรวจสอบคุณภาพน้ำ หรือแม้แต่ความรู้ในการซ่อมรถแทรกเตอร์ที่มีขายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ก็ล้วนเป็นความรู้ที่สามารถปูพรมประยุกต์ใช้กันได้ในทุก ๆ สถานการณ์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นที่นายอาทิจกลับหลงลืมไปก็คือ อันสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ความรู้” นั้น มิได้มีแต่ด้านที่เป็น “สากล” หรือเป็นอำนาจของส่วนกลางที่เข้าไปสวมครอบท้องถิ่นได้ในทุก ๆ เรื่อง แต่ทว่ายังมีความรู้อีกชุดหนึ่งที่เป็นลักษณะ “เฉพาะถิ่นเฉพาะที่” ซึ่งหมายความว่า ต้องคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่สามารถสกัดแปลงประสบการณ์ให้กลายมาเป็นความรู้เฉพาะที่ของตนเองได้ ดังนั้น เมื่อนายอาทิจถูกนางเอกอย่างดรุณีและชาวบ้านสอนมวยหลอกให้ลงมือปลูกกล้วยป่า ซึ่งเป็นพืชที่มีแต่เม็ดไม่สามารถขายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ อาทิจก็ได้ซาบซึ้งถึงบทเรียนเรื่อง “อำนาจ” ของความรู้จากท้องถิ่นที่มิอาจปฏิเสธหรือมองข้ามไปได้ในสังคมแห่งความรู้เช่นนี้ แบบเดียวกับที่คุณย่าแดงได้ให้ข้อเตือนใจกับตัวละครในภายหลังว่า “…คนเรามันจะรู้อะไรไปเสียทุกอย่าง ย่าเกิดมาปูนนี้แล้ว เรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องย่ายังไม่รู้เลย...ต้นไม้ใบหญ้ามีเป็นล้าน ๆ ชนิด ถ้าบ้านเขาไม่มี เขาไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก มันผิดด้วยหรือ...” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดหรืออยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ที่จะเอาไว้ข่มคนอื่นว่าเราเหนือกว่า หรือมี “อำนาจ” เป็นผู้ผลิตสัจธรรมได้เพียงฝ่ายเดียว แต่ความรู้ที่จะองอาจหรือมี “อำนาจ” สร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริงนั้น คงต้องเป็นอำนาจแบบที่นายอาทิจและน้องดรุณีใช้เชื่อมประสานความรู้จากทุกทิศทุกทาง เป็นอำนาจความรู้จากส่วนกลางที่นำมารับใช้คนทุกคน และเป็นอำนาจที่เคารพศักดิ์ศรีความรู้แห่งท้องถิ่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน และเมื่อความรู้สมัยใหม่จากส่วนกลาง ประสานพลังเข้ากับความรู้ที่เป็นรากและฐานของท้องถิ่นได้แล้ว เราก็คงได้คำตอบในที่สุดว่า ในสังคมแบบที่มีความรู้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเยี่ยงนี้นั้น ใครบ้างที่ควรจะเป็นผู้ครอบครองธรณีนี่นี้ที่บรรพชนมอบให้มา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 มารยาริษยา : มหากาพย์แห่งความแปลกแยก

และแล้ว มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างนางแบบรุ่นพี่อย่าง “เพียงดาว” กับนางแบบรุ่นน้องหน้าใหม่อย่าง “ดีนี่” ก็รีเทิร์นกลับมาสร้างความตื่นเต้นสะใจกันอีกครั้งในปี 2012 นี้ นอกจากการตบกันจนกระจายและวิวาทะกันจนกระเจิงแล้ว การหวนกลับมาอีกครั้งของปมขัดแย้งระหว่างเพียงดาวและดีนี่ โดยมีพระเอกช่างภาพหนุ่มอย่าง “โอม” เป็นตัวแปรศูนย์กลางของเรื่อง น่าจะนำไปสู่คำถามบางอย่างว่า ความขัดแย้งแก่งแย่งดังกล่าวกำลังบอกอะไรกับคนดูหรือสังคมไทยกันบ้าง ถ้าดูแบบผิวเผินแล้ว “มารยาริษยา” ก็อาจจะเป็นละครโทรทัศน์ที่กำลังเปิดโปงให้เราเห็นเบื้องหลังของแวดวงนางแบบ ซึ่งหน้าฉากแคทวอล์กอาจจะเป็นภาพของวงการที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยอาภรณ์เสื้อผ้าที่สวยงาม แต่ฉากหลังนั้นกลับเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและประหัตประหารกันด้วย “มารยา” และ “ริษยา” อันมากมาย แต่หากเพ่งมองให้ลึกลงไปกว่านั้นแล้ว “มารยาริษยา” ก็อาจจะมีอีกด้านหนึ่งที่จำลองภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ที่แม้จะดูก้าวหน้าเชิงเศรษฐกิจสังคมมากกว่าในอดีต แต่ก็กำลังเป็นสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมแห่ง “ความแปลกแยก” ในเวลาเดียวกัน   นักทฤษฎีสังคมรุ่นคลาสสิกอย่างคุณปู่คาร์ล มาร์กซ์ เคยอธิบายไว้ว่า ภายใต้ระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันเป็นหลัก และผู้แพ้หรือผู้อ่อนแอต้องถูกคัดออกไปจากระบบนั้น มนุษย์จึงมักตกอยู่ในสภาวะที่ถูกตัดสายสัมพันธ์จากสรรพสิ่งแวดล้อมรอบตัว จนนำไปสู่การเกิดอาการแปลกแยกในจิตใจ เรื่องราวของเพียงดาวและดีนี่เองก็เริ่มต้นขึ้นบนหลักการแข่งขันและแพ้คัดออกดังกล่าวเช่นกัน เมื่อตัวละครอย่างเพียงดาวที่เป็นนางแบบรุ่นใหญ่และกำลังหมดศรัทธาในเรื่องความรัก ต้องมาเผชิญหน้ากับนางแบบรุ่นน้องเพิ่งเข้าวงการอย่างดีนี่ ที่ร้ายลึกและพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะเพียงดาวให้ตกเวทีทั้งในเรื่องงานและเรื่องความรัก และด้วยเหตุฉะนี้ เพียงดาวจึงเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ยุคใหม่ในสังคมที่ไร้รัก เปลี่ยวเหงา และแปลกแยก เพราะไม่เพียงแต่ภูมิหลังชีวิตของเธอที่ดูเหมือนจะผิดหวังกับความรักมาครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น แม้แต่อาชีพนางแบบที่เธอดำรงชีวิตเยื้องย่างบนแคทวอล์ก ก็ช่างเป็นอาชีพที่สะท้อนบรรยากาศของ “ความแปลกแยก” ได้อย่างเข้มข้นที่สุด บนเวทีแคทวอล์ก เพียงดาวอาจจะเฉิดฉายอู้ฟู่เป็นนางแบบที่รู้จักนิยมยกย่องของผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ทว่าอาชีพนางแบบของเธอนั้น กลับมีอีกด้านที่เป็นเพียงอาชีพที่มีคนรู้จักมากมาย แต่เธอเองกลับแปลกแยกและไม่เคยได้รู้จักหรือมีสายสัมพันธ์กับผู้คนที่วนเวียนอยู่รอบตัวอย่างแท้จริง เมื่อเพียงดาวโคจรมาเจอกับโอม ผู้หญิงที่กำลังรู้สึกเปลี่ยวเหงาแปลกแยกและท้อแท้กับชีวิตในระบบอย่างเธอ จึงคิดว่าโอมอาจเป็นความรักความหวังหรือฟาง “สายสัมพันธ์” เส้นสุดท้ายที่เข้ามาในชีวิต เพราะฉะนั้น อารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรงที่เพียงดาวแสดงออกมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ไม่ต่างกลับการบ่งบอกนัยว่า เธอเองก็มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเกาะเกี่ยวยึดฟางเส้นดังกล่าวเส้นนี้เอาไว้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด เพียงดาวก็ได้เรียนรู้ว่า ความรักหรือความหวังช่างเป็นสิ่งที่หาได้ยากและแร้นแค้นยิ่งในสังคมที่แปลกแยกเยี่ยงนี้ แบบที่เธอเองก็พูดกับโอมว่า “…เป็นความรักแน่เหรอโอม ถ้าสิ่งที่โอมให้ฉันคือความรัก ทำไมมันทำลายชีวิตฉันขนาดนี้ ทำไมทำให้ฉันเจ็บปวดขนาดนี้...” ในส่วนของดีนี่นั้น ละครก็ได้แฟลชแบ็กกลับไปให้เราเห็นว่า เธอเองก็มีปมชีวิตที่เติบโตมาในครอบครัวที่ล้มเหลวแตกแยก และถูกบิดาทำทารุณกรรมมาตั้งแต่เด็ก จนมิอาจยึดโยงสายสัมพันธ์เข้ากับสถาบันดั้งเดิมอย่างครอบครัวเอาไว้ได้เลย ในสังคมที่มี “การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักมิอาจเยียวยา” เช่นนี้ ก็เลยไม่น่าแปลกที่สังคมดังกล่าวจะสร้างตัวละครแบบดีนี่ ที่ไม่เพียงจะตกอยู่ในสภาวะแปลกแยก แต่ก็ยังเป็นมนุษย์แปลกแยกผู้มากด้วยเล่ห์กลและพยายามเอาชนะเหยียบหัวคนอื่น เพื่อให้ตนขึ้นไปถึงฝั่งฝันสูงสุดของชีวิต ไม่ว่าการกระทำนั้นจะผิดหรือถูก มนุษย์ที่ว่ายวนในสังคมแปลกแยกสามารถทำทุกวิถีทางที่จะเป็นม้าตัวสุดท้ายที่วิ่งเข้าสู่เส้นชัย แบบเดียวกับที่ดีนี่ก็ใช้วิธีหลอกลวงสร้างเรื่องโกหกมากมาย ตั้งแต่การหลอกลวงพระเอกแสนดีอย่างโอมและครอบครัวของเขา หลอกลวงบุคคลรอบข้างและพร้อมจะถีบส่งหัวเรือของผู้จัดการดาราอย่างป้ากบที่พายส่งเธอถึงฝั่งแล้ว หรือแม้แต่ยอมปั้นเรื่องเอาเท้าเหยียบเศษแก้วเอง เพื่อสร้างเรื่องป้ายความผิดให้กับเพียงดาว การปรากฏตัวออกมาของตัวละครอย่างดีนี่ จึงดูไม่ต่างไปจากการชี้ให้พวกเราตระหนักด้วยว่า สังคมที่อุดมไปด้วยการแข่งขันและต่างแปลกแยกระหว่างกันนั้น เราอาจจะกำลังได้สร้างมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับดีนี่ออกมาวนเวียนอยู่รอบตัวของเราไม่รู้สักกี่ร้อยกี่พันคน ภาพจำลองสังคมที่ “มารยาริษยา” ได้ฉายออกมาเช่นนี้ แม้จะดูสุดขั้วสุดโต่งไปบ้าง แต่ก็สะท้อนนัยว่า เบื้องหน้าฉากสังคมยุคนี้ที่เราเห็นว่ามีด้านที่สวยสดงดงามนั้น หลังฉากก็อาจจะไม่ต่างไปจากบรรยากาศการตบตีแย่งชิงเพื่อเอาชนะกันของเพียงดาวและดีนี่เท่าใดนัก และเมื่อมาถึงบทสรุปของมหากาพย์แห่งความขัดแย้งนั้น เราก็อาจจะพบว่า สังคมที่ไต่ทะยานขึ้นจุดสูงสุด แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วย “มารยา” และ “ริษยา” ก็ไม่เคยให้คุณหรือผลกำไรกับใครอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามผู้คนในระบบแบบนี้กลับได้รับบทลงโทษกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่เพียงดาวที่ต้องสิ้นสุดทางเดินในวิชาชีพนางแบบและสูญเสียโอมคนรักไปตลอดชีวิต หรือดีนี่ที่ละครใช้กฎแห่งกรรมเป็นคำอธิบายและให้บทลงโทษแก่เธอในฉากจบ ไล่รวมไปถึงบรรดาตัวละครอื่น ๆ เกือบทั้งหมดที่ต่างก็ได้รับบทเรียนชีวิตอันเจ็บปวดกันไปอย่างถ้วนหน้า ก็คงไม่แตกต่างกับสังคมไทยที่ได้เดินเฉิดฉายอยู่บนแคทวอล์กมาอย่างต่อเนื่องนั้น คำถามที่ยังเป็นปริศนาธรรมค้างคาก็คือ หากเราเดินทางมาถึงชุดฟินาเล่ท้ายสุดแล้ว “มารยา” และ “ริษยา” ที่มากล้นอยู่ในสังคมทุกวันนี้ อาจจะไม่ใช่ช่อดอกไม้แห่งความสุขที่ส่งมอบให้กัน แต่กลับจะเป็นหยาดน้ำตาแห่งความสูญเสียที่ต่างหยิบยื่นให้กันมากกว่ากระมัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point