ฉบับที่ 167 ภพรัก : วิญญาณเร่ร่อนในสังคมที่แปลกแยก

ในสมัยเมื่อนักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเคยอธิบายไว้ว่า เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดแล้ว สังคมของมนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่มนุษย์ต้องอยู่กับ “ความแปลกแยก” ทั้งแปลกแยกกับโลกรอบตัว แปลกแยกกับคนอื่น และแปลกแยกกับตนเอง “ความแปลกแยก” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “alienation” นั้น มาจากรากศัพท์คำว่า “a-” ที่แปลว่า “ไม่มี” กับ “-lien” ที่หมายถึงความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์หรือแรงเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ออกไป และในท้ายที่สุด มนุษย์เราก็จะตัดขาดได้แม้กระทั่งกับตัวตนของตัวเอง สภาพการณ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากตัวละครวิญญาณเร่ร่อนกลับคืนร่างไม่ได้ของ “น้ำริน” ที่เมื่อยังมีสติสมบูรณ์อยู่นั้น เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่แปลกแยกและสายสัมพันธ์รอบด้านได้ถูกลิดรอนออกไป ตั้งแต่ฉากแรกในการเปิดตัวของน้ำรินนั้น เธอกำลังเลือกชุดแต่งงานอยู่ โดยมี “ธารา” ผู้เป็นมารดา ให้คำปรึกษาผ่านทางวิดีโอลิงค์ ก่อนที่มารดา  จะต้องรีบขอตัวไปเข้าประชุมงานด่วน ดังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตบุตรสาว แต่ดูเหมือนภาพของน้ำรินก็สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินและแปลกแยกแม้กับหน่วยเล็กที่สุดของชีวิตอย่างสถาบันครอบครัว และกับคู่หมั้นหมายอย่าง “ภพธร” หรือกับเพื่อนรักอย่าง “นับดาว” เบื้องหลังของคนทั้งสองที่แอบคบหากันและทรยศหักหลังน้ำริน ก็ไม่ต่างจากการชี้ให้เห็นว่า แม้แต่กับคนใกล้ชิดหรือไว้ใจที่สุดในทุกวันนี้ ความรักและมิตรภาพก็อาจจะถูกสะบั้นออกไปได้ภายใต้สังคมที่กำลังแปลกแยกระหว่างกัน ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้โดยชื่อตัวละครทั้งหลาย จะบ่งนัยถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะพันผูกกันไว้อย่างแนบแน่น ระหว่างผืนน้ำ (อย่างชื่อของน้ำรินและธารา) ผืนดิน (แบบชื่อของภพธร) และผืนฟ้า (เหมือนกับชื่อของนับดาว) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คงเป็นเพียงแค่ “ชื่อ” ที่หาได้ผูกพันหรือมีความสำคัญทางใจเช่นไรไม่   เพราะฉะนั้น เมื่อความไว้ใจ มิตรภาพ และความรัก เริ่มเป็นสิ่งที่แร้นแค้นและถูกลิดกิ่งลิดใบออกไปจากจิตใจของคน น้ำรินจึงไม่ต่างจากตัวละครที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในภาวะแปลกแยกและไร้ซึ่งสายสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ภาพที่ฉายความแปลกแยกให้เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือฉากที่น้ำรินขับรถสปอร์ตซิ่งบนท้องถนนแข่งกับ “ชลชาติ” เพียงเพราะเธอหมั่นไส้ว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้จัก แต่กล้ามาท้าทายเธอที่กำลังขับรถคันงามอยู่ และเพราะถนนก็สถานที่ที่มนุษย์มักแปลกแยกกับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน สภาวะดังกล่าวเช่นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ อันเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่องนั่นเอง จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วิญญาณของน้ำรินต้องหลุดออกจากร่าง กลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่เพียงแต่แปลกแยกกับโลกรอบตัว แต่ยังเป็นวิญญาณที่เกิดอาการ “ความจำเสื่อม” แปลกแยกกับร่างกายของตนเองไปเสียอีก ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความจำเสื่อมเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะทางจิตแบบสุดขีด เช่น กลัวสุดขีด ตกใจสุดขีด หรือเสียใจสุดขีด จิตก็จะทำการปกป้องตนเองให้ delete ไฟล์ความทรงจำดังกล่าวออกไปจากสาระบบ แต่ในทางสังคมศาสตร์แล้ว เราอาจพิจารณาอาการความจำเสื่อมได้ว่า เป็นสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสังคม แต่เราเองไม่อาจปรับตัวยอมรับกับความผันแปรดังกล่าวได้ จนนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมที่ไม่อาจทนยอมอยู่ในสภาพเยี่ยงนั้นต่อไป หลังจากที่น้ำรินกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนและความจำเสื่อม เพราะไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาวะแปลกแยกกับสังคมรอบตัวได้เช่นนี้ เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “หมวดเหยี่ยว” พระเอกหนุ่มของเรื่อง และอีกด้านก็เป็นตัวละครที่กลับมีความทรงจำฝังแน่นอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเห็นบิดามารดาประสบอุบัติเหตุต่อหน้า เมื่อวิญญาณที่ความทรงจำสูญหายไปกับมนุษย์ที่ความทรงจำฝังตรึงแน่นได้ข้ามภพมาพบพานกัน แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงเป็นเช่นที่หมวดเหยี่ยวได้กล่าวกับน้ำรินขณะที่โดยสารรถไฟไปด้วยกันว่า “คุณดูนะ รางรถไฟเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ แต่มันมีจุดที่รางรถไฟมาบรรจบกัน...มันก็เลยมีรางสองคู่มาตัดกันเหมือนทางแยกของถนนไง ชีวิตคนสองคนก็เป็นเส้นขนานเหมือนรางรถไฟ มันไม่มีโอกาสเจอกันจนกว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าพรหมลิขิต...” ด้วยพรหมลิขิตที่ทำให้น้ำรินได้มาพานพบกับหมวดเหยี่ยว และด้วยความช่วยเหลือจาก “ปริก” วิญญาณผีเร่ร่อนอีกตน ซึ่งในอดีตชาติคือสาวใช้ผู้ภักดีและเคยสาบานว่าจะดูแลน้ำรินตลอดไป สายสัมพันธ์หลายๆ เส้นที่ขาดหายไปจากชีวิตของน้ำริน ก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมกอบกู้กลับคืนมา เริ่มจากวิญญาณของน้ำรินที่ได้เรียนรู้ถึงความผูกพันระหว่างเธอกับธาราผู้เป็นมารดาที่ไม่เคยเลือนหายไปจริงๆ ได้ค้นพบมิตรภาพเส้นใหม่ที่ผูกโยงเธอไว้กับผียายปริกตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือแม้แต่ได้เข้าใจในกรรมและภพชาติที่ร้อยรัดเป็นพรหมลิขิตกับคู่แท้อย่างหมวดเหยี่ยว รวมไปถึงการย้อนกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้และทบทวนให้เข้าใจตนเองเสียใหม่ คล้ายๆ กับฉากที่วิญญาณน้ำรินค่อยๆ เพียรพยายามฝึกจับตุ๊กตาหมีสีฟ้าที่หมวดเหยี่ยวซื้อมาฝาก และเรียนรู้ที่จะเข้าใจประโยคที่ปริกพูดอยู่เป็นเนืองๆ ว่า “ในชีวิตของเรา ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองทั้งสิ้น” การย้อนกลับไปเข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่อยู่แวดล้อมรอบตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยให้น้ำรินและตัวละครรายรอบได้เข้าใจชีวิตภายใต้สภาวะแปลกแยกเท่านั้น ผลานิสงส์ยังเอื้อให้ดวงวิญญาณของเธอกลับคืนสู่ร่างได้ในท้ายที่สุด ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนอยู่ในวังวนแห่งความแปลกแยกนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเนื่องมาแต่การที่เรา “มองไม่เห็น” คุณค่าของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก หาก “นวล” หญิงชราตาบอดผู้เป็นยายของหมวดเหยี่ยว สามารถสัมผัสรับรู้และ “มองเห็น” ได้ถึงวิญญาณของน้ำรินที่กำลังเร่ร่อนไปมา ความหวังและคำถามของผู้คนในสังคมแห่งความแปลกแยกก็คือ แล้วตัวละครอย่างน้ำรินที่ตาไม่ได้บอดเลยนั้น เธอก็น่าจะ “มองเห็น” คุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์รอบตัวได้ไม่แตกต่างกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 เงา : เมื่อมัจจุราชสวมบทบาทเป็นนักวิจัย

“มนุษย์เราต่างก็มีกรรมเป็นประดุจเงาตามตัว” สัจธรรมความจริงข้อนี้ ดูจะเป็นแก่นแกนหลักที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ตั้งใจผูกเรื่องเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ชม ตามแก่นของเรื่องราวข้างต้น ตัวละครทั้งหมดที่เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายและเกิดใหม่ในอีกชาติภพ ต่างก็สร้างผลกรรมดีชั่วแตกต่างกันไป และเมื่อสังขารแตกดับไปแล้ว กำเกวียนและกงเกวียนนั่นเองที่จะหมุนเป็น “เงาตามตัว” เพื่อพิพากษาว่าใครจะได้รับผลอย่างไรในสัมปรายภพ กับการพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ก็ได้เลือกมองผ่านตัวละคร “วสวัตดีมาร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มัจจุราชผู้พิพากษาดวงวิญญาณต่างๆ ที่แตกดับไปตามอายุขัยของตน หากมนุษย์คนใดทำคุณงามความดีเอาไว้ พญามัจจุราชก็จะมายืนอยู่ปลายเท้าเพื่อรับส่งดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ แต่หากบุคคลใดทำแต่ผลกรรมความเลวไว้ พญามารก็จะยืนเป็น “เงา” เหนือหัว และพิพากษาลงทัณฑ์ดวงวิญญาณนั้นในนรกภูมิ แต่ดูเหมือนว่า สถิติที่พญามัจจุราชท่านได้สำรวจไว้ก็พบว่า สัดส่วนของวิญญาณที่มีกรรมชั่วติดเป็นเงาตามตัว นับวันจะดูมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พญามารถึงกับเกิดความสงสัย และเริ่มสิ้นหวังกับการสั่งสมผลกรรมความดีของปุถุชน ท่านจึงเริ่มจะแสวงหาคำตอบเพื่อจะดูว่า ตนยังพอจะมีความหวังให้กับมนุษย์กับการทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ และแม้วสวัตดีมารจะครองตนอยู่ในอีกภพภูมิที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของมนุษย์จะสัมผัสจับต้องหรือชั่งตวงวัดได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ วิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยของพญามาร กลับเลือกใช้กระบวนการทำวิจัยในแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นจริงรอบตัวด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์   ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใต้ “โจทย์ของการวิจัย” ที่ว่า “เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกวันนี้จึงทำความดีน้อยลง” วสวัตดีมารจึงลงมือทำงานวิจัยสนาม (หรือที่ภาษาเก๋ๆ จะเรียกว่า “field study”) ด้วยการแปลงตัวมาใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในชื่อ “ท่านชายวสวัต” และเข้าร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนแล้วคนเล่า เพื่อตอบข้อสงสัยตามโจทย์ที่กล่าวมานั้น ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง ละครก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจพ่วงเข้าไปอีกด้วยว่า แม้จะเป็นมัจจุราชพญามาร แต่นั่นก็ใช่ว่า ท่านชายวสวัตจะหลุดพ้นไปจากกงล้อแห่งกรรมไม่ เพราะอดีตชาติของพญามารเองก็เคยทำกรรมเลวบางประการเอาไว้ ดังนั้นท่านชายก็เลยต้องดื่มน้ำจากกระทะทองแดงทุกๆ ชั่วยาม เพื่อเป็นการลงโทษตามกรรมของตนเองไปด้วย จวบจนกว่าจะหลุดพ้นการทำหน้าที่พญามัจจุราช เมื่อสามารถหาคนที่มีปริมาตรกรรมดีและกรรมชั่วเท่าๆ กัน มารับหน้าที่ดังกล่าวสืบแทน ในฐานะของนักวิจัยเชิงประจักษ์ที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างปุถุชนทั้งหลายนั้น ท่านชายวสวัตได้เข้าไปผูกสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญหลักๆ (หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า “แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”) อย่าง “อิศรา” ตัวละครซึ่งไม่เพียงแต่ท่านชายจะหมายตาไว้ให้มาสืบต่อตำแหน่งพญามัจจุราชในลำดับถัดไป แต่เขายังเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ท่านชายเฝ้าติดตามสังเกตและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น และเพื่อให้ข้อมูลมีความรอบด้านและน่าเชื่อถือ ท่านชายวสวัตก็ได้ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลประกอบจากกลุ่มตัวอย่างคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงสามคนที่อยู่รอบตัวอิศรา เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงคนแรก “คุณย่าอุ่น” ผู้ที่เลี้ยงดูอิศรามาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะชีวิตเวียนวนอยู่ในโลภะโทสะโมหะและประกอบแต่กรรมชั่วในชาติภพปัจจุบัน คุณย่าอุ่นจึงไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอิศรามาอย่างผิดๆ แต่เธอยังมีดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรตามคอยรังควานหลอกหลอนจนถึงวันสิ้นลม ส่วนผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ชาลินี” ญาติลูกพี่ลูกน้องของอิศรา ชาลินีคือตัวแทนของคนที่มีบาปกรรมติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน และแม้จะมาเกิดในภพปัจจุบัน เธอก็ยังเลือกเป็น “ผู้หญิงหลายบาป” ทั้งฆ่าคน ฆ่าลูกของตน และทำบาปกรรมต่างๆ อย่างมากมหันต์ และเพราะบาปกรรมที่ได้ก่อเอาไว้ คุณย่าอุ่นและชาลินีที่อาจจะมีความสุขให้ได้เสพในกาลปัจจุบัน จึงไม่อาจสัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านชายวสวัต จนเมื่อถึงวันที่ร่างสังขารของพวกเธอแตกดับไปนั่นแหละ ที่ทั้งสองคนจึงพบว่ากรรมคือ “เงา” ที่ตามมาพิพากษาลงทัณฑ์ และเบื้องหลังธาตุแท้ของท่านชายวสวัตรูปงาม ก็คือพญามัจจุราชที่คอยทำวิจัยสำรวจบาปกรรมต่างๆ ที่พวกเธอสั่งสมเอาไว้ จนมาถึงผู้หญิงคนที่สามและเป็นหญิงคนรักของอิศราอย่าง “เจริญขวัญ” ผู้ที่คิดดีทำดี กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไปในฐานะตัวแทนของคนที่สั่งสมแต่กุศลกรรมความดี และเสียสละเพื่อมนุษย์คนอื่นที่อยู่รอบตัว การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวอย่างแบบเจริญขวัญนั้น ทำให้ท่านชายวสวัตได้ข้อสรุปต่อโจทย์วิจัยที่ท่านสงสัยอยู่ว่า ด้านหนึ่งในท่ามกลางมนุษย์ปุถุชนที่เอาแต่ทำบาปทำกรรมอย่างมิอาจกลับตัว แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่พอจะเป็นความหวังและให้ความเชื่อมั่นได้ว่า คนที่ยังศรัทธาในคุณธรรมความดีจริงๆ ก็ไม่เคยหายไปจากโลกเล็กๆ ใบนี้เลย อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้ว นักวิจัยมักถูกเรียกร้องให้วางตนเป็นกลางโดยไม่แทรกแซงความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง เฉกเช่นวสวัตดีมารที่ต้องพิพากษาบาปบุญของมวลมนุษย์ไปตามข้อเท็จจริงแบบไร้อคติเจือปน แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่มัจจุราชเองกลับพบว่า อคติและความผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะความผูกพันกับคุณธรรมความดีของเจริญขวัญ การเดินทางมารับวิญญาณของเธอไปสู่สุคติในตอนท้ายเรื่อง ก็ยังอดทำให้พญามัจจุราชต้องรู้สึกหวั่นไหว จนไม่คิดอยากจะทำภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้นเลย คนไทยมักจะพูดกันอยู่เสมอว่า แม้บาปกรรมอาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในชาตินี้ก็จริง แต่เวรกรรมก็เป็น “เงา” ที่ตามตัวไปหลังความตายอย่างแน่นอน ก็คงไม่ต่างจากรูปธรรมของภาพที่เราได้เห็นท่านชายวสวัตตามมาเป็น “เงา” เพื่อทำวิจัยสนามเก็บข้อมูล ก่อนจะสะท้อนและพิพากษาผลกรรมความดีความชั่วของสรรพชีวิตในอีกภพภูมินั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 ทรายสีเพลิง : ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

กล่าวกันว่า ทุกครั้งที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง มักจะปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือที่เรียกกันว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อฉายให้เห็นภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และความขัดแย้งที่ปะทุกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เก่ากับใหม่เช่นนี้ เราก็อาจจะวินิจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครอย่าง “ทราย” (หรือ “ศรุตา”) กับ “เสาวนีย์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ทรายสีเพลิง” ความขัดแย้งระหว่างทรายกับเสาวนีย์เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นของ “ดวงตา” ผู้เป็นมารดาของทราย ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเด็กหญิงที่ถูกชุบเลี้ยงไว้ในเรือนของ “คุณหญิงศิริ พรหมาตร์นารายณ์” แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณหญิงต้องการผูกมัดดวงตาให้อยู่เป็นข้ารับใช้ตนตลอดไป คุณหญิงจึงรู้เห็นเป็นใจให้ดวงตาคบหาเป็นภรรยาลับๆ ของบุตรชายหรือ “ศก” จนกระทั่งเธอตั้งท้องลูกสาวซึ่งก็คือทรายนั่นเอง และในเวลาเดียวกัน ในวันที่ดวงตาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็เป็นวันเดียวกับที่คุณหญิงศิริวางแผนให้ศกกับเสาวนีย์ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อกำหนดสถานะความเป็นอนุภรรยาให้กับดวงตาที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคุณหญิงและเสาวนีย์ในเวลาต่อมา จากความขัดแย้งตั้งแต่ในรุ่นของมารดา ยังผลให้เกิดความโกรธแค้นในรุ่นของลูกสาว เมื่อทรายเองก็ถูกเสาวนีย์กลั่นแกล้งตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการกล่าวโทษว่าทรายพยายามจะฆ่าน้องสาวต่างมารดาอย่าง “ลูกศร” ให้ตกน้ำจนเกือบจะเสียชีวิต เป็นเหตุให้สองแม่ลูกมีอันต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋า ระเห็จออกจากบ้านตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ไป เมื่อวันเวลาผันผ่าน ทรายที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่มั่งคั่งในฐานะทางเศรษฐกิจสังคม เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานศพของคุณหญิงศิริ และเพื่อดึงเสาวนีย์ให้กลับเข้าสู่เกมของการแก้แค้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของลูกศรในท้ายที่สุดของเรื่อง   ด้วยพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงการกลับมาแก้แค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่คนรุ่นก่อน แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่เนื้อเรื่องที่ใหม่นักในละครโทรทัศน์บ้านเรา แต่หากเราเชื่อว่าภาพความขัดแย้งดังกล่าว เป็นการฉายให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำในห้วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านแล้ว โครงเรื่องทำนองนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับสังคมไทยในยุคดั้งเดิม หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยได้ว่ายุคศักดินานั้น ชนชั้นนำเองก็คงมีทัศนะไม่ต่างจากตัวละครอย่างคุณหญิงศิริหรือเสาวนีย์เท่าใดนัก กล่าวคือ ในสังคมศักดินา อำนาจเกิดแต่บารมีและการบริหารจัดการผู้คนที่อยู่ภายใต้บารมีนั้นๆ ซึ่งก็คล้ายกับคุณหญิงศิริ ที่ด้วยฐานานุรูปและฐานันดรศักดิ์ เธอก็เลือกที่จะขอเด็กหญิงดวงตาจากพ่อแม่ชาวสวนมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบโต แต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบศักดินานั้น คุณหญิงได้ใช้กลวิธีซื้อใจให้ดวงตายอมอยู่ใต้อาณัติ ด้วยการส่งเสียให้เธอเรียนพยาบาล เพื่อที่ว่ามารดาของทรายจะยอมสวามิภักดิ์ และ “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง” โดยไม่สนใจว่าลึกๆ แล้ว มนุษย์ที่เป็นแรงงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร แบบเดียวกับที่คุณหญิงเคยกล่าวกับศกเพื่อให้ทรายได้ยินด้วยว่า “ดวงตามันเลี้ยงไม่เชื่อง มันเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามันไม่รักไม่หวังในตัวลูกอยู่ล่ะก็ มันคงไม่อยู่ให้แม่ใช้จนป่านนี้หรอก แม่ถึงบอกให้...ร้อยมันไว้ใช้เถิด ไม่เสียหายอะไรหรอก...” แต่ทว่า เมื่อสังคมศักดินาเริ่มอ่อนอำนาจลง ทุนทรัพย์ที่ได้สั่งสมมาก็มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาบารมีและฐานานุรูปเอาไว้ เหมือนกับที่ตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ก็ต้องขายสมบัติชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเกือบหมดตัว เพียงเพื่อรักษาสุขภาพ(และหน้าตา)ของคุณหญิงศิริในช่วงบั้นปลายชีวิต ในทางกลับกัน ตัวละครอย่างทรายก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทน “the rise” ของระบบทุนนิยมใหม่ในท่ามกลาง “the fall” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังร่วงโรยและอ่อนกำลังลง สำหรับชนชั้นนำในระบบทุนนิยมใหม่นั้น มักเน้นการสั่งสมทุนในหลายๆ แบบ เฉกเช่นทรายที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของทุนไทยที่ไปประสานผลประโยชน์กับทุนนิยมตะวันตก (เหมือนตัวละครที่บัดนี้ได้กลายไปเป็นลูกเลี้ยงของนายทุนอเมริกันอย่าง “ดอน”) เท่านั้น เธอยังสั่งสมทุนความรู้จากต่างประเทศด้วยการจบมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ สั่งสมทุนชื่อเสียงเกียรติยศในแวดวงสังคมชั้นสูง รวมถึงบริหารจัดการเสน่ห์และเรือนร่างให้กลายเป็นทุนอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และในขณะที่ชนชั้นนำเดิมเลือกใช้วิธีการ “ร้อย” คนเอาไว้ใช้เป็นแรงงาน ระบบทุนนิยมแบบใหม่กลับเลือกใช้ทุนเป็นอำนาจเพื่อขูดรีดผู้คนและตอบโต้กับกลุ่มชนชั้นนำเก่า เหมือนกับที่ทรายเคยกล่าวไว้เป็นนัยกับมารดาว่า “แม่บอกทรายเสมอว่าเราสองไม่ต่างจากกรวดหินดินทรายในบ้านเขา แม่ถึงตั้งชื่อทรายว่าทรายเพื่อเตือนใจเรา” เพราะฉะนั้น “…ทรายจะเอาคืนทุกอย่างที่ควรเป็นของทราย” ดังนั้น เมื่อทุนเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งอำนาจ ทรายจึงเริ่มบริหารทุนของเธอ ตั้งแต่ใช้เสน่ห์ยั่วยวน “พัชระ” คู่หมั้นของน้องสาว จนเขาถอนหมั้นกับลูกศรในที่สุด ใช้เม็ดเงินซื้อคฤหาสน์ของตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ในช่วงที่ศกกำลังร้อนเงิน หรือแม้แต่หลอกใช้ผู้ชายที่ภักดีต่อเธอยิ่งอย่าง “ฌาน” เพื่อให้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการแก้แค้นกับเสาวนีย์ บนสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับกลุ่มทุนใหม่เช่นนี้ ฉากสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของผู้คนที่แม้จะไม่ได้เป็นคู่สงครามในสมรภูมิ แต่ก็มักกลายเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน เฉกเช่นตัวละครอย่างฌาน พัชระ หรือแม้แต่น้องสาวที่ใสซื่อไร้เดียงสาอย่างลูกศรผู้ที่ต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายเรื่อง แม้ในบทสรุปของ “ทรายสีเพลิง” ตัวละครต่างๆ จะได้บทเรียนว่า ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจนั้น จะคลี่คลายได้ก็เพียงแต่ขั้วอำนาจที่ต่อสู้ขัดแย้งกันยินยอมจะ “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” ให้กันและกัน หรือแม้ “บุรี” ผู้ชายที่ทรายแอบรักมาตั้งแต่วัยเยาว์จะกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า “ชีวิตมันไม่เหมือนจิ๊กซอว์ จะหยิบชิ้นไหนมาต่อผิดต่อถูกโดยไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะถึงต่อผิด ก็มีโอกาสเลือกชิ้นใหม่มาต่อ แต่ชีวิต...ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ไม่มีโอกาสเปลี่ยนมาเริ่มต้นทำใหม่ได้อีกครั้ง” แต่คำถามก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นเกมอำนาจในชีวิตจริงนั้น คำว่า “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” จะเป็นคำตอบได้เพียงไร หรือในสงครามของคู่ความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยังเดินหน้าร้องครวญเป็นเพลงต่อไปว่า “ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้...”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 รากบุญ รอยรัก แรงมาร : ความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชาของกิเลส

หลังจากที่กล่องรากบุญ อันเป็นแหล่งรวมพลังของ “กิเลส” ได้ถูกเจ้าของกล่องอย่าง “เจติยา” นางเอกนักตกแต่งศพทำลายไปแล้วในภาคแรก คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้จนหมดจริงแล้วหรือ? เงื่อนไขที่กล่องรากบุญใบเก่าได้วางรหัสเอาไว้ก่อนหน้านั้นก็คือ ทุกครั้งที่เจ้าของกล่องได้ทำบุญด้วยการช่วยปลดปล่อยวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม เจ้าของกล่องรากบุญจะได้เหรียญมาหนึ่งเหรียญ และเมื่อสะสมเหรียญจนครบสามเหรียญ เจ้าของก็ต้องขอพรหนึ่งข้อ และกล่องก็จะบันดาลให้พรนั้นสัมฤทธิ์ตาม “ความปรารถนา” แต่เหตุที่เจติยาเลือกขอพรสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองไปนั้น ก็เพราะเธอเห็นแล้วว่า การทำบุญโดยหวังผลก็เป็นเพียงการแปรรูปโฉมโนมพรรณใหม่ของ “กิเลส” ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่องและเหรียญเป็นที่สั่งสมไว้ด้วยกิเลส ก็ต้องกำจัดกล่องรากบุญอันเป็นต้นตอของกิเลสนั้นเสีย ทว่า ด้วยปมคำถามที่ว่า กิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้หมดจริงหรือไม่ มาถึงละครภาคต่อของเรื่อง “รากบุญ” นั้น แม้กล่องจะถูกทำลายไปแล้ว แต่เพราะเหรียญของกล่องรากบุญใบเก่าได้ถูก “วนันต์” ขโมยไปด้วยความโลภ จากเหรียญหนึ่งเหรียญก็ค่อยๆ แตกตัวมาเป็นสามเหรียญ และก็กลายเป็นกิเลสหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ สั่งสมขุมพลังให้ตนเองมีอำนาจมากขึ้น พลังของเหรียญที่มีกิเลสหล่อเลี้ยงอยู่ ได้สร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “กสิณ” ที่ตามท้องเรื่องเป็นปีศาจที่ไร้เพศไร้อัตลักษณ์ชัดเจน แต่ก็อาจจะด้วยว่าเป็นปีศาจที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส J-pop หรืออย่างไรมิอาจทราบได้ ปีศาจกสิณจึงมักปรากฏตนในชุดยูกาตะของญี่ปุ่น และมีฝีมือดาบแบบซามูไรแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อเพิ่มพลังให้กับกิเลสของมนุษย์ กสิณจึงพรางตัวอยู่ในเหรียญหนึ่งเหรียญ ซึ่ง “พิมพ์อร” ลูกสาวของวนันต์ได้ครอบครองอยู่ ทุกครั้งที่พิมพ์อรขอพรใดๆ ก็ตาม กสิณหรือปีศาจกิเลสก็จะมีพลังและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่ปีศาจกสิณเคยเปรยขึ้นภายหลังจากครั้งหนึ่งที่พิมพ์อรลังเลที่จะไม่ขอพรว่า “เธอใจแข็งได้อีกไม่นานหรอก แล้วสักวัน ความปรารถนาของเธอจะเป็นอาหารอันโชะของฉัน...” เพราะฉะนั้น เมื่อความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชารสของกิเลส กสิณจึงคอยตามเป็นเงาของพิมพ์อรอยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ที่จะเข้าไปกำกับก้นบึ้งในจิตใจของพิมพ์อร เพื่อล่อลวงและชักใยให้ผู้หญิงอย่างพิมพ์อรต้องขอพรตามปรารถนาลึกๆ ในใจ ก็ไม่ต่างไปจากภาพสัตว์อย่างกิ้งก่าที่พิมพ์อรเลี้ยงไว้ในห้องนอนของเธอ ที่ผู้กำกับจงใจตัดสลับไปมาในหลายๆ ครั้งคราที่พิมพ์อรกับกสิณสนทนากัน เพราะในขณะที่กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่เลียนรู้ที่จะพรางตัวตามสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันไป กสิณหรือตัวแทนของกิเลสก็เลียนรู้ที่จะปรับตัวตามธาตุแท้ของโลภะโทสะโมหะที่อยู่ในจิตใจของพิมพ์อรอย่างไม่แตกต่างกัน และเป้าหมายที่กสิณต้องการก็คือ การรวมพลังจากเหรียญที่อยู่ในมือของพิมพ์อรกับเหรียญที่เหลืออีกสองเหรียญเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหรียญหนึ่งก็อยู่ในมือของ “อยุทธ์” ผู้เป็นน้องชายของพิมพ์อร กับอีกหนึ่งเหรียญที่เปลี่ยนถ่ายมือไปมาจนตกมาอยู่ในความครอบครองของนางเอกอย่างเจติยา แม้ในกรณีของอยุทธ์นั้น เขามีเดิมพันเรื่องการขอพรให้เหรียญช่วยยืดอายุของวนันต์บิดาผู้กำลังเจ็บป่วยใกล้ตาย ทำให้อยุทธ์ต้องเลือกขอพรและเติมความปรารถนาให้เป็นอาหารของกิเลสเป็นครั้งคราว แต่สำหรับเจติยาแล้ว เธอกลับเลือกที่จะยุติอำนาจของกิเลสที่บัดนี้พรางรูปมาอยู่ในร่างของกสิณนั่นเอง เพราะรู้เป้าหมายเบื้องลึกของกสิณที่จะรวมพลังของเหรียญทั้งสามเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ เจติยาจึงพยายามขัดขวางไม่ให้กิเลสได้สั่งสมขุมกำลังขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเจติยาจึงมุ่งมั่นทำความดีด้วยการปลดปล่อยความทุกข์ของวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากการจองจำ และทุกครั้งที่เธอช่วยเหลือวิญญาณคนตายได้แล้ว แทนที่จะขอพรตามความปรารถนาให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิเลสต่อไป เจติยากลับใช้วิธีการชำระเหรียญให้บริสุทธิ์ปราศจากความโลภโมโทสันแทน แต่เพราะเธอเลือกตั้งการ์ดเป็นอริกับกิเลสนี่เอง เจติยาจึงถูกทดสอบโดยกสิณเป็นระยะๆ ว่า เธอจะอดทนยืนหยัดต่อปรารถนาลึกๆ หรือกิเลสที่กำลังเรียกร้องอยู่ในจิตใจได้นานเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นการที่กสิณพยายามเอาชีวิตของคนรอบข้าง เพื่อนสนิท น้องชาย ไปจนถึงมารดาของเธอมาเป็นเดิมพัน รวมทั้งล่อลวงสามีพระเอกอย่าง “ลาภิณ” ให้ถูกอำนาจมืดครอบงำจนลืมความรักที่มีต่อเจติยาไปชั่วคราว บทเรียนเหล่านี้จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับเราๆ ว่า แท้ที่จริง กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตของคนเราหรอก และกิเลสก็จะคอยทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์จะสามารถเอาชนะปรารถนาที่อยู่ลึกในใจของตนได้หรือไม่ เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ในขณะที่พิมพ์อรที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า เธอคือเจ้านายผู้สามารถควบคุมให้กสิณทำโน่นนี่ได้ตามใจปรารถนาของตนเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เธอกลับได้เรียนรู้ว่า กิเลสไม่เคยอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์ที่สามารถตกเป็นทาสของกิเลสต่างหาก เหมือนกับที่พิมพ์อรได้พูดกับอยุทธ์ผู้เป็นน้องชายว่า “ใช่...พี่รู้แล้วว่าถูกหลอกมาตลอด กสิณไม่ใช่ทาสของพี่และคอยหาผลประโยชน์จากพี่ แต่พี่ก็จะใช้งานกสิณต่อไปเพื่อสร้างกล่องรากบุญขึ้นมาให้ได้ ต่อให้ฉันต้องขายวิญญาณให้ปีศาจ แต่ถ้ามันช่วยคุณพ่อได้ ฉันก็จะทำ” ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ครอบครองเหรียญอีกสองคนคือเจติยากับอยุทธ์ ต่างก็ค้นพบว่า แม้ปรารถนาลึกๆ ของตนต้องการขอพรเพื่อช่วยยืดชีวิตของบุพการีออกไปทั้งคู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะฝ่าฝืนอายุขัยของตนเองไปได้ เหมือนกับบรรดาศพทั้งหลายที่ทั้งสองคนคอยดูแลตกแต่งศพแล้วศพเล่า เมื่อเข้าใจสัจธรรมชีวิตเยี่ยงนี้ แม้กสิณจะบีบบังคับให้เจติยาและอยุทธ์ร่วมสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมาได้ แต่พรที่อยุทธ์ขอเป็นข้อแรกจากกล่องใบใหม่ก็คือ ให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและทำลายพลังของกสิณให้สิ้นซากไป แม้บทเรียนของเหรียญและปีศาจกสิณจะบอกกับเราว่า กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากจิตใจของมนุษย์ได้หรอก แต่หากมีจังหวะสักช่วงชีวิตที่เราจะบอกตนเองว่า ถึงกิเลสจะไม่เคยหายไป แต่แค่เพียงเราไม่พยายามเพิ่มพูนความปรารถนาให้มากเกินไปกว่านี้ อย่างน้อยเหรียญพลังของกิเลสก็ยังมีโอกาสจะถูกชำระให้สะอาดขึ้นได้บ้างเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 ดาวเคียงเดือน : กับความลงตัวบนความต่าง

ระบบคิดของคนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า “ความเหมาะสม” คือคำตอบที่ถูกต้องของ “ความลงตัว” แบบที่สำนวนไทยมักจะอธิบายว่า “ขนม” ต้องให้ “พอสมกับน้ำยา” จึงจะมีรสชาติอร่อย หรือแม้แต่ในชีวิตของการครองรักครองเรือน ที่เราก็มีคำพูดว่า “กิ่งทอง” ก็ต้องคู่กับ “ใบหยก” จึงจะทำให้คนสองคนที่ “ควรคู่” ได้ครองรักเป็น “คู่ควร” กันจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อความเหมาะเจาะลงตัวเกิดเนื่องมาแต่ “ความเหมือน” หรือ “ความเสมอกัน” เยี่ยงนี้ กลไกที่คนโบราณใช้ก็คือ ประเพณีการคลุมถุงชน ที่จะอาศัยสายตาของญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จำแนกแยกแยะและตัดสินว่าใครเหมาะกับใคร ใครคู่ควรกับใคร จึงจะเสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ฐานะ และชาติตระกูล แต่เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาใหม่ว่า แล้ว “ความลงตัว” จำเป็นต้องพ่วงมาด้วย “ความเสมอกัน” เสมอไปหรือไม่ คำถามเรื่อง “ความลงตัว” เช่นนี้ ก็คือสิ่งที่เธอและเขาซึ่งเป็นตัวละครหลายๆ คู่ ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดาวเคียงเดือน” ร่วมกันหาคำตอบให้กับการใช้ชีวิตคู่ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของ “ดาริกา” หลานสาวของสัปเหร่อที่มาทำงานอยู่บริษัทออร์แกไนเซอร์ และจับพลัดจับผลูถูกไหว้วานจากเพื่อนสนิทให้มาช่วยดูแลคอนโดฯสุดหรูชั่วคราว จนได้มาพบกับพระเอกหนุ่มเจ้าระเบียบอย่าง “หม่อมหลวงจันทรกานต์” หรือ “คุณจันทร์” ลูกท่านหลานเธอเจ้าของห้างสรรพสินค้าแกรนด์ และพักอยู่ห้องติดกันในคอนโดฯ เดียวกับดาริกา ความวุ่นวายของเรื่องจึงเกิดขึ้น เพราะดาริกาเข้าใจผิดว่าคุณจันทร์กับเลขานุการส่วนตัว “วิวิทธิ์” เป็นเกย์คู่รักกัน ยิ่งเมื่อบริษัทของเธอต้องมารับจัดงานครบรอบ 50 ปีของห้างแกรนด์ ดาริกาก็บังเอิญรู้เท่าไม่ถึงการณ์จัดฉากให้คุณจันทร์มารับแสดงบทบาทเจ้าชายเชิญกุญแจเปิดห้าง จนนำความไม่พอใจมาให้กับ “ดาราราย” มารดาของคุณจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา   แม้จะถูกดารารายขัดขวางความรักของคนทั้งสอง เพราะเล็งเห็นความ “ไม่ควรคู่” ระหว่างศักดิ์ชั้นของคุณจันทร์กับความเป็นหลานสาวสัปเหร่อของดาริกา แต่สำหรับคุณจันทร์แล้ว ไม่เพียงแต่เขาจะประทับใจดาริกาที่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่างที่ต่อสู้ชีวิตเท่านั้น เมื่อได้มาเจอกับตาสัปเหร่อและแม่ของดาริกา เขาก็พบว่า ครอบครัวที่เล็กๆ แต่อบอุ่นแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องของฐานานุรูปหรือชนชั้นหรอกที่จะเป็นคำตอบเรื่องความเหมาะสมในการครองรักและครองเรือน ในส่วนของดาริกา แม้จะเข้าใจผิดทั้งที่ว่าคุณจันทร์เป็นเกย์ และที่ต้องยอมให้ถูกจับคลุมถุงชนกับ “อิงฟ้า” ลูกสาวคนเดียวของ “หม่อมราชวงศ์หญิงอรชร” ก็คงเพื่อปกปิดรสนิยมแบบชายรักชายของตน แต่ลึกๆ แล้ว เธอเองก็ประทับใจในความดีและความติดดินของคุณจันทร์ที่แม้จะชั้นศักดิ์สูงกว่าเธอก็ตาม แบบเดียวกับที่ดาริกาได้สารภาพความในใจกับคุณจันทร์ ก่อนที่เขาจะถูกทำร้ายจนหมดสติไปว่า “ฉันรักคุณตั้งแต่แรกเห็น รักทั้งๆ ที่เข้าใจว่าคุณเป็นเกย์ รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณสูงส่งและฉันต่ำต้อยแค่ไหน รักทั้งๆ ที่เราต่างกันเหลือเกิน...” เพราะฉะนั้น ในขณะที่ดารารายและคุณหญิงอรชรจะเห็นว่า ความเหมาะสมและทัดเทียมกันคือความลงตัว แต่กฎกติกามารยาทนี้คงไม่ใช่สำหรับคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่พบว่า ความรักและความลงตัวไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ความแตกต่างเรื่องศักดิ์ชั้นหรือรสนิยมทางเพศมาเป็นเส้นกั้นแบ่งแยกจำแนกคน เฉกเช่นเดียวกับตัวละครคู่อื่นๆ ในท้องเรื่อง ก็ดูจะเจริญรอยตามและตั้งคำถามที่ปฏิเสธเส้นแบ่งความแตกต่างดังกล่าวไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิวิทธิ์และอิงฟ้า ที่แม้เขาจะต่ำศักดิ์แต่ก็มุมานะต่อสู้ชีวิต ส่วนเธอที่สูงศักดิ์แต่ก็รักช่วยเหลือสังคมในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ความไม่คู่ควรที่นำเสนอเป็นภาพตัดสลับตัวละครวิวิทธิ์กับภาพของ “สุนัขที่เห็นเครื่องบิน” นั้น ก็ดูไม่ใช่คำตอบที่จะกีดกันความรักของคนคู่นี้เลย หรือกรณีของ “พิชญา” ที่แอบหมายปองคุณจันทร์มานานหลายปี แต่ต้องตัดสินใจมาแต่งงานกับ “หม่อมหลวงจักรพัฒน์” ลูกพี่ลูกน้องของคุณจันทร์ แต่เมื่อรู้ว่าครอบครัวของจักรพัฒน์ไม่มีทรัพย์สมบัติใดติดตัว ทั้งคู่ก็ระหองระแหงเพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แต่ทว่าถึงที่สุดแล้ว ความแตกต่างของผลประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคู่ควรและความเข้าใจของทั้งคู่แต่อย่างใด ส่วนกรณีของ “วรางค์” เจ้านายสาวของดารารายกับ “อาร์ตี้” คนรักหนุ่มที่อ่อนวัยกว่านั้น ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่เหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่หากไม่นับเรื่องของอายุที่อุปโลกน์มาเป็นเส้นกั้นแล้ว ความลงตัวก็เป็นไปได้ในความแตกต่างระหว่างวัยเช่นกัน รวมไปถึงคู่รักรุ่นเล็กที่ต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง “ป๊อบ” น้องชายของวรางค์ และ “นาง” ที่ดูติ๊งต๊องไม่เป็นโล้เป็นพาย แม้จะมาจากฐานครอบครัวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในมุมเล็กๆ ความแตกต่างที่สิ้นเชิง ก็ไม่ใช่ความแตกต่างที่แยกขาดได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จริงๆ จะว่าไปแล้ว เมื่อเทียบกันในแง่ความสุกสกาวสว่างไสวนั้น “ดาว” กับ “เดือน” ก็ยากที่จะคู่ควรกันได้ เหมือนกับ “หิ่งห้อยฤๅจะไปแข่งกับแสงจันทร์” แต่ปรากฏการณ์แบบ “ดาวที่เคียงกับเดือน” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้นั้น ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ในความต่างบางอย่างก็อาจเป็นความลงตัว แบบที่ฝ่ายหนึ่งจะขาดซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เลย เหมือนกับที่ดาริกาเคยเตือนสติให้กับป๊อบ ที่พยายามขัดขวางความรักของพี่สาวเพียงเพราะความแตกต่างเรื่องวัยกับแฟนหนุ่มว่า ความรักของคนสองคนนั้นจริงๆ แล้ว เป็น “ความลงตัวบนความต่าง ความต่างที่ลงตัว” และเป็น “ความรักที่ลองผิดลองถูก ผ่านทดสอบกันครั้งแล้วครั้งเล่า ความรักของเขาทั้งคู่อยู่บนความต่าง แต่ก็เป็นความต่างที่มั่นคง” สำหรับสังคมไทยในยุคนี้ “ความลงตัวบนความต่าง” ในความรักดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการที่เราเพียรพยายามลบเส้นแบ่ง และสลายสีเสื้อหรือความแตกต่างทางความคิดที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่เท่าใดนัก แต่หากจะเป็นไปได้ นอกจากจะพยายามหาความลงตัวบนความขัดแย้งระหว่างจุดยืนทางการเมืองแล้ว เราเองก็น่าจะหาทางลบเส้นกั้นแบ่งความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างศักดิ์ชั้น เพศวิถี อายุ และผลประโยชน์ต่างๆ ลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อนั้น “ดาว” กับ “เดือน” จะได้เคียงคู่กันอย่างคู่ควรจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รักนี้เจ้จัดให้ : ชีวิตจริงที่ไม่ได้เห็นผ่านเลนส์

ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า จิตใจของมนุษย์มีอย่างน้อยสองด้าน เสมือนกับก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำ ด้านหนึ่งก็เป็นส่วนของจิตที่เรามีสำนึกรู้สึกตัว และเผยให้เห็นแบบน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นส่วนของจิตไร้สำนึกดิบๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผิวน้ำนั้น และฟรอยด์อีกเช่นกันที่กล่าวว่า ด้วยกรอบประเพณีปฏิบัติต่างๆ ของสังคม ทำให้ส่วนที่เป็นสัญชาตญาณลึกที่แฝงเร้นเป็นก้อนน้ำแข็งใต้น้ำ มักจะกลายเป็นส่วนที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดหรือบาดแผลบางอย่างให้ต้องทำตามปรารถนาของกรอบสังคม โดยที่มนุษย์เองก็พยายามจะปิดกั้นเก็บกดความรู้สึกบาดเจ็บดังกล่าวนั้นเอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ หากมนุษย์เราเข้าใจเรื่องบาดแผลและการเยียวยาที่เกิดขึ้นในจิตใจของเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็จะเกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ก็คงเหมือนกับตัวละครอย่าง “พอล” ช่างภาพอิสระหนุ่มมาดเซอร์ จากที่เคยตระเวนท่องป่าเขาดงดอยเพื่อถ่ายภาพธรรมชาติที่ต่างๆ ก็ต้องจับพลัดจับผลูปลอมตัวมาเป็นพี่ชายฝาแฝดอย่าง “พีท” ดารานายแบบหนุ่มหล่อ และก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมที่ช่างภาพอย่างเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน เหตุผลของการปลอมตัวดังกล่าวก็เนื่องมาแต่พีท ที่แม้จะเป็นดาราพระเอกหนุ่มคนดัง แต่ภายในจิตใจเบื้องลึกที่เก็บกดไว้ใต้ก้อนน้ำแข็งนั้น เขาเป็นเกย์ที่โหยหาความรัก แต่กลับถูกแฟนหนุ่มที่ตนรักมากหลอกเอาจนหมดตัว และคิดสั้นกินยาตายจนพลาดท่ากลิ้งตกบันไดแขนขาหัก พอลจึงต้องปลอมตัวมาเป็นพีท เพื่อช่วยรักษาชื่อเสียงความเป็นดาราให้กับพี่ชายฝาแฝดของตน จากการปลอมตัวครั้งนี้ พอลก็ได้รู้จักกับ “ลูกจัน” บรรณาธิการสาวสวยแห่งนิตยสารเซเลบ แม้ฉากหน้าเธอจะเป็นผู้หญิงสวยเปรี้ยวมั่นใจและมุ่งมั่นทำงานเขียนคอลัมน์วิจารณ์บุรุษเพศอย่างแสบสันต์ แต่ลึกๆ แล้ว ลูกจันกลับเจ็บปวดที่โดนคนรักเก่าหักอก พร้อมๆ กับที่แม่และยายของเธอก็ยังเคยถูกผู้ชายที่รักทอดทิ้งไป ด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ลูกจันจึงเกลียดผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง และยึดมั่นในคติที่ว่า “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า...” และเพราะลูกจันกับพีทต่างก็มีบาดแผลลึกๆ ในจิตใจเช่นนี้ ทั้งคู่จึงคบหาเป็นเพื่อนสนิทกัน รวมทั้งตกลงอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเพื่อนรักที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนปัญหากันได้ในทุกเรื่อง โดยพล็อตเรื่องของสูตรละครแบบ “การปลอมตัว” ดังกล่าว จริงๆ แล้วก็คือ “ห้องทดลอง” ชนิดหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นดูบ้าง เราจะได้เลียนรู้และเข้าใจบทบาทของคนที่ต้องแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเรา ก็เหมือนกับพอลที่เมื่อได้ปลอมตัวมาเป็นพีท พอลก็ต้องเริ่มเรียนรู้ว่า คนแต่ละคนที่สวมบทบาทแตกต่างกัน ต่างก็มี “บท” หรือ “สคริปต์” ให้ต้องเล่นแตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่บทบาทช่างภาพอิสระอาจจะมีอิสระที่จะเดินทางไปโน่นมานี่ได้อย่างเสรี แต่กับบทบาททางอาชีพของดารากลับมีความเป็นบุคคลสาธารณะมาตีกรอบให้ต้องถูกสังคมจับจ้องมองดูอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็นดารา พอลก็ต้องเริ่มโกนหนวดโกนเคราและตัดผมที่ยาวกระเซอะกระเซิงออกไป ต้องเล่นบทบาทการประทินหน้าตาและผิวกายอยู่ทุกค่ำคืน เพราะเรือนร่างเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำมาหากินของคนที่อยู่วิชาชีพนี้ และที่สำคัญ ต้องแสดงการเก็บกดความเป็นเพศวิถีแบบ “ชายรักชาย” ที่สังคมกำหนดว่าไม่ใช่แบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคลสาธารณะพึงทำ การสวมบทบาทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ต่างอันใดกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนและอัตลักษณ์ที่มนุษย์คนหนึ่งๆ กำลังยอมรับหรือต่อรองกับกฎกติกามารยาทของสังคม จนในบางครั้งก็แม้แต่ต้องยินยอมเก็บกั้นปรารถนาลึกๆ ในจิตใจของตนเอาไว้เช่นกัน เมื่อต้องปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าว ไม่เพียงแต่พอลจะเข้าใจปมในจิตใจของพี่ชายฝาแฝดเท่านั้น แม้แต่กับลูกจันผู้ที่เขาต้องปลอมตัวมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน พอลก็เริ่มเห็นว่า ภายใต้หน้ากากความเป็นหญิงมั่นและดูแข็งแกร่งนั้น แท้จริงแล้วลูกจันก็มีบาดแผลเจ็บปวดจากความรักที่ฝังแน่นมาตั้งแต่อดีต เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ลูกจันซึ่งกำลังเมาได้เผยความเจ็บปวดที่อยู่ในใจกับพอลว่า “ฉันเศร้า...เศร้ามากเลย...บางทีฉันก็รู้สึกว่าฉันไม่ได้เก่ง ไม่ได้แกร่งเหมือนที่ใครๆ คิดเลย” ห้องทดลองที่เปิดโอกาสให้พอลได้ไปสวมตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่เช่นนี้ ทำให้เขาเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์จริงๆ ที่ไม่ได้มองผ่านเลนส์หน้ากล้องซึ่งซ้อนทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง จนกลายเป็นความรักให้กับลูกจันและกลายเป็นความเข้าใจที่มีให้พีทพี่ชายของตน หรือแม้กระทั่งกับตัวละครผู้ร้ายอย่าง “ณัฐ” ผู้เป็นทั้งแฟนเก่าที่ทำร้ายจิตใจลูกจัน และเป็นชายหนุ่มที่หลอกลวงพีทจนพยายามฆ่าตัวตาย ในท้ายที่สุดพอลก็ได้เข้าใจว่า แม้แต่ปัจเจกบุคคลที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวร้ายเช่นนี้ ลึกๆ เบื้องหลังแล้วก็มีปมความเจ็บปวดจาก “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้บุพการีผลาญในบ่อนการพนัน “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของสังคมเราทุกวันนี้ ก็คงไม่ต่างจากตัวละครอย่างพอลซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีบาดแผลบางอย่างที่ต้องการการเยียวยา และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่มีมนุษย์คนใดหรอกที่จะสามารถเป็นเสรีชนผู้โดดเดี่ยวและตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกไปได้เลย ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม บางครั้ง “รักนี้” ก็คงไม่ต้องรอให้ “เจ้จัดให้” เสมอไปหรอก หากเรารู้จักปรับโฟกัสหรือปรับเลนส์ที่อยู่หน้ากล้องกันเป็นระยะๆ หรือหัดเอาใจ “ไปยืนในที่ของคนอื่น” เสียบ้าง ความรักความเข้าใจก็คงไม่น่าไกลเกินจะสร้างขึ้นได้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 สุสานคนเป็น : ความโลภของคนที่ตายทั้งเป็น

แค่ได้ยินชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “สุสานคนเป็น” ผมก็เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ สุสานที่เป็นที่สถิตของมนุษย์ผู้วายปราณไปแล้ว จึงกลายมาเป็นสถานที่ที่ให้คนเป็นๆ ได้เข้าไปอยู่ เรื่องราวของตัวละครอย่าง “ลั่นทม” เศรษฐินีสาวใหญ่ที่มั่งคั่งด้วยสมบัติพัสถานมากมาย แม้ลั่นทมจะเป็นผู้หญิงที่ยึดมั่นและทุ่มเททุกอย่างให้กับความรักที่มีต่อสามีอย่าง “ชีพ” แต่ลั่นทมกลับต้องพบกับการทรยศจากชีพผู้ที่หวังจะครอบครองสมบัติของเธอเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงแต่ชีพที่หวังในทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของลั่นทมเท่านั้น เขายังหวังจะครอบครองตัวของ “อุษา” หลานสาวที่ลั่นทมรักมาก รวมทั้งเขายังได้ชักนำภรรยาลับๆ อีกคนอย่าง “รสสุคนธ์” เข้ามาในบ้าน โดยที่ทั้งชีพและรสสุคนธ์ได้ร่วมมือกันวางแผนทุกอย่าง เพื่อจะเข้ามายึดครองทรัพย์ศฤงคารและกำจัดลั่นทมออกไปเสีย ในขณะเดียวกัน ลั่นทมเองก็เป็นโรคประหลาด ที่มักมีอาการวูบแล้วนิ่งไปประหนึ่งคนที่ตายแล้ว ทั้งๆ ที่เธอยังมีชีวิตอยู่ จนขนาดที่ครั้งหนึ่งเธอได้ถูกชีพและรสสุคนธ์จับมัดตราสังลงโลงไปแล้ว แต่ด้วยความช่วยเหลือของอุษาและนายตำรวจอย่าง “ธารินทร์” ลั่นทมก็ฟื้นกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ อีกคำรบหนึ่ง และอาการโรคประหลาดแบบตายไปแล้วหรือถูกจับลงตอกตะปูปิดฝาโลงไปแล้ว แต่ก็ยังกลับฟื้นคืนชีวิตได้เช่นนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นปมความขัดแย้งสำคัญที่อยู่ในท้องเรื่องของละคร   เริ่มตั้งแต่ตัวของลั่นทมเอง ที่เมื่อมีอาการวูบนิ่งราวกับเป็นคนตาย ดวงจิตของเธอก็ได้ไปสัมผัสเห็นเบื้องหลังความไม่ซื่อสัตย์ของสามีที่นอกใจเธอ แต่ก็ด้วยความรักที่มีต่อเขา ลั่นทมจึงยังคงพยายามคิดที่จะให้อภัยชีพอยู่ตลอดมา ในเวลาเดียวกัน เมื่อต้องถูกกักขังอยู่ในโลงและในร่างที่ขยับไม่ได้ แต่โสตประสาทได้ยินตลอด ทว่าจะพูดหรือจะเปล่งเสียงให้ใครได้ยินก็มิอาจทำได้ ลั่นทมก็ค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตว่า มนุษย์เราก็เท่านี้ จะโลภะโทสะโมหะกันไปอย่างไร แต่ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” ด้วยกันทุกคน ดังนั้น เมื่อลั่นทมกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้อีกครั้ง สิ่งแรกที่เธอลงมือทำก็คือ การสร้างโลงศพแก้วและสุสานเอาไว้ในอาณาบริเวณของบ้าน แม้คนรอบข้างจะพยายามเตือนว่า การสร้างสุสานในบ้านนั้นถือว่าไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย แต่ลั่นทมก็คงต้องการใช้โลงศพเป็นกุศโลบายของการมรณานุสติ เพื่อเตือนตัวละครคนเป็นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะชีพและรสสุคนธ์ให้รู้จักละทิ้งซึ่งความโลภโกรธหลงออกไปเสีย แต่เนื่องจากความโลภโมโทสันนั้นไม่เข้าใครออกใคร และละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยด้วยว่า ความโลภเป็นยิ่งกว่า “ผีสิง” และไม่ต่างไปจาก “สุสานที่ฝังคนเป็นๆ” เอาไว้ในร่างที่เวียนว่ายอยู่ในกิเลสตัณหา เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดชีพและรสสุคนธ์ก็จัดการวางแผนฆาตกรรมลั่นทมได้สำเร็จ และส่งร่างที่ไร้วิญญาณลงไปอยู่ในโลงแก้วที่เธอเตรียมเอาไว้นั่นเอง อย่างไรก็ดี อาจเป็นด้วยลั่นทมเป็นสาวใหญ่ที่มีหัวใจในแบบ “โพสต์โมเดิร์น” หรือที่รู้จักกันว่าเป็นวิธีคิดที่เชื่อเรื่องการสลายสีและสลายเส้นแบ่งทุกอย่าง เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ เธอก็ถูกกักขังวิญญาณให้กลายเป็นประหนึ่งคนตาย จนยากจะเห็นเส้นแบ่งว่า จริงๆ แล้วเธอยังเป็น “คนเป็น” หรือเป็น “คนที่ตายไปแล้ว” เพราะฉะนั้น เมื่อลั่นทมตายไปจริงๆ เธอก็ยังคงทำให้คนรอบข้างอย่างอุษาสนเท่ห์ใจว่า คุณน้าของเธอตายไปแล้วจริงหรือ จนแม้เมื่อแพทย์ยืนยันว่าเธอเสียชีวิตแล้วจริงๆ ลั่นทมก็ยังเวียนว่ายกลายเป็นผีที่คอยคุ้มครองหลานสาวและบรรดาคนรับใช้ผู้ภักดี ไม่ต่างจากครั้งเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ และด้วยการใส่เกียร์หัวใจแบบ “โพสต์โมเดิร์น” อีกเช่นกัน ที่ทำให้วิญญาณของลั่นทมได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายออกจากกัน และพยายามบอกกับทุกคนว่า สุสานอาจไม่ใช่ที่สถิตของคนตายเสมอไป แม้แต่คนเป็นๆ ที่มีความโลภในจิตใจ ก็ไม่ต่างจากคนที่ถูกฝังอยู่ในโลงหรือมีสุสานที่คอยอ้าแขนต้อนรับพวกเขาอยู่เสมอเช่นกัน เพราะคนไทยเชื่อกันว่า “ผี” เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการควบคุมทางสังคม ลั่นทมจึงเริ่มให้บทเรียนกับตัวละครที่ประพฤติมิชอบไปทีละคนสองคน ด้วยการจับคนโลภเหล่านั้นเข้าไปนอนอยู่ในโลงในสุสาน โดยใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ด้านหนึ่งก็คงเป็นด้วยว่า คนโลภนั้นเมื่อไม่เห็นโลงศพก็จะไม่หลั่งน้ำตา เพราะฉะนั้นพวกเขาจะซาบซึ้งกับตัวตนของความโลภได้ ก็ต่อเมื่อคนเป็นๆ อย่างเขาถูกทำให้กลายเป็น “คนที่ตายทั้งเป็น” ขึ้นมาทันที ก็คงเป็นแบบเดียวกับที่วิญญาณผีของลั่นทมได้พูดกับอุษาผู้เป็นหลานสาวว่า “กับคนบางคนที่ไม่มีสำนึก คนบางคนที่ไม่เกรงกลัวบาป ปล่อยให้น้าจัดการด้วยวิธีของน้าจะดีกว่า...” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงร้ายชายเลวอย่างรสสุคนธ์และชีพ ที่ลั่นทมเห็นว่าเป็นคนที่โลภเกินกว่าจะเยียวยาได้นั้น วิญญาณคุณน้าลั่นทมก็ได้สร้างโลกเสมือนอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ด้วยการจับคนทั้งคู่ล่ามคล้องโซ่ผูกติดกันไว้ และจับขังอยู่ในสุสานเก็บศพที่วัดจริงๆ เมื่อชายหญิงสองคนถูกล่ามโซ่ติดกันเอาไว้ ธาตุแท้ของคนทั้งสองก็ถูกเผยออกมาให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความโลภไม่ได้ทำให้คนเรารักกันได้จริงๆ หรอก หากแต่คนโลภจะอยู่ด้วยกันก็เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ผลประโยชน์สูงสุดของตนเองเท่านั้น เหมือนกับที่ชีพได้ลงมือฆ่ารสสุคนธ์และกลายเป็นคนเสียสติไป ก็เพราะความโลภและเห็นแก่ตัวที่ต้องการเอาชีวิตรอดของเขานั่นเอง แม้ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” เหมือนกับเพลงประกอบที่ร้องคั่นขึ้นมาในทุกเบรกของละคร แต่สำหรับ “คนเป็น” ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความโลภโมโทสันแล้ว ก็คงมีแต่วิญญาณของลั่นทมที่จะจับคนเหล่านี้มานอนกักขังอยู่ในโลงแก้ว เพื่อจะบอกกับพวกเขาว่า ไม่ต้องรอให้ตายจริงๆ หรอก เพราะความโลภก็คงไม่ต่างจากสุสานที่ฝังคนเป็นๆ ที่เปี่ยมไปด้วยโลภจริตเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 อย่าลืมฉัน : กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง

คนหลายคนอาจจะสงสัยว่า บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยจวบจนทุกวันนี้นั้น กราฟวิธีคิดของคนไทยจะเลือกเดินเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า หรือจะมีเส้นกราฟที่ดำเนินไปในทิศทางใด หนึ่งในคำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว อาจจะลองฉายภาพดูได้จากโลกของละครโทรทัศน์ร่วมสมัยนั่นเอง ก็คงคล้ายๆ กับการขับเคลื่อนไปของชีวิตตัวละครอย่าง “เขมชาติ” และ “สุริยาวดี” ที่ให้คำตอบกับความข้างต้นว่า ใจหนึ่งสังคมเศรษฐกิจก็คงไม่ต่างจากกราฟชีวิตของตัวละครทั้งสองที่เดินมุ่งไปวันข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีกด้านของทั้งคู่กลับมีปมบางอย่างให้ต้องหวนย้อนกลับสู่อดีต เข้าทำนองที่ว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง” เรื่องราวของเขมชาติและสุริยาวดี (หรือ “หนูเล็ก”) นั้น เริ่มต้นจากการเป็นรักแรกของกันและกันตั้งแต่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตไปข้างหน้าร่วมกับสุริยาวดี เขมชาติจึงมุมานะทำงานอย่างหนัก และมอบแหวนรูปดอกฟอร์เก็ตมีน็อตไว้ให้หญิงคนรัก เพื่อเป็นตัวแทนของความรักที่ไม่มีวันลืมหรือพรากจากกัน แต่เพราะครอบครัวของสุริยาวดีประสบปัญหาทางการเงิน เธอจึงจำใจต้องแต่งงานกับนายธนาคารใหญ่อย่าง “เจ้าสัวชวลิต” เพื่อปลดหนี้ และหลังจากนั้นเธอก็เลือกที่จะหายไปจากชีวิตของเขมชาติโดยที่ไม่ยอมบอกลา นำความเจ็บปวดมาให้เขมชาติที่เมื่อรู้ภายหลังว่า หญิงคนรักของตนยอมแต่งงานกับมหาเศรษฐีวัยคราวพ่อเพื่อแลกกับเงิน เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาบนความคับแค้น   แต่แล้วชะตาก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อสุริยาวดีกลายมาเป็นเลขานุการของเขมชาติ และด้วยความ “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป” ที่ฝังมาแต่ในอดีต เขมชาติจึงวางแผนแก้แค้นสุริยาวดี ในขณะที่ลึกๆ อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังมีเยื่อใยต่อหญิงผู้เป็นรักครั้งแรกอยู่เช่นกัน บนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างเขมชาติและสุริยาวดีนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากเส้นทางการเคลื่อนไปของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ด้านหนึ่งก็มุ่งจะก่อร่างสร้างสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจให้เติบโตก้าวหน้าขึ้น เหมือนกับตัวละครเขมชาติที่ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้การสั่งสมทุนดังกล่าว เขาก็ยังมีเงาความเจ็บปวดจากอดีตตามมาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่โดยทั่วไปผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ “เกลียดตัวเองที่ลืมช้า จดจำอะไรบ้าบอ” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ชายอย่างเขมชาติก็เข้าประเภทคนที่ “ลืมช้า” ไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะฉะนั้น แม้กราฟชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของเขมชาติจะพุ่งเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า มีฐานะมั่นคงมั่งคั่ง พร้อมๆ กับมีการสั่งสมทุนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตอย่างไม่สิ้นไม่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปมบาดแผลลึกๆ จากอดีต ก็ทำให้เส้นกราฟดังกล่าวมีลักษณะอิหลักอิเหลื่อกับความทรงจำแบบ “forget me not” อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญ กลุ่มคนที่มีบาดแผลฝังลึกจากอดีตเยี่ยงนี้ ก็มักจะห่อหุ้มตนเองเอาไว้ด้วย “ทิฐิ” ที่เข้ามาบดบังตา เมื่อทิฐิเข้าครอบงำ ไม่เพียงแต่ลืมอดีตไม่ได้ ทุกอย่างที่เขมชาติเห็นจึงเป็นสิ่งที่เขาได้แต่คิดเอาเอง แต่หาใช่เกิดจากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์เชิงประจักษ์รองรับไม่ เริ่มตั้งแต่การคิดเอาเองว่าสุริยาวดีเป็นคนโลภและอยากมีอยากได้ จึงเลือกไปแต่งงานกับท่านเจ้าสัวอายุคราวพ่อ สุริยาวดีเป็นหญิงหลายใจ แม้เจ้าสัวเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็เที่ยวหันไปคบชายคนนั้นคนนี้สลับกันไป จนถึงกับมโนไปเองว่า สุริยาวดีคงลืมความรักครั้งเก่าซึ่งตรงข้ามกับตัวเขาเองที่ไม่เคยลืมรักครั้งนั้นไปได้เลย ด้วยการคิดเอาเองแบบนี้ ผนวกกับทิฐิแบบบุรุษเพศที่ค้ำคอเขมชาติอยู่นั้น เมื่อสุริยาวดีปรากฏตัวอีกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นด้วยว่า เธอเองก็ไม่เคยลืมเขาไปได้เลย ทำให้เขมชาติวางแผนแก้แค้นหญิงคนรักโดยไม่สนใจที่จะสืบค้นความจริงว่า เบื้องลึกเบื้องหลังการจากไปของสุริยาวดีเป็นมาด้วยเหตุผลกลใด ผมลองถามเพื่อนรอบข้างหลายคนว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “อย่าลืมฉัน” แล้ว คำว่า “ฉัน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงตัวละครใด บางคนก็บอกว่า “ฉัน” น่าจะหมายถึงเขมชาติที่ลึกๆ แล้ว ดอกไม้ฟอร์เก็ตมีน็อตก็คือเครื่องหมายแทนใจที่ผูกพัน และพยายามสื่อสารกับสุริยาวดีไม่ให้เธอลืมความรักที่มีต่อเขา ในขณะที่มีเพื่อนบางคนก็บอกว่า “ฉัน” คงหมายถึงสุริยาวดีมากกว่า เพราะการกลับมาของเธออีกครั้ง ก็เพื่อทวงถามเขมชาติว่า ในหัวใจของเขาได้ลืมเลือนเธอไปแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม หากเราเพ่งพินิจพิจารณาดีๆ แล้ว ในท่ามกลางตัวละครหญิงชายที่ไม่เคยลืมปมบาดแผลจากอดีต แถมยังสาดทิฐิใส่กันและกันอยู่นั้น ยังมีตัวละครอีกสองคนอย่าง “เกนหลง” และ “เอื้อ” ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หากแต่ถูกผูกพ่วงเข้ามาอยู่ในเกมทิฐิและการแก้แค้นไปด้วย ตั้งแต่ฉากเขมชาติรับสุริยาวดีเข้ามาเป็นเลขานุการ ไปจนถึงฉากเล่นล่อเอาเถิดวิ่งไล่จับกันของตัวละครที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฉากหมั้นของเขมชาติและเกนหลงที่เผยความจริงลึกๆ อันเนื่องมาแต่ปมในอดีต ฉากเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ทิฐิจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกระทบต่อคนรอบข้างอย่างเกนหลงและเอื้อที่ไม่รู้เห็นอันใดกับบาดแผลในใจของพวกเขาเลย เพราะฉะนั้น แม้การหลอกลวงจะเป็นเรื่องที่เขากระทำต่อคนรักเก่า แต่เขมชาติก็จง “อย่าลืมฉัน” ผู้ที่อยู่รอบข้างอีกหลายคน ซึ่งคงไม่ต่างจากที่เกนหลงบอกกับเขมชาติในภายหลังที่เขามาสารภาพความจริงทุกอย่างว่า “คุณไม่รู้ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นต้องเสียใจแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ชาตินี้คุณจะซื่อสัตย์กับคนอื่นได้ยังไง...” หากเราใช้ทฤษฎีที่อธิบายว่า โลกของละครไม่เคยและไม่มีวันแยกขาดจากโลกความจริงไปได้นั้น ตัวละครอย่างเขมชาติและสุริยาวดีก็คงบอกเป็นนัยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ “กลับตัวก็ไม่ได้ และจะเดินต่อไปก็คงไม่รอด” เท่านั้น หากอีกด้านหนึ่งบนความขัดแย้งและอาการอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ก็ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่แม้จะอยู่นอกเกม แต่ก็มักถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งไม่ต่างกัน ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งซึ่งฉีกสังคมไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ที่ทิฐิและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม ก็อาจจะทำให้ตัวละครแบบเกนหลงและเอื้อต้องมาส่งเสียงเตือนสติว่า “อย่าลืมฉัน” ที่ยังมีเลือดมีเนื้อมีความรู้สึกอยู่ตรงนี้อีกหลายๆ คน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 สามีตีตรา: อย่างนี้ต้องตีตรวน!!!

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพสังคมที่เราเห็นหรือรับรู้ว่าดำเนินไปอย่างราบรื่นเป็นปกตินั้น แท้จริงแล้ว คลื่นใต้น้ำที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมดังกล่าว กลับเป็นสนามรบที่คุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด สงครามคลื่นใต้น้ำที่เป็นรูปธรรมอันเข้มข้นที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม อันได้แก่ "กลุ่มคนที่มี" (หรือบางครั้งเรียกว่าพวก "the have") กับ "กลุ่มคนที่ไม่มี" (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพวก "the have-not") โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยากจะปรองดองและประสานผลประโยชน์กันได้จริงๆ ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคน ที่เริ่มต้นจาก "ความเป็นเพื่อนรัก" แต่สุดท้ายก็ "หักเหลี่ยมโหดเสียยิ่งกว่าโหด" อีก ผู้หญิงคนแรกซึ่งเป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่มี" ก็คือ "กะรัต" หรือ "กั้ง" คุณหนูไฮโซที่เจ้าอารมณ์ชอบเกรี้ยวกราดกับผู้คนรอบตัวไปเรื่อย ซึ่งเหตุผลด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะเธอเกิดในครอบครัวที่มี กะรัตจึงมีทุกอย่างเพียบพร้อมติดตัวมาแต่กำเนิด ตั้งแต่มีรูปสวยรวยทรัพย์ มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ ไปจนถึงมีสามีมาคนแล้วคนเล่า กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่ไม่มี" อย่าง "สายน้ำผึ้ง" เมื่อชีวิตต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่และไม่มีทุนอันใดติดตัวมา สายน้ำผึ้งจึงไม่มีในทุกๆ ด้าน แม้แต่ลูกป่วยเข้าโรงพยาบาล เธอก็ยังหาพ่อให้ลูกไม่ได้ และไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแม้เพียงอัฐเดียว   เมื่อผู้หญิงที่มีทุกอย่างโคจรมาพบเป็นเพื่อนกับผู้หญิงที่ไม่มีอะไรสักอย่าง ความขัดแย้งจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ที่กะรัตได้ครอบครอง "ภูเบศร์" ชายคนรักของสายน้ำผึ้งไป โดยที่สายน้ำผึ้งก็ซ้อนแผนที่จะช่วงชิงชายผู้นั้นกลับมาพร้อมกับมีลูกของเขาที่อยู่ในครรภ์ จนนำไปสู่ความแตกหักร้าวฉานระหว่างเพื่อนรักทั้งสองคน จนเมื่อกะรัตได้พบรักครั้งใหม่ และได้จดทะเบียนตีตราสมรสกับผู้ชายดีๆ อย่าง "หม่อมหลวงพิศุทธิ์" สายน้ำผึ้งที่พบว่ากลุ่มคนที่มีอย่างกะรัต ก็ดูจะยิ่งมีทุกอย่างอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด เธอจึงเริ่มวางแผนที่ซับซ้อนขึ้นในการช่วงชิงสามีที่ตีตราเอาไว้แล้วของอดีตเพื่อนรักให้มาเป็นพ่อของลูกชายเธอ เมื่อเป็นคนที่ไม่มีอะไรติดตัวมาแต่กำเนิด ผู้หญิงอย่างสายน้ำผึ้งจึงต้องหาสิ่งทดแทนด้วยการใช้มันสมองอันชาญฉลาด และอ่านเกมฝ่ายตรงข้ามให้ขาด เพื่อหาทาง "กำจัดจุดอ่อน" ของกะรัตนั้นเสีย ในกลุ่มของคนที่มีนั้น แม้จะมีชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สายน้ำผึ้งก็พบว่า สิ่งเดียวที่ผู้หญิงอย่างกะรัตกลับไม่มีเอาเสียเลยก็คือ "ความไว้วางใจ" อันเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่รุ่นแม่อย่าง "คุณนายพวงหยก" ที่ไม่เคยไว้ใจในตัวผู้เป็นสามีอย่าง "กฤช" จนสืบต่อมาที่รุ่นลูกสาว แบบที่กะรัตเองก็ไม่เคยจะไว้ใจผู้ชายคนใดที่เข้ามาในชีวิตคู่ของเธอเลย เมื่อความไว้วางใจไม่มีอยู่ในคนกลุ่มนี้ ด้านหนึ่งกะรัตจึงต้องทำทุกอย่างที่จะสร้างความไว้ใจเทียมๆ ขึ้นมา ตั้งแต่การออกอาการเกรี้ยวกราดทุกครั้งที่มีข่าวลือเกี่ยวกับพิศุทธิ์และสายน้ำผึ้ง หรือพยายามจะมีลูกเป็น "โซ่ทองคล้องแทนความไว้ใจ" ไปจนถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกฎหมายด้วยการตีตราจดทะเบียนสมรส เพื่อยืนยันว่าเธอกับพิศุทธิ์นั้นรักกันจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีทุกอย่างนั้น กฎหมายก็คือสถาบันที่คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของ "ความไว้วางใจ" (ที่มักไม่มี) ระหว่างกัน แต่เพราะทุกวันนี้กฎหมายเองก็มิได้ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดนัก แบบเดียวกับที่ในโลกความจริงก็มีการฉีกกฎหมายหลายๆ มาตรากันเป็นว่าเล่น ความไว้ใจซึ่งมาจากทะเบียนสมรสเยี่ยงนี้จึง "กลายเป็นฝุ่น" ไปในที่สุด เพราะมันไม่ใช่ของจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนความรักและความจริงใจระหว่างคนสองคนต่างหาก เพราะ "จุดอ่อนคือความไว้ใจ" นี่เอง สายน้ำผึ้งก็เลยปั่นหัวเล่นกับความไว้วางใจของกะรัต เพื่อพิสูจน์ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีทุกอย่าง มีความเข้มแข็งหรือเปราะบางกันเพียงไร และกะรัตจะเชื่อคำเป่าหูของสายน้ำผึ้งหรือเชื่อคำพูดจากปากของ "สามีตีตรา" อย่างพิศุทธิ์กันแน่??? ก็เหมือนกับที่ "เนื้อแพร" มารดาของพิศุทธิ์ได้พูดเตือนสติกะรัตอยู่ครั้งหนึ่งว่า "แค่เขาจี้จุดอ่อนว่าคนอย่างคุณมันไม่มีค่าพอให้ใครมารักจริง คุณก็ดิ้นจนไม่มีสติไตร่ตรองว่าอะไรเป็นของจริงอะไรเป็นภาพลวงตา... แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ คุณเชื่อทุกเรื่องที่สายน้ำผึ้งเป่าหู แต่คุณไม่เชื่อพิศุทธิ์เลย..." และที่น่าฉงนและขบขันอยู่ในทีก็คือ ในขณะที่กะรัตเป็นผู้ซึ่งไม่เคยมีสติสตังที่จะไว้วางใจในตัวสามีเลย แต่กับสาวใช้อย่าง "นวล" (ซึ่งด้านหนึ่งพื้นเพก็คงมาจากกลุ่มคนที่ไม่มีเช่นกัน) กลับเป็นผู้ที่ดูเชื่อมั่นในตัวของพิศุทธิ์ และคอยเตือนสติของเจ้านายอย่างกะรัตให้เห็นว่าเนื้อแท้ของพิศุทธิ์นั้นหาใช่เป็นแบบที่สายน้ำผึ้งใส่ไคล้หรือเป่าหูแต่อย่างใด แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในสมรภูมิระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนที่ไม่แบบนี้ ดูเหมือนว่าสายตาของผู้ดูผู้ชมทุกคนในสังคมจะโอนเอียงเข้าข้างไปทางกลุ่มคนที่มีกันเสียมากกว่า เพราะแม้สายน้ำผึ้งจะยืนยันอยู่ตลอดว่า การที่เธอต้องแย่งผู้ชายอย่างภูเบศร์หรือพิศุทธิ์มาจากเพื่อนรัก ไปจนถึงสร้างความแตกแยกให้กับ "กันตา" น้องสาวของกะรัตกับคู่หมั้นหมายอย่าง "ศิวา" ก็เนื่องเพราะต้องการเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรเลยสำหรับคนอย่างเธอ แต่ตัวละครอื่นๆ รวมไปถึง "รสสุคนธ์" น้าสาวของเธอกลับให้นิยามต่างออกไปว่า สายน้ำผึ้งเป็นพวกช่าง "มโน" และมีแต่ความ "อิจฉาริษยา" หาใช่เรื่องของการทวงความยุติธรรมแต่อย่างใดไม่ และความอิจฉาริษยาคนที่มีนั่นเอง ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเพลิงที่เผาผลาญทำลายให้จิตใจของสายน้ำผึ้งมอดไหม้ลงไป ไม่ว่าความอิจฉาหรือการทวงคืนความยุติธรรมจะเป็นคำตอบจริงๆ ของสายน้ำผึ้ง แต่ตราบใดที่ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มียังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ ความปรองดองกันในสังคมก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากยิ่งนัก และในทำนองเดียวกัน หากกลุ่มคนที่มีและมีในทุกๆ ด้าน แต่ขาดซึ่งความไว้วางใจให้กันและกันแม้แต่กับคนใกล้ชิดใกล้ตัวแล้ว สามีที่ "ตีตรา" ของกะรัต ก็คงสู้สามีที่ล่ามโซ่และ "ตีตรวน" เอาไว้ไม่ได้เลย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 กุหลาบร้ายของนายตะวัน : กระบวนท่ากลับหลังหันของสังคมเมือง

เป็นเวลานับศตวรรษมาแล้ว ที่เรามักจะมีความคิดความเชื่อว่า “สังคมเมือง” กับ “สังคมชนบท” เป็นสองสังคมที่มีความแตกต่าง และเกิดขึ้นบนรากที่มาต่างกัน ความเป็น “เมือง” มักจะวางอยู่บนอารยธรรมที่ทันสมัย เป็นโลกที่ก้าวหน้ามีแสงสีศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับความเป็น “ชนบท” ที่ร้อยรัดอยู่บนสังคมประเพณีดั้งเดิม เป็นโลกที่ล้าหลังไม่ทันสมัยและอยู่กับท้องไร่ท้องนา แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ จริงๆ แล้ว “เมือง” กับ “ชนบท” เป็นคู่ตรงข้ามที่อยู่กันคนละขั้วคนละปลายกันแน่หรือ? ดูเหมือนว่าตัวละครที่ชีวิตจับพลัดจับผลูต้องมาตั้งคำถาม และก็ค้นเจอคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทในที่นี้ก็คือ สาวเปรี้ยวสวยเริ่ดเชิดโสดอย่าง “โรสริน” หรือ “โรส” ทายาทคนเดียวของ “ปู่ณรงค์” เจ้าของโรงแรมชื่อดังอย่าง “ควีนโรส” ชีวิตของโรสเติบโตมาในสังคมเมือง โดยถูกเลี้ยงมาแบบตามใจจนกลายเป็นคนนิสัยเอาแต่ใจ เที่ยวเหวี่ยงวีนใครต่อใครไม่เลือกหน้า และเมื่อโรสเรียนจบปริญญาโทกลับมาจากอังกฤษ คุณปู่ณรงค์ก็ต้องการดัดนิสัยของโรสด้วยการให้เธอฝึกงานตั้งแต่เป็นพนักงานระดับล่าง ก่อนที่โรสจะมีสิทธิขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารกิจการโรงแรมต่อไป   เมื่อมีตัวละครสาวเมืองกรุงแถมหัวนอกอย่างโรส ก็ต้องมีพระเอกคู่ปรับที่เป็นหนุ่มชนบทบ้านไร่อย่าง “ตะวัน” เจ้าของไร่ดอกไม้ที่ชื่อ “บ้านไร่ตะวัน” การพบเจอกันครั้งแรกระหว่างโรสกับตะวันนั้นเรียกได้ว่าเข้าสูตรพ่อแง่แม่งอน โดยที่ตะวันต้องรับงานจัดแต่งดอกไม้ในงานเลี้ยงต้อนรับการกลับมาของโรส ซึ่งโรสเองก็ไม่พอใจเขาที่เลือกกล้วยไม้แบบบ้านๆ มาตกแต่งงาน เพราะสำหรับสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ ดอกไม้ที่คู่ควรต้องเป็นกุหลาบนอกราคาแพงเท่านั้น แม้ว่าจุดเริ่มต้นของปมปัญหาในเรื่อง อาจจะมาจากความแตกต่างระหว่าง “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองอย่างโรส กับเจ้าของ “กล้วยไม้พื้นเมือง” จากสังคมชนบทอย่างตะวัน แต่ทว่า อาจจะเป็นเพราะโลกใบนี้มันช่างกลม ปู่ณรงค์ของโรสกลับกลายเป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมยิ่งกับ “ปู่ชาญ” ของนายตะวัน เพราะโลกมันกลม ในอดีตปู่ชาญเคยให้ปู่ณรงค์ยืมเงินจำนวน 20 ล้าน เพื่อมาสร้างโรงแรมจนเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต เมื่อปู่ณรงค์มาพบกับปู่ชาญอีกครั้ง ทั้งคู่จึงวางแผนจับให้หลานของตนร่วมหอลงโรงแต่งงานกันเสียเลย โดยที่ปู่ณรงค์เองก็เชื่อว่า จะมีก็แต่นายตะวันคนเดียวที่จะปราบ “กุหลาบร้าย” อย่างโรสให้กลายเป็นนางฟ้าแสนดีคนเดิมได้ แล้วหลังจากนั้น เนื้อเรื่องก็เข้าตามทางของละครที่ว่า คุณหนูไฮโซแสนสวยก็ต้องถูกระเห็จออกไปอยู่บ้านไร่ปลายนาหนึ่งปี และที่แน่ๆ ก็คือ ต้องแง่ต้องงอนกับกับพระเอกไปจนจบเรื่อง โดยโรสก็ต้องพ่ายแพ้ต่อคุณงามความดีของหนุ่มบ้านไร่อย่างนายตะวันไปในที่สุด จะว่าไปแล้ว สูตรละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้แบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของละครจอแก้วที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า เบื้องหลังความคิดของละครสูตรดังกล่าวก็คือ การทดลองใช้โลกจินตนาการปรับประสานความไม่ลงรอยบางอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมจริงๆ เฉกเช่นเดียวกับละคร “กุหลาบร้ายของนายตะวัน” ที่แม้จุดเริ่มต้นของเรื่องจะมาจากความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท โดยที่มีสาวสังคมเมืองอย่างโรสมองข้ามคุณค่าและศักดิ์ศรีของชนบทบ้านไร่อย่างวิถีชีวิตของพระเอกหนุ่มกับตัวละครทั้งหลายในบ้านไร่ตะวัน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ในความแตกต่างดังกล่าวกลับปรากฏให้เห็นว่า ยังมีสายสัมพันธ์อีกเส้นหนึ่งระหว่างปู่ชาญกับปู่ณรงค์ที่บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่า ชนบทกับเมืองต่างก็เป็นเกลอเก่าที่ถักทอความสัมพันธ์แบบคู่ไขว้กันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต หากเราลองย้อนกลับไปมองพัฒนาการการเกิดขึ้นของสังคมเมืองในโลกจริง ก็คงไม่แตกต่างไปจากการก่อตั้งโรงแรมควีนโรสของปู่ณรงค์เท่าใดนัก เพราะในช่วงราวศตวรรษที่ 19 ที่ระบบอุตสาหกรรมกำลังก้าวหน้า และเมืองขนาดใหญ่ทั้งหลายเริ่มผุดขึ้นมานั้น แท้จริงแล้ว ชุมชนเมืองเหล่านี้ก็คือ “บาง” หรือ “ย่าน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนบทมาก่อน (แบบเดียวกับ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งก็เคยเป็นเมืองเล็กๆ อย่าง “บางกอก” มานั่นเอง) เพียงแต่ว่ามี “บาง” หรือ “ย่าน” บางแห่งเท่านั้น ที่มีศักยภาพมากพอในการสั่งสมทุนจนเติบโตกลายเป็นเมืองกรุงเมืองใหญ่ได้อย่างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปู่ณรงค์จะสามารถสร้างโรงแรมใหญ่โตอลังการได้ด้วยมือคนเดียว แต่คุณปู่ก็ต้องอาศัยทุนหรือปัจจัยการผลิตที่เป็นเงิน 20 ล้านของคุณปู่ชาญแห่งบ้านไร่ ที่จะให้ยืมไปผลิดอกออกผลเป็นกิจการขนาดใหญ่ในสังคมเมืองหลวง แต่คงเป็นเพราะเมื่อเมืองเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ การสั่งสมทุนของคนในเมืองก็ทำให้พวกเขาต้องถีบทะยานตัวและจำแนกวิถีชีวิตให้แตกต่างไปจากชนบท หรือแม้แต่กลายเป็น “กุหลาบร้ายกลายพันธุ์” ที่เกิดขึ้นในอนุชนรุ่นหลังอย่างโรส ซึ่งลืมแม้แต่รากและศักดิ์ศรีของชนบทดั้งเดิมไปเสีย อย่างไรก็ดี แม้เมืองกับชนบทจะกลายเป็นสองโลกที่แตกต่างกันสุดขั้วไปแล้ว ละครก็ให้ความหวังเอาไว้ด้วยว่า คงต้องรอให้มีโอกาสที่คนเมืองจะได้มาสัมผัสกับชีวิตสมถะแบบชนบท แบบเดียวกับโรสที่คุณปู่ส่งมาฝึกงานเพาะชำต้นกล้าและต่อตาแต่งกิ่งกล้วยไม้ในบ้านไร่ สังคมเมืองก็จะค่อยๆ เริ่มกลับหลังหันไปทำความเข้าใจรากที่เป็นมาในวิถีชีวิตของตนเองกันอีกสักครั้ง และสำหรับเราๆ ที่อยู่ในสังคมเมืองกันมาอย่างยาวนานเช่นนี้ คงไม่ต้องถึงกับรอให้คุณปู่ๆ จับส่งกลับไปทำงานในบ้านไร่กันกระมัง เนื่องเพราะสังคมโดยรวมจะก้าวดีขึ้นไปได้ หากอย่างน้อยเราเองก็ตระหนักเบื้องต้นว่า ปัญหาที่เกิดกับชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจากสายตาที่บรรดา “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองกรุงของเรามองข้ามว่ามันเป็นปัญหานั่นเอง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point