ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ร้องประปาเชียงใหม่ ใช้ข้อความข่มขู่

“หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อาจถูกงดจ่ายน้ำ และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม 535 บาท”เป็นข้อความแบบนี้ล่ะครับ ที่คุณสุธน เห็นว่าเป็นการข่มขู่ผู้ใช้บริการน้ำประปา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระค่าน้ำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 คุณสุธนได้ส่งแฟกซ์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีข้อร้องเรียนด้วยลายมือหนึ่งหน้ากระดาษ พร้อมสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ที่มีข้อความเจ้าปัญหาล้อมกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ใต้ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการน้ำประปาคุณสุธนบอกว่า ตนพึ่งได้รับบริการ ติดตั้งประปาที่บ้านไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะบ้านอยู่นอกเขตเทศบาล แต่ให้มาเสียความรู้สึกทุกครั้งเมื่อต้องมาเจอข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณูปโภคของประชาชน จึงสามารถ(ข่มขู่ ขูดรีด) จากผู้ใช้บริการได้ขนาดนี้ ในกรณีหากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าใช้บริการน้ำประปา“ผมขอฝากร้องเรียน และสอบถามผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการด้วย... เห็นการข่มขู่เช่นนี้แล้วทนไม่ได้ครับ เห็นใจคนจนๆ อื่นๆ” เป็นข้อความทิ้งท้ายของคุณสุธน แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับข้อร้องเรียนและสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการน้ำประปาจากคุณสุธน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไม่นานได้รับหนังสือตอบกลับจากการประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ)ได้ออกไปพบและเรียนชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคุณสุธนจนเป็นที่พึงพอใจแล้วและในส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ประทับตราลงในใบแจ้งค่าบริการน้ำประปานั้น ได้รับข้อมูลแจ้งว่า การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ) ไม่ได้ประทับตราข้อความนี้ลงในใบแจ้งค่าบริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณการประปาส่วนภูมิภาคที่ใส่ใจต่อสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ และขอให้กิจการเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ไม่ชอบใจบทละครไทย

ขอความกรุณาท่านช่วยดำเนินการบทละครทีวีไทยที่มีแต่เรื่องอิจฉาริษยา ตบจูบ ในละครทีวีช่องต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมากมายเหลือเกินการพูดจากับพ่อแม่ใช้คำพูดกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน และไม่รักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมไทยที่มีความเคารพ ยำเกรงผู้ใหญ่ บุพการี ละครทีวีไทยพยายามยัดเยียดกิริยา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่วิถีชีวิตคนไทย เช่น ก้าวร้าว เอะอะ ว้ายกรี๊ด อิจฉาริษยาซ้ำซาก ชอบตบหน้ากัน เห็นหรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาจากสื่อละครไทยโดยเฉพาะจากทีวีดูบทละครเกาหลีที่ส่งมาบ้างสิครับส่ งออกวัฒนธรรมเข้ามาครอบงำเมืองไทยจนเป็น KPop ไปหมดแล้วใครๆ ก็อยากไปเที่ยวเกาหลี เพราะเขาฉลาดกว่า แม้แต่เรื่องกับข้าวกับปลาที่ไม่เอาไหนไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเมืองไทยเขาก็ส่งออกมาครอบงำเราได้ ตื่นเสียบ้างเถอะครับอย่าดูถูกผู้บริโภคอีกเลยพวกท่านควรตื่นขึ้นมาดูแลบ้างได้แล้วและที่สำคัญและซ้ำซากแทบทุกบททุกตอนละครไทยทำไมต้องมีบทกระเทยมากมายนัก จนวัยรุ่นเอาอย่างกันมากมาย รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมก่อนที่สังคมไทยจะฟอนเฟะมากกว่านี้ ผมไม่ได้ดูละครไทยมานานแล้วเพราะมีการออกอากาศพวกนี้ วี้ดว้าย ก้าวร้าว ตบ จูบ พูดจาไม่เหมาะสมกับบุพการี อิจฉาริษยา ลูกๆ ผมยังไม่แนะนำให้ดูละครพวกนี้ ทั้งที่อยากสนับสนุนกิจการคนไทยแต่รับไม่ไหวจริง ๆ ช่วยรีบดำเนินการด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อร้องเรียนทางออนไลน์จากผู้บริโภคที่ใช้นามว่า “สมบัติ” ซึ่งต้องขอบพระคุณมากครับที่ช่วยเปิดประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อขึ้นมาขอแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดตัวโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงโดยกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไปถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการคุ้มครองสิทธิด้านสื่อ หากพบเจอปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อเรื่องใด ให้ส่งข้อร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ได้ที่ www.consumerthai.org/e-mouth/ หรือที่ Face Book “ซอกแซกสื่อ” ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ขอมาตรฐานรถตู้โดยสารด้วยจ้ะ

เผลอ..แป๊บเดียวสงกรานต์มาถึงอีกแล้วหรือนี่...  เฮ้อ...วันเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เอ้า...เมื่อสงกรานต์มาถึงก็หมายความว่าเทศกาลแห่งการเดินทางของผู้คนก็มาถึงอีกแล้วซิ...  เมื่อถึงเทศกาลนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ บขส.รถไฟ ดั่งแต่ก่อน ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถตู้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน เพราะทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่า(ไม่ค่อยจอดรับรายทางแต่ความปลอดภัยตัวใครตัวมัน) ธุรกิจรถตู้จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้ว่าทุกซอกทุกมุมทั้งต่างจังหวัดและในเมืองมีคิวรถตู้เกลื่อนไปหมดวันก่อนมีชาวบ้านมาตั้งคำถามว่าหน่วยงานไหนควบคุมดูแลรถตู้(นั่นซิหน่วยงานไหนจ๊ะ) แล้วทำไมรถตู้จึงสามารถเพิ่มที่นั่งได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่น กฎหมายกำหนดไว้ให้มีที่นั่งได้ 11 ที่นั่ง แต่รถตู้โดยสารสามารถเพิ่มที่นั่งได้ถึง 14 ที่ อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่มีใครสนใจ  แม้แต่ตำรวจจราจรตำรวจทางหลวงก็เพิกเฉยและยิ่งไปกว่านั้นด้านหน้ารถจริงๆ มีได้แค่ 2 ที่นั่ง คือคนขับและคนนั่งอีกคน แต่รถตู้สามารถเสริมให้มีคนนั่งข้างคนขับได้ถึง 2 คน และที่แย่ไปกว่านั้นคือคนที่นั่งข้างหน้าริมประตูคนเดียวที่มีเข็มขัดให้คาด ส่วนคนนั่งกลางตัวใครตัวมัน  หากมีอุบัติเกิดขึ้นอาจกระเด็นทะลุกระจกออกไปได้ง่ายๆ  ลุงยังบอกอีกว่าผู้โดยสารอย่างเขามีสิทธิบอกมั้ย... ว่าอย่าเพิ่มที่นั่งเลย จะคิดค่าโดยสารเพิ่มก็ได้ แต่ขอความปลอดภัยให้เขาได้ไหม? เพราะการเพิ่มที่นั่ง มันทำให้นั่งไม่สบายอึดอัด  ยิ่งเป็นรถที่ขับระยะทางไกลๆ กว่าจะถึงที่หมายก็เกือบเป็นอัมพาตกันเลยทีเดียว   นั่นนะซิ..ใครล่ะที่จะเป็นคนบอกว่าได้ไม่ได้   ตกลงผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เป็นคนจ่ายสตางค์มีสิทธิที่จะร้องขอความปลอดภัยบ้างไหม.. ทำไมรถตู้ถึงมีเอกสิทธิเหนือกฎหมายได้ขนาดนี้ปากก็บอกว่าจะจัดระเบียบรถตู้ มีการเอาจริงเอาจังขนาดตรวจจับกันเลยทีเดียว   แต่ที่สำคัญคือไอ้ที่ดูๆ อยู่น่ะ...ดูกันแค่ ป้ายเหลืองหรือป้ายดำเท่านั้น  ส่วนความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่เห็นมีใครพูดถึง    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะดูแลเรื่องพวกนี้บ้าง? ไม่ใช่จ้องจะนับศพว่าปีนี้จะตายมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ฟังแล้วมันวังเวง และหดหู่ใจ  ที่ตื่นเช้ามาก็จะมีรายงานข่าววันที่ 1 ตายกี่ศพและนับทบไปเรื่อยๆ จนทำให้เราลืมไปว่ากำลังอยู่ใน เทศกาล สงกรานต์ ปีใหม่  หรือเทศกาลแห่งความตายกันแน่    ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่ให้มีรถตู้แต่อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานกันให้ชัดเจน  ใครฝ่าฝืนก็ดำเนินการตามกฎหมายผู้โดยสารจะได้อุ่นใจ  และเดินทางอย่างมีความสุข เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดที่พบเห็นเรื่องราวที่ท่านคิดว่าไม่เป็นธรรมและไม่ค่อยจะปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ก็ขอให้เล่าสู่กันฟังมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เราจะได้ช่วยกันพัฒนาระบบบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น พลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเราช่วยกันสอดส่องดูแล  ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและมีความสุขกับครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ปี 54 ทุกคนนะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ไม่มีให้ซื้อตามโฆษณา ก็ต้องฟ้องสิจ้ะ

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ได้มีโอกาสหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน และได้เห็นการโฆษณาของห้างโลตัส เป็นภาพสีคู่ 2 หน้า และแสดงภาพสินค้าราคาขายอย่างชัดเจน มีทั้งสินค้าลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2553 ถึง 2 มกราคม 2554 พร้อมคำบรรยายว่าซื้อแล้วจะได้สิทธิคูณ แต้ม 3 เท่าในคลับการ์ด และมีข้อความตัวเล็กๆ ด้านล่างของกรอบโฆษณา ถึงข้อจำกัดการซื้อ เช่น กรณีสินค้าขาดตลาด จำหน่ายหมดก่อนกำหนดหรือปฏิบัติตามคำสั่งราชการ โดยไม่มีการระบุว่าสินค้ามีจำนวนจำกัดเมื่ออ่านข้อมูลครบถ้วน ผู้เขียนได้ชวนพี่สาวและหลานๆ เดินทางไปที่ห้างโลตัสสมุทรสงคราม เวลาประมาณ 10.40 น. เพื่อไปซื้อสินค้าตามโฆษณา ไปถึงชั้นวางของปรากฏว่าไม่มีของตามที่โฆษณาวางอยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่า ของหมดแล้ว(ฮ้า....นี่เพิ่งวันแรกแต่เช้าหมดแล้วเหรอ..) เอ้า...หมดก็หมด ผู้เขียนเตรียมกลับบ้าน หันมาเจอพี่สาวและหลานๆ เห็นซื้อของกันมาเต็มมือก็เลยถามว่าอ้าว...ของที่ตั้งใจมาซื้อไม่มีแล้วซื้ออะไรกันมา ก็ได้คำตอบว่าไหนๆ ก็เสียเวลามาแล้ว ก็ซื้อๆไปเถอะ (อ้าว...อีกครั้ง)ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาของเขาได้ผล เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาก็อยากจะมาที่ห้าง มาแล้วไม่เจอของที่ตั้งใจซื้อ ก็ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้หรือเปล่า คือเป้าของการโฆษณา แต่คิดอีกที เออ..สินค้าเขาคงหมดจริงๆจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวประจำวันผู้เขียนได้เดินทางไป ที่ห้างโลตัสอีกครั้ง ก่อนเที่ยง ปรากฏว่าก็ไม่มีสินค้าอีก เอาละอันนี้เริ่มชัด(อะไรว่ะ....มากี่ทีก็ไม่มีของ..) ผู้เขียนจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคุยกับผู้จัดการ รอสักพักผู้จัดการ(หรือเปล่าไม่รู้) ก็มาคุยและแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงได้นำหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาของห้างไปแสดงและชี้ให้เห็นว่า ไม่มีข้อความไหนบอกว่า สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ได้บอกว่าต้องมาซื้อสินค้าเวลาไหนจึงจะซื้อสินค้าตามที่โฆษณาได้ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่มีการเจรจาก็มีผู้บริโภครายอื่นๆ มายืนฟังด้วย(ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ..มีผู้บริโภคบางคนพูดว่า...ของมันหมดแล้วมาโวยทำไม หมดก็ซื้ออย่างอื่นซิ..กลายเป็นว่าคนใช้สิทธิเป็นคนผิดอีก..แส้นนนน....ดี...จริงผู้บริโภคไทย) ผู้จัดการบอกว่าขอเบอร์โทรไว้แล้วกันหากสินค้ามาและจะโทรบอก อันนี้ล่ะ..ที่ผู้เขียนรับไม่ได้ พอใครโวยก็ให้สินค้าใครไม่โวยก็หลอกลวงกันเรื่อยๆไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามากอบโกยรายได้จากผู้บริโภคไทย ด้วยการใช้เทคนิคทางการตลาด นำสินค้าชิ้น 2 ชิ้น มาโฆษณาเป็นเหยื่อล่อ หลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปที่ห้างของตนนั้น เป็นเทคนิคการตลาดที่ขาดจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง(จริงๆ) ผู้เขียนได้โทรไปที่สายด่วนผู้บริโภค มีเสียงอัตโนมัติตอบกลับมาว่า ผู้ให้บริการติดบริการรายอื่นอยู่โปรดรอสักครู่ จนสายถูกตัด แต่ก็พยายามโทรอีกหลายครั้งใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เลยต้องโทรหาท่านเลขา สคบ.ท่านก็รับเรื่องแล้วบอกว่าจะดูแลให้ แต่เมื่อคิดอีกทีไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ก็คงดีก็เลยไปแจ้งความไว้ที่โรงพักเพื่อที่จะได้ดำเนินการฟ้อง พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป และในวันเดียวกันก็มีผู้บริโภครายอื่นโทรมาร้องเรียนว่าถูกหลอกเช่นกัน โดยดูทีวีมีการโฆษณาว่ามีกล้องโซนี่ ซื้อ 1แถม 1 ไปซื้อจริงๆไม่มีสินค้าเช่นกัน จึงแนะนำให้ไปแจ้งความไว้อีกคดี กลายเป็นว่าผู้บริโภคได้ร่วมกันให้ของขวัญปีใหม่กับห้างโลตัสไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าหลายห้างใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ไม่อยากจะฝากหน่วยงานแล้วเพราะฝากไปก็เหนื่อยเปล่า ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องร่วมมือกันเมื่อเจอเหตุช่วยกันแจ้งความ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ พลังของเราจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >