ฉบับที่ 129 แฟนคลับร้อง...อีซี่เอฟเอ็ม 105.5 เหนียวรางวัล

คุณสุเทพเป็นคนแรกที่เปิดแฟ้มร้องเรียนเรื่องนี้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาบอกว่าช่วงเดือนมีนาคม 2554 ทางสถานีวิทยุ EasyFM 105.5 ได้จัดรายการแจกรางวัลสำหรับผู้ส่ง sms เบอร์มือถือตัวเองเข้าลุ้นรางวัล 3,000 บาท ทุกๆ ชั่วโมง โดยจับหมายเลขสุดท้ายของเบอร์โทรมือถือ เป็น Lucky Number ของแต่ละชั่วโมง“หลังจากได้รางวัล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะติดต่อมาเพื่อขอให้แฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนเพื่อเตรียมออก เช็ค/หรือบัตรกำนัลให้ โดยแจ้งว่าจะได้รับประมาณปลายเดือนเมษายน หลังจบรายการโปรโมชั่นดังกล่าวแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับจากทางรายการแต่อย่างใด เมื่อลองเข้าไปในเว็บบอร์ด ของอีซี่เอฟเอ็ม ก็พบกระทู้ทวงถามของผู้ร่วมสนุกโดยไม่มีคำตอบจากผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด”คุณสุเทพได้แนบลิ้งค์กระทู้ ที่มีแฟนคลับคลื่นวิทยุดังกล่าวเขียนเข้าไปติดตามทวงถามของรางวัลกันหลายราย“ตัวผมเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนุก ในการส่ง sms ไปลุ้นรางวัลกับเขาด้วยและได้รางวัลเมื่อ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งเอกสารให้ทางรายการตามเงื่อนไขแล้ว ก็เงียบไปเช่นกัน ดังนั้นเมือต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังอาคารมาลีนนท์ ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเช็คยังไม่ออก ถ้าออกแล้วจะโทรกลับ จนป่านนี้(1 มิ.ย.) ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด ครั้นโทรเข้าไปถาม สายก็ไม่ว่างตลอด อย่างนี้เข้าข่ายหลอกลวงไหมครับ เพราะการส่ง sms ก็ไม่ใช่จะฟรี charge ตั้ง 6 บาทต่อครั้ง จึงอยากให้มูลนิธิช่วยติดต่อสอบถามให้ทีครับ”อีกรายคือคุณภิญรดา เขียนเข้ามาในเว็บบอร์ดร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “เหมือนกันเลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ คนละเกมส์กันค่ะ เล่นเกมเมื่อเดือนที่แล้ว Easy Big Holiday ค่ะ ได้รางวัลเป็นที่พักที่เกาะเสม็ด “ติดต่อมาครั้งเดียวตอนให้ออกอากาศอ่ะค่ะ จากนั้นก็ไม่มีไรตามมา..” แนวทางแก้ไขปัญหา จากข้อร้องเรียนของทั้งสองท่าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรติดต่อตามเรื่องไปที่บริษัท บีอีซีเทโร เรดิโอ จำกัด ในฐานะผู้ดูแลคลื่นวิทยุ Easy FM 105.5 รายแรกคุณสุเทพร้องมาที่มูลนิธิฯเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หลังจากที่ได้ติดต่อไปทางบีอีซีจึงได้จ่ายเช็คมูลค่า 3,000 บาท ให้กับคุณสุเทพภายในเดือนเดียวกันจากที่ได้เล่นเกมและบอกว่าจะได้รับรางวัลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 สำหรับรายคุณภิญรดา ทางบีอีซีมีคำชี้แจงกลับมาว่า คุณภิญรดา ได้ร่วมกิจกรรมในวันที่ 28มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 12.00 น. และได้เป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเป็นที่พักอ่าวพร้าว รีสอร์ท เกาะเสม็ดจริง เป็นรางวัลบัตรกำนัลห้องพักประเภท Deluxe Cottage Seaview 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน มูลค่ากว่า 10,500 บาท ซึ่งเมื่อจบกิจกรรมทางรายการได้โทรแจ้งไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งจากภิญรดาให้มารับของรางวัลถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีผู้รับสาย “ในกรณนี้ทางเรายินดีจะจบปัญหานี้ โดยยินดีให้สิทธิคุณภิญรดาสามารถรับของรางวัลได้ แต่เนื่องจากบัตรกำนัลที่พักอ่าวพร้าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ทางเราเกรงว่าคุณภิญรดาจะเข้าพักไม่ทัน จึงขออนุญาตเปลี่ยนของรางวัลเป็นที่พักที่ปานวิมานเกาะช้าง (2 วัน 1 คืน) มูลค่า 10,500 บาทแทน แต่ว่าทางเราต้องมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ของมูลค่าของรางวัลจำนวนเงิน 525 บาท...” เมื่อได้รับเงื่อนไขจากทางบริษัทบีอีซีแล้ว มูลนิธิจึงได้แจ้งให้คุณภิญรดาตัดสินใจอีกครั้งถือว่าเป็นการจบลงด้วยดี โชคดีได้ลี้ภัยน้ำท่วมกับทะเลสวยๆ แล้วอย่าลืมมาช่วยเหลือคนติดน้ำท่วมด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ใครกันแน่ที่เป็นคนผิดสัญญา

ปัญหาเรื่องว่าจ้างสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองหรือที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร สิ่งที่ผู้บริโภคมักโดนกันบ่อยๆ คือ การถูกกล่าวหาจากบริษัทรับจ้างสร้างบ้านว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกริบเงินจองเงินมัดจำไป แต่ขอบอก...ปัญหาแบบนี้มีทางแก้ง่ายมาก ไม่อ่านเรื่องนี้เสียใจแน่ คุณอิศราได้ทำสัญญาจองสร้างบ้านกับบริษัทเพอร์เฟค บิลเดอร์ 2001 จำกัด โดยเซลล์ให้ข้อเสนอพิเศษเป็นส่วนลด 3% จากราคาบ้านตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้าน แถมเดินท่อ PE และมีบริการกำจัดปลวกรับประกัน 3 ปี โดยต้องวางเงินจอง 50,000 บาทในวันทำสัญญา พร้อมกับชักชวนเพื่อนไปจองเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจองเซลล์ได้นำแบบบ้านคร่าวๆ มาให้ดู แต่จะต้องมีการเลือกแบบแปลนบ้านโดยละเอียดกันอีกครั้งคุณอิศราก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาที่มีมากมายหลายหน้า แถมตัวหนังสือก็เล็กเสียจนมดตัวน้อยๆ ยังเดินแทรกไม่ได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมีกับดักกินเงินจอง 50,000 บาทวางไว้อยู่ระหว่างที่ดูแบบแปลนบ้านอยู่นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควร จนผ่านไป 2 เดือน คุณอิศราก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯให้เข้าไปพูดคุยกัน โดยแจ้งว่าเซลล์ได้ลาออกแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลด 3% ได้ เนื่องจากคุณอิศราผิดสัญญาการจองสร้างบ้าน งง...บอกได้คำเดียวว่า งง นี่ฉันผิดสัญญาได้ไง บริษัทฯ จึงงัดข้อความในสัญญาขึ้นมาอ่านให้ฟังว่า “ผู้จองต้องทำการสรุปแบบและเข้าทำสัญญาจ้างกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันจอง” กับอีกข้อบอกว่า“หากผู้จองได้วางเงินจองแล้ว แต่ไม่มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาก่อสร้างบ้านกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน ผู้จองทราบดีว่า จะได้รับเพียงเอกสาร(ประกอบการขอจอง)จากทางบริษัทฯ เท่านั้น” สรุปง่ายๆ คือ สัญญาบังคับให้ผู้จองต้องรีบสรุปแบบและเข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไปก็จะได้รับแต่เอกสารกลับบ้าน ส่วนเงินจอง 50,000 บาทโครงการขอริบเข้ากระเป๋า “สัญญาแบบนี้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แบบแปลนบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะให้เข้าไปเซ็นสัญญาได้ไง” คุณอิศราโวย หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง ซึ่งบริษัทฯ ตกลงที่จะคืนเงินจองให้ แต่แจ้งว่าต้องมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเนื่องจากการทำงานและค่าภาษี เหลือเงินที่ต้องคืน 41,728 บาท และได้ออกเช็คให้ คุณอิศราใจเด็ด บอกไม่รับเงื่อนไขการคืนเงินแบบนี้ ต้องการให้บริษัทฯ คืนเต็มจำนวน 50,000 บาทเท่านั้น เพราะเพื่อนทั้งสองคนที่บอกเลิกสัญญาเหมือนกันก็ได้รับคืนเงินเต็มจำนวน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทฯ จึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะตนเท่านั้นเมื่อคุยตกลงกันไม่ได้คุณอิศราจึงนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา หัวใจของการแก้ปัญหาลักษณะนี้อยู่ที่การชิงทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบนิดๆเมื่อผู้บริโภคมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปแล้ว และบริษัทยอมคืนเงินให้แต่ขอกั๊กไว้ส่วนหนึ่งอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าภาษีกับค่าจ้างเหมา มูลนิธิฯ ก็อยากจะรู้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เฟค บิวเดอร์ฯ เชิญร่วมประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทฯ มีค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะได้ช่วยคุยให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ แต่ความปรารถนาดีของมูลนิธิฯ ถูกบริษัทฯ ตอบปฏิเสธ โดยแจ้งถึงเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ และกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่เร่งไม่รีบดูแบบแปลนบ้านให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อผู้บริโภคไปหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ จนเวลาล่วงมาได้ 2-3 เดือนถึงสามารถติดต่อได้ บริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำได้เต็มสิทธิของกฎหมาย คำตอบแข็งทื่อมาแบบนี้ มูลนิธิฯ ก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหนักเพื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคทันที แต่ในระหว่างนั้นก็พยายามเจรจากับบริษัทฯ บอกว่าเหตุที่ล่าช้าไม่ได้เป็นเพราะความบกพร่องของผู้บริโภค แต่เป็นเพราะความล่าช้าของบริษัทเองที่ไม่แก้แบบแปลนบ้านให้สมบูรณ์เรียบร้อยทันเวลาให้บริษัทตรวจสอบและกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง ส่วนคุณอิศรา เธอก็สุดยอดมาก เธอรู้จักกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงขอให้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ นี้มีการเสียภาษีเงินจองบ้านกันหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และกรรมการผู้จัดการได้ถูกสรรพากรเรียกเข้าไปพูดคุยแล้ว เมื่อโดนบีบหลายทางเข้า และคงได้คิดว่าจะหวงทำไมกับเงินแค่ 8,000 กว่าบาท แล้วจะพาให้เสียหายไปมากขึ้น ท้ายสุดจึงยอมคายเงินจองให้ผู้บริโภคครบทั้ง 5 หมื่นบาท “ตลอดเวลาที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างดิฉันกับบริษัทฯ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันจึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูงในความอนุเคราะห์ครั้งนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกท่านประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ และขอให้มูลนิธิเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดไป” เมื่อได้อ่านคำอวยพรนี้กันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ในส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่างพากันก้มกราบรับพรด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่าสักวัน(บางคนขอเน้นวันที่ 1 กับวันที่ 16)  ขอให้สมปรารถนากับเขาบ้างสักครั้ง สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถตู้โฟตอนเอ็นจีวี ถูกร้องคุณภาพห่วย

สมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย แห่ร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถตู้โฟตอนเอ็นจีวีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ที่มาของปัญหาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551เมื่อบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อโฟตอนจากประเทศจีน ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ขายรถตู้โฟตอนเอ็นจีวีผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  ในราคาคันละ 1,365,000 บาทโดยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า จะมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัย ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้นรับประกันความมั่นใจขนาดนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จึงไม่รีรอรีบเข้าทำสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีน(ของแท้) ในคราวเดียวทั้งสิ้นกว่า 70 ราย หลังการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โฟตอนแล้วนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ต้องพบปัญหามากมายหลายหลากกับรถตู้นำเข้าจากจีนรุ่นนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ บางคันขณะขับรับส่งผู้โดยสารอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับกะทันหัน บางทีก็เร่งไม่ขึ้นเครื่องไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องของตัวถังที่มาจากการประกอบที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ขับรถรับส่งผู้โดยสารช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบริการ ซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯ ได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงรถตู้ที่เช่าซื้อมา ต้องขับไปซ่อมไป บางคันก็ซ่อมไม่ไหวเพราะไม่มีอะไหล่ ทำให้ผู้ร้องเรียนแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องเรียนได้พยายามติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้เช่าซื้อกว่า 30 รายเมื่อไม่มีรายได้เลยตัดสินใจหยุดผ่อนค่างวด ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่เช่าซื้อรถมาแล้วรถเกิดปัญหาแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทุกฉบับในเมืองไทยเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายละเอียดมีอยู่ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้สัญญาควบคุมระบุว่า ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อสัญญาที่ควบคุมเป็นดังนี้ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อรถประสบปัญหาคุณภาพรถไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่เช่าซื้อจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเมืองไทยต้องรับผิดชอบแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนรถใหม่ให้ หรือรับซื้อคืนไป แต่ถ้าผู้ขายเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อรถต้องรีบตัดวงจรปัญหาทันทีด้วยการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ผู้เช่าซื้อไป ซึ่งกรณีนี้ได้มีการทำประกันกันไว้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รถคืนไปแล้วจึงจะนำไปรถไปประมูลขายในตลาด ถ้าหากขายได้แต่มีส่วนต่างอยู่บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งจากเงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาฟ้องแทนผู้บริโภคแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 พลังงานไฟฟ้าผลิตมาเพื่อความสุขของใคร

 พอดีผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเวทีเสวนากับ อ.เดชรัตน์  สุขกำเนิด  อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ในหัวข้อเรื่อง พลังงานในประเทศไทย  มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง แต่มีข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือการเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า  ระหว่างธุรกิจและประชาชนในหลายจังหวัดข้อมูลการใช้ไฟฟ้าปี 2549 ของ 3  ห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ  เช่น ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ใช้ไฟฟ้า 123  ล้านหน่วย  ห้างสรรพสินค้ามาบุญครองใช้ไฟฟ้า 81  ล้านหน่วย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ใช้ไฟฟ้า 75 ล้านหน่วย  รวม 3 ห้างใช้ไฟฟ้าไป 278 ล้านหน่วย(ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงปี 2549) หากเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าของคนต่างจังหวัด เช่น  จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดใน 1 ปี ใช้ไฟฟ้าเพียง 65 ล้านหน่วย จังหวัดมุกดาหาร 128 ล้านหน่วย  จังหวัดหนองบัวลำพูใช้ไฟฟ้า 148 ล้านหน่วย  จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดระนองใช้ไฟฟ้าเท่ากันคือปีละ 278 ล้านหน่วย (ข้อมูลจาก พพ.รายงานการใช้ไฟฟ้าประจำปี 2549)เห็นข้อมูลเหล่านี้แล้วผู้เขียนตกใจมาก  เพราะสามารถชี้ให้เห็นการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม  ภาคธุรกิจใช้ไฟฟ้ามากมาย  โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ไม่ต้องรับผลกระทบอะไรเลย  แต่คนที่รับภาระกลับเป็นพี่น้องเราในหลายจังหวัดที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว 8  โรง มีกำลังการผลิต 5,800  เมกะวัตต์  จังหวัดราชบุรีใช้เพียง 400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภาคครัวเรือน 100  ภาคอุตสาหกรรม 300    ที่หน้าตกใจคือยังมีนโยบายจะก่อสร้างอีกหลายโรงในราชบุรี(น่าจะตั้งชื่อว่าจังหวัดไฟฟ้ามหานครแทนราชบุรีนะเนี่ย...)คนราชบุรีถามผู้เขียนว่า เขาผิดอะไรทำไมเขาต้องมารับกรรม เรื่องมลภาวะด้านสุขภาพและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม   ในขณะที่คนเมืองใช้ไฟฟ้ามาก ทำไมไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ  แต่พอพวกเขารวมตัวกันเรียกร้องสิทธิกับถูกภาครัฐมองว่าเป็นพวกถ่วงความเจริญ  ทั้งที่ความเจริญที่ว่านั้นเป็นพิษภัยต่อพื้นที่ ที่ไม่ว่าโรงไฟฟ้านั้นจะใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินหรือก๊าซ หลายพื้นแค่เขารวมตัวกันคัดค้านด้วยเป้าหมายแค่ขอให้เขาได้อยู่อย่างที่เขาเคยอยู่ ไม่ได้เรียกร้องอะไรจากรัฐเพิ่มเลย  สิ่งที่ตอบแทนบางพื้นที่คือต้องมีคนเสียชีวิต เช่น คุณเจริญ  วัดอักษร  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เสียชีวิตจากการคัดค้านโรงไฟฟ้า  คุณทองนาก จังหวัดสมุทรสาคร คัดค้านการขนถ่ายถ่านหินที่เขียนเรื่องนี้ผู้เขียนแค่อยากจะบอกว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ มีอีกหลายเรื่องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ทั้งเอกชน/รัฐ)เช่น แผน PDP 2011 ของกฟผ. ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ 3 โรง และโรงไฟฟ้า ถ่านหินและก๊าซอีก 9 โรงใน 10 ปี  ซึ่ง อ.เดชรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่าหากมีการบริหารจัดการเรื่องการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดการผลิตไฟฟ้าได้ 10,000  เมกะวัตต์ นั้นก็คือสามารยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 3 โรง และโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซอีก 9 โรง ภายใน10 ปีสรุปคือหากมีการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ดี อีก 10 ปีประเทศไทยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเลย  นี่เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงระหว่าง กฟผ.กับนักวิชาการ   ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้  เพราะไม่มีหน่วยงานใดมาเป็นเจ้าภาพในการหาข้อสรุปในปัญหาเหล่านี้  ทั้งที่เรามี กกพ.(สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน) ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่ยังแบะๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เลย   ผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่รู้จะพึ่งใครดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 อยากเห็นจิตสำนึกดารากับการโฆษณาหลอกลวง

 จากข่าวครึกโครมเรื่องคุณค่าทางอาหารของรังนก ที่เราๆ ท่านๆ เชื่อกันมาตลอดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ให้กลับมามีพลังกระชุ่มกระชวยได้เร็วขึ้น ทำให้รังนกเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและราคาแพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักซื้อให้กับคนที่เรารักหรือเป็นของเยี่ยมผู้ป่วย  แต่ผู้เขียนมารู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปรียบคุณค่าโปรตีนของรังนกกับถั่วลิสง ที่น่าตกใจคือเรากินรังนก 1 ขวด 100 กว่าบาท  เราจะได้รับโปรตีนเท่ากับเรากินถั่ว 2 เมล็ด และที่น่าตกใจไปกว่าคือ ไข่ไก่ 1 ฟอง 4-5 บาท มีคุณค่าอาหารเท่ากับเราต้องกินรังนก 24 ขวด 3 พันกว่าบาท(พุทโธธัมโมสังโฆ)นี่ยังไม่รวมที่มีการโฆษณารังนก 100% แต่จริงๆ 1 ขวดมีรังนกเพียง 1 % เศษเท่านั้น   สังคมไทยของเราเป็นอะไรกันทำไมถึงปล่อยให้มีเรื่องหลอกลวงได้ยาวนานถึงเพียงนี้  ทั้งที่เรื่องนี้มีหน่วยงานเฉพาะดูแลอยู่ และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือพอเปิดทีวีดูก็จะเห็นดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสรรพคุณอันเลอเลิศของรังนกอยู่เลย แค่นั้นยังไม่พอยังเอาความรักระหว่างแม่-ลูกมาโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าอีก  คือหากรักแม่ต้องให้แม่กินรังนก  ตอนยังไม่รู้ข้อมูลก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอรู้ข้อมูลแล้วจึงมีความรู้สึกด้านอื่นเข้ามา  คือ พรีเซ็นเตอร์ที่โฆษณาสินค้านั้นๆส่วนใหญ่เป็นดาราและนักร้อง ซึ่งได้รับความรักและศรัทธาจากประชาชน แต่เพียงเพื่อรายได้ของตนเองที่ได้รับจากรับจ้างโฆษณา มองแค่รายได้สูงสุด ไม่มองถึงคุณภาพของสินค้า  ก็เท่ากับเอาความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้มาใช้เป็นเครื่องมือหากิน  โดยไม่คำนึงถึงว่าการโฆษณานั้นหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้บริโภคควรช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องจิตสำนึกของเหล่าดารานักร้อง   ให้คำนึงว่าคุณกำลังร่วมมือกับผู้ประกอบการหลอกลวงประชาชนที่เขารักและสนับสนุนพวกคุณอยู่หรือไม่  อย่าเห็นแค่เพียงรายได้ของพวกคุณฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 การบินไทยช่วยผู้โดยสารหลีกภัยนิวเคลียร์?

ยอมเปลี่ยนวันและเส้นทางบิน ปลอดค่าธรรมเนียมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบทั้งเกาะแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับสองแม่ลูกที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นอีกด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่ดูเล็กๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บการตายและบ้านที่พังถล่มทลายของชาวเมืองซากุระ แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ทุกเรื่องที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกัน คุณไปรยา(นามสมมติ) เป็นสมาชิกสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัส ของสายการบินไทย อุตส่าห์ดีใจได้แลกรางวัลไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพร้อมคุณแม่ โดยมีกำหนดเดินทางไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และกลับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ด้วยอากาศที่หนาว กับภาพหิมะที่ปลิวในสายลม เป็นช่วงการเดินทางที่ทำให้คนในเมืองไทยต้องอิจฉาแต่พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดไปหลายเตา ภาพปุยหิมะขาวๆ ละลายเป็นน้ำไปทันที นั่ง นอน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีแต่ข่าวไม่ดี การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า นึกเห็นแต่ภาพเหยื่อกัมมันตภาพรังสีที่น่าขนพองสยองขวัญ“ไม่เอาแล้วโตเกียวเราเปลี่ยนเป้าหมายไปกรุงโซล เกาหลีใต้ ดีกว่า โซนเดียวกัน หนาวเหมือนกัน” เธอบอกกับแม่ คุณไปรยา จึงแจ้งกับการบินไทยเพื่อจะขอเปลี่ยนการเดินทางไปกรุงโซลแทนในวันที่ 2 ธันวาคม และกลับในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 การบินไทยบอกเปลี่ยนได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตกราว  1,200 บาทคุณไปรยาจึงถามกลับไปว่าทำไมต้องคิดค่าธรรมเนียมด้วย ใจน่ะอยากไปญี่ปุ่นแต่กลัววิกฤตินิวเคลียร์จะมาทำร้ายสุขภาพร่างกายของฉันกับแม่ฉันน่ะ เข้าใจไหม และการเดินทางก็อยู่ในโซนเดียวกันทำไมต้องมาคิดค่าธรรมเนียมกันด้วย และถ้าจะรอให้การบินไทยมีนโยบายอนุญาตให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็มักจะประกาศในช่วงเวลาใกล้ๆ การเดินทาง ถึงตอนนั้นก็อาจหาตั๋วไม่ได้แล้ว และต้องเสียสิทธิสะสมไมล์ในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งขอไม่ให้เก็บเพราะเป็นเหตุการณ์พิเศษ การบินไทยน่าจะเห็นใจลูกค้า แต่การบินไทยแจ้งว่าต้องเก็บเพราะเป็นระเบียบ คุยกันไม่จบ...เรื่องจึงมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีจดหมายแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้โดยสาร ต่อมาวันที่ 23  สิงหาคม 2554 คุณอมรา  ลีสวรรค์ ผู้จัดการกองบริการสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสของสายการบินไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมา แจ้งว่า ทางการบินไทยได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางและเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินเป็นกรุงเทพฯ – โซล – กรุงเทพฯ ตามที่ผู้โดยสารประสงค์ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคืนไมล์ 3,750 บาท ต่อ 1 ฉบับ และทำบัตรโดยสารใหม่ในเส้นทางใหม่ และการเปลี่ยนวันเดินทางต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อการเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนเส้นทางจะต้องทำการออกบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอัตรานี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะขึ้นอยู่กับราคาภาษีน้ำมันและวันที่ออกบัตรโดยสารใหม่ (โดยประมาณ 2,130 บาทต่อฉบับ) ซึ่งในส่วนนี้ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ว่าคลี่คลายไปมากคุณไปรยาจึงเปลี่ยนใจขอไปโตเกียวเหมือนเดิม มูลนิธิฯ ขอขอบคุณการบินไทยที่ใส่ใจสิทธิของลูกค้าเป็นอย่างดี ขอให้คุณไปรยาและคุณแม่เดินทางโดยปลอดภัยและไม่เอานิวเคลียร์มาเป็นของฝากกันนะขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >