ฉบับที่่ 136 รองเท้าแตะคู่ 3 พัน ใช้ไม่กี่วันเจ๊ง

“ดิฉันได้ไปซื้อรองเท้า FITFLOP ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554” คุณเสาวรินทร์เริ่มเรื่องเธอบอกว่ารองเท้าคู่นี้ ราคา 3,290 บาท เป็นรองเท้าแตะ...“บ๊ะ!” เจ้าหน้าที่รับเรื่องของมูลนิธิฯ ร้อง รองเท้าแตะอะไรจะแพงขนาดนั้นเปิดดูภาพรองเท้าที่คุณเสาวรินทร์ส่งมาให้ ก็เห็นเป็นรองเท้าแตะหูหนีบ พื้นหนาหน่อย สไตล์โฉบเฉี่ยวเพรียวเท้าถูกใจสาวรุ่น คิดในใจก็ว่าราคายังไม่น่าถึงสามพัน ดูที่สายรองเท้าเห็นลวดลายมองได้เป็นทั้งหนังงูหรือไม่ก็หนังตัวเงินตัวทอง ดูใกล้เคียงกัน ไม่แน่ใจ“คงจะสายรองเท้ามั๊ง ที่ทำให้สมราคาสามพัน” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนคิดในใจคุณเสาวรินทร์เล่าปัญหาของเธอต่อไปว่า รู้ว่าเป็นรองเท้าราคาแพง พอซื้อมาก็สวมใส่ใช้งานอย่างทะนุถนอม ถามว่าทะนุถนอมยังไงเธอบอกว่า ใช้ใส่เดินในห้างเดินในตึกอย่างเดียว ไม่เคยเอามาใส่เดินบนถนน บนฟุตบาทให้แปดเปื้อนศักดิ์ศรีรองเท้าจากพารากอนเลยสักครั้ง เพราะเดี๋ยวเกิดไปสะดุดปุ่ม สะดุดตออะไรเข้าจะเกิดรอยฉีกรอยขาดเสียหายได้  เวลาเก็บก็เช็ดวางเข้าชั้นวางรองเท้าอย่างดี เรียกว่าแทบจะอัญเชิญเข้าหิ้งก็ไม่ปานอุตส่าห์ทะนุถนอมถึงขนาดนั้น ปรากฏว่าใส่ขึ้นห้างได้แค่ 6 วัน สายหนีบรองเท้าข้างหนึ่งก็ฉีกขาดเสียแล้ว จะปลอบใจตัวเองว่ายังเหลืออีกข้างราคาพันห้าทนใส่ข้างเดียวมันก็ยังไงๆ อยู่ จึงเอาใบเสร็จขึ้นมาดู ปรากฏข้อความเด่นหราว่า“รับประกันสินค้าภายใน 14 วัน” อ่านแล้วเหมือนได้รับข้อความจากสวรรค์ รีบโทรติดต่อไปที่บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงินว่าเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายและนำเข้ารองเท้า ได้รับคำตอบว่า รองเท้ายังอยู่ในเงื่อนไขระยะเวลารับประกันขอให้ส่งใบเสร็จและนำรองเท้าส่งไปที่ร้านคุณเสาวรินทร์จึงได้ส่งรองเท้าและใบเสร็จไปและรอการติดต่อกลับมาเป็นเวลา 20 วัน แต่ต้องผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับเป็นอย่างมาก“ดิฉันได้รับคำตอบว่า การฉีกขาดของหูรองเท้าไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของตัวสินค้า แต่เกิดจากการสวมใส่ จึงไม่สามารถรับผิดชอบ หรือซ่อม หรือเปลี่ยนรองเท้าให้ได้แต่อย่างใด”“ด้วยการสวมใส่ของดิฉันไม่ได้สะดุด หรือมีการกัดของสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด ดิฉันมั่นใจว่า รองเท้าของดิฉันมีปัญหาจากโรงงานเนื่องจากการผลิต อยากทราบว่า ถ้าทางบริษัทฯ รับประกันสินค้า และสินค้าเกิดความชำรุดภายในระยะเวลากำหนด และทางบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันสามารถดำเนินการใดๆ ได้บ้างคะ” คุณเสาวรินทร์ร้องถามความเป็นธรรมให้เท้าของตนเอง แนวทางแก้ไขปัญหาขอว่าด้วยเรื่องหลักกฎหมายเป็นความรู้กันก่อนในความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ในมาตรา 472 ว่า กรณีสินค้าที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่จะใช้ได้เป็นปกติก็ดี หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิด ไม่ว่าในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่กรณีที่ผู้ขายสินค้าไม่ต้องรับผิดก็มีเช่นกัน กล่าวในมาตรา 473 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ(1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อน(3) ถ้าทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดทั้งนี้ ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พพ. มาตรา 474)สำหรับกรณีจึงสรุปได้ว่า เมื่อผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการใช้ของผู้บริโภค ก็คงต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้น แม้จะมีเงื่อนไขว่ารับคืนหรือเปลี่ยนสินค้าภายใน 14 วัน แต่ในหลักกฎหมายก็ยังให้สิทธิในการฟ้องร้องในอายุความ 1ปี แต่นี่คือหลักกฎหมายเพราะในชีวิตมีเพียงน้อยรายที่จะยอมเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อแลกกับค่าเสียหายระดับหลักพันบาทเช่นนี้ดังนั้น การเจรจาไกล่เกลี่ยจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนสินค้าชำรุดบกพร่องถึงบริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และยังส่งหนังสือร้องเรียนอีกฉบับไปที่บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของพื้นที่ขายสินค้า เพื่อให้ช่วยกดดันลูกค้าของตนเองให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการของห้างผลปรากฏว่า บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) ยอมเยียวยาความเสียหายให้กับคุณเสาวรินทร์เป็น Gift Voucher มูลค่า 3,500 บาท มากกว่ามูลค่าราคารองเท้าที่เสียหายเล็กน้อย (รองเท้าซื้อราคา 3,290 บาท) คุณเสาวรินทร์บอกแค่นี้ก็พอใจมากแล้ว เพราะไม่คาดว่าจะเรียกร้องกับบริษัทได้ หลังจากนั้นจึงนำ Gift Voucher ไปแลกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า

ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ“ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน”“พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้วผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาทปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม

บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี“คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทักตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ”เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ“รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก“ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกันระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ“พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ”“คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย”“ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ”“เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู“นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผลคุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดูเซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต“โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน”“ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืนเซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้“หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!”“คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน“ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป“โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่”“ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม“อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร”คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก“ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ“เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ”“เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม“พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง“พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้”“เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาทการแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเราตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกันหลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด“ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ”“ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต”เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกันดาวโหลดจดหมายตัวอย่างยกเลิกสัญญา <<< คลิก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 ลูกค้าโนเกียโวย ศูนย์ซ่อมไม่เก็บข้อมูลในเครื่องให้

คุณเบญญภา สาวใหญ่เมืองลำพูนเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ไปที่ศูนย์โนเกียแคร์ ซื้อโทรศัพท์มือถือโนเกีย C3 ในราคา 3,900 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554ใช้ได้ประมาณ 4 อาทิตย์ อาการออกอ่าว โทรหาเพื่อนหาลูกค้า โทรติดแต่คนที่รับสาย เอาแต่พูดว่า “มีหยัง...บ่ได้ยิน” “อู้หยังบ่ฮู้เรื่องเลย”  “ฮู้...โทรมายะหยัง โทรแล้วบ่ยอมอู้” “ว่างก๊ะ ถึงโทรมาเล่นกัน”คุณเบญญภา พยายามตะโกนใส่โทรศัพท์เท่าไร คู่สายฝั่งตรงข้ามก็ยังไม่ได้ยิน สุดท้ายเหมือนคนที่ถูกสังคมหยามเหยียดโทรหาใครก็ถูกวางสายหมด เสียค่าโทรฟรีๆ ไปหลายบาท จึงตัดสินใจนำโทรศัพท์มือถือออกใหม่ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ เชียงใหม่ ตามสัญญารับประกัน“ดิฉันได้แจ้งอาการเสียของมือถือที่โทรออกแต่คู่สายไม่ได้ยินให้กับพนักงานศูนย์ฯ ทราบ ก่อนส่งซ่อมพนักงานได้สอบถามว่า ในเครื่องมีข้อมูลสำคัญหรือไม่ ดิฉันได้ระบุชัดเจนว่า เป็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าประมาณ 400 เลขหมาย เพราะดิฉันเพิ่งเปลี่ยนเครื่องยังไม่ได้เก็บข้อมูลสำรองไว้ พนักงานจึงระบุในใบส่งซ่อมว่าไม่อนุญาตให้ข้อมูลหาย พนักงานแจ้งว่า โทรศัพท์มือถือมีอาการไมโครโฟนเสียจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 วัน และส่งสำเนาใบส่งซ่อมให้ดิฉันเก็บไว้แสดงในวันที่มารับสินค้าคืน”หลังจากส่งมือถือไปซ่อมที่ศูนย์ฯ ได้ 3 วัน กะว่าศูนย์ฯ น่าจะมือถือเสร็จแล้ว คุณเบญญภา จึงเดินทางไปรับเครื่องคืนที่ศูนย์โนเกีย ถนนมหิดล จ.เชียงใหม่ ได้พบกับพนักงานคนเดิมที่เป็นคนรับเครื่องไปส่งซ่อม“เอ้อ เครื่องยังไม่ได้ซ่อมเลยค่ะ รออะไหล่อยู่ คาดว่าน่าจะซักสามวันอะไหล่ถึงจะมา” พนักงานให้คำตอบที่น่าผิดหวัง “อ้าว แล้วทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกล่ะ เบอร์ที่ติดต่อก็ให้ไว้แล้ว น่าจะโทรไปบอกกันนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเสียค่ารถมา” คุณเบญญภากล่าวด้วยความฉุนเฉียว“คือที่ไม่ได้โทรไปแจ้งให้ทราบ เนื่องจากว่ายังไม่มีอะไหล่เนื่องจากโรงงานน้ำท่วมค่ะ” พนักงานศูนย์ฯ พยายามชี้แจง คุณเบญญภาฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ ที่น้ำท่วมเป็นทางออกของทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรมาก พอได้รับคำยืนยันว่าอีกสามวันน่าจะได้อะไหล่มาแล้วจะโทรไปแจ้งบอกแน่ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว คุณเบญญภาจึงเดินทางกลับหลังจากนั้นอีกสามวัน หรือเป็นวันที่เจ็ดหลังจากส่งเครื่องซ่อม พนักงานของศูนย์ฯ คนเดิมได้โทรแจ้งคุณเบญญภาว่าซ่อมไมโครโฟนของเครื่องมือถือเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มารับเครื่องได้ แต่ข่าวร้ายที่ได้รับคือ ข้อมูลในเครื่องทั้งหมดหายไป“เหมือนกับว่าที่ดิฉันกำชับเรื่องนี้ไปเป็นเรื่องตลก และให้ดิฉันจำยอมไปรับของที่ไม่เหมือนเดิมคืนมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”“ดิฉันผิดหวังในการบริการมาก และพยายามเจรจากับทางพนักงานฝ่ายซ่อมของศูนย์ฯ ว่า ข้อมูลนั้นสำคัญมากพยายามกู้คืนมาให้ได้ และควรที่จะคืนเครื่องให้ดิฉันในสภาพที่สมบูรณ์” คุณเบญญภาเรียกร้อง แนวทางแก้ไขปัญหาคุณเบญญภา ได้ประเมินค่าความเสียหายของตนเองที่ต้องสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการติดต่อไปมาหลังการซ่อมมือถือเป็นเงิน 8,000 บาท และได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่ ส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ จ.เชียงใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 4 มกราคม 2555 อีกสองวันต่อมาเราจึงโทรติดต่อไปที่ศูนย์โนเกียร์แคร์เชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงจากผู้จัดการศูนย์ฯ ว่า ได้ชี้แจงกับลูกค้าแล้วว่า การพยายามกู้ข้อมูลคืนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ คุณเบญญภา จึงเสนอกับศูนย์ฯ ว่า หากกู้ข้อมูลไม่ได้ก็ให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนตัวเครื่องให้ใหม่ เป็นเครื่องรุ่นเดิม และต้องการภายในวันนั้น ซึ่งศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ต้องรอประมาณ 12 วัน อยากให้มูลนิธิฯช่วยเป็นคนกลางเจรจากับผู้ร้องเรียนด้วยหลังได้รับคำชี้แจงเราจึงโทรกลับไปหาคุณเบญญภาในวันเดียวกัน เพื่อขอคำยืนยันว่าต้องการให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ใช่หรือไม่ คุณเบญญภาแจ้งยืนยันว่าเป็นไปตามที่ศูนย์ฯ ได้ชี้แจงมา คือให้เปลี่ยนเครื่องใหม่แต่รุ่นเดิม และต้องเป็นสีดำ สีอื่นไม่เอา เมื่อได้รับคำยืนยันเราจึงติดต่อกลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีรับชดใช้ให้ตามคำขอของผู้ร้อง แต่ขอเวลาในการตั้งเรื่องเบิกงบจัดซื้อเครื่องใหม่ให้กับผู้ร้องประมาณสองอาทิตย์“เมื่อวานนี้ ได้รับ C3 เครื่องใหม่มาแล้วเป็นสีดำ ตอนแรกโทรศัพท์ใหม่นี้โทรออกไม่ได้ และโทรเข้าไม่ได้ เนื่องจากไม่มีสัญญาณ แต่ทางโนเกียได้แก้ไขให้อยู่ค่ะ โดยปรับปรุงซอฟแวร์ให้ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ใช้ได้ตามปกติเป็นเครื่องใหม่จริง ชดเชยให้ที่ซ่อมเครื่องเก่าสีชมพูที่ได้รับความเสียหาย ขอบพระคุณที่ทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีภายในเวลา 20 วัน”เป็นเมล์จากคุณเบญญภาที่เราได้รับด้วยความชื่นใจ และขอขอบคุณบริษัทโนเกียร์แคร์ สาขาเชียงใหม่ ที่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ

คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป“วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้”“ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด”สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอกสถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว“หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ”“เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติกสามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง”คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลังคุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!”“ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้งหลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วยทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาทคุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไปสาธุ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ทำงานเป็นทีม “กินรวบพลังงานไฟฟ้า”

บรรยากาศที่แสนร้อนของปีนี้ ผ่อนคลายลงได้ เมื่อหลายคนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน และได้สัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำที่สาดใส่กัน ณ เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา   ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของความสุขสนุกสนาน ซึ่งหลายคนอยากเก็บช่วงเวลานั้นไว้นานๆ   แต่เมื่อเทศกาลจบลง  ชีวิตก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง   ณ ช่วงเวลาที่แสนร้อนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ไฟฟ้า และการขึ้นราคาค่า Ft นั่นเองหากย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ก็จะได้เห็นข่าว ผู้บริหารกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าว  เรื่องการใช้ไฟฟ้า ว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากทำลายสถิติของปีที่ผ่านถึง 2  ครั้ง ในเดือนมีนาคม  และก็มีข่าวมาจาก กฟผ. ออกมาว่าไฟฟ้าอาจจะไม่พอใช้  เพราะมีโรงไฟฟ้าหลายโรงปิดซ่อมบำรุง ในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน   จากนั้นก็มีการออกมาให้ข่าวเพิ่มเติมว่า  เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอาจขาดแคลนเพราะ พม่าจะปิดหลุมก๊าซ เพื่อซ่อมบำรุงช่วงนี้เช่นกัน  คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.)ก็ออกมารับลูกทันที โดยให้ข่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาจต้องทบทวนการขึ้นราคาค่า Ft  โอ้โห...เห็นไหมว่าสถานการณ์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ มันช่างน่ากลัวจริงๆ   กลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เกือบจะตกเป็นจำเลยสังคมกันไปตามๆ กันนั่นเป็นข้อมูลที่ฝ่ายพลังงานออกมาให้ข่าวฝ่ายเดียวผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำแผน  PDP 2010  ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ จัดขึ้น โดยมีการเชิญ รมต.ว่าการกระทรวงพลังงาน  ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกกพ. มาชี้แจงข้อร้องเรียน ซึ่งทุกองค์กรส่งตัวแทนมา(ตัวจริงไม่มีใครมา) ทำให้ความจริงเปิดเผยในหลายเรื่อง เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน  เป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามากทำไมจึงมาปิดซ่อมบำรุงช่วงนี้  ทำไมไม่ไปซ่อมบำรุงในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าปกติ ไม่มีคำตอบ และที่ว่าพม่าปิดหลุมก๊าซเพื่อซ่อมบำรุง เป็นไปได้อย่างไร  ในเมื่อหลุมก๊าซนั้น ปตท.ได้สัมปทานการขุดเจาะจากพม่า(เหมือนบริษัทเชฟล่อนมาเจาะก๊าซ+น้ำมันในบ้านเรา) ดังนั้นการจะปิดซ่อมหรือไม่ซ่อม สิทธิอยู่ที่ ปตท. ไม่ใช่ประเทศพม่า เหมือนที่มีข่าวออกมา ไม่มีคำตอบเช่นกัน ที่น่าแปลกคือหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รู้ข้อมูลนี้  แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลจริง  แต่กลับปล่อยให้มีการปล่อยข่าว โยนขี้ให้พม่า โดยที่ ปตท.ซึ่งเป็นตัวการปิดซ่อมในช่วงเวลาคับขัน ลอยนวล  เมื่อถามถึงการปรับปรุงแผนพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) ว่า มีการปรับปรุงอย่างไร ขบวนการเอื้อเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนหรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบอะไรที่ชัดเจน (เหมือนเดิม) แต่กระบวนการปั่นข่าวจากฝ่ายบริหารพลังงานก็ยังดำเนินต่อไป  และสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2555 กกพ.ก็มีมติให้ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า(Ft) อีกหน่วยละ 40 สต. โดยที่คนใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ มีหน้าที่ต้องจ่ายอย่างเดียว   โดยที่ไม่รู้ข้อมูลจริงว่าที่ต้องขึ้นราคาไฟฟ้าเพราะเหตุอันใดส่วนฝ่ายการเมืองก็พึ่งไม่ได้  เพราะไม่มีพรรคไหน  หือ....อือ...กับเรื่องนี้   มัวแต่อุตลุดอยู่กับการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ    ผู้เขียนที่พอรู้ข้อมูลบ้างก็รู้สึกอึดอัดคับข้องไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร(คงต้องพึ่งกันเอง)  ก็ได้แต่เขียนระบายเพื่อเล่าสู่กันฟัง  แต่ขอบอกไว้ว่าเราจะไม่นิ่งเฉย  และจะเดินหน้าแฉ...ขบวนการเอาเปรียบผู้บริโภคให้สังคมได้รับรู้ให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะทำได้  ซึ่งเครือข่ายประชาชนกำลังร่วมกันจัดทำแผน PDP2012 ภาคประชาชน   ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับแผนของกฟผ.เพื่อป้องปรามมิให้  กฟผ.กินรวบพลังงานไฟฟ้าอย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กสทช. ออกคำสั่งห้ามตัดสัญญาณบัตรเติมเงิน

หลังจากรอให้เกิด กสทช. มานานเกือบ 15 ปี วันนี้มีแล้ว และได้เริ่มปฏิบัติงานมาแล้วเกือบ 5 เดือน อาจถือได้ว่าเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ กสทช.ยังชุลมุนอยู่กับ การจัดทำแผนแม่บท ทั้งเขียนทั้งรับฟัง เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนแต่ในช่วงชุลมุนนี้ กสทช.ก็ยกมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการบังคับใช้ประกาศของ กทช.เดิมไม่ได้(ยกเว้นกสทช.มีประกาศในเรื่องเดียวกันที่ดีกว่าออกมาบังคับใช้เสียก่อน) โดยเฉพาะประเด็น การกำหนด ระยะเวลาการให้บริการบัตรเติมเงิน ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน จนอาจารย์อนุภาพ ถิรลาภ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายฟ้องคดีนี้ต่อศาล นำไปสู่การมีคำสั่งของศาล ช่วงปลายปี 2554 ให้ กทช.เร่งดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของ กทช.ภายใน 90 วัน(หลังจากศาลตัดสินเป็นที่สุด) และคำสั่งดังกล่าวคาบเกี่ยวตั้งแต่ กทช.ที่กำลังหมดวาระ จนมาถึง กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 5 เดือน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ขยับผู้เขียนในนามประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อกระตุ้นให้ กสทช.บังคับใช้(ประกาศ กทช) ซึ่งส่งผลให้ กสทช. นัดให้ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาหารือกันถึงการแก้ปัญหาการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ในระยะยาว ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีข้อสรุปให้ฝ่ายผู้ให้บริการไปคำนวณต้นทุนและให้หาข้อสรุปร่วมกันภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หารือกัน โดยในวันนั้น “กสทช.สุทธิพล ทวีชัยการณ์ พูดชัดเจนว่า ขณะนี้ กสทช.ได้บังคับใช้ ประกาศมาตรฐานสัญญาข้อ 11 แล้วโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจะไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ใครจะมาตัดวันเราไม่ได้” นั่นหมายถึงโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกเจ้าไม่มีสิทธิตัดการใช้บริการผู้บริโภคได้อีกแล้ว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกันใหม่ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจตัดการให้บริการอยู่ เรื่องนี้ยืนยันเห็นจริงปฏิบัติจริงมากับมือ เหตุมีอยู่ว่ามีคนมาหารือกับผู้เขียนว่า ตนเหลือเงินอยู่ในโทรศัพท์ 400 กว่าบาท แต่โทรออกไม่ได้ โดยมีการแจ้งว่าสาเหตุมาจากผู้ให้บริการว่าวันหมด ผู้เขียนจึงให้น้องโทรประสานไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทนั้น และได้แจ้งว่าบริษัทกำลังละเมิดคำสั่ง กสทช. ที่ห้ามตัดการใช้บริการ ก็ได้คำตอบมาว่า บริษัทได้ทำตามคำสั่ง กสทช.แล้ว โดยไม่ได้ตัดสัญญาณ เพราะเบอร์ดังกล่าว สามารถรับสายเข้าได้ปกติ แต่ไม่ให้โทรออกเท่านั้นเอง(ดูเขาทำ) น้องก็เถียงไปว่า กสทช.ห้ามตัดการใช้บริการทั้งโทรเข้าโทรออก ทำอย่างนี้ก็ขัดคำสั่ง กสทช.อยู่ดี เพราะเงินเรายังมีเราต้องใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาอย่างกำปั้นทุบดินว่า หากต้องการโทรออกได้ให้เอาเงินที่เหลือไปแลกวันมาก็จะสามารถใช้บริการได้ปกติต่อไป เจอเข้าไปแบบนี้ผู้ใช้บริการก็ได้แต่มึนไปไม่เป็นว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แนะนำให้โทรไปร้องทุกข์ที่สายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 เพื่อร้องเรียนผู้ประกอบการรายนี้ จนสามารถโทรออกได้ปกติและได้วันฟรีมา 1 ปี เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังอยู่ในระยะเวลาของการหารือจึงยังมิได้ดำเนินการทางกฎหมายหลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2555 หากใครถูกจำกัดการใช้บริการด้วยเหตุวันหมด สามารถเดินขึ้นไปบนศาลจังหวัด ขอฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันทีทุกศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อ้อ... หากจะฟ้องนอกจากบริษัทผู้ประกอบการแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องฟ้อง กสทช.ด้วย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับ แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความสามารถกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติการคำสั่งได้ เพราะ กสทช.มีอำนาจสั่งปรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.ได้ พวกเราผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้องค์กรกำกับทำหน้าที่ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ร้องข้าวเกรียบโครงการหลวง ฉลากวันหมดอายุซ้อนทับ

คุณพชร ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวง สูตรแครอท ที่ร้านโครงการหลวง สาขาคิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณภูมิ“ราคาห่อละ 25 บาทครับ ก็เปิดถุงมานั่งกิน ระหว่างนั่งกินก็ดูรูปประกอบ ดูข้อมูลต่างๆ ที่แสดงอยู่ตามข้างถุงไปเรื่อย ผมมาสะดุดมือสะดุดตาตรงสติ๊กเกอร์ที่แปะแสดงวันผลิต วันหมดอายุครับ แกะออกมาดูมันมี 2 อันแปะทับกันอยู่”สติ๊กเกอร์อันบนระบุวันผลิตไว้ที่ 05/12/54 วันหมดอายุ 05/01/55 ส่วนอันที่ถูกแปะทับปิดไว้ ระบุวันผลิตเป็นวันที่ 25/11/54 วันหมดอายุ 25/12/54 วันที่คุณพชรซื้อข้าวเกรียบห่อนี้นั้นคือวันที่ 10 ธันวาคม 2554“ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ทั้งสองฉลากก็ตาม แต่ก็ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแล้ววันผลิตวันหมดอายุที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่”นอกจากนี้ คุณพชร ยังสังเกตพบว่า มีการนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่าสูตรแครอท มาแปะทับบนบรรจุภัณฑ์แต่ว่าไม่มีการระบุรายละเอียดในส่วนประกอบหลังบรรจุภัณฑ์ว่ามีแครอทผสมในสัดส่วนเท่าไหร่“ผมว่าการแสดงฉลากแบบนี้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อยากจะให้มูลนิธิฯ ช่วยประสานไปยังผู้ผลิตให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 การที่อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ถือว่าเป็นอาหารปลอม ห้ามผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทด้วยการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง มูลนิธิโครงการหลวงในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย ให้ช่วยกันตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมา โดยมีข้อชี้แจงที่สำคัญดังนี้ประเด็นที่ 1 การนำสติ๊กเกอร์วันผลิตแปะทับกันเนื่องจากพนักงานติดสติ๊กเกอร์วันผลิต (25/11/54) ที่ถุงในจำนวนที่เผื่อไว้ เมื่อถึงรอบการผลิตชุดใหม่ (05/01/55) พนักงานไม่ได้แกะสติ๊กเกอร์อันเดิมออกจากถุงที่เผื่อไว้ แต่แปะสติ๊กเกอร์อันใหม่ทับไป ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้ผลิตนำสินค้าเก่ามาติดวันผลิตใหม่ ซึ่งระบบการผลิตนั้น ผู้ผลิตจะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น โดยไม่มีการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ จึงไม่มีสินค้าที่เป็นชุดการผลิตเก่าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า อนึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการตักเตือนพนักงาน รวมทั้งอบรมกระบวนการทำงานให้พนักงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกประเด็นที่ 2 การนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า สูตร Carrot มาติดที่บรรจุภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวงมีทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรแครอท สูตรฟักทอง และสูตรเห็ดหอม ซึ่งการผลิตถุงอลูมิเนียมฟอยด์นั้นจำเป็นต้องสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบทั้ง 3 สูตร แต่จะมีสติ๊กเกอร์ที่มีการระบุสูตรติดไว้ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์แยกชนิดกันนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในการทำบล๊อกพิมพ์ และต้นทุนในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทั้งนี้ส่วนประกอบที่แจ้งในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนประกอบจริงของผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรแครอท ในส่วนประกอบระบุว่า มีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีแครอทเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% หรือ สูตรฟักทอง ในส่วนประกอบระบุว่ามีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีฟักทองเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตจะให้พนักงานขายชี้แจงให้ลูกค้าทุกรายเข้าใจถึงส่วนประกอบของผลิตผลโครงการหลวง“ฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ขอขอบพระคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณพชร เป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง)ได้รับทราบ ซึ่งทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง) จะนำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับการพิจารณาเยียวยาในความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ทางมูลนิธิโครงการหลวงจะขอมอบกระเช้าเป็นการตอบแทนในคำแนะนำ และขอโทษที่ทำให้คุณพชร เข้าใจผิด...”คุณพชรมีความพึงพอใจในคำชี้แจงและการดำเนินการที่ได้รับ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ขอบพระคุณมูลนิธิโครงการหลวงเป็นอย่างสูงต่อการใส่ใจในปัญหาของผู้บริโภคในครั้งนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 นมตรามะลิ ดูแลผู้บริโภคเกินร้อย

คุณนันทวัน เปิดร้านขายโยเกิร์ตสดและเต้าหู้นมสดแบบทำเองขายเอง เน้นสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูดเคล็ดไม่ลับในการผลิตโยเกิร์ตสดของคุณนันทวัน คือใช้นมข้นกระป๋องผสมกับนมสดเป็นส่วนผสม ตั้งแต่เปิดร้านทำโยเกิร์ตสดขายเธอเลือกใช้ นมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิมาโดยตลอ“ร้านเราไม่ใส่สารกันบูดค่ะ เลยต้องทำให้พอดีขายไม่เก็บไว้นาน นมข้นกระป๋องที่เอามาใช้ผสมกับนมสดก็เลยซื้อมาน้อย ใช้ยี่ห้อนี้มานานแล้วไม่เคยมีปัญหาค่ะจนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 คุณนันทวันพบปัญหาในนมข้นหวานตรามะลิที่ซื้อมาใช้ ครั้งนั้นคุณนันทวันซื้อมา 1 แพ็คจำนวน 6 กระป๋อง ดูวันหมดอายุแล้วระบุไว้ที่กลางเดือนธันวาคม 255“เหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาทำโยเกิร์ตสด เราจะเปิดฝากระป๋องด้านบนด้วยที่เปิดกระป๋อง แล้วเทนมข้นออกมาใส่ถ้วยเพื่อรอผสมกับนมสดที่เตรียมไว้ ไม่มีการเปิดกระป๋องค้างไว้ เมื่อเปิดเทจนเกือบหมดกระป๋องแล้ว จะใช้ช้อนขูดนมข้นส่วนที่เหลือติดอยู่ก้นกระป๋องออกมาใส่ถ้วยจนหมด ทำอย่างนี้ทุกกระป๋อง”ด้วยวิธีเปิดกระป๋องเอานมออกจนหมดกระป๋องนี่แหละ ทำให้คุณนันทวันพบปัญหา ปรากฏว่าในนมข้น 6 กระป๋อง มีอยู่กระป๋องหนึ่งที่ในเนื้อนมข้นมีก้อนสีเขียวคล้ายเชื้อราปนเปื้อนมาด้วย จึงแจ้งไปที่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตนมตรามะลิเพื่อให้นำสินค้ากลับไปตรวจสอบ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วแจ้งกลับมายังคุณนันทวันว่า เครื่องจักรขัดข้องระหว่างการบรรจุ ทำให้อากาศเข้าไปในกระป๋องนม จึงทำให้เกิดเชื้อราขึ้น บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายของคุณนันทวันด้วยการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ “พอเราได้รับคำชี้แจงและเอาสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว ก็ไม่ติดใจอะไรก็ซื้อนมยี่ห้อนี้ใช้ต่อมาอีกค่ะ”ต่อมาในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลาง คุณนันทวันได้ซื้อนมข้นมะลิมาใช้เหมือนเคยจำนวน 1 แพ็ค พอต้นเดือนสิงหาคมจึงนำมาเปิดพบกระป๋องหนึ่งเจอก้อนสีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีดำที่ก้นกระป๋อง โดยที่นมข้นยังไม่หมดอายุ จึงโทรแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ“พนักงานบอกว่า นมยังสามารถบริโภคได้”คุณนันทวันเธอก็เชื่อ อีกไม่กี่วันต่อมาเธอเปิดนมข้นกระป๋องใหม่มาใช้อีกครั้ง คราวนี้พบปัญหาในลักษณะเดิมทีเดียว 2 กระป๋อง คือมีก้อนสีดำตามตะเข็บกระป๋องด้านใน และมีสนิมขึ้นด้วย“เคยเอากระป๋องแช่น้ำไล่มดครั้งเดียวกระป๋องเดียวและก็ใช้น้ำแค่ระดับก้นกระป๋องเท่านั้นพอกันมดได้กระป๋องที่แช่น้ำก็มีสนิมเกิดขึ้นด้วย แต่กระป๋องอื่นไม่เคยเอากระป๋องแช่น้ำเลยค่ะก็มีปัญหาเห็นเป็นก้อนสีดำๆ ในนม”คุณนันทวันได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้นำนมข้นที่เปิดและที่ยังไม่เปิด ไปตรวจสอบพร้อมกับขอให้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554 บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ปัญหาคราบดำที่ตะเข็บก้นประป๋อง น่าจะเกิดจากคุณภาพกระป๋องบางกระป๋องที่มาจากซัพพลายเออร์ ได้เสนอให้ผู้บริหารพิจารณาปรับปรุงคุณภาพกระป๋องโดยการเคลือบกระป๋องด้านใน ตามมาตรฐานการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาคราบดำแบบ 100% ส่วนปัญหาสนิมที่ก้นกระป๋องนั้น น่าจะเกิดจากการนำกระป๋องนมไปแช่น้ำ ตามมาตรฐานการจัดเก็บสินค้าให้จัดเก็บสินค้าไว้ในที่แห้งและสะอาด หากกระป๋องบรรจุผลิตภัณฑ์เปียกน้ำหรืออยู่ในสภาพที่ชื้น อาจทำให้เกิดสนิมได้ง่าย“ควรมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในที่แห้งและสะอาด ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ที่ฉลากข้างกระป๋อง หากลูกค้าต้องการแช่น้ำเพื่อกันมด ควรนำผลิตภัณฑ์ใส่กล่องพลาสติกที่แห้งและสะอาดก่อนนำไปแช่น้ำ” บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้คำแนะนำพร้อมกับคำชี้แจงครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ได้มอบนมข้นให้ใหม่จำนวน 18 กระป๋อง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อเปิดใช้นมข้นกระป๋องตรามะลิอีกครั้งก็พบก้อนสีเหลือง สีส้มและสีของนมไม่ขาวเหมือนทุกครั้งและยังเหนียวข้นผิดปกติอีก เมื่อแจ้งไปที่บริษัทฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมกล่องยูเอชทีแทน พร้อมทั้งได้นำนมยูเอชทีมาให้คุณนันทวันจำนวน 3 ลัง“ดิฉันเจอปัญหาต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือที” แนวทางแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย หรือเป็นอาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะหรือ อาหารที่มีภาชนะบรรจุประกอบด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ อาหารที่มีลักษณะข้างต้นให้ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏลักษณะการเสียของนมข้นที่มีการร้องเรียนก็อาจเข้าข่ายของอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงได้เชิญตัวแทนบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ผู้ผลิตสินค้า และตัวแทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และท้ายที่สุดบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยได้ยินยอมชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณนันทวันเป็นเงินรวม 30,000 บาท“เราไม่คิดว่าความเสียหายของเราจะเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่ทราบเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้ความช่วยเหลือค่ะ”คุณนันทวันขอบคุณเรา ซึ่งเราก็คงต้องส่งคำขอบคุณต่อไปยังบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ด้วยที่แสดงความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเต็มกำลัง และหวังให้คุณภาพการผลิตสินค้าจะดียิ่งขึ้น เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >