ฉบับที่ 142 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 5 “ นาตะ ดนตรีที่ศาล?)

9  โมงเช้า ของวันที่  26  มิถุนายน 2555  กลุ่มผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง มาพร้อมหน้ากันที่ศาล  ตามเวลาที่นัดหมาย  เหตุการณ์ก็เป็นเหมือนเดิมคือ กว่าศาลจะลงนั่งบัลลังก์ ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยง   จากนั้นศาลได้เริ่มกระบวนการไต่สวนข้อมูลที่ได้จากกระบวนการไต่สวน ซึ่งเป็นที่ตื่นตะลึงมาก   เพราะเรารู้แต่ว่ารายการโทรทัศน์(ฟรีทีวี) บ้านเรามาจากระบบสัมปทานทั้งสิ้น  ช่อง 9 อสมท.  แตกคลื่นไปให้ช่อง 3 เช่า ช่อง 5 กองทัพบก แตกคลื่นไปให้ ช่อง 7 เช่า  ภายใต้สัญญาร่วมการงาน(ซึ่งเป็นสัญญาเช่าช่วงต่อจากผู้รับสัมปทาน)  ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์  และช่องสื่อสาธารณะ THAI PBSที่ว่าตื่นตะลึงคือ กฎข้อบังคับของการให้สัมปทานคือ  ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้โดยสะดวก  นั่นคือต้องลงทุนเพื่อกระจายคลื่น  เพราะฟรีทีวี  แม้ประชาชนจะได้ดูฟรี  แต่ฟรีทีวีเหล่านั้นก็สามารถหาผลประโยชน์ได้จากขายโฆษณาได้ชั่วโมงละ 12 นาที (ทำให้ช่อง 3 ช่อง 7 (รวยติดอันดับต้นๆของประเทศไทย)  แต่ข้อมูลที่เปิดออกมาคือ ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีทั้งหมด หยุดการพัฒนาระบบกระจายคลื่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากว่า 15 ปี  โดยหน่วยงานที่ให้สัมปทาน ไม่มีการติดตามให้ผู้รับสัมปทานทำตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในสัญญารับสัมปทาน    และการที่ผู้บริโภคจะหวังพึ่ง กสทช. ก็คงพึ่งไม่ได้ เพราะ กสทช.เพิ่งออกประกาศ ระยะเวลาที่ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม(ฟรีทีวีทุกช่อง) ยังอยู่ไปอย่างนี้ได้อีก 10 กว่าปี  (มีกสทช.อีก 2 ชุดก็ยังหาน้ำยาไม่เจอ)เมื่อระบบส่งคลื่นสัญญาณไม่มีการพัฒนาก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องดิ้นรนกันเอง เพื่อให้เข้าถึงฟรีทีวีอย่างชัดเจน  นั่นคือ หันไปเสียเงินซื้อจานรับสัญญาณกันเองตามกำลังทรัพย์ที่มี    ศาลทั้งตั้งคำถามดีมาก    เช่น ถาม อสมท. ว่า คุณเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการคลื่นแทนรัฐ   ไปร่วมมือกับเอกชนละเมิดสิทธิการเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคได้อย่างไร ถามว่าเรื่องการส่งคลื่นฟรีทีวี  ปัจจุบันส่งระบบใด  โดยสรุปทุกช่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแล้ว   แม้ว่าจะพยายามบอกว่าคลื่นที่ส่งๆ ไปที่ฐานเครือข่ายของตนเอง  และการที่ประชาชนดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้นั้น  เป็นการลักลอบ  หรือขโมยสัญญาณของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต   เราก็เลยถามว่าเขาลักลอบใช้สัญญาณนานหรือยัง  คำตอบคือ  “มากกว่า 25 ปี”  เราเลยถาม ต่อว่า ทำไมไม่แจ้งจับปล่อยให้ลักลอบใช้สัญญาณนานขนาดนั้นได้อย่างไร คำตอบคือ  “เงียบ” ในส่วนฝั่งแกรมมี่ศาลได้เรียกสัญญาระหว่างแกรมมี่และยูฟ่า มาเปิดเผย(แต่ศาลห้ามนำออกมาภายนอก) ก็เห็นชัดเจนว่า ยูฟ่า ไม่ได้จำกัดการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมแต่เขียนห้าม ไม่ให้สัญญาณออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยทำได้ที่จะไม่ให้สัญญาณทะลักออกไป นั่นคือการใส่รหัสผ่านเข้าไปดู  การที่ห้ามส่งสัญญาณผ่านผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณ แกรมมี่เป็นผู้กำหนดเอง  ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ  เพราะผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานดาวรับสัญญาณคือ กลุ่มที่แกรมมี่จะขายกล่องรับสัญญาณของตนเองได้ (ส่วนกลุ่มที่ชมผ่านก้างปลาหนวดกุ้งไม่ใช่ฐานลูกค้า)  เพราะแกรมมี่มีแผนธุรกิจที่จะทำทีวีดาวเทียม     การที่แกรมมี่ประมูลสัญญาณการถ่ายทอดครั้งนี้แกรมมี่ได้หลายเด้ง  ทั้งขายโฆษณา ขายกล่อง ขยายฐานลูกค้าทีวีดาวเทียมของตนเองในอนาคต (โอ้โห.....พูดไม่ออก...)   ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมาจากกระบวนการไต่สวนทั้งการตั้งคำถามของศาล และการตั้งคำถามของผู้ฟ้อง ชัดเจนยิ่ง(ในมุมของเรา) แต่มุมของศาลไม่ใช่ศาลยังอยากได้ข้อมูลประกอบอื่นทั้งเทคนิคเฉพาะเพื่อเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจคุ้มครองหรือไม่   โดยขอไต่สวนเพิ่มฝ่ายเทคนิคของช่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับคดี และไม่เกี่ยวกับ  กระบวนการไต่สวนดำเนินไปเวลาถ่ายทอดอีกแค่ 2 นัดไม่ทราบว่าเป็นเทคนิคของศาลที่ต้องการลดการกดดันทางกระแสสังคม กับเรื่องนี้อ่อนลงหรือไม่   เพราะดูศาลจริงจังมาก  ลงไต่สวนเต็มองค์คณะ 6-8 คนทุกนัด  เวลาไต่สวนศาลมองมาทางเราบ่อยมาก และพูดประมาณว่าเราต้องมองอนาคต    และวันที่รอคอยก็มาถึงนั่นคือศาลนัดฟังคำตัดสินว่าจะคุ้มครองหรือไม่(คุ้มครองคือต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีทุกช่อง ไม่คุ้มครองคือถ่ายทอดผ่านหนวดกุ้งก้างปลาเหมือนเดิม)  คำตัดสินอย่างที่ทุกคนรู้กันว่า  “เรื่องนี้มีเรื่องลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาเกี่ยวข้องจึงไม่คุ้มครอง  แต่รับคดีไว้พิจารณาต่อไป”สรุปว่าที่เขียนเล่ามาหลายตอน  อารมณ์ของผู้เขียนเหมือนนั่งดู “ลิเก”โรงใหญ่ที่มีผู้แสดงมากมาย  แต่ตอนจบหักมุม “นางเอกโดนน็อคหมดสติ” ลิเกโรงใหญ่ หรือ “นาตะดนตรีที่ศาล” จะจบอย่างไรคงต้องรอคำตัดสินในคดีนี้ต่อไปอย่างใจระทึก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 สวัสดีปีใหม่ แก๊สหุงต้มจะปรับขึ้นราคา ?

เรื่องนี้ยังไม่มีใครร้องเรียน เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่า แก๊สหุงต้มกำลังนับถอยหลังดีเดย์ปรับขึ้นราคา ในเดือนมกราคม ปี 2556 หน้าค่อนข้างแน่นอนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สรุปแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ราคา LPG ขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 18 บาท/กก. สำหรับก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนสนพ. ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นอย่างนี้ราคาก๊าซที่ขายในประเทศก็ต้องสูงตามไปด้วย แต่เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ จึงเสนอให้ใช้วิธีขึ้นราคาแบบนวดคลึง คือค่อยๆปรับ ค่อยๆเจ็บ สู่ราคาเป้าหมายที่ 36 บ./กก. ภายใน 2 ปี จากเดือนมกราคม 2556-ธันวาคม 2557โดยภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บ./กก. ภาครถยนต์จะปรับขึ้นเดือนละ 1.20 บ./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บ./กก. และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.13 บ./กก.คาดว่ารัฐบาลจะลดแรงต้านด้วยการเสนอมาตรการบรรเทาความด้วยร้อนด้วยการแบ่งแยกกลุ่มประชาชน ผ่านกลไกบัตรเครดิตพลังงานที่จะให้ส่วนลดแก่ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 6 ล้านครัวเรือน และร้านค้า หาบเร่ แผงลอย อีกราว 2 แสนกว่าราย ซึ่งจะมีลักษณะให้ไปลงทะเบียนคล้ายกับบัตรเครดิตพลังงานที่ใช้กับกลุ่มรถแท๊กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วงที่ผ่านมา   ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผลกระทบโดยตรง สำหรับบ้านที่ใช้แก๊สถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 50 สต./กก.ราคาแก๊สจะขยับจากถังละ 290 บาท ขึ้นเป็น (0.50 x 15) + 290 = 297.50 บาท/ถังหลังปรับขึ้นราคาครบปีที่ 1ราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x 12) + 290 = 380 บาท/ถัง (สูงขึ้น 31%)หลังปรับราคาครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x24) + 290 = 470 บาท/ถัง (สูงขึ้น 62%)หมายเหตุ : ราคายังไม่รวมค่าบริการส่งก๊าซถึงที่อยู่อาศัย   สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงราคาแก๊สปัจจุบันอยู่ที่21.38 บ./กก. หรือ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร)ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 1.20 บ./กก.ราคาแก๊สจะขยับจาก21.38 บ./กก. ขึ้นเป็น (21.38 + 1.20 ) = 22.58บ./กก. (12.20 บ./ลิตร)หลังปรับขึ้นราคาครบ 1 ปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 12) + 21.38 = 35.78 บ./กก. (19.34 บ./ลิตร) หรือ สูงขึ้น 67.35%หลังปรับขึ้นครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 24) + 21.38 = 50.18 บ./กก. (27.12 บ./ลิตร) หรือสูงขึ้น 134.7% ผลกระทบโดยอ้อม ประชาชนอาจจะใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนและในรถยนต์น้อยลง แต่ในทางเดียวกันประชาชนก็ไม่มีทางเลือกการใช้พลังงานมากขึ้น ป่าไม้อาจถูกทำลายมากขึ้น จากการที่ประชาชนหันกลับมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ไม่มีหลักประกันใดว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะสามารถดูแลราคาสินค้าเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ เพราะจากอดีตที่ผ่านมาในการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ NGV แม้รัฐบาลจะมีมาตรการบัตรเครดิตพลังงานให้ส่วนลดค่าเชื้อเพลิง มาตรการเปิดร้านค้าธงฟ้าที่ต้องใช้งบประมาณมากมาย หรือมาตรการประกาศราคาแนะนำข้าวแกงขึ้นมา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นไปแล้วทยอยลดราคากลับคืนมาแต่อย่างใด แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาก๊าซ LPG ขาดแคลน โดยอ้างว่ามีการใช้ผิดประเภทในภาครถยนต์และในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จนทำให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างของราคานำเข้า LPG ตลาดโลก นับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน เนื่องจากในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ก๊าซ LPG ในราคาประมาณ 18 บ./กก. ส่วนผู้ใช้รายอื่นใช้ในราคาที่สูงกว่านี้อีก แต่ปรากฏว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมของตนกลับใช้ LPG ในราคาเพียง 16 บ./กก. เท่านั้น และมีสัดส่วนการใช้มากถึง 33-34% ของกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด (รถยนต์ใช้เพียง 14% )และยังเป็นการใช้ก๊าซโดยตรงจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิต จึงมีราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน หรือก๊าซนำเข้าด้วยเรื่องนี้เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชนทั้ง 70 ล้านคน  จึงน่าจะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปเสียก่อน หากตรวจสอบแล้วว่า มีข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือมีการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม จะได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ฝรั่งออสเตรเลีย ฟ้อง ธ.กรุงไทย หลังโดนหักเงินในบัตรเดบิตไม่ทราบเหตุ

ฝรั่งออสเตรเลียฟ้องธนาคารกรุงไทย ฐานหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1.25 แสน ศาลพิพากษาธนาคารผิดจริงให้จ่ายค่าเสียหายตามที่เรียกพร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษอีก 120,000 บาทเจฟฟรี ชายชราชาวออสเตรเลีย เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายอาศัยอยู่ในเมืองไทยที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณปี 2548 เขาเปิดบัญชีออมทรัพย์ กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรเลีย และเปิดใช้บริการบัตรเดบิตผ่านบัญชีดังกล่าวต่อมาราวปลายปี 2554 เจฟฟรี ใช้บัตรเดบิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม พบความผิดปกติว่าเงินในบัญชีลดลงอย่างมาก จึงติดต่อกับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียงเพื่อให้ตรวจสอบการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ผลการตรวจสอบของธนาคารพบว่า  มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ติดต่อกันในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2554 เป็นเงินประมาณ 120,000 กว่าบาท ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตพร้อมกับการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรเดบิตพร้อมกับรหัสประจำตัวได้ปัญหาอยู่ตรงที่ รายการใช้จ่ายซื้อสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจฟฟรียังพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และบัตรเดบิตก็อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา เจฟฟรีจึงมีหนังสือถึงธนาคารปฏิเสธรายการใช้บัตรเดบิตและเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทันทีที่ทราบเรื่อง ต่อมาธนาคารกรุงไทยได้แจ้งผลการตรวจสอบรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี อ้างว่าเป็นการใช้บัตรซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ   แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งอาสาสมัครขึ้นไปที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับเจฟฟรีและภรรยาชาวไทย และพยายามนัดเจรจากับ ธ.กรุงไทย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก ด้วยข้ออ้างว่าธนาคารมีประสบการณ์ในการแยกแยะการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตของคนธรรมดาทั่วไปกับมิจฉาชีพ หากเป็นการใช้จ่ายของมิจฉาชีพจริง เมื่อปลอมบัตรหรือได้รหัสผ่านแล้วจะรีบนำเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้บัตรเดบิตเดินช้อปปิ้งซื้อของเล็กบ้างใหญ่บ้าง แถมยังใช้บัตรเดบิตจ่ายค่าแท๊กซี่ปรากฏอยู่ด้วย เป็นสภาพของการซื้อใช้สินค้าและบริการตามปกติของผู้คนทั่วไปที่ใช้บัตรเดบิตของตัวเอง จึงยืนกระต่ายขาเดียวปฏิเสธการคืนเงินให้แก่เจฟฟรีเมื่อหมดหนทางการพูดคุยในทางปกติ เราจึงถามใจเจฟฟรีว่าจะสู้กับธนาคารต่อหรือไม่ เจฟฟรีบอก ผมอยากได้รับความเป็นธรรม ผมไม่ได้เป็นคนซื้อสินค้าเหล่านี้ ธนาคารต้องคืนเงินให้กับผมวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นวันที่เจฟฟรีเข้ายื่นฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค กล่าวหาธนาคารกรุงไทยมีความผิดฐานผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิต เรียกค่าเสียหาย 125,357 บาท พร้อมดอกเบี้ยในวันที่  7  พฤศจิกายน  2555   ศาลแขวงพระนครใต้ พิพากษาให้ ธนาคาร กรุงไทย จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเจฟฟรี เป็นเงินตามจำนวนที่ฟ้อง พร้อมกับสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท  รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาทเหตุที่ศาลชั้นต้นให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะว่าเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า กรณีนี้ธนาคารกรุงไทยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่ออกให้กับนายเจฟฟรี ไปใช้ในต่างประเทศจริงและทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการหรือลายมือชื่อลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่ธนาคารกลับไม่นำหลักฐานที่ว่ามาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานของธนาคารเองยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของเจฟฟรีที่ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรในช่วงขณะดังกล่าวดังนั้นเมื่อธนาคารไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าผู้บริโภคเป็นผู้ใช้เองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า เมื่อธนาคารหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปแล้ว ธนาคารจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของลูกค้าทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชี และการที่ธนาคารทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากการมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของลูกค้าไปใช้ เมื่อลูกค้าทวงถามแล้ว แต่ธนาคารกลับปฏิเสธไม่คืนเงินให้กับลูกค้า จึงถือว่าธนาคารมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและเงินในเชิงลงโทษให้กับเจฟฟรีตามจำนวนที่กล่าวมา และยังสั่งให้ธนาคารชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลรวมทั้งค่าทนายความจำนวน 5,000 บาทแทนนายเจฟฟรีอีกด้วย“ผมรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา  ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้” เจฟฟรี กล่าวนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบและจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปรามหรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ“ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป ” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กรณีทีวี “จอดำ” ตอนที่ 4 มีสิทธิแต่การเข้าถึงสิทธิต้องรอก่อน..

มาตามที่นัดกันไว้เมื่อตอนที่แล้ว...  เริ่มด้วยเช้าวันที่ 25 มิถุนายน  2555   กลุ่มผู้ฟ้องคดีนัดรวมพลไปฟ้องคดี พร้อมกันทั้ง 5 คน รวมพยานและกองเชียร์ก็ประมาณ 40-50 คน    ประเด็นที่ฟ้องคือ 1.ขอให้ช่องฟรีทีวีแพร่ภาพออกอากาศการถ่ายทอดทันที่โดยไม่ยกข้ออ้างการอุปกรณ์มาปฏิบัติการเข้าถึงฟรีทีวี 2.ขอให้ฟรีทีวีหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและหยุดการกระทำการอันเป็นการไม่รับผิดชอบธุรกิจของตนเอง  พร้อมให้ศาลสั่งลงโทษ ผู้ประกอบการ โดยให้คำนึงถึงผู้เสียหาย 11 ล้านครอบครัว  3. ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,590 บาท หรือ ในราคาเท่ากับกล่องรับสัญญาณของ GMMZ 4.  ขอให้ศาลมีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61เมื่อไปถึงศาลแพ่งรัชดา(โอ้โฮ....ดังจริงๆ เรื่องนี้) กลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมากรอเรากันคึกคักมาก  ทำให้กลุ่มผู้ฟ้องอุ่นใจมากขึ้น(บนความหวังจอต้องหายดำคนไทยควรได้ดูบอลที่ถ่ายทอดในฟรีทีวีให้ได้)  ศาลเตรียมการต้อนรับอย่างดียิ่ง  พวกเราได้รับการอำนวยความสะดวกจากศาลที่แสนประทับใจ  ศาลรับคำฟ้องและให้พวกเรานั่งรอ   สักครู่ก็มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า  ฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นเอกสารคัดค้าน ว่าประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลผู้บริโภค  เพราะฝ่ายที่ถูกฟ้อง เป็นหน่วยงานของรัฐ  ช่อง 5  เป็นของกองทัพบก   ช่อง 9 ช่อง 3 เป็นขององค์การแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(อสมท.) ซึ่งควรอยู่ในอำนาจศาลปกครอง  ศาลกำลังพิจารณาขอให้ผู้ฟ้องรอก่อน ซึ่งพวกเราคิดไว้แล้วแต่ต้นว่าต้องเจอเรื่องนี้แน่  เพราะคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเจอวิธีนี้ตลอด เรียกได้ว่าเป็นเทคนิค หรือเครื่องมือของผู้ประกอบการ ที่จะนำมาใช้เพื่อยืดคดีออกไปให้นานที่สุด พวกเราก็นั่งลุ้นว่าศาลจะคุ้มครองฉุกเฉินหรือเห็นคล้อยตามเสียงคัดค้าน    จนเกือบ 5 โมงเย็นศาลได้ออกนั่งบัลลังก์ครบองค์ทั้ง 8 คน  แล้วแจ้งว่า ศาลได้พิจารณาแล้ว  เห็นว่าเรื่องที่ฟ้องนี้อยู่ในอำนาจที่ศาลจะพิจารณาได้ ส่วนข้อมูลที่คัดค้านศาลจะส่งเรื่องไปยังศาลอื่นต่อไป   และศาลรับคำฟ้องไต่สวนฉุกเฉิน  แต่ขอนัดไต่สวนในวันถัดไป เวลา 9.00 น.  พวกเราไปรอตามเวลานัด  สิ่งที่เจอคือ  รอ...ก่อน ศาลกำลังพิจารณา  จนเกือบบ่าย 3 (รอ 6 ชม.) ศาลออกนั่งบัลลังก์ ครบ 8 คน ทั้งผู้ฟ้องและผู้ทุกฟ้องอยู่กันครบครัน  โดยเบื้องต้นขอไต่สวน กลุ่มผู้ฟ้องและพยานผู้ทรงคุณวุฒิก่อน  โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้องเตรียมทนายมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีสูงมากมาซักค้าน ผู้ฟ้องถึง 2 คน  ในขณะผู้ฟ้องมิได้เตรียมทนายมาซักแก้     แต่ฝ่ายผู้ฟ้องไม่ได้เตรียมทนายมาเพราะตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ระบุไว้ชัดเจนว่าการฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนาย   แต่เมื่ออีกฝ่ายเตรียมมา หากฝ่ายผู้ฟ้อง ไม่มีก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที  กลุ่มผู้ฟ้องจึงขอเวลา  ทำหนังสือแต่งทนายกันหน้าบัลลังก์กันเลย   เมื่อมีทนายแล้ว ขบวนการไต่ส่วนก็เริ่มดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น  ใช้เวลาไต่สวน จนเกือบ 5 โมงเย็น    ศาลสั่งให้ไต่สวนใหม่วันรุ่งขึ้นเวลา 9.30 น.(ผ่านไปอีกวันยังไม่เห็นอะไร)โดยศาลมีคำสั่งเพิ่มว่านอกจากวันรุ่งขึ้นจะเป็นคิวไต่สวนผู้ถูกฟ้องแล้ว ศาลยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีด้วย   ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องไปช่วยประสาน  โดยศาลจะออกหนังสือเรียกตัวไปยังหน่วยงานต้นสังกัด   ที่สำคัญคือเวลาการถ่ายทอดลดลงเรื่อยๆ  เพราะนัดสุดท้าย คือวันที่ 2  กรกฎาคม 2555 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วัน  การไต่สวนว่าจะคุ้มครองหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง  เพราะหากใช้เวลาไต่สวนนาน จนหมดเวลา ถึงศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองก็จะไม่เกิดประโยชน์  และกลุ่มผู้ฟ้องไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะใช้เวลาไต่สวนอีกกี่วัน  การรอคอยให้ถึงวันรุ่งขึ้น  จึงเป็นที่ระทึกยิ่งนักในกลุ่มของผู้ฟ้อง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้  คงทำได้แค่ รอ กับรอ..... เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 คอนโดมิเนียมหรูเสร็จช้า ลูกค้าขอเรียกค่าปรับ

เดอะกรีน คอนโดมิเนียม @ สุขุมวิท 101 เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 8 ชั้น มีจุดขายสำคัญตรงที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ประมาณ 800 เมตร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถสองแถวซูบารุ ให้บริการวิ่งรับส่งปากซอยตลอด 24 ชั่วโมง มีตลาดคึกคัก ที่สำคัญมีของกินเยอะมาก ถูกใจสาวๆ ออฟฟิศเป็นที่สุดแม้ราคาจะสูงถึง 1,073,000 บาท แลกกับพื้นที่ใช้สอย 31.50 ตารางเมตร แต่คุณนุสราก็บ่ยั่นเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจของคอนโด ตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เลือกอยู่ชั้น 8 ชั้นบนสุดเลยทีเดียวหน้าที่ตามสัญญาฯ ฝั่งคุณนุสราจะต้องจ่ายเงินดาวน์ร่วม 2 แสนบาท โดยแบ่งเป็นเงินจ่ายในวันจอง 5 พันบาท จ่ายในวันทำสัญญา 2 หมื่นบาท ยอดที่เหลืออีก 1 แสน 7 หมื่นกว่าบาทแบ่งจ่ายเป็นงวด 20 งวด เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2553 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2555  ส่วนที่เหลืออีก 8 แสน 7 หมื่นกว่าบาทต้องหามาจ่ายให้ได้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิห้องชุดที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ในขณะที่ฝั่งกรีนคอนโดสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างคอนโดให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2554คุณนุสรา ได้ชำระเงินตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใจระทึก เพราะช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โครงการยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม และได้มีอีเมล์ชี้แจงมายังลูกค้าว่า บริษัทยังอยู่ในช่วงการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขในบางจุดอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทำอีไอเอนี้ราว 60 วัน และใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์ในการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งทั้งโครงการ พร้อมกับยืนยันว่า อาคารเสร็จตามกำหนดแน่นอน ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ หรือว่าลูกค้าจะหยุดผ่อนค่างวดเงินดาวน์ก่อนจนกว่าทางโครงการจะเริ่มตอกเสาเข็มก็ได้ แต่ก็จะไปหนักในการผ่อนเงินงวดท้ายๆ เพราะว่าโครงการสร้างเสร็จ พอเห็นคำยืนยันของโครงการเกิดความมั่นใจว่า “เสร็จแน่” คุณนุสราจึงเดินหน้าจ่ายค่างวดตามสัญญาต่อไป โครงการสัญญาว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็ยังไม่เสร็จ ส่วนคุณนุสราก็ทำตามสัญญาจ่ายค่างวดจนครบงวดที่ 20 เดือนมกราคม ปี 2555 ปรากฏว่า โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ“งานนี้โครงการมันไม่เสร็จ แต่ฉันเสร็จแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” คุณนุสราคิดในใจ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงโครงการ เรียกค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัยนับแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เท่ากับค่างวดที่ได้จ่ายไปรวม 4 งวด เป็นเงิน 43,900 บาทเศษ ส่งจดหมายไปแล้วโครงการไม่ตอบว่า จะจ่ายชดใช้ให้หรือไม่ แต่มาถึงเดือนมีนาคม 2555 ถึงได้มีจดหมายจากโครงการเชิญให้ไปตรวจรับห้องชุดคุณนุสราไปตามคำเชิญ พร้อมว่าจ้างวิศวกรไปช่วยตรวจรับห้องชุดด้วย พอไปถึง ได้ตรวจได้ดูสภาพห้องแล้ว สรุปได้ว่าห้องยังไม่เรียบร้อยที่พร้อมจะให้เข้าตรวจรับ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีหนังสือไปถึงโครงการอีกครั้งเพื่อยืนยันที่จะเรียกค่าเสียหาย และแจ้งเรื่องความไม่เรียบร้อยของโครงการ และขอให้โครงการแจ้งวันที่โครงการดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้วกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับสำทับว่า การไปตรวจรับห้องชุดแต่ละครั้ง ตนต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างวิศวกรเพื่อตรวจรับห้องชุด  หากเมื่อถึงวันนัดกันแล้ว  โครงการยังดำเนินการไม่เรียบร้อยอีก โครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนด้วยส่งจดหมายไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือ ความเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ มาจากโครงการ ถึงเดือนเมษายน 2555 คุณนุสราจึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 มีเนื้อหากล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ไว้ 2 แนวทางแนวทางที่ 1 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเลยก็ได้ และมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ทางผู้ประกอบธุรกิจกำหนดในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วยแนวทางที่ 2 หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกัน แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดได้ทันกำหนดตามสัญญาอีก ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียได้ตามแนวทางที่ 1 เช่นกันในกรณีของคุณนุสรา เธอไม่บอกเลิกสัญญา แต่ต้องการเรียกค่าปรับ เมื่อราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับรวมจึงอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาท  ซึ่งคุณนุสราได้ยืนยันที่จะเรียกค่าปรับจำนวนสี่หมื่นกว่าบาท โดยใช้ข้อเสนอของโครงการที่เขียนแจ้งทางอีเมล์ว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ ได้ช่วยแจ้งความประสงค์ของคุณนุสราไปยังโครงการให้อีกทางหนึ่ง โดยผู้บริโภคจะขอหักเป็นส่วนลดในค่าโอนกรรมสิทธิห้องเลย ซึ่งต่อมาทางโครงการได้ทำการก่อสร้างโครงการและแก้ไขรายละเอียดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ จนสามารถรับโอนกันได้ และขอต่อรองค่าปรับให้ลดลงเหลือ 25,000 บาท คุณนุสราเห็นว่าจะได้ห้องอยู่แล้ว จึงตกลงยินดีไม่มีปัญหา ตอบตกลงรับโอนกรรมสิทธิในเวลาต่อมา ส่วนค่าปรับก็หักจากเงินที่ต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ และได้อยู่สวรรค์ชั้นแปดของเดอะกรีนคอนโดมิเนียมสมใจปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ขอยกเลิกใช้บริการมือถือยุ่งยากจริงหรือเปล่า

คุณวิศว์ เป็นสมาชิกฉลาดซื้อของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้เบอร์มือถือของค่ายทรูสองเบอร์ สองซิม โดยไม่รู้ตัว เรื่องวุ่นๆ เลยเกิดคุณวิศว์ ผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขียนจดหมายมาถึงบก.ฉลาดซื้อเล่าว่า เขาเคยใช้ซิมมือถือของทรูมูฟ หมายเลข 080901XXXX ต่อมาได้เดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด และเกิดความไม่สะดวกในการใช้งานมือถือที่มีเบอร์อยู่ต้องการยกเลิก จึงไปติดต่อที่บูธของทรูมูฟทั้งใน จ.ลำพูนและเชียงใหม่เพื่อเลิกใช้บริการ ได้รับคำตอบว่าจะต้องขอยกเลิกการใช้บริการกับสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น“ผมจึงได้โทรติดต่อที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ได้รับแจ้งว่า จะต้องเดินทางมาดำเนินการด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้ใดดำเนินการแทนได้ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ผมได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้รับใบแจ้งค่าบริการว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 317.79 บาท”คุณวิศว์เขียนข้อปรึกษาสำคัญมาว่า เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่เขาไม่ได้ใช้บริการใดๆ เลย และไม่ได้รับความสะดวกในการยกเลิกการใช้บริการ และเสียค่าบริการดังกล่าว แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริโภค  ทำให้รู้ว่าคุณวิศว์มีเบอร์ของทรูมูฟอยู่สองเบอร์ และเข้าใจมาตลอดว่าเป็นซิมแบบระบบเติมเงินทั้งคู่ ได้พยายามติดต่อยกเลิกการใช้บริการเบอร์หนึ่งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซ้ำเมื่อปล่อยเวลายืดยาวต่อมา มีใบแจ้งค่าบริการจำนวน 317.79 บาทโผล่ขึ้นมา คุณวิศว์จึงยอมรับไม่ได้เพราะคิดว่ามือถือในระบบเติมเงินไม่น่ามีค่าค้างจ่ายเกิดขึ้นได้ เราได้สอบถามไปที่ทรูมูฟ ได้รับคำชี้แจงว่า เบอร์ที่คุณวิศว์ต้องการยกเลิกนั้นเป็นเบอร์ในระบบรายเดือน โดยใช้โปรโมชั่นเดือนละ 99 บาท และผู้ร้องไม่ชำระค่าบริการคงค้างมา 3 เดือนแล้ว จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 99 X 3 + VAT 7% = 317.79 บาท และเมื่อรวมยอดปัจจุบันอีกเดือนเลยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 423.72 บาท ทรูจึงไม่สามารถยกเลิกเลขหมายดังกล่าวให้ได้ฟังข้อมูลมาถึงตรงนี้แล้ว ประเด็นก็เหมือนกับว่าคุณวิศว์จะต้องชำระค่าค้างจ่ายเสียก่อนถึงจะยกเลิกการใช้บริการได้ แต่เมื่อย้อนตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วคุณวิศว์ได้ไปติดต่อขอยกเลิกบริการกับทรูมูฟแล้วก่อนหน้านี้แล้ว 3 เดือนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เมื่อผู้บริโภคไม่มีค่าค้างจ่ายก็ย่อมมีสิทธิเลิกการใช้บริการได้ แต่ทรูมูฟใช้วิธีการโยกโย้ไม่ยอมยกเลิกบริการให้ ไปบอกเลิกที่ลำพูน เชียงใหม่ ก็บอกให้กลับมาบอกเลิกที่กรุงเทพฯ เสียอย่างนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังนั้น คุณวิศว์จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายดังกล่าว และมีสิทธิที่จะบอกเลิกบริการได้ส่วนวิธีการยกเลิกก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปๆ มาๆ อย่างที่ทรูมูฟแนะนำ การยกเลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่มีค่าใช้จ่ายคงค้างกันอยู่ ก็ให้เขียนเป็นจดหมายบอกเลิกส่งไปให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือ จะส่งแฟกซ์หรือจดหมายอีเอ็มเอสก็ได้ แต่ให้เก็บจดหมายไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายค้างกันอยู่ก็ให้ชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างเหลืออยู่ก่อนแล้วค่อยบอกยกเลิก แต่หากไม่ได้เปิดใช้บริการซิมมือถือนั้น หรือเปิดใช้บริการเพราะหลงผิดคิดว่าเป็นซิมแบบเติมเงิน เพราะตัวแทนบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนอย่างนี้ก็สามารถปฏิเสธค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ชวนลงทุนไม้กฤษณา ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าที่คิด

ด้วยราคาอันสูงลิ่วของน้ำมันกฤษณา และมักมีข่าวการลักลอบตัดไม้กฤษณาถี่ขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคนหัวใสตั้งบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาขึ้นมา ชวนคนมาร่วมระดมทุน นำเสนอผลตอบแทนแบบสูง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไม้กฤษณา เป็นสินค้าส่งออกราคาสูงของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ...ในประเทศไทย บริษัท ทัชวู้ด ฟอร์เรสตรี จำกัด ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณา เพื่อการขายและการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นศูนย์กลางในการกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาขนาดใหญ่ได้ในอนาคตด้วย...”เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว คุณอัฐวุฒ ได้เห็นข้อความโฆษณาชวนลงทุนปลูกต้นกฤษณาจากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และบริษัทแห่งนี้ยังไปจัดบูธกิจกรรมตามห้างสรรพสินค้าใหญ่  ข้อความโฆษณาที่โดนใจเอามากๆ คือ ผลประโยชน์ทางการเงินจากการร่วมลงทุน แจ้งว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ร่วมลงทุน ในระยะเวลา 6 ปี สามารถได้รับผลประโยชน์ถึง 230,000 บาท จากเงินลงทุนเพียง 82,000 บาท และสูงสุดถึง 3,680,000 บาท จากเงินลงทุน 1,173,000 บาท  ทำให้เขาซึ่งเป็นช่างภาพอิสระและเป็นคนรักธรรมชาติ คิดอยากจะเพิ่มรายได้จากเงินออมที่เก็บไว้ด้วยการเข้าร่วมลงทุนปลูกต้นกฤษณากับบริษัทแห่งนี้คุณอัฐวุฒเข้าทำสัญญาซื้อขายแปลงปลูกต้นไม้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 โดยเลือกโปรแกรมการลงทุนขนาดเล็กสุดคือ เนื้อที่ปลูก 25 ตารางวา กับไม้กฤษณาจำนวน 23 ต้น โดยวางเงินก้อนแรก 55,000 บาท และต้องจ่ายเป็นรายปีในปีต่อๆ มาอีกปีละ 5,500 บาทเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินร่วมลงทุนทั้งสิ้น 82,500 บาท   ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงราคาผลตอบแทนทางการตลาดที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 138,000-230,000 บาท โดยประเมินจากมูลค่าทางการตลาดของต้นกฤษณา ณ เวลาที่เก็บเกี่ยวคือ 10,000 บาทต่อต้น เวลา 6 ปีผ่านไปไวเหมือนฝัน หลังจากส่งเงินค่างวดไปจนครบ ตามสัญญาบริษัทบอกว่าจะตัดต้นไม้ในปีนี้ คุณอัฐวุฒนั่งดีดลูกคิดทันที ปลูกไว้ 23 ต้น ต้นละ 10,000 บาท จะได้เงิน 230,000 บาท ลงทุนไป 82,500 บาท   กำไร 147,500 บาท หาร 6 ปี เท่ากับว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 24,583 บาทเหมือนรู้ใจ...ไม่นานเกินรอ บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารขออนุญาตตัดต้นไม้มาให้ พร้อมให้เซ็นชื่อรับเงิน ด้วยอารามดีใจจรดปากกาเซ็นรับเงินทันที พอเซ็นไปแล้วถึงเพิ่งเห็นจำนวนเงินที่บริษัทฯจะจ่ายให้ เป็นเงิน 138,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนขั้นต่ำสุดของการลงทุน ไม่รู้จะแก้ไขยังไงเพราะตัวเองเซ็นชื่อลงไปแล้ว ตอนหลังจึงโทรไปถามพนักงานดูแลของบริษัทฯ ว่า สภาพการปลูกต้นไม้เสียหายอะไรบ้างหรือเปล่า ทำไมถึงได้รับแค่นี้ พนักงานก็ตอบว่า ไม่มีความเสียหายใดๆ แม้แต่เรื่องของน้ำท่วมก็ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลูกคุณอัฐวุฒ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่เลยตามเลย ส่งเอกสารพร้อมลายเซ็นยอมรับค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวกลับคืนให้บริษัทฯ มาขุ่นใจเพิ่มเติมตรงที่ว่า จะได้รับเงินต้องรออีก 3 เดือน พอมีเวลาว่างเลยคิดทบไปทบมาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรไม่ตรงไปตรงมาตรงไหน ตัวเองจะได้เงินหรือเปล่า สับสนวุ่นวายไปหมดท้ายที่สุดเลยส่งเรื่องมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของสติเป็นสำคัญ ดีที่คุณอัฐวุฒไม่โลภมากเลือกลงทุนในโปรแกรมที่เล็กที่สุดก่อนกับธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความสันทัด หรือมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจค่อนข้างน้อยในเอกสารของบริษัทฯ ที่แสดงเงื่อนไขการได้รับผลตอบแทน ให้ข้อมูลว่า ผลตอบแทนจะอิงกับราคารับซื้อคืนต้นไม้ที่ปลูก โดยราคารับซื้อคืน หมายถึง ถ้า ณ วันเก็บเกี่ยว ราคาตลาดของกฤษณาลดลงน้อยกว่าราคารับซื้อคืน บริษัทฯ จะจ่ายผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าราคารับซื้อคืน โดยที่ทางบริษัทจะเป็นผู้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของการตลาด รวมทั้ง กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวของลูกค้าแต่ละราย กระบวนการเก็บเกี่ยว ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยจะแจ้งรายละเอียด ขนาด ข้อมูลของต้นไม้ น้ำหนัก ราคาโดยมีการคำนวณก่อนการตัดโค่น เพื่อให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า และหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 30 วัน บริษัทฯ จะดำเนินการจ่ายคืนลูกค้าตามราคาตลาดเต็มจำนวนถ้าพูดกันแบบสั้น ราคาตลาดที่บริษัทว่ามา ก็คือราคาตลาดที่บริษัทกำหนดมานั่นเอง เพราะเป็นทั้งผู้ปลูก ผู้กำหนดจำนวนปลูก ผู้กำหนดเวลาปลูก ผู้กำหนดเวลาเก็บเกี่ยว ผู้เก็บเกี่ยวและวัดขนาด น้ำหนักของต้นไม้ และเป็นผู้จำหน่ายไม้กฤษณาด้วย จึงทำให้บริษัทเป็นผู้กุมข้อมูลสภาพการตลาดทั้งหมด      ดังนั้น ผู้ร่วมลงทุนจึงแทบไม่มีข้อมูลที่จะต่อรองได้เลย ซ้ำยังไม่มีความรู้พื้นฐานของการตลาดว่าจะไปเช็คตรวจสอบราคาตลาดเปรียบเทียบได้ที่ไหน ไม่เคยไปดูสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไม่เคยเห็นขนาดของต้นไม้ที่ตนเองปลูกชัดๆ  ข้อมูลทุกอย่างบริษัทฯจัดทำให้ ผู้ร่วมลงทุนเป็นแต่เพียงผู้รับทราบข้อมูลที่บริษัทแจ้งมาเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อเซ็นยินยอมรับในราคาแล้วก็ยากจะดึงกลับคืนมาได้มีจุดเดียวที่พอจะต่อสู้กันได้คือ การจ่ายเงินคืนลูกค้าเกิน 30 วัน จึงได้แนะนำให้ติดตามเงินผลตอบแทนที่บริษัทฯ ตกลงจะจ่ายให้อย่างใกล้ชิด ท้ายสุดคุณอัฐวุฒได้ถอนหายใจโล่งอกเมื่อได้รับเงินขั้นต่ำสุดในท้ายที่สุดในเวลาไม่นานนัก โดยได้กำไรเพิ่ม 55,500 บาทด้วยระยะเวลาลงทุน 6 ปี“เอาน่ะ ยังได้” คุณอัฐวุฒรำพึง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 3 “ฟ้องทั้งที ต้องทำให้ดัง”)

เจอกันอีกครั้ง กับกรณีทีวี “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ ผู้บริโภคตัดสินใจ ปฏิบัติการ “สิบล้อชนตึก” นั่นคือต้องฟ้อง แต่ใครล่ะ! ที่จะฟ้อง   และจะฟ้องศาลไหน?   ที่สำคัญคือเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อน  และมีเวลากระชั้นชิด  เพราะนัดการถ่ายทอดก็ลดลงทุกวัน  จากการตั้งวงคุยก็ได้ข้อสรุปว่ากรณีจอดำเป็นการละเมิดสิทธิ การเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคอย่างชัดเจน  เป้า.....การฟ้องก็หนีไม่พ้นการฟ้องให้เป็นคดีผู้บริโภค ภายใต้กฎหมาย วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  แต่การฟ้องด้วยกฎหมายนี้ฟ้องแทนไม่ได้  ต้องให้ผู้เสียหายมาเป็นผู้ฟ้องด้วยตนเอง   และด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราหาผู้ร่วมฟ้องได้ 5 คน  คือ(ภายในไม่กี่ชั่วโมง) 1. นางสาวสารี   อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  2. นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 3. นางสาวเรณู  ภู่อาวรณ์   ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  4. นายขวัญมนัส  ภูมินทร์   ตัวแทนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี  5. นายเฉลิมพงศ์  กลับดี  หัวหน้าศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     ซึ่งต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้   มีทั้งเสียงชื่นชม   และเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ อื้ออึง... ทั้งว่าคนฟ้องเป็นพวกอยากดูฟุตบอลจนขึ้นสมอง   ไม่ยอมลงทุน(ซื้อกล่อง) ดูไม่ได้แล้วออกมาตีโพย  ตีพาย ...(ว่าไปนั่น..)  บ้างก็ว่า ประเด็นนี้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มาทำเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ทำไม  มีเรื่องใหญ่ๆ กว่านี้มากมาย  ทำไมไม่ไปทำ   แต่หลายเสียงก็ชื่นชมบอกขอบคุณที่ช่วยออกมาส่งเสียงต่อสังคมว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกเอาเปรียบ  มีทั้งโทรมาเชียร์  จดหมายมาร้องทุกข์ เมื่อคนทำงานอย่างเรา เจอทั้งกองเชียร์ และคนที่ตั้งคำถาม ก็ทำให้มึนๆ ดีเหมือนกัน   แต่ที่แน่ๆ คือต้องเดินหน้าฟ้องสถานเดียว   เพราะเรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือน   ที่สำคัญการฟ้องครั้งนี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลุกขึ้นมาทำหน้าที่(ที่ต้องทำ)  โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคประเด็นนี้ให้ชัดเจน   ให้เป็นบรรทัดฐานการให้บริการฟรีทีวีในประเทศไทย     เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ  ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ฟ้องร่วมกันเขียนคำฟ้อง  และเตรียมพยานส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ   ต้องทำเองทุกขั้นตอนเพื่อความรอบคอบของคดี   เมื่อคดีนี้กระทบผู้บริโภคจำนวนมาก    การฟ้องคดีก็ต้องฟ้องให้ดังๆ ดังนั้นก่อนฟ้องจริง  กลุ่มผู้ฟ้องได้จัดเวทีแถลงข่าว  เพื่อให้ฝ่ายธุรกิจรู้ว่าผู้บริโภค “สู้โว้ย...แล้วนะ...” ที่มากไปกว่านั้นคือพวกเรานัดหมายศาลออกอากาศกันเลย......ว่าเราจะไปฟ้องกันวันไหน เพื่อให้ศาลเตรียมการ  หลักจากการแถลงข่าวของพวกเรา (ได้ผลมากกก........)  เพราะสามารถทำให้นักการเมืองที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง   แสดงตัวออกมาเป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารแกรมมี่มาหารือเพื่อแก้ปัญหา “จอดำ” อย่างเร่งด่วน...(ทั้งที่เดิมหลับอยู่) กำลังเข้มข้น  เจอกันเล่มหน้านะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ช่วยบอกหน่อยว่าเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน

“เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ก่อนจัดจำหน่ายไปยังลูกค้า ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์”ใครที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ถ้าเพ่งพินิจหน้าซอง มักจะเห็นข้อความโฆษณาเลิศหรูแบบนี้ แต่มันไม่จะไม่มีข้อความส่วนไหนที่บอกให้คุณรู้เลยว่า มันเป็นหมันคุณดาลิน เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมี และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 ที่ผ่านมานี่เอง เธอไปออกบูทงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุด มีเกษตรกรรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทด้านเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ว่า เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ซื้อมา เพาะปลูกไปแล้วไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกอีกครั้งได้  เช่น พริกก็เป็นหมัน  เอามาทำพันธุ์เพาะปลูกต่อไม่ได้   แม้กระทั่งตัวคุณดาลินเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่มีใจรักด้านการเกษตร ลงทุนร่วมกับพี่ชายไปซื้อที่ทำนาในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากบริษัทข้ามชาติมาปลูก เมื่อปลูกและได้ผลผลิตข้าวแล้ว จะเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก  ปรากฏว่าเสียรู้  เพาะปลูกไม่ขึ้นในฤดูกาลถัดไป หรือปลูกได้ก็ได้ผลผลิตแย่มากไม่เหมือนปลูกครั้งแรกคุณดาลินเธอบอกว่า เคยติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานด้านเกษตรหลายหน่วยงานอย่าง กรมวิชาการเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงกรมวิชาการพันธุ์พืชได้คำตอบจากข้าราชการไทยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกษตรกร รู้อยู่แล้ว ทำไมไม่ไปร้องเรียน ....ที่อื่น”คุณดาลินเห็นว่า หากเกิดความเสียหายด้วยความไม่รู้ของเกษตรกรแล้วมาร้องทุกข์ ก็จะโดนภาษาจากข้าราชการ อย่างนี้เช่นเดียวกัน และ อาจโดนคำพูดปลอบใจว่า เค้ารู้กันทั่วบ้านเมือง ...ดิฉันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เคมี ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าคำว่า OP ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน คำว่า S1 ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน หรือคำว่า เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน “ข้อความแบบนี้เป็นภาษาที่ไม่สื่อ ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ชัดเจน กำกวม และทำให้ เกษตรกรเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุให้เกิดการหลงเชื่อไปในทางเข้าใจผิดได้ อยากจะขอให้มีการเพิ่มข้อความ ระบุบนซองเมล็ดพันธุ์  ที่ขึ้นชื่อว่า OP, S1, เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือเมื่อมีแนวโน้มเอียงไปในทางไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  ให้มีถ้อยคำเพิ่มเติม  ดังนี้1.ให้ระบุฉลากให้มีคำว่า  เมล็ดพันธุ์ “ หมัน “ บนหน้าซอง2.ให้ระบุฉลาก ให้มีข้อควรระวังว่า “ ไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป“ บริเวณด้านหลังซองเพื่อป้องกัน  ความเข้าใจผิด  หรือลดการหลงผิดแก่เกษตรกรรายใหม่  และช่วยทำให้เกษตรกรที่มีการศึกษาน้อย วุฒิการศึกษาขั้นประถมศึกษา สามารถอ่านภาษาไทย  แม้เขียนภาษาไทยไม่ได้ ได้รู้ถึงความหมาย เมื่อแรกที่หยิบซองเมล็ดพันธ์ขึ้นมาอ่าน  และเข้าใจได้ทันที  ด้วยภาษาที่ง่าย หรือเป็นภาษาที่ใช้งานกันบ่อยในชีวิตประจำวัน   และแปลความหมายเข้าใจได้ง่ายกว่า  คำว่า  พันธ์ลูกผสม  (ซึ่งข้าพเจ้า วุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาเคมี ยังไม่รู้เลยว่า  ผลคือ หมัน ) แล้วจะคาดหวังเกษตร หลงเข้าใจได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหานายอำพล เสนาณรงค์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงพันธุ์พืชที่เรียกว่าพันธุ์ลูกผสมไว้ว่าพันธุ์ลูกผสม  หมายถึง  ลูกผสมชั่วที่  ๑  (F1) ของพันธุ์สองพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่ของพันธุ์ลูกผสมอาจจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ประชากร หรือพันธุ์บริสุทธิ์  ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะลูกผสมมักมีผลิตผลสูงและคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เรียกว่า "ความดีเด่นของลูกผสม" (Hybrid vigor  หรือ Heterosis)   และเกษตรกรผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูปลูก  เนื่องจากลูกชั่วต่อไปของลูกผสมจะมีผลิตผลลดลง  และคุณสมบัติอื่น ๆ ปรวนแปร และไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ เพราะบริษัทผู้ผลิตจะหวงพันธุ์และเก็บไว้เป็นความลับ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพด ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดาลิน ที่อยากจะเห็นข้อความที่ให้สารสาระบ่งชี้ชัดเจนเข้าใจโดยไม่คลาดเคลื่อนว่า เมล็ดพันธ์ลูกผสมใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมล็ดที่ได้จากการปลูกครั้งแรกไม่สามารถนำมาเพาะปลูกได้อีก หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้เกษตรกรได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับปรุงการแสดงฉลากบนซองเมล็ดพันธุ์ให้มีความชัดเจนนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >