ฉบับที่ 267 ประกาศเลิกวิ่งเทรลกะทันหันแค่ 1 วัน ทำอะไรได้บ้าง

        คุณตุ๊กตาและครอบครัวหลงใหลการวิ่งมาราธอนมาก โดยเฉพาะวิ่งเทรล (Trail Running) หรือการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้ากว้าง แล้วแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน เมื่อได้ทราบข่าวการวิ่งเทรลที่เกาะช้าง โดยบริษัทจัดงานที่มีชื่อเสียง คุณตุ๊กตาจึงสมัครทันทีไม่รีรอ และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะบริหารจัดการเรื่องตั๋วเรื่องที่พักบนเกาะช้างอย่างว่องไว พร้อมกับคาดหวังถึงความสุข สนุกสนานของงานวิ่งครั้งนี้         “เราสมัครวิ่งตั้งแต่เมษายน 2565 ล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ เสียค่าสมัคร 2,400 บาท เป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วยังจ่ายเงินค่าโรงแรมไปอีก 4,000 บาท มีค่าเดินทางด้วยแล้วนี่ก็เตรียมพร้อมล่วงหน้าไปถึงก่อน เข้าพักแล้วด้วย อ้าวเฮ้ย...บริษัทผู้จัดงานประกาศยกเลิกผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะวิ่งแค่ 1 วัน เงิบเลยค่ะ”         คุณตุ๊กตาเล่าว่าในเพจของผู้จัดงานแจ้งเหตุผลว่า งานล่มเพราะทางอุทยานแห่งชาติหมูเกาะช้างและเทศบาลตำบลเกาะช้าง ไม่อนุญาต “แบบนี้ก็แสดงว่าทางผู้จัดการไม่ได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตใช่ไหม บริษัทนี้ใหญ่มากนะทำไมทำงานพลาดเรื่องง่ายๆ แค่นี้” และถึงทางบริษัทจะประกาศคืนเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า ชดเชยสิทธิประโยชน์  แต่ต้องรอนานพอสมควรคือจ่ายคืนเป็นรอบไม่ใช่ทันที ตอนนี้ใกล้ถึงรอบที่เราต้องได้รับการชดเชยค่าสมัครแล้วยังไม่มีการติดต่อมาเลยดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เป็นคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         งานวิ่งเทรลนี้เป็นงานใหญ่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2000 ราย เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตรวจสอบจากข้อความหน้าเพจของทางผู้จัด เมื่อ 18 เมษายน 2566 ปรากฎข้อความแจ้งคืนเงินให้ผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่องขอรับการชดเชย ซึ่งยังปรากฎว่ามีผู้เสียหายหลายคนยังไม่ได้รับการคืนเงิน สำหรับคุณตุ๊กตานั้น ทางศูนย์ฯ ได้ช่วยทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เร่งชดเชยเงินต่อผู้ร้องตามกำหนด แต่ขณะที่เขียนบทความนี้คุณตุ๊กตายังไม่ได้เงินคืนตามรอบที่กำหนดไว้ คือ 24 พฤษภาคม และสำคัญสุดคือ บริษัทประกาศชดเชยเฉพาะค่าสมัครวิ่ง ไม่รวมกับค่าเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก         กรณีคุณตุ๊กตา เป็นเพียงผู้ร้องรายเดียวที่ติดต่อมาที่ มพบ. ดังนั้นเพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง มุลนิธิฯ จึงประกาศแจ้งให้ผู้เสียหายจากงานวิ่งเทรลเกาะช้างเร่งส่งหลักฐานมาที่ www.ffcthailand.org/complaint  เพื่อนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดงานเพื่อให้คืนเงินอย่างเร่งด่วน และหากเจรจาไม่เป็นผลอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ไปต่างประเทศ 10 วันฝากเลี้ยงนก แต่นกตาย

        หัวอกคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะแมว สุนัข กระต่ายหรือนก สัตว์เหล่านี้ยิ่งเราเอ็นดูมันมากก็ห่วงมันมากหากต้องมีธุระต้องเดินทางห่างจากสัตว์เลี้ยงหลายวัน มันจะอยู่จะกินอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่คนเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องรวมเข้าไปในคู่มือการเลี้ยงด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีสถานให้บริการรับดูแลสัตว์เลี้ยงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากมาย ทั้งรับเลี้ยงดูแลแบบค้างคืน ดูแลตามบ้าน แต่สถานบริการที่เปิดหลายแห่งเหล่านี้บางแห่งอาจไม่ใช่มืออาชีพ บริการไม่ดีจนทำให้ผู้เลี้ยงต้องเสียใจก็มีอยู่ จึงต้องเลือกให้ดีๆ          คุณขวัญใจ ผู้เสียหายที่ได้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เล่าว่า เธอได้ใช้บริการสถานรับดูแลสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งและได้ฝากเลี้ยงนกแก้ว 8 ตัว เป็นเวลา 10 วัน เพราะเธอต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทว่าต่อมาพบว่าระหว่างอยู่ในบริการของสถานรับเลี้ยงดังกล่าวนี้ นกของเธอได้ตายไป 1 ตัว         คุณขวัญใจรักนกแก้วเหมือนลูก  นกแก้วของคุณขวัญใจเป็นสายพันธุ์  “ไวท์ บิลลี่ ไคท์”  ( White bellied caique ) ตัวเล็กน่ารัก สีสันสวยงาม สามารถพูดและเลียนแบบเสียงคนได้ นิสัยร่าเริง ฉลาด เรียนรู้ไว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาตัวละประมาณ 35,000 บาท  คุณขวัญใจฝากเลี้ยงเป็นเวลา 10 วัน รวมราคารับฝากเลี้ยง 7,200 บาท  โดยแยกเลี้ยงกรงละ 2 ตัว         วันแรกที่เข้าใช้บริการคือวันที่ 10 เมษายน ทางร้านยังแจ้งทางไลน์ให้คุณขวัญใจทราบว่าการเลี้ยงดู เรียบร้อยดี เป็นไปตามขั้นตอน แต่นกตัวโต ชอบรังแกนกตัวเล็กแบบรุนแรง  เมื่อคุณขวัญใจให้ทางร้านถ่ายคลิปให้ดูทางร้านกลับเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอ ต่อมาวันที่ 15 เมษายน ทางร้านได้แจ้งว่า อากาศร้อนจนทำให้นกหอบคุณขวัญใจจึงขอให้ทางร้านเปิดแอร์ให้นกตลอดเวลา แล้วจะเพิ่มเงินให้ ... แต่ต่อมาอีกเพียง 3-4 ชั่วโมง  ทางร้านแจ้งว่านกตีกันตายแล้ว 1 ตัว   คราวนี้มีส่งคลิปให้ดู         เมื่อได้ดูคลิปเห็นอาการคุณขวัญใจจึงทราบทันทีว่า ทางร้านไม่ช่วยเหลือนกออกจากกรงและช่วยนำตัวที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งทางร้านอ้างว่า ต้องดูแลนกอีกจำนวนมากแล้วไม่รู้จักหมอที่รักษานกเป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ คุณขวัญใจได้ถามหาความรับผิดชอบจากร้าน  แต่ทางร้านให้คำตอบว่า “ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ “  !!! คุณขวัญใจโมโหมาก นกตายก็เสียใจมากแล้ว เจอทางร้านปัดความรับผิดชอบอีก จึงขอคำปรึกษามา แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะให้แจ้งความที่สถานีตำรวจไว้เพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อมูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายไปถึงร้านเพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ย เบื้องต้นการเจรจาไม่บังเกิดผล ดังนั้นคุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว  โดยทางศูนย์ฯ จะให้ความช่วยเหลือเรื่องข้อกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 จองรถทัวร์แต่ขึ้นไม่ได้ เพราะรถออกก่อนกำหนดเวลา

        จู่ๆ ถูกเท มันก็จะเคว้งคว้างหน่อยๆ นี่คือเรื่องราวของ “คุณเมฆ”ที่จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพอถึงเวลากลับไม่เจอรถที่จุดจอดตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพราะ “รถทัวร์ออกไปก่อนเวลา” เสียแล้ว ทำให้คุณเมฆต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับ เพราะต้องมาทำงานให้ทัน รวมมูลค่าความเสียหายที่ซื้อตั๋วรถทัวร์แต่ไม่ได้รับบริการและซื้อตั๋วเครื่องบินเกือบ  5,500 บาท         ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา “คุณเมฆ” เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต  ขากลับวันที่ 16 เมษายน  2566 ได้จองตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เป็นรถทัวร์ Premium first class VIP24  ตั๋วราคา 1,192 บาท  นัดหมายขึ้นรถเวลา 18.10 น. ตามที่พนักงานของบริษัทรถทัวร์โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้า   “คุณเมฆ” ไปถึงสถานีขนส่งก่อนเวลารถออกด้วยซ้ำเผื่อไว้เพราะไม่ชำนาญทาง แต่กลับไม่พบรถทัวร์คันที่ตนเองจองไว้  สอบถามรถทัวร์คันอื่นๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  บอกตรงกันว่ารถคันที่ผู้เสียหายจองไว้  ขับออกไปแล้ว คุณเมฆงงใจมาก ฉันมาก่อนเวลาด้วยซ้ำทำไมออกไปก่อน ทำไมไม่รอ นี่ทิ้งฉันใช่ไหม เรียกว่าสารพัดคำถามผุดขึ้นมาในหัวอยู่ตลอดเวลา         คุณเมฆพยายามติดต่อหาบริษัทขนส่งรายนี้ทุกช่องทางเพื่อแก้ปัญหา ทว่าติดต่อไม่ได้เลย  เมื่อล่วงเลยมา 1 ทุ่มเศษ  ตั๋วรถทัวร์บริษัทอื่นๆ ก็ไม่มีขายแล้ว  คุณเมฆจึงจำต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ราคา 4,250 บาท และขึ้นเครื่องเวลา 21.20 น. เพื่อให้ทันกลับมาทำงานที่กรุงเทพในวันรุ่งขึ้น “ผมทำอะไรได้บ้าง” คือคำขอที่ส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “เอาเปรียบกันเกินไป ผมต้องการค่ารถทัวร์คืนและชดเชยค่าเครื่องบินให้ผมด้วย”  แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำ ดังนี้  (1) ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ  ส่งถึงบริษัททัวร์เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (2) รวบรวมหลักฐานนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการทางคดีร้องเรียนเรื่องรถโดยสารสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก ขณะเดียวกันทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัททัวร์ให้เร่งดำเนินการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค  โดยขอรับทราบผลดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษรและได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะเพื่อหาข้อตกลงในการเยียวยาผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เจอแมลงสาบในอาหารของห้างดัง

        ในโลกออนไลน์มีข่าวการพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ เองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ละกรณีชวนให้คิดว่าทำไมกระบวนการผลิตจึงมีปัญหา เพราะขาดการควบคุมเรื่องสุขอนามัยหรือขาดความรอบคอบใช่หรือไม่         เหมือนกับผู้ร้องรายนี้ คุณน้ำตาล เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เธอได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเธอก็เลือกที่จะกินอาหารตามสั่งในโซนศูนย์อาหารของห้าง ขณะกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยจนใกล้จะหมดจานแล้ว ก็พบว่า... มันมีอะไรแปลกๆ นะที่อยู่ในจานนั้น เมื่อลองเขี่ยดูก็พบว่า มันคือน้องปีเตอร์ (แมลงสาบนั้นเอง) เธอตกใจมาก พะอืดพะอมขึ้นมาทันที ทำไมอาหารที่กินถึงมีแมลงสาบได้และก็กินอาหารไปแล้วเกือบจะหมดจาน เลิกกินสิคะ แล้วนำจานไปบอกที่ร้านทันที พร้อมกับแจ้งพนักงานของทางห้างด้วย ทางร้านค้าก็ได้มีการขอโทษขอโพยกับเธอและพร้อมจะจ่ายค่าอาหารคืนให้        แต่...เธอนั้นอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ จึงได้มีการปฏิเสธทางร้าน โดยจะไม่รับเงิน และแจ้งกับทางพนักงานของห้างว่า “เธอจะไปตรวจสุขภาพและทางร้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”  ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องเธอไว้และแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปหาผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทันทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอเอกสารเพิ่มเติม พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และวันถัดไปทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงบริษัทฯพร้อมสำเนาหนังสือไปยังสาขาที่เกิดเหตุเพื่อขอให้ดำเนินแก้ไขปัญหาต่อมาจึงได้ประสานติดต่อพนักงานของห้าง ทราบว่า ทางบริษัทฯ  ได้ดำเนินการเยียวยาค่าเสียหายกับผู้ร้องไปแล้ว โดยมีค่าชดเชยเยียวยา ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพ  ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา  ค่ายาที่ผู้ร้องซื้อจากร้านยารวมทั้งสิ้น 7,020 บาท ซึ่งทางผู้ร้องก็ได้ตกลงรับเงินเยียวยาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ระวัง “ไลฟ์ tiktok หลอกกินเงิน”

        แอพ tiktok นั้นฮิตติดลมบน มีคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แน่นอนคอนเทนต์ขายของก็มาด้วย เจอที่ดีก็ดีไป เจอแย่ๆ จะเสียใจเจ็บใจอย่างเช่นผู้ร้องรายนี้ ดังนั้นก่อนจะหลงคารมผู้ขาย ท่องไว้อย่ามือไวโอนเร็ว         “สวัสดี ทุกคน ผมบอสหนึ่งเรากำลังตามหาผู้โชคดีได้สิทธิ์ซื้อ iPHONE มือ 1 รุ่นล่าสุด ราคาถูกสุดๆ 499 บาท ถ้าคุณอยากได้ของดี ของถูกต้อง @ LINE มาหาเรา แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ แล้วเราจะสุ่มเลือกผู้โชคดี”         ยังไม่สิ้นเสียงบอสหนึ่ง คุณสมชายผู้เสียหายของเรา LINE ไปทันที “บอสหนึ่งแจ้งรับโปร 499 จากนั้นแป๊บเดียวมีเสียงไลน์แจ้งเตือนเข้ามา แอดมินแจ้งว่า “คุณ (คุณสมชาย) เป็นผู้โชคดีได้ iPhone 13 Pro มือ 1 มูลค่าเกือบ 4 หมื่นบาท แต่คุณจ่ายเงินแค่ 499 บาท ก็รับของได้เลย”         คุณสมชายรู้สึกดีใจมากๆ “โหย โคตรโชคดี” (เขาคิดในใจ) ที่ตนเองเป็นผู้โชคดี ดังนั้นจึงส่งข้อความ “แอดมินส่งบัญชีรับโอนมาเลยครับ” ก็คนมันดีใจมากไม่ทันคิดอะไร จ่ายแค่เงินไป 499 บาท ได้ iPhone 4 หมื่นเลยนะ ทว่าทันทีที่ส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ไป อีกฝั่งก็บล็อกไลน์คุณสมชายทันควัน ติดต่อไม่ได้อีกเลย         แน่ใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ๆ หลังจากหลงกลจากคำเชิญชวนใน วันเกิดเหตุ 1 มีนาคม 2566  ไลฟ์ tiktok บัญชีที่ชื่อว่า steamedboss (บอสหนึ่ง) ไม่คิดเลยว่าจะถูกโกงไม่รู้จะเอาเงินคืนอย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝากเตือนใจกันไว้ อย่าโอนไว กรณีนี้ “เป็นการสุ่มรับโทรศัพท์หลอกว่าจะได้โทรศัพท์...สุดท้ายไม่ได้รับอะไรเลย พฤติการณ์แบบนี้เจตนาโกงชัดเจน เพราะบล็อกทุกช่องทางการติดต่อเข้าข่ายฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ โดยต้องบอกถึงพฤติการณ์ที่บ่ายเบี่ยงของผู้ขาย ซึ่งน่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ การร้องทุกข์นี้ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นคดีอาญาจะขาดอายุความไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 จะไปซับพอร์ตนักร้องคนโปรด เจอผู้จัดโหดซะงั้น

        แฟนคลับนักร้องเกาหลีกลุ่มหนึ่งร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า คอนเสิร์ต Mark TUAN the other side Asia Tour 2023 ซึ่งจัดที่ กรุงเทพฯและขอนแก่น (มาร์ก ต้วน เป็นหนึ่งในสมาชิกก็อตเซเวน บอยแบนด์เกาหลีใต้) ที่พวกเขาได้จ่ายเงินจองตั๋วไปนั้น ผู้จัดงานประกาศเปลี่ยนผังเวทีกะทันหัน อ้าวเฮ้ย... ที่จองและจ่ายเงินกันแพงๆ ก็เพราะอยากจะอยู่ในโซนที่พร้อมฟินกับนักร้องนะเฮ้ย ทำกันแบบนี้ได้อย่างไรละเมิดสิทธิกันชัดๆ         น้องแพรวหนึ่งในกลุ่มคนที่เสียหายไม่พอใจการทำงานของผู้จัดคอนฯ มาก จึงรวมตัวนับร้อยคนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่า ตนเองและเพื่อนซื้อบัตรคอนฯ รอบการเปิดขายบัตรรอบปกติวันแรก 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นบัตรราคา 6,500 บาท ซึ่งเป็นบัตรยืนและจะได้ใกล้ชิดศิลปินแบบติดขอบเวที แต่พอวันที่ 4 เมษายน บริษัทผู้จัดงานกลับประกาศเปลี่ยนผังเวทีใหม่ ซึ่งผังเวทีใหม่นี้ทำให้ผู้ซื้อบัตรราคา 6,500 บาท ถูกร่นมาอยู่ด้านข้างแต่ผู้ซื้อบัตรราคา 5,500 บาท กลายเป็นผู้ที่ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ชิดกับศิลปินแทน (บัตรราคาข้างต้นเป็นรอบการแสดงที่จะจัดที่กรุงเทพฯ 5-7 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี)         ดังนั้นพวกเขาจึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเหลือ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะที่ตัดสินใจซื้อบัตรราคาแพง เพราะผังเวทีเป็นตัวจูงใจได้ใกล้ชิดศิลปิน แต่ผู้จัดเวทีกลับมาเปลี่ยนผังเวทีเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กลายเป็นว่าคนที่ซื้อตั๋วราคาแพง “ได้เห็นแต่ก้นของศิลปิน” แต่คนซื้อตั๋วราคา 5,500 บาท กลับได้อยู่ได้อยู่หน้าเวทีแทน ทั้งที่การจะจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งต้องผ่านการพูดคุยกับศิลปินและทีมงานจากต่างประเทศจนเบ็ดเสร็จหมดแล้วจึงค่อยเปิดขายตั๋วแต่นี่กลับมาลักไก่ทำแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การซื้อตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่พบว่า ผู้บริโภคโดนละเมิดสิทธิมากขึ้นโดยเฉพาะความไม่พอใจที่เกิดจากผู้จัดคอนเสิร์ตไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุในการขายตั๋วได้ เมื่อรับเรื่องราวจากผู้บริโภคแฟนคลับนักร้องดังท่านนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงช่วยเหลือด้วยการช่วยเจรจากับผู้จัดคอนเสิร์ต Mark TUAN ( มาร์ก ต้วน ) ให้ผู้ซื้อบัตรที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่ สามารถแจ้งเรื่องเพื่อรับเงินคืนได้         โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยสอบถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยนผังเวทีโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้า ทางเจ้าหน้าที่ของ brite_panther ที่เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอ้างว่า การจัดผังเวทีใหม่เป็นความต้องการของ Mark TUAN ที่ต้องการให้ใกล้ชิดศิลปินมากยิ่งขึ้น ทั้งจากเวทีกรุงเทพฯ และขอนแก่น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นข้อเสนอให้ผู้จัดฯ ควรออกประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วที่ไม่พอใจกับผังเวทีใหม่ซึ่งทางผู้จัดฯ รับปากดำเนินการ         ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้จัดฯ ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก Brite Panther โดยระบุข้อความว่า จากผลกระทบของการปรับผังเวทีต่อความรู้สึกของแฟนคลับที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพและบัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE HALL) ทางผู้จัดได้มีการเปิดให้ผู้ประสงค์จะขอคืนเงิน ผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/2EBm5cTUdGQBjgnN8 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. นอกจากนี้ หากมีความประสงค์จะอัพเกรดที่นั่งผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/SHnC1Q29msDCYsoB9 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำรายการ         อย่างไรก็ตามผู้จัดฯ ระบุเงื่อนไขการคืนเงินต้องไปดำเนินการ ที่เซเว่น-อีเลฟเว่น เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ทำไมไม่ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ของผู้ซื้อโดยตรง เพราะบางคนมีที่พักอยู่ไกล เช่น ในต่างจังหวัด ที่สำคัญการจัดทำผังเวทีหรือรูปแบบใดของการจัดคอนเสิร์ตต้องดำเนินการให้เบ็ดเสร็จและรอบคอบก่อนเปิดขายบัตรไม่ใช่มาเปลี่ยนรายละเอียดระหว่างทาง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและที่สำคัญการแจ้งให้ผู้คืนบัตรคอนเสิร์ตต้องมาลงทะเบียนผ่านช่องออนไลน์ อาจรับรู้ไม่ครอบคลุมทุกคนเพราะผู้ซื้อบัตรที่เป็นผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กและ ทวิตเตอร์มีน้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มีหมายศาลเรียกให้ไปจ่ายค่าไฟจากบ้านที่ขายไปเมื่อ 20 ปีก่อน

        เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้         คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2         เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544)  นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น  “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ”           แนวทางการแก้ไขปัญหา         จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า  “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า”         หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย         คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้         คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป         ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >