ฉบับที่ 179 คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะ

คงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตามเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลยและผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 Course เสริมความงาม ที่ไม่ได้อยากสมัคร

สาวๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่มักจะถูกหว่านล้อม ตามติดประชิดตัว เมื่อเดินผ่านหน้าบูธขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็มีบางส่วนที่รอดตัวกลับบ้านสตางค์อยู่ครบ แต่อีกบางส่วนก็กลายเป็นสมาชิกไปแบบงงๆ ก็มี ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องหลายคนที่มาร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิกรณีที่หนึ่ง สมัครเพราะเกรงใจ สำหรับประเด็นนี้มีผู้ร้องหลายคนที่พบปัญหา เช่น คุณ ก ตกลงสมัครรับบริการเสริมความงามของ บริษัท A โดยชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไปจำนวน 25,000 บาท เมื่อกลับบ้านก็คิดได้ว่า พลาดที่เกรงใจสมัครไป จึงต้องการยกเลิก เมื่อโทรศัพท์กลับไปแจ้งที่สถานบริการดังกล่าว พนักงานก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถยกเลิกและคืนเงินได้แล้ว หรือ คุณ ข ที่ถูกพนักงานชักชวนให้ใช้บริการเสริมความงาม ของบริษัท S พูดคุยกันไปได้สักพัก ผู้ร้องก็ได้ตกลงเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต จำนวน 30,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ฉุกคิดได้ว่าไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว และทางครอบครัวก็ไม่สนับสนุน จึงต้องการเงินคืน ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องอ้างว่า เป็นการสมัครเข้าร่วมแบบไม่ได้ตั้งใจแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ผู้ร้องเข้ามาร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงชี้แจงถึงกรณีที่จะบอกเลิกสัญญาได้ คือ เราต้องมีเหตุผลในการยกเลิก เช่น ทำให้เราได้รับความเสียหาย หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ทำไว้ในสัญญา แต่หากผู้ร้องต้องการยกเลิกจากเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเล่นต่อแล้ว หรือไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้ว เพราะ ครอบครัวไม่ต้องการ หรือหลงเข้าไปทำเพราะคำพูดของผู้ขาย ก็ไม่สามารถที่จะยกเลิกได้เนื่องจาก ผู้ขายยังไม่ได้ทำผิดสัญญา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราเสียเงิน ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ต้องการแบบฟรีๆ ก็ต้องเลิกเกรงใจคนอื่น แล้วกล้าที่จะพูดปฏิเสธ กรณีที่สอง เผลอให้เอกสารสำคัญของตนเอง เช่น บัตรเครดิต บัตรประชาชน สำหรับกรณีนี้ผู้ร้องรายหนึ่ง ถูกพนักงานขายชักชวนให้ตรวจสภาพหน้าฟรี ของสถาบันเสริมความงาม S และได้ขอดูบัตรเครดิตจำนวน 3 ใบ เพื่อนำไปแลกของรางวัล (Gift voucher) ซึ่งหลังจากตรวจสภาพผิวหน้าเสร็จ ก็ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การลดน้ำหนัก การยกกระชับสัดส่วน โดยเสนอราคาพิเศษให้อยู่ที่ 30,000 บาท โดยภายหลังได้มีการนำเอกสารต่างๆ มาให้เธอเซ็น ซึ่งไม่ได้แจ้งว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร ด้านผู้ร้องที่ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อน ก็หลงเชื่อตกลงเซ็นชื่อเรียบร้อย และมารู้อีกว่า ตัวเองได้ตกลงเข้าโปรแกรมเสริมความงามราคา 30,000 บาท ของสถาบันดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้อง ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องได้ระบุเหตุผลที่ขอยกเลิกว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวได้ เพราะต้องไปต่างประเทศ พนักงานจึงตอบกลับด้วยการ ขยายเวลาการรับบริการให้อีก 1 ปี หรือ เสนอให้เธอเปลี่ยนเป็นสินค้าตามจำนวนเงิน ซึ่งผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการนัดเจรจาที่มูลนิธิ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาดังกล่าว บริษัทฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้อีกครั้ง คือ 1. ปรับเปลี่ยนคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 30,000 บาท 2. โอนคอร์สดังกล่าวให้ผู้อื่น 3. ขยายเวลาการรับบริการ หรือ 4. ปรับเปลี่ยนเป็นรับผลิตภัณฑ์ 15,000 บาท และคืนเงินอีก 15,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอสุดท้าย เหตุการณ์จึงยุติลง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าปัญหาเกิดจากเอกสารสำคัญของเราตกอยู่ในมือของผู้อื่น ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนเซ็นชื่อยืนยันเอกสารเหล่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 เหลี่ยมไฟแนนซ์

“เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริหารประเทศไทย ไม่เคยสนใจคนไทยด้วยกัน “ต้องรอให้ต่างชาติมาให้ใบแดงใบเหลือง” ถึงจะหูตาเหลือกลุกขึ้นมาแก้ไข แต่ถ้าเป็นความเดือดร้อนของคนไทยก้นไม่ร้อน “รอไปก่อนนะ”ชี้กันชัดๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ วินัย(นามสมมุติ) มาหารือว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มา 1 คัน โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละ 2,350 บาท เป็นเวลา 24 เดือน วินัยเล่าต่อว่าเขาผ่อนตรงตามสัญญา มาแล้ว 6 งวด(เหลือ 18 งวด) อยู่ๆ ก็ได้รับหนังสือจากไฟแนนซ์ ที่เขาผ่อนรถอยู่ เปิดอ่านก็พบว่า ทางบริษัทเสนอโปรโมชั่นใหม่ ให้กับเขา โดยมีข้อความสำคัญที่เสนอมา คือชื่นชมที่เขาผ่อนตรงตามสัญญา บริษัทเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่างวดลงบ้างในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี บริษัทยินดีเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเป็นการลดภาระในการจ่ายค่างวดของผู้เช่าซื้อดังกล่าวลง จากเดิมที่เคยจ่ายเดือนละ 2,350 บาท ปรับลดลงเป็นเดือนละ 2,069 บาท โดยเงื่อนไขใหม่ระบุชัดเจนว่าผ่อนงวดละ 2,060 บาท โดยผ่อนต่อจากสัญญาเช่าซื้อเดิมที่ชำระไว้แล้วต่อไปอีก 27 งวด วินัยบอกอีกว่า ถ้าดูเผินๆ ก็จะมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อลูกค้าชั้นดีอย่างเขา แต่เท่าที่อ่านและวิเคราะห์โปรโมชั่นนี้ แยกแยะเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทไฟแนนซ์ได้ดังนี้ 1. โปรโมชั่นนี้จะเลือกเฉพาะลูกค้าที่จ่ายค่างวดตรงเวลา ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายแน่นอน 2. โปรโมชั่นนี้ เป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ผ่อนชำระเข้าใจได้ว่า ตนเองจะจ่ายเงินน้อยลง 3. โปรโมชั่นนี้ เสนอมาอย่างหว่านแห หากผู้เช่าซื้อไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นเหยื่อทันที เพราะผลจริงๆ หลังจาก บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าข้อเสนอนั้นไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นข้อเสนอแบบ”ลับ ลวง พราง” เป็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัท เพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้เช่าซื้อ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดูง่ายๆ คือเอายอดที่ต้องผ่อนเดิมเดือนละ 2,350 บาท มาคูณค่างวดที่เหลืออีก 18 เดือน เขาจะจ่ายเงินอีกเพียง 42,300 บาท แล้วก็ลองเอาตัวเลขที่บริษัทเสนอมาให้ผ่อนเดือนละ 2,069 บาท มาคูณ 27 เดือน ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 55,863 บาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,563 บาท เห็นชัดๆ ว่าหากผู้เช่าซื้อหลงเชื่อ ทำตามข้อเสนอของบริษัท ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัทเรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นตัวอย่าง ที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ของประเทศไทย “อ่อนแอ ไร้การควบคุม” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ของหมดอายุ ควรมีอยู่ในห้างหรือไม่

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเลือกซื้อสินค้าสำหรับการบริโภค สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการตรวจสอบคือ วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ แต่หากเรารีบและไม่ได้ซื้อจำนวนมาก ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะลืมตรวจสอบสิ่งสำคัญเหล่านี้ไป ซึ่งหากเราดวงซวยไปซื้อของที่หมดอายุมากิน ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการทิ้งไปเฉยๆ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณกิตติยาซื้อขนมปัง ยี่ห้อ เอ พลัส ราคา 14 บาท จากมินิ บิ๊กซี ที่ปั๊มน้ำมัน บางจาก สาขา นวมินทร์ มารับประทาน ด้วยความเร่งรีบจึงไม่ได้ตรวจสอบวันเดือนปีที่หมดอายุ เพราะคาดว่าทางร้านไม่น่าจะวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุไปแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อจะนำมารับประทานก็พบว่าขนมปังดังกล่าวขึ้นรา และเลยวันหมดอายุตามที่ระบุไว้ข้างซองมานานแล้วผู้ร้องจึงเก็บใบเสร็จที่ซื้อไว้ และส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิ เพราะอยากให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายมากกว่านี้ เนื่องจากอาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่รีบซื้อสินค้า และพบปัญหาเดียวกันกับเธอก็ได้ ซึ่งเธอก็ต้องการให้ทางบริษัทรับผิดชอบ ด้วยการชดใช้เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากผู้ร้องส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ โดยแนบรูปขนมปังดังกล่าวและใบเสร็จมาด้วย ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซึ่งทางบริษัทฯ ได้นัดเจรจาติดต่อกับลูกค้า โดยภายหลังได้มีการขอโทษและมอบกระเช้าให้ผู้ร้อง แต่สำหรับการชดใช้เป็นจำนวนเงินดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ขอพิจารณาก่อน ซึ่งในที่สุดบริษัทก็ได้แจ้งว่า ยินยอมที่จะชดใช้ให้เป็นจำนวน 12,000 บาท แม้ตอนแรกผู้ร้องจะยืนยันจำนวนเท่าเดิม แต่เพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อไปนานกว่านี้ จึงต้องยินดีตอบตกลงจำนวนเงินนั้นไปถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ร้องรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ การวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุ แสดงให้ถึงความรับผิดชอบของผู้ขาย นอกจากนี้ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากว่า ที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้าง

หลายครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ติดป้ายว่า “ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน” ซึ่งบางคนอาจจะโชคดีที่ได้ของมีคุณภาพไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมสินค้าชิ้นนั้นหรือแก้ปัญหาด้วยการซื้อของใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างไรก็ตามไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่มีสิทธิจะติดป้ายเอาเปรียบดังกล่าว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณภา ต้องการซื้อกล้องวงจรปิด ที่มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ไปเดินดูที่ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ก็พบร้านที่ถูกใจ พนักงานขายแจ้งว่ามีกล้องวงจรปิดอย่างที่ต้องการ จึงตกลงซื้อมา ในราคา 1,450 บาท อย่างไรก็ตามในวันนั้น คุณภาต้องรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อ พร้อมกับที่ทางร้านแจ้งว่าคอมพิวเตอร์สำหรับไว้ใช้ทดสอบการทำงานของกล้องเสีย จึงทำให้เธอไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกล้องให้ครบถ้วนเมื่อกลับมาทดสอบด้วยตนเองที่บ้านจึงพบว่า กล้องดังกล่าวมีความละเอียดเพียง 3 แสนพิกเซลเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพลิกดูใบเสร็จรับเงินก็พบข้อความว่า สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน แต่มีการรับประกัน 1 ปี เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำก่อนเบื้องต้น   แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจากับทางร้านก่อน พร้อมส่งหลักฐานการชำระเงินและรูปสินค้ามาให้ ซึ่งผู้ร้องก็ได้ติดต่อกลับไปที่ร้าน ตามนามบัตรที่ร้านเคยให้ไว้ โดยทางร้านแจ้งว่า ไม่มีกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดเกิน 3 แสนพิกเซล อาจมีการเข้าผิดระหว่างผู้ร้องกับพนักงานขายหน้าร้าน อย่างไรก็ตามให้ผู้ร้องกลับไปที่ร้านเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งภายหลังการเจรจาทางร้านก็ยินดีรับคืนสินค้า พร้อมคืนเงินให้เต็มจำนวน เพราะผู้ร้องมีหลักฐานการชำระเงินจากทางร้านนับว่าผู้ร้องโชคดีที่ยังเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ เพราะหากเราไม่มีเอกสารอะไรไปยืนยัน ก็อาจต้องเสียเงินฟรีให้กับสินค้าที่ไม่ต้องการ และยังเปลี่ยนคืนไม่ได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อสินค้าที่ติดป้ายเช่นนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมา โดยสังเกตรายละเอียดเบื้องต้นต่างๆ คือ1. ป้ายราคาที่ชัดเจน 2. สินค้านั้นต้องสามารถจับต้อง พิสูจน์คุณภาพด้วยมือและตาของผู้ซื้อก่อนได้ หรือให้ลองได้ 3. เป็นสินค้าที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าอะไหล่ข้างใน มีประสิทธิภาพหรือเสื่อมภาพมากน้อยแค่ไหนแล้ว เช่น กรณีสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากผู้ขายติดป้ายห้ามเปลี่ยนคืน อย่างน้อยก็ต้องมีป้ายการรับประกันไว้ ทั้งนี้ หากเราโดนหลอกขายของคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับป้ายประกาศโฆษณา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะแสดงถึงเจตนาของร้านค้าที่จงใจไม่แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน อาจมีเจตนาที่จะหลอกลวงเรา หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาหลอกให้ซื้อด้วยวิธีการต่างๆ นั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ตู้เติมน้ำมัน (ไม่) อัตโนมัติ

คงไม่มีใครอยากซื้อของมาเพื่อซ่อม ยิ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่าง ตู้เติมน้ำมันอัตโนมัติด้วยแล้ว มาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งาน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่อยู่ในสถานะเป็นผู้ให้บริการ เขาซื้อตู้น้ำมันอัตโนมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราคาเกือบ 60,000 บาท พร้อมการรับประกัน 1 ปี มาให้บริการประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดใช้เครื่องก็มีปัญหาจุกจิกมาตลอด แม้จะแก้ไขปัญหาด้วยการให้ช่างของบริษัทมาเปลี่ยนอะไหล่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หายขาดได้ในที่สุดความอดทนของผู้ร้องก็หมดลงเมื่อใช้ไปได้ประมาณครึ่งปี เขาต้องการคืนสินค้าและขอเงินคืนเต็มจำนวน โดยให้เหตุผลว่าเครื่องดังกล่าวน่าจะมีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้สินค้าเสียบ่อยเกินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบเตือนภัย ลูกค้าเติมเงินแล้วไม่ได้น้ำมัน หรือหัวจ่ายน้ำมันออกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจและไม่อยากมาใช้บริการอีก นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือไม่ประทับใจบริการหลังการขายมากที่สุดอย่างไรก็ตามเมื่อเขาเสนอข้อเรียกร้องไปยังบริษัท กลับได้รับคำตอบว่าจะคืนเงินให้จำนวน 30,000 บาทเท่านั้น โดยไม่ชี้แจงเหตุผลที่ไม่คืนเงินเต็มจำนวน ซึ่งทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องทำให้หนังสือไปยังบริษัท โดยให้มีข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรูปถ่ายของตู้นำมันดังกล่าว และนัดเจรจากับทางบริษัท ซึ่งภายหลังการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทชี้แจงว่า ปกติสินค้าซื้อแล้วไม่รับคืน แต่หากสินค้าอุปกรณ์ชำรุด เนื่องจากผิดพลาดจากการผลิต ก็ยินดีเปลี่ยนอุปกณ์หรือซ่อมให้ฟรี อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการคืนเครื่องก็สามารถทำได้ แต่บริษัทจะคืนเงินให้เพียง 30,000 บาท เพราะอ้างว่าเป็นค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ หรือจะรับข้อเสนออื่นๆ จากบริษัทก็ได้ เช่น เปลี่ยนเครื่องใหม่ ด้านผู้ร้องไม่ต้องการใช้บริการกับบริษัทนี้แล้ว จึงต้องยินยอมรับเงินจำนวนนั้นไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อตู้นำมันอัตโนมัติ เมื่อได้เครื่องมาแล้วสามารถติดต่อกรมการค้าภายในที่เบอร์โทรศัพท์ 1569 ฝ่ายชั่งตวงวัด เพื่อให้มาตรวจสอบตู้น้ำมันก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับตู้น้ำมันอัตโนมัติที่ไม่ได้รับมาตรฐานนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง   วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร   ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้ เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 “อยากปิดบัญชีหนี้ ต้องมีเอกสารยืนยัน”

เมื่อมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ หากไม่อยากถูกเจ้าหนี้หลอกให้ชำระหนี้บางส่วน ลูกหนี้ต้องเรียกร้องขอเอกสารยืนยันที่ชัดเจน เพราะสามารถใช้ยืนยันทางกฎหมายได้นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการรักษาสิทธิของตัวเอง ด้วยการเรียกร้องขอเอกสารยืนยันการเจรจาปิดบัญชีหนี้ก่อนชำระเงิน ซึ่งกว่าจะได้เอกสารก็ล่วงเลยกำหนดการชำระไปแล้ว ทำให้ผู้ร้องต้องกลายเป็นคนผิดนัดการชำระหนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดอะไรผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิต ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยาจำกัด จำนวนกว่า 90,000 บาท บริษัทฯ จึงนัดเจรจา เพื่อให้เข้าโปรแกรมส่วนลดหนี้เหลือเป็น 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้ชำระภายใน 5 วันถัดมานับจากวันที่มีการเจรจา ซึ่งหากไม่ชำระจะถือว่าการเจรจาส่วนลดนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อมีเงื่อนไขแบบนี้ ผู้ร้องจึงยินดีตอบตกลง และเร่งหาเงินมาให้ครบตามจำนวนที่ได้ส่วนลดไว้ เพียงต้องการเอกสารการยืนยันที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ ก่อนการชำระหนี้นั้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ กลับแจ้งว่าสามารถชำระได้เลย โดยจะส่งเอกสารตามไปทีหลังแน่นอนว่าผู้ร้องไม่ยอมทำตามด้วยการไปชำระหนี้ก่อน ยังคงยืนยันที่จะรอเอกสารยืนยัน เพราะต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ จนในที่สุดเอกสารก็ส่งมา แต่กลับส่งเลยกำหนดการชำระหนี้ที่เคยตกลงกันไว้ จนทำให้ผู้ร้องตกอยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ และทำให้การเจรจาดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ ผู้ร้องจึงต้องการให้บริษัทฯ แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว ที่ทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้นั้นต้องสูญเปล่า จึงมาร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือทักท้วงไปที่บริษัทฯ โดยระบุสาเหตุที่ผู้ร้องไม่ชำระหนี้ว่า เป็นเพราะบริษัทฯ ทำเอกสารส่งมาให้ผู้ร้องล่าช้า และเลยวันที่กำหนดชำระหนี้ไปแล้ว ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ถือว่าเป็นคนผิดสัญญาการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างที่รอบริษัทฯ ส่งเอกสารที่แก้ไขแล้วมาให้ใหม่ ผู้ร้องยังไม่ต้องชำระหนี้นั้นหลังจากบริษัทฯ ได้รับเรื่องก็ยินยอมที่จะแก้ไขวันที่ในเอกสารให้ใหม่ เป็นวันที่ปัจจุบันและขยายกรอบเวลาออกไป ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับเอกสารยืนยันที่ชัดเจนแล้ว ก็ดำเนินการชำระหนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับเอกสารยืนยันการปิดบัญชีหนี้ สามารถถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งหากมีการเจรจาปิดบัญชีหนี้ต้องมีเอกสารยืนยันเสมอ เพราะหากเราไม่มีเอกสารยืนยัน ก็อาจกลายเป็นว่าเราถูกเจ้าหนี้หลอกให้เราชำระหนี้เพียงบางส่วนได้ และเราก็ยังคงต้องชำระเงินเต็มจำนวนเช่นเดิม หรือกรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อความบางอย่างในเอกสาร จนทำให้การเจรจาปิดบัญชีหนี้ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้อย่างไรก็ตามเอกสารยืนยันการชำระหนี้ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ควรมีคำสำคัญดังต่อไปนี้ จึงจะถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถมีผลใช้ยืนยันทางกฎหมายได้1. เลขที่สัญญา หรือ เลขที่บัญชีหนี้2. จำนวนเงินที่เป็นหนี้3. จำนวนเงินที่ตกลงกันเพื่อปิดบัญชีหนี้4. ข้อความที่ระบุว่า “หากลูกหนี้ชำระแล้ว จะถือว่าท่านชำระหนี้เสร็จสิ้น ไม่มีหนี้ค้างอยู่กับบริษัท”5. ลายเซ็นผู้มีอำนาจของบริษัทในการอนุมัติปิดบัญชีหนี้  

อ่านเพิ่มเติม >