ฉบับที่ 182 ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ความคาดหวังของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นเรื่อง สัญญาณเครือข่ายที่ดีและมีความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายผ่านการบริการที่เรียกว่า การย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการดังกล่าว โดยเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 10 วัน ภายหลังการติดต่อขอย้ายเครือข่ายใหม่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสุชาติ ซึ่งเดิมทีใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ดีแทค (Dtac) แต่พบว่าในพื้นที่ที่เขาใช้งานไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้การติดต่องานต่างๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาจึงต้องการเปลี่ยนค่ายใหม่เป็นเครือข่าย ทรูมูฟเอช (TrueMove-H) อย่างไรก็ตามภายหลังไปดำเนินการย้ายค่ายในวันที่ 13 มี.ค.และรอให้มีการรีเซทสัญญาณใหม่ครบ 3 วันแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้ โดยทางทรูมูฟเอชแจ้งว่าไม่สามารถดึงสัญญาณโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเครือข่ายเดิมไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะได้รับความเดือนร้อนติดต่องานหรือธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้เลย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามปัญหาดังกล่าวที่ Call center ของเครือข่ายดีแทค (1678) ก็ได้รับการชี้แจงว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการดึงสัญญาณ ซึ่งทางเครือข่ายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องจะสามารถโอนย้ายเครือข่ายใหม่ได้ภายในวันที่ 21 มี.ค.ทำให้สิ่งที่ผู้ร้องทำได้ในขณะนั้นคือ รอ! ให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น และในที่สุดหลังจากรอเครือข่ายเดิมดำเนินการย้ายค่ายไปทั้งหมดเกือบ 10 วัน เขาก็สามารถกลับมาใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติสำหรับเหตุการณ์นี้แม้ผู้ร้องจะได้ใช้งานเครือข่ายใหม่ที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประกาศการย้ายค่ายเบอร์เดิมของ กสทช. ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เครือข่ายใหม่ที่ดีกว่าได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ คือ กรอกแบบคำขอโอนย้ายพร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของราชการ ณ จุดให้บริการของค่ายใหม่ที่จะย้ายไป และชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการอนุมัติ ซึ่งประมาณ 3 วันทำการ (วันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้นั้น ผู้บริโภคสามารถทำตามได้จริงแค่ไหน* หมายเหตุ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการย้ายค่าย หรือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ กสทช. Call center 1200 (โทรฟรี) ซึ่งมีอำนาจตาม พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 64, 65, 66 ในการสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการย้ายค่าย ซึ่งหากฝ่าฝืน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 โปรดดูวันหมดอายุก่อนซื้อ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทางบริษัทฯ ทั้งหลายก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไรนัก ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อนซื้อ ต้องเสี่ยงดวงว่าจะสังเกตเห็นก่อนรับประทานเข้าไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อนมกล่องยี่ห้อดูแม็กไฮคิววัน จำนวน 2 แพ็ค ราคา 132 บาท จากห้างเทสโกโลตัสแถวบ้าน ภายหลังลูกชายนำนมไปดื่มก็มีอาการอาเจียนและอุจจาระเหลว เขาจึงนำนมกล่องดังกล่าวมาตรวจสอบดูและพบว่า มีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติและเลยวันหมดอายุไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีความรอบคอบในการวางจำหน่ายสินค้า และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่ง ผู้ร้องซื้อกาแฟยี่ห้อมอคโคน่า ราคา 99 บาท จากห้างเทสโกโลตัสสาขามหาชัย โดยไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุ ภายหลังนำกลับมาที่บ้านจึงสังเกตเห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เธอจึงนำสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน กลับไปที่ห้างดังกล่าว ซึ่งภายหลังการติดต่อที่จุดบริการลูกค้า เธอเรียกร้องให้ทางห้างเยียวยาค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่พนักงานกลับนำกระเช้าของขวัญมาให้ พร้อมขอเก็บสินค้าดังกล่าวไปแทน ซึ่งเธอยินยอมให้สินค้าไป แต่ยืนยันที่จะขอรับค่าเสียหาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้พนักงานจึงเสนอให้คูปองเงินสดจำนวน 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าห้างดังกล่าวควรมีความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานและขอสินค้านั้นคืน แต่พนักงานก็ได้แจ้งว่าทำสินค้าดังกล่าวหายไปแล้ว เธอจึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับ 2 กรณีข้างต้นมีประเด็นเหมือนกันคือ สินค้าหมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่าย และมีคู่กรณีเดียวกันคือห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ศูนย์ฯ จึงนัดเจรจาพร้อมกันระหว่างผู้ร้องทั้ง 2 กรณีและสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับในกรณีแรกผู้จัดการห้างได้ติดต่อผู้ร้องเพื่อขอตรวจสอบสินค้า และพร้อมจ่ายค่าเยียวยาให้จำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการนัดเจรจา ผู้ร้องทั้งคู่ต้องการค่าชดเชยคนละ 20,000 บาท ทำให้ทางบริษัทฯ ขอนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ทางศูนย์ฯ ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าต่อ ทั้งนี้แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราซื้อสินค้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อน แล้วพบว่าหมดอายุไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออย่ารีบทิ้งสินค้าดังกล่าว โดยให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ / วันหมดอายุ / ใบเสร็จรับเงิน* และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการร้องเรียน*หมายเหตุ เนื่องจากใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิด เราจึงไม่ควรทิ้งทันทีที่ซื้อของเสร็จ เพราะหากมีปัญหาอาจทำให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างลำบาก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียว

ของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่าย

แม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่กองทุนฉุกเฉิน เธอจึงต้องระดมหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กับโรงพยาบาล ภายหลังจ่ายเงินเรียบร้อย เธอจึงไปติดต่อเบิกเงินคืนจาก สปสช. ซึ่งได้คืนประมาณ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือกองทุนแจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องขอความอนุเคราะห์เบิกกับที่โรงพยาบาลดังกล่าวแทน ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องต้องการทราบว่าจะได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยทำหนังสือประสานงานไปยัง สปสช. และโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอ้างตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ภายหลังทางโรงพยาบาลยินยอมที่จะไม่เรียกเก็บเงิน พร้อมคืนเงินส่วนต่างทั้งหมดให้ ดังนั้นแนวทางสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสียเงินเมื่อเข้ารับการรักษา มีดังนี้1. หากเลือกโรงพยาบาลได้ควรเป็นของรัฐ เพราะเจรจาต่อรองได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดปัญหา2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งสำหรับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ แพทย์จะพิจาณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้ - โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น- โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน- โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต- โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด- ความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย3. หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ต้องยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยอ้างสิทธิตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเจรจาตกลงกันไม่ได้ ควรแจ้งเรื่องที่สายด่วน สปสช. (โทรฟรี) 1330 4. เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่องอ้างอิงข้อมูล: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx#b และ http://indyconsumers.org/main/index.php/information/handbook/health-service-157/168-571028016  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง

แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ระวังผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด เถื่อน

สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่คอยดูดเลือดและแฝงตัวอยู่กับน้องหมาอย่างเห็บหมัด ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนไม่อยากเจอ ทำให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาดังกล่าวจะทำให้เห็บหมัดหายไป หรือมีความปลอดภัยต่อน้องหมาและเราจริงๆเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้เห็นข่าวจากกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ที่ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดเถื่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ เขาจึงต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเป็นอีกหนึ่งในผู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รักสัตว์ทั้งหลาย จึงค้นข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องศูนย์ฯ ก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม และพบข่าวการแจ้งเตือนดังกล่าวว่า นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนผู้เลี้ยงสัตว์อย่าหลงเชื่อผู้ผลิตหรือผู้ขายยาสัตว์อวดอ้างสรรพคุณ เพราะใช้แล้วอาจมีพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท และการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของท่านพิการและตายได้ ซึ่งหากร้านใดมีการขายยาสัตว์จะต้องได้รับใบอนุญาต หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้สำหรับหลักการเบื้องต้นในการสังเกตว่าผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดยี่ห้อไหนได้รับมาตรฐาน เราสามารถตรวจสอบได้ดังนี้ 1. ยาแท้ต้องมีชื่อยา: โดยมีทั้งชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ) และชื่อสามัญทางยาหรือสารออกฤทธิ์สำคัญ2. ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยา: โดยจะสังเกตเห็นข้อความว่าทะเบียนยา เลขทะเบียนยา หรือ Reg. No. หรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งจะสังเกตเห็นข้อความ “อย. วอส.” ในกรอบสัญลักษณ์เช่น วอส. 1266/25543. ยาแท้ต้องระบุปริมาณ: หรือขนาดบรรจุของยา เช่น มียากี่เม็ด มียากี่หลอด และแต่ละหลอดบรรจุปริมาณเท่าใด เป็นต้น4. ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิต: หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต หรือครั้งที่วิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No. Cont. No. หรือ Batch No. แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต5. ยาแท้ต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต: ซึ่งจะใช้อักษรย่อว่า Mfd. หรือ Mfd. Date ตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต และระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp. Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ6. ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ผู้ผลิต: มีชื่อและสถานที่ผู้นำเข้ามาจำหน่ายระบุไว้อย่างละเอียดด้วย7. ยาแท้ต้องมีวิธีใช้: รวมถึงคำเตือน ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษา ระบุไว้อย่างชัดเจน8. หากเป็นยาพิเศษจะมีข้อความระบุด้วยอักษรสีแดงชัดเจน: เช่น ยาสำหรับสัตว์ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ แล้วแต่ว่าจะเป็นยาอะไรนอกจากนี้ยังมีหลัก 5 สอ เพื่อป้องกันพิษภัยจากยาฆ่าเห็บหมัดในสุนัข คือ1. ศึกษา: ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยอ่านจากเอกสารกำกับยาหรือฉลากยา ซึ่งภายในนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้ทั้งหมด2. สอบถาม: ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์หรือผู้รู้ให้ดีก่อนนำยามาใช้ อย่าเชื่อจากคำบอกเล่าโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ3. สวมใส่: ควรสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนตัวน้องหมาให้สวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลียสารพิษเข้าสู่ร่างกาย4. สัมผัส: หลักเลี่ยงการสัมผัสลูบคลำตัวน้องหมาที่เพิ่งใส่ยา หยอดยา ทายา หรือพ่นยาตามตัวมา ที่สำคัญควรเก็บยาที่เหลือใช้ให้พ้นมือเด็ก5. สังเกต: ให้สังเกตอาการน้องหมาหลังได้รับยาด้วยว่า มีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้หรือไม่ ถ้ามีให้รีบปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลต่อไปอ้างอิงข้อมูล: กรมปศุสัตว์ http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/1491-19-12-58 และ Doglike.com/สังคมอบอุ่นของน้องหมาสุดรัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 หมู่บ้านในแอ่งกระทะ

หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายหนัก ผู้ประสบภัยบางรายตัดสินใจขายทิ้งบ้านมากกว่าซ่อมแซม แต่หากทั้งขายและซ่อมไม่ได้ เพราะเพิ่งรู้ความจริงทีหลังว่าบ้านอยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังเช่นนี้ตลอดไป เราควรแก้ปัญหาอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 465 หลังคาเรือน จากโครงการ ศุภาลัย แกรนด์เลค (Suphalai Grand Lake Village) ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหลังคาเรือนละ 4 ล้านบาท โดยภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พวกเขาพบว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลซึมเข้ามาภายในโครงการตลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าพื้นที่ของทั้งโครงการต่ำกว่าพื้นที่รอบนอก หรือเป็นแอ่งกระทะนั่นเอง ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทั้งๆ ที่มีรั้วกั้นน้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรั้วดังกล่าวกลับสร้างในระดับเดียวกันกับพื้นที่รอบนอกภายหลังทางโครงการฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำออก แต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากหมู่บ้านได้ทันกับระดับน้ำขังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ผู้พักอาศัยจะแจ้งให้โครงการฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชี้แจงเพียงว่า สาธารณูปโภคเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อการอยู่อาศัย โดยได้มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินต่ำไว้แล้ว ด้วยการนำท่อน้ำ พีวีซี มาเจาะรูแล้วนำไปฝังดักน้ำตามแนวรั้วด้านหลังบ้านแต่ละหลัง และนำอิฐมอญมาก่อเป็นกระถางต้นไม้ด้านหลังบ้านแล้วใส่ดินในกระถางอย่างไรก็ตามผู้ร้องต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมรั้วของหมู่บ้านใหม่ หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในหมู่บ้านระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ ควรมีหน้าที่ส่งมอบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับโครงการฯ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการฯ มีที่ดินสภาพต่ำกว่าพื้นที่รอบนอกหมู่บ้าน เพราะที่ดินดังกล่าวเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่า และเมื่อมีการก่อสร้างก็ไม่ได้ถมที่ดินเพิ่มเติมให้เท่ากับพื้นที่รอบนอก ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก โดยน้ำจะซึมผ่านใต้บ้านตลอดเวลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รูปถ่ายสถานที่ และข้อพิสูจน์เรื่องพื้นที่ต่างระดับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี โดยศูนย์ฯ ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไปทั้งนี้ก่อนรับโอนบ้านเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ ดังนี้1. พิจารณารายรับรายจ่าย ของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการ ที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่3. ไปดูสถานที่จริง ว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว4. ศึกษารายละเอียดของสัญญา การจองซื้อบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งในสัญญาจองควรระบุว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่านสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เป็นไปตามแปลนหรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน9. ใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ผ่านทางเว็บไซต์  http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์ 02-2483737ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน. http://www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่าย

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นเมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว 5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 นำเครื่องเก่ามาแลกใหม่

หลัง เอไอเอส (AIS) ประกาศสิ้นสุดการให้บริการเครือข่าย AIS 2G (GSM Advance และ 1-2-Call 2G) บนคลื่นความถี่ 900 MHz ผู้ที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าวในระบบ 2G จึงต้องเปลี่ยนซิมและเครื่องโทรศัพท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้งานในระบบ 3G โดยทางเครือข่ายก็ออกโปรโมชั่นมาอำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยการให้ “นำเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ฟรี” อย่างไรก็ตามโปรโมชั่นดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนให้กับลูกค้าบางราย เมื่อพนักงานแจ้งว่าให้เปลี่ยนเครื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมากับผู้ร้องที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าว โดยขณะที่เขากำลังโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อน ก็มีสายแทรกจากโอเปอเรเตอร์ถึง 2 ครั้งว่า มือถือของเขาไม่รองรับระบบ 3G ให้นำเครื่องเก่ามาเปลี่ยนที่ศูนย์บริการของ AIS ฟรี ซึ่งหากไม่นำมาเปลี่ยนจะทำให้ใช้งานต่อไปไม่ได้ ภายหลังเขานำมือถือที่ใช้งานอยู่คือ ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 ไปเปลี่ยนเป็น  AIS LAVA ตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ดังกล่าวอย่างไรก็ตามพนักงานที่ศูนย์ฯ กลับแจ้งว่า รุ่นที่เขาต้องการหมด และแนะนำให้เปลี่ยนเป็น ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 7.8 DTV แทน โดยให้เพิ่มเงินอีก 1,190 บาท พร้อมจ่ายค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้าอีก 200 บาท รวมเป็น 1,390 บาท และเซ็นสัญญาผูกมัดการใช้งานกับเครือข่ายดังกล่าว (AIS One - 2 – Call) อีก 1 ปีทั้งนี้เมื่อผู้ร้องนำมือถือเครื่องใหม่กลับมาใช้งานก็พบว่า เครื่องมีอาการค้าง เปิด - ปิดเอง (Restart) ตลอดเวลา ความละเอียดภาพหน้าจอไม่ชัดเจน และการเชื่อมต่อสัญญาณ WIFI ก็แย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับมือถือเครื่องเก่าที่เคยใช้งานมา เขาจึงนำมือถือดังกล่าวกลับไปที่ศูนย์ฯ เพื่อแก้ไข พนักงานจึงนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ แต่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดิม ซึ่งหลังจากที่เขาลองทดสอบดู ก็พบว่ายังมีปัญหาเหมือนเดิมทางศูนย์บริการ จึงแนะนำให้ผู้ร้องนำเครื่องใหม่ที่มีปัญหา ไปซ่อมที่ศูนย์บริการของ I-mobile ด้วยตนเอง โดยการซ่อมดังกล่าวอาจใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งผู้ร้องไม่สามารถส่งซ่อมได้ เพราะระหว่างนั้นมีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เขาจึงกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งพบความจริงหลังได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลจำเพาะ (Spec) ระหว่างเครื่องรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไรนัก นอกจากนี้มือถือเครื่องเก่าของเขาก็สามารถรองรับระบบ 3G ได้อยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้ร้องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพราะเห็นว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด สร้างความสับสนให้ลูกค้า และยังใช้วิธีแกมบังคับให้นำเครื่องมาเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่เครื่องเดิมนั้นไม่มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด โดยมีข้อเรียกร้องคือ1. ขอให้ทางบริษัท คืนเครื่องเก่าให้ คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 พร้อมคืนเงินค่าส่วนต่างที่ได้จ่ายไปแล้วจำนวน 1,390 บาท พร้อมยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าว2. ขอให้ทางบริษัท เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยเป็นรุ่นอื่นที่มีคุณภาพดี ในมูลค่าเทียบเท่ากับโทรศัพท์เครื่องเก่าของเขา และบวกเงินค่าส่วนต่างที่ได้เสียไปประมาณ 2,500 – 3,000 บาท พร้อมกับยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องโทรศัพท์ใช้งานได้ไม่ดีนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำให้ผู้ร้องตรวจเช็คระบบของตัวเครื่องโทรศัพท์และ SIM AIS ที่ใช้งานอยู่ก่อน เพราะอาจเกิดจากสัญญาณในพื้นที่การใช้งานนั้นๆ ไม่เสถียร แต่อาการเครื่องค้างยังเหมือนเดิม ส่วนในประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องผู้ร้องสามารถทำได้ เพราะบริษัทไม่สามารถบังคับให้ผู้ร้องทำสัญญาผูกมัดดังกล่าว โดยอิงตามประกาศของ กสทช. ที่เคยออกมาชี้แจงสิทธิผู้บริโภคในด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การใช้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่มีสัญญาให้ใช้ 6 เดือนหรือ 1 ปี สามารถยกเลิกก่อนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งหากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคประสบปัญหา จากการใช้บริการโทรคมนาคมสามารถร้องเรียนต่อ กสทช . โดยตรงได้ที่เบอร์ 1200 กด 1 (ฟรี) อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้มีการไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทที่ สคบ. ซึ่งยินยอมทำตามข้อเรียกร้องข้อ 2 ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องจึงยุติลงทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องนำเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ ควรศึกษารายละเอียดด้านข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของเครื่องเดิมก่อน และเงื่อนไขต่างๆ ในการเปลี่ยนเครื่อง โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของเครื่องข่ายดังกล่าวได้ที่ http://www.ais.co.th/judhai/ ข้อมูลอ้างอิงเรื่อง สิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม : http://tcp.nbtc.go.th/uploads/vdo/pdfPublication/RightConsumer.pdf

อ่านเพิ่มเติม >