ฉบับที่ 184 แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่

“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ

แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 อันตรายในบ้านลม

บ้านลม หรือเครื่องเล่นเป่าลม คือสถานที่โปรดของเด็กส่วนใหญ่ โดยเราจะเห็นบ้านลมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถหาเล่นได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือตามงานต่างๆ และเรามักจะพาลูกหลานไปเล่น โดยลืมนึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กติดระหว่างช่องตัวตุ๊กตา หรือเด็กล้มแขนหักในบ้านลม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรไปทวงความรับผิดชอบจากใครเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นกับคุณปวีณา เมื่อเธอพาลูกๆ ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ ซึ่งพบว่าในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของบริษัทไทยประกันชีวิต โดยมีการนำบ้านลมมาตั้งให้เด็กเข้าไปเล่นได้ เพียงแค่ระบุข้อมูลส่วนตัวก็จะได้คูปองเข้าไป จากการชักชวนของพนักงาน เธอจึงให้ลูกๆ เข้าไปเล่น โดยเธอยืนเฝ้าอยู่ข้างนอก แต่สักพักเดียว เธอได้สังเกตว่า ลูกสาวของเธอได้ไถลตัวลงจากสไลเดอร์มานานแล้ว แต่ไม่เห็นวิ่งขึ้นมาเล่นอีกครั้งสักที จึงชะโงกหน้าเข้าไปดูและพบว่า ลูกสาวกำลังนอนร้องไห้อยู่ จึงรีบพาลูกออกมา ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าลูกสาวบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตามลูกของเธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด และเมื่อเธอสังเกตที่แขนลูกก็พบว่า มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด จึงพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลูกสาวของเธอ ข้อศอกหักทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและใส่เหล็กดามกระดูก เธอจึงติดต่อกลับไปที่ห้างดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางห้างก็ได้ติดต่อเจ้าของกิจกรรมในวันงาน คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เพื่อมาเจรจากับเธอ แต่ทางบริษัทฯ กลับชี้แจงว่า “ไม่ได้บังคับให้เด็กเล่นบ้านลม”  ผู้ปกครองจึงต้องช่วยดูแลความปลอดภัยบุตรหลานของท่านเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องได้ติดต่อไปที่ห้างอีกครั้งเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าเป็นภาพของเด็กใส่ชุดสีชมพู ปีนขึ้นมาตรงทางสไลด์แล้วโดนชนตกลงไปแล้วก็ปีนขึ้นมาใหม่ ทำให้ทางบริษัทอ้างว่าลูกสาวของเธอเล่นพิเรนทร์ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอของผู้ร้องที่ต้องการให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท โดยจะรับผิดชอบเพียง 50,000 บาทเท่านั้น ภายหลังศูนย์ฯ ได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันอีกครั้ง แต่ทางผู้ร้องได้แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแทน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้สิ่งที่น่าคิดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเล่นเด็กมีมากแค่ไหน  เพราะเราจะสังเกตได้ว่าบ้านลมเกือบจะทุกที่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอยู่ภายใน มีเพียงคนดูแลและผู้ปกครองที่รอดูอยู่ด้านนอกเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องเล่นดังกล่าวยังไม่มีคำแนะนำในการเล่น หรือคำเตือนที่ระบุว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไร หรือกำหนดอายุของเด็กในการเล่นเลย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะเกิดการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเหมือนดังกรณีนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เครื่องสำอางเด็กหมดอายุ

การร้องเรียนกรณีห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุแล้ว ยังคงมีเข้ามาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้สำหรับการบริโภค แต่สำหรับกรณีนี้กลับเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีไว้ให้เด็กเล่นอีกต่างหาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอซื้อชุดแต่งหน้าสำหรับเด็กยี่ห้อ บาร์บี้ (Barbie) จากแผนกของเล่นเด็กที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล สาขาเวตส์เกต ในราคาลด 50% จากราคาเต็มเกือบสองพัน ลดแล้วเหลือเพียงเก้าร้อยกว่าบาท  ซึ่งก่อนซื้อเธอได้สอบถามพนักงานว่า สินค้าดังกล่าวมีตำหนิอะไรหรือไม่จึงนำมาลดราคา แต่พนักงานก็ไม่ได้แจ้งว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เธอเห็นว่าสินค้าก็มีสภาพดีจริง จึงให้พนักงานนำสินค้าดังกล่าวไปห่อของขวัญ เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้ลูกสาว อย่างไรก็ตามเมื่อนำกลับไปบ้าน เธอก็สังเกตเห็นฉลากที่ระบุวันผลิตและหมดอายุไว้ว่า สินค้านี้ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2555 หรือ 4 ปีที่แล้วและหมดอายุไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงต้องการร้องเรียนให้ทางห้างสรรพสินค้าแสดงความรับผิดชอบที่นำของหมดอายุมาจำหน่าย โดยส่งกล่องเครื่องสำอางดังกล่าวมาให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบอีกครั้งด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นและพบว่า สินค้าดังกล่าวมีการโฆษณาและแนะนำให้ใช้ในการแต่งหน้าเด็ก ซึ่งสามารถเข้าข่ายเครื่องสำอาง แต่ไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีการควบคุมของสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับไว้ที่ข้างกล่องเท่านั้น นอกจากนี้ฉลากภาษาไทยกำกับไว้ว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 – 12 ปี ก็ไม่ตรงกับฉลากภาษาอังกฤษที่ระบุไว้บนกล่องว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และมีคำเตือนกำกับไว้สำหรับผู้เล่นอายุต่ำกว่า 3 ปี เช่น ควรมีผู้ปกครองดูแล ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึง 1. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการตรวจสอบของเล่นดังกล่าว ว่าเป็นของเล่นที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ ซึ่งหากบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องมีการดำเนินการจดแจ้งกับ อย.ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และหากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้มีการตรวจสอบฉลากสินค้าภาษาไทยที่ระบุวันหมดอายุ ไม่ตรงกับข้างกล่อง เพราะถือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในกรณีการขายสินค้าที่หมดอายุนั้น สคบ. มีอำนาจในการสั่งปรับผู้ผลิตและบริษัทผู้นำได้ไม่เกิน 50,000 บาท รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายไม่เกิน 20,000 บาท3. ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการตรวจสอบสินค้าประเภทเดียวกันที่นำมาจัดจำหน่ายว่า ยังมีกล่องไหนที่หมดอายุอีกหรือไม่4. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าหมดอายุ ทั้งนี้สำหรับผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 รับบริการปลูกผม แต่ไม่ได้ผล

ปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้บริโภคอย่างเรา ซึ่งหากเราชะล่าใจ หรือรอการตอบกลับจากทางบริษัทเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ว่าอาจทำให้อายุความของคดีนั้นหมดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเราทั้งในเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเยียวยาที่เราควรจะได้รับด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการปลูกผม โดยเขาเลือกใช้บริการจากบริษัท สเวนสันแฮร์  ตอนปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาผู้ร้องพอใจมากเพราะผมค่อยๆ ขึ้นทีละน้อย อย่างไรก็ตามในการรักษา 3 ครั้งสุดท้าย พนักงานได้เปลี่ยนวิธีการรักษาไปจากเดิม โดยไปเน้นการขยี้หนังศีรษะเพียงอย่างเดียว ไม่มีอบและนวดหนังศีรษะเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านไปสักพักก็เกิดสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นแดงจำนวนมากบนหนังศีรษะ เขาจึงสอบถามและร้องเรียนไปยังบริษัทเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ภายหลังผู้ร้องจึงไปร้องเรียนที่ สคบ. ในปี 2558 ก็ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 6,000 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมด 80,000 บาท นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ผู้ร้องลบทุกข้อความที่เขียนไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการเยียวยาของบริษัทฯ ยังไม่มีความเป็นธรรม จึงมาร้องเรียนต่อที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในการร้องเรียนลักษณะนี้ หากผู้ร้องมีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการเข้ารับบริการปลูกผมจริง เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในจำนวนที่เป็นธรรม โดยผู้ร้องสามารถรวบรวมเอกสารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด มาเรียกร้องในส่วนที่เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมความเสียหายได้อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ร้องได้มากกว่านี้ เพราะคดีได้หมดอายุความในเรื่องสัญญาหรือการละเมิดไปแล้ว เพราะกฎหมายได้กำหนดให้อายุความในการฟ้องร้องคดีการละเมิดอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งหากฟ้องร้องต่อไปก็จะถูกโต้แย้งในประเด็นอายุความและถูกยกฟ้องในที่สุด นอกจากนี้บริษัทอาจอ้างได้อีกว่า ผู้ร้องยินดีรับเงินค่าชดเชยไปแล้วอีกด้วย ทำให้เขาจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไปดังนั้นแล้วจะฟ้องก็รีบฟ้อง เดี๋ยวจะหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 หมอลืมของไว้ในแก้มฉัน

การศัลยกรรมให้ใบหน้าสวยเข้ารูปด้วยการตัดกราม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สาวๆ หลายคนยอมเจ็บตัว ซึ่งผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เมื่อการศัลยกรรมดังกล่าวออกมาสวยดั่งใจและปลอดภัย แต่หากเราพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อรักษาตัวจากการมีสิ่งแปลกปลอมอย่าง ผ้าก๊อซปิดแผล ที่ถูกลืมไว้ในแก้ม เราควรจะทำอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคุณพัชราภา ที่เข้ารับการผ่าตัดกรามจากคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยสาเหตุที่เธอเลือกใช้บริการคลินิกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคลินิกที่มีชื่อเสียง ได้รับการรีวิวจากผู้ใช้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เธอจึงตัดสินใจนั่งเครื่องบินจากประเทศเยอรมันกลับบ้านเกิด เพื่อมาทำศัลยกรรมดังกล่าว ซึ่งตกลงกันอยู่ที่ 60,000 บาทอย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย และมาพักฟื้นที่กรุงเทพฯ เธอก็พบว่าแผลที่ผ่าตัดเป็นหนองอักเสบ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่เธอยังปวดแผล และพบว่ามีหนองไหลออกมาจากแผลตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงกลับไปที่คลินิกเดิม เพื่อให้แพทย์ที่ทำการศัลยกรรมให้ตรวจรักษาแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อเธอเดินทางกลับประเทศเยอรมันก็พบว่าอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เธอจึงไปพบแพทย์และได้รับข้อมูลที่น่าตกใจหลังการเอ็กซ์เรย์ว่า มีเศษกระดูกชิ้นเล็กติดค้างอยู่ตรงบริเวณที่แผลอักเสบ และเมื่อแพทย์ผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวออก ก็ยังพบผ้าก๊อซถูกทิ้งไว้ที่บริเวณแผลผ่าตัดอีกด้วย! แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ทำหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งทางด้านผู้ร้องได้ชี้แจงว่า ยังคงมีอาการที่ไม่ดีขึ้น โดยหากต้องพูดนานๆ เธอจะมีอาการชาที่บริเวณคางและริมฝีปากล่าง ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงเสนอให้ทางคลินิกดังกล่าวรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านบาทด้านบริษัทฯ ก็รับว่าจะนำข้อเสนอของผู้ร้องกลับไปพิจารณา แต่ยังไม่ตอบตกลง ซึ่งภายหลังก็เสนอกลับว่า ยินยอมที่จะเยียวยาค่ารักษาส่วนหนึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 3 แสนบาท แต่ให้สิทธิ์ผู้ร้องสามารถรักษาฟรีที่คลินิกของของตนเอง หรือให้พาเพื่อนมาทำศัลยกรรมได้ฟรีอีก 1 คน อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม และดำเนินการใช้สิทธิ์ทางศาล ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ค่าทำ(ตา)ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาเป็นแสน

การมีดวงตาที่สวยงามเป็นความฝันของใครหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมีตาสองชั้น ทำให้การทำศัลยกรรมตาสองชั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะพบว่าการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การศัลยกรรมดังกล่าว มีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพงเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ทำศัลยกรรมแล้วจะสวยสมใจหรือปลอดภัยเสมอไป ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธมลเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตาสองชั้นที่คลินิกย่านรามคำแหง โดยตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมที่ 12,000 บาท ภายหลังทำเสร็จเรียบร้อยเธอก็เชื่อว่า อาการบวมหรือรอยช้ำต่างๆ น่าจะหายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เธอคิด หลังจากเวลาผ่านไป 2 เดือน ตาข้างขวาของเธอมีอาการปวดแสบ เหมือนมีอะไรบาดตาเวลากะพริบตา รู้สึกระคายเคือง มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และบางครั้งถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ในเวลากลางวัน เธอจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ากระจกตาดำของเธอเป็นแผล มีแคลเซียมที่เปลือกตาและต้องรักษาด้วยการขูดออกอย่างไรก็ตามแม้จะรักษาหลายครั้ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อผ่านไปประมาณ 7 เดือนนับจากวันที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เธอก็ยังคงเข้ารับการรักษาดวงตาเช่นเดิม เพียงแต่พบข่าวใหม่ที่ไม่น่ายินดีว่า อาการเจ็บตาของเธอนั้นมีสาเหตุมาจาก ไหมที่ค้างอยู่ในเปลือกตาตั้งแต่ตอนทำศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเอง! แม้แพทย์จะผ่าตัดไหมดังกล่าวออกให้แล้ว แต่อาการระคายเคืองต่างๆ ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทำให้เธอยังคงต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ เธอจึงกลับไปร้องเรียนคลินิกเดิมที่เคยทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะเชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่รอบคอบของแพทย์ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้เธอแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะเสียเงินค่าทำศัลยกรรมตาสองชั้นในราคาที่ไม่แพงเท่าไรนัก แต่เธอได้แจงรายละเอียดค่ารักษา เพื่อให้ดวงตากลับมาดีเหมือนเดิมว่า เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องก้มหน้าตลอดเวลา เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยสู้แสงอีกด้วย ซึ่งภายหลังทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์ดังกล่าวมาเจรจา ซึ่งผลจะอย่างไรทางศูนย์ฯ จะคอยติดตามเรื่องต่อไปทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม คือ การเลือกศัลยแพทย์ที่ได้การรับรอง โดยให้สังเกตง่ายๆ จากใบประกอบโรคศิลป์ที่มักจะติดไว้ในคลินิก และดูว่าชื่อแพทย์ที่ได้รับการรับรองนั้น ตรงกับคนที่มาทำศัลยกรรมให้เราหรือเปล่า รวมถึงเลือกวิธีการศัลยกรรมให้ปลอดภัย โดยคำนึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราด้วยตรวจสอบรายชื่อศัลยกรรมตกแต่ง สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย    http://www.plasticsurgery.or.th/lst.php

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 สคบ. เผยปี58 ยอดร้องเรียนศัลยกรรมความงามพุ่ง 100%

นพ.จักรพงษ์ ชุณหเสวี คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้บริการเสริมความงาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่1 ม.ค. - 19 ต.ค. 2558  มีผู้มาร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสถานเสริมความงาม และศัลยกรรมความงามกับสคบ. จำนวน355 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีการร้องเรียน158 ราย โดยเมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่าสามารถแบ่งประเภทความเสียหายจากคลินิกศัลยกรรม เสริมความงาม จำนวน81ราย ประเด็นการร้องเรียน คือจมูกเบี้ยว เอียง อักเสบ รูจมูกไม่เท่ากัน จมูกยุบ ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ทำตาสองชั้นผิดรูป หนังตาปิด ทำเต้านมไม่ได้ขนาดตามสัญญา เต้านมเอียง ไม่เป็นธรรมชาติ อักเสบ ปัญหาการดูดไขมัน เป็นต้นนพ.จักรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการร้องเรียนในสถานบริการเสริมความงามที่เป็นคลินิก และสปา ที่ไม่ใช่คลินิกศัลยกรรม 433 ราย ประเด็นที่ร้องเรียนคือ เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวไหม้ ผิวหนังอักเสบ เป็นฝ้า กระ เพิ่มขึ้นหลังรับบริการยิงเลเซอร์ ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาไกล่เกลี่ยพบปัญหาว่า เกิดจากพนักงานที่ให้บริการไม่มีความชำนาญ ผู้ประกอบกิจการไม่มีแพทย์ หรือ แพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำ ให้บริการโดยตรงหรือแพทย์ให้คำปรึกษาเพียงสัปดาห์ละ1วัน เมื่อเกิดปัญหาพนักงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การบริการไม่ตรงตามที่ตกลงกับพนักงาน เช่น จำนวนครั้ง หรือ ลักษณะคอร์สที่ใช้บริการ การทำหัตถการบางอย่างไม่ได้ทำกับแพทย์อย่างการทำเลเซอร์ สถานบริการปิดกิจการ และผู้ใช้บริการไม่สามารถยกเลิก หรือ ขอค่าสมัครคืนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สคบ.ได้ตักเตือน และให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณภาพตามที่กำหนด “เห็นได้ว่าปัญหาที่น่ากังวล คือ การเข้าไปใช้บริการคลินิกที่ไม่ใช่แพทย์จริงๆ หรือ เป็นแพทย์ที่แอบอ้างว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม ผู้ใช้บริการสามารถ ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ที่ http://tmc.or.th/check_md โดยกรอกชื่อนามสกุล และค้นหากก็จะทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เชี่ยวชาญตามที่ระบุไว้หรือไม่” นพ.จักรพงษ์ กล่าวที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/676725  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย

เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้องคุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ”อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้วทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >