ฉบับที่ 188 เรียกเก็บเงินเกินโปรโมชั่น

โปรโมชั่นส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขยิบย่อยที่อาจทำให้เราลืมสังเกตได้ ซึ่งเรามักจะมารู้ทีหลังก็เมื่อตอนที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการ เหมือนดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยแจ้งว่าได้เปิดใช้บริการของ ทรูอินเทอร์เน็ต โดยเลือกใช้โปรโมชั่นซุปเปอร์สปีด ไฟเบอร์ (Super Speed Fiber) เหมาจ่ายราคา 799 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งสามารถโทรฟรี 50 นาทีและเล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30 เม็กกะไบต์ อย่างไรก็ตามเขาพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม เดือนละ 100 – 120 บาททุกเดือน ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการเกินโปรโมชั่นที่กำหนดไว้ จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องนำเอกสารสำคัญ เช่น ใบเรียกเก็บเงิน ใบเสร็จรับเงิน ใบโฆษณาต่างๆ มาเป็นหลักฐานประกอบการร้องเรียน จากนั้นจึงแจ้งเรื่องไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้แจ้งกลับว่า กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินราคาโปรโมชั่น เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้เบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรออกไปยังหมายเลขพิเศษ เช่น เบอร์โทรที่มี 4 หลัก ซึ่งการโทรไปยังเลขหมายดังกล่าว ไม่อยู่ในเงื่อนไขการโทรฟรี ทำให้ต้องจ่ายครั้งละ 3 บาท รวมทั้งมีการโทรเข้าบ้านด้วยกันเอง ทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าบริการเพิ่ม เพราะตามโปรโมชั่นการโทรฟรี 50 นาที สามารถใช้โทรเข้าเบอร์มือถือ (ทุกเครือข่าย) ได้เท่านั้น ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับคำอธิบายดังกล่าวก็เข้าใจและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ป้ายลดราคาปิดทับวันหมดอายุ

ความคุ้มค่าของสินค้าลดราคา สามารถวัดได้จากสินค้าที่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะหากเราได้สินค้าที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้วก็ไม่ต่างจากการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่ไหวตัวทันก่อนเสียรู้ได้ของหมดอายุที่นำมาลดราคาคุณสมศักดิ์ต้องการซื้อไข่ไก่สดจากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งมีโปรโมชั่นลดราคาจาก 89 บาท เหลือ 44.50 บาท อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อเขาได้พยายามหา ว/ด/ป หมดอายุที่ต้องระบุไว้ข้างกล่อง แต่ก็ไม่พบรายละเอียดดังกล่าว เขาจึงลองแกะป้ายลดราคาออกดูและพบว่าป้ายลดราคาได้ปิดทับวันหมดอายุไว้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบจึงทราบว่าไข่ไก่ดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อน และเมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีการติดป้ายราคาทับวันหมดอายุในลักษณะเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงถ่ายรูปรายละเอียดต่างๆ เก็บไว้เป็นหลักฐาน และเขียนเล่าเหตุการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยทำข่าวและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำข่าวดังกล่าว และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org) พร้อมแนะนำว่าหากผู้ร้องต้องการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวก็สามารถทำได้ เนื่องจากการที่ห้างสรรพสินค้ามีการแสดงป้ายราคา โดยปิดทับวันเดือนที่ผลิตหรือหมดอายุ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 343 โดยมีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการแจ้งความใดๆ เพียงแต่ต้องการแจ้งข่าวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเตือนให้ผู้บริโภคคนอื่นมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เพื่อนบ้านเป็นเหตุ

หากใครไม่ได้อยู่บ้านเดี่ยวคงจะเคยเจอปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จากเพื่อนข้างบ้าน (หรือข้างห้อง) ที่สร้างความรำคาญใจให้ เช่น เสียงดังรบกวน หรือกลิ่นอาหารที่ลอยมาถึงบ้านเรา ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หลายคนก็ยินยอมที่จะปล่อยผ่านไป อย่างไรก็ตามหากเราทนไม่ไหวและต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราควรทำอย่างไรดีเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสุนีย์ บ้านของเธอเป็นตึกแถวที่อยู่ติดกับร้านถ่ายเอกสาร ซึ่งมักมีปัญหากับกลิ่นควันบุหรี่ จากลูกค้าร้านถ่ายเอกสารที่มายืนรออยู่หน้าร้าน แม้เธอจะแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการนำพัดลมมาตั้งหน้าบ้านเพื่อเป่าควันบุหรี่ แต่ก็ไม่สามารถจัดการกลิ่นบุหรี่ที่ลอยเข้ามาได้หมด เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำเหตุการณ์ที่สองเป็นของคุณสุชาติ เขาพักอาศัยอยู่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อนข้างห้องประกอบกิจการขายน้ำเต้าหู้ ปัญหาของคุณสุชาติจะเริ่มขึ้นในเวลาเช้ามืดของทุกวัน เนื่องจากเพื่อนข้างห้องจะส่งเสียงดังรบกวน ทำให้เขาต้องตื่นก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้เป็นประจำ จนระยะหลังเขารู้สึกว่ามีเวลานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาด้วยการโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีไม่กี่วัน ไม่นานเสียงอึกทึกยามเช้ามืดก็กลับมาอีกครั้ง คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องเจรจากับข้างบ้านก่อนเบื้องต้น โดยสำหรับกรณีสูบบุหรี่ ควรขอให้ทางร้านถ่ายเอกสารมีการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องเคยเจรจาไปแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาก็สามารถแจ้งเรื่องต่อกรุงเทพมหานคร ที่เบอร์โทรศัพท์ 1555 หรือเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขตพื้นที่ ต่อฝ่ายสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานเขต ให้มาช่วยพูดคุยให้โดยที่ผู้ร้องไม่ต้องเผยตัวก็ได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. กระทรวงสาธรณสุข พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษที่เกี่ยวกับเหตุรำคาญด้านพิษทางเสียง ไว้ดังนี้ - มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง สี รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพสำหรับกรณีที่ 2 การประกอบกิจการน้ำเต้าหู้ ต้องดูด้วยว่าสถานประกอบการได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เพราะตามกฎหมายมาตรา 38 ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใด ซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 56 ถ้าสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับ หนังสือรับรองการแจ้งตามมาตรา 48 ก่อนการจัดตั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ไม่พอใจหลังเซ็นสัญญา

สิ่งสำคัญก่อนตกลงเซ็นชื่อลงในสัญญาใดๆ คือ เราต้องรู้และเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของสัญญานั้น เพราะบางทีคู่สัญญาของเราก็ไม่ได้บอกทุกรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับเรา และอาจทำให้เรารู้สึกภายหลังว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม หรือรู้อย่างนี้ไม่เซ็นชื่อไปก็ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมศรีได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการนวดแผนไทย โดยศูนย์บริการนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่าช่วยรักษาโรคให้ดีขึ้นได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดต่างๆ แต่ศูนย์บริการแนะนำว่าให้มาตรวจอาการดูก่อน จึงสามารถวินิจฉัยการรักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เธอและคุณแม่เดินทางไปที่ศูนย์ดังกล่าว ภายหลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ แพทย์ก็แจ้งว่าเธอควรรักษาอาการเข่าเสื่อม บ่าแข็งและตะคริว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่านี้ ส่วนคุณแม่ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็ควรทำการรักษาด้วยการนวดบำบัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิการได้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นคอร์สรักษา 10 ครั้ง 65,000 บาท โดยแบ่งจ่ายล่วงหน้า 55,000 บาทก่อนได้ หลังได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว คุณสมศรีก็ตัดสินใจตกลงเข้ารับบริการ และทำการรักษาในครั้งแรก ซึ่งเมื่อรักษาเสร็จพนักงานก็นำเอกสารมาให้เซ็นเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเป็นส่วนของการรับทราบผลการรักษา และยอดค้างชำระ อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าพนักงานเร่งรัดให้เธอรีบเซ็นชื่อและไม่ให้ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งไม่ให้สำเนาของเอกสารดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงเอกสารที่ได้เซ็นชื่อไป โดยขอให้พนักงานถ่ายรูปข้อความในเอกสารส่งมาให้ดู และเมื่อได้อ่านเอกสารดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าข้อสัญญาเอาเปรียบมากเกินไป เช่น หากทำผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญา นอกจากนี้ยังตะหนักว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นที่เคยใช้บริการมา เธอจึงต้องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยผู้ร้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา และสอบถามถึงข้อเท็จจริงก่อนการตกลงทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งพบว่าผู้ร้องรับทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อนเซ็นชื่อแล้ว เช่น ราคาหรือจำนวนครั้งที่สามารถใช้บริการได้ เพียงแต่เธอไม่พอใจที่พนักงานเร่งรัดให้เซ็นเอกสาร โดยไม่แนะนำให้อ่านรายละเอียดก่อน หรือไม่แจ้งข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่เพิ่งตระหนักได้ภายหลังว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับที่อื่นที่เคยใช้บริการมา จากกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการยกเลิกสัญญา พบว่าเป็นไปได้ยากเพราะเธอรับทราบรายละเอียดของการเข้ารับบริการและพึงพอใจก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อแล้ว ซึ่งแม้ภายหลังศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ อย่างไรก็ตามศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำให้ผู้ร้องไปเจรจาต่อรองกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ก่อน โดยหากเห็นว่าค่าบริการแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่เคยรักษาในวิธีการอย่างเดียวกันมาก็ควรขอต่อรองราคา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ทางศูนย์บริการยินยอมลดให้ 10,000 บาท และทางผู้ร้องก็พอใจและยินดีใช้บริการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของสัญญาที่ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญาหากทำผิดสัญญานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้บริการจะถูกฟ้องร้อง หากทำผิดข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ แต่หากถูกฟ้องแล้วก็ต้องมาตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปจริงหรือไม่ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าเอาเปรียบเกินสมควรจริง ตามกฎหมายก็จะบังคับให้ชดใช้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หรือตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 คืนตั๋วโดยสารไม่ได้

เหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่จองไว้ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนเวลาการเดินทาง หรือนำบัตรโดยสารไปคืน โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าไม่สามารถคืนตั๋วได้ตามเงื่อนไข ควรทำอย่างไรดีคุณสุชาติซื้อบัตรโดยสารของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โดยกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต่อมาภายหลังเขาต้องเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดอื่นกะทันหัน จึงไปเปลี่ยนตั๋วเดินทางเป็นขากลับจากเชียงใหม่แทน(เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ) ซึ่งพนักงานก็เปลี่ยนให้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเขาพบว่าตนเองไม่สามารถเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่จองตั๋วไปแล้วได้ จึงตัดสินใจยกเลิกการจองตั๋วดังกล่าวและไปขอเงินคืน ซึ่งเขาทราบเงื่อนไขของการคืนตั๋วอยู่แล้วว่า ต้องนำตั๋วโดยสารมาคืนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชม. และจะได้เงินคืนไม่เต็มจำนวน โดยต้องโดนหักค่าธรรมเนียม 10% จากราคาตั๋วนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้เขาจะทำตามเงื่อนไขการคืนตั๋ว พนักงานกลับปฏิเสธการคืนบัตรโดยสารดังกล่าวและแจ้งว่ามีวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนคือ ให้นำมาฝากขาย ซึ่งหากมีคนมาซื้อก็จะแจ้งให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวไป ทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรมการขนส่งทางบกและบริษัทฯ เพื่อให้ชี้แจงปัญหาดังกล่าวและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภายหลังทางบริษัทฯ ได้แจ้งกลับมาว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งได้เรียกมาอบรมแล้วและพร้อมคืนเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารให้ ด้านผู้ร้องก็ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและได้รับเงินคืนเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับใครที่ใช้บริการกับบริษัทดังกล่าว โดยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วแต่พบว่าไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่ซื้อไว้ได้ สามารถขอเลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งขอยกเลิก/คืนตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของบริษัท โดยมีเงื่อนไขในการยกเลิก คือ นำสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อด้วยตนเอง หรือเขียนมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และหากเป็นจังหวัดอื่นต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ชั่วโมง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิก 10% จากราคาค่าโดยสาร หรือในกรณีที่ต้องการเลื่อนวันเดินทาง และ/หรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางสามารถทำได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งต้องมาติดต่อเหมือนในกรณีการยกเลิกตั๋ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 นมเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ

วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าดังกล่าวยังคงมีคุณภาพหรือไม่ และจะเสื่อมสภาพเมื่อใด อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราจะมั่นใจเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่พบปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุคุณพรพรรณซื้อนมจืดยี่ห้อไทยเดนมาร์ค จากห้างท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 มล. จำนวน 1 ลัง ราคา 315 บาท มาให้หลานชายรับประทาน ซึ่งเธอได้ตรวจสอบ ว/ด/ป ที่หมดอายุข้างกล่องแล้วว่าอีกหลายเดือนกว่าจะครบกำหนด อย่างไรก็ตามหลังนำมาเทใส่ขวดนมให้หลานรับประทาน กลับพบว่านมดังกล่าวมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนคล้ายนมบูด เมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา โดยต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียนมาเพิ่มเติม คือ สำเนาใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรูปถ่ายลักษณะผิดปกติของนมดังกล่าว พร้อมส่งตัวอย่างของสินค้าให้ผู้ผลิตนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลางพบว่า ผลการวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพเฉพาะกล่อง ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาหรือการขนส่งทั้งนี้ทางบริษัทจึงแจ้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพการขนส่งโดยปฏิบัติตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน GMP HACCP ISO และ HALAL อย่างเคร่งครัด เพื่อปรังปรุงพัฒนาให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่กล่องบุบหรือชำรุดสามารถส่งคืนที่ อ.ส.ค. ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ได้ชดเชยให้ผู้ร้องเป็นผลิตภัณฑ์นมจำนวน 5 ลัง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอและไม่ติดใจปัญหาแล้วจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

เมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตไปแล้ว แต่พบว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่พนักงานขายแจ้งไว้หรือมีการชำรุดบกพร่อง มีวิธีที่ดีกว่าการทำใจยอมรับคือ การปฏิเสธชำระเงินกับบัตรเครดิตนั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจถูกชักชวนให้เข้ารับบริการคอร์สนวดหน้า จากสถาบันเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนแรกเธอได้ปฏิเสธไป เพราะรู้ว่าตนเองเป็นคนผิวแพ้ง่าย แต่พนักงานกลับยืนยันว่าการนวดหน้าดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แน่นอน รวมทั้งตอนนี้จัดโปรโมชั่นให้ทดลองทำฟรีได้ 1 ครั้ง เมื่อถูกชักจูงใจเช่นนี้เธอจึงตกลงสมัครเข้าคอร์สดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้ 10 ครั้ง ในราคา 50,000 บาทและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเข้ารับบริการทดลองนวดหน้าฟรี กลับพบว่ามีอาการคันรอบๆ ใบหน้าและดวงตา จนต้องขอให้พนักงานหยุดให้บริการ และไม่นานก็มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าของเธอ รวมทั้งมีอาการคันมากขึ้น ทำให้ต้องรับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงไม่ต้องการกลับไปใช้บริการที่สถาบันเสริมความงามนั้นอีก เพราะเชื่อว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการนวดหน้า เธอจึงส่งจดหมายไปยังสถาบันเสริมความงาม เพื่อขอยกเลิกสัญญาการเข้ารับบริการ และโทรศัพท์ไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่ได้ชำระเงินไป เพื่อขอระงับการชำระเงิน ซึ่งพนักงานก็แจ้งว่าสามารถทำได้ โดยให้ส่งเอกสารปฏิเสธการชำระเงินมาทางแฟกซ์ แม้เธอจะโล่งใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว แต่กลับพบว่ามีบิลแจ้งยอดให้ชำระเงินค่าคอร์สดังกล่าว และเมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า การยกเลิกสัญญาต้องให้ทางร้านเป็นผู้บอกเลิกเอง อย่างไรก็ตามคุณสมใจก็ไม่ยินยอมชำระค่าบริการดังกล่าว และส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา  เบื้องต้นศูนย์ฯ ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจา ระหว่างผู้ร้องให้เจรจากับสถาบันเสริมความงามดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ทางบริษัทปฏิเสธการคืนเงิน โดยยื่นข้อเสนอให้แทน คือ 1. สามารถโอนย้ายสิทธิให้ผู้อื่นได้ หรือ 2. เปลี่ยนแปลงคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และ 3. หากต้องการยกเลิกคอร์สจะถูกหักเงินร้อยละ 70 ของราคาคอร์ส ตามสัญญาที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอใดๆ เพราะเธอได้บอกเลิกสัญญาการใช้บริการไปแล้ว ด้านบริษัทจึงขอเก็บข้อเสนอผู้ร้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ถัดมาศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังบริษัทบัตรเครดิต เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือบริการ ภายในเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ซึ่งถ้าบริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามจุดประสงค์ ไม่ครบถ้วนหรือชำรุดบกพร่อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทบัตรเครติตยังคงติดตามทวงหนี้อยู่ และที่สุดก็มีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ร้อง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายด้วยการเป็นทนายความให้ และภายหลังศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไป ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ควรทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเลิกสัญญา โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังบริษัทดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างบอกเลิกสัญญา คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >