ฉบับที่ 270 ไม่หลอกก็เหมือนหลอกกับ Voucher ฟรีที่ใช้ไม่ได้จริง!

        แม้ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นแล้ว แต่ยังอาจถูก ผู้ประกอบการสบช่องโหว่บางประการชวนให้คนเข้าซื้อสินค้า โดยอาจใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น เรื่องราวของคุณฝ้ายที่ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ...         “ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆ อีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป”         คุณฝ้ายไม่รอช้า โปรโมชั่น Flash Sale เปิดให้จองเพียง 20 นาทีเท่านั้น  และเพียงกดเข้าไป Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ”         คุณฝ้ายนึกดีใจ รอวันใช้  Voucher  ที่ร้านอาหารนานาชาติในราคาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมากๆ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้อความมาแจ้งว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชันมีจำนวนมากทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้องทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้นจึงขอแจ้งยกเลิก Voucher         บริษัทอ้างเพราะระบบขัดข้องทำให้ต้องแจ้งยกเลิกการใช้  Voucher  โดยแจ้งว่า บริษัทจะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 และ 200 บาทแต่หากลูกค้าต้องการเงินคืน 100% ให้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัทซึ่งต้องทำภายใน 1 วันหลังจากที่บริษัทประกาศเท่านั้น  คุณฝ้ายมองว่า ปัญหาลักษณะนี้อาจหลอกเอาเงินผู้บริโภคได้จำนวนมาก เพราะด้วยราคาไม่สูงมากจึงอาจทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากที่แห่กดเข้าไปเมื่อทราบว่าตนเองไม่ได้สิทธิ การทำเรื่องขอเงินคืนบริษัทให้เวลาน้อยมาก ผู้บริโภคหลายคนน่าจะไม่อยากเสียเวลาเพื่อรับเงิน 99 บาทคืน จึงส่งเสียงร้องเรียนเรื่องนี้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค             แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้            1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆ ที่พบ             2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ             3.หลักฐานการชำระเงิน             4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ             5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย)         เมื่อมีหลักฐานแล้วต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้ง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกับ แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่งhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling และหากจะฟ้องคดีแพ่งส่วนตัวก็จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์กับ สคบ. เสียก่อน         เรื่องราวของคุณฝ้าย แม้จำนวนเงินอาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อผู้เสียหายหลายราย คำนวณจึงเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ช่วยกันส่งเสียง อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อีกต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ถามหามาตรฐานเครื่องทำน้ำแข็งทางออนไลน์ใช้ปีเดียวสนิมเขรอะ

        การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย         ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้         คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท  “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย         แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)  หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 กินบุฟเฟ่ต์ร้านหรูแต่เจอเศษแก้วบาดในช่องปาก

        การจ่ายเงินเพื่อเข้าร้านอาหารแน่นอนว่าทุกคนคงจะคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย สะอาด และปลอดภัยกันใช่ไหม เพราะว่ามันคือมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะต้องมีอยู่แล้ว ทว่าหลายครั้งเราก็พบข่าวการพบสิ่งแปลกปลอมในร้านอาหารและมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็บ่อยครั้ง คราวนี้มาในระดับร้านบุฟเฟ่ต์หรูเสียด้วย          คุณน้ำตาลร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณน้ำตาลกับแฟนได้ไปรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติหรูหราที่ห้างดังใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารบุพเฟ่ต์ที่มีอาหารหลากหลายทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และตะวันตก เรียกได้ว่าคุ้มเลยทีเดียวกับราคาที่จ่ายไป ราคาต่อคนก็ประมาณหนึ่งแบงค์เทากับอีกหนึ่งใบแดง มีตังค์ทอนนิดหน่อย แต่...ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะเธอได้เล่าว่าเมื่อเริ่มรับประทานไปจนอิ่มอาหารคาวแล้ว ก็เลยสั่งของหวานมาตบท้ายเป็น บิงซู ในขณะที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแตกในปาก ตอนแรกผู้ร้องก็คิดว่าก้อนหินหรือพลาสติกอะไรหรือเปล่าหนอ เลยพยายามเอาลิ้นดัน แต่คราวนี้มาพร้อมกับอาการเจ็บและเลือดออก ผู้ร้องจึงหยิบมันออกมาดูสรุปว่า มันคือเศษแก้ว จึงพยายามหยิบเศษพวกนั้นออกมาให้มากที่สุด และเข้าห้องน้ำเพื่อล้างปาก         หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางแฟนและเธอก็ได้เข้าไปพบผู้บริหารของร้านดังกล่าว ซึ่งตอนแรกผู้ร้องแจ้งว่าทางร้านยินดีจะลดค่าอาหารให้ 50% ซึ่งทางผู้ร้องเองปฏิเสธที่รับเงื่อนไขนั้น เนื่องจากตกใจในมาตรฐานของร้านและกังวลเรื่องที่เศษแก้วอาจเข้าไปรบกวนในทางเดินอาหาร ขอให้ทางผู้บริหารไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนั้นผู้บริหารก็เลยพิจารณาใหม่และให้ทางผู้ร้องกับแฟนนั้นทานฟรีสำหรับอาหารมื้อนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ร้องได้เข้าไปโรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจปรากฎว่า ในช่องปากของผู้ร้องยังคงมีเศษแก้วปักอยู่ที่เหงือกอยู่ถึง 2-3 อัน ซึ่งแพทย์ก็ได้ถอนออกมาพร้อมให้ยาฆ่าเชื้อโรคมาด้วย เพราะในเศษแก้วอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ได้ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2,000 กว่าบาท จึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ ว่าสามารถทำสิ่งใดเพิ่มเติมได้อีกบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางผู้ร้องได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ  เพื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ให้คำแนะนำดังนี้           1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ (สน.ในพื้นที่ของห้างซึ่งร้านค้าตั้งอยู่)  เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้แกล้งหรือใส่ความทางร้านค้าแต่ประการใด        2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านค้า แบบไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนไขเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย        3. เมื่อพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการติดต่อจากทางคู่กรณี ทางมูลนิธิอาจจะเชิญผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง        4. และหากหลังจากมีการไกล่เกลี่ยแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้  ผู้ร้องสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร        ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 66 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อทางผู้ร้องอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่า ได้ติดต่อกับทาง สคบ. เพื่อให้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เนื่องจากตัวผู้ร้องเองไม่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งกลัวว่าอาจจะทำให้เสียเปรียบจึงต้องการหน่วยงานของรัฐเข้ามาพูดคุยเป็นตัวแทน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้คำปรึกษากับทางผู้ร้องเสมอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 กินปิ้งย่างร้านดัง จนท้องเสีย

        คุณน้ำผึ้ง ผู้ชื่นชอบในการกินปิ้งย่างเป็นชีวิตจิตใจ  เธอได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอกับแฟนได้เดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าย่านรัชดา เพื่อรับประทานปิ้งย่างร้านดังที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่เกิดเหตุเธอเล่าว่า เมื่อถึงร้านดังกล่าวเธอและแฟนก็ได้สั่งอาหารทันทีเป็นเนื้อชุดใหญ่หม่าล่าและเนื้อธรรมดา อย่างละ 1 ถาดใหญ่ และน้ำมะนาวอัญชัญ 2 แก้ว พอได้อาหารมาเธอกับแฟนก็ได้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย และตบท้ายด้วยอาหารหวานไอศกรีมอีก 2 ถ้วย พอกินเสร็จก็เช็คบิลเรียบร้อยในราคา 1,600 บาท อิ่มหนำสำราญ         แต่เรื่องเกิดหลังจากที่กลับบ้านมาประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ ทั้งเธอและแฟนมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงแต่ตัวเธอกับแฟนยังชะล่าใจคิดว่ายังไงเดี๋ยวก็คงจะหาย จึงไม่ได้ไปหาหมอ จนวันต่อมาแฟนคุณน้ำผึ้งมีอาการดีขึ้น แต่เธอสิ ทำไมยังไม่หายอีก สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจไปหาหมอ ซึ่งจากการตรวจของแพทย์แจ้งว่า อาการของเธอเกิดจากอาหารเป็นพิษ “คุณไปกินอะไรมา”         คุณน้ำผึ้งจึงคิดว่ายังไงก็น่าจะมาจากอาหารปิ้งย่างที่กินเข้าไป จึงรีบติดต่อเพจเฟซบุ๊กของทางร้าน เพื่อถามหาความรับผิดชอบ ซึ่งทางร้านแสดงออกโดยมีการเสนอให้เป็น Gift Voucher ชดเชยเป็นจำนวน 2,000 บาท โดยต้องไปรับประทานอาหารที่ร้านเท่านั้น แต่เธอไม่อยากไปกินร้านดังกล่าวแล้ว (ไม่ไหวนะ)  เพราะหวาดระแวงและเข็ดจากอาหารร้านดังกล่าว จึงปฏิเสธไปโดยทางร้านก็ได้มีการเสนอต่อว่าทางร้านสามารถรับผิดชอบได้แค่ 300 บาทเท่านั้น ทางคุณน้ำผึ้งจึงได้ติดต่อมาที่ทางมูลนิธิฯ เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยผู้ร้องต้องการเรียกค่ารักษาพยาบาลจากทางร้าน แนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ  ได้ให้คำแนะนำกับผู้ร้อง ดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้กลั่นแกล้งร้านค้าแต่อย่างใด        2. รวบรวมค่าเสียหายทั้งหมด และทำจดหมายส่งถึงทางร้านอาหารเพื่อให้รับผิดชอบเยียวยาค่าเสียหายโดยจดหมายให้ส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานต่อไป พร้อมสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค        3. ในกรณีส่งจดหมายไปแล้วเลยกำหนดที่ระบุ ทางมูลนิธิฯ ยินดีจะทำการไกล่เกลี่ยให้ระหว่างผู้ร้องกับคู่กรณี        4. หากไกล่เกลี่ยแล้วยังไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยไม่เสียเงินค่าธรรมเนียมขึ้นศาลแต่อย่างใด         ทั้งนี้ จากการติดตามของเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ  ทางผู้ร้องแจ้งว่า หลังจากส่งจดหมายขอให้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจำนวน 770 บาท ทางบริษัทได้ติดต่อผู้ร้องและแจ้งว่าจะนำเข้าปรึกษากับผู้บริหารก่อน  ซึ่งต่อมาทางบริษัทได้ตกลงที่จะให้เงินค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจำนวนเต็มเป็นเงิน 770 บาท  เป็นอันว่าจบไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากทางผู้ร้องเองก็พอใจที่จะรับค่าชดเชยรักษาพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ‘เนอสเซอรีเถื่อน !! โกงเงินอย่าวแยบยล’

        คุณมิน เป็นคุณแม่ที่ต้องวุ่นทำงานหารายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัวเมื่อมีลูกเล็ก จึงมองหาพี่เลี้ยงเด็กเข้ามาช่วยดูแลลูก แต่คุณมินไม่รู้จักใครจึงหาข้อมูลจาก กูเกิ้ล  เพราะหวังว่าจะเจอเนิร์สซิ่งโฮมที่ดีไว้วางใจได้ แล้วคุณมินก็เปิดเว็บไซต์เจอ  “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” (ชื่อสมมุติ) ที่อวดอ้างว่า รับจัด-ส่ง พี่เลี้ยงดูแลเด็กทั่วประเทศและมีรีวิวจากผู้ที่เคยใช้บริการเข้ามาชื่นชมบนเว็บไซต์มากมาย         “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” แจ้งคุณมินว่ามีค่าใช้จ่ายใช้บริการคือ ค่าเงินเดือนพี่เลี้ยง 16,000 บาท ค่ามัดจำล่วงหน้า 13,000 บาท โดยเป็นค่าประกันจ้างแรงงาน  1 หมื่นบาท และค่าบริการจัดส่งพี่เลี้ยง 3,000  บาท หาก “ เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ไม่ส่งพี่เลี้ยงมาตามสัญญาจะคืนมัดจำให้ลูกค้าหรือหากส่งแล้วลูกค้าไม่เอาพี่เลี้ยง หรือไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้พี่เลี้ยง เสื้อน้อยจะยึดเงินมัดจำไว้เช่นกัน คุณมินตกลงจ่ายเงินและทำสัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็ก และเมื่อถึงวันที่ 12 ก.พ. ‘นิ่มนวล’ พี่เลี้ยงชาวลาว วัย 36 ก็มาที่บ้านตามนัด         พี่เลี้ยงทำงานเลี้ยงดูลูกของคุณมินอย่างดี แต่...ทำได้ไม่ถึง 3 วัน ‘นิ่มนวล’ ก็มาขอลาหยุดโดยอ้างว่าขอไปต่อใบอนุญาตทำงานต่างด้าว คุณมินเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงให้ลา แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งได้ 4 วัน นิ่มนวลก็บอกว่า จะไม่ทำงานต่อแล้วและขนของออกจากบ้านไปทันที ในวันที่ 23 ก.พ. 66         คุณมิน จึงติดต่อ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” เพื่อให้ส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาแทนแต่พยายามติดต่อเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”ก็แค่รับปากว่าจะส่งพี่เลี้ยงคนใหม่มาให้แต่ก็ไม่ส่งมาให้เสียที คุณมินพยายามติดต่อหลายครั้ง และเริ่มติดต่อยากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่อ้างว่าป่วยเข้าโรงพยาบาลบ้าง อ้างเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่าง สุดท้ายคุณมินก็ไม่ได้พี่เลี้ยงคนใหม่ และเจ้าหน้าที่ยังเบี้ยวนัดหลังจากรับปากว่าจะเข้ามาตกลงที่บ้านของคุณมิน จนวันที่ 5 มี.ค. คุณมินก็ติดต่อไม่ได้ทั้งเบอร์ ทั้งไลน์ ของ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม”        ด้วยมี สัญญาว่าจ้างบริการดูแลพี่เลี้ยงเด็กกันอยู่ คุณมินจึงเดินทางจาก กรุงเทพฯ ไปที่ “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” ตามที่อยู่บนเว็บไซต์แต่พอไปถึงกลับโป๊ะแตก เพราะที่อยู่ดังกล่าว เป็นเพียงร้านซ่อมจักรยานยนต์ โดยที่เจ้าของร้านซ่อมจักรยานยนต์ไม่รู้จัก “เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” และไม่รู้ที่มา ที่ไปของหมายศาลมากมายเลยที่ถูกส่งมาที่ร้านเลย         วันที่ 15 มี.ค. คุณมินจึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะไปแจ้งความแล้วและตำรวจไม่รับแจ้งความเพราะมองว่าเป็นคดีแพ่ง และคุณมินพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อกลับไปค้นหา“เสือน้อย เนอร์สซิ่งโฮม” อีกครั้ง จนเจอตัวเจ้าของ ซึ่งเจ้าของไม่ได้หนีดังนั้นคุณมินจึงพาตัวไปหาตำรวจเพื่อขอให้คืนเงินมัดจำ 1 หมื่นบาท เจ้าของกิจการขอผัดผ่อนจ่ายก่อน 3,000 บาทและสัญญาว่าจะคืนเงินมัดจำส่วนที่เหลือให้ในวันถัดไป แต่...กลับหายตัวไปเช่นเดิม ตอนนี้คุณมินจึงฟ้องเป็นคดีอาญาแล้ว เพราะมีเอกสารสัญญามีอยู่ครบทุกประการ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ความเสียหายกรณีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า เกิดจากมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ทางกฏหมาย โดยเลี่ยงคดีอาญาฐานฉ้อโกง ด้วยการรับเงินมัดจำ แต่ส่งคน ไปก่อนเพียง  2-3 วัน เพื่อจะใช้เป็นเหตุอ้างว่า บริษัทผิดไม่ได้ เพราะผู้รับจ้างไม่รับผิดชอบการทำงานไม่เกี่ยวกับบริษัท เหตุการณ์เช่นนี้จะทำเป็นขบวนการ เวียนคนไปรับจ้างแต่ละบ้าน แค่ 2-3 วัน หลอกเอาเงินค่ามัดจำบ้านละ 1.3 หมื่นบาท บางบ้านไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้องขบวนการนี้ก็จะได้เงินไปฟรีๆ        1.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่ต้องการ ว่าจ้างเนิร์สซิ่งโฮม ควรตรวจสอบไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ เพื่อศึกษาข้อมูลระยะเวลาเปิดดำเนินการ ความไว้ใจของผู้ใช้บริการ แต่ปัจจุบันการยื่นจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ ทำได้ง่ายมาก จึงเป็นช่องโหว่ให้กับมิจฉาชีพ ใช้เป็นเกราะทำธุรกิจหลอกลวง การตรวจสอบเท่านี้จึงไม่พอ ควรตรวจสอบ ไปที่ กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย        2.ความเสียหายลักษณะนี้เข้าข่ายคดีอาญา ฐานฉ้อโกง ดังนั้น ผู้เสียหายหากจะเอาผิดให้ถึงที่สุด ต้องจ้างทนายความเพื่อดำเนินการส่งฟ้องชั้นศาล แต่หากเคสนี้เป็นคดีแพ่ง ตามที่ตำรวจอ้างถึงผู้เสียหายต้องฟ้องไปที่ “ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค “ ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านคดีความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ท่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรรแตก หลังเข้าอยู่เพียง 2 ปี

        หลายปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ภายหลังลูกบ้านเข้าไปอยู่อาศัย เช่น เรื่องราวของคุณดิว ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศว่ารับประกันโครงสร้างถึง 5 ปี แต่เมื่อเข้าอยู่เพียง 2 ปี ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุเกิดท่อน้ำที่โครงการฯ ได้ออกแบบไว้ใต้บ้านแตกแบบที่คุณดิวไม่อาจรู้ตัวได้เลย เพราะน้ำในบ้านยังใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีน้ำไหลเอ่อ รบกวนเพื่อนบ้านเลยสักนิด            คุณดิวมารู้ตัวต่อเมื่อสิ้นเดือนถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาท คุณดิวจึงรู้ได้ว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ  จึงไปติดต่อที่สำนักงานการประปาเพื่อให้ตรวจสอบและพบว่ามิเตอร์น้ำไม่ได้เสียแต่เป็นปัญหาที่ท่อน้ำใต้บ้าน   คุณดิวจึงไปกลับมาติดต่อที่นิติบุคคลของหมู่บ้านแต่แล้วนิติบุคคลกลับไม่รับเรื่องรับผิดชอบเรื่องใดๆ คุณดิวจึงเข้าไปเขียนคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รับผิดชอบทั้งค่าเดินลอยทอน้ำใหม่ และค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บ         การติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ คุณดิวคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับได้รับแต่ความเงียบเฉย คุณดิวร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ จึงออกจดหมายไปถึงบริษัทที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นคุณดิวจึงเริ่มได้รับการติดต่อจาก สำนักงานใหญ่ว่าจะรับผิดชอบค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บจำนวน 50 % ซึ่งคุณดิวไม่รับข้อเสนอเพราะยังน้อยกว่าค่าน้ำที่เขาจ่ายจากเหตุที่เสียหายอยู่มาก อีกทั้งตลอดหลายเดือนที่ติดตามทวงถามความรับผิดชอบ เขาได้หยุดงานเพื่อดำเนินเรื่องต่างๆ ยาวนานเป็นความเสียหายหรือภาระเพิ่มเติมอีกด้วย    แนวทางการแก้ไขปัญหา                 ·     คุณดิวฝากบอกว่า หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วและพยายามร้องขอความรับผิดชอบและถูกปฏิเสธหมดทุกช่องทางก็อย่าหมดความหวัง ให้พยายามหาข้อมูลต่อไปว่ามีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง  กรณีการร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณดิวได้ร้องเรียนผ่านมาทางเฟสบุ๊คเพจ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ตอบกลับรวดเร็ว คุณดิวจึงกลับมามีความหวัง                ·     เมื่อเกิดปัญหาแล้ว รวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุด อย่างรัดกุม กรณีของคุณดิวได้เก็บบิลค่าน้ำในเดือนก่อนๆ เอกสารที่ได้เข้าไปเขียนคำร้องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รูปถ่ายจุดท่อน้ำแตกไว้อย่างครบถ้วน          ในช่วงต้นเดือนเมษายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคุณดิวและบริษัทเจ้าของโครงการฯ และมีข้อสรุปให้ บริษัทฯ รับผิดชอบค่าเดินลอยท่อน้ำใหม่ และค่าน้ำ จำนวน 70% บริษัทจ่ายเงิน 13,000 บาท คืนให้คุณดิวเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พ่อเลี้ยงเดี่ยว ไม่ได้จดรับรองบุตร อาจไม่ได้เงินค่าสินไหม

        คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นสิทธิ์ของแม่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนพ่อต้อง “จดทะเบียนรับรองบุตร” ถึงจะมีสิทธิ์ในตัวลูก ซึ่งคุณชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เลิกกับเมียนานแล้ว และเลี้ยงลูกเองมาโดยไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตั้งแต่แรก ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้มีปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยุ่งยากตามมาในภายหลัง         เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อลูกชายวัย 14 ปีของเขาประสบอุบัติเหตุ จากการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนแล้วรถเกิดเสียหลักวิ่งแหกโค้งกระแทกพื้นถนน ลูกชายเขาถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล หมอเอกซ์เรย์ พบกะโหลกแตก มีเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน รักษาตัวได้เพียง 5 วัน จึงเสียชีวิต         ขณะที่หัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปกะทันหันนั้นกำลังเศร้า เขากลับต้องมาเครียดซ้ำอีก เมื่อไปยื่นเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้ 500,000 บาท เพื่อหวังนำมาเป็นค่าปลงศพลูกชาย แต่กลับพบว่าตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์นี้ได้ก็คือแม่ของลูก โดยทางตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวแม่ของลูกไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อไม่ได้ คุณชัยจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะมีสิทธิ์รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เมื่อผู้ร้อง(พ่อ)มีบุตรแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาและไม่ได้จดรับรองบุตรที่เกิดมา ผู้ร้องจึงเป็นเหมือนบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้องกับบุตร ไม่สามารถรับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน  500,000 บาทได้ แต่แม่ของลูกยังมีสิทธิ์ได้รับเงินตามกฎหมาย จึงตามแม่ให้มารับเงินดังกล่าวได้         2. หากติดต่อแม่ของลูกไม่ได้ สิทธิ์นี้ก็ต้องตกกับทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป คือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ 2.1 ผู้สืบสันดาน 2.2 บิดามารดา 2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 2.5 ปู่ย่าตายาย 2.6 ลุงป้าน้าอา ถ้ายังมีอยู่ก็เรียกมารับค่าสินไหมตรงนี้ได้         3. แต่ถ้าไม่มี ผู้ร้องอาจจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตรและให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องเป็นบิดาของบุตร ซึ่งผู้ร้องจะต้องหาเหตุผลรวมทั้งพยานหลักฐานเข้ามาประกอบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาที่แท้จริง เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงจะมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตาม พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถ          ในกรณีนี้ หลังจากได้รับคำแนะนำไป คุณชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศาลมีคำพิพากษาว่า “ให้พ่อเป็นผู้ปกครองเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” แล้ว เขากำลังเร่งขอคัดคำพิพากษาเพื่อนำไปยื่นต่อ “บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด” ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อขอรับเงินค่าสินไหมในส่วนที่ได้ครึ่งหนึ่งคือ 250,000 บาท ส่วนแม่ของลูกยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งหากเจอตัวแล้วแม่ทำหนังสือสละสิทธิ์เงินที่เหลืออีก 250,000 บาท คุณชัยก็จะได้เงินนี้ไปด้วย แต่ถ้ายังหาตัวแม่ไม่เจอ เงินส่วนนี้ก็จะเข้ากองทุนผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >