ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ระวังการจ้างคนดูแลผู้ป่วย

แม้การจ้างคนดูแลผู้ป่วย จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้หลายครอบครัวได้ แต่บางครั้งอาจเป็นการสร้างปัญหาที่ยากจะแก้ไข ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาได้จ้างคนดูแลผู้ป่วยมาเฝ้าไข้คุณแม่ ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จากศูนย์บริการจัดส่งพนักงานประจำบ้าน-โรงพยาบาล โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าคนที่จ้างมา ผ่านการรับรองและได้รับประกาศนียบัตรการสำเร็จหลักสูตรพนักงานผู้ช่วยบริบาลสุขภาพหลักสูตร 420 ชั่วโมง จากโรงเรียนการจัดการสุขภาพจุฬาเวชเรียบร้อย อย่างไรก็ตามหลังดูแลคุณแม่ได้ไม่กี่วัน พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งมายังคุณสุชาติว่า คุณแม่ของเขาไม่สบายและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท โดยขอร้องให้เขาโอนเงินเข้าบัญชีของเธอ เพื่อสำรองจ่ายไปก่อน ด้านคุณสุชาติคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร จึงหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้ แต่กลับพบว่าเธอได้หายตัวไปและติดต่อไม่ได้อีกเลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงไปแจ้งความ และติดต่อศูนย์บริการดังกล่าวเพื่อให้รับผิดชอบ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ตามสัญญาที่เขาทำไว้ก่อนตกลงจ้างคนดูแลผู้ป่วยได้ระบุไว้ดังนี้ “หากเกิดปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือเกิดการเสียหายแก่ทรัพย์สินผู้ว่าจ้าง โดยเหตุเกิดอาจเกี่ยวกับพนักงานของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะต้องรีบแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับพนักงานได้ทันที โดยผู้รับจ้างไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบแต่ประการใดทั้งสิ้น เว้นแต่การให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเท่านั้น” ทำให้คุณสุชาติต้องส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬาเวชโดยตรง เพื่อร้องเรียนถึงพฤติกรรมของพนักงานดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาถึงบทลงโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากพนักงานอาจใช้ประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรองทำงานต่อไปและหลอกลวงผู้อื่นได้อีก อย่างไรก็ตามจากปัญหานี้ได้แสดงให้เห็นถึง ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ยังไม่มีการควบคุมเรื่องข้อสัญญาสำหรับธุรกิจประเภทดังกล่าว ทำให้ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2559 โดยกำหนดว่า ข้อ 3 สัญญาการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังนี้1.รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ เลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคล ให้ระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล2.รายละเอียดของพนักงาน อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน ความประพฤติและประวัติการกระทำความผิด (ถ้ามี)กรณีพนักงานเป็นคนไทยให้ระบุเลขประจำตัวประชาชน แต่กรณีเป็นพนักงานต่างด้าวให้ระบุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว3.รายละเอียดเกี่ยวกับประเภท และขอบเขตของงานที่ให้บริการ เช่น วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงาน วันหยุดพนักงาน การทำงานล่วงเวลา เป็นต้น4.รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เช่น ค่าบริการพิเศษในวันหยุดของพนักงาน ค่าบริการล่วงหน้าและค่าทำงนล่วงเวลา รวมทั้งเงื่อนไขและวิธีชำระเงิน5.ผู้บริโภคมีสิทธิให้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงพนักงาน กรณีที่พนักงานไม่มาปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังตามที่พึงคาดหมายได้ จากการให้บริการตามสัญญา หรือพนักงานมีสภาพร่างกาย จิตใจ หรือความประพฤติไม่เหมาะสมหรือกระทำการอันเป็นความผิดอาญาทั้งนี้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ หากพบว่าไม่มีรายละเอียดของพนักงานตาม (2) หรือพนักงานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการให้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือพนักงานมีพฤติกรรมตาม (5)รวมทั้งไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะเรียกเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญา และ (8) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นค่าบริการล่วงหน้าทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นชำระเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญานอกจากนี้ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องไม่ใช่ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายทำนองเดียวกัน ดังนี้(1) ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงาน(2) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิริบเงินค่าบริการและเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคไว้ล่วงหน้า(3) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชำระค่าปรับ ค่าเสียหายหรือเงินอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่มีการเลิกสัญญา เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้แล้วตามกฎหมาย(4) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงอัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดในสัญญา ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา(5) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญข้อใดข้อหนึ่งในสัญญา(6) ข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาของสัญญามีผลบังคับทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ถูกคิดค่าไฟย้อนหลัง

คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเรื่องการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคิดค่าบริการย้อนหลัง 6 เดือนเป็นจำนวนเงิน 2,733 บาท แต่เมื่อเธออ่านรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจเกิดจากการตั้งค่าอ่านมาตรวัดไฟฟ้าผิดพลาด หรือการเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ของทางการไฟฟ้าเอง ซึ่งคุณสมใจสงสัยว่าทำไม เธอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำไมไม่เป็นเรื่องที่เกิดจากความบกพร่องของการไฟฟ้าเอง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ขอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบิลค่าไฟย้อนหลัง 6 เดือนที่ผู้ร้องชำระไปแล้ว และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าที่อยู่อาศัยของผู้ร้องจัดอยู่ในประเภท 1115 หรือ บ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก โดยมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเหตุใดจึงต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ภายหลังทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ให้ที่บ้านของผู้ร้องจริง เนื่องจากมิเตอร์เดิมเกิดการเสื่อม จากอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการชำรุดและหมุนผิดปกติ โดยหลังการเปลี่ยนมิเตอร์ก็ได้แจ้งให้ทางบ้านของผู้ร้องรับทราบไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยการแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เมื่อผู้ร้องได้รับคำชี้แจงดังกล่าว ทางผู้ร้องยินดีชำระค่าบริการย้อนหลัง และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เอาอะไหล่เดิมคืนมา

คงไม่มีใครคาดคิดว่าการนำรถยนต์จอดทิ้งไว้ที่ศูนย์บริการเพื่อซ่อมแซมแล้วจะโดนเปลี่ยนอะไหล่ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราควรจัดการปัญหานี้อย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจนำรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบสภาพรถและทำสีใหม่ โดยก่อนตกลงซ่อมได้มีการถ่ายรูปรอยขีดข่วนรอบคันไว้ด้วย พร้อมทำใบประเมินราคาส่งให้กับประกันภัย และทางศูนย์ฯ ได้นัดให้มาทำสีรถในสัปดาห์ถัดไป เมื่อถึงวันนัด ศูนย์ฯ แจ้งว่าสัปดาห์นี้คนคุมราคายังไม่เข้ามาทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำสีรถในวันที่นัดกันไว้ได้ และบอกต่อว่า “หากคุณสมใจไม่ได้ใช้รถในช่วงนี้ก็สามารถจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์ฯ ก่อนได้ น่าจะได้ทำสีภายในอาทิตย์ถัดไป” ด้านคุณสมใจเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงตกลงตามข้อเสนอดังกล่าวเมื่อถึงวันนัดครั้งที่ 2 หลังคุณสมใจได้พูดคุยกับฝ่ายประเมินราคาแล้วพบว่า เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมและทำสีจำนวนมาก ทำให้เธอตัดสินใจยกเลิกการซ่อมทั้งหมดและขอรับรถคืน อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณสมใจสังเกตว่าพวงมาลัยรถไม่เหมือนเดิม และเมื่อตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าถูกเปลี่ยนหลายรายการ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ศูนย์ฯ ว่ามีการเปลี่ยนอะไหล่ให้กับรถเธอหรือไม่ แต่ได้รับการปฏิเสธและเกิดการโต้เถียงกัน เนื่องจากเธอไม่เชื่อว่าอุปกรณ์ทั้งหมดคืออะไหล่เดิม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมใจจึงไปแจ้งความ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารการตรวจสภาพรถตั้งแต่ครั้งแรกที่นำรถเข้าศูนย์ฯ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือมีความเสียหายใดเกิดขึ้นหรือไม่ พร้อมนัดให้มีการพูดคุยเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทเองโดยตรง โดยบริษัทปฏิเสธการเจรจา เพียงแค่ส่งเอกสารการตรวจสอบรถยนต์คันกล่าวมาให้ โดยยืนยันว่าหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีรหัสตรงกัน และชี้แจงว่าบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าวจริง ไม่มีการสับเปลี่ยนอะไหล่ตามที่ผู้ร้องแจ้งแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังการฟ้องร้องคดีก็พบว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการสับเปลี่ยนอะไหล่จริงสำหรับผู้ที่กำลังจะนำรถเข้าศูนย์ฯ ซ่อมหรือตรวจสภาพ ควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เช่น ใบรับรถ ระยะไมล์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ดี ซึ่งอาจถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ได้ ทั้งนี้หากพบว่าศูนย์ฯ ไม่สามารถตรวจสอบหรือซ่อมภายในระยะเวลาที่เราต้องการได้ เราสามารถเลือกไปศูนย์บริการอื่นแทนได้ทันที นอกจากนี้หากซ่อมเสร็จแล้วควรตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อนออกจากศูนย์บริการแห่งนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เมื่อถูกขโมยบัตรเครดิต

แม้บัตรเครดิตสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ได้ หากเราถูกขโมยบัตรไปใช้และโดนทวงหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องทั้ง 2 รายนี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสมหญิง เธอร้องเรียนมาว่าถูกคนร้ายขโมยบัตรเครดิตที่ทำไว้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไปใช้ ซึ่งนำไปรูดซื้อสินค้ารวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่พกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้รูดซื้อสินค้าใดๆ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่ามีใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในประเทศที่เขาได้ไปเที่ยวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายเข้าแจ้งความ และแจ้งไปยังธนาคารของบัตรเครดิตเหล่านั้นภายใน  24 ชม. นับตั้งแต่ทราบว่าถูกขโมยบัตรไปใช้ พร้อมส่งหนังสือปฏิเสธการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วย นอกจากนี้ต้องขอหลักฐานลายมือชื่อในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถส่งพิสูจน์ลายมือได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-1439112 รวมทั้งรูปจากกล้องวงจรปิดของร้านค้าในวันที่มีการซื้อสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตรวจสอบโปรโมชั่นมือถือก่อนใช้งาน

ทุกเครือค่ายโทรศัพท์มือถือ มักจัดโปรโมชั่นมาจูงใจผู้บริโภค ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบรายละเอียดของโปรโมชั่นเหล่านั้นก่อนใช้งานให้ถี่ถ้วน อาจทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปราณีซื้อโทรศัพท์มือถือพร้อมโปรโมชั่นให้คุณแม่ โดยเลือกเป็นโปรไอทอล์ค (i-talk) จากค่าย True Move ในราคา 199 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถโทรได้ 250 นาทีและเล่น เฟสบุ๊ก (Facebook) ได้นาน 12 เดือน อย่างไรก็ตามภายหลังได้รับใบแจ้งหนี้ เธอพบว่าต้องชำระค่าบริการทั้งหมดเป็นจำนวน 342.93 บาท ผิดจากที่คิดไว้คือ 212.93 บาท ทำให้เธอรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับทางเครือค่าย ซึ่งได้ชี้แจงกลับมาว่าค่าบริการส่วนเกินดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้ใช้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเล่นวีดีโอคอล (VDO Call) ซึ่งตามโปรโมชั่นสามารถใช้บริการได้แค่เล่นเฟสบุ๊ก อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งว่า ไม่ทราบมาก่อนว่า โปรโมชั่นสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เพียงบริการเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเบอร์และโทรศัพท์ของค่ายที่เปิดให้มารดาใช้งาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการกดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาทางเครือค่ายยินดีคืนค่าบริการส่วนเกินดังกล่าวให้ และผู้ร้องได้ยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังโดนหลอกขายปุ๋ยไร้คุณภาพ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวเกี่ยวกับการจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งหากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อปุ๋ยเหล่านั้นมาใช้ ย่อมส่งผลเสียต่อผลผลิตและสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคได้ ทำให้ภายหลังมีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในบางพื้นที่ยังคงมีการจำหน่ายปุ๋ยไร้คุณภาพ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยเป็นเกษตรกรชาวระนองร้องเรียนมาว่า มีตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่ง นำดินของชาวบ้านไปตรวจสอบและกลับมาแจ้งว่าดินเป็นกรด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการซื้อแคลเซียมคาร์บอร์เนตมาปรับสภาพ ทำให้เขาและเกษตรกรคนอื่นๆ พากันสั่งซื้อปุ๋ยจากตัวแทนรายนี้หลายสิบกระสอบ รวมเป็นเงินหลายพันบาท โดยตกลงให้มีการชำระเมื่อได้รับสินค้า อย่างไรก็ตามหลังเห็นสภาพปุ๋ย คุณชูชัยเป็นเพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการซื้อ เพราะพบว่าบนกระสอบมีเพียงชื่อยี่ห้อ “Call C” ระบุไว้เท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของส่วนประกอบหรือชื่อผู้ผลิตเหมือนปุ๋ยยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยใช้มา ซึ่งทำให้เขากังวลว่าปุ๋ยดังกล่าวอาจเป็นปุ๋ยปลอมและนำมาหลอกขายชาวบ้าน จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถส่งตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจสอบคุณภาพได้ที่ ฝ่ายปุ๋ยเคมี สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2579-5536 หรือโทรศัพท์แจ้ง ส่วนสารวัตรเกษตรที่เบอร์ 0-2940-5434 เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาได้ ทั้งนี้สำหรับกระสอบปุ๋ยที่มีการระบุเพียงชื่อยี่ห้อ ถือว่าทำผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กระสอบปุ๋ยต้องมีฉลากภาษาไทย และต้องแสดงข้อความต่อไปนี้1. ชื่อทางการค้า และมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี2. เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี3. ปริมาณธาตุอาหารรับรอง4. น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก5. ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า6. ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี7. ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลากนอกจากนี้ตามมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยดังต่อไปนี้ 1. ปุ๋ยปลอม2. ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน3. ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ เว้นแต่กรณีตามมาตรา 314. ปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์5. ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้6. ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน7. ปุ๋ยที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับและจำคุก ซึ่งสำหรับผู้กระทำความผิดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000บาท หรือผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานที่กำหนด  ต้องระวางโทษจำคุก  2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท และสำหรับผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายปุ๋ยผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ปรับ 40,000-200,000 บาททั้งนี้สำหรับใครที่อยากได้ปุ๋ยคุณภาพ สามารถใช้หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อได้ง่ายๆ เช่น- เลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร - ตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่- ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้เสมอ เพราะหากพบปัญหาใดๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้จำหน่ายนั้นได้

อ่านเพิ่มเติม >