ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 เสียงอะไรใต้หลังคา

        ปัญหาจากการซื้อบ้านแล้วเข้าไปอยู่อาศัยไม่ได้เพราะเหตุการณ์ประหลาดนี้ หากเกิดขึ้นกับใครก็คงปวดหัวไม่น้อย มาดูกันว่าผู้เสียหายประสบปัญหาอะไรและมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร         เมื่อปี 2562 คุณชัดเจนซื้อบ้านในโครงการของ บริษัท A ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากเข้าพักอาศัยได้ไม่กี่วัน คุณชัดเจนพบว่า ทุกวันจะได้ยินเสียงดัง “ตึงๆ” จากใต้หลังคาเป็นระยะตลอดทั้งวัน เสียงดังรบกวนจนไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ เพราะทั้งรำคาญและกลัวว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะตอนที่เขาตรวจรับบ้านเพื่อโอนกรรมสิทธิ์นั้น เขาพบว่า ทางโครงการฯ เก็บงานไม่เรียบร้อย หลายรายการ ไม่พร้อมให้เข้าอาศัยได้ทันที ซึ่งเขาต้องเรียกร้องให้ทางโครงการฯ จัดการเก็บงานอยู่หลายต่อหลายครั้งและใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะพอเข้าอาศัยได้         เมื่อเกิดปัญหาเสียงดังจากใต้หลังคาคุณชัดเจนแจ้งให้ทางโครงการฯ รีบเข้ามาแก้ไข ครั้งแรกทางช่างแจ้งว่า เพราะหลังคาเป็นเมทัลชีทดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจมีเสียงดังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการขยายตัวของโลหะ ทางช่างจะดูแลให้ สองเดือนต่อมาปัญหาไม่หายไป และคุณชัดเจนก็คิดว่า หากเป็นเสียงดังจากเมทัลชีทจริง ก็น่าจะเป็นกับบ้านทุกหลังในโครงการฯ ทำไมต้องมาเป็นเฉพาะบ้านของเขา ซึ่งเรื่องนี้เขาได้สอบถามเพื่อนบ้านทุกคนแล้ว ไม่มีใครเกิดปัญหาแบบบ้านเขาเลย         สองเดือนต่อมาเขาเร่งให้โครงการเข้าจัดการปัญหา เรื่องก็เงียบจนอีกสามสี่เดือนถัดมา ทางโครงการฯ นำผู้รับเหมาเข้ามาสำรวจและทดสอบเสียง พร้อมบอกว่าเกิดจากการขยายตัวของแผ่นหลังคาจริง ดังนั้นจะทำการรื้อและติดตั้งหลังคาให้ใหม่ หลังจากช่างแก้ไขให้แล้ว เสียงดังตึงก็ยังหลอนโสตประสาทเช่นเดิม         จนเข้าปลายปี 2563 เขาพยายามให้ทางโครงการฯ แก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะเขาขาดประโยชน์ต้องไปพักอาศัยที่อื่น ไม่สามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ ซึ่งต่อมาทางโครงการนำผู้เชี่ยวชาญมาตรวจและเทสเสียงพร้อมแจ้งว่า เสียงที่ดังนี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเขาเห็นว่า มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหา การบอกว่าเสียงไม่เกินมาตรฐานกำหนดมันไม่ได้ทำให้เขาพักอาศัยได้ ทั้งกลัวว่าอาจมีปัญหาโครงสร้างของหลังคา อยู่ๆ เกิดพังถล่มลงมาจะทำอย่างไร           ล่าสุดก่อนตัดสินใจปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณชัดเจนระบุว่าทางโครงการฯ ได้นำวัสดุลดเสียงเข้ามาติดตั้งใต้หลังคาแต่ปัญหาก็ไม่หายไป และทางโครงการฯ ไม่พยายามเข้ามาสนใจติดตามผลงานเลย ทิ้งเรื่องเงียบหาย  เขาจะใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง คือสิ่งที่คุณชัดเจนปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินการใช้สิทธิ เบื้องต้นผู้ร้องได้เข้าร้องเรียนปัญหานี้กับทางโยธาจังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุของเสียงดังใต้หลังคา และเปิดเจรจากับทางโครงการฯ อีกครั้ง โดยทางศูนย์ฯ จะเข้าช่วยเหลือเรื่องการเจรจาเพื่อให้แก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็ใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 สาวหลงซื้อคอร์สความงาม เกือบสูญเงินแสน

        หลายปีมานี้ มีคำเตือนสำหรับคุณผู้หญิงที่ใจอ่อนและขี้เกรงใจว่า อย่าเดินห้างสรรพสินค้าเพียงลำพัง ระวังอาจหลงคารมโน้มน้าวของพนักงานจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่มักแข่งกันงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาละลายใจให้คุณๆ ยอมเซ็นสัญญาจ่ายซื้อคอร์สเสริมความงามราคาแพงลิ่ว         เช่นเดียวกับคุณเอมมี่ ที่วันหนึ่งขณะเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิเพลินๆ ก็มีหญิงสาวหน้าใสในชุดยูนิฟอร์มของคลินิกเสริมความงามมีชื่อแห่งหนึ่งเดินมาดักหน้า พร้อมเผยยิ้มกว้างและเอ่ยเสียงหวานไพเราะ          “ขอโทษนะคะ ขอรวบกวนเวลาแป๊บนึง วันนี้คลินิกเรามีบริการคอร์สทดลอง เชิญเลยนะคะ” คุณเอมมี่เคยได้ยินชื่อเสียงของคลินิกแห่งนี้ก็เลยเผลอคิดว่า ทดลองใช้ดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตามพนักงานไปทดลองคอร์สดังกล่าว         หลังจากคุณเอมมี่ใช้บริการทดลองในร้านแล้ว พนักงานก็กุลีกุจอเข้ามาแนะนำให้เธอซื้อคอร์ส VIP ในราคา 100,000 บาท ซึ่งมีข้อเสนอเด็ดคือสามารถแบ่งจ่ายได้ เริ่มต้นเป็นเงินสด 35,000 บาท และจ่ายผ่านบัตรเครดิต 65,000 บาท ยังไม่ทันได้คิดละเอียดอะไรเพราะพนักงานพูดเก่งมาก และมีการขอดูบัตรเครดิตของเธอเพื่อจะดูว่าเธอจะได้สิทธิพิเศษอะไรอีกบ้างเพราะทางคลินิกทำโปรโมชั่นไว้กับหลายธนาคาร จนเมื่อเธอหยิบบัตรเครดิตส่งให้ พนักงานก็คว้าหมับไป และหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมคืนบัตรเครดิตให้เธอ         พอถูกรุกหนักเข้า คุณเอมมี่เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ในระหว่างนั้นก็มีพนักงานชายพยายามมาทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคามทางเพศด้วย จึงยิ่งไม่พอใจอย่างมาก  ต่อมาภายหลังเมื่ออ่านรายละเอียดในสัญญาก็พบว่าเงื่อนไขในนั้นไม่เป็นไปตามที่เสนอขายไว้เลย เธอจึงอยากจะยกเลิกสัญญา  เพราะยังไม่ได้ใช้บริการ  จึงร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอทราบรายละเอียดทราบว่า คุณเอมมี่เองกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากคลินิกเสริมความงามคู่กรณีอยู่ ซึ่งภายหลังคุณเอมมี่แจ้งว่าทางคลินิกยอมยกเลิกสัญญาและจ่ายเงินค่าสมัครคืนให้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้ก็จบแบบไม่เสียแรงเกินไป         อย่างไรก็ตาม มีหลายเคสในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ไม่ได้จบง่าย บางรายต้องเสียเงินฟรี บางรายเสียเวลาไปฟ้องร้อง แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนต่างเสียความรู้สึก ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ หากพบการเสนอขายแบบคะยั้นคะยอให้คล้อยตาม ผู้บริโภคต้องใจแข็ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจทำสัญญา และอย่ายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปง่ายๆ จนกว่าจะตัดสินใจดีแล้ว สอบถามรายละเอียดพร้อมอ่านสัญญาให้รอบคอบ พิจารณาว่าสัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องการขอยกเลิกหากไม่พอใจหรือไม่ เหตุแห่งการยกเลิกมีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติหากเกิดความเสียหายจากการเข้ารับบริการ  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำสัญญานี้จะไม่ผิดพลาดจนต้องมายุ่งยากในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ไม่มีทรัพย์สินจะถูกบังคับคดีได้ไหม

        ภูผา เช่าซื้อรถยนต์ ราคา 265,000 บาท โดยต้องผ่อนชำระทั้งหมด 74 งวด งวลละ 7,400 บาท เขาชำระไปได้เพียง 36 งวด แต่ไปต่อไม่ไหว เพราะเขาตกงาน สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ต่อมาไฟแนนซ์ฟ้องคดีให้เขาชำระค่าส่วนต่าง เพราะรถที่ยึดไปขายทอดตลาดนั้นได้เงินมา 90,000 บาท ขาดไป 175,000 บาท ถึงจะเท่ากับราคาของรถยนต์ที่ได้เช่าซื้อมา         ภูผาได้ไปทำสัญญาประนอมหนี้กับไฟแนนซ์ที่ศาลว่าจะผ่อนกับไฟแนนซ์เป็นจำนวนเงิน 6,8000 บาท ทุกเดือน แต่ผ่อนได้แค่ 1 ปี ก็ผ่อนต่อไม่ไหวเพราะสถานการณ์โควิดทำให้แทบไม่มีรายได้เหลือพอผ่อนหนี้ ทางไฟแนนซ์เร่งให้เขาหาเงินมาจ่าย มิฉะนั้นจะทำเรื่องบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของเขาเสีย ภูผาคิดว่าตนเองก็ไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องค้างคาหรือมีปัญหาในอนาคต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอธิบายให้คุณภูผาฟังว่า เมื่อผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องเอง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์และเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ขึ้นไป ผู้ร้องไม่ต้องรู้สึกกดดันในเรื่องของการบังคับคดี เพราะถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์อย่างไรก็จะไม่พบ เนื่องจากผู้ร้องไม่มีทรัพย์สิน เมื่อไม่พบทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้อง เจ้าหนี้ก็ต้องแขวนหนี้ไว้ 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งภายใน 10 ปี ผู้ร้องไม่สามารถมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องได้ ถ้าผู้ร้องมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องและเจ้าหนี้ทราบ เจ้าหนี้จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดมาชำระหนี้ต่อไป         อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ร้องสามารถทำได้ ในช่วงเวลา 10 ปี ผู้ร้องต้องสะสมเงินเพื่อที่จะปิดบัญชี (หนี้) ในอนาคต โดยอาจปิดด้วยเงินก้อนเดียวและเจรจาต่อรองเพื่อขอลดยอดหนี้ลงมา แต่ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้ เมื่อใกล้ระยะเวลาในการบังคับคดีจะหมดลง  ผู้ร้องก็อาจจะต่อรองขอปิดบัญชีตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องสามารถจะปิดได้ในขณะนั้น ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้ก็จะรับไว้ เพราะถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ผู้ร้องเสนอให้ เมื่อครบระยะเวลาในการบังคับคดีเจ้าหนี้ก็อาจจะไม่ได้อะไรจากผู้ร้องเลย          และเมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีไปแล้วผู้ร้องก็สามารถมีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องได้ โดยที่เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้ เนื่องจากหมดระยะเวลาในการบังคับคดีแล้ว แต่หนี้ยังคงอยู่ไม่ได้หมดไปพร้อมกับระยะเวลาในการบังคับคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 อาหารเป็นพิษ ร้านค้ารับผิดชอบอะไรบ้าง

        ช่วงล็อคดาวน์ในสถานการณ์โควิด รัฐบาลขอความร่วมมืองดการเดินทาง ใช้ชีวิตอยู่บ้าน Work From Home กันไป หรือถ้าต้องการจะรับประทานอะไรที่ต้องเดินทางไปที่ร้านก็ต้องเปลี่ยนมาพึ่งบริการเดลิเวอรี่แทน           คุณดิน เป็นอีกคนที่ทำงานจากที่บ้าน วันหนึ่งไม่อยากทำอาหารเอง จึงสั่งไก่ย่างจากฟาสต์ฟู้ดส์ดังยี่ห้อหนึ่งซึ่งมีบริการเดลิเวอรี่ของตนเอง มารับประทานกับแฟนของเขา หลังจากอิ่มหนำสำราญผ่านไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งสองก็เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก จึงรีบพากันไปโรงพยาบาล         เมื่อแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา ผลคืออาการอาหารเป็นพิษจากชุดไก่ย่างที่สั่งมารับประทาน ทั้งเขาและแฟนต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสองคนคือ 75,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาลของเขา 36,000 บาท และส่วนของแฟน 39,000 บาท ซึ่งในระหว่างรักษา คุณดินได้แจ้งเรื่องไปที่ร้านฟาสต์ฟู้ดส์ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย ทางร้านจึงได้ส่งตัวแทนมาเยี่ยม พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายของทางร้านมาเจรจา พอต้องเจอทนาย คุณดินไม่แน่ใจว่าจะต้องเจรจาอย่างไรเพื่อให้สิทธิของตนเองไม่ถูกลดทอน  จึงโทรมาสอบถามศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า ผู้ร้องสามารถเจรจากับทางร้านได้ โดยต้องกำหนดค่าชดเชยที่ครอบคลุมเรื่องความเสียหายทั้งหมดไว้ก่อน  ผู้ร้องประสงค์ให้ทางร้านรับผิดชอบสิ่งใดบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียเวลา เป็นต้น  และต้องเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้กับตนเอง หากทางร้านต้องการเอกสารควรสำเนาไว้กับตนหนึ่งชุดด้วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่าอาหาร เป็นต้น         หลังจากการให้คำปรึกษา ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าตนได้เจรจากับทางร้านเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกให้ทางร้านรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟน รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจำนวน 5,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติงานได้ช่วงที่ต้องรักษาตัว อย่างไรก็ตามทางร้านแจ้งว่าจะรับผิดเฉพาะค่ารักษาพยาบาลจำนวน 36,000 บาทและของแฟนผู้ร้องจำนวน 39,000บาท เท่านั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจกับข้อเสนอของบริษัท มูลนิธิฯ จะเป็นคนกลางช่วยเจรจาให้ ซึ่งถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป         ภายหลังทางร้านได้รับผิดชอบทั้งค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟนเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท และมอบค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องอีกจำนวน 2,000 บาท เรื่องเป็นอันยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 #ถ้าการเมืองดี

        ในช่วงเวลาหนึ่งของปี 2563 มีแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า #ถ้าการเมืองดี เกิดเป็นกระแส ซึ่งเป็นเสมือนการแชร์ไอเดียกันว่าหากประเทศไทยการเมืองดี คุณภาพชีวิตและสังคมไทยจะเป็นอย่างไร         ทันทีที่แฮชแท็กนี้ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ชาวโซเชียลจำนวนมากช่วยกันดันจนแฮชแท็กนี้ติดอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ และกับเรื่องเด่นหลายเรื่อง เช่น การศึกษาที่เด็กควรได้เรียนอย่างอิสระไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายของคนยุคเก่า การรักษาพยาบาลควรดีกว่านี้คนจะได้ไม่ต้องมาเข้าคิวรอหมอนัดข้ามคืน รวมถึงถ้าการเมืองดีคนไทยจะได้ไม่ต้องทนใช้รถโดยสารเก่า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีฟุตบาททางเท้าได้มาตรฐาน เดินได้ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเป็นความเชื่อและความฝันของคนจำนวนมากที่คิดว่า ถ้ากรุงเทพมีระบบขนส่งสาธารณะดีบริการทั่วถึงเพียงพอ การจราจรบนท้องถนนเบาบางลง ผู้คนยอมจอดรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้านแล้วออกมาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างที่ในต่างประเทศนิยมใช้กัน ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ มลภาวะเป็นพิษทางอากาศจะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตคนเมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ ผู้คนจะมีความสุข ได้เดินบนฟุตบาทอย่างปลอดภัย ปั่นจักรยานโดยไม่ต้องกลัวรถมาชนท้าย นั่งรถเมล์ต่อรถไฟฟ้าไปทำงานแบบมีโปรโมชั่นส่วนลด ที่สำคัญจะไม่มีใครต้องมาเสียเวลารถติดเปลืองพลังงานอยู่บนถนนแบบไร้คุณค่าเหมือนทุกวันนี้         แล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจริงได้ไหม? เพราะปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สามารถทำให้ไร้รอยต่อได้จริง อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องเดินออกจากที่พักในระยะทางมากกว่า 1,000 เมตร เพื่อมาที่ป้ายรถเมล์ คุณภาพรถเมล์ยังสวนทางกับราคาค่าบริการ คนรายได้น้อยที่ต้องการใช้รถไฟฟ้ายังไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเพราะสู้ราคาไม่ไหว เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยนั้นติดอันดับแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพ          ในบรรดาของที่แพงขึ้นๆ นั้น ค่ารถไฟฟ้าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพราะขึ้นราคามาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน เมื่อผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศแจ้งยกเลิกตั๋วรายเดือน 30 วัน อ้างว่าเป็นโปรโมชั่นส่วนลดของบริษัทมานาน 15 ปีแล้ว และได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคมาแล้ว พบว่า พฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง การเดินทางที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จึงต้องยกเลิกโปรโมชั่นนี้        ฟังเหตุผลของบีทีเอสแล้วคงต้องซาบซึ้งใจในความห่วงใยที่มีต่อผู้โดยสาร แต่การอ้างถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ทุกชีวิตทุกระบบของระบบขนส่งสาธารณะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์กรุงเทพทำให้อัตราการใช้ขนส่งสาธารณะมีจำนวนน้อยลดลง แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อคดาวน์จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าก็เริ่มกลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น การอ้างพฤติกรรมของผู้โดยสารช่วงล็อคดาวน์จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ หรือการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะมีเหตุผลอื่นแฝงซ่อนอยู่….?         การยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วรายเดือนนี้ นอกจากไม่ได้ช่วยเหลือลูกค้าประจำของบีทีเอสเองแล้ว ยังเป็นการผลักให้มิตรกลายเป็นศัตรู ซ้ำเติมสร้างวิกฤตใหม่ ผลักภาระให้กับประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือ ลูกค้าประจำหรือคนที่เดินทางบ่อยเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าค่าโดยสารบีทีเอสเป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำวันอยู่แล้ว ที่สำคัญการยกเลิกตั๋วรายเดือนส่งผลโดยตรงให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น บางรายเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “บีทีเอสกำลังจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาลเพื่อต่อสัญญาสัมปทานใช่หรือไม่” เพราะที่ผ่านมาบีทีเอสได้พยายามออกมาทวงหนี้กรุงเทพมหานครที่ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน (ตามที่คุยกันไว้แล้ว) จนโด่งดังไปทั่วโลก และกดดันรัฐบาลให้เร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่ไปไหน         แม้ต่อมาผู้บริหารบีทีเอสจะออกมาปฏิเสธทันทีว่า การยกเลิกตั๋วรายเดือนไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกตั๋วรายเดือนมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานจริง และเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองใช่หรือไม่?  โดยมีข้อเท็จจริงที่กรุงเทพมหานครติดหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ จำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว และยอดหนี้ค่าจ้างก่อสร้างงานระบบอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาลแต่คาดหมายว่าจะต้องฟ้องต่อในอนาคต        ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยตัดสินใจถอนเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกจากวาระเพื่อพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขระเบียบมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามกระทรวงคมนาคมและสังคมได้ว่า เหตุใดจึงต้องยอมเสียเปรียบเอกชนต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสทั้งที่ยังเหลือเวลาอีก 8 ปี และทำไมต้องเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท รวมถึงรายละเอียดในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่มีผลกระทบต่อรัฐและประชาชนอย่างไร          ถ้าประเด็นคำถามข้อสงสัยต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ผลประโยชน์นับแสนล้านจากการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มหาดไทย คมนาคม ก็ยังไม่ควรต้องเร่งรีบพิจารณาอนุมัติ จากเรื่องขนส่งสาธารณะกลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ของนักการเมือง สรุปแล้วแบบนี้ประเทศไทยเราการเมืองดีแล้วหรือยัง ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 มหานครระบบราง ??

        ในตอนที่แล้ว เราจบเรื่องไว้ที่ว่า ทำไมการเพิ่มสัดส่วนคนใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑล ถึงเกี่ยวพันกับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทย เหตุผลที่ตอบได้ทันทีเลย คือ เพราะหากระบบขนส่งทางรางในระบบรถไฟฟ้าสามารถเปิดใช้บริการได้ทุกเส้นทางเต็มรูปแบบอย่างที่ภาครัฐคาดหวังไว้ ตัวเลขสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในภาพรวม (ที่ไม่ได้ระบุแยกประเภทของขนส่งสาธารณะ) ก็จะมีตัวเลขที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว และคาดหมายผลรวมถึงตัวชี้วัดตามแผนย่อยยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี จะสำเร็จได้ตามเป้าหมาย         เมื่ออ้างอิงจากปัจจุบัน กรุงเทพและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าทั้งบนดิน ใต้ดิน และลอยฟ้าเปิดให้บริการแล้ว 5 สาย คือ สายสีเขียว แบ่งเป็นเส้นสุขุมวิท (คูคต – เคหะสมุทรปราการ) และเส้นสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า) สายสีน้ำเงิน แบ่งเป็นสามช่วง (บางซื่อ – หัวลำโพง) (หัวลำโพง – หลักสอง) และ (บางซื่อ – ท่าพระ) สายสีม่วง (คลองบางไผ่ – เตาปูน) สายสีทอง (ช่วงสถานีกรุงธน-สำนักงานเขตคลองสาน) และสายท่าอากาศยาน (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ระยะทางรวม 170.38 กิโลเมตร         นอกจากนี้ยังมีสายสีแดง เส้นทางรังสิต – บางซื่อ ระยะทาง 26 กิโลเมตร และ บางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างเปิดให้บริการทดลองนั่งฟรี ทำให้ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าทั้งหมดที่เปิดให้บริการทั้งที่เรียกเก็บค่าบริการและทดลองนั่งฟรีมีระยะทางรวม  211.38 กิโลเมตร           ขณะที่ยังมีโครงการรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างก่อสร้างและกำลังจะสร้างอีกมากกว่า 350 กม. ในเส้นทางสายสีส้ม สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีเทา สายสีน้ำตาลอ่อน และสายสีฟ้า ซึ่งตามแผนแม่บทการก่อสร้างโครงการจะทยอยเสร็จและเปิดบริการตั้งแต่ปี 2565 - 2570 รวมมีระยะทางรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมดกว่า 554 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพจะกลายเป็นมหานครระบบรางติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกทันที และแน่นอนว่าจะส่งผลให้เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลระยะที่สองภายใน 2570 ที่ต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สำเร็จตามไปด้วยโดยไม่ต้องรอผลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในประเภทอื่นอีกด้วย         อ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะมีแต่เรื่องดีไม่ใช่หรือ เมื่อรัฐบาลเร่งลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างมหานครระบบรางในกรุงเทพเมืองหลวงของประเทศไทยให้คนกรุงเทพและปริมณฑลได้ใช้ขนส่งสาธารณะดีมีคุณภาพ เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – 2563 รัฐบาลได้มีการลงทุนในระบบรางรวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ  พัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ และพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง         แต่คำถามสำคัญ ณ ตอนนี้ คือ เมื่อรถไฟฟ้ามีหลายสีหลายสาย ขณะที่มีเจ้าของหลายคน ระบบต่างๆจะเชื่อมต่อกันได้อย่าง ตัวอย่างเช่น บีทีเอส และกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สายสีเขียวอ่อน สายสีเทา สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู และอยู่ระหว่างการประมูลสายสีส้มตะวันตก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRT รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีส้มตะวันออก กลุ่ม CP รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้า Airport Rail Link และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับผิดชอบดูแลรถไฟฟ้า สายสีแดง ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่มีระบบไหนที่เชื่อมต่อกันได้เลย ยกเว้นแค่สกายวอร์คที่สร้างไว้เดินเชื่อมถึงกันเท่านั้น         เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ของบริการขนส่งสาธารณะประเทศไทย คือ ระบบที่ไม่เชื่อมต่อกัน หรือ พูดกันง่ายๆ คือ ต่างคนต่างทำ ทำกันคนละระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งให้เป็นบริการหนึ่งเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าแต่ละสาย ซึ่งระบบเชื่อมต่อที่ง่ายที่สุด คือ ตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวที่ผู้บริโภคควรใช้เพื่อขึ้นรถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า รวมถึงซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อให้จบเบ็ดเสร็จในบัตรเดียวเหมือนที่ในหลายประเทศทั่วโลกทำกัน แต่ประเทศไทยทำไม่ได้!!         ขณะที่ประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีไร้รอยต่อ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ล้วนมีตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวใช้กันทั้งนั้น ตัวอย่าง ญี่ปุ่นมี Suica IC Card ฮ่องกงมีบัตร OCTOPUS CARD และไต้หวันมีบัตร EASYCARD ซึ่งระบบบัตรของทั้งสามประเทศล้วนมีคุณสมบัติสารพัดประโยชน์ที่ใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟ รถไฟฟ้า รถบัส รวมทั้งซื้อสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อได้อีกด้วย นอกจากนี้สำหรับบัตร EASYCARD ของไต้หวันยังมีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับการใช้รถไฟและรถเมล์ภายในหนึ่งชั่วโมง เพื่อสร้างจูงใจให้คนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นด้วย      ส่วนกรุงเทพมหานครเดิมมีบัตรแมงมุมที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2561 ด้วยความคาดหวังคนไทยบัตรแมงมุมใบเดียวใช้จ่ายได้ทุกอย่าง แต่ถึงตอนนี้ยังไม่ทันได้พ่นใย บัตรแมงมุมนี้ก็หมดประโยชน์แล้ว เพราะกระทรวงคมนาคมยุคนี้มีแนวโน้มจะพัฒนาระบบตั๋วร่วมเป็นระบบ Europay Mastercard and Visa (EMV) หรือใช้บัตรเครดิตชำระค่าโดยสารแทน อ้างความสะดวกของผู้โดยสาร และลดต้นทุนในการบริหารจัดการตั๋วไม่ต้องทำใหม่         ที่สำคัญการล่มสลายของบัตรแมงมุมเท่ากับเป็นการลงทุนด้วยภาษีประชาชนที่สูญเปล่า ทั้งยังสะท้อนถึงความล้มเหลวเชิงนโยบายที่เปลี่ยนไปมา ทั้งที่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรว่าจะเป็นบัตรอะไร แต่อยู่ที่ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของใครกันแน่! เพราะฉะนั้นต่อให้สร้างรถไฟฟ้าเสร็จทุกสาย แต่ระบบไม่เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังไม่รู้สึกอยากจอดรถแล้วมาใช้รถไฟฟ้า สุดท้ายก็จะเหลือแต่ตอม่อกับรางไว้ให้ดูต่างหน้าเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ไม่ได้ทำประกันแล้วทำไมมาทวงค่าเบี้ย

        สถานการณ์โควิดทำเอาเดือดร้อนกันไปถ้วนหน้า หลายธุรกิจก็เร่งทำตลาดปิดยอดขาย หลายมิจฉาชีพก็พร้อมจะลวงให้เชื่อ ดังนั้นเวลานี้หลายคนอาจได้รับโทรศัพท์หรือข้อความแปลกๆ ทั้งเข้ามาขายของ หลอกให้กู้เงิน หรือแม้แต่หลอกให้กดลิงก์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งไม่ได้มาแค่ครั้งสองครั้งแต่ดูเหมือนจะมากันทุกวันสำหรับผู้ใช้บริการมือถือ (แล้วใครละที่ไม่มีมือถือ) เรามาลองดูกรณีของคุณปันปัน ผู้ซึ่งงงไม่หายว่าไปทำประกันตอนไหน ถึงถูกทวงให้ต่อค่าเบี้ยประกัน         วันหนึ่งคุณปันปันที่กำลัง Work from home อย่างเคร่งเครียด ได้รับสายหนึ่งแจ้งว่า เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยยี่ห้อหนึ่ง แจ้งว่ามีข้อเสนอให้เลือกแผนประกันตัวใหม่นี้ ซึ่งคุ้มครองมากกว่าตัวประกันเดิมซึ่งคุณปันปันได้ทำไว้ เพียงแค่จ่ายเบี้ยไม่ถึง ...บาทต่อปีและสามารถผ่อนชำระเป็นรายเดือนได้เพียง ...ต่อเดือนเท่านั้น   แต่เดี๋ยวก่อนคุณปันปันงงงวยมากว่า ฉันไปทำประกันตอนไหนกัน         คุณปันปันต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวโดยพยายามถามไปถามมาจนได้ความว่า เมื่อประมาณสามเดือนก่อนเธอไปสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วบัตรเครดิตนั้นให้ “ของแถม” เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทันทีโดยที่คุณปันปันไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันในระยะเวลาสามเดือน แต่ถ้าต้องการให้สัญญาประกันภัยคุ้มครองต่อไปต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันซึ่งจะหักทันทีทุกเดือนจากบัตรเครดิต แต่ถ้าคุณปันปันเปลี่ยนมาเป็นอีกแผนหนึ่งซึ่งให้ความคุ้มครองมากกว่า ก็จ่ายเพิ่มอีกไม่มาก        โห...อะไรกันนี่ คุณปันปันเครียดกว่าเดิมและบอกปฏิเสธไปรัวๆ ว่าไม่สนใจแผนการทำประกันใหม่อะไรทั้งนั้น ของเก่าที่ได้มาฟรีๆ ก็ไม่เห็นจะเคยรู้เลยว่ามี นี่ถ้าหกล้มตอนสองสามเดือนที่ผ่านมาก็เสียสิทธิไปแบบไม่รู้ตัวด้วย  ถึงจะปฏิเสธไปตลอดเวลาก็ต้องทนฟังพนักงานหว่านล้อมอีกสักพัก เธอคนนั้นจึงยอมวางสาย คุณปันปันบอกตัวเองว่า เราคงไม่ได้พูดว่าตกลงไปนะ เพราะการสนทนาแบบนี้จะมีการบันทึกเสียงเพื่อใช้ยืนยันว่าผู้บริโภคตอบตกลง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตนเองไม่ได้พลาดอะไรอีกคุณปันปันจึงโทรมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณปันปันนำสัญญาและใบโฆษณาเรื่องโปรโมชั่นฟรีค่าประกันภัยสามเดือนมาอ่านข้อความโดยละเอียด เพื่อดูว่าอาจจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง พบว่าสัญญาประกันภัยตลอดจนการคุ้มครองจะสิ้นสุดลงหากผู้เอาประกันหรือคุณปันปันไม่ต่ออายุสัญญา คุณปันปันวางใจได้ว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกัน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่ได้รับการให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับประกันภัย คุณต้องมีกรมธรรม์มาถือไว้ในมือ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของตน มิใช่ไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองได้รับสิทธิการคุ้มครองจากการทำประกันภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 สั่งสินค้าออนไลน์ โดนขโมยของก่อนถึงมือ ใครต้องรับผิดชอบ?

        ยุคนี้ใครๆ ก็เข้าสู่ตลาด e-commerce ผู้บริโภคหลายคนเลือกสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ จริงอยู่ที่ว่าการสั่งออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัญหาก็มีมาไม่น้อยเช่นกัน  หากใครเคยเจอปัญหาขนส่งส่งช้า คงไม่น่าหนักใจมากนักเพราะยังดีกว่าขนส่งที่ส่งของไม่ถึงมือเรา เนื่องจากของที่เราสั่งซื้อมาโดนขโมยไปเสียก่อน ลองมาดูกรณีนี้กัน           วันหนึ่งคุณน้ำตาลได้เลื่อนดูสินค้าบนแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เจอเจลล้างหน้าจากแบรนด์ดังลดราคาและมีโปรโมชั่น จึงได้สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันทันที ทำการจ่ายเงินและรอรับสินค้า จนเมื่อวันก่อนเกิดเหตุมีเบอร์ขนส่งเคอรี่เจ้าประจำโทรเข้ามาแต่คุณน้ำตาลไม่ได้รับสาย ต่อมาเลยเช็คกับทางแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ว่าของส่งถึงไหนแล้ว ปรากฎว่าขึ้นสถานะสินค้าว่าได้จัดส่งแล้ว  คุณน้ำตาลจึงลงไปดูของที่จุดรับของบริเวณชั้นล่างของที่พัก (หอพักเอกชน) ปรากฎว่าไม่มี จึงได้เช็คหมายเลขพัสดุของขนส่งเคอรี่อีกที ซึ่งขึ้นว่า “ส่งของแล้ว” แต่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่า "ไม่เซ็น" อ้าว...ไหงงั้น  คุณน้ำตาลจึงได้โทรกลับไปเช็คกับพนักงานส่งของเพราะไม่มีของที่ซื้อวางไว้ ทางพนักงานส่งยืนยันว่า ส่งแล้วพร้อมกับเอารูปที่ถ่ายว่าส่งแล้วมายืนยันกับคุณน้ำตาล         ส่งแล้วแต่ไม่มีของ แล้วมันหายไปไหน หายไปได้อย่างไร คุณน้ำตาลจึงขอให้เจ้าของหอ ช่วยสอบสวนหน่อยว่า มีใครหยิบผิดหรือไม่?  ซึ่งปรากฎว่าไม่มีใครหยิบไป  ดังนั้นคุณน้ำตาลจึงต้องขอดูกล้องวงจรปิดช่วงวันเวลาที่มีพนักงานขนส่งของเคอรี่มาส่งของ           ในกล้องวงจรปิดพบว่า พนักงานของเคอรี่ได้ส่งของจริงตรงจุดที่หอพักทำเป็นจุดพักวางไว้ (เนื่องจากสถานการณ์โควิดทางหอไม่ให้คนนอกเข้าหอพัก) และเมื่อได้ดูต่อไปว่าใครหยิบของไป เลยเห็นว่ามีคนแต่งตัวเหมือนพนักงานส่งของ (อีกยี่ห้อหนึ่ง) ขี่จักรยานยนต์มาตรงที่วางของแล้วทำท่าเลือกของสักพัก เมื่อได้ของที่ต้องการจึงหยิบไป ขับรถทำเนียนๆ ออกไปเลย ทางคุณน้ำตาลรู้สึกเสียหายอย่างมากที่ไม่ได้รับของและคิดว่าจะอย่างไรดี ใครต้องรับผิดชอบกรณีนี้บ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้ขอคืนเงินจากทางแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ เพราะแม้ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 623 ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลง ถ้าผู้รับสินค้าได้รับไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว หรือพัสดุที่ถูกส่งไปยังที่อยู่ซึ่งมีพื้นที่รับของส่วนกลางถือว่าสิ้นสุดหน้าที่  แต่ภายในข้อกำหนดของเคอรรี่ข้อ 7 ได้ระบุไว้ว่า “หลักฐานการจัดส่ง” 7.1 จำเป็นต้องมีลายเซ็นจากผู้รับมอบเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.2 ในกรณีที่ผู้รับไม่ใช่ผู้รับมอบ ผู้จัดส่งของเราจะพยายามยืนยันตัวตนของผู้รับอย่างสมเหตุสมผล จำเป็นต้องมีลายเซ็นของผู้รับดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.3 ในกรณีพิเศษที่ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ผู้จัดส่งของเราจะเขียนเป็นหมายเหตุไว้ บางครั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผู้รับซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ การที่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่าไม่เซ็นนั้น เท่ากับว่าผู้ขนส่งไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อ 7         ทั้งนี้  ทางคุณน้ำตาลได้รับเงินคืนจากแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์แล้ว ทางเจ้าของหอพักได้มีการเปลี่ยนสถานที่วางพัสดุ ส่วนทางขนส่งเคอรี่ได้มีการติดตามและขอหลักฐาน คือ ภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิดกับทางคุณน้ำตาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักทรัพย์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >