ฉบับที่ 255 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2022

ก่อนจะออกไปเที่ยวผจญแดดร้อนลมแรงที่ไหน อย่าลืมสำรวจวันหมดอายุของครีม/โลชัน/สเปรย์กันแดดที่มีอยู่ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้ามันถูกเก็บในบริเวณที่ร้อนมากอย่างคอนโซลหน้ารถ ความสามารถในการป้องกันยูวีอาจเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น แยกชั้น หรือจับตัวเป็นก้อน เราขอแนะนำให้คุณซื้อใหม่         ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์กันแดดที่ทำขึ้นในช่วงต้นปี 2565 มาให้สมาชิกได้เลือกกันถึง 25 ผลิตภัณฑ์ (ค่า SPF30 และ SPF50+) ทั้งแบบครีม โลชัน และสเปรย์ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย         แม้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนถึงระดับห้าดาว แต่ “ตัวท็อป” ในการทดสอบปีนี้ก็ได้คะแนนรวมไปถึง 74 คะแนน (เทียบกับ 71 คะแนนของปีที่แล้ว) ข่าวดีคือผลิตภัณฑ์ 25 ตัวนี้ไม่มีสารรบกวนฮอร์โมน หรือสารก่ออาการแพ้ Octocrylene D5         แต่การทดสอบก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีผลิตภัณฑ์อีกไม่น้อยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีต่ำกว่าที่แจ้งบนฉลากหรือในโฆษณา เป็นการตอกย้ำว่าราคาหรือภาพลักษณ์ไม่สามารถรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เสมอไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 254 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ ปี 2565

        การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50 % แล้วยังเป็นมาตรการหลักในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ครั้นจะใช้สบู่ก้อนแบบเดิม ๆ หลายคนก็เกรงจะเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัสสบู่ก้อนร่วมกันอีก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “สบู่เหลวล้างมือ” ที่แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ตอบโจทย์ทั้งความสะอาด ใช้สะดวก และลดการสัมผัสโดยตรง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น         เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของสบู่ประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มสบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท กลุ่มสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมของสบู่เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มสบู่ก้อนกลับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มสบู่เหลวสูงขึ้นถึงประมาณ 7,400 ล้านบาท         แม้สบู่เหลวล้างมือแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมหลากหลายสูตรเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง แต่มักยังคงมีสารเคมีจำพวกที่ทำให้เกิดฟอง สารกันเสีย และสารสังเคราะห์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการล้างมือบ่อยขึ้น อาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีในสบู่เหลวบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จำนวน 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือว่ามีสารเคมีที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้        เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากแพ้มากจะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น        พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่เสี่ยงส่งผลให้เป็นมะเร็ง        ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สรุปผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ         จากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ         - มี 9 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้ง SLES, MIT, พาราเบน และไตรโคลซาน         ได้แก่ ยี่ห้อคาว แบรนด์ เซเก็ทสึ คะโซกุ แฮนด์ โซป, ลักส์ โบทานิคัล โฟมล้างมือ, บีไนซ์ คิทเช่น แคร์ โฟมมิ่ง แฮนด์ วอช, บิโอเร โฟมล้างมือ, ศารายา ซิลกี้วอช พิ้งกี้ พีช, คากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป, คิเรอิคิเรอิ โฟมล้างมือ, เอสเซ้นซ์ ออร์แกนิค อโลเวร่า โฟมล้างมือ และคิงส์สเตลล่า เฮลธ์แคร์ แอนตี้แบคทีเรียล แฮนด์ วอช         - พบ พาราเบน ใน 1 ตัวอย่าง           - ไม่พบ ไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่ายี่ห้อคากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป แพงสุดคือ 0.44 บาท ส่วนยี่ห้อเซฟการ์ด เพียว ไวท์ ลิควิด แฮนด์ โซป และยี่ห้อ 3เอ็ม สบู่เหลวล้างมือ ถูกสุดคือ 0.17 บาท         - ตัวอย่างสบู่เหลวล้างมือที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2562 มีค่าเฉลี่ยของราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรอยู่ที่ 0.33 บาท ขณะที่ผลการสำรวจของปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 บาท คำแนะนำ        - สบู่เหลวล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสังเกตเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง ซึ่งนำไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด        - อ่านฉลากก่อนซื้อ และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลาก        - สบู่เหลวล้างมือควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผลิต        - เลือกสูตรที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และให้ความชุ่มชื่นคืนผิว        - ควรเลือกสบู่เหลวที่ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นอ่อนๆ ไว้ล้างมือก่อนปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารติดกลิ่นสบู่ไป          - ล้างฟองออกให้เกลี้ยงเพื่อเลี่ยงการสะสมของสารตกค้างที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้        - ถ้ามีขวดเดิมอยู่แล้ว ครั้งต่อไปควรซื้อแบบถุงเติมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือhttps://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000088199https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/966/Hand-hygienehttps://my-best.in.th/49271https://www.thestorythailand.com/08/07/2021/33784/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 243 ผลทดสอบผลิตภัณฑ์กันยูวี

        แสงแดดบ้านเราร้อนแรงขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงกลายเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ทุกบ้านต้องมีไว้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ทำไว้ในช่วงต้นปี 2564 มาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง คราวนี้เป็นครีม/สเปรย์กันยูวี ที่มีค่า SPF ระหว่าง 15 - 50 ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น*         คราวนี้นอกจากจะให้ความสำคัญกับความสามารถในการป้องกันรังสี UVA/UVB (ร้อยละ 65)  ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น การซึมลงผิว และ ความรู้สึกไม่เหนียวเหนอะหนะ (ร้อยละ 20) แล้ว ทีมทดสอบยังให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 10) และฉลากที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคด้วย (ร้อยละ 5)         แม้จะไม่ได้ให้สัดส่วนคะแนนสำหรับการงดใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ (Endocrine Disrupting Chemicals หรือ EDCs) เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ให้การตอบรับและยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ทีมทดสอบก็พบว่ามีอย่างน้อยสองผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าวอยู่ (Hawaiian Tropic Satin Protection SPF 30 และ Lancaster Sun Beauty Sublime Tan)*หมายเหตุ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าทดสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในสเปน อิตาลี โปรตุเกส  ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ และราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจข้อมูลจาก National Ocean Service ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาhttps://oceanservice.noaa.gov/news/sunscreen-corals.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 241 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่ (ยาแต้มสิว)

                        ‘สิว’ เป็นปัญหาผิวที่กวนใจใครหลายคน ยิ่งในช่วงนี้ที่มีทั้งมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และโรคโควิด-19 ระบาด ผู้คนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยกันแทบจะตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหน้าเกิดสิวขึ้นได้จึงไม่แปลกใจเลยที่จะเห็น ‘ยาแต้มสิว’หลายยี่ห้อหลากสรรพคุณละลานตาอยู่บนชั้นขายเวชสำอางทั้งหลาย ชูจุดขายตามกลยุทธ์การตลาดแตกต่างกันไป ผู้บริโภคจึงควรใส่ใจในการเลือกใช้ยาแต้มสิวมารักษาให้ได้ผล โดยไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายเข้าข่ายหนีเสือปะจระเข้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว)  จำนวน 10 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากยาแต้มสิวเหล่านี้ว่ามีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         พาราเบน (Paraben) และ เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinon : MIT) เป็นสารกันเสียที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ปัจจุบัน อย.ระบุให้ใช้ได้ตามปริมาณและเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น        แอลกอฮอล์และน้ำหอม อาจมีผลทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้           ผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว)        พบว่า ยี่ห้อ มิซึมิ เปปไทด์ แอคเน่ เจล และสมูทอี แอคเน่ ไฮโดรเจน พลัส ไม่มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลาก มี 5 ตัวอย่างระบุว่ามี พาราเบน , มี 1 ตัวอย่างระบุว่ามี เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน , มี 6 ตัวอย่างระบุว่ามี แอลกอฮอล์ , มี 4 ตัวอย่างระบุว่ามี น้ำหอม         ข้อสังเกต        - โอลด์ร๊อค แอนตี้ แอคเน่ สปอต เจล พลัส แม้บนฉลากบอกว่าไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ในส่วนประกอบมี Benzyl alcohol        - จากทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มี จุฬาเฮิร์บ แมริโกลด์ แอคเน่ เจล ตัวอย่างเดียวที่ทาแล้วต้องล้างออก เพราะมีส่วนผสมของ MIT ซึ่งเป็นสารกันเสียที่กำหนดให้ใช้ได้ในเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องล้างออกเท่านั้น        - มี 9 ตัวอย่างอยู่ในรูปของเจล ทั้งนี้เพราะเจลมีเนื้อสัมผัสบางเบา ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี และไม่มีน้ำมัน         - มี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุถึงระยะเห็นผลสิวยุบไว้ คือ มิซึมิ เปปไทด์ แอคเน่ เจล (3 วัน) สมูทอี แอคเน่ ไฮโดรเจน พลัส (3 วัน) โปรวาเมด แอคเน่ สปอต เจล (12 ชั่วโมง) และ เมนโทลาทั่ม แอคเน่ส์ ซีลลิ่ง เจล (3วัน)         - ยี่ห้อ ดร.สมชายแอคเน่ สปอตทัช เจล ระบุว่าเป็นสูตรเร่งด่วน และเดอร์มาแองเจิ้ล แอคเน่ แคร์ อินเท็นซีฟ เจล ระบุว่าทำให้สิวยุบไว แต่ทั้งคู่ไม่ได้บอกระยะเวลาเห็นผลไว้           ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        การเลือกยาแต้มสิวมาใช้ผลัดสิวหลุด หยุดสิวโผล่ให้เห็นผลผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นสิวแบบไหน โดยปัญหาสิวส่วนใหญ่เกิดจากความมันส่วนเกินบนใบหน้าไปอุดตันรูขุมขน จนเกิดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบตามมา ลักษณะของสิวมี 2 แบบหลักๆ คือ        1. สิวอุดตัน กดแล้วไม่เจ็บ ได้แก่ สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวเสี้ยน รักษาโดยกำจัดความมันและผลัดเซลล์ผิว        2. สิวอักเสบ มักจะบวมแดง กดแล้วเจ็บ เกิดจากการติดเชื้อ P.acnes หรือเชื้อโรคอื่นๆ รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก          ผู้บริโภคควรเลือกใช้ยาแต้มสิวให้เหมาะกับลักษณะและความรุนแรงของสิว เพื่อให้ได้ผลและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ด้วย เพราะสารสำคัญในยาแต้มสิวมีหลายชนิดและออกฤทธิ์แตกต่างกัน         1.  สารออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid หรือ BHA) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid หรือ AHA) และกรดเรทิโนอิก        2. สารออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P.acnes เช่น ยาปฏิชีวนะคลินดามัยซิน (clindamycin) มักใช้คู่กับเบนโซอิน เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา, Oligopeptide-10 , Tea Tree Oil  กำมะถัน(sulfur) สารสกัดเปลือกมังคุด และสารสกัดดอกดาวเรือง        3. สารออกฤทธิ์ลดการระคายเคือง จะช่วยทำให้อาการปวดระบม บวม แดง ของสิวอักเสบดีขึ้น เช่น อัลลานโทอิน (Allantoin) สารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (Chamomile และBisabolol) และว่านหางจระเข้         การใช้ยาแต้มสิว เป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับสิวไม่อักเสบไปจนถึงอักเสบเล็กน้อย ผู้บริโภคควรอ่านวิธีใช้และคำเตือนบนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจก่อนใช้เสมอ แต่หากเป็นสิวอักเสบรุนแรงควรไปรักษากับหมอผิวหนังโดยตรงดีกว่า เช่นเดียวกันถ้าใช้ยาแต้มสิวต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์แล้วยังไม่เห็นผลว่าสิวยุบลง หรือสิวกลับเห่ออักเสบมากกว่าเดิม ควรหยุดใช้ แล้วไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาทันการณ์          ระวัง! สำหรับคนท้องหรือแม่ที่ให้นมลูกอยู่ หากมีปัญหาสิว ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผิวหนังก่อน อย่าซื้อยาแต้มสิวมาใช้เองเด็ดขาด เพราะอาจมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายได้           อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากกลับมาเป็นสิวซ้ำอีก ผู้บริโภคควรลดพฤติกรรมทำร้ายผิวต่างๆ และหันมาดูแลสุขภาพโดยรวม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผิวและเสริมสร้างภูมิต้านทานเชื้อโรคให้ร่ายกาย เช่น ไม่นอนดึก พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ลดอาหารมันๆ กินผักและผลไม้เป็นประจำ รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก

        สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีโอกาสสัมผัสผิวหนัง เส้นผม และดวงตาของเด็กอยู่เป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ควรพิถีพิถันในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมีและส่วนผสมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็ก         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็กว่า มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง ผมร่วง และแสบตาได้         เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น         พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพส่งผลให้เป็นมะเร็ง         ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสาร ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด)         แอลกอฮอล์ : อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวของเด็กแห้งเกินไปจนเกิดเป็นผื่นได้         น้ำหอม : น้ำหอมสังเคราะห์อาจทำให้เกิดผื่นแพ้ตามผิวหนังและหนังศีรษะ แม้แต่น้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอาการระคายเคืองในเด็กที่ผิวแพ้ง่ายได้ ผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก         พบว่า ยี่ห้อ ละมุน ออร์แกนิค และ อะราอุ เบบี้ ไม่มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลาก มี  9 ตัวอย่าง ระบุว่ามีโซเดียมลอริธซัลเฟต 5 ตัวอย่าง ระบุว่ามีเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน  2 ตัวอย่างระบุว่า มีแอลกอฮอล์  14 ตัวอย่างระบุว่า มีน้ำหอม และ ไม่มีการระบุใช้พาราเบนและไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกต        -เบบี้มายด์ อัลตร้ามายด์ ไบโอแกนิก แม้บนฉลากระบุว่า Alcohol free แต่ในส่วนประกอบมี Benzyl alcohol         -น้ำหอมพบมากที่สุด(14 ตัวอย่าง) มีเพียง MooNoi ออร์แกนิคที่ระบุว่าเป็น baby perfume         - ในฉลากของ เพียวรี เบบี้ ระบุว่า ‘0% SLS’ ก็คือไม่มีโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ SLES แต่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะใช้ SLES ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ดังนั้นแม้จะระบุว่า‘0% SLS’ หรือ ‘No SLS’ ก็ต้องดูว่ามี SLES ไหม ถ้ามีก็แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ระคายเคืองจากสารที่ทำให้เกิดฟองตัวนี้ได้         - จอห์นสัน ท็อปทูโท เบบี้ บาธ และ อาวีโน่ เบบี้ มีข้อความในฉลากว่า Hypoallergenic แสดงว่าผู้ผลิตได้เลี่ยงการใช้หรือลดอัตราส่วนของสารประกอบที่จะทำให้แพ้ระคายเคืองต่างๆ ที่เชื่อว่าผู้ใช้จะมีโอกาสแพ้ระคายเคืองน้อยลงได้ โดยไม่ได้ระบุว่าผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้วหรือไม่         -จากทั้งหมด 16 ตัวอย่าง มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งสระผมและอาบน้ำในขวดเดียว 12 ตัวอย่าง และใช้เฉพาะอาบน้ำ 4 ตัวอย่าง หากไม่สังเกตแล้วเผลอหยิบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะอาบน้ำมาสระผม อาจมีสารประกอบที่ไม่เหมาะกับหนังศีรษะและเส้นผมจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้           ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ         นอกจากสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวัง คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจการแสดงข้อมูลอื่นบนฉลาก ได้แก่         สัญลักษณ์/ข้อความว่าผ่านการทดสอบการแพ้ : ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กควรผ่านการทดสอบ Hypoallergenic หรือการทดสอบอาการแพ้ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้ผู้บริโภค         pH Balance : ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ควรใกล้เคียงกับผิวเด็ก คือ 5.5 เพื่อช่วยรักษาสมดุลผิวของเด็ก ปกป้องไม่ให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่าย            สูตรอ่อนโยนต่อดวงตา : เด็กใช้แล้วไม่แสบตา ไม่เคืองตา ให้สังเกตคำว่า no more tear หรือ tear free         สารสกัดจากธรรมชาติปลอดสารพิษ (organic) : ทำให้มั่นใจในเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์นั้นอ่อนโยนและปลอดภัยต่อผิวเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงของการแพ้และระคายเคืองที่เกิดจากสารเคมีได้          คำเตือนผู้บริโภค : แสดงถึงความใส่ใจของผู้ผลิตที่เตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังและแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยด้วย          วันที่ผลิตและวันหมดอายุ : ต้องระบุให้ชัดเจน ควรมีอายุไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ผลิต 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 เปรียบเทียบฉลากแป้งเด็ก

        อย. ยืนยันแป้งฝุ่นโรยตัวเด็กที่ขายในไทยปราศจากการปนเปื้อนแร่ใยหิน  ย้ำ ! มีการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าอย่างเข้มงวด และเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ (https://www.komchadluek.net/news/regional/431652)           การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกโรงยืนยันอีกครั้งเรื่องแป้งฝุ่นไม่มีอันตรายนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องสำอาง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมากจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหาย (คดีแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่น)         กรณีประเทศไทย อย.ยืนยันว่าได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์แป้งฝุ่นโรยตัวเด็กจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) พบว่าทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน (จากสารทัลค์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในแป้งฝุ่น) จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรการเฝ้าระวังของ อย.         อย่างไรก็ตามหากจำกันได้ ย้อนไปเมื่อปี 2559 นิตยสารฉลาดซื้อได้สำรวจและเปรียบเทียบฉลากแป้งฝุ่นโรยตัวเช่นกัน โดยเน้นเรื่องส่วนประกอบสำคัญและคำเตือน ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อสรุปไว้เมื่อฉบับที่ 182 ดังนี้        1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง         2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ         3. คำเตือนที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์        4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ และ 1 ตัวอย่างไม่มีทัลค์          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการตามสถานการณ์ของนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราจึงเก็บตัวอย่างแป้งเด็ก ทั้งชนิดแป้งฝุ่นและชนิดเนื้อโลชั่น รวม 40 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบฉลากโดยดูส่วนประกอบและคำเตือน พร้อมเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนักต่อราคา ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้ออีกครั้ง สรุปการเปรียบเทียบฉลากระหว่างปี 2559 และ 2563 แป้งเด็ก แป้งฝุ่น ผลิตจากอะไร        แป้งเด็กและแป้งฝุ่นส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลค์ (Talc) หรือ แมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น ลดการเสียดสีของผิวหนัง และป้องกันผดผื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจแต่งกลิ่น สี หรือผสมสารอื่นเพิ่มเติม เช่น สารป้องกันความชื้น สารที่ทำให้ผิวเย็น สารสกัดธรรมชาติเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เป็นต้น         ผงทัลคัมทำมาจากแร่หินทัลค์ซึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ออกซิเจน ซิลิกอน และบางส่วนอาจมีเส้นใยแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นที่มีผงทัลค์เป็นส่วนประกอบจำนวน 73 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2558 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการตรวจสอบของ อย. ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเก็บตัวอย่างเดือนมิถุนายน 2563ราคาคำนวณจากราคาที่ซื้อ ณ จุดขาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 ผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดปลอดจาก DEET

        เข้าหน้าฝนยุงเริ่มเป็นปัญหากวนใจ ดังนั้นแม้โรคโควิด-19 ยังต้องระวัง แต่ต้องไม่ลืมปัญหาไข้เลือดออกจากยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุง การป้องกันยุงทำได้หลายวิธี ทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ การฉีดพ่นสเปรย์สารเคมีเพื่อฆ่ายุงโดยตรง หรือการใช้ยาจุดกันยุงแบบขดให้เกิดควันเพื่อไล่ยุง เรายังมีผลิตภัณฑ์ทากันยุงทั้งชนิดสเปรย์ ชนิดโลชั่นหรือปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ชนิดแผ่นแปะไล่ยุงออกมาเป็นทางเลือกเพื่อความสะดวกอีกด้วย  อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ทากันยุงส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่เรียกว่า DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ เพราะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เช่นกัน จึงมีผลิตภัณฑ์ชนิดปลอด DEET หรือการใช้สารธรรมชาติพวกน้ำมันหอมระเหยออกมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น        ฉลาดซื้อเคยสำรวจผลิตภัณฑ์ทากันยุงไว้ในฉบับที่ 187 (ผู้อ่านสามารถดูผลการสำรวจได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com) ซึ่งส่วนใหญใช้ DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ และตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสำรวจเพิ่มในส่วนของผลิตภัณฑ์ทากันยุง/ป้องกันยุง ที่ปลอดจากสาร DEET พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อปริมาตรเพื่อเป็นข้อมูลใน สารทากันยุงชนิดอื่นนอกจาก  DEET        ·  น้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอม จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟหรือความร้อน        ·   พิคาริดิน (Picaridin, KBR3023) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง หากมีความเข้มข้นสูง เช่น 20% จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET แต่ระยะเวลาสั้นกว่า        ·   น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of Lemon eucalyptus) ซึ่งมีพีเอ็มดี (PMD: P-menthane-3,8-diol) เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพเป็นครึ่งหนึ่งของ DEET เช่น PMD 30% มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET 15%        ·   ไออาร์ 3535 (IR3535: Ethyl butylacetylamino propionate) เป็นสารสังเคราะห์ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า IR3535 มีประสิทธิภาพรองจาก DEET และ Picaridin         ·   ไบโอยูดี (BioUD: 2-undecanone) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) การใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงเพื่อความปลอดภัยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาริดิน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์)ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตาไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปากไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไปที่มา https://www.pobpad.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ลิปสติกสีแดง

        ช่วงปลายปีที่แล้วนิตยสารเกอชัวร์ซีร์ Que Choisir  ซึ่งเป็นนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการตรวจหา “สารไม่พึงประสงค์” ใน “ลิปสติกสีแดง” ยอดนิยม 20 ยี่ห้อ หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทย ฉลาดซื้อเลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกสายบิวตี้ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ        การทดสอบซึ่งทำโดยห้องปฎิบัติการในกรุงเบอลิน เยอรมนี ครั้งนี้เป็นการตรวจหา        - โลหะหนัก ซึ่งมักพบในสารให้สี ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม พลวง และปรอท        -  สารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมิเนอรัล Mineral oil saturated hydrocarbons (MOSH),  Mineral oil aromatic hydrocarbons (MOAH) และไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ Polyolefin Oligomeric saturated hydrocarbons (POSH)         ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อฉบับเดือนตุลาคม 2560 เคยนำเสนอผลทดสอบลิปบาล์มทั้งในแง่ความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้ แต่คราวนี้เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงไม่มีการนำเสนอด้วย “ดาว” เราจะขอแยกเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย” “ผลิตภัณฑ์ที่พอรับได้” และ “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำ”  ในภาพรวมเราพบสารตะกั่วในลิปสติก 19 จาก 20 ยี่ห้อ แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานยุโรป (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของเยอรมนีที่เข้มข้นกว่าจะพบว่ามีสองยี่ห้อที่ไม่ผ่าน คือ L’OREAL และ BOHO Green) ส่วนยี่ห้อที่ไม่พบตะกั่วเลยได้แก่ Two Faced … แต่ถึงแม้จะไม่มีตะกั่ว ยี่ห้อนี้ป็นหนึ่งในห้ายี่ห้อในกลุ่ม “ไม่แนะนำ” เพราะมีสารไฮโดรคาร์บอนเกินร้อยละ 10 ... พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูกันเต็มๆ ว่ายี่ห้อไหนบ้างที่คู่ควรกับคุณ-----น้ำมันมิเนอรัล (หรือพาราฟินเหลว) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สารนี้เป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางหลายชนิดเพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และไม่เน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อห่วงใยว่ามันอาจเป็นสารก่อมะเร็งหรือเร่งการเกิดเนื้องอกได้ ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงหันไปหาทางเลือกอื่น------ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 350 ถึง 500 ยูโร (ประมาณ 12,000 ถึง 17,500 บาท) และต้องใช้ลิปสติกอย่างน้อย 16  แท่งต่อหนึ่งตัวอย่าง-----            “ลิปสติกเอ็ฟเฟ็กต์” คือข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครื่องสำอางโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติกจะขายดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเป็นเจ้าของ “สินค้าหรูหรา” แต่ยังเป็นห่วงเงินในกระเป๋า จึง “ลดสเปก” จากสินค้าราคาสูง (เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม) มาเป็นลิปสติกที่พอจะสู้ราคาไหวนั่นเอง ในขณะที่บางคนก็เลือกประหยัดงบด้านอื่นเพื่อเก็บไว้ซื้อลิปสติก ... จริงเท็จอย่างไรยังฟันธงไม่ได้ แต่มีข่าวลือว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ในนิวยอร์ก ยอดขายลิปสติกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        ลิปสติกจะหมดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่การใช้ของแต่ละคน เรื่องนี้พูดยาก แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2005 ที่วัดปริมาณลิปสติกของของผู้ใช้ลิปสติกเป็นประจำ 360 คน (อายุระหว่าง 19 – 65 ปี) ในช่วงสองสัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทาลิปสติกเฉลี่ยวันละ 2.4 ครั้ง (ร้อยละ 11 ใช้มากกว่าวันละ 4 ครั้ง) ในแต่ละครั้งเนื้อลิปสติกจะหมดไปประมาณ 5 มิลลิกรัม (มีถึงร้อยละ 12 ที่ใช้ 20 มิลลิกรัมหรือมากกว่า) โดยรวมแล้วมีการใช้ลิปสติกระหว่าง 24 - 80 มิลลิกรัมในแต่ละวัน… แน่นอนว่าในปริมาณนี้บางส่วนก็ถูกผู้ใช้กลืนลงกระเพาะไปบ้าง ส่วนผสมในลิปสติกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องใส่ใจ นอกจากสีสัน เนื้อสัมผัส หรือราคา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 230 ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์

        สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว เจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือแบบอื่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกมาวางจำหน่าย         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง คือผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 17 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาปริมาณร้อยละของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบผลทดสอบ พบว่า-   จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอลต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ(1) จำนวน 14  ตัวอย่าง คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563(2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ(3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH        -  จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้แบ่งเป็น(1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง) ,ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร       (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER       (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ  CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา     -   พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel, Top Clean Hand Sanitizer และมี 1 ตัวอย่างแสดงเลข อย.ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ได้แก่ ยี่ห้อ L Care     -  พบ 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray(อนันตา สเปรย์) ใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต   ฉลาดซื้อแนะการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง1.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป (ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน) ทำไมต้อง 70% ถ้าใช้สัดส่วนที่ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค COVID-19 ได้2.ลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง3.ควรใช้เจลแอลกอฮอล์เฉพาะมือเท่านั้น ห้ามสัมผัสหรือเช็ดล้างบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ใบหน้าและดวงตาโดยเด็ดขาด4.ผลิตภัณฑ์ชนิดที่มีส่วนผสมอื่นนอกจากตัวแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้ตัวแอลกอฮอล์ระเหยได้ช้าลง สัมผัสกับผิวได้นานขึ้น ช่วยลดการระคายเคืองของแอลกอฮอล์และคงความชุ่มชื้นต่อผิว5.ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ครีมถนอมมือ

        เมื่อเราล้างมือหรือใช้เจลทำความสะอาดมือบ่อยๆ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือผิวหนังแห้งกร้าน ในบางรายอาจเป็นขุยหรือรู้สึกคันด้วย ทางออกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำคือครีมทามือ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไม่รอช้า รีบหาผลทดสอบแฮนด์ครีมมาฝากคุณ คราวนี้สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้แบ่งคะแนนการทดสอบ* ออกเป็นสามด้าน ได้แก่        - ประสิทธิภาพในการบำรุงผิว (ร้อยละ 60)         - ความพอใจของผู้ใช้ที่มีต่อกลิ่น เนื้อครีม (ร้อยละ 30) และ        - การปลอดสารรบกวนฮอร์โมน/พาราเบนส์/สารก่อภูมิแพ้ (ร้อยละ 10) * ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเลือกมาพียง 20 ยี่ห้อ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยหรือสั่งซื้อได้จากร้านค้าออนไลน์           ·  การทดสอบครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 ยูโร (ประมาณ 107,000 บาท) ต่อผลิตภัณฑ์        ·  หมายเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าพาราเบนส์ (ซึ่งนิยมใช้เป็นสารกันหืนในเครื่องสำอาง) เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่หลายประเทศก็ให้ความสนใจและเฝ้าระวังสารนี้เป็นพิเศษ สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล เช่น แชมพู สบู่ โรลออน ครีมกันแดด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก สหภาพยุโรปเน้นยาสีฟัน แชมพู สบู่ และครีมบำรุงผิว อังกฤษให้ความสำคัญกับเครื่องสำอาง และเกาหลีใต้เน้นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเครื่องสำอางสำหรับดวงตา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >