ฉบับที่ 181 โลกนี้..มีน้ำให้ใช้ไม่มาก

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปีนี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า น้ำไม่ได้มีมากพอที่เราจะนำมาสาดเล่นหรือปล่อยทิ้งไปเปล่าๆ ไม่ว่าจะที่ใดในโลกน้ำเป็นทรัพยากรที่ต้องถนอมใช้ ถึงบางคนจะรู้สึกว่าตนเองมีเงินจ่ายเพื่อซื้อน้ำ จ่ายค่าน้ำ แต่เราคงไม่เห็นแก่ตัวกันขนาดที่จะมองดูน้ำสะอาดไหลทิ้งไปอย่างไม่เสียดาย ในขณะที่บางพื้นที่โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมต้องยืนดูพืชผลของตนแห้งตายคาพื้นดิน     การใช้น้ำของคนไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นน้ำดื่มและน้ำใช้ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แหล่งน้ำใช้ของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ78.9) ใช้น้ำประปา ส่วนน้ำดื่ม ส่วนใหญ่(ร้อยละ 64.0) เป็นน้ำประปาเช่นกัน โดยการนำน้ำประปามาผ่านกรรมวิธีทำให้สะอาดพร้อมดื่มเป็นน้ำบรรจุขวดหรือตู้ น้ำหยอดเหรียญ(ร้อยละ 40.9) และวิธีการอื่นๆ (ร้อยละ 23.1) เช่น ต้ม กรอง เป็นต้น กระบวนการผลิตและการใช้น้ำทุกขั้นตอนก่อให้เกิดต้นทุน ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ก็คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำของครัวเรือนนั่นเอง ผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำประปา(ไม่รวมค่าใช้จ่ายน้ำดื่ม) สูงขึ้น จากเฉลี่ยเดือนละ 86 บาทในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 135 บาทในปี 2555 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพราะน้ำประปาทุกหยดมีต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนที่มองไม่เห็น คือการแย่งน้ำจากภาคส่วนอื่นๆ มาใช้ การปลูกจิตสำนึกให้มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและช่วยกันประหยัดจึงไม่ใช่เรื่องทำกันเล่นๆ อีกต่อไป     แนวทางการประหยัดน้ำภาคครัวเรือน    1.ประหยัดน้ำที่ไหลจากก๊อก ปิดก๊อก/วาล์วน้ำขณะที่คุณแปรงฟัน โกนหนวด ล้างมือ แล้วก็ปิดก๊อกน้ำเวลาที่คุณอาบจากฝักบัวด้วยเช่นกัน โดยเปิดน้ำให้ตัวเปียกก่อน จากนั้นค่อยปิดน้ำตอนที่คุณถูสบู่ สระผม แล้วก็เปิดน้ำอีกครั้งให้พอชำระล้างร่างกายจนสะอาด รู้ไหมว่า การปล่อยน้ำไหลขณะแปรงฟัน จะเสียน้ำไปประมาณ 4 แกลลอนหรือ 14.8 ลิตร ต่อนาที( 1 แกลลอนเท่ากับ 3.7 ลิตร โดยประมาณ)     การล้างจาน ล้างผักผลไม้ ควรรองน้ำในภาชนะแทนการปล่อยน้ำไหล และน้ำส่วนที่ยังสะอาดอยู่ ก็สามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น รดน้ำต้นไม้หรือล้างบริเวณพื้นที่สกปรกได้     2.ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำในบ้าน โดยการปิดก๊อกทุกตัวแล้วเช็คมาตรวัดว่ายังขยับหรือไม่ ถ้าพบว่ามาตรหมุน แสดงว่าอาจมีจุดที่รั่วไหลต้องรีบซ่อมแซม อาจเป็นที่ชักโครก หรือท่อประปาบริเวณที่มองไม่เห็น รู้ไหมว่า น้ำ 1 หยดในทุกวินาที จะรวมกันได้ถึง 5 แกลลอนต่อวัน หรือ 18.5 ลิตร     3.ถ้าทำได้ควรเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นแบบประหยัดน้ำ เช่น ติดตั้งหัวฝักบัวและก๊อกแบบประหยัดน้ำ (Low-flow) หรือปากกรองก๊อกน้ำ อุปกรณ์ที่ใหม่และดีจะช่วยรักษาระดับแรงดันและความแรงของการไหลโดยที่ใช้น้ำเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของอุปกรณ์แบบธรรมดาทั่วไป หรือปรับไปใช้โถสุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำ สามารถกดล้างให้สะอาดได้โดยใช้น้ำเพียง 6 ลิตรหรือต่ำกว่านั้น หรือเปลี่ยนเครื่องซักผ้าจากแบบฝาบน เป็นแบบฝาหน้าจะประหยัดน้ำได้มากกว่า     4.เรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง จะช่วยประหยัดน้ำได้ เช่น ไม่ใช้ชักโครกเป็นที่ทิ้งขยะ ทิชชู่ก็ควรทิ้งลงถังขยะไม่ทิ้งลงในโถ การทำให้โถชักโครกสะอาดแต่ละครั้งต้องใช้น้ำมากถึง 9 ลิตร ถ้ากด 1 ครั้งไม่สะอาดคุณก็ต้องเสียน้ำเพิ่มขึ้นอีกในการกดเพื่อทำความสะอาดซ้ำ     การซักผ้าด้วยเครื่อง ควรใช้เครื่องซักผ้าให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ควรรอจนกว่าจะมีผ้าเต็มถังก่อนที่คุณจะซัก และเวลาที่ซักผ้าก็อย่าลืมใช้โหมดประหยัดพลังงานเพราะการซักแบบนี้จะช่วยให้คุณประหยัดได้ทั้งน้ำและไฟฟ้า     5.ลดกิจกรรมการใช้น้ำ เช่น ลดเวลาการอาบน้ำลง ซักผ้าไม่บ่อยเกินไป การอาบน้ำน้อยกว่า 5 นาที จะประหยัดน้ำได้มากกว่า 1000 แกลลอนหรือ 3700 ลิตรต่อเดือน  วิธีนี้จะสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เช่น ไม่ทำให้เสื้อผ้าสกปรกมาก ไม่ใส่เสื้อผ้ามากชิ้น เป็นต้น หรือการสนับสนุนพืชผักอินทรีย์ก็ช่วยให้ไม่ต้องล้างผักผลไม้โดยใช้น้ำจำนวนมากๆ 6.รวบรวมน้ำที่ยังสะอาดอยู่ไปใช้ในกิจกรรมอื่น เช่น น้ำเหลือจากล้างผัก ผลไม้ น้ำแข็งที่ละลายค้างในกระติกหรือน้ำจากการละลายน้ำแข็งในตู้เย็น นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้น ล้างรถได้  ทั้งนี้อาจเลือกใช้สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ หากคุณต้องการรองน้ำเก็บไว้ใช้ในการทำสวน     และถ้าทำได้ควรนำแนวทางการประหยัดน้ำภาคครัวเรือนไปปฏิบัติในองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ด้วย จะช่วยให้เราทุกคนมีน้ำสะอาดใช้กันไปได้นานๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 สถานการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Electricity car (E-car) ของเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปี 2007 รัฐบาลเยอรมนีมีมติสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับโครงการรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-car) โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะต้องมีจำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันวิ่งบนท้องถนน แต่จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (Kraftfahrtbundesamt: KBA) ในปี 2015 มีเพียงแค่ 31,000 คัน เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้มาก และในเดือนมกราคม ปี 2016 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าที่ขอจดทะเบียนเพียงแค่ 477 คัน จากรถทั้งหมด 218,365 คัน (น้อยกว่า 27% เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน) และมีเพียง 976 คันที่เป็นรถ plug-in hybrid (รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้า) ทำให้การเติบโตและความนิยมของรถไฟฟ้าต่ำกว่าความคาดหวังของตลาดรถยนต์ แม้ว่าภาพลักษณ์ของรถไฟฟ้าถูกมองว่าเป็นความหวังของอนาคต เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ และโฆษณาชวนเชื่อว่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0 กรัม สำหรับรถแบบ plug in hybrid ที่ โฆษณาว่า ประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่างรถ ปอร์เช่ Cayenne S E-hybrid ใช้น้ำมันเพียง 3.4 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และได้ฉลากประหยัดน้ำมันระดับ A+ ในการปล่อยก๊าซ CO2  สู่บรรยากาศ (ซึ่งยังไม่ได้รวมปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ไฟฟ้า ที่เกิดจาก โรงไฟฟ้า) แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเยอรมนี คือ การติดตามผล การดำเนินนโยบายในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่จะผลักดันให้เยอรมนีเป็นผู้นำในด้าน รถไฟฟ้า ในด้านการตลาด และเป็นผู้นำในการส่งออก ซึ่งใช้มาตรการให้เงินสนับสนุน (Kaufprämien: buyer’s premium) แก่ผู้ผลิตหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาล และผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ? แน่นอนว่าถ้าใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (E-Car) ปัญหาของก๊าซ NOX จะลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องมองภาพรวมการก่อให้เกิดมลพิษโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปัจจุบันใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากเช่นกัน นอกจากนี้การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศอย่างมหาศาลเช่นกัน ยังไม่รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ เช่น ปรอทที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน หากพิจารณาถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนีซึ่งขณะนี้ใช้ถ่านหิน ถึง 42 % ก็หมายความความว่า การใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านั้น ไม่ได้หมายถึงการลดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ หากเปรียบเทียบกับ รถที่ใช้เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ ดีเซล และเครื่องยนต์ ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเยอรมนี (VCD) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-Car) ปล่อยก๊าซ CO2 67-103 กรัมต่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ที่ติดอันดับต้นๆในการประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอย่างอื่น ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 79-94 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรความคาดหวังของรัฐบาลเยอรมนี ในการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คืออะไรจริงๆ แล้วเงินสนับสนุนที่รัฐทุ่มให้กับรถยนต์ E- Car นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาให้ผู้ซื้อ (buyer’s premium) คันละ 5000 ยูโรหรือ การลดภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน E-Car ในวงกว้างนั้น อาจไม่เป็นดังที่รัฐบาลคาด (รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่สูงถึง 2500 ล้านยูโร) ที่จะทำให้เกิดการขยายปริมาณการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งงบประมาณดังกล่าว เปรียบเสมือนของขวัญที่รัฐบาลมอบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทำอย่างไร รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจึงจะขยายตัวการใช้งานได้มากขึ้น หากเราพิจารณาแต่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล อาจเป็นการมองที่คับแคบไป จริงๆ แล้วขณะนี้ในเยอรมนีเอง ก็มีรถขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีมานานแล้วแทบทุกเมือง นอกจากนี้ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟ รถบัสที่ขนส่งในเมือง ก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ รถจักรยานไฟฟ้า ก็เป็นที่นิยม ในปี 2015 สามารถจำหน่ายรถจักรยานไฟฟ้า ได้ถึง 500,000 คัน ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าในเมืองใหญ่     ดังนั้นเป้าหมายที่ทางรัฐบาลเยอรมนี เพิ่มปริมาณรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 1 ล้านคัน (ซึ่งคิดสัดส่วนเทียบกับปริมาณรถทั้งหมด เพียงแค่ 2 %) แทบไม่ได้ส่งผลต่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเลย จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า รัฐบาลเยอรมนี ไม่ควรให้น้ำหนักกับปริมาณรถไฟฟ้าที่จะวิ่งในถนนให้ครบ 1 ล้านคัน ตามเป้าที่ได้ตั้งไว้แต่แรก แต่ควรตั้งเป้าในการลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรีประกอบกับพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมในการปฏิวัติเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย(ที่มา http://www.tagesschau.de/wirtschaft/elektroautos-kaufpraemien-101.htm)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 สมาร์ทโฟน รุ่นไหนที่เหมาะกับความต้องการของเรา

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความในเดือนนี้ผมขอเสนอผลการรีวิวการทดสอบ สมาร์ตโฟนทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ จำนวน 100 รุ่น ของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2014  มีผลสรุปโดยแบ่งประสิทธิภาพและคุณภาพเป็น 4 กลุ่มตามตารางข้างล่างนี้ หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อสามารถใช้ข้อมูลนี้ เลือกซื้อสมาร์ตโฟนเป็นของขวัญในปีใหม่นี้ ได้อย่างฉลาดและรู้เท่าทันกันนะครับ ท้ายนี้ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ ตลอดปีวอก 2559 ครับ ผลการรีวิวการทดสอบสมาร์ตโฟน          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 Smart watch

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสมาร์ตวอตช์ ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขนาดจิ๋วที่ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้•    แจ้งการรับข้อมูล ในกรณีที่มี SMS อีเมล และข้อความข่าวสารที่ส่งเข้า•    แจ้งเตือนหมายนัดต่างๆ•    โทรศัพท์ •    เก็บข้อมูลจากกิจกรรมการเล่นกีฬาเช่น จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน และตีกอล์ฟ•    เป็น navigator บอกทิศทางในการเดินทาง ตั้งแต่เดือน เมษายน- มิถุนายน 2015 มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ได้ทำการทดสอบ สมาร์ตวอตช์ จำนวน 12 ยี่ห้อ ได้แก่1. Apple watch 42 mm,2. Apple sport watch 42 mm, 3. LG G watch R, 4. LG Watch Urbane, 5. Samsung Gear S, 6. Sony Smart Watch 3, 7. Asus ZemWatch, 8. Pebbele Time9. Pebbel Steel, 10. Motorola Moto 360, 11. Garmin Vivoactive, 12. Alcatel Onetouch Watch ผลการทดสอบไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนน ดีมาก ยี่ห้อที่ได้คะแนนพอใช้ ได้แก่ 1. Apple watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.6)* 2. Apple sport watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.7) 3. LG G watch R (คะแนนเฉลี่ย 3.0) 4. LG Watch Urbane (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 5. Samsung Gear S (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 6. Sony Smart Watch 3 (คะแนนเฉลี่ย 3.3) 7. Asus ZemWatch (คะแนนเฉลี่ย 3.5) 8. Pebbele Time (คะแนนเฉลี่ย 3.5)ยี่ห้อที่ได้คะแนนเพียงแค่ผ่านได้แก่ 9. Pebbel Steel (คะแนนเฉลี่ย 3.6) , 10. Motorola Moto 360 (คะแนนเฉลี่ย 3.7), 11. Garmin Vivoactive (คะแนนเฉลี่ย 4.3)ยี่ห้อที่ได้คะแนน ไม่ผ่าน ได้แก่ 12. Alcatel Onetouch Watch (คะแนนเฉลี่ย 4.8) ในโปรแกรมการทดสอบ หน่วยงานที่ทดสอบให้ความสำคัญกับเรื่อง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล กรณีสมาร์ตวอตช์ ยี่ห้อ Alcatel Onetouch Watch และ ยี่ห้อ Garmin Vivoactive นาฬิกาได้ส่งข้อมูลอัตโนมัติโดยที่ไม่มีการใส่รหัสป้องกันความลับของข้อมูล ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานสามารถถูกดักจับและนำไปทำ user profile ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายเยอรมันหวังว่าข้อมูลผลการทดสอบเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกฉลาดซื้อได้บ้างพอสมควร*หมายเหตุ หลักการคิดเกรดการคะแนนตามแนวทางของคนเยอรมันนั้น มีลักษณะ ตัวเลขน้อยคือ เกรดดี ตัวเลขมากคือ เกรดแย่ ดังนี้เกรด 1 หมายถึง ดีมาก (เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 1.6 ขึ้นไป)เกรด 2 หมายถึง ดี (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 1.7- 2.6)เกรด 3 หมายถึง พอใช้ (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.7- 3.6)เกรด 4 หมายถึง ผ่าน (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 3.7-4.6)เกรด 5 หมายถึง ไม่ผ่าน (เกรดเฉลี่ย มากกว่า 4.7 ลงไป)(ที่มา วารสาร Test 8/2015)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 เมื่อโฟล์คสวาเก้น อาจต้องรับผิดตามกฎหมายสินค้าชำรุดบกพร่อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา ( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์กสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวผู้บริโภคตามกฎหมายเยอรมันสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่องโฟล์คสวาเก้นมีหน้าที่ ที่จะต้องเรียกคืนรถที่มีปัญหาจากการวัดค่าไอเสียรถยนต์คืนหรือไม่ ?ไม่จำเป็น ตามหลักกฎหมายเยอรมัน บริษัทจะเรียกรถคืนก็ต่อเมื่อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้า ในกรณีความผิดพลาดจากเครื่องมือวัดไอเสียที่ติดตั้งในตัวรถนั้นยังไม่ถึงกับ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต แต่โฟล์คสวาเก้นสามารถเรียกคืนรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวตามความสมัครใจ หรือ ในกรณีที่โฟล์คสวาเก้นไม่อยากสร้างความยุ่งยากใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้โฟล์คสวาเก้นชดเชยค่าเสียหายและความบกพร่อง (Mängelrechte) ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของและความน่าเชื่อถือของบริษัท สิ่งที่น่าติดตามสำหรับผู้บริโภคขณะนี้คือ รอดูว่าโฟล์คสวาเก้นมีข้อเสนอให้กับลูกค้าอย่างไร ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้างในกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแพ่งของเยอรมนี ในกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อภายหลังปรากฏว่า เป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง ค่าไอเสียที่ปล่อยออกมามีค่าสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือทำให้ ใช้น้ำมันมากกว่าที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) หลักการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวคือ •    เรียกร้องให้ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ซ่อมแซมสินค้าให้เป็นไปตามสัญญาหรือที่โฆษณาไว้ (Nacherfüllung) โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขของเวลาในการซ่อมแซมให้รถมีสภาพเหมือนเดิมอย่างสมเหตุสมผล ในกรณีการขอเปลี่ยนรถให้ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ผลิตหรือผู้ขายมากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตมักจะเลือกการซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนของใหม่ให้ก่อน •    นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถบอกยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ (Rücktritt) โดยสามารถคืนรถที่มีปัญหา และขอเงินคืน โดยคิดราคาค่าเสื่อมจากการใช้รถไปแล้วบางส่วน ซึ่งสามารถคิดจากระยะทางที่รถวิ่งมาแล้ว กรณีการคืนรถสามารถทำได้ ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขให้รถมีสภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรือ ผู้ผลิต ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญ (unzumutbar) •    การขอลดหย่อนราคา (Minderung) ในกรณีที่รถมีความเสียหาย หรือบกพร่องเล็กน้อย ผู้บริโภคสามารถขอลดหย่อนราคาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายการประกันสินค้ากับใครเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทตัวแทน ตามกฎหมายการประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิผ่านบริษัทตัวแทนขายรถยนต์ที่มีสัญญาต่อกัน บริษัทตัวแทนขายรถยนต์ (Dealer) สามารถเรียกค่าเสียหายกับโฟล์คสวาเก้นในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ต่อ ได้หรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากมี นิติสัญญาต่อกัน อายุความตามกฎหมายการประกันสินค้ามีระยะเวลานานเท่าใดปกติอายุความจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ทำสัญญาซื้อรถ แต่ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่กระบวนการผลิตจากโรงงาน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นความผิดพลาดของรถยนต์ เนื่องจากทางบริษัทย่อมปกปิดข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย อายุความในกรณีนี้ก็จะยาวนานขึ้น ในกรณีนี้ อายุความขยายเป็นสามปี นับจากวันที่ผู้บริโภคทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น กรณีที่ ผู้บริโภคมีประกัน (Guarantee) จากผู้ผลิต สามารถทำอะไรได้บ้างผู้ผลิตรถยนต์มักจะเสนอบริการ ให้การรับประกันจากผู้ผลิต (manufacturer guarantee) เพิ่มเติมกับผู้บริโภค แต่การประกันแบบนี้จะต่างจาก การประกันตามกฎหมายประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ซึ่งมีสภาพบังคับ ในกรณีนี้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอการรับประกันรถยนต์ซึ่งมีเวลานานกว่า 2 ปีตามความสมัครใจ หากผู้บริโภคมีประกันประเภทนี้ ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการให้ผู้ผลิตนำรถยนต์ที่มีปัญหาไปปรับปรุง ซ่อมแซมแก้ไขได้ สัญญาประกันแบบนี้ เป็นนิติกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์มีผลผูกพันกับผู้บริโภคโดยตรง สำหรับผู้บริโภคในไทยตอนนี้ คงต้องรอ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law) ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ อีกหนึ่งความหวังของกฎหมายดีๆ ที่มักจะถูกละเลย และขัดขวางจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย ที่ยังเข้าใจว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ทว่าจริงๆแล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นการส่งเสริมธุรกิจ การแข่งขันทางการค้า และเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลอีกทางหนึ่งที่สำคัญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการวิ่งออกกำลังกายเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องลงมือทำเอง ภาพคนวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ควรคำนึงของนักวิ่งคือ เรื่องน้ำหนักร่างกายที่จะส่งผลต่อแรงกระแทกในขณะที่กำลังวิ่ง แรงที่กระแทกมีขนาดเท่ากับสองถึงสามเท่าของน้ำหนักตัว หากเราหนัก 60 กิโลกรัม แรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเท้า เข่า อาจสูงถึง 180 กิโลกรัม คนที่ชอบวิ่งเป็นประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้าสำหรับวิ่งที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันปัญหาเรื่องการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่าและสะโพกเสื่อมสภาพลงสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยทั่วไป ได้แก่ ลักษณะของข้อเท้าในขณะที่วิ่ง กรณีที่เราวิ่ง การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) เราควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ neutral running shoes ดูรูปที่ 1 aกรณีที่การบิดของข้อเท้ามาก เข้าด้านใน หรือ ออกด้านนอก (over pronation) ควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ stability running shoes ดูรูปที่ 1 b และ c (คำแนะนำ สำหรับนักวิ่งที่ต้องการทราบลักษณะการวิ่งของตัวเองว่า การบิดข้อเท้าเป็นอย่างไร ในต่างประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิ่งในร้านขายรองเท้าเฉพาะนักวิ่ง (specialist running shoe shop) ให้คำปรึกษาได้ แต่สำหรับนักวิ่งในประเทศของเราอาจต้องลองหาคำปรึกษาจากหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ หมอทางด้านออร์โธปิดิกส์) หรือต้องให้เพื่อนร่วมวิ่งช่วยสังเกตข้อเท้าของเราขณะที่วิ่งก็ได้ โดยคนสังเกตจะคอยวิ่งตามหลังเรา)    ความสามารถในการรับแรงกระแทกการพิจารณาสมบัติของรองเท้าวิ่งในข้อนี้จำเป็นต้องใช้การทดสอบในห้องแลป ทาง biomechanics โดยใช้เซนเซอร์วัดแรงกระแทกติดไว้ที่รองเท้าวิ่ง แต่อย่างไรก็ตามทีมงานฉลาดซื้อ ก็มีผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง จากองค์กรทดสอบและวิจัยสินค้านานาชาติ ( International Consumer Research and Testing ICRT) มาเผยแพร่ให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับทราบเป็นระยะๆ สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำผลการทดสอบขององค์กรทดสอบสินค้าเยอรมัน (Die Stiftung Warentest) มาเผยแพร่ผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง ซึ่งผลการทดสอบในประเด็นความสามารถในการรับแรงกระแทกของรองเท้าที่ได้คะแนนดี- ดีมาก ได้แก่•    รองเท้ากลุ่ม neutral running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics รุ่น Gel-Cumulus 16, New Balance 880 V4, Mizuno Wave Ultima 6, Solomon X-Scream 3D•    รองเท้ากลุ่ม stability running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics GT-1000 3, Mizuno Wave Inspire 11 และยี่ห้อ Brooks Adrenaline GTS 15สำหรับนักวิ่งสมัครเล่นที่ซ้อมน้อย ยิ่งควรเลือกรองเท้าวิ่งที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้ดี เพราะจะช่วยป้องกัน ข้อเท้า และข้อเข่าได้ดีกว่า ช่วยลดปัญหาในการบาดเจ็บขณะวิ่งได้ เพื่อที่เราจะสามารถวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไปได้นานๆ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 8/ 2015)  รูปที่ 1 ลักษณะการบิดข้อเท้าแบบต่างๆ ของนักวิ่ง a) การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) b) การบิดของข้อเท้าแบบ เข้าด้านใน c) การบิดข้อเท้าออกด้านนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 คุณภาพสมาร์ทโฟนระหว่าง รุ่นเก่า Vs. รุ่นใหม่

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ...เก่าไป ใหม่มา คลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ย่อมมีมาแทน... เวลาที่เราได้ฟังเพลงฮิตเพลงนี้ ของวงนูโว เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ของใหม่ที่ผลิตมาแทนของรุ่นเก่านั้นย่อมดีกว่า มีคุณภาพดีกว่า มายาคตินี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าไม่จริงเสมอไป โดยผลการทดสอบสมาร์ตโฟนล่าสุดของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ฉบับที่ 8/2015 มีผลสรุปดังนี้1.    Samsung S6 สวยกว่า แต่ Samsung S5 ดีกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของ Samsung S6 โครงของสมาร์ตโฟน (body) ทำจากพลาสติก ทำให้ดูดีมีสไตล์ ในขณะโครงของ Samsung S5 ทำจาก โลหะและกระจกแก้ว นอกจากนี้ข้อด้อยของรุ่น S6 คือ ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรีได้เองอีกแล้ว เพราะแบตเตอรีจะติดแน่นกับตัวเครื่อง ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าคือ พลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรีหมดเร็วกว่า จากการทดสอบการโทรศัพท์ ปรากฏว่า แบตเตอรีของรุ่นใหม่ หมดเร็วกว่ารุ่นเก่าถึง 6 ชั่วโมงตัว memory card ภายใน สำหรับเพิ่มปริมาณการเก็บข้อมูลก็ไม่สามารถขยายต่อเติมได้ ราคาสมาร์ตโฟน Samsung S6 ในเยอรมันราคาอยู่ที่ 700 ยูโร ในขณะที่ ราคาของ รุ่น S5 อยู่ที่ 430 ยูโร แนะนำว่าถ้าไม่สนใจเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและอยากประหยัดก็แนะนำว่า รุ่น S5 ก็ยังมีคะแนนโดยรวมจากการทดสอบสูงกว่ารุ่น S62.    สมาร์ตโฟน LG G4 คุณภาพไม่ได้แตกต่างจาก รุ่น G3 แต่ราคาแพงกว่า ราคาของ LG G4 อยู่ที่ 665 ยูโร ในขณะที่ รุ่น G3 อยู่ที่ 290 ยูโร สมาร์ตโฟนถึงแม้นว่า คุณภาพของกล้องและ วิดีโอจะดีกว่า รุ่น G3 แต่แบตเตอรีของรุ่น G4 หมดเร็วกว่ารุ่น G3 ถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง 3.    สมาร์ตโฟน HTC One M9 Vs. HTC M8 จากผลการทดสอบ ทั้งรุ่นเก่า ( HTC M8) และรุ่นใหม่ (HTC One M9) ยังอยู่ในกลุ่ม คุณภาพดีทั้งคู่ แต่รุ่นใหม่ก็ยังด้อยกว่ารุ่นเก่า ดังนี้•    คุณภาพในการรับสัญญาณคลื่นของ รุ่น HTC One M9 แย่กว่า รุ่น HTC M 8 เพราะในการทดสอบ network sensitivity ที่ทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีคลื่นสัญญาณต่ำ ปรากฏว่า สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาดง่ายกว่า•    ผลการทดสอบแบตเตอรี จากการใช้งานอินเตอร์เนต แบตเตอรีของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่หมดเร็วกว่ารุ่นเก่าถึง 2 ชั่วโมง โดยที่ราคาของรุ่นใหม่อยู่ที่ 695 ยูโร แต่ราคาของรุ่นเก่าอยู่ที่ 450 ยูโร4.    สมาร์ตโฟน Motorola G 2 Vs. G1 ผลการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างรุ่นเก่า (G 1) กับรุ่นใหม่ (G 2) น่าแปลกใจว่า รุ่นเก่ามีคุณภาพดีกว่ารุ่นใหม่ โดยเฉพาะผลการทดสอบของ network sensitivity และ ความละเอียดของภาพถ่ายที่ 8 Megapixel ก็ไม่ได้ทำให้ผลการทดสอบดีขึ้นแต่อย่างใดเมื่อรู้ผลอย่างนี้แล้ว ก็คงต้องพิจารณานะครับว่า ชอบรุ่นเก่าหรือชอบรุ่นใหม่ หรือ เก็บออมไว้สำหรับของใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า คอลัมน์นี้จะนำผลการทดสอบมานำเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบอย่างสม่ำเสมอเมื่อผลการทดสอบได้เผยแพร่ออกมา(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/ 2015 และ ฉบับที่ 7/ 2014) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 Sharing economy (เศรษฐศาสตร์แห่งการแบ่งปัน): Car sharing (การเช่ารถระยะสั้น)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแนวความคิดการเช่าแทนที่การซื้อสินค้านั้น มีหลายเหตุมาจากหลายปัจจัย ในกรณีที่สินค้าบางอย่างเราใช้แทบนับครั้งได้ การซื้อก็เป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า แนวความคิดนี้ ชาวเยอรมันได้พัฒนามาเป็นธุรกิจการเช่ารถระยะสั้น เนื่องจากบางคนใช้รถส่วนตัวไม่บ่อยนัก เพราะโครงข่ายจราจรในเมืองใหญ่ของประเทศเยอรมันนั้นค่อนข้างดี และครอบคลุมไปเกือบทุกพื้นที่ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนที่นิยมใช้การเช่าแบบระยะสั้นนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนมีอายุเกิน 60 ปี ไม่ได้มีความสนใจต่อ พฤติกรรมการเช่ารถ นอกจากเหตุผลที่สำคัญในประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบการให้บริการ Car sharingการให้บริการ Car sharing มีสองลักษณะคือ •    กรณีที่เป็นผู้มีรถยนต์ส่วนตัว และแบ่งให้ผู้อื่นมาเช่ารถของตน เนื่องจากใช้รถน้อยมาก โดยเฉลี่ยใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่เกิน 5000 กิโลเมตรต่อปี•    กรณีที่ทำเป็นธุรกิจแบ่งรถให้เช่าในรูปแบบบริษัท ลักษณะการประกอบการจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะเช่นกัน คือ•    ผู้เช่าสั่งจองรถยนต์และเดินทางมารับรถรถยนต์ที่เช่า ซึ่งจอดอยู่ตามสถานที่ที่ระบุไว้ โดยสามารถเช่าได้ทางอินเตอร์เนต โทรศัพท์ และสมาร์ทโฟนแอพ อัตราค่าเช่ารถ คือ 2-5 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวมน้ำมันแล้วด้วย) เมื่อใช้รถยนต์เสร็จแล้ว ก็ขับกลับไปคืนที่เดิม•    แบบที่สองเรียกว่า Free floating model ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นกว่าแบบแรก แต่ก็มีอัตราเช่าสูงกว่า ปัจจุบันอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 15-17 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวม น้ำมันและค่าจอดรถไว้แล้ว) การเช่ารถแบบนี้ ผู้เช่าจะไปรับรถที่จอดไว้ ตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ หรือ สมาร์ทโฟนแอพ และเมื่อใช้รถเสร็จแล้วก็จะนำไปจอดคืนไว้ ณ ที่จอดสาธารณะในเขตที่ตกลงกันกรณีผิดกติกาการเช่ารถเนื่องจากการแบ่งเช่ารถระยะสั้นต้องเป็นสมาชิกกับผู้ประกอบการให้เช่ารถ เพราะฉะนั้นหากผู้เช่าผิดกติกาบ่อยครั้งนอกจากจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงแล้ว ก็อาจถูกแบนไม่ให้เช่ารถต่อไปได้เช่นกัน ตัวอย่างของการคืนรถในลักษณะที่ผิดกติกา เช่น การคืนรถที่มีรถสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนทั้งภายในภายนอกอย่างมาก กรณีแบบนี้ผู้เช่าต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มเติม หรือในกรณีที่คืนรถในสภาพที่มีน้ำมันในถังน้อยกว่า หนึ่งในสี่ ผู้เช่าก็อาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มเติมถึง 50 ยูโร นอกจากนี้การสูบบุหรี่ในรถหรือคืนรถไม่ตรงเวลาก็ต้องเสียค่าปรับสูงมากทีเดียวธุรกิจแบ่งรถให้เช่าระยะสั้นแบบนี้กำลังเติบโตในเยอรมนี สามารถเช่ารถได้ใน 490 เมือง มีสมาชิกทั้งหมด 223,000 คน และในอนาคตจะเติบโตมากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าแท็กซี่ และด้วยความสามารถของระบบนาวิเกเตอร์ ทำให้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ แม้ว่าจะไม่รู้จักเส้นทางการเดินทางในเมืองนั้นมาก่อนก็ตาม(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/ 2015) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 การเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานโดยดูจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญในการขี่ ฉบับนี้ขอเล่าถึงการเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยานสำหรับป้องกันการขโมยดูบ้าง ตามสถิติการก่ออาชญากรรมในประเทศเยอรมนีนั้น ขโมยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ในการตัดหรือทำลายที่ล็อคจักรยาน หากใช้เวลานานกว่านั้น ย่อมเสี่ยงที่จะถูกจับ ดังนั้น แทนที่ขโมยจะใช้เวลานานในการปฏิบัติการทำลายที่ล็อคจักรยานคันนี้ ก็เลือกที่จะไปขโมยรถจักรยานคันอื่นที่ขโมยง่ายกว่าแทน ในแต่ละปีในประเทศเยอรมนีจะมีจักรยานถูกขโมยไม่ต่ำกว่า 300,000 คัน การป้องกันด้วยการล็อคจักรยานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกขโมยได้ ประเภทของที่ล็อครถจักรยาน•    ที่ล็อคแบบตัว U (U-lock) เป็นประเภทที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง ยากที่จะใช้เครื่องมือตัดหรือทำลาย•    ที่ล็อคแบบ amored cable lock ลักษณะแข็งนอก อ่อนใน เนื่องจากข้างในเป็นลวดโลหะสามารถตัดได้ง่าย•    ที่ล็อคแบบ spiral cable lock ข้อดีของที่ล็อคประเภทนี้คือ เป็นลวดยาวๆ ล็อคจักรยานได้ง่าย แต่ก็โดนตัดทำลายได้ง่ายเช่นกัน•    ที่ล็อคแบบ folding clamp และ แบบ 2-folding-clamp lock ข้อดีคือ พกพาได้สะดวก พับเก็บง่าย แต่มีข้อเสียคือ มีขนาดสั้น ไม่ยาว•    ที่ล็อคแบบห่วงโซ่ (chain lock) เป็นที่ล็อคที่มีความแข็งแรงปลอดภัยสูง ตัดให้ขาดยาก แต่ก็มีน้ำหนักมาก•    ที่ล็อคแบบ folding cable lock มีลักษณะเป็นลวดโลหะที่สามารถพับเก็บได้ โดนตัดหรือทำลายได้ง่ายมากการล็อคจักรยานเป็นการป้องกันการลักขโมยในเบื้องต้น แต่ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารู้จักใช้ที่ล็อคดีๆ ก็สามารถประวิงเวลาขโมยในการตัดหรือทำลายตัวล็อคได้ การล็อคจักรยานที่ดีคือ การล็อคล้อ และโครงจักรยานให้ติดกับรั้ว ที่ไม่สามารถยกหนีไปไหนได้ นอกจากนี้การเลือกสถานที่จอดรถจักรยานที่เหมาะสม มีคนพลุ่กพล่าน และไม่เป็นที่ลับตาคน ก็ช่วยป้องกันขโมยได้เช่นกัน วิธีการล็อคจักรยานที่ถูกต้อง •    ล็อคตัวจักรยานไว้กับสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่จอดรถจักรยาน เสาไฟฟ้า หรือ กำแพง•    ล็อคจักรยานให้สูงไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ขโมยใช้เครื่องมือตัดได้ง่าย โดยล็อคบริเวณตัวโครงจักรยาน นอกจากนี้ ควรจะล็อคที่ส่วนอื่นๆ ของจักรยานเพิ่มเติมเช่น ล้อรถจักรยาน•    ควรเลือกสถานที่มีคนพลุกพล่าน จะช่วยทำให้ขโมยต้องยับยั้งชั่งใจ และไม่ควรจอดรถจักรยานทิ้งไว้ข้ามคืนสำหรับใครที่มีจักรยานราคาแพงๆ แล้ว ก็สมควรหาที่ล็อคที่เหมาะสมกับราคาจักรยานด้วย โดยรวมแล้วที่ล็อคจักรยาน แบบ U- lock นั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจากผลการทดสอบขององค์กรผู้บริโภค (Stiftung Warentest) คือ จากการทดสอบที่ล็อคแบบ U lock 10 ยี่ห้อ ได้คะแนนระดับดี 6 ยี่ห้อ ในขณะที่ ที่ล็อคแบบ folding clamp ได้คะแนนระดับ ดี เพียง 1 ยี่ห้อจากที่ทดสอบทั้งหมด 8 ยี่ห้อ ที่ล็อคแบบ ห่วงโซ่ (chain lock) ได้คะแนนระดับดี เพียง 1 ยี่ห้อเช่นกัน จากที่ทดสอบ 9 ยี่ห้อและที่ล็อคแบบ amored cable lock ไม่มียี่ห้อใดเลยได้คะแนนระดับดี จากที่ทดสอบ 3 ยี่ห้อหวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อที่ล็อคจักรยานและวิธีป้องกันขโมยได้บ้างพอสมควร(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/2007 และ 5/ 2015) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point