ฉบับที่ 120 ฟอร์มัลดีไฮด์ ตัวร้ายในน้ำยายืดผม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวแจ้งเตือน: เยอรมันนี ตรวจพบ ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตราย  วันนี้ผมขออนุญาต ถ่ายทอดข่าวแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ครับ เนื่องจาก ตอนนี้ที่ประเทศเยอรมันนี เกิดเหตุการณ์ สินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นเรื่องใหญ่ๆ สองเรื่อง เรื่องแรกคือ การตรวจพบสารไดออกซิน ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ จนทำให้รัฐบาลต้อง กักบริเวณฟาร์มไก่ ที่ใช้อาหารสัตว์นี้ มูลค่าความเสียหายของเกษตรกร ประมาณ หนึ่งร้อยล้านยูโร และบริษัทที่ทำการผลิตอาหารสัตว์ ก็ได้ยื่นเรื่องขอล้มละลายกับศาลล้มละลายระดับมลรัฐแล้ว เนื่องจากความเสียหายนั้นมหาศาลครับ แต่สำหรับเรื่องที่จะเล่าในวันนี้อาจจะทำความกังวลบ้างในหมู่ผู้ที่ชอบยืดผมหยิกให้ตรง เพราะข่าวแจ้งเตือน เรื่องน้ำยายืดผม ที่พบปริมาณของฟอล์มัลดีไฮด์ในปริมาณความเข้มข้นที่สูงมากครับ  สถาบันกลางการประเมินความเสี่ยง -The Federal Institute for Risk Assessment (BfR)) แนะนำไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระดับเข้มข้นสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ที่ระดับความเข้มข้น 1.7 – 1.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่จับตาของหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐบาเดน-วูทเท ฟอร์มัลดีไฮด์ก่อให้เกิดความระคายเคืองรุนแรงต่อดวงตา ผิวหนังและเยื่อเมือก ยิ่งไปกว่านั้น สารประกอบดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้และถูกจัดให้อยู่ในประเภทสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทางสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ยืดผม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคและช่างทำผมมักนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากต่างประเทศโดยตรง หรือสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่รู้ว่าพวกมันสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้  ฟอร์มัลดีไฮด์สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในโพรงจมูก ซึ่งในช่วงหลังวงการวิทยาศาสตร์ยังมีการถกกันถึงความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างฟอร์มัลดีไฮด์และการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอีลอย เป็นที่รู้กันดีว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง อาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะช็อคถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้เกิดความระคายเคืองรุนแรงต่อดวงตา ผิวหนังและเยื่อเมือก สำหรับปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ที่มีอยู่ในอากาศภายในอาคารนั้น ทาง BfR ได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ที่ระดับ 0.1 ppm   ภายในสหภาพยุโรป ฟอร์มัลดีไฮด์ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ของยาบำรุงเล็บเท่านั้น ที่ระดับความเข้มข้นไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสารกันบูดในเครื่องสำอางที่ระดับความเข้มข้นไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จากที่ถูกระบุไว้บนฉลากที่ระดับ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานเฝ้าระวังในรัฐบาเดน-วูทเทมเบิร์ก พบปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ถึง 1.7-1.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีความเข้มข้นดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ใช้  BfR แนะนำให้หน่วยงานแต่ละมลรัฐในเยอรมนนี ให้หามาตรการรองรับและทำการตรวจสอบอย่างละเอียด เช่น ร้านทำผมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยืดผมที่มีฟอร์มัลดีไฮด์ โดย BfR แนะนำเร่งด่วนไม่ให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บ้าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสั่งซื้อได้จากอินเตอร์เน็ต   ผลิตภัณฑ์ยืดผมถูกใช้เพื่อยืดเส้นผมที่หยิกตามธรรมชาติให้กลับเป็นผมตรงอย่างถาวร ผลิตภัณฑ์จะถูกทาลงบนเส้นผม และหลังจากรอเวลาทำปฏิกิริยา 30 นาที เส้นผมจะถูกทำให้ตรงโดยใช้ที่รีดผมที่มีความร้อน 230 องศาเซลเซียส ถ้าผลิตภัณฑ์ยืดเส้นผมนั้นมีฟอร์มัลดีไฮด์ ช่างทำผมและลูกค้า หรือผู้ใช้งานตามบ้านจะสูดดมมันเข้าไปพร้อมกับไอน้ำที่เกิดขึ้น ฟอร์มัลดีไฮด์ที่ถูกปล่อยจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกตรวจสอบนั้นมีปริมาณสูงมากจนก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อเมือก ดวงตา ระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อผิวหนังและอาจก่ออันตรายอื่นๆ ต่อสุขภาพ   ผลิตภัณฑ์ฑ์ยืดผมใช้ฟอร์มัลดีไฮด์เพื่อเชื่อมต่อเคราตินในเส้นผมที่เสียไปจากความร้อน โครงสร้างผมหยิกก็ถูกทำให้ตรงด้วยวิธีนี้เช่นกัน  ก่อนจะจากกันในวันนี้ มีข่าวดีมาฝากครับ ตอนนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยสินค้าอันตราย เป็นหน่วยงานภายใน สคบ. หากเพื่อนๆ สมาชิกฉลาดซื้อ สนใจ สามารถแวะเวียนเข้าไปชมที่เวบไซต์ http://upvac.ocpb.go.th ได้ครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 หลอดไฟประหยัดพลังงาน และการจัดการขยะหลังหมดอายุการใช้งาน

หลอดไฟประหยัดพลังงาน  และการจัดการขยะหลังหมดอายุการใช้งาน โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ถ้าเพื่อนสมาชิกยังจำได้ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับหลอดตะเกียบหรือหลอดไฟประหยัดพลังงาน ในฉบับที่ 98 เมื่อเดือนเมษายน 2552 กลับมาคราวนี้เพราะทางกองบรรณาธิการบอกว่ามีผลการทดสอบหลอดประหยัดไฟอีกครั้ง ผมจึงขอนำเสนอวิธีการเลือกหลอดประหยัดไฟเพื่อประกอบการผลทดสอบนะครับ แถมด้วยการจัดการกับหลอดที่หมดอายุแล้วด้วยครับ  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ยุโรปได้สั่งห้ามขายหลอดไฟแบบกลมในตลาด  เพราะหลอดไฟแบบเก่านั้น สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสงสว่างได้เพียง 5 % พลังงานที่เหลืออีก 95 % สูญเสียเป็นความร้อน นับว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนทางอ้อมอีกด้วย นอกจากนี้ผู้บริโภคต้องเสียเงินค่าไฟแบบสูญเปล่าเป็นจำนวนมหาศาล  สถานที่ที่จะติดหลอดไฟวิธีการเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟสำหรับผู้บริโภค ให้พิจารณาถึงประเด็นสำคัญดังนี้ครับ หลอดไฟแบบประหยัดไฟหรือหลอดตะเกียบนั้น มีอายุในการใช้งานนานเท่าไหร่ และต้องปิดเปิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราจะเลือกหลอดไฟที่ต้องให้แสงสว่างในห้องน้ำ ตามทางเดินที่ต้องมีการปิดเปิดบ่อยครั้ง ควรจะเลือกหลอดไฟที่มีความทนทานในการปิดเปิด ความรู้สึกสบาย   ในกรณีที่จะติดไฟที่ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ควรเลือกหลอดไฟแบบ warm white (WW) ซึ่งจะมีหมายเลข 827 หรือ 927 อยู่ที่ข้างกล่องบรรจุ หมายเลขด้านหน้า 8 หรือ 9 หมายถึงระดับของสีที่หลอดไฟแผ่รังสีออกมา ระดับ 9 จะให้ระดับของสี สูงกว่าหมายเลข 8 หมายเลข 27 หมายถึงให้อุณหภูมิสี 2700 เคลวิน ซึ่งจัดว่าเป็นระดับอุณหภูมิสีที่ให้ความอบอุ่น และถ้าเลขสองหลักสุดท้ายมีค่าสูง จะทำให้ค่าสีแดงลดลง แต่ส่วนของค่าสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเย็นขึ้น   ลักษณะของแสงในบ้าน (day light)หากจะเลือกหลอดไฟในสถานที่ทำงานที่ต้องการความสว่างมากๆ ควรเลือกหลอดไฟที่มีหมายเลข 860, 865, 960 หรือ 965 เนื่องจากมีอัตราส่วนของแสงสีน้ำเงินสูง ทำให้เราตาสว่าง และตื่นตัวดี   การจัดการกับหลอดไฟที่หมดอายุการใช้งานแล้วเนื่องจากหลอดไฟประหยัดพลังงานจะมีโลหะปรอทผสมอยู่ โลหะปรอทจัดเป็นวัตถุที่มีพิษ ต้องจัดการด้วยวิธีพิเศษ เช่นเดียวกับถ่านไฟฉาย ซึ่งการจัดเก็บขยะของบ้านเราปล่อยปละละเลยกันในเรื่องการจัดการวัตถุมีพิษในครัวเรือน หากวัตถุมีพิษเหล่านี้ ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม และมีโอกาสที่จะปนเปื้อนแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป และก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในระยะยาวอย่างมาก   สำหรับเรื่องการจัดการขยะตามครัวเรือนนั้น ทางภาครัฐควรจะวางนโยบายและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งครับ นอกจากจะรณรงค์ให้คนทั่วไปรู้จักแยกขยะแล้ว รัฐบาลควรมีแนวทางในการนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะที่เป็นของเสียที่สามารถย่อยสลายได้ พูดถึงเรื่องการแยกขยะ ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ที่เคยพบมา ในประเทศเยอรมนีทุกบ้านจะต้องแยกขยะ ขยะไหนเป็นขยะรีไซเคิล ให้ใส่ขยะ (ซึ่งก็จะเป็นพวกภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก พลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม     โดยก่อนจะทิ้งก็ต้องล้างน้ำเพื่อไม่ให้มีกลิ่นและใส่ในถุงสีเหลืองที่ ทางเทศบาลแจกไว้ให้ หากเป็นขยะธรรมชาติ เช่นกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้า ฯลฯ ก็จะนำไปทำปุ๋ยหมัก สำหรับกระดาษนั้นก็ต้องแยกไว้และนำไปทิ้งในถังขยะรวม   เนื่องจากประเทศเยอรมันไม่ได้มีอาชีพรับซื้อของเก่าแบบบ้านเรา นอกจากนี้พวกแก้วก็จะต้องรวมแล้วขนไปทิ้งในตู้ container สำหรับแก้วโดยเฉพาะ และต้องแยกแก้วออกเป็นสามกลุ่มคือ สีขาว สีเขียวและสีแดง และถ้าบ้านไหนไม่ยอมแยกขยะ ทางเทศบาลสามารถปฏิเสธไม่รับขยะได้ครับ และตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือ ไมโครมาร์เก็ต   จึงต้องจัดหาถังขยะโดยแยกขยะเป็น พลาสติก แก้ว และกระดาษ ผู้บริโภคที่ซื้อของแล้วสามารถทิ้งขยะไว้ให้ที่ร้านค้าจัดการได้ นอกจากนี้ทางร้านต้องรับขยะที่จัดเป็นขยะอันตรายด้วยไม่ว่าจะเป็นขยะ Electronics แบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย เรียกว่าสินค้ามาจากไหนขยะก็กลับไปทางนั้นครับ   และถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ เตียง ที่นอน ตู้ทั้งหลายเวลาจะทิ้งต้องโทรตามเทศบาลมาเก็บครับ ซึ่งเทศบาลบางที่ ก็จะมีวันเก็บของเก่าเหล่านี้ โดยจะมาเก็บขยะเหล่านี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากใครมีโอกาสไปเมืองเล็ก ก็อาจจะเห็นว่าชาวบ้านจะขนขยะพิเศษเหล่านี้ มาตั้งไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อให้เทศบาลมาเก็บครับ   สำหรับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นแบบนี้ ต้องฝึกเด็กๆของเราครับ นอกจากฝึกเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ก็ต้องสร้างจิตสำนึกในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ ที่ต้องทำทุกวันก่อนครับ ทำร่วมกับการปลูกต้นไม้ ในโครงการ CSR ที่บริษัทต่างๆ เริ่มทำกัน ก็ยังไม่สายนะครับคนไทย รู้จักใช้ก็ต้องรู้จักทิ้งด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี

  คราวนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง แนะนำการซื้อสินค้านัก แต่มีเรื่อง น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย ที่บ้านเราก็ออกมาได้พักหนึ่งแล้ว คือ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือ Product liability law แต่เป็นกรณีของเยอรมันครับ   พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี เนื่องจากในบ้านเราเวลามีคดีผู้บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล และถึงแม้ว่าเราจะมีกฎหมาย พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และ พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้วก็ตาม ปรากฏว่ายังมีปัญหาและสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคมาก แม้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่ดีและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งในประเทศเยอรมันเองนั้นไม่ได้มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าอย่างบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศเยอรมันมี ก็คือ วิญญาณของระบบกระบวนการยุติธรรมที่ ให้ความเป็นธรรมกับคนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส วันนี้ ช่วง ฉลาด ช้อป ขออนุญาตนำคำพิพากษาคดี แอร์แบก ทำงานผิดพลาดมานำเสนอ เพื่อประกอบความรู้ ในเรื่อง Product liability law ครับ   ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิพากษาวางหลักกฎหมายไว้โดยได้วางหน้าที่ของผู้ผลิตไว้อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ผู้ผลิตใดผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายออกสู่ตลาดจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเคร่งครัด   ข้อเท็จจริงโดยสรุป นาย ก โจทก์ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง (รถยนต์ BMW Serie 3 Limousine) โดยได้บรรยายคำฟ้องไว้ว่า เขาได้ขับรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อแผงควบคุมระบบนิรภัย และทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานอัตโนมัติ ถุงลมนิรภัยดังกล่าวได้กระแทกศีรษะโจทก์และไปกดทับเส้นเลือดใหญ่เป็นเหตุให้สมองบางส่วนตาย (cerebral infarct: สมองบางส่วนตาย) โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์   การดำเนินคดีในชั้นศาล นาย ก ได้ยื่นฟ้องครั้งแรกต่อศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt (Landgericht Erfurt) โดยนาย ก ได้ให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบกรณีถุงลมนิรภัยทำงานผิดพลาด แต่ศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt ได้ยกฟ้อง หลังจากโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา (Oberlandesgericht Jena) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุที่ทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานคือแรงกระแทกใต้ท้องรถอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายกับการชน อีกทั้งการป้องกันมิให้ถุงลมนิรภัยทำงานดังเช่นกรณีดังกล่าวในสภาพของเทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถทำได้ และหากจำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวเซนเซอร์เพื่อป้องกันการทำงานที่ผิดพลาดจะทำให้ราคาของรถสูงขึ้นมากจึงพิพากษายกฟ้อง   คำพิพากษาศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยง ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตจำเป็น ต้องมีมาตรการด้านต่างๆที่จำเป็นจำหรับการป้องกันมิให้เกิดอันตรายตั้งแต่การออกแบบและการผลิต ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนากลับไปวินิจฉัยใหม่ในประเด็นความเหมาะสม เรื่องการติดตั้งเซนเซอร์แบบอัลตราซาวด์ที่จะทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานถูกต้อง เมื่อถุงลมนิรภัยมีการสัมผัสกับตัวถังจริงๆ แม้นว่า วินิจฉัยแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมีราคาแพงเกินไปนาย ก ก็ยังสมควรมีสิทธิได้รับการชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา ต้องวินิจฉัยในประเด็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยงของการทำงานของถุงลมนิรภัยใหม่ กล่าวคือการชั่งน้ำหนักระหว่างอันตรายหรือความเสี่ยงที่ถุงลมนิรภัยจะทำงานผิดพลาดกับประโยชน์ใช้สอยของถุงลมนิรภัยว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการผลิตและติดตั้งถุงลมนิรภัยประเภทนี้หรือไม่   การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพผู้บริโภคได้ประโยชน์ และได้รับการเยียวยา: พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Produkthaftungsgesetz- Product Liability Law)ได้มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเป็นอย่างมาก หลังจากมีการประกาศใช้ พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 1990 ทำให้ผู้ผลิตต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น บริษัทผู้ผลิตต้องจ่ายค่าเสียหายแม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนากระทำละเมิด ในปี 2002ได้มีการบัญญัติค่าเสียหายทางจิตใจลงไปด้วย และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะหมดอายุความหลังจากที่ผู้ผลิตได้นำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดไปแล้ว 10 ปี   (Bundesgerichtshof, Urteil vom 16. Juni 2009 Aktenzeichen: VI ZR 107/08) ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7 เดือนกรกฎาคม 2009

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 116 การเลือกซื้อที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก

หลายครั้งที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ พาลูกที่เป็นทารก หรือเด็กน้อยติดไปกับรถยนต์ด้วย และก็มักจะพบภาพ ที่ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายบ้านเรา ไม่ได้บังคับให้ติดตั้งที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็กเหมือนในยุโรปหรืออเมริกา เนื่องจากเด็กนั้นมีสถานะพิเศษต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ (ที่ไม่ใช่รัฐล้มเหลว หรือ failed state) หากพ่อแม่หรือใครก็ตามที่ละเมิดสิทธิของเด็ก ก็จะต้องโดนกฎหมายเอาผิดครับ ทำให้พ่อแม่ที่พาเด็กติดรถ จะต้องขับด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เด็กจะบาดเจ็บมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า  ถึงแม้นว่าจะขับด้วยความเร็ว 30 กิเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขับรถชน ด้วยความเร็วขนาดนี้ ทารกหรือเด็ก ก็อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ ที่ตระหนักถึงความปลอดภัย และคิดอยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ช่วง ฉลาด ช้อป วันนี้มีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำครับ ประเภทของที่นั่งเสริม ในการเลือกซื้อที่นั่งสำหรับเด็ก จะต้องพิจารณาถึงอายุ และขนาดของเด็กเป็นสำคัญ การแบ่งประเภทของที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ตามน้ำหนักของเด็กครับ โดยแบ่งออกเป็นประเภท 0, 0+, I, II, III ประเภท 0 หมายถึง ที่นั่งเสริม ที่จะติดตั้งให้หันหัวไปทางด้านหลังรถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม เป็นที่นั่งเสริมที่ปลอดภัยสูง ประเภท I เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม ที่นั่งเสริมประเภทนี้ จะมีระบบยึดติดตัวเด็กแบบยึดเข็มขัดนิรภัยที่ตัวเด็ก (full belt safety harness system) และระบบนี้มีข้อดี คือ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน แรงกระแทกที่กระทำต่อที่นั่งเสริมจะน้อย แต่การติดตั้งที่นั่งเสริมประเภทนี้ ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว ประเภท II เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 15 – 25 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ปี และ ประเภท III เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 22 – 36 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 6 ขวบ ถึง 12 ปี ที่นั่งเสริมทั้งสองสามารถปรับระดับความสูงของที่นั่งได้ และมีพนักพิงด้านหลังและด้านข้าง ตำแหน่งและทิศทางในการติดตั้ง ทิศทางในการติดตั้งที่นั่งทารกและเด็กเล็กที่ปลอดภัย คือ การที่ให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าสู่เบาะหลัง  เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุ มีการชนเกิดขึ้น ความปลอดภัยจากการติดตั้งที่นั่งแบบนี้จะสูงมาก เพราะกระดูกต้นคอเด็กจะได้รับการปกป้องจากแรงชนปะทะ นักวิจัยทางด้านอุบัติภัยแนะนำให้ใช้การติดตั้งที่นั่งแบบนี้ กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ การติดตั้งที่นั่งแบบหันหน้าเข้าสู่เบาะ จะใช้พื้นที่มาก บางครั้งอาจต้องปรับที่นั่งข้างคนขับไปด้านหน้าจนสุด เพื่อให้มีพื้นที่ด้านหลังเพียงพอต่อการติดตั้ง กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 4 ขวบ ควรติดตั้งที่นั่งหันหน้าไปทิศทางเดียวกับรถวิ่ง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ กล้ามเนื้อต้นคอแข็งแรงแล้ว นอกจากนี้เข็มขัดนิรภัยของที่นั่งเสริม ยังช่วยป้องกันการเหวี่ยงตัวได้ดี ที่นั่งเสริมแบบนี้ประกอบด้วย พนักหลังพิง (seat back) และพนักสำหรับพักศีรษะ (head cusion) ตามรูปที่ 1 ในกรณีที่ติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก ไว้ที่ที่นั่งข้างคนขับ จะต้องปรับตำแหน่งที่นั่งให้เลื่อนไปข้างหลัง และต้องล็อคการทำงานของ air bag เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เมื่อ air bag ทำงานจะไปกระแทกที่นั่งเสริม ทำให้ไม่ปลอดภัยได้  เครื่องหมายแห่งคุณภาพ การเลือกซื้อที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ควรจะลองติดตั้งในรถดู และลองให้ลูกลองนั่งดูก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสบายของเด็ก และดูว่าที่นั่งเสริมนั้น เหมาะกับขนาดตัวของเด็กหรือเปล่า นอกจากนี้ยังจะต้องดูด้วยว่าที่นั่งเสริมสำหรับเด็กนั้น มีเครื่องหมายมาตรฐาน ECE R 44 หรือไม่ เครื่องหมายนี้ ทางสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobile Club: ADAC) ได้ทำการทดสอบและให้ เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้คุณพ่อแม่สะดวกในการตัดสินใจเลือกซื้อที่นั่งเสริม เนื่องจากตามกฎหมายยุโรปนั้น ที่นั่งเสริมเป็นอุปกรณ์บังคับ ในกรณีที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี นั่งอยู่ในรถ สำหรับประเทศไทยนั้นการใช้ที่นั่งเสริมยังไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายบังคับ แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใด ที่ประสงค์อยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ในเบื้องต้นก็อาจจะลองหาสัญลักษณ์ ECE R 44 เพื่อความปลอดภัยของลูกรักในการนั่งรถยนต์ร่วมทางไปกับผู้ใหญ่ครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 “รถใช้น้ำ” ช่วยโลกร้อน ประหยัดเชื้อเพลิง ?

ราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้ใช้รถเป็นจำนวนมาก ในสื่อต่างๆ มีการโฆษณาถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบหลากหลาย ที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความสามารถ ช่วยลดปริมาณการปล่อยมลภาวะ และยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมัน อันทำให้ช่วยผู้ใช้รถจำนวนมากสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ วันนี้มีเพื่อนสมาชิกสอบถามเข้ามาถึงเรื่อง “รถใช้น้ำ” ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด คอลัมน์ ช่วง ฉลาด ช้อป มีคำตอบให้ครับ รถพลังงานน้ำ vs. รถพลังงานไฮโดรเจนตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว การได้มาซึ่งพลังงานเกิดจากการปฏิกริยาทางเคมีของสสารที่มีพลังงานสะสมสูงกว่า เปลี่ยนไปเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่า โดยระหว่างการเปลี่ยนแปลงนั้นสสารจะปลดปล่อยพลังงานออกมา ยกตัวอย่างเช่น การเผาไหม้ของสสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (พลังงานฟอสซิล) ไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจน   เปรียบเช่นเดียวกับกระบวนการหายใจของมนุษย์ ที่สามารถเปลี่ยนอาหารที่มนุษย์รับประทานไปทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้ได้มาซึ่งพลังงานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมา   ในลักษณะเดียวกัน ก๊าซไฮโดรเจน สามารถทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้เกิดน้ำและพลังงาน ได้เช่นกันดังสมการเคมี   เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนมีพลังงานสะสมสูงกว่าน้ำ ลักษณะเช่นนี้เป็นที่มาของพลังงานทางเลือกใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า Hydrogen Fuel เมื่อนำหลักการนี้มาใช้เป็นพลังงานแก่รถยนต์ เราจึงเรียกว่ารถพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาและกำลังคาดหมายว่าจะสามารถมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางตรงกันข้ามหากเราต้องการนำน้ำมาทำให้เกิดไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน สิ่งที่เราต้องทำคือการใส่พลังงานลงไปในน้ำเพื่อทำให้เกิดปฏิกริยาดังสมการเคมี ซึ่งปฏิกริยาดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยกระบวนการ Electrolysis คือการใส่พลังงานไฟฟ้าผ่านขั้วไฟฟ้าทั้งสองลงไปในน้ำ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนที่ขั้วลบ และก๊าซออกซิเจนที่ขั้วบวก  จากหลักการที่อธิบายมานี้จะเห็นได้ว่า รถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนนั้นกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ในทางตรงกันข้ามการให้ได้มาซึ่งพลังงานจากน้ำโดยปฏิกริยาเคมีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะน้ำเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน ดังนั้นรถยนต์ที่วิ่งได้ด้วยพลังงานน้ำล้วนๆ จึงไม่มีอยู่จริง แล้ว “รถใช้น้ำ” ที่โฆษณากันคืออะไร? หลักการของอุปกรณ์เหล่านี้ คือ ติดตั้งตัว Electrolyze โดยนำพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อแยกเอาก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากน้ำ แล้วนำเอาก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนที่ได้เหล่านั้น ใส่เข้าไปในเครื่องยนต์ โดยมักจะอ้างว่าเป็นการทำให้เครื่องยนต์ใช้น้ำมันน้อยลง และเกิดมลภาวะที่น้อยลงด้วย   ข้อเท็จจริง: การนำก๊าซไฮโดรเจนใส่เข้าไปในเครื่องยนต์นี้ ได้รับการศึกษาและรับรองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า “สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และทำให้เกิดมลภาวะที่น้อยลงจริง” แต่ประสิทธิภาพก็เพิ่มในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้มักไม่พูดถึงคือ กระบวนการ Electrolysis เพื่อแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานเช่นเดียวกัน โดยพลังงานที่ว่านี้ก็มาจากแบตเตอรี่ ซึ่งมาไล่เรียงกันดีๆ แล้ว จะเห็นว่าพลังงานแบตเตอรี่ก็มาจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ก็คือพลังงานน้ำมันนั้นเอง  และเมื่อพิจารณาตามกฎทางเทอร์โมไดนามิกแล้ว ในทุกกระบวนการนั้นจะต้องเกิดการสูญเสียพลังงานทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การนำพลังงานทางกลที่ได้จากน้ำมัน ไปปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำพลังงานไฟฟ้าไปแยกไฮโดรเจน แล้วนำกลับมาเผาไหม้ใหม่ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง โดยสรุปจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุปกรณ์พวกนี้จะสามารถช่วยประหยัดการใช้น้ำมันได้ ที่ต่างประเทศก็มีการขายผลิตภัณฑ์เช่นนี้เหมือนกันไม่ใช่หรือ? ณ ปัจจุบัน ไม่มีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ใดๆ ที่ได้รับการรับรองและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จาก United States Environmental Protection Agency นั้นหมายความถึง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในต่างประเทศก็อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคเช่นกัน ผลิตภัณฑ์พวกนี้โดยส่วนมาก มักจะมีการอ้างถึงผลการทดสอบการประหยัดน้ำมัน และการปล่อยมลภาวะ ซึ่งค่าที่เกิดจากการทดสอบเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้จากลักษณะการขับขี่ หรือการปรับค่าของหัวฉีดและ Engine Control Unit (ECU) ต่างๆ สรุปโดยรวมแล้ว การใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดจากการใช้กระบวนการ Electrolysis แยกออกมาจากน้ำนั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้รถที่ติดตั้งอุปกรณ์สามารถประหยัดน้ำมันได้จริง ขณะที่เรากำลังรอการมาของเทคโนโลยีรถที่ใช้ Hydrogen fuel cell การดูแลเช็คสภาพรถยนต์ ให้อยู่ในสภาพดี ตรวจสอบลมยางและไส้กรองอยู่เสมอ ไม่บรรทุกของเกินความจำเป็น รวมถึงขับรถไม่เร็วเกินไปนัก หรือถ้าเป็นไปได้ก็หลีกเลี่ยงการใช้รถเมื่อไม่จำเป็น น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการประหยัดน้ำมันในยุคน้ำมันราคาแพงนี้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 1

จากเหตุภูเขาไฟอายยาฟยาพลาเยอร์คุดุในไอซ์แลนด์ปะทุขึ้น จนทำให้เกิดกลุ่มหมอกและควันไฟปกคลุมทั่วท้องฟ้าจนมีผลให้ทางอียูต้องสั่งปิดน่านฟ้า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการปิดน่านฟ้าได้สร้างความวุ่นวายใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปต่อนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางทั่วไป แต่แม้จะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ สิทธิของผู้โดยสารทางอากาศของสหภาพยุโรปยังคงใช้ได้อยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิของผู้บริโภคนั้น เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หากคนไทยที่เดินทางไปยุโรปแล้วประสบเคราะห์กรรมจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ สิทธิของผู้บริโภคก็ย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนสีทางการเมือง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์การอิสระนั้น จึงถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งผู้บริโภคควรจะช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป 1. เกิดอะไรขึ้นถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องถ้าเที่ยวบินของเราถูกยกเลิก หรือล่าช้าเป็นเวลาเกินกว่าห้าชั่วโมง หรือผู้โดยสารได้รับการปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนสำหรับบัตรโดยสารที่ไม่ได้ใช้ หรือสามารถยอมรับการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายได้ ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารสามารถเลือกได้ระหว่างการขอเงินคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทาง ถ้าผู้โดยสารเลือกขอเงินคืน ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนค่าบัตรโดยสารที่ได้จ่ายไป(รวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) สำหรับการขอเงินคืน ผู้โดยสารควรจะยื่นเรื่องต่อบริษัทสายการบินที่ทำการจองบัตรโดยสารไว้ จำไว้ว่าเมื่อไรที่ผู้โดยสารรับเงินคืนแล้ว สายการบินไม่มีข้อผูกมัดต่อผู้โดยสารในเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางใหม่หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ถ้าผู้โดยสารเลือกการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทสายการเช่นอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักของผู้โดยสาร และถ้าจำเป็นก็ต้องเปิดห้องพักโรงแรมสำหรับพักค้างคืนให้ โดยขึ้นกับความล่าช้าเกิดขึ้น  2. ผู้โดยสารมีสิทธิในค่าชดเชยอื่นๆ หรือไม่ (นอกเหนือจากที่อธิบายไว้ในข้อ 1) ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่น การปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 3. สามารถขอค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่3.1 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงล่าช้า“ล่าช้า” หมายความว่ากระเป๋าของผู้โดยสารเดินทางมาถึงภายในเวลา 21 วันนับจากวันที่ผู้โดยสารมาถึงสนามบินปลายทาง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญามอนทรีออล) ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุดประมาณ 1,223 ยูโรสำหรับความล่าช้า อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ • ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ผู้โดยสารควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่โต๊ะรับร้องเรียนเรื่องกระเป๋า โดยปกติมักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่รับกระเป๋า ควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้โดยสารและเก็บสำเนาแบบฟอร์มไว้กับตัวเอง ถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงภายในสามสัปดาห์นับจากเวลาถึงของผู้โดยสาร แสดงว่าเกิดความล่าช้าขึ้น ผู้โดยสารควรจะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงสายการบินภายใน 21 วัน เพื่อร้องขอค่าชดเชยเรื่องความล่าช้า • เก็บบัตรที่นั่ง (Boarding pass) และป้ายชื่อคล้องกระเป๋าไว้ (baggage tags) • หาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของบริษัทสายการบินถ้าเป็นไปได้ • ถามรายละเอียดผู้ติดต่อของแผนกกระเป๋าและถามว่ามีระบบติดตามข้อมูลออนไลน์เพื่อให้ตรวจสอบสถานะกระเป๋าหรือไม่ • เก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดที่เกิดจากความล่าช้าของกระเป๋าไว้ภายใต้อนุสัญญามอนทรีออล ผู้โดยสารมีเวลา 21 วัน นับจากวันที่กระเป๋าถูกส่งมาถึง เพื่อยื่นแบบเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นลายลักษณ์อักษร 3.2 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางชำรุดเสียหายขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน ระบุความเสียหายที่มีต่อกระเป๋าของผู้โดยสาร ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะมีบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย จากนั้นเขียนจดหมายถึงสายการบินภายใน 7 วัน นับจากวันที่กระเป๋ามาถึง และแนบสำเนาแบบฟอร์ม PIR ไปด้วยเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมาย ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความเสียหาย 3.3 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางสูญหายไปโดยเกิดจากการกระทำของสายการบินกระเป๋าของผู้โดยสารจะถือว่า “สูญหาย” ถ้าผู้โดยสารไม่ได้รับกระเป๋าเดินทางภายใน 21 วัน หรือถ้าสายการบินแจ้งว่าสูญหาย ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน รายงานถึงกระเป๋าที่ยังไม่มา ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย ถ้ากระเป๋าไม่มาภายใน 21 วัน เขียนจดหมายถึงสายการบินเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมายผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความสูญเสีย 4.ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย) เนื่องจากการปิดน่านฟ้า – จะต้องปฏิบัติอย่างไร • แจ้งบริษัทรถเช่าทันทีที่ทำได้ และควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร • รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้ • ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่ารถเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ กรณีนี้เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้นผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ขอนำเสนอส่วนที่เหลือในตอนหน้าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 2

  คราวที่แล้วได้นำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป ไปด้วยกันหลายข้อ ได้แก่ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อ เที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง, ค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่, ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย)…ซึ่งยังไม่หมดนะครับ ยังมีคำแนะนำที่น่าสนใจอีกหลายข้อ ดังนี้ คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป(ต่อ) 5. แล้วถ้าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบิน และบริการเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจท่องเที่ยว• รายงานปัญหาต่อบริษัทเรือ/รถไฟ/รถประจำทางทันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังจุดหมายปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเดินทางโดยเรือ/รถไฟ/รถประจำทาง เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน 6. แล้วถ้าไม่สามารถต่อเที่ยวบินได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า (ก) ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินทรานสิท (ข) ในกรณีที่บัตรโดยสารสองใบซื้อแยกกัน ก) ดูข้อ 7 กรณีแพ็คเกจท่องเที่ยวข) ผู้โดยสารมี• สิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบิน (เช่น สายการบินต้องให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในฐานะผู้โดยสาร และต้องแจ้งสถานการณ์ให้ผู้โดยสารรับทราบกรณีมีการเปลี่ยนแปลง)• สิทธิที่จะเลือกระหว่างการขอเงินค่าบัตรโดยสารคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร• สิทธิที่จะได้รับการดูแลตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 ถ้าทางเลือกของผู้โดยสารคือการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ และการยกเลิกเที่ยวบินทรานสิทเกิดขึ้นหลังจากที่ออกจากสถานที่พักอาศัยแล้ว 7. ในกรณีที่จองแพ็คเกจท่องเที่ยวไว้ แล้วเที่ยวบินถูกยกเลิกไม่สามารถเดินทางได้เพราะน่านฟ้าปิด สามารถเรียกร้องเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับแพ็คเกจท่องเที่ยวได้หรือไม่(ตัวอย่างของแพ็คเกจท่องเที่ยวคือสิ่งที่ผู้โดยสารเลือกจากโบรชัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว ซึ่งรวมเที่ยวบินและการพักโรงแรมไว้ด้วย การท่องเที่ยวของผู้โดยสารจะไม่ถือว่าเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวถ้าผู้โดยสารจองบริการต่างๆ แยกจากกัน ถ้าผู้โดยสารยังไม่เริ่มต้นเดินทางผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบินหรือจากบริษัทท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่จ่ายไป (รวมถึงค่าโดยสารและค่าโรงแรม) หรือผู้บริโภคอาจจะรับแพ็คเกจทดแทน ถ้าได้รับการยื่นข้อเสนอจากผู้จัด ผู้โดยสารไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยอื่น นอกจากการเรียกร้องเงินคืน ถ้าแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ (“เหตุสุดวิสัย”) ซึ่งกรณีเถ้าภูเขาไฟระเบิดปกคลุมน่านฟ้า จะถูกพิจารณาเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอื่นเพิ่มเติม  ถ้าผู้โดยสารอยู่ที่จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทนำเที่ยว (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกและระยะเวลาที่ล่าช้า เครื่องดื่ม อาหารและอุปกรณ์ในการสื่อสาร ผู้จัด (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ยังต้องจัดหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมโดยไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับความต่อเนื่องของแพ็คเกจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการเดินทาง เช่น เที่ยวบินสองสามวันหลังจากนั้น และที่พักในโรงแรม  (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) 8. กรณีจองบ้านพักตากอากาศ/โรงแรม/เรือ แยกจากกัน ถ้าเครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจองคืนหรือไม่• รายงานปัญหาต่อเจ้าของบ้านพัก/โรงแรม/บริษัททันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าผู้โดยสารได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว อาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าผู้โดยสารไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่าพัก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) ถ้าทำสัญญาแยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับสัญญาที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารทางอากาศผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทสายการบิน การ ทำงานขององค์การอิสระผู้บริโภคของยุโรป เป็นการกระทำที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสากลแบบไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติ และสีทางการเมืองของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้า และจริงๆ แล้วคณะกรรมมาธิการยุโรปได้มีนโยบายเฝ้าระวังสายการบินราคาถูกที่มักจะมีปัญหาเรื่องเครื่องบินล่าช้า หรือยกเลิกเที่ยวบินเป็นประจำจนทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนมาก หวังว่าหากเพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อจะได้ประโยชน์จากบทเรียนครั้งนี้บ้าง และถ้ากรมขนส่งทางอากาศ ที่ทำหน้าที่เป็น เรกูเลเตอร์โดยตรง เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศไทยในปี 2552 ที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คนต่อปี* นำไปปรับใช้กับสายการบินในประเทศไทยเราบ้างก็จะได้รับการสรรเสริญจากผู้โดยสารอีกไม่น้อยเลยทีเดียว * ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 ที่นอนแบบไหน เหมาะกับตัวเรา

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  ที่นอนแบบไหน เหมาะกับตัวเรามีคำถามจากเพื่อนสมาชิกเข้ามาว่า จะเลือกซื้อที่นอนประเภทไหนถึงจะดีที่สุด ช่วง ฉลาด ช้อป มีคำตอบให้ดังนี้ครับ เนื่องจากที่นอนที่ขายอยู่ในตลาดปัจจุบันนั้น มีความหลากหลายมาก และแตกต่างกันมาก ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งในการเลือกซื้อ เราควรจะต้องเลือกที่นอนที่ทำให้เรามีความสบายที่สุดในเวลาที่เรานอน ซึ่งแต่ละคนนั้นก็จะแตกต่างกันไปไม่ว่า จะป็น อายุ เพศ สภาพร่างกายและน้ำหนัก  การเลือกซื้อที่นอนจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อที่นอนสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เราจะต้องทดลองนอนก่อน โดยที่เราจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนนานพอสมควร(ซึ่งเป็นนิสัยของคนเยอรมันนะครับ ที่ก่อนจะทำอะไรไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ก็ต้องมีการวางแผน ซึ่งบางครั้งมันก็น่าเบื่อครับ สู้ปล่อยให้เป็นเรื่องของดวงไม่ได้ น่าตื่นเต้นกว่า) เพื่อให้ได้ที่นอนที่เหมาะกับเราที่สุด อย่าลืมว่า ที่นอนที่เราซื้อมานั้น เราจะใช้งานนานเป็นสิบๆ ปี และต้องใช้ทุกวัน เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อให้มากที่สุด การมีที่นอนที่ดี ก็เหมือนกับมีชีวิตที่ดี  สำหรับคนที่มีปัญหา ปวดเมื่อย ก็ลองหันไปเปลี่ยนที่นอนดู อาจจะช่วยได้ครับ ในช่วงอายุของคนเรานั้น ความต้องการเรื่องที่นอนก็จะต่างกันไปตามวัย สภาพและขนาดของร่างกาย เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อ ก็ต้องคำนึงถึงอายุ สภาพและขนาด ของร่างกายของเราด้วย มาเริ่มด้วยที่นอนสำหรับเด็กเล็ก ในกรณีที่นอนของเด็กเล็ก ควรเลือกซื้อที่นอนของเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพราะถ้าที่นอนไม่เหมาะสมกับเด็กแล้วจะส่งผลให้พัฒนาการทางร่างกายของเด็กผิดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น ศีรษะ กระดูกสันหลัง อาจส่งผลให้เด็กมีอาการปวดหลังได้ ที่นอนสำหรับเด็กควรจะยืดหยุ่น แต่มีความแข็งแรง เนื่องจากกระดูกสันหลังของเด็กเล็กยังไม่ได้พัฒนาเป็นรุปตัว S เหมือนผู้ใหญ่ หากที่นอนไม่ยืดหยุ่นพอ ก็ทำให้ไม่สามารถรับแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังของเด็กได้ทำให้เกิดปัญหากระดูกสันหลังตามมา  ในการเลือกซื้อที่นอนของเด็ก ก็ให้ดูว่าเมื่อวางตัวเด็กลงบนที่นอนแล้ว ที่นอนไม่ควรยุบตัวลงเกิน กว่า 2- 3 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรเลือกที่นอนที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่ปลอดจากสารเคมี เช่น ที่นอนเส้นใยมะพร้าว ที่นอนจากขนม้า แต่ข้อเสียของที่นอนประเภทนี้ คือ การดูแลรักษาที่ยุ่งยาก เพราะต้องหมั่นพลิกกลับที่นอนเป็นประจำ  เพื่อให้ที่นอนคงคุณภาพไว้ได้นานๆ   ที่นอนสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องการที่นอนแบบพิเศษ ที่ไม่ทำให้ร่างกายเกิดอาการผื่นคันหรือระคายเคืองตาและมีน้ำมูกไหล เพราะอาการภูมิแพ้  สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นที่นอนที่ไม่ได้เป็นแหล่งหลบซ่อนของไรฝุ่น (Acarodermatitis) เนื่องจากที่นอนที่มีความชื้น สัตว์ประแภทนี้ชอบหลบอาศัยอยู่ และหากเป็นที่นอนประเภทเส้นใยธรรมชาติ ก็จะเป็นแหล่งอาศัยของไรฝุ่นป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงไรฝุ่น ควรเลือกที่นอนที่ทำจากยางพารา เพราะสามารถระบายความชื้นออกจากที่นอนได้ดี   ที่นอนจากยางพารา โดยทั่วไปแล้วที่นอนที่ทำจากยางพารา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยางสังเคราะห์ (synthetic latex) และยางธรรมชาติ (natural latex) ที่นอนจากยางธรรมชาติ จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่ายางสังเคราะห์  ส่งผลให้อายุการใช้งานนานกว่า ที่นอนรักษารูปทรงดีกว่า ที่นอนที่ทำจากยางสังเคราะห์ เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อควรพิจารณาดูด้วยว่าที่นอนจากยางพารานั้น เป็นยางธรรมชาติ  100 % หรือ มียางสังเคราะห์ผสมอยู่ ถ้าปริมาณของยางสังเคราะห์ผสมอยู่มากคุณภาพก็จะลดลง แต่ผู้บริโภคต้องพึงระวังด้วยว่า บางครั้งผู้ขายอาจโฆษณาว่าเป็นที่นอนทำจากยางพารา แต่ตามกฎหมายของยุโรป หากมียางสังเคราะห์ผสมอยู่ไม่เกิน 20 % ก็สามารถเรียกผลิตภัณฑ์ได้ว่าเป็น ที่นอนจากยางธรรมชาติ ข้อดีของที่นอนจากยางพาราคือ ไม่ดูดซึมความชื้น ระบายอากาศดี ทำให้หลับสบาย และเนื่องจากมีความยืดหยุ่นดีทำให้  ปรับรูปทรงให้เข้ากับร่างกายขณะนอน และรับน้ำหนักได้ดี นอกจากนี้การดูแลรักษาก็ง่ายและสะดวก ในการดูแลรักษาควรพลิกกลับที่นอนเป็นระยะๆ  เพื่อช่วยในการระบายความชื้น นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องโดยตรงบนที่นอน โดยเฉพาะที่นอนที่มีส่วนผสมยางธรรมชาติเพราะจะทำให้ที่นอนเสื่อมสภาพ และเสียรูปทรงเร็วกว่าปกติ  นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าที่นอน ซึ่งเราควรเลือกผ้าปูที่นอนที่ไม่ดูดความชื้นและปลอดสารเคมี นอกจากนี้ควรหมั่นถอดออกมาซักเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งของไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 GT200 กับการคุ้มครองผู้บริโภค

นับตั้งแต่ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ให้สังคมไทยรับทราบทั่วกันว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่จัดซื้อกันมาใช้ในหลายหน่วยราชการ ด้วยราคาแสนแพงนี้ ไม่น่าทำงานจริงได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ มีทั้งผู้ที่เชื่อถือว่าเครื่องนี้จะทำงานได้ และมีผู้ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถทำงานได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์) จนกระทั่งท้ายสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ และผลการทดสอบก็เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนแล้วว่า จากการตรวจ 20 ครั้ง ถูกต้องเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นโอกาสถูกเพียง 20% หรือเท่ากับการเดาสุ่ม ซึ่งน้อยกว่าการเดาสุ่มอีกแบบที่บอกเพียงแค่ว่า “มีหรือไม่มี” เสียอีก (ซึ่งโอกาสถูกยังมีมากถึง 50%) ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือที่ตรวจสอบนี้ไม่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาที่แพงเป็นแสนเป็นล้านบาท น่าแปลกใจว่า บรรดาหน่วยงานทั้งหลายกลับมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่นี้ต่อไป พร้อมทั้งมีการชี้แจงเป็นระยะว่า ผู้ใช้ตัวจริงจากพื้นที่จริงยืนยันว่าใช้ได้ แม้ว่าการตรวจสอบจะให้ผลในทางตรงข้ามก็ตาม.... สังคมไทยที่ยังเป็นสังคมประเภทที่อาศัยความเชื่อมากกว่าความจริง เช่นเชื่อว่าวัวห้าขาจะสามารถใบ้หวยได้หรือการขูดหาเลขท้ายสองตัวสามตัวจากต้นไม้ประหลาดหน้าตาคล้ายมังกร ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีคนที่บังเอิญถูกเลขท้ายเพียงแค่คนหรือสองคนจากคนที่ขูดหาเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วมีคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกหวย ก็โพนทะนาว่ามันแม่นมาก ศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก คนอื่นๆ ที่ขูดแล้วได้เลขที่ไม่ถูกต้องก็พาลพาด่าทอตัวเองว่า เราดันไม่ไปขูดตรงที่เค้าขูดเอง หรือขูดไม่ถูกวิธี หรือขูดโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สมควรเช่นมีดหรือส้อมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น นอกจากวัวหรือต้นไม้ที่จะถูกรบกวนโดยความไม่รู้ของผู้คน แต่สำหรับความเชื่อในเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนี้ หากเชื่อว่าเครื่องทำงานได้ แต่พอถึงเวลาใช้งานเครื่องทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด นั่นอาจหมายถึงชีวิตของทั้งผู้ที่ตรวจหาหรือประชาชนที่จะต้องรับเคราะห์กรรม ดังนั้น เรื่องราวประเภทนี้จึงควรใช้ความจริงเป็นสิ่งตัดสินใจมากกว่าความเชื่อ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการเพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 ซึ่งคงเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีการออกแบบการทดลองใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าผมได้ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ผมคงจะขอเสนอให้ผู้ที่เชี่ยวชาญชำนาญใช้งานเครื่องนี้มาเป็นผู้ทดสอบด้วยตนเอง ขอเชิญผู้ที่ชำนาญมากที่สุด อยู่ในสภาวะที่ท่านคิดว่าพร้อมที่สุด แล้วเชิญท่านมาทดสอบใช้เครื่อง เพื่อให้เห็นชัดกันไปจริงๆ ว่า มันใช้ได้หรือไม่ได้โดยตัวท่านเอง หรือแม้การพิสูจน์จะผ่านไปแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ใช้งานเครื่องนี้จริง จากพื้นที่จริงและมีข้อสงสัยในประสิทธิภาพได้มาทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะบรรเทาความคลางแคลงใจในประสิทธิภาพลงไปได้อีกระดับหนึ่ง การจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในหลายรัฐบาล หลายผู้นำ จำนวนเครื่องมากน้อยต่างๆ กันไป แล้วแต่ความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ และเมื่อมีประเด็นในด้านประสิทธิภาพของเครื่องมือกับราคาที่แพงมาก ก็คงมีคำถามจากสังคมมากมายในทำนองว่า มีการคอรัปชันหรือไม่ ใต้โต๊ะบนโต๊ะหรือไม่ หรือเราโดนหลอกหรือไม่ การตอบคำถามเพื่อแก้ประเด็นเหล่านี้กลับไปอยู่ที่ความพยายามบอกว่าเครื่องทำงานได้มีประสิทธิภาพดี เหตุเกิดเพียงเพราะนักวิชาการชอบมากวนน้ำให้ขุ่น แต่ไม่ได้เคยมีความพยายามที่จะพิสูจน์ให้ทราบว่าการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราอาจถูกหลอกให้ซื้อเครื่องเหล่านี้จริงๆ เพราะการยอมรับในข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อย่อมเท่ากับยอมรับว่าอาจมีการทุจริตในองค์กร และการยอมรับเรื่องถูกหลอกขายของ ก็จะทำความเสียหาย เสียหน้า เสียชื่อเสียงขององค์กรนั่นเอง หากผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ในครอบครอง ทันทีที่นายกฯ ได้แถลงผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเป็นทางการว่าเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพและขอให้ระงับการใช้งาน สิ่งแรกที่ผมจะทำคือฟ้องร้องบริษัทที่ขายเครื่องมือดังกล่าวต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ผมเห็นว่าการถูกหลอกขายของยังไม่น่าจะอับอายเท่ากับการทรยศคดโกงชาติด้วยการคอรัปชัน หน่วยงานราชการทั้งหลายที่จัดซื้อถือว่าเป็นผู้บริโภคโดยตรงได้ซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาใช้หลายเครื่อง แต่พิสูจน์และปรากฎชัดแล้วว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการหลอกลวงอย่างชัดเจน ถ้าร้องเรียนต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจะพิจารณาอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ผู้บริโภค (ในที่นี้ผู้ชื้อคือหน่วยงานของรัฐ) เมื่อประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบหรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผลการพิจารณาตัดสินก็จะชี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครเป็นคนผิดดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐจัดซื้อไปเนื่องจากเชื่อในคำโฆษณากล่าวอ้าง แล้วได้สินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรที่จะรีบดำเนินการฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเชื่อมั่นว่าเครื่องมือของตนสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างจริง ก็หาหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้เลยครับ อย่าใช้วิธีปิดบริษัทหนีไปเสียก่อน ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าท่านมาหลอกขาย และเมื่อศาลตัดสินหรือมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว หน่วยงานของรัฐก็ควรรีบดำเนินการฟ้องร้องศาลอื่นๆ ต่อไป เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเรากลับคืนมา ซึ่งควรที่จะรวมไปถึงค่าเสียหายของบรรดาทหาร ตำรวจ รวมทั้งบุคลากรของรัฐที่ต้องเสี่ยงภัยใช้เครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพนี้ไปด้วยครับ แน่นอนครับ ผมเชื่อว่า อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ยากที่จะไปดึงเอาออกมาได้ เช่นเดียวกัน เงินที่เราได้จ่ายไปแล้วสำหรับเครื่องมือประเภท “ไม้ล้างป่าช้า” คงจะไม่มีวันที่ตามคืนกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนแก่ประเทศไทย แก่หน่วยงานของรัฐทั้งหลายที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือพิเศษทันสมัยล้ำยุคอื่นๆ ได้ควรได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ และในกรณีที่มีข้อข้องใจสงสัย ในประเทศไทยมีองค์กรของรัฐและเอกชนที่มีเทคโนโลยีทัดเทียมหรือล้ำหน้าอารยประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหลายองค์กรเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความเห็นในเชิงวิชาการอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติความเชื่อและผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อที่คนไทยจะได้ไม่เสีย “ค่าโง่” กันอีกต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point