ฉบับที่ 130 คู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข้อมูลนี้ผมได้นำมาจากแผ่นพับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้พิมพ์แจกประชาชนทั่วไป ที่ประสบปัญหา เชื้อราขึ้นในบ้านและสิ่งของ ตอนน้ำท่วม หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม จะยังครองสติ ตั้งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างดี นำข้อมูลนี้ไปเป็นแนวทางในการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียนและอาคารหลังน้ำท่วม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังน้ำลดหลังจากที่สามารถเข้าไปในบ้านเรือนได้แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยคือ • ตรวจเช็คไฟฟ้าก่อนเข้าไปสำรวจในบริเวณบ้าน ซึ่งอาจขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค • เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท • สำรวจพื้นที่ในบ้านอย่างระวังเพราะอาจมีสัตว์อันตรายที่หนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในตัวบ้าน หลังจากนั้นจึงกวาดล้าง ทำความสะอาดพื้นและผนังบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้น้ำสะอาดฉีดล้างในเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษโคลนและขยะที่มากับน้ำท่วมที่ยังคงค้างอยู่ในบ้านและขัดล้างเช็ดถูด้วยแปรง กับน้ำผสมผงซักฟอกและล้างด้วยน้ำตามอีกครั้งจนสะอาด จากนั้นจึงทำการสำรวจพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อราเกาะอยู่ หรือเห็นเป็นคราบดำชัดเจน วิธีการจัดการกับเชื้อราในบ้าน หรือบนวัสดุอุปกรณ์ที่เกิดราขึ้นควรปฏิบัติดังนี้ • แยกวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของวัสดุติดเชื้อราที่ต้องทิ้ง และกลุ่มที่สองเป็นวัสดุติดเชื้อราที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดอันตราย • กลุ่มของวัสดุที่เกิดราที่ต้องทิ้งประกอบด้วยวัสดุที่มีรูพรุนเปียกน้ำ มีราปกคลุมทั้งชิ้น วัสดุที่เสียสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงกระดาษ ไม้อัด ไม้ธรรมชาติที่เกิดรา เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในรูพรุนของวัสดุเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด และเชื้อราสามารถที่จะแพร่กระจายบนวัสดุนั้นได้ใหม่ โดยกลุ่มวัสดุเหล่านี้รวมทั้งเสื้อผ้า หรือพรมที่เปียกน้ำหลายวันจนมีเชื้อราขึ้นเต็ม ต้องแยกเก็บไว้นอกบ้านในที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรือบรรจุลงในถุงดำถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก รอการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องจาก กทม. อบต. หรือเทศบาลต่อไป • กลุ่มของวัสดุติดเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผิววัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เกิดอันตราย ได้แก่วัสดุที่ไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ที่มีเชื้อราเล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุ   สารที่ใช้กำจัดเชื้อรา• ใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพัฒนาขึ้น คือ “ราอะเวย์” ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ 02-470-9999 และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://antifightflood.kmutt.ac.th หรือ http://aff.kmutt.ac.th • เตรียมทำน้ำยาเองโดยใช้สารฟอกผ้าขาว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 แกลลอนหรือใช้สารฟอกผ้าขาว 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนึ่งลิตร • ห้ามผสมน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคที่มีสารฟอกผ้าขาวกับแอมโมเนียหรือน้ำยาเช็ดกระจก   ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อรา 1. สวมถุงมือยางชนิดหนา และสวมหน้ากากปิดจมูกก่อนทำงาน2. ทำความสะอาดพื้น/ผนัง โดยการขัดและล้างด้วยผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกออก3. เทน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคใส่ขันหรือภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราให้ชุ่ม เช็ดเชื้อราและคราบสกปรกที่ติดบนผนัง ออกให้หมด โดยระวังไม่ให้ราฟุ้งกระจาย ให้เช็ดไปในทิศทางเดียว เพื่อป้องกันราลุกลามไปยังบริเวณอื่น4. เช็ดให้ทั่วบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด ไม่ควรนำผ้าที่เช็ดแล้วกลับมาใช้ใหม่5. เปลี่ยนน้ำยาเมื่อน้ำยาชุดแรกสกปรก6. ฉีดพ่นน้ำยาด้วยหัวฉีดแบบฝอยหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราเช็ดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อราที่อาจหลงเหลืออยู่ จนน้ำยาแห้ง7. ฉีดน้ำยาหรือเช็ดด้วยฟองน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง นานสามอาทิตย์ จนมั่นใจว่า ผนังและพื้นปราศจากเชื้อรา ทิ้งผนังไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ก่อนทาสีใหม่   การจัดการความชื้นภายในบ้านและทำบ้านให้แห้งหลังจากทำความสะอาดและจัดแยกวัสดุแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลุกลาม เนื่องจากเชื้อราสามารถเติบโตและก่อให้เกิดปัญหาได้ใหม่ภายในเวลาสองถึงสามวันหากภายในบ้านยังมีความชื้นอยู่ การกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งสามารถดำเนินการได้ดังนี้ • ใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวบ้านให้ทั่ว• เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วเพื่อดูดไล่ความชื้นออกจากห้อง• เปิดเครื่องดูดความชื้น  (Dehumidifier) เพื่อช่วยดูดความชื้นจากวัสดุภายในบ้าน   ที่มาของข้อมูลคู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค: กรณีรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ในปัจจุบัน มีสินค้าหลายชนิดที่อยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก   สินค้าชนิดเดียวกันมีความหลากหลายทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ   บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ต่างมุ่งที่จะขายสินค้าหรือบริการของตนโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด  มีการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบเพื่อให้สินค้าสามารถขายและแข่งขันได้ การประชาสัมพันธ์สินค้ามักมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคเห็นความดีและประโยชน์ของสินค้าแต่เพียงด้านเดียวจึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเนื่องจากขาดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เช่น ไม่แจ้งผลข้างเคียงของการใช้สินค้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง หรือได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับราคาหรือสินค้า มีผลข้างเคียงอื่นๆ  อันเป็นเหตุให้ผู้บริโภคสูญเสียเงินจำนวนมาก  ในประเทศที่พัฒนาแล้ว  ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของผู้บริโภค  และเห็นว่าประชาชนควรจะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป บางประเทศรัฐบาลสนับสนุนองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้ทดสอบสินค้าที่มีอยู่ตามท้องตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงในด้านต่างๆของสินค้านั้น  รวมทั้งเผยแพร่ผลการทดสอบสินค้าและให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าแก่ผู้บริโภค  ตัวอย่างองค์กรในประเทศเยอรมนีที่ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ ในประเทศเยอรมนีชื่อว่า สมาคมยานยนต์แห่งประเทศเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobil Club: www.adac.de)  หน้าที่ ที่สำคัญขององค์กรนี้คือ การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ โดยจะทำการทดสอบรถยนต์ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด โดยจะทำการทดสอบและให้ข้อมูลแก่ผุ้บริโภคโดยละเอียดมาก เช่น เทคนิคและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ลักษณะของตัวรถทั้งภายในและภายนอก ลักษณะของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ความปลอดภัย  การขับเคลื่อนของรถ และราคา ยกตัวอย่างผลการทดสอบรถยนต์ รุ่น Chevrolet  Aveo 1.4 (ดูเอกสารแนบประกอบ)   นอกจากนี้  ยังได้ทำข้อมูลในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุง ดูแลรักษารถยนต์ การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดจากรถยนต์ วิธีการขับรถที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน  มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนที่เป็นปัจจุบัน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ทดสอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถยนต์ และศูนย์ให้บริการของรถยนต์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น  น้ำมัน ที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก  ยาง เบรก ฯลฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในเรื่องการขับรถยนต์แก่คนพิการ   สำหรับประเทศไทย การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 61 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค อีกทั้งยังกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาหน่วยงานของรัฐในการตรวจตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย ซึ่งได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการเสนอร่างโดยคณะรัฐมนตรี ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวนทั้งหมด 7 ร่าง   ผ่านการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระ และกำลังพิจารณาแปรญัตติอยู่ในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ก็ได้มีการประกาศยุบสภาไปก่อน ทำให้ตอนนี้ ร่าง พรบ.ดังกล่าว ต้องได้รับคำรับรองยืนยันจากนายกรัฐมนตรี จึงจะพิจารณาร่าง พรบ.ดังกล่าวต่อไปได้ และจากรายงานสถิติการร้องเรียนในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ มากที่สุด โดยมีผู้ร้องเรียนถึง 7752 ราย (โพสต์ ทูเดย์ 18 กันยายน 2554) จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิเป็นวงกว้าง  หากสังคมไทยมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระทั้ง 7 ด้าน คือ   1ด้านการเงินและการธนาคาร2 ด้านการบริการสาธารณะ3 ด้านที่อยู่อาศัย4 ด้านบริการสุขภาพ5 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป6 ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม7ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ  จะช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและป้องกันการการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในวงกว้างได้ โดยเฉพาะกรรมการที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั่วไป ที่จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดสอบรถยนต์ เหมือนกับที่องค์กรผู้บริโภคของหลายๆประเทศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ เพื่อช่วยผู้บริโภคการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ ได้อย่างคุ้มค่า เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ในระยะยาวหากมาตรฐานสินค้ารถยนต์ในประเทศสูงขึ้น ก็จะช่วยทำให้ยกระดับมาตรฐานของรถยนต์ในประเทศไทยสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางอ้อม เหมือนกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเยอรมัน ที่เป็นผลมาจากนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกที่ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 มาตรฐานขวดนมเด็ก: ถึงเวลาที่ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ เด็กและทารก เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเฉพาะเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการเลือกซื้อ โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่อง ขวดนม  เนื่องจากเด็กและทารกมีระดับความต้านทานต่อสารพิษได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกว่า การเพิ่มระดับการป้องกันในเชิงกฎหมายที่เข้มข้นกว่าสินค้าทั่วๆ ไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การออกกฎหมายหรือมาตรฐานสินค้านั้นใช้เวลานานและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บทความนี้จะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กและทารก ความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมี Bisphenol A ที่ยุโรปมีออกมาตรการที่เข้มที่สุด คือ คำสั่งห้ามผลิต ห้ามและห้ามจำหน่าย การป้องกันอันตรายจากสารเคมี และผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ตลอดจนมาตรการในการจัดการของหลายๆ ประเทศ เรื่องความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมเด็ก ซึ่งหลายๆประเทศ ได้ห้ามการจำหน่ายสินค้าประเภทขวดนมเด็ก หากตรวจพบสารเคมี Bisphenol A  จริงๆ แล้ว องค์กรผู้บริโภคในประเทศยุโรปได้เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามผลิต และห้ามขายขวดนมที่มีสาร Bisphenol A มานานแล้ว จนกระทั่งในระดับประเทศ คือ ประเทศฝรั่งเศส และ เดนมาร์ค เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เริ่มสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายก่อน และในที่สุดกรรมาธิการยุโรปด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกรงว่าจะเกิดการลักลั่นกัน ในประเทศสมาชิก จึงได้มีคำสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายในประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554  สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมกับผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารเคมีอันตรายแอบแฝงอยู่ และสำหรับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการอย่างรีบด่วนที่สุด เพื่อยกระดับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย   Bisphenol A ภัยร้ายในขวดนมบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A) เป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตโพลีคาร์บอเนต หรือพลาสติกแบบใส เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ 50 อันดับแรกที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บิสฟีนอลเอ พบได้ในสินค้าบริโภคหลากหลายชนิดรวมถึงขวดนมพลาสติกแบบใส ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและเพื่อการบริโภคอีกหลายสิบชนิดที่มีสารบิสฟีนอลเอ เช่น ขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้บางประเภท กล่องบรรจุอาหารที่ใช้ในไมโครเวฟได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หมวกกันน็อคใส่เล่นกีฬา เลนส์แว่นตา ฯลฯ ยังพบ บิสฟีนอลเอ ได้ใน อีพ็อกซี่เรซิน ที่พบในวัสดุอุดฟันสีขาว วงจรพิมพ์สีทาบ้าน กาว สารเคลือบในกระป๋องโลหะที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังพบว่า บิสฟีนอลเอ เป็นสารเจือปนในพลาสติกประเภทอื่นที่ใช้ในการผลิตของเล่นเด็กด้วย   บิสฟีนอลเอก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร จากการศึกษาและรายงานผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับ บิสฟีนอลเอ แสดงให้เห็นว่า บิสฟีนอลเอ สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยพันธุกรรมหลายร้อยหน่วย ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบางชนิดและขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาที่ได้รับ อีกทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด บ่งชี้ว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ภาวะอ้วนผิดปกติ ภาวะไม่อยู่นิ่ง เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำนวนอสุจิลดลง และการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ   กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก เด็กที่กำลังเจริญเติบโตมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติของเด็กมักจะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งเหล่านั้น เด็กได้รับสารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านรกในร่างกายของมารดาที่ตั้งครรภ์ได้ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดการได้รับสาร บิสฟีนอลเอ ระหว่างช่วงที่มีพัฒนาการจะไม่แสดงออกมาในขณะนั้น แต่จะปรากฏอาการภายหลังการได้รับสารดังกล่าวหลายปี ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันเด็กไม่ให้เด็กได้รับสาร บิสฟีนอลเอ จากผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน   บิสฟีนอลเอสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดในการเรียงโครโมโซม บิสฟีนอลเอเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเรียง โครโมโซมผิดพลาด ในปี 2003 ดร.แพท ฮันท์ และทีมงานได้ค้นพบว่า บิสฟีนอลเอ สามารถทำให้โครโมโซมเรียงตัวกันผิดพลาดได้ ถึงแม้จะได้รับในปริมาณที่ต่ำมากก็ตาม โดยปกติเซลล์สืบพันธุ์จะแบ่งเป็นสองเซลล์เมื่อสร้างไข่ แล้วแบ่งโครโมโซมเท่าๆ กันระหว่างเซลล์ลูกแต่ละเซลล์ เซลล์พวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์ และเมื่อผสมกับอสุจิ จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น ดร.ฮันท์ แสดงให้เห็นว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ จะส่งผลให้โครโมโซมไม่สามารถจัดเรียงอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเรียงลำดับโครโมโซมผิดพลาดคล้ายกับที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)    ขัดขวางพัฒนาการทางสมอง ในการศึกษาส่วนมาก พบว่า บิสฟีนอลเอเลียนแบบการทำงานของเอสโตรเจนในการพัฒนาประสาท อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนของสมอง บิสฟีนอลเอ มีผลในการขัดขวางกิจกรรมของเอสโตรเจน ซึ่งปกติจะเพิ่มการเจริญเติบโตและควบคุมการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทด้วยเหตุนี้ บิสฟีนอลเอจึงมีสมบัติคล้ายคลึงกับ ทาม็อกซิเฟน ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม คือกระตุ้นการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อบางประเภท และขัดขวางการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่ออื่นๆ จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากบิสฟีนอลเอ คือ สารบิสฟีนอลเอ เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และความทรงจำ นอกจากนี้ บิสฟีนอลเอยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองหรือทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองในเวลาที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น จากการที่บิสฟีนอล เอเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสมอง จึงนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงมากมาย เช่น   ภาวะไม่อยู่นิ่ง : ดร.มาซาโตชิ โมริตะและทีมงานที่สถาบันศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่า การให้สารบิสฟีนอลเอ 30 g/kg/วัน กับหนูอายุ 5 วันเพียงครั้งเดียว ทำให้หนูมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าการได้รับสารบิสฟีนอลเอ เปลี่ยนแปลงระบบส่งสัญญาณโดปามีนที่พัฒนาในเซลล์สมอง ส่งผลให้ตัวรับและตัวส่งโดปามีนน้อยลง โดปามีนเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทที่สำคัญในสมอง และการสูญเสียประสาทที่ผลิตโดปามีนเกิดขึ้นในโรคพาร์กินสัน เพิ่มความก้าวร้าว : การได้รับสารบิสฟีนอลเอที่ปริมาณ 2 – 40 g/kg/วัน ทำให้ทารกหนูเพศผู้ในครรภ์มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่ความเข้มข้นของเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น   บทสรุปและข้อเสนอแนะ ปัจจุบันผู้บริโภคมีข้อมูลไม่มากนักที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจเวลาซื้อสินค้าสำหรับครอบครัว  การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองสุขภาพและสามารถเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  ในส่วนของผู้ผลิตเองควรมีการติดฉลากในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือมีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ นอกเหนือจากการระบุชื่อส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแล้ว ความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวควรจะมีการอธิบายไว้บนผลิตภัณฑ์ด้วย   ในหลายประเทศได้มีการตระหนักถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ของ บิสฟีนอลเอ จนมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น คณะกรรมาธิการด้านนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศห้ามบริษัทผู้ผลิตขวดนมสำหรับเด็กใช้สารเคมีบิสเฟอนอล-เอ (บีพีเอ) เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าพลาสติกทั้งหมด โดยประกาศห้ามจะมีผลบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป องค์การการกุศลด้านเด็กและครอบครัว (NCT) ประเทศอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ติดป้ายแสดงส่วนประกอบที่ใช้ผลิตขวดนมว่ามีสารพิษที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยเองเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในขวดนมพลาสติกขึ้นมาบ้าง  องค์กรภาครัฐเริ่มขยับ แต่ถ้ามองจากผู้บริโภค และผู้ปกครองแล้ว กว่าจะมีประกาศห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายนั้น คงจะใช้เวลาอีกนาน  ดังนั้นการเลือกซื้อขวดนม ขอให้เลือกจากผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากว่า ปลอด Bisphenol A อย่าเห็นแกของถูก ควรศึกษาหาความรู้ในด้านวิธีการใช้งานขวดนมพลาสติกที่ถูกต้องและปลอดภัย จากแหล่งข้อมูล ที่เชื่อถือได้ และคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพสวัสดิภาพของเด็กมากกว่าประโยชน์ทางการค้า ก็จะช่วยเด็กไทยให้มีความปลอดภัยจากสารเคมี   ---------------------------------------------------------------------------------------------- การเลือกขวดใช้ขวดนมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กควรเลือกขวดนมพลาสติกที่ปราศจาก Bisphenol A ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ ตามรูป หรือขวดนมแก้ว ขวดนมพลาสติกเกือบทั้งหมดผลิตจากโพลีคาร์บอเนตพลาสติกที่มี บิสฟีนอลเอ เพียงแค่การล้าง 50-100 ครั้ง ปริมาณของบิสฟีนอลเอ จำนวนมากสามารถรั่วออกมาปนเปื้อนสู่นมของเด็กเล็กๆ ได้ วิธีการหลีกเลี่ยง คือ เปลี่ยนไปใช้ขวดนมแก้วสำหรับการใช้งานของทารก หากยังจำเป็นต้องใช้ขวดนมพลาสติก เวลาที่จะล้างทำความสะอาดให้หลีกเลี่ยงน้ำยาล้างจานที่ความเข้มข้นสูง หรือน้ำร้อนเวลาที่ล้าง เพื่อลดการรั่วไหลของสาร BPA อย่าใส่ขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือ ในเครื่องล้างจาน และให้ทิ้งขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือจานชามพลาสติกที่เริ่มมีรอยขีดข่วนหรือขุ่นมัว และห้ามทิ้งนมไว้ในขวดพลาสติกเป็นเวลานาน บทความนี้ ได้จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาเวบไซต์ เพื่อการทดสอบสินค้า ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอนุกรรมการทดสอบและพิสูจน์สินค้า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 การแลก เปลี่ยน และคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในยุโรป

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ผู้บริโภคทุกคนคงจะเคยเกิดปัญหานี้ขึ้นกับตนเสมอ คือการซื้อสินค้าแล้วต่อมาพบว่าสินค้าที่เราซื้อมานั้นชำรุดและบกพร่อง หลายท่านอาจจะนำสินค้าไปคืน หรือขอเปลี่ยนสินค้าใหม่ บางครั้งก็อาจเปลี่ยนสินค้าได้ในกรณีที่โชคดี ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ตระหนักในสิทธิของผู้บริโภค บางครั้งก็โชคร้ายผู้ประกอบการไม่ยอมรับคืนสินค้าให้ แต่จะขอนำสินค้านั้นไปซ่อมแซมแก้ไขให้ ซึ่งบางครั้งก็ใช้ระยะเวลาในการซ่อมสินค้านานมาก แถมยังผ่อนชำระสินค้านั้นไม่หมดเลย ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรารู้สึกหงุดหงิด คิดว่าว่าซื้อสินค้าใหม่แกะกล่องแล้ว ยังต้องมานั่งทนกับของที่ไม่น่าที่จะต้องมีข้อบกพร่องเลย จะไปฟ้องร้องก็ยังติดในเรื่องของมูลค่าสินค้า ที่อาจจะไม่คุ้มกับค่าเดินทางและค่าเสียเวลา หลายๆ กรณีก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า ผู้ประกอบการสามารถที่จะแก้ไขสินค้าที่มีข้อชำรุดบกพร่องนี้ได้นานเท่าไหร่ ผู้บริโภคถึงมีสิทธิคืนสินค้าได้ มาดูมาตรการการคืนสินค้าในประเทศเยอรมนีบ้างว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร  องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเบอร์ลินได้ให้ข้อมูลในกรณีของการซื้อสินค้าแบบปรกติ และกรณีซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และTelesales โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้า เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคดังนี้  1. ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนคืนสืนค้า ในกรณีที่ชำรุดบกพร่องได้ ในกรณีที่สินค้า ชำรุด บกพร่อง สามารถ reclaim ได้ ซึ่งในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่อง และผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะซ่อมแซมสินค้าให้กลับมาใช้งานได้ตามปรกติ แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจลองพยายามซ่อม ถึง 2 ครั้งแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นได้ ผู้บริโภคสามารถขอคืนสินค้า และขอเงินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้น คืนได้(Wandlung) นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้อีกเช่นกันว่าจะไม่คืนสินค้า แต่สามารถต่อรอง เพื่อขอเงินคืนบางส่วนที่เกิดจากสินค้าชำรุดบกพร่องได้(Minderung) กฎเกณฑ์นี้ใช้กับการซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต การสั่งซื้อผ่านทางโทรศัพท์(Telesale) และการสั่งซื้อสินค้าตามแคตตาลอก ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิคืนสินค้าภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ถึงแม้ว่าสินค้าที่สั่งซื้อนั้นจะไม่มีข้อชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เห็นสินค้าของจริงก่อนซื้อ เหมือนกับการซื้อของตามห้างร้าน สินค้าที่โฆษณาในอินเตอร์เน็ต บนแคตตาลอก อาจจะไม่เหมือนกับสินค้าจริงๆ กฎหมายจึงให้สิทธิผู้บริโภคในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่องก็ตาม สำหรับในประเทศเยอรมนีนั้น อัตราการคืนสินค้าจากการซื้อขายด้วยวิธีดังกล่าวประมาณ 30- 50 %  2.ไม่มีใบเสร็จ ก็สามารถคืนสินค้าได้  ในกรณีที่ซื้อสินค้า แล้วทำใบเสร็จรับเงินหาย ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้หากมีพยานให้การรับรองว่าได้ซื้อสินค้ามาจริง หรือมีหลักฐานการจ่ายเงินอย่างอื่น เช่น หลักฐานการโอนเงิน หรือสลิปบัตรเครดิต  3. การคืนสินค้านั้น ไม่จำเป็นต้องบรรจุสินค้าลงในกล่องบรรจุภัณฑ์ หรือหีบ ห่อ ให้เหมือนกับตอนที่ซื้อสินค้ามา  4. การเปลี่ยนคืนสินค้า ที่อยู่ในกลุ่ม built in เช่น เครื่องล้างจาน เตาอบ เตาไมโครเวฟ หรือแม้แต่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตกแต่งในบ้าน เช่น wall paper หากสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้จำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบค่าแรง ค่ารื้อถอน ค่าติดตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจากสินค้าชำรุดบกพร่องนั้นด้วย(คำตัดสินของศาลแห่งสหภาพยุโรป EuGH) ซึ่งจะมีระยะเวลาของการรับประกัน 2 ปี หากพ้นกำหนด 2 ปีแล้วสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบางส่วนที่เกิดขึ้น 5. ถึงแม้นจะเป็นสินค้าลดราคา ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การรับประกันสินค้าที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ และในการซื้อสินค้าที่ได้ระบุแล้วว่าเป็นสินค้ามีตำหนิ เช่น การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคา ถ้าผู้บริโภคทราบแล้วว่าสินค้าที่ลดราคานั้นเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามีรอยขีดข่วน แต่ถ้าสินค้านั้น เกิดความชำรุดบกพร่องอย่างอื่นในภายหลัง การแลกเปลี่ยนคืนสินค้า ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน แต่ไม่สามารถนำสินค้าที่ซื้อแล้วมาแลกคืนเพราะรอยขีดข่วนนั้นได้ 6. ในกรณีซื้อสินค้าแล้วเกิดการชำรุดบกพร่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งตามกฎหมายผู้บริโภคเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโต้แย้งว่า สินค้าตอนที่ส่งมอบนั้นอยู่ในสภาพปรกติ ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ แต่หลังจากเกินกว่า 6 เดือนแล้วภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค 7. กรณีที่มีความผิดพลาดของคู่มือการใช้งาน จนทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายกับสินค้า เช่น ในกรณีของคู่มือการประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่อธิบายวิธีการประกอบที่ผิด และผู้บริโภคก็ได้ปฏิบัติตามคู่มือนั้น ในกรณีเช่นนี้สามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจ รื้อเฟอร์นิเจอร์และต้องประกอบให้ผู้บริโภคด้วย และถ้าไม่สามารถแก้ไข หรือ ซ่อมแซมได้ ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อธิบายไว้แล้ว ต่อรองขอเงินคืนบางส่วน(Minderung) หรือคืนสินค้า(Wandlung)   ก็หวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเกิดขึ้นมาในประเทศไทย จะช่วยปรับปรุงมาตรการคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในประเทศไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ----  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่องมาตรการจัดการสินค้าชำรุดบกพร่อง สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในโครงการวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้โครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (จำลอง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ตัวร้าย.... E. coli ??

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ   E. coli หรือชื่อจริงว่า Escherichia coli เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Theodor Escheric เมื่อปี ค.ศ. 1885 ส่วนคำว่า coli นั้น มาจากภาษาละตินแปลว่าลำไส้ใหญ่ (colon) E. coli เป็นแบคทีเรียในกลุ่ม coliform รูปแท่งมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1-2 ไมครอน (1 ไมครอนคือ 1 /1000 มม.) E. coli มีมากกว่า 700 สายพันธุ์ ปกติอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์เลือดอุ่นเช่นในคน วัว ควาย เป็นต้น ไม่ก่อให้เกิดโรค จัดเป็นเชื้อประจำถิ่น (normal flora) อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์แบบให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยที่มนุษย์จะเป็นผู้ที่ให้อาหารแก่ E. coli และ E. coli จะสร้างวิตะมินบางชนิดเช่นวิตะมิน K ให้แก่คน รวมทั้งป้องกันแบคทีเรียที่ก่อโรคอื่นๆ ที่จะมาเกาะลำไส้ ว่าไปแล้ว E. coli จึงน่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์เสียมากกว่า แล้วเหตุใดจึงจงเกลียดจงชัง E. coli กันมากนัก   เนื่องจากบริเวณที่พบ E. coli อยู่ในลำไส้ใหญ่ ในอุจจาระจึงมี E. coli ปนเปื้อนออกมาด้วยเสมอ ดังนั้น การพบ E. coli ในอาหาร จึงอาจหมายถึงอาหารนั้นปนเปื้อนอุจจาระ แม้ว่าโดยปกติแล้ว E. coli ที่พบปนเปื้อนในอาหารนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เป็นไปได้ว่า ยังมีแบคทีเรียอื่นที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงอื่นที่ปะปนมากับอุจจาระ ปนเปื้อนในอยู่อาหารนั้นได้ด้วย ปัจจุบันใช้ E. coli เพื่อเป็นดัชนีบ่งชี้สุขลักษณะของอาหารหรือน้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้ประกาศในกฎกระทรวงหลายฉบับเพื่อกำหนดมาตรฐานอาหารและน้ำดื่มชนิดต่างๆ จะต้องไม่พบ E. coli อยู่เลย (แต่ผู้เขียนเชื่อว่าน้ำแข็งบด นั้นน่าจะต้องมีเชื้อ E. coli ปนเปื้อนอยู่ด้วยแน่นอน)   นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า E. coli นอกคอกที่ร้ายกาจเหล่านี้เกิดมาจาก E. coli สายพันธุ์ปกติที่อยู่ในคนป่วยเป็นโรคบิดไม่มีตัว(โรคบิดที่เกิดจากแบคทีเรีย) ยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารพิษของเชื้อบิดได้ถ่ายมายัง E. coli สายพันธุ์ปกติ ทำให้เกิดกลายพันธุ์ไปเป็น E. coli สายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงมากขึ้น    ทีนี้ยังมี E. coli นอกคอกอยู่จำนวนหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้ เช่น E. coli สายพันธุ์ O157:H7 ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน เป็นอันตรายถึงชีวิตในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เชื้อ E. coli พวกนี้จะสร้างสารพิษที่เรียกว่า ชิก้าทอกซิน (Shiga toxin)   ซึ่งคล้ายกับสารพิษที่ผลิตจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบิดซึ่งมีผลต่อลำไส้ ทำให้เลือดออกในลำไส้ใหญ่ จึงเรียกว่าเป็นพวก Enterohemorrhagic E. coli (EHEC) นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า E. coli นอกคอกที่ร้ายกาจเหล่านี้เกิดมาจาก E. coli สายพันธุ์ปกติที่อยู่ในคนป่วยเป็นโรคบิดไม่มีตัว(โรคบิดที่เกิดจากแบคทีเรีย) ยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารพิษของเชื้อบิดได้ถ่ายมายัง E. coli สายพันธุ์ปกติ ทำให้เกิดกลายพันธุ์ไปเป็น E. coli สายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงมากขึ้น E. coli ที่ก่อโรครุนแรงเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะที่ทำให้พวกมันก่อโรคได้รุนแรงและระบาดได้ง่าย   เช่น สามารถอยู่ได้นานหลายสัปดาห์บนพื้นผิวต่างๆ หรือถ้าบริเวณนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น กองขยะ อาจอยู่ได้นานนับปี การก่อให้เกิดโรคใช้เพียงเชื้อไม่กี่ตัว(น้อยกว่า 50 ตัว) และเชื้อยังสามารถเกาะติดผนังลำไส้ได้ดี จึงทำให้เชื้ออยู่ในร่างกายเราได้นานและสร้างสารพิษได้   การระบาดของของ E. coli สายพันธุ์ O157:H7 เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว การระบาดมักเกิดจากอาหารที่ปนเปื้อนมูลของสัตว์ เช่น จากเนื้อดิบ นมดิบ ผัก ผลไม้ต่างๆ เป็นต้น อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 1992 การระบาดเกิดจากการแฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อวัวที่ปรุงไม่สุก หรือในปี ค.ศ. 1996 ในประเทศญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อจากการกินหัวไชเท้าดิบ เป็นต้น นอกจากสายพันธุ์ O157:H7 แล้วยังมีสายพันธุ์อื่นที่ระบาดอีกด้วยเช่นสายพันธุ์ O121:H19 เป็นต้น ปัจจุบันนี้ E. coli สายพันธุ์ O104:H4 เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในเยอรมนีตอนเหนือ และมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 30 คน และเกือบ 700 คนรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด ยังไม่มีข้อสันนิษฐานที่แน่ชัดถึงที่มาของเชื้อ แต่เบื้องต้นเชื่อกันว่าเชื้อปนเปื้อนมากับถั่วงอก    สำหรับคนไทย แม้ว่าจะอยู่ไกลจากแหล่งระบาด แต่ยังคงต้องระวังเช่นกัน โรคท้องเสียที่เกิดจาก E. coli จะไม่ติดต่อได้ง่ายเท่าโรค SARS หรือไข้หวัดนก เนื่องจากเชื้อ E. coli จะติดต่อได้โดยการกินเชื้อเข้าไปเท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ปรุงสุกทั่วถึง หลีกเลี่ยงผักสด ผักดิบหรือต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน    เอกสารประกอบการเรียบเรียงhttp://www.about-ecoli.com/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 ข้อแนะนำสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารก (2)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ บทความฉบับนี้จะต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วนะครับ เป็นบทความที่ผมเคยเรียบเรียงและได้ พิมพ์แจกในงาน สัมมนาวิชาการ ระดับชาติเรื่องชุมชนปลอดภัย  ครั้งที่ 2 “ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2554 จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังและจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ข้อมูลเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อพ่อ แม่และครูพี่เลี้ยงเด็ก ในการหลีกเลี่ยงของเล่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะของเล่นที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายแอบแฝงอยู่ ลองนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อของเล่นให้กับเด็กๆ กัน ครับ   การเลือกซื้อของเล่นประเภทต่างๆ ตุ๊กตาตุ๊กตามีสารเคมีอันตรายได้หลากหลาย  เนื่องจากผลิตจากพลาสติก กำมะหยี่และอุปกรณ์ยัดไส้  ใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับหรือมีส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์  การทดสอบโดยองค์กรผู้บริโภคของเยอรมัน (Stiftung Warentest) ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีตุ๊กตา 42 จาก 50 ตัว พบสารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมากเกินระดับกว่าที่มาตรฐานกำหนด   คำแนะนำ• หลีกเลี่ยงการซื้อตุ๊กตาตัวเล็ก  เพราะมันถูกจัดอยู่ในประเภทของตกแต่งและไม่ต้องทำตามข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับสารเคมี• ซื้อตุ๊กตาผ้าหรือตุ๊กตาที่เป็นธรรมชาติที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว• ซักล้างตุ๊กตายัดไส้ก่อนใช้   ตุ๊กตาหมี ตุ๊กตาหมีเป็นของเล่นกำมะหยี่และจัดเป็นของเล่นที่ยัดไส้ด้วยเส้นใย  ของเล่นที่มีขนยาวหรือขนสังเคราะห์มักจะประกอบไปด้วยสารหน่วงการติดไฟที่เป็นพิษและแพ้ได้ง่าย รวมถึงเส้นใยที่เด็กๆ สามารถกลืนได้  สำหรับ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หาดูได้ที่นิตยสารผู้บริโภค และระบบแจ้งเตือนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยผ่านทางเวบไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (http://upvac.ocpb.go.th) คำแนะนำ• มองหาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ หรือผู้ผลิตที่ไร้สารเคมีที่เป็นพิษ  เช่น ฉลาก GS  ฉลากเขียว และฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ• ซักของเล่นและตากให้แห้งก่อนใช้• หลีกเลี่ยงของเล่นที่ได้ฟรีหรือเป็นของแถมจากการจัดรายการต่างๆ   ของเล่นไม้ ของเล่นไม้มีหลากหลายประเภท รวมถึงตัวต่อ  บล็อกก่อสร้าง  บ้านตุ๊กตา  และร้านของเล่นและฟาร์ม เป็นต้น  ของเล่นไม้เรียบๆ ที่ไม่ได้ทาสีมักจะปลอดภัย  แต่ของเล่นไม้บางอย่างอาจเป็นอันตรายได้  ไม่มีตัวต่อไม้ชนิดไหนเลยที่ผ่านการทดสอบสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน ในเดือนพฤศจิกายน 2008  ของเล่นไม้ที่มีกาวเป็นส่วนประกอบ  มีแนวโน้มที่จะมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์  ผู้ปกครองควรระวังสารชักเงาและสีที่มีตะกั่วและสารโลหะหนักอื่นๆ  คำแนะนำ• ซื้อของเล่นไม้ที่มีส่วนที่ติดกาวให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้• ซื้อของเล่นที่ไม่เคลือบเงาและไม่ทาสีทุกครั้งที่เป็นไปได้ และมองหาชิ้นส่วนธรรมชาติ  พลาสติก ของเล่นพลาสติกแบบอ่อน เช่น ของเล่นยางสังเคราะห์ บอลลูน  ของเล่นอาบน้ำแบบอ่อน เป็นต้น  มีสารพทาเลต (Phathalate) ที่ส่งผลต่อฮอร์โมน  มีข่าวเตือนอันตรายหลายครั้งทั้งในระดับโลกและในยุโรป  ในปี 2004 มีการค้นพบว่าตัวตุ๊กตาที่ทำจากยางยี่ห้อสคูบี้ดู (ดูรูปประกอบ) มีสารพทาเลตมากถึง 50%  ทำให้ของเล่นพลาสติกแบบแข็งปลอดภัยกว่าเพราะไม่ได้ใช้สารพทาเลต  อย่างไรก็ตาม ของเล่นพลาสติกอาจจะมีสารโลหะหนักและสารพิษอื่นๆปนเปื้อนแฝงอยู่  รูปแสดงตุ๊กตาที่ทำจากยางยี่ห้อ Scoubidou ที่มีสารพทาเลตสูงจนต้องสั่งเก็บจากตลาด   คำแนะนำ • เลือกของเล่นที่เป็นยางธรรมชาติ• มองหาฉลาก  “ปลอดพีวีซี PVC-Free” หรือ “ปลอดสารพทาเลต Phathalate-Free”• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง  ตารางสรุปแสดงรายการสารเคมีอันตรายที่พบอยู่ในของเล่นเด็ก สารเคมีอันตราย ผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพ Aniline   อนิลีน Very toxic, carcinogenic and mutagenic เป็นพิษมาก, ก่อให้เกิดมะเร็งและก่อให้เกิดการกลายพันธุ์  Bisphenol-A   บิสฟีนอล-เอ Disrupts the reproductive and hormone system, and increases cancer risk ทำให้ระบบสืบพันธุ์และระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง Brominated Flame Retardants   สารหน่วงกันไฟ   Disrupts development and the hormone system, toxic to the reproductive system ทำให้พัฒนาการและระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ Cadmium  แคดเมียม Carcinogenic, toxic by inhalation, impaires fertility, disrupts development of child’s brain ก่อให้เกิดมะเร็ง  ได้รับพิษจากการสูดดม  ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง  หยุดพัฒนาการทางสมองของเด็ก Chlorinated paraffins   คลอริเนเตท พาราฟิน Carcinogenic, disrupts the hormone system ก่อให้เกิดมะเร็ง  ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน Chromium    โครเมียม Carcinogenic, mutagenic, toxic: causes severe burns, impaires fertility ก่อให้เกิดมะเร็ง  ก่อให้เกิดการกลายพันธ์  ทำให้เกิดอาการไหม้รุนแรง  ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง Formaldehyde  ฟอร์มัลดีไฮด์ Carcinogenic, mutagenic and toxic to reproduction ก่อให้เกิดมะเร็ง  ก่อให้เกิดการกลายพันธ์  และเป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์  Lead   ตะกั่ว Carcinogenic and impaires fertility. Effects on the developing brain ก่อให้เกิดมะเร็ง  ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  มีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง Nonylphenol   โนนิลฟีนอล Disrupts the hormone system ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน Organotin  ออกาโนติน Carcinogenic, disrupts the hormone system and fertility ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธ์หยุดทำงาน Perfluorinated chemicals  เพอฟลูออริเนตเคมิคัล Carcinogenic, disrupts fertility ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบสืบพันธ์หยุดทำงาน  Phthalates (softeners)  พทาเลต (สารทำให้อ่อนตัว) Disrupts development and the hormone system. Impaires fertility พัฒนาการและระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง Triclosan  ไตรโคลซาน Very toxic to aquatic life, disrupts the hormone system เป็นพิษมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 ข้อแนะนำสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารก (1)

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ บทความฉบับนี้ผมได้เรียบเรียงและได้พิมพ์แจกในงาน สัมมนาวิชาการ ระดับชาติเรื่องชุมชนปลอดภัย ครั้งที่ 2 “ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัย” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2554 จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังและจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อพ่อ แม่และครูพี่เลี้ยงเด็ก ในการหลีกเลี่ยงของเล่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะของเล่นที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายแอบแฝงอยู่ จึงขออนุญาตนำเสนอในคอลัมน์ช่วง ฉลาด ช้อป เพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบและใช้เป็นประโยชน์ในการเลือกหาของเล่น ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กเล็กต่อไปครับ  ของเล่นสำหรับเด็กและทารก ของเล่นเป็นจำนวนมากผลิตจากสารสังเคราะห์ที่รู้กันดีว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ  สารเหล่านี้รวมถึงสารทำให้อ่อนตัวที่ใช้ในของเล่นพลาสติกซึ่งทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  ฟอร์มัลดีไฮด์ที่ใช้ในการเชื่อมตัวต่อไม้ ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง  หรือสารหน่วงกันไฟในตุ๊กตาหมีที่สามารถเป็นพิษต่อพัฒนาการของร่างกาย   การทดสอบที่เป็นอิสระต่อกันยืนยันว่าสารเคมีอันตรายเกือบทั้งหมดสามารถใช้ตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าทดแทนได้  ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายเรื่องสารเคมีในยุโรปและระเบียบเรื่องของเล่นที่ใช้ในสหภาพยุโรป และระเบียบสารเคมีของสหภาพยุโรปตลอดจนมาตรฐานต่างๆ อยู่ก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงยังไม่สามารถคุ้มครองเด็กๆ ได้มากพอ  เพราะสารเคมีอันตรายยังได้รับอนุญาตให้มีอยู่ในผลิตภัณฑ์  ยิ่งกว่านั้น  ผู้ผลิตของเล่นไม่จำเป็นต้องระบุรายชื่อสารเคมีที่ถูกใช้ในการผลิตของเล่น  ถึงแม้จะมีสารเคมีอันตรายอยู่ก็ตาม   เอกสารฉบับนี้ช่วยคุณพ่อและคุณแม่ ตลอดจนครูพี่เลี้ยงได้อย่างไรมีฉลากที่ได้รับการทดสอบสองสามชนิดและไม่มีข้อบังคับเรื่องการติดฉลากสารเคมีที่เป็น “ส่วนประกอบ” ในของเล่น  เรื่องนี้ทำให้การซื้อของเล่นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องยาก  คู่มือของเล่นของ กลุ่มสตรีในยุโรปเพื่ออนาคตร่วมกัน  (Woman in Europe for a Common Future (WECF)) องค์กรนี้เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นปากเป็นเสียงในด้านการพัฒนากฎหมายและข้อบังคับสำหรับการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารก  ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายและเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงสารเคมีเหล่านั้น  ซึ่งกำลังรณรงค์เพื่อให้ของเล่นปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย  ทั้งในภาคการเมืองและภาคผู้ผลิต  กรณีของผู้บริโภคในยุโรปนั้น การซื้อของเล่นในสหภาพยุโรป ผู้บริโภคสามารถถามผู้ขายและผู้ผลิตเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์  ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบภายใน 45 วัน  เพื่อแจ้งให้คุณรู้ว่าของเล่นชิ้นนั้นมีสารประกอบเฉพาะอยู่หรือไม่  โชคร้ายที่ข้อมูลนี้ถูกใช้บังคับกับสารประกอบบางชนิดเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตาม  ยิ่งมีลูกค้าสอบถามมากเท่าไร  ผู้ผลิตจะยิ่งเปลี่ยนนโยบายในการผลิตเร็วขึ้นเท่านั้น  ในการทำแบบนี้  เราสามารถปกป้องสุขภาพของลูกเราและส่งผลต่อผู้ผลิตได้   ทำไมเด็กถึงอ่อนไหวเป็นพิเศษ เด็กๆ มักจะอ่อนไหวต่อการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่าผู้ใหญ่  เพราะผิวหนังที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบสัดส่วนกับน้ำหนักของพวกเขา  ปริมาตรการหายใจที่สูงกว่า  และอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น  ส่งผลให้พวกเขาดูดซึมสารเคมีที่เป็นอันตรายได้มากกว่าผู้ใหญ่  ระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทของพวกเขายังอยู่ในระหว่างการพัฒนา  สารเคมีที่เป็นอันตรายยังถูกพบในเครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ  ดังนั้น เด็กๆ จะรับสารเคมีที่เป็นอันตรายหลากหลายชนิดจากแหล่งต่างๆ มากมาย  ถึงแม้จะเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะทำอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งแล้ว – ซึ่งบางครั้งส่งผลไปตลอดชั่วชีวิต   เห็นได้จากอัตราโรคภูมิแพ้และโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น   เคล็ดลับทั่วไปในการเลือกของเล่นที่ปลอดภัย• ยิ่งน้อยชิ้นยิ่งดี  ซื้อของเล่นน้อยชิ้น  โดยตั้งเป้าที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ• หลีกเลี่ยงของเล่นที่ถูกมากๆ เพราะมักจะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกว่า• อย่าซื้อของเล่นที่มีสารเคมีรุนแรงหรือกลิ่นน้ำหอมหรือของที่ให้ความรู้สึกไม่สบายเวลาที่สัมผัส• สำหรับเด็กเล็ก  ขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถดึงออกมาได้ หรือกลืนลงไปได้• แกะบรรจุภัณฑ์ของเล่นใหม่และทิ้งไว้ภายนอกอาคาร เพื่อให้สารเคมีอันตรายบางส่วนระเหยไป• หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.healthytoys.org ที่กำหนดขึ้นใหม่โดยศูนย์นิเวศวิทยาอเมริกา  • สำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  http://upvac.ocpb.go.th   ในฉบับหน้าจะแนะนำการเลือกซื้อของเล่นเป็นรายผลิตภัณฑ์ไปครับ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตา ตุ๊กตาหมี ของเล่นไม้ ฯลฯ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 เคล็ดลับการดูแลบ้านและลูกน้อยของคุณแม่ชาวยุโรป (2)

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ การทำความสะอาดบ้านของคุณสามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีในบรรยากาศภายในบ้านได้  บางครั้งอาจมีปริมาณสูงกว่าบรรยากาศภายนอกอาคารในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ สารเคมีมากมายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลบ้านนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ถูกใช้ในสารทำความสะอาดในอุตสาหกรรมที่ใช้งานหนัก  นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเริ่มที่จะกังวลว่าการได้รับสารเคมีหลายชนิดในปริมาณน้อยๆ เป็นระยะเวลายาวนาน  เหมือนที่ถูกพบในอากาศภายในบ้านและฝุ่นอาจจะทำให้มีปัญหาสุขภาพได้  การทดสอบผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ทดลองเฉพาะในสารเคมีประเภทเดียว  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง  เราทุกคนต่างก็ได้รับสารเคมีหลายชนิดในทุกๆ วัน  เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  งานทำความสะอาดบ้านส่วนมากนั้นสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมธรรมดาที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าและมีราคาถูกกว่า เช่น เบคกิ้งโซดา  น้ำส้มสายชู เกลือ น้ำมะนาว น้ำมันพืช สบู่ บอแรกซ์และโซดาซักผ้า  ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์มีอยู่เป็นจำนวนมากในตลาด  อาจประกอบไปด้วยสารก่อความระคายเคืองรุนแรง เช่น แอมโมเนียซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อไตและตับ  คลอรีนหรือที่รู้จักกันในชื่อสารฟอกขาว และสารก่อมะเร็ง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์   นอกจากนี้จะมีสารกันบูด น้ำหอมและสี  รวมถึงสารเคมีที่ทำให้ฮอร์โมนหยุดทำงาน  และสารเคมีที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง  และการหายใจติดขัด   เคล็ดลับในการใช้งาน• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับทำความสะอาดหน้าต่าง ตะแกรง เครื่องเงิน หรือเตาอบ เพราะมันอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณสูง• พึงตระหนักไว้เสมอว่าคลอรีนสามารถสร้างก๊าซคลอรีนที่เป็นพิษได้ ถ้าถูกผสมกับแอมโมเนียหรือน้ำส้มสายชู• ต้องมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอในขณะที่กำลังทำความสะอาด ไม่ควรปิดหน้าต่างขณะทำความสะอาด• ผ้าไมโครไฟเบอร์สามารถกำจัดคราบสกปรก คราบเหนียวและฝุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทำความสะอาด ผงซักฟอกประกอบด้วยสารฟอกขาว  สารสังเคราะห์ที่ให้ผ้าขาวขึ้น น้ำหอมและสารลดความตึงผิวที่ทำให้เกิดอาการแพ้  ผงซักฟอกที่ตกค้างบนเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนเป็นแหล่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง  และกลิ่นหอมที่ติดอยู่จากผลิตภัณฑ์ที่ใส่น้ำหอมสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการหายใจได้   เคล็ดลับในการใช้งาน• หลีกเลี่ยงน้ำยาปรับผ้านุ่ม  น้ำยากำจัดคราบ  น้ำยาซักผ้าที่ฆ่าเชื้อโรค  และผลิตภัณฑ์สำหรับก่อนซัก• ซักผ้าที่อุณหภูมิต่ำเพื่อประหยัดพลังงาน• ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผิวหนัง   น้ำยาล้างจาน ล้างจานด้วยมือให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และประหยัดกว่าการใช้เครื่องล้างจาน เพราะใช้น้ำและเวลาในการล้างที่น้อยกว่ามาก  น้ำยาล้างจานสำหรับเครื่องล้างจานมักจะมีฟอสเฟตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และมีสารที่ทำให้เกิดอาการผื่นคัน  น้ำยาล้างจานสำหรับการล้างด้วยมือนั้นเป็นอันตรายต่อผิวหนังน้อยกว่า   น้ำยาล้างห้องน้ำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโถส้วมจำนวนมากมักจะมีฤทธิ์กัดกร่อนและทำให้เกิดแก๊สพิษเมื่อผสมกับน้ำ  พวกมันอาจมีสาร 1,4-ไดคลอรอเบนซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อตับและไตได้  ไอระเหยกรดไฮโดรคลอริคทำให้เกิดอาการไอและหายใจลำบาก  และสารเคมีที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตา  ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ  และสามารถก่อให้เกิดก๊าซคลอรีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง   เคล็ดลับการใช้งาน• ป้องกันคราบฝั่งแน่นโดยการทำความสะอาดด้วยแปรง• ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ “น้ำยาฆ่าเชื้อโรค” หรือ สาร “ต่อต้านแบคทีเรีย”• น้ำยาดับกลิ่นและเจลให้กลิ่นหอมเป็นสิ่งไม่จำเป็น  และมีส่วนผสมที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้เมื่อมีการสัมผัส• หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์  ละอองที่เกิดขึ้นถูกสูดดมเข้าไปได้โดยง่ายและก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อปอด   น้ำยาทำความสะอาดพื้น พรม และเฟอร์นิเจอร์สารทำความสะอาดพื้น พรม และเฟอร์นิเจอร์อาจมีตัวทำละลายและสารกันบูดที่เป็นพิษต่อระบบประสาทและพทาเลตที่ทำให้รบกวนการทำงานของฮอร์โมน  และน้ำหอมที่ทำให้เกิดอาการผื่นคัน  เคล็ดลับการใช้งาน• สำหรับพื้น เช่น เสื่อน้ำมัน กระเบื้องพลาสติก  หินธรรมชาติและสำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวเป็นไม้และพลาสติกให้ใช้น้ำ  ถ้าสกปรกมากใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ชนิดอ่อนโยน• สำหรับตู้ โต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์ไม้อื่นๆใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ก็เพียงพอแล้ว• สำหรับพื้นผิวที่ลงน้ำมันและเคลือบเงาให้ใช้น้ำมันลินสีดหรือขี้ผึ้ง• กำจัดคราบบนพื้นพรมและเครื่องหนังด้วยน้ำ  หรือใช้น้ำส้มสายชูพร้อมกับน้ำสบู่อ่อนๆ ในกรณีที่สกปรกมาก   น้ำหอมปรับอากาศโถเครื่องหอมกลิ่นลาเวนเดอร์ในห้องน้ำ  เทียนหอมในห้องรับแขก  สเปรย์ “กลิ่นทะเล” หรือสเปรย์กำจัดกลิ่นบุหรี่และกลิ่นกับข้าว  น้ำหอมปรับอากาศเหล่านี้อาจมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง  และก่อให้เกิดอาการแพ้และมีปฏิกิริยาต่อระบบทางเดินหายใจ   เคล็ดลับการใช้งาน• เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเสียออกไป อากาศบริสุทธิ์ดีกว่าผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ใดๆ   ข้อมูลอ้างอิงWoman in Europe for a Common Future (WECF) www.wecf.eu ตารางแสดงสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งพบในน้ำยาซักล้างและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารเคมีอันตราย ผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพ Formaldehydeฟอร์มัลดีไฮด์ Carcinogenic, mutagenic, toxic to reproduction ก่อให้เกิดมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธ์ เป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ Triclosanไตรโคลซาน Very toxic to aquatic life, disrupts the hormone system เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน 1,2-dichlorobenzene1,2-ไดคลอโรเบนซิน Very toxic to aquatic life เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ 2-methoxyethanol 2-เมททอกซีเอทานอล Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ 2-ethoxyethanol 2-เอททอกซีเอทานอล Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ 2-ethoxyethyl acetate2-เอททอกซีเอธิลอะซีเตท Impaires fertility, harmful by inhalation, swallowing and skin contact, and for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  ได้รับอันตรายจากการสูดดม กลืนกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง  และเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ Phthalates(DEHP, Bis (2-ethylhexylphthalat)พทาเลต (DEHP, Bis(2-เอธิลเฮซิลพทาเลต) Impaires fertility, harmful for the unborn child ความสามารถในการสืบพันธ์ลดลง  เป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ Nitromusks, polycyclic musks(Galaxolide, Tonalide)ไนโตรมัสค์, โพลีไซคลิก มัสก์ (กาแล็กโซไลด์, โทนาไลด์) Disrupts the hormone system, allergen ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  และก่อให้เกิดอาการแพ้ Octamethylcyclotetrasiloxane ออคตะเมธิลไซโคลเตตระไซโลเซน Disrupts the hormone system and the fertility ทำให้ระบบฮอร์โมนและความสามารถในการสืบพันธ์หยุดทำงาน Octylphenol (ethoxylates) ออคทิลฟีนอล (เอทอกซิเลท) Disrupts the hormone system ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 เคล็ดลับการดูแลบ้านและลูกน้อยของคุณแม่ชาวยุโรป (1)

  ผมได้ติดตามนโยบายปกป้องอันตรายที่อาจเกิดกับเด็กจากการใช้สารเคมีทำความสะอาดในบ้านขององค์กรสตรีในยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกกำไร และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เลยขอนำเสนอสาระที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกๆ ซึ่งวันนี้จะเล่าถึงเรื่องวิธีการทำความสะอาด การใช้สารเคมีทำความสะอาดในบ้านที่เป็นมิตรและปลอดภัยสำหรับเด็กและทารกครับ การทำความสะอาดบ้านของคุณสามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีในบรรยากาศภายในบ้านได้ บางครั้งอาจมีปริมาณสูงกว่าบรรยากาศภายนอกอาคารในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ สารเคมีมากมายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลบ้านนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่ถูกใช้ในสารทำความสะอาดในอุตสาหกรรมที่ใช้งานหนัก เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย งานทำความสะอาดบ้านส่วนมากนั้นสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมธรรมดาที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าและมีราคาถูกกว่า เช่น เบคกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู เกลือ น้ำมะนาว น้ำมันพืช สบู่ บอแรกซ์และโซดาซักผ้า ขณะเดียวกันผู้ผลิตที่เสนอผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นพิษน้อยลงก็มีจำนวนมากขึ้น   เคล็ดลับทั่วไปในการใช้สารเคมี• อ่านฉลากผลิตภัณฑ์และค้นคว้าเกี่ยวกับสารเคมีที่ปรากฏอยู่บนฉลากนั้นๆ  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม ห้องทารกที่สะอาดไม่ควรจะมีกลิ่นอะไรเลย • หลีกเลี่ยงน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าต่อต้านแบคทีเรียได้ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคควรใช้เฉพาะในโรงพยาบาลและบ้านที่มีผู้ป่วยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอาศัยอยู่ การทำความสะอาดทั่วไปก็เพียงพอที่จะกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตราย น้ำยาฆ่าเชื้อโรคอาจจะมีฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งและเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ และคลอรีนที่ส่งผลระคายเคืองต่อปอด ผลิตภัณฑ์ที่มีสารต่อต้านแบคทีเรียและสารต่อต้านจุลินทรีย์จะฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์เช่นกัน และมีส่วนทำให้แบคทีเรียเกิดอาการดื้อยาต่อยาปฏิชีวนะ  • อย่าไว้ใจกับการกล่าวอ้างถึงสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต  • ผงซักฟอกไม่มีทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ดังนั้นใช้มันอย่างประหยัดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และควบคุมปริมาณการใช้ โดยเฉพาะการใช้ผงซักฟอกชนิดเข้มข้น  • ยึดหลักการปลอดภัยไว้ก่อน หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษ เก็บผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้พ้นมือเด็ก อย่าเทผลิตภัณฑ์ใส่ขวดชนิดอื่น  • หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงสารกันบูด น้ำหอม และสารดังต่อไปนี้ เช่น ไอโซเทียโซลีนโนน (CMIT, MIT, BIT, OIT), เอมิลซินนามาล, เฮกซิลซินนามัลดีไฮด์ ลินาลู, เบนซิลแอลกอฮอล์ คูมาริน เบนซิลเบนโซเอท เจรานอล ยูจีนอล ลิเลียล เมทิลเฮปตินคาร์บอร์เนต ซิโตรเนลโล ไลมอนีน ซิตราล และเจรานอล --------------------------------------------------------------------------------------------------- ทำไมจึงต้องใส่ใจเมื่อมีเด็กๆ อยู่ในบ้านเด็กคือคนที่อ่อนไหวที่สุดต่อสารพิษของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปและสารเคมีที่ใช้ในบ้านอื่นๆ เหตุผลคือร่างกายพวกเขามีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเทียบสัดส่วนสารที่ปริมาณเท่ากัน ในเด็กจะรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ยิ่งกว่านั้น อวัยวะของพวกเขายังอยู่ระหว่างการพัฒนาและไม่สามารถกำจัดสิ่งที่พวกเขาได้รับเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำได้ ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือผิวหนังของพวกเขาอ่อนโยนกว่าของผู้ใหญ่ และข้อสุดท้าย เด็กๆ มักสำรวจโลกด้วยมือและปากของพวกเขา พวกเขาคลานและเล่นบนพื้น พวกเขามักจะอยู่ใกล้กับพื้นมากกว่าผู้ใหญ่ พื้นเป็นส่วนที่สะสมสารเคมีที่เหลืออยู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจะถูกควบคุมภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับสารชะล้างแห่งสหภาพยุโรป กฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไป กฎหมายที่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและ ระเบียบสารเคมี (REACH: Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals) ของสหภาพยุโรป แต่ทว่าสารที่เป็นอันตรายก็ยังถูกพบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอยู่ดี ---------------------------------------------------------------------------------------------------  ประเภทของน้ำยาทำความสะอาดที่ควรปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เราควรจำกัดปริมาณการใช้สารเคมี เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากสารพิษได้แก่   • น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์• น้ำยาทำความสะอาดหน้าต่าง• น้ำยาทำความสะอาดพื้น• น้ำยาทำความสะอาดและซักล้างพรม• ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์• และสารขัดเงา• ผงซักฟอก• และน้ำยาล้างจาน  ส่วนจะปรับเปลี่ยนอย่างไร คงต้องขอนำเสนอคราวหน้าครับ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก  ข้อมูลอ้างอิงWoman in Europe for a Common Future (WECF) www.wecf.eu  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point