ฉบับที่ 225 เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง

        อาจารย์บัณฑิต ป้านสวาท เขาทำงานพัฒนาชุมชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างเข้มข้น เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและดูแล เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง และ เพจแม่กลองพานิชย์ ซึ่งเป็นสองเพจดังที่ไม่มีใครในสมุทรสงครามไม่รู้จัก การทำงานผ่านทางเฟซบุ๊คของเพจสมุทรสงครามจัดการตนเองและแม่กลองพานิชย์นั้นเป็นตัวอย่างของสังคมออนไลน์ดีๆ ที่เรียนรู้และพัฒนาการอยู่ร่วมกันของผู้คนในชุมชนออนไลน์เล็กๆ นี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความหวังดี ที่ฉลาดซื้อนำมาฝากกันในวันที่ลมหนาวเริ่มมาเยือน ที่มาของสมุทรสงครามจัดการตนเอง        จริงๆ แล้วสมุทรสงครามจัดการตนเอง “มันไม่ได้ทำแค่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียว” อย่างชื่อที่มันบอกไปคือสมุทรสงคราม คนสมุทรสงคราม  เราจะจัดการในเรื่องของตัวเราเอง ในพื้นที่ของเราเอง ฉะนั้นคือเรื่องความทุกข์ร้อนปัญหาอะไรต่างๆ ก็เอาเข้ามาคุยกันในกลุ่ม โดยกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ค  ผมเคยมีประสบการณ์ในการที่ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ แล้วก็อาศัยพึ่งพาหน่วยงานบางหน่วยงานของรัฐไม่ได้ อย่างนี้เราก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าอย่างนี้เราจะทำให้มันเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าหน่วยงานทั้งหมดไม่ดี เพียงแต่ว่ามีบางหน่วยงานเขาอาจจะทำงานไม่เต็มที่          เมื่อคิดว่าส่วนใหญ่แล้วสื่อจะเป็นส่วนที่ช่วยในการกระตุ้นกระบวนการให้มันเป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็น เราก็เลยมองว่า ณ ช่วงนั้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วมันมีอะไรที่จะสามารถช่วยได้บ้าง แล้วด้วยตัวของเราเองที่เราเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ได้มีเงินทองมากมายที่จะทำสื่อ เราก็มีความรู้สึกว่า Facebook ง่ายที่สุด คือง่ายสุด ถูกสุด  ผมเชื่อว่าถ้าสังคมมันไม่ได้ฟอนแฟะ คนเขาจะต้องตัดสินใจจากข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น เรื่องของการจอดรถในที่ห้ามจอด เมื่อก่อนจะมีปัญหามากเลยในตลาดแม่กลองเราก็ใช้วิธีการว่าเชิญชวนกัน ถ้าใครพบเห็นรถจอดในที่ห้ามจอด จอดผิดกฎจราจร ช่วงหลังๆ จะมีเรื่องรถทัวร์ที่มาเที่ยวในตลาดแม่กลองแล้วชอบจอดส่งนักท่องเที่ยวในที่ห้ามจอด เราก็เลยมีการพูดคุยกันว่าถ้าใครเจอช่วยถ่ายรูปเอามาลง  แต่ไม่ด่า แต่บอกว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลักการคือ หนึ่งใช้ความจริงมาพูด ก็คือข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิป หรือเสียง อะไรก็แล้วแต่ได้หมด ก็คือเอามาวางแต่ต้องให้ข้อมูล หมายความว่าถ้ามีแค่ภาพ คุณต้องอธิบายให้ฟังได้ นอกจากไม่ด่าแล้ว ก็ต้องไม่หมิ่นประมาทใคร เพราะในช่วงแรกๆ เลยมันมีการหมิ่นประมาทกันบ่อย        ตอนที่เริ่มทำแรกๆ ก็จะไม่ค่อยมีคนสนใจ “กฎ” เท่าไหร่ แต่พอสักระยะหนึ่งจะมีคนนำข้อมูลเหล่านี้มาวางลงเรื่อยๆ เริ่มมีคนเยอะขึ้นภาพเหล่านี้มันก็จะแสดงไปด้วยตัวมันเอง พอแสดง คนก็วิพากษ์วิจารณ์หมายถึงว่าหน่วยงานน่าจะมาทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ คอมเม้นท์ด่า(หมิ่นประมาท) ก็มาก  ก็จะมีคนมาแจ้ง Admin ก็คือผม ผมก็ไปจัดการเตือนแล้วก็ลบข้อความ ถ้ายังมีอีกก็อัญเชิญออก อีกอย่างหนึ่งที่บอกว่าตรงนี้เราไม่ใช่แค่ว่าเราบอกเขาเฉยๆ เราทำเป็นกติกาของกลุ่มเลย ข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม ถ้าคุณมีความเห็นแบบไม่ว่าใคร เดี๋ยวผมส่งลิงค์ข้อตกลงให้ดู เป็นประกาศของกลุ่มเลย ถ้าส่งไปให้ดูอาจะรู้สึกว่าทำไมมันยาวจัง แต่ข้อตกลงเหล่านี้เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม มีคนเป็นสมาชิกประมาณกี่คนในเพจ        เนื่องจากจังหวัดเราเล็ก เราจะมีสมาชิกอยู่ประมาณ 34,000 ราย ถ้าจำไม่ผิด จังหวัดอื่นเขามีกลุ่มที่ใหญ่กว่านี้เขามีกลุ่มละเป็นแสนเลย แต่ว่าเรามองว่าเราไม่เอาใจใครนะ แต่ว่าเราเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์มาคุยกัน เรื่องที่เป็นสาระที่เป็นประโยชน์เป็นเรื่องของการพัฒนาข้อเสนอแนะในส่วนของพื้นที่ แล้วก็เรื่องที่เป็นปัญหาที่ควรจะต้องแก้ อันนี้คือสมุทรสงครามจัดการตนเองดำเนินการมา 7 ปี ปีนี้ขึ้นปีที่ 8 อย่างที่เราบอกคือ กลุ่มเราคุยกันเรื่องส่วนรวม  ตอนนี้มี Admin อยู่ประมาณ 14 – 15 คน เนื่องจากว่าทีแรกผมคิดคนเดียวทำขึ้นมา พอทำขึ้นมาระยะหนึ่งเขาเรียกว่าธรรมชาติของกลุ่มมันทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอะไรหลายๆ เรื่องได้ คนที่เขารู้สึกว่าเขาเข้าใจการทำงานของผม เริ่มเข้ามาช่วย มาช่วยเก็บข้อมูลทำนั่นทำนี่ มันก็เลยกลายเป็นว่าพอมีคนเข้ามาช่วย เราก็ได้ Admin เพิ่ม คือจริงๆ แล้วคนเป็นหมื่นๆ ผมควบคุมดูแลคนเดียวไม่ได้ ก็ได้จิตอาสาที่เป็นน้องๆ หลายคนเข้าร่วม เนื่องจากว่าเขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับจังหวัดกับพื้นที่ แล้วเพจแม่กลองพานิชย์เริ่มต้นอย่างไร        อย่างที่บอกคือสมุทรสงครามจัดการตนเองดำเนินการมาสักพักหนึ่งเริ่มมีคนโพสต์ขายของเยอะขึ้น เราก็คิดกันในทีม Admin ว่าจะทำอย่างไรดี ก็เลยตัดสินใจยอมเหนื่อยอีกหน่อยหนึ่งไปสร้างกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้(พวกขายของ) ชื่อว่ากลุ่มแม่กลองพานิชย์ ก็คือเป็นกลุ่มขายของ คุณก็ไปขายเลยที่นี่ ทีแรกคนก็ยังไม่เยอะก็ไม่เท่าไหร่ เพราะว่าเขาต้องการขายของต้องการอะไรหลายๆ อย่าง พอเราตักเตือนนิดหน่อยที่ไม่เหมาะสมก็มาหาว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าอย่างนั้นไม่เตือนแล้ว วิธีการคือทำกติกาเหมือนสมุทรสงครามจัดการตนเองเลย แล้วกติกาของแม่กลองพานิชย์หนักหนากว่าสมุทรสงครามจัดการตนเองอีกในรายละเอียด เพราะว่าประสบการณ์มันค่อยๆ เกิด         ก็คือคนก็อยากจะขายแบบเสรี มาโฆษณาร้านขายเหล้า ร้านดนตรี ซึ่งโดยส่วนตัวของทีม Admin เราก็ไม่ตกลงแล้ว เราไม่อยากให้เรื่องพวกนี้มันสื่อออกไป อย่างกรณีของกฎหมายทางภาครัฐ ก็ไม่ให้โฆษณาขายเหล้าเบียร์อยู่แล้ว ประเด็นหนึ่งที่เราถือเป็นหลัก คือเรื่องของโพสต์ทั้งหมดจะต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้า เบียร์ อบายมุข 4  เรื่องการค้าบริการทางเพศ เรื่องของสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เราจะพยายามกรองให้  ได้มากที่สุด  “แต่ว่าบางทีเอาตรงๆ เราก็ไม่รู้ว่าอันไหนผิดก็มีนะก็ต้องปล่อยไป”  ยกตัวอย่างได้ไหม        ยกตัวอย่างเช่น รีเทนเนอร์ที่จัดฟันแฟชั่น ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่ามันผิด แต่ว่าพอสักระยะหนึ่งมานั่งนึกดูพวกจัดฟันส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เราก็เลยใช้วิธีการปรึกษากับทางทันตแพทย์ในจังหวัด คุณหมอมานะชัย (ทพ.มานะชัย ทองยัง) ใช้วิธีการปรึกษาเราก็รู้ว่า อันนี้มันเป็นเครื่องมือหรือวัสดุทางการแพทย์ ถ้าไม่ใช่หมอฟันหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับใบประกาศเฉพาะทางที่ทำตัวรีเทนเนอร์อันนี้ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย เราก็เริ่มศึกษาพวกนี้ แล้วมันก็จะมีหลายๆ อย่างตามเข้ามาเช่น น้ำหอมฟีโรโมน ซึ่งเราว่าไม่เหมาะแล้ว หลังๆ มาตัวระเบียบกติกาต้องเป๊ะ คือใช้กฎหมายมาจับเป็นหลัก เช่นของที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นของกิน ที่บรรจุภัณฑ์มันก็ต้องมีเลข อย.(เลขสารบบอาหาร) มีมาตรฐานที่ชัดเจนแสดงในการโพสต์ขายด้วย เรื่องยาลดความอ้วนห้ามเลย นมฟู รูฟิต นกเขาแข็ง คุณไม่ต้องหวังที่จะเข้ามาโพสต์ขายในเพจนี้          อีกส่วนหนึ่งที่เราพยายามคัดกรองคือ  เพจแม่กลองพานิชย์ จะมีระบบเลขสมาชิก ไม่ใช่เก็บเงินนะ อย่างที่บอกเรื่องพวกนี้มันเกิดมาจากลักษณะของการเป็นจิตอาสา หนึ่งคือเรามองว่าจัดการปัญหาส่วนรวมโดยมีบทเรียนส่วนหนึ่งจาก เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง แล้วก็มาเรื่องการค้าขายธุรกิจชุมชนที่เป็นแม่กลองพานิชย์ แต่ว่ามันก็ควรจะต้องให้เป็นตลาดสีขาว เราควรเป็นตัวอย่างของตลาดสีขาว มันก็เลยกลายเป็นว่ามีกติกาแล้วก็ของหลายๆ อย่างขายไม่ได้ ระบบเลขสมาชิกนี้เกิดขึ้นเพื่อที่ไม่ให้ผู้ขายเอาเปรียบผู้ซื้อและไม่ให้ผู้ซื้อเอาเปรียบผู้ขาย เพราะว่าในเมื่อคุณเป็นผู้ขาย คุณใช้เฟซอย่างเดียวไม่มีตัวตนก็ได้ จริงไหม เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะฉะนั้นเราเลยตั้งกติกา        ทีม Admin ยอมเหนื่อยหน่อย คนที่เข้ามาที่นี่เขาจะต้องกรอกแบบฟอร์มใน Google Form เข้ามา ชื่อ ที่อยู่ ที่อยู่ปัจจุบัน ภูมิลำเนาเดิม เบอร์โทรศัพท์ ID Line E-mail สินค้าที่ขาย ถ้ามีหน้าร้าน หน้าร้านชื่ออะไรประมาณนี้ แล้วก็ต้องมีการส่งรูปหน้าตรงมาด้วย สิ่งหนึ่งที่เราไม่เอาคือเลขบัตรประชาชนเราไม่อยากมีปัญหา แต่ตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะส่งข้อมูลจริงมา ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะส่งไหม แต่อย่างน้อยก็เป็นการให้ได้ข้อมูลมากที่สุด มันก็เป็นการป้องกันอย่างหนึ่งว่า ถ้าเขาไม่ได้จงใจมาหลอกใครจริงๆ เขาก็จะส่งข้อมูลจริงๆ มา อันนี้ก็เป็นการป้องกันระดับหนึ่ง หลังจากที่ผู้ขายได้เลขสมาชิกไปแล้วเขาก็จะโพสต์ขายได้ มันก็จะมีกติกาเพิ่มว่าห้ามโพสต์เกินสามรูป ห้ามโพสต์เกินหนึ่งครั้งต่อวันแบบนี้ หนึ่งคือเพื่อไม่ให้โพสต์ในกลุ่มมากเกินไป เพราะว่ากลุ่มนี้จะมีสมาชิกอยู่ประมาณ 35,000 คน ผู้ขายตอนนี้ปัจจุบันที่เราออกเลขไปแล้วมีอยู่ 6,000 กว่าๆ เฉพาะผู้ขาย ทีนี้ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งมี 6,000 แล้วผู้ขายแค่โพสต์พันเดียวใครจะไปดูในโพสต์ บางคนโพสต์วันละสามสี่ครั้ง คือจำกัดไว้ว่าคนละหนึ่งโพสต์ต่อวันประมาณนั้น            สำหรับการดูแลผู้ซื้อ เราจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อเวลาที่ผู้ขายเขาเอาเปรียบลูกค้า หรือสั่งแล้วไม่ไปส่ง หรือส่งของไปแล้วของบูด ของใช้ไม่ได้ พอลูกค้ารายงานกลับมาทาง Admin ก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวผู้ขายได้ ถ้าเป็นลักษณะของการฉ้อโกงหรือเอาเปรียบผู้บริโภค เราก็จะให้ข้อมูลเขาเพื่อไปแจ้งกับ สคบ. หรือไปแจ้งตำรวจก็ได้ ซึ่งแล้วแต่รูปแบบว่าโดนเอาเปรียบแบบไหน นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง          ไม่ใช่แค่ดูแลคนซื้อ เราก็ดูแลคนขายด้วย คือมีวิธีป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อเอาเปรียบผู้ขาย อย่างนี้นะ สมมติว่าคนขายเขาส่งของไปแล้ว เกิดคนสั่งซื้อไม่อยู่ไม่รับของ หรือว่าเกิดความเสียหายกับผู้ขาย อันนี้เราก็จะมีกระบวนการ การเตือน การห้ามโพสต์ การแบนอะไรพวกนี้อยู่ คือให้มันเป็นตลาดที่มีความยุติธรรมกันระหว่างทั้งคู่ เราแค่คอยช่วยกำกับดูแลให้ประมาณนั้น  แล้วก็เป็นตลาดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมามีปัญหามากน้อยแค่ไหนสำหรับทั้งสองเพจที่ดูแลอยู่        ส่วนใหญ่ถ้าจะเกี่ยวกับผู้บริโภคก็จะเป็นแม่กลองพานิชย์ ส่วนหนึ่งที่เราเจอปัญหาก็คือคนจะพยายามขายของประเภทที่ผิดกติกา เช่นพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อก่อนช่วงแรกๆ ที่เรายังไม่สามารถกั๊กโค๊ดไว้ได้ ช่วงแรกๆ ที่ Facebook ออกมา ถึงจะทำเป็นกลุ่มขายของก็จริง แต่ว่าจะยังตั้งค่าไม่ได้ ใครโพสต์มันก็จะลงในกลุ่มเลยแต่ว่าช่วงหลังๆ มันสามารถกันได้   เมื่อก่อนมันจะมีกลุ่มคนพวกนี้ พวกขายยาลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกอย่าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถึงมี อย. เราก็ไม่ให้ลงขายนะ เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าถึงจะมี อย. แต่ไม่รู้ว่าเขาจะใส่อะไรที่ไม่ถูกต้องไปหรือเปล่า สูตรที่แจ้งไปเป็นแบบนี้  แต่เวลาคุณทำจริงทำอีกแบบหนึ่งก็ได้เรากันไว้ก่อน คือมันไม่ใช่ของจำเป็นที่คนจะต้องกินก็ได้ เราห้ามเลย อีกส่วนหนึ่งก็คือพวกอาวุธพวกปืนเราก็ไม่ให้ บางคนเสนอขายมีดพับบัตรเครดิต  ซึ่งเป็นลักษณะมีดที่เป็นอาวุธเราก็ไม่ให้ขาย ส่วนของคุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่ว่าคือเรามีกติกาเพื่อป้องกันการโกงกัน สิ่งที่ได้รับจากการทำเพจทั้งสอง        เมื่อก่อนผมทำโดยวัตถุประสงค์หลักคือ ผมไม่ได้รับความยุติธรรมจากหน่วยงานรัฐหรือว่าจากสังคม เหมือนมองโลกในแง่ร้าย สมัยก่อนนะ แต่เมื่อเรามีจุดเปลี่ยนบางจุด ผมได้เข้าร่วมการอบรมในเรื่องของจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับที่ใครหลายๆ คนเข้าใจนะ  บางคนจะเข้าใจว่าหลักคิดของจังหวัดจัดการตนเองคือการเลือกตั้งผู้ว่า การแบ่งแยกการปกครองมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ หลักการคือมันเป็นการจัดการตนเองของภาคประชาชน ของคนในพื้นที่นั้นๆ อันนั้นคือจุดเปลี่ยนของผมที่ผมได้ไปรับรู้ข้อมูล        สมุทรสงครามจัดการตนเองก็คือ เรามีหน้าที่ไปดึงจิตอาสามาจากบุคคลทั่วไปที่เขาอยู่ในชุมชนนี้ให้ออกมาช่วยกัน เราอาจจะดึงไม่ได้ทุกคน แต่เรากระตุ้นด้วยวิธีการผลักดันขับเคลื่อนเอาภาพมาแสดงให้เห็น แล้วหลังจากนั้นไปสักระยะหนึ่งมีการติดตามผล เราทำให้เห็นผลลัพธ์ด้วย ก็คือเราก็เอาภาพผลปลายทางมาลงให้ด้วย เราไม่ได้ลงเพื่อหน่วยงานรัฐ แต่เราลงเพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลของการที่เรารู้จักสิทธิของตนเอง รู้จักคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตนเองที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น เราทำไปแบบนี้แล้วผลที่ได้มันเป็นอย่างไร อันนี้คือที่เราพยายามดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาจากหลายๆ คนซึ่งหลายๆ คนเขาคิดว่าเขาไม่มีนะ แต่บางคนเขาก็สามารถฉุดดึงออกมาได้ก็ถือว่าโอเคนะ ร้อยคนดึงได้สักสองสามคน สร้างกระบวนการให้เขาขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ออกมาจากตัวเขาเองได้ก็ถือว่าโอเคแล้วครับ..................................Fb : เพจสมุทรสงครามจัดการตนเองเป็นกลุ่มที่ใช้การนำเสนอประเด็นปัญหา การพัฒนาชุมชน และมุมมองด้านสังคม วัฒนธรรม โดยใช้กระบวนการปรึกษาพูดคุย ร่วมเสนอแนะแง่มุมต่างๆ ในการแก้ปัญหา และพัฒนาด้วยข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อสรุปก็ช่วยกันผลักดันไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมีหลายปัญหาในจังหวัดได้ถูกแก้ไขและเกิดการพัฒนาหลายอย่างด้วยกระบวนการเหล่านี้ด้วย  Fb : แม่กลองพานิชย์เป็นกลุ่มที่ช่วยให้เกิดช่องทางการค้าขายสินค้าและบริการของชุมชน ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้พบกันง่ายขึ้น ผู้ขายในชุมชนสามารถทำการตลาดได้ง่าย โดยมีโทรศัพท์มือถือ(สมาร์ทโฟน) เพียงเครื่องเดียวก็สามารถของสินค้าและบริการของตนเองได้ โดยกลุ่มแม่กลองพานิชย์มีกติกาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีกลุ่มจิตอาสาเป็นผู้ควบดูแลกลุ่มไม่ให้เกิดความวุ่นวาย หรือการละเมิดกฎหมาย(พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กว่าจะมาเป็นเรื่องราวของภาษีความหวาน

               การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวาน ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น พบว่าผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวหรือปรับลดปริมาณความหวาน ตามที่กำหนด ต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก 2 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 และ 1 ตุลาคม 2566) เช่น ปัจจุบันเสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร หากไม่ปรับตัว จะเสียภาษีเพิ่ม 1 เท่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการทยอยปรับตัวไปบ้างแล้ว ทำให้ภาระภาษีลดลง แต่บางรายปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มด้วย ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และผู้อำนวยการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ย้อนความให้ฉลาดซื้อฟัง ก่อนมาเป็นเรื่องภาษีน้ำตาล        เราเริ่มดูสถานการณ์การบริโภคของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วเข้าไปสืบค้นข้อมูลว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลอย่างไร เราเห็นว่าตั้งแต่ปีนั้นที่เราไปสืบค้นข้อมูลได้ ตลอดระยะเวลาในช่วงนั้นเราเห็นว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นธรรมดาเพราะบ้านเราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลของโลก อ้อยและน้ำตาล เพราะฉะนั้นเนื่องจากว่าตนเองเป็นทันตแพทย์ ก็เริ่มกังวลเพราะว่า เราคุมเรื่องอัตราการเกิดโรคฟันผุไม่อยู่แล้ว         ในขณะเดียวกันเรื่องอ้วนก็เริ่มเป็นปัญหาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็คุยกับทางนักโภชนาการกับกุมารแพทย์ว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมีขบวนการที่จะรณรงค์ใช้มาตรการที่จะทำให้คนไทยลดการบริโภคลงมาได้ ทำเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ก่อน 2548 แถวๆ ปี 2546 – 2547 เราก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มจากหนึ่งเอาน้ำตาลออกจากนมสูตร 2 ซึ่งเราก็โชคดีที่ทาง อย. ตอนนั้นก็ให้ความร่วมมือกับเรา แล้วก็ออกประกาศเรื่องนี้ให้เราด้วย แล้วก็เป็นระเบียบฉบับแรกที่เราแก้ไขเชิงนโยบาย         เรารู้มานานแล้วว่าแหล่งบริโภคของน้ำตาล แหล่งรับน้ำตาลของคนไทยเรามาจากเครื่องดื่ม รู้มานานแล้วจากการที่เราเฝ้าดูการบริโภคเพียงแต่ว่ามาตรการที่เราจะดำเนินการคือ เราเห็นว่าหนึ่งเริ่มจากเด็กไม่ให้ติดหวาน สองคือเราจะจัดการอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมนั้นเอื้ออำนวยให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรืออะไรก็ได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเราก็พยายามใช้กลไกการรณรงค์ ตั้งแต่ดูว่าจะทำอย่างไรกับ setting ของโรงเรียน เพราะเรามีข้อมูลว่าเด็กไทยตอนนั้นก็ดื่มน้ำอัดลม เอาแค่เฉพาะน้ำอัดลมนั้นอยู่ที่ประมาณ 250 ซีซีต่อวัน ในน้ำอัดลมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคประมาณ 250 ซีซีที่ว่าจะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 10-15 ช้อนชาแล้วแต่รสชาติของมัน         ก็เริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความร่วมมือจากโรงเรียนในการจัดการ คือพยายามให้มีเรื่องโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างมากจากกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2550 มีนโยบายออกมาแต่ค่อยๆ ทำมาเรื่อย ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันเป็นนโยบายที่ประกาศเฉยๆ ไม่ได้ออกเป็นกฎ ซึ่งยากมากที่จะไปออกเป็นกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นเรายังไม่สำเร็จเรื่องนี้ แต่ว่าเราก็ทำต่อเนื่องมา ถัดมาก็ทำเรื่อง Healthy Meetings ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีหมดเลย เราคิดว่าเราก็ค่อยๆ ทำไปเป็นกระบวนการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย พร้อมๆ กันก็มีกระบวนการสื่อสารให้ความรู้อย่างทั่วถึงเรื่องของน้ำตาลที่มากเกินไป  เริ่มต้นด้วยการทบทวนวรรณกรรม มีนักวิชาการช่วยเราทบทวนเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่ปี 2552         หลังจากปี 2553 ตอนนั้นได้มติสมัชชาสุขภาพเรื่องโรคอ้วน ซึ่งหนึ่งในมตินั้นก็มีการพูดถึงในเรื่องของโรคอ้วนในเด็ก เรื่องของน้ำอัดลม เรื่องของการจัดการด้วยระบบของภาษี พอเป็นตรงนี้เราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการ ได้โอกาสได้ทีมงานมาเพิ่มขึ้นเป็นนักวิชาการในส่วนของมูลนิธิ ISBP ระหว่างประเทศเขามาช่วยเรา แนวคิดเก็บภาษีน้ำตาลเริ่มขึ้นตอนไหน         ประมาณปี 2552-2553 ปี 2553-2554 อาจารย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากจุฬาฯ มาช่วยเราดูมันมีกระบวนการทางภาษีจะกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ก็มีการสำรวจ ล่าสุดเลยที่เราใช้การขับเคลื่อนตัวนโยบายก็คือ เราสำรวจว่าคนไทยอายุ 10 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมดื่มน้ำอย่างนี้อย่างไร แล้วเขามีแนวโน้มจะเปลี่ยนพฤติกรรมไหม สิ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือว่า สำหรับคนไทยเราแล้ว หากราคาต้องปรับขึ้นไปประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนที่ดื่มพวกนี้เป็นประจำเขาจะเปลี่ยน คือคิดที่จะดื่มอย่างอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตอบมาเขาคิดจะเปลี่ยนไปดื่มน้ำเปล่าซึ่งอันนั้นดี        แล้วก็เป็นจังหวะที่โชคดีที่ตอนนั้นมีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเงินการคลังสาธารณสุข มีอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ เป็นประธาน เครือข่ายมีการรณรงค์ต่อเนื่องท่านก็ได้ทราบข่าวสาร ท่านได้ทราบถามว่าใครกำลังทำเรื่องนี้(ภาษีน้ำตาล) ก็เลยเรียกว่าโอกาสเปิด ทางอาจารย์พรพันธุ์ท่านแอคทีฟ(active) มาก พูดว่าเรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จ        ตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มต้น เราก็ได้ข้อเสนอออกมาจากทาง สปช.หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติให้ทำเรื่องนี้เข้าไป รอว่ากระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร พอดีท่านอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ กลับมาใหม่ในหน้าที่และตำแหน่งเดิมท่านก็ตามเรื่องนี้ต่อ  ประมาณเดือนเมษายนปี 2559 ก็เร็วมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเขาโต้แย้งเยอะแล้วทางสภาปฏิรูปเองก็ให้โอกาสทุกภาคส่วนจัดประชุมในชุดเดียวกันเลย สิ่งที่พบเจอก็คือว่าข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน เขาเองก็รู้ว่าคนไทยนั้นได้น้ำตาลมาจากแหล่งนี้มากที่สุด(เครื่องดื่ม) เพียงแต่เขาก็รู้สึกว่าตัวนี้ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้คนลดอ้วน หรือลดโรค NCDs ได้ แต่เราบอกว่าตัวนี้มันเป็น good buy คือเป็นมาตรการแนะนำขององค์การอนามัยโลกเลยนะ ซึ่งทั่วโลกเขาพยายามทำแล้วให้ผลค่อนข้างจะมาก จึงได้มีกระบวนการพูดจา เจรจากัน ทำความเข้าใจกันทั้งหมดแล้วก็ผ่านขั้นตอนในการออกกฎหมาย แล้วก็ผ่านไปจนผ่าน ครม. จนไปผ่านสภาปฏิรูปเพื่อที่จะกลับไปที่ ครม.ใหม่ สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้มันก็เลยสามารถออกมาได้ เพราะว่ามันก็ถูกใส่เข้าไปแก้ไขได้เลยใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเขาจะประกาศใช้        ต้องบอกว่าเครือข่ายโชคดี อาจจะโชคดีเนื่องจากว่าเราก็พยายามทำข่าวอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยเราในการเคลื่อนข่าว เราก็ออกข่าวเป็นระยะๆ ได้ทั้ง ศ.เกียรติคุณพญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ พากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมาช่วยออกข่าว เราก็ได้ติดต่อทางองค์การอนามัยโลกประเทศไทยให้มาช่วยให้ข่าวด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกยอมออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ หลังจากนั้นพอมีกระบวนการเหล่านี้ ก็มีข้อต่อรองจากทางอุตสาหกรรมขอเวลา 5 ปี ในการปรับตัวซึ่งเราไม่ยอม ทางเราก็บอกว่า 5 ปีนานไปเพราะว่า 5 ปีนั้นไม่รู้ว่าคนไทยจะเป็นเบาหวานไปอีกนานเท่าไหร่ เด็กจะอ้วนไปอีกเท่าไหร่มันเพิ่มไปเรื่อยมันไม่ลดสักทีเราก็บอกไม่ได้        “ทางกระทรวงการคลังเอง สรรพสามิตเขาก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ละกันไม่ต้องมี 5 ปีไม่ต้องมี 10 ปี เขาจะประกาศทันที แต่เขาจะพยายามจัดระบบการจัดเก็บตามแนวทางที่เราเสนอ เพราะเราทำข้อเสนอว่าให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า สำหรับปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในเครื่องดื่มให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า เขาบอกเขาจะจัดเก็บอัตราก้าวหน้า แต่ว่าระดับเปอร์เซ็นต์เป็นเท่าไหร่เขาขอพิจารณาเอง เราได้เท่านี้เราก็โอเคแล้วละค่ะ”         สรุปออกมาเป็นข้อตกลงร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนของกระทรวงการคลังเองที่จะดูเรื่องนโยบาย เขาก็ทำอัตราภาษีมาให้เห็นเมื่อภาษีสรรพสามิตประกาศก็เกิดขึ้นทันที แต่ว่าสองปีที่ผ่านมาคือปี 2561 และ 2562 อัตราภาษีที่ขึ้นน้อยมาก การขึ้นน้อยก็เป็นการให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัว ขึ้นน้อยมากแทบไม่กระทบต่อราคา ถ้าเราสังเกตนะคะเขาขึ้นน้อย เพราะจริงๆ เป็นช่วงปรับตัวให้คุณ แล้วก็มาขึ้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มมาแล้วเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ตุลาคม)        ระยะที่ 2 นี้ถ้าไปสังเกตอัตราภาษีจะขึ้นเท่าตัวเลย ซึ่งรอบนี้คือการขึ้นจริงแล้ว แต่ว่าถ้าถามโดยส่วนตัวยังรู้สึกว่า เรายอมเขาเพราะว่าเรายอมเขาส่วนหนึ่ง เราขอเขาที่ 6 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลในการเริ่มอัตราจัดเก็บ แต่อุตสาหกรรมขอต่อรอง เราก็มาสรุปจบกันที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรอบนี้ยัง 10 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลอยู่นะคะ เพราะฉะนั้นเรายังมีระยะที่ 3 อีก หมดปี 2564 จะขึ้นระยะที่ 3 ซึ่งระยะที่ 3 นั้นใครที่ยังคง 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกเก็บมากขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะฉะนั้นเราก็ได้ข้อเสนอตามที่เราเสนอจริงๆ คือเปอร์เซ็นต์น้ำตาลปี 2564 เป็นต้นไป โดยรวมสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ ตอนที่คุยกับภาคอุตสาหกรรมเขามีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร         เขาพอจะรู้กระแสนี้มานานแล้วว่าเราทำเรื่องนี้แน่แล้ว เขาก็จับตามองเครือข่ายคนไทยไม่กินหวานมานานแล้ว เพราะเราไม่ได้เพิ่งทำเรื่องนี้เรื่องแรก สิ่งที่เราเป็นกังวลก็คือว่า เขาจะมีข้อมูลชุดอื่นที่มันพิเศษไปกว่าเราไหม หรือแหล่งข้อมูลอะไรที่มันมากกว่าเราไหม ปรากฏว่าทุกคนก็ใช้แหล่งข้อมูลชุดเดียวกัน ตัวเลขที่ได้จากฝั่งที่เราคำนวณกับจากฝั่งที่เขาได้ก็ไม่ได้ต่างกัน เขารู้อยู่แล้วว่าน้ำตาลไปจากตรงนี้มากที่สุดแล้วสำหรับทั่วโลก จริงๆ คนเราวันหนึ่งๆ ได้น้ำตาลจากเครื่องดื่มมากที่สุด        เพราะฉะนั้นคุยกับเขาแบบตรงๆ ว่าเราคาดหวังที่จะให้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีการขึ้นภาษีน้ำตาลจริงๆ ก็คือว่าเราคาดหวังว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มันดีต่อสุขภาพ healthy มากขึ้น จะสอดคล้องกับเรื่อง Healthy Choice ที่เราช่วยกันทำ เราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้น มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น คนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะธรรมชาติมนุษย์เห็นอะไรเยอะก็ซื้ออย่างนั้น การตลาดดีก็ซื้ออันนั้น ระยะยาวก็จะสามารถเปลี่ยนได้เอง เราคาดหวังข้อแรกคือเรื่องนี้ เรื่องที่สองที่เราบอกเขาก็คือว่าถ้าคุณไม่อยากโดนเก็บภาษี คุณก็มีวิธีการเดียวคือคุณต้องปรับสูตร ถ้าคุณไม่ปรับสูตรคุณก็ลดขนาดลง จากเดิมเคยขาย 325 มล. คุณก็ลดลงให้แพคเก็จลดลง ฟังก์ชันเล็กลง คนก็กินน้อยลง เพราะว่าข้อมูลเรามีนะคะ คนบริโภคเขาซื้อเป็นแก้ว เป็นขวด เป็นกระป๋อง เหมือนเราซื้อน้ำเราไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ เราเสีย 5 บาทจากเดิม 10 บาทขวดใหญ่มาก ลดลงมาเหลือขวดเล็กก็ไม่ได้ว่าอะไรก็กินหมด แต่ก็ยังไม่เป็นไรก็เพราะว่าเราก็ไม่ได้กินเข้าไปเยอะ เพราะฉะนั้นคุณก็มีทางเลือกขนาดเป็นขวด คุณก็จะเสียภาษีน้อยลงก็คุยกันว่าแบบนี้ เพราะว่านั่นคือสิ่งที่เราอยากได้ เสียงจากผู้บริโภคทั่วไป        ถ้าโดยรวมช่วงที่เราทำเราไม่ค่อยได้รับกระแสต้านแบบตรงๆ แต่มีตั้งกระทู้ใน pantip ว่าให้คนช่วยดู ซึ่งก็ไม่ได้แรงมาก ไม่มีการออกมาเดินขบวนหรืออะไรทั้งสิ้น น้ำตาลที่บอกจะมีผลกระทบแทบไม่กระทบเลยค่ะ แล้วเราก็ชี้แจงให้เห็นด้วยว่าใครเข้าใจเรื่องของโควต้าน้ำตาลในประเทศ การทำตรงนี้บางทีอาจจะไม่ได้กระทบเชิงลบด้วย บางทีเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องพวกนี้เยอะแต่วันนั้นเขาอธิบายให้ฟัง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้กระทบเราเลย สังเกตว่ามาตรการนี้พวกอ้อยและน้ำตาลไม่ได้รุกมาต่อต้านเท่าไหร่ เพราะเราเชิญเขามาประชุมด้วยค่ะ เขาอยู่ในคณะกรรมการเราด้วย สิ่งที่ตกลงกันทำก็คือทางภาคอุตสาหกรรมเขาจะพยายามช่วยให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งลดน้ำตาล สัญญาเป็นแต่ละปีเลยว่ากี่ SBU กี่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสองปีผ่านไปเขาทำได้ดีมากนะคะ เขาทำได้มันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในท้องตลาดมากกว่าที่ตั้งใจเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ถ้าเราไปสังเกตในท้องตลาดเดี๋ยวนี้แม้กระทั่ง 3 in 1 เขาก็เริ่มบอกให้ลดลงมา        นอกจากนี้ข้อมูลที่ออกมาจากการสำรวจพบว่า คนก็ยังเลือกเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูปเยอะกว่าอยู่ดีเพราะว่าจริงๆ คนไทยไม่ได้รวย การดื่มเครื่องดื่มแบบแก้วจริงๆ ราคามันแพงนะคะ ณ ขณะนี้เราก็มีโพลล์ เราก็พยายามรณรงค์ให้คนสั่งเครื่องดื่มเวลาคุณไปสั่งเป็นแก้วที่เป็นไซส์ทั้งหมดว่า “คุณต้องสั่งหวานน้อยหรืองดน้ำตาล” เราก็มีโพลล์ของเราเป็นระยะล่าสุดเพิ่งเก็บกันเองเมื่อสัปดาห์ที่ ในกลุ่มคนทำงานเริ่มมีการสั่งแบบหวานน้อย อ่อนหวานลงบ้างไหม เราได้ตัวอย่างมาไม่มากประมาณ 1,138 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ประชาชนทั่วไปจริงๆ 83 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตัวเองรู้และเริ่มสั่งให้เติมน้ำตาลน้อยลงหรือสั่งอ่อนหวาน ซึ่งจริงๆ อันนี้เป็นผลกระทบจากกระแสข่าวของเรื่องภาษีน้ำตาล ทำให้เขาเริ่มรู้ว่าการกินน้ำตาลเยอะมันไม่ดีอย่างไร        ตอนนี้ในส่วนของเครือข่ายเองเราก็หันมาทำข้อมูลเผยแพร่ โดยในแต่ละจังหวัดทำเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งเขาจะขึ้นเลยสูตรเมนูน้ำตาลของเขาสูตรไหนน้ำตาลเท่าไหร่ หรือถ้าคุณอยากสั่งหวานขั้นที่ 1 น้ำตาลเท่าไหร่ หวานขั้นที่ 2 น้ำตาลเท่าไหร่  มีมากเลยหลายจังหวัด อย่างที่สิงห์บุรีเขาลงทุนทำ Map คล้ายๆ Google Map ให้ดูว่าจะไปหาได้ตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้เราทำมานานมากแล้ว ในเครือข่ายพยายามมี connection กับร้านกาแฟ ตอนนี้กรมอนามัยลุกขึ้นมาทำตรงนี้เป็นนโยบาย ก็ทำเป็นกลุ่มร้านกาแฟ คือเป็นประเด็นเรื่องของการลดน้ำตาลซองที่ชาวบ้านเติมเอง จากเดิมที่มาตรฐานคนไทยเราจะใช้กันอยู่ที่ซองละ 6 กรัม เราขอให้เป็นแค่ 4 กรัม ซึ่งมีร้านกาแฟที่เข้าร่วมกับเราอย่าง แบล็คแคนยอน อเมซอน ณ ขณะนี้จะวางซองแค่ 4 กรัม หรือไม่เขาก็ไม่วางซองเลย ก็ลดไปโดยไม่รู้ตัว ลดไปแล้วทันที 25 เปอร์เซ็นต์ หรือรู้ตัวโดยการต้องตักเอง เขาก็ไม่แจกเป็นซองให้ลูกค้าตักเอง ร้านกาแฟเราส่วนใหญ่ที่ไม่ใช้ซองขนาด 4 กรัม เขาก็ให้ตักเอง ข้อมูล Website www.sweetenough.in.th  , Facebook ชื่อเพจ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ทำไมจักรยานยนต์จึงควรช้าลง

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์“เด็กคนนี้หมอได้รูปมาจากโคราชเด็กกำลังขับขี่รถกลับจากโรงเรียนตอนเย็น แล้วก็ไปชนกับรถบัส เป็นโชคดีในโชคร้ายก็คือรถบัสไม่ได้ตกถนนไปเพราะหักหลบเด็กคนนี้ ถ้ารถบัสตกถนนไปก็จะมีคนในรถบัสตายอีก” อาจารย์ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ ในวัยเกษียณอายุราชการ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาสำนักงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) และอาจารย์ผู้สอนและผู้เขียนตำราสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร Board of Traffic medicine, Medical council, Thailand เริ่มต้นเล่าปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการตายในปัจจุบัน         ในภาพรวมของอุบัติเหตุขนส่งทั้งหมด เราจะเห็นภาพผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร แล้วก็คนเดินเท้า มี 72 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งในกลุ่มผู้ขับขี่ 89 เปอร์เซ็นต์เป็นมอเตอร์ไซด์ ในส่วนของผู้โดยสาร 23 เปอร์เซ็นต์ มี 64 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้โดยสารมอเตอร์ไซด์ ถามว่าแล้วคนเดินเท้าถูกชนด้วยรถอะไรมากที่สุด ก็มอเตอร์ไซด์อีก    เราปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้มานานเกินไปเป็นยี่สิบกว่าปี มันก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามาดูในเด็กต่ำกว่า 18 ปีก็จะเห็นได้ว่า เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ 55 เปอร์เซ็นต์ พอไปดูจริงๆ ก็เป็นขับรถมอเตอร์ไซต์ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในกลุ่มผู้โดยสารก็เป็นโดยสารมอเตอร์ไซต์ 74 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ถูกชนก็โดยมอเตอร์ไซต์อีก ยังไงก็หนีไม่พ้นมอเตอร์ไซต์ “หมอก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่มีการขยับ” เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหลักๆ ลองดูในเด็กที่ไม่ควรมีใบขับขี่แล้ว  พวกเขาไม่ควรขับขี่รถใดๆ เลย แต่เราก็ยังพบว่าเขาเป็นผู้ขับขี่ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ (เป็นรถมอเตอร์ไซต์สักเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้โดยสาร 42 เปอร์เซ็นต์) ทุกอย่างเป็นมอเตอร์ไซต์หมด         ที่นี้เรามาดูกลุ่มอายุในกลุ่มมอเตอร์ไซด์แท้ๆ เลย กลุ่มมอเตอร์ไซต์แท้ๆ จะเริ่มบาดเจ็บรุนแรงได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดก็มีแล้ว เพราะเอาเด็กขึ้นมอเตอร์ไซต์ 10-14 ปี ชัดเจนแต่ไปสูงสุดที่ 15-19 ปี แล้วก็ไล่ๆ ลงมา แม้แต่วัยที่สมควรมีใบขับขี่แล้วคือ 20 ปี อันนี้เป็นอีกฐานหนึ่งที่เราต่างกันไป เราได้ ข้อมูลเรื่องการตายรวมจาก 3 ฐาน ที่พบว่า ผู้ตายจากบาดเจ็บอุบัติเหตุขนส่ง  15-19 ปี มีสัดส่วน เพิ่ม จาก2552ไป2557 เกือบ5%  จากนพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ข้อมูล 3 ฐานอันนี้เราจะเห็นได้แม้แต่กลุ่ม 20 ปี ตอนนี้ที่ยุโรปเขาถึงได้มีการเจรจาอยากจะเปลี่ยนคนที่ขับรถได้ให้เป็นอายุแถวๆ 25 ปี ซึ่งคงยากเพราะตรงนี้เขาจะดูกราฟจับแยกกันแล้วก็ตัดสิน เราเห็นกราฟพวกนี้มานานแล้ว สัดส่วนการตายในกลุ่ม 15-19 ปี ล่าสุดที่หมอเห็นปี 2552-2557 ขึ้นมาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เด็กเราตายเพิ่มขึ้น สรุปว่าเราอยากได้คนหนุ่มคนสาวไว้ดูแลคนแก่ แต่ว่าจะมาตายเพราะมอเตอร์ไซต์กันเยอะมากๆ ถ้ามาดูเป็นรายขวบปีอันนี้ก็เป็นการที่บาดเจ็บรุนแรง รุนแรงแปลว่า Admit  ดูอาการ หรือตายในโรงพยาบาลรวมหมด ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ขวบหนึ่งบาดเจ็บมานอนโรงพยาบาลแล้ว ไล่ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นจากฐานเฝ้าระวังของ 33 โรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทย หรือก็คือหนึ่งในสาม ถ้าประมาณการคร่าวๆ ทั้งประเทศก็คูณสามเข้าไป แปลว่าทุกๆ ปีเราจะมีคนบาดเจ็บประมาณสามเท่าของอันนี้ แล้วจะเห็นได้ว่าสถิติมันขึ้นชัดเจนมาที่ประมาณอายุ 12 ปี 13 ปี 14 ปี แล้วก็กระโดดขึ้นมา 15 ปี เพราะว่าได้ใบขับขี่ชั่วคราวแล้ว สถิติก็ขึ้นไปอีกไปสิ้นสุดที่อายุ 19 ปี จึงจะเริ่มลงมาหน่อย ภาพรวมนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่ 2538        มาดูสถิติคนตายจากการใช้รถจักรยานยนต์ คนตายเริ่มตั้งแต่ขวบหนึ่งก็มีแล้ว ทุกคนอยู่บนมอเตอร์ไซด์จะขี่หรือจะซ้อนก็ตามเรารวมหมด เป็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ แล้วก็จะเริ่มมีผู้ขับขี่ให้เห็นตอน 8 ขวบ คนที่ตายจากการใช้รถจักรยานยนต์เป็นรายปีจะเห็นว่ามันไปสูงสุดที่อายุ 19 ปี ตรงนี้เป็นอะไรที่เราควรจะปกป้องเขาไหม         มาดูเวลา เวลาที่เขาตายเวลาที่เขาเจ็บรวมกันจะเห็นว่ามันเริ่มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คือตั้งแต่ตอนเวลาเราออกจากบ้านแล้วไปสูงสุดที่ 19.00 น. เพราะฉะนั้นเด็กที่ได้ใบขับขี่ปีแรกไม่ควรจะออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็นแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรมันไม่ใช่โรงเรียนนี่ แต่ว่าขนส่งจะบอกเสมอเลยว่าคุณหมอต้องยอมให้เด็กขี่มอเตอร์ไซต์นะเพราะเขาต้องไปโรงเรียน เขาต้องไปทำอะไรให้พ่อแม่ เรื่องนี้คุยกับขนส่ง(กรมการขนส่งทางบก) มาหลายปีแล้วไม่มีทางทำอะไรกับเรื่องที่เขาอ้างได้ ถามว่า การขับขี่จักรยานยนต์เกิดการตาย การตายเกิดจากอะไรมากที่สุด เกิดจากการชนถึง 73 เปอร์เซ็นต์ คว่ำเองก็มีประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ ที่มาสถิตินี้นี้เกิดจากการศึกษาเครือข่ายเฝ้าระวัง 9 โรงพยาบาล            ถามว่ารถชนส่วนใหญ่ชนจากใคร ถ้าเอาเป็นยานพาหนะที่เขาชนร่วมก็คือรถจักรยานยนต์ด้วยกันเอง ปิกอัพ รถเก๋ง อันนี้ต่างจากฐานข้อมูลตำรวจ ฐานข้อมูลตำรวจมักจะใส่รถใหญ่ ไม่ใส่รถมอเตอร์ไซต์เพราะว่ามอเตอร์ไซต์กับมอเตอร์ไซต์มันอาจไม่นับเป็นกรณี(case) ได้ เจ็บไปโรงพยาบาลแต่ไม่แจ้งตำรวจ เห็นใจกันอันนี้ก็เป็นจุดที่ต่างกัน         เวลาเรานำเสนอต้องดูทั้งสองทาง มาดูกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เป็นกลุ่มผู้ขับขี่ อายุน้อยที่สุด ป.1 อายุ 7 ปีที่เจ็บมานอนโรงพยาบาล แล้วเวลาเราไปเมืองนอกตอนนำเสนอ Young Driver ของประเทศอื่นเขา 18 ปี พอเราบอกของเราว่า 7 ปี ต่างชาติเขาบอกว่าเป็นไปได้อย่างไร     ที่เมืองเขาไม่ให้เกิดหรอกผู้ใหญ่จะห้ามเด็กไว้ไม่ให้ออกจากบ้าน เกิดอะไรขึ้นทำไมปล่อยให้เกิดอย่างนี้ได้ เมืองไทยคือขับตั้งแต่ 5 ขวบ 6 ขวบ พอขายันถึงก็ขี่แล้ว อายุ 12 ปีมีอัตราส่วนผู้ขับขี่ต่อผู้โดยสารคือ 2 ต่อ 1 อายุ 12 ปีก็ขี่มากกว่าซ้อนแล้ว แต่ว่าพ่อแม่ปล่อยให้เขาใช้ กลุ่มอายุที่ต้องมีใบขับขี่แต่ไม่มีบ่อยที่สุดคือ 15-19 ปี พวกนี้ยังไม่มีใบขับขี่ อันนี้เรารู้กันมานานแล้ว วิธีแก้ของขนส่งก็คือรีบแจกให้มันเยอะๆ ซึ่งมันก็ผิดทางอีก กลุ่มที่อายุขับขี่แล้วก็ไปชนกับคนอื่นก็เป็นกลุ่มนี้แหละ 15-19 ปี เราเริ่มสงสัยแล้วว่าการอนุโลมให้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีตั้งแต่ 2548 ไม่น่าจะช่วยลดปัญหาแต่กลับเพิ่มการตายในกลุ่ม 15-19 ปี แล้วก็กระตุ้นการขับขี่ก่อนวัยอันควรในอายุ  6-14 ปี อันนี้ คือกฎกระทรวงที่ออกในปี 2548 หมอโมโหมาก หมอไม่รู้เรื่องนี้ก่อนเลยขนาดเป็นนักวิชาการขนส่ง ใบอนุญาตใบขับขี่เด็กต่ำกว่า 15 ปีให้ขับขี่ได้ไม่เกิน 110 กม./ชม. (เดิม 90) พอหมอไปเมืองนอกได้สักปีสองปีเขาก็ทำอันนี้เลยซึ่งไม่มีใครรู้แล้วเราก็เพิ่งมาเห็นกัน  ดูเหตุผลนะคะ เหตุผลอันนี้น่าตื่นเต้นมาก เหตุผลในการประกาศคือ เพราะว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มขนาดความจุของกระบอกสูบให้สูงขึ้น มันไม่มีกฎหมายประเทศไหนหรอกที่ออกตามคนขาย มีแต่มันต้องออกมาคุมไม่ให้ทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ฟ้องให้เห็นเลยว่า “ประเทศไทยทำผิดทาง” แล้วขนส่งไม่ต้องไปคุยเลย เขาไม่ทำ เราคุยเรื่องนี้กันมา 30 กว่าปีแล้ว เรื่องของ “คำ” ที่ใช้ในการโฆษณามีส่วนด้วยไหม         ที่สำคัญเลยก็คือการโฆษณานี่แหละ การโฆษณาของประเทศไทยก็จะมีคำว่า  เร็ว เจ๋ง New Model  Maximum Speed  เพิ่มขึ้น ของเมืองนอกจะเขียนแค่ เท่ สกู๊ตเตอร์ธรรมดา แล้วก็ขับขี่ smooth(นุ่มนวล) ที่สำคัญก็คือพรีเซนเตอร์ กลุ่มที่เอามาโฆษณาประเทศเราใช้เด็กวัยรุ่น ใช้คนหนุ่มสาว ใช้ทั้งครอบครัว มันระบาดไปทั่วโลก อย่างกรณีหนึ่งมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราวัยรุ่นชายของไทยแสดงการขับขี่สื่อถึงความเร็ว โฆษณาออกทีวีเลยยกล้อออกทีวีค่ะ ตอนนั้นหมออยู่อินเดียหมอเลย capture หน้าจอไว้ แล้วหมอก็ไปพูดที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคมเขาตอบสนองทันที เขาสั่งห้ามโฆษณาแบบนี้ แล้วก็ออกมาเป็นตัววิ่งว่าถ้าใครเห็นโฆษณาที่สุ่มเสี่ยงอย่างนี้ให้โทรไปรายงานที่ Hotline เบอร์นี้         หมอก็นึกว่าเมืองไทยเรียบร้อยแล้วคงทำกันดีแล้ว พอเกษียณกลับมาก็ไปเปิดดู นี่เลย 2019 ตอนแรกเขาให้โชว์เปิดตัวเฉยๆ แต่ตอนจบของการแข่งในสนามยกล้อให้ดูตอนจบพอดี หน้าพระบรมมหาราชวัง เด็กมันเห็นยกล้อ  เด็กไม่ได้คิดเองเท่าไหร่หรอกแค่รู้ว่าทำได้ แล้วเห็นจากที่ไหนล่ะ ก็โฆษณา  โฆษณาเขาบอกว่าเด็กต้องขี่มอเตอร์ไซต์ ขี่เร็วขี่แข่งกับนักแข่งได้แล้วก็ไม่ต้องไปคนเดียวนะไปได้สามคนเพราะเบาะยาว ทุกอย่างมันเหนี่ยวนำหมด เขาโชว์แบบนี้มันดูสนุกสนานตื่นเต้นน่าดู เขาไม่เคยโชว์อันตราย  ซึ่ง “อันตราย” อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่ตำรวจเห็น   สิ่งที่หมอเห็น สิ่งที่พยาบาลเห็นอยู่ทุกวัน คนที่รอดตายมาได้ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ลองดูรถคันนี้นะคะ(คุณหมอแสดงภาพอุบัติเหตุ) จักรยานยนต์คันเดียวไปกัน 4 คน แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก  เขาซื้อเพราะโฆษณา ที่สื่อข้อความว่า เป็นความฝัน ตั้งชื่อดีมากเลย Dream ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชนชั้นกลาง และชนชั้นที่รายได้อยู่ด้านล่างเขาก็ใฝ่ฝันอย่างนี้ว่า สักวันเขาต้องมี นี่คือสิ่งที่เขาฝัน แต่สิ่งที่เขาต้องเจอคืออย่างนี้ ใครจะไปคิดว่าลูกน้อยของเขาจะถูกดูดเข้าไปในนี้ ชายผ้าอ้อมมันลงไปแล้วล้อมันพันเด็กเข้าไปคาอยู่ระหว่างซี่ล้อเลยดึงแรงมาก มันไวด้วยนะพันก็เรียบร้อยเลย         มีอีกอันที่อาจารย์หลายท่านเป็นห่วงว่าอย่าให้มีตะกร้าหน้ารถ ขอเลย เพราะตะกร้าหน้ารถนี่เขาบอกมันสบายดีมันใส่ของได้แต่ถ้าใส่เยอะๆ มันบังไฟไม่ปลอดภัย แล้วถ้าหนักก็ทำให้หน้ารถส่าย แต่ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือว่ามันเอาไว้เก็บหมวก พอพ้นตำรวจแล้ววางหมวกได้ แต่ถ้าเราไม่มีตะกร้าเขาก็จะลำบากหน่อย มอเตอร์ไซด์ไทยปลอดภัยจริงไหม         ปลอดภัยจริงไหม บริษัทรถเขามักพูดอยู่เสมอว่า รถเขาได้มาตรฐานเขาพูดทุกครั้ง อันนี้ต้องขอบคุณ ดร.ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิชาการอิสระ เป็นคนแรกที่ทำวิจัยนี้ให้ ลองดูข้อมูลนี้ ฮอนด้าสกู๊ปปี้ ที่ญี่ปุ่นหน้ายางล้อ 90 มิลลิเมตรของเรา 70 มิลลิเมตรหน้ายางเราแคบกว่า แล้วก็วงล้อของเขา 10 นิ้ว ของเรา  14 นิ้ว ความเร็วสูงสุดของเขาให้แค่ 90 กม./ชม. แต่สิงห์มอเตอร์ไซต์ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นเขาควบคุมที่ตัวจุดไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าไม่ให้มันวิ่งได้เร็วของเราเร็วที่สุดเลยคือ 143 กม./ชม. ลองดูทุกยี่ห้อมีหมด ในกลุ่ม Family มอเตอร์ไซต์กลุ่มครอบครัว อันนี้เอามาเพื่อฆ่าครอบครัวโดยตรง 125 ซีซี หน้ายาง 89 มิลลิเมตร แต่ว่าของไทยหน้ายาง 70 มิลลิเมตร  ที่สำคัญคือคุณศิริวรรณเขาฝากว่า เขาเห็นว่าเบาะมันน่าจะยาวกว่าด้วยนะ ต้องไปวัดดูเพราะว่าเบาะยาวกว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นถ้าเบาะยาวซ้อนได้เยอะได้สามสี่คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นด้วยบังเอิญ ทุกอย่างมันมีการวางแผนไว้ ของสหรัฐอเมริกาคุณศิริวรรณเขาทำไว้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาความเร็วอยู่แถวๆ 70 90 / 65 90 แล้วเขาก็สังเกตว่าน้ำหนักรถมันมากกว่า จุดนี้อาจารย์พิชัย ธานีรณานนท์ ก็บอกว่าน้ำหนักรถมันเยอะกว่า แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร น้ำหนักรถของมอเตอร์ไซต์ในปะเทศไทยถึงเบากว่า พอน้ำหนักเบาปุ๊บมันก็วิ่งได้เร็วขึ้น อาจจะเปลี่ยนเหล็กมาเป็นพลาสติก(ไม่แน่ใจ) แล้วคุณศิริวรรณเขาก็บอกหมอๆ นึกดีๆ นะ  ถ้ามันเบาลงมันดีอย่างไรเด็กมันบังคับได้ เด็กตัวเล็กๆ มันก็บังคับมอเตอร์ไซต์ได้ เพราะมันไม่หนัก เรามาดูว่าทางบริษัทมอเตอร์ไซด์นี่เราคุยกับเขานานแล้ว เขาบอกว่าของเขาได้มาตรฐานแล้วก็ไม่มีปัญหาของเขาปลอดภัยจนกระทั่ง ผศ.ดร.จุฑามาศ ม.สงขลา พูดเรื่อง การทดสอบเพียงแค่ 60 กม./ชม. และข้อมูลที่อาจารย์ไม่ได้กล่าวแต่แสดงตารางการเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ  เห็นได้ว่า รถจักรยานยนต์รุ่นเดียวกัน ในอังกฤษ เกือบทั้งหมด หน้ายางกว้างกว่าไทยชัดเจน  ของไทยกับของอังกฤษที่บอกว่าปลอดภัยเหมือนกันนี่ปลอดภัยจริงไหม เพราะว่าเราไม่สามารถจะบังคับให้มอเตอร์ไซต์มาแถลงต่อหน้าศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนนได้ คือตอนนั้นคุยกันแล้วและเราก็เถียงกันแล้ว เราก็บอกว่าเขาขอพบหมอนอกรอบ หมอบอกไม่พบเพราะถ้าพบแล้วหมออาจถูกถ่ายรูปแล้วไปโชว์ว่าหมอชไมพันธุ์ support  หมอบอกไม่พบค่ะ พบกันที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเลย ตอนนั้นหมออยู่ต่างประเทศแล้ว ปรากฏว่าเขาฝากคนที่เคยทำงานของญี่ปุ่นมาติดต่อ ทีนี้เขาก็บอกว่าของเขาปลอดภัย ผลการทดสอบ เราทดสอบที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่รู้ว่ามันวิ่งได้ 130  พบว่า หน้ายางที่กว้างจะช่วยผู้ขับขี่ควบคุมรถได้มีเสถียรภาพมากกว่าหน้ายางแคบ เพราะพื้นที่สัมผัสระหว่างยางกับถนนมากแรงเสียดทานมากและยึดเกาะถนนดีกว่า         ดร.จุฑามาศ เสนอแนะอย่างกล้าหาญเลยบอกว่า ควรจะมีหน้ายางที่กว้างขึ้น โดยที่ผู้ผลิตจักรยานยนต์ในประเทศไทยควรผลิตหน้ายางให้กว้างขึ้นอย่างน้อยยางหน้า 110 มิลลิเมตร ยางหลังก็เป็น 120 มิลลิเมตร และควรจะมีการวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นการนำเสนอที่กล้าหาญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่วิศวกรจะไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้ เหมือนหมอไม่ค่อยจะทำอะไรกับบริษัทยาอารมณ์เดียวกัน เรามาดูว่าแล้วที่บอกว่าแรงยึดเกาะถนนต่ำวิ่งเร็วดัดแปลงทำความเร็วได้นี่เจ็บจริงไหม ก็เจ็บมาเป็นอันดับต้นๆ นี่คือร้อยละของรุ่นจักรยานยนต์ที่ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตใช้ ก็เป็นไปตามส่วนแบ่งการตลาด(Market share)   คือ Market share เป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ใครขายดีกว่า สถิติการบาดเจ็บ ตาย ก็เรียงแบบเดียวกัน แล้วที่สำคัญรุ่นล้อกว้างสร้างเด็กแว้น พวกนี้เป็นอีกกลุ่มคือเขาไปทำเนื่องจากตะเกียบมันยาว เขาสามารถจะเอาล้อเล็กๆ ยางเล็กๆ ไปใส่เพื่อให้วิ่งเร็ว ลองดูที่เขาจับมาที่เป็นเด็กแว้นมันจะเป็นมอเตอร์ไซต์ถูก    มันไม่ใช่มอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ คือพวกนี้เขาไปกว้านลูกสูบ ไปเปลี่ยนยาง ราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยถูกเมื่อคิดเป็นเหรียญสหรัฐ เราไม่รู้ทำไมถึงทำได้ถูกมาก ปรับเปลี่ยนค่านิยมจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ไหม         ทำไมมันเกิดวิถีชีวิตแบบนี้ขึ้นมาในสังคมไทย เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมันถูกหลอมมา ฝรั่งถามว่าผู้ใหญ่เมืองไทยไปไหนหมดทำไมปล่อยให้เด็กขี่ ต้องบอกว่าพ่อแม่ให้หนูขี่เองใช้ไปซื้อของด้วยซ้ำไป แปลว่าเขาไม่คิดว่ามันอันตราย เมื่อก่อนนี้เขาก็ให้ลูกขี่ควายไปปากซอยไปปากถนน ตอนนี้ควายไม่มีแล้วมีแต่มอเตอร์ไซต์ส่งไปไม่เห็นมีใครบอกว่ามันอันตรายเลยใช่ไหม         ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข เป็นด็อกเตอร์ทางสังคมศาสตร์ท่านไปวิจัยไปอยู่คลุกคลีกับคนใช้มอเตอร์ไซต์ ท่านบอกว่ารถมอเตอร์ไซต์ที่แม่ซื้อให้ตอน ม.1 ที่จริงไม่ใช่ของขวัญ  ที่แท้แล้วคือเป็นภัยร้ายพ่อแม่สอนเองตั้งแต่ ป.5 แล้วตัดสินใจซื้อรถเมื่อ ม.1 บังเอิญท่านเป็นเด็กโชคดีที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้ บางคนเขาบอกเพราะว่าลูกอยู่ไกลถ้าเป็นหมอๆ ก็เข้าใจเขานะถ้าเขาต้องจ่าย 800 บาททุกเดือนเป็นค่ารถประจำทาง รถรับส่งนักเรียน เราเอา 800 บาททุกเดือนมาผ่อนมอเตอร์ไซต์ 2 ปีก็ได้แล้วคันหนึ่ง เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดาเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายว่ามันมีผลกระทบอย่างไร แล้วก็ยากด้วยที่คนต่างจังหวัดจะไปไหนมาไหนโดยไม่มีมอเตอร์ไซต์         คุณศิริวรรณที่เป็นคนวิจัยเขาบอกว่าเขาเป็นคนหนองคาย เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขามีรถประจำทางวิ่งจากท่าบ่อเข้าหนองคาย ต่อมาพอรถมอเตอร์ไซต์เยอะๆ มันเจ๊งหมด ตอนนี้หลานเขาต้องซ้อนมอเตอร์ไซต์ไปเพราะว่าเป็นวิธีเดียวที่จะไปโรงเรียน ขนส่งมันพังหมดเลยต้องให้บริษัทมอเตอร์ไซต์มาช่วย ถ้าระบบขนส่งดีทุกคนเข้าถึง ปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซต์กับอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์คงดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ผู้เสียหายจากการซื้อทัวร์ อีแอลซี

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อโปรแกรมทัวร์เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กับ บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อนางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว(กทท.) เขตปทุมวัน ขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายและหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว  โดยมีข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้กรมการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล นำไปพิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ซ้ำอีก และให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการด้วยความสุจริต อาจารย์เรณู เวชรัชต์พิมล  ข้าราชการบำนาญ หนึ่งในผู้เสียหายเปิดใจให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉลาดซื้อว่า         ที่เรามาร้องเรียน คือเกี่ยวกับบริษัททัวร์ที่เป็นข่าวชื่อบริษัท ELC ทัวร์ ซึ่งผู้บริหารก็ถูกจับกุมแล้วจริงๆ เราไม่มาที่นี่เลยก็ได้และหลายๆ คนก็ไม่อยากเป็นข่าวแต่ที่เรามาเพราะเราเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังคุ้มครองประชาชนได้ไม่ดี เราอยากจะทำเพื่อส่วนรวมเพื่ออนาคตว่ามันจะต้องมีกฎหมายที่ดีกว่านี้เพื่อป้องกันสิทธิของประชาชนเราจึงมาเรียกร้องในวันนี้         เราซื้อทัวร์ไปเที่ยวประเทศแคนาดาโอนเงินให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 แต่เขาไม่ออกทัวร์ให้ กำหนดเดินทางประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาก็เลื่อนมาเรื่อยๆ และไม่มีการติดต่อกลับมา  เราก็ติดต่อไปวิธีการที่เราจะเข้าไปติดต่อ คือต้องเข้าไปในแบรนด์ติดต่อทักเขาไปเขาก็ไม่คุยกับเรา แต่เป็นการคุยสื่อสารฝ่ายเดียว ติดต่อเขาได้เฉพาะทางแบรนด์เท่านั้น แล้วก็อาจจะเข้าไปทักพูดคุยกันในกลุ่มแบรนด์ เอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่คุยไม่ตอบ เราก็เข้าไปแต่นานๆ ครั้งเขาถึงจะคุยกับเราบางทีก็มีการหลอกว่าส่งเจ้าหน้าที่มาแล้วมาทำวีซ่า แล้วเจ้าหน้าที่ก็มาหลอกอีกว่าวีซ่าเต็มหมดแล้วจองได้แค่ 5 คนเราก็ต้องเข้าไปดูเองปรากฏว่าว่าง คือมันโกหกเป็นขบวนการเจ้าหน้าที่ก็โกหก เราต้องติดต่อไปเองทุกครั้งเลยมาคิดว่าที่เขาทำทัวร์ถูกได้เป็นเพราะว่าเขาไม่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่หลายคน เขาจะส่งเรื่องมาทาง E-Mail  เช่น คุณกรอกวีซ่า คุณตรวจชื่อนะว่าครบถ้วนไหม ทั้งหมดเขาจะส่งมาให้เราทาง E-Mail เราต้องมาเช็คเอง ทำไมอาจารย์ถึงเลือกใช้บริการบริษัทฯ นี้         เพราะว่าพี่สาวเคยไป ไปมาเป็นสิบครั้งได้ น้องสาวก็ไป ลูกชายลูกสะใภ้ก็ไปก็ไม่มีปัญหา เราก็เลยมั่นใจ เราเองก็เพิ่งจะเข้ามาซื้อทัวร์เมื่อเดือนมกราคมเป็นครั้งแรกเป็นลูกค้าใหม่เพิ่งจะเริ่มมีปัญหาจากที่เราซื้อ  ซึ่งเรารู้ช้าเราควรจะรู้เร็วกว่านี้ ถ้ากรมการท่องเที่ยวปรับปรุงกฎหมายและเผยแพร่ข้อมูลให้เร็วกว่านี้ และเตือนเราว่าบริษัทนี้กำลังอยู่ในข่ายกำลังพิจารณา แต่ไม่ได้มีการเตือนเลย มันมีเรื่องตั้งแต่ก่อนเราซื้อทัวร์แล้ว อย่างเพื่อนนี่มาซื้อเมื่อเดือนมีนาคมนี่เอง(กรมการท่องเที่ยวได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ตั้งแต่ปลายปี 2561 และต่อใบอนุญาตฯ ให้บริษัทฯ เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา) มารวมกลุ่มผู้เสียหายกันได้อย่างไร         พี่นี่แหละเป็นตัวตั้งตัวตี พี่เป็นนักวิชาการที่ทำงานช่วยชาวบ้านอยู่แล้ว รู้จักมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รู้จักคุณสารี คุณรสนา รู้จักหลายๆ คนอยู่แล้ว ก็เลยพากลุ่มผู้เสียหายมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และไม่ได้ไปที่อื่นเลยเพราะเชื่อมั่นในที่นี่  พี่พูดคุยกันในกลุ่มแบรนด์ว่าพี่มีทนายฟรีก็มีคนสนใจทักเข้ามาในกลุ่มไลน์ ตั้งกลุ่มไลน์กันที่เป็นผู้เสียหาย มีคนเห็นเขาก็ไปชวนกันมาในกลุ่ม นัดให้มาเจอกันที่มูลนิธิและมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร เราเริ่มมาหามูลนิธิเมื่อประมาณวันที่ 7 มิถุนายน แต่ว่าเราคุยกันในกลุ่มไลน์ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ให้ศูนย์พิทักษ์สิทธ์ช่วยดำเนินการให้และก็มายื่นเรื่องกันในวันนี้ ก่อนหน้าที่จะมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือเคยดำเนินการอย่างไรบ้าง         ในส่วนตัวเคยรวมกลุ่มมายื่นเรื่องที่กรมการท่องเที่ยว เขาก็รับเรื่องแล้ว ขั้นตอนตอนนี้เขาบอกว่าจะส่งเรื่องไป สคบ. แล้ว ทางกรมฯ เขาก็ตรวจสอบให้เรียบร้อยแล้วว่าเรื่องของพี่ส่งไปที่ สคบ. แล้ว มีความคาดหวังอย่างไร        ความคาดหวังก็อยากให้ปรับปรุงกฎหมาย ก็คือดีใจว่ากรมการท่องเที่ยวเขากำลังจะปรับกฎหมาย เราขอมามีส่วนร่วมในการรับฟัง เขาคงจะแจ้งทางมูลนิธิไป อันที่สองก็คืออยากให้ทำงานเชิงรุกคือ เผยแพร่ เหมือนอย่างคำถามที่ถามบ่อย อย่างวันนี้เอาไปพิมพ์ก็ได้ สำหรับคนที่เจอทัวร์ประเภทแบบนี้ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าคนอาจจะไม่ได้เชื่อถือพี่มากเท่ากับที่เผยแพร่อยู่ใน Web Side ของการท่องเที่ยว จุดประสงค์หลักที่มาในวันนี้คือเพื่อส่วนรวม ในส่วนเรื่องค่าเสียหายก็เป็นเรื่องของตำรวจเป็นเรื่องทางคดี อยากฝากอะไรถึงคนอื่นๆ ที่เจอปัญหาแบบเดียวกับเรา         ถ้าเห็นว่ามีข้อผิดปกติอะไรไม่เป็นไปตามข้อตกลงให้รีบแจ้งที่กรมการท่องเที่ยว    มาปรึกษาที่นี่เลยเขามีอะไรที่จะช่วยเรา อย่างพี่ไม่รู้ว่ามีที่นี่ ถ้ารู้ตั้งแต่แรกพี่คงจะมาเร็วกว่านี้ รู้ว่ามีหน่วยงานท่องเที่ยวที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ไม่รู้ว่ามีกรมการท่องเที่ยวโดยตรงก็เลยไม่ได้มาที่นี่ตั้งแต่แรก เรื่องของเราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร         ก็คิดว่าตำรวจคงจะดำเนินการ อันที่หนึ่งก็คือว่าคนทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย พี่เชื่อว่ามันไม่ได้เป็นการทำผิดคนเดียวมันน่าจะมีขบวนการ และใครก็ตามที่มาทำผิดกฎหมายที่ไม่ได้มีสิทธิ์ขายทัวร์ก็ควรจะโดน เพราะพี่เชื่อว่าเขาไม่ได้ทำแบบจิตอาสาหรอกเขาต้องได้ผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางใดทางหนึ่งในเรื่องผลประโยชน์ที่เขาได้แล้ว พี่คิดว่าคนทำผิดที่เป็นเจ้าของทัวร์ควรจะถูกลงโทษฉ้อโกงประชาชน ยึดทรัพย์ได้เท่าไหร่ก็เอามาแบ่งปันกลับไปเป็นสัดส่วนให้ผู้เสียหายคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นค่ะ อยากฝากอะไรถึงกรมการท่องเที่ยวบ้างคะ         อยากให้กรมการท่องเที่ยวมีคำแนะนำขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ ในการที่จะเลือกบริษัททัวร์แต่ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทนะเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ควรจะบอกว่าเราควรจะตรวจสอบอะไรก่อนจะซื้อทัวร์ 1 2 3 4 5 ต้องทำอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดผิดไปจากอันนี้ขอให้ติดต่อไปที่ไหน ทำในเชิงรุกมี Facebook ไหม มีอะไรของกรมไหม ให้คนได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ให้ความรู้ เพราะกฎหมายมันอ่านแล้วเข้าใจยากเพราะมันมี พรบ. และมันยังมีอนุบัญญัติ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าต้องไปหาอ่านตรงไหน ยังไม่เคยอ่านเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นกฎหมายคนก็รู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่อ่านหรอก อยากให้ทำให้เข้าใจได้ง่าย คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ค่ะ ผู้เสียหายอีก 1 ท่าน คุณจินตนา  ดุลยพัชร์ อาชีพรับราชการเช่นกัน เล่าให้ฟังคล้ายกับท่านแรกว่ารู้จักบริษัททัวร์นี้จากเพื่อนสนิท         เริ่มต้นคือรู้จักทัวร์นี้จากเพื่อนสนิทกัน เขาก็ไปเที่ยวอยู่แล้วเขาก็อยากจะชวนไปด้วย ก็เห็นว่าไม่มีอะไรก็เลยอยากไปเที่ยวพักผ่อนบ้าง ก็ซื้อทัวร์ไปเที่ยวกับเพื่อน นั่นเป็นครั้งแรกที่ซื้อทัวร์ของบริษัทนี้ เพื่อนเคยไปเที่ยวกับที่นี่อยู่แล้วและก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พี่ไม่ได้ทำอะไรเลยคือโอนเงินให้เพื่อนอย่างเดียวให้เพื่อนสมัครให้หมดเลย ติดต่อเจ้าของทัวร์ก็ไม่ได้ทำเองผ่านเพื่อนหมดเลย          ที่จองทัวร์ไว้คือแคนาดากับเมดิเตอร์เรเนียน เคยไปกับทัวร์นี้มาก่อนเคยไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยแล้วราคาก็ถูกกว่าที่อื่นด้วย  เลยมั่นใจที่จะไปกับทัวร์นี้ แต่ไม่ได้จองเองจองผ่านเพื่อน เพื่อนจะเป็นคนติดต่อ บอกว่าถึงเวลาจ่ายเงินแล้วพี่ก็จะโอนเงินให้ จนถึงเวลาต้องไปแต่เขามาเลื่อน เขาจะมีแบรนด์เป็นกลุ่มปิดจ่ายเงินเสร็จถึงจะได้เข้าแบรนด์  ในแบรนด์ก็จะบอกการเคลื่อนไหว เช่น เก็บเงินค่าทัวร์นะ เราก็จะโอนเงินไป         จริงๆ พี่ต้องไปตั้งแต่เดือนมีนาคมแต่เขาเลื่อนพี่มา พอถึงกำหนดบริษัทก็ไม่ได้บอกอะไรเลยจัดกระเป๋า 3 รอบแล้วทำเรื่องลาราชการแล้วด้วย รอบแรกก็ยังมั่นใจเพราะว่าเขานัดเราไปทำวีซ่าเรียบร้อยแล้ว ทำเสร็จถึงเวลาเดินทางก็เงียบ รอบที่สองถึงเวลาก็มีการเลื่อนเราต้องเช็คจากแบรนด์ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาเลย ติดต่อกันทางแบรนด์อย่างเดียว ในแบรนด์เขาจะบอกว่ามีทัวร์ช่วงไหนก็ติดต่อกันกับเพื่อนว่าว่างช่วงไหนก็ไป  ตอนโดนยกเลิกก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีปัญหาด้วยตอนที่เขาเลื่อนรอบแรกพี่ต้องไปตามเอาพาสปอร์ตกลับเองเพราะพี่ต้องใช้ เผื่อมีอะไรขึ้นมา         รอบแรกที่เลื่อนก็รู้สึกไม่ดีกับบริษัทแล้วค่ะ เพราะว่าติดต่อเอาพาสปอร์ตกลับไม่ได้เลยจนต้องหาเองว่าจะไปเอาที่ไหนอย่างไร หาลู่ทางเองหมดเลย ก็โทรไปถามคนที่พาไปทำวีซ่าคือตอนแรกพาสปอร์ตอยู่กับเขาๆ ก็บอกว่าเอาไปส่งแล้วก็ถามว่าที่ตรงไหนพี่ก็ต้องขับรถไปตามต้องทำเองทุกอย่าง ในแบรนด์ก็จะมีกลุ่มที่ตั้งขึ้นมากันเขาก็แนะนำให้มีคนมาตอบ มาช่วยกันเยอะเลยคือคนอื่นก็เคยโดนแบบนี้ก็มาตั้งกลุ่มช่วยกัน เราเริ่มคิดว่าลูกค้าแค่เริ่มมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ตคุณก็ไม่ช่วยเรา ก็คิดว่าคงต้องพิจารณาในการซื้อทัวร์ต่อ จ่ายเงินค่าทัวร์ไป 150,000 บาท 2 ทัวร์แต่ละทัวร์ก็โดนเพิ่มเงินไป 3 รอบ ช่วงแรกที่บอกว่าเราจ่ายเงินไปหมดแล้วก็บอกว่าจะพาไป แต่เพิ่มที่เที่ยวนะก็ให้จ่ายเงินเพิ่มก็จะทยอยเก็บทีละหน่อยเราก็จ่ายไป เพราะเงินส่วนใหญ่อยู่ที่เขาแล้ว ก็ไม่อยากมีปัญหา เราดำเนินการอย่างไรบ้างเมื่อเจอปัญหาที่เกิดขึ้น        คือรู้จักกับพี่สมศรีที่เป็นเพื่อนที่รู้จักกัน เขาจะเป็นคนที่เวลามีปัญหาเขาจะพยายามเรียกร้องให้มันถูกต้องชัดเจน รู้ว่าพี่เขาจะมีลู่ทางที่จะดำเนินการเรื่องนี้ คือทำอย่างไรให้เราได้สิ่งที่เราเสียหายกลับคืนมา ปรึกษากับเขาเพราะเราไม่เคยมีปัญหาแบบนี้    พี่ปรึกษาหลายคน ปรึกษาทนายที่เป็นพี่ชายด้วย พี่ชายแนะนำให้ไปหาสภาทนายความด้วยพี่ก็ไป ดำเนินการเองทุกอย่าง ต้องการทำอะไรก็ได้ให้สิทธิที่มี แล้วเรารู้ว่าเขาทำผิดกฎหมาย ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เขาชะงักไป พอรู้ว่าไม่ได้ไปทัวร์ก็ดำเนินการเลย พี่สมศรีแนะนำให้มาเจอคุณมลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าช่วยเหลือได้แน่นอนเขาช่วยผู้บริโภคจริงๆ พอได้มีโอกาสมาคุยรู้สึกดีมาก คุยกับเพื่อนว่าบางคนเขาไม่มีใครฟังเราแต่คุณมลนั่งฟังและเข้าใจ พยายามถามเพื่อช่วยเหลือรู้สึกดีมากเลยเมื่อกลับไปหลังจากที่คุยกันแล้ว รู้สึกดีว่ามีคนรับฟังปัญหาของเราไปหลายที่แล้ว พี่ชายที่เป็นทนายยังบอกให้ทำใจเลย ความคาดหวังของพี่ที่มาในวันนี้         คือพี่ทำงานราชการและรู้ว่าคนที่อยากพึ่งพาเขาต้องการที่พึ่งอยู่แล้ว หรือแม้แต่พี่ที่ซื้อทัวร์นี่ก็เพราะรู้ว่าเขามีใบอนุญาตเลยซื้อ อยากให้องค์กรที่เราไปพึ่งพาในส่วนนโยบายที่มันมีปัญหาอยู่และทำให้เกิดการแก้ปัญหานี้ขึ้นมาได้ อยากให้ กกท. ได้รับฟังผู้เสียหายรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องมีนโยบายแนวทางในการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีปัญหาอีก ลดช่องว่างให้ได้และเป็นจังหวะที่ดีที่มีผู้เสียหายอยู่แล้ว มีตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นช่วงที่เขาจะได้รับฟัง เช่น ในเรื่องของข่าวสารข้อมูลการ เข้าถึงข้อมูลของผู้มีปัญหาว่าจะรับรู้ได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้รับรู้เลยเราจะหาใครมาพึ่งถ้าไม่มีองค์กรรัฐ เพราะถ้าไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นเราก็ไม่เคยรู้เลยว่ามีหน่วยงานนี้อยู่ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ตรวจสอบอย่างไรไม่รู้เลย หรือแม้แต่ว่าศูนย์ร้องเรียนมีไหมที่จะต้องรับฟังปัญหาของผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องคิดว่าจะซื้ออะไร มีเหตุมีผลอย่าซื้อที่ถูกเกินไป ถ้าคนที่เพิ่มเงินอยากไปเที่ยวถ้าทำได้ถูกต้องก็อยากจะให้ได้ไป เรื่องได้เงินคืนคาดหวังน้อยมากแต่สิ่งที่คาดหวังคืออยากให้มีการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรที่ให้กับผู้บริโภคมากกว่า ให้เป็นบรรทัดฐาน คนอื่นจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเหมือนเรา อยากให้กรมฯ มีแนวทางหรือคำแนะนำอย่างไรสำหรับผู้บริโภค         อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูล เช่นบริษัทไหนที่มี Blacklist บริษัทไหนที่ทำถูกต้องนะ เช่น ขอใบอนุญาตถูกต้อง มีเวลาก็โพสต์เลยค่ะ Online ให้เห็นเลยว่ากลุ่มนี้ทำถูกต้องผู้บริโภคจะได้เลือกได้ ถ้าเกิดบางกลุ่มที่มีปัญหาว่ามีคนร้องเรียนก็ต้องโพสต์เหมือนกันว่ามีคนร้องเรียนนะ อย่างบริษัท ELC เคยมีปัญหามาก่อนหน้านั้นแล้วทำไมยังขายทัวร์ได้ ทำไมเราไม่รู้อย่างพี่มาเจอตอนมีนาคมซึ่งคนอื่นฟ้องแล้วพี่ยังไม่ทราบเลย ไปรอบแรกไม่มีปัญหาแต่เพิ่งมาชะงักช่วงนี้ บริษัทก็ไม่เคยมาคุยเรื่องค่าเสียหายเลยบางครั้งคุยเรื่องเงินไม่เป็นประโยคเลยเป็นแค่วลีว่าให้เพิ่มเงินเท่านั้น อยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคท่านอื่นที่มีปัญหาเหมือนเราแล้วก็ไม่กล้ามาร้องเรียน         ก็ให้คิดว่าตั้งใจทำอะไรที่มันถูกต้อง แล้วก็ต้องเชื่อว่าอย่างน้อยกฎหมายประเทศเราก็มี ถ้าเราคิดทำสิ่งดีๆ ไว้ให้กับลูกหลานให้กับคนที่จะเป็นรุ่นต่อไป คิดว่ามาได้เลย ต้องมาร้องเรียนให้หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือว่าเขามีช่องว่างอะไรอยู่ ให้เขาไปพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 7 ปี กับ “ฟิตเนสไม่ว้าว”

ทุกคนมีสิทธิฉบับเข้าหน้าฝนกับอารมณ์เหงาๆ ขอพาไปย้อนถึงเรื่องราวเก่าๆ เมื่อ 7 ปีก่อน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า แคลิฟอร์เนียฟิตเนส ซึ่งเจ้าของคือ บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ ได้ทยอยปิดสาขาที่ตนเองใช้บริการ โดยไม่แจ้งให้ทราบ และสมาชิกของฟิตเนสต่างก็ไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่นที่เหลือได้ เพราะมีสถานที่ไม่เพียงพอ หรือบางคนเพิ่งสมัครสมาชิกไม่นาน สาขาที่สมัครไว้ก็ปิดบริการ จนต้องสูญเงินไปจำนวนมาก  จนกระทั่งประมาณเดือนมีนาคม 2555 บริษัทฯ ถูกธนาคารกรุงเทพฯ ฟ้องล้มละลาย  (ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำการขอยื่นฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤษภาคม 2555)        สมาชิกที่ได้รับความเสียหาย เริ่มทยอยเข้ามาร้องเรียน  มูลนิธิฯ เห็นว่ากรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก  จึงจัดแถลงข่าวเปิดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมในวันที่ 21 มีนาคม 55  (เปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2555 – 31 สิงหาคม 2555) รวมมีผู้เข้ามาร้องเรียนถึงกว่า 300 ราย  จากนั้นได้มีการประชุมหารือและจัดตั้งแกนนำกลุ่มผู้เสียหายขึ้น เพื่อดำเนินการรับคำร้องเรียนเพิ่มในสื่อสังคมโซเชียล จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 55 มีผู้ร้องเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ถึง 639  ราย  ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องขอถอนการฟื้นฟูกิจการของตนเองเดือนธันวาคม 2555 กล่าวคือ บริษัทฯ  กลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาล้มละลายต่อไปและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 56  (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2556)           จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและข้อมูลของบริษัทฯ พบความผิดปกติและพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตหลายอย่าง เช่น บริษัทฯ รับสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพในราคาที่ไม่สูงมากเพื่อดึงดูดให้มีการสมัครสมาชิกจำนวนมาก   และให้สมาชิกชำระค่าใช้บริการด้วยวิธีการ ชำระเป็นเงินสด หักบัตรเครดิต และชำระเป็นรายเดือนโดยผ่อนกับบัตรเครดิตและการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ต่อเมื่อเข้าไปใช้บริการจะถูกกดดันด้วยเทรนเนอร์ให้สมัครใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนบุคคล  หากใครไม่สมัครจะไม่ได้รับการดูแล  หรือจะถูกเทรนเนอร์เข้ามาตื๊อจนต้องสมัครด้วยความรำคาญ และเมื่อสมัครแล้วจะถูกหว่านล้อมให้สมัครซื้อบริการล่วงหน้า บางรายซื้อล่วงหน้าเกือบ 8 ปี  เป็นเงินหลายแสนบาท เป็นต้น          จากข้อมูลรายงานว่าบริษัทฯ ยังส่งงบดุลบัญชีว่าขาดทุนตั้งแต่ปี 2549-2554  และผู้ตรวจสอบบัญชีไม่รับรองงบฯ ตั้งแต่ปี 2552 สิ่งนี้แสดงว่าบริษัทประสบภาวะทางการเงิน   แต่ในทางปฏิบัติบริษัทฯ ยังรับสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ตลอดเวลา   อีกทั้งเมื่อเดือน สิงหาคม 2554 ไม่มีประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ธุรกิจการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   ได้กำหนดระยะเวลาในสัญญาห้ามเกิน 1 ปี แต่บริษัทฯ ยังรับสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ หากมีสมาชิกทักท้วง จะได้คำตอบว่าเป็นสัญญาตลอดชีพนั่นแหละ แต่ต้องระบุในสัญญาว่าปีเดียว  สมาชิกเห็นว่าเป็นบริษัทมหาชนที่น่าเชื่อถือ คงไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย จนเกิดปัญหาในที่สุด          ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้ จึงขอสัมภาษณ์หนึ่งในแกนนำผู้เสียหาย ที่ยังคงตั้งความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาคดีที่สืบเนื่องมานานถึง 7 ปี          เยาวภา ทรัพย์สมบูรณ์ “อยากให้เป็นบทเรียนกับคนที่อยากไปสมัครฟิตเนสว่า ก่อนสมัครอยากให้เช็คดูให้ดีก่อน สถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังต่อสู้กันอยู่นะคะ ตอนนี้ก็มีการฟ้อง และก็คือเริ่มมีข่าวดีว่าเรา ศาลรับฟ้องเป็นคดี ก็คือเอาผิดกับผู้ที่เรากล่าวหา”ใช้เวลากับการร้องเรียนและดำเนินคดีมานานแค่ไหน        ปีนี้เป็นปีที่เจ็ดแล้ว ศาลเพิ่งจะรับฟ้อง คือเคยต่อสู้กันครั้งหนึ่งเขา(บริษัทฯ) หาว่าเรา คือแบบว่าภาษากฎหมายคือ ไม่เป็นธรรมกับเขา เขาก็สู้ตอบ เขาก็ส่งทนายมาสู้ตอบ แต่ ณ ตอนนี้คือ เมื่อเที่ยวที่แล้วที่ไปฟังศาล ศาลท่านนัดจำเลยมาพบในวันที่ 15 เดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มเรา ที่ฟ้องมีประมาณ 16 ท่าน (เท่าเดิมจากตอนแรก) ค่ะ เป็นตัวแทนในการฟ้อง การทำงานในระหว่างเจ็ดปีที่ผ่านมา มีการประสานงานกันอย่างไร        เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พาเราไปร้องเรียนที่สำนักงานใหญ่ของเขา ไปกองปราบ ไปแจ้งความ ไปทำหนังสือยกเลิกเอกสาร ไปกรรมาธิการที่รัฐสภา เราก็ไปนะคะ ไป สคบ., ปปง. เราไปมาหมด จนเราแบบว่าที่ไหนที่เราคิดว่าเขาให้ความยุติธรรม สามารถช่วยเหลือเราได้ เราก็ไปค่ะ        รวมๆ แล้ว 7 ปีคะ  ตั้งแต่เริ่มเลย ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายเราก็เป็นคนออกเอง แล้วก็มีหน่วยงานทนายความอาสาที่เขาช่วยเหลือในการฟ้อง สิ่งที่ทำให้กลุ่มพี่มีกำลังใจในการสู้คืออะไร        เราถูกโกงเราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ต้องการที่จะเรียกร้องความยุติธรรม ความถูกต้องค่ะ และตอนนี้ 7 ปีเราก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น เราผู้เสียหาย บริษัทแคลิฟลอเนียว้าว ยังไม่เคยให้ความรับผิดชอบใดๆ ให้กับผู้เสียหายเลย  ถามว่าท้อแท้บ้างไหม ไม่เลยค่ะ เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราจะสู้ต่อไปค่ะ เราก็จะดำเนินการทางด้านกฎหมายให้ถึงที่สุด จนกว่าเราผู้เสียหายทุกคนจะได้รับการเยียวยา ของพี่เองได้รับความเสียหายเท่าไหร่คะ        ค่าเสียหายมากทั้งที่หาเอกสารเจอและไม่เจอเกือบล้านค่ะ ที่เราฟ้องไว้ที่พอจะมีเอกสารก็ประมาณเจ็ดแสนกว่า ถ้ารวมทั้งหมดของคนอื่นๆ ด้วย แล้วมูลค่าประมาณหลายสิบล้านคะ เฉพาะที่มาร้องเรียนที่มูลนิธิข้อมูลก็น่าจะหลายล้านอยู่ สำหรับผู้ที่มาฟ้องมูลนิธิ กับผู้ที่ไปฟ้องที่อื่นอีก ก็คือเขาปิดกิจการไปเฉยๆ ก็คือเท่ากับว่าสมาชิกทุกคนถูกโกงหมดไม่มีใครไม่โดนโกง ณ วันที่เขาใกล้ปิดกิจการเขาก็ยังหาลูกค้าอยู่ ตอนนั้นพี่ทำงานและใช้บริการที่ไหนคะ        ตอนนั้นทำงานอยู่บริษัทเอกชน แถวๆ สมุทรปราการ แล้วก็มาใช้ได้เฉพาะวันอาทิตย์วันเดียวนะคะ แต่ก็ซื้อคอร์สไว้มากมาย ระหว่างที่มีปัญหา คอร์สเราก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเขาก็ไมได้คืนเงินให้ เขาบอกว่าปิดกิจการค่ะ เราจะไปออกที่ไหน ก็นอกจากฟ้องผู้ประกอบการใช่ไหมคะ แล้วตอนนี้ออกกำลังกายที่ไหนคะ        ตอนนี้ไม่ได้ไปออกกำลังกายแล้วค่ะ สงสัยจะต้องพึ่งสนามกีฬาแบบแอโรบิคตอนเย็น ตามชุมชนซะแล้ว ดีกว่า คือสบายใจกว่า มีเพื่อนเยอะ แต่ที่เราเลิกเพราะเราไม่ค่อยมีเวลาในบางจุดใช่ไหมคะ แล้วเครื่องออกกำลังกายบางอย่างเราก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีคนสอน แล้วอีกอย่างหนึ่ง อย่างสถานชุมชนเขาก็อาจจะเปิดแค่ไม่เกินหกโมงเย็น เวลามันไม่ได้ เราต้องทำงาน แต่เราก็ผิดหวังกับการให้บริการของฟิตเนสเอกชน ก็ทำให้เข็ด เวลาถ้าเกิดจะไปสมัครที่ไหนก็ต้องระมัดระวัง ตอนนี้ออกกำลังกายกำลังเป็นกระแส        ใช่ค่ะ การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่การบริการก็ต้องให้กับผู้บริโภค ผู้ใช้บริการได้รับความยุติธรรม สอนให้จบ เงินเสียไปคุณก็ต้องสอนเราให้จบ ไม่ใช่จ้องแต่ว่าขอให้ซื้อเพิ่ม ซื้อเพิ่มโดยที่ไม่รู้ว่าการบริการจะเป็นอย่างไร คุณจะบริการให้เราได้หรือไม่ ใช่ไหมคะ คุณสักแต่ว่าให้เราซื้อ ซื้อคอร์สแล้วสุดท้ายบริษัทก็ปิดกิจการหนีไป ซึ่งเกิดเหตุกับแคลิฟลอเนียว้าวแล้ว ก็ไม่อยากจะให้เกิดกับบุคคลอื่น โดนเหมือนอย่างที่เราโดน เพราะว่าอันนี้ก็ถือเป็นบทเรียนคนที่จะสมัครฟิตเนสตอนนี้ต้องดูอะไรบ้าง        ก็อยากจะเตือนผู้ที่จะสมัครฟิตเนสว่า การจะสมัครก็ให้ดูเอกสารสัญญาให้ชัดเจน ควรจะฝึกให้หมดคอร์สแล้วค่อยต่อใหม่จะดีกว่านะคะ ดูสัญญาเพราะตอนนี้สัญญามันจะต้องเป็นสัญญาปีต่อปีคะ สัญญาแบบยาวนานตลอดชีพไม่มีแล้วนะคะ นอกจากเรื่องสัญญาต้องดูพฤติกรรมการสอนของเขา บางครั้งเขาก็จะมาอ้อนวอนให้เราช่วยซื้ออะไรแบบนี้ ก็ควรจะ หมดแล้วค่อยต่อใหม่น่าจะดีกว่า น่าจะปลอดภัยต่อผู้สมัคร อยากฝากอะไรให้ผู้ประกอบการบ้าง        ผู้ประกอบการก็ควรมีจรรยาบรรณ คุณมีบริการด้านสุขภาพ สมาชิกยินดีเสียเงิน แต่ผู้บริการก็ต้องให้บริการตรงตามสัญญา หรือตรงตามที่เขาต้องการใช่ไหมค่ะ เขาอยากได้สุขภาพดีคุณก็สอนไป คุณก็สอนไปจนเขาจบคอร์ส แต่ไม่ใช่คุณได้เงินแล้วคุณไม่บริการ หนี ปิดกิจการไป มันก็ไม่ถูกต้องกับผู้บริโภคใช่ไหมคะ มันก็จะต้องเกิดปัญหาเกิดขึ้น มันก็เหมือนกับว่าคุณใช้ธุรกิจด้านการให้บริการออกกำลังกายบังหน้า เพื่อที่จะหาเงินเข้าส่วนของบริษัทของคุณ         เราซื้อคอร์สไว้มากมาย แล้วปิดกิจการไป ส่วนที่เหลือไม่ได้ชดเชยให้ ปิดไปเฉยๆ ดื้อๆ อย่างนี้ สอบถามไปก็อ้างว่าจะปรับปรุง สุดท้ายก็ทยอยปิด ทยอยปิดทีละสาขา จนสุดท้ายไม่เหลือ และก็ไม่เคยชี้แจง หรืออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ประกอบการออกมาแสดงความรับผิดชอบ เรื่องมันก็คงไม่ยาวขนาดนี้ การที่เขาปล่อยให้ยาวขนาดนี้ ก็แสดงถึงเจตนาเขาเหมือนกันนะคะ เพราะว่าถ้าเกิดเขาแสดงความรับผิดชอบ ทุกคนที่เป็นผู้เสียหายได้รับการเยียวยาก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีการฟ้องร้องที่ยาวนาน     จากนี้จะมีกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวอะไรอีกบ้าง        ก็วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ศาลนัดอีกที แล้วก็มีพวกที่ไปร้องไว้ที่ ปปง.หรือที่อื่นเขาก็ดำเนินการอยู่บ้าง รวมตัวกัน เราก็จะสู้ต่อไปค่ะ ก็คือแม้จะใช้เวลายาวนานอีกเท่าไหร่ก็จะสู้ต่อไปค่ะ เพื่อความยุติธรรม เพราะว่าสิ่งที่เขาทำกับเรา เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ไม่คิดว่าบริษัทเขามีกิจการใหญ่โต จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเรา และนอกจากเรื่องนี้ พอเกิดเหตุการณ์เรื่องนี้เสร็จแล้วนี่ ในการซื้อของหรือว่าในการใช้บริการต่างๆ พี่เอาเรื่องนี้มาใช้กับตนเองอย่างไรบ้าง ก็คิดว่าถ้าเกิดไปใช้บริการด้านสุขภาพพวกนี้ก็ต้องระมัดระวังขึ้นในเรื่องสัญญา หนึ่งสัญญา และก็สองการซื้อคอร์ส ก็คือต้องคุยกันว่าจบแล้วเริ่มใหม่ดีกว่าซื้อเผื่อไว้ล่วงหน้าแบบนี้ เราคงจะไม่ซื้อเผื่อไว้ล่วงหน้าคะ พูดง่ายๆ ก็คือเราเข็ด เพราะเราเคยโดยมาแล้ว โดนพฤติกรรมแบบนี้ เราก็ต้องระวัง วันที่ 15 คือนัดให้จำเลยไปแถลงต่อศาลถ้าเขาไม่มาก็ออกหมายจับเลยหรือคะ        น่าจะประมาณนี้ ก็ดีนะ นานมากเจ็ดปี ใช่ค่ะกองปราบเราก็ไป สคบ.ก็ไป แล้วก็ให้ ปปง.เขาสืบเส้นทางการเงินของบริษัทเขา ปรากฏว่าเขาก็มีเส้นทางโอนเข้าโอนออกอะไรของเขา  แต่เมื่อก่อนบริษัทนี้ใหญ่มาก มีตั้งหลายสาขา  ณ ตอนนี้มันเริ่มสืบถึงตัวเจ้าของ แต่ก่อนเราก็ได้แค่ปลาซิวปลาสร้อยเล็กๆ น้อยๆ ตอนนี้เหมือนเขาจะให้แค่ 20 % (การเยียวยา) ซึ่งทางเราไม่ยอม ทางเราหลายคน ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างไรคะ        มันต้องได้คืนทั้งหมด  ดอกเบี้ยก็ต้องค่าเสียหายตามศาลสั่ง ใช่ไหมคะ ระหว่างเจ็ดปีเรามีค่าใช้จ่ายนะคะ แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายในการไปศาล ในการวิ่งเต้น และก็ได้ทนายอาสาช่วย ซึ่งมันต้องจ่ายเอง แล้วระยะเวลาก็อยากจะให้คนทุกคนออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองด้วย ในการเรียกร้อง เพราะเราเป็นผู้ถูกกระทำ เราเป็นผู้เสียหาย         เราทุกคนจะสู้ต่อไป ในกลุ่มเอง ตัวดิฉันเองถ้ายังไม่ได้รับความยุติธรรมก็จะสู้คะ จนกว่าจะถึงที่สุดคือ คำสั่งศาลถือว่าเป็นที่สุดคะ เพราะคดีนี้มันจะเป็นคดีอาญาไปแล้วคะ เป็นทั้งคดีผู้บริโภค ผิดคดีอาญาด้วย มันก็จะเป็นคดีตัวอย่างที่มีปัญหา ซึ่งฟ้องกลุ่มจะสามารถดำเนินการได้ต่อเป็นบรรทัดฐานใหม่ มันนานมาก คดีอื่นก็น่าจะจบไปแล้ว ก็อยากจะให้กระบวนการยุติธรรมช่วยพิจารณาคดีเราให้เร็วกว่านี้อีกนิดหนึ่ง นี่เรารอมาตั้งเจ็ดปีแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โรงพยาบาลพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพลังจากผู้บริโภค

“กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) หรือ กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลในโครงการฯ โดยการ ขอรับบริจาคจากประชาชน (ใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาล จะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันที ในเฟสที่ 1         ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1 ล้านบาทแรกแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากองทุนได้ไปส่งมอบและทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โดยท่านพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานีผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และประธานกองทุนแสงอาทิตย์  มีเมตตาเล่าถึงที่มาของกองทุนว่ามีความสำคัญ และมีแนวความคิด นี้ได้อย่างไร        กองทุนนี้เริ่มมาจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     แล้วก็เครือข่ายที่ร่วมกันประมาณสิบเครือข่าย 10องค์กร เห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีแนวคิดมีอะไรผลักดันกันไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นเม็ดเป็นผล ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่พูดมันก็ไม่ดี เราก็น่าจะทำด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันทำขึ้นมา เป็นองค์กรขึ้นมา เป็นหน่วยงาน เรียกว่ากองทุนใช่ไหม เป็นกองทุนขึ้นมา และก็ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วม ซึ่งกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้ 7 โรงพยาบาลเป็นหลัก คือโครงการแรกเราจะใช้ 7 โรงพยาบาล แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ 30 กิโลวัตต์ เพื่อจะให้ลดค่าไฟลง เดือนละประมาณ18,000 บาท หรือว่าปีละสองแสนกว่าบาท อันนี้ก็เป็นแนวคิดขึ้นมา แล้วก็มีคณะกรรมการก็ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็มาวางแผนคัดเลือกว่าลงโรงพยาบาลไหน ก็ได้มาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก ที่นี้ก็มีผู้มีจิตศรัทธาขอบริจาค แล้วก็ระบุว่ามาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นหลัก อันนี้ก็เลยได้เริ่มอันดับที่หนึ่ง ส่วนอันดับถัดไปก็จะเรียงลำดับเรื่อยๆ ถ้าครบ ถ้างบประมาณเราครบที่สองเราก็จะลงแห่งที่สองแห่งที่สามไปเรื่อยๆ คือก็จะรอเงินบริจาคเป็นหลัก ทำไมถึงต้องเลือกเป็นโรงพยาบาล ทำไมไม่เลือกเป็นสถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน         ด้วยข้อจำกัดของเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเราต้องพึ่งเงินของบริจาคอย่างเดียว จริงๆ มันทุกที่ๆ ใช้ไฟเป็นหลัก  ก็คือหน่วยงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือว่าที่ไหนที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก อันนี้จุดคุ้มค่าหรือความคุ้มค่าของระบบโซลาร์เซลล์  ระบบผลิตไฟฟ้าใช้เองจะคุ้มมาก แต่ว่าโรงพยาบาล รู้สึกว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าอย่างการที่ระดมทุนวิ่งสนับสนุนหาทุนช่วยโรงพยาบาล ต่างคนก็ต่างช่วยกันถ้าเราทำแสงอาทิตย์เข้าไปอีกก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลงบางส่วน และก็จะสามารถนำไปพัฒนาหรือว่าไปปรับปรุงบริการหรือว่าไปลดไปเติมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็มาเน้นทีโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานอื่นอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าระดับความสำคัญแล้วโรงพยาบาลจะหนักสุด ก็เลยคัดเลือกโรงพยาบาลก่อน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอื่นไม่ทำนะ อันอื่นก็จะทำแต่ว่าขอดูโรงพยาบาลก่อนเพราะว่าด้วยโครงการที่เปิดตัวใหม่ แล้วก็ยังไม่เคยมีมาก่อนก็ทำให้การระดมทุนการบริจาค ก็อาจจะช้านิดหน่อยแล้วการลงทุนหนึ่งครั้ง ในหนึ่งโรงพยาบาลใช้ได้ประมาณนานไหมครับ         ถ้าอายุของอุปกรณ์ แผ่นโซลาร์เซลล์เป็นหลัก  แล้วก็มีตัวอินเวอร์เตอร์  แผ่นโซล่าเซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี อายุการ ใช้งาน แล้วจะค่อยลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประมาณ 25 ปี ยังมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้ ส่วนอุปกรณ์สำคัญอันดับที่สองก็คือตัวแปลงไฟ หรือว่าอินเวอร์เตอร์เขาจะรับประกัน 12 ปี หมายความว่า 12 ปี เราก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ส่วนการซ่อมบำรุง ก็มีครั้งเดียวก็คือเปลี่ยน นอกจากนั้นก็คือการบำรุงรักษา คือรักษาความสะอาดไม่ให้แผ่นมีฝุ่น มีอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างอื่น  เหตุที่เลือกโรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก        แก่งคอยก็อยู่ในเป้าหมาย แล้วก็มีผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในพื้นที่ คือมีคนในพื้นที่ขอบริจาค และก็ระบุว่าให้ติดตั้งที่โรงพยาบาลแก่งคอย เราก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ถ้ามีโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอเข้ามาลักษณะเดียวกันนี้ เราก็จะทำให้เขาก่อน จะมีโครงการต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นอะไรบ้างครับ     สถานที่เป้าหมายต่อไป โรงพยาบาลต่อไปก็จะเป็นที่โรงพยาบาลหลังสวน  ส่วนอันดับที่สามก็จะไป  สังขละบุรี อันนี้ก็จะไล่ๆ กันไปตามลำดับ คือมีเงินบริจาคครบทำได้ตามเป้าหมายคือ 30 กิโลวัตต์   33 กิโลวัตต์ เราก็ทำให้ ทำให้ตามลำดับไป เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณล้านเอ็ด (1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล) แต่จริงๆ แล้วทางผู้ติดตั้งผู้รับเหมาเขาก็ลดราคาให้นะ มีส่วนบริจาคก็คือทำช่วยกัน ไม่คิดกำไร ประมาณนี้ งบจริงๆ ต่ำกว่าล้าน ได้การตอบรับดีไหมในการรับบริจาค การลงทุนเพื่อโรงพยาบาล     ประชาชนให้การเป็นสมาชิกในแฟนเพจ หรือว่าเฟซบุ๊คมันก็ยังไม่เปิดกว้าง เพราะสื่อหลักๆ ก็ยังไม่ค่อยกระจายไปมาก คนยังไม่รู้จักหน้าเฟซของโครงการฯ  ถ้าโครงการนี้คนรู้จักมาก อาจจะมีการช่วยเหลือ มีการระดมทุนเข้ามาช่วย แต่ก็ขยับไปก่อน เหมือนว่าเรามีกำลังแค่นี้เราก็ทำไปก่อน ถ้าครบโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งแล้วมีเป้าหมายที่จะทำโรงเรียนต่อไปนพ.ประสิทธิ์ชัย มังจิตร์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาลร่วมโครงการ        ก็เอาโรงพยาบาลที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กับโรงพยาบาลก็เชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ ตรงนี้อาจจะเป็นธีมที่ว่า  หนึ่งก็คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล  ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรู้จักคุณค่าของพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานที่สะอาด ที่จะมาใช้ตรงนี้นะครับ คือถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ โดยการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนก็จะมีความตระหนักเรื่องนี้ด้วย เข้าใจถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น และประชาชนก็จะได้บุญจากการมาบริจาคให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟเยอะ ก็จะสามารถที่จะมีงบประมาณใช้จ่ายในการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้อีกมากขึ้น โซลาร์เซลล์จะช่วยประชาชนและผู้ป่วยในด้านใดบ้าง         ตรงๆ เลยว่าบริจาคมา อย่างเช่นที่นี่บริจาคมา 33 กิโลวัตต์   ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละประมาณสองหมื่น ปีละประมาณสองแสน แล้วสองแสนนี่เราก็ย้อนกลับไปในการซื้อยา ซื้อเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้ อันนี้ตรงๆ เลยที่ได้จากตรงนี้ที่แก่งคอย 33.75 กิโลวัตต์ คือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ทุกอย่าง เปิดใช้งานวันนี้นะครับ (3 เมษายน 2562) สมมติว่าเราจะต่อขยายเพิ่มไปในอนาคตอีกได้ไหมครับ         เอาจริงๆ ที่นี่ก็ 33 กิโลวัตต์คงจะไม่เพียงพอสำหรับในส่วนโรงพยาบาลแก่งคอย จริงๆ ต้องใช้อีก อีกสักประมาณ 15 เท่า เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายไฟเดือนละประมาณสี่แสน ถ้าใช้ตรงนี้ก็ต้องใช้อีกประมาณสิบกว่าชุด เราก็ค่อยๆ พยายามขยายจุดต่ออื่นๆ อีกต่อๆ ไป ยิ่งขยายได้เยอะเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แล้วสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น สำหรับคนที่อยากบริจาคเพิ่มเติม คุณหมอจะฝากข้อความอะไรบ้างไหมครับ        การบริจาคอันนี้เป็นการทำบุญที่เป็นการทำบุญต่อยอด คือ        บริจาคเสร็จเรียบร้อยไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บริจาคครั้งเดียวมีการใช้งานได้ถึง 25 ปี  ตรงนี้ก็จะเป็นการสะสมบุญ บริจาคทีเดียวก็คือมีบุญไปถึง 25 ปี อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลแล้วเราก็คิดว่ากระตุ้นที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้นด้วยครับ        หนึ่งก็คือ โรงพยาบาลก็เป็นส่วนที่ให้บริการประชาชน ถ้าเกิดสามารถมาบริจาคให้โรงพยาบาลแก่งคอยหรือโรงพยาบาลอื่นได้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชน คนเจ็บป่วยได้ดีขึ้น อย่างที่สองเราคงต้องมาช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ทำให้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากส่วนที่ไม่ได้อยากตัดออกจากธรรมชาติ จากถ่านหิน หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นผลระยะยาว PM 2.5 ก็ลดลง  โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง หมายเหตุ        “กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วนประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด , Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต้องการบริจาคสนับสนุนกองทุนร่วมบริจาคกับกองทุนแสงอาทิตย์ได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 การบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 คู่มือบริโภคศึกษา

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในปีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2561 ในประเด็นการสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล “Trusted Smart Product” นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นพลังที่สำคัญของผู้บริโภคในวันข้างหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาไปรู้จักกับคู่มือบริโภคศึกษา คู่มือสำหรับผู้บริโภควัยเยาว์ ผ่านมุมมองของนักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่          รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของวิชาบริโภคศึกษาว่า เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง        “คล้ายๆ กับว่าเราทำงานผู้บริโภคในเชิงควบคุม ดูแลกำกับปรับปรุงนโยบายแบบนี้มันก็ทำแล้ว มันก็เหนื่อย เราก็ทำกับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าฟังแล้วมันเหนื่อยจัง ผมก็รู้สึกว่าที่พวกเราช่วยกันคิด ก็คือเรื่องที่ทำจากตัวเยาวชนมาเลย ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ แข็งแรงสักวันเขาก็จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกกฎระเบียบ  เป็นผู้ออกนโยบาย เป็นผู้กำกับ ดูแล เป็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ใความคิดของเขา  แล้วมันก็จะขยับได้ แต่มันไม่เร็วนะ มันก็ต้องนาน เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่ามันจะเป็นทางในอนาคตแน่ๆ สักวันนึงมันก็จะออกดอกออกผลไง” การเรียนการสอนนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร        ตอบแบบความจริงคือไม่รู้ ยังไม่ทราบแต่มีความหวัง จริงๆแล้วตอนที่ไปดูกับโรงเรียน ก็ชัดเจนว่า คุณครูก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเขา สังเกตเลยว่าบนเวที(วันที่ 14 มีนาคม) ฝากให้ทำอันโน้นทำอันนี้กัน แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งคุณครูรู้สึกว่าเป็นการรับฝากที่เขาไม่ได้รังเกียจอะไร แล้วก็อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน อาจเคยโดนโกงค่าโทรศัพท์ ค่าตั๋วเครื่องบิน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ไม่ขัดข้องที่จะสอน        เรื่องนี้มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องมีความหวังว่า มันควรที่จะทำต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยๆ เช่น มันควรทำให้ได้เรียนทุกปีไหม  ปีหนึ่งมีสองเทอมใช่ไหม ถ้าได้เรียนสักเทอมก็ยังดี  แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเราคณะทำงานก็ต้องระดมหาทรัพยากรกัน ถ้าจะทำจริงก็แปลว่า ม.1 ต้องมีคู่มือหนึ่งเล่ม ม.2 ต้องมีหนึ่งเล่ม ม.3 ต้องมีหนึ่งเล่มจนถึง ม.6 เพราะว่าทุกปีต้องได้เรียนอะไรใหม่ๆ เป็นอันเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีแค่มัธยมต้น ซึ่งก็เอาคู่มือเดิมไปเรียนอีก อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคณะทำงาน แล้วก็ภาคประชาสังคมจะว่ายังไงกันต่อ        ส่วนในเรื่องกลยุทธ์ ผมว่ากลยุทธ์ของเราคือ ใช้เครือข่าย เรามีเครือข่ายเกือบจะทุกจังหวัดแล้ว ณ ตอนนี้ หน้าที่เรา(คอบช.) คือทำหน้าที่เป็นส่วนกลางต้องสร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง การนำวิชาบริโภคศึกษานี้เข้าโรงเรียนคือ งาน ไม่ได้แปลว่าเรื่องรับร้องทุกข์ คืองาน มอนิเตอร์คืองาน การให้การศึกษา ก็คือ งาน  เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดินเข้าไปในโรงเรียน  ในอำเภอในตำบล ในหมู่บ้าน ในโรงเรียน หาคนช่วยทำงานเพิ่ม อันนี้ก็เรื่องของเครือข่ายว่ามีค่าตอบแทนอะไรไป ก็เหมือนทำงานออฟฟิศอันหนึ่งใช่ไหม รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็ได้รายได้ เข้าโรงเรียนก็ได้รายได้ แล้วเราก็จะได้คนที่จะมาช่วยทำงาน ช่วยเราที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าใจประเด็นนี้ไปเรื่อยๆ        งานเรามีอันเดียว คือพาเรื่องนี้เข้าโรงเรียนแค่นั้นเอง และส่วนกลางก็อัปเดตคู่มือให้ทันสมัย มีให้ครบทุกชั้นปี อันนี้ก็เป็นงานใหม่ๆ ที่จะต้องทำอีกงานหนึ่งเลย ถ้าทำก็หัวโต แต่ควรต้องทำ สอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เด็กตระหนักถึงเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตเขาที่จะให้มีคุณภาพ แล้วเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นต่อเรื่องผู้บริโภคแบบนี้มันก็ช่วยได้ ทีนี้เวลาทำคู่มือแบบนี้ มองถึงเรื่องบูรณาการไหม ว่าทำไมมันไม่เป็นเล่มแบบนั้น ทำไมไม่บูรณาการแบบนี้ บูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะดีนะ  เพราะว่าจริงๆ มันไม่ได้จะให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นวิชาเดี่ยวๆ จะว่าไป อยู่กับวิชาเลขก็เจอ ไปอยู่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เจอ  อยู่ภาษาไทยก็เจอเรื่องผู้บริโภค แต่วันนี้ เราในแง่ของการจัดการ เราจัดการแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีปัญญาไปตามคุณครูคณิตศาสตร์ว่าสอนให้เราหรือยัง คุณครูภาษาอังกฤษว่าสอนบทนี้ให้เราหรือยัง        เพราะฉะนั้น เราก็ทำวิธีที่เล่นท่าง่ายที่สุดคือ ทำให้เป็นหนึ่งวิชา แล้วให้คุณครูหนึ่งคน หรือกี่คนก็ไม่รู้ช่วยสอน  สอนให้ครบ 18 คาบ ตลอดหนึ่งเทอม แล้วเราตามไปดู ซึ่งเราจัดการง่ายสุด  แต่เมื่อกี้ที่บนเวทีบอกว่าเป็นการบูรณาการนี่ถือว่าเป็นสุดยอดเลยที่จะทำได้ แต่ว่าเราไม่มีความสามารถที่จะเอาไปขายให้คุณครูทุกคนเอาเข้าไปอยู่ในวิชาของท่าน แล้วสอนให้ด้วยนะ อย่าลืมสอนนะ แล้วเราก็ตามไปดูว่าสอนให้จริงหรือเปล่า แล้วก็ประเมินผลอีก อันนี้เรารับเงิน สสส.ใช่มั้ย เราก็ต้องสนใจเรื่องการประเมินผลว่าเราประเมินยังไง ซึ่งสอนเป็นหนึ่งเล่มเป็นหนึ่งวิชา ประเมินผลง่ายกว่าสำหรับเรา อันนี้คือท้ายที่สุดของชีวิตแต่ใส่ดอกจันทร์ ในความเป็นจริงคือ บูรณาการสำหรับกระทรวงศึกษาธิการไทย ก็ยังมีปัญหานะ เอาเข้าจริง คือมันสอนได้จริงหรือเปล่า ทำเสียสวยงาม         อาจารย์ดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์ผู้สอนวิชาบริโภคศึกษา โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งท่านที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การสอน        เดิมเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สนใจเรื่องผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นเรื่องอาหารและสารอาหารที่เราสอนอยู่แล้ว เรื่องสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร ที่เราสอนในบทนี้  ในบทเรื่องอาหารและสารอาหารตรงเลย เน้นเรื่องไขมัน  โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสอนเรื่องระบบย่อยอาหารด้วย มันจะมีพวกนี้เข้ามาเกี่ยงข้องด้วย ถ้าเราสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องนี้ เรื่องการบริโภค เรื่องการอ่านฉลาก มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราก็พยายามยกตัวอย่างที่เจอในปัจจุบันยกผลงานวิจัย  การสำรวจโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในโรงเรียนนี่คือการสอนจะมีไปเรื่อยๆ ค่ะ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการนี้น่าสนใจ คือเด็กถ้าเราให้ความรู้เขาตั้งแต่เด็ก มันก็เหมือนปลูกฝัง แล้วก็ได้ใช้งานต่อไปได้เรื่อยๆ มันสำคัญยังไง ที่เลือกเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค        จริงๆ ในการที่เราจะให้เด็ก  จะให้มันมีความยั่งยืนเราต้องมีการสร้างจิตสำนึก แล้วก็มีการสร้างความยั่งยืน คือ ด้วยความที่ตัวเด็กเเป็นเหมือนผ้าขาว คือถ้าเกิดเรามีการเรียนรู้แต่เด็กทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือมีข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ เนิ่นๆ มันทำให้เรามีความยั่งยืนในการจดจำ แล้วเด็กก็สามารถเอาบทเรียนที่เราสอนให้ไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต        ตั้งแต่เริ่มโครงการสอนมา ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เด็กมีความกล้า กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเดิมเด็กเขากลัวด้วย ก็จะมีการเรียนรู้ถึงสถานที่ หรือหน่วยงานที่ใช้เรียกร้องสิทธิ โดยบางครั้งเด็กเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาโดนอยู่นั้นเป็นเรื่องของการถูกละเมิด ต่อไปเด็กก็จะได้รู้ว่า อ้อแบบนี้ ครูหนูโดนละเมิดสิทธิ เดิมที่บอกว่า เด็กกลัว ไม่ใช่กลัวคนที่มาละเมิด แต่กลัวที่จะไม่ฟ้อง หมายถึงมีความกล้าที่จะฟ้องมากกว่า มีความกล้าที่จะปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเราไหมไม่มีความมั่นใจ เหมือนเราจะโดนหลอกนะ เพราะเด็กหลายๆ คนก็เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาการโดนละเมิดสิทธิของเด็กวัยนี้คืออะไร        ก็จะเป็นในเรื่องการซื้อของออนไลน์เป็นหลักเลย เด็กสมัยนี้ซื้อของเป็นแล้วนะคะ ม. 2 อย่าง เด็กผู้หญิงอาจจะซื้อเป็นเรื่องความสวยความงามของเขาก็โดนละเมิด ได้สินค้าไม่ตรงตามที่บอกไว้  เขาก็บอกว่าหนูจะไม่คุยกับร้านแล้ว หนูจะไม่เอาแล้ว  คือเด็กเขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น  ซึ่งเราเห็นก็โอเค         หรือเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าได้ผลอีกอย่างคือ เด็กก็จะพูดในกลุ่มของเขาว่า ไปบอกแม่ก่อนว่าอย่าขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทำผิดนะ  เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาถูกรถโดยสารประจำทางให้ลงก่อนถึงป้ายหรือปลายทางที่จะลง ก็รู้ว่าเดี๋ยวไปบอกแม่ก่อนไปฟ้องก่อน เด็กก็พูดในกลุ่มของเพื่อนๆ เขา ก็สอนเรื่องสิทธิ แต่ feedback ว่าพ่อแม่เขารู้ไหม ยังไม่ทราบจากเด็กเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร มีการวางแผนการสอนอย่างไรในเทอมถัดไป        อันดับแรกเลยคือ จะเป็นการดูภูมิหลังของเด็กก่อนว่า เด็กปีนี้ที่เราเจอ  มีความคิดความอ่านประมาณไหน  เพราะว่าแต่ละปีไม่เหมือนกันแน่นอน  แล้วเราก็ปรับไปตามบริบทของนักเรียนในแต่ละห้อง  บางทีชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เรายังสอนไม่เหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งสาระสำคัญที่มีในแต่ละบท  แต่เทคนิคการสอนมันต้องปรับเปลี่ยนไป  ก็อาจต้องศึกษาจากพฤติกรรมของนักเรียนก่อนจะมีการสอนในแต่ละห้อง  จากนั้นก็พยายามปรับบทเรียนโดยยังคงสาระสำคัญของบทเรียนนั้นๆ ไว้เนื้อหาในคู่มือมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม        เปลี่ยนบ้างค่ะ อย่างเช่นที่แนะนำไปไม่ว่าจะเป็นสิทธิ หรือการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา กฎหมายที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา  ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยน ไม่รู้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเปลี่ยนอีก คุณครูผู้สอนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วย         อาจารย์พรศิริ เทียนอุดม จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษาก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกนำคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้มีปัญหาอะไรบ้างในการนำไปสอนจริงและผ่านไปได้อย่างไร        คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา ในบางบทเป็นเนื้อหาที่เข้าใจยาก เด็กจะไม่เข้าใจ เราต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้        ส่วนคำแนะนำหรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >