ฉบับที่ 237 ประวีณมัย บ่ายคล้อย “ทำอย่างไรเมื่อคอนโดฯ ที่ทำสัญญาไว้สร้างไม่เสร็จตามกำหนด”

ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้มาเรียนรู้บทเรียนในการซื้อคอนโดจากคุณตาล ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศ ข่าวช่อง 3 ซึ่งเธอเล่าว่า นอกจากเรื่องทำเล เรายังต้องดูที่เอกสารหรือสัญญาว่าข้อสัญญาเป็นธรรมกับเราไหม มีรายละเอียดตรงไหนบ้าง เพราะแม้ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยซื้อคอนโดมาบ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแบบไม่มีทนายมาแล้ว การซื้อคอนโดครั้งนี้เจอปัญหาอย่างไร         คอนโดอันนี้(ที่มีปัญหา) คือซื้อเพื่ออยู่เองนะคะ เราก็นึกภาพไปว่าถ้าเกิดว่าเรามีที่พักอยู่ที่นี่เอาไว้แบบตอนแก่ๆ เกษียณอะไรอย่างนี้ มีที่พักอยู่ปากช่อง ซื้อคอนโดก็ตอบโจทย์ที่ไม่ต้องเรื่องเยอะ ดูแลง่าย เลยไปซื้อโครงการหนึ่งที่ปากช่อง นครราชสีมา ดู Developer นี้แล้วพบว่าเป็นบริษัทชื่อดังบริษัทมหาชนด้วย คือพูดชื่อนี้ก็เป็น Big Name ของคนทำก่อสร้างคอนโดอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าเราซื้อละกัน         พอซื้อแล้วก็ดูสัญญา เราเคยซื้อคอนโดมาบ้างหลายครั้งที่เราเจอว่าในสัญญาของโครงการจะไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน หลายๆ ที่ไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน อย่าง Case นี้เจอเหมือนกันว่าไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน ส่วนตัวเวลาพิจารณาสัญญาข้ออื่นดูผ่านๆ แต่ข้อที่เพ่งคือจะดูเรื่องของการผิดนัดของทางผู้ที่จะขาย แล้วดูว่าถ้าเราผิด เช่น เราไม่มีกำลังในการผ่อนอย่างนี้เราจะโดนปรับอะไรบ้าง อันนี้เป็นไปตามสัญญาไหม และดูว่าถ้าผู้จะขายโครงการผิด เช่น ก่อสร้างไม่ทันหรือว่างานไม่มีคุณภาพนี่เราจะเอาผิดอย่างไรกับเขาได้บ้าง ซึ่งตรงข้อนี้ส่วนใหญ่เลยที่เจอ เท่าที่ตาลเจอคือสัญญาฝั่งผู้ที่จะขายจะเขียนค่าปรับตรงนี้ไม่เท่าในสัญญามาตรฐาน คือในสัญญาเขียนน้อยกว่า         เขียนน้อยกว่า อันนี้ใช่ค่ะ ซึ่งจริงๆ ใน Case นี้เราก็อาจจะไม่ใช่ผู้บริโภคที่แบบว่าทำหน้าที่เข้มแข็งนะคะ คือบางคนอาจจะบอกว่าแก้สัญญาเลยสิ ให้มันเป็นสัญญามาตรฐานได้ไหม แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวถ้าเกิดว่าผิดจริงๆ เราค่อยไปคุยกันตอนที่มีปัญหาละกัน เพราะว่าเราก็อยากได้โครงการนี้ พอดูสัญญาเสร็จแล้วจนถึงช่วงเวลาที่ต้องโอนแล้ว เราดูอาการออกเลยว่า พอถึงวันที่ต้องโอนโครงการไม่สามารถโอนได้แน่ เราก็รู้สึกว่าถ้าโอนไม่ได้ น่าจะยึดเยื้อน่าจะก่อสร้างแบบดีเลย์ไปเป็นปีสองปี “ความคืบหน้ามันน้อยมากค่ะ ดีเลย์ไปเป็นปีแน่นอน เราก็เลยบอกเลิกสัญญาดีกว่า ทีนี้พอบอกเลิกสัญญาเราเข้าใจว่า โครงการคุณก็ต้องจ่ายเงินต้นที่เราได้จ่ายไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย” บอกเลิกสัญญาทำอย่างไร         บอกเลิกสัญญาก็คือ ในสัญญาเขาจะบอกว่าถ้าเขาสร้างไม่เสร็จเราสามารถบอกเลิกได้ พี่ก็โทรไปแจ้งเซลล์คนที่เราติดต่อด้วยว่าอยากจะบอกเลิกสัญญา เซลล์บอกว่าต้องทำจดหมายมาถึงบริษัท เราก็ทำจดหมายไป ซึ่งความคาดหวังของเราคือบอกเลิกสัญญาจะต้องได้เงินต้นพร้อมกับค่าปรับ ก็คือดอกเบี้ยตามสัญญามาตรฐานของกฎหมายที่กำหนดเอาไว้         แต่ว่าตรงนี้พอคุยกันแล้วมีปัญหาเพราะว่าโครงการเขาบอกว่าจริงๆ แล้วเขาจะจ่ายเฉพาะเงินต้นไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้ เราก็ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เลยนำมาซึ่งการคุยกับเขาแต่ว่าตอนนั้นก็ตกลงกันไม่ได้ เคสตาลมันก็จะมีรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง คือว่ามาถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดว่าในสัญญามันจะมีข้อหนึ่งที่เขาเขียนเอาไว้บอกว่า ถ้าเกิดว่าโครงการมีปัญหาในการก่อสร้างประสบปัญหา โครงการเขาจะส่งหนังสือแจ้งมาว่าเขาจะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ไอ้ประโยคนี้ถ้าผู้บริโภคที่อาจจะเพิ่งเคยซื้อคอนโดหรือไม่ดูในสัญญา ก็อาจจะคิดว่าทุกกรณีเลยหรือ ถ้าเกิดว่าเขาอยากจะขยายเวลาการก่อสร้าง แต่ว่าพอดูเจตนารมณ์ตามกฎหมายคือการขยายเวลามันต้องมีเหตุผลจริงๆ เช่น แบบอย่างช่วงน้ำท่วมหรือว่ามีปัญหาเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้ แต่ว่ารายละเอียดเขาต้องแจ้งมาที่คนซื้อด้วยว่าขยายเวลา ขอขยายจากเหตุอะไรแล้วก็ต้องแจ้งหลังจาก 7 วันที่เกิดเหตุนั้นแล้ว อันนี้คือรายละเอียด         แต่ว่าสัญญาไม่ระบุขนาดนี้แล้วโครงการเขาก็บอกว่าเขาแจ้งมาแล้ว ประเด็นคือเขาบอกเขาส่งหนังสือแจ้งมาตอนธันวา คือธันวาเขาต้องส่งงานประมาณต้นธันวาเขาส่งจดหมายมาแต่ตาลไม่ได้รับ ไม่มีจดหมาย พอมีเรื่องกันแล้วพอไปทวนกันดู  เขาบอกว่าเขาส่งมาแล้วแต่เขาไปส่งในที่อยู่ในบัตรประชาชนไง ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ในสัญญา ที่อยู่ตามบัตรเราไม่ได้อยู่ที่นั่นเราก็ไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เราไปตามดูจดหมายนะว่ามีไหมก็ไม่มี อะไรอย่างนี้คะ ก็เลยเป็นที่ถกเถียงกัน เขายืนยันว่าเขาส่งแล้วเขามีสิทธิขอขยาย แต่เรายืนยันว่าคุณผิดสัญญาเราจะขอเลิกสัญญา  เขามีไปรษณีย์ตอบรับไหมคะว่ามีใครเซ็นจดหมาย         มีคะ ก็คือเหมือนกับว่าเขาส่งไปคนเซ็นเป็น รปภ.เขาก็เอาใบนั้นมาให้เราดู แต่ว่าคิดดูนะถ้าเราไม่ไปตามหาจดหมายจริงๆ เราก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งอันนี้มันก็ยังสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วถ้า Developer มาอ้างแบบนี้ว่าเขาส่งไปที่ที่อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชนไม่ใช่อยู่ในสัญญา อันนี้จะใช้ได้หรือเปล่า อันนี้เรื่องหนึ่งทีนี้พอตกลงกันไม่ได้ก็เลยคิดว่าจะอย่างไรดี ซึ่งถ้าเกิดได้คืนเฉพาะเงินต้นมันไม่โอเคอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่า Developer เอาเปรียบเราเกินไป แล้วเป็นบริษัทใหญ่ด้วย         ใช่คะ ก็เลยนำมาซึ่งการฟ้องคดี บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  ฟ้องเองเลยไม่ใช้ทนาย         ต้องบอกว่าฟ้องเองเลย ลองฟ้องดู คือเข้าไปอ่านรีวิว รีวิวใน Pantip เขาบอกว่าเขาก็ฟ้องกันนี่ แล้วทีนี้ก็เลยเริ่มหาข้อมูลแล้วก็โทรศัพท์ไปที่ศาล เพราะว่าตอนแรกยังสับสนเรื่องของการฟ้องคดีต้องฟ้องในพื้นที่ไหน ทางศาลเจ้าหน้าที่ท่านรับโทรศัพท์ก็ให้คำแนะนำที่ดีมากเลยนะคะ แล้วก็กระบวนการในการฟ้องก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิด คือตอนแรกเรารู้สึกว่ากระบวนการมันน่าจะแบบว่าเป็นปีเลยหรือเปล่า แต่ปรากฏว่ากระบวนการก็คือเตรียมเอกสารไป ทางเจ้าหน้าที่ศาลก็แนะนำว่าถ้าจะให้ดีเอกสารเตรียมให้พร้อม แล้วถ้าเป็นไปได้อาจจะเขียนพิมพ์เป็น File ก็ได้ว่าเหมือนกับเล่าว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร Timeline เป็นอย่างไร สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออะไร อย่างนี้ค่ะ เราก็เลยทำเป็น File ไป เสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ที่เราโทรปรึกษา เขาก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเขียนสำนวนให้ ซึ่งตรงนี้คือเรารู้สึกว่ากระบวนการไม่ได้ยากอย่างที่คิดจริงๆ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายไม่รู้ภาษากฎหมายไม่รู้จะเขียนสำนวนอย่างไรก็คือเดี๋ยวเขาก็จะไปปรับให้เอง (ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีซึ่งผู้บริโภคสามารถเล่าเหตุการณ์ปากเปล่า บอกว่าเรามีปัญหาอย่างไรแล้วเขาก็จะเขียนให้ตามนั้น แต่ว่าของคุณตาลจะพิเศษตรงที่ตรงไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปให้ด้วย)         ที่ชอบก็คือ เจ้าหน้าที่เขาก็ใส่ใจมากเลยเหมือนกับว่าก่อนที่จะไปให้ดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะให้มันรวดเร็วเขาก็ส่ง File E-mail กลับมาเลย บอกว่าเราโอเคในสำนวนนี้ไหม ถูกต้องไหม ให้ตรวจทานดูอีกทีหนึ่งรู้สึกว่ากระบวนการมันไม่ช้า ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็ใช้เวลาสองเดือนพอดีถึงวันที่ที่ศาลเริ่มนัดวันแรก จริงๆ ต้องนัดภายใน 30 วัน         ใช่ค่ะเป็นช่วงโควิดพอดี เขาต้องทำภายใน 30 วันใช่ไหมคะ เห็นทางเจ้าพนักงานก็แจ้งว่าช่วงนี้คดีเยอะแล้วก็ช้า (ดีเลย์) ไปเพราะว่าโควิดด้วย จริงๆ ก็คือสองเดือนของคดีนี้ถือว่าเร็วแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปศาล ไม่เคยมีคดีอะไรมาก่อนเลยในชีวิต  อันนี้เป็นคดีแรกเราก็รู้สึกว่าจริงๆ เรื่องราวมันก็ไม่ได้ซับซ้อน คือจริงๆ น่าจะมีผู้เสียหายคล้ายๆ กันหรือว่าเจอยิ่งกว่าเราอีกหลายคดี เรารู้สึกว่าคดีเราก็เป็นคดีเล็กมากๆ ตอนแรกที่ไปเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีการมาไกล่เกลี่ยพูดคุย ทาง Developer น่าจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าตอนแรกที่ไปเจอทาง Developer เขาส่งทนายความมาท่านเดียว แล้วก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจของบริษัทที่จะมาพูดคุยได้ ดังนั้นคือขอให้ทางศาลได้เลื่อนแล้วก็นัดกันใหม่ เพื่อไปคุยกันนัดหน้าก็เลยใช้เวลาไปอีกสองเดือน         แต่ว่าช่วงสองเดือนนี้เลยได้กลับมาทบทวนเรื่องของสำนวนเพราะว่ามีคนทักมาเหมือนกันว่า ฟ้องคดีคนเดียวเขาก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวสำนวนมันจะไม่รัดกุมหรือเปล่า หรือว่าจะมีจุดไหนที่เพลี่ยงพล้ำหรือเปล่า เราก็เลยกลับมาเอาสำนวนของทาง Developer มานั่งดูว่าเขาก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร อย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องดูเป็นพิเศษ เราเลยเอาสำนวนเอาคดีมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ตาลได้รับคำแนะนำในเบื้องต้นว่าในเรื่องกฎหมายหรือว่าการฟ้องคดี จริงๆ อาจจะไม่ต้องใช้ทนายก็ได้ แต่ว่ามีประเด็นไหนที่เราควรจะรู้แล้วก็เตรียมข้อมูลไปในวันที่จะมีการไต่สวน แต่ว่าสุดท้ายเรื่องก็มาลงเอยที่เราก็เตรียมตัวไป แต่ว่าช่วงใกล้ๆ เวลาที่จะมีคณะไต่สวนทาง Developer ก็ส่งทนายมาแล้วก็บอกว่าโอเค ก็อยากประนีประนอมกัน แล้วก็จะตกลงตามที่เราเรียกร้องไปกคือคืนเงินต้นแล้วก็เบี้ยปรับตามที่เราบอกไป พอฟ้องคดีถึงมีการเจรจาคืนเงินต้นคืนเบี้ยปรับให้เราทั้งที่ตอนแรกไม่ได้ให้         ตอนแรกไม่ได้ให้แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะกระชั้นเหมือนกันคือ ศาลจะนัดไต่สวนวันพรุ่งนี้ วันนี้มาทำประนีประนอมกัน สุดท้ายเราก็ยอมที่จะประนีประนอมไป ขอให้ช่วยแชร์ประสบการณ์ผู้ที่จะซื้อคอนโดต้องดูอะไรบ้าง         จริงๆ แล้วเรื่องสัญญาคือถ้าเป็นไปได้อยากให้ศึกษาให้ละเอียดหน่อยว่าถ้าสัญญาตรงไหนเราไม่เข้าใจหรือเราเห็นว่ามันคลุมเครือหรือว่าเราจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ก็ศึกษาสัญญาให้ดีก่อนที่จะเซ็น จริงๆ อันนี้ประสบการณ์ตัวเองที่เอามาแชร์ได้ก็คือ บางทีเราไปหลงเป็นเหยื่อการตลาด คือเราเห็นโปรโมชันแล้วเคลิ้ม อย่างปีนี้คอนโดมีเนียมโครงการต่างๆ มีโปรโมชันดีมากเลย คืออาจจะต้องถามความจำเป็นของตัวเองก่อนว่าเราซื้อคอนโดเพื่ออะไร จำเป็นไหม แล้วได้โปรโมชันมานี่มันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า ค่อยๆ พิจารณาว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่เราจะซื้อจริงๆ ใช่ไหม         เสร็จแล้วพอไปดูในสัญญา อย่างข้อที่อยากให้ดูมากๆ เลย ก็คือเรื่องนี้ว่าเบี้ยปรับหรือทางกรณีผู้ที่จะขายหรือว่าโครงการผิดสัญญาเขาจะโดนลงโทษอย่างไร หรือว่าเราเรียกร้องอะไรได้บ้างตรงนี้อยากให้เคลียร์กับเขาไปเลยว่ามันต้องเป็นอย่างไร แล้วอาจจะบอกไปได้เลยได้ว่าอันนี้มันไม่ใช่เป็นตามสัญญามาตรฐานนะ เราขู่เลยได้ไหมพี่ว่าอันนี้เดี๋ยวไปฟ้อง สคบ.ได้นะว่าสัญญาไม่ใช่สัญญามาตรฐาน         อันนี้คือให้แบบชัดเจนอยู่ในสัญญามันจะดีมาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือภาพที่เราเห็นตอนโฆษณาอย่างนี้ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้หมดเลย ตั้งแต่โบชัวร์ที่เราเห็นโฆษณาที่เขาติดไว้ เกิดมีปัญหาตรงนี้มันจะได้เอาเป็นข้อมูลที่จะเอาไว้เรียกร้องได้รวมถึงใบเสร็จต่างๆ ที่เราจ่ายค่างวดไป แล้วก็มีอันหนึ่งที่เป็นรายละเอียดเหมือนกันก็คือถ้าเกิดโครงการบอกว่าจะมีอะไรให้ เช่น แถมเฟอร์นิเจอร์กี่ชิ้น ก็ให้เขาแนบรูปเฟอร์นิเจอร์ที่แบบตรงตามสเปคที่เขาจะให้จริงๆ เพราะเคยเจอเหมือนกันบอกว่าจะแถมเฟอร์นิเจอร์แล้วแบบว่ามันครบไหม หรือว่าบางทีคุณภาพมันไม่ได้เหมือนกับตอนที่เขาโฆษณาไว้ สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคหรือ Developer ที่กำลังทำโครงการ         Developer บ้านเราก็อยากจะให้คำนึงถึงจิตใจของผู้บริโภคเรื่องของสิ่งที่ผู้บริโภคเขามีความคาดหวัง จริงๆ ก็ทำตามสัญญาทำตามมาตรฐานที่คุณเป็น ทำตามสัญญาให้ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภคตาลคิดว่าจริงๆ สิทธิของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญแต่ว่าหลายคนอาจจะคิดว่ามันเสียเวลาหรือว่ามันไม่คุ้ม มันลำบาก มันยากอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่จริงๆ แล้วคืออยากเชิญชวนว่าในเมื่อมันเป็นสิทธิของเรา คือถ้าเกิดผู้บริโภคเข้มแข็งเรียกร้องสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ มันก็เป็นตัวที่จะช่วยกำกับการทำงานของ Developer ให้เขาควบคุมคุณภาพให้ดีด้วย ดังนั้นเราศึกษาก่อนว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าเราเสียสิทธิเราควรจะเรียกร้องสิทธิที่เรามีคืนมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เมื่อระบบความปลอดภัยของรถยนต์มีปัญหา Accord Generation 9

เมื่อประมาณเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กฤษณะ น้ำดอกไม้ เจ้าของเพจ ‘Accord G9 หนึ่งในตัวแทนกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 เดินทางมาร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาเล่าถึงปัญหาปั๊ม ABS’ ว่า มีผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า รุ่น Accord Generation 9 ที่ผลิตในปี 2013 - 2018 จำนวนมากที่พบปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่รถ จึงได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์บริการแต่ละสาขา และร้องเรียนผ่านทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและประกอบรถยนต์รุ่นดังกล่าว แต่มีการแก้ไขปัญหาให้กับเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังมีผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นแนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนของแต่ละศูนย์บริการและการชี้แจงถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีปรากฎต่อสาธารณะ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนอะไร  วางแผนจะทำอย่างไร         จริงๆ กลุ่มที่รวมตัวกันปีกว่ามันเกิดจากที่เราไปเจรจากับบริษัทฯ และเราได้เงื่อนไขมา ทีนี้เรามองว่าเราได้การชดเชยตามเงื่อนไข ถ้าเกิดเรารับจบไปตอนนั้นเลยคันอื่นก็จะไม่ได้ เราก็คิดว่ามันก็จะมีคนที่ถูกทิ้งอยู่ คนที่เกิน (ไม่เข้า) เงื่อนไข เราเลยคิดว่าเราควรต้องแยกสองประเด็น ประเด็นแรกอะไหล่มันมีคุณภาพพอหรือเปล่า อีกอันหนึ่งคือความรับผิดชอบของค่ายรถยนต์         Page สร้างมาเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้ ผู้ใช้ทุกคัน ทราบสิทธิว่ามีเคลมฟรีและเขาควรใช้สิทธิเคลมฟรี หรืออย่างน้อยได้รับการพิจารณาให้ส่วนลดนะครับ เราจึงมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นระบบ จะร้องเรียนอย่างไรให้เป็นระบบเพราะว่าผมเคยไปที่ สคบ.เขาบอกว่าผมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งผมก็พยายามบอกว่าผมก็คือผู้ใช้คันหนึ่งที่มีความกังวลแล้วเราก็รวมตัวกันมา ตอนนั้นประมาณ 70 กว่าคันที่มีเสียหาย แต่ทาง สคบ.เขาก็บอกว่าไม่ได้ คุณต้องไปเอาผู้ใช้ที่มีปัญหามา ให้ผู้เสียหายมาร้องเรียนใครที่ไม่ใช่ก็ร้องเรียนไม่ได้ และเขาก็บอกว่ารถมันหมดประกันไปแล้วจะไปให้เขาทำอะไร เขาก็พูดในลักษณะของแง่กฎหมาย ตอนนั้นก็เลยมาหามูลนิธิฯ ทางมูลนิธิฯ มองว่ามันมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในการดูแล ตอนนี้ก็คือทางมูลนิธิก็ช่วยจัดการเรื่องแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ท่านอื่นๆ อีกประมาณ 40,000 กว่าคันที่เขาเป็นเจ้าของรุ่นนี้ทราบสิทธิ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563         หลังออกสื่อก็มีผู้ใช้จำนวนมากเพิ่งทราบข่าว เขาก็มาติดต่อผม บอกว่าเขาจ่ายไปแล้วสี่หมื่นกว่า บางคนก็ได้ส่วนลดบ้างแต่น้อยมาก ซึ่งตรงนี้เองเราก็ตั้งใจไว้อย่างนี้ว่าคือถ้าเกิดสื่อหลักให้พื้นที่ข่าวมันก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ เพราะว่าผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายหมื่นคันที่ยังไม่รู้เรื่องเลย คนที่มีปัญหาแบบนี้จะเข้ามาร่วมอย่างไร ท่าทีของบริษัทเป็นอย่างไร         จริงๆ อยู่ที่บริษัทฯ นะ เขามีข้อมูลผู้ใช้ทุกอย่าง  ทำอย่างไรจะให้บริษัทแจ้งผู้ใช้ทุกคนที่เขาใช้รถรุ่นนี้ เราไม่มีทางอยู่แล้วที่เราจะแจ้งทุกคนให้ทราบได้นะครับ เราไม่มีรายชื่อผู้ขับขี่ ชื่อเจ้าของรถ บริษัทเขารู้ดีเพราะสามารถโทรไปแจ้งว่าต้องมาเช็คระยะตามกำหนดนะ มีฐานข้อมูลตรงนี้ แต่ความที่เราต้องการช่วยเหลือให้ได้มากที่สุดเราเลยพยายามประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีที่เราพอจะทำได้  ทุกวันนี้ผมบอกเลยนะมีคนติดต่อมาทุกวัน   เดือนล่าสุด (ตุลาคม) นี่ห้าสิบหกสิบคัน มันไม่ใช่น้อยๆ นะ ตัวเลขมันสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายคันที่เขาไม่ทราบแล้วเขาก็ไปซ่อมเอง ถ้าเขาทราบว่ามีกลุ่มที่เราทำขึ้นมา เขาได้ฟรี        “บางคนไม่รู้ไปซ่อมเองจ่ายสี่หมื่นกว่า บางคนไปซ่อมข้างนอกไม่จบก็มี และมันเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยไง หลายๆ คนเอาไปซ่อมเขาก็บอกเลยว่าเขาไม่สบายใจ” ล่าสุดบริษัทฮอนด้าก็ยังไม่มีอะไรเป็นทางการ มีก็แค่การชี้แจงผ่านรายการโทรทัศน์บ้าง แต่ยังไม่มีอะไรเลยที่เขาจะยอมรับ (อย่างเป็นทางการ) เลยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเขาจะนำไปพิจารณาแล้วจะกำหนดอะไรต่างๆ ให้มันชัดเจน ความยากของเรื่องนี้คืออะไร         คือกลุ่มของผมลักษณะผู้ใช้รถคือ คนวัยทำงานและก็อายุค่อนข้างเยอะ พอหลายคนเห็นว่ามันมีขั้นตอนเยอะ เช่น ต้องรวมตัวต้องออกตัวอะไรอย่างนี้ หลายคนไม่สะดวกอันนี้ยอมรับเลยนะครับว่า ไม่สะดวก เพราะว่าหนึ่ง เขาไม่มั่นใจในเรื่องหน่วยงานของรัฐที่จะช่วยเหลือเขา เพราะว่ามีคนเคยติดต่อไปทางหน่วยงาน หน่วยงานก็เงียบกลายเป็นว่าแนะนำให้ไปรับข้อเสนอฮอนด้าเถอะ บอกว่าไม่มีกฎหมายที่จะไปเอาผิดบริษัทฯ เขา คนที่ได้รับคำแนะนำแบบนี้เขาก็พูดต่อๆ กัน กลายเป็นว่าเขาก็เอาไปซ่อมเองข้างนอก จบๆ กันไป หลายคันก็ขายทิ้งเพราะว่ารถมันอายุเยอะแล้ว         อย่างที่ผมบอกความช่วยเหลือของฮอนด้า (อย่างเป็นทางการ) นั่นคือประเด็นหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือแนวทางของเราเอง ของผู้บริโภคคือทำอย่างไรจึงจะกดดันให้บริษัทเขายอมรับว่า อะไหล่ชิ้นนี้มันมีปัญหาจริง ซึ่งจากเอกสารแม้แต่ตัวผมเองผมก็รู้ว่ามันมีปัญหาต้องจัดการอย่างไร การเสียหายแบบนี้มันเกิดจากไหน  เรารู้ ฮอนด้าก็รู้ ทุกคนก็รู้ แต่บริษัทฯ เขาไม่รับว่าเป็นความผิดพลาด บริษัทฯ จึงควรแสดงความรับผิดชอบ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภค มันเป็นหน้าที่ที่บริษัทฯ ต้องดำเนินการ ชี้แจงสิ รับผิดชอบสิ เหนื่อยไหมกับการออกมาใช้สิทธิ         ผมว่าเวลาเราร้องเรียนอะไรเราต้องออกตัว ออกตัวมากหรือมีขั้นตอนมากต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนในการร้องเรียน ซึ่งบางทีมูลค่าของความเสียหายมันไม่เยอะ พอมันไม่เยอะหรือมันสามารถแลกกับการที่จ่ายๆ ไปเพื่อซื้อเวลา ซื้อการตัดจบปัญหาอย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่คนที่เกิดความเสียหายคิด เพราะอย่างนั้น เลยกลายเป็นว่าพลังของผู้บริโภค มันก็จะค่อยๆ แผ่วไป มันก็จะเหลือคนที่ยืนหยัดจริงๆ ว่าสิ่งตรงนี้มันไม่ถูกต้องอยู่แค่หยิบมือหนึ่ง พอเป็นอย่างนี้ผู้ประกอบการมั่นใจว่ามูลค่าเท่านี้ (ไม่มาก) ผู้บริโภคคงไม่มาเรียกร้องอะไรมากมายเจรจาเป็นรายๆ ไปก็จบ  แต่มันไม่ใช่นะผมคิด         คืออย่างผมนี่แม้กระทั่งค่ายมือถือเขาหักเงินผมไป 30 บาท ด้วยเหตุผลว่าอยู่ ๆ ผมไปสมัครอะไรก็ไม่รู้ ผมยอมโทรศัพท์คุยกับเขาเสียเงินห้าสิบหกสิบบาทเพื่อให้เขายอมรับให้ได้ว่าตรงนี้คุณผิด แต่กลับกันในประเทศ เราหลายคนจะรู้สึกว่ารัฐไม่ช่วยหรอก กฎหมายไม่ช่วยหรอก ตัวอย่างก็มีอะไรอย่างนี้ ไปฟ้องศาลเป็นปีสองปีสามปีอะไรอย่างนี้ เหนื่อยก็เหนื่อย เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นดีกว่าตัดจบไป มันก็เลยกลายเป็นว่าเรื่องนี้มันก็ส่งต่อไปรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ ทำให้พลังผู้บริโภคอ่อนแอ         อย่างกรณีกฎหมาย LEMON LOW ถ้าเกิดออกมาผมว่า ต้องไปดูเรื่องของกระบวนการด้วยว่ามันจะเอื้อผู้บริโภคให้เขากล้าออกมาหรือเปล่า มีค่าเสียเวลา มีอะไรที่เขารู้สึกว่าหรือว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีหน่วยงานหรืออาจจะเป็น หน่วยงานพิเศษ หน่วยงานเร็ว ที่เข้ามาตรวจสอบอะไรอย่างนี้ คือทุกวันนี้เรามีสมาคม มีหน่วยงานเยอะมาก สมาคมยานยนต์ ซึ่งจุดประสงค์เขาก็มีอยู่แล้วเรื่องคุณภาพการผลิตอะไรอย่างนี้แต่ทุกวันนี้เขาก็เงียบ สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ก็เงียบ กรณีรถยนต์นี้อุปสรรคของผู้บริโภคอย่างหนึ่งคือ ค่ายรถยนต์ใหญ่มันมีผลประโยชน์เรื่องของการโฆษณาอยู่ เชื่อไหมว่า สื่อใหญ่รายการดังผมติดต่อไปหมดแล้วทั้งเมล์ ทั้งแชท ทั้งทุกช่องทางโทรไปก็เงียบ มีนักข่าวจากบางช่องมาติดต่อถามช่วงแรกๆ แล้วจากนั้น เขาก็เงียบ คือทุกอย่างเงียบหมด   ผมเลยมองว่าในเมื่อค่ายรถยนต์มันมีผลประโยชน์หรือผู้ประกอบการมีผลประโยชน์ในสื่อโฆษณากับทางสถานีโทรทัศน์ ที่ควรทำหน้าที่บอกความจริงทางใดทางหนึ่งให้กับประชาชน กลายเป็นว่าเขามีผลประโยชน์เอื้อกันตรงนี้มันก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคยากไปใหญ่         เพราะว่าการรวมตัวกันมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ การที่เราจะบอกให้คนมารวมตัวกันมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่การรวมกลุ่มผู้เสียหาย มีประโยชน์มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อโจมตีบริษัทฯ เลยนะแต่มันคือการสร้างพลังในการสื่อสาร ทำให้เราแจ้งข้อมูลจำเป็นต่างๆ ได้ อย่างน้อยผู้เสียหายควรรู้สิทธิว่า เขาคือผู้ใช้รถรุ่นนี้ เมื่อเขามีปัญหาเขาควรที่จะไปเข้าศูนย์เพื่อให้ศูนย์ตรวจสอบ   เมื่อคันหนึ่งได้เคลมฟรี คนที่เข้าข่ายเงื่อนไขเดียวกันก็ควรเคลมฟรีด้วย ไม่ใช่ว่าเขาแค่ไม่รู้ข่าวเลยต้องจ่ายเต็มทุกอย่าง อันนี้มันก็เป็นความไม่เท่าเทียมกันแล้วมันก็สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานในการให้บริการตามที่เขากล่าวอ้างหรือโฆษณาว่ามาตรฐานฮอนด้าทุกศูนย์เท่าเทียมกันหมดไม่จริง ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นได้บทเรียนอะไรบ้าง         หนึ่งคือเราไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถไงครับ เราไม่รู้ว่าใครประสบปัญหาอย่างเราบ้าง เราได้แต่ปากต่อปากเราคอยมองตามหน้า Page ว่า ณ วันนี้มีคนแจ้งมาไหมว่ามีปัญหา มีคนมาปรึกษาไหมว่าทำอย่างไรดีครับมันเสีย เราต้องตามเก็บพวกนี้ทุกวันๆ เราจึงเกิดพลังขึ้น แค่ว่าผมไม่เข้า Page แล้ววันนั้นนะมีคนบอกพี่ครับรถผมเสีย สิ่งที่คนนั้นเขาจะได้ข้อมูลกลับไปคือเอาไปซ่อมข้างนอกเลยครับ 5,000 บาทจบ อู่จะมาพิมพ์ติดต่อผมได้เลยครับรับซ่อม คราวนี้โพสต์นั้นก็ไหลลงไหลลง เราก็ไม่ได้ไปตามเห็นอีก เราก็เสียผู้บริโภคที่เขากำลังเดือดร้อนไปอีกหนึ่งคน แต่กลับกันถ้าเกิดผมเจอเขาก่อน ลองเข้ามาอ่าน Page ร้องเรียนครับ ถ้าเกิดเห็นด้วยกับแนวทางมาร่วมลงชื่อนะครับ ผมจะยินดีแนะนำแนวทางให้         สิ่งง่ายๆ คือเราไม่รู้ว่าเราจะประชาสัมพันธ์ช่องทางไหนได้ ถ้าเกิดสื่อหลักเขาไม่เล่น อย่าง Thai PBS วันเดียวมีคนแจ้งผมมาสิบกว่า รายบอกว่าพี่ผมเพิ่งเห็นผมไม่รู้ผมจ่ายเงินไปแล้ว ทุกวันนี้ก็มีคนแจ้งมาว่าผมจ่ายเงินไปแล้ว นี่แค่ ThaiPBS นะ แต่สื่ออื่นค่อนข้างเงียบ แต่ถ้าเกิดสื่อหลักอย่างรายการดังๆ ที่เรารู้ ถ้าเกิดเขาเชิญไป เราต้องการไปบอกนะว่า เขามีนโยบายเคลมฟรีแค่นั้นเอง         เรื่องเดือดร้อนขนาดนี้มูลค่าความเสียหายก็เยอะ มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ที่ต่างประเทศถึงขั้นมันอยู่ๆ รถก็เบรคเองกลางถนน บ้านเราโชคดียังไม่มีเหตุการณ์นี้ มีแต่เพียงว่าพวงมาลัยมันหนัก หนักขึ้นจากปกติ มีเคสเฉี่ยวชนแล้ว แต่อันนั้นผมคิดว่าบริษัทเขาก็รู้ ผมก็เคยโพสต์แล้วแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะว่าหนึ่งคือ เหมือนกับเขาคงรอว่าให้มีคนเสียชีวิตก่อนให้เป็นข่าวดังก่อน แล้วถามว่าใครอยากจะเป็นศพแรกถูกไหมครับ คือในต่างประเทศผมบอกเลยนะเขา Recall แม้ยังไม่มีการเฉี่ยวชนเลยนะ มันเป็นคดีความในต่างประเทศ แต่รถนี้ผลิตในประเทศ ขายในประเทศ คุณจะไปรอให้ต่างประเทศมีคดีความทำไม ในเมื่อทั้งหมดทั้งมวลมันคืออยู่ในประเทศไทยแล้ว คุณจะบอกว่าต้องรอให้ต่างประเทศเขามีเรื่องมีคดีความก่อนถึงจะเรียกคือ มันคือไม่ใช่นะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 เสียงสะท้อนจากคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค 4 คน จาก 4 ภูมิภาค

        “ไหนว่าเลิกใช้พาราควอตแล้ว แต่องค์กรผู้บริโภคยังตรวจพบปนเปื้อนใน ‘น้ำปู’” ,“เผยผลสุ่มตรวจปลาหมึกแห้ง พบแคดเมียมปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง”, “ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนักและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.”,  และ “เช็กเลย “แกงไตปลาแห้ง” ยี่ห้อไหนมีสารกันบูดเกินเกณฑ์”        พาดหัวข่าวเหล่านี้สะท้อนถึงงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศ ฉลาดซื้อ จะพาไปพบกับคนทำงานเฝ้าระวังจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในสี่ภูมิภาค พวกเขาทั้งสี่จะมาฉายภาพพลังของผู้บริโภค ความตื่นตัว และผลกระทบในพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง           พวงทอง  ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ  หลังจากเรียนจบใน ปี พ.ศ.2539  ก็เริ่มทำงานกับมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน (North Net Foundation) ที่เชียงใหม่ ประเด็นเรื่อง AIDS ในชุมชน แรงงานข้ามชาติและสิทธิเด็ก ทำอยู่ 2-3 ปี ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและเป็นอาจารย์อยู่ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยฯ  ม.ราชภัฏเชียงราย ปี 2547 ลาออกมาช่วยงานที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ช่วงแรกทำเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของ AIDS ในชุมชน จนประมาณปี 58 จึงมาทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดผลตอบรับอย่างไรในพื้นที่ หลังการแถลงข่าวผลทดสอบ         มันก็จะมีผลกับการทำงานนิดหน่อย หน่วยงานเขาก็ว่า ทำไมไม่มาคุยกัน จะได้ทำความร่วมมือ ปฏิกิริยามีสองส่วน หน่วยงานในพื้นที่อาจไม่เข้าใจการทำงานของเรา และผู้ประกอบอาจกังวลว่าเก็บไปแล้วจะส่งผลกระทบกับเขาอย่างไร แม้ที่ผ่านมายังไม่เกิดอะไรรุนแรง แต่ในช่วงปีที่สองหลังจากเรามีบทเรียน พอเราประชุมกับ ฉลาดซื้อ เสร็จ ก็วางเป้าหมายว่าเราจะทำความร่วมมือกับ สสจ.ในพื้นที่เลย บอกว่าเราจะเก็บข้อมูลอะไร อย่างไร  จะร่วมมือกันอย่างไร เช่น สสจ.เขาจะให้ข้อมูลว่ามีแหล่งผลิตอะไร ที่ไหน อย่างไร เขาไปทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับสูตร มีการทำข้อมูลด้วยกัน ปีนี้เราเก็บน้ำพริกหนุ่มรอบสอง ปรากฏว่า สสจ.เขาลงพื้นที่กับผู้ประกอบการ ตอนที่เราประกาศผล ไม่มีผลกระทบใดๆ เลย ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปรับสูตรได้ก็ปรับเลย และปีนี้ คือครั้งที่ 3 ที่เราทำความร่วมมือกับ สสจ.อย่างชัดเจน โดยเขาทำกับผู้ประกอบการตั้งแต่แรกเลย ปรากฏว่าน้ำพริกหนุ่มของจังหวัดพะเยาที่เคยพบการปนเปื้อน มากๆ กลับลดลงจนแทบจะไม่มี หรือเกินมาตรฐานเล็กน้อย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำหรับขบวนการทำงาน         มันเกิดความเข้าใจระหว่างองค์กรที่ทำงานร่วมกัน และระหว่างหน่วยงานราชการกับองค์กร เรามีแผนการทำงานที่ส่งเสริมกันที่ชัดเจน และ มีการวางระบบข้อมูลเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เช่น เราจะเป็นฝ่ายเฝ้าระวังอย่างไร เขาจะเอาข้อมูลที่เราเฝ้าระวังไปเชื่อมต่อในการทำงานอย่างไร แต่ครั้งที่เราเก็บน้ำปู ต้องบอกว่า สสจ.ไม่ได้อยู่ในแผนเรา เราเก็บแล้วไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เก็บตามเป้าหมายที่เราต้องการคือทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภาคประชาชน เรื่องสารพาราควอตในปู พื้นที่ที่เราเก็บตัวอย่างนั้นผลิตน้ำปูค่อนข้างเยอะและเป็นที่นิยม บางเจ้าที่อยู่ในพื้นที่ก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย คนในพื้นที่เขารู้สึกว่าเขาให้ความร่วมมือแล้วได้ประโยชน์อย่างไร        กรณีน้ำพริกหนุ่ม ตอนแรกผู้ประกอบการเขาเจอการปนเปื้อนที่ 3,000 กว่า เขาก็ตกใจ เพราะเขาไปเอาผลิตภัณฑ์จากจังหวัดอื่นมาขายในชื่อเขา เขาไม่เคยสนใจและไม่เคยคิดว่ามันมี สิ่งที่ตามมาคือเขาขอบคุณที่ทำให้เขารู้ เขาจะไม่รับมาขายแล้ว ทำเองดีกว่า หลายผลิตภัณฑ์ที่เราเก็บ เขายอมปรับสูตรกับ สสจ.เลยนะ ปรับสูตรปรับอะไรหลายอย่าง เบื้องต้นคิดว่าเขาพร้อมที่จะปรับ แต่ตอนที่ข่าวออกมาและเราไม่ได้ไปคุยกับเขาก่อน เขาช็อคอยู่เหมือนกัน ถ้าเราไปเก็บข้อมูลแล้วบอกเขาเลยว่าซื้อไปทำไม ผลออกมาแล้วเราจะใช้อย่างไร ทำความเข้าใจกับเขาแต่ต้น อันนี้จะเป็นประโยชน์มากในการขับเคลื่อน ผู้ประกอบการก็คือผู้บริโภคเหมือนกัน เพราะต้องกินของที่อยู่ตามท้องตลาด        มันมีสองทัศนะที่ต้องจูนหากันให้ได้ ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ปลอดภัย ผู้ประกอบการก็ต้องการจำหน่ายให้ได้ยอดเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ถ้าวันนี้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและปลอดภัย แม้ราคาจะสูงนิดหน่อย แต่มันสามารถติดตามแหล่งที่มา มีกระบวนการผลิต การควบคุม ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ก็ต้องทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค มากไปกว่านั้นคือต้องทำให้ผู้บริโภครู้และตระหนักในสิทธิของตัวเอง         พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เริ่มทำงานเมื่อปี 2548 ปัจจุบันทำงานตำแหน่งกลไกภาคงานหลักประกันสุขภาพ  หัวหน้าโหนด สสส. จังหวัดกาญจนบุรี และผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก เขาบอกว่าเสน่ห์ของงานผู้บริโภคอยู่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนได้ และคนทำงานก็ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถ้าเคสได้รับการแก้ไขจะรู้สึกดีใจมาก บางครั้งรู้สึกเหมือนเป็นปัญหาของตัวเองที่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเสียใจ เช่น กรณีเสาส่งสัญญาณที่บ้านห้วยพลู จ.นครปฐม ซึ่งเป็นเคสแรก ทันทีที่เคสแจ้งมาว่าบริษัทเค้าถอนเสา เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราทำได้แล้ว หรือกรณีเสาที่โรงเรียนสอนเด็กพิเศษที่บางกะพ้อม สมุทรสงคราม ซึ่งชุมชนยอมให้ติดตั้ง เราก็แอบเสียใจที่เราช่วยเด็กเหล่านั้นไม่ได้ เรื่องการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันตก ผู้บริโภคมีความตื่นตัวอย่างไร         ผู้บริโภคในพื้นที่จะระวังมากขึ้น เช่น เขาจะเลือกไปร้านที่ไม่พบสารปนเปื้อน มีการปรับตัวหลังจากได้ข้อมูล ร้านค้าก็ปรับตัว สมมุติว่าเขาเป็นร้านรับซื้อมาขาย เขาก็จะคัดของมากขึ้น สมมุติว่าเราซื้อปลาหมึกแห้งที่เขารับมาจากอีกที่หนึ่ง แล้วปรากฏว่ามีสารปนเปื้อน เขาก็จะไม่รับมาขาย มันก็ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเองเพื่อให้ขายได้ โดยดูแลเรื่องสารปนเปื้อน เรื่องการผลิตมากขึ้น การทำงานร่วมกันมีความสำคัญกับอาหารปลอดภัยอย่างไร        สิ่งสำคัญของการทำงานแบบทุกฝ่ายร่วมมือกัน คือ หนึ่ง ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่ปลอดภัย สอง มันไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง เราโตมากับความคิดว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐก็จัดการไป แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันเฝ้าระวัง ประชาชนก็มีหน้าที่สอดส่องดูแล แล้วแจ้งเตือน หน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบ เขาก็ตรวจสอบหลังจากมีคนแจ้ง ถ้าเราไม่เฝ้าไม่ดู เขาไม่รู้ เขาก็ไม่ตรวจสอบ สุดท้ายอาหารพวกนี้มันก็ปนเปื้อนและส่งผลมาที่ตัวเรา ผมว่ามันเป็นภาระของคนใดคนหนึ่งไม่ได้   ภาคประชาชนไม่ได้มาแย่งงานของหน่วยงานรัฐ มันเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ถ้าจับมือทำงานเชิงมิตรกันมากขึ้น ผลประโยชน์สูงสุดมันก็ตกที่ตัวประชาชน ผู้บริโภคมีบทบาทอย่างไรกับการเลือกอาหารปลอดภัยให้กับตัวเอง         สิ่งแรกก็คือต้องรู้ว่าอาหารที่เขากิน มาจากไหน และตรงไหนที่มันปลอดภัย ถ้าดูข้อมูลจาก ฉลาดซื้อ เขาเห็นยี่ห้อ เขาก็เลือกได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซื้อและมีสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค อันนี้ใครก็ไม่สามารถทำให้เขาได้ ผู้บริโภคต้องตัดสินว่ามีข้อมูลแบบนี้แล้วจะเลือกอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย        ศตคุณ คนไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน เริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2555 เขาได้เรียนรู้งานในช่วงที่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง กำลังเป็นที่นิยม  แต่กลับมีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจนเสียชีวิต จึงได้ทำวิจัยเมื่อจบการศึกษาในประเด็นความเข้าใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้เห็นว่าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการสุขภาพดี  หลังจากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร 1 ปี ประมาณปี 2558 จึงได้กลับมาทำงานที่สมาคมผู้บริโภคอีกครั้ง เขาสนใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้คนทั่วไปมักเจอกับการถูกผู้ประกอบการหรือคนอื่น เอารัดเอาเปรียบทางสังคม ทางการค้า หรือแม้แต่ด้านสวัสดิการ การเก็บตัวอย่าง/เฝ้าระวังในพื้นที่มีประโยชน์หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร         ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างปลาร้าใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี  ร้อยเอ็ด เก็บตัวอย่างกุนเชียง เก็บตัวอย่างผักในตลาดขายส่งในเมืองขอนแก่น  เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โอ้อวดเกินจริง ทางวิทยุ และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง         ผู้ประกอบการตื่นตัวและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ลงโฆษณาที่ถูกกฎหมาย เพิ่มรายละเอียดของสินค้า เช่น วันผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น บางรายเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณา การขาย หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ให้เหมือนกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ด้านผู้บริโภคก็ตื่นตัว เข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น เช่น มีความรู้เรื่องการเจือปนของโลหะหนักในน้ำปลาร้า            ในส่วนประโยชน์และการเปลี่ยนแปลง จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอยู่เสมอ เช่น ในการเก็บตัวอย่างเครื่องสำอาง ต้องให้ภาคประชาชนเป็นคนทำ เพราะร้านค้าต่างๆ จะรู้ทันที หากเจ้าหน้าที่ สสจ.ลงพื้นที่ คณะทำงานได้ลงมือปฏิบัติ เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมกันเก็บข้อมูลก็ได้รับรู้สถานการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนไปพร้อมกัน         หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้รับข้อมูลสินค้าและร้านค้าที่ขายของผิดกฎหมาย มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน การโฆษณาเกินจริง หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการได้รวดเร็ว เช่น ตักเตือน จับ-ปรับ รวมถึงดำเนินคดี เมื่อหน่วยงานติดตาม ตรวจสอบและพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นผิดกฎหมาย แล้วประกาศห้ามขาย ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ภาคอีสานมีแผนเก็บตัวอย่างหรือเฝ้าระวังอะไรต่อ        วางแผนเก็บตัวอย่างเนื้อย่างครับ ทำร่วมกับเครือข่ายในจังหวัด ในส่วนการเฝ้าระวังสถานการณ์ในจังหวัด จะมีกลไกภาคประชาชนและหน่วยงาน ซึ่งจะวางแผนการทำงานร่วมกันในแต่ละปี         จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เริ่มทำงานด้านนี้เลยเพราะสนใจเรื่องสิทธิ รู้สึกว่าเรื่องสิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม้จะทำมา 20 ปีแล้ว ยังรู้สึกสนุก เพราะงานผู้บริโภคมีเสน่ห์ตรงที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และมีเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด อาจเป็นปัญหาเดิมแต่มีการยกระดับขึ้นตามสถานการณ์ ทำให้ต้องรู้เท่าทันและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้อะไรจากการทำงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการ        อันดับแรกเลย มันจะได้กับคนที่เก็บตัวอย่าง เวลาเราให้อาสาสมัครไปเก็บตัวอย่าง เราก็ได้รู้ว่าอาหารแต่ละอย่างมีปัญหาอะไรได้บ้าง กฎหมายว่าอย่างไร เช่น ตอนเก็บไตปลาเราก็จะรู้ว่าไตปลาเขาใส่สารกันบูดด้วย กฎหมายห้ามใส่เกินเท่านี้ๆ  ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น แกนนำเครือข่ายหรืออาสาสมัครที่มาช่วยก็จะมีข้อมูลมากขึ้น ตอนให้เขาเก็บตัวอย่างกาแฟ 3-in-1 เขาก็จะรู้ว่าอันนี้อันตราย ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และในพื้นที่เขามีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะมีปัญหาเยอะเลย ทำให้ผู้บริโภคระดับแกนนำตื่นตัวมากขึ้น และมีความรู้ไปบอกต่อได้ เวลาผลออกไป เกิดผลกระทบอย่างไรกับคนในพื้นที่         ตอนที่เราตรวจไตปลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เหมือนกับต้องทำงานเฝ้าระวังให้มากขึ้น หรือเวลาเราเก็บข้อมูลที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารโดยตรง เช่นเครื่องสำอาง พอเราเก็บข้อมูลมาจากพื้นที่ว่ามันมีปัญหาน่าสงสัยว่าจะมีการใส่สารที่เป็นอันตราย ก็เอามาพูดคุยให้หน่วยงานเขารู้ ทำให้ สสจ.เขาทำงานเชิงรุก เขาก็ไปดูว่ามันมีการขายพวกนี้ไหม ออนไลน์มีไหม บางอันเขาก็ล่อซื้อ และเขาก็เจอว่าไอ้ที่มันขายอยู่มันอันตราย เขาก็ไปจับ ตอนนี้เป็นข่าวใหญ่เรื่องโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ใส่สารอันตราย อันนี้ก็เริ่มจากการที่เราเก็บข้อมูลมา เราคุยกับเขา ทำให้เขาเห็นว่าผู้บริโภคตื่นตัวค่อนข้างเยอะ มีแผนเฝ้าระวังอย่างไรในพื้นที่         จากที่ได้คุยกัน คิดว่าจะดูพวกของฝากพื้นถิ่น เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ในชุมชนอาศัยความไว้วางใจกัน แต่ตอนหลังเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เราก็เลยไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย  คุยกันว่าถ้าตรวจเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้บริโภคก็จะมั่นใจมากขึ้น อีกอย่างที่น่าสำรวจคือ กาแฟทรีอินวัน แบบนำเข้า ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าใส่สารอันตรายหรือเปล่า กาแฟในประเทศราคาซองละ 5 - 7 บาท แต่กาแฟนำเข้าพวกนี้ขายซองละ 30 บาท บางทีก็ขาย 2 หรือ 3 ซอง 100 เป็นกาแฟที่กินแล้วคึกคักอะไรแบบนี้ คือมันขายผู้ชาย เวลาลงพื้นที่ก็มีคนเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเขากินแล้วหัวใจวาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทุก 15 นาที คนไทย 1 คนจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา

ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงถี่ขึ้นตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าแปลกที่สถานการณ์กลับไม่ทุเลาลงสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม มันดูจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการใช้ยาปฏิชีวนะลามไปถึงในพืชแล้ว        ‘ฉลาดซื้อ’ พูดคุยกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาสมเหตุผล กันแบบตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจนน่ากังวล       ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ข้อมูลว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งและเบาหวานรวมกัน ส่วนในไทยปัจจุบัน ทุกๆ 15 นาที จะมีคนไทย 1 คนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา นับเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการ        อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วความตระหนักรู้ของเราทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมากมายที่จะยับยั้งเรื่องนี้ อยากเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานว่า เวลาพูดว่าดื้อยา เชื้อดื้อยา หมายถึงอะไร        เวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยา เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าเชื้อในที่นี้ก็คือเชื้อโรคซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญคือเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อไวรัส ยาที่ใช้กับเชื้อแบคทีเรียเรียกว่ายาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้กับเชื้อไวรัสเรียกว่ายาต้านไวรัส ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้เมื่อใช้ไป แม้จะใช้อย่างถูกวิธีหรือผิดวิธีก็ตาม เชื้อที่ว่านี้ก็จะพยายามต่อต้าน ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยาจะเน้นที่เชื้อแบคทีเรียเป็นสำคัญ ในทางการแพทย์เมื่อเราใช้ยาด้วยความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยา เราจะฆ่าแบคทีเรียฆ่าไวรัสได้เสมอเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมาเชื้อจะกลายพันธุ์จนมีความสามารถเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นของยาเท่าเดิมแต่รักษาโรคไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะไม่มีความเข้มข้นใดเลยที่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียหรือไวรัสนั้น อันนี้เรียกว่าดื้อยาอย่างสมบูรณ์ ในทางการแพทย์ถ้าเชื้อดื้อยาในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ หมอจะเริ่มไม่สบายใจ เพราะโอกาสหายแค่ 7 คนอีก 3 คนไม่หาย แต่ปัจจุบันอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทั่วไป โอกาสที่จะรักษาหายต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แทบทั้งสิ้น ยาปฏิชีวนะบางชนิดถูกดื้อยาในอัตราสูงถึง 80-90% นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้น ภาวะเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นได้อย่างไร         การดื้อยา กรณีที่หนึ่ง เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเมื่อมีสิ่งใดมาคุกคาม มันก็ต้องพัฒนาการโดยการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่มีความสามารถต่อต้านยาที่จะมาฆ่ามัน ยกตัวอย่างวิธีการหนึ่งที่ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียได้คือเมื่อยาสัมผัสโดนแบคทีเรียแล้ว มันจะไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียก็จะตาย จากนั้นสิ่งที่แบคทีเรียทำคือมันจะสร้างเอนไซม์ออกมาห้อมล้อมตัวมัน เพื่อทำลายยาที่กำลังจะสัมผัสตัวมัน พอยามาโดนสารนี้มันจะสลายไป ไม่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียได้อีก แบคทีเรียมีวิธีในการดื้อยามากมายหลายวิธี แม้ว่าเราจะใช้ยาอย่างถูกต้องก็ตามการดื้อยาจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การดื้อยาตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป         กรณีที่สองเกิดขึ้นจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล อัตราและความรุนแรงในการดื้อยาของแบคทีเรียจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าการคุกคาม หมายความว่าถ้าเราไม่ใส่ยาปฏิชีวนะเข้าไปเยอะๆ ในคนจำนวนมาก แบคทีเรียก็ไม่โดนคุกคามเกินจำเป็น มันก็ไม่ดื้อมาก แต่ถ้าเราใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง การดื้อยาจะค่อยเป็นค่อยไปและเราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่ปัจจุบันเราใช้ยามากกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว ทำให้แบคทีเรียสัมผัสยาปฏิชีวนะในอัตราที่ผิดธรรมชาติ จึงเกิดอัตราเร่งในการดื้อยาขึ้น         การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผลมี 4 แบบ หนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นคือใช้ไม่ตรงกับโรค เช่นการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด ไอ เจ็บคอ ซึ่งโรคเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส สองคือใช้ยาปฏิชีวนะแล้วหยุดยาก่อนกำหนด เพราะขณะที่หยุดยาเชื้อแบคทีเรียยังไม่หมดไปจากร่างกาย แต่มันสัมผัสโดนยาแล้ว ทำให้มันรู้จักยาและหาวิธีดื้อยาจนสำเร็จ ข้อที่ 3 ใช้ยาในขนาดต่ำเกินไป คือเรารู้ว่ายาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ต้องมีความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรากินยาไม่ตรงตามโดส เช่น เราควรจะกินยา 2 เม็ด แต่กินแค่เม็ดเดียว ปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายและสัมผัสโดนแบคทีเรียจะต่ำลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แต่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยา และข้อที่ 4 ใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินจำเป็น ยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์กว้างขวางไม่เท่ากัน ประชาชนควรทราบว่าในร่างกายเรามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เช่นปกคลุมตามผิวหนัง อาศัยในช่องปาก ในอุจจาระที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นโรคที่ใช้ยาออกฤทธิ์แคบได้ เราไม่ใช้ ดันไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง แบคทีเรียที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เมื่อโดนยาก็จะพยายามดื้อยา เท่ากับสร้างกลุ่มของแบคทีเรียที่ดื้อยาให้กว้างขวาง และสะสมไว้ในร่างกายของเรารอวันของการประทุเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อที่ไต และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น  สถานการณ์เชื้อดื้อยาทั้งในระดับโลกและในประเทศรุนแรงแค่ไหน         รุนแรงมากครับ ในระดับโลกมีการคำนวณไว้ว่าในปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเบาหวานและมะเร็งรวมกัน เขาคำนวณไว้ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี เมื่อคำนวณกลับมาเท่ากับจะมีคนเสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 3 วินาที และครึ่งหนึ่งของ 10 ล้านคนจะอยู่ในทวีปเอเชียซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วย          ส่วนในประเทศไทยเองมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากมาย ในปีหนึ่งจะมีคนที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 1.2 แสนกว่าคนและในจำนวนนี้จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 28,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก เท่ากับมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15 นาทีต่อ 1 คน ที่สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาก         อีกปัญหาหนึ่งคือคนไข้ที่ติดเชื้อดื้อยาจะออกจากโรงพยาบาลได้ช้า หมายความว่าถ้าเชื้อไม่ดื้อยา รักษาแค่ 5 วัน 7 วันก็กลับบ้านแล้ว แต่พอเป็นเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้เวลานาน เช่น ใช้ยาตัวแรกไม่หาย เปลี่ยนเป็นตัวที่ 2 ถ้าเปลี่ยนทันก็ดี เปลี่ยนไม่ทันหรือเชื้อดื้อต่อยาทุกชนิดในโรงพยาบาลก็เสียชีวิต กรณีแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยแสนกว่าคนยึดครองเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน หมายความว่าผู้เจ็บป่วยรายใหม่จะเข้าก็เข้าไม่ได้เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยายึดครองเตียงไว้         ปัจจุบันเราพบเชื้อดื้อยาได้มากมายมหาศาลในทุกโรงพยาบาล ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อดื้อยาแล้วเสียชีวิตลงก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดื้อยาหมดไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต แต่เชื้อยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม เช่น คนไข้คนหนึ่งเสียชีวิตในห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชื้อดื้อยาสุด ๆ ตัวนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปในห้องไอซียูนั้น ใครเข้ามาติดเชื้อตัวนั้นก็อาจตายอีก อันนี้คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น แสดงว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้เลวร้ายและก็จะเลวร้ายลงไปอีก         เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งเราอยากจะสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ คนที่รู้คือหมอ พยาบาลและเภสัชกรในโรงพยาบาลที่เห็นคนไข้เสียชีวิตเป็นประจำจากเชื้อดื้อยา แต่ประชาชนอยู่ข้างนอกไม่รู้ เราจึงต้องสื่อสารให้คนเกิดความตระหนักว่าเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะที่พูดถึงสาเหตุของเชื้อดื้อยา ประชาชนช่วยได้เยอะเลย เช่น การใช้ยาเกินจำเป็น ประชาชนช่วยได้ ใช้ยาแล้วหยุดก่อนกำหนด ประชาชนก็ช่วยได้ เป็นต้น แต่เวลาประชาชนไปซื้อยาตามร้านขาย เภสัชกรก็จะรู้ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่หรือ         ใช่ นี่เป็นประเด็นสำคัญมาก ผมจะพูดรวมไปถึงหมอด้วย ที่คนไข้เจ็บคอมาแล้วสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย เป็นการกระทำที่เรียกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผล การใช้ยามี 2 แบบคือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เช่น เราติดเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพราะรักษาด้วยอีกวิธีหนึ่ง ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าคุณหมอหรือร้านขายยาจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับเรา แปลว่าเขากำลังใช้ยาไม่สมเหตุสมผล และกำลังใช้ยาโดยขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา         เชื่อหรือไม่องค์การอนามัยโลกบอกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผล ทั้งโดยแพทย์และเภสัชกร         ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่เรียกว่า service plan  ได้กำหนดตัวชี้วัดว่าในโรค หวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย โรงพยาบาลสั่งยาปฏิชีวนะได้ไม่เกิน 2 คนใน 10 คน ซึ่งในอดีตใช้อยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นโยบายนี้ชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) แปลว่าเดิมมีการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลอยู่จึงต้องมีนโยบายเช่นนี้ ถ้าโรงพยาบาลใดมีการสั่งยาปฏิชีวนะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ทำให้ลงมาต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านตัวชี้วัด บอกให้รู้ว่าโรงพยาบาลรัฐเริ่มต้นแล้ว เพราะเห็นความสำคัญ ขณะนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกือบ 10,000 แห่งใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในคนไข้เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย แล้ว แล้วในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก?         ภาครัฐเรารู้อยู่แล้วว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ภาคเอกชนก็คาดได้ว่าน่าจะเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อันนี้แหละคือปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข การแก้ไขเราทำทั้งฝั่งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาด้วย แต่มีความยากตรงที่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการที่จะออกกฎระเบียบให้ภาคเอกชนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็พยายามอยู่ในการหาช่องทางต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ในการอุดช่องโหว่นี้เพื่อให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง         แต่อีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือการทำให้ประชาชนตระหนักว่าโรคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย เมื่อเข้าใจแล้วประชาชนก็จะแสดงท่าทีตั้งแต่แรกว่าต้องการคำอธิบายมากกว่าต้องการยาปฏิชีวนะและจะสอบถามถึงความจำเป็นในการจ่ายยาปฏิชีวนะ ขอคำอธิบายว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ยังไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะได้ไหม และรอก่อนได้ไหม         ประโยคหลังนี้สำคัญมาก เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรในจิตสำนึกของเขาต้องการให้คนไข้หายไวๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเรารอได้ ถ้าเป็นไวรัส เดี๋ยวมันก็หาย ถ้าเป็นแบคทีเรียแล้วอาการกำเริบ เขากลับมาอีกครั้งก็ได้ คุณหมอและเภสัชกรก็ไม่ต้องรีบสั่งยาปฏิชีวนะให้         การหายเร็วหรือช้ายังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวของประชาชนด้วย กล่าวคือ โรคที่เกิดจากไวรัสเป็นโรคที่หายได้เองจากภูมิต้านทานของเรา ถ้ายังนอนดึกอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังดื่มเหล้า ยังโดนฝน ยังตากแดด โรคที่เกิดจากไวรัสก็หายช้า คุณหมอที่กลัวจะโดนต่อว่าก็จะสั่งยาปฏิชีวนะไปก่อน นี่คือปัญหาที่เกิดจากประชาชน ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยาอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงก็มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว         สิ่งที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือการรณรงค์และการให้ความรู้ต่างๆ มักไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่นเรารณรงค์ว่าเมาห้ามขับรถ แต่ถ้าเราไม่มีกฎระเบียบใดๆ เลยก็ยังมีคนเมาแล้วขับรถอยู่ คนจะเลิกดื่มเหล้าแล้วขับก็ต่อเมื่อมีการตั้งด่านตรวจอย่างสม่ำเสมอและรู้ว่าถ้าดื่มแล้วขับ ตรวจเจอ คุณติดคุก ที่ต่างประเทศจึงค่อนข้างจะประสบความสำเร็จหมายความว่าเราต้องมีกฎระเบียบในการทำให้คนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างพร่ำเพรื่อ เช่นในต่างประเทศประชาชนจะซื้อก็ซื้อไม่ได้ เภสัชกรจะจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านขายยาก็จ่ายเองไม่ได้แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ คุณหมอจะสั่งก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ เป็นต้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา         ขณะนี้เรามีนโยบายข้อหนึ่งที่ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำลังดำเนินการ คือการทำบัญชีสถานะของยาปฏิชีวนะ ในต่างประเทศ ถ้าคุณเดินไปร้านขายยา คุณจะขอซื้อยาปฏิชีวนะไม่ได้ จะซื้อได้ต่อเมื่อคุณต้องพบแพทย์ก่อน แล้วหมอเป็นคนเขียนใบสั่งยา ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ที่เราทำอยู่คือแบ่งระดับยาปฏิชีวนะออกเป็นกลุ่มๆ อย่างยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างส่งผลกระทบมากต่อปัญหาเชื้อดื้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ร้านขายยา ร้านขายยาควรจะเหลือเฉพาะยาพื้นฐานที่ช่วยคนไข้ที่จำเป็นที่ยังไม่มีเวลาไปหาหมอ เป็นการออกกฎระเบียบเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไปจนส่งผลกระทบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่         และยังมีข้อกำหนดต่อไปด้วยว่าเมื่อมีการจัดกลุ่มยาปฏิชีวนะใหม่แล้ว เภสัชกรร้านยายังต้องผ่านการประเมินหรือการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้มีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (RDU Pharmacy) เช่นเดียวกันกับแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วผ่านนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital)         อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือให้ร้านขายยาและคลินิกมีฉลากยามาตรฐาน ที่บอกผู้ใช้ยาว่ายาตัวนั้นชื่ออะไร และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็ต้องระบุไว้ให้เห็นชัดเจน ส่วนโรงพยาบาลต่าง ๆ จะระบุชื่อยาไว้ที่ฉลากยาอยู่แล้ว และมักมีข้อความระบุว่าเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกำกับไว้ แต่ประชาชนมักจะทราบทางอ้อมว่าเป็นยากลุ่มนี้เมื่อเห็นข้อความว่า “รับประทานยานี้จนหมด”         อย่างไรก็ตามการเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า รับประทานยานี้จนหมด นั้นเป็นการสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอยู่ กล่าวคือ หากยาปฏิชีวนะนั้นถูกสั่งใช้มาอย่างไม่สมเหตุผล ประชาชนต้องหยุดยานั้นในทันทีที่ทราบ ไม่ใช่กินต่อจนหมดตามที่ฉลากยาระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเป็นการจ่ายยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นย่อมหมายความว่าประชาชนไม่ต้องใช้ยานั้นตั้งแต่แรก การกินต่อไปจะยิ่งรบกวนแบคทีเรียตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย และยิ่งก่อปัญหามากขึ้นตามปริมาณยาและระยะเวลาที่ยังคงใช้ยาอยู่ ใจความที่ถูกต้องคือ “ควรกินยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่งในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสควรหยุดยาทันที ไม่ควรกินต่อ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เมื่อถูกหลอกขายที่นอนยางพารา

จากเรื่องที่มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจากเหตุสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 10 เพจ ซึ่งบางรายได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพขณะที่บางรายไม่ได้รับสินค้านั้น แม้ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ไปแจ้งความทำให้เจ้าของเพจถูกดำเนินคดีและเพจถูกปิดไปแล้วนั้น ปรากฎว่าเพจที่เคยถูกปิดไปแล้วกลับคืนชีพขึ้นมาอีกและเคลื่อนไหวสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นในวันที่  19 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.๑ บก.ปคบ.) ให้เร่งตรวจสอบเพจหลอกลวงดังกล่าว ฉลาดซื้อได้ขอสัมภาษณ์ตัวแทนผู้เสียหาย 2 ท่าน คือ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง และคุณมณฑวรรณ  บัวศรี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเพื่อย้อนทวนเรื่องราวดังกล่าว คุณมณฑวรรณ บัวศรี           ปัญหาอย่างแรกของการใช้สิทธิคือ ความไม่ชัดเจน         ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันตั้งแต่แรกเลย คือปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละ สน. แต่ละท้องที่ก็มีบรรทัดฐานในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่ง สน.เดียวกันบางครั้งเจ้าหน้าที่สอบสวนคนละท่าน วิธีการทำงานก็ต่างกันแล้ว ข้อหาที่ได้ก็ต่างกัน ทำให้ผู้เสียหายมีความสับสนว่าต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร หาหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุนเพื่อให้คดีคืบหน้า บางท่านเจอว่าคดีเป็นแค่แพ่ง ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือบางท่านพบว่าเป็นแค่ฉ้อโกงเฉยๆ ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน บางท่านได้แค่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นบางท่านบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เขาให้ไปติดต่อส่วนกลางเขาไม่มีอำนาจ ซึ่งการไปติดต่อส่วนกลางมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ หรือมีจำนวนผู้เสียหายอย่างละเท่าไหร่ เมื่อผู้เสียหายบางครั้งฟังจากทางเจ้าหน้าที่แล้วไปติดต่อส่วนกลาง เขาก็พบว่าเรื่องของเขายังเข้าส่วนกลางไม่ได้ส่วนกลางไม่รับแล้วก็ให้เขากลับมาที่ สน. อย่างเดิม กลายเป็นว่าผู้เสียหายเสียเวลาแล้วก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งพอเจ้าหน้าที่รับแจ้งความแล้วคดีไม่เดิน แม้ว่าผู้เสียหายจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนก็ล่าช้า เจ้าหน้าที่อาจจะอ้างว่าคดีเยอะ เราเข้าใจแต่ว่าบางครั้งความเสียหายของผู้เสียหายเขาก็ร้อนใจเขาก็อยากทราบว่ากระบวนการที่เป็นรูปธรรมมันจะเป็นไปในทิศทางไหน เขาจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อที่จะสามารถให้เป็นไปได้เร็วที่สุด สนับสนุนตำรวจให้ได้มากที่สุด” ทางกลุ่มแก้จุดนี้อย่างไร         ที่เราดำเนินการมาตอนนี้ส่วนใหญ่เราจะแจ้งให้ทางผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้น ก่อน ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อที่จะมาปะติดปะต่อว่า ในความเสียหายนั้นมีจำนวนผู้เสียหายจำนวนเท่าไหร่ มูลค่าความเสียหายแค่ไหน เลขที่มาที่ไปทางบัญชี และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อที่จะได้รวบรวมเอาหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ยื่นเข้าส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้เรื่องมันได้เดินไปได้เร็วมากขึ้นและก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าถ้ากระจายกันตามและท้องที่ แต่ละ สน. มันช้ามากแล้วก็ไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นขบวนการใหญ่มากๆ เชื่อไหมว่าพลังของผู้บริโภคมีจริง         เรื่องการรักษาสิทธิมันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องทราบ แม้เงินแค่ไม่กี่บาท บางคนอาจจะมองว่ามันเสียเวลาในการดำเนินการ แต่คุณลองคิดนะว่าถ้าคุณโดนเขาโกงไป 700 บาท เขาโกงไปพันคน เขาได้เท่าไหร่ต่อเดือน แล้วเขาโกงแบบนี้เรื่อยๆ เขาได้เงินไปเท่าไหร่ ถ้าเกิดทุกคนคิดแบบนี้ (คิดว่าเสียเวลา) เหมือนกันขบวนการพวกนี้มันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนโกงเขาก็จะมองว่าทำแบบนี้มันง่าย การเป็นมิจฉาชีพมันง่าย ไม่มีใครมาขัดขวางอะไรเขา หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็ช้า เขาก็กินไปได้เรื่อยๆ แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรักษาสิทธิของตัวเองเจอแบบนี้          เราขอให้แจ้งความดำเนินคดีก่อน แล้วคอยตรวจสอบช่วยกันดูว่ากลุ่มที่เป็นเพจขายของพวกนี้มีผู้เสียหายเยอะไหม ถ้ามีเยอะรวมตัวกันเถอะค่ะ ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐานแล้วก็ดำเนินคดีกับเขา มันไม่ยากเลยมันเหมือนอย่างที่กลุ่มเราทำกันอยู่ตรงนี้ ทุกคนโดนราคาต่างกันตั้งแต่ 600 บาท ถึง 20,000 บาท 600 บาทก็เอาเข้าคุกได้นะคะทำกันมาแล้ว รักษาสิทธิตัวเอง ถ้าเกิดคุณไม่ทำคนพวกนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ พอมีคนไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่าไม่เห็นคนนี้เคยมีประวัติอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้อย่างน้อยให้เขาติดแบล็กลิสต์ (Blacklist)  ก็ยังดีเพื่อที่ว่าเป็นการรักษาสิทธิตัวคุณ และเป็นการรักษาสิทธิของคนอื่นด้วยที่จะหลงกลเข้ามาอยู่ตรงนี้ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง        สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือคาดหวังให้เพจที่กลับมาหลอกลวงผู้บริโภคถูกจัดการอย่างจริงจัง         ตอนนี้แต่ละคนก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษใน สภ.ท้องที่ของตัวเอง และในวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่เราดำเนินการกันก็คือ  เรารวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากคนที่มาลงในระบบ และมายื่นหนังสือต่อ ปคบ. ส่วนในช่วงบ่ายเราก็จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยสืบสวน เราคาดหวังว่าทางสำนักงาน ปปง.แล้วก็ ปคบ.จะขับเคลื่อนต่อ จริงๆ แต่ละคนก็ไปแจ้งความแล้ว ร้อยละเจ็ดสิบจากสามร้อยกว่า คือคนเกือบสี่ร้อยคนแจ้งความเกือบหมดแล้ว แต่ก็คาดหวังว่าเขาสามารถที่จะดึงมาเป็นส่วนกลางแล้วก็ขับเคลื่อนให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในคดีนี้ สิ่งที่อยากบอกคนกับนักช้อปออนไลน์         ตอนนี้คนหันมาซื้อของออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะซื้ออยากให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีๆ ลองเปรียบเทียบหลายๆ เพจก่อนการโอนเงิน ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าจ่ายเงินก่อน คือให้รับของก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจ่ายเงินปลายทาง ควรเลือกร้านที่มีหน้าร้านถูกต้อง มีเลขจดทะเบียนถูกต้อง แสดงรายละเอียดถูกต้องและรู้สึกไม่ปิดบังอย่างเช่นเพจที่เราโดน  ซึ่งถ้าเราไปสังเกตจริงๆ มันดูเหมือนมีมาตรฐานมากเลย มันมีการไลฟ์ มีการรีวิว เราก็ไปเปรียบเทียบกับหลายเพจในกูเกิล (Google) แต่เพจนี้ปิดส่วนคอมเมนต์ (Comment) ไม่ให้เห็น  คือจุดพลาดเพราะเราไม่ได้เอะใจ มัวไปหลงคำที่บอกว่าโละ โละหนักมาก คือไปหลงคำโฆษณา เรื่องนี้อาจต้องชั่งใจสักนิด อย่าเพิ่งไปหลงในคำชวนเชื่อให้ซื้อสินค้า  หากมีผู้เสียหายที่พลาดข่าวสารสามารถเข้าร่วมได้ที่ไหน         ถ้าคุณโดนละเมิดสิทธิก่อนอื่นต้องรักษาสิทธิตัวเองก่อน ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในแต่ละ สน. หรือ สภ. ท้องที่ก่อน หลังจากนั้นต้องปรึกษาหน่วยงานกลางที่เขาทำเรื่องอยู่แล้ว อาจจะต้องมาปรึกษาทางมูลนิธิฯ ก็ได้  อย่างของเราก็ปรึกษามูลนิธิก่อน ทำให้พอทราบขั้นตอนการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่ามันไปไม่ถูกจุดแยกกันทำ แต่พอมีที่ปรึกษามันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีกลุ่มรวมกันแล้ว เราจะทำอะไรเรามีที่ปรึกษา พอมีประเด็นขึ้นมาก็อยากให้รีบไปแจ้งความ หลังจากนั้นอาจจะต้องเข้ามาติดต่อที่มูลนิธิฯ ตอนนี้ยังประเมินไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐหรือองค์กรกลางจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ไม่อยากให้ทุกคนละเลย เราต้องรักษาสิทธิของตัวเองไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ซื้อคอนโด แต่จะได้ห้องที่ถูกลดสเปก

        เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียมเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังได้รับการติดต่อจากบริษัทฯ ขอเปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์ในห้องให้มีเกรดลดลงจากเดิมโดยจะปรับราคาลงให้ แต่กลุ่มผู้เสียหายมองว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพแวดล้อมและมูลค่าโดยรวมของทั้งโครงการเปลี่ยนแปลงไป จึงแจ้งขอคืนเงินและยกเลิกสัญญา ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า “หากผู้บริโภคได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ห้องชุด แล้วพบว่า มีการก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตามสัญญาที่เราได้ตัดสินใจซื้อ เช่น เปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์จากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ ก่อสร้างผิดแบบ หรือมีการก่อสร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด ถือว่าบริษัท ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ โดยการทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่เราได้ชำระให้บริษัทไปแล้วคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาหรือตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้ชำระเงินไปในแต่ละงวด”         แต่การใช้สิทธิก็ไม่ง่าย ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้เสนอเรื่องราวของคุณคมจักร รัตนคาม หนึ่งในผู้ร้องเรียนได้ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาให้เรารู้ว่าผู้บริโภคไทย “เหนื่อย” อย่างไร เรื่องราวเป็นมาอย่างไร         ผมขอสรุปเป็น Timeline เลยนะครับ ช่วงต้นปี 2019 ได้มีการตัดสินใจซื้อคอนโด ย่านพหลโยธินโดยได้มีการผ่อนชำระตรงงวดมาตลอด จนกระทั่งปลายปี ในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2019 มีเจ้าหน้าที่ Sale ท่านเดียวกับที่ขายผมติดต่อเข้ามาแจ้งว่าทางโครงการมีการตัดสินใจที่จะปรับ Spec โครงการ โดยที่รายละเอียดที่ Sale แจ้งมาคือเบื้องต้นแจ้งว่าจะมีการปรับแค่ภายในห้องเท่านั้นไม่ได้มีการปรับในพื้นที่ส่วนกลางอย่างอื่น พร้อมกับถ้าเราตัดสินใจที่จะรับข้อเสนอในการปรับ Spec วัสดุลงจะได้ราคาที่ลดลงประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ทางเลือกที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ก็มี หนึ่งคือตอบรับคำเสนอของเขาว่าลด Spec พร้อมกับลดราคา สองคือให้โอกาสลูกค้าเลือกห้องใหม่เป็น location ใหม่เลย ชั้นใหม่ผังห้องใหม่หรือขนาดห้องใหม่ แต่ห้องใหม่ที่เลือกคือเป็น Spec ที่ถูกลดคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ส่วนทางเลือกที่สามคือการที่บอกว่าคงทุกอย่างเอาไว้ให้เหมือนเดิม ราคาเดิม วัสดุเดิมคุณภาพเดิม        ผมได้ตอบกลับทาง Sale วันนั้นเลยว่าผมตัดสินใจปฏิเสธทั้งสามข้อเสนอ แล้วผมต้องการคืนเงินโดยทันที ซึ่งทาง Sale ได้ปฏิเสธผมทางโทรศัพท์ทันทีเหมือนกันว่าไม่สามารถคืนให้ได้ ทางผมก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนี้อาจจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทาง Sale ก็แจ้งว่าก็ดำเนินการไปเลย เราก็เข้าใจในมุมหนึ่งว่าทาง Sale เขาไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะคืนเงินหรือไม่คืนเงิน ผมก็เลยทำหนังสือไปส่วนกลางทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเลย แจ้งความประสงค์ของเราว่าเราเจออะไรมาบ้างต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ส่งไปที่ทางส่วนกลาง ก็ไม่ได้มีการตอบกลับมาเลย ผมก็เลยพยายามติดต่อเข้าไปหลังจากผมยื่นจดหมายไปหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางๆ โทรศัพท์ หรือว่า Email หรือว่าทาง Social Media ต่างๆ ทุกช่องทางก็จะตอบผมมาแค่ว่าได้รับเรื่องของคุณแล้วแต่ยังไม่มีคำตอบให้ผม จนสุดท้ายเรื่องราวมันก็ผ่านข้ามปีมา        คือก่อนหน้านี้ทาง Sale แจ้งว่าถ้าสนใจจะเลือกห้องแบบที่ปรับลดคุณภาพแล้วให้ไปชมโครงการใหม่ในช่วงเดือนมกราคม จดหมายที่ผมส่งไป แรกเริ่มเลยก็คือกลางเดือนธันวาคมจนผ่านมาใกล้ๆ กลางเดือนมกราคมแล้ว ผมเห็นว่ามันค่อนข้างนานแต่ไม่มีการตอบสนองเลย เอาจริงๆ ก็คล้ายว่าขู่แหละว่าผมอาจจะดำเนินการทางกฎหมาย จากที่เคยแจ้งปากเปล่ากับทาง Sale ก็ส่ง Email เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนเดิม ทางนั้นก็เลยเริ่มมีการติดต่อกลับมาหาผมโดยเป็นหัวหน้า Sale แล้ว ทางผมก็แจ้งว่าผมยืนยันคำเดิมว่าต้องการเงินคืนแล้วยุติสัญญา เขาก็แจ้งเบื้องต้นว่าอาจจะไม่ได้ ผมก็บอกว่าเราก็ต้องหาจุดกึ่งกลางอาจจะถอยคนละก้าว อย่างตอนแรกที่ผมส่งจดหมายไปผมเรียกร้องว่าขอเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 เพราะเขาเอาเงินเราไปหมุนในการสร้างโครงการเรียบร้อยแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนตรงนี้ แต่ว่าผมก็บอกว่าถ้าให้ตรงนั้นไม่ได้ ผมก็ไม่เอาดอกเบี้ยเลยก็ได้ แค่คืนเงินต้นทั้งหมดของผมคืนมาแล้วก็จบ ทางนั้นจริงๆ เขาก็บอกว่าไม่ได้ แต่เขาก็ยังพยายามเสนอให้เข้าไปดูโครงการก่อน ผมก็เลยตัดสินใจว่าไม่เป็นไรมันก็คือสิทธิของเราอยู่แล้ว สุดท้ายก็เข้าไปดูโครงการที่ปรับลดวัสดุ ต้องยอมรับว่าตกใจมากเพราะว่ามันปรับลดเยอะจริงๆ         ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือโครงการนี้เขามีหนึ่งในจุดขายของเขาเลยก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานการอยู่กับธรรมชาติ ตั้งแต่ concept ของตึกของเขา แล้วที่เขาบอกว่าเป็น Magical Tree เขาพยายามสร้างบรรยากาศให้เป็นต้นไม้ นวัตกรรมต่างๆ ที่เขาเอามาใช้ในห้องก็เป็นการประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่าง เช่น ห้องน้ำทำผนังกระจกไม่ใช่ผนังปูนเพื่อที่จะได้รับแสงได้ เราอาจจะบางครั้งไม่ต้องเปิดไฟห้องน้ำก็ได้ กระจกอันนี้ก็ไม่มีแล้วก็กลายเป็นผนังห้องน้ำธรรมดา ตรงเคาน์เตอร์ครัวตรงชั้นด้านบนหัวจากที่เคยเป็นกระจกนิรภัยที่มีลวดด้วยก็จะกลายเป็นบานเปิดไม่ได้มีฝาปิด กระจกนิรภัยก็หายไป รวมไปถึงวัสดุตรงเคาน์เตอร์ครัวเราก็รู้เลยว่าความทนทานมันเปลี่ยน ระบบโครงสร้าง ระบบไฟฟ้ามีการเปลี่ยนหรือไม่         เรื่องโครงสร้างของตึกหรือว่าส่วนกลางเขาก็ยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยน แต่ว่าถ้าพูดในเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือระบบไฟฟ้าภายในห้องแน่นอนว่ามันก็มีการเปลี่ยน แต่ว่าเปลี่ยนในลักษณะที่บอกว่าเป็นของที่เขาเคยจะแถม เขาบอกว่าเขาจะไม่แถมแล้ว เขาเคยบอกว่าจะแถมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมไปถึงระบบ Home Automation ซึ่งเราก็มองว่าเป็นจุดหนึ่งที่เราตัดสินใจซื้อเหมือนกัน การที่ได้อยู่ในโครงการที่มีนวัตกรรม แต่ตอนนี้กลับมาบอกว่ามันไม่มีแล้ว ทำให้เรายิ่งไม่พอใจเข้าไปใหญ่ ทีนี้เราก็บอกว่าเราเห็นทั้งหมดแล้วว่าอะไรมันเปลี่ยนไปบ้างพอมาคุยเรื่องราคาที่ตอนแรกเขาบอกว่าเขาจะลดประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายตัวผมเองผมได้ลดประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นไม่ถึง 15 ด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็จะต่างกับที่เขาเคยพูดเยอะมาก โดยทางนั้นเขาก็อ้างว่า 25 เป็นค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยที่บางห้องก็อาจจะได้เยอะบางห้องก็อาจจะได้น้อย ค่าเฉลี่ยของทั้งโครงการที่จะลดคือประมาณ 25 ดังนั้นผมก็ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าของผมมันแค่ 10 กว่าแล้วคุณบอกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25 คณิตศาสตร์พื้นฐานมันก็จะกลายเป็นว่า มีคนที่ได้ห้องส่วนลดกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เลยนะ         ผมมองว่าแล้วทำไมเราต้องเป็นคนที่ได้ส่วนลดน้อย คุณเอาอะไรมาตัดสิน มันก็เริ่มไม่ยุติธรรมกับเราแล้ว ถ้าจะ 25 ก็ 25 ทั้งโครงการเลยเพราะว่ามันเป็นสัดส่วนร้อยละอยู่แล้ว คนที่เคยซื้อแพงเขาก็ควรได้ส่วนลดเยอะ ตามสัดส่วนของเงินที่จ่าย เขาบอกว่าสิ่งที่เขาดูพิจารณาจากว่าห้องไหนทำเลดีกว่า ถ้าทำเลดีเขาก็ลดน้อย ผมก็โต้กลับไปว่าที่เราได้ห้องดีเพราะเราเลือกที่จะซื้อคุณเร็วไม่ใช่หรือ เรามาก่อนคนอื่นเรามีสิทธิเลือกห้องก่อน พอคุณบอกว่าจะลดคุณลดให้เราน้อย ผมก็เลยบอกว่าสรุปคือ ต้องการคืนเงินเขาก็ยังปฏิเสธ ห้องที่ปรับลดวัสดุยังไงผมก็ไม่มีทางเอาแน่นอน พอมาเห็นของจริงก็เลยมามองต่อว่าถ้าเป็นห้องเปล่าๆ ในเมื่อเราไม่พอใจสิ่งที่มันแต่งห้องถ้าเป็นห้องเปล่าๆ แบบปูนเปลือยมาเลยเขาจะยินยอมไหม แบบว่าลดราคาให้เราลดหนักไปเลยแล้วเอาห้องเปล่า แล้วเรามาทำเองอย่างที่เราพอใจ ทางนั้นเขาก็ปฏิเสธบอกว่าไม่ได้คือต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น         โดยสรุปตอนนี้ทางนั้นเขาก็ไม่มีทางเลือกใหม่ให้ผมนอกจากสามทางเลือกที่เคยให้มาตอนแรกสุดเลย ผมเลยปฏิเสธเขาไปเพราะว่ามันไม่ใช่ความต้องการของเรา ผมพยายามแจ้งคุยกับ Sale ที่เป็นหัวหน้าของคนที่เคยติดต่อผมมาตลอดว่ามันมีอะไรเพิ่มเติมไหม เพราะว่าทางนั้นบอกให้เขาปฏิเสธไปแต่ผมเข้าใจว่าลักษณะหน้างานเขาก็ต้องรับไว้ก่อนว่าเดี๋ยวจะส่งเรื่องไปพิจารณา สุดท้ายเขาก็แจ้งว่าทางผู้บังคับบัญชาหรือว่าทางผู้บริหารตัดสินใจว่าจะไม่คืนเงินให้ผม ถ้าไม่อยากชำระแล้วก็คือจะต้องทิ้งเงินสองแสนที่เคยผ่อนไว้ ดำเนินการพิทักษ์สิทธิด้วยสื่อสังคมออนไลน์         ผมตัดสินใจใช้สื่อสังคม Online ในการโพสต์ มันมีสองเหตุผลที่ผมใช้สื่อสังคม Online หนึ่งคือเพื่อเตือนคนอื่นที่อาจจะสนใจโครงการนี้ (หรือโครงการอื่นๆ) ก็แล้วแต่ สองคือเพื่อหาแนวร่วมเพราะผมเชื่อว่ามันต้องมีคนอื่นที่ไม่พอใจเหมือนผม สุดท้ายก็เจอประมาณ 20 คนโดยรวมๆ ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าส่วนมากจะหลวมตัวไปเซ็นสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว เพราะว่าทาง Sale อันนี้ผมต้องเรียนให้ทราบเหมือนกันว่าค่อนข้างข่มลูกค้าในมุมที่ว่าสู้ไปก็ไม่ชนะหรอกเพราะบริษัทเราไม่ได้ทำอะไรผิด อันที่สองคือบอกว่าถ้าไม่เซ็นสัญญาใหม่ภายในวันที่นี้ๆ คุณก็จะไม่ได้รับสิทธิเลือกแล้วนะ เป็นการมัดมือชกนิดหน่อย ลูกค้าหลายๆ รายก็เลยหลวมตัวเซ็นสัญญาใหม่ไปแล้ว แต่ก็จะมีกลุ่มที่พอใจกับที่เขาเสนอ บางกลุ่มเขาก็มองแค่ราคาอย่างเดียว        สำหรับผมราคามันก็ส่วนหนึ่ง แต่มันต้องสมเหตุสมผล ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกเราตัดสินใจซื้อเพราะอะไร เราตัดสินใจซื้อเพราะว่าตัวโครงการมันเอง แล้วมันไม่ใช่แค่ของในห้องเราเลือกที่อยู่อาศัยเราก็ต้องมองซ้ายมองขวา วันนี้คุณกำลังจะบอกว่าห้องเราคุณให้ได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ถ้าเราหันซ้ายหันขวาแล้วมันไม่เหมือนเดิมห้องข้างๆ มันไม่เหมือนเดิมกลุ่มเป้าหมายที่คุณจะไปขายมันไม่เหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งวันหนึ่งเราอยู่ไปเราจะขายต่อ ต้นทุนที่เราได้มามันคนละแบบกับคนอื่น ทุกอย่างก็กลายเป็นว่ามันไม่เหมือนเดิมแล้ว พอได้ใช้สื่อสังคม Online ก็ได้เจอเพื่อนท่านหนึ่งที่เขาก็มีปัญหานี้เหมือนกันจากโครงการนี้เลย เขาก็แนะนำว่าให้ไปยื่นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพราะตัวเขาเองเขาได้ไปยื่น Case ไว้แล้วผมยังไม่เคยได้ไปที่มูลนิธิ ผมยื่นที่ สคบ.ไว้เลยได้มีโอกาสเข้าไปที่มูลนิธิแล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิในการให้คำแนะนำต่างๆ ทางบริษัทที่เป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ นี้ ก็เลือกตัดสินใจที่จะจบเพราะว่าหลังจากที่มีการออกข่าวไปประมาณสองสามรอบ รอบแรกๆ ทางนั้นก็ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่คืนและก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอะไรผิด จนกระทั่งพอมีการออกทีวีมีท่านเลขามูลนิธิ ท่านทนายร่วมพูดด้วย จนสุดท้ายก็ยอมที่จะคืน แต่ว่าไม่ได้เป็นการคืนในนามบริษัท เขาแจ้งว่ามีผู้ที่สนใจมาซื้อต่อ แนะนำคนที่มีปัญหาแบบนี้อย่างไร         อย่างกรณีของผม โดยทั่วไปที่อยู่อาศัยหรือคอนโดมันก็จะเป็นสัญญาที่สำเร็จรูปออกโดยทางฝั่งคนขาย ทางเราแทบไม่มีสิทธิเลยที่จะแก้ แต่หลายๆ ครั้งเราก็ต้องพยายามต่อรอง อย่างกรณีของผมสัญญาก็มีการแก้ไขเพื่อให้ระบุตัวของแถมให้ครบ ตอนแรกเขาระบุของแถมไม่ครบ เขาบอกว่าปกติมันไม่มีอยู่แล้วมันเป็นส่วนของการขายไม่เกี่ยวกับสัญญา ผมบอกไม่ได้ไม่สบายใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามต่อรองกับคนขายว่าให้เพิ่มให้ลดได้หรือเปล่า เขาอาจจะไม่ได้พิมพ์ออกจากระบบใหม่ แต่ว่ามีการเขียนแล้วมีการเซ็นกำกับตรงนี้ก็ยังดี อันที่สองก็คือเอกสารหลักฐานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นโบชัวร์ วิดีโอ Website อันนี้ก็อยากให้เก็บไว้ทั้งหมด    ถ้าเป็นแบบอีเล็กทรอนิกส์ก็อยากให้ Download เก็บเอาไว้ให้เรียบร้อยให้หมดเลย อย่างกรณีของผม วันที่ Sale เขามาแจ้งผม ผมเข้าไปดู Website วันนั้นเลย กลายเป็นว่า Website ข้อมูลทั้งหมดมีการเปลี่ยนแล้ว กลายเป็นข้อมูลที่มีเป็นภายหลังการปรับลดคุณภาพเรียบร้อยแล้ว        พอมองย้อนกลับไปถ้าผมไม่ได้เก็บหลักฐานโบชัวร์ต่างๆ ไว้มันจะกลายเป็นว่าผมไม่มีหลักฐานเลยว่าเขามีการเปลี่ยน โชคดีที่ของผมมีการเก็บไว้ ถ้าจะเตือนท่านอื่นก็คืออยากให้มีการเก็บไว้ทุกอย่าง แม้แต่ที่คิดว่าไม่ได้ใช้ก็อาจจะมีประโยชน์ มีเทคนิคอะไรที่จะแนะนำได้บ้างว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก         อันดับแรกเลยคือต้องขอให้กำลังใจคนที่กำลังประสบปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเหมือนกรณีของผม ถ้าแนะนำก็อยากบอกว่าจริงๆ แล้วกฎหมายของไทยเขาเขียนมาค่อนข้างเอื้อต่อผู้บริโภคอย่างเรา โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ไม่ได้มีอำนาจในการร่างสัญญาด้วย คล้ายๆ กับกรณีของคอนโด กฎหมายค่อนข้างจะ Protect เราค่อนข้างเยอะ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าผู้บริโภคทั่วไปไม่รู้หรือคิดว่าอย่างไรการดำเนินการทางกฎหมายค่าทนายก็แพง อยากให้ลองมาเปิดกฎหมายดูค่อนข้างหาง่ายตาม Internet มีหมดเลยว่าของเรามันเข้าข่ายข้อไหนได้บ้าง เวลาเจอปัญหาให้ใจเย็นๆ กลับมาเปิดดูก่อนว่าเราสามารถสู้ได้ไหม อย่าเพิ่งเชื่อ Sale  มีคำแนะนำเพิ่มเติมอีกไหมคะ         มีครับ ถ้าไม่ได้รีบร้อนหรือไม่ได้มองราคาเป็นปัจจัยหลัก เพื่อความมั่นใจจริงๆ ก็ซื้อโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างที่เกือบแล้วเสร็จ หรือแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่ดีกว่า      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสดกับวิกฤตโควิด-19

หลายคนเวิร์กฟอร์มโฮมแต่ชาวฉลาดซื้อเปลี่ยนสำนักงานเป็นที่พักชั่วคราวและอยู่กับที่ตามนโยบายป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเราก็ต้องขวนขวายหากิน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สำรวย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอาหารสำคัญของเรา เพราะพี่เขาเข็นรถขายผักคันน้อยๆ มาอำนวยความสะดวกให้เราทุกวัน ฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าคนยากที่ผันตัวเองจากชาวนาบ้านนอกมาเป็นผู้ขนส่งอาหารแก่ชาวเมืองหลวง ที่พึ่งยามวิกฤตโรคระบาดแห่งปี 2563              พี่สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสด วัย 55 พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ แล้วย้ายมาอยู่สุรินทร์ แต่มาได้แฟนที่ร้อยเอ็ด เดิมเขาเป็นชาวนา แต่ไม่พอกิน ทำให้ต้องออกมาทำมาหากินต่างถิ่น โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้าที่จังหวัดชลบุรีก่อนจะมาค้าขายผลไม้ที่เมืองหลวงตอนอายุ 40 กว่าๆ หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่พี่สำรวยเพิ่งผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายผักสดเพราะเห็นว่า ได้กำไรดีกว่า ซึ่งถ้านับอายุงานก็เพียงแค่สองสัปดาห์เศษ เขากับรถเข็นคู่ใจ บรรทุกผักนานาชนิดไม่ต่างจากรถพุ่มพวงขนาดย่อม โดยเริ่มต้นทางจากตลาดมหานาค ตระเวณเข็นรถขายมาเรื่อยๆ จนถึงย่านอนุเสาวรีย์ชัยในเวลาสายๆ ค่อนไปเกือบเที่ยง มาค้าขายในกรุงเทพฯ เองหรือมีคนชักชวนมา         มีคนที่รู้จักสมัยก่อนทำงานด้วยกันชวนมา เขาให้ลองมาขายดู มาขายก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนของมันถูก ขายได้แต่เดี๋ยวนี้ของแพงมาก แต่ก่อนผมไปหาบขายที่ชลบุรี ขายถั่วต้ม ไข่นกกระทา ขนมไข่หงส์ รับเขามาขายอีกที ขายอยู่ที่ชลบุรีไม่ถึงปีหาบหนักและมันไกลด้วย กินอยู่ก็ไม่สะดวก ฟืนไฟไม่ค่อยมี ตื่นแต่ดึกต้องต้มข้าวโพดต้มถั่ว ลำบากมาก เลยตามเพื่อนชวนเข้ามาขายผลไม้ตั้งแต่แรก ขายมาเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ขายหลายที่แถวเยาวราช  หมอชิต สุขุมวิท เมื่อก่อนเดินไกลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว ที่ต้องเดินเพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าที่ เดินเอาตลอด เพิ่งมาเสียค่าเช่าที่ตอนขายที่ซอยรางน้ำ ถ้าไม่เสียก็จอดรถเข็นไม่ได้ ขายที่รางน้ำคงได้นักท่องเที่ยวเยอะ        เมื่อก่อนขายคนจีนนะ ซอยรางน้ำคนจีนเยอะ ก็ขายมะม่วง มังคุด คนจีนเขาชอบทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย ผลไม้หวานๆ ขายดีมาก เขาชอบของหวานๆ อย่างทุเรียนก็ชอบแบบสุกมากๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาขายผัก         เพิ่งขายได้ 2 อาทิตย์เอง ตอนนักท่องเที่ยวมากๆ เราขายผลไม้แบบชั่งเป็นกิโล ขายบริเวณแถวนี้ ซอยรางน้ำ ขายมะม่วง เงาะ ลำไย พวกมังคุด ละมุด พุทรา ขายผลไม้ทุกอย่างตามฤดูกาล เมื่อก่อนรายได้ดีแต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว พอเริ่มเจอโควิด 19 ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มมาขายพวกผักตั้งแต่เดือนนี้ (เมษายน) คนเขาซื้อผักมากกว่าผลไม้ แต่ก็ลำบากเหมือนกัน ลำบากยังไง         มันขายยากขึ้นมากเลยครับ ต้นทุนของก็แพงมากขึ้นหาซื้อยากมาก ของที่ขายมีไม่เท่าเดิม(ความหลากหลาย) ผักหรือของบางอย่างก็ซื้อไม่ได้มันแพงเกินไป จะได้เท่าที่น้องเห็น บางทีลูกค้าถามหาผัก อย่าง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พวกนี้แพงมากหรือก็ไม่มีให้ซื้อ ถึงซื้อมาก็ขายยาก ขายไม่ได้มันแพงมาก พี่จัดการเวลาขายอย่างไร         ผมไปตลาดมหานาค (บ้านพี่สำรวยอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น) ไปให้ถึงตลาดตั้งแต่ตีสี่(หลุดเคอร์ฟิวแล้ว)  ยากมาก ไปตีสี่ ตีสี่กว่าๆ นิด กลับมาเตรียมของกว่าจะเสร็จก็สี่โมงเช้า (ต้องซื้อเจ้าประจำไหม) ไม่ๆ ถ้าเจ้าเดิมไม่มีเราก็เดินซื้อไปเรื่อยๆ ที่มีผักขาย บางทีถ้าซื้อเจ้าประจำตอนนี้เขาขึ้นราคาเราก็ซื้อไม่ได้ไง ตอนนี้ลำบากเมื่อก่อนขายผลไม้ก็ขายไม่ได้ ขายผักๆ ก็ราคาสูงขึ้นอีกยิ่งไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ของ(ผัก) มันแพง ส่วนหนึ่งเพราะมันหายาก พวกรายย่อยต้องแย่งกันเอาของมาขาย อย่างถ้าเราไปทันก็ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็เรียบร้อยเลย อด ต้องตื่นให้ทันคนเขา แต่ดีกว่าขายผลไม้ตรงที่คิดว่า ทุกคนต้องกินอาหาร ทำอาหาร ผักอะไรพวกนี้ทุกคนยังต้องกินอยู่ ตอนนี้ก็คือทำอย่างนี้ไปก่อน        ใช่ คนเขายังต้องการผัก ทำกินไปวันๆ ก่อน ขายไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เดินไปเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าจอดรถทิ้งไว้ที่ไหนตลอด มีเพื่อนๆ พี่ที่เปลี่ยนมาขายผักแบบบ้างไหม        เยอะ รับของจากที่เดียวกันหมดเลย แต่ละคนก็กระจายกันไปตลาดไทยบ้าง สี่มุมเมืองบ้าง มหานาค ถ้าไม่มีรถก็ซื้อแถวมหานาค ปากคลองบ้าง เพราะไปรถเมล์ง่ายกว่า แล้วพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่เราซื้อของเขา เขาลดราคาให้บ้างไหม        ราคาเขาลดบาทสองบาทได้ สมัยก่อน 50 สตางค์เอง เขาขายยกลังเขากินกำไรบาทสองบาท ถึงเป็นเจ้าประจำก็เหมือนเดิมเพราะเขาส่งมาแบบนั้น ที่เป็นเศษเขาก็ไม่เอา อย่าง 2,350 บาท 50 บาทเขาปัดออกให้เป็นถ้วน แต่บางคนไม่ลดเลย เต็มๆ เลย เขาบอกว่ากินกำไรแค่บาทสองบาท เป็นบางคนที่ลดให้ อย่างบางคนเราซื้อประจำเขาก็ไม่เอาเขาปัดออกเลยที่เป็นเศษ บางคนก็ไม่ได้จ่ายเต็มๆ เลยก็มีผักมันแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกันกับช่วงเวลาปกติก่อนโควิดก็อย่างเคยขายถุงละ 80 บาทตอนนี้เป็น 200 บาทแล้ว คะน้าขึ้น 200 ผักบุ้ง 100 บาท ถั่ว 50 บาท เอามาขายไม่ได้มันแบ่งไม่ได้ อย่างเช่น เราเคยขายมะนาว ห้าลูก 10 บาท ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยคะน้าจากเดิมพี่ได้กำไรก็ได้ครึ่งต่อครึ่ง คะน้าธรรมดาแบ่ง 10 บาท มันได้ 20 กำ ตอนนี้ 20 กำ 200 บาท เราไม่ได้สักบาทเลย ส่วนผักที่เลือกมาขายคือที่ยังขายได้ มันได้ครึ่งๆ ก็ยังดี เราก็ยังได้ค่ากับข้าวค่าอะไรๆ บ้าง ถ้าเราขายหมด ถ้าขายไม่หมดกำไรก็ติดลบอยู่ ก็ไปซื้อมาเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ บอกได้ไหมว่าตอนนี้มีรายได้วันละเท่าไหร่        เมื่อก่อนมีรายได้วันละ 600 -  800 บาท แต่เดือนนี้ไม่ถึงแล้ว วันละ 400 - 500 บาท ก็ให้ได้เถอะ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมัยก่อนวันละเป็น 1,000 ถึง 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย เป็นทุกคนกระทบหมดเลยผักที่ขายดีที่สุดของเราในช่วงนี้คืออะไร         มีผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า(ถ้าหามาได้) มะละกอก็ขายได้ดี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ทุกอย่าง 10 บาทหมด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ก็ยังขายได้ พวกเครื่องแกงเครื่องต้มยำขายได้ คนเขาซื้อไปทำกินที่บ้าน คนที่มาซื้อเขามาซื้อปกติ หรือเขามีการป้องกันอะไรมากขึ้นไหมคะ         ระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะถามว่าผักมีสารพิษไหม เราก็บอกไม่รู้ รับเขามา เราก็บอกเขาให้ไปแช่น้ำเกลือก่อนก็ได้แล้วค่อยทำกิน ทุกวันนี้เขาใช้สารเคมีทั้งนั้น ร้านส่งเขาก็ตอบไม่ตรง เขาก็บอกผักสวยผักงามแค่นี้แหละ คนกินก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสารพิษหมด เวลาไปซื้อเดินดูถูกใจก็ซื้อเลย เวลาเราถามเขาก็ตอบไปอย่างนั้นแหละ เขาบอกผักสวย ปลอดสารพิษนะ แต่ก็ไม่จริงหรอก ถ้าพี่เป็นคนกินเองเวลาพี่ซื้อผักพี่จะทำอย่างไร        ส่วนมากไม่ค่อยได้กินผักมาก อยู่บ้านนอกก็จะกินผักที่ปลูกที่บ้าน ผักสวนครัว แต่ถ้ากินผักก็จะดูที่ใบที่มีแมลงกิน ก็จะกินแบบนั้นเพราะส่วนมากจะไม่ปลอดภัย เวลาล้างก็แช่น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยทำกินเองซื้อเขากิน พวกผัดกะเพรา ต้มยำ ถ้าเป็นที่บ้านนอกจะปลูกเองผักที่ป่าเยอะเลย ปลูกกินเองก็มีเกิดจากธรรมชาติก็มี ถ้าฝากถึงรัฐบาลได้ เขาคงช่วยได้เป็นบางคน คงช่วยไม่ทุกคนหรอก ตัวผมนี่ยังไม่ได้อะไรเลย เมื่อก่อนขายได้แต่ตอนนี้ขายไม่ค่อยได้ เวลาขายมันสั้นมาก(ติดเคอร์ฟิว) เมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ตอนนี้ขายได้แค่สี่ทุ่ม แต่ก่อนมีร้านเย็บผ้า ร้านนวด สปาเขาซื้อเรา ถ้าได้ทิปเยอะ เขาก็ซื้อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ปิดหมดเลย ผักผลไม้ขายไม่ได้ มองข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง                   เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอน อยากให้มันแน่นอนบ้างนะ (น่าจะหมายถึงมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้ารายย่อย) บางทีเราจอดตรงนี้ได้ พอไปๆ มาๆ ก็ยกเลิกบอกให้เราทำตรงนั้นตรงนี้ ทุกวันนี้มันไม่แน่นอนเดี๋ยวได้ย้ายอีก ถ้าที่ประจำเราจอดหน้าบ้านเราได้ อันนี้ที่ฟุตบาท บางทีเขาจะเปลี่ยนแปลงใหม่เขาก็ให้ย้ายไป อาชีพค้าขายไม่แน่นอนแบบพี่เลยไม่มีอะไรแน่นอนให้วางใจได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 น้ำเข้ารถ... ความผิดใคร รถหรือคน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำเข้าในตัวรถ ไม่ว่าจะล้างรถหรือฝนตกน้ำจะเข้ามาในตัวรถตลอด มันเข้าทั้งสี่ประตูเลย ที่เห็นครั้งแรกคือ ขับรถจากเมืองทองธานีกลับบ้านประมาณ 30 กิโลเมตร  แล้วฝนตกตลอดทางเมื่อมาถึงบ้านแล้วเห็นว่าในรถเปียกดูว่ามันมีน้ำเข้ามา ก่อนหน้านี้เคยได้กลิ่นอับในรถแต่พี่ไม่ได้สังเกต ที่เห็นด้วยตา คือวันนั้นวันแรกที่ว่าขับมาแล้วฝนตกมาตลอด” คุณวัลทิชา ประสงค์เวช ผู้บริโภคเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยปัญหามาตรฐานของรถยนต์    ทราบปัญหาเรื่องน้ำเข้ารถเมื่อไร         ครั้งแรกที่เห็นคือประมาณสักสองประตู เยอะอยู่ พี่ก็เอาไปเข้าศูนย์ให้เขาทำ เขาก็บอกว่าเขาจะซีล (seal) ให้ พี่ไปรับรถพี่ก็พยายามจะถามว่ามันเกิดจากอะไร ตรงไหนอย่างไร ซึ่งพนักงานคนนั้นเขาพูดติดๆ ขัดๆฟังยาก ซึ่งเราก็เข้าใจยากก็พยายามฟังก็ไม่ได้ตำหนิอะไรเขาตรงนั้น เข้าใจว่าเขาซีลใหม่ตรงประตูทั้งสองประตูที่น้ำเข้า หลังจากที่พี่ใช้ไปอีกสักระยะหนึ่ง พี่จอดรถไว้กลางแจ้งแล้วก็เดินไปโรงพยาบาล ตอนนั้นฝนตกก็ไม่น่าจะเกินครึ่งชั่วโมง พอกลับมาที่รถ ปรากฏว่าน้ำเข้ามากกว่าเดิมในตำแหน่งเดิม พี่จึงกลับไปที่ศูนย์นั้นอีก แล้วเขาก็แก้ไขให้อีก คือถ้านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ (วันที่ให้สัมภาษณ์) พี่ทำมาแล้วห้าครั้ง เขาก็แก้ไขปัญหาด้วยการซีลที่ตัวประตูทุกครั้ง ตอนนี้พี่ก็เจอเพิ่มว่ามันไม่ใช่สองประตูแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นสี่ประตูเข้าทั้งสี่ประตูเลย  ไม่ไหวแล้วจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ         จริงๆ แล้วพี่เอาเข้าศูนย์ฯ แล้วสี่ครั้ง แต่พี่ก็ติดต่อกับมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยเรื่องเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ แต่การเจรจามันไม่ได้ช่วยทำให้เรารู้สึกดีหรือมีความมั่นใจในสิ่งที่เขา (บริษัท) พูด เพราะเขาไม่ได้เคยทำในสิ่งที่พูดเลย พี่ก็เริ่มไม่มั่นใจ หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์แต่ว่าการพูดจาของเขามันทำให้พี่รู้สึกว่าแย่ลงไปกว่าเดิม เหมือนพี่ถูกกระทำมากกว่าเดิม พี่ก็ลองให้โอกาสเขาอีกสักครั้ง ก็คือการเข้าไปซ่อมครั้งที่ห้า ที่เป็นศูนย์ของบริษัทใหญ่เขาเลยที่ถนนศรีอยุธยา พี่ก็ลองดูว่าเอาอีกครั้งเผื่อว่ามันจะดี เพราะว่าสี่ครั้งที่ผ่านมาพี่ไม่ได้ซ่อมกับศูนย์เขาเลย พี่ก็เปลี่ยนศูนย์แต่ล่าสุดที่เจอก็คือ พอพี่ล้างรถแค่ล้างรถนะยังไม่ได้เจอฝนจริงๆ ปรากฏว่าน้ำเข้าแล้ว         ตอนที่มาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯ  ทางนี้ช่วยเรื่องเจรจาให้ ซึ่งพี่ก็ทดลองให้เขาลองซ่อมอีกสักครั้งหนึ่ง ซ่อมครั้งนี้ไม่ดีครั้งที่ห้าแล้ว พี่จึงติดต่อกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกว่าพี่เจอปัญหานี้ ทางมูลนิธิวันนั้นก็นัดกันกับบริษัทรวมทั้งเชิญนักวิชาการมาดูในการตรวจสอบ ให้เขาเห็นว่าน้ำเข้ารถจริง ทางบริษัทเขาเห็นว่าหลังจากที่ซ่อมห้าครั้งแล้วมันก็มีการเข้าจริง ตรวจสอบวันนั้นก็เห็นกันเลยว่าเข้าหมดเลยทั้งสี่ประตู ทดสอบอย่างไรบ้าง         เราทดสอบด้วยการเอารถไปที่ศูนย์แล้วก็ใช้สายยางฉีดน้ำ ไม่นานค่ะเหมือนพี่ล้างเอง ก็ไม่นานไม่กี่นาทีเอง น้ำก็เข้าเลย พอเห็นพร้อมกันทั้งสองฝ่าย คือเรากับเขา เขาบอกจะให้เราเอาไปซ่อมอีก เขาสันนิษฐานว่าตัวซีลพลาสติกมันไม่แนบสนิทมันมีช่องว่างช่องโหว่ซึ่งทำให้น้ำเข้าได้ และช่องว่างนั้นมันก็เกิดจากฝีมือของช่างที่ทำ  มันก็เลยทำให้พลาสติกมันไม่แนบสนิทไปกับตัวซีลเลยเป็นเหตุให้น้ำเข้าในตัวรถ เขาอ้างอย่างนั้น        เขาบอกว่าเขามีตัวซีลมาใหม่ ซึ่งมันจะมีคุณภาพดีกว่าที่แล้วๆ มา อยากให้เราเอาไปซ่อมอีก คือใช้ซีลตัวใหม่อะไรประมาณนี้ พี่ก็ไม่ได้รับข้อเสนอตรงนั้นเพราะพี่เชื่อว่าห้าครั้งแล้วมันไม่ได้ทำความมั่นใจให้เราแล้ว พี่ก็ถามเขาว่าแล้วซีลตัวเดิมที่ใช้กับรถพี่มันใช้กับรถรุ่นอื่นของยี่ห้อนี้ไหม เขาก็บอกว่าใช้ พี่ก็บอกว่าแล้วทำไมมันถึงยึดที่เกรด ถ้าคุณบอกว่าปัญหามันเกิดจากตรงนั้น ทำไมมันเกิดที่รถพี่อย่างเดียวถ้าคุณใช้ซีลตัวเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนของรถคุณก็ตาม เคยพบปัญหาแบบนี้ในรถแบบเดียวกันกับของพี่ไหม         ถ้าเป็นคนรู้จักกันพี่ก็ไม่ค่อยรู้จักใครที่ใช้ แต่เท่าที่พี่เคยอ่านในเน็ตก็จะมีอยู่รายหนึ่งที่เหมือนพี่ คือน้ำเข้าที่ประตูเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ไปตามต่อแต่รู้สึกว่าเคสนั้นเขาเป็นคดีกัน เพราะว่าเจ้าของรถเขาไปร้องในงาน Motor Show เขาก็เป็นคดีกันไป รถคันนี้พี่ซื้อปลายปี 2560 ได้รถเดือนธันวาคม 60 แต่พี่ไม่ได้ขับเลย พี่จอดเอาไว้ พี่ขับจริงๆ คือปีใหม่ของปี 2561 เป็นช่วงที่ไม่ใช่หน้าฝน พี่ก็ขับมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าฝนพี่ถึงเห็นตรงนั้น จุดประสงค์ของพี่ต่อการร้องเรียนครั้งนี้คืออะไร        เราเคยเจราจากันตั้งแต่ตอนที่พี่ซ่อมไปแล้วสี่ครั้ง พี่ขอให้เขาซื้อคืน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่เขาปฏิเสธ คือตอนนั้นที่พูดคุยกันว่าเราจะทำข้อตกลงว่า ถ้าพี่ซ่อมครั้งที่ห้าไม่หายเขาต้องซื้อคืน โดยซื้อคืนเกินราคากับตลาดทั่วไป พี่เรียกเกินจากตลาดทั่วไป 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็รับปากรับคำวันนั้น วันนั้นที่คุยกันคือซื้อคืนเกินราคาตลาด ซึ่งพี่ยังไม่ได้แจ้งว่ากี่เปอร์เซ็นต์เพราะว่าพี่ขอไปดูก่อน หลังจากที่พี่ตกลงใจว่าขอเป็น 15 เปอร์เซ็นต์พี่ก็โทรไปบอกเขา แต่เขาก็ปฏิเสธกลับมาว่ายังไม่รู้เลยว่าเกิดจากอะไรจะให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร มันเป็นการบิดพลิ้วในสิ่งที่พูดกันวันนั้นว่าเขาจะต้องทำข้อตกลงว่า หนึ่ง ในระหว่างซ่อมมีรถให้เราใช้ อันที่สองถ้าซ่อมแล้วไม่หายให้เราทำอย่างไร แต่หลังจากที่บอกเรื่องราคาว่าเกินราคาตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็โยกอีกทางว่าก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้ทำข้อตกลงได้อย่างไร   มันไม่เป็นไปตามที่เราพูดคุยกัน เสียความรู้สึกมากไหม เห็นว่าชอบรถยี่ห้อนี้        เรามั่นใจว่าบริษัทแบบนี้มันน่าจะมีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี ลายเป็นว่าคุณไม่ซื้อเราคืน และยังพูดจาทำร้ายเรา ขณะที่เราเจอปัญหากับรถแล้วเรายังจะมาเจอกับปัญหาคำพูดของคุณอีก เหมือนเราถูกทำซ้ำๆ เราทุกข์อยู่แล้วเขาไม่ได้ช่วยให้เราคลายทุกข์ลงไปสักนิดเดียว แต่กลับเป็นการเพิ่มขึ้นมาด้วยซ้ำไป   วันนั้นพี่รู้สึกเหนื่อย แล้วรู้สึกว่าบางอย่างมันดำเนินการช้า ข้อตกลงก็ไม่มี แต่พี่ก็เอาไปซ่อมอีกครั้งเป็นครั้งที่ห้า โดยที่พี่ก็ไม่ได้แจ้งทางสำนักงานใหญ่เขาว่าพี่เอาไปซ่อมแล้วหรือว่าเอาไปแจ้งที่ดีลเลอร์ที่พี่ซื้อมาพี่ก็ไม่ได้แจ้ง        พี่ว่าพี่พอแล้วกับการซ่อมห้าครั้ง พี่ถือว่าพี่ให้โอกาสเขามากแล้ว ห้าครั้งแก้ไม่หายแล้ว มันจะมีอะไรมาให้พี่มั่นใจว่าครั้งที่หก เจ็ด มันจะหาย ถูกไหมคะ เราใช้รถมาเข้าปีที่สามแล้วประกันจะหมดแล้ว ถ้าหมดประกันไปแล้วพี่ต้องจ่ายเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่ปัญหาที่มันเกิดไม่ได้เกิดจากพี่เลยมันเกิดจากการผลิตของคุณ แล้วคุณก็รับประกันเราแค่สามปี หลังจากนั้นเราก็ต้องรับผิดชอบเองตลอดไป ในเมื่อมันแก้ไม่หายแบบนี้ การแก้ของเขานี่คือไม่ใช่ว่าแก้ตรงนี้แล้วเราจะเจอเลยนะ เขาฉีดน้ำให้เราดูวันนั้นมันก็ไม่เข้า แต่เราใช้ไประยะหนึ่งมันถึงจะเข้ามันเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการควรเป็นอย่างไร         อันนี้มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเครื่องยนต์ที่เขาอ้างว่ามันไม่ใช่เกี่ยวกับความปลอดภัย เขาพูดกับพี่ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัย เขามองว่าถ้าเครื่องยนต์มีปัญหาคือเรื่องความปลอดภัย แต่พี่มองว่านี่ก็คือความปลอดภัยของพี่ที่จะขับรถไปทั้งๆ ที่น้ำก็นองอยู่ในรถ รถเป็นราแล้วพี่จะเป็นโรคไหม พี่มองว่าการที่รถจะออกจากบริษัทมันควรจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น เข้มงวด ถึงแม้เขาจะอ้างว่ามันก็ต้องมีบ้าง แต่พี่มองว่ามันไม่ควรจะมีบ้าง มันไม่ควรมี ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วคุณควรรับผิดชอบเราไม่ให้รู้สึกแย่ไปกว่านี้ ให้เรารู้สึกว่าเราได้รับการดูแลที่ดีเพราะเราซื้อคุณในราคาเต็ม เราไม่ได้ซื้อคุณในราคาที่ลด พี่พูดกับเขาว่าถ้าคุณบอกกับเขาว่ารถคุณมีปัญหามาก่อนแล้วฉันซื้อ ฉันยอมรับว่ามันมีปัญหามาก่อน แต่คุณไม่เคยบอกแล้วคุณก็ขายฉันในราคาเต็ม พี่เขียนจดหมายถึงบริษัทแม่เขาเลยที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ตอนนั้นคือครั้งที่สี่หลังจากที่มามูลนิธิแล้ว สิ่งที่ทำตอนนี้         คิดว่าพี่คงต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย อาจจะต้องฟ้องคดี อยากบอกให้รู้ว่าถ้าคุณไม่รับผิดชอบแล้ว มันต้องมีกระบวนการอื่นที่จะมาช่วยตรงนี้ เราก็ไม่ควรจะนิ่งเฉยหรือยอมคุณต่อไป เพราะพี่ถือว่าห้าครั้งพี่ยอมมามากแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังใช้รถอยู่ พอหน้าฝนพี่จะขนหัวลุกพี่หลอนมากเลย เวลาพี่ไปทำงานพอฝนตกพี่จะไม่ออกยังไม่กลับ ลำบากมาก ขณะขับไปแล้วฝนตกกลางทางพี่ก็จะภาวนาว่าอย่าตกเยอะนะพี่จะเป็นอย่างนี้ตลอด เราหลอนตลอดจิตตก         พี่อยากฝากถึงคนอื่นๆ ถ้าเราเจอปัญหาและเราไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างนี้ เราควรลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ของเรา เราอาจจะไปหาหน่วยงานที่เราคิดว่าสามารถสนับสนุนหรือช่วยเหลือเราได้ เราไม่ควรที่จะเอาของๆ เราที่มันไม่ดีไปขายต่อให้คนอื่น เขาเคยแนะนำพี่นะคนจากบริษัท คนที่มาเจรจาบอกให้พี่ซ่อมก่อนแล้วเอาไปขาย แต่พี่บอกว่าถ้าพี่จะขายก็ขายได้ในราคานี้ มีดีลเลอร์ของบริษัทนี้ที่อยู่ที่อื่นก็อยากได้รถพี่มากเลย พี่ไม่กล้าขายเพราะพี่ไม่อยากเอาความทุกข์ที่พี่มีไปให้คนอื่น พี่ไม่อยากเอาของที่เรารู้ว่ามันไม่ดีแล้วไปให้คนอื่นแล้วพี่ก็รอดตัวไป พี่ไม่ทำ ไม่หาวิธีการนั้น  หาวิธีการดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่ผลิตของออกมาดีกว่าที่เราเอาของที่ไม่ดีแล้วเอาไปโยนให้คนอื่นต่อ กลัวไหมการฟ้องคดีกับบริษัทใหญ่แบบนี้        พี่ไม่กลัวค่ะ พี่มองว่าถึงแม้เขาจะมีฝ่ายกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญแล้วก็เจอคดีมาเยอะ พี่เชื่อว่าพี่ไม่ใช่รายแรกที่ลุกขึ้นมาฟ้องเขา และเขาก็อาจมีทางหนีทีไล่ และพี่ก็รู้ว่าพี่จะต้องเหนื่อยอีกหลายรอบหลายครั้ง แต่พี่ว่าอย่างไรพี่ก็ต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ พี่ยอมเหนื่อยพี่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ เราต้องสู้ให้เห็นว่า ถึงคุณจะเป็นบริษัทอะไรอย่างไร แต่คุณต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ คุณไม่ใช่ใช้วิธีการที่ทำให้เรารู้สึกว่าให้เราล้าไปเอง เหนื่อยไปเองไม่อยากต่อสู้กับคุณอีกต่อไป พี่รู้สึกเหมือนเขาใช้กลยุทธ์แบบนี้กับเรา ให้เราเหนื่อย ท้อแท้ กลัวสารพัดแล้วจะเลิกราไปเอง มันไม่เชิงเป็นแรงผลักดันแต่ปกติพี่เป็นคนไม่กลัวและพี่คิดว่าพี่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิทธิ์อันชอบทำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เมื่อนวดไทย เป็นมรดกของโลก

“เมื่อปลายปี 2019 คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก มีมติประกาศให้นวดไทยติด 1 ใน 15 มรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประจำปี 2019 ซึ่งจัดประชุมครั้งที่ 14 ขึ้นที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มติของยูเนสโกให้ขึ้นบัญชี "นวดไทย" (Nuad Thai, traditional Thai massage) เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) พร้อมกับมรดกวัฒนธรรมฯ จากประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศ” ฉลาดซื้อจึงขอร่วมแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ ด้วยการพา ดร. ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เล่าถึงความดีงามของนวดไทย ว่าทำไมยูเนสโกเห็นว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ทำไมยูเนสโกจึงเลือก “นวดไทย”         ทำไมยูเนสโกเขาคิดเรื่องว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ก็คือว่าในโลกของยุคสมัยใหม่มันมีลักษณะการจดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ของสิทธิ์ต่างๆ ในหลายลักษณะมากที่เขาเรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็การแสดงความเป็นเจ้าของมันก็ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งมีการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาเยอะแยะ เพราะว่าถ้าเมื่อไรผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยใครคนใดคนหนึ่งจะกระทบคนอื่นที่เขาเคยใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดถึงว่า แล้วจะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นความรู้เป็นการปฏิบัติที่คนเคยทำกันมาแล้วสืบทอดกันมาได้อย่างไร ไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปเป็นจดสิทธิบัตรของที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จดสิทธิความเป็นเจ้าของ ของใครคนใดคนหนึ่ง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องวัฒนธรรมของมนุษย์         เพราะฉะนั้นเขาก็เลยคิดว่ายูเนสโกควรมีบทบาทในการทำเรื่องนี้โดยการขึ้นทะเบียน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า List Type ผมอยากจะแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการประกาศจารึกไว้ว่า นี่มันเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเขาก็ใช้อนุสัญญาฉบับนี้เพื่อที่จะทำให้ประเทศต่างๆ มาทำเรื่องนี้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น หัวใจของการที่ได้ขึ้นจารึกว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ขึ้นไปเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้คนอื่นห้ามมาใช้ มันจะคนละ concept  คนละวิธีคิดกับเรื่องของสิทธิบัตรคนละเรื่องกันเลย มันไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นการแสดงว่าเป็นของมนุษยชาติที่โลกนี้มนุษย์ควรจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันคุ้มครองอย่าให้มันสูญหาย ต้องช่วยกันดูแล concept ตรงนี้ ต้องเข้าใจกันให้ชัด เพราะว่าผมได้มีโอกาสไปคุยกับราชการบางส่วนที่พอเห็นว่า  นวดไทยขึ้นยูเนสโกแล้วอยากจะโหนกระแส โดยไม่เข้าใจ concept ของเขา แล้วก็จะบอกว่าถ้าเราได้ขึ้นยูเนสโกอย่างนี้เราก็จะไปขอจดสิทธิบัตรได้ไหม เพราะนี่เขารับรองเป็นมรดกโลกแล้ว ผมบอกไปว่าคนละเรื่องกัน ความต่างของนวดไทยกับนวดแบบอื่นๆ         ขอบเขตของนวดไทยไม่ใช่แค่นวดภาคกลางแต่หมายถึงนวดพื้นบ้านด้วย นวดพื้นบ้านที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ มันมีภูมิปัญญาของเขาเกิดขึ้นมาเอง สัดส่วนของร่างกายในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกของเขา กระบวนการนวดรักษาแตกต่างกัน  ฤาษีดัดตนกับนวดไทยก็ไม่รวมกัน         คือเราบรรยายในเอกสารที่เราเสนอยูเนสโกว่า เรื่องของนวดไทยเราเป็นทั้งศาสตร์เป็นทั้งศิลปะในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่ไม่ใช้ยา โดยใช้มือผสมกับกาลเวลา โดยมีตัวทฤษฎีที่เป็นหลักการสำคัญก็คือเรื่องของเส้นโดยเฉพาะเส้นประธาน 10 ในส่วนของตรรกะอาจจะมีส่วนที่ใกล้กับราชสำนัก(นวดแบบหนึ่ง) ก็จะมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบมากหน่อย ก็จะมีเรื่องของเส้นประธาน 10 อย่างชัดเจน   ในส่วนที่แตกต่างกันไปตามหัวเมือง concept เรื่องเส้นกับลมก็ยังมีอยู่อย่างชัดเจน ไม่ต่างกัน แล้วก็เรื่องของธาตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ธาตุทั้ง 4 คือเขาจะอยู่บนๆ เพียงแต่ว่าความลึกความละเอียดมันอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ concept เดียวกันคือเรื่องเส้น เรื่องลม เรื่องธาตุที่จะมาจัดการกับความเจ็บป่วยโดยใช้มือกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เน้นใช้ยา         แล้วก็เราก็พยายามทำให้กระจ่างบอกว่า concept เรื่องเส้นประธานของเราก็ไม่ได้เหมือนกับทางจีนทางอินเดียเสียทีเดียว มันก็มีความแตกต่างกัน มีบางคนชอบพูดว่าเราเอามาจากอินเดียพอเราไปดูอินเดียก็ไม่เห็นมี นวดจีนก็เป็นอีกแบบก็มีเส้นลมปราณของเขา ซึ่งเราก็เคยเชิญอาจารย์จากปักกิ่งมา เขาก็มาสาธิตวิธีการนวดของเขาแลกเปลี่ยนกับของเรามันก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทฤษฎีเส้นประธาน 10 ของเราของเขาก็ไม่มี เขามี 12 14 เส้นของเขา ส่วนของอินเดียเขาก็มีจักรกะต่างๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งของพลังงาน แต่ก็มีแนวดีที่คล้ายของเรา แนวอินทารา   แต่ก็ไม่ใช่ตรงกันเสียทีเดียวชื่ออาจจะพ้องกันสามเส้นสี่เส้นก็แล้วแต่ แต่ว่าทิศทางหรือการนำมาใช้ก็คนละเรื่องกัน พูดง่ายๆ คือคนละศาสตร์กัน         แต่ว่าของบางอย่างมันก็อาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันได้ เพราะมันก็อยู่บนร่างกายมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามจะทำให้ชัดเจนว่ามันก็เป็นลักษณะที่มีความเฉพาะของไทยเรามีความเฉพาะเจาะจงพอสมควรเพื่อป้องกันว่าจะมีคนอ้างว่า เช่นนวดไทยเป็นของอินเดียเราไปเสนอได้อย่างไร อันนี้เพื่อจะเคลียร์ประเด็นพวกนี้ ต่อไปนี้เราจะไม่พูดว่านวดไทยมาจากอินเดียเพราะมันไม่มีหลักฐาน นวดไทยมาจากจีนมันไม่มีหลักฐาน พูดไปโดยไม่มีหลักฐานมันไม่เกิดผลดีอะไร เราควรจะพูดจากสิ่งที่ปรากฏแล้วเราก็อาจจะสันนิษฐานว่ามันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในลักษณะไหน อาจจะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่เวลาคนไปมาหาสู่กันก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่จะบอกว่าอันนี้มาจากที่นั่นที่นี่โดยตรงมันพูดยาก ยกเว้นบางเรื่องชัดๆ อย่างเช่น พุทธศาสนามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียตอนเหนือถึงแม้กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนเถียงอยู่นะว่าไม่จริงหรอกอันนี้ก็ว่ากันไป วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนานใช้เวลา การจะพูดอะไรควรจะพูดจากหลักฐานที่มีอยู่พูดเกินเลยหลักฐานมันสร้างปัญหา แล้วอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า จริงๆ การทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เราต้องการบอกว่าของเหล่านี้มีคุณค่าต่อมนุษย์เท่านั้นเอง การนวดมีอันตรายไหม          คนที่นวด นวดไปทำไม นวดไปเพื่ออะไร จากที่ไหนคุณภาพเชื่อถือได้ไม่ได้อย่างไรตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งราชการเขาก็พยายามทำอยู่ บางอย่างเช่น ทำให้นวดทั่วๆ ไปมีสถานที่ ที่ด้รับการรับรองแล้วคนนวดก็ผ่านการอบรมมาในระดับที่เขาพอยอมรับได้ แต่ว่านวดพวกนี้เป็นนวดที่ไม่ได้เน้นการรักษาโรคเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสบาย แต่ว่าประชาชนที่ไปนวดบางทีเขาก็คาดหวังว่านวดแล้วมันก็ต้องแก้โน่นแก้นี่ให้เขาได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไปบางทีหมอก็อาจจะต้องทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา บางทีก็ทำในสิ่งที่มันอาจจะยิ่งซ้ำเติมเพราะว่าความรู้กับประสบการณ์ก็อาจจะยังน้อยแต่ว่าไปทำในเรื่องที่เกินขีดความสามารถของตัวเอง แล้วก็อาจจะไปทำในสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น อันนี้มันก็ทำให้เกิดผลเสียโดยรวม         ในช่วงสักสองสามปีที่ผ่านมามันจะเจอเคสที่นวดแล้วเป็นอันตราย ซึ่งมันก็ปนๆ กันตอนนี้คนนวดอย่างที่ว่ามันหลากหลายมากเราก็ไม่รู้ว่าพวกไหนเป็นพวกไหน แต่ตอนนี้สิ่งที่ราชการเขาพยายามทำคือ ตะล่อมให้เข้าไปอยู่ในที่ทางที่เขาดูแลได้ นอกจากนั้นก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ว่าที่ผิดกฎหมายที่ทำกันอยู่เยอะแยะที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย  ก็ยังมีอยู่เยอะแยะแล้วก็อาจจะทำดีบ้างไม่ดีบ้างปนๆ เราก็ไม่รู้ไม่สามารถประกันอะไรได้ทั้งนั้น อาจจะมีคนมีฝีมืออยู่ในนั้นก็มี มีคนที่ตั้งตัวมาแล้วก็ทำในจุดในสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงก็ได้ก็ไม่มีใครรู้ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ประชาชนเองก็ต้องระวัง แล้วก็อย่าคิดว่าการนวดมันจะเกิดผลดี ถ้านวดโดยคนที่ไม่มีความชำนาญมันก็เกิดผลเสียแล้วก็ในบางกรณีก็อาจจะเกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการนวดในข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ให้นวดกัน มันก็มีนะข้อห้ามในการนวดมันก็มีอยู่ ไปนวดก็เกิดอันตรายอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ตำแหน่งบางแห่งของร่างกายเราก็ไม่ให้นวดเพราะว่ามันมีความเสี่ยง เช่นอาจจะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท อาจจะทำให้เกิดอัมพาตตามมาก็ได้ ในบางที่ ในบางท่า แล้วก็อาจจะถึงแก่ชีวิตด้วยซ้ำในบางตำแหน่งเช่นไปกดประตูลมตรงท้อง โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพองในท้องกดไปก็หลอดเลือดแตกทันทีเลย มันก็อันตรายพวกนี้ถ้าคนที่เขาเรียนมาเยอะพอเขาจะรู้ข้อระวังพวกนี้แล้วเขาจะต้องมีวิธีตรวจหรือต้องซักประวัติสอบถามจนแน่ใจว่าไม่เข้าข่ายที่จะเกิดอันตรายได้เขาถึงจะทำ         เพราะฉะนั้นการนวดมันก็มีสองด้านเรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ คนที่อบรมมาน้อยเรียนมาน้อยหรือว่าเรียนแบบงูๆ ปลาๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะรู้น้อย หรือถ้าคนที่เรียนมากรู้มากขึ้นเขาก็จะรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจประชาชนที่จะไปใช้บริการเองก็ต้องเข้าใจว่าหมอมีหลากหลายมาก เรียนมาหลากหลายมากบางคนก็รู้น้อยบางคนก็อาจจะรู้มากมีประสบการณ์มากมันต้องพิจารณาให้ดีก็ไม่ง่ายที่จะไปพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราต้องช่างสังเกต เราจะสังเกตหมอนวดอย่างไร         ตอนนี้คือถ้าหากว่าไม่แน่ใจก็ต้องยังไม่เสี่ยงที่จะไปนวดกับคนที่เรายังไม่รู้จักไม่แน่ใจ อย่าคิดว่านวดมันมีแต่ผลดีอาจจะเกิดผลเสียแทรกซ้อนได้ ถ้าทำโดยคนที่ไม่รู้ ถ้าเราไม่แน่ใจก็อย่าให้เขานวด ส่วนหนึ่งมันจะมีการนวดที่อยู่ในคลินิกหรือในสถานพยาบาลอันนี้ก็จะถือว่าน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เพราะว่าการที่เขามีคลินิกเปิดคลินิกได้มันก็ต้องผ่านการรับรองโดยราชการต้องมาอนุญาตแล้วก็เขาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ คนที่มีใบประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนที่ไม่มี เพราะว่าถ้าเขาทำอะไรผิดพลาดเขาก็จะถูกถอนใบอนุญาตได้คือตัดอาชีพเขาเลย แล้วคนที่จะมาเปิดคลินิกรักษาโดยมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่แน่ใจว่าตัวเองมีฝีมือพอสมควร   มีความรู้พอสมควรที่จะทำแล้วมีคนมาหาแล้วก็อยู่ได้อยู่รอด เพราะว่าการเปิดสถานพยาบาลหรือคลินิกมันต้องลงทุนมันมีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่กล้าเปิด แต่ถ้าร้านนวดเล็กๆ นวดในที่ไม่ต้องอะไรมากมายก็การลงทุนก็อาจจะไม่เยอะก็ตั้งตัวขึ้นมาแล้วก็นวดๆ ไป นวดไทยมีบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือยัง         มีอยู่หลายตัวอย่างที่เขาทำๆ กันอยู่หลายที่แล้วเขาก็ทำกับชุมชนแล้ว รพ.สต ก็ไปสนับสนุนให้เขาอยู่ได้แล้วก็ดูแลกัน ก็มีพ่อหมอมาช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลชาวบ้านช่วยกันดูแลผู้ป่วยอาจจะใช้สถานที่ในศาลาประชาคมของหมู่บ้าน บางที่เขาก็ใช้อย่างนั้นแต่ว่าก็ต้องมีการจัดการเพราะว่ามันก็ต้องมีคนมาช่วยจัดการถึงจะไปได้ แล้วก็บางทีก็ต้องหาเงินหาทุนมาสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้บางอย่างจะให้ชาวบ้านลงทุนเองทั้งหมดก็จะทำยาก เท่าที่ผมไปเห็นมาแล้วก็ราชการก็ลงมาสนับสนุนแล้วก็ช่วยดู ส่วนของเจ้าหน้าที่  ที่เป็นทางฝ่ายสาธารณสุขเขาก็จะเข้าใจในเรื่องสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสิ่งที่อาจจะเกิดผลแทรกซ้อน ก็จะช่วยกันดูแลช่วยกันควบคุมดูแลกำกับกันให้อยู่ในกรอบไม่สร้างปัญหา ถ้าเกิดว่าทำอะไรที่มันล่อแหลมเกินไปอันตรายเกินไปก็ต้องคอยเตือนๆ กันว่าท่านี้นวดแบบนี้มันอาจจะเสี่ยงเกินไป มีคนช่วยกันดูก็จะทำให้มันลดปัญหาลงไปได้ ปัจจุบันมีการจัดระเบียบการควบคุมราคา เรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการไหม         คือเราเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องดูแลเรื่องนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเขาก็พยายามทำอยู่พยายามอยู่แต่ว่าเนื่องจากเรื่องการนวดมันกว้างขวางมันแพร่หลายมากก็เห็นใจว่ามันไม่ได้ง่าย แต่ว่าคนที่จะทำได้ก็คือราชการเพราะมีกลไกมีมือไม้ทุกจังหวัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลห้ามปรามกัน เพราะว่าถ้าทางราชการไม่ไปห้ามปรามไม่ไปดูแล  มีคนหนึ่งทำได้โดยผิดกฎหมายคนอื่นก็ทำตามเขาอ้างว่าคนนั้นก็ทำได้ฉันก็ทำบ้าง อันนี้ราชการเองก็ต้องคอยกวดขันห้ามปรามอาจจะต้องถึงขั้นจับกุมในบางกรณีเพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎหมายมันมีอยู่เรื่องพวกนี้แต่ว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >