ฉบับที่ 255 ไขข้อข้องใจ “กัญชา” กิน – ใช้อย่างไร ได้ประโยชน์

        เดิมทีประเทศไทยได้มีการปลดล็อคให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ มีการอนุญาตราวๆ 3 กลุ่มโรค คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ และกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต รวมถึงระยะหลังได้เริ่มมีการอนุญาตให้สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของกัญชาที่ทำมาใช้ แต่ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5  มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา สามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร เครื่องดื่มได้คล่องมากขึ้น หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า “กัญชาเสรี”         อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีข้อกังวล เพราะต่างรู้ว่ากัญชามีประโยชน์ก็จริง แต่ “โทษ” ยังไม่หายไป ถ้าเช่นนั้นแล้วประชาชนจะใช้อย่างไรให้ได้รับประโยชน์จากกัญชาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ไขข้อข้องใจกับ นิตยสารฉลาดซื้อ ดังนี้....   กลุ่มที่ห้ามรับประทาน หรือใช้กัญชาคือใครบ้าง         กัญชามีประโยชน์ แต่หากใช้ไม่ถูกก็เกิดอันตรายได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน หรือใช้กัญชาเลยคือ สตรีมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะกัญชาจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ไอคิวลดลง กระทบเซลล์สมอง ซึ่งมีการทดลองในหนู พบว่าสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดนั้น จะทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ จึงห้ามเด็ดขาดในเด็ก   การควบคุมอาหารที่ใส่กัญชา         ขณะนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ที่ใช้กัญชาจะต้องปฏิบัติดังนี้ 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู เป็นต้น 4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้กลุ่มเสี่ยงทราบ เช่น ระบุข้อความ "เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน" "หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที" "ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือสาร CBD ควรระวังในการรับประทาน" ... "อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเสี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล" และ 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค ส่วนใดของกัญชา กัญชง ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้บ้าง แต่ละเมนูมีข้อแนะนำอย่างไร         ต้องบอกว่าการที่ร้านอาหารนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบนั้น เป็นความเชื่อว่ากัญชาจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เพราะในกัญชาจะมีสารกลูตามิกแอซิด คล้ายๆ กับผงชูรส แต่ต้องมีการใช้กัญชาปริมาณเยอะมากถึงจะได้รสชาติที่ว่านั้น แต่สิ่งที่เราไม่ปรารถนาคือ จะทำให้ สาร THC จะออกมาด้วย ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารตอนนี้ คือ ใช้เฉพาะ “ใบสด” เท่านั้น ส่วน ช่อดอก หรือ ดอก ไม่แนะนำ เพราะมีสาร THC สูงเกินไป และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังกำหนดให้ใช้ช่อดอก และดอกสำหรับผลิตยาทางการแพทย์เท่านั้น         ทั้งนี้ ปริมาณที่ใช้ ตลอดจนวิธีการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะให้สาร THC, CBD แตกต่างกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือ แต่ละเมนูไม่ควรใช้ใบสดเกิน 2 ใบ และใน 1 มื้อไม่ควรกินเกิน 2 เมนู หากต้องการบริโภคเกิน 2 เมนู ต่อวัน แนะนำว่าแต่ละเมนู ควรบริโภคเพียง 3 ช้อนกินข้าว เพื่อลดการได้รับ THC มากเกินไป เพราะความไวต่อสาร THC ของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนรับเพียงเล็กน้อยก็มีอาการได้ หากเป็นเรื่องดื่มใช้ 1 ใบสดต่อ 1 แก้ว ดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้ว ทั้งนี้ใน 1 วัน โดยสรุป 1 วันบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ไม่ควรเกิน 2 เมนู และขอย้ำว่าไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน         “ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภททอดกับทอด หรือ ทอดกับผัด หรือผัดกับผัด เพราะในน้ำมันจะดูดซึมสาร THC ได้ดี จะทำให้ได้รับสาร THC เกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 427/2564 กำหนดหน่วยบรรจุมีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม” คำแนะนำสำหรับผู้บริโค        กรณี “คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน” ควรเริ่มในปริมาณน้อย ประมาณครึ่งใบ - 1 ใบ ต่อวัน ซึ่งการรับประทานสัดส่วนนี้จะมีปริมาณสาร THC ราวๆ 1-2.5 มิลลิกรัม และควรรอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง หากพบว่ามีผลข้างเคียงแนะนำให้หยุดทันที แล้วดื่มน้ำตามมากๆ         สำหรับ “บุคคลทั่วไป” ก็ควรบริโภคในปริมาณน้อย ไม่เกินวันละ 5 ใบ หากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้ ทั้งนี้ จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30 - 60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง - 3 ชั่วโมง  ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง         “ถ้าคนแพ้กัญชาใน 60 นาทีแรกเห็นผลเลย คือ คอแห้ง ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ถ้าเป็นมากคือใจสั่น และหากใจสั่นมาอาจจะหมดสติ ช็อคได้ ดังนั้นหากมีอาการหากคอแห้ง ปากแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับออกมาได้  ถ้ารู้สึกเวียนหัว ให้ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เกลือเล็กน้อย หรือน้ำขิงเพื่อแก้อาการเมา แต่หากที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์”         และที่สำคัญเลย เราพบว่าคนที่อยากรับประทานเมนูกัญชาเพราะเชื่อว่าฤทธิ์เล็กน้อยจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สบาย แต่หากรับประทานมากเกินไป จะไปกดสมองส่วนกลางทำให้ง่วงนอนได้ แต่อย่างที่บอกว่าผลที่เกิดกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บงคนออกฤทธิ์ทันที บางคนไปอกฤทธิ์ภายหลัง ซึ่งฤทธิ์ของกัญชานั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องเตือนคนที่ขับยานพาหนะ และทำงานกับเครื่องจักรไม่ควรรับประทานเพราะแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้สึก แต่มาออกฤทธิ์ภายหลัง อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับยานพาหนะลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ และห้ามกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีฤทธิ์ทั้งกดประสาท และกระตุ้นประสาท ส่งให้การหายใจผิดปกติ กระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นเร็วเกินไป   อาหารที่ห้ามมีส่วนผสมของกัญชา กัญชงโดยเด็ดขาด         ข้อยกเว้นอาหารที่ไม่ให้ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ได้แก่ อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กนมดัดแปลงสำหรับทารกและนมตัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน อาหารอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพราะหากเด็กได้รับสาร THC บ่อยอาจจะทำให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านสมองช้า เนื่องจากสาร THC จะไปทำลายเนื้อเยื่อสมองของเด็ก กรณีสารสกัดในกัญชา CBD และ THC สามารถใช้ประกอบอาหารได้แค่ไหน         การใช้สารสกัด CBD และ THC ในการประกอบอาหารตามประกาศกระกรวงสาธารณสุข 427 โดย อย. กำหนดให้สามารถใช้สารสกัด THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ            นอกจากการรับประทานในอาหารแล้ว ขณะนี้พบว่ามีการใช้สันทนาการด้วย ในส่วนนี้มีการควบคุมกำกับอย่างไร          ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ         อย่างไรก็ตาม เราไม่แนะนำให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม 2. ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ 4. มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา         ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ         กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการสร้างความรำคาญ จะมีโทษปรับ 25,000 บาท จำคุกสูงสุด 3 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 รู้ทันมิจฉาชีพระดับอินเตอร์ หลอกให้สมัครงานกับบริษัทข้ามชาติ

        หลังจากที่สังคมรับรู้ข่าวสารการอาละวาดของแก๊งค์คอลเซนเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหลายคนก็น่าจะพอมีวิธีรับมือรูปแบบการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของนักต้มตุ๋นกลุ่มนี้ได้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่ารับสาย อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าคลิกลิงก์ และอย่าโอน แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้มีมิจฉาชีพเข้าไปแฝงตัวอยู่ในทุกแพลตฟอร์มจริง ๆ         ล่าสุด แม้แต่เครือข่ายมืออาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่าง LinkedIn ที่เสมือนเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและคนทำงานในกลุ่มธุรกิจบริษัทข้ามชาติ ก็ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบใช้กลยุทธ์การฉ้อโกงแบบเนียน ๆ มาหลอกคนทำงานด้วย คุณวันวิสาข์ นามวิเศษ เธอเองก็เกือบตกเป็นเหยื่อโจรต่างชาติพวกนี้ด้วย จึงมาเล่าประสบการณ์เพื่อเตือนภัยกัน         “กลโกงมันเยอะ แต่เคสของเรานี่โคตรอินเตอร์เลย อาจจะมีคนอื่นที่โดนหลอก แต่เขาไม่ออกข่าวหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นคนที่มีโพรไฟล์ค่อนข้างสูง เพราะอยู่ๆ มันจะมาหลอกเราคนเดียวได้ยังไง”  เหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร         มีคนใน LinkedIn ส่งข้อความมาว่าสนใจทำงานไหม เป็นบริษัทที่ผลิตและขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษและอเมริกา ถ้าสนใจก็ให้ติดต่อไปที่ฝ่ายบุคคลของเขา เขาก็ให้อีเมลมาแล้วก็รายละเอียดงานคร่าวๆ ว่าเป็นงาน Sales Executive บริษัทไม่มีสาขาที่ประเทศไทยแต่ว่าจะมีตัวแทนแบบนี้อยู่ทั่วโลก เพื่อไปติดต่อลูกค้า รับออเดอร์ แล้วก็สั่งไปที่โรงงานเพื่อให้เขาส่งมา         เราเข้าไปดูเว็บไซต์บริษัทแล้วมีข้อมูลน่าเชื่อถือ ก็เลยส่งเรซูเม่ไปที่อีเมลฝ่ายบุคคลที่เขาให้มา แล้วฝ่ายบุคคลก็ส่งอีเมลกลับมาว่าจะส่งคำถามมาให้เราตอบ คือไม่ได้มีการโทรศัพท์สัมภาษณ์เหมือนบริษัทต่างประเทศทั่วๆ ไป ตรงนี้เราก็เริ่มเอ๊ะ เพราะโดยมากแล้วเขาจะต้องโทรมาขอสัมภาษณ์ เพื่อจะได้ดูว่าเราคุยภาษาอังกฤษรู้เรื่องหรือเปล่า เริ่มสงสัยแล้ว เจอพิรุธอะไรอีก         เรายังมาเอ๊ะอีกตรงที่เขายิงคำถามมาค่อนข้างเบสิกมาก มีบางคำถามที่ไม่ทันสมัยสักเท่าไหร่ แต่ก็อาจจะเป็นสไตล์ของเขา เราก็ตอบไป แล้วสัก 2-3 วัน เขาก็ตอบกลับมาว่าโอเค จากที่ดูเรซูเม่แล้วก็คำถามที่เราตอบ คือเรามีคุณสมบัติในตำแหน่งนี้ เขาก็เลยส่งจดหมายเสนอตำแหน่งมา คือดูโพรเฟสชันนอลมากเลย มีสวัสดิการ มีจดหมายเป็นทางการ มีหัวจดหมายของบริษัท มีเว็บไซต์ อะไรอย่างนี้ เราก็ตอบตกลง แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ พอเขาให้ส่งบัตรประชาชนกลับไป เราก็เซ็นลายเซ็นปลอมให้ ซึ่งเขาไม่รู้อยู่แล้ว ทีนี้เขาก็ตอบกลับมาว่าจะส่งสัญญาจ้างพร้อมกับอุปกรณ์ในการทำงานมาให้ มีคอมพิวเตอร์ บัตรประจำตัวพนักงาน แล้วก็สินค้าตัวอย่างเพื่อที่จะให้เราศึกษา         ผ่านไปสักพัก เขาก็ส่งอีเมล์มาบอกว่าได้ส่งพัสดุข้ามประเทศผ่านบริษัทชื่อนี้ คือมีใบขนส่งสินค้าทางอากาศ มีเรฟเฟอเรนซ์นัมเบอร์ที่เราสามารถติดตามได้ว่าสินค้าส่งออกจากที่ไหน ไปถึงไหน แล้วจะมาถึงเราวันไหน แล้วก็มีลิงก์ไปอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งนี้ เราเองก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง ถ้ามีจริงก็อาจจะเหมือนแบบคล้ายๆ DHL ที่เขาไปก็อปปี้มาหรืออะไรสักอย่างตามวิธีของเขา ทำให้เราสามารถเอาเลขพัสดุไปเข้าเว็บไซต์นั้นแล้วก็คีย์ได้เลยว่าพัสดุเราอยู่ไหน ก็จะขึ้นสเตตัสว่าถึงไหนแล้ว ของมีอะไร มีใบเสร็จ เหมือนกับที่เขาส่งมาให้เราเลย ซึ่งก็น่าเชื่อถือมาก         แต่พอติดตามดูเส้นทางของพัสดุ ก็สังเกตว่าสายการบินที่ขึ้นโชว์มาดูแปลกๆ เพราะว่าเราทำงานด้านการท่องเที่ยวก็พอรู้ว่ามีสนามบินอะไรบ้าง แล้วเส้นทางขนส่งก็ไม่น่าจะผ่านประเทศนี้ เช่น ผ่านไปพม่าทำไม ไปอินเดียทำไม ซึ่งแปลก ถ้าสายการบินพาณิชย์ไม่น่าจะบินผ่านไปประเทศเหล่านี้ แต่เราก็คิดว่าอาจจะเป็นสายการบินที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก แล้วมีเส้นทางการบินไม่เหมือนกันก็ได้         ทีนี้พอถึงวันที่ในระบบแจ้งว่าของมาถึงไทยแล้ว ก็มีอีเมลของบริษัทขนส่งนี้ส่งมาบอกเราว่าพัสดุของเราจะต้องเสียภาษี ให้เราแจ้งมาว่าจะเสียภาษีแบบไหน เราก็เลยถามว่าเสียภาษีเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าประมาณ 30,000 กว่าบาท ก็คือประมาณ 1,000 ยูเอสดอลลาร์ เราก็เลยบอกว่า         “ฉันไม่มีหน้าที่จะต้องจ่าย เพราะว่าฉันยังไม่ได้ถูกจ้างงาน ยังไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเลย ต้องให้บริษัทที่เป็นผู้จ้างจ่ายสิ”  แล้วมารู้ตอนไหนว่าโดนหลอก         เราก็ติดต่อไปที่บริษัทผู้จ้าง เขาบอกว่าเราต้องรีบเคลียร์ของออกมาให้เร็วที่สุดเพราะว่าของสำคัญกับเรามาก ให้เราจ่ายไปก่อนแล้วเดี๋ยวเขาจะโอนให้ในบัญชีเงินเดือนของเรา เราก็ตอบไปว่า         “อย่างไรฉันก็ไม่ยอมจ่ายง่ายๆ”         แล้วเราก็ยังอีเมลโต้ตอบกับทั้งฝ่ายบริษัทจ้างงานและบริษัทขนส่งกันไปมาอยู่ 2-3 วัน ซึ่งอีเมลของพวกเขาจะดูเป็นมืออาชีพและตอบเร็วด้วย คือเรารู้เลยว่าเป็นวิธีการเขียนจากฝรั่ง         ช่วงที่เขาส่งอีเมลมาตื๊อให้จ่ายเงิน เราก็ลองถามดูว่าถ้าจ่ายนี่คือโอนเข้าบริษัทชิปปิ้งเหรอ คือถ้าเกิดว่าเป็นอินวอยซ์จากบริษัทชิปปิ้งที่มีตัวตน ก็จะน่าเชื่อถือ เพราะเราโทรถามจากบริษัทที่มีออฟฟิศในเมืองไทยเพื่อตรวจสอบได้ แต่เขากลับบอกให้โอนเข้าบัญชีกสิกรไทยเป็นชื่อบุคคล เราก็ไปค้นเจอว่าชื่อนี้มีเฟซบุ๊ก เข้าไปดูแล้วเป็นชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่เหมือนเป็นคนทำงานบริษัทเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ก็คงเป็นบัญชีม้า         เราก็โทรถามศุลกากร เขาบอกว่าไม่มีให้โอนเข้าบัญชีบุคคลแน่นอน อย่าจ่าย คือโดยมากจะมีเคสเหมือนที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเคสของเรา ที่ใช้เวลาตั้งหลายอาทิตย์กว่าที่จะรอหลอกเรา แล้วมีการรับต่อไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม ไม่รู้เป็นคนหรือเปล่า เราไม่เห็นตัวตน เราัสื่อสารกันทางอีเมลตลอดจากนั้นเราก็ตอบกลับไปว่า         “บุคคลที่เป็นเจ้าของเลขบัญชีที่คุณให้มาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของทางศุลกากร ฉันคุยกับศุลกากรแล้ว เขาแนะนำว่าไม่ให้โอน เพราะว่ามีพวกหลอกลวงเยอะ”         ในที่สุดเขาก็คงคิดว่าน่าจะหลอกเอาเงินเราไม่ได้แล้ว ก็เงียบไปเลย อย่างนี้ก็เหมือนกับหลอกคนที่กำลังหางาน        คือโพรไฟล์เราในนั้นไม่ได้ขึ้นว่าหางานด้วยนะ เขาอาจจะสุ่มจาก LinkedIn ซึ่งช่องทางนี้เป็นธุรกิจล้วนๆ เลย แล้วเห็นว่าเราเคยทำงานอะไรที่ไหนมาบ้าง โพรไฟล์เราแบบนี้น่าจะหลอกประมาณนี้ได้หรือเปล่า อาจจะหลอกไปทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่คนไทย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาใช้วิธีการหาเหยื่ออย่างไร ไม่เคยได้ยินจริงๆ นะเสียเงินแบบนี้ ที่บอกเป็นสเต็ป 1, 2, 3 เป็นเรื่องเป็นราวเลย         คือถ้าเกิดมีคนยอมโอนไปจริงๆ เขาก็ได้เงินง่ายๆ เลยนะ 30,000 – 40,000 บาท จากทั่วโลกเป็นเท่าไหร่ แต่เขาก็ลงทุนในการทำเว็บไซต์ มีเอกสาร มีโพร์ไฟล์ ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพอเราไปเซิร์ชหาเคสอย่างนี้ในกูเกิล ก็ไม่เจอว่ามีใครโดนอย่างเรา ในประเทศอื่นก็ไม่เคยมีเหมือนกัน มันดูน่าเชื่อถือมาก เราก็เลยคิดว่าบริษัทนี้อาจจะมีตัวตน แต่พวกนี้แอบเนียนๆ ใช้ชื่อใช้อะไรของบริษัทนี้ เป็นไปได้หลายอย่าง เพราะว่าเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม การปลอมแปลงอย่างนี้มันง่าย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ข้อมูลตัวเองกับโซเชียลก็เป็นอันตรายกับเราเหมือนกัน         ก็ไม่เชิงนะ คือเป็นปกติเลยช่องทางนี้ที่คนเขาจะทำแบบนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นอินเตอร์เขาก็จะมีโพรไฟล์ใน LinkedIn ด้วย เพราะลูกค้าก็จะไปดูจากตรงนั้น ในนั้นจะมีโพรไฟล์ล้วนๆ แล้วก็จะมีคนมาแนะนำให้ด้วยว่าเรามีทักษะด้านนั้นด้านนี้จริงๆ อยากเตือนคนอื่นที่อาจจะเจอแบบเราอย่างไรบ้าง ให้สังเกตอะไรบ้าง         ถ้าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริง ส่วนใหญ่จะมีวิธีการติดต่อทางอีเมลที่ยืนยันได้ ก็ต้องตรวจสอบดีๆ อย่างเคสนี้เราค้นชื่อบริษัทนี้แล้วไม่เจอโพรไฟล์อยู่ใน LinkedIn พอเซิร์ชหาบุคคลที่ทำงานบริษัทนี้ก็เหมือนจะไม่มีอีก ส่วนโพรไฟล์ของคนที่ติดต่อเรามาก็ดูไม่โพรเฟสชันนอลเท่าไหร่ ยังมีเว็บไซต์บริษัทที่ดูน่าเชื่อถือหน่อย พอลองเข้าไปเซิร์ชหาบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกาก็ไม่มีชื่อนี้ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ว่ามีที่อยู่ เราก็หาใน Google Earth, Google Map ก็มีชื่อขึ้นมา แต่พอไปดูในตึกแล้วกลับไม่มีบริษัทนี้         เราดูถึงขนาดนั้นเลย ก็ยังสงสัยอยู่ว่าตกลงยังไง เพราะในกูเกิลมีชื่อบริษัทนี้แต่พอไปดูในที่อยู่กลับไม่ตรงกัน เราอาจจะเซิร์ชหาไม่อัปเดตหรือยังไงก็ไม่รู้ คือวิธีการของเขาค่อนข้างเนียนมาก ถ้าสมมุติว่าเป็นคนที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษ เขาก็อาจไม่รู้ว่าต้องไปเช็กอะไร อย่างไร ต้องจับจุดตรงไหน เพราะขนาดเรารู้ภาษาอังกฤษในระดับโพรเฟชชันนอล เรายังโดนหลอกอยู่ประมาณสองอาทิตย์ ซึ่งเป็นเคสที่เรียลไทม์มาก         จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราก็เคยโดนแก๊งค์คอลเซนเตอร์โทรมานะ แต่เรารู้ทันก่อนไง พอบอกให้โอนทันที เราก็วางเลย แต่นี่เป็นเคสแรกที่ไม่ได้ให้โอนทันทีทันใด คือไม่ใช่จะเอาอย่างเดียวตั้งแต่แรกอะไรอย่างนี้ คือเขาใช้เวลากับเราขนาดนี้เพื่อที่จะให้เนียนที่สุด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตกลงหลอกไม่หลอก แต่ก็คิดว่าหลอกเพราะเงียบไปเลย         “ข้อสังเกตง่าย ๆ คือถ้าเกิดให้โอนเงินนั่นแหละ โดนหลอกแน่ๆ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 หนุ่มกรุงเก่าเตือนภัย ฉีดยาลดพุงกลับได้แผลลึก คลินิกดังไม่รับผิดชอบ ลุยทวงความยุติธรรมให้ถึงที่สุด

        “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย”         “เราไม่ควรใช้วิธีทางลัดในการลดน้ำหนัก”         นี่เป็นบทเรียนสอนใจที่ได้จากประสบการณ์หลอนของคุณพงษ์พัฒน์ ลอมคุณารักษ์ เมื่อครั้งที่เขาไปฉีดยาสลายไขมันลดพุงแล้วต้องเจ็บทั้งตัวเจ็บทั้งใจ เพราะไปหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงของคลินิกเสริมความงามชื่อดัง จนกระทั่งวันนี้เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง         คุณพงษ์พัฒน์ได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ว่า         “ช่วงนั้นผมน้ำหนักเยอะมาก ประมาณ 97 กิโลฯ คืออึดอัด ไม่ไหวแล้ว ปกติน้ำหนักผมจะอยู่ประมาณ 80 – 85 กิโลฯ เริ่มรู้สึกไม่คล่องตัว ตอนแรกก็กังวลว่าอาจจะถึง 100 กิโลฯ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ค่อยได้กินอะไรมาก พอดีไปเห็นโฆษณาฉีดสลายไขมันของคลินิกชื่อดังที่พิษณุโลก ผมก็เดินทางจากสุโขทัยไปเลย” ตัดสินใจวันนั้นเลยว่าจะฉีดสลายไขมันที่หน้าท้อง         ใช่ ก่อนจะไปผมก็แชตไปสอบถามและปรึกษากับทางคลินิกนี้ ตามช่องทางที่เขามีโฆษณาทางไลน์และเฟซบุ๊ก แล้วก็ตามดูรีวิว เขาก็ว่าปลอดภัย ว่าสารที่ฉีดเข้าไปไม่มีอันตราย ไม่ตกค้าง สามารถขับออกทางปัสสาวะและทางเหงื่อเองได้ พอไปถึงคลินิก ผมก็สอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าตัวยาเป็นอย่างไร ซึ่งทางคลินิกเขาก็บอกว่าไม่มีอันตราย แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีการเจ็บปวด หรือว่าต้องพักฟื้นอะไร คือเขาก็เหมือนโน้มน้าวให้ผมเกิดความมั่นใจ แล้วคลินิกเขาก็ใหญ่ มีหลายสาขาด้วย เขาก็บอกว่าถ้าจองภายในวันนั้นเลย ก็จะได้ส่วนลด ในราคา 3,900 บาท จากราคาเต็มประมาณ 5,900 บาท จ่ายเงินแล้วทำได้เลย         ผมก็ตกลง เขาให้เซ็นเอกสารที่จะมีระบุคล้ายๆ ว่าถ้าเกิดมีความเสียหายหรือผลข้างเคียง คือยินยอมให้คลินิกเป็นผู้รักษา ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร         วันนั้นแพทย์ที่ประจำคลินิกเป็นคนฉีดยาสลายไขมันให้ผม ฉีดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่เขาตีตารางไว้ก่อนแล้ว ผมซื้อโปรฯ แบบบุฟเฟต์ คือฉีดซ้ำๆ แบบไม่จำกัดซีซีเลย หมอหยิบเข็มมาแล้วก็จิ้มๆ ๆ เยอะมาก ไวมาก น่าจะ 2 - 3 นาทีเอง พอฉีดเสร็จ ผมเห็นรอยเข็มเต็มหน้าท้องไปหมดเลย แล้วสังเกตว่ามีรอยช้ำขนาดใหญ่อยู่จุดหนึ่ง ซึ่งหมอก็บอกว่ารอยช้ำนี้จะหายภายใน 3 - 4 สัปดาห์ แล้วก็ให้ผมกลับบ้านได้ ตั้งใจไปลดพุง แต่กลับได้แผลลึก         ช่วงแรกๆ  ทางคลินิกก็โทรศัพท์มาติดตามอาการและชวนให้ไปทำต่อ เขาบอกว่าถ้าอยากให้เห็นผลดียิ่งขึ้นต้องฉีดทุกอาทิตย์ แล้วทุกครั้งที่ฉีดก็ต้องจ่ายเท่าเดิม แต่ผมก็บอกว่าอยากรอให้รอยช้ำหายก่อน         ผ่านไปประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 1 ตุลาคม  ผมก็ติดต่อไปที่คลินิกทางไลน์ ส่งรูปให้ดูว่ารอยช้ำยังไม่หายและเหมือนจะแดงขึ้นด้วย แล้วเขาก็นัดให้ไปที่คลินิกในช่วงบ่ายวันนั้นเลย คุณหมอมาตรวจแล้วก็ให้ขึ้นนอนเตียง ใช้เข็มดูดตรงรอยช้ำที่เหมือนจะมีก้อนๆ ตรงหน้าท้อง ตอนนี้ผมไม่เห็น แต่ผมได้ยินว่าหมอน่าจะโทรศัพท์ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสักคน พอวางสาย หมอก็มาบอกขอกรีดนะ หลังจากฉีดยาชาแล้วหมอก็กรีดบริเวณหน้าท้องประมาณ 1-2 เซนติเมตร เหมือนเอาอะไรบางอย่างออกมา ทางคลินิกถ่ายวิดีโอไว้ จากนั้นหมอก็ยัดก็อซเดรนเข้าไปในรูหน้าท้อง แล้วก็ปิดแผลไว้ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอบอกว่าเป็นหนอง ผมถามว่าเป็นได้ยังไง หมอก็ไม่บอก พูดแต่ว่าคลินิกจะรับผิดชอบทุกอย่าง ไม่ต้องกลัว สบายใจได้ ตอนหลังคลินิกบอกปัดความรับผิดชอบ         ตอนแรกผมก็งงนะ เพราะวันนั้นหมอบอกว่าต้องมาล้างแผลทุกวัน แต่ผมอยู่สุโขทัยก็บอกไปว่าไม่สะดวก หมอก็บอกว่าให้ล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือมานอนโรงพยาบาลเอกชนที่พิษณุโลกก็ได้ ทางคลินิกจะออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งผมขอกลับบ้านมาปรึกษากับครอบครัวก่อน         วันที่ 2 ตุลาคม ตอนนั้นโรงพยาบาลสุโขทัยน้ำท่วม ผมก็เลยไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตถูกต้อง แล้วผมแจ้งค่าใช้จ่ายตามจริงไป 1,300 บาท คือ 800 เป็นค่ายา ฉีดยา ล้างแผล แล้วก็ค่าวินิจฉัยโดยอัลตราซาวด์ที่หน้าท้องพบว่าเกิดการอักเสบในชั้นไขมัน ส่วนอีก 500 บาทเป็นค่าน้ำมันรถ เขาก็รับผิดชอบโอนมาให้ทั้งหมด และย้ำว่าพรุ่งนี้ให้ไปล้างแผลอีก แล้วจะขอติดตามอาการด้วย         ผมเห็นเขารับผิดชอบจริง ผมก็คุยกับที่บ้านว่าน่าจะไปนอนโรงพยาบาลตามที่คลินิกแนะนำ แต่ยังไม่ทันได้แจ้งไปเลย วันรุ่งขึ้นเขาก็โทรศัพท์มาบอกว่าเขาไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการกระทำของคลินิก ให้ผมไปรักษาตัวเอง เขาจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกแล้ว ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้คิดอะไร ขอรักษาตัวให้หายก่อน ไปแจ้งความแต่กลับโดนคลินิกข่มขู่กลับ         ผมปรึกษาทางแพทยสภาก่อน ฝ่ายจริยธรรมและฝ่ายกฎหมายเขาก็แนะนำให้ผมไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ผมไปแจ้งแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจสอบ เบื้องต้นก็พบว่ามีความบกพร่องและถูกเปรียบเทียบปรับเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาเกินจริงไปแล้ว จากนี้ก็จะดำเนินคดีในส่วนของมาตรฐานการรักษาต่อไป ซึ่งในรายละเอียดของคดีตรงนี้ผมไม่แน่ใจ แต่ทางสสจ.พิษณุโลกส่งใบแจ้งผลมาให้ผมว่าได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง         ผมปรึกษาทางสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย เขาแนะนำมาว่าให้สาธารณสุขทำเป็นใบความเห็นออกมา แล้วก็แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ให้ตำรวจส่งฟ้อง แล้วอัยการเขาจะดำเนินการให้ พอผมรักษาตัวประมาณ  21 วัน แผลเริ่มแห้ง ผมก็ไปแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีทางคลินิกในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผมได้รับอันตรายสาหัส         วันที่ตำรวจนัดมาคุย คลินิกเขาก็ส่งทนายความมา ก็ปฏิเสธเหมือนเดิมว่าไม่ใช่ความผิดจากเขา แถมยังข่มขู่อีกว่าให้ผมยอมความ ถ้าไม่ยอมความ เขาก็จะดำเนินคดีกลับ เขาพูดทำนองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกับเป็นโชคร้ายของผมเอง ให้ผมยอมรับสภาพความเจ็บปวดหรือสิ่งที่สูญเสียไปนี้เอง แล้วให้จบกันไป ไม่มีเรื่องราวต่อกัน คือผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม แล้วหลังจากนั้นทางคลินิกก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย ตอนนี้ความคืบหน้าทางคดีเป็นยังไงบ้าง         ผมไปแจ้งความที่ สภอ.เมืองพิษณุโลก ที่คลินิกตั้งอยู่ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 ทางตำรวจได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและสอบพยานที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว เขาบอกว่าต้องรอผลจากแพทยสภา โดยไม่ได้บอกระยะเวลา ผมก็โทรไปปรึกษาทางแพทยสภา เขาก็บอกว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของตำรวจที่สามารถจะดำเนินคดีได้เลย เพราะแพทยสภาก็ได้รับเรื่องนี้ไว้สอบเรื่องจริยธรรมของแพทย์แล้ว         ผ่านมาหลายเดือนเรื่องยังไม่คืบ ผมก็เลยไปปรึกษาที่ตำรวจจังหวัดพิษณุโลก เขาก็แนะนำว่าถ้าเรื่องช้าก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้สอบพนักงานสอบสวนได้ แต่ผมไม่มีเจตนาแบบนั้นอยู่แล้ว แค่อยากหาทางออกว่าจะทำยังไงต่อไปดี หลังจากนั้นทางตำรวจก็ส่งเอกสารกลับมาแจ้งว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว และทางร้อยเวรก็โทร.มารับปากว่าเขาจะดำเนินการให้ แต่อีกใจก็กลัวว่าเรื่องจะไม่ไปถึงไหน เพราะเหมือนมาหยุดอยู่ที่รอแพทยสภา เรื่องไม่ไปถึงชั้นอัยการ ซึ่งจะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง ไม่อยากปล่อยผ่านผมร้องเรียนทุกหน่วยงาน         ตอนแรกผมก็ลองสอบถามพี่ที่รู้จักและเสิร์ชในกูเกิลว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้ความเป็นธรรมแล้วก็ช่วยเหลือผมได้บ้าง ผมก็ไปปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม สคบ. สำนักอัยการคุ้มครองสิทธิ  สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด แพทยสภา และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกหน่วยงานก็รับเรื่องไว้และให้คำแนะนำตลอดเลยครับ แล้วผมก็ยังหาข้อมูลทางอินเทอร์เนตเอาไว้ เพื่ออยากให้เรื่องนี้เกิดความเป็นธรรม แล้วก็เกิดการพิสูจน์หาความจริงมากที่สุด ผมไม่อยากปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป ไม่อยากให้เกิดกับคนอื่นอีก         ผมไปร้องเรียนในเพจเฟซบุ๊กของพิษณุโลก และออกข่าวช่อง PPTV 36 ด้วย จนมีคนทักมาส่วนตัวสอบถามว่าผมไปทำมาจากที่ไหน เขากลัวว่าถ้าไปทำแล้วจะเป็นแบบผม เพราะตอนนี้คลินิกก็ยังเปิดปกติ แล้วก็ยังมีโปรโมชันฉีดสลายไขมันแบบนี้อยู่ด้วย แผลนี้มีผลกระทบกับชีวิตยังไงบ้าง         ตอนนี้แผลแห้งแล้วมีรอยแผลเป็น หมอก็บอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่เหมือนเป็นปมอยู่ในใจผมตลอด เพราะช่วง 1 เดือนที่ต้องไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสุโขทัย ผมรู้สึกแย่มาก เพราะมันเป็นแผลเปิด พอขยับตัวมาก พวกน้ำเลือดน้ำหนองก็จะซึมออกมาเปื้อนผ้าที่ปิดไว้ ผมกลายเป็นคนวิตกกังวล ทำงานอะไรไม่ได้เลย ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ เพราะจะเจ็บมาก อาบน้ำก็ไม่ได้ นอนหงายก็ไม่ได้ ผมเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ซึ่งค่าความเจ็บปวดและความทรมานที่ผมได้รับนี้ตีเป็นราคาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ         ผมตั้งใจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อยากจะให้เรื่องนี้ตีแผ่เพื่อเตือนและเป็นอุทาหรณ์ให้กับทั้งคนที่จะไปฉีดและคลินิกด้วย อยากให้เป็นกรณีศึกษาแก่สถานประกอบการที่เปิดบริการแบบนี้ ว่าน่าจะมีมาตรการออกมาดูแล ติดตามผลและรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของคนที่จะไปฉีดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายมารับชะตากรรมเองแบบนี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกเลย         เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวออกไป ทางแพทยสภาก็แจ้งว่าเมื่อวันที่ 1 เมษาที่ผ่านมา ได้นำเรื่องนี้มาเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนแพทย์ที่ทำการฉีด ในเรื่องจริยธรรม เพราะเบื้องต้นเขาก็มีความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมีมูล ก็ให้แพทย์มาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าผิดจริงตามที่ยื่นฟ้องไป ก็อาจจะต้องลงโทษ แล้วก็มีมาตรการออกมาป้องกัน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก         “ความตั้งใจของผมคือ อยากให้มีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่บุคคลทั่วไปเป็นคู่กรณีต่อสู้คดีกับนายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนจะทำอะไรก็ได้ ปฏิเสธหมด เพราะเขามั่นใจว่าเราไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าผู้บริโภคอย่างเราไม่ต่อสู้จริง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็จะพิสูจน์ความเป็นธรรมยากเลย” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง

พูดถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถอยไปก่อนโซเชียลมิเดียและสมาร์ทโฟนถือกำเนิด มันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ง่ายดายและข้อมูลที่จะโยงกับมาสู่ตัวเจ้าของก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ตัดกลับมาปัจจุบัน ข้อมูลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ตัวเราเองเป็นผู้บอกให้โลกรับรู้         ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ มันถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงุนงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน         เมื่อข้อมูลที่สามารถสืบสาวกลับเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวบุคคลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม กฎหมายจึงต้องวิวัฒน์ตามเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้คือกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้สนทนากับ ผ.ศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIP, CIPM, CIPP/US, CIPP/E (GDPR), CIPP/A, EXIN/PECB Certified Data Protection Officer ว่าด้วยหลักการ แนวคิดของกฎหมาย และผู้บริโภคจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล ขอบเขตมันกว้างแค่ไหน         ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า PDPA ในมาตรา 6 บอกไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาซึ่งทำให้สามารถระบุตัวคนนั้นได้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ที่กฎหมายไทยเขียนไว้แค่นี้คือการเขียนที่สอดคล้องกับ GDPR รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศที่เอา GDPR ไปเขียนเป็นกฎหมาย เขียนแบบปลายเปิด นี่คือความยาก มันทำให้บทนิยามคำว่าข้อมูลส่วนบุคคลในทางการบังคับใช้มีต้นทุนสูง เพราะมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ ถ้าเราไปดูของฝั่งสหภาพยุโรป ตัว GDPR เขาเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่เขามียกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสถานที่ สิ่งต่างๆ ที่ระบุอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ของคุณ Username Password Cookie ID ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เชื่อมโยงมาแล้วบอกได้ว่าเป็นตัวคุณ         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดู PDPA มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว กฎหมายให้ตัวอย่างของ Identifier บางอย่างที่ใช้เชื่อมโยงหรือระบุตัวบุคคลได้ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งพวกนี้เป็น Sensitive Data ซึ่งกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความหมายคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล เราจะบอกว่าต้องดูจากบริบทการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เอาจริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลแทบทุกอย่างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้หมดขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งานว่าคุณเอามาใช้แล้วมันเชื่อมโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการ Linkable หรือ Identifiable มันเป็นเรื่องที่พูดยากในบริบทของกิจกรรมการประมวลผลที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง Cookie ID ออนไลน์แทร็คกิ้ง  Location Data ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นใคร เราไม่รู้ แต่มี Operator รู้ มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีบางหน่วยงานที่สามารถ Identify ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเลยบอกว่าข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมโยงกลับไปได้ว่าหมายถึงใคร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ผมต้องบอกด้วยว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับกับผู้ควบคุมของข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทุก ๆ ประเภท ทุก ๆ ธุรกิจ เว้นแต่บางกิจการหรือกิจกรรมที่กฎหมายอาจจะยกเว้นให้ ดังนั้น บริบทมันกว้างกว่า Operator ความหมายของผมก็คือทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ในบริบทระหว่างผู้รับบริการหรือผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ดังนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงหมายถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต  ธนาคารพานิชย์ บริษัทประกันภัย อี-คอมเมิร์ส ทุกผู้ประกอบการมีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค เขาจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐถือเป็นผู้ควบคุมด้วยหรือไม่         PDPA ไม่ได้แยกระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานเอกชน องค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อยกเว้นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ หนึ่ง คุณได้รับการยกเว้นโดยกิจการ สอง คุณได้รับยกเว้นโดยองค์กรของคุณ มีหน่วยงานรัฐบางองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนบางกิจการที่ได้อาจได้รับการยกเว้น อาทิถ้าเป็น กิจการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน คุณได้รับการยกเว้นกฎหมายฉบับนี้เฉพาะในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมตามวิชาชีพ เพราะนี่คือการรักษาสมดุลระหว่าง 2 เรื่อง ประการแรก คือหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยความจริง เป็น Freedom of Expression คือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คุณเอาข้อมูลของคนมาเปิดเผยไม่ได้หรือมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ปัญหาจะเกิดทันทีเพราะว่าคุณไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อการตัดสินใจของประชาชนได้ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กรรมาธิการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายยกเว้นให้แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนยกเว้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 องค์กรใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้าบทนิยามคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หรือ ‘ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ คุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA         คราวนี้ในกฎหมายคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หมายถึงอะไร มันหมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คำว่าเก็บรวบรวมใช้ เปิดเผย ในทางปฏิบัติเราใช้คำรวม ๆ ว่า ‘การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่องค์กรที่กฎหมายยกเว้นให้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรเอกชน  เพียงแต่เงื่อนไขการประมวลผลและฐานทางกฎหมายที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ใช้หรือผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง?         PDPA เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ คุณหรือผมในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคนที่กฎหมายให้สิทธิ PDPA เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่มีหน้าที่ของเราเลย ตัวกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ว่าด้วยหน้าที่ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้กับคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ ซึ่งก็คือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คิดง่าย ๆ ก็คือผู้ให้บริการทั้งหลาย ภาคธุรกิจที่เอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั่นแหละที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย         หน้าที่ของเขา ผมขอใช้คำหนึ่ง เรียกว่า Responsible Use การใช้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ เขาต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accountability มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่จำกัด และชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการใช้ข้อมูลนอกวัตถุประสงค์ที่เขาแจ้งเราไว้ เป็นต้น           ถามว่าในแง่ของผู้บริโภคเราในฐานะผู้ใช้บริการควรจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างในการปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความจำเป็น ตัวอย่างเช่นการตั้ง Password การปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ ไม่ให้คนมาเอาข้อมูลของเราไปโดยมิชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่เราดูแลตัวเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ไม่มีหน้าที่         การใช้ข้อมูลต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นเราใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราและสัญญาให้บริการติดต่อเรา ส่งใบแจ้งหนี้ ใช้ที่อยู่เรา โทรหาเรา SMS ถึงเรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา แต่สิ่งที่ทำไม่ได้หรือถ้าจะทำคุณต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม สมมติว่าค่ายมือถือเพิ่มธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ถามว่าเขาจะเอาลูกค้ามาจากไหน ง่ายสุดก็ลูกค้าเดิม มีชื่อ มีนามสกุล มีที่อยู่ มีเบอร์โทรทุกอย่างแล้ว การที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสัญญานี้มาใช้กับตลาดใหม่ของเขา จะทำได้ก็ต่อเมื่อขอความยินยอมจากเราใหม่แยกต่างหากจากสัญญาหลัก เพราะนี่คือการเปลี่ยนจากวัตถุประสงค์เดิม ข้อมูลใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ เพียงแต่คุณมีหน้าที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับข้อมูลส่วนบุคคล โปร่งใสคือเอาไปทำอะไรต้องบอก เป็นธรรมแจ้งให้เราทราบด้วย แล้วก็ใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เราอนุญาต เวลาผู้บริโภคสมัครใช้แอพลิเคชันของธนาคาร จะมีข้อความยาวๆ ขึ้นมาให้กดยินยอม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่กดยินยอมก็ใช้แอพฯ ไม่ได้ กฎหมายพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง         อาจมี 2 เรื่อง เวลาที่เรากดรับความยินยอม กรณี Application ต้องแยกให้ออกว่ามันคือความยินยอมในแง่การเข้าทำสัญญา คือ Terms and Conditions หรือเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ คือเรายินยอมเพื่อเข้าทำสัญญาการใช้ Application นั้น เราเคยได้ยินเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม หรือสัญญาสำเร็จรูป คือ สัญญาที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคทำได้แค่เซ็นหรือไม่เซ็น อันนั้นมาในรูปของ Terms and Conditions ของสัญญาหรือบางกรณีก็พ่วงมากับการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลด้วยซึ่งจะกลายเป็นสัญญาพ่วงแบบ Consent ซึ่งหลักการนี้ค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ถ้าเป็นฝั่ง GDPR ‘ความยินยอม’ กับ ‘สัญญา’ คุณต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ถ้าเป็นการตกลงให้ความยินยอมเพื่อเข้าทำสัญญา มันไม่ใช่เรื่องความยินยอมในการใช้ข้อมูล มันคือเรื่องสัญญา แต่ถ้าคุณจะขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลก็เป็นเรื่องความยินยอมตาม PDPA มันคนละวงเล็บกันตามกฎหมายเลย มันคือคนละฐานในการประมวลผล ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถูกองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ซื้อขายต่อ และกลายเป็นปัญหารบกวน ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตน         ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริง ๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         แต่ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน         หรือ ณ ขณะนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคธุรกิจบางส่วนเองก็รับรู้แล้ว แต่ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับทั้งฉบับ ขาดผู้กำกับดูแลที่จะบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและโกยข้อมูล แต่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับเต็มรูปแบบ ทุกองค์กรต้องตอบได้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้บริโภคมีสิทธิตั้งคำถามกับคนที่โทรมาว่าคุณเอาข้อมูลมาจากไหน อย่างไร และถ้าคุณไม่พอใจให้เขาติดต่อมาอีก ก็บอกว่าขอให้ยุติการประมวลผล หรือขอให้ลบข้อมูลของคุณเสีย นี่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 หากไอศกรีมถ้วยโปรดกลายเป็นยาพิษ คุณจะทำอย่างไร ?

        พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล เป็นพนักงานของ บ.ชิปปิ้ง แห่งหนึ่ง หลังเสร็จจากภารกิจอันหนักอึ้งของวันทำงาน เธอจึงต้องการพักผ่อนคลายเครียดด้วยการรับประทานไอศกรีมของร้านประจำเจ้าดังที่เธอคุ้นเคย ซึ่งมีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้สถานที่ทำงาน แต่จากที่ต้องการคลายเครียดกลับยิ่งเพิ่มความเครียดเมื่อเธอได้รับความเสียหายจากการดูดไอศกรีมปั่น เธอจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แค่คิดก็เจ็บคอขึ้นมาทันที         “ วันนั้นเราสั่งเมนูปั่น แม้ว่าทางร้านเขาจะใส่เป็นแก้วใสๆ มาให้ แต่เราไม่ได้ดูที่ตัวแก้วเลย ทำให้มองไม่เห็นความผิดปกติของไอศกรีม ไม่เห็นว่าไอศกรีมเป็นอย่างไร เพียงมองผ่านก็คือหน้าตาน่ารับประเทาน ที่เราสั่งเป็นมอคค่าอัลมอนด์ซึ่งจะมีถั่วปั่นอยู่ในนั้น ไม่ใช่สิ เป็นช็อกโกแลตล้วน ไม่มีใส่ช็อกโกแลตชิพ ไม่ใส่ใดๆ เราก็เห็นแต่ข้างบนเป็นวิปปิ้งครีม มองไม่เห็นข้างล่าง เราก็ดูด ก่อนที่จะดูดได้เราต้องรอให้มันละลายนิดหนึ่ง เราดูดทีหนึ่งก็หมดไปค่อนแก้วแล้ว เราก็เพิ่งมาทราบว่ามันมีอะไรติดอยู่ที่ปาก มีทั้งเศษชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก แล้วมาทราบอีกทีหนึ่งก็คือเป็นชิ้นใหญ่แล้วมันบาดข้างในคอของเรา” แสดงว่ากินสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในนั้นเข้าไปแล้ว         ใช่ มันแข็ง ก็เอ๊ะ ทำไมมีเศษๆ อะไรสักอย่าง มันบาดคอแล้วก็สากๆ ลิ้น ก็คายส่วนที่ค้างในปากออกมา ปรากฏว่าเป็นเศษพลาสติกสีดำ เรารีบถ่ายรูปไว้ก่อนเลย แล้วโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ร้าน แจ้งว่าเราเพิ่งซื้อไอศกรีมจากร้านที่สาขาโลตัสพระราม 1 มา แล้วเจอแบบนี้นะ ร้านจะรับผิดชอบอย่างไร ก็อีกสักประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้จัดการร้านไอศกรีมสาขานั้นก็โทรกลับมาบอกให้ช่วยนำไอศกรีมแก้วนั้นเข้ามาที่ร้านให้เขาดู เราก็ไป พอไปถึงที่ร้าน  เขาทำแบบนี้ เขาเอาเครื่องปั่นมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วก็รอหลักฐานที่อยู่ในถ้วยไอศกรีมของเรา เอาไปดูว่าจะใช่อย่างเดียวกันหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าใช่ หลักฐานชิ้นนั้นคือ มันเป็นวงแหวนที่ซีลใบพัด ซึ่งตรงนั้นมันหลุดออกมาในเครื่องปั่น คือมันแหว่งหายไป แล้วเศษของมันที่หลุดออกมาก็เลยถูกปั่นรวมกับไอศกรีมแล้วมาอยู่ในแก้วของเรา น่ากลัวมากแล้วเขารับผิดชอบอย่างไรบ้าง        ผู้จัดการร้านก็คืนเงินค่าไอศกรีมให้เราก่อน หนึ่ง แล้วก็ถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราก็บอกว่าเจ็บคอ เขาก็ให้เราไปหาหมอ แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีอาการอะไรมากมายแค่เจ็บคอนิดๆ จนออกจากร้านมาได้สักพักก็ปวดท้อง เราก็โทรบอกเขาว่าเราจะไปหาหมอนะ เพราะตอนนี้ปวดท้องมาก เขาบอกว่า “ไปเลยครับสุขภาพสำคัญกว่า” เราก็ไปหาหมอเย็นนั้นเลยบอกอาการให้หมอฟัง หมอก็รักษาตามอาการ ส่วนเราไม่อยากนอนโรงพยาบาลเพราะสถานการณ์โควิด หมอก็ให้กลับมาหาอีกวันรุ่งขึ้นหากอาการไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นเรายังปวดท้องอยู่ แล้วสิ่งที่เพิ่มมาคือต่อมทอนซิลอักเสบด้วย เพราะว่ามีเศษพลาสติกบาดคอ(จากส่วนแหลมที่เกิดจากการปั่น)  แต่เราไม่กล้าไปโรงพยาบาลแล้วเพราะกลัวรับเชื้อโควิดกลับมา ก็เลยให้น้องสาวไปซื้อยาจากร้านยามาให้ ส่วนตัวเองต้องลางาน ต้องขอลาพักฟื้นอยู่บ้านนาน 11 วันได้ เราจึงท้วงติงกับทางผู้จัดการร้านไอศกรีมไปว่าเราไปหาหมอมานะ มีค่ารักษาพยาบาลนะ แล้วเราก็ต้องนอนพักผ่อนเพราะไข้ขึ้น (กังวลด้วยว่าจะเป็นโควิดไหม) ผู้จัดการฯ เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอพี่าหายก่อนแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีครับ เราก็ตอบตกลงไป คือไว้เจอกันวันนัดเลย สถานการณ์วันที่พบผู้ประกอบการ         วันนัด เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเซอร์เวย์มานั่งคุยร่วมกันด้วยที่ร้านไอศกรีม เจ้าหน้าที่คนนี้มารยาทไม่ดีเลย นั่งไขว่ห้างแล้วกระดิกเท้าใส่หน้าเรา พูดประมาณว่า “คุณเป็นใคร มาจากไหน คุณทำงานอะไร กินไอติมแค่นี้จะมาเรียกร้องทำไม”  นาทีนั้นเราเข้าใจได้ทันทีเลยนะว่า การพูดแบบนี้เป็นลักษณะที่จะข่มขู่เรา เพราะเขาบอกว่า บริษัทเขาใหญ่นะ ใหญ่กว่าเรามากๆ ด้วย  เราก็บอกว่าอย่าทำมารยาทไม่ดีแบบนี้ (คิดในใจว่าถ้าเปลี่ยนคนได้ก็ขอให้เปลี่ยนเถอะ  แล้ววันนั้นทางเซอร์เวย์บอกแต่เพียงว่า ถ้าจะร้องเรียนเขา เขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง ซึ่งขอเยอะมาก         พอเราส่งเอกสารไปให้แล้วเพื่อนัดกันอีกครั้ง เขาก็เปลี่ยนคนมาตามที่เราขอ เซอร์เวย์คนใหม่นี้บอกว่า ‘เอาอย่างนี้ได้ไหม ผมให้แค่ 10,000 บาท แล้วก็จบเรื่องกันไป’ เราก็บอกไม่รู้ว่าค่ารักษาพยาบาลขั้นต่อไปจะอีกเท่าไหร่ เราไม่รู้จะมีอาการอะไรอีกหลังจากนี้ ก็เลยไม่ได้รับเงินหมื่นเอาไว้ เพราะเราไม่แน่ใจว่า แค่ไหนถึงจะครอบคลุมความเสียหายของเรา เพราะมันมีเรื่องที่เราต้องเสียรายได้ หรือการขาดโอกาสทางธุรกิจเพราะต้องหยุดพักรักษาตัว         “ตอนที่ไม่สบาย เราต้องไปเลื่อนนัดกับลูกค้าต่างชาติ เขาก็แสดงท่าทีว่ากลัวเราเป็นไวรัลโคโรนาไหม เพราะเราเจ็บคอไง  เวลาคุยไปด้วยก็ไอไปด้วย เสียงเราก็แหบ ลูกค้าคงคิดว่าเราได้รับเชื้อโควิดหรือเปล่า เขาเลยไม่กล้าเจอเรา การเจรจาธุรกิจก็เสียหาย”         เราเลยต้องมาตั้งหลักว่า เออเราพอจะรู้แล้วว่า จากเหตุการณ์นี้ อุบัติเหตุนี้ ทำให้เราขาดประโยชน์อะไรไปบ้าง จำนวนหรือมูลค่าความเสียหายประมาณเท่าไหร่ เราจึงเขียนจดหมายไปเรียกร้องกับทางบริษัทต้นสังกัดของร้านไอศกรีม ส่งอีเมลไป โน่น...รอเป็นเดือน ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา เราจึงโทรศัพท์ไปหาผู้จัดการสาขาอีก เขาก็บอกว่าเขาให้ทางบริษัทประกันและเซอร์เวย์เป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว เราก็ต้องรอคนติดต่อกลับไปเท่านั้น         คราวนี้ไม่นานทางนั้นได้ติดต่อกลับมา เราก็ถามไปว่าจะยังไงกันคุณจะรับผิดชอบแค่ไหน ค่าขาดประโยชน์คุณก็ไม่ให้ ค่ารักษาพยาบาลคุณก็ยังไม่ให้เรา เขาก็บอกว่าจะให้เพิ่มเป็น 15,000 บาท เราก็ถามว่าคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็น 15 เท่าของค่ารักษาพยาบาลที่เราไปหาหมอเมื่อวันที่ปวดท้อง แต่เขาก็แค่พูดปากเปล่าไว้เท่านั้น ยังมีความเสียหายอื่นอีกไหม         มีค่ะ ตอนนั้นเราซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่บริษัทประกันที่เราซื้อประกันภัยไ บอกสัญญาจะไม่คุ้มครองหรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ถ้าเราป่วยเพราะเศษพลาสติกนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรต่อไปบ้าง คือไม่คุ้มครองอวัยวะใดก็ตามที่เป็นทางผ่านของพลาสติกชิ้นนี้ ตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ คอหอย ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทวารหนัก เราก็คิดว่านี่ทำให้เราขาดประโยชน์ไปด้วย คือเราไม่มีโรคประจำตัวอะไรใดๆ ทั้งสิ้น สุขภาพแข็งแรงดี ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพ เขาต้องคุ้มครองเรา 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แปลว่าบริษัทประกันคงพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง        เราก็ไปปรึกษากับคุณหมอ เขาก็บอกว่าปกติร่างกายจะขับถ่ายสิ่งแปลกปลอมออกมาอยู่แล้ว แต่ถ้าบางมากๆ ก็ขับถ่ายออกมาไม่หมด แผ่นพลาสติกอย่างนี้อาจจะไปแปะตามลำไส้ ผนังกระเพาะ หรือไส้ติ่งก็ได้ แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเป็นเนื้อไม่ดี (ร่างกายจะสร้างพังผืดออกมาหุ้ม)          เราก็รีบโทรศัพท์ไปคุยกับทางร้านเรื่องที่เราเสียสิทธิตรงนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย หลังจากเจรจากันได้แล้ว เราให้เขาช่วยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ตกลงกันมาให้ว่า “ทางบริษัทไอศกรีมยินดีรับผิดทุกประการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และจะรับผิดชอบโดยพาเราไปรักษาเพื่อเอาพลาสติกนี้ออกจากร่างกายให้หมด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะสรุปว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว หรือยังพบสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย หรือมีแผลแล้วต้องรักษาอย่างไรบ้าง ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ” ซึ่งเขาก็รับปากตามนั้นว่าจะส่งหนังสือสัญญามาให้ แต่ที่เขาส่งมาให้มันมีเพียงข้อความว่า เขาให้เรา 20,000 บาท แล้วยุติการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทายาทจะมาเรียกร้องใดๆ เขาก็ไม่รับผิดชอบ เราก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คือหลังจากนั้นก็ติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ใช่ คือเขาพูดโทรศัพท์อย่างหนึ่งแล้วส่งลายลักษณ์อักษรมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็เลยไปหาว่ามีใครที่จะช่วยเราได้บ้าง เราก็เห็นเว็บไซต์มูลนิธิฯ เจ้าหน้าที่อธิบายข้อกฎหมายให้เราฟังว่า มีทำผิดมาตราอะไรบ้าง เป็นละเมิดสิทธิเรื่องอะไรบ้าง แล้วเรา ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เราก็ขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิฯ ไปเจ้าหน้าที่ก็ให้เราส่งเอกสารที่เป็นหลักฐานที่เราเคยติดต่อกับทางบริษัทไอศกรีมทั้งหมดไปให้         ทางมูลนิธิฯ หลังดูเอกสารให้แล้ว โทรแจ้งเราว่า “ใกล้จะขาดอายุความแล้ว” เพราะว่าเป็นคดีแพ่ง จึงแนะนำให้เราไปแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผื่อไว้เป็นอีกทางหนึ่ง หากเกิดว่าหมดอายุความ 1 ปีแล้ว เราก็จะยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องต่อได้ เราก็รีบโทร.ไป สคบ.ด้วย สคบ. ก็ให้เราไปลงบันทึกประจำวันแจ้งความไว้ก่อนว่าคุยกับทางร้านไอศกรีมแล้ว เขาพูดอย่างหนึ่ง แต่เขาออกลายลักษณ์อักษรมาอีกแบบหนึ่ง คือผิดจากข้อตกลงไป ทางมูลนิธิฯ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง        ทางมูลนิธิฯ ตามเรื่องให้เรา แล้วพบข้อมูลว่า ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไอศกรีมยังไม่เคยเห็นเรื่องร้องเรียนของเราเลย  เราก็งง คือเราก็ไม่รู้ว่าเขาพูดไปทำงานกันอย่างไร สุดท้ายฝ่ายกฎหมายของทางบริษัทฯนัดให้มาไกล่เกลี่ยกัน โดยใช้สถานที่ของมูลนิธิฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ นั่งร่วมเจรจาด้วย         วันนั้นเราไปคนเดียว แต่ทางนั้นไปเกือบ 20 คน ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ก็คุยให้ว่าทางบริษัทประกันมีบริษัทในเครือไหมที่จะพาเราไปให้คุณหมอตรวจ แล้วออกเอกสารมาว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว เพื่อที่จะให้เราไม่หมดสิทธิในเรื่องของประกันสุขภาพที่เราทำไว้ บริษัทประกันก็โอเค จบไปหนึ่ง แต่บริษัทไอศกรีมโดยฝ่ายเซอร์เวย์มาพูดว่าทำแบบนั้นให้ไม่ได้ แต่ไม่บอกเหตุผล เขาบอกให้เราพูดมาเลยว่า “เราต้องการเงินเท่าไหร่ แล้วก็ให้จบยุติการเรียกร้องไป”         คือจริงๆ เราควรที่จะเรียกร้องมากกว่าที่เราได้สรุปสุดท้ายนี้ด้วยซ้ำ เราเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สบาย (ลูกค้าของบริษัทไม่ยินดีจะเซ็นสัญญา) โดยรวมทั้งหมด 250,000 บาท เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาจ่ายให้ไม่ได้ เราเลยเรียกเขาอยู่ประมาณ 50,000 บาท แต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะขอลดราคาลงมาอีก เหลือที่ 40,000 บาท หลังจากวันที่ไกล่เกลี่ยและเซ็นเอกสารว่าได้ 40,000 บาทจะยุติการเรียกร้องนั้นแล้ว อีก 15 วัน เขาก็โอนเงินมาให้ตามนั้น   ยังรู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่จริงใจ         วันไกล่เกลี่ยเราถามว่า ทำไมคุณไม่เอาฝ่ายกฎหมายของบริษัทมาด้วย แล้วก็จะได้เคลียร์กันที่ตรงนั้น คือเรามีความรู้สึกว่าเขาพยายามปิดใจความ หรือว่าพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ        เขาเป็นถึงบริษัทมหาชน เขาขายสินค้า ขายบริการ เขาได้เงินจากเราไปแต่เขาไม่ได้นึกถึงชีวิตของเราเลย เวลาที่เขาพูดอะไรออกมาทุกอย่างเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หมด คือเราพูดถึงขนาดที่ว่าอาจจะเสี่ยงกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในอนาคตได้ เขาก็บอกว่าไม่มีทางเป็นหรอก         สมมุติ ถ้าเป็นเด็กๆ คือโลตัสพระราม 1 อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เป็นคนที่ฐานะระดับล่างถึงปานกลาง ถ้าเด็กไปกินไอศกรีมที่มีสิ่งแปลกปลอมแล้วปวดท้องขึ้นมา เขาจะมีเงินไปหาหมอไหม แล้วเขาจะมาเรียกร้องกับทางร้านได้ไหม เราคิดนะ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไรแบบนี้ เขาคงไม่เรียกร้อง ไม่ต่อสู้อะไรขึ้นมา ก็คงจะแบบคืนค่าไอศกรีมให้เสร็จแล้วก็จบๆ กันไป บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์มากกว่านี้         เราก็บอกให้เขาช่วยตรวจตราอายุการใช้งานของอุปกรณ์ด้วย อย่างเครื่องปั่นอันนี้อายุปั่นได้กี่ครั้ง ถ้าครบแล้วควรที่จะหยุดแล้วนำไปเปลี่ยนอะไหล่ แล้วค่อยนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างนี้ถึงจะให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภค ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดเหตุการณ์อะไหล่ของเครื่องหลุดออกมาผสมกับผลิตภัณฑ์แล้ว ถึงจะมาแก้ไข แต่พูดแล้ว เขาก็แค่ฟังเฉยๆ         เรายังบอกเขานะว่า เงินที่เป็นผลกำไรที่เข้าบริษัทของเขาก็มาจากผู้บริโภคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการขายสิ่งที่เป็นอาหารมีทั้งเป็นข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีก็คือถ้าทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ดีก็ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายผู้บริโภคแข็งแรงด้วยนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าทำไม่ดีมันก็คือยาพิษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ตลาดถนอมมิตร กับแนวคิดอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

        เทรนด์กินรักษ์โลกยังมาแรง แต่ผู้บริโภคบางคนอาจหมดแรงซะก่อน เพราะหากเดินตามตลาดสดทั่วๆ ไป การหาซื้อผักและผลไม้สดปลอดสารเคมี เนื้อหมูไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารทะเลสดๆ ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน ที่มีมาตรฐานการผลิตปลอดภัยจริงๆ ในราคาสมเหตุสมผลนั้น คงจะเหนื่อยหน่อย             ฉลาดซื้อรู้จักรู้ใจผู้บริโภคดี ฉบับนี้จึงพามาที่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดสดยุคใหม่ย่านวัชรพล ในกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารออร์แกนิกคุณภาพดี มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จ่ายได้ โดยเป็นผลงานการบริหารของคุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการตลาดถนอมมิตร เจ้าของตลาดที่ตั้งใจบริการให้ลูกค้าเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้สะดวก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยการทำร้านค้าออร์แกนิกในตลาดถนอมมิตรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร         จริงๆ ทางเราก็ตั้งใจมานานมากแล้วที่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาให้บริการกับลูกค้า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เราเป็นเจ้าของสถานที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่นำมาขาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราพยายามที่จะส่งเสริมผู้ค้าที่ขายสินค้าอยู่ในตลาด โดยชี้ช่องให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแล้วนะ ทัศนคติ มุมมองของลูกค้าที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ ลูกค้าอาจจะยอมจ่ายแพงกว่าสินค้าเดิมทั่วไปนิดหน่อยได้นะ เราก็ค่อยๆ รวมกลุ่มผู้ค้า แล้วก็พยายามเสาะหาผู้ค้าใหม่ที่มีสินค้าตรงตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้ให้เข้ามาด้วย มีวิธีคัดเลือกและควบคุมคุณภาพร้านค้าในตลาดอย่างไร         ทางตลาดของเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ค้าที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาด เรามีการพูดคุยสัมภาษณ์กันก่อนว่าขายสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ มาขายเองไหม หรือจ้างลูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่มาขายนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องของการให้บริการที่เราค่อนข้างที่จะกำชับกับผู้ค้าว่า ไม่ใช่เอาลูกจ้างต่างด้าวมาปล่อยแล้วก็มาเก็บเงินอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราก็จะไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก         เรายังเน้นเรื่องความสะอาดมากๆ ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่หลายคนเดินตรวจตลาดอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางตลาดก็เข้มงวดเรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดแผงค้า และสินค้าปรุงสำเร็จต้องมีภาชนะคลุม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ทำไมถึงมีแนวคิดว่าควรมีร้านออร์แกนิคในตลาดสด         เราเองก็มองเห็นปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาตลอด เราโตมากับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องของยาฆ่าแมลง เรื่องการจับปลาฤดูวางไข่ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้แหละ แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกไง แล้วจะให้ทำยังไง โดยเฉพาะตลาดขายปลีกนี่ยิ่งไม่มีทางเลือกเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าผู้ค้าเราก็จะไปรับมาจากตลาดขายส่ง ซึ่งก็จะว่ากันด้วยเรื่องของราคากับคุณภาพสินค้า แม้ภาครัฐจะพยายามรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง อะไรต่อมิอะไร แล้วก็มาจับที่ตลาดค้าปลีก เพราะง่ายดี ก็มาตรวจที่ตลาดค้าปลีก เราก็บอกว่าทำไมไม่ไปจับที่ต้นทาง ก็เป็นปัญหาวังวนอยู่อย่างนี้         แล้วก็มีเทรนด์เรื่องการตื่นตัวของกลุ่มเกษตรกรด้วย ที่ต้องการปลูกสินค้าคุณภาพไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็มาขาย โดยจะรวมกลุ่มกันมาขายเป็นหมู่คณะ แต่ที่ชัดเจนคือ คนปลูกกับคนขายไม่เจอกัน จะมีช่องว่างตรงนี้ คือคนปลูกก็ไม่รู้จะไปขายใคร คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน เราก็เห็นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดสดที่จะเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ก็คือเป็นที่ที่ผู้ปลูกมาขายให้กับแม่ค้าภายในตลาด แล้วแม่ค้าก็ขายให้กับลูกค้าที่เขาต้องการสินค้าลักษณะนี้         แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะว่ากว่าจะปรับ กว่าจะแนะนำให้รู้จักกัน กว่าจะเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ กว่าเกษตรกรจะมาเจอกับผู้ขายในตลาดได้ เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีไหม         ดีครับ เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะลูกค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภคสินค้าลักษณะนี้ เขามีความต้องการที่ชัดเจน เขาต้องศึกษามาแล้วว่าสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาที่ทางตลาดเจอคือ คนมักจะเข้าใจผิดว่า สินค้าออร์แกนิกต้องแพง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ได้ผ่านมาหลายต่อ ผักออร์แกนิกไม่ได้แพงกว่าผักเคลือบสารเคมีเท่าไหร่เลย หากซื้อมาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ส่วนต่างตรงนี้ไม่กี่เปอร์เซนต์หรอก ในฐานะเจ้าของตลาดมองเรื่องอาหารปลอดภัยในบ้านเราอย่างไร         เรื่องอาหารปลอดภัยนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันอย่างมาก เพราะว่าซัพพลายที่เข้ามาอยู่ในตลาดนั้นเป็นสัดส่วนที่แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตผักที่เรารู้กันอยู่ กับผักคุณภาพที่มีเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรที่เขาปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัย เขาก็ต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้าไม่ถึงแหล่งผู้ซื้อได้โดยตรง ยิ่งเป็นของสดนี่จะรอให้ค่อยๆ หาคนมาซื้อก็ไม่ได้ แล้วบางครั้งยังออกมาพร้อมๆ กันอีก เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่         ในฐานะเจ้าของตลาด เราก็อยากให้มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกรกลุ่มนั้น แล้วการที่เขาจะนำสินค้ามา หรือผู้ค้าในตลาดเราจะเข้าไปซื้อของเขา การเชื่อมต่อจุดต่างๆ นี่ก็ยังขาดๆ หายๆ อยู่ ในขณะเดียวกันก็มีของที่ราคาถูก รูปลักษณ์สวย มีให้กินทุกฤดูกาล ในราคาที่ไม่แพง ก็ซ้ำเข้ามาอีก ฉะนั้นการที่จะทำให้อาหารทางเลือกที่ปลอดภัยสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง เราต้องช่วยกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย วางแผนจัดการร้านค้าออร์แกนิกในตลาดต่อไปอย่างไร         ตอนนี้ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดเราก็อยู่ได้มั่นคง ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ เราจะขยายกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าออร์แกนิกภายในตลาดให้มากขึ้น เราวางแผนไว้แล้ว อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้ประชุมร่วมกับทางมูลนิธิชีววิถี พี่เขาก็พากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกออร์แกนิกมาสองกลุ่มใหญ่ เราก็เชิญผู้ค้าที่ขายผักโครงการหลวง ขายผักออร์แกนิกมา เพื่อให้พวกเขาได้คุยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงของการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ขนาดว่าแม่ค้าอยากซื้อ คนปลูกอยากขาย ก็ยังต้องคุยกันว่ามีอะไร ราคาเท่าไหร่ เล็งกันไปเล็งกันมา ช่วงนี้ยิ่งเจอปัญหาโควิด-19 ทางตลาดก็วุ่นเรื่องฉีดวัคซีน ตรวจ ATK กันอยู่ งานนี้เลยดีเลย์ไป 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าเราจะผลักดันยังไงต่อไป           ที่ผ่านมา ตลาดของเราก็ทำปุ๋ยเองจากพวกเศษอาหาร เศษซากสัตว์ พุงปลา หัวกุ้ง หรือเปลือกผลไม้ เราดึงพวกนี้ออกมาจากระบบที่จะต้องขนไปทิ้งเป็นขยะ วันหนึ่งก็ได้ประมาณตันกว่า เราเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ของเรา แล้วก็แจกลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะเอาปุ๋ยนี้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำสินค้ามาให้กับผู้ค้าเรา แต่ผู้ค้าเราก็ยังไปรับมาจากแหล่งขายส่งอยู่ ซึ่งพอวันที่เราได้เจอกับกลุ่มเกษตรกรตัวจริง เราก็บอกว่า “พี่ เรามีปุ๋ยนะ วันที่พี่เอาผักมาส่งที่นี่ พี่ขนปุ๋ยเราไปได้เลย” นี่คือไอเดียที่เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เริ่มใช้จริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรถูกลงด้วย อยากให้ฝากถึงตลาดอื่นๆ ที่สนใจเปิดร้านออร์แกนิกในตลาดสด         จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาด การเปิดร้านขายสินค้าออร์แกนิกนี้ เราก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้มีสินค้าทางเลือก มาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาด ยิ่งมีสินค้าประเภทนี้มากก็จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สิ่งที่เจ้าของตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจริงๆ ถึงจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ค้าเองต้องมีความน่าเชื่อถือ ตลาดเองก็ต้องคอยตรวจสอบการซื้อขาย และต้องเข้าไปดูอยู่เรื่อยๆ ว่าผู้ค้าเอาสินค้ามาจากไหนด้วย        ถ้าหากเกิดเป็นลักษณะของการย้อมแมวขายแล้ว ลูกค้าเขาไม่ได้ด่าแม่ค้านะ เขาด่าตลาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ติดโควิด ชีวิตเปลี่ยน บทเรียนการเยียวยาจิตใจหลังติดโควิด-19

        เกือบ 2 ปีแล้วที่คนทั่วโลกต้องผวากับโรคโควิด-19 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งชื่อว่า โอไมครอน ซึ่งระบาดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าเชื้อโควิดคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนานและทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดได้         เช่นเดียวกับคุณเกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสื่อ และรองผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แม้เธอจะคลุกคลีกับข้อมูลด้านสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด รวมทั้งทำอาหารกินเอง เน้นสั่งซื้อของทางออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เธอนำมาบอกเล่านี้จึงคล้ายกระจกสะท้อนให้ทุกคนเตรียมรับมือไว้ให้พร้อมเสมอ      เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ไว้ก่อนที่จะติดแล้ว         ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนกับแฟนก็ระวังตัวตลอด เนเป็นโรคหอบกับภูมิแพ้ แฟนมีความดันและโรคอ้วน แล้วเรายังต้องเดินทางไปทำงานเราก็กลัว เนตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอยู่แล้ว ก่อนจะระบาดหนักๆ เนซื้ออุปกรณ์และยาที่ต้องใช้เก็บไว้อย่างละ 2 ชุด ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน ฟ้าทะลาย ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ แผ่นเจลลดไข้ พร้อมใช้ยามฉุกเฉินทันที         พอวันที่ 8 สิงหาคม แฟนตรวจที่บริษัทแล้วพบว่าติด ยังไม่มีอาการอะไร เนแจ้งกับทางคอนโด และขอเช่าห้องเปล่าให้แฟนนอนแยกต่างหาก เขาปวดหัวมากและเริ่มมีไข้วันที่ 9 ช่วงกลางคืน ก็ให้กินยา ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด ก็ไปลงทะเบียนในไลน์ของ สปสช. ไว้ พอเขาแจ้งว่าจะมีโรงพยาบาลติดต่อกลับมาวันที่ 10 ซึ่งเราฟังมาจากหมอว่าอาการคนไข้จะหนักขึ้นในวันที่ 3 นับจากเริ่มมีอาการ พอถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ไหวแล้ว เนจึงให้แม่ประสานกับโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี ฉุกละหุกมาก แต่โชคดีได้ติดรถมูลนิธิกุศลศรัทธาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกลับไปด้วยกัน         แฟนได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนถูกแยกไปอยู่ LQ ตอนนั้นผลตรวจยังเป็นลบ แต่พอวันที่ 11 ปวดหัวมาก กินยาก็ไม่หาย พอกลางคืนข้ามจะวันที่ 14 สรุปผลตรวจออกมาเป็นบวก จึงต้องเข้าโรงพยาบาล หมอให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนไอจนอ้วก ปวดหัวมาก และท้องร่วงหนักจนหมอต้องให้น้ำเกลือกับออกซิเจน หลังจากรักษาอยู่ 2-3 สัปดาห์ เราทั้งคู่ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่กักตัวต่อ 7 วัน ต้องทำหนังสือขอจังหวัดเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราก็ตัดสินใจนั่งรถไฟกลับมาวันที่ 31 สิงหาคมรักษาโรคโควิด-19 หาย แต่กลายเป็นโรคแพนิก         ตอนที่อยู่โรงพยาบาล เนอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ ไม่เจอโลกข้างนอกเลยตลอด 15 วัน เครียด จิตตก พอออกมากลายเป็นกลัวคนไปเลย แม้แต่ตอนนั่งรถไฟกลับมา เนก็กลัว ไม่กล้ากินข้าว ไม่กล้าไปห้องน้ำ ไม่กล้านั่งเก้าอี้ เพราะไม่รู้ว่าคนในรถไฟติดหรือเปล่า ต้องเอาแอลกอฮอล์ฉีด เอาผ้าเช็ดทุกอย่าง รู้สึกว่าให้มันปลอดภัย จนพอกลับมาบ้านอาการนี้ก็ยังเป็นอยู่         ตั้งแต่กลับมาบ้าน เนนอนข้างนอกที่โซฟาคนเดียวเพราะกลัวว่าจะติดซ้ำ แล้วก็ยังไปเข้มงวดกับแฟนด้วยว่าอย่าทำแบบนั้นอย่าทำแบบนี้เดี๋ยวติดอีกหรอก ตอนนั้นหนึ่งคือเราฟังเยอะไปว่าถ้าติดซ้ำจะหนักกว่าเดิม สองคือกังวลว่าเขากลับไปทำงานแล้วจะไปเอาเชื้อมาติดเราอีก พอเนพูดทุกวันๆ เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ไม่หยุด เขาเริ่มรำคาญว่าทำไมต้องพูดย้ำนักหนา แล้วเราก็ทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเขาติดมาจากที่ทำงาน ไม่มีใครอยากติดหรอก เขาเองก็เซฟตัวเองสุดๆ แล้ว แต่เหมือนเรากลัว หวาดระแวงไปหมด         จริงๆ เนเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเห็นเนเริ่มเงียบๆ แปลกๆ ก็เลยให้ทำแบบประเมิน แล้วเหมือนเราเข้าข่ายต้องปรึกษาหมอ หลังจากที่กลับมาแล้วหมอก็ถามว่าได้คุยกับแฟนหรือยัง ก็บอกว่ายัง คือกลัวติด กลัวไม่หาย โน่น นี่ นั่น หมอบอกว่านี่คืออาการ Panic เป็นผลจากภาวะ Long COVID คือภาวะที่เป็นการกระทบทางจิตใจจากการติดโควิดจากคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดการสูญเสีย แต่ทำให้เป็นปัญหาครอบครัวระยะยาว คือถ้าไม่รักษา หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย บอกเลยว่าไม่หาย แล้วยิ่งจะสะกิดความรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างพอใครเริ่มไอก็กลายเป็นหวาดระแวงกันเอง หมอแนะนำว่าควรปรึกษานักจิตวิทยา ขอคำปรึกษาเยียวยาจิตใจเพื่อคนในครอบครัว         เนไปเจอแอปพลิเคชั่นที่ให้ปรึกษาด้านจิตวิทยาของสมาคมนักจิตวิทยาแห่งหนึ่ง จองคิวปรึกษาไว้สัปดาห์ละครั้ง ใช้วิดีโอคอลคุยกัน ครั้งแรกเขาก็ถามว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เนก็เล่าไป หมอบอกว่านั่นคือรีเฟล็ก ที่เราแสดงออกมาว่าเราไม่เข้าใกล้เขา คือนั่งก็นั่งห่างกัน ไม่จับ ไม่แตะ ไม่ต้อง แล้วก็จะฉีดแอลกอฮอล์ทุกอย่างในบ้าน วันแรกหมอแนะให้ลองจับมือกัน สวมแมสก์แล้วเข้าไปกอดกันสักครั้ง เนลองทำแล้ว แต่ก็ไม่หาย มันกลัว พอครั้งที่สองหมอก็แนะนำว่าลองกลับไปนั่งคุยกันดีๆ หาวิธีการว่ทำอย่างไรก็ได้ต้องมาจูนกันใหม่ ซึ่งพอเราคุยกันไปสักพัก สมองเนจะคิดเชิงตำหนิว่าเขาทำแบบนี้ๆ อีกแล้ว         ครั้งที่สาม หมอก็ประเมินว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักอย่างหนึ่งที่ตัวเนไม่ใช่ตัวแฟน หมอก็มีให้เลือกสองทาง หนึ่งคือแยกกันอยู่จนกว่าจะดีขึ้นและคิดถึงกัน สองคือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราจะคิดแต่เรื่องเดิมๆ เนเลยว่าจะลองจัดบ้านใหม่ หมอบอกว่าให้ชวนแฟนมาช่วยเราเลือกด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนตรงไหนยังไง         พอเข้าสู่กระบวนการนี้ กลายเป็นเราได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น ได้คิดด้วยกันว่าเราเปลี่ยนมุมห้องแบบนี้ดีไหม ทำให้ลืมเรื่องโควิดไปเลย เราช่วยกันจัดของ ช่วยกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งมาใหม่ ทำให้เริ่มไม่มีระยะห่าง แต่เนจะติดอยู่อย่างเดียวคือทุกครั้งที่เขาไปทำงาน สมองจะเริ่มคิดอีกแล้วว่าเขาต้องไปเจอคนเยอะ แล้วเขาต้องติดกลับมาแน่เลย         อันนี้คุณหมอบอกให้ปล่อยวาง โดยก่อนหน้านั้นเนไม่ได้เข้าไปนอนในห้อง จนจัดห้องใหม่เสร็จ หมอก็บอกลองเข้าไปนอนในห้องสิ แล้วก็ทำกิจวัตรเหมือนที่เราเคยทำคือตรวจ ATK ดูอาการ สังเกตอาการ แล้วแนะนำว่าเวลานอนให้เอามือสัมผัสให้เรารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขา จะช่วยลดความหวาดระแวงนี้ได้พอสัปดาห์ที่ห้ามาประเมินก็ดีขึ้น แต่ยังรู้สึกติดอยู่นิดๆ ก็คิดว่ายังโชคดีที่เราไม่ถึงขั้นสูญเสีย กระบวนการเหล่านี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้เรา แล้วยังกลับไปชาร์จความรู้สึกให้พ่อกับแม่ของเนด้วย         เนรู้สึกผิดที่เห็นพ่อแม่ต้องลำบากและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา จึงพยายามเอาวิธีการที่หมอแนะนำนี้ไปใช้ปลอบประโลมพ่อกับแม่ด้วย หมอบอกให้โทรไลน์ โทรคุยวิดีโอคอลกับพ่อแม่ให้เห็นหน้ากันทุกวันว่าเราปกติสมบูรณ์ดีและจิตใจเขาจะดีขึ้น วิธีการคือให้เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้เรารู้สึกดีอย่างไร คือต้องบอกเขาก่อนที่เขาจะถาม เพราะถ้าเขาถามแปลว่านั่นคือเขากังวล พอเราบอกเขาก่อนเขาก็รู้สึกคลายกังวล และให้ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่สบายใจ ซึ่งพอทำตามวิธีนี้แล้วแม่กับพ่อก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อกลับมาทำงานก็ต้องปรับตัวต่อสังคม         หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เนกลับมาทำงานในสัปดาห์ที่สอง ประเด็นก็คือเราทำงานสายสุขภาพด้วยเราคิดเยอะ เราก็เลยนอยด์ กลัว ไม่ใช่คิดว่าเขากลัวเรา แต่เรากลัวเขา แล้วก็เพิ่งกล้านั่งรถไฟฟ้าได้ไม่นานนี้เอง        ข่าวก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก ในด้านลบทำให้เราหวาดระแวงว่าคนโน้นติดคนนี้ติด ไปตรงนั้นติดตรงนี้ติด เราก็เลยไม่มั่นใจว่าถ้ากลับไปใช้ชีวิตปกติ เราจะติดอีกไหม พอมีคนพูดว่าภายในหนึ่งเดือนติดซ้ำได้นะ ติดซ้ำแล้วอาการหนักขึ้น เราก็ยิ่งกลัว ส่วนในด้านบวกก็ทำให้เรามีข้อมูลข่าวสารว่าถ้าเราติดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร จะเข้ากระบวนการอย่างไร อันนี้จะช่วยได้เยอะ อยากให้แนะนำว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วควรทำยังไง        ให้คุณทำใจไว้ได้เลยว่าโควิดไม่ได้หายไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ เราต้องพร้อมเสมอ หนึ่งคือต้องมียาเอาไว้จะปลอดภัยสุด เพราะถ้าเริ่มมีอาการคุณกินก่อนได้เลย สองคือถ้าคุณมีอาการไข้ มีปรอท มีเครื่องวัดออกซิเจน คุณจะรู้ตัวเองว่าอาการหนักหรือไม่หนัก ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้ควรมีติดบ้าน สามคือถ้าติดแล้วต้องมีสติให้มากๆ เพราะว่าบางคนพอติดแล้วแพนิกเตลิดไปเลย เนบอกเลยว่าตัวเองก็ตกใจมาก แต่ก็ดึงสติไว้ได้ ไม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงติด ติดที่ไหนไม่ต้องหา ให้คิดไปข้างหน้าว่าติดแล้วเราจะไปที่ไหน         ถ้าเริ่มมีอาการไม่ดี ตรวจเลยอย่ารอ ควรจะมีชุดตรวจแบบ ATK ติดบ้านไว้ ถ้าติด ให้รีบเตรียมตัวเองเพื่อไปเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่มีเชื้อลงปอด คุณรอดตาย แต่ถ้าคุณมีเชื้อลงปอดเมื่อไหร่คุณนับระยะเวลาไปได้เลย 1 ปี กว่าคุณจะหาย อีกอย่างที่สำคัญคือหมอบอกว่าเนฟื้นตัวเร็วคือหนึ่งเนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สองคือเนได้รับวัคซีนแอสตร้าซิเนก้ามาแล้วเข็มหนึ่ง เท่ากับว่าเรามีภูมิอยู่แล้วในระดับหนึ่งที่จะต่อต้านการลงปอดและต่อต้านอาการหนักได้         ช่วงมีอาการวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 มันยากมากที่จะประคองตัวเอง แต่ขอให้ต่อสู้กับตัวเองให้ได้ คือโควิคมันมีไทม์ไลน์ จะหนักแค่ช่วงมีอาการวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 แล้ววันที่ 6,7 จะดีขึ้น ถ้าคุณพ้นจากวันที่ 7 ไปได้ คุณคือคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นทั้งใจทั้งกาย อยากบอกคนที่เป็นโควิดว่าต้องมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่าคิดว่าจะตนเป็นที่รังเกียจ ถ้าเป็นโควิดแล้วอยู่คนเดียว ไม่บอกใคร จะยิ่งแย่ถ้าใจเราอ่อนแอ เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งมากๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการป่วยโควิดครั้งนี้         หลังจากวันที่ 7 จะเป็นช่วงฟื้นตัว ทำให้เนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเอง ได้อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็เรียนวาดรูปออนไลน์จบไปคอร์สหนึ่งด้วย แต่บางทีก็เหงา ดีที่เพื่อนๆ โทรมาชวนคุยบ่อยๆ ตอนนี้เราก็ใช้วิธีนี้กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่ติดโควิดอยู่นราธิวาส ยะลา คือโทร.ถามทุกวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เพราะเรารู้ว่าการต้องอยู่คนเดียวแบบนั้นมันทรมาน         โควิดมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าบางคนใจสู้ ก็ไหว แต่ถ้าบางคนไม่สู้ ก็คือยอมแพ้ไปเลย แล้วบางคนก็คิดว่าคือไม่ไหวแล้วไม่มีทางรักษาแล้ว อันนั้นเป็นเพราะว่าคุณกลัว ยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก ถ้าเราเตรียมตัวดีเราจะรับมือกับมันได้ ตอนนั้นก็พยายามจะโพสต์เล่าว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเขามีอาการแบบนี้เขาต้องสังเกตอาการอย่างไร         อยากจะฝากบอกทุกคนว่าอย่ารังเกียจคนเป็นโควิด คนเป็นโควิดคือคนที่ต้องการกำลังใจมากที่สุด เพราะเขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว          โควิดไม่ได้เป็นแค่โรค แต่เป็นเหมือนแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยไว้ ให้เรายังรู้สึกติดอยู่ในใจตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 คุณหมอเตือนภัย กล่องสวยซ่อนคม ชวนสังคมเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย

...เช้าวันหนึ่งในห้องทำงาน คุณหมอแคนหยิบกล่องเหล็กลายน่ารักออกมาจากกระเช้าของขวัญ นึกชมว่ากล่องหนาดี ลายน่ารักน่าเก็บ ก่อนจะตัดสินใจเปิดออกดูว่าข้างในมีอะไร โดยไม่คาดคิดว่าจะโดนฝากล่องด้านในที่คมราวมีดคัตเตอร์นั้นบาดจนนิ้วโป้งขวาต้องพิการชั่วคราว...         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปพบกับหมอแคนหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเรื่องชวนหวาดเสียวนี้ ในฐานะผู้เสียหายที่พร้อมเปิดใจเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัยมากขึ้นด้วย   ตอนโดนบาดยังงงว่าบาดได้ยังไง         เช้าวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมอหยิบกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มซองที่เป็นสี่เหลี่ยมลายการ์ตูนน่ารักๆ มาเปิด เห็นฝาหนาๆ เหมือนจะปลอดภัย แต่ฝาที่ทำหนาๆ นี่คือเป็นสองชั้นที่งับกันอยู่ แล้วคงจะประกอบมาไม่ดี ฝาที่ดูหนาๆ นี้ไปติดกับตัวกล่องเอง จึงเปิดไม่ออก พอพยายามจะเปิด ฝามันเลยแยกออกจากกัน ฝาท่อนล่างก็สะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผล ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ว่าบาดได้ยังไง แล้วก็เพิ่งมาเห็นว่าฝาชั้นล่างนี้คมบางเหมือนมีดเลย        ตอนแรกก็คิดว่าโดนบาดธรรมดา แผลประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไปล้างน้ำแล้วกดไว้ พอดีอยู่โรงพยาบาลก็เลยลงไปห้องพยาบาลทำแผล แล้วรีบไปตรวจคนไข้ครึ่งวันเช้าก่อน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแผลดูว่าหายหรือยัง ปรากฏว่าเลือดก็ยังออกอยู่ เอ๊ะ ชักยังไง คราวนี้ไปห้องฉุกเฉินเลย คุณหมอมาตรวจ เลือดยังออกอยู่ แล้วพอกระดกปลายนิ้วไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าเอ็นขาด ขาดเกือบ 90% เหลือติ่งอยู่นิดเดียว คุณหมอศัลกรรมพลาสติกก็มาเย็บเอ็นให้ หลังจากเย็บแล้วต้องให้เอ็นกระดกขึ้น ไม่ให้ขยับจนกว่าเอ็นจะติด จึงต้องใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่ 2 เดือน        จริงๆ อยากแนะนำว่าต่อไปถ้าใครโดนบาดในลักษณะแบบนี้ ให้สังเกตว่าหากเลือดไม่หยุด หรือกระดกนิ้วไม่ได้ ควรหาหมอเพื่อประเมินว่าแผลนั้นลึกขนาดไหน อย่าชะล่าใจ เพราะเห็นแค่แผลเล็กๆ แล้วปิดไว้เฉยๆ อาจช้าเกินไป ถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด เอ็นจะหดแล้วเย็บไม่ได้         หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูกับทางกายภาพบำบัด เขาก็มีวิธีรักษาหลายอย่าง มีอัลตราซาวด์เพื่อให้แผลไม่ตึงมากไป ทำเลเซอร์ที่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อไม่ให้พังผืดมาเกาะจนนิ้วขยับไม่ได้ ต้องมีแช่น้ำร้อน มีดัด ขยับข้อ หมอให้ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ  2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละราว 2 ชั่วโมง เจ็บนิ้วเดียว สะเทือนถึงงานและชีวิตหลายอย่าง         แคนเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวค่ะ ตรวจคนไข้ทั่วไป แล้วช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดพอดี ใครๆ ก็แบบว่ามะรุมมะตุ้ม แต่มือขวาเราใส่เฝือกอยู่ เขียนหนังสือไม่ได้เลย ไปโรงพยาบาลบ้างแต่ว่าตรวจคนไข้ไม่ได้ ทำให้ช่วยทีมงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ ทำได้แต่งานเอกสารหรืองานอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์แทน ช่วงนั้นแคนใช้เป็นวันลาป่วย แล้วต้องยกให้อาจารย์คนอื่นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคแทนด้วย เพราะลงลายเซ็นไม่ได้ เซ็นสั่งการอะไรไม่ได้เลย         การใช้ชีวิตประจำวันยากมาก เวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก หัวไหล่ทั้งสอง ข้างก็เจ็บอยู่ก่อนแล้วด้วย ยิ่งจำเป็นต้องใช้หัวไหล่ซ้ายมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บเพิ่มอีก ทีนี้พอใส่เฝือกแล้วข้อมือมันต้องแอ่นๆ เพื่อให้เอ็นที่เย็บไว้ไม่ตึง เฝือกก็จะอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ก็ทำให้มือเราเจ็บเป็นทีๆ นอนไม่ค่อยได้ขับรถก็ไม่ได้ เวลาไปไหนมาไหนต้องรบกวนคนอื่นเขา อย่างถ้าเจ้าหน้าที่เขาจะไปโรงพยาบาลแล้วทางเดียวกัน ก็ให้เขาช่วยมารับเราไปด้วยกัน         แม้ตอนนี้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว แต่นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ หยิบของชิ้นใหญ่ๆ พอได้ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง อยากเตือนภัยเรื่องนี้ เรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร         วันหนึ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาทำกายภาพให้ เขาก็บอกว่าเคยโดนกล่องแบบนี้บาดเหมือนกัน แต่เขาโดนอีกด้านหนึ่งของนิ้วโป้ง เป็นแค่แผลเฉยๆ ไม่โดนเอ็น อ้าวแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้วก็เลยฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่แค่เราโดนคนเดียวนะ คนอื่นก็โดนมาแล้วด้วย น่าจะต้องเตือนกันแล้วล่ะ โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือเด็กๆ เพราะกล่องดีไซน์น่ารัก เด็กๆ น่าจะไปหยิบจับได้บ่อย แล้วขนาดมือเรายังเจ็บขนาดนี้ ถ้ามือเด็กนี่ขาดแน่นอน จึงรู้สึกว่ากล่องแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา         ทีแรกนั้นแคนจะทิ้งกล่องใบนี้ไปแล้วนะ แต่นึกได้ว่าน่าจะต้องเก็บเอาไว้เตือน ใครมาถามก็เอาให้ดูว่ากล่องหน้าตาแบบนี้ระวังด้วยนะ เพราะหลังจากโดนบาด ทุกคนในภาควิชาก็ตกใจว่าโดนบาดได้ไงเนี่ย แต่พอมาดูกล่อง ทุกคนก็บอกว่ามันคมยังกับมีดโกน การประกอบแบบนี้ไม่ค่อยดีเลย น่าจะต้องแก้ไข        แคนคิดว่าถ้าเราเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะมีช่องทางแจ้งกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เขาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดผลิตมาในจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก           ในเคสนี้ แคนเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว แล้วก็ใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายให้ด้วยไหม เพราะแคนก็ถามกับตัวแทนประกันที่ทำไว้ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไม่ได้แอดมิด ก็เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าประกันจะจ่าย ก็อาจไม่จ่าย ซึ่งแคนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินนะ แต่หมายความว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรอื่น แล้วเขาไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือนอย่างนี้ มันก็จะยาก ของแคนไม่เป็นไรก็อยู่บ้านไป รู้ว่าตัวเองใช้สิทธิผู้บริโภคได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง         แคนคิดว่าน่าจะมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย บางคนเจ็บน้อยก็ปล่อยผ่านไป แม้บางคนเจ็บมากก็ยังเงียบ ไม่ใช่ว่าเขากลัวอะไรหรอก แต่เพราะว่าไม่อยากยุ่งยากมากกว่า แคนเองก็ต้องการเรียกร้องตามสิทธิ์ แต่ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าขนาดเรายังไม่รู้ แล้วคนอื่นเขาจะรู้ไหม ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะรู้สึกว่า ช่างมันเถอะ เย็บแล้วก็เย็บไป เบิกค่ารักษาก็เบิกได้ แต่ว่ามันไม่ถูกไหม ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระของเราอยู่คนเดียว                  จริงๆ แล้วควรมีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ของตนมากขึ้นว่า ถ้าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ปลอดภัย เขาควรจะต้องทำยังไง หนึ่ง-เก็บวัตถุที่เป็นอันตรายไว้ก่อน สอง-ใบรับรองแพทย์ หรือว่าอะไรที่จะมารับรองเหตุการณ์ว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้น การรักษาต่อเนื่องต้องยาวนานแค่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งแคนก็เก็บไว้หมดนะ ทีนี้พอเก็บแล้วจะให้ร้องเรียนไปที่ไหนยังไงล่ะ         ตอนนี้แคนก็กำลังปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการน่าจะเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น        หากลองไปเทียบกับกล่องเหล็กอื่นๆ คือความจริงถ้าเป็นฝาชั้นเดียว เปิดแล้วก็จบกันไป แต่ว่าอันนี้ตอนแรกยังชมเลยว่าอุตส่าห์ทำฝาหนาน่าจะดี ดูปลอดภัย แล้วก็น่าเก็บด้วย         ถ้าจะถามว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของเราหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่แน่นอน        เพราะดูจากภายนอกกล่องไม่เห็นเลยว่าจะมีส่วนไหนที่คมหรืออันตรายจนต้องระวัง เราก็เปิดเหมือนเปิดฝากล่องธรรมดา ไม่ได้เปิดพิสดารตรงไหน ไม่ได้ไปงัดมุมอะไร เมื่อเราเปิดปกติ มันก็ควรจะเปิดออกได้ปกติ แต่ทีนี้พอผลิตภัณฑ์มันประกอบมาไม่แน่นหนา หรือไม่รู้อะไรที่มันทำให้เปิดแล้วฝามันแยกออกจากกัน แล้วมางับมือเราได้อย่างนี้ แถมข้างล่างมันคมมากไง ถ้าเขาจะทำฝาหนาขนาดนี้ ตัวชั้นล่างเขาอาจจะไม่ทำขอบคมก็ได้         เราจะต้องเตือนผู้ประกอบการ ไม่งั้นผู้ประกอบการจะไม่แก้ไขผลิตภัณฑ์ รอให้มีคนบาดเจ็บรายถัดๆ ไปนี่มันก็อาจไม่ได้เป็นแค่แบบแคนไง ถ้าเขาสูญเสียนิ้วโป้ง จะเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นนิ้วโป้งข้างที่ถนัดด้วย         ตอนที่แคนใส่เฝือกอยู่ก็คิดว่าจะบอกบริษัทยังไง บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าของๆ เขาไม่ปลอดภัย เราก็อยากจะบอกพร้อมแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัยนะ คุณควรจะปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น จริงๆ ถ้าผลิตออกมาให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางได้ก็จะดีที่สุด ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แคนคิดว่า        หนึ่ง ทุกคนควรจะช่วยกันดูผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น อะไรที่เราประสบเหตุ เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่ามันไม่ควรจะเกิดไหม สังคมควรปลอดภัยกว่านี้        สอง ทางบริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ ให้ผู้บริโภคบอกได้ว่า ถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ให้คุณบอกมาที่ตรงไหน พร้อมพยานหลักฐานอะไรบ้าง หรือว่าพร้อมรูปถ่าย หรือว่าพร้อมรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็ทำให้สังคมดีขึ้น         แคนเชื่อว่าทุกเสียงสะท้อนของผู้บริโภคมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหมจากผู้บริโภค “ประกันภัยโควิด-19”

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ร้องเรียน กรณีบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ไปยื่นเรื่องเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น มีผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว แต่ยังมีผู้เดือดร้อนกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไปที่ไม่ได้รับค่าสินไหม ฉลาดซื้อ จึงพาผู้อ่านมาพบกับผู้บริโภค 2 ท่าน ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหม “ประกันภัยโควิด-19”         ท่านแรก คุณนุชนาฎ หอมชื่น ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า เธอทำประกันกลุ่มกับบริษัทที่ทำงานซึ่งทำประกันโควิดให้ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการเจ็บป่วย โดยเลือกทำประกันกับเอเชียประกันภัย เพราะมีข้อเสนอและเงื่อนไขที่น่าสนใจ เมื่อเทียบข้อเสนอและเบี้ยประกันที่จ่ายกับบริษัทอื่นแล้ว มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่พนักงานควรได้รับ         คุณนุชนาฎ เป็นคนแรกที่ติดเชื้อโควิดในบริษัท ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่หายป่วยเธอจึงรีบยื่นเอกสาร จนผ่านมาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา         “คือจริงๆ ตอนแรกคิดว่าอย่างไรเขาก็ต้องจ่ายเพราะว่าทางบริษัทมีเอกสารที่ถูกต้องในการยื่นขอกรมธรรม์ มีเอกสาร มีบัตรประชาชนมีเลขกรมธรรม์ แล้วเราก็ยื่นเอกสารปกติไม่คิดว่าจะล่าช้า พอยื่นเอกสารหลังจากที่หายป่วย ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนแบบมาเป็นเดือนแล้วคะพี่ ก็คือทั้งโทรไปแล้วก็ไลน์ไปตามก็คือโทรแต่ไม่มีผู้รับสายเลย ส่วนไลน์เช็คก็จะขึ้นว่าคุณไม่พบข้อมูล ประมาณนี้คะพี่ แล้วในช่วงระหว่างหนึ่งเดือนพนักงานก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิดมากขึ้น คือหนูเป็นคนแรกที่ติดเชื้อเลย แล้วก็พอระยะเวลาที่เรายื่นประกันไปก็มีเพื่อนร่วมงานติด เพื่อนก็ยื่นเราก็เลยคิดว่าเราต้องติดตามแล้วนะ ก็มาตั้งคำถามว่าเอกสารเรามันไปถึงไหนแล้วอย่างนี้คะ” เมื่อติดต่อบริษัทไม่ได้แล้ว ไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง         ทีนี้พอติดต่อไม่ได้เราก็เลยปรึกษาฝ่ายบุคคลของบริษัท ปรึกษาว่าทำไมถึงติดต่อประกันไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ยื่นเอกสารไปก่อนหน้านี้แล้ว HR จึงปรึกษาฝ่ายบริหารว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ติดโควิดยื่นเอกสารไปแล้วแต่ประกันไม่ติดต่อกลับมาเลย         โชคดีค่ะ ที่บริษัทมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่คอยให้คำปรึกษาและก็ช่วยเหลือก็เลยได้ไปปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเป็นธุระจากนั้นมูลนิธิฯ จึงพาไปที่ คปภ.ค่ะ        หลังจากมูลนิธินัดหมายให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ คปภ. พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่ประกันร้องขอ เพื่อดำเนินการเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม หลังจากนั้น 3 วัน คุณนุชนาฎก็ได้รับค่าสินไหม พร้อมกับพนักงานคนอื่นที่ยื่นเอกสารไปภายหลังทั้งหมด ได้รับการชดเชยอย่างไร         ตัวของนุชนาฎเองได้เบี้ยไม่ครบนะพี่ ได้เงินไม่ครบเพราะว่าหนูนอนที่โรงพยาบาลทั้งหมด 6 วัน แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามอีก 4 วัน ก็คือหนูจะได้แค่เบี้ย เจอจ่ายจบ แล้วก็นอนโรงพยาบาลแค่ 6 วันเป็น 56,000 หักไป 4 วันแล้วก็คือหลังจากวันที่เงินเข้าก็มีเจ้าหน้าที่จาก คปภ.โทรมาสอบถามว่าใช่คุณนุชนาฎไหมเขาก็ถามได้เงินเบี้ยประกันหรือยัง หนูก็ตอบไปว่าคือได้แล้วแต่ได้เงินไม่ครบและพี่เขาก็ถามว่าหนูไปนอนที่ไหนต่อหนูเลยบอกว่าอีก 4 วันหนูนอนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในใบรับรองแพทย์มีระบุอยู่แล้วเราก็ได้ไม่ครบแต่เขาก็ ครับๆ ไม่ได้พูดอะไร ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาการเคลมประกันล่าช้าบ้างคะ         จะฝากว่าก่อนคุณจะทำประกันอะไรก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าบริษัทที่คุณทำว่ามีความมั่นคงหรือว่าอยู่ในหน่วยงานที่สามารถติดตามได้หรือไม่ เบี้ยประกันดูน่าสนใจไหม ทำแล้วมันคุ้มกับเบี้ยที่คุณทำไปไหม ตัดสินใจเลือกให้ดีก่อนคะศึกษาก่อนที่จะทำ ให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเลือกทำประกันนะคะ         ท่านที่ 2 คุณสาร์รัฐ รุ่งนาค ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เล่าว่า  บริษัทเลือกทำประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานทั้งหมดภายในโรงพยาบาลกับเอเชียประกันภัย โดยมองจากความเหมาะสมของเบี้ยประกัน ความคุ้มค่าในการทำประกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับหากติดเชื้อโควิด และความมั่นคงของบริษัท ดูจากประกันการรักษาแบบอื่นของเอเชียประกันภัยนั้น เคลมไม่นานก็จ่ายคืนโรงพยาบาล มั่นคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อเทียบตัวเลือกกับบริษัทอื่นแล้วคุ้มค่ามากที่สุด รู้สึกอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์         คือตอนแรกเลยเราไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะเราทำงานโรงพยาบาลเราก็รู้ว่าคนไข้คือมัน Over อยู่แล้วคือมันด้วยความที่ว่ามันป่วยกันเยอะแล้วก็การรักษาด้วยเรื่องอะไรด้วย เราก็คิดว่าอาจจะมีการเขาเรียกว่ามีภาระเหมือนกับว่าคนเคลมเยอะหรือเปล่า หรือว่ามีการ Work from Home หรือเปล่า มีการลดจำนวนพนักงาน แต่เมื่อพอไประยะหนึ่งมันเหมือนกับข่าวมันเริ่มออกแล้วพนักงานก็รู้สึกว่ามันนานไปแล้วเดือนกว่าสองเดือนคือมันยังไม่ได้อีก ผมส่งเอกสารไปครบถ้วนเขาก็ประสานมาเราก็ตรวจสอบให้พอตรวจสอบให้เราก็โทรไปให้ปรากฏว่าก็ไม่มีคนรับสายบ้าง และให้ไปติดต่อทางระบบเหมือน AI ครับ สถานะก็ขึ้นอยู่อย่างเดียวก็คือ  รอตรวจสอบ รอตรวจสอบซึ่งเราได้คำตอบอย่างนี้มาเป็นหลายเดือนเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ พอเราพบว่ามีปัญหาติดต่อไม่ได้แล้วเราได้ทำอะไรบ้าง         ตอนแรกเราก็พยายามดูและก็หาวิธี คือหาตัวแทน หาทุกอย่าง โทรทุกอย่างและสุดท้ายก็ไปเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั่นแหละครับ มูลนิธิฯ ให้คำแนะนำอย่างไร         คือเราก็เอาเอกสารไปให้ดูแล้วก็ให้รายละเอียดว่าเราส่งเอกสารไปเมื่อไหร่แล้วก็เอกสารมีอะไรบ้างเหตุเกิดอย่างไร ซึ่งทางมูลนิธิเขามองว่ามันล่าช้า เขาจึงประสานให้เรา แล้วนัดเราไปที่ คปภ. ในวันที่ 10 กันยายน ในการแก้ไขปัญหา คปภ.ดำเนินการอย่างไรบ้าง         ถ้าอธิบายเป็นวิธีก็คือเบื้องต้นเขาก็จะมีศูนย์รับไว้ใช่ไหมครับ เขาก็จะมีศูนย์เหมือนรับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้านหน้าและเข้าไปเขาก็จะตรวจเอกสารให้เราว่าเรามีเอกสารครบไหม จริงๆ เอกสารก็ไม่เยอะนะครับก็จะมีพวกกรมธรรม์ สำเนาบัตรประชาชนแล้วก็เอกสารยืนยันว่าเรามีการยื่นเคลมไปแล้ว หลังจากนั้นพอเราเข้าไปในระบบเขาก็จะดูในระบบให้ เขาจะมีเลขรับว่าเป็นเรื่องร้องเรียนเลขที่เท่าไหร่และก็จะมีใบกลับมาให้เราซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานครับไม่นาน ไม่เกิน 30 นาทีครับ ได้รับเงินชดเชยมาหลังจากที่ยื่นเรื่อง         ก็หลังยื่นเรื่องวันที่ 10 ใช่ไหมครับ ก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีกสักประมาณห้าหกวันโทรเข้ามา แล้วก็วันที่ 17 กันยายน ก็มีการจ่ายเข้ามาครับ ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องการเคลมประกันล่าช้า         อยากจะฝากเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองว่า ยังมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานที่เขายังคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คปภ.อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่เขายังคอยช่วยเหลืออยู่สามารถปรึกษาได้นะครับ แนะนำคนที่กำลังจะทำประกันโควิด         อยากให้ดูความมั่นคงผมยังยืนยันว่าให้ดูความมั่นคงของบริษัทประกันว่าถ้าเกิดมันเกิดมีเรื่องขึ้นมาแล้วถึงเวลาเขาจะมีเงินชำระให้เราหรือเปล่า เรื่องขั้นตอนระเบียบขั้นตอนต่างๆ ไม่สร้างความยุ่งยากหรือเป็นภาระให้กับเราเพราะบางที่อาจจะแบบเจอจ่ายจบ จริงๆ ผมยังมองว่าเจอจ่ายจบ แค่ผล LAB ก็พอ ซึ่งตอนแรกพวกบริษัทประกันต้องใช้ประวัติการรักษาด้วยผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเพราะว่ามันเจอจ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >