ฉบับที่ 106 พลังงานสะอาดที่ครัวชมวาฬ

ครัวชมวาฬ วันนี้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ยิ่งเป็นช่วงเสาร์ – อาทิตย์ คนจะเยอะยิ่งกว่าวันอื่นๆ กลิ่นไอการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของคนบ่อนอกก็ไม่จางหายไป กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ผู้ล่วงลับ นับเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ที่มีวิธีคิดโดดเด่นอย่างยิ่ง จากหญิงสาวที่เรียนหลักสูตรการโรงแรมและท่องเที่ยวนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพ แต่ชีวิตเธอต้องพลิกผันกลายไปเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้อย่างไร ฉลาดซื้อขอพาคุณไปรู้จักกับเธอ เรื่องเล่าวันวาน โรงไฟฟ้าที่ชาวบ้านไม่ต้องการจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อลดภาระในการลงทุนและการกู้ยืมเงินของรัฐบาล เมื่อปี 2537 โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติคือ โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้สร้างที่ ต.บ่อนอก และบริษัทยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ซึ่งจะสร้างที่หินกรูด แต่ประชาชนบางส่วนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทั้ง 2 แห่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้รวมตัวกันคัดค้านและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงและปิดกั้นการจราจรบนถนนเพชรเกษมในระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2541 จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ให้จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการก่อสร้างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งท้ายสุดจะต้องลงเอยด้วยการอนุมัติโครงการอยู่นั่นเอง สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ทั้งเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และต้องหาข้อมูลทางวิชาการที่โรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับชาวบ้านในเรื่อง “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” หรือ อีไอเอ แกนนำในขณะนั้นคือ เจริญ วัดอักษร ซึ่งก็คือสามีของ กรณ์อุมา พงษ์น้อย เป็นประธานกลุ่มและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำจนกระทั่งได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 หลังการต่อสู้ที่ยาวนาน ในปี 2546 ได้มีการแถลงข่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะมีการย้ายโรงไฟฟ้าบ่อนอกไปสร้างที่จังหวัดสระบุรี และเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ และปี 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ย้ายโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกไปสร้างที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี แต่กลิ่นไอของการต่อสู้ที่แลกด้วยชีวิตยังเคยไม่จางหาย พลังงานทางเลือก ที่ไม่ถูกเลือกจากการต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของกรณ์อุมา บอกว่าจากจุดนี้เองที่เธอก็งงว่ารัฐพยายามบอกว่า จะใช้พลังงานที่ยั่งยืนในการผลิตไฟฟ้า แล้วทำไมไม่ส่งเสริมให้มาใช้พลังงานแสงแดด พลังงานลม“ความคิดเรื่องการใช้พลังงานสะอาด เกิดขึ้นตอนที่พวกเราคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า แล้วเราก็ชูประเด็นในระดับนโยบายกับรัฐว่าการใช้เชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว และควรจะเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น ลม แสงแดด เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้แผงโซ่ล่าเซลล์หรือกังหันลม ซึ่งรัฐเองก็บอกแต่ว่าต้นทุนสูง ซึ่งเราก็งงว่าจะต้องใช้ต้นทุนอะไร ในเมื่อสายลมแสงแดดเราไม่ต้องซื้อ ในขณะที่ถ่านหินต้องซื้ออีกอย่างตอนที่เจริญเขายังมีชีวิตอยู่ ก็เคยคุยๆ กันอยู่ ตอนที่ต่อสู้กันอย่างเข้มข้นว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำกังหันลม ซึ่งมองที่ดินสาธารณะที่ติดชายทะเลไว้ และเป็นที่ดินที่อยู่หน้าโรงไฟฟ้า ซึ่งถ้าหากพวกเราทำได้ก็น่าจะดี เรามองประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวด้วย แต่ตอนนั้นมองภาพเป็นกังหันขนาดใหญ่ ก็พยายามมองหาเทคโนโลยีต่างๆ แต่เจริญก็เสียชีวิตไปก่อนครั้นเรามาสานต่อเรียนรู้ร่วมกับชุมชนถึงการทำกังหันโดยใช้วัสดุง่ายๆ ที่หาได้ที่บ้านเรา นั่นคือตัวกังหันต้องมีดุมล้อ ใบพัดกังหันก็ทำจากไม้ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ถึงมันจะไม่ได้มากนักแต่ก็เป็นพลังงานทางเลือกที่ทดแทนกันได้ในระดับหนึ่ง เราได้เขียนโครงการของบประมาณ สนับสนุนจาก สสส.ได้เงินให้ชุมชนทำพลังงานสะอาด เราขอทำกังหันไป 3 ตัว ตัวแรกก็คือตัวที่ตั้งที่ร้าน ซึ่งเราทดสอบกับลมทะเล อีกตัวก็ไปตั้งไว้ที่วัดซึ่งเรานำไปทดลองใช้กับวิทยุชุมชน ซึ่งเท่าที่ทดลองมาก็นำไฟฟ้ามาใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่นับรวมว่าจะนำไปใช้กับแอร์ได้นะ ก็เสียบคอมพิวเตอร์ วิทยุได้แต่กระบวนการที่ผ่านมาก็ทำให้เราได้รู้ว่ากังหันลมที่เราทำขึ้นมา ก่อให้เกิดพลังงานได้จริง แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ก็คือกระบวนการลองผิดลองถูก” ลองผิดลองถูกทำให้เรา รู้จริงกระบวนการที่กรณ์อุมาว่าก็คือตั้งแต่เริ่มซื้อแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้า กว่าจะรู้ว่าแบตเตอรี่มีความต่าง“ช่วงแรกๆ ก็ถือว่าเราหมดไปเยอะ อย่างซื้อแบตฯ เราก็คิดถึงการใช้งานระยะยาว ก็ไปซื้อแบตเตอรี่แห้ง เจ้าของร้านก็แนะนำเราอย่างดี พอซื้อมาใช้จริงๆ ถึงรู้ว่าเราเสียรู้ เอ่อ..อันนี้ไม่ฉลาดซื้อนะ” เธอพูดพลางหัวเราะก่อนจะอธิบายเพิ่มเติม“เสียรู้ก็คือเรามารู้ภายหลังว่าไฟฟ้าที่มาจากกังหันนั้น กระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอทำให้เราเก็บไฟไม่ได้เลย และที่เหมาะสมที่สุดคือแบตเตอรี่น้ำ เราก็เลยเสียแบตเตอรี่ไป 4 ลูก ตอนนั้นซื้อมาลูกละ 7,000 บาทได้นะ เลยทำให้เราเรียนรู้ว่า เราต้องมองหาแหล่งซื้อของให้มากขึ้น อย่างแม่เหล็กที่แผงวงจรไฟ เราก็ไปหาซื้อที่คลองถมจะซื้อได้ถูกกว่าแค่ 180 บาทจาก 250 บาท” นั่นคือบทเรียนที่เธอและชุมชนได้เรียนรู้ นอกจากจะศึกษาเองแล้ว เธอยังไปศึกษาเรียนรู้ดูงานกับเครือข่าย ที่ทำงานด้านพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาร่วมกัน “ตอนนี้ก็เริ่มมีแนวคิดว่า จะพัฒนากังหันลมที่ทำอยู่ให้ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใบพัดที่คงทน ระบบการผลิตและจัดเก็บไฟฟ้า แล้วถ้ามันสมบูรณ์แบบเมื่อไร ก็คิดว่าจะทำให้กังหันมีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งขยายแนวคิดออกสู่ชุมชน ปัจจุบันคิดค่าต้นทุนทั้งกังหันลม แบ็ตเตอรี่เก็บไฟ ตัวเร็กกูเลเตอร์ เบ็ดเสร็จก็น่าจะ 50,000 บาท ต่อ 1 ชุด” เธอแจกแจงแนวคิดที่จะขยายโครงการ หากเธอนับหนึ่ง นับสอง ได้สำเร็จ ครั้นฉลาดซื้อถามถึงผลตอบรับจากบ้านว่าเป็นอย่างไร เธอตอบอย่างหน้าชื่นว่าคนผ่านไปมาก็ถาม ลูกค้ามาถาม บางคนก็เข้ามายินดีกับเธอที่เธอสามารถนับหนึ่งการใช้พลังงานสะอาดได้แล้ว “ความตั้งใจจริงๆ ที่ทางกลุ่มลงมือกันทำก็คือ อยากจะขยายไปสู่วัด โรงเรียน ก่อนที่เป็นรายบ้าน เพราะเมื่อทำงานกับโรงเรียนก็จะได้ทำงานกับเยาวชนด้วย ได้เพิ่มการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วย” นั่นคือเป้าหมายที่เธอและทางกลุ่มคาดหวังไว้โรงไฟฟ้าแค่จิ๊กซอตัวเล็กๆ ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้“ตั้งแต่โรงไฟฟ้าไปชาวบ้านก็ทำงานของเขาตามปกติ คือปกติเขาก็ทำงานของเขาอยู่นะ แต่พอมีปัญหาการรวมตัวของชาวบ้านก็จะมาทันที ถ้าถามว่าโรงไฟฟ้ามันจบไหม คือ…เอาเข้าจริงๆ ประจวบฯไม่ได้เจอแค่โรงไฟฟ้านะ โรงไฟฟ้าเป็นเพียงจิ๊กซอตัวเล็กๆ ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด ที่ตอนนี้เริ่มขยับตัวแล้วโรงไฟฟ้าก็มีบ่อนอก หินกรูด แล้วก็ทับสะแก ตอนนั้นเราสู้ร่วมกัน ซึ่ง 3 โรงไฟฟ้านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะตามมา ซึ่งนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าทางสภาพัฒฯ และเอดีบี ได้สำรวจและมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าที่ อ.กุยบุรี เหมาะกับการสร้างเหล็กต้นน้ำ พูดง่ายๆก็คือโรงผลิตเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของบ้านเรา แต่มันเก่ามาจากต่างประเทศ อย่างสหรัฐ ฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น แล้วตอนนี้เขาก็ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศอย่างเราๆ เหมือนเป็นการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจในการล่า บ้านเราก็มีบทเรียนมาแล้วจากระยอง นั่นก็คือมาบตาพุด ไม่ว่าจะเป็นชื่อร้าน ชื่อโรงงานมีแต่ของต่างประเทศทั้งนั้น ที่มายึดไทยเป็นฐานการผลิตแล้วเอากำไรกลับประเทศเขาไปในประจวบฯ เองก็ไม่ใช่มีแค่เหล็กต้นน้ำ มันก็จะมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา คือมันก็จะเป็นแบบเดียวกับที่ระยอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ต้องใช้คำว่าภาคใต้ถึงจะถูก ประจวบฯ เป็นแค่จังหวัดแรกของภาคใต้เท่านั้น โรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่บอกว่าเหมือนจะจบแล้ว แต่มันยังไม่จบ เพราะรัฐได้ทำสัญญาไปแล้วก็ต้องย้ายไปสร้างที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จากกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์เป็น 1,400 เมกะวัตต์ คือแต่ละที่ก็ต้องสู้ต่อ ถ้าถามว่าในทางนโยบายการผลิตไฟฟ้าที่ประจวบฯ ยังมีอยู่หรือเปล่า ที่ 4,000 เมกะวัตต์ ยังมีนะก็คือ บ่อนอก 700 เมกะวัตต์ บ้านกรูด 1,400 เมกะวัตต์ และที่ทับสะแกอีก 2,100 เมกะวัตต์ แต่ตอนนี้กำลังการผลิตที่ทับสะแกเปลี่ยนไปแล้วนะถ้าเขาสร้างได้เต็มที่จะอยู่ที่ 14,000 เมกะวัตต์ คือจะใหญ่กว่าแม่เมาะเลยทีเดียว และนั่นคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน คิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นี่ ไม่อยากจะให้รัฐมาขับไล่พวกเราอีก คือไม่ใช่ว่าเราต้านไปหมดทุกอย่างนะ เพียงแต่อยากให้รัฐทำให้ถูกที่ ทำไมจะต้องมาสร้างในชุมชน” กรณ์อุมา แสดงทัศนะและย้อนไปถึงโรงไฟฟ้าที่เป็นด่านแรกของแผนพัฒนาฯ เท่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะตามมา“ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007) เขาจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย ทั้งที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 29,891 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี 2551 อยู่ที่ 22,568 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความต้องการถึง 7,323 เมกะวัตต์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นที่บอกว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่ประจวบฯ จะทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ก็ไม่เข้าใจรัฐนะ แล้วการที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็บอกว่าเป็นพลังงานทางเลือกอีกตัวหนึ่ง เราก็งงมากในสมัยที่เราสู้เราก็บอกว่าพลังงานทางเลือกก็คือ สายลม แสงแดด พลังงานชีวมวล แต่ว่าพลังงานทางเลือกของรัฐตอนนี้คือก๊าซ ถ่านหิน นิวเคลียร์ แถมยังบอกเราว่าลดความเสี่ยง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันเสี่ยงมากกับชีวิต กับสุขภาพ กับวิถีชีวิตของคน แต่รัฐอ้างเพียงว่าเชื้อเพลิงจะหมดไป แต่เรากลับมองต่างว่าสายลม กับแสงแดด มันไม่มีวันหมดอยู่แล้ว” รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาดหลังเหตุการณ์ ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตกรณ์อุมา จากคนที่รักสงบ แต่ปัจจุบันเธอต้องรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก แล้วยังเป็นแกนนำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ชาวบ้านในจังหวัดประจวบฯ ได้เข้าใจถึงผลกระทบที่จะตามมาของโครงการพัฒนาฯ จนเกิดเป็นกลุ่ม “เครือข่ายพันธมิตร สิ่งแวดล้อมประจวบฯ” รวมถึงมีส่วนในการก่อตั้ง “เครือข่ายประชาชนภาคใต้” เพื่อต่อสู้กับแผนพัฒนา ที่กำหนดให้ภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ต้องเดินทางเกือบจะตลอดเวลา ชีวิตรักสงบของเธอจึงเปลี่ยนไป “โอ้โห มันเปลี่ยนไปแบบไม่เหลือเลย จากคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย วันๆ ก็อยู่กับการทำมาหากิน มีเวลาก็จะอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน ไม่ชอบไปไหน พอถึงวันนี้การต่อสู้ที่ผ่านมาโดยเริ่มจากปัญหาของตัวเอง พอเรามาจับปัญหาแล้วมันทำให้เรารู้ว่าบ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกเยอะมาก โดยเฉพาะแผนพัฒนาฯ ถ้าเราไม่ช่วยกันก็จะเป็นปัญหาในระยะยาว ก็คิดนะว่าถ้าเราทำอะไรเพื่อใครได้ก็อยากจะไปเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับส่วนอื่นๆ มันก็เหนื่อยนะ แต่พอพักมันก็หาย” ครัวชมวาฬ ครัวเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน“พอเราต้องออกเดินทางบ่อยๆ เราก็ยกร้านอาหารให้พี่สาวมาช่วยดูแล เพราะมันต้องมีคนมาดูแลทั้งร้าน ทั้งที่พัก มีคนยุให้เปิดที่พักอีก แต่แค่นี้ก็พอแล้ว เราทำไม่ได้กะจะหวังร่ำรวยอะไร แค่พอมีเงินมาจุนเจือครอบครัว ให้คนในชุมชนได้มีงานทำ แล้วก็เปิดให้คนข้างนอกเข้ามาพัก เข้ามาดูว่าบ่อนอกเป็นอย่างไรแค่นี้ก็พอแล้ว คนที่มาพักก็มีสงสัยนะว่าทำไมไม่เห็นปลาวาฬบรูด้าเลย คือเราก็ไปบังคับให้มันมาว่ายไม่ได้ คือบ้านเราเห็นมันมาจนเป็นปกติ บ้านเราเรียกว่าปลาเจ้า ช่วงที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งเขาบอกว่าอีกไม่นานหรอกที่นี่อาชีพประมงจะล่มสลายเพราะทะเลไม่อุดมสมบูรณ์ เรื่องปลาวาฬ จึงถูกหยิบยกเพื่อมาสู้กันในเรื่อง อีไอเอ ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ปลาวาฬกินอาหารทีเป็นตันๆ แบบนี้คุณจะมาบอกว่าบ้านเราไม่สมบูรณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาที่นี่เขาก็จะมาศึกษาธรรมชาติ มาพัก เราก็จะสกรีนลูกค้าเราได้ส่วนหนึ่งแล้ว บางวันมีม็อบเราก็จะบอกว่าไม่ขายนะคะ ไปม็อบ เพราะคนที่ทำงานที่นี่ก็เป็นคนในชุมชน เวลาที่จะออกไปต่อสู้หรือเรียกร้องอะไร ก็จะพากันไปหมด เพราะทุกคนอยากสู้เพื่อชุมชน สู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง” ใครที่อยากชิมอาหารครัวชมวาฬ แวะกันไปด้วยทุกวันค่ะ (ยกเว้นไว้ไปม็อบ) เข้าไปดูรายละเอียด ได้ที่ www.kruachomwhale.com

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 105 เขาหาว่าผมเป็นเจ้าบ่าวพิการ

“ดูสิเจ้าบ่าวพิการด้วย” “ไม่มีปัญญาหาละมั้งเลยไปคว้าคนพิการมาแต่งงานด้วย” แขกที่มางานแต่งงานหลายคนแอบวิจารณ์ คู่บ่าว – สาว เพราะแทนที่คู่บ่าว – สาวจะทำอะไรพร้อมๆ กัน และนั่งอยู่เคียงกันระหว่างงานพิธี แต่ที่เห็นกลับเป็นภาพของเจ้าบ่าวต้องนั่งไหว้พระอยู่ในรถเข็นพิษณุ สันป่าแก้ว ชายหนุ่มจากจังหวัดแพร่ อาชีพวิศวกรไฟฟ้า คือเจ้าบ่าวของงานมงคลสมรสในวันนั้น ส่วนเจ้าสาวคือพันตำรวจตรีหญิงอุไรวรรณ แห้วนคร พยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ หลังดูใจกันมากว่า 6 ปีทั้งคู่จึงตกลงใจว่าจะแต่งงานกัน งานวิวาห์ที่ทั้งสองเฝ้าเพียรเตรียมงานมาตั้งแต่ต้นปีดูจะไม่ค่อยสมบูรณ์สักเท่าไร เมื่อเจ้าบ่าวต้องมานั่งอยู่ในรถเข็นและในงานเลี้ยงก็มีเจ้าสาวเพียงคนเดียวที่เดินรับแขกตามโต๊ะ เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าบ่าว และเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างไร เชิญติดตาม ความปกติที่ไม่ปกติ“ปกติผมจะกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ทุกปี แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยคือผมไปแจกการ์ดแต่งงานด้วย (งานแต่งกำหนดไว้วันที่ 3 พ.ค.2552) ขณะผมเดินทางจากบ้านที่จังหวัดแพร่ เพื่อที่จะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ บริษัทรถโดยสารที่ผมใช้บริการประจำเต็มก็เลยต้องไปใช้ของอีกบริษัทหนึ่งคือวิริยะแพร่ทัวร์” พิษณุได้ตั๋วกลับกรุงเทพในวันที่ 17 เมษายน กับบริษัทวิระยะแพร่ทัวร์ จำกัด เป็นรถปรับอากาศ ม.1(ข) 34 ที่นั่ง หมายทะเบียน 13-9029 กรุงเทพ นั่งติดหน้าต่างแถวที่ 2 ฝั่งคนขับ พิษณุมารอขึ้นรถที่สถานีขนส่งจังหวัดแพร่ ตั้งแต่สองทุ่มครึ่งตามกำหนดเวลาออก แต่กว่ารถจะออกจากสถานีได้ก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่ม พิษณุนั่งดูคนขับ ขับรถมาเรื่อยๆ สังเกตได้ว่าขับเร็วมากและแซงตลอด แม้ในช่วงขึ้นเขาก็ยังแซง หลังจากดูให้แน่ใจแล้วว่ามาถึงเส้นทางช่วงระหว่างพิจิตรมาพิษณุโลก ก็นอนใจว่าคงไม่มีอะไรแล้วจึงงีบหลับไป ดูเหมือนทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีแต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เสียงร้องเอะอะเกิดขึ้น รถทั้งคันมืดสนิทราวทุกอย่างหยุดนิ่ง มีแต่เสียงโวยวายของผู้คนเท่านั้นที่ทำให้รู้ว่า “รถชนเข้าแล้ว” รถโดยสารที่เขานั่งไปชนท้ายรถบรรทุก 18 ล้อ บรรทุกปูนซีเมนต์ ผู้โดยสารเต็มคันรถอลม่านกันอยู่ในความมืด และหนึ่งในห้าของผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสคือพิษณุ นั่นเอง “มันมืดแล้วก็ร้อนมาก เครื่องรถดับ ผมรู้แล้วว่ารถต้องชนแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าชนอะไรผมพยายามขยับตัว แต่ก็ลำบากเพราะว่าเก้าอี้มาทับผม ขยับขาไม่ได้ จนคนในรถเขาออกกันไปหมดเหลือผมอยู่คนเดียว…ผมต้องตะโกนและเคาะกระจกให้รู้ว่ายังมีผมติดอยู่ข้างในอีกคน” ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยออกมาจากรถ พิษณุยอมรับว่า ‘กลัวมาก’ เพราะระหว่างนั้นได้กลิ่นน้ำมันคลุ้งไปทั่ว “กลัวไฟจะไหม้รถ มืดก็มืดแล้วก็ร้อน ผมใช้น้ำที่เขาให้ตอนขึ้นรถ ทั้งกินและทั้งรดตัวเอง ตอนนั้นผมเริ่มเจ็บขามากขึ้นๆ และพอจะรู้ว่าขาหักเพราะลองขยับแล้วมันไม่มีแรง กลัวรถระเบิดก็กลัว ถ้ามันระเบิดผมจะเป็นอย่างไร” พิษณุพาตัวเองกลับไปอยู่ในรถคันนั้นอีกครั้ง เพื่อที่จะถ่ายทอดบรรยากาศ ณ เวลานั้นออกมาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด รอยยิ้มที่ผุดพรายระหว่างย้อนเล่าเรื่อง ราวกับจะบ่งบอกว่า“ผมดีขึ้นจากวันนั้น” เพราะในวันที่เกิดเหตุเขาไม่มีเรี่ยวแรงที่จะยิ้มให้ตัวเองเลยสักนิดในคืนนั้น พิษณุถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการล้างแผล ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ก่อนพยาบาลจะช่วยเก็บข้าวของที่ติดตัวมาส่งให้พิษณุที่ยังมีสติอยู่พร้อมย้ำว่า “ให้เก็บตั๋วรถไว้ให้ดี” และส่งตัวต่อมายังโรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิษณุโลกเพื่อที่จะทำการผ่าตัดขาซ้ายท่อนบนช่วงสะโพกที่หัก อีกทั้งเสียเลือดมากจากบาดแผลลึกที่หน้าแข้งซ้าย หลังจากย้ายมาที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเขาก็ยังไม่ได้รับการผ่าตัด แต่โรงพยาบาลได้ทำการเอกซเรย์และดามขาเขาไว้ ก่อนจะให้พักที่โรงพยาบาลนี้หนึ่งคืน โดยที่ยังไม่ได้เย็บแผลให้ จนเช้าวันใหม่มาถึง “ผมนอนที่นั่นหนึ่งคืน จนเช้าทางโรงพยาบาลก็ฉีดยาแก้ปวดให้ผม ผมถามว่าเมื่อไรจะผ่าตัดให้ผมเขาบอกแต่ว่าให้รอก่อนเพราะมีเคสที่หนักกว่าผมอีกสองคน ผมเลยโทรหาแฟนบอกว่าไปรักษากรุงเทพฯ ดีกว่า เพราะผมปวดจะให้รอถึงเมื่อไรอีกคือมันรอไม่ได้แล้ว เลยให้แฟนติดต่อหารถพร้อมพยาบาล เพื่อจะมารับไปที่โรงพยาบาลตำรวจ” ในบ่ายวันที่ 18 เมษายน 2552 พิษณุจึงได้ย้ายมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่คนรักเป็นพยาบาลอยู่ โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ารถพยาบาลและค่าพยาบาลสองคนที่มากับรถเป็นเงิน 6,000 บาท “ถึงโรงยาบาลตำรวจประมาณทุ่มกว่าๆ แล้วทางพยาบาลก็เปิดแผลออก พบว่าแผลที่หน้าแข้งยังไม่ได้เย็บ จึงล้างแผลใหม่และขูดแผลเพื่อให้เป็นแผลสด แล้วถึงจะเย็บแผลเพราะเขากลัวว่าเนื้อมันจะไม่ติด คือ...ตอนนั้นยังไงก็ได้ ก็ต้องทนล่ะ” พิษณุยังจำความเจ็บปวดคราวนั้นได้ดี จากสีหน้าเหยเก และยิ้มแห้งๆ ของเขา เจ้าบ่าวอย่างผมพิษณุพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 ก่อนจะออกมาเข้าพิธีแต่งงานในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ช่วงที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พิษณุรู้สึกแย่กับตัวเองมาก ที่ต้องให้แม่มาดูแลกลายเป็นภาระของแม่และคนรักไป ราวกับว่าเขากลายเป็นคนพิการไปแล้ว พิษณุเดินทางมาเข้าพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวที่จังหวัดบุรีรัมย์ทั้งๆ ที่ เขายังต้องนั่งรถเข็น และต้องใช้ไม้ค้ำยันในบางขณะที่ต้องเดินไปรับแขก วูบแรกที่เกิดอุบัติเหตุเขาคิดว่าอย่างไรเสียงานแต่งที่เตรียมงานมากว่าห้าเดือนต้องเลื่อนออกไปแน่ๆ แต่หญิงสาวคนรักก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่า อย่างไรก็จะไม่เลื่อนงานแต่ง ถึงแม้จะไม่ได้ยืนเคียงกันก็ขอให้ได้นั่งรถเข็นแต่งงานก็ได้ “มันก็ต้องแต่ง แต่งทั้งๆ ที่ยังต้องใช้ไม้ค้ำยันอยู่นี่ล่ะ ดีกว่าจะเลื่อนงานออกไปเพราะเราเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ยกเว้นผมคนเดียวที่ยังต้องนั่งรถเข็น ปวดแผลก็ปวดแต่ก็กินยาแก้ปวดไว้ ภาพถ่ายที่ออกมาจึงไม่เหมือนกับงานคู่อื่นๆ เขา อย่างตามโต๊ะรับแขกก็จะมีเพียงเจ้าสาวของผมเท่านั้น ผมได้แต่มอง มันรู้สึกไม่ดีมากๆ งานแต่งของผมทั้งที กลับต้องมีคนมาคอยดูแล แต่งตัวเองก็ไม่ได้ต้องรอให้เขามาช่วย...มันรู้สึกแย่ ต้องนั่งรถเข็น แล้วเวลาจะถ่ายรูปกับแขกแฟนผมก็เดินไปคนเดียวผมไปด้วยไม่ได้” ยิ่งกว่านั้นมีชาวบ้าน ที่ไม่รู้ว่าพิษณุประสบอุบัติต่างพูดคุยนินทากันทั่วงาน “เขาว่าผมเป็นคนพิการทั้งที่เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผม เขาไม่น่าจะพูดอย่างนั้น” พิษณุแค่นหัวเราะให้กับโชคชะตาที่เล่นตลกร้ายกับเขา งานแต่งผ่านพ้นไปแล้ว แต่ละครชีวิตของพิษณุไม่ได้จบบริบูรณ์เหมือนละครทีวี ทั่วไปที่เรื่องมักจบลงอย่างมีความสุขหลังการแต่งงาน หลังงานแต่ง พิษณุกลับมาพักรักษาตัวต่อที่คอนโดย่านรามคำแหง โดยบริษัทที่เขาทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าอยู่ให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 3 เดือน ชีวิตประจำวันของพิษณุต้องเปลี่ยนไปเขาต้องพักฟื้นอยู่ในห้องพักชั้นเจ็ดที่ไม่ใช่สวรรค์ชั้นเจ็ด เพราะเขาต้องจำใจ ขังเดี่ยวตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมสีครีม ที่ด้านข้างมีหน้าต่างเล็กๆ พอให้สูดอากาศภายนอกได้เท่านั้น ส่วนอาหารที่ตอนร่างกายปกตินึกอยากจะกินอะไรก็ได้ ก็ต้องกลายมาเป็นข้าวกล่อง ที่คนรักซื้อเตรียมไว้ให้ก่อนจะไปเข้าเวรที่โรงพยาบาลตำรวจ ถึงเวลาอาหารพิษณุจะนำข้าวกล่องเข้าเตาไมโครเวฟ นั่งกินข้าวในห้องพักโดยลำพัง ไม่มีโอกาสได้ไปกินข้าวกับเพื่อนฝูง หรือวันหยุดแทนที่จะได้ออกไปเดินเล่น ไปเรียนภาษา ก็ต้องใช้ทีวีเป็นช่องทางในการออกสู่โลกภายนอกแทนขาทั้งสองข้าง ซ้ำในเวลาเดินก็ต้องมีขาที่สามและสี่งอกออกมาจากรักแร้ทั้งสองข้าง นอกจากที่จะต้องพักฟื้นรักษาอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดขาซ้ายแล้ว พิษณุยังต้องไปหาแพทย์เพื่อตรวจสภาพเข่าทั้งสองข้าง ซึ่งหลังการสแกนพบว่าเอ็นและข้อเข่ามีปัญหาแต่ไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แพทย์สั่งให้กินยารักษาข้อเสื่อมอีกสามเดือน สิทธิต่างๆ ตอนเป็นผู้โดยสารผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าบริษัทต้องจ่ายเท่าไรจนบริษัทประกันมาบอกผมนี่ละ ว่าอ้อมีสิทธิรักษาเท่านี้นะ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็คงไม่รู้ว่ารถโดยสารมีประกันอะไร เพราะในตั๋วก็ไม่ได้เขียนไว้ว่ามีประกันอะไรบ้าง เรามีสิทธิเรียกร้องอย่างไรเรารู้แค่ว่าเราซื้อตั๋วแล้วก็ขึ้นรถได้ ผมว่าไม่มีใครจะไปคิดหรอกนะว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่พอมันเกิดแล้วนี่สิ เราถึงจะมาอ่าน มาหาความรู้ว่าสิทธิเราคืออะไร มีอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครบอก  ถามหาผู้รับผิดชอบ สำหรับค่ารักษาพยาบาลถ้าหากนับตั้งแต่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่ต้องจ้างรถพยาบาลให้มาส่งที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเงิน 6,000 บาท ซึ่งเขาต้องจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกกับบริษัทประกันภายหลัง ค่ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจก็เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันที่บริษัทวิริยะแพร่ทัวร์ทำไว้ที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่เขาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเช่นกัน “ทางบริษัทประกัน จ่ายค่ารักษาให้ทั้งหมดตอนที่อยู่โรงพยาบาลตำรวจ 48,025 บาท แต่มันก็มีส่วนเกินที่ผมต้องออกไปก่อนประมาณสองหมื่น ตอนนี้ยังไม่ได้คืนจากบริษัทประกัน แล้วล่าสุดที่ผมเพิ่งไปสแกนเข่ามานี่ก็ 16,000 บาท ซึ่งทางบริษัทประกันได้เข้าแจ้งกับผมตอนที่อยู่โรงพยาบาลที่พิษณุโลกว่า ไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ในงบค่ารักษาไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะบริษัทรถได้ทำประกันชั้น 1 ไว้กับ บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ตอนนี้ก็รอให้ทางบริษัทจ่ายส่วนที่ผมจ่ายไปคืนมา” ตั้งแต่เกิดเหตุมาบริษัทรถและบริษัทประกันได้ไปเยี่ยมพิษณุที่โรงพยาบาลที่พิษณุโลก แล้วก็ไม่ได้ติดต่อมาหาพิษณุอีกเลย กลับเป็นว่าเขาต้องเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไปหาไปตามเรื่องเอง ตอนแรกโทรไปตามเรื่องที่บริษัทรถก็ทำอะไรไม่ได้ ถูกโยนให้ติดต่อไปที่บริษัทประกันแทน “คือก็เกินไปนะตั้งแต่ผมขาหักมาเนี่ยไม่เคยติดต่อมาหาผมเลย ทำเหมือนผมไปขอเขาขึ้นรถงั้นแหละทั้งๆ ที่ผมก็จ่ายเงินให้เขา ไม่อยากขึ้นรถบริษัทนี้อีกแล้วอยากเห็นหน้าเจ้าของบริษัทจริงๆ ” พิษณุเน้นย้ำว่าต้องการเห็นหน้าเจ้าของรถ แบบที่พูดจริงๆ นอกจากนั้นพิษณุยังต้องโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามความคืบหน้าทางคดี ที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน เพราะไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากตำรวจเลย “มีอยู่ครั้งหนึ่งตำรวจมาสอบปากคำ ผมก็ให้การไปตอนแรกนึกว่าเขาจะยื่นฟ้องอาญากับคนขับ แต่กลายเป็นว่าจะเป็นการยื่นฟ้องแพ่งกับบริษัทรถ มีทนายให้แต่จะต้องให้ 30 เปอร์เซ็นต์กับทนาย ผมก็อ้าว..เลยยังไม่ฟ้อง ผมฟ้องเองดีกว่า เพราะผมกะว่าจะฟ้องบริษัทอยู่แล้ว เพราะไม่เคยมาติดต่อเลย กระเช้าสักกระเช้ายังไม่มี ตอนนี้จะยื่นฟ้องเองในคดีศาลผู้บริโภค” พิษณุได้ให้ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับมอบอำนาจยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) โดยมี นายเจริญ ชาวส้าน พนักงานขับรถทัวร์ เป็นจำเลยที่ 1 บริษัทวิริยะแพร่ทัวร์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 บริษัทขนส่ง จำกัดเป็นจำเลยที่ 3 และบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยที่ 4 เรียกค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 5,664,046.50 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยกับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ค่าชดเชยสินไหมสุดขอบฟ้าเมื่อถามถึงกระบวนการชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรพิษณุ ตอบทันควันว่า “มันช้า” พร้อมเสนอทางออกว่าน่าจะมีเกณฑ์ออกมาให้มีการจ่ายค่าชดเชยทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ เคสนี้ เคสนั้นไม่ต้องรอให้เป็นคำสั่งศาลแล้วถึงจะจ่าย และน่าจะจ่ายที่เพดานสูงสุดไม่ต้องรอให้เคสสำรองเงินไปก่อนแล้วค่อยมาเบิกจ่ายกันทีหลังอีก “นอกจากจะมีมาตรการชดเชยแล้วผมว่า บริษัทรถหรือคนขับก็ต้องประเมิน ต้องมีการควบคุมคนขับรถด้วยว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมไหม ไม่ขับรถเร็วเกินไป อย่างคันที่ผมนั่งมารู้จากตำรวจว่าขับมาสี่รอบแล้ว รัฐเองน่าจะเข้ามาดูตรงนี้ด้วย คืออุบัติเหตุมันไม่ได้มาจากเราน่ะ มันอยู่ตรงที่คนที่จะมาขับรถให้เราเขาอยู่ในสภาพพร้อมหรือเปล่า ต้องมีมาตรการตรวจสภาพคนขับด้วย อาจจะมีหมอมาตรวจสภาพหน่อยว่าพร้อมที่จะขับไหมเพราะมันเป็นช่วงเทศกาล ไม่ใช่กะทำรอบอย่างเดียว แล้วอีกอย่างไปดักจับคนเมาซะมากกว่า รถคันที่ผมนั่งมาคนขับน่ะไม่เมาหรอกแต่มันเหนื่อยเป่ายังไงก็ไม่เจอหรอก” พูดจบพิษณุหัวเราะพร้อมกับส่ายหัวอย่างเอือมระอา “สิทธิต่างๆ ตอนเป็นผู้โดยสารผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าบริษัทต้องจ่ายเท่าไรจนบริษัทประกันมาบอกผมนี่ละ ว่าอ้อมีสิทธิรักษาเท่านี้นะ ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็คงไม่รู้ว่ารถโดยสารมีประกันอะไร เพราะในตั๋วก็ไม่ได้เขียนไว้ว่ามีประกันอะไรบ้าง เรามีสิทธิเรียกร้องอย่างไรเรารู้แค่ว่าเราซื้อตั๋วแล้วก็ขึ้นรถได้ ผมว่าไม่มีใครจะไปคิดหรอกนะว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่พอมันเกิดแล้วนี่สิ เราถึงจะมาอ่าน มาหาความรู้ว่าสิทธิเราคืออะไร มีอะไรบ้าง ก็ไม่มีใครบอก” ปัจจุบันอาการบาดเจ็บต่างๆ ได้หายไปแล้ว และพิษณุได้ไปทำงานตามปกติแล้ว แต่ในอีกสองปีข้างหน้า เขายังต้องไปผ่าตัดเอาเหล็กที่ยึดกระดูกที่หักออก จนถึงตอนนี้ พิษณุมีคำถามที่อยากจะได้คำตอบจากใครสักคนว่า ทำไมต้องเป็นเขาด้วย ทำไมเขาต้องการเป็นเจ้าบ่าวพิการ ในเมื่อเขาเองไม่ใช่คนผิด และกระบวนการชดเชยทำไมถึงได้ช้าหนักหนา ไม่มีกระบวนการเยียวยาอะไรผู้บริโภคเลยหรือไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 104 จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ...คนข่าวหลังอาน

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ นักข่าวและพิธีกรรายการข่าว บอกถึงความรู้สึกที่เธอมีต่องานประจำของเธอที่ทุกเช้าของทุกวันชีวิตเธอจะเริ่มต้นขึ้นในเวลาตี 4 แต่กว่างานของวันจะเสร็จสิ้นลงก็หลัง 4 ทุ่ม ซึ่งเธอยอมรับว่าเธอเหนื่อย แต่งานข่าวคืองานที่เธอรักและเธอสนุกในงานข่าวที่เธอทำ ความเหนื่อยจึงทำอะไรหัวใจเธอไม่ได้ ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาคุณไปรู้จักกับจอมขวัญ หลังจอสี่เหลี่ยมกันค่ะ จากนักข่าวสู่คนข่าวหน้าทีวีก่อนที่จอมขวัญจะก้าวมาอยู่หน้าจอทีวี เธอทำงานสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อนหลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเธอไม่ได้ให้ความสนใจรายการข่าวเลย หรือแม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ก็จะดูไม่มาก แต่ก่อนที่เธอจะจบมีโอกาสได้เรียนวิชาเลือกซึ่งเป็นการวิเคราะห์สื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ และนั่นเองเป็นตัวจุดประกายให้เธอในการทำงานด้านสื่อ หลังเรียนจบเธอจึงสมัครเข้ามาทำงานกับหนังสือพิมพ์เนชั่นที่ เนชั่นกรุ๊ปในที่สุด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทีวีและการทำข่าวทีวีไม่ได้อยู่ในความคิดเลย แต่เมื่อเธอได้ก้าวเข้ามาทำ เธอก็พิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในที่สุดด้วยมาดของคนข่าวที่มีข้อมูลแน่น ทุกวันนี้เธอบอกว่าเธอยังไม่ดังอะไร เพียงแค่มีคนรู้จักมากขึ้นเท่านั้นเอง คนข่าวกับข้อมูลแรกๆ ที่เธอเป็นนักข่าวการลงพื้นที่หาข่าว ดูจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเธอเพราะยังไม่มีคนรู้จัก แต่พอเริ่มมาอยู่หน้าจอทีวีคนเริ่มรู้จักมากขึ้น การที่จะลงพื้นที่หาข่าวเองก็ค่อนข้างเสี่ยงมากขึ้นแต่ถึงแม้จะมีคนทำข้อมูลให้เธอในการทำรายการ แต่เธอเองก็ยังคงหาข้อมูลต่างๆ อยู่เช่นเดิม “ถึงแม้จะมีคนหาข้อมูลมาให้ขวัญแล้ว แต่ขวัญเองก็ต้องหาข้อมูลเองในส่วนหนึ่ง เพราะเราจะรู้ว่าเราต้องการข้อมูลแค่ไหน คือขวัญต้องหาข้อมูลอยู่ตลอดยิ่งเป็นข้อมูลในเชิงโครงสร้างนะขวัญจะชอบมาก อย่างคุยกับพี่สารีเรื่องสิทธิผู้บริโภค นอกจากจะอิงเรื่องสิทธิต่างๆ แล้วก็จะอิงเรื่องกฎหมายเข้าไปด้วย แล้วต้องทำให้คนที่ดูรายการเราเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วย เพราะถ้าเรามีข้อมูลที่เยอะและรอบด้าน ภาพต่างๆ ที่เรานำเสนอออกไปมันก็จะชัดมากขึ้น ขวัญจะบ้าข้อมูลมาก โดยพื้นฐานแล้วจะรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่คนเก่ง ก็จะไม่ค่อยประมาท บางวันจะรู้สึกว่าบางครั้งเราพูดไม่ครบ ไม่น่าเลย อะไรแบบนี้ ก็จะให้ความสำคัญด้านข้อมูล การหาข้อมูลของขวัญก็จะมีทั้งหนังสือที่วางอยู่รอบโต๊ะทำงานขวัญ หรือไม่ก็อินเตอร์เน็ตแต่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตขวัญก็จะโทรเช็คข้อมูลกับศูนย์เขาด้วยนะ หรือไม่ก็ขวัญก็จะหาข้อมูลจากพี่ๆ ที่เนชั่นกรุ๊ปนี่ล่ะ เพราะเราก็อยู่กับแหล่งข้อมูลทั้งคมชัดลึก เนชั่นสุดสัปดาห์ คือใช้ประโยชน์จากองค์กรให้ได้มากที่สุด ซึ่งมันควรจะเป็นสิ่งที่คนทำงานสื่อต้องทำ ก่อนที่จะนำเสนอออกไป ซึ่งขวัญถูกสอนมาว่าการหาข้อมูลต้องเป็นวัฒนธรรมของคนทำสื่อ” การหาข้อมูลก่อนนำเสนอออกไปนั้น จอมขวัญ เน้นย้ำเพิ่มเติมว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก และเป็นพื้นฐานสำคัญเพราะสื่อเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ถ้าไม่รู้ข้อมูลถึงเรื่องที่ตัวเองจะนำเสนอทุกอย่างก็จบ เพราะผู้ดำเนินรายการข่าวอย่างเธอไม่ใช่แค่เพียงมีข้อมูลแค่ตรงหน้าเท่านั้น หากแต่ต้องมีข้อมูลเบื้องหลังต่างๆ ด้วย ทั้งสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตและข้อมูลเทียบเคียงกับเรื่องอื่นๆ หรือตัวอย่างของเรื่องที่เคยเกิดขึ้น ต้องมองให้รอบด้าน “เรื่องจำเป็นมากที่สุดก็คือเรื่องของเนื้อหาและข้อมูลความรู้ ซึ่งขวัญก็พยายามที่จะเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าต้องขยัน หลายคนถามว่าขวัญท่องสคริปต์อย่างไรเหรอ ดูเป็นธรรมชาติมากๆ แต่สำหรับขวัญแล้วมันไม่ใช่การท่องสคริปต์ ขวัญเรียกว่าขวัญมีข้อมูลดิบมากกว่า สคริปต์ก็เป็นเพียงแนวทางในการดำเนินรายการ ไม่ใช่ให้คนดำเนินรายการพูดเอง ซึ่งขวัญเชื่อว่าคนดูก็จะมองออกนะว่าจะเป็นอย่างไร” สื่อมวลชนกับผู้บริโภคในฐานะคนทำสื่อจอมขวัญเธอยอมรับว่าสื่อปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต มีผลอย่างมากต่อสังคม “สื่อโทรทัศน์วงรอบมันเร็วมากๆ ในช่อง 3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นรายการเล่าข่าวตีคู่มากับละครทีเดียว แต่อย่าไปดูที่เรตติ้งนะคะ พอแต่ละช่องมีการแข่งขันกันสูง ทุกคนก็อยากทำให้มันดีแต่พอมาหลังๆ ขวัญว่ามันเกิดความบิดเบี้ยวหลายๆ อย่างนะ การทำรายการเล่าข่าวคุณจะอยู่อย่างนั้นจนตายไม่ได้ ต้องพัฒนาตนเองเพื่อหาสินค้าใหม่ๆ มาให้สังคมด้วย หรืออาจจะคิดว่าตัวเองควรจะทำอะไรเพื่อกำหนดสังคมหรือเปล่า แต่นั่นมันไม่ใช่ ที่ต้องทำก็คือ ‘รับใช้สังคม’ ไม่ใช่มีหน้าที่ไป ‘ชี้นิ้ว’ แต่ขวัญก็เชื่อว่าสังคมเองก็น่าจะรู้ว่า ‘แบบไหนสื่อโดนใช้และแบบไหนใช้สื่อ’ ขวัญเชื่อว่า ธุรกิจสื่อก็เหมือนประชาธิปไตยที่ต้องมีการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันอีกสื่อที่เข้ามาและควบคุมไม่ค่อยได้ก็คือสื่อทางอินเตอร์เน็ต เพียงแค่คุณมีกล้อง 1 ตัวคุณก็เป็นคนทำสื่อได้แล้ว นำเสนอสื่อได้เลย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย อย่างที่เราเห็นว่ามีการบล็อกเว็บบางเว็บ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ คำว่า”ข่าว” บางครั้งมันเป็นนิยามจริงๆ ของบางคนและบางที่ หรือบางทีคำว่าข่าวก็อาจจะเป็นแค่คำทางการตลาดของบางคนและบางที่เช่นกัน ซึ่งขวัญเชื่อว่าต้องพิสูจน์กันในระยะยาว เพราะจะมีทั้งข่าวพันธุ์แท้กับข่าวพันธุ์ทาง เพราะเวลาธุรกิจเข้ามาเรื่อยๆ ความเป็นข่าวก็จะเปลี่ยนไปอาจจะเป็นการขาย ขายโปรดักส์ ขายตัวบุคคลไป ข่าวบางข่าวไม่น่าจะเป็นข่าวก็นำมาเป็นข่าว” ปัจจุบันเราจะเห็นว่า หลายรายการนำเสนอข่าวแบบเล่าข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ซึ่งจอมขวัญมองประเด็นนี้ว่าข่าวบางข่าวก็ไม่น่าจะนำมาเล่า และการนำหนังสือพิมพ์มาอ่านในทีวีมันควรจะลดลง และหันมาทำรายการรูปแบบใหม่มากขึ้น ไม่ใช่นำคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมาทำรายการอย่างเดียว ต้องกล้าลงทุนเปิดโอกาสผู้ชมไดัรับในสิ่งอื่นๆ บ้าง และให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาและต้องพัฒนามากขึ้น น่าจะมีการพัฒนาแบบธุรกิจอื่นๆ เช่นกันไม่ใช่ทำรายการเล่าข่าวเพียงอย่างเดียว สื่อกับการตลาดนอกจากโฆษณาคั่นรายการแล้ว ฉลาดซื้อเชื่อว่าหลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องมีโฆษณาป้ายสินค้าต่างๆ ในรายการข่าวด้วย ทั้งที่เพิ่งโฆษณาไปเมื่อครู่นี่เอง ซึ่งจอมขวัญมองว่า “การ ทำธุรกิจสื่อก็ต้องใช้เงินทุน ต้องเป็นธุรกิจสื่อไม่ใช่เอ็นจีโอสื่อ เพราะอยู่ในโลกทุนนิยมก็ต้องมีเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สื่อเองก็ต้องมีจรรยาบรรณของสื่อเช่นกันว่าแค่ไหนพอ แค่ไหนถึงจะได้ขวัญคิดว่าสปอนเซอร์ที่ซื้อสื่อก็น่าจะเข้าใจ คือมันจะกระแทกหน้าคุณกลับไปแรงๆ เช่นกัน เหมือนคุณน็อคบอร์ดเทนนิสแรงๆ มันกระแทกหน้าคุณกลับแน่นอน ถ้าคุณล้ำเส้น กอง บก.ถูกป่ะ เนชั่นเองก็เคยผ่านภาวะแบบนี้มาพอควรทั้งเรื่องการเมืองที่อาจจะเข้ามาใน เรื่องการถือหุ้น การโฆษณา แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องผ่านตรงนี้ให้ได้เพราะมันแย่มากเราต้องแบ่งงานกันออกมาให้ได้ว่าเป็นการตลาดเป็นกองบก. ในการทำงานการตลาดอย่าล้ำเส้นมาในส่วนกอง บก.เด็ดขาด อย่างขวัญเองก็เคยเจอนะ เซลล์มาบอกขวัญเลยว่า ‘เอ พูดแบบนี้ ทางสปอนเซอร์เขาดูอยู่นะ’ ขวัญก็บอกเลยว่าให้เขาโทรมาคุยกับขวัญ แต่ที่ขวัญจะให้เขาได้ก็คือความเป็นธรรม เรื่องอะไรจะไปบอกว่าเขาดี แค่เขาซื้อเราเท่านั้นเหรอ ใช่ไหมคะ.. การที่คนข้างนอกบีบเราก็แย่พออยู่แล้ว คนข้างในของเราอย่ามาบีบกันเองเลย การตลาดทำได้ แต่ขอ ‘อย่ามาล้ำเส้นกอง บก. เพราะเราไม่เคยล้ำเส้นคุณ’ ซึ่งก็จะไม่ค่อยมีเซลล์คนไหนชอบขวัญ เรามีจรรยาบรรณของเราอยู่ เราก็ไม่ใช่เพิ่งจบมาแค่วันหรือสองวัน ถ้าหากคุณไม่เข้าใจก็คิดว่าคุณก็คงไม่เหมาะที่จะทำงานสื่อล่ะ ถ้าคุณไม่ปรับตัวก็น่าจะออกไปดีกว่า“ จอมขวัญยืนยันอย่างหนักแน่นถึงตัวตนคนข่าวของเธอ ทำให้ฉลาดซื้อสงสัยว่าด้วยเหตุนี้หรือเปล่าเธอจึงเลือกรับงานซึ่งเธอก็กล้าเปิดอกว่า เธอยึดมั่นในจรรยาบรรณส่วนตัว ถ้าเป็นงานอีเวนท์เธอก็จะรับ แต่ถ้าหากเป็นสินค้าและบริการเธอจะไม่รับเด็ดขาด แต่ก็มีบางงานที่ถูกหลอกไป “ขวัญถือว่าขวัญลงทุนในการทำหน้าที่ตรงนี้ ในการสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจมันเกิดขึ้นได้ยากกว่า จริงๆ ขวัญก็อยากจะรวยนะแค่รับโฆษณา 2 – 3 ชิ้นก็ได้แล้ว 7 – 8 หลัก แต่ขวัญเลือกเส้นทางข่าวแล้ว ขวัญจะไม่เลือกเอาคำว่า ‘ข่าว’ เป็นตัวขาย เพื่อที่จะไปหากิน มันไม่ใช่ สิ่งที่เราได้กับสิ่งที่เราเสียไปมันก็ต้องสร้างความสมดุลกัน ก็เคยมีสถานีทุกช่องแล้วนะคะมาชวนไปทำข่าวด้วย แต่ขวัญเลือกแล้วว่าจะอยู่ที่นี่เพราะขวัญก็เติบโตมาจากที่นี่ แล้วที่นี่ก็สอนขวัญหลายๆ อย่าง มันก็เสียโอกาสนะถ้าคิดเป็นตัวเอง แต่ถ้าคิดเป็นความน่าเชื่อถือ ขวัญก็คิดว่าขวัญไม่ได้ขาดอะไร มีความสุขค่ะที่ทำงานอยู่ที่นี่ ขวัญไม่ใช่แค่รักงานข่าวนะ แต่ขวัญรักเนชั่นกรุ๊ปด้วย” 1 วันของจอมขวัญ ใน 1 วันของเธอ จอมขวัญจะเริ่มต้นชีวิตของทุกวันในเวลาตี 4 เพื่อเตรียมข้อมูลในการคุยข่าวเช้าในเวลา 6 โมงเช้าถึง 8 โมงเช้า หลังจากนั้นเธอจะพักด้วยการนอน แล้วก็จะเริ่มงานประมาณบ่าย 2 อีกครั้ง เสร็จงานก็ราวๆ 4 ทุ่มครึ่ง หรือไม่บางวันก็จะเสร็จงานในราวๆ หกโมงเย็น แต่ก็จะยังไม่ได้กลับบ้านเพราะมีงานเบื้องหลังหรือไม่เธอก็จะหาข้อมูลที่โต๊ะซึ่งจะมีหนังสืออยู่รอบๆ ตัวเธอเยอะมาก “งานของขวัญ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็จะเสร็จราวๆ สี่ทุ่มครึ่ง แต่ก็จะกลับบ้านราวๆ ห้าทุ่ม ส่วนวันอังคาร พฤหัสฯ ก็จะเสร็จสักหกโมงเย็น แต่ก็จะกลับราวๆ สองทุ่ม เหนื่อยนะคะ แต่หัวใจมันยังไหว ยิ่งทำงานข่าวนานผลึกของหัวใจจะยิ่งแข็ง เพราะเรารู้ว่าตัวเองทำอะไร และเพื่ออะไรและที่รู้อีกอย่างก็คือขวัญอยู่ข้างประชาชน แต่ก็ต้องว่ากันตามถูกผิดนะคะ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะถูกตลอดนะ พอวิถีชีวิตเราเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา ทางบ้านก็เข้าใจถึงแม้แรกๆ จะไม่เข้าใจ แต่พอเขาเห็นชีวิตประจำวันที่ขวัญทำข่าวเช้ามา 3 ปี ไม่รวมที่อยู่กับเนชั่นมา 7 ปีนะคะ ก็มีวิถีชีวิตแบบนี้ เช้ามาก็มี ไก่ พระ จอมขวัญ อ้อแล้วก็ กนกด้วย….” พูดไม่ทันจบประโยคเธอก็หัวเราะในแบบจอมขวัญของเธอ นั่นคือเวลาเช้าของจอมขวัญ คนข่าวที่ฉลาดซื้ออยากบอกว่าทำข่าวข้นจริงๆ ฉลาดซื้อกับจอมขวัญตอนเห็นฉลาดซื้อจอมขวัญบอกว่า เธอก็มองเพียงเผินๆ ว่าก็คงเป็นเหมือนหนังสือแนะนำสินค้าทั่วๆ ไป แต่พอเธอเปิดดูข้างในแล้ว “โอ้ มันเด็ดมาก แต่ก็เปิดไปดูนะว่าเอ ได้รับการสนับสนุนจากไหนหรือเปล่านะ แต่ว่าไม่มีก็อ่า…แนวเดียวกัน ขวัญก็ใช้ข้อมูลจากฉลาดซื้อได้เยอะนะอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด อย่างใช้ตารางเปรียบเทียบข้อมูล แล้วคอลัมน์ก็จะทำให้เราได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่ผู้บริโภคควรจะรู้ รวมถึงส่งผ่านถึงวิธีคิด ตอนนี้ขวัญเริ่มอ่านคอลัมน์โทรคมนาคมมากขึ้นเพราะมีปัญหากับบริษัทของโทรศัพท์แห่งหนึ่ง อ่านข้อมูลในฉลาดซื้อแล้วนำไปใช้ได้ทุกเรื่องค่ะ ก็ขอให้ฉลาดซื้ออยู่ไปนานๆ นะคะ”   “รักงานข่าวค่ะ ชอบธรรมชาติของงานและเป้าหมายของงาน ธรรมชาติของงานสำหรับขวัญก็คือเป็นเรื่องที่ใหม่ทุกวัน ทำให้เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องใช้ทั้งความรู้เดิมและต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ขวัญไม่เบื่อ อีกอย่างก็คือชอบเป้าหมายของงาน นั่นก็คือตรงที่เราได้รับใช้สังคม”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ “เรา” ป้องกันได้

เรื่องสถานีขนส่งผู้โดยสารก็เป็นอีกเรื่อง ไม่รู้คิดหรือเปล่าก่อนสร้างน่ะ พอคนลงรถ ขสมก.แล้วเนี่ยจะเดินอีกไกลไหมกว่าจะไปถึงที่ขายตั๋ว ที่ขายตั๋วไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องให้คนภาคอีสานขึ้นไปซื้อตั๋วที่ชั้น 3 ดูข้าวของเขาสิ กลับบ้านทีข้าวของเต็มไปหมด ก็แบกกระเป๋าขึ้นไปซื้อตั๋วแล้วก็แบกกระเป๋าลงมาหรือไม่ก็ต้องจ้างรถเข็น การจะสร้างเราก็ต้องดูพฤติกรรมคนด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าสร้าง พอขึ้นรถได้ก็มาเจอรถที่เอาเปรียบอีก  ทราบหรือไม่ว่า แต่ละปีประชากรโลกสังเวยชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 1.2 ล้านคน รวมทั้งบาดเจ็บสาหัสและทุพพลภาพอีกหลายสิบล้าน เฉพาะในประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตในปี 2550 กว่า 1.3 หมื่นคน การสูญเสียเช่นนี้สามารถลดลงได้ ด้วยมาตรการที่เราคุ้นชิน ได้แก่ การสวมหมวกกันน็อค การคาดเข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว การรณรงค์เมาไม่ขับ เป็นต้น ซึ่ง ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี จบปริญาเอกด้านวิศวกรรมจราจรและการขนส่ง และทำงานด้านการวางแผนจราจรการขนส่งเป็นหลัก โดยทำงานร่วมกับกรมทางหลวง งานจราจร กรมขนส่ง หลังจากทำไปสักพักก็เริ่มมองเห็นปัญหาการเพิกเฉยต่อความปลอดภัย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงตั้งหน่วยหน่วยสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ การเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน ซึ่งใครหลายๆ คนอาจมองว่าไม่สำคัญเพราะมักคิดว่าอุบัติเหตุพอเกิดขึ้นแล้ว เกิดการเสียชีวิตแล้วเรื่องก็จบ ความจริงมันไม่ใช่ อุบัติเหตุเราวางแผนล่วงหน้าได้ ป้องกันได้ ทำไมอาจารย์ถึงสนใจเรื่องรถโดยสารสาธารณะเพราะผมใช้รถโดยสารสาธารณะมาตั้งแต่เล็กจนโต จนปัจจุบันก็ยังใช้อยู่เพราะเดินทางจากบ้านที่กรุงเทพฯ ไปสอนที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งอยู่โคราช ที่ใช้รถโดยสารสาธารณะก็เพราะคิดว่านั่นคืออาชีพของเขา น่าจะขับได้ดีกว่าที่ผมขับเอง ถ้าเทียบสถิติการขับในระยะทางเท่าๆกัน ระหว่างผมกับคนขับรถโดยสาร อัตราการเกิดอุบัติเหตุของเขาน่าจะน้อยกว่า เพราะเขาขับเส้นทางนี้ประจำ ระบบรถโดยสารสาธารณะของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรผมคิดว่าคนให้บริการเองก็ยังไม่เข้าใจการให้บริการ เคยกระโดดขึ้นรถเมล์ไหม ขสมก.ไหม ไม่ใช่ว่าเราอยากกระโดดนะ แต่รถเขาไม่ยอมจอด เขาเพียงชะลอ เพื่อที่จะไปต่อเท่านั้นเอง เขาไม่รู้หรอกว่า การจอดรถอยู่กับที่ให้คนขึ้นลงโดยสะดวกนั้น ใช้เวลาไม่มากหรอก แต่ความปลอดภัยที่ได้จะสูงขึ้น เห็นไหมว่าคนที่ตกรถเมล์ ถูกรถทับ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนขับขาดความเข้าใจว่าหน้าที่ หรืออาชีพของเขาคืออะไร นอกจากแค่วันหนึ่งๆ ได้เงินเยอะ ระบบให้ผลตอบแทนกับพนักงานอย่างคนขับรถ บ้านเราไม่เอื้อด้านการบริการ แต่กลับไปเอื้อที่ระบบการแข่งขันมากกว่า ใครทำเงินได้มาก รับผู้โดยสารได้มากถึงได้มาก มันก็ทำให้คนขับแข่งขันกันเอง แข่งกันทำรอบ กลายเป็นว่าไปเน้นที่ความเร็วไปการให้รางวัลหรือค่าแรงจึงไม่สมดุลกัน รถโดยสารบ้านเรายังไม่มีการพัฒนาด้านการผลิตเพื่อยกระดับมาตรฐาน ถ้าไปดูในต่างประเทศผู้ประกอบการจะมีการแข่งขันกันด้านเทคนิค มีระเบียบ มีมาตรการขึ้นมารองรับอย่างชัดเจนในการผลิตรถขึ้นมา การพัฒนาก็จะมีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของรถก็เลือกรถที่มีคุณภาพดี แต่บ้านเรากลับไปแข่งขันกันที่ราคา ยิ่งถูกเท่าไรยิ่งดี ผู้ประกอบการเองก็พยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายตัวเองลงให้เหลือน้อยลงเช่นกัน คือใช้วัสดุอะไรก็ได้ในการทำรถเพื่อให้ต้นทุนต่ำ รถบ้านเราจึงไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ ความปลอดภัยก็น้อยลง เรื่องสถานีขนส่งผู้โดยสารก็เป็นอีกเรื่อง ไม่รู้คิดหรือเปล่าก่อนสร้างน่ะ พอคนลงรถ ขสมก.แล้วเนี่ยจะเดินอีกไกลไหมกว่าจะไปถึงที่ขายตั๋ว ที่ขายตั๋วไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องให้คนภาคอีสานขึ้นไปซื้อตั๋วที่ชั้น 3 ดูข้าวของเขาสิ กลับบ้านทีข้าวของเต็มไปหมด ก็แบกกระเป๋าขึ้นไปซื้อตั๋วแล้วก็แบกกระเป๋าลงมาหรือไม่ก็ต้องจ้างรถเข็น การจะสร้างเราก็ต้องดูพฤติกรรมคนด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าสร้าง พอขึ้นรถได้ก็มาเจอรถที่เอาเปรียบอีก อย่างเอาเก้าอี้หัวกลมมาวางตรงกลางซึ่งมันไม่มีความปลอดภัยอะไรเลย เข็มขัดนิรภัยซึ่งในกฎกระทรวงกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมี แต่จะมีเพียงบางคันเท่านั้นที่ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกต่อสังคม รู้ไหมว่าการติดเข็มขัดนิรภัยช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินค่าชดเชยการบาดเจ็บของคนต่างๆ ได้เยอะ ต้นทุนลดลงได้มากกว่าถ้าเขาลงทุนติดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่เป็นปัญหาของระบบขนส่งก็คือการจัดสัมปทานรถ บางรายมีแค่รถไม่กี่คันก็เอารถมาวิ่ง จริงๆ แล้วผู้ถือสัมปทานน่าจะเป็นรายใหญ่เพราะเขามีรถเยอะ แล้วมีงบประมาณที่จะพัฒนาคุณภาพรถให้ดีขึ้น ในต่างประเทศผู้ถือสัมปทานกับบริษัทรถจะเป็นเจ้าเดียวกัน แต่บ้านเราไม่ ผู้ถือสัมปทานเป็นอีกเจ้า แต่รถที่มาวิ่งกลายเป็นอีกผู้ประกอบการไป ก็เก็บกินค่าหัวคิวกันไป ระบบขนส่งบ้านเราจึงยังไม่พัฒนา ยังไม่มีหัวใจของการให้บริการ นอกจากบริการผู้โดยสารแล้วก็ต้องบริการคนของตัวเองด้วย อย่างคนขับรถเวลาถึงที่หมายแล้วก็ต้องมีห้องให้เขาพัก แต่ของไทยนี่นอนอยู่บนรถ อะไรแบบนี้ บริการต่างๆ ของสถานีขนส่ง เช่น ห้องน้ำ ก็เก็บค่าบริการเอากับผู้โดยสาร ทั้งที่ควรไปเก็บกับผู้ประกอบการรถโดยสารโน้นคิดเป็นรายเดือนกันไป หรือแม้แต่ห้องน้ำบนรถก็เถอะ ต้องปรับปรุงเพราะมันเหม็นมาก ต้องให้ผู้บริหารงานหรือผู้คิดแผนงานมานั่งมาใช้บริการแล้วเขาจะรู้ทันทีว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไรบ้าง การควบคุมของรัฐเองก็เป็นปัญหา บ้านเราก็กรมการขนส่ง เพราะเมื่อไรที่รัฐยังดูแลค่าโดยสารโดยที่ไม่มองต้นทุนที่แท้จริงก็ลำบากเช่นกัน ผู้ประกอบการเองก็พัฒนาต่อไปได้ยาก แต่ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการปัจจุบันก็มีกำไร เพราะไม่งั้นคงเลิกกันไปหมดแล้วล่ะ รถโดยสารที่ดีควรมีลักษณะอย่างไรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1 เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 1 มาตรฐาน 2 มาตรฐาน 3 มาตรฐาน 4 มาตรฐาน 6 มาตรฐาน 7 และรถขนาดเล็ก ข้อแรกก็คือ ต้องเป็นคัสซี (chassis) ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร ซึ่งประกอบด้วยโครงคัสซีต้องทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังรถ ต้องมีกันชนทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถ หรือยื่นจากหน้ารถ และท้ายรถระยะห่างพอสมควร และต้องผ่านขั้นตอนในการทดสอบ 7 ขั้นตอนนั่นคือการบิดตัวของโครงสร้าง การดึงขณะอยู่นิ่ง และเคลื่อนที่ การยก การแขวน และความทนทานของโครงสร้าง ข้อสองจะเป็นการกำหนดเรื่องตัวถังรถ ต้องยึดติดกับโครงคัสซี (Chassis) อย่างมั่นคงแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งแบบตัวถังของรถก็ต้องเป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งประกาศกำหนด เช่นเรื่อง หลังคาทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ พื้นรถต้องมั่นคงแข็งแรง หน้าต่างด้านข้างรถ มีขนาด และจำนวนตามสมควร ทำด้วยวัสดุที่ แข็งแรง ที่นั่งผู้โดยสารตรึงแน่นกับพื้นรถซึ่งในบ้านเราพบกว่าหลังเกิดอุบัติเหตุเบาะรถหลุดและมาทับผู้โดยสารเป็นส่วนใหญ่นะ กลายเป็นว่าเป็นส่วนที่ทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บหนักขึ้น อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือเข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถ และแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดไว้ ซึ่งเข็ดขัดนิรภัยจะช่วยให้ตัวผู้โดยสารยึดติดกับเก้าอี้ ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถ และช่วยลดการสูญเสียได้มาก มีแนวทางไหนที่จะพัฒนารถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้นอีกบ้างในความคิดของผมนะ ตราบใดที่คนที่ทำเรื่องระบบรถโดยสารสาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้ใช้บริการเอง เขาไม่มีทางรู้หรอกว่าคนที่ใช้รถน่ะเขาลำบากขนาดไหน รถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถวิ่งประจำทาง รถวิ่งไม่ประจำทาง รถรับพนักงาน ถือว่าเป็นรถโดยสารสาธารณะหมดรัฐเองก็ต้องเข้ามาดูแล ทั้งทางด้านอุปกรณ์นิรภัยต่างๆ ร่างแบบรถโดยสารสาธารณะให้ได้มาตรฐาน พร้อมบังคับให้รถทุกคันต้องติดเข็มขัดนิรภัยเพราะจะช่วยลดการบาดเจ็บได้มาก ระยะห่างของเบาะรถก็ต้องได้มาตรฐานเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดการกระแทกกันของผู้โดยสารได้ ซึ่งแค่กระแทกกันก็อาจตายได้ อู่หรือตัวแทนการตรวจสอบของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสภาพของอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยภายในรถโดยสารเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง เช่น ตรวจพบน็อตเบาะไม่แน่น 3 ใน 24 เบาะของผู้ประกอบการรายนั้น จะต้องถูกพักใบอนุญาตวิ่งรถกี่วัน จนกว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้รถตัวเองพร้อมก่อนจะให้บริการ แค่ดูเบาะกับเข็มขัดนิรภัย ผมว่าให้ดูแลเข้ม 2 เรื่องนี้การสูญเสียก็จะน้อยลง รวมถึงหาทางให้คนพิการเข้าถึงบริการสำคัญกว่า ทำไมบันไดรถเมล์บ้านเราต้องปีนบันไดขึ้นสูงขนาดนั้น อย่าไปคิดว่าคนพิการมีจำนวนน้อย ถึงแม้จะมีมาตรการหรือมีจัดวางแผนการช่วยชีวิตให้เป็นระบบหลังเกิดอุบัติเหตุออกมา แต่ก็ออกมาตรการมาค่อนข้างช้า อย่างเรื่องเข็มขัดนิรภัยประกาศออกไปเลยว่า รถทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัย เบาะต้องยึดโยงอย่างแน่นหนา และต้องควบคุมดูแลอย่างจริงจัง แม้จะมีการป้องกันต่างๆ แล้วก็ตาม แต่หากเกิดอุบัติเหตุก็ต้องมีการจัดการวางแผนการช่วยชีวิตที่รวดเร็ว รวมถึงจัดให้ผู้ที่รับผิดชอบสั่งการในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหมู่ เช่น หัวหน้าหน่วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ในพื้นที่หรือตำรวจร้อยเวร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมอุปกรณ์หรือจัดหน่วยงานที่สามารถประสานงานขออุปกรณ์มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เราจะเลือกนั่งรถโดยสารอย่างไรให้ปลอดภัยเรื่องแบบนี้เราต้องติดตามข่าวด้วยว่ารถบริษัทไหนเกิดอุบัติเหตุบ่อยเราก็ไม่นั่ง ก่อนซื้อตั๋วก็คิดก่อน แล้วเวลาจะขึ้นรถก็ต้องสังเกตดูยางรถยนต์หน่อยว่ามีดอกยางไหม ถ้าไม่มีก็อย่าขึ้นจะดีกว่า ให้ดูหน้าคนขับหน่อยว่าหน้าตาเขาสดชื่นดีหรือเปล่า เพราะเขาคือคนที่จะขับรถ พอไปถึงเบาะก็ให้ดูเข็มขัดนิรภัย แล้วก็ต้องคาดด้วยนะเพราะจะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 หญิงแกร่งแห่งวงการยา “ผศ.ภญ.สำลี ใจดี”

ทุกคนมีสิทธิสัมภาษณ์โดย อวยพร แต้ชูตระกูล และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุลถ่ายภาพโดย อนุชิต นิ่มตลุงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ 'หลังประติมาสาธารณสุข' 2552ในแวดวงเรื่องยา น้อยคนที่จะไม่รู้จัก อ.สำลี ใจดี ผู้หญิงแกร่งที่สร้างคุณูปการมากมายให้ประเทศนี้ ทั้งในทางแจ้งและทางลับ ธรรมดา อ.สำลี ไม่ชอบการให้สัมภาษณ์ จึงไม่ค่อยมีใครได้เคยอ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็มรูปแบบเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตของท่านมาก่อน แต่…กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สามารถ และนำเรื่องราวของท่านมาเป็นบรรณาการแก่ผู้อ่านฉลาดซื้อ   การส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน ศึกษาวิจัยการใช้ยาของชุมชน การใช้ยาซองยาชุด รณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด-ยาซองแก้ปวดควบคู่กับการยกเลิกสูตรตำรับยาที่ไม่เหมาะสม...ส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม ...รณรงค์การใช้ยาสมุนไพร (ตั้งแต่สมัยที่ไม่มีใครเหลียวแล)... คัดค้านการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร เปิดโปงทุจริตยา 1,400 ล้านบาท ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หนุนหลังให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศซีแอล (การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) นำเข้าในยาต้านไวรัสเอดส์, ยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ในชื่อสามัญให้คนไทยเข้าถึงยาจริงๆ นี่เป็นเพียงผลงานบางส่วนของ “ผศ.ภญ.สำลี ใจดี” หญิงแกร่งที่เป็นทั้งนักวิชาการผู้มั่นคง และเอ็นจีโอผู้มุ่งมั่นที่อยู่เบื้องหลังของเกือบทุกเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุขร่วมสมัย  อยากทราบว่าทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนเภสัช จริงๆ แล้ว ทีแรกไม่ได้อยากเลือกเภสัชนะ อยากเรียนวารสารศาสตร์มากกว่า แต่พ่อบอกว่าควรจะสืบทอดมรดก คือที่บ้านปู่ทวดเป็นหมอพื้นบ้าน เวลาเข้าบ้านที จะหอมฟุ้งทั้งบ้านเลย เราก็เลยมีหน้าที่สืบทอดการช่วยชีวิตคนต่อไป ตอนนั้นคิดว่าเป็นหมอช่วยชีวิตคนได้เยอะที่สุดแล้ว สมัยก่อนใช้วิธีสอบตรง ก็สอบได้หลายที่ แต่ปีก่อนหน้านั้น สอบได้บัญชี ธรรมศาสตร์ เรียนอยู่ครึ่งเทอม ก็ทนเรียนไม่ได้ สอบวิชาบัญชี เราได้ B+ เกือบ A หมด อยู่ในเกณฑ์ท็อป 20 % แรกของชั้นปี แต่สอบตกอยู่ 1 วิชา คือวิชาเลขานุการ วิชานี้คนที่สอบตกมีแต่พวกไม่เรียน (คือมันง่ายมาก) แต่เราตก เพราะข้อสอบเขาสั่งให้แสดงความเห็นว่า เป็นเลขานุการคุณควรจะประพฤติตัวอย่างไร ต้องเก็บความลับ รวมทั้งมุสาด้วย ต้องออเซาะเจ้านาย เรารับไม่ได้มันผิดศีลธรรม ก็เลยเขียนด่าลงไปในข้อสอบ แล้วก็เลยเลิกเรียนตั้งแต่ตอนนั้น พักเรียนไปครึ่งปีเพื่อติวตัวเอง สอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ คราวนี้เลือกหมอ และเภสัชเป็นอันดับ 2 ก็ได้เภสัช สอบได้เภสัช ตรงกับที่อยากเรียนไหม เฉยๆ เพราะมันไม่ใช่ที่ชอบที่สุด เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราก็ไปเสพสุขด้านนั้นมากกว่า การเรียนไม่มีปัญหา แต่ก็มีเรื่องขำขัน ตอนนั้นมาเรียนที่เภสัช จุฬาฯ เขามีบันไดขึ้น 2 ทาง เขาจะขึ้นทางลงทางหรือสวน พอไปถึงวันแรก รุ่นพี่ก็บอกว่ารุ่นน้องต้องให้พี่ขึ้นก่อน เราก็หันขวับ สวนไปเลย “พ่อแม่ไม่เคยสอน” รับมันไม่ได้เลย เพราะที่บ้านมีแต่สอนให้พี่ยอมให้น้อง เหมือนอยู่คนละโลก พอรับน้องก็ถูกยิงหัวเลย เขาว่า เราปากจัดมาก คือสมัยรับน้องจะมีการทาแป้งแกล้งรุ่นน้อง เราก็เลยหัวขาวมากที่สุด ปกติ เรายอมให้เฉพาะครูเท่านั้น สมัยนั้น ระเบียบจัดมาก ผู้ชายต้องผูกเนคไท ผู้หญิงต้องผูกโบว์ เราก็บ่นมากตอนผูกโบว์ว่าไม่เห็นจะทำให้ฉลาดขึ้นตรงไหนเลย สมัยที่อาจารย์เรียน มันมีอะไรที่ทำให้เกิดความคิดเชิงสังคมบ้างไหม เราเป็นพวกสัตว์ประหลาด ที่เรามีความคิดแต่หาอะไรไม่ค่อยได้ แต่เนื่องจากเป็นคนที่อ่านเยอะ อ่านหนังสือพิมพ์ตอนนั้นก็มีอยู่ 2-3 ฉบับ เช่น สยามรัฐทั้งรายวัน รายสัปดาห์ สมัยนั้นคึกฤทธิ์ยังแม่นประเด็น ปี 05-06 หนังสือในห้องสมุดเราอ่านหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ เรื่องอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่บ้านอาจารย์เน้นมาก บ้านที่บ้านนอก สมัยก่อน พอพ่อมากรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์ห่อของ 1 แผ่น เราก็อ่าน เพราะหนังสือมันหายยากมาก มีแค่ไม่กี่เล่ม คุณต้องอ่านรามเกียรติ์ คุณต้องอ่านสามก๊ก คุณต้องอ่านพระอภัยมณี อันนี้เป็นที่พ่ออ่าน ย่าอ่าน เราก็ต้องอ่าน เรียนรู้มาแบบนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจตัวระบบผู้ชายเป็นใหญ่เป็นยังไง แต่ที่บ้านอาจารย์เขาสอนแบบ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เนื่องจากพ่ออาจารย์มีลูกสาว 4 คน ส่วนลูกชายเป็นคนเล็กตามมาทีหลัง ซึ่งที่พ่อสอนก็คือไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะผู้หญิงมีความอดทนมากกว่า อย่างพี่สาวอาจารย์ก็เป็นช่างไม้ เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์อ่านหนังสือหมด ก็เลยทำให้คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ต้องคุยกับครู แต่บางคนนะที่รู้เรื่อง อย่าง อ.พัทศรี อนุมานราชธน สอนที่โรงเรียนศึกษานารี แล้วก็ อ.ประดิษฐ์ หุตะกูล ก็คุยการเมือง ตอนนั้นก็คุยได้อยู่ไม่กี่คน ตอนที่ไปสอบทุนปริญญาโท อาจารย์จาก Rockefeller มาเพื่อสัมภาษณ์เด็กชิงทุน พอดีเพื่อนร่วมชั้นของอาจารย์ เขาเป็นนักเรียนเหรียญทอง เข้าสัมภาษณ์ อาจารย์เขาบ่นว่า ทำไมนักเรียนเหรียญทองตอบไม่ได้ พออาจารย์เข้าไป คะแนนเราก็ค่อนข้างแย่นะ เมื่อเทียบกับนักเรียนเหรียญทอง สิ่งที่เขาถาม เป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง คุยการเมือง คุยเรื่องงบประมาณ คุยเรื่องแนวโน้มของสังคม อาจารย์คุยได้หมดทุกประเด็น เขาชอบมาก ถามว่า Why do you know everything? Why do you have a dozen Ds? เกรด D เต็มไปหมด (หัวเราะ) ก็เลยได้ทุน ที่ คณะเภสัชฯ จุฬาฯ อาจารย์สอนอะไร เริ่มแรกสอน สรีรวิทยา (Physiology) เพราะน่ารัก (หัวเราะ) เป็นเรื่องกลไกการทำหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต... ร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์เยอะแยะ เป็นสังคมใหญ่ อาจารย์สนใจว่าเซลล์เยอะแยะมากมายอยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร ธรรมชาติมีการแบ่งระบบอย่างดี มีกลไกควบคุมตัวเอง (Negative Feedback Mechanism)ให้อยู่ในภาวะสมดุลบนฐานของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเห็นความสมดุล (Balance) ของเซลทั้งหลายที่ธรรมชาติไม่เห็นแก่ตัว กินใช้เฉพาะส่วนที่จำเป็น ที่เหลือให้ส่วนรวม (เลือกปิด-เลือกเปิด เลือกรับ-ปรับใช้) เป็นความน่ารักที่ชอบมาก... สังคมเล็กๆ ของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลล์เดียว หลายเซลล์รวมกันจนในที่สุดเป็นร่างกายเป็นสังคมมนุษย์ ...คล้ายๆ สังคมในอุดมคติ มีวิธีการทำงานที่เหมือนทำสมาธิแล้ว Control ตัวเองได้ รู้อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร และที่พอเหมาะอยู่ตรงไหน ถ้ามากเกินไปก็เป็นมะเร็ง ถ้าน้อยเกินไปก็ตีบตัน อันนี้ชัดเจนมากในเชิงระบบ ถ้าเปรียบก็เหมือนหลักทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เรียนแบบนี้ก็เข้าใจไม่ต้องท่องจำมากนัก เพราะ “ตัวเองต้องควบคุมตัวเอง ให้คนอื่นคุมไม่ได้”… ต่อมาก็สอนสุขภาพอนามัย สาธารณสุข เภสัชสาธารณสุข ระบบยา นโยบายยา จริยธรรมเภสัชกร ฯลฯ กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มาจากไหน ตั้งกลุ่มก่อน หรือเห็นปัญหาก่อน เห็นปัญหาก่อน ต่อมามีเพื่อนครูกะลูกศิษย์มาร่วมก่อตั้ง กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) เมื่อเสาร์ 10 มีนาคม 2518 คือเห็นปัญหามานานแล้ว แต่ไม่ได้ จังหวะ... ต้องรู้ปัญหา-ต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะชาวบ้านเจ็บไข้ต้องพึ่งตัวเองไปซื้อยามากิน...กินแล้วเป็นโรคกระเพาะ คนไข้ไปโรงพยาบาลเกิดอาการกระเพาะทะลุเยอะมาก เลือดจาง เพราะยาที่ชาวบ้านซื้อมาเป็นยาไม่เหมาะสมทั้งสูตรตำรับ รูปแบบ คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งวิธีใช้ไม่ถูกต้อง ฯลฯ อาจารย์ก็ชักชวนลูกศิษย์มาตั้งกลุ่ม ที่จริงมีทั้งเพื่อนครูและลูกศิษย์ ที่เห็นปัญหาเองในช่วงไปออกค่ายตั้งแต่ปี 2513 ต่อมา ปี 2516-2517 มีกลุ่มที่รู้สึกเบื่อมากๆ ว่า หลักสูตรเภสัชที่เรียนมาตั้ง 5 ปี นั้นไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของคนไทย... พวกนิสิตเภสัชก็ก่อการดีขอให้มีการพัฒนาหลักสูตร แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ คือผู้บริหารไม่เข้าใจ ...นิสิตทำการประท้วง หยุดเรียน หยุดสอบ ไล่คณบดี.... กลุ่มอาจารย์ที่สนใจพัฒนาชนบท ก็เดินสายพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา ชี้ให้เห็นปัญหา ช่วยกันสร้างกลไกให้ไปทำงานในชนบทได้มากขึ้น สำหรับอาจารย์ คิดว่าอะไรเป็นตัวแทนที่จะบอกได้ว่านิสิตประสบความสำเร็จ หนึ่ง ต้องไม่ถือเตารีดและคันไถไปรีดไถประชาชน อันนี้เป็นคาถาที่พูดเลยนะ เอาเปรียบ หลอก โกหกหรือทำอะไรที่ไม่ดี ถือว่าใช้ไม่ได้หมด สอง ต้องทำหน้าที่บัณทิตเต็มมาตรฐาน ตอนนั้น กฎหมายยา 2510 กำหนดให้เภสัชต้องทำงานอยู่ประจำทั้งในโรงานผลิตยาและร้านยา แต่เภสัชบางคนไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ... ตอนนั้นนิสิตนักศึกษาเริ่มมีกิจกรรมศึกษาอะไรบ้าง ช่วงปี 2513-2515 ทำค่ายในแนวบำเพ็ญประโยชน์กันเยอะมาก แรกๆ ก็ช่วยสร้างที่อ่านหนังสือ ต่อเติมโรงเรียน ซ่อมศาลาวัด สร้างสะพาน ช่วยสอนหนังสือนักเรียนในชนบท ฯลฯ ต่อมาหลัง 14 ตุลา 2516 ก็เริ่มปฏิวัติความคิด เช่น สายสาธารณสุขไปทำค่ายสาธารณสุข (โดยรวมกันทุกคณะในจุฬาฯ ก็มีแพทย์ เภสัช ทันตะ ทำเป็น “ค่ายสาธารณสุขร่วมสมัย” ) เป็นค่ายที่เข้าไปศึกษาสภาพปัญหา (ไม่ก่อสร้างถาวรวัตถุ) ไปสำรวจว่าชาวบ้านเจ็บไข้อะไร รักษาตัวอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องยาต้องไปสำรวจว่าชาวบ้านเคยกินยาใช้ยาอะไรบ้าง พบชาวบ้านกิน ยาชุด ยาซอง แก้ปวดเมื่อยกันมาก เช่น ทัมใจ บวดหาย (เป็นยาซองแก้ปวดสูตรผสม ประกอบด้วย แอสไพริน+ฟีนาซีติน+คาฟีอีน: Aspirin + Phenacetin + Cafeine /APC) แล้วทิ้งซองไว้เกลื่อนคันนา โดย “กินดิบ” คือ กินทัมใจแบบฉีกซองแล้วกรอกผงใส่ปากกลืนเลยโดยไม่กินน้ำ” ทั้งๆ ที่จริงยาพวกนี้ต้องกินน้ำเยอะ ไม่เช่นนั้นจะกัดกระเพาะ เป็นโรคกระเพาะ กระเพาะทะลุ เลือดจาง ยังพบคนไม่มีตังค์ซื้อก็เก็บเอาซองมาเลีย อยากยาติดยา (เหมือนคนเก็บก้นบุหรี่ที่ทิ้งตามถนนมาสูบ) ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงติดยานี้กันมากนัก จากปัญหาที่เห็นแล้ว ตอนนั้นเริ่มทำอย่างไร จับปัญหาเป็นตัวตั้ง ตอนแรกก็ส่งลูกศิษย์ที่สนใจชนบทไปขอเรียนรู้และฝึกงานที่โรงพยาบาลอำเภอ พอลงชุมชนก็จะเห็นสภาพอย่างนี้ ดูปัญหา ดูทีละขั้นทีละตอน ก็รู้ว่าต้องจัดระบบทำความเข้าใจในการค้นหาต้นเหตุแห่งปัญหา พบว่าชาวบ้านใช้ยาไม่ถูกต้อง ก็ไปช่วยแนะนำชาวบ้านถึงวิธีใช้ยา-กินยาที่ถูกต้อง กินก่อนอาหาร หลังอาหารทำอย่างไร นิสิตช่วยกันทำนิทรรศยาการเผยแพร่ความรู้ ร่วมกันทำโครงการ “ตู้ยาสู่ชนบท” ยาอะไรผลิตเองได้ ก็ช่วยกันผลิตยาหม่อง ยาธาตุ แล้วส่งต่อไปให้ชาวบ้าน ตู้ยาก็ไปขอลังไม้มาจากกรมศุลกากร ไปจ้างผู้ต้องขังในเรือนจำทำ แล้วก็แบกตู้ยาไปหมู่บ้านชนบท กลับมาอีก 2 เดือนไม่แบกแล้ว เพราะชาวบ้านเขาทำตู้ยาเข้าท่ากว่า สวยกว่า (หัวเราะ) ต่อมาก็ประสานงานขอยาที่จำเป็นจากรุ่นพี่ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ กศย. ช่วยทำสื่อเผยแพร่ความรู้ เช่น ปฏิทินส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน โปสเตอร์ สไลด์ประกอบเสียง ทำหนังสือเรื่องยาเป็นพิษ พิษของยา ไข้เด็ก การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อบรมถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านดูแลรักษาตนเอง ให้ใช้สมุนไพร เลิกใช้ยาชุดยาซอง ต่อมา ชาวบ้านก็ย้อนกลับมาว่า ซองยาเป็นของหลวง คือ ซองยาทัมใจมีตราครุฑ...ขลังมาก เขานึกว่าของในหลวง หลวงอนุญาตให้ทำ ถ้าไม่ดี ทำไมหลวงไม่บอก การสอนเพียงกินยาใช้ยาให้ถูกต้องนั้นไม่ทันกับการโฆษณาของบริษัทขายยา เราก็มาตรวจสอบทั้งระบบวิเคราะห์ว่า ทำไมถึงติดยากันงอมแงม ทำไม อย.ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแปลกๆ ยาสูตรผสม ยาที่ถูกเพิกถอนในต่างประเทศแล้ว เช่น ฟินาซีติน เพราะทำลายไตแต่ส่งออกมาขายเมืองไทย พบว่า ยาซองแก้ปวดทั้งหลาย เป็นยาสูตรผสม มี แอสไพริน + ฟินาซีติน + คาเฟอีน ทำให้ติด แม้ไม่ปวดเมื่อยก็อยากกิน ทางออกต้องเสนอให้ ยกเลิกเพิกถอนยาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด โดยให้ผลิตเป็นยาเดี่ยวเฉพาะยาที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เราก็เริ่มอย่างสุภาพ โดยส่งจดหมายเปิดผนึกไปบอก อย. เขาตอบกลับมาว่าไง รู้ไหม บอกว่า อาจารย์ก็สอนลูกศิษย์ไป ...เรื่องในสังคมอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของ อย. ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์ ... แล้วอาจารย์ทำอย่างไรต่อไป ก็รู้ชัดว่า ต้องแก้ไขเชิงระบบทุกระดับด้วย เริ่มต้นเน้นให้ความรู้ แค่นี้ไม่พอ ต้องมีทางเลือกด้วย เรื่องยาสมุนไพรก็เข้ามา เรื่องใช้นวดไทยแก้ปวดแทนยาก็เข้ามา ฉะนั้นงาน 10 ปีแรกของกลุ่มศึกษาปัญหายา เน้นในเรื่องใช้ยาให้ถูกต้อง มีอะไรที่ทำกินเอง-ใช้ได้เอง -ไม่ต้องซื้อ เน้นพึ่งตัวเอง สู้ในเชิงจากปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสู้ในเชิงระบบและหาเพื่อนให้มากขึ้น … การทำวิจัยทำให้คนที่เข้ามาช่วยทำงานมีประสบการณ์ โดยเฉพาะพวกนิสิตเภสัชจุฬาๆ จะกระตือรือล้นมาก ช่วยกันทำให้เป็น Student Center ถือเป็นขบวนการเรียนรู้ภาคสังคม วิชาชีพต้องทำอะไรเพื่อช่วยกันพัฒนาคนและช่วยกันแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเมื่อทำแล้วก็จะเจอปัญหาต่อเนื่องอีก คนบางส่วนจะรู้สึกว่า พวก กศย.ช่างอารมณ์อ่อนไหวเสียจริง โน่นก็เป็นปัญหา นี่ก็เป็นปัญหา เห็นอะไรก็เป็นปัญหาไปหมด แต่ทั้งหมดมาจากการทำวิจัย ทำให้เรามีความรู้จริงมิใช่ความรู้สึก เราเห็นปัญหา ทุกอย่างเป็นระบบมีหลักฐานอ้างอิง ต่อมาจึงก่อตั้ง มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา(มสพ.) ปี 2526 มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย(มพท.) ปี 2534 เพื่อรองรับการทำงานที่ขยายเพิ่มขึ้น งานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบาย คืองานวิจัยเรื่องอะไร เรื่อง การใช้ยาซอง APC การใช้ยาของชุมชน การใช้ยาชุด กรณียาชุดให้นิสิตสวมบทบาท (ปลอมตัว) เป็นผู้ป่วยหรือญาติ ไปซื้อยาตามอาการป่วยที่กำหนด ในพื้นที่ที่กำหนด ... ซักถามคนขาย ขอคำแนะนำ แล้วก็นำมาวิเคราะห์ว่าเป็นยาอะไร ส่วนการใช้ยาของชุมชน ทั้งครูและศิษย์เข้าหมู่บ้านในชนบทสัมภาษณ์ชาวบ้าน ในที่สุดก็ได้งานวิจัยที่เขาบอกว่าสั่นสะเทือนมาก ประเด็น ยาซอง เรื่อง APC แก้สูตรตำรับจากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว ส่วนยาชุดต้องแก้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 แต่กว่าจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งถือว่าเร็ว เพราะในสังคมไทยความเปลี่ยนแปลงใช้เวลาประมาณ 20 ปี ทำไมอาจารย์คิดว่า เวลา 10 ปีไม่นานเกินไปที่จะรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปัญหาซับซ้อนหมักหมมมานาน ต้องตรวจสอบและเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม ธรรมะก็สอนอยู่แล้ว ไม่ใช่กดปุ๊บติดปั๊บ ผลย่อมเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้แหละ ถ้าหวังผลตรงนี้ ก็ต้องทำอะไรอื่นๆอีกกว่า 4-5 เรื่อง จึงบรรลุ ... ก็แค่นี้ งานในช่วงทศวรรษที่ 2 ของกลุ่มศึกษาปัญหายา เริ่มตั้งแต่ปี 2528 เน้นทำงานเชิงระบบมากขึ้น ลงพื้นที่ไปเจาะปัญหา พร้อมๆ กับที่รัฐบาลสหรัฐฯ มากดดันเรื่องแก้ พรบ.สิทธิบัตร เพราะฉะนั้นจึงร่วมกันลุยงานทุกระดับ อ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และ อ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ศึกษาวิจัย เรื่องนโยบายและกลยุทธ์ในการควบคุมราคายา และ การใช้ยาในโรงพยาบาล ส่วน อ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล ทำงานพัฒนาและวิจัยในชุมชน โดยลงพื้นที่ อ.ด่านขุนทดเข้าหมู่บ้าน มี ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี, เพียงพร พนัสอำพล ฯลฯ เป็นกระบี่มือหนึ่ง ลุยปัญหาในพื้นที่ แล้วนำเสนอการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทำกันแบบองค์รวม เพราะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ระบบและขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องยาเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบของขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย ทำไมอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภค งานคุ้มครองผู้บริโภค คือ การถ่วงดุลเพื่อให้เท่าทันลัทธิบริโภคนิยม อันที่จริงเรื่องค่านิยมบริโภคนี้ ไม่ใช่มิติของวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องการนำเข้า ที่เกิดจากกระแสไหลบ่าจากทางตะวันตก โดยเฉพาะกระแสทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งมีกลยุทธ มีเครื่องมือต่างๆ เย้ายวนให้ผู้คนหลงใหลการบริโภค จนลืมสำนึกและกำพืดของตนเอง ที่ว่ามนุษย์ควรคิดผลิตได้เอง แล้วค่อยบริโภค แต่ตอนนี้ถูกกระตุ้นให้ซื้อเพื่อความโก้เก๋ พ่อค้าทำทุกอย่าง เพื่อให้สินค้าขายหมดและทุกอย่างเป็นสินค้า ลัทธิบริโภคนิยมเสนอการเสพสุขจากภายนอก เช่นโฆษณาความสุขที่คุณดื่มได้ ทำให้คนซื้อภูมิใจว่าได้ซื้อสินค้านั้นๆ แล้วหน้าจะใหญ่ แทนที่จะภูมิใจว่าการผลิตได้เองเป็นเรื่องดี เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เชื่อโฆษณา เชื่อความรู้สึกมากกว่าเชื่อความรู้จริง... ฉะนั้น จึงต้องร่วมกันสร้าง ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองตัวเอง และคนไทยทั้งหลาย ให้ได้รับความเป็นธรรมจากระบบโฆษณา การส่งเสริการขายที่ทำให้ทุกคนบริโภคเหมือนกันหมด วิ่งตามกันเป็นแฟชั่น ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจแล้ว จะได้มีสติ ยั้งคิด รู้ว่าควรจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ดังนั้นต้องวิจัยเพื่อสร้างความรู้ให้เท่าทัน ให้รู้จริง จึงต้องมาก่อน ซึ่งปัญหามีทุกระดับ ทั้งปัญหาในเรื่อง ระบบสังคม เรื่องการค้า เรื่องนโยบายภาครัฐ เรื่องกฎหมาย เหล่านี้ต้องรู้ให้จริงก่อนขับเคลื่อน ทำงานกันอย่างไร กศย.เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในแนวหน้า ปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อน เพื่อทำให้รู้ทั่วกัน ใช้วิธีเชิญนักข่าวมาคุยเรื่องเหล่านี้ ทำงานกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมาก นักข่าวต้องการข้อมูลอะไร ก็เอาข้อมูลที่รู้มาดูกันก่อน มาดูของจริง จะได้เข้าใจปัญหาด้วยกัน ทุกคนก็จิตใจดีมาก ที่อยากทำความจริงให้ประจักษ์ต่อสาธารณชน อะไรก็ตามถ้าเป็นประเด็นสาธารณะ ถ้าทำให้คนรู้ทั่ว ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ชาว กศย.ก็เลย เป็นนักวิชาการแนวใหม่ที่ทำวิจัยและรณรงค์ควบคู่กันว่า มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ไข โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนพร้อมกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงคนที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ ระดับอธิบดี ระดับปลัด สำเนาส่งสื่อมวลชน พอหลังๆ ทำถึงนายกฯเลย (หัวเราะ) แล้วสำเนาถึงรัฐมนตรี จดหมายถึงนายกฯเนี่ย นายกฯ ตอบนะ ส่วน อย.ไม่ค่อยตอบ เราก็พยายามมากในการช่วยชี้ให้เห็นปัญหา ซึ่งมีเต็มไปหมด ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งการทำอย่างนี้ ได้การตอบรับเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนได้มากขึ้น แล้วทำงานรณรงค์กับประชาชน คือ ชาวบ้านต้องรู้ รู้แล้วช่วยกันแก้ไขต่อในระดับนโยบาย ฐานคิดนี้ก็ยังอยู่เป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด ทั้ง 2 ด้านนี้ต้องทำไปด้วยกัน คราวสู้เรื่องสิทธิบัตรเป็นการรณรงค์ที่ใหญ่มากทำอย่างไร อันนี้นักวิชาการเข้าช่วยกันเยอะมากนะ มีฝ่ายก้าวหน้าที่คุยกันรู้เรื่อง เห็นปัญหา เชื่อมถึงกัน เน้นช่วยกันศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบและช่วยกันขับเคลื่อน มีกัลยาณมิตรมากมายหลายฝ่ายมาช่วยกัน มีนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน ช่วยกันคิดออกแบบ คิดว่าจะทำยังไงถึงจะรู้ทั่วกัน ช่วยกันรณรงค์ทุกรูปแบบ มีเพื่อนเยอะจริงๆ บทเรียนก็เยอะ ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 2516 ตอนนั้น มีกลุ่มศึกษาหลายกลุ่มต้องคุยทุกเย็น หรือทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เขาว่า อาจารย์ค้านระบบสิทธิบัตร แน่นอนต้องค้าน เพราะเอาเปรียบกันมากเกินไป แต่เดิมยังยอมรับในแง่คุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีผลิต ควบคู่กับถ่ายทอดเทคโนโลยี และคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กำหนดควบคุมราคาและคุณภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบสิทธิบัตร ที่ต้องการคุ้มครองคนที่ประดิษฐ์คิดค้นจริง (Invention) ซึ่งเป็นพวกที่น่าคุ้มครอง จึงต้องมีระบบคุ้มครองสติปัญญา เพราะพวกนี้เป็นคนไม่แสวงกำไร สนใจแต่จะคิดค้น แต่พอกลุ่มที่เป็นพวกแสวงหากำไรเข้ามา คนคิดค้นกลายเป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นแบบอิสระแบบดั้งเดิม การถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ไม่ถ่ายทอด คุ้มครองผู้บริโภคเรื่องควบคุมราคาก็ไม่ทำ กลายเป็นสนองผลประโยชน์นายทุน อันนี้ยอมรับไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เราเห็นความเลวร้าย ความใจร้ายของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่นายทุนนำมาใช้กับทาสทางการค้า เพราะฉะนั้นจุดยืนของเราก็ต้องรู้เท่าทัน เรายอมรับให้สิทธิบัตรกับเทคโนโลยีที่ใหม่จริง ในช่วงเวลาและราคาที่เหมาะสม ช่วงปี 2532-2542 เรามีเพื่อนทั่วโลกมากขึ้นจึงร่วมกันสู้เป็นทีมเอเชีย สร้างพลังต่อรอง ตอนนั้นเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรอยู่ตลอดเวลานะ ต่อสายกับ Health Action International ไปขับเคลื่อนในการเจรจาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่โดฮา ตอนนั้นเป็นครั้งแรกๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองเรื่องสุขภาพ จากนั้นเราก็ตรวจสอบสิทธิบัตรยา ddI ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดถึงการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (CL) ขบวนการสู้ก็สู้กันตลอด มีการปรึกษากันตลอดว่า ทำได้ไหม ทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ประเด็นทางสังคม ทางวิชาการ การเมือง ดูทั้งหมดทั้งขบวน ฉะนั้นต้องเลือกใช้เครื่องมือ กลวิธี ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ชาวไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องมียาที่จำเป็นใช้ ต้องเข้าถึงยา ถ้าใหม่จริงจ่ายแพงเราก็จะจ่าย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่จ่าย ถ้าแพงเกินก็ต้องควบคุมราคาหรือใช้ CL ต้องเตรียมทำการเฝ้าระวังข้อมูลสำคัญมาก สู้เรื่องการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ยันมาได้ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม จนถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย แต่มาแพ้ตอนช่วงรัฐบาล รสช. ในปี 2535 อาจารย์รู้สึกอย่างไร ก็ไม่เชิงแพ้นี่ อาจารย์ไม่เคยพูดว่า แพ้เลย ทำไมอาจารย์ถึงคิดว่าไม่แพ้ ก็ไม่แพ้ เพราะตัวเราไม่แพ้ มันเป็นปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ถ้าเราแพ้ก็คือเลิกทำงาน ซึ่งเราไม่แพ้ เราต้องมีจังหวะก้าว เราก็เข้าใจว่าไม่ได้แพ้ เราก็ต้องสู้ต่อไง ไม่มีเวลาหยุด เพราะบริษัทยาคิดล้ำหน้าตลอด ต้องคิดดักทาง ปัญหาที่เกิดเป็นแรงผลักดัน (drive) ของเรา ชัยชนะมีขั้นตอน ก็รู้อยู่ว่าบริษัทได้มากกว่าที่ประชาชนได้ อันนี้เข้าใจ แต่เราไม่แพ้ เราไม่ถอดใจ แล้วหลังจากที่ พรบ.สิทธิบัตร ออกมาเป็นแบบที่เราคัดค้าน ตอนนั้นอาจารย์คิดถึงอะไร ตอนนั้นปี 2535 เราคิดกันว่า เสียนิ้วรักษามือ เสียแขนรักษาหัว ก็โอเค เมื่อยอมรับกัน เราก็มีกำลังในการคิด เรื่องสิทธิบัตรต่อ เห็นว่า ยังมี คณะกรรมการสิทธิบัตรยา อยู่ในกฏหมายสิทธิบัตร ฉบับแก้ไข พ.ศ.2535 เพราะฉะนั้นเรายังติดตามตรวจสอบเรื่อง การจดทะเบียนสิทธิบัตร เรื่องควบคุมราคายาได้ เราทำใจได้ว่า ถ้ายาใหม่จริงๆ ก็ให้การคุ้มครองในราคาและช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กับการถ่ายทอดเภสัชกรรมเทคโนโลยี โดยไม่ให้บรรษัทยาข้ามชาติเอาไปหมดทุกอย่าง แต่ปรากฏว่า คนไทยถูกหลอกหรือรัฐบาลไทยสมยอมให้บรรษัทยาข้ามชาติต้ม เพราะต่อมาพบว่ามี side letter สมัยรัฐบาล ปี 2535 บอกว่าอีก 5 ปีจะแก้ไขให้อีก โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป พอปี 2542 กระทรวงพาณิชย์ก็แก้ไขกฎหมาย โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป ตอนนั้นอาจารย์คิดจะทำยังไงต่อไปคิดอยู่ตลอด เคลื่อนไหวตลอด กลับมาดูปัจจัยภายในว่าจะทำอะไรได้บ้าง จากผลการวิจัยเรื่องการใช้ยาในโรงพยาบาล เห็นพฤติกรรมของแพทย์ที่ “ถูกติดสินปนน้ำใจ” หันไปใช้ยาชื่อทางการค้า (trade name / brand name) ยาราคาแพง มากกว่าการใช้ยาชื่อสามัญ (generic)... ทางออกต้องจัดระบบส่งเสริมแพทย์ เภสัชกร และประชาชนให้ใช้ยาชื่อสามัญ ปฏิเสธการใช้ยาชื่อทางการค้า ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม และจัดระบบควบคุมราคายา จึงช่วยกันทำโครงการ โรงพยาบาลปลอด Trade name คือรณรงค์ให้แพทย์-เภสัชกรสั่งใช้-สั่งจ่ายยาด้วยชื่อสามัญ สนับสนุนการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา บัญชียาหลักแห่งชาติ เน้นการร่วมกันสร้างปัจจัยภายในให้เข้มแข็ง ให้เป็นภูมิคุ้มการรุกรานจากปัจจัยภายนอก อาจารย์มีคนที่เป็น Insider ตามจุดต่างๆ คอยให้ความช่วยเหลือเยอะมาก ต้องให้เครดิตเพื่อนๆ หลายคนมาก โดยเฉพาะ Insider ทั้งหลาย และที่สำคัญยิ่งคือ ชาวไทยที่รักและหวังดีต่อแผ่นดินไทย บางทีก็เป็นผู้อาวุโส เป็นสายวิชาการคนละรุ่น ที่ทำเอกสารสำคัญตกหล่นมาให้ประชาชน เพราะฉะนั้นขบวนการต่อสู้ ถ้าไม่ออกข่าวในสื่อมวลชนว่า สิ่งนี้เป็นหายนะของชาติ ก็ไม่มีวันชนะ เพราะนักการเมืองนั้นต้องสร้างกระแสสังคมกดดัน อาจารย์ทำอย่างไร Insider เหล่านั้นจึงช่วยงานอาจารย์ตลอด อันนี้ตอบไม่ได้ ต้องถามพวกเขานะ (หัวเราะ) เราเคารพแหล่งข่าวมาก เขาจะต้องปลอดภัยไม่ถูกเปิดเผย เราเองก็ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงมีคนมาทำ “ของตก” ไว้ให้ รู้สึกได้ว่ามีคนดีๆ ที่น่ารัก ไว้วางใจเราให้ข้อมูลจริงแก่กลุ่มของเรา หากย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์อยากจะเปลี่ยนหรือแก้เรื่องอะไรมากที่สุด ที่ทำมาถูกต้อง ไม่มีอะไรผิด แล้วต้องการทำอะไรอีก ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคุณภาพคน คือ เรายังไม่อยู่ในสังคมที่เป็นสันติ หรือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยังมีปัญหาโกงกันให้เห็นทุกวัน ปัญหามีเสมอ ความทุกข์ยากยังปรากฏ การเอารัดเอาเปรียบยังปรากฏ ก็ชัดเจนว่ายังต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป ...ฉะนั้นต้องเตรียมประเด็นให้พร้อม... เมื่อมีจังหวะก้าวที่ถูกต้อง ก็จะบรรลุเป้าหมาย แล้ว 42 ปีของความเป็นครู อาจารย์อยากบอกอะไร ในแง่เป็นครู เราตั้งใจสร้างลูกศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจากถ่ายทอดศิลปวิทยาการความรู้ ให้ไปทำมาหากิน จนเป็นบัณฑิตแล้ว ก็อยากสร้างให้เขาเป็น บัณฑิตที่แท้ ที่ออกไปดำเนินชีวิตอย่างดีงามด้วย นี่ถือเป็นหน้าที่ปกติ ที่ทำอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยให้ความใส่ใจ เรื่องจริยธรรม ก็คุยเรื่องนี้กันมาก มีข้อเสนอตอนปรับปรุงหลักสูตรเภสัช ปี 26-27 ให้เพิ่มเรื่องจริยธรรมในหลักสูตร ตอนนั้น ถกเถียงกันว่า เรื่องจริยธรรม สอนกันได้หร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 เจ้าพ่อศัลยกรรม

ทุกคนมีสิทธิ ชนิษฎา วิริยะประสาท - สัมภาษณ์สุมาลี พะสิม- เรียบเรียง / ถ่ายภาพ   เกิดปัญหาลุกขึ้นมาครับ อย่าเงียบการลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะที่เขาเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งนั้น เขาให้ความเห็นว่าถ้าหากเกิดเรื่องแล้วเขาเงียบ ทุกอย่างคงจะจบแบบเจ็บปวด แต่การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของเขาก็ใช่ว่าเขาเป็นคนก้าวร้าว เพราะเขาเองก็ไม่ใช่คนผิด เพียงแต่ว่าถ้าหากมีการพูดคุย ตกลงกันทั้ง 2 ฝ่ายได้ เรื่องก็สามารถจะจบลงด้วยดีได้ เรื่องนี้หากเกิดกับคนทั่วไปที่ไปทำศัลยกรรมแล้วโชคร้ายเกิดมีความผิดพลาดขึ้นมา อย่านิ่งเงียบควรออกมาใช้สิทธิเรียกร้องแบบเดียวกับที่วรวิทย์ทำ “คือเราก็สงสารหมอนะ ผมพูดเป็นกลางๆ ทั่วๆ ไปนะ เพราะหมอเองก็คงไม่อยากให้เกิดเรื่องขึ้น คงไม่มีหมอคนไหนที่อยากให้เกิดขึ้น เพราะหมอก็คงทำตามระบบที่เขาวางไว้ พอเกิดเรื่องขึ้นหมอกับคนไข้ก็ต้องคุยกัน ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร” สวย – หล่อ แบบเสี่ยงๆด้วยความที่วรวิทย์คลุกคลีในวงการ ”ศัลยกรรม” มานาน ทั้งประสบการณ์ตรง ทั้งจากการรับรู้จากเพื่อนๆ และด้วยความที่เขามีเพื่อนที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้ด้วย เขาจึงสามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่า การที่จะสวย หล่อ ด้วยมีดด้วยเข็มนั้น นอกจากจะแพงแล้วยังต้องยอมรับเรื่องความเสี่ยงด้วยเช่นกัน “เดี๋ยวนี้มีพวกหลอกนะ คือบอกว่าฉีดสารนี้ แต่กลับไปฉีดสารอีกอย่างหนึ่งให้คนไข้แทน แบบนี้ผมไม่ชอบมากๆ เพราะเพื่อนรุ่นน้องเคยพบมา อย่างบอกว่าจะฉีดคลอลาเจน แต่กลับไปฉีดซิลิโคนเหลวให้แทน อ้าว…คือพวกเราน่ะ คนทั่วไปน่ะ ไม่รู้หรอกว่าไอ้สารที่อยู่ในหลอดตอนฉีดคืออะไร เขาเข้าไปเตรียมเครื่องมือด้านหลังแล้วค่อยออกมาหาเรา เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังพวกหลอกให้มากๆ ” นอกจากเรื่องหลอกแล้ว เรื่อง “ยาปลอม” ก็มีเยอะโดยเขายกตัวอย่างโบท็อกซ์ขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่ามีการนำเข้ามาจากหลายประเทศทั้งจากเวียดนาม จากจีน ซึ่งวรวิทย์บอกว่า “ปลอมทั้งนั้น แล้วยังแพงอีก” “การฉีดโบท็อกซ์ต่ำสุดก็หลักหมื่นขึ้น ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไปตามเกรดของผลิตภัณฑ์ คือก็ต้องเสี่ยงเอาอีกนั่นแหละ ที่ถามว่าควรจะมีหน่วยงานหรือมาตรการอะไรที่จะออกมาควบคุมให้ผู้บริโภคปลอดภัย ตามความเห็นผมนะ ผมว่ายาก อย่างกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลอยู่ ผมว่ามันหละหลวม คลินิกเถื่อนเพียบ บางแห่งเปิดในคอนโดก็มี แล้วคนฉีดก็ไม่ได้เป็นหมอ แค่เป็นพยาบาลก็ฉีดได้แล้วเพียงแค่รู้ตัวยาแค่นั้นก็ฉีดได้แล้ว ผมว่าทางที่ดีที่สุดก็อยู่ที่ตัวของคนทำเองหรือผู้บริโภคนั่นแหละ ที่จะต้องหาความรู้ก่อนที่จะทำศัลยกรรมเพราะว่าถึงแม้จะเจอหมอดีก็ตามนะครับ แต่ว่าการทำศัลยกรรมมีความเสี่ยง 50 : 50 ครับ ต้องคิดให้ดีก่อนจะตัดสินใจทำ เพราะบางทีเราก็ไปโทษหมอไม่ได้ เพราะสภาพร่างกายของคนเรามันก็ต่างกัน อย่างรุ่นน้อง 2 คนไปทำจมูก อีกคนออกสวย อีกคนออกมาดูไม่ดี ผมเลยอยากบอกไว้เลยนะว่า ถ้าใครที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วกำลังคิดที่จะทำศัลยกรรมอยู่ ให้ทำใจไว้ได้เลยว่าคุณต้องเสี่ยง 50 : 50 ต้องเตรียมใจพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าดีก็ดีใจ ถ้ามันออกมาไม่ดีก็ต้องทำใจ” ควรทำบุญก่อนทำศัลยกรรมวรวิทย์จะพูดติดตลกเสมอ เวลามีคนโทรมาหาเขาว่าควรจะทำอย่างไรบ้างก่อนจะทำศัลยกรรมอะไรสักอย่าง ซึ่งคนทั่วไปก็จะแนะนำว่าให้เลือกคลินิกที่ไว้ใจได้ หมอที่มีชื่อเสียง แต่สำหรับเขาแล้ว เขาไม่ได้แนะนำอะไรมากนักก็แค่ “ทำบุญไว้เยอะๆ” “อาจจะไปนั่งวิปัสสนาสัก 10 วันแล้วค่อยกลับมาทำก็ได้ คือมันขึ้นอยู่กับดวงจริงๆ คือมีดอยู่ในมือหมอ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะวาดหน้าคุณเป็นรูปอะไร การทำศัลยกรรมในความหมายของผมก็คือการที่หมอใช้มีดในมือวาดหน้าเราขึ้นมาใหม่น่ะ ไม่ต้องไปทำหรอกศัลยกรรมเกาหลีอะไรนั่นน่ะ จริงๆ คนไทยหน้าตาธรรมชาติสวยมากกว่าไม่สวย ส่วนคนเกาหลี 10 คน ทำศัลยกรรมกันหมดเพราะมันสวยไม่พอในความคิดของพวกเขา แต่ช่วงเด็กวัยรุ่นพ่อแม่เขายังไม่ให้ทำนะ ส่วนเรียนจบแล้วเป็นอีกเรื่องว่าจะทำหรือเปล่า ให้คิดเองแล้วกัน ซึ่งถ้าวัยรุ่นบ้านเราอยากจะทำก็อาจจะใช้แนวคิดข้อนี้ก็ได้ แต่ก็อย่างที่บอกต้องทำใจยอมรับสิ่งที่ตามมาให้ได้และฝากถึงคนที่ทำตา ทำมาแล้วห้ามแก้เลยนะ ถ้าไปแก้แล้วจะพัง และบางคนธรรมชาติก็ดูดีอยู่แล้วอย่าไปหาเรื่องเลย” ประสบการณ์ขาวสั่งได้นอกจากเรื่องศัลยกรรม เรื่องผิวขาวสั่งได้ก็เป็นอีกประสบการณ์ของ วรวิทย์ เพราะเขาเองก็เคยฉีดสารกลูตาไธโอนเช่นกัน “คือต้องทำความเข้าใจก่อนนะ ที่ผมรู้มาก็คือว่า กลูตาไธโอน เขาจะฉีดให้คนที่เป็นมะเร็งตับ คือสารตัวนี้มันจะไปดีท็อกซ์ตับ ขับสารพิษออกมาแล้วทำให้ตับเราทำงานได้ดีขึ้นแล้วพอตับทำงานดีขึ้น ร่างกายของเราก็ดีขึ้นแล้วผลที่ส่งออกมาก็คือทำให้ผิวดูผ่องขึ้นเพราะสุขภาพดีขึ้น แต่อย่าไปฉีดเยอะมันจะให้เป็นมะเร็งผิวหนัง แล้วถ้าฉีดมากเกินไปอีกก็จะส่งผลต่อตาทำให้ตาเราสู้แสงไม่ได้ และมันก็ขาวไม่นานครับ ต้องฉีดซ้ำ ผมว่าอย่าไปทำเลยครับ “อันตราย” ฝากถึงคนที่ต้องการทำศัลยกรรมในฐานะ เจ้าพ่อศัลยกรรม วรวิทย์ฝากถึงคนที่ต้องการทำศัลยกรรมว่า “ความคิดของผมนะ คนที่อยากทำศัลยกรรม ควรไตร่ตรองให้รอบคอบ คิดให้ดี ให้ตกว่า เป็นสิ่งที่เราต้องการทำจริงๆ จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ตามกระแส และต้องทำใจล่วงหน้าด้วยนะ ว่ามันมีความเสี่ยงอย่างที่บอกไปคือ ห้าสิบ ห้าสิบ อีกอย่างมันก็เป็นบริการที่แพง ถ้าคิดรอบคอบแล้วว่าอยากทำ ยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้ ก็อย่าไปเห็นกับของถูก ของถูกส่วนมากจะเถื่อน บริการแบบที่ดีๆ มีราคาค่าใช้จ่ายสูงครับ หากไม่มีเงินก็ค่อยๆ เก็บเงิน และถ้าจะทำจริงๆ ล่ะก็ทำที่โรงพยาบาลจะดีกว่ามันแพงก็จริง แต่ถ้าเสียหายขึ้นมาทีมหมอพยาบาลอะไรก็พร้อมกว่า แล้วในการเจรจาเราก็น่าจะได้รับการชดเชยเยียวยามากกว่าคลินิก”   ฉลาดซื้อฉบับนี้มีโอกาสไปจับเข่าคุยกับ คุณวรวิทย์ แก้วเพ็ชร์ หรือใครหลายๆ คนรู้จักเขาในนาม “นายลอย” จากละครดัง “แรมพิศวาส” ซึ่งปรากฏเป็นข่าวดังขึ้นมา เมื่อเขาประสบปัญหาจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ในคลินิกที่เกี่ยวกับความงามแห่งหนึ่ง วันนี้คดีจบลงแล้ว แต่ที่เราอยากนำเสนอคือ มุมมองของการทำศัลยกรรมจากคนในวงการบันเทิงว่า สำหรับพวกเขาแล้วมันมีจำเป็นแค่ไหน และอะไรคือ ความเสี่ยง ที่เขาได้เผชิญมา ลองสัมผัสมุมมองของเขาในฐานะคนในวงการบันเทิงด้วยกันนะคะ เจ้าพ่อศัลยกรรม“ตั้งแต่เกิดเรื่องมา เวลาใครจะไปทำอะไรก็มักจะโทรมาปรึกษาผมก่อน เลยกลายเป็น ‘เจ้าพ่อศัลยกรรม’ ไปเลย ความจริงผมเคยฉีด (โบท็อกซ์) มาก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่เพิ่งมาฉีด แต่พอย้ายสถานที่ปุ๊บก็….นะ” วรวิทย์กลายเป็นเจ้าพ่อศัลยกรรมโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเขาเองก็ได้ให้คำปรึกษาเพื่อนๆ อย่างดีนั่นเพราะเขาเองก็สนใจในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว ว่างก็หาหนังสือมาอ่าน ที่สำคัญเขาเองก็เป็นคนรักสุขภาพและผ่านการทำศัลยกรรมมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 อานันท์ ปันยารชุน อยู่ให้ได้ในโลกที่มีแต่คนเอาเปรียบ

ถอดความจากปาฐกถา ในงานเปิดบ้านใหม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2552สวัสดีทุกท่านเพื่อนสนิทมิตรสหายในกระบวนการให้ความคุ้มครองดูแลสิทธิของผู้บริโภคนะครับ ผมเองไม่ใช่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือเป็นคนที่มีความรู้อะไรพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิผู้บริโภค แต่มันมาจากจุดหนึ่งในใจซึ่งมีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็คือว่าในโลกที่เราอยู่นั้นก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเอาเปรียบ การเอาเปรียบผู้อื่นมีเหตุผล เจตนาหรือเปล่า แต่คนที่ถูกเอาเปรียบคือคนที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้มีความแข็งแกร่งในวิชาชีพ แข็งแกร่งในทางรายได้ แข็งแกร่งในทางมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนภายนอก ผู้ถูกเอาเปรียบในตอนนี้นั้นก็สามารถจะต่อสู้ด้วยตัวเองได้ ในสังคมไทยยังมีผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่มากและยังอยู่ในสภาพที่ ถ้าไม่มีคนอื่นเข้ามาช่วยคงจะไม่สามารถรักษาสิทธินั้นได้จากความรู้สึกอันนี้มันก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกลึกลงไปว่ากระบวนการของการมีองค์กรที่ไม่หาผลกำไร เป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของรัฐนั้นมีความจำเป็นสำหรับคนไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ แล้วเครือข่ายเหล่านี้ก็จะเรียกว่าอยู่ในวงการของประชาสังคม ผมก็ดีใจที่มีความตื่นตัวในเรื่องของการรักษาสิทธิของผู้บริโภค แต่ผมว่าอนาคตยังไปอีกไกลเพราะว่าเราต้องเริ่มต้นจากจุดแรกซึ่งลำบาก เราต้องเริ่มต้นจากจุดที่เรียกว่าต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่หรือให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างรู้และสำนึกในสิทธิของตน เรายังไปไม่ถึงก้าวที่สอง เราเป็นเพียงแต่การพยายามให้คนเข้าใจ ให้คนรู้ว่าสิทธิของผู้บริโภคนั้นคืออะไรและก็เราจะดูแลรักษามันยังไง เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้การทำงานก็ค่อนข้างจะไปในหลายกระแสหลายทิศทาง แต่อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหน้าที่ก็คือว่า ไปในเรื่องใหญ่ๆ ในเรื่องของทิศทางที่ไม่ใช่เป็นเพียงแต่คุ้มครองผู้ถูกรังแกอยู่ในคอนโดก็ดี หรือผู้ถูกรังแกทางด้านอาหารก็ดี ทางด้านเกษตรก็ดี แต่อยากจะให้เห็นว่ามันจะเป็นกระบวนการสุดท้ายที่ไม่ต้องอาศัยองค์กรนี้เป็นผู้ปกป้องให้ แต่เราปกป้องกันเองโดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ข้างเคียงไปกับสภาโดยตรงเลย เพราะว่าทั้งหมดนี้ขั้นสุดท้ายก็อยู่ที่ว่าปัญหาของการเอารัดเอาเปรียบนั้นมันเกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายด้วย แล้วถ้าเผื่อนักการเมืองเขาไม่ดูแลเรื่องนี้ให้เรา มันก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสาขาในหน่วยงานคุ้มครองของนิติบัญญัติที่จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ไม่ให้ความเป็นธรรม ที่สร้างความอยุติธรรมกับสังคมไทยในเรื่องของผู้บริโภค หรืออาจจะมีการแนะนำเสนอให้มีการออกกฎหมายออกพระราชบัญญัติใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างให้กระบวนการของการดูแลสิทธิของผู้บริโภคนั้นมีความมั่นคงและมีความยั่งยืนมากขึ้น …อันนี้ผมว่ายังไปอีกไกล แต่เราทำเป็นจุดๆ ไป ที่ทำมาผมก็ว่าเป็นประโยชน์มาก แต่ในใจผมยังว่ามันยังคงสะเปะสะปะไป ถ้าเกิดเราคิดทำทุกอย่างมันคงจะลำบาก แต่ถ้าเผื่อเราไม่ปลุกจิตสำนึกไม่ปลุกให้คนไทยด้วยกันตื่นขึ้นมาว่า เรื่องการดูแลสิทธิของผู้ที่ซื้อบ้านจัดสรร ถ้าให้มูลนิธิฯ ท่านดูแล ท่านก็เหนื่อย เพราะบ้านจัดสรรไม่รู้มีกี่พันแห่งในเมืองไทย เราคงจะไปดูทุกอันไม่ได้ แต่เราควรไปดูที่ต้นตอว่ากฎหมายปัจจุบันมันให้ความคุ้มครองและดูแลสิทธิของผู้เช่าผู้ซื้อบ้านจัดสรรหรือเปล่า แล้วแต่ละบ้านจัดสรรผู้บริโภคก็ดูแลกันเอง ตามข้อความของกฎหมายที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดอยู่ในใจ ฝันอยู่ในใจแล้วก็เริ่มคุยบ้าง แต่ก็คงอยู่ไม่ทันที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตผม ก็ต้องขอฝากไว้กับท่านทั้งหลาย ผู้ที่อยู่ในมูลนิธิฯ ก็คงเป็นผู้จุดประกาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายท่านก็มีความเป็นธรรมอยู่ในใจแล้วท่านก็พยายามที่จะผลักดันในสิ่งที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายเราหวังพึ่งใครไม่ได้หรอกครับ ต้องพึ่งตัวเอง ในการพึ่งตัวเองนั้นก็ต้องพูดมากขึ้น เขียนมากขึ้น อ่านมากขึ้นและก็ต้องให้ประเด็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ผมไม่อยากจะใช้คำว่าการเมืองใหม่เพราะว่าปัจจุบันใช้คำว่าการเมืองใหม่ค่อนข้างจะบ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งก็มีการถามว่าอะไรคือการเมืองใหม่ แต่ผมว่าวัฒนธรรมใหม่ของเมืองไทยที่เราอยากจะสร้างก็คือวัฒนธรรมของการเรียนรู้ของการแสวงหาความถูกต้องของการดูแลสิทธิ ไม่ใช่ดูแลผลประโยชน์นะ ผมขอให้เข้าใจคำนี้ด้วย ที่ทำมาทั้งหมดนี่มันไม่ใช่ผลประโยชน์นะ แต่ถ้าคุณจะดูแลสิทธิให้ถูกต้อง แล้วสิทธินั้นก่อประโยชน์ให้กับเรา อันนั้นผมเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ แต่จุดเริ่มต้นไม่ใช่หาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อสิทธิ ผมมาวันนี้ผมก็ดีใจได้เห็นบ้านใหม่ ผมไม่รู้ว่าเคยมีบ้านเก่าหรือเปล่า ได้เห็นบ้านใหม่ถึงแม้ไม่ได้อยู่ติดถนนก็มาตรงนี้ก็โชคดีนะ กันฝุ่น กันแดด กันเสียงด้วย ก็ตกแต่งซะดีเชียว ก็ยินดีนะ ขอให้เป็นบ้านใหม่ที่มีความสุขกายสบายใจ เป็นบ้านใหม่ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับหลักการที่พวกเรายึดถือไว้ ขอให้ช่วยส่งเสริมให้สิทธิของคนไทยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภค มันเป็นสิทธิที่มันฝังอยู่ในจิตใจไม่ใช่แต่ในพวกเราเท่านั้น แต่ในระบบการเมือง ในระบบยุติธรรม ในระบบบริหารต่างๆ ทั้งหมด ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยทำให้กระบวนการนี้สำเร็จด้วยดี …ระหว่างที่นั่งฟังวิดีโอเทป (นานาทัศนะของบุคคลต่างๆ ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ถ่ายทอดไปเมื่อฉบับที่แล้ว) ผมนึกอะไรบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดมานานและเป็นหลักการที่ผมใช้ในการทำงานส่งเสริมกระบวนการ องค์กร ภายใต้ของภาคประชาสังคมนะครับคือในสังคมทุกสังคมมีความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นของธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญคือว่าถ้าเกิดสังคมไหนที่มีสติพอ แล้วก็มีทางออกเพียงพอ ทางออกนี้สำคัญมาก ความขัดแย้งก็ดี ความเห็นที่แตกต่างกันก็ดี มันจะไม่เกิดไปจนถึงขั้นที่ต้องแตกหัก ทุกๆ ประเทศในประวัติศาสตร์มันต้องผ่านมาทั้งนั้น มันพูดง่ายแต่บางทีทำลำบาก เพราะฉะนั้นทุกๆ ชาติถ้าไปดูประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสังคมมานั้น มันมีการถึงขั้นแตกหักมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันในสังคมไหนที่มีสติมากขึ้น มีความรู้และมีการเข้าถึงข้อมูลก็ดี มีการเข้าถึงความยุติธรรมก็ดี โอกาสที่จะถึงขั้นแตกหักก็จะน้อยลงไปขอบคุณครับ...  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 เปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภค

Who 99สุมาลี พะสิม /เรียบเรียง   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ใครๆ อยากเห็นวันที่ 26 เมษายน 2552 ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทุกคนมีสิทธิเล่มนี้จึงขอเก็บบรรยากาศมาฝากสมาชิกค่ะ พร้อมนำเสนอทรรศนะต่างๆ ของกัลยาณมิตรทั้งหลายมาฝากค่ะ       รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“สิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำนั้นก็คือว่าทำเรื่องคุณประโยชน์มาพอสมควร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือต้องพยายามสร้างเครือข่ายคนที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภคด้วยตัวเขาเองให้มากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น แล้วก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาศัยมูลนิธิฯ อย่างเดียวก็ค่อนข้างลำบากที่ต้องทำทุกเรื่องสำหรับการเปิดบ้านใหม่หลังนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยก็คือว่าเราก็มีส่วนร่วมเล็กน้อยที่ร่วมระดมทุน “เดี่ยวไมโครโฟน” หาทุนให้มูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้เป็นที่ทำงานที่กว้างขวางต่อไป”   บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม“เราอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งมากขึ้น สนับสนุนด้านข้อมูลและด้านอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ และผู้บริโภคจะเป็นอิสระมากขึ้น พ้นจากอุ้งมือของทุนนิยม ซึ่งเราเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวของผู้บริโภค ต้องทำให้ตัวผู้บริโภคลุกขึ้นมาสู้ให้ได้มูลนิธิฯ ควรจะเป็นพี่เลี้ยงและเป็นสื่อกลางไม่ว่าเครือข่ายต้องการอะไรก็น่าจะให้ได้ และอยากให้ทำงานเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยากให้ลงไปที่พื้นที่และเชื่อมร้อยในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคส่วนหนึ่งรับเรื่องร้องเรียนก็จริง แต่ก็อีกด้านหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภูมิภาค เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนก็ประสานงานกับจังหวัดนั้นได้เลยโดยมีมูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล”   นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม“สิ่งที่อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำต่อไปก็คือการประสานเครือข่าย นอกจากประสานงานเครือข่ายผู้บิรโภคแล้วก็อยากให้ประสานงานเครือข่ายข้อมูลที่ติดตามเรื่องเหล่านั้น ดังนั้นไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหนเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญแล้วก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญ 1 คนเข้าใจ ประชาชนที่เหลือก็จะเข้าใจได้ และก็จะรวมเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนต่อไปได้การเปิดบ้านใหม่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิฯ จะต้องทำหน้าที่ในการประสานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งให้ภาคประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีส่วนร่วมเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน”   ณาตยา แวววีรคุปต์ สื่อมวลชน“มองในฐานะของความเป็นสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือว่าเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในเรื่องสิทธิผู้บริโภคและการใช้สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำมาย่อยและเผยแพร่ต่อ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม และง่ายที่สื่อจะนำมาเผยแพร่ต่อ แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าจะนำเอาแค่เรื่องร้องเรียนมาเท่านั้น ยังมีความรู้ด้วย ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดในการคุ้มครองสิทธิต่อผู้บริโภคได้ด้วยตัววารสารฉลาดซื้อก็มีประโยชน์ค่ะ อ่านทุกเล่ม ต้องบอกว่าอ่านเกือบทุกหน้า ซึ่งหนังสือพยายามสะท้อนให้เราเห็นว่าการใช้สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกับทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้สิทธิ พอเราได้เห็นเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่ฉลาดซื้อนำมาเผยแพร่ ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีคนลุกขึ้นมาทำเรื่องพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่แค่กับตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาทำแล้วถูกนำมาเผยแพร่ต่อมันส่งผลต่อผู้บริโภคคนอื่นๆ ให้เกิดความเชื่อมั่นด้วยว่ามาใช้สิทธิเถอะนะถ้าหากว่าถูกละเมิด ไม่ต้องไปบ่นอย่างเดียวซึ่งฉลาดซื้อก็สื่อออกมาได้และง่ายในการทำความเข้าใจ แล้วก็เป็นฐานในการที่จะหยิบมาทำงานด้านสื่อต่อไปได้”   ดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“ขอแสดงความยินดีกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยที่เปิดบ้านใหม่ใจกลางเมือง ผู้บริโภคจะได้มาร้องเรียนได้ง่ายขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็คงเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับใครที่จะร่วมบริจาคให้กับมูลนิธินี้ก็เชิญได้ครับ แนวทางในการทำงานที่ทำอยู่ถือว่าถูกทางแล้วที่เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ ทำหนังสือฉลาดซื้อซึ่งก็เป็นสื่อตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ ผมเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งที่อ่าน แล้วก็ดึงบางส่วนไปเป็นข้อมูลให้กับหนังสือคู่สร้างคู่สมของผมด้วย ก็ฝากไว้ว่าให้ตามเรื่อง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อไป พอมี พ.ร.บ.ตัวนี้แล้วก็คิดว่าคงจะทำงานสะดวกขึ้น ช่วยเหลือคนได้เยอะขึ้น ขอให้กำลังใจทุกคนครับ” จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินมาไกลแล้วนะ แต่ก็ต้องเดินต่อไปในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกส่วน และขอให้มูลนิธิฯ ทำงานต่อไปในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในการปฏิรูปสังคม ในการสร้างระบบความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยาที่ทำไปแล้ว ก็ขอให้ทำเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภคต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องสิทธิต่างๆ ให้กับประเทศของเราต่อไป”   ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ“ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมก็จำเป็นต้องมีองค์กรที่จะต้องคอยดูแล แต่ก็ไม่แปลกที่เราจะใช้กลไกของทุนนิยมเพื่อกำหนดผลงาน แต่ผลสุดท้ายของงานเราต้องหักตัวเองออกจากทุนนิยมเข้าสู่สังคมนิยมได้ก็โดยการนำเงินที่ได้มาบางส่วนให้องค์กรสาธารณะกุศลแบบผมทำ ที่เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ก็เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลองพิจารณาสร้างผลกำไรขึ้นจากการปฏิบัติงานเพราะดูแล้วกำไรไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดเพราะว่าถ้ามูลนิธิฯ สามารถลงไว้เป็นความเห็นขององค์กรว่า กำไรที่ได้มาจะมอบให้กับกิจการสาธารณะกุศล ไม่ได้แจกจ่ายให้พนักงาน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าพอมีกำไรขึ้นก็จะมีการสร้างการวัดผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นมา ทำให้เกิดมีเป้าหมายขึ้นมา แต่ต้องกำหนดระยะกำไรที่เหมาะสมขึ้นมา แล้วกำไรที่ได้ก็ไม่ได้ไปไหนจะคืนกลับให้กับสังคมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 กิน เปลี่ยนโลก ได้อย่างไร

ทุกคนมีสิทธิ์ สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ มูลนิธิชีววิถี หรือหลายๆ คนรู้จักในนาม Biothai เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า และสถาบันต้นกล้า เปิดตัวโครงการรณรงค์กินเปลี่ยนโลก ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งฉลาดซื้อเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และเป็นประโยชน์กับสมาชิกและท่านผู้อ่านค่ะ จึงไปจับเขาคุยกับ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี ถึงที่ไปที่มา และการเข้าร่วมโครงการ ว่าจะต้องทำอย่างไรมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันค่ะ จุดเริ่มของโครงการกินเปลี่ยนโลกกินเปลี่ยนโลกเป็นการรณรงค์เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องวิกฤตของอาหาร แต่โครงการกินเปลี่ยนโลกไม่ใช่โครงการแรก หากแต่มีหลายองค์กรที่พยายามทำกันมานานไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ตลาดสีเขียว ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก หรือมหกรรมสมุนไพรต่างๆ แต่ว่ายังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ โครงการกินเปลี่ยนโลกจึงปรับเปลี่ยนกระบวนการรณรงค์ในเชิงรุกเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วม“ดูเหมือนการสื่อสารผ่านงานมหกรรมหรือจัดเวทีสาธารณะก็ดูจะเป็นเรื่องเครียดๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาซะมากกว่า ก็อยากจะปรับให้เครียดน้อยลงเพื่อที่จะให้คนได้เข้าใจมากขึ้น ก็เลยเลือกที่จะสื่อผ่านอาหาร และใช้อาหารนี่ล่ะเป็นสื่อในการรณรงค์เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก็คืออาหารเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย ดูง่ายๆ อย่างเราไปเที่ยวก็จะเตรียมอาหารตุนไปกินระหว่างทาง หรือไม่ก็แวะกินตามร้านรวงที่เปิดขายกันรายทาง ทั้งซื้อฝากและซื้อกันกิน จนกลายเป็น วัฒนธรรมกินตลอดทาง   ด้วยความที่เมืองไทยเราค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศที่ส่งออกธัญญาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมีทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เนื้อสัตว์ก็จะเป็นกุ้ง ไก่ คนจึงมองไม่ออกว่าเมืองจะเกิดวิกฤตหรือเกิดปัญหา จนเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นเพราะข้าวขาดแคลนในตลาดโลก ก็ดึงราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้นตามลำดับ คนจึงเริ่มแตกตื่นว่าวิกฤตมาแล้ว ที่ผ่านมาเวลาเราจะสื่อสารกับสาธารณะก็มักจะหยิบยก ปัญหาขึ้นมาก่อนว่า ปัญหามันคืออะไร แต่กินเปลี่ยนโลกเราจะเปลี่ยน คือแทนที่จะหยิบยกว่าปัญหาทางด้านอาหารคืออะไร มีสารเคมี มีจีเอ็มโอ เราก็จะเปลี่ยนเป็น ‘เราจะกินอย่างไรให้มีคุณภาพ แล้วการกินอย่างมีคุณภาพของคนเราช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง’ ประเด็นเหล่านี้ก็น่าจะนำไปสู่ประเด็นวิกฤตของอาหารได้ โดยให้คนตั้งคำถามกับตัวเองว่าอาหารมาจากไหน อาหารที่เรากินเป็นอย่างไรโดยให้ศึกษาด้วยตัวเอง” เมืองไทยกับวิกฤตด้านอาหารกิ่งกรบอกกับฉลาดซื้อว่า เราอยู่กับวิกฤตอาหารกันมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยรู้สึกกัน สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่าเราก็มีวิกฤตด้านอาหาร คือเรื่องข้าว ด้วยความที่เมืองไทยเราค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศที่ส่งออกธัญญาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมีทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เนื้อสัตว์ก็จะเป็นกุ้ง ไก่ คนจึงมองไม่ออกว่าเมืองจะเกิดวิกฤตหรือเกิดปัญหา จนเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นเพราะข้าวขาดแคลนในตลาดโลก ก็ดึงราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้นตามลำดับ คนจึงเริ่มแตกตื่นว่าวิกฤตมาแล้ว “เวลาเราพูดถึงวิกฤตอาหาร กินเปลี่ยนโลกของเราจะมองเรื่องความหลากหลายของอาหารว่าความหลากหลายมันน้อยลง อาหารอย่างพวกเนื้อสัตว์อาจจะมีราคาถูกขึ้นแต่คุณภาพของอาหารแย่ลง พอมีการผลิตมากขึ้นก็เลี้ยงกันเป็น ‘ฟาร์มปิด’ เลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรม มีการฉีดฮอร์โมน เร่งโต กินอาหารเม็ด วันๆ สัตว์ถูกขังอยู่แต่ในโรงเลี้ยง พอถึงระยะเวลาก็นำมาให้พวกเรากิน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ‘ไก่’ ปัจจุบันเรากินไก่รสชาติเหมือนทิชชู่ แต่เราก็ยังกินกันเพราะมันถูก แต่คุณภาพมันน้อยลง มองให้ง่ายขึ้นมาอีกว่าเราอยู่ในวิกฤตอาหารที่ความหลากหลายมันน้อยลง ก็ให้มองไปที่ตลาดสดที่มีผักแค่แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า แครอท ผักชี ต้นหอม ผักพวกนี้ไปทีไรก็มีตลอดปี และเมื่อปลูกทั้งปีก็ต้องใส่สารเคมี เคยลงไปเยี่ยมชาวบ้านที่ปลูก เขาบอกเลยว่าแปลงนี้อย่ากินนะ แปลงนี้กินได้ แล้วคิดดูสิแล้วผักเหล่านั้นก็มาสู่ตลาดในที่สุด แล้วใครกิน ก็พวกเราๆ นี่หละกินเข้าไป แบบนี้ก็วิกฤตอีกเช่นกัน จะไปโทษใครได้ เพราะมันเป็นระบบกลไกการค้า ระบบกลไกการกระจายอาหารที่พาให้เกิดขึ้นเพราะทุกคนกินกันแบบไม่ดูฤดูกาล อยากกินอะไรก็จะได้กิน มีตอบสนองทุกอย่าง มะม่วง ทุเรียน ส้ม มีทั้งปี ผัก ผลไม้พื้นบ้านที่ออกตามฤดูกาลหายไปจากตลาดหมด เด็กๆ รุ่นใหม่ก็ไม่รู้จัก ซึ่งมันก็จะมีความหลากหลายของมันเองตามฤดูกาล แต่ว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงการผลิตให้เป็นระบบอุตสาหกรรม มีให้กินกันได้ทั้งปี” และนั่นเป็นวิกฤตด้านอาหารในมุมมองของกินเปลี่ยนโลก เหตุแห่งปัญหาใครบ้างที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตอาหาร กิ่งกรบอกว่าทั้งระบบตลาดและรัฐเองก็มีส่วนเพราะรัฐส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี จนทำให้ผู้ผลิตรายย่อยอยู่ลำบาก “ที่บอกว่าลำบากก็คือ ต้องเปลี่ยนไปผลิตแบบอุตสาหกรรมในที่สุด ทั้งใส่ปุ๋ย ใส่ยาฆ่าแมลง ยาเร่งให้มันหัวใหญ่ ให้ฝักใหญ่ บางรายอยู่ไม่ได้ก็ล้มไป ตกไปอยู่ในวงจรของ ‘เกษตรพันธสัญญา’ เป็นหนี้พอมีลูกก็ไม่อยากให้ลูกต้องเป็นเกษตรกร จนเกิดปัญหา ‘วิกฤตเกษตรกรรายย่อย’ ไม่มีใครยอมทำเกษตร ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน แล้วใครจะลงมาทำเกษตร ในเมื่อทำแล้วยิ่งมีหนี้ท่วมหัว นายทุนที่มีเงินก็จะใช้เกษตรพันธสัญญานี่ละ มาบังคับให้ชาวบ้านทำ” “เกษตรพันธสัญญา ก็คือ บริษัทจะนำปัจจัยการผลิตไปให้ชาวบ้าน ซึ่งจะมีทั้งพืชผัก และเนื้อสัตว์ แล้วก็มีสัญญาว่าจะรับซื้อในราคาเท่านั้น เท่านี้ และจะต้องขายให้บริษัทนั้นเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ซึ่งระบบพันธสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดก็คืออ้อย ตามมาด้วยไก่ซีพี ไก่สหฟาร์ม ไก่ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งทางบริษัทก็จะเลี้ยงเอง แต่อีกส่วนก็จะนำลูกไก่ อาหาร ฮอร์โมน ไปให้ชาวบ้านเลี้ยง โดยให้ชาวบ้านทำโรงเรือนเลี้ยงไว้รอ ถึงเวลาก็มาชั่งน้ำหนักขาย หักลบกลบหนี้กันไป ชาวบ้านก็เป็นเพียงคนรับจ้างเลี้ยง ซึ่งค่าจ้างก็คิดตามอัตราแลกเนื้อ ซึ่งจะเป็นสูตรคิดคำนวณออกมา ได้เท่าไรก็ให้ชาวบ้านไป ซึ่งไม่มีสิทธิต่อรอง แล้วก็จบกันไป เรียกได้ว่าเป็นแรงงานรับจ้างก็ได้ ที่สำคัญคือบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินด้วยนะ แล้วความเสี่ยงก็อยู่กับชาวบ้าน ไก่ตายกี่ตัวก็จะถูกคิดคำนวณเป็นราคาไก่หมด การเป็นแรงงานแบบนี้ชาวบ้านจะมีความสุขหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันมีตลาดรองรับก็ยังดีกว่าทำมาแล้วไม่มีที่ขาย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ที่กู้มาทำโรงเรือนนั่นล่ะ ก็ต้องทำต่อไป เพราะเขาไม่มีทางเลือก ภาคเหนือก็จะเป็นพวกพืชผลการเกษตรเช่น ฝักข้าวโพดอ่อน ข้าวโพดหวาน ถั่วลันเตา พอได้มาก็จะนำไปอัดกระป๋อง ส่งออกนอก จ่ายค่าจ้างให้เกษตรกรแล้วก็จบ มันเป็นมาแบบนี้จนมาถึงจุดนี้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้สึกว่าตกอยู่ในวิกฤต เพราะยังมีอาหารให้กินอยู่ แต่โครงการกินเปลี่ยนโลกมองว่าปัจจุบันนี้ พวกเราตกอยู่ในวิกฤตแล้ว วิกฤตด้านเลือก วิกฤตด้านคุณภาพของอาหาร วิกฤตด้านความปลอดภัย วิกฤตของผู้ผลิต และวิกฤตของผู้บริโภค ความวิกฤตของผู้บริโภคก็คือคนเรามีกำลังซื้อที่ต่างกันทำให้การเข้าถึงการเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพหรือปริมาณที่ต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เรื่องเหล่านี้ก็พยายามจะหาวิธีบอกกับทุกคนอยู่ จะเดินเข้าไปบอกว่า ‘เฮ้ย…นี่คุณกำลังกินขยะอยู่นะ’ นั่นก็ใช่ที่ จริงไหม” เธอกลั้วหัวเราะขณะหาวิธีบอกกับผู้คน “อาหารที่คุณกินมันสามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ได้ และก็เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายย่อยด้วย เมื่อผู้ผลิตรายย่อยฟื้น การฟื้นฟูด้านระบบนิเวศน์ก็จะตามมา ไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้และผลิตด้วยวิธีตามธรรมชาติ คืนความหลากหลาย คืนระบบการผลิต คืนระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค คืนสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมดนั่นเอง” กิน เปลี่ยนโลก ได้อย่างไรสารพัดวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่นี้ กิ่งกรกำหนดตัวแปรสำคัญที่จะช่วยกู้วิกฤตก็คือ ผู้บริโภค เพราะไม่ว่าจะอยากกินอะไร คนผลิตก็ทำออกมารองรับได้หมด และนอกจากผู้บริโภค ตัวแปรอีกตัวก็คือผู้ผลิตรายย่อย อย่างเกษตรกรต่างๆ เพราะเมื่อได้รับการส่งเสริมแล้วก็จะสามารถผลิตอาหารที่มีความหลากหลายตามมา ไม่ต้องพึ่งต้นทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ “อาหารที่คุณกินมันสามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ได้ และก็เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายย่อยด้วย เมื่อผู้ผลิตรายย่อยฟื้น การฟื้นฟูด้านระบบนิเวศน์ก็จะตามมา ไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้และผลิตด้วยวิธีตามธรรมชาติ คืนความหลากหลาย คืนระบบการผลิต คืนระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค คืนสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมดนั่นเอง” กิ่งกรอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกได้ การทำงานของกินเปลี่ยนโลกนั้นมุ่งรณรงค์ไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้บริโภคและสื่อมวลชน ซึ่งขณะนี้พยายามติดต่อประสานงานกับสื่อโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สื่อช่วยขยายต่อ และเปิดรับอาสาสมัคร กินเปลี่ยนโลกผ่านเว็บไซต์ www.food4change.in.th ขึ้นมา “อาสาสมัครของเราจะได้ร่วมกันคิดและวางแผนในการรณรงค์และเผยแพร่แนวคิดให้เป็นที่รับรู้กับสังคมภายนอก โดยอาสาสมัครของเราก็จะเปิดรับคนทั่วไปที่สนใจกิจกรรมและแนวคิดแบบนี้ ซึ่งอาสาสมัครสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยพฤติกรรมส่วนบุคคล แล้วก็ให้ไปคุยกับคุยกับคนรอบข้าง ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อที่จะกระจายความคิดนี้ออกไป เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ ที่ค่อยๆ รณรงค์และน่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ส่วนกิจกรรมที่ทางกินเปลี่ยนโลกจัดก็คือการจัดสาธิตการทำหลายๆ อย่างด้วยตัวคุณเอง เช่นทำสบู่ ปลูกผักกินเอง กระแสก็น่าจะไปได้ เพราะคนเราเมื่อพูดถึงการกินก็จะนึกถึงสุขภาพของตัวเองเป็นหลัก แต่เราก็อยากให้คิดไปให้ไกลอีกนิดนึง อยากให้คิดถึงสิ่งแวดล้อมแล้วก็คิดถึงคนปลูกด้วย” เป้าหมายสูงสุดของโครงการกินเปลี่ยนโลก คือเพื่อรักษาฐานทรัพยากรอาหารไว้ให้ได้ นั่นก็คือที่ดินต้องอยู่ในมือของเกษตรกร ไม่เป็นที่ดินให้เช่าหรือของบริษัทใหญ่ มีน้ำ มีป่าไม้ สามารถรักษาฐานทรัพยากรชายฝั่งอย่างป่าชายเลนไว้ได้ และเธอเชื่อว่าผู้ที่จะรักษาทรัพยากรเหล่านี้ได้ก็คือผู้ผลิตรายย่อย ถ้าหากปล่อยให้ตกอยู่ในบรรษัทใหญ่ทุกอย่างก็จะไม่เหลือ เพราะฉะนั้นทั้งเกษตรกรรายย่อยและฐานทรัพยากรต้องอยู่คู่กัน “เราอยากเห็นว่าการเดินเข้าซูเปอร์มาเก็ตต่างประเทศ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อยากเห็นคนหันไปจ่ายตลาดสด ไปสนับสนุนแผงผักเล็กๆ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าแผงผักจะปลอดภัยคุณก็ต้องบอกเขาให้หาของดีๆ มาให้คุณกิน ซึ่งแม่ค้าก็ไปหามาได้ ชาวบ้านทำได้ เราเชื่อว่าการตลาดจะส่งผลกระตุ้นระบบการผลิตให้กว้างขวางขึ้น แล้วฐานการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนก็จะขยายตัวไม่ใช่ไปทำมุมเล็กๆ ในห้างสรรพสินค้า ที่มีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่เข้าถึง ก็น่าจะเริ่มต้นที่อาสาสมัคร เริ่มที่ตัวเรา จะเริ่มได้ยังไง ง่ายนิดเดียวที่ตลาดสดใกล้บ้านคุณไงก็ไปดูว่ามีวันไหน มีผักอะไรขายบ้าง แม่ค้าเอาผักมาจากไหน แล้วก็ต้องเลือกกินให้เป็นต้องดูว่าผักไหนผักพื้นบ้าน ก็น่าจะเชื่อได้ว่าถูกดูแลมาแบบธรรมชาติมากหน่อย แล้วก็มาทำกับข้าวกินเองไม่ต้องบ่อยก็ได้อาทิตย์ละวัน ปรับชีวิตให้ช้าลงบ้างก็ได้ไม่ต้องให้มันรวดเร็วตลอดเวลาให้เวลากับการกินหน่อย ทำไมจะทำไม่ได้ เวลาคุณซื้อของอย่างซื้อกล้อง หาข้อมูลเช็คสเป็กอยู่นั่นล่ะแต่ว่าเวลาคุณหยิบอะไรเข้าปากเนี่ยคุณไม่เคยเช็คสเป็กของกินของคุณเลย ว่าสเป็กที่คุณอยากได้มันเป็นยังไง เวลาคุณซื้อของคุณเลือกได้แต่ว่าทุกวันนี้คุณซื้อของกิน คุณกลับเลือกไม่ได้ คุณกำหนดสเป็กการกินของคุณไม่ได้ นั่นล่ะเราจึงต้องเปลี่ยนพอเราเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แล้วก็จะเปลี่ยนสู่สังคมกว้างในที่สุด แต่อาจใช้เวลาสักหน่อย” ทำไมจะทำไม่ได้ เวลาคุณซื้อของอย่างซื้อกล้อง หาข้อมูลเช็คสเป็กอยู่นั่นล่ะแต่ว่าเวลาคุณหยิบอะไรเข้าปากเนี่ยคุณไม่เคยเช็คสเป็กของกินของคุณเลย ว่าสเป็กที่คุณอยากได้มันเป็นยังไง เวลาคุณซื้อของคุณเลือกได้แต่ว่าทุกวันนี้คุณซื้อของกิน คุณกลับเลือกไม่ได้ คุณกำหนดสเป็กการกินของคุณไม่ได้ นั่นล่ะเราจึงต้องเปลี่ยนพอเราเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แล้วก็จะเปลี่ยนสู่สังคมกว้างในที่สุด แต่อาจใช้เวลาสักหน่อย” กิ่งกรเชื่ออย่างนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขบวนการผู้บริโภคปี 2551 และการจัดตั้งวิทยาลัยผู้บริโภค

ทุกคนมีสิทธิชนิษฎา วิริยะประสาท สัมภาษณ์ / สุมาลี พะสิม ถ่ายภาพ – เรียบเรียง ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี จะเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) และวันที่ 30 เมษายน ก็จะเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย เพื่อต้อนรับวันสำคัญทั้งสองนี้ ฉลาดซื้อจึงไป “จับเข่าคุย” เรื่องขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของไทย กับ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมานาน เพื่อทบทวนขบวนการผู้บริโภคในปี 2551 และการจัดตั้งวิทยาลัยผู้บริโภค โดยผู้บริโภค สถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรผมย้อนไปดูสถานการณ์เมื่อต้นปี 2551 รู้ไหมเรื่องอะไร เรื่องสวนสยาม ผมนั่งคิดดูแล้วมันก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะ แต่มันก็ยังเกิดขึ้นอีก มีข่าวออกมาว่าจะปิดแต่สุดท้ายก็ยังเปิดอยู่ พอมากลางปีประเด็นก็จะอยู่ที่การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาในประเทศไทย ปลายปีก็จะเป็นเรื่องของนมเมลามีนซึ่งเกิดขึ้นในประเทศจีน พอเราดูสถานการณ์ตรงนี้แล้วก็ต้องมาดูว่าผู้บริโภคเรามีทางเลือกไหม แต่พอให้นึกดูก็นึกไม่ออกว่าคืออะไร ผมก็มานึกว่าวันนี้ผมกินข้าวอยู่ ผมก็มีทางเลือก ดูหนังก็มีทางเลือก คือมันมีทางเลือกเยอะ และสิทธิที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือสิทธิที่จะเข้าถึงยา ซึ่งมันเป็นสิทธิที่พวกเราต่อสู้ในเรื่องนี้กันอย่างมาก (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร Compulsory Lisensing หรือ CL) และเห็นเป็นรูปธรรม กรณีสวนสยามและเมลามีน ผมคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิที่การปกป้องความปลอดภัยยังมีปัญหาอยู่ ส่วนเรื่องผลผลิตที่ดีอย่างมีการผลิตถังน้ำเย็นที่ปลอดสารตะกั่ว การผลิตหม้อก๋วยเตี๋ยว หรือชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ก็ถือว่าเป็นผลที่ดี ตัวที่มีปัญหาเมื่อเกิดปัญหาแล้วกลไกที่จะปกป้องความปลอดภัยยังไม่ดีพอ ซึ่งระบบการปกป้องความปลอดภัย ข้อมูลข่าวสาร การชดเชยความเสียหาย ก็ถือว่ามีกฎหมายที่ออกมาช่วยจัดการ ในความเห็นของผมคือมันจะวิ่งไปด้วยกัน ยกตัวอย่างก็คือ กฎหมายที่บ้านเราออกมาเพื่อผู้บริโภคที่ผ่านมาทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกับพ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายฯ ซึ่งทั้ง 2 ตัว จะช่วยชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภค ลดภาระการพิสูจน์ที่เดิมผู้บริโภคต้องไปพิสูจน์เองให้ศาลเห็นเมื่อจะฟ้องใคร กฎหมายสองตัวนี้ช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระเรื่องการพิสูจน์อีก ภาระจะกลับไปที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ผลิต คราวนี้ถ้าเกิดปัญหาผู้บริโภคก็ไปฟ้องศาล ไม่ต้องเสียค่าทนาย คือการชดเชยความเสียหายทำได้ง่ายขึ้น ส่วน พ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายฯ ซึ่งโดยเบื้องหลังแล้วกฎหมาย มุ่งที่จะป้องกันความปลอดภัยเป็นหลัก นั่นก็คือผู้ประกอบการก็มุ่งที่จะป้องกันตัวเองเช่นกัน มีการพัฒนาสินค้าตัวเองให้ดีขึ้น มีการทำประกัน จัดการระบบผลิตให้ดีขึ้น จะทำอะไรก็คิดถึงผู้บริโภค บางรายก็บอกว่าต้นทุนเขาต้องสูงขึ้น เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมา แต่มันก็เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้บริโภคและตัวของบริษัทเอง ที่บอกว่าจะมีการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค อยากมีองค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผลักดันกันเรื่อยมา จนปีนี้ 2552 ก็ได้เสนอกฎหมายตัวนี้เข้าไปอีกจะได้หรือเปล่าก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ที่มีเกิดขึ้นก็คือขบวนการผู้บริโภค ที่เคยว่าอยากได้ศาลผู้บริโภค ตอนนี้ก็มีศาลผู้บริโภคจริงๆ แล้ว ส่วนจะมีการใช้กันจริงๆ หรือเปล่าก็มาว่ากันอีกที ทิศทางการพัฒนาระบบกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยจะเป็นอย่างไรปี 2551 เราได้กฎหมายมา 2 ตัวคือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 สิงหาคม 2551 และ พ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หรือ Product Liability (PL Law) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 พอกฎหมาย 2 ตัวนี้ออกมา ก็มีการออกมาคัดค้านกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านก็คือหมอ พวกหมอก็ตื่นตัวกันให้วุ่น เพราะเกรงว่าจะกระทบตัวเอง ถ้าหากจะมองคดีทางการแพทย์ ผมก็มองไม่เห็นเท่าไรนะ ปีหนึ่งมีแค่ 3 – 4 ราย แต่ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นกลายเป็นว่าผู้บริโภคฟ้องร้องหมอมากขึ้น ภาพเลยออกมาแบบนั้น อย่างกฎหมาย วิฯ ผู้บริโภค นอกจากผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคเองก็ถูกฟ้องด้วยเช่นกัน ตามหลักคิดนั้นผมว่ากฎหมายนั้นดีนะ แต่หลักปฏิบัติยังไม่ค่อยดี ตั้งแต่ผู้บริโภคถูกฟ้อง อีกอย่างก็คือเพิ่งเป็นการเริ่มต้นยังไม่ตื่นตัวและยังไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายมากนัก ยังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่ ก็ต้องรอการปรับตัวกันสักพัก ผมคิดว่ากฎหมายทั้ง 2 ตัวที่ออกมาถือว่าดีแล้วเพราะมันทำให้เกิดระบบ และถ้าหากมี องค์การอิสระผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงอีกก็จะเป็นตัวเสริมให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมองในเรื่องของพัฒนาการว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ให้ดูหลักของอาจารย์ประเวศ วะสีในเรื่อง สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ภาควิชาการ เรายังไม่มีระบบที่เชื่อมร้อยกันไปได้ ยังกระจายกันอยู่ อย่างเช่น การดึงหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยโภชนาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้ามาเพื่อดึงข้อมูลความรู้ออกมาใช้ มันก็ยังไม่ถึงที่สุด กลุ่มนักวิชาการก็ยังไม่เกิดกลุ่มและยังไม่มีการจัดระบบกันเอง ภาครัฐ ก็เริ่มที่จะเห็นถึงพลังผู้บริโภคบ้างแล้ว ก็เริ่มที่จะมีการพัฒนากลไกเกิดขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังเป็นภาครัฐอยู่นั่นเอง ภาคผู้บริโภค ผมมองว่าขณะนี้กลุ่มผู้บริโภคเกิดความเคลื่อนไหวและเติบโตอย่างมาก เพราะมีการเติบโตจากประสบการณ์และการเรียนรู้จริงทั้งจากเวทีต่างๆ และจากเครือข่ายด้วยกันเอง เครือข่ายต่างๆ ของผู้บริโภคก็เติบโตอย่างมาก อย่างเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ถือว่ามีการเติบโตอย่างมาก คือเราทำงานกันแบบมีขบวนการการเคลื่อนไหว เรียนรู้จริงไม่ใช่จับคนมานั่งในห้องแล้วก็อัดข้อมูลเข้าไป ไม่ใช่…เราเรียนรู้จักประสบการณ์และการทำงาน ผมขอชมเลยนะว่า ขบวนการผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถือว่าค่อนข้างสำเร็จกลุ่มอื่นๆ ก็จับตามองว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทำไมไม่จับเรื่องอาหารหรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ แต่ก็สามารถพัฒนาจนมีเครือข่ายผู้บริโภคได้ในที่สุด ถ้ามองถึงพัฒนาการที่ผ่านมา ขณะนี้ก็ถือว่าดีขึ้นเยอะมีกลไกต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการจัดเวทีสภาผู้บริโภคขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าจะมีการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค อยากมีองค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผลักดันกันเรื่อยมา จนปีนี้ 2552 ก็ได้เสนอกฎหมายตัวนี้เข้าไปอีก จะได้หรือเปล่าก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ที่มีเกิดขึ้นก็คือขบวนการผู้บริโภค ที่เคยว่าอยากได้ศาลผู้บริโภค ตอนนี้ก็มีศาลผู้บริโภคจริงๆ แล้ว ส่วนจะมีการใช้กันจริงๆ หรือเปล่าก็มาว่ากันอีกทีอยู่ที่การทำความเข้าใจและการนำไปใช้ เราจะเอาไปขยายอย่างไรนั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ว่าเราจะใช้วิธีการอย่างไร จะใช้วิธีการเดิมก็ได้ เราใช้ฉลาดซื้อ ใช้รายการโทรทัศน์ที่มูลนิธิทำอยู่ก็ได้นะ แล้วเรื่องที่จะมีวิทยาลัยผู้บริโภค การเคลื่อนเรื่องผู้บริโภคในสภาวิชาชีพเองก็มีการพูดคุยกันอยู่เหมือนกัน และขณะนี้สถาบันผู้เชี่ยวชาญอย่าง ด้านเด็ก ด้านรังสี ก็จะมีเยอะมาก แล้วก็มีวิทยาลัยเภสัชกรรมบำบัด ก็เป็นส่วนที่จะบำบัดดูแลเด็ก เราก็ไปสร้างวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาบ้าง ระเบียบข้อบังคับทำเสร็จหมดแล้วนะ ก็รออยู่ ก็มีการยอมรับจากหลายเครือข่ายแต่มีปัญหากับแพทยสภาอย่างเดียว เราก็พยายามเลี่ยงๆ ถ้าหากว่ามีตรงนี้ออกมาจริงๆ ก็จะดีมาก ตอนนี้ที่มองอยู่ทั้งฝั่งสภาวิชาชีพและฝั่งผู้บริโภคก็คือ “ขาดคน” แต่เราก็มีกำลังคนที่มีคุณภาพอยู่ ทำอย่างไรเราถึงจะได้คนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จะต้องทำอย่างไร จะมีวิธีการทำวิทยาลัยผู้บริโภคอย่างไร จะใช้เวทีจัดประชุมวิชาการ มีเวทีพูดคุยกันอย่างไร อย่างตอนนี้เขาก็มีเยอะไปอย่างด้านการเมืองก็จะมีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สถาบันขวัญเมือง วิทยาลัยผู้บริโภคของเราก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่รูปแบบเป็นอย่างไร ต้องมาคุยกันอีกที จะตั้งอยู่ที่ไหน หรือควรจะเป็นอย่างไร มันก็ยังเป็นฝันอยู่นะ ที่ต้องการทำแบบนี้ก็เพราะต้องการทรัพยากรบุคคลอย่างวันนี้มีเรื่องซานติก้า เรื่องสิทธิบัตรยา เรื่อง FTA นั่นก็เป็นบทเรียนได้เลยนะ แต่ละบทก็ว่ากันไป คือในช่วงชีวิต มันก็จะมีเหตุการณ์การเข้ามาให้เราเรียนรู้แต่ละบทไปเรื่อยๆ ทีนี้ละเราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะหยิบเหตุการณ์เหล่านี้มาใช้อย่างไร ซึ่งในภาควิชาชีพทำง่ายเพราะมีสถาบันมีบุคคลอยู่แล้ว แต่ว่าภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคหากมีการเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถนำมาไว้ในวิทยาลัยผู้บริโภคได้ ก่อนจะปิดการสัมภาษณ์ อ.วิทยา ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากองค์การอิสระผู้บริโภคขึ้นมาจริงๆ ก็คงต้องมาดูกันว่าจะเป็นอย่างไร ใครจะเข้าไปในส่วนบริหาร บุคลากรของเรามีพอไหม นั่นเป็นโจทย์ที่ คนทำงานผู้บริโภคอย่างฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค และส่วนที่ทำงานด้านผู้บริโภคต้องขบให้แตกกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >