ฉบับที่ 126 เสียหายจากการรักษา ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการฟ้องเสมอไป

  “การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา...” คุณปภาวี รอดแก้ว วัย 49 ปี เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เธอมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผลการรักษาทำให้ตาบอด ต่อมาภายหลังโรงพยาบาลฯ ได้ยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเธอจำนวนหนึ่ง   ดวงตาที่เริ่มมองไม่เห็นคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง จึงได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องทำทั้งหมด 4 ครั้ง  โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 ส่วนอีก 3 ครั้ง จำเป็นต้องย้ายไปทำการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณี โดยเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553  การผ่าตัดตาทั้งสองข้างนั้นคุณปภาวีทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้ปกติหลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย “ตอนเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลแรกเพื่อรักษาตาข้างขวาพี่เริ่มมองไม่เห็นแล้วนะ ส่วนตาข้างขวายังพอมองเห็นอยู่หลังผ่าตัดเช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอเปิดผ้าปิดตา พี่เริ่มจะเห็นแสงแล้วนะ วันต่อมาก็เริ่มเห็นหน้าหมอ หมอเองก็ยังแปลกใจเลย วันต่อมาอาการก็ดีขึ้น จนมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งมันต่างกันมากจากการผ่าตัดตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เช้าวันรุ่งขึ้นนักศึกษาแพทย์ก็มาเปิดตาพี่แล้วก็ตรวจตาก่อนอาจารย์หมอจะมาตรวจ แต่ครั้งนี้พี่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก 1 เดือนให้หลังตาก็มองไม่เห็นอะไรเลย”   เลือกเพราะวางใจ คุณปภาวีบอกว่า เหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. อีกแห่ง ก็เพราะโรงพยาบาลแรกนั้น เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์เจ้าของไข้จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น “มาที่โรงพยาบาลนี้เพราะใกล้กับโรงพยาบาลแรก และเชื่อมั่นว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์ก็เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง” คุณปภาวีซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอมีข้อสังเกตหลายอย่างที่ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า โรงพยาบาลคู่กรณีอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการรักษา เธอบอกว่า “ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์....... ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว เราฟังแล้วก็เอ๊ะทำไมพูดแบบนี้ แล้วการผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.แรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่มเพราะมันหมดฤทธิ์ยาชา  เราไม่ได้สลบนะ ก็จะได้ยินทุกอย่างที่ทั้งหมอและพยาบาลคุยกันในห้องผ่าตัด เราก็จะรู้” เธอย้อนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งวัดดวงกับการผ่าตัดครั้งนั้น หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า “ตาบอด” ปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกกับเธอว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอประสาทตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าหากว่าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะช่วยรักษาได้บ้าง ที่เป็นอย่างนั้นแพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้   ร้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ“เราก็ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา ก็เลยทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เรียกเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านเองไม่มีอำนาจ ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้ เรารีบปฏิเสธเลย ผ่ามา 3 ครั้งยังไม่ดีขึ้นเลย  แล้วการที่เราตาบอดมันส่งกระทบกับเรามากทั้งครอบครัว ทั้งการงานของเราด้วยเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้ รับเดือนละ 2,000 บาท ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า คืนมันเปลี่ยนไปหมดเลย” เธอจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว โรงพยาบาลยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้  ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา “การเยียวยาของโรงพยาบาลก็ถือเป็นการดี แต่เป็นการเยียวยาในระยะสั้น อยากให้ทางโรงพยาบาลได้เฝ้าระวัง การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  อยากจะฝากบอกถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้รับความเสียหายก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่าเงียบเฉยๆ หรือจะร้องเรียนที่โรงพยาบาลก็ได้เพราะในแต่ละโรงพยาบาลก็มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนแล้ว” คุณปภาวีกล่าว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน อุบัติเหตุชีวิตของลูกบ้าน ที่สยองกว่าลัดดาแลนด์

หลังเก็บเงินมากว่าครึ่งชีวิต “ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี” ก็ทุ่มเงินก่อนซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นที่หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน สมุทรปราการ โดยหวังสร้างครอบครัวอบอุ่น เล็กๆ ในฐานะผู้นำครอบครัว ไม่ต่างจากพระเอกในภาพยนตร์เรื่องลัดดาแลนด์ ครั้นอยู่มาเพียงแค่ 3 ปี ทุกอย่างที่เขาทุ่มเททำมาก็พลันมลายลงใน ราวๆ เวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 10 กันยายน 2553  “คืนนั้นมีเสียงดังสนั่นตั้งแต่หลังคา ฝ้าเพดาน ผนังห้อง พื้นห้อง ทรุดตัวแตกร้าวตามจุดต่างๆ มันน่ากลัวมาก” ธวัชชัย บอกเล่ากับทีมฉลาดซื้อ  เช้าวันรุ่งขึ้นเขาและเพื่อนบ้านในทรัพย์ยั่งยืน ซอย 22 และ 24 รีบเข้าแจ้งความกับตำรวจให้เข้าไปตรวจสอบ บ้านทั้ง 16 หลังซึ่งสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ลักษณะหันหลังชนกัน  ซึ่งกลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2553 ในเนื้อข่าวให้รายละเอียดไว้ว่า ‘หมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีก่อน มีทั้งหมด 450 หลัง เดิมพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา ดินจึงอาจทรุดตัว’  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ จึงประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ย. 53  สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ระดมความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยนำเต๊นท์กางเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือหลังคาเรือนละ 20,000 บาท ด้านบริษัท ส.มณีสิน วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการหมู่บ้านทรัพย์ยั่งยืน ให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 30,000 บาท หลังการไกล่เกลี่ยจึงให้เพิ่มเป็นเงิน 200,000 บาท กับบ้านที่เสียหาย 16 หลังคาเรือนและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดอีก โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ ก่อสร้างตามมาตรฐานของแบบแปลนที่ฝ่ายโยธาธิการกำหนดไว้แล้ว  จากวันผ่านเป็นเดือน เต๊นท์หลังเดิมยังถูกกางไว้หน้าบ้านของธวัชชัย ข้าวของในบ้านถูกทยอยขนออกไปอยู่บ้านเช่าทีละชิ้นสองชิ้น หลงเหลือไว้เพียงความฝันของธวัชชัยที่คลุ้งอยู่เต็มทุกอณูของบ้านที่แตกร้าว   ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาคุณผู้อ่าน ไปพูดคุยกับธวัชชัยและเพื่อนบ้าน ที่เฝ้ารอวันตื่นจากฝันร้าย   เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงิน เก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น…แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน   บ้านในฝัน(ร้าย) ธวัชชัย ฤทธิ์มนตรี เลือกซื้อบ้านหลังนี้จากโฆษณาโครงการฯ ที่ดูดี ที่สำคัญเขาตัดสินเลือกเพราะว่าโครงการฯ นี้เหมาะกับการเดินทางเรื่องงานและอยู่ติดกรุงเทพฯ  แต่เขาลืมคิดไป(จริงๆ เรียกว่า คาดไม่ถึงมากกว่า) ว่าโครงการฯ นี้ใกล้แม่น้ำ ทำให้มันกลายมาเป็นปัญหาการทรุดตัวของบ้าน “ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ บ้านมีประกันอัคคีภัย แต่ไม่คิดว่ามันจะทรุด ก่อนซื้อเราก็ดูแล้วว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการใหญ่ แต่อยู่ๆ ไปเข้าปีที่ 4 บ้านก็ทรุด” (โครงการใหญ่ตามคำนิยามของธวัชชัยก็คือมีทั้งหมด 450 หลัง)  ตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้น ธวัชชัย พาครอบครัวออกจากบ้านในฝันราคากว่า 1 ล้านบาท ไปเช่าบ้านเดือนละ 5,000 บาทเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงต้องผ่อนบ้าน “ทรุด” หลังนั้นอีกเดือนละ 7,000 บาท ตามภาระผูกพันกับธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกยึดบ้าน  “ตอนเกิดปัญหาหน่วยงานราชการก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งนำเต๊นท์มากาง นำอาหารมาให้ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบและแก้ไขปัญหานี้  ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ก็ต้องวนกลับมาที่พวกผมล่ะว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เงินที่ได้รับบริจาคมามันหมดไปนานแล้วครับ ก็คิดหาทางต่อสู้กันต่อว่าจะอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปต่อสู้ ก็ระดมทุนเก็บเงินเก็บอาทิตย์ละ 100 บาทจาก 16 หลัง เพื่อเป็นกองทุนในการวิ่งเต้นเรื่อง อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าประสานงาน ในการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เพราะวันข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ก่อน อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนไว้ให้รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแบบพี่แบบน้อง แต่นี้เราถือว่าเราเกิด “อุบัติเหตุชีวิต” ร่วมกัน ผมยืนยันที่จะสู้ต่อไปกับเพื่อนบ้าน เพราะผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ตอนนี้ผมยังหาความยุติธรรมไม่ได้”  ธวัชชัยหวังไว้ว่าความยุติธรรมที่เขาตามหาอยู่จะช่วยซ่อมผนังบ้านที่ปริแตก แยกตัวออกเป็นชิ้นๆ ช่วยซ่อมพื้นห้องครัวที่ทรุดลงไปเป็นฟุตๆ ช่วยซ่อมผนังในครัวที่แยกตัวออกจากกันจนเดินเข้าออกได้ ฝ้าเพดานพังลงมาทั้งหลัง ไม่สามารถจะมีพื้นที่ไหนที่จะซุกตัวอยู่ได้   บ้านหลังแรก แตกเป็นชิ้นสามารถ คารพุทธา พ่อบ้านอีกรายที่ตกลงใจซื้อบ้านหลังแรกของชีวิตที่หมู่บ้านนี้ ในราคา 890,000 บาท ขนาดพื้นที่ 16 ตารางวา   “การอยู่การกินของเราลำบากครับ ผมทำงานรับจ้างตอนแรกก็ไปเช่าห้องอยู่ข้างนอก แต่ทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องเช่าถึง 2 ห้อง ห้องละ 1,500 บาทต่อเดือน ห้องหนึ่งก็ไว้เก็บข้าวของในบ้าน อีกห้องก็เอาไว้นอน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน(แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน) ก็คิดนะว่ามันคงไม่พังลงมาทีเดียวหรอกมั้ง  แต่ก็เช่าอีกห้องไว้เก็บของ” ครอบครัวของสามารถมีด้วยกัน 4 คน พวกเขาต้องจัดการชีวิตใหม่ โดยให้ลูกคนเล็กไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย เขาและภรรยาอยู่กับลูกชายวัย 17 ปี ซึ่งจำต้องอยู่ต่อ เนื่องจากขณะนี้เรียนอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน แล้วก็เช่นเดียวกับธวัชชัย สามารถยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 6,700 บาท บ้านที่เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไร  บ้านของสามารถดูภายนอกจะเหมือนไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ครั้นพอเดินผ่านประตูบ้านที่ปิดไม่สนิทเข้าไปในตัวบ้าน บานหน้าต่างที่บูดเบี้ยว เตียงนอนวางอยู่กลางห้องโถงชั้นล่างมีสายมุ้งมัด 4 ด้าน พื้นบ้านเอียงลาดไปด้านหลังบ้าน ฝาผนังมีรอยปูนแตกประดับประดาแทนภาพประดับบ้านทั่วไป ห้องครัวหลังบ้านพื้นยุบตัวลงไปเป็นคืบ ผนังแตกร้าว ชั้นสองห้องนอนด้านหน้าบ้านฝ้าเพดานพังลงมาหมดแล้ว ห้องนอนหลังบ้านซึ่งเป็นห้องนอนของลูกชาย หน้าต่างบิดเบี้ยวผิดรูป ฝ้าเพดาน มีรอยน้ำรั่ว  “ช่วงที่ฝนตก จะทรมานมากครับ เพราะต้องคอยรองน้ำที่ไหลลงมาจากรอยรั่วที่หลังคา ไม่งั้นก็จะเอ่อท่วมทั้งบ้าน เวลานอนก็กังวลครับ ไม่เคยหลับอย่างเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีการยุบตัวอีกเมื่อไร ยิ่งฟ้าร้องนี้ก็ระแวงครับว่าเสียงบ้านทรุดหรือเปล่า คืนไหนที่ฝนตกจึงเป็นอีกคืนที่ไม่ค่อยได้นอน อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ เวลาเห็นสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว ยอมรับว่าดีใจครับ อย่างน้อยก็มีคนที่จะส่งผ่านเรื่องราวของพวกเราไปถึงหน่วยงานราชการให้เข้ามาแก้ปัญหา”   ความรู้สึกที่ไม่อาจเยียวยากัญญภัค โคตรพัฒน์ เป็นอีกคนที่บ้านหลังนี้คือความหวังทุกอย่างของเธอ เงินที่เก็บมากว่าครึ่งชีวิตก็ทุ่มไปกับบ้านหลังนี้ ครั้นบ้านที่สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงมาทรุดลง ความรู้สึกของเธอก็แตกร้าวทรุดตัวลงเช่นกัน  “ผิดหวังมาก คือเราซื้อบ้านเราก็หวังที่จะมีความสุข แต่มันไม่ใช่ มันสับสนนะ มันเหนื่อยอยู่ข้างในมัน...” เราต้องปล่อยให้เธอสงบใจสักพัก เมื่อเห็นน้ำตาที่รื้นขึ้นมา   เวลากลางวันกัญญภัคมาทำงาน มาเย็บผ้าที่บ้าน เพราะเป็นห่วงข้าวของที่ยังเก็บไว้ที่บ้านส่วนหนึ่ง เวลากลางคืนก็อยู่ที่ห้องพักที่สำนักงานขายหมู่บ้านปันพื้นที่บางส่วนให้ครอบครัวของเธออยู่ โดยช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟรวมเดือนละ 1,000 บาท ครอบครัวของกัญญภัค มีด้วยกัน 4 คน  และยังต้องผ่อนบ้านอีกเดือนละ 5,500 บาทกับธนาคาร   ความช่วยเหลือไม่มาก แต่อย่าให้น้อย ตั้งแต่เกิดเรื่องราว “ธวัชชัย” และเพื่อนบ้านก็ไม่ได้นิ่งเฉย หลังจากไม่สามารถตกลงกันได้กับบริษัท ส. มณีสิน วิลล่า จำกัด ที่มีสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย  หลังใช้เวลาไกล่เกลี่ย 3 ครั้งใช้เวลา 3 เดือน  วันที่ 14 ม.ค. 2554 สำนักงานจังหวัดฯ จึงส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัทฯ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายกับธวัชชัยและเพื่อนบ้านผู้เดือดร้อน    “จะให้เราไปฟ้องร้องเองก็ไม่ไหว เพราะเงินก็ไม่มี ก็ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เจตนาของเราก็คือต้องการไกล่เกลี่ย คือเรามาซื้อบ้านเราก็ไม่ได้ไปคดโกงใครมานะ เราเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา พอได้มาก็คิดว่าทุกอย่างคงสมบูรณ์ แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบช่วยเหลืออะไร  ซึ่งเขาควรจะรับผิดชอบ ก็ขอให้มีหน่วยงานไหนสักแห่งที่เข้ามาลงโทษเอาผิดกับเขาได้บ้าง ถึงที่สุดจริงๆ ก็ต้องต่อสู้ต่อไปล่ะครับ แต่จะช้าจะเร็ว ก็ต้องดูกันไป”  สุดท้ายธวัชชัยฝากบอกว่า “เวลาจะซื้อบ้านอยากให้มองไปถึงเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะเราไปวิเคราะห์ที่โครงสร้างภายในไม่ได้ ก็อยากให้เรื่องของพวกผมเป็นบทเรียนให้ทุกคน”   สถานการณ์ปัจจุบัน หลังเรื่องเข้าไปที่ สคบ.แล้ว จากการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. มีมติที่จะดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภค ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีความชำรุดของโครงสร้างก็จะมีหน่วยงานมาช่วยพิสูจน์ให้ ความคืบหน้าจะรายงานต่อไปค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 จากนักดนตรีสู่นักสู้รุ่นเยาว์

  “นักศึกษาร้อง ‘เอแบค’ เปลี่ยนหลักสูตรไม่บอก” “‘เอแบค’แจงหลักสูตรดนตรีได้มาตรฐาน” “นศ.คณะดนตรี ม.เอแบค ร้อง สกอ.เยียวยา 21 ล้าน” พาดหัวข่าวโต้ตอบดุเดือดระหว่างนักศึกษาและมหาลัยชื่อดังในช่วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้อง   เราขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับ ณัฏฐา  ธวัชวิบูลย์ผล นักศึกษาผู้เป็นต้นเรื่องนี้ค่ะ--------------------------------------------------------------------------------------------------- สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ ABAC ได้มีการเปลี่ยนแปลงหสักสูตรคณะดนตรี จากเดิม 4 สาขาวิชา นั่นคือ 1. Music Performance 2.Professional Music 3.Contemporary Music Performance 4. Contemporary Music Writing and Production เป็น 2 สาขาวิชาคือ 1.Music Business 2.Music Performance ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยไม่แจ้งนักศึกษาให้ทราบล่วงหน้าเลย  และจะเป็นอย่างไรถ้าในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่ยังมีนักศึกษาหลักสูตรเดิมเรียนอยู่ด้วย และไม่สามารถเทียบโอนบางรายวิชาได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------  ความฝันฝันค่ะ ฝันไว้ตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าจะเลือกเรียนดนตรีคลาสสิก กะไว้ว่าจะเข้า มหิดลแต่ว่าเข้าไม่ได้ จนจบ ม.6 ก็เอาละ จริงๆ ใจเราก็ไม่ได้รักคลาสสิกมาก แต่เราอยากเล่นดนตรีมากกว่า แล้วเห็นพี่สาวเข้าเรียนแจ๊ส พอมาเจอดนตรีแจ๊ส หลักสูตรดนตรีของมหาวิทยาลัยเอแบค ก็สนใจ ดูแล้วจบมามีงานทำแน่นอน  ก็ฝันนะคะเพราะถ้าจบมาเราก็ทำได้หลายอย่างทั้งเพอร์ฟอร์มเมอร์ นักแต่งเพลง คือเราฝันที่จะมีชีวิตที่เดินบนเส้นทางของดนตรี   ฝันมลายทั้งที่เพิ่งวางโครงสร้าง จนปี 2551 ความฝันของ “ณัฐฏา” ก็พังคลืนลงไม่เป็นท่า เมื่อมหาลัยเอแบค ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรดนตรีที่เธอเรียนอยู่ ตอนปี 2 เทอม 1 นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้อง เรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิม Contemporary Music Performance ปี 2548 นักศึกษาเรียน 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่  Music Performance ปี 2551จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต  บางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้  ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ (อัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชา) เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท ถ้าเป็นวิชาในคณะหน่วยกิตละ 2,000 หรือ 2,500 บาท เฉลี่ยค่าเทอมแล้ว เทอมละ 75,000 บาท  “อยู่ดี ๆ ก็ปรับเปลี่ยนหลักสูตร แล้วตัดวิชาที่สำคัญในการเรียนคณะนี้ออกไป ซึ่งถ้าไม่ได้เรียนแล้วฝีมือตกต่ำแน่นอน อย่างวิชารวมวง (Ensemble) ซึ่งวิชานี้เป็นการเตรียมความพร้อมกับนักศึกษา Music Performance ไปสู่การลงวิชาการแสดงคอนเสิร์ตก่อนจบการศึกษา แต่เขาก็ตัดวิชาสำคัญตรงนี้ออกไป  อีกตัวอย่างก็คือ สาขา Song Writing กลุ่มวิชาเอกบังคับ ในหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 มีวิชาเกี่ยวกับการเขียนเพลงเพียง 2 วิชา เมื่อเทียบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอื่นมีวิชาการเขียนเพลงถึง 6 – 8 วิชาด้วยกัน รวมทั้งนำวิชาอื่นไม่เกี่ยวข้องมาใส่ และในกลุ่มวิชาบังคับของหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีการเปิดสอนวิชาเขียนเพลง แต่ก็ควรจะมีวิชาที่เทียบเท่ากันได้อย่าง Introduction to Film Scoring ,Writing and Production Techniques in Pop/Rock Idioms,Contemporary Arranging for String ถึงแม้จะมีวิชา Lyrics Writing ในหลักสูตรใหม่ก็ไม่เคยเปิดสอน  ปัจจัยเกื้อหนุนก็ไม่พร้อม อย่างห้องซ้อมดนตรีก็มีเครื่องดนตรีไม่ครบ ทั้งที่ประกาศในสัญญาแล้วว่าต้องมีจำนวนเท่าไร มีอะไรบ้าง ถ้ามองในมุมมองของนักศึกษาอย่างหนูก็คือ ‘คณะมันไม่พร้อมที่จะเปิดตั้งแต่ต้น’ จากแต่ก่อนเราคิดว่าเราจบจากที่นี่อนาคตเราดีแน่นอน แต่ว่าเขาเปลี่ยนหมดเลย”  อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  ลุกขึ้นมาสู้ เธอยอมรับว่าช่วงแรกๆ ก็งงว่าจะทำอย่างไร เริ่มคุยกับรุ่นพี่ ปรึกษาอาจารย์ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็เริ่มถามตัวเองว่าชีวิตจะไปต่ออย่างไร เพราะวิชาสำคัญๆ ที่ต้องเรียน และต้องใช้ประกอบอาชีพถูกตัดออกไป    “ต้องมาเรียนวิชาการแสดง เราก็คิดว่าจบออกไปแล้วก็คงไม่ได้อะไร พยายามปรับตัวเอง ให้หันไปแต่งเพลงดีไหม แต่พอจะมุ่งมาทางการแต่งเพลงจริงๆ ก็มีวิชาการแต่งเพลงเพียงไม่กี่ตัวให้เรียน ‘เหมือนเขาจะสอนเป็ด ทั้งสอนว่ายน้ำ ทั้งสอนบิน แต่ก็ไม่ได้อะไรสักอย่าง’”  เธอกับเพื่อนร่วมคณะจำนวนหนึ่ง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 2 ของภาคเรียนที่ 2 พ.ศ. 2551 จนถึงล่าสุดวันที่ 20 มกราคม 2553 รวม 11 ครั้งในระยะเวลา 3  ปี จึงเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภควันที่ 24 ธันวาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ยื่นข้อเรียกร้องช่วย 3 ประเด็น  1)ให้มหาวิทยาลัยฯ คืนเงินชดเชยค่าลงทะเบียน และค่าขาดโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษา  2) ต้องการให้ปรับปรุงคณะดนตรี อุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดอาจารย์สอนให้ตรงกับสาขาวิชา และ  3) ต้องการให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค ต้องการย้ายไปเรียน ซึ่งเบื้องต้น สกอ.รับปากจะช่วยไกล่เกลี่ยให้  “การที่หนูออกมาเรียกร้อง เพราะได้เข้าพบผู้บริหารในเดือนพฤศจิกายน 2553 แล้วเขาบอกว่า ‘ถ้าไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ก็ให้ย้ายออกไปเรียนที่อื่น’ การออกมาเรียกร้องของพวกหนูก็ได้รับเพียงคำชี้แจงจากผู้บริหาร มากกว่าจะเป็นการแก้ไข แล้วยังว่าพวกหนูอีกว่าจะเรียกร้องอะไรกันมากมาย  อยากให้เขารับผิดชอบและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เรื่องแรกก็คือเขาจะรับผิดชอบอย่างไรกับชีวิตคนๆหนึ่ง เพราะเขาทำให้ชีวิตเด็กเสียหาย ถ้านับเป็นชีวิตก็ทั้งคณะนะคะ บางคนก็ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง จะมีบางกลุ่มอย่างพวกหนูที่กล้าออกมาเรียกร้อง และอีกกลุ่มก็คือพ่อแม่ไม่อยากให้ยุ่ง  อย่างที่สองที่ต้องรับผิดชอบก็คือค่าหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนไป  ซึ่งทางมหาลัยฯ ก็ต้องชดเชยเช่นกัน ซึ่งหากทางมหาวิทยาลัยยังเงียบ ไม่ยอมเจรจาด้วย คุยๆ กับเพื่อนไว้ค่ะว่าก็ต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีใครเข้ามารับผิดชอบต่อเรื่องนี้   อยากให้คนที่พบกรณีแบบเดียวกันนี้รักษาสิทธิของตัวเอง อย่าคิดเพียงว่าปล่อยให้มันผ่านๆ ไป ไม่ใช่ปล่อยเรื่องให้ยอมๆ กันไปแล้วก็จบมันไม่ใช่ ถ้าเราปล่อย  เขาก็จะไปทำกับคนอื่นอีก  เพราะเรื่องการศึกษามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ”  ฝันเปลี่ยนแต่รักดนตรีไม่เปลี่ยนณัฎฐาเองยังคงหวังที่เดินบนถนนดนตรี จึงหวังจะย้ายเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเรียนสายดนตรี แต่เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีปาฏิหาริย์ทุกคน เธอไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่นี่ได้ เพราะเทียบโอนได้บางวิชาเท่านั้น บางรายวิชาต้องไปเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 เรียนได้เทอมละ 1 วิชาเท่านั้น จึงไม่ต่างกับการเข้าเรียนใหม่ตั้งแต่ปี 1 “เหมือนเราไปนับหนึ่งใหม่ในเส้นทางที่เราเดินมาแล้ว พอปรึกษากับพ่อ พ่อก็แนะนำให้ไปเรียนในอีกสาขาหนึ่งในสิ่งที่ชอบเท่ากันก็คือการครัว สุดท้ายก็ย้ายมาเรียนการครัว แต่ใจก็ยังรักดนตรีนะคะ”  หลังติดต่อหาที่เรียนเป็นที่เรียบร้อยที่ วิทยาลัยดุสิตธานี ในภาควิชาอุตสาหกรรมการบริหาร เธอยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นนักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัยเอแบค วันที่ 11 พ.ค. 2554   ณัฐฎากลายเป็นนักศึกษาปี 1 อีกครั้ง โดยเริ่มเรียนปรับพื้นฐานวันที่ 16 เม.ย. 54 ก่อนจะเปิดเทอมในเดือน มิ.ย.  “เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหมือนเรามีหวังกับที่ใหม่ เป็นอีกทางที่เราเลือก พ่อเค้าก็อยากให้หนูได้สิ่งที่ดีที่สุด คืออย่างเอแบคเทอมละ 70,000 บาท สำหรับหนูถือว่าแพงแล้ว แต่พอต้องมานับหนึ่งใหม่ในอีกที่เรียนหนึ่งตกปีละ 300,000 บาท พ่อต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นก็เห็นใจพ่อนะคะ ปัจจุบันก็ต้องวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวและของตัวเอง อะไรที่ไม่จำเป็นละได้ก็ละ พ่อกับแม่บอกว่า ‘เงินก้อนสุดท้ายแล้วนะลูก’ ฟังแล้วสะอึก เราทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ จบมาแล้วต้องคืนทุนอย่างรวดเร็ว” อนาคตเชฟสาวผู้มีหัวใจรักดนตรีพูดทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ละครไม่พึ่งโฆษณาและบทไม่ต้องตบตี มีได้ไหม?

  รัศมี เผ่าเหลืองทอง  นักเขียน นักแปล ผู้กำกับ ที่หลายคนรู้จักในนาม คณะละคร สองแปดนักเขียนบท มือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือ ตุ๊กตาทอง  บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2528   จากเรื่องผีเสื้อและดอกไม้  และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม  พ.ศ. 2534  จาก  วิถีคนกล้าโดยมีประโยคเด็ดที่เป็นจั่วหัวของเรื่องคือ "ทำให้คนอื่นกลัว ทำให้ไม่กลัวคนอื่น” ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคต้นแบบที่ให้ความหมายเหมาะสมกับคนใน“ วิถี ”แห่งยุคการบริโภคสื่อ อย่างในปัจจุบันก็ได้  เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำมีโฆษณา ถ้าพูดถึงอิทธิพลของสื่อ “โฆษณา” จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นชัดเจนมากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน การทำโฆษณามันเป็นการพยายามที่จะทำให้คนอยากได้ พอเราไปเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนปี 2533 ช่วงที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องวิถีคนกล้า (ภาพยนตร์วิถีคนกล้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันของ มาลา คำจันทร์ และเขียนบทภาพยนตร์โดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง) ต้องเดินทางไปบนดอย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรถเข้าไม่ถึงนะ ก็ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เป็นนายอำเภอว่าชาวเขาได้ดูทีวี ซึ่งการที่จะดูทีวีได้ต้องใช้ไฟเสียบจากแบตเตอรี่รถยนต์  แล้วทีนี้พอลงดอยเข้าเมืองไปซื้อของใช้ก็จะบอกกับร้านค้าว่า “เอารีจ้อยส์ขวดนึง” นึกภาพออกเลยว่าเขาคงเห็นภาพผมพลิ้ว สลวย หอม แน่นอนละเขาต้องอยากเป็นแบบนั้น พอเข้าเมืองก็ซื้อทันที เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากในสิ่งที่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ทำกับคนดู   การทำโฆษณา 1 ชิ้นมีงบประมาณเยอะมากทั้งการใช้ดารา ใช้ซูเปอร์สตาร์ของประเทศมาโฆษณา ค่าตัวกี่ล้านบาท ไหนจะค่าการผลิตอีกรวมแล้วก็ไม่น่าต่ำกว่า 20 ล้าน เพื่อโฆษณาลูกอมขาย 2 เม็ดบาท 3 เม็ดบาท เขาต้องขายให้ได้มากเท่าไรเพื่อที่จะคุ้มทุน และภาพโฆษณามันก็จะฝังเข้าไปเป็นค่านิยมของคนโดยไม่รู้ตัว ถูกกระตุ้นให้เกิดความยาก ต้องซื้อ ต้องใช้ เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกยุค เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเรื่องที่น่ากลัว   ในต่างประเทศการทำโฆษณามีจริยธรรมมาก เขาจะใส่อารมณ์ขันเข้าไป ต่างกับเมืองไทยที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่ดูติด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศในการโฆษณา เพื่อให้คนติดตาและจำสินค้าได้ ไม่ว่าสินค้าจะมีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม   ที่เราต้องคิดกันต่อก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็เลยมองไปว่าข้อแรกตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องแข็งแรง ต้องเท่าทันโฆษณา แม้แต่คนที่มีความรู้ก็ตกอยู่ในความอยากได้เมื่อดูโฆษณา ข้อสองก็คือคนที่ทำโฆษณาต้องมีสำนึกและต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาทำและสื่อออกมาส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ใช่หลอกล่อผู้บริโภคอย่างเดียว ข้อสามก็คือการควบคุมโฆษณาให้ไม่เกินเลย ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารส่วนหนึ่งอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่ก็ต้องมีการควบคุมด้วยว่าไม่ควรจะเกินเลยมากไปเช่นการโฆษณาแฝงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อย่างการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนออยู่หน้าข้างๆ แถบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นการโฆษณา เพราะเจตนาที่จะหลอกล่อ เหมือนดูถูกสติปัญหาของคนอ่าน สิ่งที่กองบรรณาธิการทำเหมือนดูถูกสติปัญญาของคนอ่านชัดเจน เหมือนโฆษณาแฝงในละครก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ วางประกอบฉาก บางรายการทีวีนึกว่าทำรายการโฆษณา ซึ่งเราต้องเฝ้าระวังและต้องมีการควบคุมด้วยเช่นกัน   การให้เราต่อต้านบริโภคนิยม แต่ทั้งๆ ที่เรายังปล่อยให้มีโฆษณาแบบนี้อยู่ แล้ววันๆ ก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเพียงคำขวัญที่พูดกันไปวันๆ   การควบคุมในเรื่องการทำโฆษณามีมานานแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังโฆษณาที่เกินจริง ที่ถี่เกินไป ถ้าการควบคุมไม่ได้ผลจริงๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงาน อีกส่วนก็คือต้องเรียกร้องกลุ่มผู้บริโภคให้ออกเคลื่อนไหวโดยการใช้สื่อนี่ละในการออกมารณรงค์และเรียกร้อง ซึ่งต้องต่อสู้อย่างมากทั้งกลุ่มทุน ทั้งผู้ผลิต ก็ต้องลองดู   โซเชียลเน็ตเวิร์คกับการผลิตสื่อเพื่อผู้บริโภค ถ้าหากเราทำสื่อที่มีเนื้อหาก็ต้องค่อยๆ ทำไป อาจจะไม่ต้องดังตูมตาม เหมือนโฆษณาลดเหล้า แต่เราค่อยๆ ซึมลึกก็น่าจะดีนะ อย่างการนำเสนอเรื่องทดสอบ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ของฉลาดซื้อ ก็น่าจะมีคนสนใจ และคิดว่ามีความจำเป็นที่จะขยายสื่อของเราออกไปในสื่อวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อย่างสื่อวิทยุทำได้ง่าย อีกอย่างก็คือมีเนื้อหาอยู่แล้วและคนเราก็ฟังเป็นหลัก ทำงานบ้าน ขับรถ ก็ฟังวิทยุได้ ทำเป็นละครวิทยุหรือทำเป็นเรื่องเล่าก็ได้ อย่างเรานำเรื่องราวจากหนังสือฉลาดซื้อมาเล่าให้คนฟังได้ แล้วก็จะเป็นช่องทางรับสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้เพิ่มขึ้นอย่างการเปิดรับสายโทรศัพท์ให้เข้ามาพูดคุยในรายการ ซึ่งปัจจุบันก็ง่ายขึ้น และต้องหาบุคลิกของรายการของตัวเราให้เจอ เรื่องมีสาระไม่จำเป็นต้องเครียด ทำให้เป็นเรื่องสนุกๆ ได้ น่าจะทำได้นะเพราะเรามีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออาจจะประสานงานกับเครือข่ายพุทธิกา หากไม่มีคนจัดรายการก็เปิดรับคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษา เปิดรับอาสาสมัครเข้ามาจัดรายการ ให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามาเรียนรู้โลกจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยก็น่าจะดี   ละครดี ไม่ต้องตบตีคนก็ติดได้ ละครไทยผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม ถ้าบอกว่าคนดูชอบ...ซึ่งถ้ามองไปที่คนดูก็ต้องบอกว่าเอ่อ..ดูละครแล้วมันสะใจ ดูแล้วมาคุยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความถ้ามีละครที่ดีแล้วพวกเขาจะไม่ดู หรือดูแล้วไม่ได้ความคิด ไม่งั้นทำไมเขาถึงดูหนังจีนเปาบุ้นจิ้น สามก๊ก คนที่ดูละครน้ำเน่ากันอยู่ก็ดู ดูแล้วเขาก็ได้ความคิด แต่ทำไมไม่เอาละครดีๆ มาให้ดู ก็เพราะว่าคนทำละครไม่มีจิตสำนึกทางสังคมเลย แล้วก็มักง่าย  เมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องที่มันยากๆ ลึกซึ้ง ที่ซับซ้อน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบบเรื่องเปาบุ้นจิ้น เรื่องสามก๊ก หรือของญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ละครที่เราเห็นฉายกันอยู่เราจะรู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลา หรือใช้ความคิดสักเท่าไรเพราะว่ามันใช้สูตรเดิมๆ  ตัวละครจะมีอาชีพ เหตุการณ์ ฉาก คำพูด ประเด็นขัดแย้ง ก็แบบเดิม ก็จะเห็นว่าทำไปอย่างง่ายๆ คนดูก็ตอบรับดี แล้วก็พยายามเอาชนะละครเรื่องอื่นๆด้วยการใส่ความรุนแรงมากขึ้น ใส่ความวาบหวามมากขึ้น เพื่อเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอาชนะกันด้วยความสามารถและสติปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นความมักง่ายของคนทำ แล้วคนดูก็ถูกอ้างว่าเป็นเพราะคนดูชอบ ถึงต้องทำออกมาแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว คนทำไม่มีความสามารถที่จะทำออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่า แล้วพอดูเยอะมันก็ส่งผลต่อสังคม ส่งผลต่อคนผลิตด้วยก็จะขาดความมั่นใจในการผลิตรูปแบบอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นปัญหาในการทำงานสร้างสรรค์และการทำงานที่มีรสนิยมด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาทางผลิตและแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้...”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 เปลี่ยนระบบประกันตนได้ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบสุขภาพไทย

  นิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณมาคุยกับ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะ เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน(เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.54) ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของประเทศไทย จากปัญหาใหญ่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพระหว่าง ระบบประกันสังคมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ฝ่ายหนึ่งยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลไม่ได้เท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย หลายคนเกิดคำถามว่าเหตุใดถึงลุกขึ้นเรียกร้องช่วงนี้ แล้วมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ตอนนี้ทำอะไรไปบ้าง ฉลาดซื้อจะพาไปคุยค่ะ   เปิดตัวชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ความจริงเรื่องนี้คิดกันมานานแล้วนะแต่ไม่ได้จังหวะทำ ด้วยงานที่ทำทั้งการรณรงค์เรื่องสิทธิบัตรทอง ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น การผลักเรื่องเครือข่ายผู้ติดเชื้อก็เริ่มลงตัว จึงเริ่มเดินเรื่องชมรมฯ กันได้ประกอบกับพวกเราอยากผลักเรื่องรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายบำนาญชราภาพ ที่มีการล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นรายชื่อเสนอกฎหมายกันไป อีกอย่างก็คืออยากแก้กฎหมายประกันสังคมเรื่องเงินออม ซึ่งเมื่อมองหลายๆส่วน หากเราต้องการผลักให้เกิดบำนาญชราภาพอย่างจริงจังก็ต้องผลักในหลายๆ ส่วน ซึ่งก็ต้องดูทั้งบำนาญชราภาพของคนที่นอกระบบที่รัฐจะให้ก็คือเดือนละ 1,500 บาท บำนาญชราภาพของคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่พอดูกันจริงๆ แล้ว ได้เดือนละ 3000 บาท ทำงานกันมานานมาก กว่าจะได้ใช้ก็อายุปาเข้าไป 55 ปี แรกๆ ก็ดูทุกคนอุ่นใจว่ามีบำนาญของประกันสังคม แต่ไม่เคยรู้ว่าได้เท่าไรเพราะคำนวณไม่เป็น แต่พอคำนวณได้   เอ้า...ตายละได้คนละ 3,000 บาท ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรผิดพลาดละ เลยมาคิดหาทางออกกันว่าจะปรับจะแก้อย่างไร จะนำเงินที่ไม่ได้ใช้ไปจ่ายเพิ่มค่าบำนาญได้อย่างไร ก็เล็งไปที่ระบบสุขภาพที่ดูกันจริงๆ แล้วไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ทุกเดือนเราต้องจ่ายให้ประกันสังคม 5% และ 1.5 % ถูกนำไปใช้ในระบบสุขภาพ  พี่ทำงานด้านเอดส์ก็จะเห็นภาพชัดเจน เพราะมีเครือข่ายผู้ติดเชื้อซึ่งพอเข้ามาทำงานกับเครือข่ายก็ต้องโอนย้ายสิทธิจากบัตรทอง มาใช้สิทธิการรักษาของประกันสังคม ก็ติดปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ในการับยาต้านไวรัส ต้องใช้รับรองเพื่อดูสูตรยาต้านฯ และยาต้านไวรัส บางตัว ระบบประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม บางคนก็บอกว่าไม่เข้าใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม เราก็พยายามอธิบายว่า ‘ประกันสังคมดีนะ มีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นด้วยทั้งเรื่องสวัสดิการการว่างงาน หรือเจ็บป่วยก็มีสิทธิชดเชยนะ หรือทำงานแล้วส่งเงินไป 15 ปีก็จะได้เงินบำนาญ’ แต่ที่พูดมาเป็นเรื่องราวในอนาคต ซึ่งการรักษาพยาบาลเราไม่ได้ใช้   และโครงการประชาวิวัฒน์เป็นตัวผลักดันให้เกิดชมรมฯ เพราะโครงการนี้มีการนำแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมแต่ไม่รวมเรื่องสุขภาพ ระบบสุขภาพยังอยู่กับบัตรทอง ซึ่งเราเห็นด้วย แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็คือรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายประกันคมให้คู่ของผู้ประกันตนย้ายออกจากบัตรทอง ที่มีระบบการกระจายความเสี่ยงที่ดีของระบบบัตรทอง ซึ่งผู้ประกันตนปัจจุบันมี 9 ล้านกว่าๆ แต่พอรวมคู่ประกันตนเข้าไปอีก 10 ล้าน บวกลูกผู้ประกันตนเข้าไปอีก ก็จะอยู่ราวๆ 20 ล้านคน ซึ่งในกฎหมายที่จะแก้ระบุว่าให้โอนงบประมาณค่ารายหัวตรงนั้นเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งเหมือนเงินมันหายไปเยอะมาก จะทำให้เกิดความสั่นคลอนกับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพมาก ก็คิดกันว่าระบบสุขภาพที่ดีที่สุดก็คือ “ต้องมีระบบสุขภาพระบบเดียว” นำคน งบประมาณ มาอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่งมันจะทำมีพลังในการต่อรองระบบการรักษาในโรคเดียวกัน ราคาเดียวกัน หากเราทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ระบบมันจะมีคุณภาพ   ระบบสุขภาพระบบเดียวสร้างมาตรฐานการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่างระบบสุขภาพของประเทศไต้หวัน ที่มีระบบสุขภาพระบบเดียว พอเป็นระบบเดียวก็มีองค์กรการบริหารองค์กรเดียว มีเงินก้อน แล้วโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องทำเป็นคู่สัญญากับองค์กรกับกองทุนนี้ เพราะระบบการรักษาพยาบาลนั้นรัฐบาลเป็นคนจ่าย ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่เข้าระบบก็จะไม่ใครเข้าไปใช้บริการ เพราะฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลอยากได้เงินก็ต้องร่วมกองทุน ซึ่งระบบนี้จะมีอำนาจในการกำหนดราคา คุณภาพบริการ ระบบการผูกขาดบางอย่างก็ดีถ้ามันเป็นประโยชน์โดยรวม  แต่บ้านเรายังกำหนดไม่ได้โรงพยาบาลนี้มีชื่อเสียงก็ราคาแพงหน่อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการคลอด โรงพยาบาลนี้ 10,000 แต่อีกโรงพยาบาล 50,000 บาท อะไรแบบนี้ เห็นไหมมันมีความต่างที่เรายังไม่สามารถกำหนดได้ ถ้าเรามีระบบสุขภาพระบบเดียวการผูกขาดแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในเชิงคุณธรรม ซึ่งมันเป็นเรื่องของชีวิตไม่ควรจะมีการค้ากำไร แต่ก็จะถูกโต้แย้งเสมอว่า “เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขัน พอมีการแข่งขันทุกโรงพยาบาลก็จะมีการบริการที่ดี” แต่ดูสิข้อเท็จจริงตอนนี้มันไม่ใช่ ที่มีการแข่งขันก็คือ แอร์เย็น มีระบบต้อนรับที่หรูหรา แต่คุณภาพการรักษามันก็โรคเดียวกันมันก็โรคเดียวกัน การใช้ยาก็ต้องใช้ยาเหมือนกันๆ แต่ราคาแตกต่างกัน ยาจะแตกต่างกันบ้างก็คือการใช้ยาในบัญชียาหลักและยานอกบัญชี ซึ่งก็จะแพงขึ้น   คิดใหม่ทำใหม่ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนต้องใช้เวลา ถามว่าจะนานแค่ไหนก็คงต้องดูกันต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล และหากเปลี่ยนแปลงได้มันจะเป็นการพลิกระบบสุขภาพ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างตอนที่เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำให้ประชาชนรักษาสุขภาพฟรี ก็ต้องใช้เวลา หรืออย่างเกิดระบบ “30 บาทรักษาทุกโรค” ถ้าหากพรรคการเมืองมองการณ์ไกลก็หยิบส่วนนี้ไปผลักคะแนนเสียงมาตรึม ที่ผ่านมาเราพยายามทำความเข้าใจว่าระบบการรักษาพยาบาลมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เราเริ่มต้นด้วยการสร้างกระแสผ่านสื่อทุกช่องทางทำให้คนรับรู้ว่ามันเกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ใช้มาตรการในการเจรจา ต่อรอง ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อสร้างแรงกดดัน เมื่อยังนิ่งอยู่เราก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่มี ซึ่งเราจะเห็นว่ากฎหมายผิดรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5,10 และ 11 มีความไม่เป็นธรรมในเรื่องสุขภาพที่รัฐเลือกปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญก็ว่าไป ที่เรามองต่อมาและชกตรงมากขึ้นก็คือศาลแรงงาน เพื่อให้เห็นคู่ชกก็คือผู้ใช้แรงงานที่ถูกหัก 5% กับสำนักงานประกันสังคม โดยเรียกร้องขอเงินคืน คืนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบด้านสุขภาพจำนวน 1.5% ตั้งแต่ปี 2545 แล้วนำไปใช้ในกองทุนบำนาญชราภาพ เพราะเป็นปีที่มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพและประชาชนไม่ควรที่จะถูกเก็บเงินสมทบตั้งแต่ปีนั้น ซึ่งที่เรียกร้องไม่ใช่เพื่อขอเงินคืน แต่เพื่อให้เห็นจำนวนเงินว่าสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ไหม อย่างไปใช้ในส่วนชราภาพ หรือชดเชยบุตรจาก 6 ปี เป็น 20 ปีก็ได้ หรือนำไปบวกในส่วนชดเชยการขาดรายได้ก็ได้ ประกันสังคมไม่ต้องไปจ่ายปีละ 20,000 ล้านในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเราก็หวัง แต่ต้องใช้เวลา   ต้องยอมรับกฎหมายประกันสังคมที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ที่แล้วเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นรัฐสวัสดิการแรกๆ ของเมืองไทยที่ดูแลคน แต่ว่าเมื่อสถานการณ์ สังคมเปลี่ยนมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพขึ้นมาแล้วดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศและดูแลได้ดีกว่า คนบริหารระบบประกันสังคมก็ต้องคิดที่จะพัฒนาว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะให้คนที่ใช้แรงงานได้ประโยชน์สูงสุด ในอดีตประกันสังคมมีอดีตที่ดีตอนนี้ปัจจุบันมันเปลี่ยนประกันสังคมก็ต้องเปลี่ยนเพื่อพิทักษ์ประโยชน์และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน จริงไหม??....  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 ธรรมาภิบาลของเอสซีจี

  เราไม่ได้พูดเก๋ๆ นะ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำอันนี้โต  แต่สิ่งแวดล้อม สังคมอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะขายของให้ใครมันก็ไม่มีสังคมที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้บริโภคของเราอยู่ดี ดังนั้นทั้งสามวงนี้ต้องโตไปด้วยกัน การทำให้ทั้งสามวงโตไปด้วยกันเรายึดถือเรื่อง good governance เราเรียกว่าการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต  วีนัส  อัศวสิทธิถาวรสาวนิเทศศาสตร์จากรั้วจามจุรีที่เริ่มจากการเป็นเหยี่ยวข่าวสาวของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง จนในปัจจุบันรั้งตำแหน่ง Corporate Communications Director ของ บ.เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)  องค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง และดำเนินกิจกรรมแถวหน้าของเมืองไทย กับแนวคิดดี ๆ เรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคมกันในฉลาดซื้อฉบับนี้กันค่ะ  ธุรกิจเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ในความคิดของคุณคืออะไร  ถ้าถามพี่ว่าซีเอสอาร์คืออะไร ในเอสซีจีเราไม่ได้เรียกซีเอสอาร์ เราเรียก การพัฒนาสู่ความยั่งยืน  ซึ่งส่วนหนึ่งซีเอสอาร์ก็อยู่ในนี้ เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ทำธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองเราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น โรงงานของเรา ที่ จ.ลำปางเป็นโรงงานซีเมนต์ เราผลิตซีเมนต์อาจจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะเสียงเพราะฝุ่น โรงงานซีเมนต์เกิดขึ้นล่าสุดประมาณ 15-20 ปี เรามีเทคโนโลยีล่าสุดเราก็จะเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาให้ เพราะฉะนั้นโรงงานซีเมนต์เราจะใช้ semi-open..   เราใช้ภูเขาหินปูนมาทำซีเมนต์ โรงงานนี้เราใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่มีขณะนั้นก็คือในภูเขาเราจะทำเป็นเหมือนควักลูกแตงโม มันมีสันเขา เราจะทำเหมืองภายในเขา สันเขาจะปิดฝุ่นไว้ ฝุ่นจะไม่ออกมาเลย เราจะปลูกต้นไม้คลุมสันเขา เราจะไม่เห็นฝุ่นเลย มันจะปิดไว้เป็นป่าเขียวไปหมดเลย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แพงมากแต่เราก็ลงทุน  อะไรคือแนวการปฏิบัติสู่ความยั่งยืนของเอสซีจีแนวการปฏิบัติสู่ความยั่งยืนของเอสซีจี ถือเป็นไกด์ไลน์ของพวกเราคนทำงาน ที่ทำมาสำหรับพนักงานทุกระดับให้ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะบอกเป้าหมายในการทำธุรกิจของเรา คือ พัฒนาสู่ความยั่งยืน เวลาเรามองเป้าหมายแม้เราจะเป็น economy เป็นเศรษฐกิจแต่เราไม่ได้มองเศรษฐกิจอย่างเดียวเรามองสามอันนี้คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หมายความว่าเราต้องทำธุรกิจเพื่อให้ได้ผลกำไรแบบยุติธรรมเพื่อเราจะได้ดูแลอีกสองส่วนดังนั้นจะเป็นว่าทั้งสามวงมีขนาดเท่ากัน   เราไม่ได้พูดเก๋ๆ นะ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำอันนี้(economy)โต  แต่สิ่งแวดล้อม สังคมอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะขายของให้ใคร มันก็ไม่มีสังคมที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้บริโภคของเราอยู่ดี ดังนั้นทั้งสามวงนี้ต้องโตไปด้วยกัน การทำให้ทั้งสามวงโตไปด้วยกันเรายึดถือเรื่อง good governance เราเรียกว่าการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้   พอเรายึดถืออย่างนี้ทุกภาคส่วนต้องทำรวมถึงพนักงานทุกคน เราก็จะเริ่มตั้งแต่ว่า ถ้าพนักงานเข้ามาน้องใหม่เข้ามายังไม่ให้ทำงาน หนึ่งเดือนแรกเราจะอบรมเรื่อง เป้าหมายของธุรกิจของเรา โดยมี คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)    คือคนแรกที่สอนน้องใหม่ น้อง ๆ ที่เข้าใหม่แต่ละปี มีหลายร้อยคนขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ แบ่งคลาสละประมาณ 50 คน ก็จะเข้ามานั่งรวมกัน พี่กานต์จะเล่าให้ฟังว่าเอสซีจี มีจรรยาบรรณทางธุรกิจ ก็คืออุดมการณ์สี่ อะไรบ้าง เราเรียกย่อๆ ว่า SD sustainable development คือสามวงที่กล่าวไป good governance และจรรยาบรรณทางธุรกิจ นี่คือหลักจริยธรรมในการทำงาน   จรรยาบรรณเอสซีจี ทุกคนจะได้รับแจกไป อุดมการณ์มีอะไรบ้าง ตั้งมั่นในความเป็นธรรม ซึ่งเดี๋ยวเราจะเห็นว่ามันสอดคล้องกัน มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ความเป็นธรรมคือความยุติธรรม ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย อย่างพี่จะรับน้องเข้ามาทำงานพี่ต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรม พี่จะประเมินผลขึ้นเงินเดือนน้องก็ต้องคิดอย่างเป็นธรรม ไม่ได้คิดคนเดียวต้องมีกรรมการ มีเหตุผลที่จะพิสูจน์ได้ว่าน้องคนนี้มีผลงานดีกว่าอีกคนหนึ่งอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาทุกคนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ คือทุกคนจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  การเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะทำสิ่งดีๆ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี สุดท้ายคือถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม  สิ่งที่เราเตรียมคนมามันเป็นเช่นนี้ ทุกคนจะได้รับการถ่ายทอดอย่างนี้มาเรื่อยๆ  แสดงว่าซีเอสอาร์ของที่นี่ไม่ได้เป็นแค่เพียงโครงการใช่ที่พูดนี้คือ CSR in process ในกระบวนการทำงาน เราเรียกว่า CSR in process  อันนี้คือแนวปฏิบัติแล้วจะกลับมาตอบคำถามว่าซีเอสอาร์คืออะไร อันนี้คือ in process ต้องเริ่มจากเราก่อน ต่อไปจะมี after process คือไปช่วยเหลือคนอื่นล่ะ ส่วนอันนี้คือในชีวิตประจำวัน ในเอสซีจีมีความเชื่อว่าที่เราทำคือส่งเสริมเรื่องแนวคิดให้เกิด creativity หรือ innovation Innovation หมายความว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งที่เราทำ อย่างเช่น เราทำกระดาษ เราทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของกระดาษได้ไหม มูลค่าเพิ่มอันหนึ่งสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเอาwaste เอาขยะมาทำมันก็ได้ ทีนี้ก็เลยบอกว่าเรามีอีกธุรกิจหนึ่งเรียกว่า inforsave คือ information save คือเก็บความลับ เราเอาตู้ไปตั้งเวลามีความลับเราก็จะเอากระดาษใส่ลงไปในตู้แล้วก็ล็อคกุญแจ พอถึงเวลาก็จะมาไขไป เอาข้อมูลทั้งหมดในตู้ไปต้มใหม่หมดเลย เก็บความลับ ที่บ้านพี่เก็บกองๆ ไว้ ถึงเวลาเขาก็จะมีคนรอรับ พี่เอากระดาษให้ บอกรหัสสมาชิก เขาก็จะถามว่ากระดาษนี้อยากได้บุญหรืออยากได้เงิน ถ้าอยากได้เงินเขาก็ไปชั่งกิโลให้เงิน ถ้าพี่บอกเอาบุญก็ไปเลือกเอาว่าจะทำบุญโรงเรียนอะไร เขาก็เอากระดาษนี้ไปรีไซเคิล ก็จะคิดว่ากิโลเท่าไหร่ แล้วเอาเงินนี้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเราทำแบบนี้กับหลายองค์กรมาก เป็นร้อยองค์กร แล้วเราก็จะได้ความลับเหล่านี้ไปเป็นความรักให้กับเด็กๆ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นี่ก็เป็นแนวปฏิบัติที่เราพยายามเชื่อมโยง in process กับ after process  After Processย้อนกลับไปว่า เรามีเรื่องอุดมการณ์สี่ เรามีเรื่อง SD (sustainable development) ที่เป็นแนวคิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราส่งเสริมให้ได้รับการ assign งานของตัวเอง มี KPI ของตัวเองว่าจะต้องทำเท่าไหร่ ต้องผลิตสินค้านี้กี่ชิ้น คนเป็นเซลล์ต้องขายได้เท่าไหร่ คนทำบัญชีก็ต้องทำอย่างซื่อสัตย์สุจริตอย่างไร นั่นคือหน้าที่หลัก เราก็อยากสนับสนุนให้เขามี DNA ของการแบ่งปัน โดยที่เราบอกว่ามีโครงการปันโอกาสวาดอนาคตเพราะเรามีมูลนิธิเอสซีจี สนับสนุนให้พนักงานรวมตัวกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปถึงกี่คนก็ได้ แล้วก็ทำโปรเจคที่เขาอยากจะทำ แต่มีความสามารถด้วยนะในการทำ คือเอาความสามารถตัวเองในการทำ พอเขารวมกลุ่มแล้วทำโปรเจค บริษัทจะให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง อาจจะพอหรือไม่พอเขาก็อาจจะไปหาส่วนหนึ่งมา ยกตัวอย่างสำนักงานพี่ 30 คน เราก็เลือกโปรเจคว่ารักหมารักแมวกัน เสาร์อาทิตย์เราไปร่วมกับสัตวแพทย์ทำหมันหมาแมวจรจัดดีไหม แล้วก็ช่วยรักษาหมาแมวเจ็บป่วย วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็นัดกันไปดูแลหมาแมว เราก็ทำteam building ไปด้วย ทำความดีไปด้วยในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งใช้ความสามารถของเราด้วยนะ แล้วบริษัทก็ให้เงินส่วนหนึ่ง มีโปรเจคแบบนี้ในเอสซีจีประมาณพันโปรเจค พนักงานมาร่วมทุกคนไหม ยัง แต่ส่วนใหญ่ก็มาร่วมแปดพันจากสามหมื่นคน ซึ่งขยายวงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีโปรเจคหลักขององค์กรอีก ซึ่งก็มีเยอะมาก เรามีโปรเจคหลักอยู่ 4 กลุ่ม มีการส่งเสริมเรื่อง good governance คือความซื่อสัตย์สุจริต อันที่สองเรื่องการดูแลช่วยเหลือสาธารณภัยต่างๆ อย่างการช่วยเหลือน้ำท่วม ภัยหนาว ภัยแล้ง เรื่องภัยแล้งเราก็มีถังกักเก็บน้ำไปให้ชุมชน โรงเรียน สามก็เรื่องสิ่งแวดล้อม หลักๆ เลยเราทำเรื่องน้ำ เราทำเรื่องฝายชะลอน้ำ เราลองทำที่ป่าต้นน้ำที่ลำปางก่อนรอบๆ โรงงานเรา ทำสักสามร้อยกว่าฝายภายในโรงงาน ตั้งเป้าว่าอีกสามปีบริษัทจะครบร้อยปีตอนนี้เก้าสิบเจ็ดปี จะทำให้ครบห้าหมื่น เพราะหน้าน้ำท่วมที่ผ่านมา ลำปางน้ำท่วมก่อนแต่หมู่บ้านที่ทำฝายน้ำไม่ท่วมเลย และอีกอันคือ Human Development การพัฒนาศักยภาพของคน  อันนี้เป็นportใหญ่ เราให้ทุนการศึกษาปีละห้าพันทุนทั้งในและต่างประเทศรวมกัน และให้ต่อเนื่อง ในองค์กรก็ให้แต่ไม่นับ เรานับให้ทุนคนอื่น เด็กขาดโอกาส ยากจน ให้ตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาตรี แล้วแต่เขารับได้เรียนได้เท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น เพิ่มเติมคือเรารับอาสาสมัครที่เป็นพี่เลี้ยงทุน คือเด็กพวกนี้โอเคไม่มีเงินให้เงิน แต่ปัญหาไม่ได้แค่นั้น เด็กบางคนขาดความอบอุ่นไม่มีพ่อแม่ชี้แนะ คือความยากจนก็มาพร้อมกับความยากไร้ทุกอย่าง สิ่งที่เราให้คือชี้แนะเด็ก น้องควรวางตัวยังไง เวลาเป็นวัยรุ่นควรจะยังไง จะสอบเอ็นทรานซ์มีคนติวให้ไหม เราก็เป็นพี่เลี้ยงเด็กในชุมชนของเราเอง   ตัวอย่างโปรเจคที่เรียกว่า ความซื่อสัตย์ถ้าเรื่องความซื่อสัตย์เราจะส่งเสริมผ่านโปรเจคที่เรียกว่า excellent intensive ทุกปีจะมีเด็กมาฝึกงานกับเราเยอะมา เราก็กะว่าจะฝึกให้ดีเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเก่งอยู่แล้ว เราจะให้เป็นเด็กดีด้วย ไปทำงานที่ไหนก็จะแพร่เชื้อซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่แค่ให้ทำงาน ก็ทำงานจริงนะ เป็นengineer ก็ต้องไปอยู่โรงงานจริง ใส่ชุดจริงทำงานจริงไม่ใช่มาเสิร์ฟน้ำ ชงกาแฟ แล้วพวกนี้ไม่ใช่แค่ทำงานให้เรียนหนังสือด้วย เรียนเรื่องธุรกิจ ทำเปลี่ยนจากนักศึกษามาทำธุรกิจ เขาต้องเรียนว่าธุรกิจมองสังคมอย่างไร แต่เราส่งเสริมธุรกิจที่มีคุณธรรม และเราก็จะสอนหลักจริยธรรมอย่างนี้เหมือนพนักงานของเรา คิดอย่างไรกับความสำเร็จของการทำซีเอสอาร์ที่ผ่านมาพี่ไม่เคยวัดความสำเร็จของซีเอสอาร์จากการตลาด เพราะทำในนามของเอสซีจีไม่ได้ทำในนามของ product ไม่ได้วัดว่าทำซีเอสอาร์แล้วจะขายของได้เท่าไหร่ สิ่งที่วัดคือวัดจากโปรเจค อย่างเรื่องหุ่นยนต์กู้ภัย ปีนี้มีคนมาสมัครเพิ่มขึ้นไหม มีคนสนใจเพิ่มขึ้นไหม เมื่อสักครู่อธิการที่มหิดลโทรมา พรุ่งนี้พี่จะพาเด็กไปเยี่ยมLab Robot มหิดล ซึ่งเป็นหลักของmedical robot คือทำโรบอตตัวเล็กๆ เข้าไปในร่างกายเหมือนเป็นเครื่องมือแพทย์ อะเมซิ่งมากๆ ไม่คิดว่าประเทศไทยจะทำได้ พี่วัดความสำเร็จโปรเจคยังไง มีเด็กสนใจมากขึ้นไหม มีเด็กมาส่งประกวดมากขึ้นไหม มีเด็กที่ชนะหุ่นยนต์กู้ภัยปีแรกแล้วได้เป็นแชมป์โลกเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ได้ทุนคนอื่นนะไม่ใช่ทุนพี่ ได้ทุนจากการที่เขาเป็นแชมป์โลก พี่ไปเจอเขาที่ออสเตรีย ตอนนี้จบโทแล้ว ทำงานที่สถาบันนิวเคลียร์ที่ปารีส ไปทำงานเพราะอยากให้เขาเห็นผลงานแล้วอยากไปเรียนปริญญาเอกด้วยทุนของเขา แล้วตอนนี้เด็กคนนี้กลับมาสอนที่พระนครเหนือ เด็กที่ได้ทุนนี้ไม่ใช่ไฮโซ แต่มีความสามารถเฉพาะตัว แล้วเขามีทางเดินเลยต่อจากนี้ไป  ซีเอสอาร์ไม่ใช่ว่าคุณมีเงินคุณได้ เพราะฉะนั้นพี่ก็วัดความสำเร็จจากสิ่งนี้ พี่ทำฝายชะลอน้ำไม่ได้วัดว่าทำกี่ฝาย แต่วัดว่า biodiversity ความหลากหลายในป่าเป็นยังไง น้ำไม่ท่วม พันธุ์นก พันธุ์แมลง ผีเสื้อมากขึ้นไหม มีการทำวิจัยก่อนแล้ว ชาวบ้านมาใช้ป่าได้ไหม มาเก็บเห็ด ผักหวาน ผลไม้ต่างๆ ได้ไหม ชาวบ้านที่พอนกมาไปยิงนกต้องไป educate ว่าพี่มีนกแล้วเก็บนกนี้ไว้ เวลาคนมาเที่ยวก็พอไปดูจะได้รายได้มากกว่านี้ คือเราสอนเรื่องความยั่งยืนแล้วเติบโตไปด้วยกัน เพราะว่าพี่มีหน้าที่ทำเรื่องนี้แล้วก็ชวนคนทำ แต่เราจะบอกว่าทุกคนจะต้องทำในองค์กรเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้อง educate   do and don’t ของการทำซีเอสอาร์คืออะไร• ก็มีอยู่สองสามข้อ แรกคือต้องตอบ need ของผู้รับไม่ใช่ need ของผู้ให้ อันที่สอง เราควรทำซีเอสอาร์แบบเคารพผู้รับ ไปเห็นอย่างสึนามิ เขาเดือดร้อน เราไปช่วยไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเข้าแถวมารับของ ทำไมไม่เดินไปให้เขา คือแค่เขาโดนก็ suffer จะแย่อยู่แล้ว สุดท้ายซีเอสอาร์ต้องต่อเนื่อง ทำแล้วอย่าหยุด  ให้ทุนการศึกษาเขาปีหนึ่ง ปีหน้าไม่ให้เขาจะเรียนต่อยังไง  สิ่งที่คิดไว้ว่าจะทำเพิ่มมันจะมีเทรนด์อันหนึ่งพี่กำลังมองอยู่คือเทรนด์ของ social enterprise ก็จะเป็นทั่วโลกอย่างญี่ปุ่น ทำจากบริษัทเล็กๆ ที่ทำแฮนด์เมดแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น แล้วก็กลายเป็นอะไรที่คนนิยม เพราะนิยมวิธีการของเขา คือแบรนด์ของเขาให้อยู่แล้วและสามารถอยู่ได้ อย่างนี้พี่ว่ามันยั่งยืน พี่มองดูว่าสเกลใหญ่มากก็ไม่ค่อยเวิร์คนัก ใหญ่มากเงินลงทุนเยอะมากคนก็อาจจะทนไม่ได้ที่เอาเงินขนาดนั้นไปลงทุน ก็ทำสเกลเล็กก่อนแล้วค่อยๆ ขยายวง ทำให้เกิดนิชมาร์เกต คือคนที่คล้ายๆ ว่ารับได้ส่วนหนึ่งแล้วค่อยขยายวงออกมา  กำลังคิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้เกิด social enterprise เช่นนี้ เช่นพี่อยากสนับสนุนให้รอบโรงงานลำปางเป็นecotourism พี่ทำให้เขาดูจนสามารถลองทำเอง เป็นสหกรณ์ของตัวเองได้ไหม โปรโมทเรื่องป่าเยอะๆ welcome ชาวบ้าน welcome นักท่องเที่ยว ดีไซต์ว่าโปรแกรมในแต่ละวันมีอะไรบ้าง หรือจะมีที่ให้อบรมสัมมนา ศาลาอากาศก็เย็นสบายไม่เห็นต้องติดแอร์มีเบาะนั่งนิ่มๆ สักหน่อย อยู่กับต้นไม้ใบหญ้า แล้วก็มีเซอร์วิส กลางวันมีข้าวห่อใบตองมาเสิร์ฟ มีขนมในพื้นที่ พี่ไปเจอถั่วแปลบกับน้ำตะไคร้ก็เก๋ดี อะไรอย่างนี้ก็เข้าท่า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 คู่บู๊ – คู่บุ๋น ความสุขสาธารณะ

  จะเป็นอย่างไรถ้า “งานสาธารณสุข” ที่ถูกนิยามให้เป็นศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดการสุขภาพของชุมชน ถูกผันนิยามมาเป็น “ความสุขสาธารณะของคนในชุมชน” ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาคุณมารู้จักกับคู่บู๊ – คู่บุ๋นที่เปลี่ยน “งานสาธารณสุข ให้กลายเป็นความสุขสาธารณะ” เรื่องที่ดูยุ่งยากจึงกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ชาวอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน “สร้างความสุขสาธารณะ” ของคุณเกษร วงศ์มณี หรือหมอน้อย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก และคู่ชีวิตของเธอนายแพทย์พงศ์พิชญ์ วงศ์มณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหล่มสัก ที่เปลี่ยนสถานีอนามัย 31 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล   “งานสาธารณสุขอำเภอก็จะทำหน้าที่ดูแลแลระบบการจัดการสุขภาพในระดับสถานีอนามัย ซึ่งที่เราทำอยู่ก็คือการพยายามพัฒนาสถานีอนามัยที่ให้ชาวบ้านมาเป็นเจ้าของ ไม่ให้เขามองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐซึ่งจะเป็นการรวมศูนย์ ซึ่งการไปหาหมอของชาวบ้านแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก บางคนมาตั้งแต่เช้า ตี 3 ตี 4 เพื่อมาหาหมอกว่าจะกลับบ้านก็เย็นแล้ว ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาหาหมออีก จุดนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมากในการทำงานว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและจะทำอย่างไรที่ไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลกระจุกตัวที่ส่วนกลาง ซึ่งถ้าเราจัดการแบบให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมเราจะกระจายได้ทั้งหมด” หมอน้อยบอกเล่าถึงจุดเริ่มของแนวคิด   และจากแนวคิดและปรัชญาที่เชื่อว่า 'บ้าน' เป็นสถานที่ที่มีระบบการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเองได้ดีที่สุด เพราะครอบคลุมทั้ง กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี จึงใช้กลยุทธ์ 'ใกล้บ้าน ใกล้ใจ' ในรูปของโรงพยาบาลตำบล เปิดประตูให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ ภายใต้ 3 ประสานหลัก คือ ชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรท้องถิ่นนั่นเองระบบสาธารณสุข จึงค่อยๆกลายเป็นความสุขสาธารณะ   โรงพยาบาลของเรา  "แนวคิดเรื่องโรงพยาบาล ชุมชนเกิดขึ้นโดย ชุมชนต้องร่วมกันลงขันคนละ 2 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อปี ถ้ามีประชากรในชุมชนจำนวน 10,000 คน ก็จะได้เงินสมทบจำนวน 240,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะผู้มีบทบาทในระบบสุขภาพของประชาชน ก็ร่วมลงขันด้วย และโรงพยาบาล (CUP) ในฐานะผู้บริหารเงินต่อหัวประชากร ได้จัดสรรงบจากรัฐบาลมาร่วมสมทบทุน กองทุนสุขภาพจึงมีงบประมาณปีละ 700,000 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุนสุขภาพ ที่ถูกคัดเลือกจากประชาชนและท้องถิ่นทุกหมู่บ้านในตำบล"  น.พ.พงศ์พิชญ์ บอกถึงที่มาของกองทุนโรงพยาบาล ซึ่งเขาบอกว่า “เงินน่ะมี เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีนำเงินมาใช้และบริหารอย่างไร” การระดมทุนจากการ “ลงขันคนละ 2 บาท” ทำให้ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในการจัดการกองทุนถึง 37 ล้านบาท และเงินตรงนี้เองที่เป็นทุนส่งคนในชุมชนเรียนพยาบาลถึง 38 คนทีเดียว ครั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาเป็นทำงานที่บ้านเกิด เหมือนหมอน้อยนั่นเอง   ปัจจุบันศักยภาพของโรงพยาบาลตำบลสามารถรักษาโรคที่เกินกำลังของสถานีอนามัย ปกติจะรับได้ อาทิเช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, โรคเกี่ยวกับข้อ เอ็นเข่า กล้ามเนื้อ, โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร, โรคเบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่งโรคทางจิตเวช และทันตกรรม โดยมีพยาบาล และทันตสาธารณสุข 'ทุน 2 บาท' ประจำโรงพยาบาลตำบลนั้นๆ เป็นผู้ดูแล   “ในแต่ละปีเราก็จะมีการนำเสนอข้อมูลว่าปีนี้เราทำอะไรไปบ้างในแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ค่ารักษาพยาบาลเท่าไร ได้เงินจากชาวบ้านมาลงขันจำนวนเท่าไร แล้วเราทำอะไรบ้าง ปีหน้าเราจะทำอะไร นอกจากจะให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของแล้วพี่ยังสร้างวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ของสาธารณสุข เราจะคืนข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สังเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สร้างพยาบาลให้กับภาคประชาชน และสร้างให้เกิดการจัดการระบบ จากตอนแรกเรามีพยาบาลแค่ 2 คน ตอนนี้เรามีพยาบาลถึง 77 คน เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติทั้งหมด ซึ่งเรารอจากส่วนกลางไม่ได้ ถึงแม้จะส่งมาก็จะลงที่อำเภอทั้งหมด ถ้าเราไม่คิดอะไรใหม่ๆ เราก็ไม่มีทางนำพยาบาลมาสู่ตำบลได้”   'กองทุน 2 บาท' ยังมีการต่อยอดในเรื่องเครื่องมือทางทันตกรรม หน่วยกู้ชีพประจำตำบลกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน หรือแม้กระทั่งการสามารถปรึกษาหมอผ่านระบบ Telemedicine ที่ถือเป็นไฮไลต์ของเครือข่ายโรงพยาบาลตำบล ด้วยโปรแกรมการติดต่อพูดคุยที่เรียกว่า Skype (โปรแกรมโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต) ซึ่งใช้ในการติดตามและประสานงานกับสถานีอนามัยทุกแห่งจำนวน 31 แห่งเลยทีเดียว   คนของเรา“นอกจากการให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของระบบสุขภาพและการมีส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว เราก็ใช้ชาวบ้านไปดูผู้ป่วย เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องถือมือหมอเราก็รักษากันเองได้ แต่เราต้องพัฒนาคนก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราต้องรักษาคนได้ตามขั้นตอน 1 2 3 เราก็อบรมกันไป หรืออย่างพยาบาลวิชาชีพเมื่อเราอยากได้เราก็ต้องสร้างต้องพัฒนาคนในชุมชนจากคนไม่จบปริญญาตรี แล้วส่งไปเรียนปริญญาตรี สามารถไปเรียนพยาบาลและเป็นพยาบาลเฉพาะทางได้   แค่นั้นยังไม่พอเราต้องคิดต่อด้วยว่าเราจะให้คนของเราอยู่ในระบบได้อย่างไรด้วย ซึ่งเราต้องมีงบจ้างพยาบาลไว้ที่โรงพยาบาลของเราด้วย ต้องหาวิถีที่จะทำให้เขาจบมาแล้วอยู่กับเราอย่างอยู่ รพ.เอกชนได้เดือนละ 15,000 บาท แต่อยู่กับเราเขาได้แค่ 8,000 บาท เราก็ต้องหากองทุนมาเติมให้กับเขาให้ได้ก็ใช้กองทุนโรงพยาบาล 2 บาทนี่ละเติมให้เด็กของเรา ถ้าเราคิดเป็นระบบและลงมือทำเราก็ทำได้”   การทำงานกับคนหมู่มากเช่นนี้แน่นอนจิตสำนึกต้องมาก่อน ซึ่งเธอบอกว่าเธอปลุกจิตสำนึกตั้งแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไล่มาถึงผู้นำชุมชน และไล่มาถึงภาคประชาชน   “ในแต่ละเดือนเราจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขวางแผนจัดอบรมแต่ละเรื่องเลยว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ทำมาตรฐานงานของเราในแต่ละชุมชน ส่วนชาวบ้านข้างนอกเราก็จะคิดแผนว่าเราจะให้พยาบาลอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ดูแลคนไข้ที่เป็นเบาหวานและความดันอย่างไร ซึ่งเราจะจับกลุ่มที่เป็นคนไข้ ญาติคนไข้ และคนที่ดูแลคนเจ็บป่วย แล้วค่อยขยายเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเรามีทั้ง อาสาสมัครเฉพาะทางหลักสูตรการอบรมเราก็คิดกันเอง โดยระดมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากชาวบ้าน ต้องสร้างหลักสูตรอาสาสมัครมาตรฐานขึ้น อาสาสมัครเฉพาะทางก็คือเขาต้องเก่งเฉพาะเรื่องอย่างเรื่องอนามัยแม่และเด็ก อนามัยสิ่งแวดล้อม แต่ละปีก็จัดอบรมกันไปและต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีอาสาสมัคร 3,000 คน นัด 3 เดือน 6 เดือน คุยกันนำเสนอผลงานด้วย” ชุมชนของเรา นอกจากจะมองในเรื่องของการสร้างสุขภาพแล้ว เธอยังมองรวมทั้งชุมชนโดยการสร้างอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค และเรื่องของสุขาภิบาลบ้าน “บ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญนะคะ บ้านอาสาสมัครจึงต้องเป็นตัวอย่างก่อนเลย อย่างบางหมู่บ้านเขาจัดประกวดนางงามกัน เราก็ต้องลงไปดูกันถึงบ้านทีเดียว สวยอย่างเดียวไม่ได้บ้านต้องสะอาดด้วย มีผลต่อคะแนนการประกวด หรือที่เขาโฆษณาน้ำดื่มอย่างน้ำมังคุด เราจะมีอาสาสมัครที่อัดเสียงส่งไปที่จังหวัดเลย ให้ทางจังหวัดมาตรวจสอบและดูแล จากทั้งหมด 251 หมู่บ้านเราก็มีการอบรมอาสาสมัครให้จัดมีการเช็คโฆษณาเหล่านี้ นอกจากนี้เราก็จัด “สื่อลอยลม” จัดรายการเสียงตามสายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนร่วมจัดรายการเกี่ยวกับผู้บริโภคอยากให้เขาเข้าใจว่าเราก็เลือกได้ไม่ใช่รับอย่างเดียว และผลักดันให้เป็นช่องทางการร้องเรียน หรือบางทีก็เปิดให้ชาวบ้านโหวตว่าร้านค้าร้านไหน อร่อย สะอาด ร้านไหนถูกโหวตเข้ามาเราก็ลงไปดู ถ้าสะอาดจริงเราก็จะประกาศโฆษณาให้ พร้อมมีใบประกาศให้ด้วยว่าผ่านการตรวจสอบจากสาธารณสุขและได้รับการโหวตให้เป็นร้านยอดนิยม คนที่เข้าโครงการนี้เยอะนะ เหมือนเขาแข่งกันทำดี” อีกโครงการดีๆ ที่หมอน้อยนำเสนอ   เรามีแต่ได้ถ้าเราทำ กว่า 10 ปีที่เธอสนุกกับงาน โดยมีคุณหมอพงศ์พิชญ์ ผู้เป็นทั้งสมองและกำลังใจสำคัญในการทำงาน เธอบอกว่าที่ร่วมมือกันทำตั้งแต่ปี 2544 นั้นเธอสนุกที่ได้ทำ และเธอก็ไม่ได้เสียอะไร เหนื่อยก็พักและถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานนี้   “ทำมานี่ก็ไม่เห็นว่าจะจนอะไร เหนื่อยก็พัก ได้รู้จักคนเพิ่มตั้งเยอะ สนุกกับทุกเรื่องที่ทำ พี่คิดว่ามันต้องได้อะไรบ้างแต่จะน้อยหรือมากก็อีกเรื่อง พี่คิดบวกไง คิดว่าเดี๋ยวมันก็สำเร็จ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่ได้คิดว่ามันจะทำไม่ได้ อะไรก็ตามมันมีทั้ง “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” เพราะฉะนั้นเราต้องจับให้ได้ว่า ’ในเสียนั้นเราต้องมีดีอยู่ให้ได้’ ไม่ได้ท้อถอยกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้ามองว่าเพี่อตัวเองก็คือ “ฉันมีความสุข” เพราะ “ฉันอยากทำ” เวลาที่เราทำความดีไม่เห็นจำเป็นจะต้องปิดทองหน้าพระ หลังพระ หรือก้นพระ พี่ก็จะมองว่า “ปิดทองไส้พระ” ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย” หลักการทำความดีของหมอน้อยที่ทำให้เธอมีเรี่ยวแรงในการทำงานเพื่อมวลชนต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 “สมุนไพรไทย” การพึ่งตนเองด้านยาอย่างยั่งยืน

  หมู่คำในจำพวก “แพทย์แผนไทย” “ยาหม้อ” “ใบลาน” “ตำรายาโบราณ” คนส่วนใหญ่คงหลับตาเห็นรากไม้สมุนไพรหงิกงอ น้ำยาเดือดจัดส่งควันกลิ่นเขียวฉุนในหม้อดิน หรือลูกประคบที่โชยกลิ่นไพลกรุ่น ซึ่งในบริบทของความทันสมัยและในมายาคติแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของแพทย์แผนไทย ทำให้บางคนอาจมองภาพเหล่านี้ด้วยความรู้สึกว่า เชย โบราณ และที่มากกว่านั้นคือความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาและลังเลใจที่จะนำมาใช้จริง   “ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมาแต่ รุ่นบรรพบุรุษของเราถูกลบลืมจนกระทั่งเลือนหายไปมากแล้วในปัจจุบันนี้”  แต่อย่างน้อยก็มีบุคคลหนึ่ง ซึ่งยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้อย่างเข้มแข็ง ขุนพลหญิงยาสมุนไพร ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม จากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม และได้รับคัดเลือกให้เป็น “บุคคลดีเด่นของชาติ” สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิไทยด้านการแพทย์แผนไทยประจำปี 2553 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยพัฒนาสมุนไพรนานาชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาสูตรตำรับเสลดพังพอนเพื่อนำมารักษาโรคเริมที่ริมฝีปาก ซึ่งมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลต่างๆ  วันนี้ฉลาดซื้อขอพาคุณมาสนทนาอย่างใกล้ชิดกับ พี่ต้อม ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร ทั้งเรื่องชีวิต แนวคิด และการทำงานที่เธออุทิศให้ทั้งชีวิต   กำเนิดขุนพลหญิงยาสมุนไพร สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรหน้าใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากมหาวิทยาลัยมหิดล เธอมาจากครอบครัวชาวนาที่จนที่สุดในหมู่บ้านของจังหวัดนครนายก หากแต่ครอบครัวไม่ได้ขาดแคลนความรักและความอบอุ่นเลย  “พี่เติบโตมากับครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อที่สวดมนต์เป็นประจำ ทุกฤดูแล้ง พ่อจะมาทำงานเป็นกรรมกรในกรุงเทพ แล้วพ่อก็จะบอกว่า พ่อกินข้าวกับไข่ต้มวันละฟองเพื่อเก็บเงินไว้ให้ลูก” เธอพูดช้าๆ เนิบๆ และมีหยุดบ้างเพื่อสะกดก้อนสะอื้น เมื่อพูดถึงพ่อ   “แม่พี่จะเป็นคนขยันมาก จัดการทุกเรื่องในบ้าน และก็จะมองการณ์ไกล อย่างแม่เห็นพี่เรียนเก่ง ก็มองหาทางให้พี่ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เอาพี่มาฝากไว้กับเพื่อนที่เป็นคนจีน ตั้งแต่ ป.7 ถึง ม.ศ.1 ทำให้พี่ได้เห็นวิถีชีวิตคนจีน ได้เห็นเขาปลูกต้นยา ปลูกสมุนไพรไว้ในกระถางหน้าบ้านอย่างฟ้าทะลายโจร หลังจากนั้นแม่ก็มาทำกับข้าวขายเพื่อส่งลูกๆ เรียนที่ กรุงเทพฯ ซึ่งช่วงชีวิตนี้เองทำให้เราแกร่ง เพราะต้องทำทุกอย่างทั้งทำงานช่วยแม่ ต้องเรียนไปด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ลำบากไม่ต้องกลัว เพราะนั่นคือเส้นทางของการฝึก “แรงเยอร์” เพื่อการจะเป็นขุนพลต่อไปนั่นเอง”   ครอบครัวดูจะเป็นเบ้าหลอมความแกร่งให้กับขุนพลหญิงคนนี้นี่เอง ด้วยความยากลำบากที่ได้เจอทำให้เธอมุ่งที่จะเรียน เรียน และเรียน และเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สมัยนั่นยังมีเมล็ดพันธุ์ที่ทำอะไรเพื่อชุมชน มีระบบจัดตั้งด้านความคิดเพื่อชุมชน  “เราได้เห็นรุ่นพี่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี อย่างรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นหมอปลอมตัวเข้าไปอยู่กับคนงาน เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องแอสเบสตอส ตอนนั้นว่าจะทำให้เกิดมะเร็ง เราก็ได้เห็นตัวอย่างที่ดีที่อุทิศชีวิตเพื่อคนยากไร้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฝังเมล็ดพันธุ์บางอย่างในตัวเรา”   สมุนไพรไทยในนิยามที่เปลี่ยนไปตอนที่เธอจบมาใหม่ๆ และทำงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครานั้น ยาสมุนไพรยังถูกมองในมิติของคนจน แต่ปัจจุบันสมุนไพรกลับมาในนิยามของคนใส่ใจสุขภาพ ของกลุ่มคนที่มีอันจะกิน ของคนที่ใส่ใจการแพทย์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างมาก  เมื่อมองเทียบกับการนำเข้ายามารักษาโรคจากต่างชาติหลายหมื่นล้านบาท เธอให้นิยามว่าเป็นการล่าเมืองขึ้นของโลกยุคใหม่ ทางรอดของประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ โดยนำภูมิปัญญาไทยกลับมาสู่วิถีชีวิต ผ่านการพัฒนาสมุนไพรไทยทดแทนยานำเข้า   “ประมาณ ปี 2526 เราเริ่มจากสมุนไพรง่ายๆ รักษาโรคพื้นฐาน เช่น เสลดพังพอนรักษาโรคเริม แล้วนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งตัวเอง ไม่ต้องกินยาต่างชาติ กระทั่งปี 2529 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งโรงพยาบาลได้เริ่มวิจัยและผลิตยาสมุนไพรขึ้นใช้เองในโรงพยาบาล”   และด้วยวัตถุประสงค์หลักที่ไม่ได้หวังผลการค้า จึงดำเนินธุรกิจเป็นรูปแบบมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รายได้ 70% จะมอบให้แก่โรงพยาบาล อีก 30% นำไปพัฒนาสมุนไพร และทำประโยชน์เพื่อสังคมนอกจะผลิตยาสมุนไพรแล้วทางมีการ การสร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน   ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกได้เข้าส่งเสริมให้ชาวบ้านชุมชนบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี ปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อป้อนวัตถุดิบสมุนไพรให้โรงพยาบาลนำไปแปรรูปเป็นยา  สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” มี 5 กลุ่ม คือ ยาจากสมุนไพร อาหารสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งหมดมีกว่า 100 รายการ ส่วนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น จะดูตามความต้องการของสังคม ประกอบกับพิจารณาจากพืชที่มีศักยภาพโดยล่าสุดปี 2553 นี้ อยู่ที่ 200 ล้านบาท ได้กำไร 18 %  “ทำไมคนถึงเชื่อในยาสมุนไพรของเราก็เพราะเรามีครู เรามีผู้เฒ่าผู้แก่ มีคลังปัญญา และอีกอย่างก็คือพี่เชื่อในความเป็นเภสัชกรของพี่ที่ประยุกต์ คิด และทำสิ่งดีๆ ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพ การสกัดสาร การทำให้เป็นตำรับ การทดสอบการคงตัว การพัฒนาตำรับยา นำไปสู่กันวิจัย เพราะฉะนั้นความเป็นเภสัชกร ก็จะนำความรู้มาทำให้ผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ที่สำคัญก็คือเรามีทีมงานเข้ามาช่วย และสื่อสารต่อสาธารณะให้เกิดความเข้าใจได้ อย่างเรากินอะไรแล้วดีแล้วก็อยากบอกต่อใช่ไหมคะ” อย่างเรื่องของน้ำมันจากกะลามะพร้าวที่ใช้รักษาสังคัง เราก็บอกว่า ‘เอ้ย...น้ำมันมะพร้าวหรือเปล่า’ เขาก็หัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก บอกว่าไม่ใช่น้ำมันจากกะลามะพร้าว เขาก็เอาถ้วยมาแล้วเอากะลามะพร้าววางด้านบน เอาถ่านวางในกะลามะพร้าว สักพักน้ำมันก็หยดติ๋ง ติ๋ง ลงมา แล้วก็ใช้น้ำมันตัวนั้นล่ะทาสังคัง กลับมาเราก็มาค้นดูว่าในน้ำมันกะลามะพร้าวมันมีอะไร ก็รู้ว่า อ๋อมันมีฟีนอล คล้ายๆมีอยู่ในซีม่าโลชั่นนี่เอง   สมุนไพรดีจริงแต่ทำไมไม่ได้รับการส่งเสริมแต่ถึงแม้ว่าสมุนไพรมีประโยชน์และปลอดภัยแต่เมื่อเทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วทำไมคนก็ยังนิยมใช้ยาแผนปัจจุบันมากกว่าใช้ยาสมุนไพรนั้น จุดนี้เธอให้มุมมองว่าต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้าง รวมถึงต้องมีการทำวิจัยต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ และเธอก็เชื่อว่าในโลกข้างนี้จะเป็นโลกของความหลากหลาย มีความจำเพาะ มีความนิยมที่แตกต่าง สมุนไพรก็จะเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้น  คนที่ใช้สมุนไพรไม่ใช่เพราะนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้กินเพราะความจำเป็น แต่โลกทั้งโลกได้เคลื่อนมาสู่การแพทย์ตะวันออก การแพทย์ทางเลือก พลังผู้บริโภคก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน และประเทศของเราก็ต้องหันมาเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองมี ไม่เป็นเหยื่อของกลไกการตลาดที่มาพร้อมกับความคิด ความเชื่อของคน ขณะเดียวกันก็ต้องกลับมามองฐานของบ้านเราต้องสังเกต อย่างกระแสมาปุ๊บเราก็ส่งว่าวขึ้นไป แต่ต้องเตรียมว่าวนะ  เชื่อไหมว่าเราทิ้งงานแพทย์แผนไทยมา 100 กว่าปี เราไม่มีโรงเรียนแพทย์แผนไทย ไม่มีโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ไม่มีกระทรวงแพทย์แผนไทย เรามีแต่โรงพยาบาลแผนตะวันตก แพทย์แผนตะวันตก กระทรวงของหมอแผนตะวันตก หรือแม้กระทั่งเราขาดการสั่งสมความรู้ แล้วเราก็ทิ้งแพทย์แผนไทย แล้วก็บอกว่าโบราณ เหมือนเป็นการตีตราและสร้างคิดความเชื่อเหล่านั้น ถ้ามองแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่ใช่ความคิดของเขาที่ไม่ใช้แพทย์แผนไทย เพราะเขาไม่รู้แล้วก็ไม่คุ้นชิน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาไม่ส่งเสริม การที่เราจะส่งหันกับมาส่งเสริมอีกครั้งก็คือการสื่อสารต่อสาธารณะ สื่อถึงคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจนั่นเอง”   สมุนไพรไทยกับสิทธิบัตร “พูดถึงเรื่องสิทธิบัตรเราสู้เขาไม่ได้ กว่าจะเข้าถึง คือถ้าเขาจะจดสิทธิบัตรเป็นสารก็ว่าไป แต่ถ้าเป็นเรื่องพันธุกรรมก็ต้องสู้กันหน่อย และต้องมีระบบที่รักษาพันธุกรรมของเราไว้ด้วย ถ้ามีวันหนึ่งนะมีการบอกว่าเอาสมุนไพรไปบดขายแล้วมี DNA ตัวนี้แล้วมีระบบสิทธิบัตรเราก็แย่นะ   แต่ถ้าพูดถึงเรื่องตำราพื้นบ้านตอนนี้มีกว่า 500 เล่ม ซึ่งถือเป็นเอกสารข้อมูลวิชาการที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าให้คนรุ่นหลัง ซึ่งหวังว่าตำรายาจะไม่เป็นแค่ใบลาน สมุดข่อย หรือกระดาษที่รอวันผุพัง แต่จะเป็นองค์ความรู้ด้านสุขภาพอันทรงคุณค่าที่จะนำเอาไปใช้จริงได้ อย่างบางตำราก็เป็นคาถา ซึ่งเราต้องฟื้นทั้งกระบวนการต้องให้เคารพในต้นไม้ ในธรรมชาติ คือปัจจุบันเราถูกสอนให้มองหลายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มองสสารต่างๆ มองทุกอย่างเป็นกายภาพ แต่ถ้ามองในมุมมองของหมอพื้นบ้านเราจะไม่มองทางกายภาพ เราจะมองที่ความสัมพันธ์ด้านในมันอธิบายไม่ถูกนะ แค่อยากจะบอกว่าเวลาทำงานพี่มีมิติของหมอพื้นบ้านในตัวพี่เอง” เภสัชกรไม่ใช่แค่หมอยา จากการที่เธอได้ลงพื้นที่ได้ไปเจอพรรณไม้ใหม่ๆ ได้พูดได้คุยกับหมอยาพื้นบ้าน ได้เห็นตำรายา พิธีกรรมต่างๆ ที่หมอยาทำก่อนการรักษาทำให้เธอรู้ว่านี่คือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เริ่มไม่ค่อยได้เห็นมากนัก “พืชพรรณรอบตัวเรามีบทบาทหน้าที่ของมัน มีองค์ความรู้เหล่านี้อยู่ในขณะที่พวกเราถูกตัดขาดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยระบบการศึกษาแผนใหม่ หลายเรื่องเราเพียงท่องไป อย่างเรื่องของน้ำมันจากกะลามะพร้าวที่ใช้รักษาสังคัง เราก็บอกว่า ‘เอ้ย...น้ำมันมะพร้าวหรือเปล่า’ เขาก็หัวเราะกันเอิ๊กอ๊าก บอกว่าไม่ใช่น้ำมันจากกะลามะพร้าว เขาก็เอาถ้วยมาแล้วเอากะลามะพร้าววางด้านบน เอาถ่านวางในกะลามะพร้าว สักพักน้ำมันก็หยดติ๋ง ติ๋ง ลงมา แล้วก็ใช้น้ำมันตัวนั้นล่ะทาสังคัง กลับมาเราก็มาค้นดูว่าในน้ำมันกะลามะพร้าวมันมีอะไร ก็รู้ว่า อ๋อมันมีฟีนอล คล้ายๆมีอยู่ในซีม่าโลชั่นนี่เอง  เหมือนเราสามารถเชื่อม 2 โลกเข้าด้วยกันก็คือ เภสัชกรจะรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องฟาร์มาโคยีโนมิกส์ เรื่องไบโอเคมี เรื่องออแกนิก เรื่องสารที่ออกฤทธิ์ เรื่องเชื้อโรคต่างๆ เราก็ใช้ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปค้นว่าสารฟีนอล มันทำให้ผิวหนังมีการหลุดลอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถอธิบายได้ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะรู้แต่เรื่องสารเคมี เป็นแพทย์แผนไทยก็จะรู้เรื่องเฉพาะยาไทยโบราณ แต่ตัวของเภสัชกรสามารถเชื่อม 2 โลกได้ คนที่เป็นหมอก็จะไม่รู้เรื่องต้นไม้ เพราะฉะนั้นเภสัชกรคือผู้ที่มีบทบาทที่จะภูมิปัญญาไทยในเรื่องของพืชพันธ์ต่างๆ มาใช้”   รางวัลของชีวิต ง่ายๆ แต่งาม ใครหลายคน คงมีวิธีให้รางวัลกับชีวิตเมื่อทำอะไรสักอย่างสำเร็จ และก็แตกต่างกันไป มาดูรางวัลชีวิตของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ เธอบอกว่า “รางวัลชีวิต” ของเธอเมื่อทำงานชิ้นหนึ่งสำเร็จก็คือ “การได้นั่งอ่านบันทึกเก่าๆ”   “อาจจะไม่เหมือนใคร มันมีความสุขนะเวลาเราได้กลับไปดูบันทึกเก่า ตอนเราเจอต้นไม้ใหม่ๆ เราก็จดทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็ดีที่ได้กลับไปอ่าน ไปทบทวนสิ่งต่างๆ ซึ่งมันดีนะ”   ครั้นถามถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการทำงานให้เธอไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขุนพลหญิงยาสมุนไพร ของเราตอบอย่างหนักแน่นว่า “เพราะเราชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี” นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค

ทุกคนมีสิทธิ 118 สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์/ถ่ายภาพ ปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ชีวิตนี้ผมอยากเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญไทยที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั่นก็เพราะว่ามีกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น และเป็นถือเป็นครั้งแรกประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 57 “องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างอิสระ และด้วยการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในกฎหมาย ภาพการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 แต่แล้วก็ไปไม่ถึงฝั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกยกเลิกไป จนปี 2550 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถูกบัญญัติไว้อีกครั้งในมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่เน้นย้ำความอิสระของ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ”จากหน่วยงานรัฐจริงๆ โดยไม่อยู่ใต้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งต่างจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ที่ยังอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี  ในที่สุดความคึกคักก็กลับมาอีกครั้งมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐบาล และภาคประชาชนมารวมทั้งหมด 7 ฉบับ และที่ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดของการรอคอยกว่า 13 ปีของผู้บริโภคนั่นก็คือ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฉลาดซื้อขอตามสถานการณ์เรื่องนี้โดยการพาทุกคนมาพูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมาธิการภาคประชาชนนั่นก็คือคุณดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้คร่ำหวอดในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค   องค์การอิสระผู้บริโภคจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ไหมตอบยากนะ เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ การเป็นสมาชิกวุฒิสภามา 2 สมัย ซึ่งก็ 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองและที่ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ องค์การอิสระอย่าง กสช. และ กสทช. ที่จัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมและจัดสรรคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นงานที่เป็นองค์กรผลประโยชน์มหาศาล   เพราะเป็นองค์กรที่ทำให้องค์กรบางองค์กรเสียประโยชน์มหาศาล องค์กรทั้งสององค์กรนี้ยังไม่เกิดขึ้น จนผมพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ซึ่งช่วงที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกมาเราก็กระเหี้ยนกระหือรือ มีความกระตือรือร้นและสุขใจ ว่างานวิทยุโทรทัศน์จะได้เป็นธรรมสักที เพราะสื่อก็น่าจะเป็นของประชาชน ซึ่งก็คิดว่าในเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมและถูกต้อง โดยมี กสช.และ กสทช.เป็นผู้จัดสรร แต่แล้วมันก็ไม่ได้ จนกระทั่งวันนี้จะสิ้นปี 2553 แล้วก็ยังไม่ได้  ที่พูดเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่าไม่มีความมั่นใจเลยว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะออกหรือเราจะได้ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราก็ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัตินี้ และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังมีการประชุมและถกเถียงกันอยู่ อีกอย่างก็คือเราไม่รู้ความผกผันทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนรัฐบาลหรือจะยุบสภาฯไหม หรือถ้าได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ที่ได้มาจะมาต่อยอดเรื่ององค์กรอิสระนี้อีกเมื่อไร เราก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นคำตอบที่น่าเป็นการตอบเพื่อให้กำลังใจว่า “จะได้แล้วจะเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรานี้อยู่” จากประสบการณ์ของผม ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ก็อยากให้ความหวังว่าขอให้มันได้   ระหว่างการพิจารณากฎหมาย อุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรไหมอุปสรรคในการพิจารณาไม่มีนะ แต่มีปัญหาเพราะมันเป็นองค์การใหม่ และรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นในทรรศนะของผม ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้จริงหรือไม่ค่อยอยากจะได้องค์การอิสระฯ นี้นัก เพราะดูแล้วองค์การนี้ไม่ค่อยจะมีอำนาจ ความจริงเราไม่ได้ต้องการอำนาจอะไรนะ เพียงแต่ว่าเราต้องมีสิทธิและอำนาจในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมเพิ่งกลับจากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้พบเรื่องราวความเป็นจริงของงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นรูปธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และจริงจัง ของการบังคับใช้กฎหมายขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์การฯ ที่ภาคธุรกิจจะเกรงใจ และไม่กล้าที่ทำอะไรที่ไปละเมิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ยกตัวอย่างกรณีการบินไทยบ้านเรามีผู้โดยสารต้องการจะซื้อตั๋ว ซึ่งเขาบอกว่าเขาแพ้ถั่ว และเห็นว่าสายการบินนี้มีโฆษณาว่ามีการบริการอาหารสำหรับผู้แพ้ถั่ว ผู้โดยสารท่านนี้เลยต้องการจะบินกับสายการบินนี้ ซึ่งสายการบินก็ยินดีที่จะบริการอาหารที่ไม่มีถั่วให้กับเขา แต่ผู้โดยสารท่านนี้มีข้อแม้ว่า “คนที่นั่งอยู่บริเวณใกล้เขาต้องไม่มีถั่วด้วย” ซึ่งสายการบินก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ จะได้เฉพาะของยูเท่านั้นที่ไม่มีถั่ว แล้วเขาก็หายไปสัก 2 เดือน หลังจากนั้นเขาก็ฟ้องสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกว่านิวซีแลนด์คอมเมิร์ช คอมมิชชั่น พร้อมเรียกค่าเสียหาย ซึ่งผู้จัดการสายการบินบอกว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่เรื่องจะไม่ไปถึง สคบ.นิวซีแลนด์ เพราะถ้าหน่วยงานนี้ตัดสินเมื่อไร 95% ผู้บริโภคจะชนะ ซึ่งเขาให้ความศักดิ์สิทธิว่าผู้บริโภคต้องชนะ เพราะฉะนั้นมีอะไรที่พูดจา อะลุ่มอล่วยกันได้ เขาจะยอมหมด อย่างบินครั้งต่อไปจะอัพเกรดให้ไปนั่งในชั้นบิซิเนสคลาส ซึ่งถ้าบินมาเมืองไทยก็ราวๆ แสนกว่าบาท ซึ่งผู้โดยสารท่านนั้นก็ไม่ยอม ทั้งๆที่ เขายังไม่ได้ซื้อตั๋วและไม่ได้บินนะ แต่เหตุที่เขาอ้างเพราะว่า “เพราะเขาเชื่อโฆษณาทำให้เขาเสียเวลาเข้ามาติดต่อ” แล้วเรื่องก็ขึ้นศาลและศาลตัดสินให้การบินแพ้ ให้จ่ายค่าชดเชย 5,000 นิวซีแลนด์ดอลล่าร์ เห็นไหมว่าเมื่อมีองค์การฯ นี้ขึ้นมา เราต้องกลับมาย้อนมาฟังผู้จัดการสายบินซึ่งบอกมาว่าจะต้องดูแลโฆษณาไม่ให้คลุมเครือเกินจริง และอย่าให้เรื่องไปถึงหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ เพราะเรื่องไปถึงแล้วมีโอกาสแพ้ พอเราฟังเรื่องราวแบบนี้ และถ้ามีองค์การนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยและมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มข้น ประชาชนรู้จักใช้สิทธิ เราก็จะอยู่อย่างไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ   แล้วปัญหาว่าองค์การอิสระผู้บริโภคเป็นเรื่องใหม่คืออะไรถ้ามองกลับมาที่บ้านเราเรื่องของปัญหาขององค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และทุกองค์การเลยก็คือ ปัญหาเรื่องกรรมการสรรหา จะเอาใครมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหาจะดีหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อกรรมการที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระ ผมเข้ามาประชุมทุกครั้งเรื่องก็จะวนๆ อยู่แต่เดิม เพราะความหวาดระแวงเขาเราที่มีอยู่เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ   และด้วยวิธีคิดของเราไม่เหมือนวิธีคิดของต่างประเทศ ซึ่งบ้านเรายังมองในเรื่องผลประโยชน์อยู่ ซึ่งก็ยังรู้ว่ารูปแบบจะออกมาอย่างไร กฤษฎีกา เอ็นจีโอ รัฐบาลก็ว่าอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกฝ่ายก็พยายามนะครับ ผมได้เตือนสติคณะกรรมาธิการฯ ว่าเราอย่าช้านักนะ เดี๋ยวมันมีความผันผวนทางการเมือง แล้วระยะเวลากว่า 13 ปีขององค์การฯ นี้จะเป็นอย่างไร คือในชีวิตนี้ของผมอย่างเห็นองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค  อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องงบประมาณ ผมคิดว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. นั้นมีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงน้อยนิด และมีงบประมาณน้อยทั้งที่ทำงานใหญ่ สมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็มีงบไม่ถึง 100 ล้านในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคที่ทุกคนถูกเอาเปรียบจากการบริโภคแทบทั้งสิ้น แล้วเราก็มีองค์กรอยู่เล็กนิดเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ.มีองค์การฯ นี้เกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาอย่าง พ.ร.บ.ที่คุณสารีเสนอมาก็เสนอให้คิดหัวละ 5 บาท จากประชาชน 60 ล้านคน ก็จะงบประมาณสนับสนุน 300 ล้านบาท ทีนี้พอเขียนเป็นกฎหมายแล้วก็ต้องบอกให้ละเอียดอีกว่าจากเงิน 5บาท อาจจะเหลือบาทเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดหลายๆ แบบว่าเงินสนับสนุนจะมาจากทางไหน งบประมาณอาจจะให้มาจากรัฐบาล จากสำนักงบประมาณซึ่งก็ต้องผ่านรัฐสภา ผ่าน ส.ส. ผ่าน สว.ซึ่งก็จะไปติดขัดเรื่องผลประโยชน์อีก ผลประโยชน์ในที่นี้ก็คือคนที่อยู่ในสภาฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจ เป็นคนที่มีผลประโยชน์อยู่ ซึ่งถ้าองค์การฯ นี้แข็งแรงมาก เขาก็คงไม่อยากให้แข็งแรงมากอาจจะให้เงินน้อยๆ ก็พอ ผมเคยพูดนานแล้วว่า ปปช. เนี่ยสมควรที่จะให้เงินเขาไปเป็นหมื่นๆ ล้าน ยังจะคุ้มเลยในการเข้าไปปกป้องรักษาการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ปีหนึ่งไม่ใช่น้อยแต่มันเป็นแสนๆ ล้าน   องค์การอิสระฯ ที่อยากเห็นเป็นอย่างไร อยากให้คล้ายกับนิวซีแลนด์ไหมใช่เลยครับอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้มีอำนาจและหน้าที่ ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงๆ แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเพียงแค่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นในการออกมาตรการ กฎหมาย   องค์การอิสระผู้บริโภคเรียกได้ว่าก้าวมาไกลพอควรแล้วอยากจะบอกอะไรถึงผู้บริโภคผมอยากจะฝากให้ประชาชนได้ใส่ใจถึงสิทธิประโยชน์ของตนเอง เพราะประชาชนไม่ค่อยสนใจ แทบจะไม่เห็นว่ามีข่าวในสื่อต่างๆ เลยในเรื่องของการที่จะมี พ.ร.บ.นี้ พูดก็พูดเถอะนะว่าจะมีก็แต่หนังสือฉลาดซื้อกับหนังสือคู่สร้างคู่สมนี่ล่ะ ที่ชี้นำและส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ และอยากวอนขอให้สื่อได้นำเสนอชักจูงประชาชนให้ใส่ใจและเฝ้ามองดูว่าในสภาฯ เขาทำอะไรกันอยู่ในเรื่องนี้   ขอย้ำอีกอย่างก็คือในประเทศไทยเรามีกฎหมาย มี พ.ร.บ.เป็น ร้อยเป็นพัน แต่มีกฎหมายไม่กี่ฉบับที่ประโยชน์เป็นของประชาชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ กฎหมายที่ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นของราชการในการที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคนั้นถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรรมการก็จะมาจากผู้บริโภค องค์การอื่นๆ ก็จะมาจากหลายภาคส่วน แต่ไม่มีผู้บริโภค อย่างผู้พิพากษา นักวิชาการ แต่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นประชาชนต้องสนใจต้องใส่ใจ ก็อยากจะขอวอนให้หันมาใส่ใจซึ่งก็ไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 GNH ความสุขมวลรวม เราสร้างได้

ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีภูฏาน  ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Sustainable Development through Gross National Happiness" ในงาน Thailand Sustainable Development Symposium 2010 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness หรือ GNH) เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เน้นมุมมองเรื่อง “ความสุข” ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลักโดยเน้นตามหลักพุทธศาสนา ฉลาดซื้อขอนำ “สกู๊ปพิเศษ” ว่าด้วยเรื่องของความสุขนี้มาบอกค่ะ ความคิด GNH นั้นคำนึงถึงความเป็นองค์รวมด้วยการพิจารณามิติทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมิติ อื่นๆได้แก่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครองที่ดี โดยมีหลัก 4 ประการดังนี้ ซึ่งถือเป็นหลักนโยบายและแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ของประเทศภูฏาน ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี   หลัก 4 ประการของ ความสุขมวลรวม (1) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตามแนว "ทางสายกลาง" (sustainable economic development) ไม่เร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางนิเวศและสังคมในระยะสั้น หากจัดสมดุลระหว่างตัวเลข พฤติกรรมการบริโภคและคุณค่าด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเอง (2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (conservation of the environment) ให้หลักประกันที่ว่า การพัฒนาใดๆ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน หรือประเพณีท้องถิ่น หรือจากปัจเจกบุคคล จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติอาจหมดลงได้ในวันหนึ่ง เราทุกคนจำเป็นจะต้องบำรุงเลี้ยงและปกป้องโลกในฐานะ “บ้านของเราทุกคน” (3) การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม (promotion of national culture) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักให้อภัย การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นต้น กำลังถูกกัดกร่อนจากโลภจริตหรือความโลภ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในขณะนี้ อันที่จริงแล้วคุณค่ามนุษย์ดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความหมาย มีความเอื้ออาทรต่อกัน และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (4) การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) เป็นเงื่อนไขสำคัญเช่นกันในการนำพาประชาชนไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ประเทศทั้งหลายในโลกจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม กำลังถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชนท้องถิ่นและชุมชนระหว่างประเทศ ให้เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหรือ "ธรรมาภิบาล" จากหลักการ 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้น  ประเทศภูฐานซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้  อันมีพระราชาธิบดีองค์ที่สี่ พระเจ้า Jigme Wangchuck ทรงเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 ว่า “Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”  (ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)  (ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา)ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวว่าสิ่งที่ประเทศภูฐานได้พยายามดำเนินโยบายการพัฒนาประเทศมาตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด GNH ที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ 1. นโยบายการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นปริมาณแต่คำนึงถึงคุณภาพ  โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการไหล่บ่าของวัฒนธรรมบริโภคนิยม  วัฒนธรรมที่มากับนักท่องเที่ยวยังอาจจะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบและสร้าง ความรู้สึกด้อยต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น  โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่อาจจะได้รับอิทธิพลและนำมาเป็นแบบอย่าง  รวมทั้งแรงกดดันที่ต้องการเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวด้วยการเร่งสร้างโรงแรม และสาธารณูปโภครองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  ก็อาจจะส่งผลต่อความไม่สมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะการกระตุ้นให้มี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตลอดทั้งปีก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ   เพราะผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมดังที่กล่าวมา  (GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด) 2. จำกัดการใช้ป่าไม้เพื่อการพาณิชย์  แต่ให้เป็นไปเพื่อการใช้สอยของครัวเรือนได้ หากแต่มีการควบคุม ปัจจุบันประเทศภูฐานมีกฎหมายป่าชุมชน เพื่อการดูแลรักษาป่าไม้  ซึ่งยังมีอยู่ถึง 70 % ของพื้นที่ประเทศ 3. เมื่อปีที่แล้ว ประเทศภูฏานได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปการศึกษา และรัฐบาลถือเป็นนโยบายให้นำแนวคิดเรื่อง GNH บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาชั้นประถมวัยจนถึงระดับ อุดมศึกษา  มีการจัดการอบรมครูทั่วประเทศเรื่องความเข้าใจในแนวคิดเกี่ยวกับ GNH   และการทำโครงการเชิงปฏิบัติการของโรงเรียนเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง GNH เช่นโครงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  การกำจัดขยะด้วยวิธีการทางชีวภาพ 4. ประเทศภูฏานกำหนดเป็นมาตรการห้ามมิให้ผู้ค้า ร้านค้า และตลาดใช้ถุงพลาสติก 5. ประเทศภูฏานประกาศเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ โดยควบคุมการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีส่วน ประกอบของการปลูกพืชทางการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ร่วมกันไป เช่น วัว และจามรีในพื้นที่สูง มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นปุ๋ยสำหรับพืชที่ปลูก 6. ด้านการสาธารณสุข แม้จะยังเป็นสาธารณสุขขั้นต้น ยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่รัฐก็ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จัดการดูแลรักษาพยาบาลให้ฟรี ถึงแม้จะยังไม่มีตัวชี้วัดความสุขที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ประเทศภูฏานคำนึงถึงก็คือ การวัดระดับความสุขขั้นพื้นฐานได้ ทั้งคุณภาพของโภชนาการการมีอาหารที่ดีกิน  การมีที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพที่ดีที่ต้องนอนวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ทำงาน 7 ชั่วโมง เวลาที่เหลือคือการให้สังคม  เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสุข ไม่ได้เน้นที่เงินทอง เช่นไปเลี้ยงเด็ก อยู่กับครอบครัว และซึ่งจะส่งผลทำให้เรามีชีวิตชุมชนที่ดี (อ้างแล้ว 2)   GNH vs GDP กระแส GNH  มีการเคลื่อนไหวเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติสู่กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ดำเนินการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 7 ครั้ง  เพื่อพัฒนาหัวข้อการวิจัยระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 – เดือนกุมภาพันธ์ 2553  ได้นำแนวคิด GNH มาศึกษาและพิจารณาร่วมกับแนวคิดที่มุ่งสร้างความสมดุล เช่น เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  หรือความคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี เป็นที่น่ายินดีที่มีหลายความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น  โดยพยายามนำเสนอเรื่องการพัฒนาทางเลือกที่ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่  ที่พ้นจากวิธีคิดแบบเอา GDP เป็นตัวตั้งเท่านั้น และเกิดการทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศและสังคม รวมทั้งการใช้ชีวิตของเรา  การนำเสนอวิธีคิดอย่างนี้อาจส่งผลต่อวิถีการผลิตและการตลาด  ระบบเศรษฐกิจอย่างใหม่นี้ควรมีพื้นฐานของของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแบบที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ควบคุมธรรมชาติ  การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมแบบเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขัน (อ้างแล้ว 2) ในประเทศไทย แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในด้านนโยบายจะผลิตตัวชี้วัดที่มากกว่า GDP แต่โดยภาพรวมประเทศก็ยังถูกขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาที่เร่งตัวเลขและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่แนวคิดที่พยายามถ่วงดุลหรือปรับแนวทางการพัฒนาให้คำนึงถึงความ ยั่งยืนมากขึ้น  มีชุมชนบางแห่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้วด้วยความตระหนักถึงผลกระทบ ของกระแสบริโภคนิยม  จึงร่วมกันหาหนทางป้องกันจนนำมาสู่การปรับเปลี่ยนและให้ความสนใจในแนวทางการ พัฒนาแบบพึ่งตนเอง  การให้ความสำคัญกับเรื่องความสุขที่แท้และความพอเพียง ถึงเวลาแล้วที่ GNH จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ข้อมูลอ้างอิงจาก 1 ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา 2 GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point