ฉบับที่ 175 ศราพิพัฒน์ ครุฑรัมย์ มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม

“ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่าบ่น  1,000 ครั้ง”  เป็นวลีที่ยังทันสมัยอยู่เสมอ  แล้วถ้ายิ่งมีการรวมกลุ่มกันร้องทุกข์ พลังของผู้บริโภคก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอีก คุณศราพิพัฒน์ ครุฑรัมย์   เป็นอีกหนึ่งเคสที่เริ่มการพิทักษ์สิทธิจากปัญหาของตัวเอง จนเกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่มีปัญหาเหมือนกัน จนสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายท่านอื่นๆ ผ่านทางเฟสบุค ชื่อ“มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม” และกลุ่ม “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่”   คุณศราพิพัฒน์ ปัจจุบันทำงานอิสระเกี่ยวกับการตลาด, โปรโมทเว็ปไซต์และช่วยงานด้านก่อสร้างให้น้องของเขา เรื่องราวของเขาที่เราเก็บมาฝากเริ่มขึ้นเมื่อเขาใช้สิทธิโครงการรถคันแรกเมื่อปลายปี 2012ก่อนที่จะซื้อรถรุ่นนี้มีการศึกษาข้อมูลมากน้อยแค่ไหนก็ศึกษาข้อมูลมาพอสมควร ต้องบอกว่ารถรุ่นนี้ (ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้า) ผมตามมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาผลิตในไทยด้วยความที่ชอบเทคโนโลยีของเขาและรูปลักษณ์ดีไซน์ด้วย พอมาขายในเมืองไทยก็ติดตามอยู่ว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างไหมเพราะในต่างประเทศก็มีปัญหาอยู่เหมือนกันแต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้และด้วยเรื่องเทคโนโลยีที่ชอบจึงตัดสินใจซื้อ และอีกข้อที่ตัดสินใจซื้อคือมันผลิตในเมืองไทย รถรุ่นอื่นที่ไม่ได้ผลิตในไทยจะรออะไหล่นาน 1 – 2 เดือนแต่เฟียสต้าผลิตในไทยจึงคิดว่าคงไม่ต้องรออะไหล่นานนั่นคือเหตุผลโดยรวมที่ทำให้ตัดสินใจซื้อตอนที่ไปซื้อดูอะไรบ้างเนื่องจากเราศึกษาข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว รถรุ่นนี้ผลิตในเมืองไทยปี 2010 ผมซื้อตอนปี 2012 ก็ประมาณปีกว่าๆ ที่ผลิตออกมาซึ่งปัญหาเรื่องเกียร์จะยังไม่ค่อยเจอ และในโบรชัวร์ก็เขียนโชว์คุณสมบัติว่าเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างราบเรียบนุ่มนวล ซึ่งตอนที่ซื้อก็ไม่ได้คุยอะไรกับเซลล์มากมายเพราะว่าศึกษาข้อมูลมาก่อนอยู่แล้ว และมั่นใจในเรื่องโครงสร้างด้วยตัวถังที่ใช้เหล็กโบรอนพิเศษ เรื่องช่วงล่างที่ถ้าเทียบกับรถในราคาระดับเดียวกันมันก็ถือว่าดีกว่า ตอนนั้นเรื่องเกียร์มันไม่มีปัญหาหนักๆ เลย ในต่างประเทศก็ยังไม่เจอปัญหาเรื่องนี้ ตอนนั้นยิ่งทำให้มั่นใจว่าเลือกถูก พอซื้อมาแล้วเป็นอย่างไรบ้างใช้มาได้ประมาณ 1 ปีกว่าๆ ส่วนมากจะขับไปต่างจังหวัด ถ้าช่วงที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะออกจากบ้านประมาณอาทิตย์ละ 2 ครั้งแค่นั้นเอง ขับออกต่างจังหวัดประมาณ 80 % ของการใช้รถเลย พอผ่านมา 1 ปีอาการเริ่มแรกที่เจอคือเวลาออกตัวที่รอบความเร็วต่ำรู้สึกรถมันจะสั่นเหมือนเวลาขับบนทางที่มีเส้นประบนถนนเลย ครั้งแรกที่เจออาการผมจำได้แม่นว่าตอนนั้นอยู่บนถนนเส้นอโศกซึ่งไม่มีเส้นประเป็นทางเรียบๆ ช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม รถค่อนข้างติด พอออกตัวไปรู้สึกรถมันสั่นแต่ไม่ได้คิดอะไรมาก กลัวจิตตกเพราะไม่เคยเจออาการแบบนี้มาก่อนแต่พอขับๆ ไปคืนนั้นมีอาการตลอดเลยเวลาหยุดรถแล้วตอนออกตัวก็จะสั่นทุกครั้ง ผมจึงเอารถไปเข้าศูนย์ฯ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่าซีลเกียร์รั่ว น้ำมันรั่วไปโดนชุดคลัทช์ต้องเปลี่ยนชุดคลัทช์ ซึ่งรถยังอยู่ในประกันเพราะประกัน 3 ปีหรือ 1 แสนกิโลเมตร ตอนไปเช็คอาการทางศูนย์ฯ ก็รู้แล้วว่ารถเป็นอะไรจึงออกใบเช็คอาการให้พร้อมใบนัดแต่กว่าจะได้เคลมก็ประมาณ 3 เดือนนั่นหมายถึงผมต้องใช้รถในสภาพนี้ไปอีก 3 เดือน แล้วตัวคลัทช์มันก็เสียหายไปเรื่อยๆ พอถึงวันนัดทางศูนย์ฯ ก็เปลี่ยนชุดคลัทช์ให้แต่วันที่เช็ครถนั้นยังมีอาการหม้อน้ำรั่วอีกอย่างซึ่งข้อมูลนี้ผมลองสอบถามกับช่าง ซึ่งช่างบอกว่าปัญหาเรื่องหม้อน้ำรั่วก็เจอเยอะสำหรับรถรุ่นนี้ ผมคิดว่าตัวหม้อน้ำมันเป็นเรื่องของคุณภาพเพราะปกติทั่วไปถ้าใช้รถจนเกือบพังมันก็ปกติที่หม้อน้ำจะรั่ว แต่นี่เจอกันหลายคันที่เป็นลักษณะเดียวกันนี้ หลังจากเปลี่ยนชุดคลัทช์มาก็ใช้รถมาเรื่อยๆ ได้ประมาณ 1 ปีอาการเดิมก็เริ่มกลับมาเป็นอีก เวลาขับขึ้นทางชันจะออกอาการทันที รถจะสั่น เวลาเหยียบคันเร่งก็จะมีอาการ ซึ่งครั้งนี้ผมยังไม่ได้เอากลับไปให้ศูนย์ฯ เช็คกำลังจะไปเร็วๆ นี้เพราะใกล้จะหมดประกันแล้วด้วยแล้วคนอื่นๆ ที่เจอปัญหานั้นได้มีการคุยกันบ้างไหมกับคนอื่นๆ นั้นมีปัญหากันค่อนข้างเยอะ พวกเราเลยมีการรวมกลุ่มกันเพราะคนที่ใช้รถรุ่นนี้เจอปัญหาลักษณะเดียวกันคือเรื่องเกียร์ เรื่องชุดคลัทช์จึงตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า “มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม”  ซึ่ง 90 % เป็นคนที่ใช้ฟอร์ดเฟียสต้า ส่วนจำนวนสมาชิกยังไม่ได้มีการลงทะเบียนรวบรวมอย่างเป็นทางการแต่เท่าที่ประเมินจากการที่เข้ามาร่วมพูดคุยกัน สถิติถึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ประมาณเกือบ 500 คัน ปัญหาที่เจอเหมือนของผมต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก 3 – 4 ครั้งก็มี ซึ่งรถก็ไม่มีคันไหนอายุการใช้งานเกิน 5 ปีสักคัน ส่วนใหญ่มีปัญหากันตั้งแต่ช่วง 1 – 2 ปีที่ซื้อรถมาแต่บางคันที่โชคไม่ดีเจอปัญหาตั้งแต่ 5,000 กิโลเมตรก็มีนี่คือรถที่ผลิตในช่วงปีเดียวกันหรือเป็นรถรุ่นอื่นๆ บ้างไหมล็อตที่ผลิตนั้นไม่แน่ใจแต่รถที่มีปัญหามีทุกปีตั้งแต่รถที่ผลิตปี 2010 ที่เขาผลิตมาล็อตแรกๆ รวมไปถึงผลิตปี 2011 – 2013 ส่วนของปี 2014 ผมยังไม่ค่อยมีข้อมูลแต่ก็เริ่มมีรถที่มีปัญหาเหมือนกันกิจกรรมของกลุ่มมีอะไรบ้างจะมีอยู่หลายส่วนเหมือนกันเพราะกลุ่มของเรามองว่าปัญหาที่เจอมันคือปัญหาเรื่องคุณภาพของชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้ว่าศูนย์ฯ จะรับประกันให้เราก็จริงแต่บางคันปัญหามันเกิดแล้วเกิดอีก จึงมองว่าถ้าคุณภาพของชิ้นส่วนรถมันดีมันไม่ควรจะเกิดปัญหาซ้ำบ่อยขนาดนี้ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ซึ่งกิจกรรมเบื้องต้นที่ทำก็คือรวมกลุ่มกันไปออกรายการของทางช่องไทยพีบีเอส 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็รวมตัวกันไปที่สำนักงานใหญ่ของฟอร์ดเพื่อเรียกร้องให้เขารับผิดชอบเยียวยาพวกเรา ซึ่งช่วงนั้นก็มีเป็นข่าวอยู่บ้างก็จะเห็นว่าทางฟอร์ดมีวิธีการต่างๆ นานาที่จะไม่ยอมเจรจา ถ้ามีการเจรจาก็มีการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่าต้องไม่มีการพกโทรศัพท์ ห้ามบันทึกเสียง ห้ามเผยแพร่ข้อมูลในการพูดคุย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่โปร่งใสทำให้การเจอกันเพื่อขอเจรจาในครั้งนั้นจึงล้มเหลว หลังจากนั้นพวกเราจึงนัดรวมตัวกันอีกรอบหนึ่ง วันที่ 17 มกราคม 2558 ซึ่งก่อนวันที่จะรวมตัวทางฟอร์ดก็มีการประกาศขยายเวลารับประกันอะไหล่ที่มีปัญหาคือชุดคลัทช์และอีกอย่างคือ TCM (กล่องควบคุมเกียร์) ที่เริ่มมีปัญหากันเยอะซึ่งมันไม่น่าจะเสียง่ายขนาดนี้ รถบางยี่ห้อใช้เป็น 10 ปียังไม่เสีย แต่ของเราพ้น 3 ปีไปนี่คือต้องคอยลุ้นว่ามันจะเสียเมื่อไรเพราะอาการของมันเราจะสังเกตเองไม่ได้เพราะว่าไม่มีอาการบ่งชี้ อย่างชุดคลัทช์เรายังสังเกตจากการที่รถมันสั่น แต่กล่อง TCM นี้มันเป็นชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์ มันจึงไม่มีอาการบอกล่วงหน้ามีแต่สัญลักษณ์ไฟซึ่งก็ไม่แน่นอน เวลาเสียแล้วรถจะวิ่งได้ที่ความเร็ว 20 – 40 กิโลเมตร / ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งมันอันตรายตรงที่เวลาเราขับรถด้วยความเร็วสูงแล้วมันเกิดเสียขึ้นมาความเร็วรถมันจะลดลงทันที ถือว่าอันตรายมากอาจเกิดอุบัติเหตุได้    ย้อนกลับไปตอนที่นัดชุมนุมกันทางฟอร์ดขยายเวลารับประกันชุดคลัทช์กับตัว TCM ให้ซึ่งชุดคลัทช์ขยายให้เป็นรับประกัน 5 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร ส่วน TCM ขยายเป็น 10 ปี อันนี้ไม่แน่ใจว่าฟอร์ดเขากลัวพวกเรารวมตัวกันเยอะๆ หรือเปล่าจึงประกาศการขยายเวลารับประกันออกมาก่อนเพื่อบอกให้รู้ว่าเขาได้ดูแลพวกเราแล้วนะ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้พวกเรายังรวมตัวกันอยู่ ทำไมยังไม่สลายตัวคือตอนนี้เขาขยายเวลารับประกันให้แล้ว แต่เราพบว่ามันมีปัญหาที่มันเกี่ยวเนื่องกันเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะฉะนั้นเราจึงต้องรวมตัวกันอยู่เพื่อที่จะดูแลซึ่งกันและกัน ให้คำปรึกษาคนที่เขาเพิ่งเจอปัญหา เหมือนการรวมพลังของกลุ่มผู้บริโภคและอีกเหตุผลคือมีการหารือกันถึงเรื่องการฟ้องร้อง ถ้าแยกเป็นแต่ละกรณีนั้นปัญหาค่อนข้างเยอะ บางรายเป็นเยอะมาก ผมขอพูดในนามตัวแทนกลุ่มเลยว่าปัญหาของผมก็เหมือนปัญหาของกลุ่มแต่ว่าบางคนในกลุ่มปัญหาค่อนข้างหนัก ที่ยังรวมกลุ่มกันเพราะพวกเรามองว่าฟอร์ดควรจะรับผิดชอบพวกเรามากกว่านี้โดยเฉพาะรุ่นเฟียสต้าหรือรุ่นที่ใช้พาวเวอร์ชิพ อย่างทุกวันนี้ปัญหาชุดก้ามปูก็เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหา 2 อย่างนี้พอเป็นบ่อยๆ ก็ส่งผลกระทบกับก้ามปูซึ่งชุดหนึ่งราคาค่อนข้างแพง ประมาณ 3 – 4 หมื่น ก็มีเป็นกันอยู่หลายราย สมาชิกในกลุ่มเวลาขับรถไปก็ลุ้นกันว่าตัวเองจะเจอเมื่อไร ใครจะเจอแจ๊กพ็อตปัญหาก้ามปูตามมานอกจาก 2 ปัญหาแรกที่เราเจอกันอยู่แล้ว และแนวทางของกลุ่มหลังจากนี้คือจะช่วยกันดูแลกันและกัน ผมมองว่ามีประโยชน์มากเพราะบางรายนั้นไปเข้าศูนย์ฯ ซึ่งพูดได้ว่าศูนย์ฯ บางแห่งไม่ตรงไปตรงมาอย่างเช่นนับอายุประกันรถไม่ครบ พอคนที่เจอปัญหาเข้ามาที่กลุ่มพวกเราก็ให้คำปรึกษาช่วยเหลือกันไป บางรายเจอปัญหาที่ทางศูนย์ฯ สามารถวิเคราะห์ได้อยู่แล้วว่าปัญหามันคืออะไรแต่ศูนย์ฯ พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไม่รับผิดชอบ ซึ่งทางกลุ่มก็ให้คำแนะนำเพื่อให้สมาชิกได้ไปเจรจากับศูนย์ฯ อีกครั้งก็ได้รับการดูแลอย่างดี ไม่อย่างนั้นกรณีที่เคยเจอมาหลายรายคือต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ อีกประเด็นคือหลังจากได้คุยกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีโอกาสได้ร่วมเสวนากันมาหลายครั้งซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้มีการผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผมก็เห็นด้วยในแนวทางนี้จึงได้ชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเยอะพอสมควรและอีกเรื่องคือเรื่องกฎหมาย Lemon Law จากการรวมตัวกันตรงนี้ที่คิดว่าควรจะมีกลุ่มผู้บริโภคในบ้านเราเพื่อผลักดันอะไรก็ได้ที่มันคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น ซึ่งพวกเราก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ไม่ถึงเดือนคือ “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่”(กลุ่มทางเฟสบุค) ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 300 คน โดยทางมูลนิธิฯ ได้ตั้งชื่อให้ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันตรงดีเพราะกลุ่มแรกจะเน้นไปที่ผู้ใช้รถฟอร์ด ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะดึงคนที่มีปัญหาเดียวกันแต่เป็นรถยี่ห้ออื่นๆ จึงตั้งอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะรวมทุกยี่ห้อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันเวลาเจอปัญหาและเพื่อเรียกร้องสิทธิ อีกเรื่องที่รวมตัวคือเพื่อจะร่วมช่วยกันผลักดันกฎหมาย Lemon Law และองค์การอิสระฯ คือทุกวันนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่าในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราค่อนข้างมีปัญหา อย่างกลุ่มของเราต้องพูดตรงๆ ว่าเราไม่ค่อยเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐเลย เริ่มตั้งแต่รวมตัวกันเรียกร้องกับฟอร์ดโดยการส่งจดหมายไปบริษัทแม่ ส่งไปที่ฟอร์ดประเทศไทย แต่ไม่ไปเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐเพราะมีเหตุผลคือไม่เชื่อมั่น จึงเป็นที่มาว่าเราเห็นด้วยกับแนวทางของมูลนิธิฯ ในการผลักดันองค์การอิสระฯ และกฎหมาย Lemon Law ที่คุ้มครองเรื่องสินค้าชำรุดโดยตรง     ตอนนี้แนวทางของกลุ่มคนใช้รถฟอร์ดในปลายปีนี้จะมีการรวมตัวกันดูประเด็นแล้วอาจมีการฟ้องร้องกลุ่มกับฟอร์ดประเทศไทย เพราะบางคนปัญหาหนักแล้วเขาก็ไม่ต้องการใช้รถคันนั้นแล้ว จะขายราคาก็ตก มันมีหลายๆ ปัญหา ทางฟอร์ดควรรับผิดชอบมากกว่านี้ ควรรับซื้อคันที่มีปัญหาเดิมเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งคืนไป ส่วนเงื่อนไขอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกทีซึ่งตอนนั้นคงเป็นเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ส่วนกิจกรรมของกลุ่ม “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่” ก็คงมีกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิฯ เรื่อยๆ เพื่อช่วยกันผลักดันกฎหมายและผลักดันแนวทางกลุ่มเพื่อดูแลคนที่ซื้อรถมาใหม่ๆ เกิดปัญหาควรจะทำอย่างไรไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นหรือยี่ห้อเดียวกัน นี่เป็นแนวทางกว้างๆ ของกลุ่ม ช่วยแนะนำคนที่จะซื้อของไม่ว่าจะเป็นรถหรือสินค้าอื่นๆ ในฐานะที่มีประสบการณ์เจอปัญหามาผมว่าผู้บริโภคไม่ว่าจะเกี่ยวกับสินค้าอะไรนั้น เมื่อเกิดปัญหาควรจะรวมตัวกันให้ได้ อย่างเช่นกลุ่มคนใช้มือถือ อย่างน้อยเวลาเกิดปัญหาจากกการที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานจะได้มีพลังในการเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของเรา และยังสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เวลาเกิดปัญหา อย่างกลุ่มของผมค่อนข้างมีประโยชน์มากๆ เวลาเพื่อนสมาชิกมีปัญหาแล้วเขาไม่มั่นใจในการวิเคราะห์ของศูนย์ฯ บางทีช่างอาจจะรู้แต่เขาไม่อยากรับผิดชอบจึงวิเคราะห์อาการมาแบบไม่ตรงเพราะบางศูนย์ฯ ก็มีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะขายของเพิ่ม รถเป็นนิดเดียวแต่ให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เพิ่มเพื่อจะให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้พอมีกลุ่มขึ้นมาก็สามารถแนะนำกันได้ว่าปัญหาแบบนี้มันควรจะแก้ไขอย่างไรเพราะคนในกลุ่มมีการใช้งานที่หลากหลาย แก้ไขปัญหากันมาหลากหลายจึงสามารถแนะนำกันได้ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เราเสียเปรียบผู้ผลิตและได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ การร้องเรียนด้วยตัวเองบางทีมันก็เหนื่อยหรือไม่มีพลังมากพอ ถ้าเรามีหลายๆ กลุ่มพอมีนโยบายที่เป็นระดับชาติเราก็มารวมตัวกันอีกที อย่างเช่นปัญหาเรื่องบ้านก็เข้าใจว่าพวกเขาคงมีกลุ่มเหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าพอมีปัญหาก็โทษหน่วยงานรัฐว่าทำงานไม่เต็มที่โดยลืมไปว่าบางทีผู้บริโภคเองก็หละหลวมที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง เราควรรวมตัวกันเพื่อให้เป็นพลัง ถ้าหน่วยงานรัฐทำงานไม่เต็มที่ก็มีกลุ่มพวกนี้ที่คอยกระตุ้นให้รัฐทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 “สังฆทานหมดอายุ เราทำได้มากกว่าการบ่น”

คุณบูรณ์มี ศิริเศรษฐวรกุล หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่าพี่ปิ๋ม พี่ปิ๋มทำงานด้านการเงินของบริษัทเอกชนที่ทำงานด้านจิตอาสาแห่งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน เธอมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกี่ยวเรื่องถังสังฆทานหมดอายุ (ก่อนที่คลิปพระรื้อสังฆทานหมดอายุอันโด่งดังเสียอีก) แต่เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาแวะเวียนมาอีกครั้ง และปัญหาเรื่องถังสังฆทานหมดอายุก็ยังมีอยู่  เราจึงขอให้เธอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอีกครั้ง เพื่อให้หลายๆ คนที่คิดจะซื้อได้หันมาใส่ใจรายละเอียดมากขึ้น หรือถ้าจะลงมือจัดเองจะเริ่มต้นอย่างไรอยากให้เล่าเหตุการณ์เป็นมาอย่างไรเรื่องที่เจอถังสังฆทานหมดอายุตอนนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษาและเป็นช่วงใกล้วันเกิดด้วยก็อยากไปทำบุญ เผอิญไปเห็นถังสังฆทานซื้อ 1 แถม 1 จึงซื้อมาและพอมาถึงบ้านก็แกะดูเพราะจะเอาของอื่นๆ ใส่เพิ่มอีก แต่พอหยิบออกมาก็เห็นข้อแตกต่างตรงสติ๊กเกอร์เพราะมันไม่เหมือนกัน ลักษณะสติ๊กเกอร์มันเก่า 1 อัน ใหม่ 1 อัน ปรากฏว่าหมดอายุไปเมื่อเดือน พ.ค. แต่ว่าซื้อตอนเดือน ก.ค. แต่ถังหมดอายุไปก่อนแล้ว 1 ถัง ส่วนอีกถังยังไม่หมด ความตั้งใจแรกคือจะเอาไปเปลี่ยนที่ห้างฯ ที่ซื้อมา แต่บังเอิญรู้จักกับคุณกรรณิการ์ (กรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ว่าถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้จะต้องทำอย่างไรต่อไปดี ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดอยากจะให้เป็นเรื่องเป็นราวอะไรกัน ของข้างในหมดอายุด้วยหรือเปล่านั้นก็ยังไม่ทันได้สังเกต จึงจัดการนำถังสังฆทานที่มีปัญหาไปให้ทางเจ้าหน้าที่ที่มูลนิธิฯ ดู ปรากฏว่าของข้างในก็หมดอายุเหมือนกัน ของที่จะเอาไปทำบุญเลยต้องซื้อใหม่หมดแต่ไม่ได้ซื้อที่เดิมแล้ว เปลี่ยนห้างไปเลยและไม่ซื้อเป็นถังแบบนี้แล้ว ซื้อแยกเป็นพวกผ้าห่ม เป็นของที่สามารถเก็บได้แทนเพราะเคยแค่ได้ยินมาเรื่องถังสังฆทานหมดอายุแต่ยังไม่เคยเจอกับตัวเอง เพราะเวลาซื้อมักจะไม่ได้แกะดู ถ้าหมดอายุคนที่รู้ก็จะเป็นพระสงฆ์ที่แกะและอีกอย่างก็เชื่อใจร้านค้าเพราะเป็นห้างดังไม่คิดว่าจะมีแบบนี้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ถามว่าต้องการจะฟ้องร้องไหม ตอนนั้นคิดว่าไม่ดีกว่าเพราะเราตั้งใจจะทำบุญ ถ้าไปฟ้องก็เป็นการเอาทุกข์ไปให้เขา แต่ว่ามูลนิธิฯ ต้องการจะทำจดหมายส่งไปว่ามีคนมาร้องเรียนทางมูลนิธิฯ จึงดำเนินเรื่องต่อให้ และถ้ามีการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเราก็ไปเป็นพยานให้ ก็ตกลงกันตามนี้ ตอนไปเจรจาก็มีเจ้าหน้าที่ของห้างมากัน 2 คน เราก็ไปกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ซึ่งสรุปทางห้างก็ยอมรับว่าทางเขาผิดจริงอาจจะเพราะความผิดพลาดของพนักงานห้างเองที่ไม่ได้ดูให้ละเอียด เพราะห้างมีฝ่าย QC ที่ตรวจสอบสินค้าก่อนเอามาจำหน่าย แต่เวลาสั่งของจากโรงงานมันมีจำนวนเยอะและต้องกระจายไปตามสาขาต่างๆ อาจจะตรวจได้ไม่ทั่วถึง อันนี้เป็นคำพูดของทางห้างที่แจ้งมาแต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งทางห้างก็ถามว่าเราต้องการให้เขาชดเชยในด้านความรู้สึกอย่างไรเพราะมันเป็นของที่ซื้อมาเพื่อทำบุญ เจอแบบนี้เราก็เอาสินค้าชิ้นนี้ไปทำบุญไม่ได้ และเราได้ซื้อสินค้าอื่นไปทำบุญแทนถังสังฆทานนี้แล้ว จึงบอกไปว่าเรียกร้องไม่ถูกเพราะไม่เคยเจอเรื่องอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ จึงเสนอว่าให้เรียกร้องตามกฎหมายแล้วกัน ก็คือเงิน 20,000 บาท แต่ทางห้างต่อรองลงมาเหลือ 15,000 บาท ก็ตกลงกันที่ 15,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้อยากเรียกร้องอะไรจากเขาเลยแต่ที่ต้องทำเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานตามกฎหมายไม่อย่างนั้นความระมัดระวังของห้างก็จะไม่มีความรอบคอบในการตรวจเช็คสินค้าก่อนออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค เพราะสินค้าตัวนี้เข้าใจว่ากำไรก็คงไม่ได้เยอะมากและถ้าต้องมาเสียหายกับการที่สินค้าหมดอายุและมีคนเรียกร้องบ่อยแทนที่ห้างจะได้กำไรก็กลับไม่ได้ เราเลยต้องใช้สิทธิเพื่อไม่ให้เกิดกับคนอื่นได้อีก พอตกลงกันได้ในวันถัดมาทางห้างก็เรียกให้ไปรับเงิน แต่เท่าที่ได้คุยกับเขาคือเงินที่ได้ไม่ใช่จากทางห้างเป็นคนจ่ายแต่เป็นเงินที่พนักงานต้องหารกันจ่าย ทำนองว่าทางบริษัทไม่รับผิดชอบเพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของพนักงานเอง ทางพนักงานก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องราวต่อจึงรับผิดไป ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ไม่แน่ใจเหมือนกันเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์ที่มีพระถ่ายคลิปมาแฉไม่แน่ใจเหมือนกันแต่รู้สึกจะเกิดก่อนแล้วก็มาเห็นข่าวแล้วยังคิดถึงเรื่องตัวเองว่า ถ้าเราเอาไปถวายพระจะเป็นอย่างไร พระท่านคงเจอปัญหานี้มาเยอะมากจนต้องออกมาบอกประชาชนว่า ถังสังฆทานแบบนี้อย่าซื้อมาเลยเพราะบางอย่างพระก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นผ้าสบงที่สั้นจนใช้จริงไม่ได้ เดี๋ยวนี้เวลาจะทำบุญเลยจัดเองโดยการไปซื้อกล่องบรรจุมาก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าจะใส่อะไรได้บ้าง ก็ซื้อยา ซื้อผ้าอังสะมาจัดเอง ตอนนี้ซื้อตามร้านขายของสังฆภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพราะร้านแบบนี้ส่วนใหญ่คนซื้อไปสำหรับงานบวชถ้าไม่ดีคนที่ซื้อไปก็กลับมาต่อว่าเอาได้ เลยซื้อร้านสังฆภัณฑ์แบบนี้ดีกว่า พวกผ้าสบง อังสะ ผ้าอาบน้ำฝน มีดโกน สมุดปากกา และยาสามัญประจำบ้านที่ขายเป็นกล่องขององค์การเภสัช แล้วค่อยหายาที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้เพิ่มอีก เช่นยาแก้ไอ ฟ้าทะลายโจร ยาหม่อง ยาดม ยาหอม พวกนี้เป็นสิ่งที่เราเองก็ใช้จึงคิดว่าพระก็จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน นอกจากนั้นก็มีของแห้ง เช่น กาแฟสำเร็จรูป นม น้ำดื่ม ก็เอามาจัดใส่เอง อาจจะแพงกว่าการซื้อเป็นถังสังฆทานมาเลยแต่คิดว่ามันคือการทำบุญ ต่อให้พระไม่ได้ใช้แต่ยังสามารถเอาไปให้ญาติโยมได้ ดีกว่าเอาของหมดอายุไปทำบุญจากเหตุการณ์นี้ได้บอกคนอื่นๆ ให้รู้จักใช้สิทธิแบบนี้บ้างไหมบอกคนใกล้เคียงเรื่องถังสังฆทานนี้เลย ว่าไม่อยากให้ซื้อแบบนี้เพราะไม่รู้ว่าของข้างในมันหมดอายุหรือเปล่า บางคนก็ไม่ฟังเพราะเอาความสะดวก ก็แล้วแต่เขา เราก็ถือว่าได้พยายามบอกแล้ว เขาจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องมีความคิดเห็นอย่างไรที่ปัจจุบันนี้มักมีเรื่องผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยที่มีเรื่องการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งเรื่องของหมดอายุหรือสารปนเปื้อนในอาหาร คิดว่าผู้บริโภคไม่รู้เพราะความไว้ใจว่ามีโรงงานใหญ่ มีชื่อเสียงก็คิดว่าเขาคงไม่ทำ ทุกวันนี้คิดอยู่เรื่องหนึ่งคือร้านค้าที่เราไปกินข้าวกันทั่วไปนั้น ทำไมเขาถึงไม่ซาวน้ำข้าวสาร ไม่คิดบ้างหรือว่ามีสารอะไรปนเปื้อนมา อาจจะมีฉี่หนู มีขี้แมลงสาบลงไปหรือเปล่า ทาง อย. หรือ สคบ. น่าจะมีเอกสารให้ประชาชนสมัครเพื่อเป็นหูเป็นตาให้ว่าร้านไหนที่สกปรกสมควรต้องมาตรวจ หรือเรียกปรับได้ถ้าไม่มีการปรับปรุง มันจะได้มีคนช่วยกันดูแลเพราะทุกวันนี้คนเราไม่มีเวลาทำอาหารกินเองต้องอาศัยร้านค้าทั้งนั้น แต่ก็ยังมีร้านค้าที่มักง่าย ผักที่ซื้อมาก็ไม่ล้าง บางทีใช้ผักใกล้จะเน่าเหลืองแล้วเหลืองอีก คือเขาจะไม่ยอมเสียต้นทุน มีครั้งหนึ่งเคยไปกินก๋วยเตี๋ยวแล้วเจอแมลงวันลอยในน้ำส้มเครื่องปรุง จึงเรียกพนักงานของร้านมาดู เขาก็ตักแมลงวันทิ้งไปแค่นั้น คือมันง่ายไปไหมแล้วตัวเรารู้ก็ไม่กินต่อแน่นอนอยู่แล้ว แต่คนอื่นที่ไม่รู้ก็คงกินเข้าไป และอีกครั้งเคยซื้อขนมปังเจ้าดังเลยนะ ซื้อมายังเจอเส้นผมในขนมปังเลย ตอนนั้นทางมูลนิธิฯ จะให้ฟ้องแต่ว่า QC ของเขามาเจรจาขอไว้ เอาของมาให้ก็ยอมความกันไปเพราะเราก็ยังไม่ได้กินเข้าไปแค่บิออกมาดู คิดเสียว่าดวงไม่ดีแล้วกัน แต่บางคนเขาแกะถุงแล้วเอาเข้าปากเลยด้วยความเชื่อใจที่คิดว่าเขาต้องดูแลสินค้าของเขามาอย่างดีแล้ว โชคดีที่เรากินช้า เวลาจะกินก็ต้องแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ออกมาถึงได้เห็นขนชี้ขึ้นมา พอดึงออกมาคิดว่ามันเป็นขนเพชรเลยนะเพราะมันหยิกๆ แต่พนักงานของเขาบอกว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นเส้นผมของคนทำซึ่งอาจจะติดมาจากเนยแข็ง อาจจะไม่ใช่ของโรงงานเขาแต่ติดมากับวัตถุดิบ ซึ่งตอนที่เจอก็โทรไปที่เบอร์ลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทเลย ตั้งใจจะโทรไปต่อว่าเขาว่าเป็นโรงงานใหญ่โตทำไมเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นต่างประเทศโดนฟ้องร้องแล้ว และสินค้าก็ส่งออกนอกถ้าไปเจอที่ต่างประเทศเขาอาจจะคิดเหมารวมยี่ห้ออื่นด้วยว่าเป็นของไม่ดีทั้งหมด ทำให้สินค้าบริษัทอื่นตายไปด้วย ก็ตั้งใจจะโทรไปต่อว่าแค่นี้แต่เขาให้เก็บสินค้าไว้เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบดูและเขาก็เก็บสินค้านั้นกลับไป หลังจากนั้นผู้จัดการเขาก็โทรมาขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้นและพนักงานก็รู้ความผิดแล้ว จึงบอกกับผู้จัดการไปว่าหลังจากนี้ต้องตรวจสอบสินค้าให้ดีแล้วกันจะได้ไม่เสียชื่อเสียง เรื่องนี้จึงจบลงได้โดยไม่ได้ไปฟ้องร้องอยากให้ฝากถึงคนอ่านเพราะบางคนคิดว่าเป็นแค่ผู้บริโภคธรรมดาอาจจะปล่อยผ่านกับเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าอยากให้สังคมดีขึ้นผู้บริโภคก็ต้องช่วยกันจริงๆ แล้วปัญหาพวกนี้เป็นสิ่งที่คนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ว่ามันใหญ่และสำคัญกับผู้บริโภค ถ้าปล่อยปละละเลย ทั้งผู้ผลิต ผู้ขายเขาก็จะไม่กลับมามีจิตสำนึกในการผลิตว่าทำของกินของใช้ออกมาให้กับคนที่ต้องเสียเงินซื้อแล้ว ยังจะต้องมาเสียความรู้สึกอีก ถ้าเราช่วยกันปัญหาพวกนี้ต้องลดน้อยลงหรืออาจจะไม่มีอีกเลย อย่างน้อยอย่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ออกมาดูแลจัดการก็ได้ แต่มีติดใจอยู่เรื่องหนึ่งเหมือนกัน คือ สินค้าที่สมมติว่าผู้ผลิตไปขอแจ้งทาง อย. แล้วแต่การผลิตครั้งหลังจากนั้นต่อๆ ไปไม่เข้ามาตรฐานที่เขาเคยส่งตรวจเลย แบบนี้ทาง อย. เคยกลับไปตรวจซ้ำไหม เพราะตอนที่จะขอเลขทะเบียนจาก อย. ก็ต้องทำสินค้าให้มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่พอได้มาแล้วหลังจากนั้นก็ไม่ทำตาม พอมีแบบนี้คนที่มาร้องเรียนเขาก็เห็นว่าร้องไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงทำให้หมดกำลังใจ อย่างน้อยให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับผิดชอบปากท้องประชาชนมันจะได้สมบูรณ์แบบ เวลาจะซื้อ จะกินอะไรจะได้ไม่ต้องกลัว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 173 ฉลาดกิน กับอ.ศรีสมร คงพันธุ์

ถ้าเอ่ยถึงกูรูเรื่องอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยเชื่อว่า ลำดับต้นๆ  ต้องมีชื่อ “ ศรีสมร  คงพันธุ์ ” อยู่แน่ๆ อาจารย์ฝากผลงานเอาไว้มากมาย ทั้งในสื่อการสอนรูปแบบต่างๆ และตำรับตำราอาหาร หนังสือเกร็ดความรู้เคล็ดลับเรื่องอาหารต่างๆ นานา เป็นจำนวนมากมาย และแม้จะย่างเข้าสู่วัยแปดสิบแล้ว  ท่านยังคงถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญและที่กรมแรงงานอย่างสม่ำเสมอ  เนื่องในโอกาสที่ท่านได้ให้เกียรติร่วมงาน มหกรรมอาหารและวิถีไทย  ครั้งที่  2  ณ เมืองทองธานี ฉลาดซื้อเราจึงขอให้ท่านช่วยแนะนำความรู้ดีๆ ในเรื่อง ฉลาดกิน มาฝากผู้อ่านทุกท่านค่ะ  คนโบราณเขาเจียวไข่ใส่หัวหอมเพื่ออะไร  บางคนบอกว่าใส่เพื่อให้มันได้เยอะขึ้น แต่ว่าหัวหอมถ้าพูดถึงความอร่อยกินไข่เจียวเฉยๆ  ก็มีรสชาติไข่เจียวอย่างเดียว  ใส่หัวหอมด้วยนั้นทำให้รสไข่เจียวไม่เลี่ยนเป็นประการที่หนึ่ง...และในเมื่อไข่เจียวเป็นโปรตีนชั้นหนึ่งอยู่แล้วทำไมต้องใส่หมูใส่กุ้งลงไป  เอาเนื้อพวกนี้ไปทำอาหารอีกจานหนึ่งไม่ดีกว่าหรือ    ปัจจุบันอาหารมีหลากหลาย การที่จะเลือกกินเราควรเลือกอย่างไรดีการจะฉลาดกินเราต้องฉลาดซื้อก่อน ในการเลือกซื้อเราต้องเลือกซื้อตามฤดูกาลจะทำให้ได้อาหารที่มีคุณภาพดี ราคาถูก ในการซื้อเราต้องคิดไว้ก่อนว่าซื้อแล้วจะเอามาทำอะไรไม่ใช่ซื้อเพราะเห็นมันถูกแล้วซื้อมากองๆ ไว้  ต้องซื้อตามฤดูกาลถึงแม้ว่าบางอย่างจะมีขายนอกฤดูแต่ราคามันสูง และคุณค่าทางโภชนาการจะต่ำกว่า  และยังมีสารปนเปื้อนที่เข้าไปเร่งการเจริญเติบโตเราจึงไม่ควรกิน  ดังนั้นก่อนที่จะซื้ออาหาร ผักสดมาทำกับข้าวเราต้องรู้ว่าในครอบครัวของเรานั้นมีเด็กเล็ก  มีผู้สูงอายุไหม  และมีคนวัยทำงานที่อยู่ร่วมกันไหมเพราะอาหารที่เราทำทุกคนต้องกินได้ ไม่ใช่ถ้วยนี่ของลูก  ถ้วยนี้ของพ่อของแม่  ต้องไม่ใช่อย่างนั้น  ในการทำอาหารก็ต้องช่วยประหยัดด้วย  อาหาร 1 จานกินได้ทุกคน  เพราะฉะนั้นต้องดูรสชาติของอาหาร  เนื้อสัตว์ที่จะใช้คืออะไร  สมมุติว่าว่าพ่อชอบกินเผ็ดอาจจะต้องมีน้ำปลาพริกอยู่ข้างนอกให้ไปเติมทีหลังได้  อย่างเราทำแกงส้มก็ต้องแกงส้มแบบธรรมดาไม่ต้องให้จัดจ้านมากเพื่อให้เด็กกินได้  ผักที่ใช้ก็พวกผักที่มีรสหวานๆ  เพราะเด็กชอบกินผักหวานๆ  อย่างหัวไชเท้า  ผักกาดขาว  ถั่วฝักยาวมันทำให้เด็กกินได้ด้วยแบบนี้  เราต้องรู้ตัวเราเองด้วยว่าเรากินอะไรแล้วเกิดความไม่สบาย  กินแบบนี้แล้วท้องเสีย  หรือกินแบบนี้แล้วท้องผูก  มันเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่เรากิน   อย่างเช่นเราทำไข่เจียว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ทุกคนกินได้  ต้องนึกถึงคนโบราณเขาเจียวไข่ใส่หัวหอมเพื่ออะไร  บางคนบอกว่าใส่เพื่อให้มันได้เยอะขึ้น แต่ว่าหัวหอมถ้าพูดถึงความอร่อยกินไข่เจียวเฉยๆ  ก็มีรสชาติไข่เจียวอย่างเดียว  ใส่หัวหอมด้วยนั้นทำให้รสไข่เจียวไม่เลี่ยนเป็นประการที่หนึ่ง  และประการที่สองหัวหอมช่วยลดโคเลสเตอรอล  เราก็ต้องนึกถึงในส่วนนี้ด้วย และในเมื่อไข่เจียวเป็นโปรตีนชั้นหนึ่งอยู่แล้วทำไมต้องใส่หมูใส่กุ้งลงไป  เอาเนื้อพวกนี้ไปทำอาหารอีกจานหนึ่งไม่ดีกว่าหรือ  และสิ่งสำคัญสุดที่เราไม่ค่อยมองกันคือการหุงข้าว  ข้าวสาร  25  กรัมเวลาหุงแล้วจะได้ประมาณ 70 กรัม  คนเราอย่างเก่งเลยกินข้าวได้ 50 กรัมเพราะฉะนั้นเวลาจะหุงข้าวนั้น  1  คนประมาณ  50  กรัมถ้า  2  คนก็ 100 กรัม  ต้องคิดออกมาอย่างนี้ก่อนไม่อย่างนั้นหุงมาแล้วก็เหลือ ลองนึกดูว่าถ้าข้าวเหลือวันละ  1  ถ้วยตวงคือประมาณ  75  กรัมนั้นมันคือข้าวสาร  25  กรัมแล้ว  ข้าวสาร  25  กรัมทุกๆ  วันนั้นใน  1  ปีเป็นเงินเท่าไร  เราต้องคิดอย่างนี้แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่คิด  พอหุงเหลือก็ทิ้งไปเฉยๆ  บางคนข้าวที่เหลือเขามีวิธีเก็บเอาไว้  ตากแห้งแล้วเอาไปทอด  เสร็จแล้วเอาไปคลุกน้ำตาลไว้กินได้อีกเป็นอาหารว่างของไทยเรา  ใส่กระเทียมเจียวเข้าไปเป็นข้าวหมี่  และดูอาหารที่เราทำเนื้อสัตว์ต้องหลากหลายตามฤดูกาล กินปลา กินไข่ กินหมู กินกุ้ง หมุนเวียนกันไปตามราคาและฤดูกาล  อย่างตอนนี้ปูแพงก็เปลี่ยนจากกินข้าวผัดปูไปกินข้าวผัดอื่นแทนได้ไหม ที่ให้คุณค่าเท่ากัน  อย่างนี้เงินเราก็จะพอใช้  และอาหารที่สำคัญทุกวัยในบ้านเราต้องกินได้อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  อย่างทำน้ำพริกผู้ใหญ่กินผักสดมากก็ท้องอืด  เด็กก็ไม่ค่อยชอบกินเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นผักต้มบ้าง  ผักทอดบ้างอย่างนี้เป็นต้นผักที่สามารถกินเป็นยาได้ด้วยจะเอามาทำอาหารอย่างไรได้  อย่างคนเป็นเบาหวานนั้นในตำราว่า ตำลึงนั้นมีอินซูลินสูงก็เอาตำลึงมาทำอาหารที่ในครอบครัวชอบ  อย่างเช่น บะช่อตำลึงหรือตำลึงผัดใส่เต้าเจี๊ยวกับหมูสับหน่อยก็ได้ ก็ทำออกมาเป็นยาได้แล้ว อย่างเช่นเราต้องการแคลเซียม  พวกยอดแค  ดอกแคพวกนี้มีแคลเซียมสูงทั้งนั้นเราก็เอามาต้มจิ้มน้ำพริกหรือเอามาผัดอะไรก็ได้ที่ทุกคนกินได้และทุกคนชอบอย่างนี้เป็นต้น  และเดี๋ยวนี้เขามีอาหารพวกผักพื้นบ้านมาทำอาหารเป็นทั้งยาเป็นทั้งอาหาร  อย่างรัชกาลที่ 5 เวลาพระองค์ท่านประชวรโรคหวัด ในห้องเครื่องจะทำพระกระยาหารถวายเป็นทั้งพระกระยาหารเป็นทั้งโอสถเพราะฉะนั้นคนที่ทำอาหารต้องมีความรู้เรื่องนี้ด้วย  ต้องมีเนื้อ  มีมันเทศ  มีหอม  มีใบโหระพา  ใบกะเพรา  มีพริกแล้วปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก  น้ำมะนาวเพื่อเป็นยา  อย่างหน้าหนาวก็ต้องแกงส้มดอกแคแบบนี้ใช่ไหมอันนั้นคล้ายๆ  กับที่เขาบอกว่าแกงส้มดอกแคแก้ไข้หัวลม  คือพอเปลี่ยนฤดูคนจะเป็นหวัดก็ต้องกินแกงส้มดอกแคเพราะดอกแคมีความขมนิดๆ  และมีเส้นใยสูง คนที่เป็นหวัดมักจะท้องผูก พอท้องผูกแล้วก็จะปวดศีรษะ  พอเกิดการระบายดีก็ทำให้หายหวัดได้ และรสชาติมีความเปรี้ยว  ปลาที่แกงนั้นเขาจะใช้ปลาช่อนหรือปลาเกล็ด เพราะปลาช่อน คือปลาที่กินหญ้าถือเป็นปลาที่สะอาด  จะไม่กินปลาหนังตอนนี้มีของที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต  สมมติว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานต้องใช้ชีวิตเร่งด่วนมีวิธีการแนะนำไหมว่าควรจะเลือกกินอาหารแบบไหนดีเขาต้องดูว่าอาหารที่เขาซื้อมาขาดอะไร  ส่วนใหญ่จะขาดผักและผลไม้  สมมติเราซื้ออาหารกล่องนี้มาแล้วไม่มีผักเพราะส่วนใหญ่ใส่ผักนิดๆ  หน่อยๆ  เราก็ต้องกินผลไม้แทนกินขนมหวาน  กินผลไม้ตามฤดูกาลแทนไปหรือว่าอาหารปลายเดือนพวกอาหารเส้นมาม่าพวกนี้มันไม่มีเนื้อสัตว์  ไม่มีผัก  เราก็ใส่ไข่เข้าไปสัก  1  ฟอง ผักก็เอาง่ายๆ  ซื้อผักที่ไม่เสียง่ายเก็บไว้  เช่น ถั่วฝักยาว  ผักกาดหอมก็เอามาหั่นๆ  ใส่ลงไปก็กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวได้  เราก็จะได้สารอาหารครบถ้วน  คือต้องดูว่าสิ่งที่เราซื้อมานั้นมันขาดอะไร  ตอนนี้หน้าฝรั่งก็กินฝรั่งเข้าไปทดแทนผักได้ ให้เพิ่มสิ่งที่มันขาดเราก็จะได้อาหารที่ครบ  5  หมู่อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับของกินที่มักจะมีน้ำตาลมากไป  หรือเค็มเกินไปอันนี้ไม่ดีอยู่แล้วเพราะปกติอาหารไทยของเราจะใช้คำว่ารสกลมกล่อมคือรสทุกรสต้องเสมอกัน  ไม่ใช่โด่ขึ้นมา  คืออาหารต้องมีรสชาติในสัดส่วนที่พอเหมาะคือไม่ทำให้สิ่งนั้นหายไป อย่างเช่นตำน้ำพริกต้องมีทั้งเค็มทั้งเผ็ดทั้งเปรี้ยวและหวานแต่เขาอยู่กันครบหมู่  อาหารถ้ากินเค็มเสมอก็รู้กันอยู่แล้วโรคที่เกิดจากความเค็มมันทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและเกิดโรคอีกหลายอย่าง  และหวานนั้นคนมักไม่เข้าใจ ความหวานเรียกได้ว่าเป็นอาหารพลังงานได้แต่ว่าเป็นพลังงานว่างเปล่า  ว่างเปล่าในที่นี้คือให้แต่พลังงานไม่ให้อย่างอื่นเลย  อย่างการกินผลไม้หวานมันก็ยังมีเส้นใย  มีวิตามินให้เราแต่อันนี้กินน้ำตาลมากๆ  เข้าก็เกิดปัญหาโรคเบาหวานขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว  แต่อาหารหวานคนจะชอบเพราะกินแล้วมันชื่นใจ  พอกินเข้าไปปุ๊บมันไม่ได้มีกระบวนการที่มาเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลกินแล้วจึงรู้สึกสดชื่นทันทีแต่เมื่อกินมากๆ  ดีกรีความหวานก็จะเพิ่มขึ้นๆ  ทำให้เกิดโรค  โรคแรกก็โรคอ้วนมาก่อน  พออ้วนก็เป็นโรคไตแล้วก็เป็นเบาหวาน  เป็นเบาหวานนี้จะทำให้เกิดโรคอื่นๆ  ตามมาเพราะฉะนั้นความหวานนั้นเราต้องสอนเด็กๆ  ให้ลูกกินตามเราไม่ใช่เรากินตามลูก  หมายความว่าลูกต้องกินผลไม้  ให้กินขนมสักอาทิตย์ละครั้งประมาณนี้  แต่เราก็ต้องไม่ปิดกั้นมากไปไม่อย่างนั้นเด็กจะหาทางออก  คือถ้าเด็กเกิดความเคยชินในการกินผลไม้ที่มีรสหวานธรรมชาติพอไปกินขนมหวานพวกเขาจะไม่ชอบเอง  แต่เราต้องทำให้เขาเห็นในครอบครัวไม่ใช่อยากให้ลูกกินผักแต่พ่อแม่ไม่กินอย่างนี้ไม่ได้ๆอยากให้ช่วยแนะนำการใช้ชีวิตเช่นพอเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน  วัยผู้สูงอายุแล้วให้กินอยู่อย่างไรให้มีความสุขผู้สูงอายุนั้นบางคนเข้าใจผิดว่าไม่ให้กินไข่  จริงๆ  แล้วไข่เป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุอย่างน้อยวันละฟองสบายๆ  การทำอาหารผู้สูงอายุนั้นเราสามารถทำเองได้  คือเรากินเหมือนเดิมแต่ต้องเลือกอาหาร  ต้องดูว่าผักถ้าสดมากไปทำให้ท้องอืด มันย่อยยากเพราะระบบทางเดินของผู้สูงอายุจะไม่สมบูรณ์แล้วและต้องไม่กินซ้ำซาก  อย่างซื้อปลาตัวใหญ่มาย่างให้กินแล้วกินไม่หมดจะให้เอามากินอีกวันก็ต้องมีศิลปะบ้าง  ซอยหัวหอมใส่นิดหนึ่ง  มีน้ำปลา  น้ำมะนาว  มะม่วงสับใส่เข้าไป หรือเอาไปต้มเพื่อเอามาทำน้ำพริกปลา  เพราะฉะนั้นในการทำอาหารหรือการมีกิจกรรมมันทำให้เราได้เคลื่อนไหวและใช้สมองจะช่วยให้เราไม่หลงลืมง่าย  ไม่ต้องมานั่งเล่นไพ่  (หัวเราะ)  คืออาหารผู้สูงอายุให้ทำอาหารง่ายๆ  ไม่ต้องผัดต้องทอด  ไม่จำเป็นต้องทำหม้อใหญ่เพราะกินซ้ำซากแล้วมันเบื่อ  หน้านี้มีหน่อไม้ก็ต้มหน่อไม้กินสองสามวันมันก็น่าเบื่อเราจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบ  เป็นแกง  ต้มเปรอะ  ตำน้ำพริกใส่ปลากรอบลงไป  ซึ่งมันทำให้เราได้คิดว่าจะใส่อะไรดี  ได้บริหารมือและบริหารสมองด้วยอาจจะคิดช้าหน่อยแต่ก็ยังไม่ถึงกับลืมยายที่บ้านก็ทำกับข้าวเองแสดงว่าการที่ทำกับข้าวทุกวันช่วยระบบของสมองด้วยใช่ช่วยระบบความจำและที่สำคัญมันทำให้เกิดความภาคภูมิใจด้วยว่ายังมีประโยชน์อยู่  คนสูงอายุนั้นมีอย่างเดียวคือให้ลูกหลานเห็นความสำคัญไม่ใช่เป็นตัวภาระของลูกหลานอันนี้เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนคิด  ชอบเกรงใจลูกหลานจะไปหาหมอก็เกรงใจต้องให้ท่านทำงานที่ทำไหวและเราก็ช่วยดูความปลอดภัยให้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 172 คุยปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนกับ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

ฉลาดซื้อวันนี้จะพาท่านมาพบกับนักสู้มือเปล่า  จากชีวิตแม่บ้านคนหนึ่ง  ที่ลุกมาสู้เพื่อลูก   จนวันนี้สิ่งที่เธอสู้เรียกได้ว่า เพื่อทุกคน “ ปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา”จุดเริ่มต้นที่พี่มาทำประเด็นเกี่ยวกับ รพ. เอกชน มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องอะไรคะ พี่ทำหน้าที่ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มานาน 13 ปี รับเรื่องร้องเรียนจากคนไข้ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากรพ.รัฐบาลและรพ.เอกชน  แต่คนไข้รพ.เอกชนมักพ่วงเรื่องค่ารักษาแพงเกินจริงมาด้วย  ยกตัวอย่าง คนไข้ชายเจ็บหน้าอกเข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอหัวใจ 24 ชม. เข้าไปตั้งแต่สองทุ่มจนถึงเช้าก็ไม่มีหมอหัวใจมาดู  เมื่อคนไข้ตายญาติฟ้องคดีต่อศาล หมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความเป็นพยาน พบว่าในบิลค่ารักษามีการเก็บค่าอะดรีนาลีน 148 หลอด หลอดละ 200 บาท เป็นเงิน 29,600 บาท  แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้จริงประมาน 30 หลอด (ต้นทุนขณะนั้นหลอดละไม่ถึง 10 บาท) เมื่อญาติไปร้องเรียนแพทยสภา  กลับไปพบเจ้าของรพ.เอกชนแห่งนั้นซึ่งเป็น กรรมการแพทยสภา นั่งเป็นประธานสอบสวนกรณี รพ.ของตนเอง  จึงเกิดคำถามในใจว่า  ถ้าไม่เป็นคดีความจะรู้ไหมว่ามีการโกงค่ายา  และในประเทศไทยมีเพียงกรณีเดียวนี้หรือไม่  นี่ยังไม่นับรวมมีการเก็บค่ามอร์ฟีน และค่าฟอร์มาลีนฉีดศพขณะที่คนไข้ยังไม่ตายอีกด้วยประเทศไทยกลไกที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว  บิลค่ารักษาใบเดียวต้องให้คนไข้และญาติวิ่งไปหลายหน่วยงาน  เช่น ค่าตรวจรักษาที่สงสัยว่าสูงเกินจริงต้องไปร้องแพทยสภา, ค่ายา-ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องไปร้องกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, ไป สคบ., อย. หรือสำนักสถานพยาบาลฯ กระทรวงสาธารณสุข  เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางที่เป็น one stop service จึงทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ  ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยาก เท่ากับเอื้อให้มีการโกง การคิดค่ายาและค่ารักษาเกินจริงได้อย่างเสรีต่อมาปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย สปสช. จะเป็น clearing house จ่ายให้ทั้งหมด(ฟรีภายใน 72 ชม.) แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ  มีการเรียกเก็บค่ามัดจำและให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  ตลอดจนเซ็นรับสภาพหนี้หลักแสนถึงหลักล้าน  แม้ทาง สปสช.จะจ่ายแทนคนไข้ในอัตราที่คิดว่ารพ.เอกชนมีกำไรแล้ว  แต่รพ.เอกชนก็ปฏิเสธที่จะรับในอัตราที่ สปสช.จ่ายและยืนยันจะเก็บในราคาเต็ม ตัวอย่างที่พี่คิดว่าควรจะเป็นกรณีศึกษาได้เลย ความเดือดร้อนของประชาชนมีอย่างต่อเนื่อง  เช่น -กรณีคนไข้สิทธิฉุกเฉินถูกรพ.เอกชนฟ้องเรียกค่ารักษา พี่ไปศาลด้วยก็ไปพบคนไข้รายอื่น นำโฉนดที่ดินไปมอบให้ทนายของรพ.เอกชนแห่งนั้นเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายได้  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประการ  -กรณีที่รพ.เอกชนให้สามีคนไข้สำรองจ่ายไปก่อน  พี่พาไปฟ้องเรียกค่ารักษาคืนที่ศาลปกครอง  ผ่านมา 2-3 ปีคดีความก็ยังไม่จบ  สร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวคนไข้อย่างแสนสาหัส  กรณีนี้สามีคนไข้เป็นครูเงินแสนยังไม่เคยมี  แต่ต้องวิ่งหยิบยืมเงินครึ่งล้านมาจ่ายให้รพ.เอกชนแห่งนั้นภายในครึ่งวัน  ไม่เช่นนั้นก็ย้ายภรรยาออกไปรพ.ตามสิทธิไม่ได้  หรือบางรายถ้าไม่จ่ายก็นำศพออกไปบำเพ็ญกุศลไม่ได้-กรณีรพ.เอกชน ให้ลูกชายคนไข้ ที่มีเงินเดือนเพียง 7 พันบาท เซ็นรับสภาพหนี้จำนวนเกือบ 8 แสนบาท  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขสิทธิฉุกเฉินทุกประการ พี่เรียกนโยบายนี้ว่า “นโยบายลวงโลก”  แม้รัฐบาลจะยุบสภาไปแล้ว  แต่ก็ทิ้งกองไฟที่ก่อเอาไว้ล่อให้แมงเม่าบินเข้าไปตาย  พี่เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเชื่อว่ามีคนเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกวัน  และทุกๆ วันจะต้องมีคนสิ้นเนื้อประดาตัวจากการหลงเข้าไปรพ.เอกชน  แต่ก็ไร้ผล  จึงคิดว่าเมื่อหยุดนโยบายนี้ไม่ได้  ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ และกำหนดกติกาที่เป็นธรรม   อีกประการคือพี่สังเกตมานานว่า ในโลกโซเชียลออนไลน์ เมื่อใดที่มีคนโพสต์เรื่องค่ารักษาแพง จะเป็นประเด็นร้อนที่สังคมมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก  พี่คิดว่าการบ่นไม่ได้ทำให้ความเป็นธรรมเกิด  จึงตัดสินใจทำแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ให้ผู้คนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ “ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน”   นั่นคือจุดเริ่มต้น หลังจากเคลื่อนไหวมีกระแสตอบรับอย่างไร ( ตอนนี้ทราบว่าก้าวแรกของเครือข่ายสำเร็จ ภาคประชาชนได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาค่ารักษารพ.เอกชนแพงแล้ว) เพียง 2 สัปดาห์ มีประชาชนร่วมลงชื่อมากถึง 3.3 หมื่นชื่อ  สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามีอยู่จริง  และกลไกปกติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงก่อให้เกิดปัญหาสะสม เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและเป็นเรื่องใหญ่ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีออกมาขานรับทุกข์ของประชาชน  ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่าค่ารักษารพ.เอกชนแพงจริงและสั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต่างกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  ทำให้ประชาชนอุ่นใจและมีความหวังอย่างยิ่ง ว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใต้รัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน   แต่ในระยะแรกภาคประชาชนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม  ซึ่งเราเห็นว่าปัญหานี้ถูกสะท้อนโดยประชาชน  การแก้ไขปัญหาควรจะให้เราเข้าร่วมวงด้วย  จึงมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ล่าสุดพวกเราได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมแล้ว  แต่อยู่ระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการข้อเสนอหลักๆ ของทางเครือข่ายที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง 1. เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมงห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำหรือให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษา  เมื่อพ้น 72 ชั่วโมงให้ส่งตัวไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้ญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้ กรณีที่รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม จำเป็นต้องอยู่รพ.เอกชนต่อ ให้หน่วยงานตามสิทธิรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  2. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติ ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากหน่วยงานเดิม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจรพ.เอกชน  ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำหนดนโยบาย ตั้งกติกา ที่จะให้ค่ายา ค่ารักษา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และต้องมีอำนาจที่จะลงโทษผู้ทำผิดได้3. ให้ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ที่แม้จะมีคนดีอยู่บ้างแต่กลุ่มที่มีอำนาจมากคือเจ้าของและผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรพ.เอกชน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรมของประชาชน แล้วตั้งคนกลางจริง ๆ เข้าไปทำหน้าที่แทน รวมทั้งต้องแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อคานอำนาจในสัดส่วน 50 : 50 และให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ป้องกันการมีอิทธิพลครอบงำหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับนโยบาย  และให้ยกระดับมาตรฐานรพ.รัฐบาลให้เทียบเคียงรพ.เอกชน ที่สำคัญต้องปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน  ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้เรื่องนโยบายเมดิคัล ฮับ ของรัฐบาล พี่มีความคิดเห็นอย่างไร , และนโยบายนี้ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จำได้เมื่อปี 45 รัฐบาลจัดงาน “เมดิคอลฮับ” ที่เมืองทองธานี พี่ไปให้ความเห็นว่าปัดกวาดบ้านเราให้สะอาดก่อนไหมแล้วค่อยเริ่มนโยบายนี้  แต่ไม่มีใครฟัง  วันนี้นโยบายนี้ส่งผลกระทบชัดเจนต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว  นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐถูกดูดไปฟรี ๆ แบบชุบมือเปิบโดยไม่ได้ลงทุนผลิตเอง  เอาไปรักษาชาวต่างชาติ โกยกำไรเข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียวปีละนับแสนล้าน  ทำให้บุคลากรภาครัฐขาดแคลน  คนไข้รอคิวนาน  ส่งผลถึงมาตรฐานการตรวจรักษา  อีกทั้งเมื่อค่ารักษาในรพ.เอกชนแพง  ทำให้ภาครัฐต้องปรับขึ้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตาม ส่งผลกระทบต่องบประมาณของกองทุนต่างๆ ซึ่งในที่สุดผลร้ายก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยโดยรวม”รัฐบาล” ควรพิจารณาทบทวนนโยบายระดับชาติ ที่มุ่งขับเคลื่อนให้มีการหารายได้จากต่างประเทศผ่านระบบรักษาพยาบาล เพราะการรักษาพยาบาลเป็นการประกอบวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม  ไม่ใช่สินค้าที่จะหากำไรอย่างไร้ขีดจำกัด  แม้จะเน้นให้มีการหารายได้ผ่านระบบของเอกชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งในเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้เวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ  ทั้งในเรื่องปริมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว ประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมกับเรื่องสิทธิการบริการสุขภาพอย่างไร พี่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเพิ่มรายวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคลงไปในการเรียนการสอน ให้ประชาชนรู้สิทธิของตนเองตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ว่าควรส่วนร่วมในการปกป้องสังคมอย่างไร  มากกว่ารอให้ความเลวร้ายนั้นมาเคาะประตูหน้าบ้านตนเอง แล้วไม่รู้จะจัดการปัญหานั้นอย่างไร แต่เฉพาะหน้าไม่ว่าเรื่องค่ารักษารพ.เอกชนแพงก็ดี  เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ก็ดี  อยากให้ประชาชนตระหนักว่านี่คือสิทธิของเรา  เมื่อขณะนี้มีคนช่วยจุดประกายและนำเรื่องเข้าสู่ระดับนโยบายให้แล้ว  ประชาชนทั่วไปต้องหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร  และหากมีการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก็ต้องเสียสละแรงกายออกมาช่วยกันทำให้เป็นจริง   เพราะความเป็นธรรมใดๆ ก็ตามไม่ได้มาด้วยการบ่นเพียงอย่างเดียว  ต้องช่วยกันออกแรงด้วยค่ะพี่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน เวลาเกิดความท้อแท้ ให้กำลังใจตัวเองอย่างไร อยากให้พี่ช่วยให้กำลังใจแก่คนเล็กคนน้อยที่สู้เพื่อตัวเองและครอบครัว ทำอย่างไรให้จิตใจเข็มแข็งการต่อสู้ในเรื่องยากๆ  เหมือนว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงฝั่ง  ความท้อแท้นั้นมีบ้างยามเหนื่อยล้า แต่หากเรายืนหยัดบนความถูกต้อง และคิดเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน นานวันเข้าจะมีแนวร่วมมากขึ้นๆ และเราจะไม่สู้อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป  วลีอมตะที่นักต่อสู้เพื่อสังคมควรท่องไว้ในใจเสมอคือ “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”  ต้องทั้งอึด อดทน และยืนหยัดประกอบกันค่ะจึงจะไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุดปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์  คุณแม่ลูก 2 ซึ่งประสบปัญหาจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดขณะทำคลอดลูกคนแรก น้องเซ้นต์ เป็นเหตุให้น้องต้องกลายเป็นคนพิการ ใช้ชีวิตอย่างลำบากจนถึงปัจจุบัน นับจากวันที่เริ่มต้นลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพียงลำพัง ความมุ่งมั่นของเธอสร้างกำลังใจต่อเนื่องให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกหลายคน และร่วมกันทำงานในนาม เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2545)  ด้วยจิตอาสาเสียสละเต็มรูปแบบ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นเครือข่ายภาคประชาชนโดยแท้ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด ลงขันช่วยเหลือกันเอง และมีกฎเหล็กห้ามรับเงินบริจาค ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้เสียหายด้วยกัน และห้ามเรียกเก็บค่าหัวคิวจากทนายความ แต่มีเงื่อนไขว่า ”เราช่วยคุณ คุณต้องช่วยสังคม” แค่นั้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 การแก้ไขปัญหาตู้รถโดยสาร กรณี ม.ธรรมศาสตร์ “ทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือต้องลงมือทำ”

จากการไปศึกษาดูงานเรื่อง ผู้ประกอบการรถโดยสารปลอดภัย ของโครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการฉลาดซื้อได้มีโอกาสร่วมดูงานและรับฟังเรื่องราวดีๆ ของความพยายามในการจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประกอบการรถตู้ที่มีจิตสำนึกดี พร้อมให้บริการด้วยความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ ฉลาดซื้อจึงขอนำเรื่องราวดีๆ มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้   ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา             สิ่งที่ผมจะพูดเป็นเชิงนโยบายว่า ทำได้จริงนั้นต้องทำอย่างไร และอะไรเป็นปัญหาที่ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้เป็นบทเรียนว่าการที่จะได้ประโยชน์ การที่ท่านจะนำไปทำในพื้นที่ของตัวเองจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้เห็นได้ว่ารถตู้นั้นเข้ามาแทนที่รถทัวร์ในเส้นทางใกล้ๆ การเดินทางในกรุงเทพฯ ก็เข้ามาแทนที่รถเมล์ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ฉะเชิงเทรา นครปฐม ก็เป็นรถตู้หมดแล้ว และตอนนี้มันไกลไปถึง จ. ประจวบฯ ไกลไปเรื่อยๆ ถึงภาคอีสาน ภาคเหนือ มีไปทั่วประเทศแล้วตอนนี้ มันสะดวกกว่าเพราะรถมีขนาดเล็ก การจอดก็ง่ายกว่า รถเต็มเร็วกว่า การลงทุนก็ง่ายกว่า เรียกว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ค่าโดยสารก็ไม่แพง แต่ปัญหามันคือรถตู้นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน เขามีเพื่อขนของมากกว่า ปัญหาอีกเรื่อง(ของผู้ประกอบการ) คือ เพื่อให้ประหยัด ให้ได้กำไรมากขึ้น ก็เติมที่นั่งเข้าไปเยอะๆ มี 13 ที่นั่งยังพอทำเนา บางคัน 15 ที่นั่ง หนักกว่านั้นมียืนด้วย ไม่รู้ทำกันไปได้อย่างไร รถโรงเรียนอนุบาลนี้เอาเก้าอี้ออกแล้วให้เด็กนั่งอัดกันเข้าไป 20 – 30 คน พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันสูง เพราะระบบของรถมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน และเพื่อให้ประหยัดน้ำมันก็มีการติดแก๊ส NGV เข้าไป ทำให้ศูนย์ถ่วงของรถมันเสียไป เวลาเกิดอุบัติเหตุจะควบคุมได้ยาก เพราะฉะนั้นรถตู้นั้นมีความสะดวกและแพร่หลายกันมาก แต่เวลามีอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันมาก   จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ ธรรมศาสตร์(รังสิต) แห่งนี้ จุดเปลี่ยนเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ปี 2553 ผมจำวันที่ได้เลยเพราะเจ้าหน้าที่ของ มธ. บุคลากรของ สวทช. และ นศ. ต้องเสียชีวิตไป 9 คนจากอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิด ซึ่งเรามาสรุปสาเหตุกันได้ว่า การชนแค่นั้นไม่น่าเสียชีวิตมาก แต่ด้วยรถตู้ไม่ได้ออกแบบมาว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วจะปลอดภัย ปกติรถยนต์เขาจะมีมาตรฐาน ต้องทดลองการชน แต่รถตู้ไม่มีการทดลองว่าถ้าชนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เอารถออกมาวิ่งกันเลย มีการเสริมเก้าอี้เข้าไป ทางกรมขนส่งฯ ก็อนุญาต และถึงรถตู้จะอันตรายแต่ก็ยากที่จะหารถอื่นมาแทน เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด วิธีการพื้นฐานคือ ต้องขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. ถ้าไม่เร็วเกินเวลาเกิดอุบัติเหตุความสูญเสียมันก็จะน้อย ประการที่ 2 เข็มขัดนิรภัยต้องมี ประการที่ 3 คือคนขับ นี่คือสิ่งที่ได้สรุปขึ้นมาจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับทางบริษัทเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมาตรการคือ ระบบ GPS ระบบเตือนเมื่อขับเร็วเกินและสามารถรู้ได้ว่าคันไหนขับเร็วเกินกำหนด เรื่องของคนขับนั้นก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ เพราะปกติเรานั่งในรถตู้ถ้าขับหวาดเสียว ขับเร็วเกินเราจะไม่กล้าบอกคนขับ คนไทยขี้เกรงใจ คิดได้อีกทีก็ตายเลยถ้ามัวเกรงใจอยู่ วิธีการคือมีเบอร์โทรศัพท์ติดในรถ นศ. สามารถโทรมาได้ทันทีว่าคันนี้ขับเร็วเกิน ในช่วงแรกๆ นั้นก็มีโทรมาเยอะ ปัจจุบันนั้นมีอยู่แต่น้อยลงไปมาก สำคัญที่สุดคือเราคิดว่าการมีมาตรการบังคับใช้แล้วต้องมีการติดตามผลด้วย ถ้ามีใครฝ่าฝืนกติกาต้องมีการแก้ไขได้ ส่วนเรื่องเข็มขัดนิรภัยนั้นเป็นเรื่องยากที่สุด การติดเข็มขัดนิรภัยนั้นไม่ยากแต่การบังคับให้ นศ. คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นเรื่องยาก ปัจจุบันจุดอ่อนก็เรื่องนี้ เรามีให้แต่ผู้โดยสารไม่ชอบคาดเข็มขัดนิรภัย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญว่าควรจะทำอย่างไร   ก้าวต่อไป             ตอนนี้ที่ตรงนี้(บริเวณหน้าตึกสำนักงานอธิการบดี) เป็นสถานีที่กึ่งๆ ชั่วคราว เพราะเรามีสถานที่ใหม่และจะย้ายสถานีภายใน 1 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมี 3 จุดใน มธ. ก็จะย้ายไปอยู่รวมกันเพื่อให้กลายเป็นสถานีเหมือนสถานีขนส่งของ มธ. เชื่อมต่อระหว่าง มธ. กับภายนอก และมาต่อรถในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแก๊ส NGV เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อระบบ ยืม – คืน จักรยานเช่าเพื่อลดการใช้รถยนต์ด้วย ตอนนี้กำลังเป็นโครงการอยู่ ส่วนระบบรถตู้นั้นนโยบายของบริษัทเองก็เห็นด้วย รถตู้ไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก แผนของเราคือประมาณ 2 ปีจากนี้เราอยากเปลี่ยนรถตู้ให้เป็นรถมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะมันคือรถโดยสารสร้างมาสำหรับโดยสาร และคิดไกลไปกว่านั้นคือถ้าทำทั้งทีอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย รถโดยสารของเราอยากให้เป็นรถไฟฟ้าเลย ไม่ต้องใช้ NGV แล้ว ให้เป็นไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ สถานีโซล่าเซลล์ชาร์ทพลังงานแสงอาทิตย์ อันนี้ได้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทุกสิ่งทุกอย่างหมดเลย อันนี้เป็นแผนแนวความคิดที่จะยังไม่ได้เกิดขึ้นใน 1- 2 ปีนี้ เพราะมันต้องลงทุน รถทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้มี ม. มหิดล ศาลายาเริ่มทำแล้วที่เปลี่ยนรถเป็นมินิบัส เราก็กำลังจะทำ ตอนนี้ก็นัดเข้าไปคุยกับทางกรมขนส่งฯ เพื่อจะให้ทำแล้วเป็นต้นแบบ ในระยะยาวนั้นประเทศไทยต้องเปลี่ยน รถตู้ต้องถือเป็นรถชั่วคราว ระยะยาวต้องเป็นมินิบัสแต่ตอนนี้ยังเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องทำอย่างไรให้รถตู้ปลอดภัยที่สุด 1. ขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. 2. คาดเข็มขัดนิรภัย 3. ถ้าคนขับขับเร็วต้องมีระบบการแจ้ง การเตือน อันนี้คือระบบของ มธ.   การนำรูปแบบนี้ไปทดลองทำในพื้นที่อื่น ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากบอก คือทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือการลงมือทำ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น ของที่ขายเอาเปรียบผู้บริโภคจะขายไม่ได้เลยถ้าเราไม่ซื้อ แต่น่าเสียดายที่ผู้บริโภคไม่ตะหนักในอำนาจของเรา เรามัวรอรัฐบาลก็เลยเป็นแบบนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากที่ท่านได้มาทำเรื่องนี้ หัวใจของ มธ. ก็คือการลงมือทำเลยและผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านสามารถทำได้เช่นกัน เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ก่อน ในจังหวัดของท่านดูว่าเริ่มต้นอย่างไร เริ่มจากมหาวิทยาลัยก็ดี คณะกรรมการขนส่งฯ จังหวัดก็ดี เริ่มต้นทดลองดูว่ารถตู้ในพื้นที่ทำอย่างไร เอาแค่ 3 เรื่องนี้พอ เข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว และเบอร์โทร อันหลังนี้ง่ายสุดเลย เรื่องเข็มขัดนิรภัยก็มีกฎหมายบังคับใช้แล้วแต่จะทำอย่างไรให้คาด  การจำกัดความเร็วนั้นต้องมีอุปกรณ์ก็จะยากหน่อย   ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการรถตู้ คุณสรวีย์  พลตาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ดับบลิว พี ออโต้เซอร์วิส จำกัด             ความเป็นมาของรถตู้ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เกิดจากการที่ นักศึกษาต้องใช้บริการจำนวนมากในการเดินทางเข้ามาศึกษาใน มธ. เริ่มแรกเลยทาง มธ. ให้บริการรถบัสแต่เนื่องจากการเดินทางของ นศ. แต่ละท่านใช้เวลาไม่เหมือนกัน รถบัสแต่ละคันต้องมีผู้โดยสารจำนวนอย่างน้อย 30 คนขึ้นไปรถจึงจะออก ทาง มธ. จึงคิดว่าถ้ามี นศ. มาแล้ว 20 คนก็ต้องมารอคนอีกเพื่อให้รถเต็ม จึงมีรถตู้เข้ามาเพื่อให้บริการ โดยสายแรกคือเส้นทาง มธ. รังสิต – มธ. ท่าพระจันทร์ เส้นทางที่ 2 คือ มธ. รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ โดยเกิดเส้นทางนี้เพราะว่าการเดินทางด้วยรถเมล์นั้นไม่ค่อยสะดวก และอีกเส้นทางหนึ่งคือ มธ. รังสิต – ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต เนื่องจากไม่มีรถเข้าเมือง น.ศ.ที่จะไปฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ก็ต้องใช้รถแท็กซี่ซึ่งไม่ค่อยปลอดภัย จึงมีเส้นทางนี้ขึ้นมาเป็นเส้นทางที่ 3             เมื่อเราได้เข้าไปให้บริการใน มธ. รังสิต เส้นทางของเราไม่เหมือนรถตู้ข้างนอก จะสังเกตได้เลยว่า 1. มีสติ๊กเกอร์ติดชัดเจนถึงเส้นทางที่จะวิ่ง 2. คนขับรถทุกคนแต่งกายสุภาพ ใส่ชุดซาฟารี ใส่รองเท้าหุ้มส้น และรถทุกคันของบริษัทจะต้องมีป้ายชื่อเพื่อบอกว่าขณะนี้ท่านนั่งอยู่บนรถสายอะไร เบอร์อะไร ขับโดยใคร ทะเบียนรถอะไร ตรงนี้ทำเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการ เผื่อมีคนทำของหายจะได้แจ้งได้เลยว่าลืมไว้บนรถเบอร์อะไร เราเช็คของให้ท่านได้ทันที  ไม่ว่าจะเป็นไอแพด โน้ตบุ๊ค ถ้าอยู่บนรถได้คืน 100 % เพราะของ นศ. มีหายกันทุกวัน             “ของหายมีแค่ 2 กรณีเท่านั้น คือ หายบนรถเจอแน่นอน เพราะพนักงานขับรถทุกคนได้รับการอบรมจากบริษัทและจากทางมหาวิทยาลัย อีกกรณีคือ ทำของหล่นไว้แล้วผู้โดยสารท่านอื่นหยิบไป กรณีนี้ไม่ได้คืนแน่นอน เว้นจากเจอคนจิตใจดีซึ่งก็หายากในสังคมตอนนี้ ซึ่งถ้าใครทำดีเราก็ขึ้นป้ายให้เลย คนดีศรี SWP เคยเจอทองคำหนัก 1 บาทด้วย ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ยังหาเจ้าของไม่ได้ จนต้องไปประสานอาจารย์ให้ช่วยตามหาก็เจอเจ้าของ” บางคนอาจสงสัยพนักงานเป็นคนดีทุกคนเลยหรือ ในจำนวนคนขับรถเกือบร้อยคนนั้น เราจะหาคนคุณภาพทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ขนาดนิ้วมือเรายังไม่เท่ากันเลย แต่เรามีวิธีของเรา มีขั้นตอนที่จะทำให้คนเกือบร้อยนั้นอยู่ในกฎกติกาให้ได้ กฎก็เหมือนระเบียบราชการเลย 1) ว่ากล่าวตักเตือนก่อน 2) ออกหนังสือเตือน บางคนคิดว่าเขาจะยอมหรือ คือต้องยอมเพราะนี่คือกฎบริษัทและของมหาวิทยาลัย แล้วคุณต้องให้บริการบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเราต้องมีกฎของเราเหมือนกัน สำหรับเรื่องร้องเรียน เพราะ น.ศ.จำนวนมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเรื่องร้องเรียน ส่วนใหญ่คือพูดจาไม่สุภาพ วิธีแก้คือเรียกมาอบรมว่าพูดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องพูด พูดให้น้อยที่สุด เพราะลักษณะการพูดของแต่ละคนแตกต่างกัน ในรถตู้ของเรามีป้ายแล้ว และรถทุกคันของบริษัทได้ติดระบบ GPS ทุกคัน มีระบบควบคุม GPS สามารถบอกได้เลยว่ารถคันนี้อยู่ตรงจุดไหน ใช้ความเร็วที่เท่าไร เปิดประตูหรือเปล่า ล็อคหรือยัง ซึ่งการลงทุนตรงนี้เราต้องทำเพื่อรองรับบุคลากร นศ. ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ซึ่งในห้องผู้โดยสารจะมีกล่องอยู่เพื่อทำหน้าที่เวลาความเร็วเกิน 100 กม. / ชม. จะมีเสียงออดดังขึ้น คนขับก็จะต้องชะลอความเร็วลงมาแล้ว ตรงนี้เพื่อกระตุ้นคนขับรถ และลดความเสี่ยงบนท้องถนน การขับช้าย่อมปลอดภัยกว่า ซึ่งการเกิดระบบทั้งหมดนี้มาจากคดีแพรวา คดีแพรวาเป็นโค้ดเรียกของที่นี่ ทุกคนคงจำได้ เมื่อก่อนนี้รถตู้ทั่วไปไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมหาวิทยาลัย ไม่มีเข็มขัดนิรภัยเลย พอเกิดคดีแพรวาขึ้นทางบริษัทร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก ทาง มธ. ก็ปรึกษากันว่าให้ติดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งจะเป็นไปได้ไหม ซึ่งทางบริษัทคิดว่าการลงทุนตรงนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเราก็ยอม พอติดเข็มขัดแล้วทาง มธ. ก็เรียกไปหารือว่าแค่นี้ยังไม่พอเพราะว่าคนขับยังขับเร็วอยู่ อยากให้ติด GPS ด้วย ซึ่งมันต้องติดโปรแกรมควบคุมระบบด้วย ตอนนั้นรับเรื่องมาเพื่อเช็คราคาอยู่ที่ 13,500 บาท แล้วรถมีตั้งเกือบร้อยคัน บริษัทลงทุนไม่ไหว จึงเรียกคนขับทุกคนมาคุยว่าจะทำอะไรคืนให้สังคมได้บ้าง ก็ตกลงกันได้ว่าคนละครึ่งทาง บริษัทออกคนละครึ่งกับพนักงาน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ตอนนั้นบริษัทก็ต้องกู้เงินมาลงทุน “แต่เราก็ทำตรงนี้เพื่อจะได้เป็นบริษัทต้นแบบ และสามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ ทางบริษัทก็ยินดี” ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดของทางมหาวิทยาลัย แต่ทางบริษัทรับมาทำ ติดเข็มขัดนิรภัยทุกคันทุกที่นั่ง พูดได้เลยว่าเป็นเจ้าแรกที่มีการติดระบบ GPS ควบคุมความเร็ว มีกล่องออดดังเมื่อความเร็วเกิน รถทุกคันมีห้องควบคุมโดยระบบ GPS ทั้งหมด ทุกสิ่งนี้คือสิ่งที่บริษัททำเพื่อ สังคมทั้งหมด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ลุงบัวพันธ์ บุญอาจ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู

คุณลุงบัวพันธ์ บุญอาจ  ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู หรือพ่อบัวพันธ์ที่ชาวบ้านเรียก  ที่แม้ปีนี้อายุจะย่างเข้าสู่ปี  70   แต่แกก็เดินก้าวฉับๆ นำพวกเราชมสวนที่มีพื้นที่กว้างกว่า  60 ไร่  ดวงตาฉายแววถึงความภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกเล่าถึงความเป็นมาของที่ดิน จากจุดเริ่มต้น จนมาถึงวันนี้ กว่า 40 ปีแล้ว ที่พ่อนำความรู้ด้านการเกษตรระดับมหาวิทยาลัย(ทั้งที่พ่อจบแค่ ม.3) ถ่ายทอดออกมาให้ฟังง่ายแบบชาวบ้านๆ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน “อันดับแรกแนะนำก่อนที่นี่ชาวบ้านเรียกศูนย์อบรม เพราะเป็นที่ให้ความรู้กับคนทั่วไป สิ่งที่เราทำเรายึดหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ควบคู่กับหลักทฤษฎีใหม่ เพราะฉะนั้นมันจะเกี่ยวข้องแบบคละๆ กัน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงตัวแรกคือ ชี้วัดการกิน สอง ชี้วัดการใช้สอย  สาม ชี้วัดการอยู่ สุดท้ายชี้วัดการร่วมมือ เราเอาตัวชี้วัด 4 ตัวนี้มาทำ การทำคือทำตั้งแต่เรื่องของป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องของคน ทำควบคู่กันไป ต้นไม้ที่เราปลูกเราไม่ได้เน้นว่าดี ไม่ดี แต่เน้นว่าปลูกแล้วนำมาทำอาหารได้ไหม กินได้ไหม กินเป็นอาหารไม่ได้ก็กินเป็นยาได้ไหม ภูมิทัศน์ในนี้จึงเต็มไปด้วยของกิน ของที่ทำเป็นยาได้เป็นอันดับแรก และที่นี่ก็มีบ้านพักคนมีไฟ ชั้นล่างจะเป็นฐานเรียนรู้ เรียกว่า “ ฐานคนมีไฟ ” คนมีไฟ คือการเรียนรู้เรื่องของพลังงานทดแทน เรื่องสบู่ดำ มะเยากู้ชาติ (คนอีสานเรียกสบู่ดำว่า มะเยา คนเหนือ เรียก ละหุ่งฮั้ว โคราชเรียก สีหลอด คนใต้เรียกหงเทศ) ขี้วัว ขี้ไก่ เศษใบไม้แทนที่จะเผาทิ้ง เราก็มาผสมกันหมักทำปุ๋ยอินทรีย์แล้วก็นำไปใช้ได้ดีเลย แต่ที่นี่ไม่ได้เอาหลักวิชาการมาใช้เท่าไร เพราะถ้าใช้หลักการให้ทำตามอย่างนั้น อย่างนี้ ชาวบ้านจะไม่เข้าใจ ต้องแปลง่ายๆ ถ้าเราพูดถึงจุลินทรีย์ที่เราเอาเชื้อมาใช้ในการหมัก บอกว่าต้องเอา พด.2, พด. 1 (เป็นชื่อสูตรเร่งเชื้อจุลินทรีย์ของกรัมพัฒนาที่ดิน) นะ เขาก็จะจำไม่ได้ แล้วการเดินทางไปกรมพัฒนาที่ดินในตัวจังหวัดก็เสียเงินค่ารถอีก เราก็บอกจุลินทรีย์มีทั่วไปในอากาศ ในน้ำมีหมด แต่เราไม่ทราบว่ามันสายพันธุ์อะไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการหมักพวกนี้ก็ถ้าเราจะหมักพืชสด หมักอะไรในถังข้าวหลังบ้านมีเต็มหมด ที่หมักไว้ระยะเวลาปีกว่าทั้งหมดใช้ได้ดีแล้ว ก็แนะนำชาวบ้านว่า ถ้าคุณมีวัตถุดิบพร้อม เอาไปผสมกากน้ำตาล กากน้ำตาลเป็นของหวาน ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ พอคุณผสมพืชวัตถุดิบเข้าไปแล้วจะหมักพืชสมุนไพรรสไหน รสจืด รสหวาน รสเมา เบื่ออะไรก็แล้วแต่ เติมน้ำเข้าไปตามอัตราส่วนแล้วคนให้ดี แล้วคุณก็ท่องคาถาเป่าเพี้ยงเรียบร้อย จุลินทรีย์ลงไปแล้ว (หัวเราะ) ปิดฝาเรียบร้อย”   เคยอ่านหนังสือบอกว่าให้เอาดินใต้ต้นไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำมาทำหัวเชื้อ ยาก  ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ผมไม่เอา ชาวบ้านเขาไม่ทำหรอก ถามว่ารถเหยียบหมาตายอยู่ในถนน มันย่อยสลายอยู่แล้วเพราะมันมีจุลินทรีย์ในอากาศมันก็ย่อยของมันเอง แต่มันต้องเกิดความชื้น และความร้อน ร้อนชื้นบวกกันสิ่งมีชีวิตถึงจะเกิดแค่นั้นเอง เนื้อที่ตรงนี้  17 ไร่เป็นไผ่รวก ไผ่ตาล ไผ่ไร่ ปลูกปนกับไม้สัก จริงๆ ตอนแรกปลูกไม้สัก แต่การปลูกไม้สักเพื่อใช้เนื้อไม้นี้ใช้เวลาไม่น้อย ถ้าไม่ใช่คนมีเงินจริงๆ การบริหารจัดการป่าจะล้มไปเอง เพราะความอดทนไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องปลูกให้ผสมผสาน ก็มีเตาเผาถ่าน ไว้เก็บน้ำส้มควันไม้ แล้วก็มีแปลงผักอินทรีย์ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ มะเขือเทศมีหมด โดยใช้น้ำจากบ่อ พืชที่อยู่ในที่ดินทั้งหมดนี้ก็ไม่เคยเอาสารเคมีมาใช้เลย ที่ผมปลูกไผ่หลายสายพันธุ์นี้เพราะ ไผ่นั้นถ้าให้คน 100 คน แต่ละคนจะเอาคำตอบเดียวถึงคำถามที่ว่าไผ่มีประโยชน์อะไร หนึ่งร้อยคนนั้นจะได้คำตอบที่เยอะมาก แค่ใบไผ่นี้ก็เอาไปทำปุ๋ยได้แล้ว ดินใต้ร่มไผ่นี่ถ้าเป็นสิบปีขึ้นไปเขาเรียกว่าดินขุยไผ่ รากไผ่ที่แก่แล้วก็จะมีรากใหม่ออกมา มันทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นเรียกว่า ดินขุยไผ่นี่เป็นดินที่เยี่ยมเลย หน่อไผ่นี่ก็มีแต่คนจะให้ทำหน่อไม้ส้มให้ มีหลักอะไรไหมในเนื้อที่ 1 ไร่ ควรจัดสรรอย่างไร ถ้าใช้เป็นทฤษฎีแนวใหม่ ก็ต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ถ้าจะทำการเกษตร พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอันดับ 1 โดย 30 % ต้องเป็นแหล่งน้ำ ถ้าคนกรุงเทพฯ อยากเริ่มปลูกควรจะเริ่มอย่างไรบ้างโดยมีที่ดิน 1 แปลงเล็กๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บอกว่าให้แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำ 30 % ส่วนที่ 2 คือแหล่งอาหาร 30 % ส่วนที่ 3 ป่าไม้ 30 % ส่วนที่ 4 คือ 10% ที่อยู่อาศัยคอกสัตว์และพืชผักสวนครัว ถ้าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมันจะได้หมดเลย ดิน น้ำ ป่าครอบคลุมหมดเลย และถ้าได้ดิน น้ำ ป่า สุดท้ายก็จะได้ความสมดุลทางธรรมชาติ ความร่มรื่นก็จะเกิดขึ้น แถวนี้ก็จะมีผักหวานป่า ปลูกแซมกับไม้พยุง ไม้พยุงนี้กว่าจะใช้ได้ใช้เวลา 30 ปี แล้วลูกหลานจะกินอะไร เพราะฉะนั้นต้องปลูกพืชระยะสั้นไปด้วย อย่างผักหวานป่าเก็บกินได้ตลอด สำหรับบ้านที่แทบไม่มีที่เลยสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ใช้หลักนี้แหละ เพียงแค่บังคับเนื้อที่ให้เล็กลงไป ลองนึกถึงพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมีมาตั้งแต่ปี 2517 แต่มีคนทำกี่คนในจำนวน 60 กว่าล้านนี้ ถ้าย่นเข้ามาย่านนี้มีกี่หลังคาเรือน แล้วทำกันกี่คน เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้แตกต่าง พอพูดเรื่องพอเพียงคนไม่ค่อยชอบ ถ้าพูดเรื่องรวยคนจะตาโตขึ้นมาเลย แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่อยากรวย ก็รวย มันรวยโดยอัตโนมัติ นั่นคือ รวยที่ใจ อย่างผักหวานนี่ถ้าอยู่ใต้ต้นตะขบ มันงามมาก ต้นที่ห่างออกไปจะไม่งาม เพราะผักหวานกับต้นตะขบเป็นไม้ที่ให้การเกื้อกูลกันและกัน   เป็นระบบรากและระบบร่ม คือเป็นพืชตระกูลถั่วแล้วรากมันอุ้มน้ำ ผักหวานจะได้น้ำจากรากตะขบอีกทีหนึ่ง สังเกตผักหวานที่กำลังงาม ถ้าตัดต้นตะขบออกนี้ผักหวานแทบจะตายตามเลย เรื่องสมุนไพรชงดื่มต่างๆ น้ำมันมะพร้าวกลั่นเย็น เอาจากก้นครัว เอาจากอะไรต่างๆ มาทำเอง พอเราทำเอง กินของเราเอง เรารู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ของเราเอง แต่พอทำแล้วชาวบ้านก็จะถามว่าขายไหม ส่วนใหญ่ยังไม่ทันกลับบ้านก็ถามแล้วว่าขายไหม คือเอาสบาย นั่นคือจุดอ่อน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องซื้อขายเลย เราสอนเพื่อให้เอากลับไปทำเองใช้เอง สบู่นี่ก็มีถามขายก้อนละเท่าไร มีหมดทั้งสบู่มะขาม สบู่สูตรน้ำผึ้ง สูตรเปลือกมังคุด สูตรน้ำส้มควันไม้ สูตรถ่านที่ทำจากเตาเผาต่างๆ มีหมด คนที่เข้ามาอบรม 50 คน ต้องได้อะไรอย่างน้อย 2 % เราตั้งเป้าไว้แค่นี้ ไม่ต้องเยอะ บางคนกลับไปบ้านแล้วพาแฟนมาอีก มาบอกให้เราอธิบายให้เขาได้เข้าใจ เพราะพอกลับไปแล้วเขาก็ไม่เข้าใจกัน อธิบายกันไม่เข้าใจ แล้วคุยกันไม่ได้ มาให้พ่ออธิบายให้หน่อย แต่คนเป็นเมียมานี่ดีกว่าผัวนะ ถ้าผัวมากลับไปบอกเมียแล้วเมียไม่สนใจแรงทัดทานจะเยอะกว่า แต่ถ้าเมียมานี้กลับไปบอกผัวไม่สนใจ เมียยังบังคับให้ผัวมาได้นะ (หัวเราะ) มีระบบสั่งการได้อยู่ เรื่องการลดสารเคมีลุงให้คำแนะนำกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง บางคนปลูกโดยใช้สารเคมีไว้ขาย ส่วนที่กินเองปลูกไว้ต่างหาก ซึ่งมันไม่แฟร์ สิ่งที่เราจะช่วยได้คือ ทำอย่างไรจะให้ความรู้ชาวบ้าน ผมว่าปัญหานี้พอแก้ได้ ตอนนี้ก็เอามาร่วมเครือข่าย 2 – 3 รายอยู่ สิ่งแรกต้องสร้างศรัทธาให้เขา เพราะเขาไม่เชื่อว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีมันจะขายได้ไหม เลยให้เขามาดูของที่นี่ มาดูว่ามันขายได้ไหม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แถมต้นทุนยังถูกกว่าอีก เคยมีคนที่มาคุยว่ามีที่จำนวน 14 ไร่ มีการปลูกหมุนเวียนในที่ 14 ไร่นั้น รอบนี้ปลูก 4 ไร่ นอกนั้นปล่อยร้าง แล้วก็ปลูกทีละ 4  ไร่เวียนกัน อย่างนี้มันไม่ได้ นี่มันเวียนแปลงปลูก ถ้าไม่ปลูกพืชหมุนเวียนจะสู้กับโรคแมลงอะไรต่างๆ ไม่ได้ ถ้าซ้ำของเดิมเกิน 3 ครั้งนี่จบ มีนักเรียนมาดูงานบ่อยไหม มีบ้าง มากันเองก็มี ที่ครูบาอาจารย์พามาก็มี แต่ส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นประถม คนดูงานก็มีมาบ่อยๆ ตอนหลังนี้ก็มีนิสิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา 2 รุ่นแล้ว เพราะเขาไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน น.ศ.มีทั้งมาจากฟินแลนด์ จากอัฟริกา ถ้าของกรมป่าไม้พามาก็มีทางลาว พม่า เวียดนาม จีน พวกโซนเอเชียที่มา ที่ อบต. วังทองนี้นอกจากปลูกผักเพื่อรับประทานในท้องถิ่นแล้ว มีการปลูกเพื่อส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาวด้วยไหม มี แต่นั่นคือโครงการของผู้ว่าราชการกับนายอำเภอ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเน้นแต่ส่งออกหรอก อันนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ว่ากับนายอำเภอคิดไว้ เพราะแหล่งนี้เป็นแหล่งที่ปลูกผักอยู่แล้ว ก็จะพัฒนาให้ได้ GMP แล้วก็ส่งออกไปประเทศลาว ระบบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ของที่นี่มีรูปแบบอย่างไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ต้องดูว่าเกี่ยวกับอะไร เพราะที่นี่ไม่ได้เน้นการทำเป็นธุรกิจ เน้นการถ่ายทอด ผักที่ปลูกก็ไปคุยกับโรงพยาบาลว่า รพ.รักษาโรคคนไข้ ดูแลเรื่องสุขภาพ แต่ผักที่เอาไปทำให้คนไข้กินมันก็เป็นผักที่มีสารเคมี มันสวนทางกัน ก็เลยเอาอย่างนี้ไหม ผมทำให้ ก็มีกลุ่มช่วยทำเพื่อจะเป็นต้นแบบก่อน ซึ่งก็จะมีหลายอำเภอมาดูงานแล้ว ลูกสาวผมก็มีแผงผักอยู่ในตลาด เป็นผักอินทรีย์ วันไหนไม่มีก็ไม่ไป ทุกวันศุกร์ก็จะมีตลาดสีเขียวในตัวเมือง แต่ของเราไม่สามารถจะมีไปได้ทุกวัน หลักในการบริหารผลผลิต คือ 1) กินให้ได้ก่อน 2) เหลือกินให้เอาไปแจก เหลือแจกให้แลก คนนี้มีไอ้นั้น คนนั้นมีไอ้นี้เอามาแลกกันกิน แล้ว 3) เหลือค่อยพูดถึงเรื่องขาย แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะพูดว่าจะเอาไปขายที่ไหน ถ้าเอาเรื่องขายเป็นตัวตั้งนั้นยาก อีกอย่างปัญหาชาวบ้านคือไม่มีเงินลงทุน ตลาดกับเงินลงทุนนี้เป็นปัญหา ถ้าผ่านสองอย่างนี้ได้ชาวบ้านเขาก็ทำ เอาเงินมาให้เขา พอเงินทุนหมดเขาก็หยุดทำ ถ้าทำเพราะเงินนั้นมันไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่ถ้าทำด้วยศรัทธาที่มาจากใจนั้นยั่งยืน ทุกวันนี้ก็เอาผักไปให้โรงครัวทำให้คนไข้ในโรงพยาบาล( รพ.นากลาง )กินทุกวัน เรามีสมาชิกในกลุ่ม 20 กว่าคนช่วยกันทำทุกวัน ก็จะเอามารวมกัน ใครมีอะไรก็เอามา แต่การไปส่งนั้นเวียนกันไป ราคาก็มีการตกลงเป็นกลางไว้เลย  ไม่มีขึ้นมีลง ถ้าช่วงผักราคา(ตลาด)ขึ้นก็ถือว่าเกษตรกรเสียหายนิดหน่อย แต่ถ้าผักราคา(ตลาด)ลงโรงพยาบาลก็อาจขาดทุน แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม มองในด้านธุรกิจไม่คุ้ม แต่เราทำเพื่อคนป่วย เราส่งวันต่อวันทุกวัน ทำให้คนป่วยได้มีอาหารที่ดีกิน   นายบัวพันธ์ บุญอาจ อายุ 70 ปี  ตำบลด่านช้าง  อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ลุงบัวพันธ์ ได้เริ่มทำการเกษตรบนที่ดิน 62  ไร่ มากว่า 40 ปี โดยในตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาสนับสนุนเรื่องเกษตรผสมผสานหรือเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง แต่ลุงก็สนใจและทดลองทำตามแบบที่ตนเองคิดว่า น่าจะดี ด้วยความใฝ่รู้และสนใจศึกษาทดลองอย่างจริงจัง ทำให้ในที่สุดลุงได้เปลี่ยนพื้นที่แปลงนากว่า 60 ไร่ มาปลูกป่า  ปลูกผัก  ปลูกไม้ผล ทำบ่อเลี้ยงปลา  ฯลฯ ซึ่งในระยะเริ่มต้น การลองผิดลองถูกเช่นนี้เป็นเหตุให้ชาวบ้านทั่วไปมองว่า ลุงเป็นคนบ้า แต่ในที่สุดเมื่อสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป ได้ก่อดอกผลอันน่าชื่นใจ ทุกคนก็ตระหนักและเริ่มเข้าใจหลักการเกษตรผสมผสานของลุง และในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการคัดเลือกแต่งตั้งให้ลุงได้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนี้ลุงบัวพันธ์ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเกษตร จากอีกหลายสถาบันการศึกษา  ในทุกๆ ปี ทางกระทรวงฯ ยังจัดสรรงบประมาณให้มีการนำเกษตรกร นักเรียน นักศึกษาจากหลากหลายพื้นที่ มาอบรม ศึกษาดูงานในแปลงเกษตรของลุง  ปัจจุบันลุงมีทีมงานที่คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาทั้งหมด 9 คน   ซึ่งภายในพื้นที่ 62 ไร่แห่งนี้ มีทั้งไม้ยืนต้นอย่างต้นสัก พยุง ไม้ผล อย่าง ชมพู่  มะขาม มะปราง  มะพร้าว มะม่วง ตะขบ ตลอดจนพืชผักระยะสั้น เช่น ผักสลัด คะน้า  มะเขือเทศ  ฟักทอง และผักหวานป่าที่ปลูกแซมกับต้นสักและต้นตะขบ  ก่อให้เกิดรายได้ทั้งปี ทั้งยังเป็นแปลงเกษตรที่ปราศจากสารเคมีการเกษตรอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 ภก.พันธุ์เทพ เพชรผึ้ง คนแปลกแห่งลุ่มน้ำน่าน

ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข(อีกแล้ว) แต่ทีมงานมั่นใจว่า อ่านไปทุกๆ ท่านจะชอบในแนวคิดแบบขวานผ่าซาก และเห็นด้วยว่าเขากล้าหาญ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเพี้ยน  ภก.พันธุ์เทพ  เพชรผึ้ง  หรือหมอก้อง  ที่คนในอำเภอเวียงสา  จังหวัดน่านเรียกเขาอย่างคุ้นเคย หมอ(ยา)ก้อง เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพ ช่วงปิดเทอมใหญ่ของ ม.ต้น เขาได้มีโอกาสไปอยู่กับย่าที่ จ.นครสวรรค์ เลยติดใจบรรยากาศต่างจังหวัด เพราะเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ในที่สุดเลยย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่นครสวรรค์  ชีวิตตอน ม.6 อยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  และได้มีโอกาสสอบโควต้า แต่เหมือนโชคชะตาไม่เอื้ออำนวยทำให้วันที่ต้องสอบสัมภาษณ์นั้นไม่สบายจนต้องขาดสอบ จากนั้นเลยมุ่งมั่นที่จะสอบเอ็นทรานซ์ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะสอบตรงเข้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) คิดว่าจะเอนฯ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาจะไปสอบ มช. เพราะว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบพร้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วเพื่อนคนนั้นเขาอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่จริงๆ คือเขาสอบไม่ติดนั้นแหละ เขาก็เสียดายใบสมัครด้วย แล้วเราก็ซื้อใบสมัครไม่ทันเขาก็ขายใบสมัครให้เรา แล้วก็สอบได้ ไม่ได้ไปติวไปอะไรนะแต่ก็อ่านหนังสือมาหนักมากแล้ว พอรู้ว่ามีที่เรียนแล้วแต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะยังไม่มีทรานสคริปต์ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยที่เราไปสอบ ปรากฏว่ารถมันติดมาก นั่งรถจากบ้านไปธรรมศาสตร์ก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ไปเกษตรฯ ก็ประมาณ 1 ชั่วโมง หมายถึงว่าขับจากนครสวรรค์ไป ม.นเรศวร ประมาณชั่วโมงครึ่งมันเท่ากับจากบ้านที่รังสิตไปจุฬาฯ เลย ก็เลยไม่เอาแล้วไปเรียนที่ ม.นเรศวรแทน ก็มีเพื่อนที่อยู่แถวๆ บ้านไปเรียนที่ ม.นเรศวรด้วยก็ได้เป็นรูมเมทกัน   แล้วชอบไหมการเรียนเภสัช ก็ไม่ค่อยไปเรียน เกือบไม่จบ คือปกติไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แล้ววิชาคำนวณมันก็ต้องท่อง ก็รู้สึกไม่ชอบ พอจบปีหนึ่งก็อยากจะเอนฯ ใหม่ คือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นสังคมที่เราไม่ต้องมีใครมาควบคุม ก็เลยเกเร เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็มีไม่จบ โดนรีไทร์บ้าง หมายถึงเพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไปอยู่คณะอื่นนะ เพื่อนเภสัชนี่จบทุกคน ตอนเรียนก็อยู่ท็อป 5 ในด้านเลวร้าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เป็นของวิชาเรียน แต่ถ้าเพื่อนมีกิจกรรมเราก็จะไปเป็นลูกหม้อ ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะทำ ให้เต้นเราก็เต้น แต่ไม่ได้ไปออกแบบอะไรกับเขา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของวิชาเรียนจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยไป แม้แต่แล็ปบางทีก็ไม่เข้า แต่พอหลังๆ ประมาณปีสามก็เริ่มเข้า มีติด ร. หนึ่งวิชา คือเพื่อนของพ่อเป็นอธิการฯ พ่อก็ฝากฝังลูกไว้เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ อธิการก็เลยเรียกไปอบรมพร้อมคณบดี เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต พ่อเล่าให้ฟังว่าอธิการบดีเรียกคณบดีเข้าไปต่อว่า ว่าทำไมไม่ดูแลเด็กให้ดี ซึ่งคณบดีตอนนี้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นก็เลยต้องตั้งใจเข้าไปเรียนหน่อย ไปเข้าเรียน ไปเข้าแล็ป แล้วก็อ่านหนังสือ ฟังดูไม่น่าทำงานเพื่อสังคมได้เลยนะ   แล้วเพื่อสังคมนี่มีตอนไหน สมัยเรียนมีไหม ไม่มีเลย คือออกค่ายนั้น เราเป็นลูกหม้อ พอเขาใช้เราก็ทำ แต่ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่แรงผลักดันเกิดจากการหมั่นไส้คนมากกว่า คือพอเรียนจบมาก็ทำงาน ที่สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ไม่กล้าไปทำงานโรงพยาบาลเพราะเรียนจบมาแบบกระท่อนกระแท่น ก็ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลนั้นจะรับเราได้ไหม ซึ่งปัจจุบันเขาก็รับเราไม่ได้นะแต่เรามีงานด้านอื่นอยู่ ก็อยู่สาธารณสุขจังหวัดอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็พอรู้ข้อจำกัด หรือข้ออ้างของราชการ การคอรัปชั่น เรียนรู้จนทำเป็น ทุกอย่างสามารถคอรัปชั่นได้หมดเพราะขั้นตอนการคอรัปชั่นไม่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่ สตง. ตรวจเอกสารเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ย่ามใจมากเอกสารคุณจะตรงเป๊ะ ยังไงก็ไม่สามารถที่จะจับได้ อย่างสมมติผมมีเงินสักหนึ่งล้าน สงสัยว่าผมมีเงินมาจากไหนก็ต้องไปเล่นกันให้ชี้แจงว่าเอาเงินมาจากไหน ซึ่งถ้าเกิดว่าฟอกเงินได้ก็จะอธิบายได้ คือแรงผลักดันจริงๆ นั้นเราไปเห็นที่ๆ เขาทำอะไรให้คนกิน ทุกอย่างเลยพอเราเห็นสถานที่เพราะเราเข้าไปบ่อย อยู่ สสจ. ก็มีโอกาสไปต่างจังหวัด ประชุมต่างจังหวัดบางทีเขาก็พาไปดูสถานที่ของจังหวัดอื่น เราก็จะเห็นว่าแพ็คเกจดีบางทีมันมาจากใต้ถุนบ้านบ้าง ทำในห้องส้วมบ้าง ทำริมถนนเลยก็มี เราก็เห็นว่าอะลุ้มอล่วย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ คือเราเป็นคนท้องเสียง่ายด้วย จะกินอะไรค่อนข้างระมัดระวัง อยู่ที่เวียงสานี่เคยนอนโรงพยาบาล 3 รอบ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเวียงสาแต่นอนโรงพยายาบาลเวียงสา 3 รอบ เป็นโรคท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ก็คือที่นี่มีเงื่อนไขว่าการทำงานที่นี่เราต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือตอนนั้นโรงพยาบาลเวียงสามีเภสัชฯ แค่ 4 คนแล้วหัวหน้าเขาจะย้ายเข้า สสจ. เราก็เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ค่อยยอมรับการไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานแบบบริหาร ก็เลยมีข้อแม้ว่าถ้าเราจะมาทำงานโรงพยาบาลเราต้องรับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปกติที่โรงพยาบาลทำอยู่ คือต้องทำเต็มตัว มาตอนนั้นก็เพิ่งจบมาแค่ปีเดียวก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เนื่องจากเคยอยู่ สสจ. มาก่อน ก็ถือว่ายังรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นเภสัชฯ คนอื่นไม่รู้เลย อย่าคิดว่าจะรู้ทุกคนเพราะมันเป็นงานเฉพาะมาก งานกฎหมายจะไม่มีใครรู้เลย เราก็ทำไปเรียนรู้ไป เพราะไอ้ที่รู้ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงสามีด้านใดบ้าง ก็มีตรวจร้านชำ ตรวจโรงงานน้ำดื่ม ตรวจคลินิก คือจริงๆ จะมีแบบตรวจมาให้อยู่แล้วว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ยาก็ตรวจ ส่วนหนึ่งคือเราไปเจอเรื่องยาที่มีเกือบทุกที่เลยนะที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ตรวจร้านยา ขย 2. ด้วย ขย 2. คือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชฯ แล้วก็ตั้งแต่สมัยไปเรียนจนถึงทำงานใหม่ๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างหนึ่งของเภสัชฯ ที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นมากคือเภสัชฯ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ คือหนึ่งเรื่องจริยธรรม สองความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโดยเภสัชกร เขาก็จะมีคำถามที่ปักหลังเภสัชกรอยู่ตลอด แต่เราก็มาอยู่สาธารณสุขจังหวัดที่เดิม เราก็คุ้นกับสภาพที่เภสัชฯ ขายป้าย คือเอาใบเภสัช ตัวเองไปไว้ แต่ว่าที่ สสจ. นั้นก็มีคนทำ ลักษณะอีกอย่าง คือว่าคนทั่วไปเปิดแล้วเอาป้ายไปไว้แล้วก็รับเงิน มีตั้งแต่ 5,000 จนถึง 10,000 บาทหรืออาจจะเยอะกว่านั้น แต่ถ้าเป็นที่ สสจ. นั้นเราจะเห็นว่าเภสัชฯ นั้นเป็นร้านของเราเอง ก็ไปอยู่บ้าน กลางวันก็ให้คนอื่นไปอยู่ พอมาอยู่นี่ก็รู้สึกคับข้องใจว่า สาธารณสุขจังหวัดนั้นได้มีใบนี้ไปอยู่ที่ร้านคนอื่น เนื่องจากว่าตอนนั้นสาธารณสุขจังหวัดกำลังตีความเรื่องป้ายประกาศ ก็จะมีร้านที่ ขย 1 . ซึ่งไม่ได้มีเภสัชฯ เป็นเจ้าของจะต้องปิดร้าน เพราะฉะนั้นสาธารณสุขจังหวัดรวมทั้งที่จังหวัดน่านก็จะให้มีคนเข้าไปที่ร้านเพื่อให้ร้านนั้นเปิดอยู่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องที่มันผิดนั้นเราจัดการมันไม่ได้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเราไปยอมรับว่าเรื่องที่ผิดมันถูก ก็เริ่มที่จะรับไม่ค่อยได้ คือเราก็ไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกต้องทุกอย่างแต่ว่าอะไรที่มันผิดนั้นมีการยอมรับว่ามันถูกต้องก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ จากนั้นก็เลยเหมือนก่อขึ้นมา และอีกฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายน้ำดีของเภสัชฯ  กับอีกฝั่งที่เขาเป็นวิชาชีพอื่นเราเอากฎหมายไปบังคับใช้เขา เวลาเราไปตรวจคลินิกพยาบาลเขาก็จะมีคำถามกลับมาตลอดว่าแล้วเภสัชฯ ที่ไม่มีอยู่ที่ร้านไม่เห็นทำอะไรเขาเลย แต่เราไปคร่ำเคร่งกับพยาบาลกับหมอ เขาก็ถามว่าเพื่ออะไร มันจึงเป็นคำถามที่แทงใจ เวลาไปตรวจคลินิกหมอ แบบตรวจมีตั้ง 3-4 หน้า เขาก็จะถามว่าอะไรหนักหนา ถังดับเพลิงก็ต้องมีเหรอ ประมาณนี้ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่อินว่ามันคืออะไร แต่คำถามที่หนักๆ คือเขาถามย้อนทันทีทุกครั้งที่ไปตรวจว่า “ทีร้านเภสัชฯ ที่ไม่มีเภสัชฯ ล่ะจะมาจ้ำจี้จ้ำไชเขาทำไม” เราก็จะหน้าแห้งเลย ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกร้านนะ จะมีพวกร้านที่เขาคงหมั่นไส้เรา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   ความเป็นหมอก้องกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มาเริ่มตอนปี 2552 ที่ สสจ. อีกแล้ว คือชวนเราไปประชุมกับอาจารย์วรรณา(ผศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ )ของ คคส. (แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ) เราก็เป็นลูกหม้อเหมือนเดิม เขาใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำ ก็ยังไม่ถึงขั้นตั้งใจมากหรอก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ คคส. ก็คิดว่าคงคล้ายๆ กับ อย. เวลาประชุมก็ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังหรอก เพราะทีม สสจ. ก็จะมีทีมของเขา เราก็รอเขาสั่งมาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เสนอความคิดเห็นไปแล้วเขาจะสนใจเท่าไรนัก ก็เลยเป็นนิสัยให้เราไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ไม่เหมือนตอนนี้นะ(หัวเราะ) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ให้เราเตรียมพื้นฐานชาวบ้านไว้ เราก็เตรียมๆ  ปรากฎว่าเราเตรียมไว้แล้ว เตรียมจะประชุมแล้ว เราก็ถามว่าจะเริ่มเมื่อไร เขาตอบว่า ไม่ทำแล้ว เราก็อึ้งไปแล้วก็เสียใจ และก็เริ่มไม่พอใจ คุณให้เราเตรียมไว้เยอะเลยแล้วมาประชุมบอกไม่ทำแล้ว คือถ้าไม่ถามก็ไม่บอกด้วย เขาบอกว่ามันไม่ชัดเจน ให้แก้นู่น แก้นี่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับงานเรา ขอซื้อชุดตรวจฟอร์มาลีน ตรวจสารปนเปื้อน ทำไมถึงขอไม่ได้ในเมื่อเราทำงาน สสจ. คือโครงการที่ สสจ. ส่งไปมันเป็นเมล์กลุ่มซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดอ่าน ตอนที่บอกให้เราเตรียมเราก็เตรียม ไปคุยกับชาวบ้านไว้แล้วด้วย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ก็คิดว่าเป็นการประชุมๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. มีกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาทำกัน ก็เลยเอาโครงการนั้นมาปัดๆ แล้วก็ส่งไปว่าเราจะทำเองก็ได้ ก็คือเอาโครงการ สสจ. มาแก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งกลับไป เขาก็แก้กลับมาแดงไปหมดเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเลยตอนนั้น ก็ปรึกษารุ่นพี่เภสัชที่เรานับถือซึ่งทำงานกับทาง คคส. เราถามทีละข้อเลยมันคืออะไร พี่เขาก็ปรับวิธีคิดเรา แต่เราไม่เข้าใจนะวิธีคิดของพี่เขาตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการให้ทุนของ สสส. มากกว่า ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เอกสารมันผ่านมากกว่า แต่มันมีข้อดีที่ว่า สสส. เขามีวิธีคิดของเขาที่มันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันดีกว่าระบบราชการ คืออันนี้มันไปอยู่สำนักที่ค่อนข้างเฮี้ยบเรื่องของการใช้เงิน เราก็พยายามทำให้มันผ่าน หลังๆ ก็งงว่ามันไม่ต้องส่งหลักฐาน ตอนอยู่ สสจ. ใช้ชีวิตอยู่กับการเคลียร์บิล ทำหลักฐานเพื่อเคลียร์บิล พอมันอยู่ในมือเรามันเอื้อในการใช้เงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนระบบข้าราชการ ก็รู้สึกว่าใช้เงินได้อย่างปลอดโปร่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน เราก็ไม่ได้มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แล้ว เขาให้ทำเครือข่าย ก็ตามรุ่นพี่เป๊ะๆ เลย โดยที่เราก็ไม่ได้หวังผลว่ามันจะออกมาเป็นเหมือนเขา แต่ใช้วิธีการเขาไปก่อน ต้องสรุปประชุมอย่างไร เวลาสรุปประชุมเราก็เหมือนกับสอนว่าเราต้องได้ข้อมูลอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นประชุมครั้งต่อไปนั้นเราต้องปรับแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลอย่างนี้มา ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานออกไป ปัจจุบันก็อาจจะเห็นประเด็นมากขึ้นแต่รูปแบบเดิมก็อาจจะยังมีอยู่   เปลี่ยนไปเยอะมากไหมการทำงาน พอรูปแบบมันมาก็จะเป็นรูปแบบของเครือข่าย จะมีมุมมองจากชาวบ้านเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอ่อน พอเราทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเริ่มพูดกับเราง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นเขาก็จะเริ่มถามอะไรที่ไม่ต้องเกรงใจแล้ว เหมือนที่พยาบาลเคยถามว่าเราดูแลเภสัชฯ อย่างไร พวกนี้ทำไมไม่โดนจับ ทำไมแบบนี้ถึงขายได้ ประมาณนี้ ก็แทงใจเราอีกแล้ว เราก็รู้สึกว่าพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลือกแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรืออะไรที่พอจะทำได้นั้น เราก็ควรจะเลิกทำงานกับชาวบ้านดีกว่า เพราะเราก็เหมือนไม่ได้ทำ คือถ้าเราจะทำต่อแล้วเราไม่ทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับไม่มีหน้าไปหาเขา เราทำงานกับชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. แล้วเราก็จะผ่านสถานีอนามัยเพราะเราไม่สามารถถึงชาวบ้านได้เอง ก็จะผ่านสถานีอนามัย คือเรื่องที่เป็นประเด็นกฎหมายถ้าเราไม่ทำเราก็จะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำอย่างไรที่คนผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หรือถ้ามีอะไรที่มันเข้าโอกาสที่เราทำได้มากที่สุดเราก็จะทำ จากแต่ก่อนที่เราก็จะร้องไปที่ สสจ. อย่างเดียวเลย แต่ สสจ. ก็จะให้ไปเคลียร์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่กังขาของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นแรงผลักดันเพราะเราก็มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้   มีเคสไหนที่ประทับใจหรือรู้สึกสนุกๆ ไหม ก็ทุกเรื่อง มันมีแปลกๆ เยอะ แต่ว่าจริงๆ จุดเสี่ยงก็เป็นกรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คือ  อันอื่นเขาจะปรับตามเราหมดเวลาที่เราไปให้คำแนะนำ มีเคสนี้ที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด  เป็นเคสขายตรง เราไปจับเขาในข้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการรักษา แต่เขาเถียงว่าเขาไม่ได้ทำการรักษา เขาก็อธิบายว่าเขาไม่ได้รักษากระบวนการไม่เล่าก็แล้วกัน  เขาก็สู้คดี  เราคิดว่าเขาจะไม่สู้ ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่จับ เขาสู้ในคดีที่เขาไม่มีทางชนะ เหมือนกับเราเข้าเส้นชัยไปแล้ว เธอจะมาแข่งกับชั้นได้ยังไง สุดท้ายเขาก็รับสารภาพ ฝากอะไรกับฉลาดซื้อบ้างไหม อยากให้ทดสอบตัวอาหารสุนัข ถามว่าอยากรู้ไหมก็อยากรู้นะ คือถ้าถามว่าตอนนี้มีไรน่าเทสต์บ้าง เรื่องสารเคมีก็อยากรู้ที่สุด แต่คิดว่าน่าจะทำยากนะพวกสารเคมีในดิน ยาฆ่าหญ้า เพราะไม่มีแล็ปในประเทศไทย อันนี้เคยโทรถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  แม้แต่ที่กรมทรัพยากรธรณีก็บอกว่าไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีหรือเขาไม่บอกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 “สถานการณ์ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และเป็นรองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( และผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ )   ซึ่งหน่วยงานนี้คือ สิ่งที่คนนอกรู้จักแบบง่าย ๆ ว่าเป็นองค์กรภาคจำลองที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นเพื่อเป็นโมเดล  นอกจากอาจารย์จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว  สาเหตุที่อาจารย์สนใจเรื่องผู้บริโภคนั้นท่านเล่าว่า  “ในประเทศไทยทุกคนเป็นผู้บริโภค บางคนก็อยู่ใน 2 สถานะ คือเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ คืออาจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างคอนโค อาคารชุด แต่คุณก็เป็นผู้บริโภคในการซื้อของในห้างสรรพสินค้า เลยทำให้คิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเราต้องระวังอะไรบ้าง ต้องป้องกันหรือแก้ไขอะไรบ้าง” นอกจากนี้ท่านยังมีความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ผู้บริโภค กฎหมายที่เดิมวาดฝันเอาไว้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำงานของผู้บริโภค  เป็นเสมือนความหวังให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างง่ายดายนั้น   วันนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร สถานการณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องบอกก่อนว่าสาเหตุที่ออกกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีคุณภาพชีวิตในเรื่องของการใช้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอุปโภค บริโภค หรือว่าทุกๆ สิ่ง ที่จะสามารถเท่าทันกับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแข่งกันนะ เท่าทันคือรู้ว่าอะไรควรจะมีให้ผู้บริโภค เมื่ออดีตมันออกมาแล้วเหมือนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก ซึ่งเวลามีปัญหาขึ้นมานั้นคนตัวเล็กก็ต้องแพ้ ด้วยเหตุนี้ก็จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคขึ้นมา จุดประสงค์หลักก็คือ ทำให้มีการดำเนินคดีในศาลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคในการทำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในอดีตเวลามีคดีขึ้นสู่ศาล ผู้บริโภคจะแพ้เกือบ 100 % เลยต้องมีกฎหมายตัวนี้ แต่พอกฎหมายฉบับนี้ออกเมื่อปี 2551 แต่สภาพบังคับหรือวิธีปฏิบัติ การใช้จริงๆ จะเกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ต้องบอกว่าหลังจากมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหลังปี 2551 คดีผู้บริโภคนำขึ้นสู่ศาลนั้นเยอะกว่าตอนที่ยังไม่มีกฎหมาย ถ้าถามว่าทำไมมีกฎหมายแล้วยังมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลในคดีผู้บริโภคมากกว่าเดิม ต้องมาดูว่าการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงหรือไม่ จริงหรือไม่ที่ออกมาแล้วเกิดการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องบอกเลยว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นมันก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ 100 % บางอย่างก็ปฏิบัติได้ บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ทั้งนี้นั้นกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เมื่อไม่ให้ความสำคัญ จะมีหรือไม่มีเขาก็ปฏิบัติตามที่เขาต้องการที่จะทำ ก็เลยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมันไม่เกิดประโยชน์ การที่ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างในการฟ้องร้อง อยากให้ อ.ยกตัวอย่าง ก็มี อย่างแรกเลยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ใช้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ เราก็ใช้สิทธิฟ้องได้ แต่ถ้าเกิดผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าผู้บริโภคเริ่มผิดนัดในเรื่องมูลหนี้อื่นๆ นั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้จำกัดว่าผู้บริโภคที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ฝ่ายเดียว ผู้ประกอบธุรกิจก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน อันนี้คือจุดเริ่มต้น ส่วนกระบวนการพิจารณาก็ต้องไปว่ากันอีกว่ามันมีตัวช่วยอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าที่ผ่านมานั้นคดีที่ขึ้นสู่ศาลเกือบ 70 % เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องร้องผู้บริโภค เลยอาศัย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนในการที่จะฟ้องคดี ก็กลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเริ่มบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อันนี้คือสภาพปัญหาที่ผู้บริโภคคิดว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเข้าถึงยากคือเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจัดการ จริงๆ แล้วพ.ร.บ. นี้ก็ได้ออกแบบว่าผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องจ้างทนายความ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องเสียค่าส่งหมายศาล หรือค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ นั้นผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเลย แต่เมื่อฟ้องคดีไปแล้วเวลานำเข้ากระบวนการสืบพยาน ไม่ว่าจะพยานโจทย์ พยานจำเลย ในที่สุดก็ต้องใช้ทนายความ จริงๆ จะมีเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค ในทางความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่สามารถจะช่วยผู้บริโภคได้อย่างเต็มเวลา ฉะนั้นบ่อยครั้งที่เวลาคดีขึ้นไปสู่ศาล ผู้พิพากษาก็จะถามว่าผู้บริโภคมีทนายหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของทางปฏิบัติ ในทางทฤษฎีอาจจะมองไม่เห็น แต่ในทางปฏิบัติเวลาเดินเรื่องไปผู้บริโภคต้องใช้ทนาย อย่างไรก็ต้องใช้ทนาย แม้ว่ากฎหมายจะออกแบบๆ ไม่ต้องใช้ทนายความ ก็ยังต้องใช้อยู่ดี แล้วค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมได้รับการยกเว้นอยู่แล้วครับ ไม่ต้องจ่าย ก็คือออกแบบมาอย่างเช่นเพื่อที่จะต้องการส่งหมาย เช่น ผู้บริโภคต้องการที่จะเรียกพยานคนที่ 1 คนที่ 2 มานั้นทางหน่วยงานของรัฐฯ ก็จะมีงบประมาณในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องค่าส่งหมายอยู่แล้ว จึงไม่ต้องจ่ายแต่ว่ามันจะมีปัญหาตรงที่สืบพยาน ต้องใช้ทนาย หรือถ้าไม่มีทนายเขาต้องสืบเองซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะสืบเอง ถ้าอย่างนี้คนที่ไม่มีจริงๆ ต้องทำอย่างไร ถ้าในที่สุดไม่มีความช่วยเหลือเรื่องของตรงนี้จริงๆ ก็ต้องใช้เจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคเป็นคนช่วยสืบพยานให้ ซึ่งน้อยครั้งที่พนักงานคดีผู้บริโภคจะว่างมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะงานเขาก็เยอะ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเราออกแบบกฎหมายจริงแต่ไม่ได้ออกแบบในเรื่องบุคลากรในการติดตามถึงความสำเร็จในการใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างนี้จะแก้ไขปัญหาในด้านกฎหมาย มีการเพิ่มเติมกับ พ.ร.บ. นี้อย่างไร จริงๆ คิดว่าสิ่งหนึ่งต้องเข้าใจเวลาพิจารณาคดีในศาลประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือตัวศาล คือท่านผู้พิพากษาเอง ตัวฝั่งทนายความโจทย์หรือโจทย์คดีผู้บริโภค หรือฝ่ายจำเลย ผู้ประกอบธุรกิจ หรือทนายจำเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่ต้องจ้างทนายก็ได้ แต่ถ้าจ้างก็ต้องดูอีกว่าศาลมีอำนาจมากน้อยขนาดไหน จริงๆ ศาลมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานที่ได้มาเองโดยไม่ต้องให้ทนายฝ่ายโจทย์หรือจำเลยไปเสาะหามา ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่าเป็นระบบไต่สวนแต่กฎหมายอื่นๆ จะเป็นระบบกล่าวหาก็คือต้องฟังอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดกฎหมายฉบับนี้ก็คือผู้พิพากษาสามารถที่จะเรียกส่วนที่เกี่ยวข้องมาได้ แต่ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ เลยเกิดการที่เรียกว่าทำให้ในมิติของท่านผู้พิพากษานั้นขาดหายไปในการพิจารณาคดี ตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เข้าถึงยาก คือจริงๆ แล้วกระบวนการพิจารณาคดีในศาล ผมคิดว่านั้นกระบวนการที่สมบูรณ์และมีความสำเร็จและถือว่ามีประโยชน์สูงสุดก็คือ ในระบบของการไกล่เกลี่ยคู่ความก่อนที่จะมีการสืบพยาน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะทุกอย่างสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มันไม่ใช่เรื่องฟันแทงกันมา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าตรงนี้นั้นช่วงหลังนโยบายของศาลยุติธรรมต่างๆ ก็จะมีนโยบายในเรื่องการไกล่เกลี่ยซึ่งระบบไกล่เกลี่ยนี้ที่ผ่านมาเคยเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นธุระให้กับผู้บริโภคบ้าง เคยจบตรงนี้ก็มีหลายกรณี ซึ่งถ้าจบตรงนี้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายโจทย์ จำเลย และศาล แต่ถ้าไม่จบขึ้นมาในขั้นสืบพยาน หลักฐาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 4 % น้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ไกล่เกลี่ยด้วยว่าสามารถที่จะคุยให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอมชอมกันได้ไหม อยากให้ อ. แนะนำผู้บริโภคเวลามีคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค คือผู้บริโภคที่เป็นข้อที่เสียเปรียบเวลานำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น พวกหลักฐานต่างๆ นั้นผู้บริโภคจะไม่ค่อยเก็บ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือว่าแผ่นพับรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หรือในกรณีของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายของผู้บริโภค ตรงนี้ไม่ได้เก็บ เป็นข้อที่เสียเปรียบ ในความหมายของคำว่าเก็บบางคนอาจจะคิดว่าเครื่องซักผ้าเสียจะให้เก็บอย่างไร ก็เก็บโดยการถ่ายรูปหรือเก็บในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ เป็นไฟล์ PDF ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสียเปรียบในตอนนี้ คือความไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องเก็บอะไรบ้างเวลานำคดีขึ้นมาสู่ศาล ตรงนี้ผู้บริโภคจะไม่ค้อยทราบ หรือถ้าทราบก็เก็บไว้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ถือว่าสำคัญ เวลาขึ้นศาลพยานหลักฐานถือว่าสำคัญ อย่างนี้เวลาเราซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่สิ่งที่เราควรทำคือ ถ้าซื้อใหม่ก็ใบโฆษณา ถ้ามีการออกสปอตรายการวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เก็บไว้ได้ก็ดีเพราะว่าหลายรายการจะมีกรณีที่ว่าตอนโฆษณามีสระว่ายน้ำ แต่พอเสร็จแล้วสระว่ายน้ำไม่มีเพราะพื้นที่ไม่พอ แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะบางทีเราซื้อเพราะมีสระว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าต้องเก็บสัญญาซื้อ – ขาย ใบเสร็จการผ่อนค่างวดแต่ละงวด เหล่านี้สำคัญหมด แม้กระทั่งที่ตั้งของสำนักงานของผู้ประกอบธุรกิจว่าอยู่ที่ไหน อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญอีกอย่างคือเจ้าของโครงการแต่ละที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นในรูปของนิติบุคคล เพราะฉะนั้นไปดูหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นๆ ด้วยว่าในแต่ละปีมีการส่งงบดุลเป็นปัจจุบันหรือเปล่า อันนี้หมายถึงสถานะทางการเงินของเจ้าของโครงการเพื่อเราจะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่ถึงไหน อย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 เตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ

ฉลาดซื้อเล่มนี้เบิกโรงศักราชใหม่ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องเตรียมครอบคลุมทุกด้าน ทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ได้แก่ 1) เรื่อง สุขภาพ 2) เรื่อง ความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน 3) เรื่อง การงาน และข้อสำคัญ คือ ทำอย่างไรไม่ให้เหงา   ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เมื่อใด โดยหลักการแล้ว การเตรียมตัวควรทำแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มทำงานเลยเป็นดีที่สุด เวลานี้สำนักงาน กพ. มักเตรียมตัวข้าราชการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหลังเกษียณอายุตอนปีสุดท้ายของชีวิตราชการซึ่งไม่ถูกต้อง ช้าเกินไป เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าในวัยหนุ่ม-สาว ไม่ดูแลรักษาสุขภาพ ใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง เมื่อสูงอายุก็มักจะมีโรคประจำตัวรุมเร้า เช่น กินอาหารไม่เป็นเวลา กินเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จนเป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง บั่นทอนชีวิตมากเลย หรือดูแลรักษาฟันไม่ดี ทำให้ฟันผุก็จะเป็นปัญหามาก หรือปล่อยตัว ให้อ้วน บั้นปลายชีวิตก็มักจะมีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เข่าเสื่อม ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น   สิ่งที่อยากให้รัฐบาลจัดหาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในแง่ของการเรียกร้องทางสังคม เช่น บริการสาธารณะ , หรือควรใช้สิทธิอะไรบ้าง ควรออมเงินหรือการทำประกันชีวิตอย่างไร จำเป็นหรือไม่( แค่เงินคนชราที่รัฐบาลให้พอหรือไม่ ) สิ่งที่รัฐควรทำเร่งด่วนขณะนี้ คือ นำ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มาบังคับใช้โดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุระยะยาว เป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการมาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เริ่มจาก 1) มีการศึกษาวิจัยปัญหาและวิธีการแก้ไขของทั้งต่างประเทศและในประเทศมาอย่างดี 2) มีการประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญทุกภาคส่วนทั้งประเทศมาร่วมประชุม โดยมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน บนพื้นฐานของข้อมูลและเอกสารทางวิชาการ 3) มติของสมัชชา มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในงานผู้สูงอายุแห่งชาติ 4) นายกรัฐมนตรีได้นำมติสมัชชาเข้าพิจารณา และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 5) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รับไปดำเนินการ ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาล 6) รัฐบาลได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเห็นชอบ และได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา จากนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงนามพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว 7) กฎหมายให้เวลา 1 ปี ในการเตรียมการ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ละเมิดกฎหมายไม่ยอมทำตามกฎหมาย แต่ไปแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 แทน ซึ่งผิดหลักการอย่างยิ่ง พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายส่งเสริมการออม ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนที่ไม่มีหลักประกันยามชรา คือ ไม่มีบำนาญจากราชการหรือประกันสังคม ให้มีบำนาญของตนเอง ถ้าออมเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลจะสบทบให้ 50 บาท หากเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปีขึ้นไป พออายุครบ 60 ปี จะมี “บำนาญของตัวเอง” เดือนละ 1,700 กว่าบาทบวกกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ก็จะพออยู่ได้ ถ้าออมมากกว่านี้ก็จะมีบำนาญของตัวเองมากกว่านี้ ถ้าเข้ารับราชการหรือเข้าประกันสังคม เงินนี้ก็ไม่หายไปไหน ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 (3) ผิดหลักการเพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีบำนาญอยู่แล้วได้เงินซ้ำซ้อน ต้องเลิก และเร่งทำตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติโดยเร็ว   เรื่องที่สอง ที่รัฐบาลควรทำ คือ เร่งรัดพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงตามแผนยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบแล้ว แผนยุทธศาสตร์นี้มุ่งส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง คือ กลุ่ม “ติดบ้าน” “ติดเตียง” โดยการดูแลที่บ้านและในชุมชนเป็นหลัก เป็นวิธีการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบการดูแลในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการดูแลในสถานสงเคราะห์หรือในโรงพยาบาลมาก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ที่ต้องอยู่ในครอบครัวและชุมชน   การดูแลสุขภาพ เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย การรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ในวัยชรา การดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุมีหลักสำคัญ คือ “หลัก 5 อ.” ได้แก่ เรื่อง อาหาร ออกกำลังกาย อากาศ อารมณ์ และอุจจาระ ขยายความสั้นๆ คือ (1) เรื่องอาหาร ต้องถือหลัก “กินน้อย อยู่นาน” อย่ากินมากจนอ้วน อย่ากินอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด (2) เรื่อง ออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะธรรมชาติร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ให้ต้องออกกำลังกาย เพื่อไล่ล่าหาอาหาร และต่อสู้หรือหนีศัตรู ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีเครื่องทุ่นแรงและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จนมนุษย์ไม่ต้องออกกำลังกายเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะฝืนธรรมชาติ กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง ไข้ข้อจะไม่ดี สารเคมีที่ร่างกายหลั่งออกมา เมื่อไม่ได้ใช้จะทำให้เครียด ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้น ต้องออกกำลังกาย ถ้าไม่ออกกำลังกายร่างกายจะทรุดโทรม เจ็บป่วย และอมโรค (3) เรื่องอารมณ์ ต้องฝึกให้มองโลกในแง่ดี มีเมตตากรุณาสูง ถือหลักท่าน พุทธทาส คือ บั้นปลายชีวิต ต้องมุ่ง “แจกของ ส่องตะเกียง” อย่าโลภ อย่าจู้จี้ เอาแต่ใจ ลูกหลานจะหนีห่าง ไม่เข้าหา (4) เรื่องอากาศ คือ การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าอยู่ในห้องแอร์ต้องเปิดให้ลมโกรกหรือพัดผ่านเป็นประจำ และให้แสงแดดส่องถึงได้ แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้มาก (5) เรื่องอุจจาระต้องระวังอย่าให้ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องเสียรุนแรงทำให้ผู้สูงอายุถึงตายได้ ท้องผูกทำให้เกิดริดสีดวงทวาร ท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเจ็บป่วย ให้ไปใช้บริการตามสิทธิ ปัจจุบันคนไทยทุกคน ถ้าไม่มีสิทธิข้าราชการ ก็จะมีสิทธิบัตรทองให้ใช้ ไม่จำเป็นอย่าเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้โดยง่าย ผู้มีสิทธิบัตรทอง ถ้ามีปัญหาให้โทรปรึกษาหมายเลข 1330 ได้ทุกเวลา ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทร 1669 เรียกรถพยาบาลมารับได้ตลอด 24 ชั่งโมง ฟรี เรื่องที่ขอแนะนำเพิ่มเติมมีอีก 2-3 เรื่อง คือ 1)    อย่าคิดรวยตอนแก่ เพราะแก่แล้ว บารมีสมัยยังรับราชการหรือทำงานหมดไปแล้ว ความว่องไวในการแก้ปัญหาก็ลดลง อย่าโลภไปลงทุนอะไรมากมาย จะมีโอกาสหมดตัวได้ 2)    ถ้ามีทรัพย์สมบัติ อย่าแบ่งให้ลูกหลานจนหมดตัว ถ้าทรัพย์สมบัติหมดเมื่อไร ลูกหลานโดยมากจะเริ่มห่าง หรือ ทิ้งไปเลย 3)     ขอย้ำเรื่องกินอีกครั้ง กินผักผลไม้ให้มาก ของมันของเค็มกินให้น้อย เวลากินอาหารอย่ากินจนอิ่ม กินแค่เกือบอิ่มแล้วดื่มน้ำให้อิ่มพอดี การกินจนอิ่ม เป็นการกินเกินความต้องการของร่างกาย กระเพาะอาหารของเรา ธรรมชาติสร้างให้กินได้เกิน เมื่ออาหารเต็มกระเพาะแล้ว จะกินต่อได้อีก 20 นาที จึงจะส่งสัญญาณไปที่สมองให้รู้ว่ากระเพาะเต็มแล้ว ธรรมชาติอันนี้จำเป็นสำหรับสมัยก่อนที่อาหารขาดแคลน ต้องกินเผื่อไว้มื้อต่อๆ ไป ปัจจุบันอาหารมีมากมาย ต้องรู้จักหยุด เคยมีการศึกษาทดลอง เลี้ยงหนู 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอิ่มหมีพีมัน พวกนี้อายุสั้น อีกกลุ่มใหกินอดๆ อยากๆ ปรากฏว่าอายุยืนกว่ามาก   คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจและเห็นใจคนสูงอายุ ต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น 1) ผู้สูงอายุยังต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จึงต้องหาอะไรทำให้รู้สึกมีคุณค่า มีประโยชน์ อย่าให้ว่างหรือไม่มีบทบาทหน้าที่ จะเฉา 2) ต้องรู้ข้อจำกัดของผู้สูงอายุ เช่น อายุมากแล้ว นั่งส้วมแบบยองๆ ไม่ได้ ต้องนั่งแบบห้อยเท้า ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ 3) ต้องระวังดูแลอย่าให้ผู้สูงอายุเดินสะดุด ถ้าล้มจะแย่ พื้นต่างระดับหรือมีสิ่งเกะกะ กีดขวาง ต้องปรับแก้ไข อ่างอาบน้ำต้องเลิกใช้เลย เพราะมีโอกาสสะดุดหรือลื่นล้มหัวฟาดได้ง่าย หนุ่มๆ สาวๆ ที่สร้างบ้าน-ซื้อบ้าน ไม่ควรมีอ่างอาบน้ำ เพราะบ้านเราอาบน้ำทุกวัน แทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้อ่างอาบน้ำเหมือนฝรั่งเลย 4) ผู้สูงอายุมักขี้ใจน้อย จะพูดจาหรือทำอะไรต้องระวัง 5) ผู้สูงอายุมักขี้เหงา ต้องหาอะไรให้ทำแก้เหงาหรือคอยชวนคุย จะทำอะไรก็อย่าตัดสินเอง ให้เกียรติปรึกษาหารือบ้าง เป็นต้น ให้ใช้ธรรมะ 3 หมวด คือ 1) พรหมวิหาร 4 โดยเฉพาะข้อแรก คือ เมตตา 2) สังคหวัตถุ 4 โดยเฉพาะข้อสอง ปิยวาจาคือ วาจาอ่อนหวาน และ 3) ขันติ-โสรัจจะ คือสุดท้ายต้องอดทน และโสรัจจะคือ ความเสงี่ยม ไม่แสดงท่าทางหรือท่าทีให้เกิดความน้อยใจ   สุดท้าย ถ้าเป็นลูกหลาน ต้องเข้าใจว่า พ่อแม่จะเห็นว่าเราเป็นเด็กอยู่เสมอ แม้เราจะอายุมากแล้ว ถ้าท่านจะสอนจะห่วงเราเหมือนเราเด็กๆ ก็ให้รับฟัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน” ตอน2

เนื้อหาที่เราสัมภาษณ์คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ค้างไว้ตรงเรื่องที่เกี่ยวกับการสัมปทาน ซึ่งเราขอนำลงต่อเนื่องในฉบับนี้นะคะ...ตอนนี้เลยมีการแก้ไข และยกเลิกกฎหมาย พรบ.ปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบการให้ติดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ใช้สำหรับแหล่งสำรวจแหล่งใหม่ แต่หากแหล่งไหนที่เป็นแหล่งใกล้จะหมดอายุแล้วหรือจะหมดสัญญาแล้วนั้น ก็เตรียมให้ใช้ระบบรับจ้างบริการ ซึ่ง 2 ระบบนี้จะทำให้รัฐกลับไปเป็นเจ้าของปิโตรเลียมนั้น และจะได้มีส่วนแบ่งที่เรียกว่าเนื้อปิโตรเลียมมากกว่าส่วนแบ่งในรูปของตัวเงิน การที่มีส่วนแบ่งในรูปของปิโตรเลียมก็ดี หรือมีประโยชน์ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ เช่นสิทธิในการเป็นกรรมสิทธิ์ การได้เข้าถึงข้อมูลนั้นก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบของประเทศไทยจะมีอัตราที่สูงมากกว่าที่มีการรายงานในปัจจุบันภายใต้ระบบสัมปทาน...เนื้อปิโตรเลียมที่ขุดเจออันใหม่นี้จะไม่ถูกแบ่งผลประโยชน์หรือถ้าอยู่ภายใต้สัมปทาน ระบบสัมปทานก็คือ การให้สิทธิกับผู้รับสัมปทานกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีอายุถึง 39 ปี ถ้ามีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมนั้น ปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีการค้นพบเป็นของผู้รับสัมปทาน 100% เต็ม แล้วจะเป็นของรัฐฯ ได้อย่างไร ก็คือต่อเมื่อ ถ้า ปตท.ไปทำเป็นสัญญาซื้อขายกับเอกชนนั้น แล้วถึงจะบอกว่า อันนี้คือแหล่งปริมาณสำรองของรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นคำว่า ปริมาณสำรองที่มีการรายงานต่อประชาชน จึงไม่ใช่ปริมาณสำรองที่แท้จริงทั้งหมด แต่มีการเซ็นสัญญากับรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นหมายถึงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐฯ แค่ส่วนนี้เท่านั้น จะเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นการยกกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ค้นพบให้เอกชนไป แล้วรัฐฯ อยากจะได้มาก็ต้องไปทำสัญญาซื้อขายระยะยาว ซึ่งคนจ่ายไม่ใช่รัฐฯ แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่เป็นคนจ่าย เพื่อให้ได้สิ่งที่เคยเป็นของตัวเองกลับมา นี้คือสิ่งที่เรียกว่าระบบสัมปทานแล้วมีเยอะแค่ไหนไม่มีใครบอกได้ในประเทศเพื่อนบ้านของเราใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต กระทั่งประเทศกัมพูชาซึ่งยังไม่มีการขุดเจาะ หรือผลิตปิโตรเลียมเลยก็เลือกที่จะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะฉะนั้นการจะเลือกใช้ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตไม่เกี่ยวว่าประเทศนั้น จะเป็นแหล่งเล็กหรือกระเปาะอย่างที่กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกัน เป็นทางเลือกของรัฐฯ ที่อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมหรือไม่ ถ้าหากดำเนินการขุดเจาะหรือผลิต อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่เก่าก่อนนั้น ไม่ปฏิเสธระบบสัมปทาน มาเลเซียก็เคยใช้ระบบสัมปทาน อินโดนีเซียก็เคยเพราะเขาเคยเป็นเมืองขึ้น ระบบสัมปทานมาจากยุโรป  อังกฤษ อเมริกาก็ใช้ แต่ของเขากฎหมายมันต่างกัน แต่ว่าประเทศเล็กๆ เหล่านี้ก็มีหลายๆ ประเทศแห่กันมาใช้ระบบแบ่งปัน ดังนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบแบ่งปันผลผลิตจะไม่มีใครมาลงทุน เพราะประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็เคยไปลงทุนกับประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันมาแล้วหรือแม้กระทั่งบริษัทลูกของ ปตท. เองก็ไปทำระบบแบ่งปันผลผลิตกับมาเลเซีย กับเวียดนาม พม่า แต่ปรากฏว่าของเรากลับไม่ยอมยกระดับเจ้าของแหล่งปิโตรเลียมกลับคืนมา อันนี้ก็เป็นประเด็นมากที่ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้มากที่สุด ถ้ามันถึงจุดที่มีการรับรู้ที่มีความอิ่มตัวการเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของประชาชนในขณะนี้ คือมีสภาปฏิรูปก็จะมีการผลักดันกฎหมายที่จะเสนอเข้าไปเป็นคู่แข่งของกฎหมายหรือแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานของสภาปฏิรูป ซึ่งทราบว่าสัดส่วนกรรมการที่มาจากสายพลังงานสายฟอสซิลนั้นเกือบ 99% ดังนั้นจำเป็นที่ประชาชนจะมีการผลักดันมาจากข้างนอกเพิ่มอีกทางหนึ่ง ที่มองไว้ก็คือ ประชาชนต้องมีความรู้มากขึ้น เกิดการตื่นรู้ที่จะเลือกทิศทางของตนเองในการจัดสรรทรัพยากรด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นโมเดลของการต่อสู้เรื่องพลังงานนั้นกำลังจะถูกใช้ไปยังโมเดลการจัดสรรทรัพยากรเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองแร่ หินแร่ต่างๆ ทองคำที่กระจัดกระจายและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วประเทศ เพราะว่าคนในท้องถิ่นที่ขุดเจาะในแหล่งสัมปทานต่างๆ ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลประโยชน์ที่ได้รับ และยังรับเคราะห์ด้านสุขภาพ ด้านสังคม เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของที่นาไม่สามารถทำการได้ปกติมีเยอะมากเรื่องที่ทำต่อคือการให้ความรู้เกี่ยวกับทางออกว่ามีแบบผลประโยชน์ร่วมข้อมูลความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะสร้างทางเลือก สร้างวิสัยทัศน์ให้ประชาชนเห็นได้มากกว่าข้อมูลที่มันถูกครอบไว้อยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีหนทางออก จริงๆ มันมีทางออกอยู่ ส่วนการจะเลือกหรือไม่เลือกนั้นก็อยู่ที่ตัวประชาชนในการให้อำนาจของประชาชน ซึ่งแน่นอนก็มีกลุ่มของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเพราะว่าตัวเองก็ได้รับผลประโยชน์ มีส่วนได้เสียเรื่องของหุ้นในธุรกิจพลังงานแบบเดิม แต่เราก็ต้องบอกว่ามิติแบบนี้สักวันมันต้องมีการเปิดกว้างมากขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ผ่านการต่อสู้ การปะทะในทางเลือกแบบนี้ตลอดเวลาตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียประสบความสำเร็จมาก เขาให้บริษัท ปิโตนาส เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มียอดขายใกล้เคียงกับ ปตท. เล็กน้อย แต่เมื่อหักต้นทุนจิปาถะต่างๆ แล้วปรากฏว่ามาเลเซียมีกำไรมากกว่า ปตท. หลายแสนล้านบาทเลย แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ ปตท. ก็มีจดหมายชี้แจงหน้าเว็บไซต์ออกมาว่า เพราะมาเลเซียใช้ระบบแบบแบ่งปันผลผลิตทำให้เขาได้เป็นเจ้าของ และได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อคืนมา ในขณะที่ ปตท.นั้นใช้ระบบสัมปทาน ปิโตรเลียมที่ได้มาต้องจ่ายเงินซื้อไปจึงกลายเป็นเพิ่มต้นทุน พอปิโตรนาสได้กำไรเขาก็เอากำไรนั้นไปส่งเข้ารัฐ  รัฐก็เอาเงินบางส่วนมาอุดหนุนเป็นค่ารถ ค่าน้ำมันให้กับประชาชน ทำให้น้ำมันในมาเลเซียอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร เรื่องนี้ก็ถูกพวก ปตท. มาอ้างว่า ของมาเลเซียเขาก็ต้องใช้เงินอุดหนุน แต่เงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากผลประกอบการที่ได้จากการใช้ทรัพยากรร่วมกันของประเทศชาติแต่ในขณะเดียวกันกำไรของ ปตท. ไม่เคยมาจัดการโดยตรงแบบรูปแบบของมาเลเซียเลย เงินอุดหนุนก็คือ ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ดูแลกันเอง ซ้ำยังมากล่าวอ้างว่าเป็นบุญคุณของ ปตท. อย่างนี้มันต่างกันเยอะ ข้อมูลแบบนี้มันมีการกล่าวไม่ครบ ขนาดบอกว่า มาเลเซียมีการอุดหนุนแต่ไม่ได้บอกว่าเงินอุดหนุนนั้นมาจากไหน อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น สามารถนำมาพัฒนาให้กับประเทศชาติได้ สามารถออกแบบได้อีกหลายอย่าง เช่น ประเทศนอร์เวย์ อาจจะใช้อีกระบบหนึ่งมันเป็นระบบสัมปทานของเขาแต่การออกแบบของเขาคือ รายได้จากปิโตรเลียมของเขานั้น ตั้งเป็นกองทุนเรียกว่า กองทุนมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากว่านอร์เวย์มีประชากรน้อยมาก แต่เขารวยน้ำมันขุดเจาะจากทะเลเหนือได้มาก เขาก็เลยเอาไปใส่เป็นกองทุน และไม่ใช้ เลยเรียกว่ากองทุนมั่งคั่ง เอาไว้ใช้ในยามวิกฤตอย่างเดียว เช่นถ้าหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา เขาถึงจะเอามาใช้เพราะคนนอร์เวย์ก็รวยอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งไปแต่จริงๆ เราก็สามารถออกแบบผสมผสานได้ อย่างจะเป็นแบบมาเลเซีย ถ้าเห็นว่ามาเลเซียเอาเงินมาอุดหนุนโดยตรงเป็นค่าน้ำมันอาจจะไม่ดีในแง่ของการใช้ฟุ่มเฟือย ก็อาจจะมาเป็นเงินกองทุน เราก็เอามาประยุกต์ได้ อย่างของมาเลย์ เขาก็มีจุดอ่อน แต่ละประเทศก็จะมีจุดอ่อน อย่างอินโดนีเซียนั้นได้เงินจากน้ำมันมาก แต่ก็เกิดทุจริตคอรัปชั่น ทั้งที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกัน เงินไม่ถึงประชาชน เพราะนั่นคือรูปแบบประเทศของเขา มาเลเซียก็เอาแบบอย่างมาแต่มาเลเซียอยู่ภายใต้สหพันธรัฐ 3 รัฐ และปิโตนาสมีหน้าที่ต้องแบ่งสันปันส่วนจากทรัพยากรของเขา เพราะตัวเองเป็นคนดูแลและแบ่งปันค่าใช้จ่ายไปให้รัฐ เพราะฉะนั้นเขาก็จะออกแบบเป็นเก็บเป็นกองกลางไม่ได้ เดี๋ยวรัฐจะโวยวายเอา เลยต้องจัดการออกมาแบบนี้ ให้คนที่เป็นดั้งเดิมของมาเลเซียเท่านั้นที่จะได้ผลประโยชน์จากราคาน้ำมันโดยตรงแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทย อาจจะเอาโมเดลบางส่วนของนอร์เวย์ คือการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาก็ได้ เพราะตอนนี้เราก็มีกองทุน อย่างเช่น ทรัพยากรด้านสื่อสารก็มีการตั้งกองทุนขึ้นมา ได้เงินมาจากค่าใบอนุญาต ค่าประกอบการต่างๆ ก็กันส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุน และวางกองทุนให้อยู่ภายใต้กฎหมายชัดเจนป้องกันการทุจริต แล้วก็บริหารกองทุนนั้นไป เป็นต้น ซึ่ง10 กองทุนแบบนี้ก็คล้ายกองทุนของสสส. ซึ่งหักจากภาษีเหล้า ก็มีคนช่วยกันคิดเหมือนกันว่า ถ้าได้เงินมาจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้นได้มาจากแหล่งเดียว คือ แหล่งภาพทัพหลวง ซึ่งมันก็น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของมัน 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เพียงแค่ ? กว่าเปอร์เซ็นเท่านั้นเอง ก็คิดกันว่า หนึ่ง ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต สอง นำรายได้ส่วนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเรียกว่ากองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็ออกแบบเลยว่า จะนำไปบำรุงดูแลท้องถิ่นโดยตรง หรือจะนำไปใช้ในเรื่องการศึกษา การให้ความรู้ในเรื่องของเรื่องพลังงานไม่ว่าจะเป็นพลังงานฟอสซิลหรือพลังงานหมุนเวียน หรือจะนำมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนหรือเกี่ยวกับเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้ ก็ออกแบบกันได้เป็นต้น แต่ ณ วันนี้มันไม่มีจินตนาการใดๆ สำหรับประเทศไทยในการออกแบบ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของสายธุรกิจฟอสซิลหมดเลย ภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่ว่าไว้ การจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงานก็ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับการลดใช้ฟอสซิล ทำให้เรารู้สึกว่าเลิกยา(เสพติด) ไม่ได้แล้วถ้าเปรียบเทียบนะถ้าพูดถึงพลังงานฟอสซิลเป็นยาเสพติดนั้น คนไทยก็เหมือนมีคนจ่ายยาให้ตลอดเวลา แล้วก็เลิกยาไม่ได้ ถ้าเลิกคุณก็ลงแดงตาย สภาพก็คล้ายๆ ถ้าไม่ขุดเจาะปิโตรเลียม เราก็จะตายทั้งประเทศ ปิโตรเลียมเหมือนการหยอดยาบ้าให้คนไทยถ้ามีพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริง จะช่วยลดปัญหานี้ไหมเราอย่าเพิ่งคิดไกล ต้องรู้ว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยกับรถยนต์นั้น อันที่ใช้เยอะที่สุดคือน้ำมันดีเซล วันละ 60 ล้านลิตร เบนซินรวมทุกประเภทไม่ว่าจะ 91 หรือ 95 วันละ 20 ล้านลิตร เราจะออกแบบลดการใช้พลังงานแล้วไปออกแบบเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งมีผลบวกเพียงส่วนน้อยที่ 20 ล้านลิตรเท่านั้น ทำไมเราไม่ไปออกแบบดีเซลที่ใช้ 60 ล้านลิตรแทน เราก็ออกแบบได้ว่า ดีเซลส่วนใหญ่เป็นรถเพื่อการขนส่งในเชิงพาณิชย์ ถ้าอยากลดระบบที่ส่วนใหญ่เป็นระบบล้อ คุณก็เปลี่ยนเป็นระบบราง เริ่มต้นจากระบบรางคู่ก่อน ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐบาลเริ่มคิดที่จะพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ก็จะทำให้การขนส่งทางรถไฟนั้นมีศักยภาพมากขึ้น พอรถไฟรางคู่เกิดขึ้น การใช้ระบบทางล้อก็จะลดลงก็จะลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการขนส่งทางล้อไปโดยปริยายแต่เพราะอะไรถึงยังมีการปล่อยให้ใช้ดีเซลที่วันละ 60 ล้านลิตรอยู่ เพราะว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยขายได้ราคาสูงกว่าการส่งออกไปขายที่ตลาดสิงคโปร์ เพราะการส่งออกไม่ได้รับค่าจูงใจเหมือนที่ขายในประเทศ เลยมีการเบี่ยงเบนประเด็นว่าใช้รถไฟฟ้าไหม ซึ่งต้นทุนยังไงมันก็ต้องใช้พลังงานเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าอยู่ดี แล้วมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และก็ผิดกลุ่มเป้าหมาย ในทางยุทธศาสตร์คุณต้องวางว่าใครที่มันกินมากที่สุดก็ทำงานตรงนั้น ซึ่งรัฐก็กำลังออกแบบมาเพื่อทำตรงนั้นแสดงว่าเริ่มมาถูกทางแล้วก็ปรับมาจากการใช้รถไฟความเร็วสูงเพื่อส่งคนในเชิงการท่องเที่ยวก็อาจจะโยงกับสายจีน ทำให้ไม่ได้เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแต่อาจเป็นเพื่อการขนส่งสินค้าด้วย เพราะเรามีสินค้าเยอะ และไทยเราเป็นประเทศที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง 2 ทะเล ก็มีสินค้าจากอินเดีย ตะวันออกกลางข้ามมหาสมุทรอินเดียมา ก็มาชนที่แหลมมลายู ขณะเดียวกันมหาสมุทรแปซิฟิกจากญี่ปุ่น จากจีน ก็มาชนที่ทะเลอ่าวไทย แต่ถ้าเราทำขนส่งทางรถ การดึงสินค้าจากจีนก็จะทำได้ดีขึ้น ตอนนี้มันมีการขนส่งทางเดียวคือทางแม่น้ำโขงก็คือทางเรือ ซึ่งจีนได้ไปหมดเพราะจีนล่องขึ้น แต่ไทยล่องลง เพราะฉะนั้นทางบกจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถเปิดเส้นทางได้อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางขวางทุกทวีป คือจากเวียดนามไปพม่า เรียกเส้นทางขวางกลางประเทศไทย เพราะฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวนั้นก็สบายแล้วเพราะไม่ต้องใช้รถยนต์ ซึ่งแต่ก่อนเราก็เคยมีเส้นทางขวาง อย่างเช่น เส้นเขมร คือเวียดนาม เขมร ไทย แต่เราไม่เคยทำเสร็จสักที ทีนี้เมื่อระบบรางเกิดขึ้นมันจะทำให้ระบบล้อลดการใช้โดยอัตโนมัติเพราะมันจะถูกกว่า ขนได้มากกว่า และปลอดภัยกว่า ความสูญเสียจะน้อยกว่า ก็อาจจะต้องรออีกสักหน่อยแต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่น่าเสียดายที่ว่าการลงทุนด้านขนส่งสาธารณะนี้ใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน แทนที่จะเอารายได้จากการประกอบการกิจการปิโตรเลียมโดยตรงมาเป็นส่วนร่วมลงทุนก็ไม่ได้ จะเห็นว่าปิโตรเลียมไม่ได้มีความสัมพันธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพประโยชน์โดยรวมเท่าไร แต่เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มอย่างเอาปิโตรเลียมมาทำปิโตรเคมีก็เป็นเฉพาะกลุ่มของเขาไป และจะเห็นว่าสินค้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเป็นสินค้าขยะ ไม่ว่าจะรถยนต์ 5 ปีก็หมดสภาพแล้วกลายเป็นขยะ เป็นเงินไหลออก หรือสินค้าพลาสติกทั้งหมดนั้นมีปัญหาอยู่ 2 อย่างคือเป็นขยะนี่แน่นอน และเป็นไหลออก และไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเลย เขาก็เลยจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะขึ้นมาให้ครบวงจร คือแทนที่จะลกการใช้ เขาคงไม่แฮปปี้ในด้านที่เราจะเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ มารีไซเคิล เพราะมันจะลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติก เพราะฉะนั้นถ้าเขาสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาดักการรีไซเคิลของคุณเสีย มันก็ตัดทอนพลาสติกบางส่วนออกไปแล้วเติมพลาสติกใหม่ใส่เข้าไปในระบบ มองในระบบก็คงเกิดการหมุนเวียนเงินทุนเกิดขึ้นได้ ก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันเกิดขึ้นรู้สึกท้อบ้างไหมที่ต้องต่อสู้กับเรื่องใหญ่ขนาดนี้ไม่เลย ทุกวันนี้เห็นเป็นเชิงระบบมากขึ้น คือมันมีพัฒนาการทางการมองเห็นในโลกทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น อีกอย่างคือแต่ก่อนคนไทยก็ไม่ได้สนใจเรื่องพลังงาน แต่วันนี้กลายเป็นเรื่อง Talk of the town ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ปรากฏว่ามีคนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญ และเห็นว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ไม่คุยกันไม่ได้ และอยู่ในหนึ่งเรื่องของการปฏิรูปประเทศ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point