ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 คนนครนายกไม่ต้องการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

        หาก สวนลุมพินีคือพื้นที่ปอดของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนทั้งประเทศได้พักผ่อน เชื่อว่าหลายคนย่อมคิดถึง จังหวัดนครนายก ที่มีทั้งน้ำตกและภูเขา แต่ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้กำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ตั้ง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ตั้งแต่ปี 2536  แม้ประชาชนในพื้นที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีการทุจริตจนชะงักลง แต่ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยกลับมาดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มขนาดจาก 10 เป็น 20 เมกะวัตต์โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนยังคงเดินหน้า คัดค้านอย่างหนัก เช่นเดิม         ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ที่เริ่มรณรงค์ เคลื่อนไหวเพื่อยุติโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน    คุณหมอเริ่มคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มาตั้งแต่ตอนไหน        ไม่ได้เริ่มคัดค้านแต่แรก  โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เริ่มเลยมีมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชาย ปี 2531-2533 เขาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง เขตชุมชนไม่ควรจะอยู่แบบนี้ควรเอาออกจากเขตชุมชน เขาเลยจะหาที่ใหม่ ต่อมาปี 2536 รัฐบาลอนุมัติโครงการฯ เราในพื้นที่ นักวิชาการต่างๆ ก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วโครงการฯ ก็มีการทุจริต จนมีคดีความ ก็ชะงักไป  ในช่วงปี 2549  จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการฯ นี้ก็ถูกนำกลับมาอีก  ผมเข้าไปคัดค้านอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2556 ตอนนั้นยังเป็นขนาด 10เมกะวัตต์  แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น 20 เมกกะวัตต์  ในช่วงปี 2560         เขามีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 เลย ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจัดที่ไหน ครั้งที่ 1 คือผ่านหลักการไปแล้วเรียบร้อย ว่า โอเค ยอมรับให้ไปทำประชาพิจารณ์ต่อในวาระ 2 และ 3 เขาให้กำนันผู้ใหญ่บ้านพาชาวบาน ทั้งหมดเกือบ 600 คน มีการให้เงินคนละ 200 บา เขาบอกว่ามันคือค่าเดินทาง ปกติเราไม่จ่ายเงินในการประชาพิจารณ์ มันคือผิดกฎหมายนะ เพราะหลักการของประชาพิจารณ์ต้องอิสระ เสรี  แล้วต้องแจ้งล่วงหน้า  เหตุผลที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เลือกพื้นที่จังหวัดนครนายก เพราะอะไร         ผมยังไม่ทราบเลย ถามเขาก็ไม่มีคำตอบ คือพื้นที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไร ปกติการจะเลือกพื้นที่มันจะต้องมีการสำรวจก่อนเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ไหนเหมาะสมบ้าง มีกี่แห่ง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาเลือกว่าสุดท้ายจะเลือกที่ไหน เอกสารนี้เราขอเขาไปนานมาก ไม่เคยได้เลย อยู่ๆ มาบอกว่าจะทำที่องครักษ์เลย มันผิดขั้นตอนขององค์การระหว่างประเทศในการคัดเลือกสถานที่ที่จะตั้งนิวเคลียร์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่         คือการเลือกพื้นที่ เขาตัดสินใจมาตั้งแต่ปี 2533 ผ่านมา 33 ปีแล้ว เอกสารขอไปเราก็ไม่เคยมีให้ชาวบ้านได้ดูเลยทั้งที่ข้อมูลนำมาวางเลยสิ่งเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่างๆ ได้ และการกำหนดพื้นที่ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่เดิมยุทธศาสตร์จังหวัดนครนายกเป็นเมืองไข่แดงที่รอบด้าน ล้อมด้วยจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหมดแล้ว ทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กทม.  อยุธยา ลพบุรี เหลือแต่จังหวัดนครนายกที่ยังไม่มีอุตสาหกรรม ในปี 2558 เราก็ต่อต้านคัดค้านผังเมืองอุตสาหกรรมไปซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่อยู่ๆ คุณจะมาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผมว่ามันข้ามขั้นเกินไปมากๆ เลยกับพื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนี้    เรื่องนิวเคลียร์ หลายประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว และเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายแห่งเช่นเดียวกัน หากมีการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือโครงการมีการทุจริตแบบนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบไหม         มี ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อคือ IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศนะ เราก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าการจะทำอะไร ต้องใช้แนวทางสากล เขาก็บอกว่าเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ใช่กฎหมายไทย ผมมองดูเขาไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มากทั้งที่ควรจะซีเรียส เหมือนกันเวลาที่เราจะปกป้องพื้นที่ เพราะเราบอกว่า ทั่วโลกเขายกให้เป็นพื้นที่ มรดกโลกนะ ไม่ควรสร้างเขื่อน เขาบอกว่า มรดกโลกไม่ใช่กฎหมาย เป็นแบบนั้น ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีความคืบหน้าอย่างไรหลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา      ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน คือวันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 เรากับชาวบ้านก็คัดค้าน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ขัด ทั้งที่เราถามเขาไปหลายเรื่องแต่ไม่ได้คำตอบเลย อย่างแรกเลยคือพื้นที่จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไรยังไม่มีคำตอบ สอง พื้นที่ตั้งของโครงการฯอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำนครนายก  อาจห่างไม่ถึงกิโลด้วย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมามีโอกาสที่จะรั่วไหลลงแม่น้ำได้ ด้วยสภาพความเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง เตาซีเมนต์ เหมือนตุ่มใบหนึ่งหากตั้งแล้วโคลงเคลงก็แตกได้แล้วเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง  การปนเปื้อนจะกระจายลงแม่น้ำนครนายก ลงบางประกง คลองรังสิต เข้า กทม. ปทุมธานี เจ้าพระยาได้เลย นอกจากนี้โครงการฯ ยังอยู่ติดชุมชน ตลาดสดองครักษ์ พอเราคัดค้านเรื่องนี้ เขาเลยประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ไป ซึ่งในต่างประเทศเขาดูผลกระทบกว้างมาก เป็นระยะรัศมี 5 กิโลเมตรเลย ซึ่งในพื้นที่ของโครงการฯ ในระยะ 5 กิโลเมตรของเรา เราจะมีโรงพยาบาล มศว. มีคนไข้วันหนึ่งราว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษา มศว. 10,000 คนขึ้นไปชุมชนรอบนั้นมีวิทยาลัยกีฬา มีวิทยาลัยการอาชีพ บ้านพักผู้สูงอายุ เดี๋ยวเรือนจำไปตั้งอีก ผมคิดว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่โครงการฯ จะมาตั้งหากมีสารเคมีรั่วกระจายลงแม่น้ำนครนายก ปลาของชาวบ้านจะกิน หรือจะขายได้ไหม ความมั่นคงในอาหาร เราจะเสียไปทันที         อีกความเคลื่อนไหว คือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปดูงานนิวเคลียร์ของเขา เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้เข้าด้วย พอไปดูแล้ว ผมมองว่ายังไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลย  ชื่อโครงการเต็มๆ ว่า โครงการจัดตั้ง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  จริงๆ ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ไหม         คือรังสีมีประโยชน์ เราใช้ทั้งในการแพทย์ วินิจฉัยโรค ใช้รักษาโรคมะเร็ง อันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอัญมณี ใช้วิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร ทำให้พืชพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่แบบนี้ครับ ประเด็นเลย คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราพอบอกว่า อยากได้รังสีนิวเคลียร์ก็คิดถึงเตานิวเคลียร์ อยากได้น้ำก็นึกถึงเขื่อน เป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้น จริงๆ ต้องบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์มันถูกสร้างได้หลายแบบ หลายวิธี และเราไม่ต้องสร้างเองทั้งหมด หากเราสร้างสารได้ 5 ตัว เราสามารถใช้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทั้งหมด ทุกตัว         ประเด็นต่อมาคือ เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงต้องการตัวไหน เพราะอะไร ความต้องการมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญที่จุฬาประเมินเมื่อ 5- 6ปี แล้วเขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำนะ เราจะสูญเสีย โอกาสปีละเป็นพันล้าน รายงานการประเมินตัวนี้เราไม่เคยได้เห็น จนเมื่อร้องเรียนอย่างหนัก เขาเลยปล่อยรายงานหลายร้อยหน้าให้ชาวบ้านได้ดูเมื่อใกล้จะจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เราได้ทราบเลย ทั้งที่เขาเพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ จนถึงวันนี้ครบ 3 เดือน หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว  คุณหมอจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร            ผมส่งเสียงตลอด ในทุกเวที ทุกสื่อที่มีโอกาส  แล้วเมื่อเขาทำหนังสือตอบเรามาว่าเขาทำตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการก็ยังไม่ได้ยุติ ตอนนี้หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10 ก.ย. จะครบ 3 เดือน ยังไม่มี ความชัดเจนเลย เราอาจจะทำจดหมายซักถามและคัดค้านจดหมายที่เขาตอบกลับเรามา   อยากฝากอะไรกับสังคมบ้าง          หนึ่งนะครับ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งบประมาณเกือบกว่า 2 หมื่นล้าน เป็นเงินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ตอนนี้ประเทศของเรายากจน งบขัดสนการจะนำเงินไปใช้ต้องมีความหมายต่อเวลานี้อย่างมาก สอง โครงการควรสร้างความกระจ่างเรื่องการทุจริตก่อน ตอนนี้ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ยังฟ้องร้องกันอยู่  โครงการของรัฐใหญ่ๆ ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น มีที่มา ที่ไปชัดเจน และให้ทุกคนได้รับรู้ อะไรที่มันไม่ชัดเจนแบบนี้ ไม่มีที่มา ที่ไป มันคือการใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า  และปัญหาใหญ่สุดคือการทิ้งกากนิวเคลียร์อายุร้อยปี พันปี หมื่นปี ทิ้งไว้บนฝั่งแม่น้ำนครนายกของเรา เพราะย้ายไม่ได้ ทุบไม่ได้ หนีไม่ได้  ผมมองว่า จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มาพักผ่อนได้ เป็นสวนหย่อมของประเทศแห่งหนึ่งเลย จึงอยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันจับตาโครงการฯ นี้ และเอาความจริงให้กับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน

        นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้         ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน  พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย         ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ  ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง               วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน  ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร         ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย  ปัญหา คืออะไรบ้าง          ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว         มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง          และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้  จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่            ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ  ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ  ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก         สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร         ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน          คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี   การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้            ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้            ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง          เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว          คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย         ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก         ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป         นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ   สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ”       จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่         เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี  2544  ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ           ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ   เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป         ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน         เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล  ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้  เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล  เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร         พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน  คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ  เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร         เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา  ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้  ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย        ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ  แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้         สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ  เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้  เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้  ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร  ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย  การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี  เป็นอย่างไร         พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ  และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา   ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง         ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร         ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี  อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร  และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป         เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว  แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้  เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก  แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย  อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย  วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง  ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก  มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร         ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร  สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย  เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก  ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง  ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง         เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ  มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย  ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ    สิ่งที่อยากฝาก          เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 “ดูดไขมัน” บทเรียนที่ต้องการส่งต่อ

        ข่าวประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากคลินิกเสริมความงามยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางรายทำให้เสียรูปโฉมไปตลอด ไม่สามารถแก้ไข กลับคืนดังเดิมได้ กรณีของคุณพงษ์พัฒน์  ลอมคุณารักษ์ ที่ได้เข้าไปรับการฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก ในช่วงปี 2564 นอกจากไขมันจะไม่สลายหายไปแม้แต่น้อยแล้ว เขายังต้องรักษาตัว เจาะท้อง ล้างแผลอยู่กว่าหนึ่งเดือน อันตรายที่รุนแรงที่สุดระหว่างรักษาตัวคือเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ !ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร           ช่วงปี 64 ผมเริ่มอ้วน น้ำหนักขึ้นมาเยอะมากถึง 97 แล้ว ตอนนั้นไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผมเลยหาวิธีดู ศึกษาแล้วทางคลินิกเขาก็โฆษณามาว่า เห็นผลจริง ไม่มีอันตราย ผมถามหมดว่ามีผลเสีย มีผลกระทบอะไร คลินิกก็แจ้งว่าไม่มี เขาพูดให้เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมันทำได้ ผมเลยเข้าไปรับบริการ ฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิก คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก           พอฉีดแล้วมีรอยเข็มเต็มหน้าท้องเลย แล้วมีรอยช้ำใหญ่ วันนั้นทางแพทย์ กับเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ตอนแรก เขาบอกว่าจะไม่มีรอยช้ำ ไม่มีอะไรเลย พอเป็นแล้ว เขาก็บอกว่าประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะหาย แต่ผ่านไปรอยเข็มหาย แต่รอยช้ำก็ยังไม่หาย ทางคลินิกก็โทรชวนให้ผมไปฉีดเพิ่ม ผมก็บอกว่าให้หายก่อน ตอนที่ผมไปฉีดผมไม่ได้คาดหวังว่า ฉีดไปแล้วจะเห็นผล 100 %  คือผมหวังแค่ว่า ฉีดแล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะกลับมาแย่ขนาดนี้ แล้วหลังจาก 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการเป็นอย่างไร          ตอนแรกผม ไม่รู้ว่าเป็นอะไรมันเป็นรอยช้ำอย่างที่บอก ผมรอให้หายแต่ไม่หาย  ผมถ่ายรูปส่งให้คลินิก แล้วเข้าไปที่คลินิกเล่าว่าอาการเป็นแบบนี้  ช้ำแล้วเจ็บไม่หาย คลินิกก็นัดให้เข้าไปตรวจ แพทย์คนที่ฉีดให้ผมตรวจแล้วไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร หรือสาเหตุเกิดจากอะไร เขาขอออกไปโทรปรึกษาอาจารย์ใหญ่ข้างนอก พอกลับเข้ามาแล้วก็ขอเจาะ ดูด เขาโปะยาชา แล้วเขาก็ขอกรีดเลยตอนนั้นเร็วมาก เขากรีดเป็นรอย เพื่อระบายหนองออกมา หลังจากนั้นแพทย์บอกว่าต้องล้างแผลที่คลินิกทุกวันเพราะเป็นหนอง ผมบอกว่าไม่สะดวก ที่จะต้องมาล้างแผลทุกวันที่คลินิก คุณหมอเลยเสนอให้ผมไปล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและให้คำมั่นว่า  ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะค่าทำแผล ค่าน้ำมันรถไปทำแผล ค่ารักษาตั้งแต่เริ่มจนหาย ค่าตรวจร่างกายต่างๆ หากกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงใดๆ หมอและคลินิกจะออกให้ทั้งหมด และจะโทรติดตามอาการคนไข้ทุกวัน  ผมเลยไปล้างแผลที่สถานพยาบาลที่ผมสะดวก ผมถามหมอที่คลินิกว่าผมเป็นอะไร เขาก็บอกว่า ผมเป็นหนอง    แล้วที่คลินิก บอกว่าจะรับผิดชอบ เขาได้รับผิดชอบอะไรบ้าง            วันรุ่งขึ้นผมก็ไปล้างแผลปกติ เขาก็โทรมาสอบถามอาการ ผมก็ส่งเอกสารค่าบิล ค่าน้ำมันรถ จำนวน 1,300 บาท เขาก็โอนเงินมาให้ในวันนั้นเลย  แต่วันต่อมาผมก็ไปล้างแผลอีกเพราะต้องล้างทุกวัน ทนายความของคลินิกก็โทรมา บอกว่าไม่ขอรับผิดชอบแล้ว  ให้ผมรับผิดชอบตัวเอง จะไปรักษาหรือไปทำอะไร ก็ให้เราไปรักษาเองเลย เพราะเขาไม่มั่นใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผม เกิดจากคลินิก  แต่ที่ได้กรีดหนองให้ในครั้งแรก เป็นความช่วยเหลือเบื้องต้นที่หมอทั่วไปก็ต้องทำ         แล้วตอนแรกที่เขาบอกว่าจะรับผิดชอบ ผมให้เขาไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพราะเขาพูดอย่างเดียวมันเป็นคำพูด พอได้ยินว่า “ให้ไปลงประจำวัน” เขาไม่คุยด้วยเลย ถ้าตอนนั้นเขารับผิดชอบ เรื่องคงไม่มาถึงตอนนี้  ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาจะรับผิดชอบแต่เขาไม่ลงบันทึกประจำวันไว้ ผมไม่ต้องการอะไรมาก คือแค่ต้องการให้หาย และได้รับการดูแลที่ดีที่สุด แม้ทางคลินิกจะบอกว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์เชื่อมั่น         ตอนที่ผมไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล ผมไปล้างแผลทุกวัน แล้วไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางทุก 2 สัปดาห์ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอก็บอกว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่น่าจะมาจาก 2 สาเหตุคือ 1. เกิดจากกระบวนการ ที่เข็มอาจจะไม่สะอาด  และ 2.เกิดจากการใช้ยา  ซึ่งการแพ้ยาเกิดได้น้อยมากซึ่งถ้าแพ้ยาคือต้องแพ้ทั้งหมด ทุกเข็มที่ฉีดไปคือจะต้องมีรอยทั้งหมดเลย  ไม่น่าจะเกิดแค่รอยเดียว ผมพยายามสอบถามคนรู้จักที่ทำคลินิกด้วยกันมาเรื่อยๆ  ผมก็มั่นใจที่จะต่อสู้ ตลอดเวลาที่รักษาตัว  มีอาการเป็นอย่างไร         ช่วงที่รักษาตัว ผมไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เลยเพราะว่าทำแผลเป็นแผลเปิด ไม่ใช่แผลเย็บ ฆ่าเชื้อ ใช้ยา และยัดเข้าไปแผล  แล้วก็ต้องรอจนกว่าเนื้อจะเติมเข้ามาเต็ม ซึ่งต้องใช้เวลา         ผมรักษาตัว ทำแผลอยู่กว่า 1 เดือน ระหว่างนี้ก็มีหนองทุกวัน ผมไปล้างแผลทุกวัน ผมใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลยผมนอนไม่ค่อยหลับ เวลานอนเลือด หนอง ออกมาตลอดเวลา ผมเครียดมาก         นอกจากอาการทางร่างกาย จิตใจ ช่วงนั้นผมก็ขาดรายได้ด้วย ผมทำอาชีพอิสระเป็นเหมือนนายหน้า   วิ่งซื้อของส่งช่วงนั้นคือจะทำไม่ได้ เพราะว่าเดินทางไม่ได้ แล้วเริ่มดำเนินการเพื่อต่อสู้อย่างไร         หลังจากแผลหายแล้ว  ผมก็ไปแจ้งความเลย แต่พอแจ้งความแล้ว ทนายความของคลินิกก็ติดต่อผมมาเลย   ทนายความของคลินิกติดต่อมาว่าอย่างไร         เขาให้ผมยุติการดำเนินการต่างๆ คือให้เราจบ  จบๆ กันไป  เหมือนว่าไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจบ เขาจะฟ้องกลับ พูดทำนองเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ได้  ถ้าเราดำเนินคดีกับคลินิก เขาก็จะดำเนินการฟ้องกลับ เขาพูดว่าสิ่งที่เกิดกับผมไม่ได้เป็นความผิดของเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์ไม่ได้หวั่นกลัว         ใช่ครับ ไม่ได้หวั่นกลัว แต่หวั่นใจว่าเกิดอะไรกับร่างกายเรา แต่มันเลยจุดที่เราจะกลัวมาแล้ว เพราะว่าตอนที่ผมรักษาตัวทรมานมากหมอที่รักษาผมยังบอกว่า เรื่องนี้ถ้าเลวร้ายที่สุดคือสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย  1 เดือนที่เราต้องรักษาตัวมาก่อนที่เราจะแจ้งความ ผมเลยจุดเลวร้ายมาแล้ว  แต่ผมต้องการที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะตอนที่รักษาตัวก็ไม่ได้มาดูแล แล้วยังเอาทนายมาข่มขู่  ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรจะเสียแล้วระหว่างต่อสู้ ผมก็หาข้อมูลมาตลอด หลังจากแจ้งความแล้ว ดำเนินการต่ออย่างไร            หลังจากที่ผมแจ้งความเสร็จ  ผมก็ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพิษณุโลก และยื่นขอความเป็นธรรม ตามหน่วยงานต่างๆ  ยื่นตามเพจขอความช่วยเหลือ มียื่นขอความเป็นธรรมกับรายการ สำนักข่าวช่อง 36  ร้องเรียนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ต่อมา สำนักงานสาธารณสุขก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ส่งความเห็นมาว่า  เกิดจากความบกพร่องของคลินิกเรื่องการจัดการ เขาได้ส่งใบตรวจยืนยันได้ว่าผมมาใช้บริการที่นี่จริง  ผมก็เอาใบนี้มาให้ตำรวจ ผมเข้าไปปรึกษาทางสำนักงานอัยการ เขาบอกว่า เรื่องนี้มันก็มีมูล  คือว่าให้เราแจ้งความและสามารถดำเนินคดีได้ ผมกลับมาหาตำรวจบอกว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รอก่อน หลังจากนั้นผมก็ยื่นเรื่องไปที่แพทยสภา  แพทยสภาบอกว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ         ผมเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ เอาใบที่เขาแจ้งว่า บกพร่อง หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า เขามีมูลความผิด ทำไมสาธารณสุขไม่ทำการลงโทษ  หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์มีใบแจ้งมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก ให้ดำเนินการลงโทษ แจ้งคลินิกและปรับกรรมการผู้บริหาร  และแพทย์ประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เข้าข่ายความผิดฐาน ผิด พรบ.  โฆษณา โอ้ อวด เกินความจริง         การยื่นเรื่องที่แพทยสภา เขาก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน มีหนังสือมาให้ผมเดินทางไปที่แพทยสภาผมเล่าเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรจนสุดท้ายก็มีหนังสือออกมาว่าแพทย์ที่ให้บริการผมมีความผิดจริง  ผมได้มายื่นร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย มีเจ้าหน้าที่โทรติดตามสอบถามว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ต่อเนื่อง   เรียกได้ว่า คุณพงษ์พัฒน์ได้ต่อสู้ จนถึงที่สุด         ครับ เพราะระหว่างที่ยังมีเรื่องนี้กับผม เขาก็ยังเปิดขายคอร์สแบบนี้  ไม่ได้หยุด อะไรเลยซึ่งส่วนหนึ่งที่ผมออกมาร้องเรียน และยื่นเรื่องเพื่อจะเอาผิด เพราะผมต้องการเตือนให้ทุกคนรู้ด้วยว่า สิ่งที่เขาขาย มันไม่ได้มีความปลอดภัยนะ แต่ระหว่างนี้ผมก็ไม่ได้ประจาน ฝากถึงประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้         ผมเข้าใจว่าทุกคนต้องการผลลัพธ์ที่แบบว่า  ลดน้ำหนัก ต้องการให้เห็นผลเร็วที่สุด แต่วิธีการแบบนี้เรา เป็นหนูทดลองยาด้วย การลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ดีที่สุดแล้ว เราไม่ควรไปพึ่งพวกที่เป็นสารแต่งเติม หรือว่าอะไรมาช่วยเราด้านนี้  และเวลาเกิดปัญหาขึ้น คืออยากให้ตั้งสติและพยายามต่อสู้และหาข้อมูล  และเราก็ต้องยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำงานด้วย  เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะสู้คนเดียวได้ และการต่อสู้ต่างๆ  เราได้คำแนะนำของหน่วยงานด้วยว่าเราต้องทำอย่างไร  1-2- 3- 4   เพราะถ้าคนทั่วไปจะไม่รู้ได้เลยว่า การต่อสู้จะต้องทำอย่างไร แล้วการดำเนินคดีกับแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก  เพราะมีกฎระเบียบมาควบคุมอยู่ว่า  ถ้าจะดำเนินคดีกับแพทย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาก่อน แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ปกป้องแพทย์เสมอไปถ้าแพทย์ผิดจริง สามารถดำเนินคดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 “ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้”

        ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมาก  นิยมกันไปทั้งแบบเดี่ยวและแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยการท่องเที่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวย่อมสร้างความสะดวกให้มากกว่า จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามทัวร์เกาหลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลีใต้หลายกรณีด้วยกัน หลายรายประสบปัญหาจากการซื้อทัวร์เกาหลี ทำให้สูญเงินหรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้หลายลักษณะ  ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้ ฉลาดซื้อได้รับความกรุณาจาก คุณพฤกษ สามกษัตริย์ มาแบ่งปันเรื่องราวปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อทัวร์เกาหลีใต้  มาติดตามกันเลยค่ะ เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นอย่างไร         เริ่มที่ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลี ครอบครัวผมมีลูกและภรรยา ครอบครัวของเพื่อนก็เหมือนกัน รวม 3 ครอบครัว เราจะไปกัน 9 คน  ตัวผมไปมาหลายรอบแล้ว แต่เพราะจากสถานการณ์โควิดเราทราบว่ามีความยุ่งยาก ญาติพี่น้องเลยบอกว่า งั้นเราไปซื้อทัวร์แล้วกัน การไปเองมันเดินทางลำบาก ถ้าไปกับทัวร์ เราได้ขึ้นรถบัส มีเซอร์วิส บริการดี  แล้วราคาก็ถือว่ายุติธรรม  โปรแกรมที่ผมจะไปคือเดินทางช่วงกลางเดือนมีนาคม  5 วัน 3 คืน  บริษัททัวร์ที่เกิดปัญหาขึ้น ผมจองทัวร์กับเขาเพราะว่า มีคนที่รู้จักเคยไปมาแล้ว และแนะนำมาพอติดต่อไป บริษัทบอกว่า ตอนนี้เรามีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จากราคาต่อคนที่ 30,999 บาท เฉลี่ยลดลงมาที่ 17,499  จัดโปร 4 ชุด บวกกับอีก 1 คน  ราคาคำนวณทั้งหมดคือ 151,796 บาท         ทีนี้ผมทราบว่า ก่อนเดินทางต้องมีลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็บอกว่า  “ใช่ค่ะ ต้องทำคะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรมันจะหมด ”เราเลยบอกว่า “ได้ๆ เดี๋ยวผมจะเริ่มโอนตังค์มาให้”   เขาเลยบอกว่า ขอเก็บเต็มจำนวนเลย เพราะว่าเวลาเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ผมเลยโอนเต็มจำนวนไปเลย 151,796 บาท แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่        เริ่มเกิดในขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA บริษัททัวร์บอกว่า เดี๋ยวเขาทำให้ มันจะได้ผ่านง่ายเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันหมด แล้วเขาก็คิดเงินค่าดำเนินการคนละประมาณ  350 บาท ผมก็ส่งรายละเอียด ทั้ง 9 คนไปให้ คือครอบครัวผมและครอบครัวเพื่อนๆ ไป 3 ครอบครัว ปรากฏลงทะเบียน K-ETA ส่งไป 9 คน  คนที่ผ่าน  มี 4 คนครับ คือมีผมคนเดียวและเด็กอีก 3  คน  กลายเป็นพ่อแม่ของที่เหลือไม่ผ่านกันสักคน ผมเลยบอกว่า “อ้าว แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำยังไงถ้าไม่ผ่าน”  เขาก็แนะนำว่า อย่าทำรอบ 2 – 3 เลย   เพราะว่าถ้าทำ จะไม่ผ่านอยู่ดี แล้วทำได้แค่ 3 รอบ การลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้คือบริษัทลงให้           ผมส่งข้อมูลให้บริษัทลงให้  คือผมวางใจเพราะผมไปเที่ยวเกาหลีเองแล้วหลายครั้ง คือเราไม่ค่อยเป็นคนที่น่าสงสัย แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันคนอื่นๆ เป็นเจ้าของกิจการ ได้รายสูงทุกอย่างโปรไฟล์ดีมากๆ  เขาไปต่างประเทศมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเข้าประเทศเกาหลีใต้  ส่วนเด็กๆ เขาไม่มีประวัติอะไร  ผมเลยให้ข้อมูลไป  ทางบริษัททัวร์ก็บอกว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” แต่ผู้ใหญ่ไม่ผ่านสักคน  มีผมคนเดียว         แต่ถามว่าลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่านเพราะอะไร  ผมกำลังสันนิษฐานว่า บางทีรูปไม่ชัดเพราะว่าเขาใช้ AI ตรวจ ไม่ได้ใช้คนตรวจ ผมรู้สึกได้เลยว่าบางรูปมันไม่ตรงปก เพราะเนื่องจากว่า เขาจะให้เราถ่ายรูปหน้าตรงพื้นหลังสีขาว  ใส่เสื้อสีขาวแล้วส่งไป รูปพวกนี้ เราดูด้วยตาเรายังรู้สึกเลยว่าไม่เป็นธรรมชาติ  แต่ทางบริษัททัวร์ที่ทำให้ เขาก็ไม่ช่วยเราติงว่า “พี่คะ รูปมันไม่เคลียร์นะคะ  พี่คะ ช่วยถ่ายรูปใหม่ได้ไหม” จะไม่มีข้อแนะนำใดๆ เลย เขาได้อะไรจากเรา  เขาก็เอาไปทำต่อเลย พอเกิดปัญหา แล้วเริ่มแก้ไขอย่างไร          ผมก็ถามทางเจ้าหน้าที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราต้องทำยังไง  เราผ่านกันแค่ 4 คน  เขาบอกว่า ก็จะต้องไป 4 คน เราบอกว่า “ไม่ได้สิ  ผมจะเอาลูกคนอื่นไปยังไง  พ่อแม่เขาต้องไปด้วย” ทางทัวร์เลยบอกว่า  อย่างนั้นเท่ากับว่าผมยกเลิกซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกของเขา คนที่ผ่านคือผมกับเด็กอีก 3  คน จะได้รับเงินคืนแค่ครึ่งเดียว จะหัก 50%  ส่วนคนที่ไม่ผ่านถูกหักรายละ 500 บาท  ผมเลยบอกว่าในความเป็นจริง ทำไมคุณถึงไม่บอกว่าให้ลงทะเบียน K-ETA ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจองทัวร์ ถูกไหม เพราะว่าถ้าคุณมีเงื่อนไขคืนครึ่งเดียวสำหรับคนที่ผ่าน แล้วถ้าเราจะไปเป็นบางคนมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน เขาไม่แจ้ง เขาบอกว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันเป็นกฎ         ผมจึงแจ้งยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกทัวร์และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร         ผมคิดว่าเขาควรจะสื่อสารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจนกว่านี้ ต้องให้ชัดเจนมากๆ ผมติดที่ว่า เขาไม่พูดความเสี่ยงให้เราฟัง และไม่ช่วยเหลือเราในการแบบว่า “เห้ย เดี๋ยวพี่จะเสียเงินฟรีนะ ถ้าทำตรงนี้ไม่ผ่าน”   เขาไม่ช่วยเรา  แล้วอีกกรณีที่สำคัญ พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมคิดว่าช่วยๆ กันได้ เพราะว่าเขาก็ยังไม่ได้ซื้อตั๋วอะไรให้เราเลย เพราะล่วงหน้าเป็นเดือน เราเลยคิดว่าเขาจะคืนเงินให้เราเยอะกว่านี้ ผมจะรู้สึกดีกว่านี้         ถามว่าในเอกสารโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทเขาระบุไว้ไหม เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของไม่สื่อสารเราแบบนี้ มันจะมีแชท ที่ผมส่งรูปเข้าไป ที่ผมสอบถาม แล้วเราจะต้องทำยังไง เขาจะบอกว่าโอนจองก่อน รีบโอน เดี๋ยวหมดโปร คือเขาโทรมา เขาไม่ได้พิมพ์  เขาพิมพ์มาแค่ว่า ช่วยโอนเงินจองก่อนค่ะ เพียงแต่ผมคิดว่า เขาควรจะบอกว่า “คุณลูกค้า ช่วยทำ K-ETAให้ผ่านก่อนนะคะ แค่คนละ 350 บาท ”  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร เขาไม่แนะนำให้ทำ K-ETA ก่อน เราไม่เชิงปรึกษา เราถามเขาเพราะเห็นในเอกสารว่าต้องทำ เจ้าหน้าที่บอกว่า  “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน” ผมเชื่อตามด้วยความคิดแบบนี้ ผมเลยซื้อทัวร์         อีกอย่าง สมมติถ้าผมรู้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ผมบอกว่า ให้เขาทำ K-ETA ให้ก่อนได้ไหม ในนั้นเขาระบุว่าไม่ได้  เขาจะทำ K-ETA  ให้ต่อเมื่อเราลงทัวร์กับเขาแล้ว  เขาถึงจะมีบริการทำให้ อันนี้เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผิด จริงๆ คุณต้องทำก่อนสิ  เราถึงจะจ่ายเงินทัวร์ ถึงจะยุติธรรม แต่กลายเป็นเราจ่ายทัวร์  แล้วให้เขาไปทำ ถ้าไม่ผ่าน ก็โดนเงื่อนไข โดนหักเงิน  ผมโดนหักเงินไป 33,732 บาท จนถึงปัจจุบันปัญหาได้รับแก้ไขอย่างไร          ตอนแรกครอบครัวก็บอกว่า เราแจ้งไปที่  สคบ. เลยไหม แต่เงินกว่า 150,000 บาทเกิดจากการรวมกันของหลายครอบครัว   พวกเราหลายคนกลัวว่าเงินจะจม ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้คืน เงินแสนนึงเราเอามาทำอะไรได้มากมาย  ญาติพี่น้องผมบอกว่า ถ้าไม่ได้ไปเกาหลีเขาก็อยากเอาเงินไปเที่ยวประเทศเวียดนาม  ต้องใช้เงินในการทำทริปต่อไป เราเลยจำใจต้องเอาเงินคืนกลับมาให้ได้ก่อน เพราะว่ายังไงเราก็ไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทิ้ง  เราก็ยอม แล้วทำเรื่องส่งไปให้ทำเงินคืนให้หน่อย  บริษัทบอกว่าจะคืนให้ภายใน 7 วัน  เราก็รอไปเกือบเดือน กว่าจะได้เงินคืน จนผ่านเวลาที่จะเดินทางไปแล้ว เราตามหลายครั้งจนได้เงินคืน  มาราว 1 แสน 1 หมื่นกว่าบาท   อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจจะซื้อทัวร์ไปประเทศเกาหลี         ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง แบบขอตัวแดง บันทึกไว้ทุกที่เลย แค่ระบุว่า  อันนี้เขาพูดแบบ ก็มีกรณี มีตายาย พ่อแม่และลูกจะไปด้วยกันแต่พ่อแม่ไม่ผ่านเขาก็ไปกับตายายได้ ผมมองว่ามันตลกหรือเปล่า หลายกรณีมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเที่ยวได้  เอาจริงๆ ครับ ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าง่ายมากเลย  บังคับให้ลูกค้า หรือคนที่จะไปทัวร์ลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้ผ่านก่อน  วิธีทำให้เรียบร้อยครับ  มีการสื่อสารแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะลงลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องมีชุดความรู้ที่ถอดออกแนะนำได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 บขส.วางเงินจ่าย 15 ล้าน คดี 11 ชีวิตอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรี

        “ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้”         วันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุทั้งหมด 25 ราย           นี่คืออุบัติเหตุครั้งสำคัญในช่วงปีใหม่ของปี 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ครอบครัวผู้สูญเสียควรได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญมาจากบริษัทเจ้าของรถยนต์ เจ้าของบริษัท และบริษัทขนส่งจำกัด ไม่กำกับดูแลให้การเดินทางมีความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นำมาสู่การฟ้องคดีทั้ง 3 หน่วยงานตั้งแต่ปี 2560 ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาคดีความได้ถึงที่สิ้นสุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ บริษัทขนส่งจำกัด ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า10 ครอบครัวที่รวมกันฟ้องคดีกับมูลนิธิฯ  หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ คุณเกษมสันต์ และ เกศรา ไทยตรง พ่อและแม่ ที่ได้สูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุสุดสลดใจครั้งนี้ ตลอดระยะ 6 ปีที่รอความยุติธรรม นี่คือเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้สูญเสียที่ยืนหยัดต่อสู้จนถึงวันที่คดีความสิ้นสุด ช่วยเล่าถึงสถานการณ์ในตอนนั้น         อุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวพี่สูญเสียลูกชาย คือน้องคิว กันตินันท์ อายุ 23 ปี  พี่มีลูกทั้งหมด  2 คน คนที่เสียเป็นคนโต  เขาไปเรียนอยู่กรุงเทพ ครอบครัวก็ส่งเสีย พอเรียนจบเข้าได้ทำงาน ที่ธนาคารเกียรตินาคินฯ อยู่ที่กรุงเทพต่อและเขาดูแลตัวเอง และส่งเงินมาให้พ่อแม่ และน้อง  พอเขาเสีย เราไม่มีรายได้จากตรงนั้น ตอนนี้คุณพ่อก็ไม่ได้ทำงานแล้ว           วันที่เกิดอุบัติเหตุ คือวันที่ 2 มกราคม ปี 2560  มีคนโทรมาบอกช่วงบ่าย ตอนแรกไม่เชื่อแต่พอได้ดูกล้องวงจรปิดของบริษัทรถตู้ ตอนที่เขาไปขึ้นรถตู้ที่อำเภอเมือง จันทบุรี  เลยรู้ว่าลูกชายเราขึ้นรถตู้คันนั้นไปด้วย จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี เริ่มได้อย่างไร         พอเกิดเรื่อง เราเสียใจมากๆ ทุกครอบครัวก็เหมือนกัน เป็นความสูญเสียที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ พี่ไม่ได้เริ่มต้นอะไร เราสูญเสียแต่เราไม่รู้ว่า จะเรียกร้องตรงนี้ได้จากใคร  เราคิดว่าสิทธิของเราอยู่แค่นั้นคือมีบริษัทจากประกันรถยนต์เขาเข้ามาชดเชยให้ ตอนแรกเราไม่ได้เริ่มต้นที่จะรวมตัวแล้วไปเรียกร้อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วเรามีสิทธิ์อะไรนอกจากนี้         จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ามาเสนอ ให้คำแนะนำ มูลนิธิมองว่า เราควรจะได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือมากกว่านี้  เราไม่รู้จักมูลนิธิเลย มูลนิธิฯ ลงมาหาครอบครัวผู้เสียหายหลายครั้ง ให้ความช่วยเหลือ เราก็คิดว่าเราไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว เมื่อมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ แล้วถ้าเรามีสิทธิ์จริง เราคงจะทำเองไม่ได้นะ  เรามีกำลังใจขึ้นมาจึงตัดสินใจดำเนินการ มูลนิธิฯ ดำเนินการให้ทั้งหมด เพราะกลุ่มผู้เสียหายเราไม่รู้จักกันเลยตอนแรก มูลนิธิเริ่มรวบรวมแต่ละครอบครัวๆ เราเลยได้รู้จักมูลนิธิจากตรงนี้  อุบัติเหตุเกิดต้นปี 60 ภายในปีเดียวกัน เราก็ฟ้องคดี ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ครอบครัวประสบกับอะไรบ้าง  มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม         มีหลายอย่างมากๆ  เรามีความไม่สะดวกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเดินทาง  ต้องลางาน    สำหรับพี่นะ แล้วในกลุ่มแต่ละคนก็หลากหลายมาก  คนอื่น เขาก็อยู่ไกลกว่าพี่ เขาเดินทางลำบาก เพราะเราไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนอยู่ต่างอำเภอ บางคนอยู่สวนลึกๆ เขาไม่สะดวก เขาไม่มีรถยนต์ เขาเดินทางลำบากมาก  แต่ละครั้งเราก็มาตามที่ศาลนัดกันครบ  ระหว่างที่รอคอยการสิ้นสุดคดี มีปัญหาตรงที่ เราไม่รู้ว่าคดีจะจบลงอย่างไรด้วย  ทางฝั่งจำเลย เราคิดว่าเขายื้อคดี เพราะเขาไม่มาศาลบ่อยมาก แล้วเขาสู้จนถึงศาลฎีกา ทำให้ระยะเวลามันยาวนานมาก  เรารอคอย คอย ถึงเวลาที่ไปศาลเราก็รวมตัวกันไป ปีแล้ว ปีเล่า เราคอยด้วยความหวัง แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  รอคอยมา 6 ปี คิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ แม้ดูเลือนลางแต่ลึกๆ เราต้องรอคอยด้วยความหวัง   แต่ในที่สุด ทุกคนในกลุ่มรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันจนถึงวันที่คดีสิ้นสุด          เราก็สู้มาตลอดเลย  มูลนิธิให้กำลังใจว่าอย่าท้อ  จริงๆ เราในกลุ่มหลายคน เราเริ่มท้อกันตั้งแต่ปีที่ 2 ปีที่ 3 แล้ว  หลายคนเราไม่มีเงินไปศาล ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่น แล้วไปศาลแล้วต้องไปอีกกี่ปี ก็มีความคิดแบบนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยู่กันจนครบ ต้องบอกว่าเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มที่เราฟ้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรายังอยู่กันจนครบ ทั้งหมด เรามีกัน 14 คน รวมทั้งพ่อแม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง         เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำคดีต่างๆ ไม่มีเลย ไม่มีค่าใช้จ่าย มูลนิธิไม่เรียกร้องเลยออกให้หมดเลย  เขาไม่เรียกร้องอะไรเลย เวลาเดินทาง กรณีพี่นะเราต่างคนต่างไป เรานัดเจอกันที่ศาล พี่ยังสะดวกว่าบ้านพี่อยู่ในตัวเมืองและขึ้นศาลที่ตัวจังหวัดจันทบุรี แต่คนอื่นๆ ต้องออกมาจากสวน หรือเขาอยู่ในอำเภอที่ไกลๆ ก็จะลำบาก อยากฝากอะไรถึงสังคม หรือประชาชน         พี่ว่าควรมีหน่วยงานที่ออกมารับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น เพราะ บางครอบครัวเขาไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน หน่วยงานควรจะออกมช่วยเหลือ แนะนำว่าเราควรทำอะไร สิทธิของเรามีอะไรบ้าง  เรียกร้องค่าเสียหายจากใครก็ได้ ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้ เพราะขนาดเรามีกลุ่มมูลนิธิมาช่วย  เรายังต้องคอยมาถึง 6 ปี  บางครอบครัว 6 ปี นานมาก เขาสูญเสียคนที่หารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว แล้วยังไปขอยืมกู้หนี้ ยืมสินมาสำรองระหว่างที่เราต้อสู้คดี  เวลาที่รอคอยมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อยากให้รับผิดชอบกับชีวิตประชาชนให้มากกว่านี้ อาจเป็นรูปแบบกองทุน เพื่อสำรองจ่ายให้บางครอบครัว  เขาไม่ได้มีเงิน แต่ถ้ามีกองทุนสำหรับช่วยเหลือตรงนี้ สำรองจ่ายให้แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ว่า ให้เราดำเนินการเอง 

อ่านเพิ่มเติม >