ฉบับที่ 112-113 เจ้าหน้าที่ก็เจอดี

เรื่อง เล่าฉบับนี้ขอเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนะครับ แต่ดันมาเกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแทนครับ เป็นเรื่องของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ สุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งหนึ่ง จากที่ผมได้รู้จักกับเธอยอมรับว่าเธอมีเลือดเนื้อรวมทั้งจิตวิญญาณของการ คุ้มครองผู้บริโภคเต็มเปี่ยมเพราะจังหวัดของเธอดำเนินคดีกับผู้ผลิตแบบกัด ไม่ปล่อยมาหลายรายแล้ว วัน หนึ่งเธอเดินทางไปเที่ยวที่อเมริกา และได้ซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ Pin Phone เพื่อใช้ในยามติดต่อกลับประเทศ และเธอก็มีโอกาสได้ใช้มันจริงๆ โดยใช้โทรผ่านโทรศัพท์มือถือของเธอเครือข่ายหนึ่ง แต่ พอกลับมาเมืองไทย ยังไม่ทันจะได้ดื่มด่ำกับความสุขจากการเดินทาง เธอก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์จากเครือข่ายนี้ 10,056.47 บาท โอ้...แม่เจ้า แต่ด้วยความที่เธอมีเลือดคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เต็มตัว “ทีเรื่องคนอื่นเจ๊ยังดำเนินการเปรียบเทียบปรับมาหลายราย พอมาเจอกับตัวเอง เจ๊ทนไม่ด๊ายยย” (ฮา) เธอโทรไปที่บริษัทมือถือ สอบถามว่า เหตุอันใดจึงคิดค่าโทรซ้ำซ้อน เพราะเธอเข้าใจว่าเงินค่าโทรมันน่าจะหักจากบัตร Pin Phone แล้ว ทางบริษัท มือถือตอบเธอว่า จะลดค่าโทรให้ 1,941.10 บาท เล่นแบบนี้มีหรือที่เธอจะยอม ขอตรวจสอบเบอร์ที่โทรก่อนถึงจะยอมชำระเงิน(เพราะในบิลไม่ระบุเบอร์โทรนี่นา) แต่ทางบริษัทกลับตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบเบอร์ได้เนื่องจากเป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศที่ใช้บริการ แต่ในระหว่างนี้บริษัทได้เก็บเงินไปแล้ว โดยหักจากบัตรเครดิตของเธอไป 8,115.37 บาท (แหม..ทีเก็บเงินล่ะเร็ว...ฮา) เมื่อ สถานการณ์บังคับ เธอจึงร้องเรียนไปยัง สคบ. ซึ่ง สคบ.ก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงบริษัทมือถือให้พิจารณา และเมื่อได้ผลการพิจารณาจากบริษัท ก็ได้แจ้งกลับมาให้เธอทราบ สรุปผลการพิจารณาจากบริษัทแจ้งมาพร้อมข้อความรายละเอียดต่างๆ ที่คนทั่วไปอ่านแล้วคงงงๆ แต่พูดย่อๆ ง่ายๆ ว่า ไม่จ่ายคืน(จะทำไม?) ซึ่งเธอก็ได้ใช้สิทธิโต้แย้งกลับไป สุดท้าย เมื่อไม่ไหวจะเคลียร์ เธอเลยตัดสินใจสวมวิญญาณ จีจ้าราชินีหนังบู๊ ร้องเรียนไปยังศาลจังหวัด โดยยื่นคำขอฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปาฏิหารย์ มีจริงครับ เพราะที่ผ่านมาบริษัทอ้างโน้นอ้างนี้ตามระเบียบและเหตุผลต่างๆ ที่เราคนธรรมดาอ่านแล้วยังงงๆ แต่ปรากฏว่าพอเป็นเรื่องฟ้องคดีเท่านั้นแหละ บริษัทวิ่งให้ทนายมาขอไกล่เกลี่ย โดยจะชำระเงินคืนให้ 7,000 บาท ซึ่งเป็นยอดที่บริษัทไม่สามารถบอกเบอร์ปลายทางได้ และเมื่อบริษัทโอนเงินกลับมาให้ เธอจึงได้ถอนฟ้อง แบบเรียบร้อยโรงเรียนจีน (ไม่ใช่ซิโรงเรียนผู้บริโภคมากกว่า) เธอ ฝากผมมาบอกท่านผู้อ่านว่า หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อย่ายอม “เรายังมีทางเลือกที่เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคได้เลย” เพราะมันช่วยได้จริงดังกรณีเธอเป็นตัวอย่าง ขอบคุณน้องท่านนี้ผ่านคอลัมน์ด้วยนะครับ อย่างน้อยก็คงทำให้ทั้งผู้อ่านและบริษัทได้บทเรียนไปด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 แปลกจริงหนอ ... ขอเสี่ยงสักหน่อย

พฤติกรรมการบริโภคผิดๆ ยังคงเป็นสิ่งที่มีมาเรื่อยๆ พวกผมเลยต้องหาทางรณณงค์ชี้แจงเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจให้ถูกต้องและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่พฤติกรรมผิดๆ เหล่านี้ บางทีมันก็คาดไม่ถึงหากเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีในกลุ่มพวกเขา “ฉันรู้ว่าครีมหน้าขาวอันตราย แต่ฉันขอใช้” ผมเคยเก็บตัวอย่างครีมทาหน้าจากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งไปตรวจ ผลปรากฏว่าครีมทาหน้าขาวที่ร้านเสริมสวยแห่งนี้มีไว้จำหน่ายกลับไม่พบสารอันตราย แต่กระปุกที่เจ้าของร้านใช้เองกลับพบสารห้ามใช้ หลังจากพูดคุยสอบถามว่าไม่กลัวอันตรายหรือ เจ้าของร้านตอบว่า “แหม ก็ใช้แล้วหน้ามันขาวขึ้นจริงๆ แต่ก็กลัวอันตรายนะ ฉันเลยปรับวิธีการใช้เป็น 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะได้ไม่อันตราย” เป็นไงครับ เจอเหตุผลแบบนี้ เล่นเอาอึ้ง “หน้ายังขาว แล้วที่อื่นจะเหลือรึ” เรื่องนี้ทราบจากคุณครู อย.น้อย ที่พวกเราชวนท่านมาเป็นภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียน หลังจากคุณครูไปสำรวจพฤติกรรมการใช้ครีมทาหน้าขาวปรากฏว่าไม่พบการใช้ แต่คุณครูแอบสังเกตเห็นว่านักเรียนกลุ่มหนึ่งพกครีมดังกล่าว ซักไปซักมาเลยทราบว่า เด็กเขาไม่ได้เอาไปทาหน้า “หนูไม่ทาหน้าหรอก เพราะมันอันตราย แต่ทารักแร้คงไม่เป็นไรนะคะ มันขาวดี” หนูๆ เขาให้เหตุผล เฮ้อ เด็กหนอเด็ก มันก็อันตรายเหมือนกันล่ะจ้ะ “ลูกกลอนดีๆ ต้องมีคาถา” ชะรอยว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์การปลอมปนยาสเตียรอยด์ในยาลูกกลอนอย่างได้ผล ปรากฎว่าช่วงหนึ่งพวกผมไปตรวจสอบยาลูกกลอนแผนโบราณ เลยไม่พบสารสเตียรอยด์ แต่คล้อยหลังไม่เท่าไหร่ ดันตรวจเจอยาลูกกลอนสายพันธ์ใหม่มาจำหน่ายอีกแล้ว ยาลูกกลอนรุ่นนี้มีแผ่นทองคำเปลวปิดที่เม็ดยา แถมเอกสารกำกับยาที่แนบมา ก็มีคาถาให้บริกรรมก่อนรับประทานซะอีก เล่นกันแบบนี้เอง มิน่า ถึงได้ขายดีตีตลาด “ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอสเตียรอยด์” เจ้ายาลูกกลอนเม็ดนี้ เจ้าหน้าที่ใช้ชุดทดสอบตรวจสเตียรอยด์ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอ มาถึงบางอ้อตรงที่ไปตามข้อมูลจากผู้บริโภคที่ซื้อมารับประทาน เลยทราบว่าเขาแอบซื้อมารับประทานเพราะมันโฆษณาว่าลดไขมันได้ เจ้าหน้าที่เลยสุ่มตรวจยาแผนปัจจุบัน สุดท้ายพบยาลดไขมันชนิดแพงๆ ผสมอยู่ มิน่าไขมันถึงได้ลดเอาๆ “ประกายตาใสกิ๊งๆ” ยุคที่เลนส์ตาโต(บิ๊กอาย)กำลังฮิต ผมเข้าไปนั่งเก็บข้อมูลที่ร้านทำแว่นที่คุ้นเคย สังเกตเห็นเด็กนักเรียนวัยรุ่นมาซื้อน้ำตาเทียมหยอดตากันเยอะมาก สอบถามข้อมูลทราบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ใส่คอนแท็คเลนส์ อ้าว!แล้วหนูๆ ซื้อน้ำยาชนิดนี้ไปทำอะไร น้องๆ เขาซื้อไปหยอดตาครับ เขาบอกว่าสมัยนี้เขาฮิตตาที่เป็นประกายใสกิ๊งแวววาวสะดุดตา แต่ที่เล่นเอาผมงงคือ เด็กเขาไปเอาเกลือป่นผสมลงไปด้วย นัยว่ามันจะยิ่งให้ประกายตา โคตะระใสกิ๊งขึ้นกว่าเดิมอีก ไม่รู้มันใสเพราะแสบจนน้ำตาไหลออกมาหรือเปล่า เป็นไงครับ พฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคที่เล่ามานี้ บางทีมันก็ ทั้งแปลก ทั้งเสี่ยงจนเราคาดไม่ถึงเลยนะครับ เอาเป็นว่าใครเจออะไรที่มันแปลกๆ เสี่ยงๆ รีบเตือนกันด้วยนะครับ แล้วอย่าลืมมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วยนะครับ จะได้รีบหาทางกระจายข่าวเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอันตรายไงครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ครูจ๋า อย่าประมาท (2)

ฉบับที่แล้ว ผมได้เกริ่นว่าสถานการณ์ปัญหาการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่น่าไว้ใจ มันได้คืบคลานเข้าไปสู่สถานศึกษาแล้ว ล่าสุดผมได้รับแจ้งเรื่องจากอาจารย์ท่านหนึ่งพร้อมเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีบริษัทติดต่อมาทางโรงเรียน จะขอเข้ามาแนะนำความรู้ในโรงเรียน ทราบว่าตอนนี้ตระเวณเดินสายแบบคิวทองไปหลายต่อหลายโรงเรียนแล้ว ผมดูในเอกสารที่อาจารย์นำมาให้ปรากฏว่า เป็นจดหมายของบริษัท เรียน อาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการว่าจะขอเข้ามาแนะนำโครงการตรวจสุขภาพในโรงเรียน ชื่อโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (ชื่อสมมุตินะครับ) แล้วก็อ้างว่าปัจจุบันนี้สังคมเต็มไปด้วยสารพิษสารเคมี ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตจากโรคร้ายแรงจำนวนมาก เช่น มะเร็ง หัวใจ แม้ว่าหน่วยงานจะมีสวัสดิการให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ดีพอ เนื่องจากเครื่องมือที่ตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะเป็นเครื่องมือเบื้องต้น หากต้องการรู้ลึกรู้จริงจะเสียค่าใช้จ่ายสูง (อูยยย...ตอนต่อไปเดาได้เลยครับว่าเขาจะต้องบอกว่า ของดีอยู่ที่บริษัทเขา...ฟันธง!) จริงดังคาดครับ เพราะเขาบอกต่ออีกว่า “แต่วันนี้เป็นข่าวดีของหน่วยงาน เพราะบริษัท (ระบุชื่อ) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชั้นนำจากต่างประเทศ สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ได้จัดทำโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (นามสมมุติอีกครั้งนะครับ) เน้นการให้ความรู้และบริการตรวจสุขภาพแบบแพทย์ทางเลือก ด้วย เครื่องมือทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยผู้รับบริการไม่ต้องเจาะเลือดและไม่ต้องอดอาหาร สามารถรู้ถึงความผิดปกติของระบบภายในร่างกายได้ถึง 12 จุด เช่น หัวใจ หลอดเลือด ม้าม ตับ ไต ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกและปริมาณไขมันในร่างกาย” ท้ายจดหมายยังระบุว่า “หากท่านมีความประสงค์จะรับบริการ กรุณากรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มและส่งกลับมายังชื่อในท้ายจดหมาย” (นั่นแน่...โยนให้คนอื่นรับผิดชอบนี่นา)  ผมพลิกไปดูแบบฟอร์มตอบรับ มันก็ช่างเย้ายวนเหลือเกิน เพราะนอกจากให้ผู้สนใจต้องแสดงความประสงค์เองแล้ว ยังบอกว่าโอกาสพิเศษครบรอบหลายปีของบริษัทจะลดค่าบริการการตรวจจาก 500 บาท หรือเพียง 100 บาทต่อท่าน แต่ที่แสบสันต์คือในแบบฟอร์มนี้เขาให้เราระบุด้วยว่า “ยินดีให้บริษํท นำเสนอสินค้าให้กับพนักงานเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ” เท่าที่ทราบบริษัทนี้ตระเวณไปหลายโรงเรียน ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพ และอาจารย์ก็ยอมเสียเงินกันหลายคนแล้ว แต่ผมอยากให้สังเกตดีๆ เห็นมั้ยครับ แม้กระทั่งในแบบฟอร์ม ทางบริษัทเขาก็อุดช่องโหว่ที่จะเอาผิดเขาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะเล่นให้คุณครูกรอกแสดงความจำนงเอง หากมีปัญหาก็คงจะเข้ารูปทางที่ว่า “บริษัทเปล่าหนา ครูดันมาเอง” งานนี้อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เบ้อเริ่ม ขอเตือนสติครูอาจารย์ทั้งหลายนะครับ การกระทำแบบนี้มันไม่ค่อยชอบมาพากล หากเจอแบบนี้รีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละจังหวัดทราบ เพื่อร่วมตรวจสอบโดยด่วนเลยครับ จะได้ไม่พลาดพลั้งเสียใจภายหลัง ครูจ๋า...อย่าประมาทนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ครูจ๋า อย่าประมาท (1)

ที่แผนกของผมมักจะมีกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้กับกลุ่มคุณครูเสมอๆ เราเจอกันบ่อยจนแทบจะเป็นเพื่อนสนิทกันไปแล้ว อบรมทีไรก็มักจะได้สนุกสนานเฮฮากันทุกที เพราะลักษณะการอบรมของที่นี่จะไม่ใช้วิธีบรรยาย เนื่องจากพวกเราอยากให้คุณครูได้มีส่วนร่วมกับการอบรมมากที่สุด และยังอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องกับคุณครู รูปแบบที่เราใช้จึงมักเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พวกเราให้ความรู้ ส่วนคุณครูก็ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาแก่เรา ปีนี้เราจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยจัดเป็นฐานความรู้ประมาณ 8-9 ฐาน โดยแบ่งคุณครูจำนวน 100 กว่าคนเป็นกลุ่มเท่ากับจำนวนฐาน หมุนเวียนกันเข้าแต่ละฐาน ส่วนพวกผมก็แบ่งทีมกันประจำฐาน กิจกรรมในฐานมีทั้งการจัดสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ การสาธิตการตรวจสอบ เกมส์จับผิดโฆษณา รวมทั้งเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องมาแสดงให้คุณครูเห็น และชะรอยทุกคนจะเห็นว่าผมมีพรสวรรค์ทางด้านการแหกปากร้องทุกข์กระมัง จึงสรุปให้ผมประจำฐาน “กล้าร้องทุกข์” โดยให้เหตุผลสนับสนุน (แต่ฟังคล้ายๆหลอกด่าชอบกล) ว่า การจะสอนให้คุณครูรู้เท่าทันของแย่ๆ ต้องใช้กลเม็ดเด็ดพรายผสมผสานความกะล่อนพอสมควร (ฮา) ผมจัดเตรียมฐาน โดยนำสินค้าที่ไม่ถูกต้อง (ส่วนใหญ่ก็เคยเขียนลงในคอลัมน์นี้แหละครับ) มาวางให้คุณครูเห็น พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ก่อนจะทิ้งท้ายว่าถ้าคุณครูเจอสินค้าหรือเหตุการณ์อย่างนี้ คุณครูจะแจ้งข่าวให้พวกผมทราบได้อย่างไร ทีนี้ก็สนุกละซิครับ คุณครูแต่ละท่านก็สวมวิญญาณเป็นคุณหมอพรทิพย์ หรือไม่ก็ คุณเชอร์ล๊อค โฮล์ม ช่วยกันระดมสมองกันใหญ่ สุดท้ายก็นำไปสู่การสรุปที่ว่า เมื่อเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ สิ่งที่คุณครูจะต้องพยายามทำเพื่อให้การตามรอยของไม่ถูกต้องได้ผล ก็คือคุณครูต้องพยายามรวบรวมพยานต่างๆให้ได้ ทั้งพยานวัตถุ (ได้แก่ ของที่ไม่ถูกต้องทั้งหลาย) พยานเอกสาร (ได้แก่ เอกสารต่างๆ ที่มีผู้ขายนำมาประกอบการขาย เช่น แผ่นพับโฆษณาต่างๆ) พยานบุคลล (เช่น คนที่ทราบเหตุการณ์ หรือเหยื่อของการใช้สินค้านั้นๆ) ผลพวงของการเข้าฐานความรู้นี้ ทำให้ผมได้ทราบข้อมูลปัญหาต่างๆ จากคุณครูด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงทั้งหมดนี้ คุณครูหลายท่านก็เคยซื้อมารับประทาน บางท่านหมดเงินเป็นหมื่นไปซื้อยาน้ำโสมเกาหลีตะกุยทรัพย์ (นามสมมุติ) มารับประทานในราคาเป็นหมื่นบาท แม้กระทั่งน้ำมหาบำบัดของป้าคนดัง ก็ซื้อมาแล้ว (ทันสมัยไม่เบาซะด้วย) นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายในหมู่เด็กๆ อีกด้วย เช่น มีการวางขายเลนส์ตาโตแบกะดินตามตลาดนัดและมีเด็กๆ แอบไปซื้อมาใส่ มีเด็กๆ บางคนไปหาซื้อกลูตาไธโอนมากินในราคาเม็ดละ 5 บาท (ไม่รู้ว่าของจริงหรือของปลอม) เอาครีมทาหน้าขาวที่ไม่ถูกต้องไปทารักแร้เพื่อจะได้ขาวถาวรแบบหน้า (คิดได้ยังไงเนี้ยะ) ฟังแล้วก็ได้แต่ทึ่งกับสถานการณ์ที่ได้ยิน ฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อว่านอกจากนี้แล้วมันมีอะไรพิสดารล้ำลึกไปอีก แต่ก่อนจบก็ต้องรีบเตือนคุณครูทั้งหลายก่อนนะครับ ว่าภัยสุขภาพมันกระดืบกระดืบ เข้าไปใกล้สถานศึกษาเรื่อยๆแล้ว “ครูจ๋า..อย่าประมาทนะครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 เขาเอาท่านมาขายกับผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอ วี

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปอบรมความรู้ให้กับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี ที่โรงพยาบาลในจังหวัด โดยได้แนะนำความรู้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกหลอกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ และยังได้ชวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้ให้มาเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วย ก่อนกลับ น้องพยาบาลได้มอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ยาสมุนไพรเกตุเพชร MAX CD4 บำรุงโลหิต ที่มีผู้จะมาแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อให้ผมตรวจสอบ แค่เห็นชื่อยาก็น่าจะเดาได้ว่าเขาต้องการขายแก่กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี ผมพลิกดูข้างกล่อง พบเลขทะเบียนยาแผนโบราณและมีการแสดงฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณ บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยอ่อนเพลีย ตัวยาสำคัญ ได้แก่ ชะเอมเทศ โสม โด่ไม่รู้ล้ม กำลังวัวเถลิง เถาวัลย์เปรียง ดูไปแล้วก็คือยาบำรุงร่างกายนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจคือ เขามีเอกสารประกอบการขายแนบมาเป็นเล่มหนา เนื้อหาภายในระบุในทำนองว่า ยาบำรุงนี้สามารถรับประทานได้กับบุคคลทั่วไป รวมทั้งบุคคลที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี และเมื่อพลิกหน้าต่อๆ ไป ก็กลายเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย HIV ในการรับประทาน แต่ที่เด็ดคือ มีการนำผลการตรวจเลือดของห้องแลบจากโรงพยาบาลต่างๆ มาเผยแพร่ด้วย โดยมีการเปิดเผยชื่อ นามสกุล ของผู้ป่วยชัดเจน แถมในเอกสารผลการตรวจเลือดของผู้ป่วย(บางราย) ยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสและยารักษาโรคแทรกซ้อนใดๆ เลย นอกจากนี้ยังมีสำเนาเอกสารการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอยู่ในเล่มด้วย แต่ที่เด็ดสะระตี่สุดๆ คือ มีสำเนาหนังสือ กลุ่มงานประสานการเมือง สำนักงานรัฐมนตรี ตอบกรรมการผู้จัดการบริษัทว่า ตามที่บริษัทได้นำเสนอยานี้เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี โดยขอรับโอกาสในการเข้ามานำเสนอข้อมูลรายละเอียด และนำผู้ติดเชื้อที่ได้ใช้ยามาเล่าประสบการณ์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบเรื่องแล้ว และได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาต่อไป (แค่รับเรื่องนะครับ) เห็นจุดสังเกตมั้ยครับ ขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณบำรุงร่างกาย แต่เอกสารที่เผยแพร่ในการขายมีนัยยะที่โน้มน้าวให้ใช้ในผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี (แม้กระทั่งข้อความ MAX CD4 บนฉลาก) นอกจากนี้ยังนำสำเนาหนังสือราชการที่ บริษัทอ้างชัดเจนว่า ต้องการเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี สรุปว่าขึ้นทะเบียนยาบำรุงร่างกาย แต่ไหงตอนขายกลายมาเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี ล่ะครับ แถมหนังสือราชการก็ไม่ได้รับรองอะไร แต่ก็ดันเอามาเผยแพร่อีก เอาล่ะซิ ผมไม่รู้ว่าเอกสารชิ้นนี้จัดทำโดยใคร แต่ก็ขอรายงานเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นให้ผู้อ่านทราบ หากเจออะไรที่น่าสงสัย น่าเฝ้าระวัง แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบโดยด่วนนะครับ และหากบริษัทไม่รู้เห็นก็ช่วยทางราชการกวดจับผู้แอบอ้างด้วยนะ มิงั้นจะเสียหายถึงบริษัทด้วยนะจะบอกให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 หัวหนู...เหาหนู

เหาสัตว์เล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ หากมันมาอยู่บนหัวสำนักงานของผม(หมายถึงตัวกระผมไม่ใช่ผมที่อยู่บนหัว) ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมให้ไปตรวจสอบร้านชำที่จำหน่ายยากำจัดแมลง ที่มีผู้ซื้อและนำมาใช้ในนักเรียน โดยให้ข้อมูลว่ามีกระทาชายนายหนึ่ง(ไม่ได้ชื่อหนึ่งนะครับ) ได้ตระเวนไปรับจ้างกำจัดเหาให้นักเรียน ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเขตจังหวัดนครปฐม คิดสนนราคาเป็นรายหัว หัวละ 5 บาท เรื่องของเรื่อง มัน(ดัน)เป็นเรื่องขึ้นมาเพราะคุณครูเห็นว่าผลิตภัณฑ์กำจัด “เหา” ที่มาใช้บน “หัว” ของหนูๆ ทั้งหลายนั้น บนฉลากมันไม่มีเลขที่อนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , ไม่มีสถานที่ผลิต มันบอกแค่ว่า “กำจัดแมงและแมลงบนหนังศีรษะ กำจัด เห็บ หมัด ไร เรือด เหา (ป้องกันขี้เรื้อนสุนัข) 100% ของถูก ของฟรี ก็มีดีเหมือนกัน” แถมให้เบอร์โทรมือถือไว้อีก คุณครูจึงมาแจ้งยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมเพื่อตรวจสอบ จึงได้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบธุรกิจ กำจัดเหาบน “หัว” รายนี้ ได้ตระเวนดำเนินการให้บริการ “ถึงตัวถึงหัว” แบบนี้มาหลายโรงเรียนแล้วทั้งเขตราชบุรี นครปฐม และให้การว่าผลิตภัณฑ์นี้ซื้อมาจากร้านขายของชำบริเวณท่าเรือแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อได้รับเรื่องผมและทีมงาน จึงได้แกะรอยยากำจัดเห็บ เหา นี้ โดยตระเวนตรวจสอบ ร้านชำบริเวณท่าเรือหลายๆ ร้าน จนกระทั่งต้องเกาหัวกันแกรกๆ (ทั้งที่ไม่ได้เป็นเหา) เพราะไม่พบยาดังกล่าวไม่ทราบว่ามันได้เดินทางไปอยู่บนหัวของใครต่อใครอีกบ้างแล้ว จึงได้แต่บอกและขอความร่วมมือให้ทางร้านชำต่างๆ ช่วยกันเฝ้าระวัง โดยแนะนำว่าผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่หากใครจะผลิตจำหน่ายก็จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง บนฉลากต้องแสดง เครื่องหมายอนุญาตจาก อย. , ส่วนประกอบ , สรรพคุณ , คำเตือน , สถานที่ผลิต ฯลฯ หากไม่มีรายละเอียดครบถ้วน ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายและอาจจะมีอันตรายหากนำไปใช้ นอกจากนี้ร้านชำที่นำมาจำหน่าย(แม้จะไม่ได้เป็นผู้ผลิต) ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วย ใครต้องดูแลหรือเกี่ยวข้องกับหนูๆ ทั้งหลาย “ที่เปิดหัวเป็นสวนสัตว์เลี้ยงเหา” ก็จำให้ขึ้นใจนะครับ “เหาหนู หัวหนู ต้องควรคู่กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น” จะได้ส่งเหาไปสวรรค์ ได้อย่างปลอดภัยสบายหัวนะตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ทำไมถึงทำกับอาตมาได้

ในชนบทชาวบ้านยังคงให้ความเคารพและศรัทธาในวัดเสมอ ดังนั้นหากไม่มีระบบตรวจสอบเฝ้าระวังที่ดี วัดอาจจะกลายเป็นแหล่งที่ผู้ไม่หวังดีอาศัยเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคก็ได้ เมื่อไม่นานมานี้ มีบริษัทหนึ่งมาเร่ขายเครื่องแช่เท้าในเขตอำเภอเสนาและพื้นที่ใกล้เคียง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาบริษัทนี้คงจะชะล่าใจที่หลอกคนได้เรื่อยๆ จึงนำเครื่องแช่เท้าไปเปิดให้บริการที่วัดโรงหลวงจนเป็นข่าวโด่งดังขนาดออกโทรทัศน์ช่อง 3 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ พบว่า เครื่องมือนี้ประกอบไปด้วยอ่างสี่เหลี่ยมสำหรับใส่น้ำแช่เท้าและต่อสายไปยังเครื่องที่มีสายไฟฟ้าต่ออีกทอดหนึ่ง เมื่อเอาเท้าแช่ลงไปและเปิดให้เครื่องทำงาน น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ เช่น เหลือง น้ำตาลแดง ดำ เขียว ตามแต่โรคที่ผู้ให้บริการอ้างว่าผู้บริโภคเป็น เหตุที่วัดนี้โด่งดังขึ้นมา เพราะพระที่วัดเคยไปใช้บริการแช่เท้ามาก่อนและคงประทับทั้งใจและทั้งเท้า ต่อมาเมื่อมีคนเอามาถวายที่วัด 2 เครื่อง จึงมีการเปิดบริการแก่ชาวบ้าน จนชาวบ้านหลั่งไหลมามากมาย จะด้วยเห็นว่าบริการนี้เริ่มติดตลาดหรือด้วยจิตอันเป็นกุศล แต่ที่แน่ๆ พระท่านได้สั่งซื้อเครื่องเพิ่มอีกเป็น 5 เครื่อง เพื่อพร้อมรับมือ ไม่ใช่ซิ! รับเท้า ให้บริการ จนดังระเบิดเถิดเทิง ผู้คนหลั่งไหลมากันใหญ่ ภก.สันติ พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้ไปตรวจสอบและอธิบายให้ทั้งพระทั้งโยมทราบว่า การที่น้ำเปลี่ยนสีนั้นเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี โดยไฟฟ้าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอนุมูลของไอออน (ion) ในน้ำทำให้เกิดสารประกอบทางเคมีที่เราเรียกกันว่า สารประกอบเชิงซ้อน และการที่มีสีต่างๆ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันไปจับตัวกับสารอะไร เช่น เหล็ก สนิมเหล็ก แมงกานิส จึงทำให้มันมีสีแตกต่างกันไป (ไม่ได้เกิดจากการขับพิษออกจากร่างกายแต่อย่างใดนะครับพระคุณท่าน) งานนี้เรียกว่ากว่าจะรู้ตัวก็ถูกหลอกกันถ้วนหน้าแบบไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งญาติโยมและหลวงพ่อเลยนะครับ เหตุการณ์ทำนองนี้ในอดีตเคยเกิดที่จังหวัดปทุมธานี ครั้งนั้นมีคนไปถวายเครื่องเขย่าขาแก่พระ และต่อมาพระท่านก็เปิดธรรมเทศนาให้ญาติโยมซื้อเครื่องเขย่าขาให้บิดา มารดา เพื่อเป็นบุญกุศล (และคงเป็นกำไรของผู้ขายด้วย) กันเอิกเกริก สมาชิกท่านใดไปวัดบ่อยๆ แล้วเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรแปลกๆ อย่าหลงเชื่อง่ายๆ นะครับ รีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบโดยด่วนนะครับ อย่างนี้ซิได้บุญของจริง...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ฮีโร่วัยเด็ก

ใช่จะมีแต่เจ้าหน้าที่และผู้ใหญ่ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลผลิตภัณฑ์อันตรายรอบๆ ตัวเรานะครับ เดี๋ยวนี้เด็กไทยเขาพัฒนาแล้วครับ ล่าสุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องแตกตื่นกัน แต่ไม่ใช่แตกตื่นเพราะกรุแตกนะครับ แต่แตกตื่นเพราะมีของเล่นมหัศจรรย์แพร่ออกมา เด็กๆ ในจังหวัดนี้เขาไปซื้อหามาเล่นตามประสาน่ะครับ ของเล่นชนิดนี้เป็นชิ้นเล็กๆ รูปร่างต่างๆ เช่น กลม สี่เหลี่ยม ผัก ผลไม้ จิ้งจก จระเข้ เต่า กบ ฯลฯ แต่ที่เด็กๆ ชอบคือ พอนำมาแช่น้ำ ก็จะจองหองพองขน ขยายใหญ่โตขึ้นมาทันตาเห็น (ทำตัวอย่างกับนักการเมืองตอนได้ตำแหน่ง..ฮา) ไม่พองธรรมดานะครับ มันพองคับบ้านคับเมือง มากขึ้นหลายร้อยเท่า และเมื่อนำมาตากแห้งทิ้งไว้ ก็สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ งานนี้เด็กๆ นักเรียน อย.น้อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เลยนำข้อมูลมาบอก เภสัชกร สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ซึ่งเป็นเสมือน อย.ใหญ่(หมายถึงเภสัชกรที่เป็นผู้ใหญ่แต่ใจยังเด็ก..ฮา) เรื่องราวถึงได้ดังระเบิดระเบ้อ จนมีการออกข่าวเตือน และมีการกวดขันไม่ให้จำหน่ายในที่สุด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสงครามก็มีเหตุการณ์แบบนี้ โดยผมได้รับแจ้งจาก พี่อัญชลี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ซึ่งได้ข่าวมาจากพยาบาลที่ได้ข้อมูลมาจากลูกอีกทอดหนึ่ง รวมทั้งมีข่าวว่าเด็กเผลอกลืนเข้าไป จนนำไปสู่การเตือนผู้บริโภคในที่สุด ความจริงไอ้เจ้าตัวเขมือบน้ำชนิดนี้ มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น ตัวดูดน้ำ ตัวเลี้ยง ตัวกินน้ำ หรือน้ำตานางเงือก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้อย่างมหาศาล (Super Absorbent Polymer ; SAP) เช่น Polyacrylic acid , Sodium polyacrylate ฯลฯ วัสดุโพลิเมอร์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ดินวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และผ้าอนามัย ฯลฯ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับของเล่นวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ก็คือ อันตรายจากการกลืนกินเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดการพองตัวกีดขวางทางเดินอาหาร หากไม่สามารถนำออกมาได้ อาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้สีที่ใช้ผสมในของเล่น ฯ ดังกล่าว ไม่ใช่สีผสมอาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการนำมาจำหน่ายในลักษณะของเล่นของในกลุ่มเด็กเล็กๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะกลืนกินเข้าไป งานนี้ต้องยกให้เด็กเขาเป็นฮีโร่ล่ะครับ ถ้าเขาไม่นำเรื่องนี้มาบอกผู้ใหญ่ พวกเราคงไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปวดร้าวเพียงใด

ฉบับที่แล้วผมให้ข้อมูลไปว่า ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่มีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษาเพียงใด โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายในทำนองนี้ด้วย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร หากเราสังเกตชื่อที่ระบุประเภทว่า “เครื่องดื่ม” เราจะทราบว่ามันคือเครื่องดื่ม ไม่ใช่ยา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถ บำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ล่าสุดเภสัชกรสาวสวยคนเดิมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ส่งข้อมูลมาอีกแล้ว เธอเล่าว่าผู้ป่วยชาย อายุ 60 ปี ได้ซื้อเครื่องดื่มสมุนไพรจีน มิทเชลล์ฉาง มารับประทาน โดยดื่มวันละ 2 อึก แก้พังผืด ข้อตึง (สรุปง่ายๆ คือซื้อมากินเพื่อรักษาโรคนั่นแหละ) หลังจากรับประทานมาประมาณ 1 เดือน ก็มีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เภสัชกรสาวสวยขี้สงสัยคนนี้ จึงได้ส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลปรากฏว่าคราวนี้เธอร้องกรี๊ดดดดด ดังกว่าเดิม (ไม่รู้ตกใจหรือโกรธ) เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพบยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ผสมอยู่ด้วย เธอจึงรีบแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามให้ติดตามตรวจสอบต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดนี้มีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด ในราคา ขวดละพันกว่าบาท โดยโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่ม สูตรสมุนไพรแบบองค์รวม ปรุงขึ้นตามตำรับจีนโบราณ โดยเน้นความสมดุลของระบบหยิน-หยาง และธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพ สามารถขจัดอนุมูลอิสระ(Antioxidant) อันเป็นเหตุของความชราภาพและโรคภัยต่างๆ มากมาย(ในโฆษณาไม่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันนะครับ) ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบเชิงลึกอยู่นะครับว่า ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล มันเข้ามาอยู่ในขวดได้อย่างไร แต่เผอิญเมื่อวานได้มีโอกาสนั่งประชุมกับน้องๆ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม น้องเล่าว่าผลการตรวจยาสมุนไพรมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ ที่พบแค่สารสเตียรอยด์โดยพบว่าเริ่มมีการผสมยาแผนปัจจุบันบางชนิดแล้ว และยังพบในผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลูกกลอนด้วย เช่น พบในยาผงสมุนไพร หรือยาน้ำหรือเครื่องดื่มอีกด้วย {xtypo_info}เรื่อง ที่เล่ามานี้คงเป็นข้อมูลเตือนภัยอีกทางหนึ่งว่า แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง และถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่ยา (เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ) ยิ่งต้องระวัง ไม่ใช้อย่างสับสน ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “มันคืออาหาร ไม่ใช่ยา มันจึงรักษาโรคไม่ได้” เราจะได้ปลอดภัยทั้งตัวและปลอดภัยทั้งตังค์นะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 โอม… เพี้ยง! ไขมันจงลด

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม “อัลดุลลา....มาแหล่ว....หายมั๊ย...หาย...ลดมั๊ย...ลด” ยาสมุนไพร เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุนิยมใช้กันมาก ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่ทีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษา โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผลการรักษาของยาแผนโบราณมันจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ผลปรู๊ดปร๊าดรวดเร็วแบบยาแผนปัจจุบันนะครับ วันหนึ่งมีผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40 ปี มาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ด้วยอาการที่ผิดปกติที่คาดว่าน่าจะเกิดจากการใช้ยา เภสัชกรสาวสวยผู้รับเรื่อง จึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับประทานยา “สมุนไพรอโรคยาศาลาอิสระธรรม” ตามสรรพคุณที่ว่า “ขยายหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด” พร้อมทั้งเล่าว่าได้ยานี้มาจาก อโรคยาศาลาอิสระธรรม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยจะรับประทานครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น หลังจากการกินมาประมาณ 2 เดือนก็พบอาการผิดปกติเภสัชกรสาวสวย (เธอฝากมาย้ำว่าให้ระบุด้วย) จึงได้ส่งยาไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลการตรวจปรากฏว่า พบ “ยาลดไขมัน Simvastatin” ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ผสมอยู่ในยาชนิดนี้ ไม่รู้ว่าตอนนั้นเธอจะร้อง กรี๊ดดดดดด หรือไม่ รู้แต่ว่าเธอแจ้นมาแจ้งเรื่องยัง เภสัชกร ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามทันที เจ้ายาลดไขมัน Simvastatin นี้ บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น อาการปวดเกร็งท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดแสบกระเพาะ ปวดศีรษะ มองภาพไม่ชัด เวียนศีรษะ ผื่น คัน นอกจากนี้ยังมีคำเตือนสำหรับผู้ใช้อีก คือ “ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์หรือสงสัยว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์ รวมทั้งในระยะให้นมบุตรด้วย และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นโรคตับ โรคไต ติดเชื้ออย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ควรบอกแพทย์หรือเภสัชกรว่าขณะนี้ได้รับยาอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะยา ซัยโคลสปอริน อิริโธรมัยซิน เจ็มไฟโปรซิล ไนอะซิน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน ฯลฯ (เพราะมันส่งผลต่อกัน) และถ้าหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันให้บอกแพทย์หรือทันตแพทย์ด้วยว่าขณะนี้ได้รับยา Simvastatin นี้อยู่ เนื่องจากยานี้จะไปส่งผลต่อยาอื่นและมีผลต่อร่างกาย และถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งกดเจ็บ ตะคริวหรืออ่อนเพลีย โดยมีไข้หรือไม่มีไข้ให้รีบพบแพทย์ทันที” แค่เห็นคำเตือนต่างๆ ก็ย่อมจะทราบได้ว่าเจ้ายาลดไขมันที่มันไปปรากฏแบบไม่ได้รับเชิญในยาสมุนไพรนั้น มันมีอันตรายอย่างไร ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ให้ไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ที่เล่านี้ก็อยากให้เป็นอุทธาหรณ์ว่า สมัยนี้หากจะเลือกยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณมารับประทาน อย่าไว้ใจง่ายๆ ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “ต้องมีทะเบียนยา” เสมอ และหากเจอผลการรักษาที่รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด ให้พึงสังหรณ์ใจไว้ก่อนว่าอาจจะมีแขกที่กฎหมายไม่ได้เชิญมาปนอยู่ด้วยก็ได้ ให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบโดยด่วน โอม เพี้ยง!

อ่านเพิ่มเติม >