ฉบับที่ 107 กระแสต่างแดน

เราไม่เอารถประจำทาง เราที่ว่านี้ไม่ใช่ใคร เป็นผู้ประกอบการรถตู้โดยสารไม่ประจำทางแบบดั้งเดิมของเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางที่รัฐบาลจะจัดให้มีขึ้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายนปีนี้คนกลุ่มนี้บอกว่าถ้ามีรถประจำทางขึ้นมาเมื่อไร พวกเขาก็มีแต่เจ๊ง แต่ผู้บริโภคนั้นแสนจะยินดีที่จะได้นั่งรถประจำทางที่เชื่อถือได้ ตรงเวลาและปลอดภัย เพราะทนไม่ไหวแล้วกับบริการรถตู้ที่พวกเขาต้องเสี่ยงกับคนขับที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ขับรถก็หวาดเสียวแถมยังหยาบคายอีกต่างหากเพื่อเป็นการรองรับบรรดาแฟนๆ ที่จะมาเชียร์ทีมของตัวเองในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐอัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจึงจัดระบบการขนส่งใหม่ที่จะให้บรรดารถตู้และรถบัสที่ต่างคนต่างวิ่งกันอยู่ในขณะนี้มารวมตัวกันตั้งบริษัท โดยเจ้าของรถแต่ละคนก็จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับระยะทางสะสมที่ทำได้ (ไม่ใช่จำนวนผู้โดยสาร) และชั่วโมงทำงานจะลดลงจากวันละ 12 – 16 ชั่วโมงเหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้นแม้บริการที่เคยทำมาจะไม่เป็นที่ประทับใจเห็นๆ แต่ธุรกิจรถตู้โดยสารไม่ประจำทางนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่อนุญาตให้คนผิวสีสามารถทำได้ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงอ่อนไหวกับเรื่องนี้มากและมองว่ารัฐบาลกำลังแย่งสิ่งที่เป็นของพวกเขาไป แม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิวไปได้ 15 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มรถตู้โดยสารนั้นยังไม่ดีขึ้นเลย  ปัจจุบันร้อยละ 40 ของรถรับจ้างที่วิ่งอยู่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กนั้นเป็นรถเถื่อนด้วย ------------------------------------------------------------------------------------ ผู้ดีซื้อเพลงแพงคนอังกฤษที่ซื้อเพลงผ่านร้านเพลงออนไลน์นั้น อาจพลาดโอกาสในการประหยัดเงินไปถึงปีละ 1,200 ปอนด์ (ประมาณ 64,000 บาท) เลยทีเดียว ไม่ใช่เพราะเพลงออนไลน์ขายแพงกว่าเพลงในแผ่นซีดีตามร้าน แต่เพราะตลาดเพลงออนไลน์ซึ่งมีมูลค่าถึง 120 ล้านปอนด์นั้น ไม่มีการควบคุมราคาที่ชัดเจน จึงทำให้แต่ละร้าน (ซึ่งในที่นี้ก็คือเว็บไซต์) ตั้งราคาขายแตกต่างกันไปเว็บไซต์ www.tunechecker.com ซึ่งเป็นเว็บที่รวมร้านขายเพลงออนไลน์ และเป็นเว็บที่ทำการสำรวจดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณีอัลบั้มของไมเคิล บลูเบล ซึ่งขายในราคา 8 ปอนด์ (ประมาณ 425 บาท) ที่เว็บ iTunes แต่สามารถซื้อได้ในราคา 5 ปอนด์ (ประมาณ 265 บาท) ในเว็บอเมซอน อีกตัวอย่างคือถ้าซื้ออัลบัมเพลงฮิต 40 อัลบั้มต่อปี จากร้าน Play เพียงร้านเดียว ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินทั้งหมด 3,235 ปอนด์ (170,000 บาท) แต่ถ้าลองใช้เวลาค้นหาราคาที่ถูกที่สุดของแต่ละอัลบั้มนั้น จะใช้เงินเพียงแค่ 1,980 ปอนด์ (105,600 บาท) นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าต้องซื้อเพลงจากเว็บใดเว็บหนึ่งเท่านั้นจึงจะสามารถนำมาเล่นกับอุปกรณ์เครื่องเสียงของที่ตนมีได้  ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถซื้อเพลงจากร้านออนไลน์ร้านใดก็ได้ผลสำรวจย้ำว่าเพลงยิ่งดังก็ยิ่งมีร้านเสนอขายในราคาที่แตกต่างกันหลายระดับ ถ้าผู้บริโภครักอยู่ร้านเดียวไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งมีโอกาสเสียเงินโดยไม่จำเป็นมากขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------- สูตรใครก็ได้ แต่ต้องไม่อ้วน ข่าวเรื่องบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาผู้ผลิตขนมหวานรสช็อคโกแลตจะเข้าครอบครองกิจการของบริษัทประเภทเดียวกันที่อังกฤษ ทำให้มีคนออกมาแสดงความวิตกว่ารสชาติแบบดั้งเดิมของช็อคโกแลตอังกฤษนั้นอาจจะต้องจบสิ้นลงเขาว่ากันว่าคนสองประเทศนี้กินช็อคโกแลตกันคนละรส สูตรของทางเมืองผู้ดีนั้นเขากำหนดให้มีปริมาณโกโก้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และใช้เมล็ดโกโก้จากฝั่งตะวันตกของอัฟริกา ส่วนในอเมริกานั้นแม้จะมีส่วนผสมของโกโก้เพียงร้อยละ 10 ก็สามารถเรียกว่าช็อคโกแลตได้แล้ว และวัตถุดิบที่ใช้คือเมล็กโกโก้จากอเมริกาใต้ (แต่คนในภาคพื้นยุโรปฟังแล้วคงเชิดใส่ เพราะเขาชอบช็อคโกแลตเข้มๆ จึงต้องมีโกโก้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ของส่วนผสม)แต่ไม่ว่าจะผลิตจากสูตรไหน เจ้าช็อคโกแลตเหล่านี้หรือเรียกให้ถูกว่าขนมหวานรสช็อคโกแลต ถูกจับตามานานแล้วว่าเป็นตัวการหนึ่งทำให้เด็กและผู้ใหญ่ยุคนี้มีน้ำหนักเกินสำนักงานมาตรฐานอาหารของอเมริกาจึงกำหนดให้ภายในปีค.ศ. 2012 ขนมที่มีช็อคโกแลตเป็นส่วนประกอบจะต้องลดขนาดลงมาให้เหลือเพียงชิ้นละไม่เกิน 50 กรัม ถ้าเป็นช็อคโกแลตแท่งก็ต้องมีขนาดไม่เกิน 40 กรัมด้วย โลกจะแตกในปี 2012 อย่างในหนังเขาว่าหรือไม่เรายังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เราจะได้เห็นขนมหวานที่ขนาดเล็กลงแน่นอน -----------------------------------------------------------------   จากเครดิต สู้เดบิตปัจจุบันคนอเมริกันเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า เก้าแสนเจ็ดหมื่นล้านเหรียญ (จากตัวเลขเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551) และแต่ละครัวเรือนที่มีบัตรเครดิตประมาณ 10,679 เหรียญ (ประมาณ 350,000 บาท)ร้อยละ 78 ของครัวเรือนอเมริกัน หรือประมาณ 91 ล้านครัวเรือน มีบัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งใบ โจราธาน เลวาฟ อาจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่าประเทศอเมริกานั้นเป็นสังคมที่เน้นการบริโภคอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นบริโภคนิยมที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไปด้วยเลยทีเดียว แต่ขณะนี้คนอเมริกันหันมาใช้บัตรเดบิตกันมากขึ้น ปี 2007 มีคนใช้บัตรเดบิตประมาณร้อยละ 65 อีกหนึ่งปีถัดมาสถิติการใช้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 72 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้คนต้องการออมมากขึ้น และบัตรเดบิตก็ดูเหมือนจะเป็นการจัดการงบประมาณของตนเองได้ดีกว่า และไม่เป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้พูดถึงเรื่องบัตรเครดิตก็ต้องยกตัวอย่างพฤติกรรมของบริษัทบัตรเครดิตที่ไม่น่ารัก ที่สหภาพผู้บริโภคหรือ Consumers Union ของอเมริกา เขาประณามไว้เสียหน่อย ขณะนี้บริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายกำลังรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันยกใหญ่ พูดง่ายๆ คือรีบเก็บซะก่อนที่กฎหมายว่าด้วยบัตรเครดิตของอเมริกาจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า บางบริษัทก็ใช้วิธีหลอกล่อให้ลูกค้าต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว และหลายบริษัทเพิ่มอัตราขั้นต่ำในการชำระหนี้ขึ้นกว่าร้อยละ 250 นอกจากนี้ยังมีการใช้มุข “คืนดอกเบี้ย” เช่นบางแห่งคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 29.9 แต่อ้างว่าจะลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 10 ถ้าลูกค้าจ่ายตรงเวลา ซึ่งความจริงนี่ก็คือการแอบขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง หลายๆ แห่งที่อ้างว่าใช้อัตราดอกเบี้ยแบบผันแปร ก็ไม่ได้ใช้ในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด เพราะพวกเล่นกำหนดอัตราขั้นต่ำเอาไว้ด้วย คือสูงเท่าไรก็จะขอเก็บเท่านั้นแต่ถ้าต่ำมากเกินไปกลับไม่ยินยอม (แล้วนี่มันเป็นอัตราผันแปรตรงไหนเนี่ย) น่าจะบอกกันตรงๆ ว่าผันแปรแต่ขาขึ้นเท่านั้นก็หมดเรื่อง --------------------------------------------------------------------------------- อเมริกันชนยังต้องใช้ยาแพงต่อไปอเมริกากำลังจะออก พรบ. ปฏิรูประบบสุขภาพ ฉบับใหม่เร็วๆ นี้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 800,000 ล้านเหรียญ(26 ล้านล้านบาท) มาดูกันให้ชัดๆ ว่าอเมริกา “เปลี่ยน” ไปอย่างที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คนอเมริกันจะยังคงใช้ยาแพงเหมือนเดิม เพราะวุฒิสภาไม่รับข้อเสนอเรื่องการนำเข้ายาราคาถูกจากเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ยิ่งไปกว่านั้นอเมริกันชนยังต้องรอถึง 12 ปี กว่าจะซื้อยาสามัญประเภทชีววัตถุ (เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง) ในราคาที่ถูกลงได้ เพราะร่างพรบ.ฉบับนี้ให้สิทธิกับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อการค้าประเภทชีววัตถุ ผูกขาดการขายยาดังกล่าวได้ถึง 12 ปี แถมต่อไปนี้ อย.ของสหรัฐจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองยาประเภทชีววัตถุจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญอีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าร่างฉบับนี้ยกเลิกภาษีร้อยละ 5 ที่เคยเก็บจากบริการเสริมความงามอย่างการฉีดโบท็อกซ์ลบริ้วรอย ผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือลดไขมันหน้าท้อง ข่าวบอกว่าผู้ผลิตโบท็อกซ์รายใหญ่อย่าง Allergen Inc และแพทย์ศัลยกรรมได้ร่วมกันล็อบบี้ไม่ให้มีการเก็บภาษีจากบริการดังกล่าวโดยอ้างว่าจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมาก ข่าวบอกว่าเหตุที่รัฐบาลนี้ดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจยาและสุขภาพเป็นพิเศษนั้น น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่นายโอบามาเคยรับเงินบริจาคถึง 20 ล้านเหรียญจากบริษัทเหล่านี้ ในการรณรงค์หาเสียงในเมื่อสองปีก่อน “เปลี่ยน” ที่ว่านี่สงสัยจะหมายถึงโอกาสเข้าถึงยารักษาโรคที่น้อยลง ในขณะที่โอกาสในการเข้าถึงบริการศัลยกรรมความงามเปลี่ยนโฉมเพิ่มขึ้นนี่เอง  

อ่านเพิ่มเติม >