ฉบับที่ 165 การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ซึ่งความจริงแล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ของไทยได้เลียนแบบจากมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายแพ่งสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา 2 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิก็ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ทุกคนจะต้องกระทำการโดยสุจริต การใช้สิทธิไปในทางที่ผิดอย่างชัดแจ้งย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คำว่า “สุจริต” เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเป็นนามธรรม ไม่มีความหมายทางเทคนิคหรือคำจำกัดความตามบทบัญญัติกฎหมายแต่ประการใด จึงต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป สำหรับบทความฉบับนี้เป็นเรื่อง สหกรณ์การเกษตรแห่งหนึ่งเป็นโจทก์ จำเลยเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดังกล่าวได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯ โดยใช้บุคคลค้ำประกัน จำเลยค้างชำระหนี้มาตั้งนานจนขาดอายุความไปแล้ว โจทก์เอาเงินปันผลค่าหุ้นของจำเลยมาชำระหนี้เงินกู้บางส่วนเพื่อเป็นการรับสภาพหนี้มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง แล้วมาฟ้องจำเลยและผู้ค้ำประกันต่อศาล ผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้วันที่ 31 มีนาคม 2534 โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 แต่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์วันที่ 25 มกราคม 2539 จำนวน 5,398 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 25  มกราคม 2549 การที่โจทก์นำเงินปันผล 130 บาท และ 75 บาท ของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 และวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ตามลำดับ แม้จะเป็นการทำตามระเบียบของสหกรณ์โจทก์ แต่ก็เป็นการชำระหนี้โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นด้วย เป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังเป็นการกระทำหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายโดยโจทก์ปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 6 และ 8 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่โดยอ้างระเบียบของสหกรณ์เป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำจึงถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ดังนั้นการที่โจทก์นำเงินปันผลของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้บางส่วน แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยทั้งสามยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยนั้นหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547 , 1687/2551 ซึ่งเป็นเรื่องธนาคารนำเงิน 6.68 บาทจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ไปถึง 2 ปีเศษและคิดดอกเบี้ยกับค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รับ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

อ่านเพิ่มเติม >