ฉบับที่ 208 เมื่อ ‘จิตใจ’ ไม่สบาย สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช

“ปี 2556 ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับความป่วยไข้ทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวเอง ข่าวคราวของดารา นักร้องที่เป็นโรคซึมเศร้า (ขนาดว่าช่วงหนึ่งมีการพูดถึงกระแส ‘อยากซึมเศร้า’ เพราะรู้สึกว่าความป่วยไข้ชนิดนี้เท่) ถึงกระนั้น ตัวเลขข้างต้นก็น่าตกใจ เพราะมันหมายความว่าทุกๆ 10 คนที่เดินเหินในมหานครแห่งนี้ มี 1 คนที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต‘ฉลาดซื้อ’ จะพาไปรู้จักอาการทางจิตเวช แนวทางดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย และสิทธิบางประการที่ควรรู้ เพราะเราทุกคนอาจป่วยทางจิตได้เหมือนกับที่ใครๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ซึมเศร้าเรื้อรัง เอก (นามสมมติ) รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง มันเริ่มจากความรู้สึกเศร้าและอยากร้องไห้แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 วันจนเกือบทำการทำงานไม่ได้ เอกไม่ได้มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการไปพบจิตแพทย์คือการถูกตีตราว่า ‘บ้า’ เขาจึงตัดสินใจลองไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งหนึ่ง หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์เกือบ 2 ชั่วโมง เอกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dysthymia หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จิตแพทย์จ่ายยาให้เขา แม้ว่าเอกจะพยายามต่อรองเพื่อขอรับการรักษาแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ เขากินยาอยู่ได้ไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ชอบผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว นัดพบจิตแพทย์ครั้งที่ 2 แพทย์ยังคงยืนกรานให้เขาทานยา แม้ว่าเขาจะยังขอพบนักจิตวิทยา กระทั่งครั้งที่ 3 จิตแพทย์จึงยอมให้เขาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด ระหว่างการทำจิตบำบัด เอกรู้สึกว่าอาการแย่ลง ความรู้สึกเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์อีกครั้งในโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับฟัง Second Opinion ทว่า ก่อนที่จะได้พบแพทย์ทั่วไป  ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพแจ้งแก่เขาว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเพื่อทำนัดและรอพบจิตแพทย์ คำพูดดังกล่าวทำให้เอกตัดสินใจเดินออกมา นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในประกันสังคมมักหลีกเลี่ยงที่จะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้มีสิทธิจะต้องเรียกร้อง ร้องเรียน หรือยืนยันสิทธิในการรักษาของตน แน่นอนว่าเอกไม่รู้เรื่องนี้และไม่ได้ยืนยันสิทธิที่ว่า และก็ไม่น่าจะใช้เอกคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเอกสะท้อนแง่มุมต่อผู้ป่วยจิตเวชหลายประการ มันไม่เหมือนอาการป่วยกายเสียทีเดียว การไปหาหมอเป็นกระบวนการทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็พอจะนึกออก แต่พอเป็นความเจ็บป่วยทางจิต เอกและเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร “สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด” นิมิตร์ เทียนอุดมสิทธิของเรา นิมิตร์บอกว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมให้การดูแลสวัสดิการสุขภาพแก่ผู้ถือสิทธิไม่ต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น คือเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่เชื่อหรือไม่? กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างเสมอหน้าอาการป่วยไข้ทั่วไป ต้องผ่านการต่อสู้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ“สมัยแรกที่มีสิทธิประโยชน์ กรณีจิตเวชถูกตีความว่าต้องรักษายาวนานเกินกว่า 180 วัน ทำให้มีปัญหาว่าบางทีโรงพยาบาลรับมารักษาแล้ว 180 วันก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่ทุเลา ต้องจำหน่ายออก แล้วก็รับใหม่ หรือบางทีก็ให้กลับบ้านเลย ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหา จึงมีการผลักดันให้ยกเลิกและปรับแก้กติกาที่ว่า การรักษาที่เกิน 180 วันจะไม่คุ้มครอง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพราะทำให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องอยู่ในความดูแล ต้องกินยา การยกเลิกกติกาข้อนี้จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเราช่วยกันเคลื่อน จนผู้ป่วยจิตเวชก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้และมันก็ได้อานิสงค์ไปยังโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาเกิน 180 วันด้วยประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องยาที่ต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช ช่วงหนึ่งแพทย์ที่พร้อมจะดูแลยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรยาจึงจะถูก เพราะถ้าไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว แล้วยาแพง โรงพยาบาลก็รู้สึกเป็นภาระและอาจจะปฏิเสธการรักษาได้ ดังนั้น ตอนที่มีการสู้เรื่องซีแอล (มาตรการบังคับใช้ Compulsory Licensing: CL) ก็ดูยาตัวนี้ด้วย ทำให้ได้ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับมามีชีวิตปกติได้” นิมิตร์ กล่าวเรื่องสิทธิและยาได้รับการแก้ไข ถึงกระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แล้วโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีจิตแพทย์ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แล้วใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีจิตแพทย์ หมายความว่าการหาหมอใกล้บ้านกลายเป็นหาหมอไกลบ้าน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่ายเบี่ยงการส่งตัว เพราะโรงพยาบาลที่ส่งตัวต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้แก่หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไปดูแลโรงพยาบาลต้นทางอาจทำใบส่งตัวครั้งละ 3 เดือนให้แก่ผู้ป่วยหรือที่หนักกว่า คือต้องทำใบส่งตัวใหม่ทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ สร้างความยุ่งยากในชีวิตผู้ป่วยและญาติ นิมิตร์เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะขจัดความยุ่งยากด้วยการปรับกติกาเสียใหม่ เช่น การทำใบส่งตัวครั้งละ 1 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเดินทางมารับใบส่งตัวบ่อยๆอีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขคงต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจังว่า ด้วยสถานการณ์สุขภาพจิตที่หนักมือขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอแล้วหรือยังส่วนด้านการดูแลรักษาต่อเนื่อง สปสช. ยังคงเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่การกินยาต่อเนื่องจนถึงการปรับทัศนคติคนในชุมชนและลดการตีตรา“สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์” นิมิตร์กล่าวเสริม “เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด”ดูแลตัวเอง จิตแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เห็นว่า ปัจจุบันความเข้าใจของผู้คนต่อผู้ป่วยจิตเวชเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีและรับรู้ว่าเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพียงแต่โรคทางจิตเวชค่อนข้างนามธรรม จับต้องได้ยากกว่าโรคทางกาย มาถึงตรงนี้ เมื่ออาการทางจิตเวชเป็นความป่วยไข้ไม่ต่างจากไข้หวัดหรือปวดท้อง มันก็ย่อมมีแนวทางที่เราจะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต การออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ คลายความตึงเครียดจากภาระในชีวิตประจำวันเป็นอะไรที่น่าจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เรายังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากจิตแพทย์อภิชาติ นั่นคือการคอยติดตามตนเองหรือมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน(ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า การมีสติ ในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาแต่อย่างใด) มีด้วยกัน 3 เทคนิค คือ 1.การอยู่กับการกระทำ คอยรู้ตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเผลอไผล ทำบางสิ่ง แต่ใจคิดอีกอย่าง ซึ่งมักจะเป็นอดีตไม่ก็อนาคต 2.การรับรู้ความคิด คอยรู้เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่ 3.การรับรู้อารมณ์ คอยติดตามอารมณ์ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เสียใจ เศร้า ดีใจ หรือโกรธ เป็นต้น ซึ่งการติดตามอารมณ์จะค่อนข้างยากกว่าการติดตามการกระทำหรือความคิด จิตแพทย์อภิชาติเสริมว่า เราไม่สามารถตามดูทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น อะไรที่เด่นชัดที่สุดให้ตามดูสิ่งนั้น ประโยชน์ของเทคนิค 3 ข้อ คือการทำให้เราสามารถรับรู้สัญญาณปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทันท่วงที จิตแพทย์อภิชาติกล่าวว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วย สังเกตได้จากความรับผิดชอบที่เราควรทำได้ปกติเกิดสูญเสียไป ความรับผิดชอบที่ว่าแบ่งเป็น 3 ด้านคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ชุมชน เป็นต้น หน้าที่การงาน และการฟื้นคืนสภาพจิตใจหรือการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ถ้าทั้ง 3 เรื่องนี้หรือด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 3 ด้าน เกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้รักษาต่อไป”เมื่อนำกรณีของเอกไปสอบถาม จิตแพทย์อภิชาติอธิบายว่า “จริงๆ ผู้ป่วยกับจิตแพทย์สามารถคุยกันได้ ต้องดูก่อนว่าความเจ็บป่วยที่ว่านั้นคืออะไร และดูว่าภาวะการตัดสินใจของผู้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน เขามีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะกับเขาได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือจะเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา แพทย์ก็อาจต้องให้คำแนะนำหรือเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องไปแล้ว ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ กรณีนี้ก็ต้องมีผู้ทำการแทน เช่น คู่สมรส ญาติ หรือบุตร ตัดสินใจแทนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาให้มากที่สุด การรักษาอาการทางจิตเวช การให้ยาก็ส่วนหนึ่ง การทำจิตบำบัดก็ส่วนหนึ่ง ในกรณีทั่วไป การให้ยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว การทำจิตบำบัดก็มีข้อดีและช่วยได้ แต่จะช้ากว่าการให้ยา เพราะปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์พัฒนา โรคทางจิตเวชคือการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ยาเข้าไปช่วยปรับให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้น การทำจิตบำบัดก็จะช่วยเสริมตรงนี้ด้วย เสริมในด้านการปรับความคิด พฤติกรรม อารมณ์” กรณีที่ผู้ป่วยทานยาแล้วแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง ให้หยุดยาและกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนหรือปรับขนาดยา แต่หากไม่แพ้หรือไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่อง ยาทางจิตเวชกว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ต้องค่อยๆ ติดตามผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อหายดีแล้วก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้พ้นระยะโรค เมื่อพ้นระยะแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดยาได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ ลดยาลง ขณะที่โรคทางจิตเวชบางโรคต้องกินยาตลอดชีวิต วินัยในการทานยาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติต้องตระหนัก“หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น”อยู่ร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยจิตเวช สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติ โรคทางจิตเวชจับต้องยาก อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก หลายครั้งถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือแกล้งทำบ้าง คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติใหม่ว่ามันคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ประการต่อมา จิตแพทย์อภิชาติบอกว่า ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการแนะนำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก ประการที่ 3 เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อเห็นความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลง ดูไม่เป็นคนเดิม ควรพามารับการรักษาหรือการบำบัด เพราะหลายครั้งที่มองข้ามไป ละเลย รู้อีกทีก็อาการรุนแรงเสียแล้ว และประการสุดท้าย เก็บอาวุธหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ให้ห่างจากผู้ป่วย เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ไว เมื่อมันผุดขึ้นมาโดยไม่เท่าทัน อาจนำไปสู่กระทำที่ไม่ทันยั้งคิดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาจริงๆ ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพียงเราปรับทัศนคติ ลดการตีตรา และรับฟัง ก็ไม่ยากนักที่เราจะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยจิตเวช

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >