ฉบับที่ 208 4 สงสัย 2 ส่งต่อ : วิธีจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยให้อยู่หมัด

การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4.  สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >