ฉบับที่ 207 เช่าบ้าน แต่ไม่จ่าย ผู้ให้เช่าปิดห้องเลยได้ไหม

สวัสดีครับฉบับนี้ ผมขอเขียนถึงเรื่องสัญญาเช่า เพราะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป หากทุกท่านติดตามข่าวกันจะทราบว่า สคบ. ได้ออกประกาศฉบับหนึ่ง เพื่อคุมธุรกิจเช่าอาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีประโยชน์กับผู้บริโภคหลายประการ ทั้งเรื่องเงินประกันค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าได้ไม่เกินหนึ่งเดือน ผู้เช่าเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าได้โดยทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า 30 วัน  ค่าน้ำค่าไฟที่ต้องคิดตามจริง  ทำสัญญาเช่าแล้วต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้เช่า ห้ามคิดค่าต่อสัญญา เมื่อเลิกสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุด เงินประกันต้องคืนภายใน 7 วัน เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังมีอีกเรื่องที่ประกาศดังกล่าวได้คุ้มครองผู้เช่า เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไปปิดกั้นการใช้ห้องเช่า หรืออาคาร ซึ่งเมื่อย้อนไปก่อนมีกฎหมายนี้ เคยมีเรื่องที่ทะเลาะกันจนขึ้นศาลฏีกา และศาลเคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบ้านไม่ชำระค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่า ผู้ให้เช่าไปล็อกกุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าบ้าน หรือบางทีก็งัดบ้านแล้วทำการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไป โดยผู้ให้เช่าไม่ทราบ เช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 “การที่เจ้าของบ้านใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูบ้านเช่า ที่ผู้เช่าได้ครอบครองอยู่ และโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าเข้าบ้านไม่ได้ ถือว่าการกระทำของเจ้าของบ้านเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า อันเป็นการรบกวนการครอบครองบ้านของผู้เช่า เจ้าของบ้านจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี”ดังนั้น กรณีผู้เช่าผิดนัดค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงไม่มีสิทธิไปปิดกั้น ล็อกกุญแจ หรือไปขนย้ายทรัพย์สินผู้เช่า แต่ต้องไปใช้สิทธิทางศาล บอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ซึ่งจากฏีกาข้างต้น เห็นได้ว่าเป็นการบุกรุกเพราะอยู่ระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลใช้บังคับ ผู้เช่าจึงมีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าอยู่  แต่หากเป็นกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ศาลฏีกา ก็ได้ตัดสินไว้เช่นกันว่า ต้องไปใช้สิทธิทางศาล เพราะถึงแม้จะมีการตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าโดยชัดแจ้งว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่า และขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปด้วยตนเอง ทำให้ผู้เช่าได้รับความเสียหาย การกระทำของผู้ให้เช่า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เช่า คำพิพากษาฎีกาที่ 3379/2560 เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าเข้าปิดร้านขับไล่โจทก์ผู้เช่าแล้วเอาคืนการครอบครองพื้นที่ และขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินออกจากพื้นที่ที่โจทก์เช่าและนำออกขายได้ราคาต่ำ นับแต่สิ้นสุดสัญญาเช่าและระยะเวลาที่ผ่อนผันให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไป โจทก์ไม่ยินยอมออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าแล้วแต่ต้น ดังนี้แม้ตามข้อสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะให้สิทธิจำเลยที่หนึ่งกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปได้ก็ตาม แต่การบังคับแก่บุคคลโดยการขับไล่หรือขนย้ายออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อมีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ 1 ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลและดำเนินการบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการแต่กลับไปเข้าครอบครองพื้นที่เช่า หรือกระทำในสิ่งที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าเข้าขอคืนพื้นที่ และเวลาต่อมายังได้ไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยตนเองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ตัดกระแสไฟฟ้าโจทก์ก็นำแบตเตอรี่มาใช้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างและใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าและได้ซื้อน้ำแข็งมาให้ความเย็นเพื่อรักษาสินค้า การกระทำของฝ่ายโจทก์แสดงออกถึงความดื้อดึงที่คิดแต่จะอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไป ไม่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนได้ทำไว้และไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตลอดถึงความเดือดร้อนของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นการละเมิด แต่ถึงอย่างไรการกระทำก็ยังพออาศัยอ้างอิงไปตามข้อสัญญาจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสำหรับสินค้าและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายไปเก็บรักษาไว้ ในเวลาต่อมานั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ และสำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ปรากฏว่าจำเลยที่หนึ่งได้กระทำโดยการขายทอดตลาดมีลักษณะเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้น อย่างไรจำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 442 โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับนอกจากคำพิพากษาข้างต้นจะรับรองสิทธิของผู้เช่า และสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแล้ว ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ และสามารถใช้สิทธิร้องเรียน ต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะการใช้ข้อสัญญาที่ขัดต่อประกาศ สคบ. ดังกล่าว มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เซอร์วิส ชาร์จ ในร้านอาหาร ไม่จ่ายได้หรือเปล่า

เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาหาเรา มีเนื้อหาเรื่องราวเพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนคุณรุ่งทิพย์จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า...“ไปกินอาหารร้านดัง แถวสีลมคอมเพล็กซ์ ในบิลบวกค่าบริการประมาณ 10% ของค่าอาหาร จากค่าอาหาร 160 บาท คิดเป็นค่าบริการ 16 บาทบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนแรกว่าจะให้ทิปแล้ว เลยไม่ให้ดีกว่า ปกติไม่ค่อยได้ไปย่านนั้น ถ้ารู้ก็จะไม่กินร้านนี้หรอก ตอนนี้สงสัยว่าร้านอาหารพวกนี้สามารถบวกค่าโน้นนี้ได้ตามอำเภอใจเลยหรือ แล้วใช้หลักอะไรคิดกัน บริการก็ไม่เห็นแปลกพิเศษอะไรเลยคงด้วยความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าทิปอาหาร จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า ค่าทิปหรือเซอร์วิส ชาร์จ แบบนี้จะไม่จ่ายได้ไหม แนวทางแก้ไขปัญหา ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับ ทิป และ เซอร์วิส ชาร์จไว้ว่าทิป คือ เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้รับบริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มให้เป็นพิเศษนอกเหนือการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการที่ได้รับไปแล้ว การทิปของแต่ละประเทศนั้นจะไม่เหมือนกัน บางประเทศจะรวมค่าทิปไปในบิลเรียกเก็บเงินหลังเช็คบิล หรือใช้บริการเสร็จ โดยในบิลจะระบุว่า “Service Charge” หรือ “ค่าบริการ” ไว้แล้ว ซึ่งจะกำหนดเป็นค่าร้อยละของยอดจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้แก่บริการ นั้นๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ ทำให้พนักงานเสิร์ฟที่ประเทศฝรั่งเศสมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป สำหรับเงินเดือนได้น้อยมากดังนั้นเมื่อไปกินอาหารที่ภัตตาคารที่ฝรั่งเศสที่ได้บอกค่าบริการไปแล้วใน บิลจึงไม่ต้องให้ทิปเพิ่มอีก แต่ถ้าหากได้รับบริการที่ดีอาจจะให้เพิ่มตามความสมัครใจก็ได้ โดยปกติจะอยู่ประมาน 1-5 ยูโรต่อจำนวนสมาชิกในโต๊ะสำหรับ ประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นการเฉพาะ มีเพียงแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กรมการค้าภายในดูแลเฉพาะเรื่องการแสดงราคาสินค้าให้ผู้บริโภคทราบก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ คือ หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้อยู่ในการรายการควบคุมราคาสินค้าก็สามารถที่จะจำหน่ายหรือเก็บค่าบริการในราคาเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีการแจ้งราคาให้ผู้บริโภคทราบในป้ายสินค้าหรือบริการก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สมองของตัวเองพินิจพิจารณาว่าจะซื้อหรือจะใช้บริการนั้นหรือไม่ดังนั้น หากในร้านอาหารใหญ่ๆ หรือการสั่งอาหารตามโรงแรมบางแห่งได้มีการเขียนบอกไว้ในเมนูอาหารอยู่แล้วว่ามีค่าบริการ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยกติกาสากลมาเทียบเคียง ก็สามารถที่จะทำได้ และเดี๋ยวนี้ก็ทำกันหลายที่เพราะคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าทิปให้เด็กร้าน  และหากผู้บริโภคมีความพอใจในบริการมากๆ อยากจะจ่ายค่าทิปเพิ่มให้อีกก็ทำได้ส่วนการปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จนั้น ผู้บริโภคควรมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าไม่พึงพอใจบริการเพราะเหตุใด เช่น สั่งอาหารอย่างหนึ่งได้มาอีกอย่างหนึ่ง เสียเวลารอนานเกินเหตุ เข้าร้านไปไม่มีใครสนใจมาถามไถ่ให้บริการเลย ทำเหมือนเราเป็นแมลงวันหลงบินเข้าร้านอะไรทำนองนี้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จที่ถูกเรียกเก็บเห็นว่าไม่คุ้มค่า ตรงนี้ก็พอที่จะเรียกผู้จัดการร้านมาเจรจาชี้แจงที่จะปฏิเสธค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุเลย ไม่อยากจ่ายซะงั้นก็ดูจะใจจืดใจดำกับลูกจ้างชั่วคราวที่เขาได้ค่าแรงต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรากันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เมื่อไม่ได้โทร ก็ไม่ต้องจ่าย

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ คำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแพ่งเยอรมัน แห่งเมือง Kiel (Landgericht Kiel 20 136/11) วันที่ 29.11.2011 ตัดสินให้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องชนะคดีบริษัท Mobilcom debitel เนื่องจากบริษัท Mobilcom ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ยูโรจากลูกค้า ทั้งๆ ที่ลูกค้ารายนั้นไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน 3 เดือน ถึงแม้ว่าในสัญญาทางบริษัทจะเขียนไว้ว่า มีค่าธรรมเนียมถึงจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม ศาลอธิบายว่าข้อความดังกล่าว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นตามคำฟ้องของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (VZBV) หันมาดูกรณีคล้ายๆ กับของไทย คือ กรณีบริษัทผู้ให้บริการมือถือ แบบให้บริการล่วงหน้า (Prepaid) ยึดเงินในระบบของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคโดนบังคับให้เติมเงินทั้งๆ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และเป็นการละเมิดสิทธิแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการมักอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายจากการรักษาเลขหมาย จริงๆ แล้ว กสทช. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย เลขหมายละ 2 บาท ต่อเดือน หากจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท ใครใช้คนนั้นจ่าย ก็สามารถทำได้ เช่นให้สามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่ารักษาเลขหมายได้ โดยให้ค่ารักษาเลขหมายและค่าใช้บริการแยกออกจากกัน  ซึ่งในทางเทคนิคผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่ กสทช. อาจต้องไปดูแลในเรื่องค่าบริการที่ไม่ควรจะคิดสูงเกินจริง แล้วเป็นช่องทางให้เอาเปรียบผู้บริโภคอีก   จริงๆ ข้อเสนอดังกล่าวทางอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูแลตู้เติมเงินไปแล้ว แต่ทาง กสทช.ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนอีกเช่นกัน จริงๆ แล้วหาก กสทช. ไม่กำกับดูแล ผู้ประกอบการก็สามารถจัดการเรื่องค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายได้ เพราะถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ชาวบ้านและเทวดาจะพากันสรรเสริญ แต่ถ้าอ้างกฎระเบียบของ กสทช. เพื่อมาเอาเปรียบชาวบ้าน ต่อให้ถูกกฎหมาย ก็คงจะได้รับคำสาปแช่งเฉกเช่นกัน และตอนนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายรายเดือนได้ ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่ออกประกาศเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่   เพราะฉะนั้นใครที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 70,610,490 เลขหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มากๆ โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. 1200 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค หรือถ้าไม่ได้ความยังไงก็ติดต่อมาที่ฉลาดซื้อ หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบอร์ติดต่อ 02 2483734-7   เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย ใครมีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เป็นอาจารย์ บอกลูกศิษย์ นะครับ เงินของเรา สิทธิของเรา เราต้องทวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point