ฉบับที่ 161 กระแสต่างแดน

ร้านหนังสือต้องได้ไปต่อ สถานการณ์ร้านหนังสือในเกาหลีใต้ที่สถิติการอ่านของประชากรเมื่อปีกลายอยู่ที่ 9.2 เล่มต่อปี ก็อาจย่ำแย่ไม่แพ้บ้านเรา สรุปความได้ว่าร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่อยู่ไม่ง่าย มีแต่ร้านออนไลน์เท่านั้นที่ยังทำกำไรต่อเนื่อง ตามกฎหมายของเกาหลีซึ่งให้ความคุ้มครองผู้ผลิตหนังสือเป็นอย่างดีเสมอมา ร้านจะลดราคาหนังสือใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาเกิน 18 เดือนไปแล้ว ร้านสามารถลดราคาได้ตามความพอใจ ร้านออนไลน์ย่อมเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า ผู้คนจึงมักมาเปิดดูเล่มจริงที่ร้านแต่กลับบ้านมือเปล่าไปสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์อีกที และบางครั้งก็เป็นร้านจากต่างประเทศด้วย สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะจากปี 2003 ถึง 2013 นั้นมีร้านหนังสือปิดตัวไปถึง 1 ใน 3 และในเมืองเล็กๆ บางแห่งไม่มีร้านหนังสือเลย และมีอีกไม่น้อยที่ทั้งเมืองมีร้านหนังสือเพียงหนึ่งร้าน ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขัน(อย่างเสียเปรียบ) กับร้านหนังสือออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นี่ยังไม่นับว่าคนเกาหลีอ่านหนังสือน้อยลงและการใช้จ่ายเพื่อการอ่านก็น้อยลงด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป กฎหมายที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้จึงห้ามการลดราคาหนังสือเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และห้ามไม่ให้ร้านออนไลน์ยกเว้นการคิดค่าบริการส่งหนังสือ   ด้านร้านหนังสือก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ นอกจากขายหนังสือแล้วก็ยังต้องขายกาแฟ เปิดแกลอรี่โชว์/ขายงานศิลปะ รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่นไว้บริการด้วย   ขึ้นหรือลงดี? มาลุ้นกันว่าชาวเมืองปักกิ่งจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเมล์ รถไฟสาธารณะมากขึ้นกี่หยวน คงจำกันได้ว่าปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ตอนนั้นรัฐบาลจีนประกาศลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนมาโดยสารรถสาธารณะ การจราจรบนท้องถนนจะได้คล่องตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ราคายังคงไม่ได้ปรับขึ้น ผู้ประกอบการรถสาธารณะจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับเพิ่มค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ... แต่เดี๋ยวก่อน เงื่อนไขเขาไม่ธรรมดา ข้อเสนอคือขอให้ค่าตั๋วโดยสารรถเมล์เป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าบัตรโดยสารรถไฟที่ปรับขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่าตั๋วรถไฟปรับขึ้นไปเป็น 6 หยวน (ประมาณ 30 บาท) ค่าตั๋วรถเมล์ก็ควรขึ้นเป็น 2 หยวนเท่านั้น เป็นต้น เหตุที่ต้องเสนออย่างนี้เพราะที่ผ่านมาคนเมืองปักกิ่งไม่ค่อยนิยมการเดินทางด้วยรถเมล์ พวกเขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟใต้ดินเพราะมันทั้งถูกและเร็วกว่า แม้จะไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็ยังใช้บริการรถไฟใต้ดิน หวังว่าเขาจะเลือกลดราคาตั๋วรถเมล์ ไม่ใช่คงราคาตั๋วรถเมล์แล้วไปเพิ่มราคาตั๋วรถใต้ดินนะ   ห่วงสุขภาพ ช่วงนี้บรรดานักการเมืองรัสเซียฟิตจัด พากันเสนอกฎหมาย “เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกทั้งเสียงโวยวายและเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อย เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ประกาศห้ามการขายชั้นในสตรีที่มีอัตราการระบายความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 6 หมายความว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะต้องไม่มีชั้นในที่ทำจากใยสังเคราะห์(เพราะระบายความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 3.6) วางขายตามห้างร้านในเขตรัสเซีย คาซักสถาน และเบลารุส เด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ เขาเตรียมเสนอให้ห้ามขายร้องเท้าส้นแบนและรองเท้าส้นสูง เพราะมันทำให้เกิดความผิดปกติของเท้า ปัจจุบันกว่าร้อยละ 40% ของคนรัสเซียมีอาการดังกล่าว ส่วนรองเท้าผ้าใบสำหรับคุณผู้ชายก็มีลุ้นจะโดนแบนเช่นกัน รวมถึงในกองทัพด้วยเพราะเขาอ้างว่ารองเท้าผ้าใบทำให้ความพร้อมทางการทหารลดลง ล่าสุดข่าวว่ามีการเสนอให้ห้ามขายบุหรี่ให้กับสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เพราะเกรงว่าเด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาจะสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้จริยธรรม” เม็ดบีดส์เจ้าปัญหา อิลินอยส์เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดพลาสติกแบบที่เราเรียกกันว่า “ไมโครบีดส์” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้กำลังมีการเสนอให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งประเทศภายในปี 2018 ไมโครบีดส์ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สามารถหลุดรอดผ่านอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียไปลงในแหล่งน้ำได้สบายๆ แค่นิวยอร์ครัฐเดียวก็มีการปล่อยเม็ดพลาสติกเหล่านี้ลงแหล่งน้ำถึง 19 ตันต่อปี ในเขตทะเลสาบน้ำจืดทั้ง 5 (The Great Lakes) เขาก็พบว่ามีเม็ดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้อยู่ 466,000 เม็ดต่อตารางกิโลเมตร และมากกว่าร้อยละ 80 ของมันเป็นไมโครบีดส์ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั่นเอง รายงานล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในโลกของเราเต็มไปด้วยเศษพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญ ทางด้านผู้ผลิตอย่างลอรีอัล และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นอย่างเกลือทะเล เป็นต้น   เครียดจนต้องขาด งานวิจัยพบว่าสถิติการขาดงานอันสืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องความเครียดของชาวดัทช์ในปีนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Arboned สำนักวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงาน 1.1 ล้านคน ระบุว่าจากปี 2009 เป็นต้นมานั้น มีคนขาดงานเพราะความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และที่สำคัญแค่ครึ่งแรกของปีนี้ก็มีการขาดงานไปแล้ว 4.6 ล้านวัน ร้อยละ 10 ของวันลางานเหล่านี้มีเหตุผลแนบท้ายว่าเพราะ “เครียด” เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่านายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโรสำหรับการขาดงานเพราะสาเหตุนี้ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลางานมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา การแพทย์ ไอที และการเงินการธนาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นอันดับต้นคือความวิตกเรื่องภาระการเงินและการหาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว   //

อ่านเพิ่มเติม >